ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




28-04-2551 (1546)

แนวคิดกองทุนบำนาญโลก ของคนวัยชราแบบถ้วนหน้า
แผนกองทุนบำนาญระดับโลก : หลักประกันผู้สูงอายุในยุคโลกาภิวัตน์ (๑)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความเพื่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ
บทความขนาดยาวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อเสนอความคิดกองทุนบำนาญโลกแบบทั่วหน้า
เขียนโดย Robin Blackburn เรื่อง"A Global Pension Plan" จาก New Left Review 47,
September-October 2007; http://www.newleftreview.org/?page=article&view=2688
มีการคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ ประชากรโลกจะมีมากกว่า ๙ พันล้านคน ในจำนวนนี้จะมีถึงราว ๒ พันล้านคน
ที่อายุมากกว่า ๖๐ ปี คิดเป็นสัดส่วนถึง ๒๒ % ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในปัจจุบันอย่างถึงรากถึงโคน คนกลุ่มนี้กว่าครึ่งหนึ่ง หรือราว ๑.๒ พันล้านคน
จะไม่มีรายได้ที่มั่นคงเพียงพอ ไม่มีหลักประกันเพียงพอสำหรับวัยชรา ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงทั้ง
ด้านสุขภาพ ปัญหาด้านทุพพลภาพ และรายได้... หากดูเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา มีคนสูงอายุถึง ๓๔๒ ล้านคน
ที่ไม่มีรายได้มั่นคงเพียงพอในปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้ยิ่งรุนแรงขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะกับหญิงชรา

midnightuniv(at)gmail.com


บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๔๖
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

แนวคิดกองทุนบำนาญโลก ของคนวัยชราแบบถ้วนหน้า
แผนกองทุนบำนาญระดับโลก : หลักประกันผู้สูงอายุในยุคโลกาภิวัตน์ (๑)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ความนำ: อัตราผู้สูงอายุในปี ๒๐๕๐
มีการคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกจะมีมากกว่า 9 พันล้านคน ในจำนวนนี้จะมีถึงราว 2 พันล้านคนที่อายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็นสัดส่วนถึง 22 % ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในปัจจุบันอย่างถึงรากถึงโคน คนกลุ่มนี้กว่าครึ่งหนึ่ง หรือราว 1.2 พันล้านคน จะไม่มีรายได้ที่มั่นคงเพียงพอ นี่เป็นการคาดการณ์ในรายงานชุด World Economic and Social Survey 2007: Development in an Ageing World ซึ่งเป็นรายงานของสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว ดังที่ผู้จัดทำรายงานตั้งข้อสังเกตว่า "ประชากรโลกถึง 80% ไม่มีหลักประกันเพียงพอสำหรับวัยชรา ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพ ปัญหาด้านทุพพลภาพและรายได้....หากดูเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา มีคนสูงอายุถึง 342 ล้านคน ที่ไม่มีรายได้มั่นคงเพียงพอในปัจจุบัน" [1]

[1] UN Department of Economic and Social Affairs, World Economic and Social Survey 2007: Development in an Ageing World, New York June 2007, p. 89. (ต่อจากนี้จะเรียกย่อ ๆ ว่า Development in an Ageing World.) เอกสารฉบับนี้ขยายความข้อเสนอที่เคยนำเสนอต่อคณะกรรมการ Global Action on Aging ที่การประชุมสหประชาชาติในนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 เพื่อเสนอต่อผู้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสังคมและเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติ ผู้เขียนขอขอบคุณ Jay Ginn, Diane Elson, Susanne Paul, Manuel Riesco และ Matthieu Leimgruber ที่กรุณาให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ปัญหาคนสูงอายุในสังคมทุนนิยมก้าวหน้า โดยเฉพาะในยุโรปและญี่ปุ่น กลายเป็นประเด็นที่คุ้นหูกันในระยะหลัง ถึงแม้ต้นเหตุของปัญหานี้ กล่าวคือ ช่วงชีวิตที่ยืนยาวขึ้นและอัตราการเกิดที่ตกต่ำลง จะพบเห็นเด่นชัดที่สุดในกลุ่มประเทศร่ำรวยและรัฐที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่ปัญหานี้ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มประเทศเหล่านี้เท่านั้น ใน ค.ศ. 2050 ทวีปเอเชีย ซึ่งรวมจีนและอินเดีย คาดว่าจะมีคนสูงอายุไม่น้อยกว่า 1,249 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 24% ของประชากรทั้งหมด [2] ใน ค.ศ. 2005 ทวีปแอฟริกามีคนอายุสูงกว่า 60 ปีเพียง 48 ล้านคน คิดเป็น 5.2% ของประชากรทั้งหมด แต่เมื่อถึง ค.ศ. 2050 คนสูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า หรือ 207 ล้านคน คิดเป็น 10.3% ของประชากรทั้งหมด กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ คาดว่าทวีปแอฟริกาจะมีคนสูงอายุมากกว่าละตินอเมริกาและหมู่เกาะแคริบเบียน (ซึ่งจะมีคนอายุสูงกว่า 60 ปี จำนวน 187 ล้านคน) และเกือบเท่ายุโรป ซึ่งมีคนสูงอายุ 229 ล้านคน

[2] ตัวเลขเหล่านี้ได้มาจาก World Population Prospects: the 2006 Revision เอกสารนี้มีเผยแพร่อยู่ในเว็บไซท์ของแผนกประชากรของสหประชาชาติ

ยิ่งกว่านั้น กลุ่มคนสูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นในทุกส่วนของโลกคือ "คนแก่ชรา" ทุกวันนี้ ทั่วโลกมีคนอายุเกิน 80 ปี ถึง 88 ล้านคน เมื่อถึง ค.ศ. 2040 คาดการณ์ว่าในประเทศจีนประเทศเดียวจะมีคนแก่ชราเช่นนี้ถึง 98 ล้านคน อีก 47 ล้านคนในอินเดียและ 13 ล้านคนในบราซิล ตัวเลขของคนอายุเกิน 80 ปีในโลกจะพุ่งขึ้นเป็น 402 ล้านคนใน ค.ศ. 2050 ตามตัวเลขคาดการณ์ค่าพิสัยกึ่งกลางของแผนกประชากรของสหประชาชาติ ดังที่ในรายงาน Development in an Ageing World ของสหประชาชาติตั้งข้อสังเกตว่า:

ความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากรเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างยิ่ง....สำหรับกลุ่มคนที่ไม่มีความคุ้มครอง พวกเขาไม่มีเงินบำนาญหลังเกษียณ จึงต้องอาศัยรายได้จากการทำงานต่อไป นี่เป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนที่แก่ชรามาก (80 ปีขึ้นไป) คนแก่ชราต้องพึ่งครอบครัวและชุมชนเพื่อการอยู่รอดด้วย แต่หากครอบครัวและชุมชนมีทรัพยากรจำกัด ก็คงไม่สามารถให้หลักประกันทางสังคมที่มั่นคงแก่คนสูงอายุได้ ในแง่นี้ คนแก่ชราที่เป็นโสด หย่าร้างหรือไม่มีลูก (โดยเฉพาะผู้หญิง) จึงมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับความลำบากยากไร้มากกว่า [3]

[3] Development in an Ageing World, p. 89.

ความคุ้มครองระดับโลก : มาจากภาษีธุรกรรมทางการเงินระดับโลก
กองทุนบำนาญของคนวัยชราแบบถ้วนหน้า ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมในประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความยากจนและยืดเวลาความเป็นพลเมืองทางสังคมของคนวัยชราออกไป. ในยุคโลกาภิวัตน์ เครื่องมือคุ้มครองการดำรงชีวิตของคนวัยชรา ซึ่งผ่านการพิสูจน์และทดสอบมาแล้วนี้ ควรนำมาใช้ในระดับโลกด้วย โดยอาศัยกองทุนระดับโลกเป็นผู้จ่ายเงินจำนวนไม่มากนักให้ผู้สูงอายุทุกคน เงินที่จะใช้ในกองทุนนี้มาจากการเก็บภาษีธุรกรรมทางการเงินระดับโลก และจากบรรษัทที่มั่งคั่ง โดยเก็บภาษีในอัตราต่ำมาก ในระยะเริ่มแรก เงินบำนาญวัยชราทั่วโลกควรกำหนดไว้ที่วันละ 1 ดอลลาร์ พึงทราบว่าเงินจำนวนน้อยนิดเพียงเท่านี้ สามารถช่วยให้คนสูงอายุหลายร้อยล้านคนทั่วโลกหลุดพ้นจากความยากจนได้

โลกทุกวันนี้มีความยากจนและความไม่เท่าเทียมอย่างร้ายแรง ดังนั้น มาตรการบรรเทาทุกข์เพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง มีประชากรถึง 2.5 พันล้านคน ที่ต้องดำรงชีพด้วยเงินน้อยกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน และคนสูงอายุส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในกลุ่มนี้. กลุ่มคนยากจนที่สุด 10% ของประชากรโลก มีรายได้เพียง 0.7% ของรายได้ทั้งหมดในโลก ในขณะที่คนรวยที่สุด 10% ของประชากรโลกมีรายได้ถึง 54%. ในโลกที่มีรูปร่างเหมือน "แก้วแชมเปญ" คนรวยจิบแชมเปญล้นปริ่มจากส่วนบนของแก้ว ส่วนคนจนหรือคนปากกัดตีนถีบที่เหลือต้องแออัดยัดเยียดอยู่ในก้านแก้วเรียวบาง ในสภาพเช่นนี้ เงินวันละ 1 ดอลลาร์ ยังน้อยกว่าเศษทศนิยมของรายได้คนรวยด้วยซ้ำ แต่มันอาจเปรียบเสมือนเชือกช่วยชีวิตแก่คนสูงอายุยากจนในโลก [4]

[4] UNDP, Development Report 2006. ความแตกต่างอย่างมหาศาลนี้ทำให้ Thomas Pogge แสดงเหตุผลสนับสนุนการกระจายรายได้ใหม่อย่างถึงรากถึงโคนไว้ใน World Poverty and Human Rights, Cambridge 2002. ส่วนข้อเสนอที่ผู้เขียนวางเค้าโครงไว้ในเอกสารชิ้นนี้เป็นแค่ส่วนเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ แก่มาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายดังที่ Pogge เสนอไว้

กองทุนบำนาญของรัฐ สามารถช่วยลดระดับความยากจนของคนสูงวัยในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะกำจัดความยากจนให้หมดไป ในประเทศกำลังพัฒนา กองทุนบำนาญเข้าถึงประชากรเพียงหนึ่งในห้าเท่านั้น และมักเป็นเงินจำนวนน้อยนิดด้วย ส่วนเงินบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณอย่างเป็นทางการ ก็ครอบคลุมน้อยกว่า 15% ของครัวเรือนทั้งหมดในโลก. แม้กระทั่งประเทศอินเดียหรือชิลี ซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโตและมีระบบบริหารจัดการสาธารณะที่ดีในระดับหนึ่ง ก็ยังไม่สามารถจ่ายเงินบำนาญขั้นพื้นฐานได้อย่างถ้วนหน้า

ผู้ได้รับบำนาญวัยชราในอินเดียต้องผ่านการตรวจสอบฐานะว่ายากจนจริง และคนที่ผ่านการตรวจสอบก็ได้รับเงินเพียง 2 ดอลลาร์ ต่อเดือน [5] ในขณะที่ชาวเมืองที่ยากจนในอินเดียก็ไม่จนพอที่จะขอรับเงินบำนาญ ส่วนคนจนในชนบทก็พบว่า มันมีต้นทุนสูงเกินไปที่จะยื่นขอ ("นายหน้าบำนาญ" อาจช่วยไปเอาเงินสงเคราะห์ให้ แต่ก็หักค่านายหน้าจำนวนมาก) ระบบบำนาญของชิลีได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างก็จริง แต่ก็ปล่อยให้ประชากรถึง 40% ไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย ส่วนอีก 40% ก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

[5] ช่องว่างกว้างใหญ่ในการจัดสรรบำนาญมีบันทึกไว้อย่างละเอียดใน Larry Willmore, 'Universal Pensions in Developing Countries', World Development, vol. 35, no. 1 (2007), pp. 24-51. ส่วนของประเทศอินเดีย โปรดดู Rajeev Ahuja, 'Old-Age Income Security for the Poor', Economic and Political Weekly, 13 September 2003.

คนจนโลก ส่วนใหญ่คือผู้หญิง
ความเชื่อมโยงระหว่าง"การได้รับบำนาญ"กับ"การทำงานที่มีค่าจ้าง"มีสถิติที่ค่อนข้างแย่สำหรับผู้หญิง ตลอดจนทุกคนที่อยู่นอกระบบการจ้างงานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากผู้หญิงมักอายุยืนกว่าผู้ชายหลายปี คนสูงอายุส่วนใหญ่จึงเป็นผู้หญิง. ในปัจจุบัน 55% ของคนอายุเกิน 60 ปีทั่วโลกเป็นผู้หญิง ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 65% ในอเมริกาเหนือและ 70% ในยุโรป ใน ค.ศ. 2005 คนอายุเกิน 80 ปีในโลกถึง 63.5% เป็นผู้หญิง คาดว่าตัวเลขนี้จะลดลงเล็กน้อยเหลือ 61.4% ใน ค.ศ. 2050 เนื่องจากการใช้แรงงานทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้างของผู้หญิงไม่ถูกจัดอยู่ในระบบบำนาญของภาคเอกชนเลย และมีเพียงไม่กี่รัฐที่รับรองงานบ้านของผู้หญิง คนจนสูงอายุกว่า 75% จึงเป็นผู้หญิง

ยิ่งกว่านั้น หญิงชราที่ทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในครอบครัว ไม่ใช่มีแต่ในอดีต แต่ยังมีมาจนถึงปัจจุบัน พวกนางต้องดูแลคู่ชีวิต หลานและคนป่วย [6] ในประเทศที่มีโรคเอชไอวี/เอดส์ระบาด หญิงชรามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของครอบครัว เพราะพวกนางต้องทำหน้าที่แทนพ่อแม่ให้แก่หลาน ๆ เด็กกำพร้ากว่า 60% ในแอฟริกาใต้และซิมบับเว และเด็กกำพร้าถึง 50% ในบอตสวานา มาลาวี และแทนซาเนีย มีปู่ย่าตายายเป็นคนเลี้ยงดู [7] ถ้าเราสามารถหาวิธีการที่วางใจได้ในการจ่ายเงิน 30 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือ 90 ดอลลาร์ต่อไตรมาส ให้แก่ผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนา ไม่เพียงแต่จะช่วยบรรเทาความยากจนได้อย่างมากเท่านั้น ยังเท่ากับมอบทรัพยากรไว้ในมือของกลุ่มคนที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์ด้วย

[6] ภาระภายในบ้านที่ตกอยู่กับผู้หญิงมากเกินไปเป็นประเด็นหนึ่งในรายงานต่อเนื่องของ UNIFEM โปรดดูตัวอย่างเช่น UNIFEM, The Progress of the World's Women, New York 2000.
[7] Development in an Ageing World, p. 95.

เมื่อมีประชากรสูงอายุมากขึ้น การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและเครือญาติก็ยิ่งกลายเป็นภาระหนักมากขึ้น [8] ในปัจจุบัน คนชรา 75% ในเอเชียและละตินอเมริกา ยังอาศัยอยู่กับลูกหลาน ส่วนในยุโรปและในอเมริกาเหนือ คนสูงอายุ 73% ต้องดำเนินชีวิตตามลำพัง อย่างไรก็ตาม การที่คนชราจะอยู่ตามลำพังหรืออยู่กับคู่สมรสเท่านั้น เป็นแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก [9] คนชราที่ต้องดูแลตัวเองคือกลุ่มเสี่ยงต่อความยากจนมากที่สุด โดยเฉพาะถ้ามีบำนาญน้อยหรือไม่มีเลย ในกรณีที่ครอบครัวใหญ่จนอยู่แล้ว การมีคนชรามาพึ่งพาอาศัยย่อมซ้ำเติมความยากจนให้หนักลงไปอีก แน่นอน ปู่ย่าตายายและญาติสูงอายุที่อาศัยอยู่ด้วยสามารถช่วยดูแลเด็กและแบ่งเบาภาระอื่น ๆ แต่ถ้าคนสูงอายุเหล่านี้ไม่มีรายได้เลย นี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักให้ทั้งครอบครัวตกไปอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน หากมีเงินบำนาญแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะช่วยบรรเทาความตึงเครียดนี้ได้ กองทุนบำนาญโลกควรมีการจัดการให้เหมาะสมกับแบบแผนของการอยู่อาศัยเป็นครอบครัว รวมทั้งส่งเสริมให้ครอบครัวเผชิญปัญหาได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวใหญ่หรือเล็กก็ตาม

[8] ปัญหานี้มีกล่าวถึงใน Jeremy Seabrook, A World Growing Old, London 2003.
[9] Development in an Ageing World, pp. 93-5. แบบแผนการอยู่ร่วมกันเช่นนี้หมายความว่า มีจำนวน "ครัวเรือนของผู้สูงอายุ" ในโลกกำลังพัฒนาน้อยกว่า และช่วยอธิบายว่าเหตุใดข้อมูลเกี่ยวกับความยากจนของคนชราในโลกกำลังพัฒนาจึงมีความชัดเจนน้อยกว่าโลกพัฒนาแล้ว ครอบครัวขยายที่มีคนหลายรุ่นอยู่รวมกันมักทำให้วลีที่ว่า "ความสมานฉันท์ระหว่างรุ่น" เป็นความจริงขึ้นมา แต่จำนวนคนชราที่เพิ่มขึ้นในครัวเรือนที่ยากจนจะยิ่งซ้ำเติมปัญหา การได้รับเงินบำนาญจึงช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้บ้าง

ทวนกระแสได้หรือไม่?
จำนวนประชากรวัยชราที่คาดการณ์ไว้นี้ สร้างความวิตกแก่คนทั่วไปในปัจจุบัน การคาดการณ์นี้จะผิดพลาดก็ต่อเมื่อเกิดอัตราการตายเพิ่มขึ้นขนานใหญ่ด้วยเหตุที่คาดไม่ถึงบางอย่าง เช่น เนื่องจากโรคระบาดหรือความพินาศร้ายแรง แต่สัดส่วนของประชากรวัยชราทั่วโลกอาจลดลงได้ หากอัตราการเกิดพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก. ในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ อัตราการเกิดลดลงจนต่ำกว่าอัตราการแทนที่ของประชากร ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเด็ก 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน ในยุโรป อัตราการเกิดลดลงเหลือแค่เด็ก 1.2 - 1.8 คนต่อผู้หญิง 1 คน โดยมีผู้หญิงถึง 30% ที่ไม่มีลูกและจำนวนมากมีลูกแค่คนเดียว แนวโน้มนี้ฝังรากลึกในโลกพัฒนาแล้วและเริ่มเห็นได้ชัดในโลกกำลังพัฒนาด้วย เนื่องจากอัตราการเกิดลดลงอย่างรุนแรงตลอดช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ผลกระทบที่ตามมาจะอยู่กับเราไปอีกนาน

ในขณะที่ความอายุยืนและอัตราการเกิดที่ลดลง ล้วนเป็นปัจจัยหนุนให้ประชากรโลกมีอายุมากขึ้น ถ้าปัจจัยประการหลังลดลงมากกว่าปัจจัยประการแรกเพิ่มขึ้น ประชากรจะหดตัวลง อัตราการเกิดในญี่ปุ่นลดลงจนเหลือเฉลี่ยเพียงเด็ก 1.3 คนต่อผู้หญิง 1 คนในช่วงวัยเจริญพันธุ์ เป็นครั้งแรกที่ประชากรของญี่ปุ่นหดตัวลงจริง ๆ ใน ค.ศ. 2005 ถึงแม้จะลดลงไม่กี่พันคนก็ตาม แต่คาดการณ์กันว่าระหว่าง ค.ศ. 2005-2030 ประชากรญี่ปุ่นน่าจะลดลงจาก 127 ล้านคน เหลือเพียง 100 ล้านคน [10]

[10] 'Greying Japan', The Economist, 6 January 2006. แนวโน้มนี้ได้รับการกล่าวถึงอย่างละเอียดใน G?ran Therborn, Between Sex and Power, London 2004, pp. 229-59.

อนาคต ประชากรโลกจะลดลง
ในช่วงกลางศตวรรษนี้ จะมีประเทศถึง 50 ประเทศที่มีประชากรต่ำกว่าที่เคยมีในปี ค.ศ. 2000 และประชากรโลกทั้งหมดน่าจะลดลงในช่วงทศวรรษท้าย ๆ ของศตวรรษที่ 21 แม้ว่ามีบางประเทศเริ่มฟื้นตัวจากอัตราการเกิดที่ต่ำเกินไปบ้างแล้ว (เช่น อิตาลี เป็นต้น) แต่อัตราการแทนที่ของประชากรน่าจะยังไม่ถึงระดับสมดุล ถ้าประชากรที่หดตัวลงบวกกับมาตรการอื่น ๆ ช่วยลดการถลุงทรัพยากรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ก็คงดีไม่น้อย กระนั้นก็ตาม ต้นทุนของสังคมคนสูงอายุก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องจัดการ และต้นทุนดังกล่าวก็สูงเสียด้วย

มักมีผู้กล่าวว่า ปัญหาประชากรสูงวัยสามารถชดเชยได้ด้วยการอพยพเข้ามาของคนต่างด้าว ตัวเลขคาดการณ์ที่ผู้เขียนอ้างมานั้น รวมเอาความต่อเนื่องของแนวโน้มการอพยพในปัจจุบันไว้ด้วย ในขณะที่การเคลื่อนย้ายของผู้อพยพอาจบรรเทาปัญหาประชากรสูงวัยได้ในบางประเทศ แต่ไม่มีทางลดภาวะสูงวัยของประชากรโลกลงมาได้ อันที่จริง ตราบที่คลื่นการอพยพมาจากประชากร "หนุ่มสาว" ที่ย้ายไปยังภูมิภาคที่อัตราการเกิดต่ำกว่ามากและประชาชนมีอายุยืนยาวกว่า ก็เป็นไปได้ที่ผู้อพยพจะรับเอาแบบแผนทางประชากรของประเทศเจ้าบ้านมาใช้กับตัวเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะยิ่งเพิ่มปัญหาภาวะสูงวัยในประชากรโลก

กองทุนบำนาญโลกจะช่วยกำหนดกรอบปัญหาที่มีร่วมกัน
มีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีระบบจัดการที่สอดรับกับความจำเป็นในอนาคตของคนสูงอายุได้อย่างเพียงพอ ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน ผู้สูงอายุมักตกต่ำลงสู่ความยากจนอย่างแท้จริงหรือยากจนอย่างร้ายแรง ส่วนในประเทศมั่งคั่ง ผู้สูงอายุมักประสบความยากจนโดยเปรียบเทียบ ขณะที่ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือสามเท่า ปัญหาทั้งในโลกที่หนึ่งและโลกที่สามก็จะเพิ่มมากขึ้น ในการวิเคราะห์ตัวเลขคาดการณ์อย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนให้เหตุผลที่เชื่อได้ว่า ใน ค.ศ. 2035 ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะขาดแคลนทรัพยากรที่ต้องนำมาใช้แก้ปัญหานี้ถึงราว 4% ของจีดีพี [11]

[11] Robin Blackburn, Age Shock: How Finance Is Failing Us, London and New York 2006, pp. 61-74. ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนใช้ตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดจากคณะกรรมการเงินบำนาญของสหราชอาณาจักร, คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจของคณะกรรมาธิการร่วมยุโรป, สำนักงบประมาณของสภาคองเกรสแห่งสหรัฐฯ, และจากนักวิชาการที่นำเสนอผลงานวิจัยใน OECD Economic Studies เพื่อกำหนดหาขนาดของงบประมาณที่ขาดไปนี้. ในขณะที่ประชากรอายุเกิน 65 ปี จะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นสองเท่าภายในเวลาชั่วรุ่นเดียว และมีสัดส่วนระหว่างหนึ่งในห้าถึงหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด แต่สัดส่วนรายได้ของคนกลุ่มนี้จะสะดุดอยู่ที่ประมาณหนึ่งในสิบของจีดีพี ทั้งนี้คำนวณจากระบบบำนาญของภาครัฐและภาคเอกชนในปัจจุบัน เพียงแค่รักษารายได้ผู้รับบำนาญไว้ในระดับปัจจุบันก็ต้องอาศัยทรัพยากรเพิ่มอีก 4% ของจีดีพี ทุกวันนี้ยังคงมีปัญหาความยากจนของผู้เกษียณอายุ แต่ปัญหาจะยิ่งเลวร้ายลงในราว ค.ศ. 2030-2040 เมื่อกฎหมายลดทอนระบบบำนาญนำมาบังคับใช้แล้ว หากรัฐบาลสหราชอาณาจักรดำเนินตามแผนการเงินออมบำนาญแห่งชาติได้สำเร็จ ก็จะลดช่องว่างที่คำนวณไว้กว่า 4% ของจีดีพี เหลือเพียง 0.7% ของจีดีพี ใน ค.ศ. 2050 (Age Shock, p. 266).

ในทวีปยุโรป เงินบำนาญต่อหัวของรัฐจะถูกตัดลดลงอย่างหนัก อาจถึงราวครึ่งหนึ่ง ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ระบบเงินบำนาญที่ได้จากงานอาชีพ มีมูลค่าตกต่ำลงไปมากหรือไม่ก็ง่อนแง่นเต็มที ในขณะที่ระบบเงินบำนาญส่วนบุคคลก็ไม่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมน้อยมาก ส่วนบริษัทเอกชนที่วางแผนการเงินให้ลูกค้าหลังเกษียณ ก็เน้นหนักไปในด้านการตลาด การปรับเอาใจลูกค้าและเงินเดือน มีหลายบริษัทที่ฉวยประโยชน์จากช่องว่างของข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ให้บริการที่มีความรู้กับลูกค้าที่สับสนงงงวย ถึงแม้จะได้ประโยชน์จากการลดภาษีอย่างมหาศาล แต่ภาคอุตสาหกรรมบริการทางการเงินกลับไม่สามารถให้บริการเงินบำนาญหลังเกษียณแก่ผู้มีรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลางอย่างครอบคลุมเพียงพอ หากการให้บริการเงินหลังเกษียณอายุของภาคเอกชนล้มเหลวในประเทศร่ำรวย เพราะสัดส่วนกำไรต่อการลงทุนและข้อมูลข่าวสารที่ไม่เท่าเทียม ก็อย่าหวังเลยว่ามันจะประสบความสำเร็จในประเทศกำลังพัฒนา [12] การตั้งกองทุนบำนาญโลกจะช่วยกำหนดกรอบปัญหาที่มีร่วมกันทั่วโลก รวมทั้งคิดค้นวิธีการจัดการและการร่วมมือกันขึ้นมา

[12] Development in an Ageing World กล่าวถึงจุดอ่อนบางประการของระบบบำนาญเอกชน แต่ไม่ได้เอ่ยถึงปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับการเก็บค่าธรรมเนียมแพง ซึ่งเป็นผลมาจากเงินเดือนพนักงานที่สูงมาก การมุ่งกอบโกยกำไรและต้นทุนด้านการตลาด ในบทหนึ่งของ Age Shock ที่มีชื่อว่า 'High Finance and Distressed Debt' ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า ตราสารอนุพันธ์ที่ตั้งอยู่บนหนี้ซับไพร์มและหุ้นกู้ของภาคเอกชน ไม่น่าจะเป็นการลงทุนที่ดีสำหรับกองทุนบำนาญ

การกำหนดอายุผู้สูงอายุที่แตกต่างกัน
ในปัจจุบัน รายงานเป็นทางการส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ "วัยชรา" ในกลุ่มประเทศ OECD (*) [องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา] มักจัดกลุ่มประชากรวัยเกิน 65 ปีขึ้นไปอยู่ในประเภทนี้ ในขณะที่สถิติโลกจากแผนกประชากรของสหประชาชาตินิยามคนสูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากประชาชนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีอายุยืนน้อยกว่า ดังนั้น การจ่ายเงินของกองทุนบำนาญโลกน่าจะจ่ายให้คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในภูมิภาคที่ยากจน และจ่ายเงินให้คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในกลุ่มประเทศ OECD (หรือไม่ก็ใช้อายุเกษียณงานของแต่ละประเทศเป็นเกณฑ์กำหนด หรือคำนวณจากความยืนยาวของอายุประชากรในท้องถิ่น แต่ในที่นี้จะไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการคำนวณอันซับซ้อนเหล่านี้)

(*)The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD), is an international organisation of thirty countries, that accept the principles of representative democracy and a free market economy. It originated in 1948, as the Organisation for European Economic Co-operation (OEEC), led by Frenchman Robert Marjolin, to help administer the Marshall Plan, for the reconstruction of Europe, after World War II. Later, its membership was extended to non-European states and, in 1961, it was reformed into the Organisation for Economic Co-operation and Development or OECD by the Convention on the Organisation for Economic Co-operation and Development.

Object and action: The OECD brings together the governments of countries committed to democracy and the market economy from around the world to:

- Support sustainable economic growth
- Boost employment
- Raise living standards
- Maintain financial stability
- Assist other countries' economic development
- Contribute to growth in world trade

The OECD also shares expertise and exchanges views with more than 100 other countries and economies, from Brazil, China, and Russia to the least developed countries in Africa.

หากใช้เกณฑ์อายุที่กล่าวถึงข้างต้น กล่าวคือ 65 ปีขึ้นไปสำหรับกลุ่มประเทศ OECD และ 60 ปีขึ้นไปในประเทศอื่น ๆ ทุกวันนี้มีชายหญิงประมาณ 560 ล้านคนที่จัดเป็นคนสูงวัย ดังนั้น ต้นทุนของกองทุนบำนาญโลกที่จะจ่ายเงิน 1 ดอลลาร์ต่อ 1 วัน ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า จึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 205 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งมีมูลค่าเพียงหนึ่งในห้าของต้นทุนที่คาดว่าสหรัฐฯ ใช้ไปในสงครามอิรัก หรือเพียงครึ่งหนึ่งของงบประมาณทหารประจำปีของสหรัฐฯ ก่อนบุกอิรัก อย่างไรก็ตาม ต้นทุนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในราว ค.ศ. 2030 และจะเพิ่มเป็นสามเท่าในช่วงกลางศตวรรษ

กองทุนบำนาญโลก - กองทุนประกันสังคมสากล - ระบบบำนาญทั่วหน้า
กองทุนบำนาญโลกจะเป็นกองทุนประกันสังคมสากล ไม่ใช่แค่โครงการสังคมสงเคราะห์ กองทุนควรถ่ายโอนเงินไปให้คนสูงอายุในชุมชนโดยตรง ไม่ว่าคนรวยคนจน คนในเมืองหรือคนในชนบท ต้นทุนของการบริหารควรเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในชุมชนให้มากที่สุด ผู้ได้รับเงินจากกองทุนนี้ไม่ควรต้องผ่านการทดสอบว่ายากจนหรือไม่ และควรเป็น "บำนาญสังคม" ที่คนทั่วไปไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ ตามที่องค์กร Help the Aged International เคยแนะนำไว้ การตั้งเงื่อนไขให้ผู้รับบำนาญต้องผ่านเกณฑ์ทดสอบความยากจนเป็นการไม่ให้เกียรติ อีกทั้งยังกระตุ้นให้คนจนไม่อยากอดออมเงินด้วย การทดสอบเกณฑ์ความยากจนถือเป็นการดูถูกคนชรา โดยเฉพาะหญิงชรา

นักมานุษยวิทยาเคยชี้ให้เห็นลักษณะที่น่าสนใจของการช่วยเหลือเป็นเครือข่ายตามหมู่บ้านในบางพื้นที่ของแอฟริกาตะวันตก คนหนุ่มจะรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านทุกคนทำงานเร่งด่วนในช่วงการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ความช่วยเหลือเช่นนี้มีความสำคัญสำหรับคนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มหญิงชรา มากกว่าคนกลุ่มอื่น แต่วิธีการเช่นนี้ไม่ได้ทำให้การต้องการความช่วยเหลือของคนชราเด่นชัดขึ้นมาหรือหมิ่นศักดิ์ศรีของพวกเขา ดังที่เราทราบกันดีว่า รัฐสวัสดิการที่ประสบความสำเร็จก็ใช้หลักประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อขยายการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนและให้เกียรติแก่ผู้รับเงินบำนาญ โดยไม่ถูกกล่าวหาว่าต้องรับเงินการกุศล [13] ภายใต้ระบบเงินบำนาญถ้วนหน้า การเก็บภาษีโดยตรงจะช่วยชดเชยเงินที่จ่ายออกไป ในขณะที่คนร่ำรวยจริง ๆ อาจไม่รับเงินวันละหนึ่งดอลลาร์นี้ [14]

[13] John Van D. Lewis, 'Domestic Labor Intensity and the Incorporation of Malian Peasant Farmers into Localized Descent Groups', American Ethnologist, vol. 8, no. 1 (February 1981), pp. 53-73; และ Richard Sennett, Respect, London 2003.

[14] เหตุผลสนับสนุนการจ่ายเงินบำนาญแบบถ้วนหน้าโดยไม่ต้องผ่านการทดสอบเกณฑ์ความยากจน มีการนำเสนออย่างดีเยี่ยมใน Larry Willmore, 'Universal Pensions for Developing Countries', World Development, vol. 35, no. 1 (2007).

เงิน 90 ดอลลาร์ต่อไตรมาส คงไม่ช่วยขจัดความยากจนของคนสูงอายุในประเทศพัฒนาแล้ว แต่น่าจะช่วยบรรเทาได้เล็กน้อย คนสูงอายุจำนวนมากคงยินดีกับเงินก้อนนี้ เพราะถึงจะน้อยก็คงมีประโยชน์ต่องบประมาณที่จำกัดของพวกเขา ในประเทศร่ำรวยยังมีกลุ่มคนสูงอายุที่ยากจน โดยเฉพาะหญิงสูงอายุ. ในสหรัฐอเมริกา หญิงสูงอายุที่อยู่ตามลำพังถึง 45.5% มีรายได้น้อยกว่า 50% ของรายได้มัธยฐาน. แม้กระทั่งในสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบสวัสดิการก้าวหน้าที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ตัวเลขของดัชนีชี้วัดความยากจนของคนสูงวัยอยู่ที่ 16.5%. ขณะที่ในประเทศอื่น ๆ ของสหภาพยุโรป ตัวเลขอาจสูงขึ้นจนเท่ากับสหรัฐฯ [15]

[15] Timothy Smeeding and Susanna Sandstrom, 'Poverty and Income Maintenance in Old Age', Center for Retirement Research Working Paper 29, 2004.

เมื่อโครงการตัดลดสวัสดิการหลังเกษียณถูกนำมาใช้ในยุโรป อัตราความยากจนจะพุ่งสูงขึ้น ในสหรัฐอเมริกา แผนการของประธานาธิบดีบุชที่จะบั่นทอนสวัสดิการสังคมต้องล้มคว่ำไปก็จริง แต่ตอนนี้มีการพูดถึง "การรักษา" ระบบนี้ไว้ด้วยการประหยัดงบประมาณในอนาคต การรณรงค์ให้ก่อตั้งกองทุนบำนาญโลกจะช่วยให้คนหันมาสนใจปัญหาความยากจนของคนสูงอายุ และกระตุ้นให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ หันมาแก้ไขปัญหานี้มากขึ้นตามความสามารถของแต่ละประเทศ

ขณะที่ช่องทางด้านเศรษฐกิจในอนาคตของคนสูงอายุในกลุ่มประเทศ OECD ค่อนข้างน่าเป็นห่วง สถานการณ์ในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตยิ่งเลวร้าย และยิ่งเลวร้ายกว่าในหลาย ๆ ประเทศของเอเชีย แอฟริกาและละตินอเมริกา ซึ่งคนสูงอายุในชนบทและในสลัมมักไม่ได้รับสวัสดิการสังคมใด ๆ เลย นี่เป็นสภาพการณ์ที่อาจทำให้เราต้องแก้ไขสมมติฐานที่เคยเชื่อกันว่าพลเมืองโลกจะมีอายุยืนยาวขึ้นเสียใหม่

กลุ่มคนที่ถูกกีดกัน
แต่ทำไมต้องเลือกเฉพาะกลุ่มคนสูงอายุ ทำไมไม่จัดการปัญหาความยากจนของคนทุกวัย? ในช่วงสามสี่ทศวรรษหลัง ความวิตกต่อความยากจนในโลกที่เลวร้าย ๆ ลงเรื่อย ๆ กระตุ้นให้มีการคิดแผนการบรรเทาความยากจนหลากหลายวิธี แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมามากมาย แต่ยังไม่เคยมีโครงการระหว่างประเทศที่ทุ่มเทให้กับการแก้ไขปัญหาความยากจนในหมู่คนสูงอายุโดยเฉพาะ โครงการ Millennium Development Goals [MDG](*) ซึ่งถูกอ้างถึงอย่างกว้างขวาง ก็ไม่มีแผนการช่วยเหลือคนสูงอายุโดยตรงแม้แต่โครงการเดียว เป้าหมายที่อาจครอบคลุมถึงคนสูงอายุอยู่บ้าง ถึงแม้ไม่ได้ระบุถึงคนสูงอายุออกมาเป็นพิเศษก็ตาม ก็คือการตั้งปณิธานที่จะทำให้ทุกคนในโลกมีรายได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งดอลลาร์ต่อวัน

(*)The Millennium Development Goals are eight goals that 189 United Nations member states have agreed to try to achieve by the year 2015. The Millennium Development Goals derive from earlier 'international development goals', and were officially established at the Millennium Summit in 2000, where 189 world leaders adopted the United Nations Millennium Declaration, from which the eight-goal action plan, the 'Millennium Development Goals', was particularly promoted.
Goal: The Millennium Development Goals (MDGs) were developed out of the eight chapters of the United Nations Millennium Declaration, signed in September 2000. The eight goals and 21 targets include

1. Eradicate extreme poverty and hunger
2. Achieve universal primary education
3. Promote gender equality and empower women
4. Reduce child mortality
5. Improve maternal health
6. Combat HIV/AIDS, malaria, and other diseases
7. Ensure environmental sustainability
8. Develop a global partnership for development

โดยทั่วไปแล้ว โครงการบรรเทาความยากจนระหว่างประเทศถูกครอบงำด้วยวาระการพัฒนา ถึงแม้จะเน้นมาตรการที่มีคุณค่า เช่น การศึกษาของผู้หญิง ก็ตาม แต่ก็มักเน้นการกระตุ้นความเติบโตของเศรษฐกิจด้วย ชะตากรรมของคนสูงอายุจึงมักถูกมองข้าม ทั้งนี้เพราะคนสูงอายุส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้มีบทบาทเด่นในการพัฒนา มิหนำซ้ำ ความสำเร็จของความเติบโตทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้ช่วยให้ชะตากรรมของพวกเขาดีขึ้น

การประชุมระดับโลกเกี่ยวกับปัญหาของผู้สูงอายุ
จนถึงบัดนี้ เคยมีการประชุมระดับโลกแค่สองครั้งที่ทุ่มเทให้ปัญหาของผู้สูงอายุ. ครั้งแรกจัดในกรุงเวียนนาเมื่อ ค.ศ. 1982 การประชุมครั้งนั้นถกกันถึงประเด็นสำคัญหลายประการ แต่จุดสนใจหลักอยู่ที่ผู้สูงวัยในประเทศพัฒนาแล้วมากกว่า. ผ่านไปถึงสองทศวรรษกว่าจะมีการจัดประชุมครั้งที่สอง คราวนี้จัดในกรุงมาดริดเมื่อ ค.ศ. 2002 ที่ประชุมจัดทำรายการเรียงลำดับความสำคัญเพื่อใช้ในการตรวจสอบนโยบายประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันก็ใช้สำนวนภาษาที่พยายามนำเอาวาระของการเติบโตทางเศรษฐกิจครอบลงบนปัญหานี้ ด้วยการบอกว่า คนสูงอายุควร "มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่" ในกระบวนการพัฒนา [16]

[16] เว็บไซท์ของ Global Action on Aging มีลิงค์เชื่อมโยงไปยังเอกสารเกือบทั้งหมดที่องค์กรระหว่างประเทศจัดทำขึ้นในหัวข้อนี้ นับตั้งแต่ ค.ศ. 2002 มีสัญญาณแสดงให้เห็นความใส่ใจต่อสภาพการณ์ของผู้สูงอายุอยู่บ้าง การที่ปัญหาผู้สูงอายุมักไม่ได้รับความสนใจในวาทกรรมต่อต้านความยากจนระดับสากล มีข้อยกเว้นอยู่เพียงครั้งเดียว ซึ่งกลับซ้ำเติมความไม่ใส่ใจดังกล่าว ใน ค.ศ. 1994 ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานฉบับโด่งดังที่มีชื่อว่า Averting the Old Age Crisis: Policies to Protect the Old and Promote Growth. รายงานฉบับนี้วิพากษ์วิจารณ์ระบบบำนาญของรัฐ และเรียกร้องให้นำระบบบำนาญแบบใหม่มาใช้แทน ซึ่งบังคับให้พลเมืองทุกคนต้องเป็นสมาชิกระบบบำนาญของบริษัทประกันสังคมเอกชน. รายงานอ้างว่า วิธีนี้จะช่วยสร้างความเติบโตด้วยการเข้าสู่กลไกตลาดแบบทุนนิยม ผู้เขียนได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบด้านลบของคำแนะนำนี้ รวมทั้งการที่หัวหน้าเศรษฐกรของธนาคารโลกคนต่อมาก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้เช่นกันใน Banking on Death or Investing in Life: the History and Future of Pensions, London 2002, pp. 225-78, 402-8. ส่วนลำดับความสำคัญของการพัฒนาระหว่างประเทศ โปรดดู Paul Cammack, 'Attacking the Poor', NLR 13, January-February 2002, pp. 125-34.

ส่วนรายงาน Development in an Ageing World ตระหนักถึงความจำเป็นต้องขยายระบบบำนาญ และส่งสัญญาณว่า "เงินหนึ่งดอลลาร์ต่อวันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี" แต่กลับไม่ได้นำเสนอโครงการระดับโลกใด ๆ มาจัดการปัญหานี้ ซึ่งเท่ากับปล่อยให้รัฐบาลและองค์กรให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่มีอยู่ดำเนินการกันเองตามมีตามเกิด [17]
[17] Development in an Ageing World, p. xv.

ในการเรียกร้องให้ก่อตั้งกองทุนบำนาญโลก ผู้เขียนไม่มีเจตนาดูแคลนการทำกุศลด้วยจิตใจเมตตา หรือความพยายามที่จะเรียกร้องให้บรรเทาปัญหาความยากจนของคนกลุ่มอื่น เช่น หญิงสาวที่เป็นแม่ตั้งแต่อายุน้อย หรือผู้ติดเชื้อเอดส์. ในโลกที่ถูกครอบงำด้วยกองทัพและความไม่เท่าเทียมที่เรามีชีวิตอยู่นี้ มีหลายหนทางที่จะเอาชนะความยากจน สันติภาพย่อมเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดสำหรับคนยากไร้ในดินแดนที่แตกแยกด้วยสงคราม การพัฒนาเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในจีนในช่วงหลาย ๆ ปีมานี้ ยกระดับคนจำนวนมากให้พ้นจากความยากจน และทำให้เกิดบริบทที่มีความหวังมากขึ้นในการผลักดันยุทธศาสตร์การต่อสู้กับความยากจน แต่จีนก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ความเติบโตอย่างรวดเร็วอาจไม่ได้ช่วยขจัดความยากจนเข็ญใจในชนบทหรือในเมืองเกิดใหม่

กองทุนบำนาญโลก เปรียบเทียบกับการประกันรายได้พื้นฐานระดับโลก
บางคนเชื่อว่า โครงการต่อสู้กับความยากจนที่ดีที่สุดคือการประกันรายได้พื้นฐานระดับโลก โครงการนี้อาจกำหนดตัวเงินน้อยกว่าหนึ่งดอลลาร์ต่อวัน กระนั้นก็ยังมีต้นทุนสูงกว่ากองทุนบำนาญโลกถึงสิบเท่า ผู้เขียนสามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ทางการเงินของกองทุนบำนาญโลกในบทความนี้ ส่วนการประกันรายได้พื้นฐานระดับโลกคงต้องใช้ความพยายามมากกว่า ไม่ต้องสงสัยว่า ผู้สนับสนุนการประกันรายได้พื้นฐานย่อมเห็นว่ามันคู่ควรแก่ความพยายาม ถ้าเช่นนั้นก็ขอให้พวกเขามองว่ากองทุนบำนาญโลกคือหินก้อนแรกที่มีประโยชน์ในการก้าวไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่า [18]

[18] การหาเงินสนับสนุนกองทุนบำนาญไม่เพียงง่ายกว่า แต่ยังให้เหตุผลเพื่อสร้างความเข้าใจได้ง่ายกว่าอีกด้วย เพราะมันสอดคล้องกับทัศนะที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า คนสูงอายุควรได้รับความช่วยเหลือ ในขณะที่ยังไม่เคยมีฉันทามติแบบเดียวกันว่า ผู้ใหญ่ที่สมประกอบควรได้รับความช่วยเหลือ ในทำนองเดียวกัน ถึงแม้ทัศนะว่าทารกควรได้รับความช่วยเหลือเป็นทัศนะที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่การเสนอความช่วยเหลือทางการเงินแก่มารดาอายุน้อยจนเป็นแรงกระตุ้นให้เธอมีลูกอีก ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ทั้งแม่ลูก ในเชิงอรรถที่ 33 ผู้เขียนกล่าวถึงสภาพการณ์ของกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มักถูกกีดกัน นั่นคือ กลุ่มประชากรอายุ 14-20 ปี

กองทุนบำนาญโลกอาจช่วยระดมแรงสนับสนุนที่ขยายไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนโดยรวมได้ ในประเทศร่ำรวย คนจำนวนมากเริ่มกังวลต่อปัญหาความยากจนโดยเปรียบเทียบที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่คนชรา และตระหนักถึงชะตากรรมที่เลวร้ายกว่าของคนยากจนในประเทศโลกที่สาม ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา มีความรู้สึกตระหนกหรือรู้สึกผิดเกี่ยวกับความยากจนของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือลุงป้าน้าอาของตน ไม่ว่าเป็นความยากจนที่เกิดขึ้นแล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้น รวมทั้งการที่คู่สามีภรรยาหนุ่มสาวต้องการแยกที่อยู่อาศัยจากบิดามารดา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยพบเห็นในโลกกำลังพัฒนา ความวิตกนี้ช่วยสร้างกระแสสนับสนุนการมีบำนาญวัยชราในประเทศพัฒนาแล้ว และกระแสนี้น่าจะเกิดขึ้นในโลกกำลังพัฒนาเช่นกัน [19]

[19] เมื่อเน้นถึงความชอบธรรมทางศีลธรรมในการให้เหตุผลสนับสนุนกองทุนบำนาญโลก ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรอ้างถึงเหตุผลที่เฉพาะเจาะจงกว่านั้น ในต้นศตวรรษที่ 20 ผู้สนับสนุนกองทุนบำนาญของรัฐในประเทศ "รวยเก่า" ตั้งแต่เดนมาร์กไปจนถึงนิวซีแลนด์ บางครั้งอ้างเหตุผลว่า การเปิดทางให้คนอายุเกิน 70 ปีเกษียณจากสถานประกอบการ จะช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น ทุกวันนี้ เมื่อมองจากกรอบของการพัฒนา บางครั้งเราก็ได้ยินเหตุผลแบบนี้ เช่น ใน Development in an Ageing World ดูหน้า 57 การที่คนชรามีเงินบำนาญจะเปิดทางให้เกษตรกรอายุมากยอมเกษียณตัวเอง และยกที่ดินให้ลูกชายลูกสาวที่จะสร้างผลผลิตได้มากกว่า

เหนืออื่นใด ถ้าสามารถหาเงินสนับสนุนกองทุนบำนาญโลกและกระจายเงินออกไปได้อย่างเหมาะสม กองทุนนี้น่าจะมีฐานะที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง และไม่น่าจะทำให้ความพยายามของฝ่ายอื่น ๆ ที่จะต่อสู้กับความยากจนต้องสูญสิ้นพลังไปแต่อย่างใด กองทุนจะยิ่งได้รับการยอมรับมากขึ้นในโลกที่มีประชากรสูงวัยมากขึ้น ทุกวันนี้ คนแก่ส่วนใหญ่เป็นคนจน ในอนาคต คนจนส่วนใหญ่อาจเป็นคนแก่
จบตอนที่ ๑

คลิกไปอ่านต่อบทความเกี่ยวเนื่อง ตอนที่ ๒ ลำดับที่ 1547

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 28 April 2008 : Copyleft by MNU.
การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวกลายเป็นภาระหนักมากขึ้น ในปัจจุบัน คนชรา ๗๕% ในเอเชียและละตินอเมริกา ยังอาศัยอยู่กับลูกหลาน ส่วนในยุโรปและในอเมริกาเหนือ คนสูงอายุ ๗๓% ต้องดำเนินชีวิตตามลำพัง อย่างไรก็ตาม การที่คนชราจะอยู่ตามลำพังตนเท่านั้น เป็นแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก คนชราที่ต้องดูแลตัวเองคือกลุ่มเสี่ยงต่อความยากจนมากที่สุด โดยเฉพาะ ถ้ามีบำนาญน้อยหรือไม่มีเลย ในกรณีที่ครอบครัวเดิมจนอยู่แล้ว การมีคนชรามาพึ่งพาอาศัยย่อมซ้ำเติมความยากจนให้หนักลงไปอีก แน่นอน ปู่ย่าตายายและญาติสูงอายุที่อาศัยอยู่ด้วยสามารถช่วยดูแลเด็กและแบ่งเบาภาระอื่น ๆ แต่ถ้าคนสูงอายุเหล่านี้ไม่มีรายได้เลย นี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักให้ทั้งครอบครัวตกไปอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนอย่างช่วยไม่ได้
H