ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




07-05-2551 (1555)

ประวัติศาสตร์การศึกษาและการศึกษาประวัติศาสตร์
ภาคเหนือ: ภายหลังนโยบายรัฐพัฒนา และทุนนิยมบุกรุก (๑)
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช: แปลและเรียบเรียง
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความเพื่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
บทแปลต่อไปนนำมาจาก บทที่ ๒ ของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ
Kriangsak Chetpatanavanich เรื่อง 'Constructing the Third Identities
Through Northern Country Songs (Pleng Lukthung Kam Mueang):
A Social History of Modernity in Rural Chiang Mai',
Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University, 2007.
ได้รับทุนจากโครงการปริญญาเอกาญจนาภิเษก ส.ก.ว.
เดิมชื่อ: ประวัติศาสตร์การศึกษาและการศึกษาประวัติศาสตร์ ของสังคมชนบทภาคเหนือ
ประกอบด้วยหัวเรื่องหลักและหัวเรื่องรองดังต่อไปนี้
- มุมมองแรก: ความเป็นหนึ่งเดียวและความสืบเนื่องของโครงสร้างสังคมชนบทภาคเหนือ
- โครงสร้างของสังคมชนบทไทยในมุมมองของ แจ๊ค เอ็ม พอตเตอร์
- การมองสังคมชนบท โดยสกุล"ฉัตรทิพย์"
- อุดมการณ์การนับถือผีกับการรักษาวิถีชุมชนชนบท
- ริชาร์ด เดวิด: กรอบคิดคู่ตรงข้ามที่จำเป็น(essential dichotomy)
- ขึด อุบาทว์ พิธีกรรม และปรัมปรานิยาย
- มุมมองที่สอง: ความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมชนบทภาคเหนือ
- แคเธอรีน โบวี: ชนชั้นปกครอง คนรวย และคนจน
- การพัฒนาของรัฐ และทุนนิยมบุกรุก
- อานันท์ กาญจพันธุ์ และ แอนดรู เทอร์ตัน
- ชยันต์ วรรธนะภูติ: ผีและพุทธศาสนาในฐานะเครื่องมือควบคุม
- มุมมองที่สาม: การผสมผสาน (hybridization) สถานการณ์ชนบทกับเมืองภาคเหนือโดยตัวแสดง

- มิเชล มอร์แมน: การใช้ที่ดิน ๒ ลักษณะ หลังการเข้ามาของเศรษฐกิจการตลาด
- เจนิเฟอร์ เกร์ และ มาร์ก ริทชี: การผสานกันระหว่างเศรษฐิกจเมืองกับเศรษฐกิจชนบท
- การทรงเจ้าที่เป็นรูปแบบหนึ่งของอุดมการณ์นับถือผี
- โรสลีน มอร์รีส: Episteme ของรัฐไทย และการแปลงวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า
- พิธีกรรมสืบชะตาเมือง การแย่งพื้นที่ระหว่างผีกับพุทธ
- การเมืองของสุนทรียภาพในผ้าซิ่นตีนจก
- เฮนรี ดี เดลคลอร์: การแปลความหมายการพัฒนาที่แตกต่างในหมู่ชาวบ้าน
- สรุป: ประวัติศาสตร์ของสังคมชนบทภาคเหนือ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๕๕
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติศาสตร์การศึกษาและการศึกษาประวัติศาสตร์
ภาคเหนือ: ภายหลังนโยบายรัฐพัฒนา และทุนนิยมบุกรุก (๑)
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช: แปลและเรียบเรียง
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความนำ: ประวัติศาสตร์การศึกษาและการศึกษาประวัติศาสตร์ ของสังคมชนบทภาคเหนือ
การศึกษาสังคมชนบทภาคเหนือของไทยเท่าที่ผ่านมา อาจสามารถแบ่งออกได้ 3 มุมมองหรือแกนเรื่องด้วยกัน

- มุมมองแรก ความเป็นหนึ่งเดียวและความสืบเนื่องของโครงสร้างสังคมชนบทภาคเหนือ
- มุมมองที่สอง ความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมชนบทภาคเหนือ และ
- มุมมองที่สาม การผสมผสานหรือการผสมพันธุ์ (hybridization) สถานการณ์ชนบทกับเมืองภาคเหนือ

โดยผู้แสดงมุมมองทั้งสามนี้สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง มุมมองแรกเป็นบทตั้ง(thesis) มุมมองที่สองเป็นบทแย้ง(anti-thesis) และมุมมองที่สามเป็นการข้ามพ้น (Transcendence) หรือ เป็นบทสรุป (synthesis). พูดอย่างเป็นรูปธรรม มุมมองแรกมองโครงสร้างของสังคมชนบทภาคเหนือในลักษณะหยุดนิ่งและไม่เปลี่ยนแปลง คือ โครงสร้างของสังคมชนบทภาคเหนือมีลักษณะที่สืบเนื่องมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่มุมมองที่สองกลับพิจารณาสังคมชนบทภาคเหนือในเชิงของความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลง โดยมุมมองนี้เสนอว่าสาเหตุของความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีกำเนิดมาจากตัวกระทำที่เป็นพลังจากภายนอก ส่วนมุมมองที่สาม มุมมองนี้เสนอสังคมชนบทภาคเหนือในแง่มุมอื่นที่ช่วยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนและซับซ้อนขึ้น คือแทนที่จะวางจุดสนใจไปที่โครงสร้าง กลับมองไปที่การเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทจากมุมของผู้แสดง (actor) พูดอีกอย่างหนึ่ง คือการที่ผู้แสดงผสมพันธุ์หรือผสมผสานพลังจากภายนอกเข้ากับความทรงจำหรือประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของพวกเขาแล้วสรุป (synthesis) เป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา นี่เป็นกระบวนการของผู้แสดงท่ามกลางชีวิตทางสังคมที่เป็นจริงของพวกเขา นั่นคือการที่ผู้แสดงสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทรอบตัวพวกเขา มุมมองนี้ไม่ใช่เป็นการมองสังคมชนบทจากมุมที่เป็นสากลแบบกว้างๆ เหมือนสองมุมมองแรก แต่ทว่ามองจากบริบทที่เป็นพลวัตและเป็นรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงเชิงประวัติศาสตร์

ในอีกด้านหนึ่ง มุมมองหรือแกนเรื่องทั้งสามสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ชนบทเชียงใหม่หรือภาคเหนือ แม้ว่าหมู่บ้านในอดีตจะขึ้นต่อศูนย์กลางที่เชียงใหม่ แต่หมู่บ้านในอดีตก็สามารถรักษาวิถีชีวิตของตัวเองหรือโครงสร้างทางสังคมของพวกเขาไว้ได้ โครงสร้างนี้ได้รับการพิจารณาโดยแง่มุมแรกที่มาจากการศึกษาสังคมชนบทภาคเหนือในปลายทศวรรษที่ 1956 ถึงต้นทศวรรษที่ 1960 ในฐานะที่เป็นสถานการณ์ที่สถิตย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมชนบทภาคเหนือถูกเชื่อมต่อโดยรัฐส่วนกลางสมัยใหม่และทุนนิยม รัฐส่วนกลางและทุนนิยมก็มีปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบให้เกิดความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างขึ้นในสังคมชนบท สิ่งนี้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือเงื่อนไขใหม่ที่มุมมองที่สองชี้ให้เห็น นับแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ถึงต้นทศวรรษที่ 1980 ท้ายสุด สถานการณ์ใหม่ได้ปรากฏขึ้น คือสถานการณ์ที่คนชนบทกลุ่มต่างๆ ของภาคเหนือมีปฏิกริยาสนองต่อสถานการณ์ใหม่ที่บุกรุกเข้ามาโดยการสร้างความหมาย หรือ อัตลักษณ์ของตัวเองขึ้น ดังที่มุมมองที่สามนำเสนอ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 ถึง ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา

มุมมองแรก: ความเป็นหนึ่งเดียวและความสืบเนื่องของโครงสร้างสังคมชนบทภาคเหนือ
โครงสร้างของสังคมชนบทไทยในมุมมองของ แจ๊ค เอ็ม พอตเตอร์
มุมมองหรือแกนเรื่องแรก อาจเริ่มด้วยการยกตัวอย่างงานศึกษาของแจ๊ค เอ็ม พอตเตอร์ (Potter, 1976) ที่เสนอว่าโครงสร้างของสังคมชนบทไทยนั้นเป็นโครงสร้างที่หยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในสังคมชนบทภาคเหนือที่เป็นกรณีศึกษาของเขานั้น เป็นโครงสร้างของสังคมที่มีความสืบเนื่องนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พอตเตอร์ปฏิเสธข้อเสนอของ จอห์น อี เอ็มบรี (Embree, 1950) และ ลูเซียน เอ็ม แฮงก์ (Hank, 1972) ซึ่งชี้ว่าโครงสร้างของสังคมไทยเป็นโครงสร้างหลวม (Loosely structure)

โครงสร้างหลวมของ เอ็มบรี นั้นหมายความว่าคนไทยอนุญาตให้มีความผันแปรที่สังเกตเห็นได้ในพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล ซึ่งวางอยู่บนความไม่สำคัญของหน้าที่และสิทธิในการแลกเปลี่ยน ขาดเสียซึ่งระเบียบ หลักการ และการทำให้เป็นแบบแผนเดียวกัน โดย
ปราศจากความสำนึกอย่างหนักแน่นในหน้าที่และข้อผูกมัดในความสัมพันธ์ของครอบครัว (Potter, 1976: 1)

ตรงกันข้าม พอตเตอร์เสนอว่าสังคมชนบทภาคเหนือนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างทางสังคมแบบกลุ่ม กิจกรรมต่างๆ ของชาวบ้านปฏิบัติการด้วยกลุ่มที่หลากหลาย เช่น กลุ่มเครือญาติ กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มแลกเปลี่ยนแรงงาน (เอามื้อ) ช่างฟ้อนประจำหมู่บ้าน และอื่นๆ อีกมาก และเมื่อสังคมชนบทเข้าสู่สมัยใหม่ ปรากฏกิจกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างมากมาย มีการจัดตั้งกลุ่มใหม่ๆ จำนวนมากขึ้น เพื่อที่จะจัดการและดำเนินการกิจกรรมใหม่ๆ เช่น กลุ่มหนุ่มสาว ซึ่งมีหน้าที่ช่วยจัดการ เตรียมการ พิธีต่างๆ ทั้งเป็นพิธีสาธารณะและพิธีส่วนบุคคล อีกทั้งรัฐบาลกลางที่บุกรุกเข้ามาในชีวิตของหมู่บ้าน ก็ใช้โครงสร้างตามประเพณีของการจัดกลุ่มเป็นเครื่องมืออีกด้วย

ในปี 1972 ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่เข้ามาปฏิบัติการภายในหมู่บ้าน… กลุ่มหนุ่มสาวก็ถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ และใช้ชื่อเป็นภาษาของภาคกลาง นั้นคือ กลุ่มหัตถกรรม กลุ่มสร้างบ้าน นักร้องชุมชน และกลุ่มกีฬา ผู้นำแบบใหม่ได้รับการเลือกภายใต้การชี้นำของสมาชิกหนุ่มสาวของกลุ่ม. "อาสาพัฒนา"หรือ "นักพัฒนาชุมชน" ไทย อันเป็นผู้ที่ถูกจัดส่งเข้ามาจากกรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาชุมชนรัฐบาลไทยพยายามที่จะใช้ประโยชน์รากฐานเชิงประเพณีของการจัดตั้งทางสังคมของหมู่บ้านเพื่อจุดมุ่งหมายในการพัฒนา และประสบผลสำเร็จอย่างน้อยก็บางส่วนในการกระทำเช่นนั้น (Potter, 1976: 38)

เมื่อชาวบ้านรับเอาเศรษฐกิจเงินตราเข้ามา กลุ่มช่วยเหลือทางการเงิน เช่น กลุ่มฌาปนกิจ ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้น จุดมุ่งหมายของกลุ่มนี้ก็คือ การช่วยเหลือกันทั้งในแง่แรงงานและตัวเงินเมื่อครอบครัวหนึ่งใดมีคนตาย กลุ่มยิ่งมีขนาดใหญ่เงินช่วยเหลือก็ยิ่งมาก ซึ่งหากเงินที่ได้รับการช่วยเหลือมากกว่าค่าทำศพ ก็หมายความว่านี่คือการประกันชีวิตชนิดหนึ่งนั่นเอง. สิ่งที่พอตเตอร์เสนอก็คือ สังคมชนบทภาคเหนือตั้งอยู่บนฐานของระบบโครงสร้างทางสังคมที่แน่นอนตายตัว และมีความสืบเนื่อง แม้แต่รัฐและทุนยังต้องดำเนินกิจกรรมผ่านการสร้างโครงสร้างของกลุ่มตามขนบประเพณี

การมองสังคมชนบท โดยสกุล"ฉัตรทิพย์"
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การมองสังคมชนบท (ภาคเหนือ) โดย "สกุลฉัตรทิพย์" (ผู้ดำเนินรอยตามแนวทางของ อ. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา) ซึ่งถึงแม้ว่า ข้อเสนอของฉัตรทิพย์จะตั้งอยู่บนฐานทางทฤษฎีที่แตกต่างจากของพอตเตอร์ แต่ทว่าข้อเสนอของฉัตรทิพย์ก็มีข้อสรุปที่เป็นไปในทางเดียวกับของพอตเตอร์ ฉัตรทิพย์เสนอว่าสังคมชนบทไทยนั้น ตั้งอยู่บนฐานของเศรษฐกิจเลี้ยงตัวเองที่ซึ่งคนชนบทสามารถผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคของตนเองอย่างเพียงพอ เลี้ยงตัวเองได้ เนื่องเพราะโครงสร้างของสังคมชนบทนั้น เกิดจากแรงเกาะเกี่ยวที่ผูกคนชนบทไว้ด้วยกันด้วยการดำเนินวิถีชีวิตในแบบชุมชน และเนื่องจากการมีวิถีชีวิตแบบชุมชน ดังนั้นจึงไม่มีการแตกตัวทางชนชั้นทางสังคมในหมู่คนชนบท ผลก็คือการปราศจากความขัดแย้งที่แท้จริงโดยมูลฐานในสังคมชนบท นี่เป็นแก่นแกนที่หยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลงที่ฝังตัวสืบเนื่องอยู่ในสังคมชนบท

เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีตเป็นเศรษฐกิจพอยังชีพ ผลิตเพื่อกินเพื่อใช้เอง คงอยู่และผลิตซ้ำได้ด้วยตัวเองไม่ต้องพึงพาโลกภายนอก มีความผูกพันภายในสูง ครอบครองที่ดินผ่านการเป็นสมาชิกของชุมชน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการผลิต มีความพอเพียงในตัวเอง หัตถกรรมร่วมอยู่กับเกษตรกรรม คือ ทอผ้าและปลูกข้าวในครัวเรือนเดียวกัน …ทำให้ไม่มีความขัดแย้งทางชนชั้นภายในหมู่บ้าน ความสัมพันธ์ทางการผลิต มีลักษณะ
คล้ายชุมชนสังคมนิยมบุพกาล (ฉัตรทิพย์, 2528: 117)

ฉัตรทิพย์เสนอว่า ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นนอกชุมชนหมู่บ้าน รัฐและทุนพัฒนาขึ้นมานอกหมู่บ้าน และการเข้ามาของรัฐและทุนในชุมชนชนบทก็เพื่อที่จะเอาประโยชน์กับชุมชน ด้วยเหตุดังนั้น ชาวบ้านจึงต่อต้านรัฐและทุนทั้งโดยนัยยะและโดยตรงตั้งแต่เริ่มแรก ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาวิถีดำเนินชีวิตของพวกเขาเอาไว้ด้วย ดังนั้น "การผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองของชาวบ้านจึงสืบเนืองมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน" เงื่อนไขดังกล่าวชี้ว่ากระบวนการครอบงำจิตสำนึกของชาวบ้านจากภายนอกนั้นไม่สำเร็จ จิตสำนึกที่อิสระของชาวบ้านยังคงดำรงอยู่

จากตัวอย่างของข้อเสนอของทั้งสองชี้ว่า ภาพของโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมของสังคมชนบทภาคเหนือนั้นสถิตและคงอยู่เสมอมาไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าพลังจากภายนอกจะพยายามกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่สังคมชนบทก็ยังคงรักษาโครงสร้างโดยมูลฐานให้ดำรงอยู่ได้ พูดอีกนัยยะหนึ่งได้ว่า อันที่จริงแล้ว พลังเชิงโครงสร้างของสังคมชนบท กลับเป็นตัวการที่เปลี่ยนพลังจากภายนอกให้สอดคล้องกับโครงสร้างของตัวเอง

อุดมการณ์การนับถือผีกับการรักษาวิถีชุมชนชนบท
ในขณะเดียวกันนักวิชาการจำนวนหนึ่ง และบรรดานักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชนก็เสนออีกด้วยว่า อุดมการณ์ของสังคมชนบทภาคเหนือก็สถิตย์ ไม่เปลี่ยนแปลง และคงอยู่เสมอมา พวกเขาเชื่อว่าอุดมการณ์ของชุมชนดั้งเดิม ช่วยให้ชาวบ้านสามารถรักษาวิถีชีวิตของความร่วมมือซึ่งกันและกันเอาไว้ได้ เช่น อุดมการณ์การนับถือผี ได้ช่วยให้ชุมชนชนบทสามารถสถาปนาสถาบันเครือญาติ (สายผี) ผ่านการนับถือผีบรรพบุรุษร่วมกัน สถาปนาชุมชนชาวบ้านผ่านการนับถือผีหมู่บ้านเดียวกัน และสถาปนาระบบเหมืองฝายผ่านการนับถือผีขุนน้ำเดียวกัน เป็นต้น. พรพิไล เลิศวิชาเสนอว่า

… ผีในหมู่บ้านทางเหนือเป็นผู้ควบคุมระเบียบและกฏเกณฑ์ และเป็นผู้คุ้มครองชาวบ้าน ผี คือผู้ที่นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของครอบครัวและชุมชน ผีอยู่ในฐานะพลังที่เป็นศูนย์กลาง สถานะทางสังคมของผียืนยงจากรุ่นชนหนึ่งสู่อีกรุ่นชนหนึ่ง เช่นผีปู่ย่า หรือผีบรรพ บุรุษผู้สะท้อนอำนาจของบรรพบุรุษ หรือกลุ่มเครือญาติผู้สูงอายุ ที่จำเป็นต่อการจัดระเบียบโครงสร้างครอบครัว หรือผีฝายที่สะท้อนอำนาจของธรรมชาติในฐานเป็นผู้ประทานน้ำเป็นต้น … ชุมชนชวนาใช้ผีต่างๆ ในฐานะที่เป็นกลไกควบคุมสมาชิกของชุมชนให้รักษาปทัสถานของความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ระหว่างครอบครัวกับครอบครัว ระหว่างหมู่บ้านกับหมู่บ้าน และระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมรอบตัวพวกเขา (พรพิไล, 2534: 77)

เธอชี้อีกว่า อุดมการณ์และโลกทัศน์ทุนนิยมขยายเข้ามาในหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อที่จะควบคุมและแทนที่โลกทัศน์ของชาวนา อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยจุดมุ่งหมายของชนชั้นนายทุนคือ มุ่งขูดรีดและทำลายวิถีชีวิตชุมชน ด้วยเหตุดังนั้นชาวบ้านจึงรับเอาระบบทุนนิยมด้วยอัตราเร่งที่ช้า รีรอ และปราศจากพลัง ชาวบ้านจำนวนมากต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมทุนนิยมสมัยใหม่ เนื่องเพราะชาวบ้านเห็นแจ้งว่า ทุนนิยมบุกรุกเข้ามาในหมู่บ้านก็เพื่อที่จะเอาประโยชน์และทำกำไรจากหมู่บ้าน

ริชาร์ด เดวิด: กรอบคิดคู่ตรงข้ามที่จำเป็น(essential dichotomy)
อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาอื่นๆ อีกที่สอดคล้องต้องกันกับแกนเรื่องนี้ งานศึกษาของ ริชาร์ด เดวิด (David, 1974) เสนอว่า โครงสร้างทางอุดมการณ์ของหมู่บ้านภาคเหนือนั้นคงที่และไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในขณะเดียวกันก็มีพลวัตภายในโครงสร้างที่ไม่เปลี่ยนแปลงนั้นด้วย เดวิดเสนอว่า อุดมการณ์นั้นก็คือเครือข่ายของความเชื่อพื้นถิ่น เครือข่ายนี้เกี่ยวพันกับความเป็นจริงทั้งทางสังคมและทางกายภาพ ในความหมายกว้าง อุดมการณ์ก็คือ จักรวาลวิทยาในขอบเขตที่ว่าอุดมการณ์จัดประเภทมนุษย์ และส่งอิทธิพลต่อลักษณะของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อุดมการณ์ส่งอิทธิพลต่อหลักการของโครงสร้างทางสังคมเอาไว้ เช่นกฎของการสืบมรดก (สืบตระกูล) เป็นต้น

เดวิดอธิบายว่า ในภาคเหนือของไทย อุดมการณ์ครอบงำก็คือกรอบเกี่ยวกับความเป็นคู่ตรงกันข้ามกัน นั่นคือแนวความคิดที่ตั้งอยู่บนฐานของการจัดประเภทที่ประกอบกันเข้า ให้กลายเป็นความสมบูรณ์ของสิ่งสูงกับต่ำ หรือความเป็นมงคลกับอัปมงคล ผลก็คือระเบียบและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและสังคมในภาคเหนือของไทยตั้งอยู่บนฐานของการจัดประเภทของ เหนือกับใต้, ตะวันออกกับตะวันตก, ผู้ชายกับผู้หญิง, ผู้อาวุโสกับผู้อ่อนอาวุโส, ขวากับซ้าย, หรือที่อยู่อาศัยกับป่า. นี่คือหลักของความเป็นตรงกันข้ามที่มีระเบียบ หรือคู่ตรงกันข้ามที่จำเป็น (essential dichotomy) ระหว่างสูงกับต่ำ นั้นเอง ผู้ชาย ผู้อาวุโส ตะวันออก เป็นต้น ถือว่าเป็น "ของสูง" ในขณะที่ ผู้หญิง ผู้อ่อนอาวุโส ตะวันตก เป็นต้น นั้นคือ "สิ่งที่ต่ำ"

ขึด อุบาทว์ พิธีกรรม และปรัมปรานิยาย
พิธีกรรม สถาปนาคู่ตรงข้าม
การละเมิดหลักการของคู่ตรงกันข้ามของความสูง-ต่ำดังกล่าว นำมาซึ่งหายนะต่อปัจเจกและสังคม หรือไม่ก็นำไปสู่การทำลายโครงสร้างของสังคม ประชาชนไทยภาคเหนือเรียกสถานการณ์เช่นนั้นว่า"ขึด". "ขึด"ก็คือพฤติกรรมที่ผิดสภาพ ซึ่งสัมพันธ์กับการทำลายการแยกแตกต่างทางประเภทซึ่งคิดกันว่าดำรงอยู่ในระเบียบของสรรพสิ่ง แนวความคิดที่สัมพันธ์กับ"ขึด"ก็คือ"อุบาทว์"ซึ่งหมายถึง "ภัยพิบัติอย่างมหาศาล" คือการที่สถานการณ์ของ"ขึด"ก่อให้เกิด"อุบาทว์". แต่สถานการณ์ของขึดและอุบาทว์ สามารถทำให้หมดไปได้โดยการทำพิธีกรรม หมายความว่ามีสัญญาณของหายนะ (ตัวอุบาทว์) ซึ่งเตือนผู้คนให้ดำเนินการป้องกันความหายนะนั้น และให้เวลาแก่พวกเขาเพื่อการเซ้นไหว้ (เลี้ยง) ผีบรรพบุรุษซึ่งเป็นผู้ดลบันดาล "หายนะ" พิธีกรรมนี้เป็นอันเดียวกันกับพิธีการขับไล่การกระทำที่แปดเปื้อนหรือขึด ด้วยเหตุดังนั้น พิธีกรรมดังกล่าวจึงปฏิบัติการเพื่อเป็นการนำระเบียบของสถานการณ์คู่ตรงกันข้ามของความสูง-ต่ำกลับคืนมานั่นเอง

ปรับปรานิยาย: การประสานคู่ตรงข้าม
ยังมีแนวความคิดอีกประการหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็คือ แนวความคิดเกี่ยวกับปรัมปรานิยาย (myth) ซึ่งเดวิดสรุปว่า ในทางตรงกันข้ามปรัมปรานิยายทางเหนือของไทยคือปฏิบัติการเพื่อยุติสถานการณ์คู่ตรงกันข้ามของการจัดประเภท เขากล่าวต่อไปว่า

- พิธีกรรมของทางเหนือของไทยก่อร่างสร้างขึ้นเพื่อทำให้โครงสร้างของคู่ตรงกันข้ามที่เคร่งคัดเกี่ยวกับ ความ "สูง" และ "ต่ำ" ฟื้นกลับคืนดังเดิมจากการที่เกิดผิดสภาพไปเนื่องจากขึด

- ปรับปรานิยาย อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม ปรับปรานิยายของคนไทยภาคเหนือ กลับส่งเสริมสภาพการณ์ที่อุดมการณ์คู่ตรงกันข้ามถูกทำลายลงไป แทนที่จะกลัวการละเมิดอุดมการณ์ดังกล่าว เราอาจกล่าวได้ว่า หน้าที่ของปรัมปรานิยายภาคเหนือ คือการให้แบบแผนที่อตรรกะ สามารถเอาชนะตรรกะของการแบ่งแยกแตกต่างได้

ในขณะที่"พิธีกรรม"ติดตั้งและเสริมแรงการจัดประเภทเชิงตรรกะแบบคู่ตรงกันข้าม, "ปรับปรานิยาย"กลับลบล้างและเชื่อมคู่ตรงกันข้ามเข้าด้วยกัน. "พิธีกรรม"คือการแบ่งแยกความแตกต่างอย่างมีสำนึก ในขณะที่"ปรัมปรานิยาย"คือการเข้ารวมกัน (Davis, 1974: 22)

กล่าวโดยสรุป ขึด อุบาท พิธีกรรม และปรัมปรานิยายก็คือ แนวคิดที่เชื่อมอุดมการณ์เข้ากับโครงสร้างของสังคม

- ขึดและอุบาท คือสถานการณ์ที่ทำลายการดำรงอยู่โดยปรกติของอุดมการณ์คู่ตรงกันข้ามกัน ที่ให้ความหมายกับโครงสร้างทางกายภาพและสังคม
- พิธีกรรม เป็นปฏิบัติการเพื่อคืนสภาพให้สถานการณ์ที่ผิดสภาพเข้าสู่สถานการณ์ที่ปรกติของความเป็นคู่ตรงกันข้ามของความสูง-ต่ำ
- ปรัมปรานิยาย สร้างขึ้นก็เพื่อเชื่อมหรือสลายความแตกต่างของคู่ตรงกันข้าม (เช่นในปรัมปรานิยายคนพูดกับสัตว์ได้ หรือสัตว์กลายเป็นแม่ของคนได้ คือปรกติคนกับสัตว์เป็นคนละประเภทที่คู่ตรงกันข้ามที่มี"คน"อยู่ในสถานะที่สูงกว่า แต่ในปรัมปรานิยายได้สลายคู่ตรงกันข้ามดังกล่าวโดยทำให้คนสามารถพูดกับสัตว์ หรือทำให้สัตว์กลายเป็นแม่ของคนได้ จึงทำให้คนและสัตว์กลายเป็นประเภทเดียวกัน) หรือพูดอีกนัยยะหนึ่งก็คือการทำลายหรือสลายคู่ตรงกันข้ามของความสูงและต่ำ เช่น ที่อยู่อาศัยกับป่า ผู้อาวุโสกับผู้อ่อนอาวุโส หรือผู้ชายกับผู้หญิง ฯลฯ ลงไป ซึ่งหมายถึงการปราศจากความขัดแย้ง ความสถิตย์ หยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง

ที่กล่าวมาทั้งหมดสำหรับแกนเรื่องนี้ก็คือ การที่สังคมชนบทไทยซึ่งรวมทั้งสังคมภาคเหนือด้วยนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมานฉันท์และปราศจากความขัดแย้ง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และอุดมการณ์ของหมู่บ้านไทยนั้นแน่นอนและคงที่ พูดในเชิงเศรษฐศาสตร์นั่นก็คือเศรษฐกิจแบบเลี้ยงตัวเองหรือพอยังชีพ ชาวบ้านร่วมกันเพื่อผลิตและแลกเปลี่ยนแรงงานและสิ่งของเพื่อการยังชีพ. พูดในเชิงสังคมศาสตร์ โครงสร้างทางสังคมของสังคมชนบทตั้งอยู่บนฐานของชีวิตชุมชน และกิจกรรมของชาวบ้านกระทำโดยรวมหมู่เป็นกลุ่มต่างๆ ตามประเภทของกิจกรรม ในเวลาเดียวกัน อุดมการณ์ของชาวบ้านได้ช่วยรวมพวกเข้าด้วยกันเป็นปึกแผ่น ในฐานะชีวิตชุมชน แม้ว่าในกรณีของเดวิดจะเสนอว่ามีความขัดแย้งภายในสังคมตามอุดมการณ์คู่ตรงกันข้ามของสังคมชนบทภาคเหนือ แต่ทว่าก็สามารถแก้ไขและจัดการกับความขัดแย้งด้วยกลไกภายใน ซึ่งนำไปสู่ความสมานฉันทน์และสลายความขัดแย้งลงไปได้

ด้วยเหตุดังนั้น ถ้าสังคมชนบทจะต้องเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นไปได้ในสองแนวทาง แนวแรก ต้องทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และอุดมกาณ์ของสังคมชนบทลงโดยสิ้นเชิง และสร้างสังคมใหม่ขึ้นมา หรือแนวที่สอง ก็คือต้องเปลี่ยนแปลงภายใต้กรอบของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และอุดมกาณ์ของสังคมชนบทเอง

มุมมองที่สอง: ความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมชนบทภาคเหนือ
แคเธอรีน โบวี: ชนชั้นปกครอง คนรวย และคนจน
ในขณะที่มุมมองแรกหรือแกนเรื่องเน้นไปที่ความสืบเนื่องและปราศจากความขัดแย้งของโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม และอุดมการณ์ของสังคมชนบทภาคเหนือ มุมมองที่สองกลับเน้นไปที่ความขัดแย้งและความเปลี่ยนแปลง. แคเธอรีน โบวี (Katherine Bowie, 1988) นักมานุษยวิทยาประวัติศาสตร์เสนอความคิดที่แตกต่างจากแกนเรื่องหรือมุมมองแรก เธอเสนอว่า เป็นความผิดพลาดของนักวิชาการบางท่าน (รวมทั้งนักพัฒนาแห่งองค์กรพัฒนาเอกชน) ในการพิจารณาว่าเศรษฐกิจชนบทดั้งเดิมเป็นเศรษฐกิจแบบพอยังชีพหรือเลี้ยงตัวเอง

ตามที่เธอสัมภาษณ์บรรดาชาวบ้านอาวุโส พวกเขาระลึกย้อนความทรงจำของครอบครัวและชุมชนของพวกเขาในฐานะที่ไม่ได้ดำรงอยู่ตามแบบเศรษฐกิจเลี้ยงตัวเอง ประชาชนในอดีตไม่สามารถผลิตข้าวและเครื่องอุปโภคได้เพียงพอกับความต้องการ ด้วยเหตุนั้น การค้าจึงจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจของชาวบ้าน และได้เปิดช่องทางแก่ชาวบ้านบางคนในการสะสมทรัพย์ จนสามารถกลายมาเป็นชนชั้นนำของท้องถิ่น ชนชั้นนำเหล่านี้จึงสามารถเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนได้มากกว่า เช่นที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขให้พวกเขาสามารถขูดรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจกับบรรดาชาวบ้านที่ยากจนได้ เนื่องเพราะคนจนนั้นครอบครองที่ดินที่กันดารไร้ความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอแก่การยังชีพ พวกเขาจึงจำเป็นต้องกู้ยืมจากบรรดาเศรษฐี และต้องจ่ายคืนเป็นแรงงานหรือไม่ก็ตัวเงินพร้อมดอกเบี้ย

ในเวลาเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าและขุนนางกับชาวบ้านก็เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาค เจ้าและขุนนางเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อที่จะเอาประโยชน์จากชาวบ้าน ในรูปของส่วยและการเกณฑ์แรงงาน ตลอดจนบรรดาเจ้าและขุนนางได้เข้ายึดครองที่ดินของชุมชนเป็นจำนวนมาก และบังคับให้ชาวบ้านทำการผลิตในที่ดินนั้นแก่พวกตน. โบวี สรุปว่า

… ผู้เขียนได้เปรียบเทียบความแตกต่าง ความยากจน ของชาวบ้านกับความร่ำรวยของชนชั้นนำ ผู้เขียนเริ่มต้นบรรยายถึงความยากจนที่ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ ชี้ว่าชาวบ้านจำนวนน้อยเท่านั้นที่มีข้าวบริโภคอย่างเพียงพอ และในข้อเท็จจริง ชาวบ้านต้องเดินทางไกลเพื่อเสาะหาข้าว … ผู้เขียนพรรณนาถึงบทบาทซึ่งการค้าและกิจกรรมทางการตลาดการค้าอื่นๆ มีบทบาทในการเสริมการบรรลุซึ่งความต้องการการยังชีพ ผู้เขียนวางโครงร่างขอบเขตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ซึ่งชาวบ้านเกี่ยวพันด้วย จากการผลิตทางการเกษตรเสริมรายได้ นอกจากข้าว เลี้ยงสัตว์ เก็บของป่าที่มีค่า สู่การผลิตงานหัตถกรรมต่างๆ อย่างกว้างขวาง … โดยเปรียบเทียบความแตกต่าง ความยากจนของชาวบ้านส่วนใหญ่ ผู้เขียนอธิบายถึงความร่ำรวยของชนชั้นนำระดับราชสำนัก และระดับชนบท นอกจากนั้น ผู้เขียนชี้ว่า แม้แต่ภายในกลุ่มชนชั้นนำเอง ก็มีความเข้มข้นอย่างน่าสังเกตของความร่ำรวยที่ตกอยู่ในมือของเจ้าผู้ปกครอง ซึ่งชี้ถึงความสำคัญของความสามารถในการเกณฑ์แรงงานและการขูดรีดส่วย ผู้เขียนตรวจสอบไปถึงแหล่งต่างๆ ของความร่ำรวยของเจ้า ที่บ่งถึงผลประโยชน์ที่ได้มาจากการเกณฑ์แรงงาน ส่วย และการผูกขาดของเจ้า (Bowie, 1988: 326-7)

โบวี กล่าวอีกว่า จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านของเธอ เผยให้เห็นถึงอำนาจของชนชั้นผู้ปกครองที่สามารถเฆี่ยนตี ประหารชีวิต หรือแม้แต่สังหารหมู่ การกดขี่ดังกล่าวนำมาซึ่งแนวโน้มของชาวบ้านที่จะต่อต้านชนชั้นปกครอง

- ในด้านหนึ่ง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านภาคเหนือมิใช่เป็นเศรษฐกิจแบบเลี้ยงตัวเองหรือพอยังชีพ แต่ทว่าต้องขึ้นกับกิจกรรมในการแลกเปลี่ยน

- ในอีกด้านหนึ่ง โครงสร้างทางสังคมของสังคมชนบทดังกล่าว คือโครงสร้างของความขัดแย้งทั้งระหว่าง"คนจน"กับ"คนรวย"ภายในชุมชน และระหว่าง"ชาวบ้าน"กับ"ชนชั้นนำราชสำนัก" เงื่อนไขของความขัดแย้งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการที่ชาวบ้านที่ร่ำรวย และชนชั้นนำขูดรีดชาวบ้านโดยทั่วไป

การพัฒนาของรัฐ และทุนนิยมบุกรุก
อย่างไรก็ตามทีนักวิชาการอีกหลายท่านกล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อสังคมชนบทถูกดึงเข้าสู่โลกสมัยใหม่ อำนาจที่ศูนย์กลางที่เชียงใหม่เสื่อมลง ในขณะที่อำนาจของรัฐสมัยใหม่ที่กรุงเทพฯ และระบบทุนนิยมบุกรุกเข้ามา ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมและอุดมการณ์ของชนบทภาคหนือ

จุดเริ่มต้นก็คือเมื่อเศรษฐกิจของชาวบ้านถูกทำให้เปลี่ยนแปลง โดยการนำเสนอการผลิตพืชผลเชิงพาณิชย์ต่อชาวบ้านในนามของ "การพัฒนา" โดยรัฐและทุนนิยม ในด้านหนึ่งนอกจากข้าวแล้ว ชาวบ้านปลูกพืชเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น และชาวบ้านบางคนได้เปลี่ยนตัวเองไปเป็นผู้เก็บรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร เพื่อที่จะส่งต่อไปยังพ่อค้าคนกลางในเมืองใกล้ๆ หรือกรุงเทพฯ (Preecha, 1980) ในอีกด้านหนึ่ง การปลูกพืชเชิงพาณิชย์นั้นเป็นผลให้ความสามารถของชาวบ้านในการควบคุมกระบวนการผลิตหมดไป เพราะพวกเขาต้องพึ่งเงินกู้เพื่อการลงทุนทั้งจากแหล่งภายในและจากภายนอกชุมชน เงินกู้เหล่านี้ก็เพื่อเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช แหล่งเงินกู้มาจากทั้งแหล่งที่เป็นของรัฐและเอกชน

ผลกระทบ นอกจากความไม่สามารถในการควบคุมกระบวนการผลิตแล้ว ชาวบ้านยังไม่สามารถที่จะควบคุมราคาพืชผลของตนเองอีกด้วย ราคาพืชผลจะแกว่งไปแกว่งมา และมีแนวโน้มที่จะต่ำลง ด้วยเหตุดังนั้นชาวบ้านจึงพบว่า ยิ่งพวกเขาเข้าร่วมในโครงการพัฒนาของรัฐมากขึ้นเท่าใด พวกเขาก็ยิ่งจะต้องแบกรับหนี้สินมากขึ้นเท่านั้น ท้ายสุดแม้กระทั้งที่ดินของพวกเขาก็ต้องเปลี่ยนมือไปสู่ผู้ให้กู้ เนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินที่พวกเขาทำไว้กับผู้ให้กู้ (Hirch, 1990) ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเริ่มแรกของโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมของชาวบ้าน จึงเริ่มต้นเมื่อรัฐและทุนบุกทลวงเข้ามาสู่สังคมชนบท

อานันท์ กาญจพันธุ์ และ แอนดรู เทอร์ตัน
อานันท์ กาญจพันธุ์ (Anan, 1984) และ แอนดรู เทอร์ตัน (Turton, 1976) ได้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมของชนบทภาคเหนือ หลังจากการขยายตัวเข้ามาของรัฐและทุน พวกเขาพบว่าการขยายตัวดังกล่าว นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของสังคมชนบท

อานันท์ กาญจพันธุ์
ในกรณีของอานันท์ เขาชี้ถึงความหลายหลากและซับซ้อนของการจัดการเกี่ยวกับแรงงานและที่ดิน ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมชนบทเชียงใหม่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ต่อต้นทศวรรษที่ 1980 เนื่องจากการเข้ามาเชื่อมต่อของเศรษฐกิจทุนนิยม ในช่วงการศึกษาของเขานั้นเป็นช่วงที่การแตกตัวทางสังคมของชนบทภาคเหนือกำลังดำเนินอยู่ นั่นคือการเกิดขึ้นของเจ้าที่ดินรายใหญ่ เจ้าของที่ดินรายย่อย และชาวนาไร้ที่ดิน การแตกตัวดังกล่าวนำไปสู่ระบบของการจัดการที่ดินและแรงงานที่ซับซ้อน เจ้าที่ดินอาจเพาะปลูกในที่ดินของตนเอง หรือจ้าง หรือแลกเปลี่ยนแรงงานในการผลิต หรืออาจให้เช่าที่ดินของพวกเขาแก่เจ้าของที่ดินรายย่อย ที่มีที่ดินไม่เพียงพอในการเพาะปลูก หรือให้ชาวนาไร้ที่ดินเช่า

การให้เช่าในบริบทดังกล่าว คือการเช่าในระบบอุปถัมภ์ เนื่องจากเจ้าที่ดินพิจารณาการให้เช่าในแง่ที่เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้เช่า เพื่อที่จะได้มีที่ดินในการเพาะปลูก ผู้เช่าจ่ายค่าเช่าเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของผลผลิตที่ผลิตได้ในที่ดินที่เช่ามา หรือไม่ก็ไปทำงานในที่ดินของเจ้าที่ดินเป็นการตอบแทน ในขณะเดียวกัน เจ้าที่ดินอาจจ้างแรงงานเข้ามาทำงานในที่ดินของตนเองตามแบบระบบทุนนิยมด้วยก็ได้ ในกรณีนี้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าที่ดินกับแรงงานเป็นความสัมพันธ์แบบนายจ้างและลูกจ้างตามระบบทุนนิยม ในชั่วขณะหนึ่งของช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านจากสังคมชนบทแบบจารีตสู่สังคมทุนนิยมสมัยใหม่ เจ้าที่ดินอาจเลือกการจัดการที่ดินและแรงงานในแบบใดแบบหนึ่ง หรือไม่ก็ใช้หลายแบบผสมผสานกันไปก็ได้

ด้วยเหตุดังนั้น การศึกษาของอานันท์ จึงสะท้อนความซับซ้อนหรือการผสมผสานกันของความสัมพันธ์ในการผลิตระหว่างระบบอุปถัมภ์แบบเดิม กับความสัมพันธ์ในการผลิตตามแบบระบบทุนแรงงาน ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการต่อรองอำนาจระหว่างเจ้าที่ดินรายใหญ่ กับเจ้าที่ดินรายย่อยและชาวนาไร้ที่ดินในสังคมชนบทสมัยใหม่ของภาคเหนือในช่วงเวลานั้นอีกด้วย

โดยสรุปก็คือ อานันท์เสนอว่าโครงสร้างของสังคมชนบทภาคเหนือถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากพลังของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้สรรสร้างกลุ่มสังคมหรือประเภทของคนที่แตกต่างกันในสังคมชนบทภาคเหนือ

แอนดรู เทอร์ตัน
สำหรับเทอร์ตัน เขาพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทภาคเหนือในฐานะที่เป็นความเปลี่ยนแปลงจากแบบแผนเก่าสู่แบบแผนใหม่ หมายความว่า วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมชนบทภาคเหนือถูกเปลี่ยนให้ไปสู่วิถีชีวิตที่หลายหลากมากยิ่งขึ้น ซึ่งปรากฏขึ้นในฐานะที่เป็นผลของการแตกตัวทางสังคมของชาวบ้านในสังคมชนบทภาคเหนือเป็นหลายประเภท แต่ละประเภทมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นแบบของตนเอง นั่นคือ

- ประเภทที่หนึ่ง เจ้าที่ดินใหญ่ กลุ่มนี้ "ไม่มีใครทำงานรับจ้าง พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีสมบัติเป็นที่ดินผืนใหญ่ มีเงินเพียงพอที่จะใช้และเก็บ"
- ประเภทที่สองคือผู้ถือครองที่ดินรายย่อยซึ่ง "มีที่ดินจำนวนหนึ่ง แต่อาจจะต้องทำงานรับจ้างด้วย" และ
- ประเภทที่สาม ชาวนาไร้ที่ดินที่ "ไม่มีที่ดินและต้องทำงานเพื่อค่าจ้าง"

ชาวนารวย
ผลของการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ของสังคมชนบทภาคเหนือก็คือ การมีผู้นำรูปแบบใหม่ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้ามาเชื่อมต่อของรัฐ ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และกำนันที่เป็นทางการได้รับการสถาปนาขึ้นมา ในด้านหนึ่งผู้ใหญ่บ้านและกำนันได้รับการเลือกตั้งจากชาวบ้าน ส่วนในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็เป็นคนของราชการด้วย เทอร์ตันชี้ว่า ผู้นำชุมชนหรือผู้ใหญ่บ้านและกำนันเหล่านี้จะมาจากคนประเภทที่หนึ่ง

จากการสรุปลักษณะที่ได้รับจากการสำรวจ (ผู้ใหญ่บ้าน 42 คน จากจำนวน 46 คน ของ
ตำบลที่ศึกษา) สัดส่วนข้างมากของผู้ใหญ่บ้านมาจากชนชั้น "ชาวนารวย" 17 คนมีประสบการจากวัดมาก่อน และ 14 คน เคยเป็นข้าราชการ (ทหาร ตำรวจ ครู หัวหน้าชลประทาน) ในบรรดาผู้ใหญ่บ้านอาวุโสจำนวน 5 คน 3 คน เป็นเจ้าของที่ดินเกือบ 100 ไร่ หรือมากกว่า และอาจกล่าวได้ว่าเป็น "เจ้าที่ดิน" ซึ่งเป็นชนชั้นเกษตรกรทุนนิยมที่แท้จริง
(Turton, 1976: 283)

อย่างไรก็ตาม "ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากผู้ใหญ่บ้านเพิ่มมากขึ้น - ในฐานะที่เป็นผู้ชี้ขาด ในฐานะที่เป็นคนกลางในการติดต่อสัมพันธ์กับระบบราชการ และในฐานะที่เป็นผู้ปกป้องผล ประโยชน์ของชุมชน" และผู้ใหญ่บ้านผู้หนึ่งอธิบายว่า "ประชาชนเลือกตั้งผมมาเพื่อให้เป็นพ่อและแม่ของพวกเขา" อย่างไรก็ตามมีผู้ใหญ่บ้านแบบอื่นๆ ด้วย นั้นคือผู้ใหญ่บ้านรูปแบบที่สองคือผู้ที่พากเพียรพยายามที่จะแสวงหาผู้อุปถัมภ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ทรงอิทธิพล และพากเพียรพยายามที่จะปลูกเพาะความสัมพันธ์กับพ่อค้าในเมือง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผลประโยชน์ของผู้ใหญ่บ้านประเภทนี้ผิดกับผู้ใหญ่บ้านประเภทแรก ที่เป็นตัวแทนของชาวบ้านที่เลือกพวกเขาขึ้นมา ผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างข้าราชการ-การเมืองของรัฐ แต่ผู้ใหญ่บ้านประเภทที่สองเป็นผู้สนับสนุนบรรดาข้าราชการทางการเมืองระดับสูง และพวกเขา "ใช้ตำแหน่งในฐานะที่เป็นเครืองมือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิพิเศษทางการเมืองและเศรษฐกิจ" (Turton, 1976: 284)

ชาวนาระดับกลาง
ในเวลาเดียวกัน เจ้าของที่ดินรายย่อยหรือ "ชาวนาระดับกลาง" และชาวนาไร้ที่ดินยังคงเพาะปลูกเพื่อการยังชีพแบบเดิมบนที่ดินของพวกเขา หรือที่ดินที่พวกเขาเช่าจากเจ้าที่ดินรายใหญ่ (เจ้าที่ดินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดอย่างสมบูรณ์แล้วนั่นคือผลิตเพื่อขาย ให้เช่าที่ดิน และเป็นนายทุนเงินกู้) อย่างไรก็ตาม ชาวนาเจ้าของที่ดินรายย่อยและชาวนาไร้ที่ดิน ขายแรงงานของตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสดด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายใหม่ๆ ที่จำเป็นของพวกเขา อย่างเช่น ส่งบุตรหลานไปโรงเรียน

ในกรณีของ "ชาวนาระดับกลาง" พวกเขาอาจมีที่ดินเป็นของตัวเองอยู่บ้าง และอาจต้องเช่าเพิ่ม อย่างไรก็ตาม พวกเขาเป็นเจ้าของเครื่องไม้เครื่องมือทางการผลิตของตัวเอง และอาจจำเป็นต้องจ้างแรงงานเพิ่มเติมอยู่บ้าง พวกเขาต้องพึ่งพิงแรงงานของครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ และอาจต้องพึ่งพิงการแลกเปลี่ยนแรงงานแบบดั้งเดิม พวกเขาได้ประโยชน์จากระบบที่มีมาแต่ดั้งเดิม ครอบครัวเหล่านี้สัมพันธ์อยู่กับเศรษฐกิจเลี้ยงตัวเองอย่างเด่นชัด ในบางโอกาสสามารถผลิตและขายส่วนเกินของผลผลิต เพื่อจะได้เพียงพอต่อความต้องการเงินสด แต่มิได้ผลิตเพื่อตลาดโดยมูลฐาน เมื่อไรก็ตามที่เขาขายผลผลิตของพวกเขาไป มักจะเป็นการขายไปก่อนมีการเก็บเกี่ยวด้วยราคาที่ต่ำต่อพ่อค้าคนกลาง (ชาวนารวย) ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาอาจได้รายได้จากการรับจ้าง แต่ทว่าพวกเขามิได้ขึ้นต่อรายได้ทั้งสองทางดังกล่าวโดยมูลฐาน

ชาวนาจน - ชาวนาไร้ที่ดิน
ส่วนชาวนาไร้ที่ดินที่ถูกจัดประเภทในฐานะเป็นชาวนาจน ซึ่งในบางกรณีพวกเขาอาจเป็นเจ้าของที่ดินขนาดเล็กๆที่ไม่เพียงพอต่อการผลิตเพื่อการยังชีพ หรืออาจเป็นเจ้าของเครื่องไม้เครื่องมือในการทำการผลิตบ้าง แต่ก็เป็นจำนวนน้อยชิ้น พวกเขาจึงถูกผูกมัดให้ต้องขายแรงงานส่วนหนึ่งของเขาออกไป และต้องตกเป็นหนี้ที่เรื้อรัง พวกเขาสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจกับชาวนารวยในฐานะผู้ขายผลผลิตให้ ผู้เป็นลูกหนี้ ผู้เช่าที่ดินและเครื่องมือในการทำการผลิต และบางโอกาสในฐานะแรงงานรับจ้าง ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจกับชาวนาระดับกลางผ่านการแลกเปลี่ยนแรงงาน

มุมมองหรือแกนเรื่องที่สองนี้ชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมของสังคมของสังคมชนบทภาคเหนือ โดยเน้นไปที่การแตกตัวทางสังคมที่มีสาเหตุมาจากการรุกเข้ามาของเศรษฐกิจทุนนิยมและรัฐ ชาวบ้านชนบทถูกแบ่งออกเป็นประเภทหรือชนชั้นต่างๆ แต่ละประเภทหรือชนชั้นต่างมีสถานะ เป้าหมาย และวิถีชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง ด้วยเหตุดังนั้นสังคมชนบทภาคเหนือจึงเปลี่ยนไปสู่สังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายเพิ่มมากขึ้น

ชยันต์ วรรธนะภูติ: ผีและพุทธศาสนาในฐานะเครื่องมือควบคุม
ในกรณีของการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ของสังคมชนบทภาคเหนือนั้น ชยันต์ วรรธนะภูติ (Chayan, 1984) เสนอว่า ผลของปฏิบัติการณ์ทางอุดมการณ์ของรัฐศูนย์กลาง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อครอบงำและดึงประชาชนชนบทเข้าสู่ปริมณฑลของรัฐไทยสมัยใหม่และทุนนิยม นำมาซึ่งความสลับซับซ้อนของระบบอุดมการณ์ของชาวบ้าน อุดมการณ์ที่ครอบงำชาวบ้านสามารถแบ่งได้เป็นสองระดับ ระดับแรกคือระดับท้องถิ่น และระดับที่สองคือระดับชาติ ระดับแรกนั้นได้รับการพิจารณาว่าต่ำกว่าระดับที่สอง

สำหรับอุดมการณ์ท้องถิ่น ดังเช่น การนับถือผีปู่ย่า ชยันต์เสนอว่าความคิดผีปู่ย่านั้นดำรงอยู่ก็เพื่อเชื่อมสมาชิกของเครือญาติในฐานะที่มีผีบรรพบุรุษร่วมกัน การนับถือผีปู่ย่าในความหมายที่แท้จริงแล้ว ก็เพื่อเป็นการควบคุมการใช้ที่ดินและแรงงานภายในเครือญาติ

… ผู้เขียนเสนอว่า การนับถือผีมิใช่เป็นเพียงกลไกของการควบคุมแรงงานที่จำเป็นสำหรับเป้าหมายทางการผลิตของครอบครัว ผู้เขียนยืนยันว่าการนับถือผีเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์เพื่อ ใช้ควบคุมทั้งที่ดินและแรงงาน มันคือการควบคุมทางอุดมการณ์ของระบบ
ครอบครัว ดังนั้น จึงรับใช้ในการค้ำจุนและทำให้ระบบครอบครัวดำเนินต่อไปได้ (Chayan, 1984: 571)

ในระดับประเทศ รัฐที่ศูนย์กลางใช้อุดมการณ์พุทธศาสนาเพื่อที่จะครอบงำชาวบ้านและดึงพวกเขาให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐและทุน ทฤษฎีเกี่ยวกับ "กรรม" ของพุทธศาสนาถูกใช้เพื่อทำให้ชาวบ้านเชื่อว่า ความร่ำรวยและสถานะที่เหนือกว่าของชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมือง ขึ้นอยู่กับกรรมดีคือการสะสมบุญบารมีของชนชั้นดังกล่าวที่มากกว่าชาวบ้านนับแต่ชาติปางก่อน. ชยันต์ เสนอต่อไปว่า ในขณะที่ผีบรรพบุรุษเป็นส่วนที่สำคัญของความเชื่อท้องถิ่นของหมู่บ้านที่เขาศึกษา ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษที่ดำรงอยู่จะมีสถานะที่ต่ำกว่าความเชื่อแบบพุทธของศูนย์กลางอำนาจ ที่สถาปนาลงไปในชุมชนชนบทภาคเหนือ ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษจะสัมพันธ์กับครอบครัวหรือปริมณฑลทางโลก ผู้หญิง และความไม่บริสุทธิ์ ในขณะที่การทำบุญในอุดมการณ์แบบพุทธจะสัมพันธ์กับปริมณฑลสาธารณะ ผู้ชาย และความบริสุทธิ์ (Chayan, 1984: 571-2)

ด้วยเหตุดังนั้น พุทธศาสนาก็คืออุดมการณ์ที่ให้ความชอบธรรมต่ออำนาจควบคุมของชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองเหนือชาวบ้านชนบท ผู้นำหรือผู้อาวุโสเหนือชาวบ้านทั่วไป และผู้ชายอยู่เหนือผู้หญิง. อย่างไรก็ตาม ชยันต์ เสนอด้วยว่า แม้พุทธศาสนามีอิทธิพลอย่างสูงเหนือชาวบ้าน แต่ก็มิใช่ปัจจัยเด็ดขาด อุดมการณ์นั้นครอบงำไม่สมบูรณ์ บางทีชาวบ้านก็แปลความหมายต่างๆ ตามระบบคิดของพวกเขา

… ที่บ้านช้าง ไม่ใช่ชาวบ้านทั้งหมดที่ได้อธิบายความยากจนของพวกเขาจากจุดยืนแบบกรรม ด้วยความสัมพันธ์ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นจริง ซึ่งก็คือโครงสร้างทางชนชั้น ที่คนยากจนมักเป็นผู้สูญเสีย มิใช่เป็นการสนองจากกรรมแต่ชาติปางก่อน ที่กำหนดให้พวกเขายากจนและขัดสนข้นแค้น อย่างไรก็ตาม พวกเขามักจะทำบุญเนื่องเพราะสิ่งนี้คือจารีตของพวกเขา และเพราะการกระทำดังกล่าวทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น (Chayan) 1984: 573)

ด้วยเหตุดังนั้น ในขอบเขตของอุดมการณ์ อุดมการณ์รัฐครอบงำ กำหนด และเปลี่ยนวิถีของความคิดของชาวบ้าน และทำให้พวกเขาต้องขึ้นต่อการควบคุมของรัฐและทุนนิยม ในอีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านยืนยันในอุดมการณ์ของพวกเขา แต่สถานะของอุดมการณ์ของชาวบ้านถูกทำให้อยู่ต่ำกว่าของรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกัน ในบางระดับชาวบ้านก็มีอิสระเชิงสัมพัทธ์จากอุดมการณ์ของรัฐ ดังนั้นโครงสร้างทางอุดมการณ์ของชนบทสมัยใหม่จึงแปรเปลี่ยนซับซ้อนมากกว่าโครงสร้างตามประเพณี

กล่าวโดยสรุปก็คือ มุมมองหรือแกนเรื่องที่สองนี้ได้เปลี่ยนสังคมชนบทจากการหยุดอยู่กับที่สู่พลวัต แกนเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยที่กำหนดความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทภาคเหนือ มาจากภายนอกสังคมชนบท และด้วยเหตุดังนั้นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นไปตามทิศทางของพลังจากภายนอก มุมมองที่สองนี้ยังคงสืบเนืองจากมุมมองที่หนึ่งตรงการที่พิจารณาเน้นไปที่โครงสร้างของสังมและโครงสร้างอุดมการณ์ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทภาคเหนือตามแกนเรื่องนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง ดังนั้นจึงมีลักษณะที่ปฏิเสธบริบทและความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง

หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง ปฏิเสธเงื่อนไขเฉพาะของปฏิกริยาของตัวแสดง (actor) ที่สนองตอบต่อพลังจากภายนอกที่บุกรุกเข้ามายังชุมชนของพวกเขา ดังนั้นมุมมองหรือแกนเรื่องที่สามที่จะนำเสนอในส่วนต่อไป จะเป็นการนำเสนอและอภิปรายบทบาทของตัวแสดงที่ตอบสนองต่อการบุกเข้ามาของพลังจากภายนอก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่ตัวแสดงผสมผสานหรือผสมพันธุ์ (hybridization) พลังจากภายนอก กับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือความทรงจำของพวกเขา แล้วผลิตเป็นสถานการณ์ใหม่ขึ้นมา

กรุณาดูบรรณานุกรมในท้ายบทความเรื่องนี้ ตอนที่ ๒

คลิกไปอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกัน ตอนที่ ๒

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑ : Release date 07 May 2008 : Copyleft by MNU.
ผีในหมู่บ้านทางเหนือเป็นผู้ควบคุมระเบียบและกฏเกณฑ์ และเป็นผู้คุ้มครองชาวบ้าน ผี คือผู้ที่นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของครอบครัวและชุมชน ผีอยู่ในฐานะพลังที่เป็นศูนย์กลาง สถานะทางสังคมของผียืนยงจากรุ่นชนหนึ่ง สู่อีกรุ่นชนหนึ่ง เช่นผีปู่ย่า หรือผีบรรพบุรุษผู้สะท้อนอำนาจของบรรพบุรุษหรือกลุ่มเครือญาติผู้สูงอายุ ที่จำเป็นต่อการจัดระเบียบโครงสร้างครอบครัว หรือผีฝายที่สะท้อนอำนาจของธรรมชาติในฐานเป็นผู้ประทานน้ำเป็นต้น … ชุมชนชวนาใช้ผีต่างๆ ในฐานะที่เป็นกลไกควบคุมสมาชิกของชุมชนให้รักษาปทัสถานของความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย และระหว่างสมาชิกในครอบครัว ระหว่างครอบครัวกับครอบครัว ระหว่างหมู่บ้านกับหมู่บ้าน และระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมรอบตัวพวกเขา (คำโปรย)
H