ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




27-04-2551 (1545)

เล่าขานประวัติศาสตร์ และบทวิพากษ์การต่อสู้หลายแนวทางรัฐปัตตานี
The Hidden Power: สงครามความคิด-การต่อสู้ยืดเยื้อทางทิศใต้ (๒)
คณะทำงานสนามข่าวสีแดง : ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สมัชชา นิลปัทม์ : กองบรรณาธิการ DSW (Deep South Watch - deepsouth bookazine)
บทความชิ้นนี้ได้รับการบรรจุเข้าโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความเพื่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และสิทธิทางสังคม-วัฒนธรรม
บทความขนาดยาวนี้เคยตีพิมพ์แล้ว
deepsouth bookazine เป็นเรื่องเกี่ยวกับ
สถานการณ์ความรุนแรงชายแดนภาคใต้ ซึ่ง เป็นโจทย์ท้าทายอย่างสำคัญต่อสังคมไทย
นับเวลานานพอสมควร ที่ปัญหานี้ก่อตัวขึ้นมา และการแก้ปัญหาในบางช่วงทำให้สถานการณ์บรรเทาลง
แต่ในบางช่วงกลับทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น คำถามสำคัญคือ อะไรคือมูลเหตุของความรุนแรง
มีใครเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง และแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐไทยเป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จ
หรือล้มเหลวมากน้อยแค่ไหน บทความขนาดยาวนี้ พยายามที่จะให้ข้อมูลจากหลายด้าน
www.deepsouthwatch.org
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๔๕
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๐ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เล่าขานประวัติศาสตร์ และบทวิพากษ์การต่อสู้หลายแนวทางรัฐปัตตานี
The Hidden Power: สงครามความคิด-การต่อสู้ยืดเยื้อทางทิศใต้ (๒)
คณะทำงานสนามข่าวสีแดง : ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สมัชชา นิลปัทม์ : กองบรรณาธิการ DSW (Deep South Watch - deepsouth bookazine)
บทความชิ้นนี้ได้รับการบรรจุเข้าโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ต่อจากบทความลำดับที่ 1544

ขบวนการสายพันใหม่ เจเนอเรชั่นแห่งความรุนแรง
ความรุนแรงระลอกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นภายหลังเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ปรากฏการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น รุนแรงยิ่งกว่าในอดีต เพราะดูเหมือนจะไร้รูปแบบ ไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ หลักการ หรือกติกาใดๆ ทั้งการทำร้ายประชาชนทั่วไป ซึ่งมิใช่คู่ต่อสู้โดยตรง แม้กระทั่งเด็ก สตรี ผู้นำศาสนา พระสงฆ์ ทำลายศาสนสถาน ทั้งวัดและมัสยิด อีกทั้งการทำลายเรือกสวนไร่นาของประชาชน

อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์ครั้งนี้ คู่ขัดแย้งมิใช่รัฐกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนเช่นในอดีต ความรุนแรงที่เกิดขึ้นสร้างภาวะกดดันให้เกิดความกลัว นำมาซึ่งความหวาดระแวง ระยะเวลาร่วม 4 ปี ที่ความรุนแรงปะทุขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์แบบสามเส้าระหว่างรัฐ ไทยพุทธ และไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู เกิดช่องว่างที่ขยายถ่างกว้างออกไปทุกที ถึงที่สุดแล้ว หากความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำต่อไป ภาวะซึ่ง สุรินทร์ พิศสุวรรณ เรียกว่า 'ฉันทาคติเกลียดชังต่อกัน ทำลายความรู้สึกผิดชอบชั่วดีร่วมกัน' ก็อาจเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

สำหรับ ปัญญศักดิ์ โสภณวสุ (*) จากการติดตามศึกษารูปแบบวิธีการก่อเหตุของขบวนการใต้ดินสายพันธุ์ใหม่ เขาเห็นว่าเป้าหมายของการก่อเหตุคือ การสร้างความกลัว ใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือเพื่อควบคุม "เขาไม่แคร์อะไร เพราะถ้าคุมพื้นที่ คุมประชาชนได้ด้วยการทำให้กลัว ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว". แม้จะเห็นว่าเป้าหมายของขบวนการใต้ดินคือการใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือ แต่ปัญญศักดิ์ ไม่เห็นด้วยหากจะสรุปว่า การก่อเหตุทั้งหมดเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ไร้รูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์หลักการใดๆ

(*) ผู้เขียนงานวิจัยเรื่อง "สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : วาทกรรมที่มีนัยทางศาสนา"

"ขบวนการมันก็มีผิดมั่งถูกมั่ง เราจะมองเฉพาะขบวนการนี้เป็นก้อนเดียวกันไม่ได้ ต้องมองเฉพาะพื้นที่ ในแต่ละพื้นที่จะมีปฏิบัติการต่างกันไปเลย ขบวนการใน 3 จังหวัดไม่ใช่ขบวนการเดียว มันต้องแยกกัน เพราะว่ารูปแบบมันต่างกัน ทั้งการโฆษณา การก่อเหตุ ในแต่ละพื้นที่ สภาพแวดล้อมเงื่อนไขไม่เหมือนกัน". ปัญญศักดิ์เห็นว่า แก่นแกนความคิดร่วมกันของขบวนการนั้นมีจริง แต่การตีความของแต่ละกลุ่ม ซึ่งเขาระบุว่ามีปัญญาชนทางศาสนา หรืออุสตาซเป็นผู้ควบคุมนั้น แตกต่างกันออกไป

"บางคนอาจจะเข้าใจการต่อสู้ในแนวทางอิสลามจริงๆ แต่บางคนก็ไปไม่ถึง เอาแค่ประเทศ เอาแค่ความเป็นมลายูก็พอ มุสลิมที่มีการศึกษาระดับประถม มัธยมก็รู้ว่าการสู้รบห้ามฆ่าผู้ที่ไม่มีอาวุธ ในอัลกุรอานห้ามไว้ชัดเจน แต่เราต้องดูเงื่อนไขประกอบ เช่น เมื่ออุสตาซถูกฆ่า ก็มีการฆ่าพระ เผาวัดกลับ อาจเป็นเฉพาะอารมณ์ความแค้น เราจึงต้องแยกพื้นที่ให้ชัด แยกแต่ละกลุ่มว่าผิดเพี้ยนไปมากน้อยแค่ไหน บางกลุ่มอาจจะไม่ผิดเพี้ยนเลยก็ได้"

ปัญญศักดิ์ อธิบายความเห็นของเขาด้วยการยกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาให้เห็นว่า บางพื้นที่มีการบุกเข้าไปในที่ทำการ อบต.แต่ไล่เจ้าหน้าที่ผู้หญิงออกไปทั้งหมด แล้วฆ่าเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ชาย แต่อีกพื้นที่หนึ่งมีการบุกขึ้นไปบนสถานีอนามัยแล้วฆ่าไม่เลือกทั้งหญิงและชาย หรือกรณียิงรถตู้สายเบตง-หาดใหญ่ คนร้ายสังหารผู้โดยสารไทยพุทธเสียชีวิตทั้งหมด แต่กลับไว้ชีวิตคนขับรถซึ่งเป็นมุสลิม เพียงเพราะเขากล่าว 'กาลีเมาะ' หรือคำปฏิญาณตนต่อพระผู้เป็นเจ้าว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ ทำให้คนขับคนนี้รอดชีวิตมาได้ แต่ถึงอย่างไร การใช้ความรุนแรงสร้างความกลัวก็ยังเป็นแนวทางหลักของขบวนการใต้ดิน ซึ่ง 'คนใน' ของขบวนการบอกว่า เป้าหมายคือการสร้างสถานการณ์ให้ชุลมุน

"เวลาไปบรรยาย (ปลุกระดม) ในหมู่บ้านก็อ้างศาสนา อ้างญิฮาด แต่ศาสนานี่จะไปตัดต้นไม้ข้างทาง ฆ่าคนบริสุทธิ์ ฆ่าพระไม่ได้ มันบาป แม้แต่สมัยนบี มุนาฟิก (มุสลิมที่กลับกลอก ตีสองหน้า) ก็ไม่ฆ่า แต่จะใช้จิตวิทยาให้กลับตัว แต่สำหรับที่นี่มันไม่ใช่ มันฆ่า ต้องการให้เกิดความชุลมุน แม้จะเป็นบาป แต่ตอนนี้พวกนี้มันไม่ฟังใครแล้ว"

'คนใน' บรรยายให้เห็นภาพการก่อตัวของนักต่อสู้สายพันธุ์ใหม่นี้ว่า แนวคิดการแบ่งแยกดินแดนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ในยุคที่สถานการณ์ที่เมืองไทยไร้การเคลื่อนไหวที่น่าเป็นห่วงในสายตาของรัฐ ขบวนการใต้ดินมีการจัดตั้งมวลชนกันอย่างลับๆ และวิธีการหนึ่งคือการคัดสรรเยาวชนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองบันดุง เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นศูนย์กลาง จะมีสาขาของพูโล, บีอาร์เอ็น, กระจายกันรับคนที่เดินทางมาจากเมืองไทยเข้าไปเป็นสมาชิก เมื่อเรียนจบก็จะกลับบ้าน ไปจัดตั้งมวลชนในหมู่บ้านของตัวเอง แต่ก็มีไม่น้อยที่การจัดตั้งใช้อุสตาซที่จบการศึกษาจากภายในประเทศ ซึ่งมีโลกทัศน์ไม่กว้างขวางมากนัก

'โลกทัศน์ของผู้กุมการจัดตั้ง' มีความสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางการต่อสู้ ซึ่งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีนั้นแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก ยิ่งมีการผสานแนวคิดชาตินิยมเข้ามาผสมกับแนวทางอิสลาม ยิ่งทำให้การตีความแนวทางต่อสู้เบี่ยงเบนออกไปจากหลักการ "เขาถือว่าหากปฏิวัติก่อการสถาปนารัฐปาตานีสำเร็จ ก็จะสามารถปกครองได้ตามแนวทางที่ต้องการ หลักการอิสลามจึงจะถูกสถาปนา ด้วยเหตุนี้จึงใช้วิธีการต่างๆ ไม่เลือก เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แม้ว่าจะขัดกับหลักการศาสนาเพียงใดก็ตาม"

แนวคิดของขบวนการใต้ดินยุคใหม่ อาจเรียกได้ว่าสุดโต่งอย่างยิ่ง แม้ว่าภายในขบวนการเองมีการตั้งคำถามต่อแนวทางการต่อสู้ แต่ข้อสรุปคือ การต้องทำตามแนวทางที่ผู้นำได้ตีความเอาไว้ "สรุปว่าผู้นำมีหน้าที่สั่งให้เราทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และเรามีหน้าที่ทำตามคำสั่งเขาเท่านั้น ส่วนการที่เขาสั่งนั้นจะผิดบาปหรือไม่ เป็นสิ่งที่เขาจะไปตอบกับพระผู้เป็นเจ้าเอง"

ส่งต่อเพื่อสืบทอด ภารกิจยังไม่ยุติ
การต่อสู้เพื่อเอกราชของปัตตานีดำเนินมาเกือบ 100 ปี อุดมการณ์นี้มีการส่งต่อกันมาหลายรุ่น และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง หรือมีทางทำให้สลายหายไปได้ "การต่อสู้นี้จะยาวนานไปอีกเท่าไหร่ 100 หรือ 200 ปี ก็ไม่สามารถบอกได้ เพราะขบวนการเหล่านี้มีตัวตายตัวแทน" นี่คือข้อเท็จจริงในความเห็นของ 'อ.พีรยศ' ซึ่งเกาะติดปัญหาการต่อสู้เพื่อเอกราชปัตตานีมาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังเป็นนักวิชาการ หรือแม้แต่ขณะนี้ซึ่งเข้าสู่สนามการเมือง

การต่อสู้ระลอกใหม่ของบรรดานักรบแห่ง 'ฟาฎอนี' อาจจะยังถูกมองด้วยความกังขาว่า เป้าหมายจุดประสงค์ขั้นสุดท้ายนั้นเพื่อสิ่งใด เป็นการต่อสู้เพื่อการธำรงอัตลักษณ์ ต้องการอำนาจบริหารจัดการสังคมของตนเองในลักษณะเขตปกครองพิเศษหรือเอกราช แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ปมเงื่อนทั้งสามประเด็นถูกใช้เป็นเครื่องมือ กระตุ้นให้ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับรัฐไทย ในฐานะที่เป็นเจ้าอาณานิคม ผู้ทำลายรากเหง้าของชาติ (มลายู), ศาสนา (อิสลาม), และมาตุภูมิ (ฟาฏอนี)

ว่าไปแล้ว หลักคิดของขบวนการใต้ดินต้านรัฐไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่แตกต่างกันนัก โดยยังมุ่งใช้ประเด็นทั้ง 3 เป็นเงื่อนไขในการปลุกระดม แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ แนวทางการต่อสู้หรือวิธีปฏิบัติ ซึ่งขบวนการในระยะหลังสามารถประสานด้านการเมืองและศาสนา ผูกร้อยเป็นเงื่อนปมการต่อสู้ได้อย่างลงตัว คำอธิบายแนวทางการต่อสู้ของขบวนการใต้ดินยุคใหม่ จึงเป็นที่ยอมรับในกลุ่มปัญญาชนและเยาวชนที่มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง

งานวิจัยเรื่อง 'สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : วาทกรรมที่มีนัยทางศาสนา' ของ ปัญญศักดิ์ โสภณวสุ เป็นการศึกษาหนังสือ 'เบอร์ญิฮาด ดิ ปัตตานี' หรือ การต่อสู้ที่ปัตตานี ซึ่งเป็นหนังสือที่พบครั้งแรกจากศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ต่อมา มีผู้เรียกหนังสือเล่มนี้ว่า 'คัมภีร์ปฏิวัติของนักต่อสู้เพื่อปัตตานี' อาจกล่าวได้ว่า งานวิจัยดังกล่าวของปัญญศักดิ์ เป็นการ ถอดรหัส แนวคิด วิธีการของขบวนการใต้ดิน ปัญญศักดิ์สรุปว่า การปลูกฝังอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อปัตตานี มีลักษณะที่เรียกได้ว่า 1 ต้อง 6 ไม่ 3 ผล

- 1 ต้อง คือ ต้องใช้ 'ญิฮาด' เป็นเครื่องมือต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปัตตานี
- 6 ไม่ คือ ไม่ประนีประนอม ไม่เจรจา ไม่หนี ไม่มอบตัว ไม่เอาเขตปกครองพิเศษ และไม่เอาระบบรัฐสภา (ต้องการใช้กฎหมายอิสลาม) และ
- 3 ผล คือ ผลจากการทำสงคราม 3 ประการ คือ ได้รับชัยชนะ พ่ายแพ้ และสืบทอดภารกิจให้ชนรุ่นต่อไป

เป็นแนวคิดที่เน้นการแตกหัก เพื่อปลุกระดมให้เกิดความฮึกเหิมในการต่อสู้ แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการก่อเหตุที่เกิดขึ้นในขณะนี้. แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ข้อความที่ปรากฏอยู่ใน 'เบอร์ญิฮาด ดิ ปัตตานี' คือการปลูกฝังแนวคิดการต่อสู้ ซึ่งจนถึงขณะนี้รัฐไทยยังไม่มีแนวทางเพื่อต่อสู้หักล้างแนวคิดสุดโต่งดังกล่าวได้ หากยังหาแนวทางเอาชนะทางความคิดไม่ได้ ความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้น ณ เวลานี้ ก็จะถูกส่งต่อ สืบทอด และยืดเยื้อต่อไปอีกยาวนาน

"เมื่อญิฮาดแล้ว ถ้าแพ้ก็ต้องสู้ต่อ แค่นั้นเอง แต่ถ้าพิจารณาจากการญิฮาดมันไม่ใช่แค่นี้ แต่มันจะยังคงดำเนินไปอีกไกล การต่อสู้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น" ปัญญศักดิ์สรุป. เช่นเดียวกับ อ.พีรยศ เขาบอกว่า ไม่มั่นใจและบอกไม่ได้ว่าอีกนานแค่ไหนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะยุติลง แต่คิดว่าคงอีกไม่น้อยกว่า 20 ปี หรือ 1 เจเนอเรชั่น หากเราไม่เริ่มแก้ปัญหาทางจิตใจในวันนี้ ก็ไม่รู้ว่าปัญหาจะต้องลากไปอีกนานเท่าไหร่

"ปัญหาวันนี้กับอดีตมันเชื่อมโยงกัน บรรพบุรุษของคนที่นี่ถูกกระทำ มีการถ่ายทอดว่าพ่อคุณ ปู่คุณ ลุกชายคุณตายเพราะอะไร ซึ่งเป็นการถ่ายทอดจิตวิญญาณที่เจ็บแค้น วิญญาณขบถ วันนี้เด็กวัยรุ่นอยู่ในภาวะจิตใจที่ล้มเหลว ผลกระทบด้านจิตใจไม่ง่ายที่จะแก้"

ก่อความรุนแรงภายใน - ยกระดับปัญหาสู่สากล
สำหรับฝ่ายรัฐ ข้อมูลการข่าวซึ่งได้มาตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า แกนหลักในการสร้างความรุนแรงที่เกิดขึ้น คือขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต (BRN Coordinate) โดยมีกลุ่มปัญญาชนทางศาสนาเป็นแกนหลัก. "เงื่อนไขการปลุกระดมคือการเชื่อมโยงเชื้อชาติ (มลายู) เข้ากับศาสนา เชื่อมโยงอัตลักษณ์ระหว่างมลายูกับมุสลิมให้แยกไม่ออก เชื่อมประวัติศาสตร์ปัตตานีเข้ากับอิสลาม โดยให้เรื่องของดินแดน (ปัตตานี) เป็นรัฐอิสลามในอดีต ดังนั้น การต่อสู้เพื่อเชื้อชาติ การต่อสู้เพื่อดินแดน ก็คือการต่อสู้เพื่อศาสนา การที่สยามรุกรานปัตตานีเท่ากับเป็นการทำลายอิสลาม"

ข้อมูลจาก พ.อ.ชินวัฒน์ แม้นเดช
พ.อ.ชินวัฒน์ แม้นเดช ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 (ผบ.ฉก.1) จ.ยะลา อธิบายถึงแนวทางปลูกฝังความคิดของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นแนวทางการปลุกระดมเยาวชนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐไทย. พ.อ.ชินวัฒน์ อธิบายให้เห็นภาพว่า การปลูกฝังแนวคิด ปลุกระดมเยาวชน มีการเตรียมพร้อมมาอย่างเป็นกระบวนการ หลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอ่อนกำลังลงในช่วงทศวรรษหลังปี 2524 เป็นต้นมา การปราบปรามอย่างหนักของรัฐทำให้กองกำลังฐานที่มั่นถูกทำลายลง ขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งบีอาร์เอ็นและพูโล หันไปสร้างเครือข่ายใหม่ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาศาสนาและกลุ่มเยาวชน ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่พูโล จัดตั้ง "ขบวนการยุวชนแห่งชาติปัตตานี" หรือ "PANYOM". ขณะที่บีอาร์เอ็น วางรากฐานการถ่ายทอดปลูกฝังอุดมการณ์การต่อสู้ให้กับเยาวชนตั้งแต่ระดับเด็กเล็กในโรงเรียนตาดีกา ซึ่งกระจายกันอยู่ในหลายพื้นที่และขยายวงไปสู่สถาบันการศึกษาปอเนาะ ซึ่งเป็นการลักลอบดำเนินการอย่างลับๆ ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

บทเรียนการต่อสู้ที่ล้มเหลวในอดีต ถูกนำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน การเคลื่อนไหวของขบวนการใต้ดินในวันนี้ จึงมิใช่การประกาศเขตปลดปล่อย ตั้งฐานที่มั่นถาวรพร้อมกองกำลังในเขตป่าเขา จับอาวุธเข้าต่อสู้กับรัฐแบบเผชิญหน้าแตกหัก ซึ่งบทเรียนการต่อสู้ในอดีตพิสูจน์แล้วว่า รังแต่จะนำไปสู่การถูกบดขยี้ทำลาย ด้วยแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่าของรัฐไทย. ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการใต้ดินรุ่นใหม่ แม้จะใช้ยุทธวิธีก่อความรุนแรง แต่มิใช่การทุ่มกำลังเข้าปะทะซึ่งหน้าแบบหวังผลแตกหัก แต่เป็นการรบกวน ทำลายขวัญ บั่นทอนจิตใจสู้รบของฝ่ายตรงข้าม ที่สำคัญคือแสดงศักยภาพความเหนือชั้น สร้างความหวาดกลัวเพื่อคงอำนาจในการควบคุมมวลชน

"เราตกอยู่ภายใต้กับดักทางยุทธศาสตร์ จังหวะก้าวของฝ่ายขบวนการ คือการที่ไม่มุ่งยึดเอารัฐปัตตานีด้วยปลายประบอกปืน หรือด้วยอำนาจทางทหาร แต่มุ่งแยกรัฐปัตตานีด้วยพลังอำนาจทางการเมืองของสหประชาชาติ หรือกลุ่มประเทศอิสลามที่จะเข้ามาเป็นกรรมการ มองเห็นความจำเป็นของการเกิดรัฐใหม่ที่มีความเฉพาะในเรื่องเชื้อชาติและศาสนา" พ.อ.ชินวัฒน์ ระบุถึงยุทธศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการใต้ดินรุ่นใหม่

สิ่งที่ ผบ.ฉก.1 ระบุออกมานั้น เขายืนยันว่าเคยมีความพยายามจะดำเนินการในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง กรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเหตุการณ์จับตัวนาวิกโยธิน 2 คน ที่บ้านตันหยงลิมอ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อเดือนกันยายน 2548

"แกนนำคนหนึ่งสารภาพว่า เขาก่อเหตุยิงร้านน้ำชามีชาวบ้านตาย ยิงเสร็จก็ปลุกระดมว่าทหารยิงก่อม็อบขึ้นมา แล้วให้คนที่สนิทกับนาวิกโยธินทั้งสองนายนั้น บอกว่าให้เข้ามาเคลียร์ สองคนนั้นก็มาและถูกจับตัว เขาเรียกร้องสื่อมาเลเซียเข้ามาทำข่าว เพราะคาดเดาว่าเราจะต้องชิงตัวประกัน วันนั้นท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ลังเลเ พราะว่าถ้าชิงตัวประกันก็ต้องผ่านม็อบผู้หญิงและเด็ก แกนนำคนนี้สารภาพอย่างน่าตกใจว่า เขาวางกำลัง RKK ไว้ในป่า ถ้าเราบุกเข้าไปเขาจะยิงทันที ภาพที่ปรากฏคือการปะทะ เด็กและผู้หญิงที่อยู่ตรงหัวสะพานจะล้มตายทันที สื่อมาเลเซียก็จะทำข่าวเรื่องนี้กระจายไปทั่วโลก เขาสร้างเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างเป็นสงครามการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ"

อีกกรณีหนึ่งที่ พ.อ.ชินวัฒน์ อธิบายยุทธศาสตร์ของขบวนการใต้ดินให้เห็นคือ การตอกลิ่มรอยร้าว สร้างความแตกแยกระหว่างไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการปะทะกันและขยายตัวเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างเชื้อชาติ. "กรณีวัดพรหมประสิทธิ์อาจจะเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นก็เปิดศักราชการไล่ยิงไทยพุทธ ก่อให้เกิดความร้าวฉานและมีเค้าว่าเขาจะทำสำเร็จ ไทยพุทธต้องเริ่มจับปืน กรณีหนึ่งผมเข้าไปแก้ปัญหาม็อบปิดถนนสาย 410 ยะลา-เบตง ช่วงเดือนพฤษภาคม 2550 กลุ่มไทยพุทธไล่ผม บอกว่าทหารไม่ต้อง เดี๋ยวพวกเขาจะทำเอง ถือปืนกันมาจะสลายม็อบเอง ถ้าเกิดการลงมือขึ้นมาก็จะเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างเชื้อชาติ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นสงครามศาสนาโดยตัวของมันเอง"

การสรุปยุทธศาสตร์ขบวนการใต้ดินของ ผบ.ฉก.1 ไม่ใช่เรื่องที่ดูเกินเลยไป เพราะแนวทางดังกล่าวปรากฏชัดในเว็บไซต์ www.puloinfo.net ซึ่งระบุถึงแนวทางต่อสู้เพื่อกู้เอกราชปัตตานีว่า "ตอนที่ติมอร์ตะวันออกกู้เอกราช สยามยังให้ความช่วยเหลือ เหตุใดสยามจึงไม่เข้าข้างอินโดนีเซียที่เป็นพันธมิตรในกลุ่มอาเซียน ปาตานี และกลันตันเป็นแผ่นดินเดียวกัน มีความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องกับชาวตรังกานู ชาวเคดาห์และเปอร์ลิส อีกทั้งอาเจะห์ในสุมาตรา ชาวมลายูในท้องถิ่นนี้ไปมาหาสู่เกี่ยวดองเป็นญาติตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ชาวปาตานีที่อพยพไปอยู่มาเลเซียรวมแล้วหลายแสน เป็นใหญ่เป็นโตในมาเลเซียก็มากมาย อีกทั้งที่เป็นเจ้าขุนมูลนายก็มีนับไม่ถ้วน"

คำประกาศของพูโลสะท้อนถึงแนวคิดการดึงสากลเข้ามาแทรกแซงปัญหาภายในประเทศ เพื่อหากรรมการหรือคนกลางที่จะเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งสอดคล้องกับปากคำของ 'คนใน' ขบวนการ "ถ้าจะเจรจา หากมีสหประชาชาติหรือโอไอซี (องค์กรการประชุมมุสลิมโลก) หรือมีองค์กรที่โลกยอมรับเข้ามาเป็นตัวกลาง ยูแว (นักต่อสู้) จะยอมแน่นอน แต่จะไปแบบตัวต่อตัวนี่ไม่ได้เด็ดขาด มันต้องมีคนกลาง วันนั้นแหละจะเห็นหัวหน้าใหญ่"

จุดผลิกผันสถานการณ์ - การเมืองนำทหาร หรือทหารนำการเมือง
ปัญหาชายแดนภาคใต้มาถึงจุดท้าทายที่สำคัญ หลังการประกาศแนวทางการเมืองนำการทหาร เพื่อเป็นยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งการที่ผู้นำรัฐบาลโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ประกาศขอโทษต่อความผิดผลาดที่ผ่านมาของรัฐไทย. ด้านหนึ่งรัฐเปิดเกมรุกทางการเมืองด้วยการฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) พร้อมๆ กับการยกฟ้องผู้ต้องหาคดีตากใบ เพื่อแสดงความจริงใจต่อการประกาศแนวทางการเมืองนำการทหาร อีกด้านหนึ่งก็ริเริ่มแนวทางการพัฒนาต่างๆ อาทิ การประกาศให้พื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และบางอำเภอของ จ.สงขลา เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

ขณะเดียวกัน รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ก็พยายามทำความเข้าใจต่อสังคมโลก โดยเฉพาะโลกมุสลิม ทั้งในระดับสากลและประเทศเพื่อนบ้าน ถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ. หลังเปิดเกมรุกทางการเมืองแล้ว มาตรการทางทหารภายใต้การควบคุมของกองบัญชาการผสมพลเรือน-ตำรวจ-ทหาร หรือ พตท.ก็เปิดฉากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เริ่มจากการประกาศเคอร์ฟิวใน 2 พื้นที่ซึ่งมีปัญหารุนแรง ประกอบด้วย อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ตามมาด้วยการระดมกำลังปิดล้อมตรวจค้นและควบคุมตัวผู้เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่ จ.ยะลาและนราธิวาส กว่า 2,000 คนไปสอบสวน และในจำนวนนี้มีผู้ถูกส่งต่อไปเข้ารับการอบรมใน 'หลักสูตรฝึกอาชีพ' ซึ่งมีระยะเวลา 4 เดือน ประมาณ 400 คน เนื่องจากฝ่ายรัฐมีข้อมูลว่าบุคคลเหล่านี้ได้ร่วมกันกระทำผิดในการก่อความไม่สงบ แต่ไม่อยากดำเนินคดี เพราะต้องการเปลี่ยนแนวความคิดและเปลี่ยนพฤติกรรม

แม้แนวทางการทหารดังกล่าวจะทำให้ตัวเลขจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงลดลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ เสียงท้วงติงจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าการนำผู้ถูกควบคุมตัวไปเข้ารับการฝึกอาชีพเป็นระยะเวลา 4 เดือนนั้น เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิ เนื่องจากเชื่อว่าส่วนใหญ่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับ. กรณีศาล จ.ชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี มีคำสั่งให้กองทัพภาคที่ 4 ปล่อยตัวผู้เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพ ซึ่งไม่สมัครใจในค่ายทหารซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเหล่านี้ กำลังก่อปัญหาในการปฏิบัติ

- ด้านหนึ่ง รัฐ โดยฝ่ายทหารกำลังดำเนินการควบคุมความรุนแรงโดยแนวทางสันติวิธี
- อีกด้านหนึ่งสันติวิธีของรัฐ ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในประเด็นสิทธิมนุษยชน

ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน และปัญหาทำท่าจะขยายออกไป เมื่อคนเหล่านี้ไม่อาจกลับไปยังภูมิลำเนาได้ เนื่องจากแม่ทัพภาคที่ 4 ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ห้ามบุคคลเหล่านี้กลับเข้าพื้นที่. ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้รัฐไทยต้องถอยร่นเข้าสู่แนวตั้งรับสุดท้าย ประเด็นการละเมิดสิทธิจากมาตรการดังกล่าว อาจเป็นเงื่อนไขปัจจัยที่ส่งผลให้สถานการณ์ที่ดูเหมือนจะบรรเทาเบาลง กลับคืนสู่ความรุนแรงขนานใหญ่อีกครั้ง ซึ่งรัฐเอง โดยเฉพาะฝ่ายทหาร กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า จะเป็นผู้ก่อความรุนแรงขึ้นมาเองหรือไม่

ประเด็นสำคัญที่รัฐกำลังถูกจับตามองในประเด็นนี้ก็คือ ภายใต้มาตรการทางทหารที่เปิดยุทธการรุกสลายโครงสร้างของขบวนการใต้ดิน แต่มาตรการรุกทางการเมืองเพื่อสลายแนวคิดต่อต้านรัฐ กลับไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้เกิดช่องว่างซึ่งอาจกลายเป็นเงื่อนไขและผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาในอนาคต

เบื้องต้น แนวทางการเมืองนำการทหารของรัฐบาลหลังการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ทำท่าว่าจะไปได้ด้วยดี เสียงตอบรับจากทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศล้วนแต่ชื่นชม ด้วยหวังว่าจะเป็นแนวทางซึ่งเหมาะสมในการดับไฟใต้ที่โหมแรงมาร่วม 4 ปี แต่แล้วมาตรการเชิงสันติวิธีก็ถูกท้าทายด้วยความรุนแรง ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อขยายความแตกแยกระหว่างกลุ่มคนทั้ง 2 ศาสนา. การรุกกลับทางการเมืองของขบวนการใต้ดินด้วยการใช้มวลชนกดดันก็ดุเดือดขึ้น การที่รัฐทุ่มกำลังจำนวนมากลงไปในพื้นที่ ถูกใช้เป็นข้ออ้างว่ามีการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม และถึงขั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน สารพัดม็อบปิดถนนกดดันจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงก่อนเปิดยุทธการปิดล้อมตรวจค้น

มาตรการทางทหารเพื่อปิดล้อมตรวจค้น สลายโครงสร้างขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ ส่งผลสะเทือนต่อมาตรการรุกทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แม้จะควบคุมความรุนแรงในพื้นที่ได้ แต่ประเมินในด้านลบที่สุด คือ รัฐกำลังถลำลึกเข้าไปในสงคราม การใช้มาตรการเด็ดขาดในการสลายพลังขบวนการใต้ดิน เสี่ยงต่อการก่อเงื่อนไขสงครามอย่างยิ่ง. กรณีคำพิพากษาปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวเข้าค่ายอบรมอาชีพ เพื่อถอนแกนออกนอกพื้นที่ อาจเป็นแนวตั้งรับสุดท้ายของกระบวนการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี เพราะเงื่อนไขความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐอาจถูกกดดันให้จำเป็นต้องใช้มาตรการเด็ดขาดเพิ่มขึ้น

การเมืองไทยหลังการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 กองทัพเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการจัดวางกระบวนการทางการเมือง คนในกองทัพ หรือเกี่ยวพันกับกองทัพ กระจายกันเข้าไปอยู่ในโครงสร้างต่างๆ ของกระบวนการทางการเมือง โดยเฉพาะปัญหาชายแดนภาคใต้ กล่าวได้ว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แนวทางนโยบายการแก้ปัญหาต่างๆ ออกมาจากกองทัพทั้งสิ้น

แม้ว่าประเทศไทยกำลังจะฟื้นคืนความเป็นประชาธิปไตย โดยมีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อจัดตั้งรัฐบาลจากประชาชน แต่สภาพปัญหาทางการเมืองปัจจุบันซึ่งไม่มีกลุ่มใดมีอำนาจเข้มแข็งเพียงพอ นอกจากกลุ่มทหาร จึงน่าวิตกว่า ถึงที่สุดแล้ว กระบวนการจัดการอำนาจทางการเมืองหลังจากนี้ อาจมีเงาของกองทัพเข้ามาทาบทับอยู่

ประเด็นที่น่าติดตามหลังจากผ่านการเลือกตั้งทั่วไปและจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนได้แล้วก็คือ แนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ที่มาจากฝ่ายการเมือง ซึ่งหากสังเกตจากนโยบายของทุกพรรคการเมือง จะเห็นว่ามุ่งเน้นไปที่การพัฒนา แต่ไม่เจาะจงลงไปถึงกระบวนการจัดการกับความรุนแรง ซึ่งถึงที่สุดแล้ว น่าติดตามว่า แนวทางการพัฒนาของฝ่ายการเมือง จะสอดคล้องไปกับแนวทางควบคุมและจัดการกับความรุนแรงของกองทัพหรือไม่

ปรับโครงสร้างกำลังพล - จัดทัพรับสงครามยืดเยื้อ
ในขณะที่ทิศทางการรุกทางการเมืองเพื่อต่อสู้ทางความคิดยังไม่ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือฝ่ายกองทัพ ได้ปรับโครงสร้างกำลังพลในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ขนานใหญ่ ล่าสุด เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกคำสั่งให้กองทัพภาคที่ 1, 2 และกองทัพภาคที่ 3 กำหนดตัวนายทหารระดับรองแม่ทัพภาคเป็นผู้บังคับบัญชา กำลังพลจากกองทัพภาคนั้นๆ ที่จะเข้ามารับผิดชอบพื้นที่กองทัพภาคละ 1 จังหวัด. พร้อมกันนี้ได้มีคำสั่งตั้งกองบัญชาการกองทัพบกส่วนหน้า มีนายทหารระดับรองผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา

การปรับโครงสร้างดังกล่าวเพื่อขจัดจุดอ่อนเรื่องของเอกภาพในการปฏิบัติซึ่งถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด รวมทั้งการสร้างความต่อเนื่องในการแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมา กำลังพลจากกองทัพภาคต่างๆ ที่ลงมาปฏิบัติหน้าที่นั้น ใช้วิธีสับเปลี่ยนกำลังคราวละ 6 เดือน ทำให้ขาดความต่อเนื่อง แต่โครงสร้างใหม่นี้ จะมีการกำหนดหน่วยรับผิดชอบ อำเภอละ 1 กองพัน ซึ่งทหารจากกองทัพภาคต่างๆ จะกระจายเข้าดูแลควบคุมพื้นที่ทั้ง 33 อำเภอ ใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา แม้จะยังใช้วิธีสับเปลี่ยนกำลังพลเช่นเดิม แต่การมีนายทหารระดับรองแม่ทัพภาคคอยควบคุม จะทำให้ทิศทางนโยบายในการปฏิบัติมีความต่อเนื่องกันไปไม่ติดขัด หรือต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

การจัดวางกำลังพลเพื่อตรึงพื้นที่ จำกัดการเคลื่อนไหวดำเนินการของขบวนการใต้ดินมิให้เป็นไปอย่างเสรี เริ่มต้นขึ้นมาก่อนหน้านี้ระยะหนึ่งแล้ว จากการจัดตั้งกองกำลังทหารพราน 30 กองร้อย โดยการรับสมัครราษฎรในพื้นที่ ขณะเดียวกันกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยก็มีแนวทางเพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบขึ้นหมู่บ้านละ 5 ตำแหน่ง พร้อมทั้งรับสมัครอาสารักษาดินแดน (อส.) เพื่อเป็นกองกำลังให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้านในการดูแลความสงบเรียบร้อยหมู่บ้านละ 1 หมู่ หรือ 12 นาย. รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกองพลพัฒนาและพิทักษ์ทรัพยากร เป็นกองพลทหารราบที่ 15

แนวทางด้านการทหารดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า นี่คือการจัดกำลังเพื่อเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจยืดเยื้อ ซึ่งการจัดวางกำลังดังกล่าวนี้ จะส่งผลดีต่อรัฐในระยะยาว เช่น เพื่อตรึงความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ติดตามความเคลื่อนไหวในพื้นที่ ตลอดจนทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยเพื่อให้กลไกอื่นๆ ของภาครัฐเข้าไปทำหน้าที่ในการพัฒนา เพื่อแย่งชิงมวลชนกลับคืนมา ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งในการรณรงค์การเอาชนะทางความคิด

ระเบิดจากภายใน - กลยุทธ์สลายแนวคิด
การต่อสู้ในอดีตของรัฐไทย โดยเฉพาะยุคสงครามเย็น คือการ สืบให้ทราบ ค้นให้พบ และทำลายฝ่ายตรงข้าม แต่สถานการณ์ในสงครามความไม่สงบที่เกิดขึ้น เงื่อนไขปัจจัยสงครามกลับเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต วันนี้แนวรบขยายครอบคลุมทุกพื้นที่และสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ไม่รู้ว่าใครเป็นคู่สงคราม

พล.ต.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร หรือ พตท. ซึ่งวันนี้เขามาดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 4 เห็นว่า การสลายแนวคิด ด้วยการส่งแรงปะทะให้เกิดการระเบิดจากภายใน คือการสลายแนวคิดที่น่าจะส่งผลมากที่สุด "การต่อสู้ทางความคิด เราสนใจระดับปัญญาชน เราสนใจกลุ่มอุสตาซ เราเข้าไปยังโรงเรียนสอนศาสนาประมาณ 60 แห่ง เพื่อขายความคิดว่าเราคิดอย่างไร แต่กลุ่มปัญญาชนเหล่านี้กลับไม่กล้าพูดกับเราว่าเขาคิดอย่างไร ซึ่งมาจากปัญหา 2 ประเด็น คือเขาไม่แน่ใจว่าใครเป็นใคร ถ้าเขาเห็นด้วยกับเรา เขาอาจตายก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือคนจากภายในต้องออกมาพูดเอง ถ้าคนในขบวนการออกมาพูดเองว่าสิ่งที่พูดมาแล้วทำมาแล้วมันไม่ถูกต้อง ผมคิดว่าจะเปลี่ยน แนวคิดของกลุ่มปัญญาชนต้องเปลี่ยน ส่วนชาวบ้านต้องเปลี่ยนในระดับของความเชื่อ"

ข้อมูลจากการศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการบีอาร์เอ็น ทำให้ฝ่ายทหารเชื่อมั่นว่า การให้คนในวิพากษ์และตั้งคำถามต่อแนวทางของตนเองนั้น คือการต่อสู้ทางความคิดที่น่าจะเกิดประสิทธิผลมากที่สุด. กรณีนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงปี 2532-2535 และถือเป็นกรณีที่ทำให้เกิดการแตกแยกในขบวนการ จนกลุ่มต่างๆ แยกตัวกันออกมาเป็นอิสระ ไม่เข้มแข็งรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเช่นในอดีต นั่นคือกรณีที่ ฮัจยีอับดุลการิม ฮัสซัน แกนนำสำคัญของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งถือเป็นผู้รู้ในทางศาสนา ผู้กำหนดแนวทางการต่อสู้ของขบวนการบีอาร์เอ็นในอดีต ซึ่งยึดมั่นแนวทาง 'ญิฮาด' ได้กำหนดให้มีการประชุมเพื่อที่จะวินิจฉัยและทบทวนแนวทางการต่อสู้ของบีอาร์เอ็น ด้วยการให้ผู้นำของขบวนการทั้งหมดประชุมกัน ณ ฐานที่มั่นแห่งหนึ่งบนเทือกเขาสันกาลาคีรี

การประชุมครั้งนั้นใช้เวลาถึง 13 วัน 13 คืน โดยอุสตาซการิม ต้องการคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า แท้จริงแล้วบีอาร์เอ็นต่อสู้เพื่ออะไร ? ผลจากการประชุมนำไปสู้ข้อวินิจฉัยของอุสตาซการิม ว่า "แท้จริงแล้วบีอาร์เอ็นกำลังต่อสู้เพื่อเสรีภาพของมลายู มิได้ต่อสู้เพื่ออิสลาม เพราะฉะนั้นจะใช้หลักการญิฮาดมาต่อสู้ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ผิดแนวทาง". คำวินิจฉัยของอุสตาซการิม แม้จะตรงข้ามกับแนวทางญิฮาดซึ่งกำหนดวางไว้แต่แรก แต่การวินิจฉัยดังกล่าวนี้ กลับสมบูรณ์ในแง่ของคำอธิบายการต่อสู้ตามแนวทางอิสลาม

เหตุผลที่อุสตาซการิม นำมาประกอบคำวินิจฉัย ล้วนมาจากโองการในคัมภีร์อัลกุรอาน ดังบทหนึ่งที่ว่า "โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน". สิ่งที่อุสตาซการิมอธิบายก็คือ มนุษย์ซึ่งอัลเลาะห์เป็นผู้สร้างขึ้นมา ได้แยกเป็นเผ่าพันธุ์เชื้อชาติต่างๆ ต่อมาอัลเลาะห์ได้ประทานอิสลามให้กับมวลมนุษย์ ดังนั้นอิสลามจึงไม่มีประเทศ อิสลามไม่มีดินแดน เพราะอิสลามเป็นของมวลมนุษยชาติ

และอีกบทหนึ่งที่ว่า "เป็นพระประสงค์ของอัลเลาะห์ที่ต้องการให้ประชาชาติมุสลิมเป็นพี่น้องกัน เปรียบประดุจร่างกายเดียวกัน ส่วนใดเจ็บ ส่วนอื่นต้องเจ็บด้วย". โองการบทนี้อัลเลาะห์ทรงประทานมาก็เพื่อให้ประชาชาติมุสลิมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หากมุสลิมยังคงยึดแต่เรื่องเชื้อชาติ ก็ไม่สามารถก้าวผ่านไปสู่การเป็นประชาชาติมุสลิมได้ และระหว่างมุสลิมด้วยกันก็จะฆ่าฟันกันเอง ข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ที่สวนทางกับแนวทางอิสลามของอุสตาซการิม นำไปสู่การแตกแยกทางความคิดในขบวนการบีอาร์เอ็น กระทั่งในที่สุดได้แตกออกเป็นกลุ่มต่างๆ

ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งขบวนการใต้ดินยังกุมอำนาจการสร้างความหวาดกลัวไว้ได้ การให้ 'คนใน' ออกมาให้คำวินิจฉัยต่อแนวทางและะวิธีการของขบวนการใต้ดิน ดังเช่นกรณีอุสตาซการิม ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยังห่างไกล ดังนั้นแนวทางที่ฝ่ายรัฐกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ ส่งแนวคิดจากภายนอกเข้าไปให้ถึงภายใน. "ใครกุมความรู้สึกของชาวบ้าน เราก็ต้องคุยกับคนนั้น แต่การเป็นองค์กรลับทำให้เราไม่รู้จักว่าเป็นใคร ดังนั้นเราจะขายความคิดไปยังคนที่มีความรู้ทางด้านศาสนา เพราะถือว่าเป็นผู้นำประชาชน เราจะขายความคิดของเราไปอย่างนี้" พล.ต.สำเร็จ กล่าวถึงแนวทางการต่อสู้ทางความคิด

ขณะที่ 'พระนาย สุวรรณรัฐ' กล่าวถึงแนวทางการเอาชนะทางความคิดภายใต้การดำเนินการของ ศอ.บต.ว่า "สถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างรุก สิ่งที่ ศอ.บต.ห่วงคือความรู้สึกคน 2 ล้านคนในพื้นที่ ในขณะที่กลุ่มผู้ก่อเหตุมีเพียง 1 % มีทั้งผู้บงการ เจ้าของทฤษฎี ผู้ถูกกล่อมเกลา บิดเบือน ซึ่งกลายมาเป็นผู้ประกอบการความไม่สงบ. ในกลุ่มผู้ก่อเหตุนี้ 80 % เราเชื่อว่าจะถอนแนวคิดได้ กลับตัวได้ ซึ่งฝ่ายทหารและ ศอ.บต.กำลังร่วมกันทำอยู่กับกลุ่มนี้. นโยบายเสริมสร้างสันติสุข ระบุชัดเจนว่า จะเปิดช่องให้กลับมา การเข้าค่ายฝึกอบรมอาจเป็นมาตรการหนึ่ง ถ้าเลือกไม่ให้เรื่องไปจบที่ศาลได้จะดีที่สุด เพื่อให้โอกาสปรับเปลี่ยนวิธีคิด มองเห็นโอกาสในสังคมไทย กลับมาสู่สังคม"

มาตรการของ ศอ.บต.เน้นหนักในด้านการดูแลกลุ่มซึ่งถูกกล่อมเกลาโน้มนำให้ต่อต้านรัฐ เปลี่ยนแนวคิดกลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคม ซึ่ง ผอ.ศอ.บต.บอกว่า "ช่วงที่เขาไม่อยู่ เราดูแลครอบครัวเขาเต็มที่ เพื่อให้เขากลับมาอยู่กับเรา จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่อย่าให้มีคดีอาญา บางอย่างยอมความได้ แต่อะไรที่ยอมไม่ได้ก็ไม่ยอม เพราะจะไปตอบคำถามคนที่ถูกกระทำไม่ได้". สำหรับมาตรการในระยะยาว ผอ.ศอ.บต.บอกว่า จะเน้นให้ความสำคัญกับการทำให้คนในพื้นที่ได้มองเห็นถึงโอกาสในอนาคต เพื่อให้ตัดสินใจต่ออนาคตของตนเอง

"ชัยชนะชี้ขาดจะต้องอยู่ที่หมู่บ้าน ต้องให้คนในหมู่บ้านมีส่วนร่วมกำหนดอนาคต คุณอยากให้ลูกหลานเป็นอย่างไร ต้องช่วยกันรับผิดชอบกันเอง สิ่งหนึ่งที่เราทำให้คนในพื้นที่มองเห็นว่าเขามีอนาคต คือขณะนี้ ศอ.บต.กำลังทำแผนกำลังคนภาครัฐในปี 2555 เพราะปี 2551 เราจะเริ่มรับเด็กนักเรียนภายใต้เงื่อนไขจบแล้วได้งาน ปลัดอำเภอไม่ต้องสอบ เรียนจบรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี มาเป็นปลัดอำเภอในพื้นที่นี้เลย การตั้งรับสถานการณ์ซึ่งจะต้องยืดเยื้อของเราคือ นอกจากสร้างโอกาสให้มองเห็นอนาคตแล้ว ยังต้องชี้ให้เห็นทางเลือก"

เรียนรู้เพื่อเข้าใจสงคราม - กระบวนการตั้งหลักคิด
สุรชาติ บำรุงสุข
จากความสลับซับซ้อนของปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งปมประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ และศาสนา เป็นเงื่อนไขสำคัญ สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า ความเป็นรัฐพุทธแบบไทย ทำให้ไม่เข้าใจปัญหาสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ เรียกได้ว่าเข้าสู่ภาวะสงคราม แต่สงครามนี้แตกต่างจากสงครามในอดีต โดยเฉพาะกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท.

"สงครามในอดีต มีกระบวนการเรียนรู้และปรับตัว แต่มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้เร็ว เสียงปืนแตกปี 2507 แต่มีการปรับตัวจริงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพราะผลสะเทือนของเหตุการณ์มีส่วนในการปรับคนในกระบวนการความมั่นคง มันไม่ง่ายและเร็ว พอเกิดสงครามในบ้านรอบใหม่ โดยระยะเวลายังไม่ยาวพอ แต่เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา การปรับตัวช้าหมายถึงความสูญเสียที่มากขึ้น ความยากลำบากที่มากขึ้น ทั้งในการทำนโยบาย การกำหนดทิศทางของภาครัฐ"

สุรชาติให้ความสำคัญกับการปรับตัว ปรับวิธีคิด วิธีการปฏิบัติอย่างยิ่ง เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ความรู้สึกของประชาชนในมิติของความเร็วต่างกันมาก เป็นผลจากเทคโนโลยีการสื่อสาร แต่ผลจากความรุนแรงที่ถาโถมเข้ามาเรื่อย จะยิ่งทำให้ไม่มีการปรับตัว. เขาเห็นว่า การเข้าสู่ภาวะเริ่มต้นของสงคราม เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ทุกรัฐมักปรับตัวไม่ได้ จนกว่าความรุนแรงจะมากขึ้น ดังเช่นสงครามคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์รุนแรงขึ้น จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนักศึกษาปัญญาชน หนีการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐเข้าร่วมต่อสู้ในป่าเขากับ พคท. กลายเป็นแรงผลักดันให้ทุกฝ่ายต้องมาขบคิดกันอย่างจริงจังว่า หากไม่ทำอะไร โดมิโน่ล้มแน่ๆ

"กรณีชายแดนภาคใต้ เราจะรอให้แรงกว่านี้จึงจะปรับได้มากกว่านี้ หากสวิงมากปราบอย่างเดียวแล้วชนะก็ไม่มีประโยชน์ ยิ่งเผชิญกับแรงกดดันของสงครามมากเท่าไหร่ รัฐก็ยิ่งสวิงเข้าไปหามาตรการความรุนแรงได้ง่าย. สงครามคอมมิวนิสต์ส่วนหนึ่งมีอาการเช่นนี้อยู่ แต่ความช้าเรายิ่งเสียโอกาส ยิ่งสูญเสีย การปรับตัวทางความคิดยังเป็นเรื่องใหญ่ หนึ่งในปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาความคิดซึ่งต้องการการปรับตัว ถ้าจนถึงวันนี้เรายังปรับกระบวนการคิดของเราไม่ได้ แล้วเผชิญกับปัญหาที่รุนแรง ปัญหาก็จะยิ่งลากเราเข้าไปสู่การไม่ปรับ เพราะความรุนแรงจะโถมเข้ามาเรื่อยๆ"

การปรับตัวที่ยังเชื่องช้าอยู่นี้ สุรชาติ สรุปว่า เป็นเพราะสังคมไทยทุกภาคส่วน ไม่ได้เรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจกับสงครามครั้งนี้อย่างเพียงพอ ซึ่งสะท้อนอย่างเห็นได้ชัดจากมุมมองของแต่ละฝ่าย ต่อการมองสาเหตุเงื่อนไขของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแตกต่างกัน

"ปัญหาภาคใต้คือขนมรวมมิตร มีหลายๆ ปัญหาผสมกันอยู่ แต่อะไรคือปัญหาหลัก ผมว่าตอบไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาทับซ้อนของหลายเรื่องพร้อมๆ กัน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ละฝ่ายคิดในมิติเดียว แล้วเชื่อว่ามิติที่พวกเขาคิดนั้นแก้ปัญหาได้. กลุ่มที่เชื่อว่าการพัฒนาเป็นวิถีทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ก็จะดันแต่การพัฒนา กลุ่มสมานฉันท์ก็จะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ร้าย ก็จะทำอย่างเดียวคือเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มที่คิดว่าการเมืองเป็นปัญหา ก็จะคิดแก้ปัญหาการเมืองโดดๆ"

แนวทางที่สุรชาติเสนอ เขาเห็นว่า สังคมไทยทุกองคาพยพ จำเป็นจะต้องหาคำตอบให้ได้ว่า ความรุนแรงที่ชายแดนภาคใต้นั้น ปัญหาหลักที่แท้จริงคืออะไร เพราะหากแต่ละฝ่ายยังมีความเห็นแตกต่างกันไป การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาก็จะเป็นไปอย่างแยกส่วน ขาดเอกภาพ และถึงแม้ว่าระยะเวลาร่วม 4 ปี ที่ปัญหานี้ก่อตัวขึ้นมา สังคมไทยผลิตความรู้เกี่ยวกับปัญหานี้ออกมามากมายมหาศาล แต่กลับกลายเป็นความสูญเปล่าที่ไม่อาจนำไปใช้แก้ปัญหาได้จริง ความรู้ที่จำเป็นเพื่อการแก้ไขปัญหาในขณะนี้ จึงมิใช่ความรู้ที่ลอยๆ แต่ต้องเป็นความรู้ที่ลงไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะรู้เฉยๆ แต่รู้แล้วต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย

สุรชาติเห็นว่า ความรู้ที่จะสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหา จำเป็นต้องตอบคำถามพื้นฐานให้ชัดเจน เช่น วันนี้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ได้คำตอบชัดเจนเพียงพอหรือยังว่า เครือข่ายขบวนการใต้ดินในพื้นที่ซึ่งถูกขยายหลังปี 2547 ใหญ่ขนาดไหน หากเป็นเครือข่ายใหญ่ การปราบปรามซึ่งแม้ว่าจะดำเนินไปตามแนวทางของกฎหมายหรือมาตรการทางการเมือง การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เพียงแนวทางหนึ่งแนวทางใดอย่างเดียวจะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่

เขาเห็นว่าขณะนี้สังคมไทยกำลัง เผชิญกับปัญหาใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก หรือในการรู้จักที่มีนั้นมีข้อจำกัด เพราะมีความต่างศาสนา วัฒนธรรม ซ้อนทับอยู่ ขณะที่มีการผลิตความรู้เกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่รู้ว่าเล่มไหนจะใช้ประโยชน์ได้ เพราะส่วนหนึ่งเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ไม่ตอบโจทย์ปัจจุบัน ซึ่งเขาเห็นว่าข้อต่อระหว่างประวัติศาสตร์กับปัจจุบัน อาจจะมีรอยขาด จึงไม่อาจอธิบายได้ทั้งหมด

"วันนี้เราเผชิญโจทย์ใหม่ของเวลาใหม่ เพราะฉะนั้น ชุดความคิดที่จะผลิต จึงต้องการคนทำงาน เราต้องฝึกคนให้อดทนอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อที่จะช่วยกันคิดในกรอบยาวๆ ประเทศไทยไม่คุ้นเคยกับสิ่งที่มีอยู่ในสังคมตะวันตก ที่เรียกกันว่า Think Tank หรือองค์กรช่วยคิด ผลิตความคิดออกมาให้สังคม. Think Tank ในสังคมตะวันตกจึงมิได้ผลิตอะไรที่ลอยๆ แต่ผลิตสิ่งที่นำไปใช้ได้. ในสังคมตะวันตกเราจะเห็นการทำงานคู่ขนาน พลเรือนที่เป็น Think Tank ก็ทำคู่ไปกับทหาร การตีความที่ซับซ้อนเช่นนี้ต้องการคนที่ลึกอยู่กับข้อมูล ต้องค่อยๆ วิเคราะห์ งานอย่างนี้ภาครัฐอาจรู้สึกเป็นงานวิชาการ แต่มุมหนึ่งนี่คือเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ มิฉะนั้นในสภาพที่เราไม่มี Think Tank อย่างจริงจัง กระบวนการผลิตความคิดที่เราจะช่วยกันมันก็จะมีข้อจำกัด"

สุรชาติเห็นว่า ในสภาพที่เหตุการณ์มีลักษณะของความยืดเยื้อ จึงต้องเริ่มคิดถึงปัญหาทั้งกระบวน ผู้บริหารประเทศในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือส่วนงานความมั่นคง พร้อมจะเริ่มปรับตัวกับความคิดที่จะหาอะไรที่ใหม่กว่า เพื่อสู้กับสิ่งที่เผชิญอยู่นี้ได้หรือไม่ เขาเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาปัญหาทั้งกระบวนแล้วค่อยๆ จำแนก บางกรณีการเมืองอาจเป็นเรื่องหลัก เศรษฐกิจอาจเป็นเรื่องรอง แต่ในบางพื้นที่ เศรษฐกิจอาจเป็นปัญหาใหญ่ แต่ละกรณีต้องคิดละเอียดมากขึ้น ที่สำคัญควรเลิกวางกระบวนการคิดไว้กับงานที่มีมิติเดียว ดังนั้นข้อเสนอของเขาคือการคิดถึงนโยบายคู่ขนาน

"ผมไม่เชื่อว่า การทำงานการเมืองโดยไม่ปราบปรามแล้วจะสำเร็จ งานการเมืองต้องทำควบคู่ไปกับการป้องกันปราบปราม พร้อมไปกับการพิทักษ์ความปลอดภัย การพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ งานเหล่านี้ต้องทำคู่ขนานไปด้วยกันทั้งสิ้น ไม่อาจทำไปเฉพาะทางใดทางหนึ่งได้ แต่มาตรการภาครัฐ หรือหน่วยงานที่อยากมีบทบาททั้งหลายทั้งปวง คิดมาตรการเชิงเดี่ยวทั้งนั้น ซึ่งไม่มีประโยชน์"

ปัญหาสำคัญที่สุรชาติมองเห็นว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างกระบวนการปรับตัว ปรับแนวคิดก็คือ รัฐไทยแข็งแรงพอที่จะทำนโยบายที่ดีในอนาคตได้หรือไม่ เพราะหากมองไปข้างหน้า หลังการเลือกตั้ง มีแนวโน้มว่ารัฐบาลในอนาคตจะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ ซึ่งไม่ใช่แค่ระยะสั้น หากรัฐบาลไม่แข็งแรง ภายใต้ความอ่อนแอนี้ จะดำเนินนโยบายที่เข้มแข็งได้อย่างไร . ความกังวลถึงเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต ยิ่งทำให้สถานการณ์น่าวิตกยิ่งขึ้น เขาเห็นว่าสถานการณ์กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 5 แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีกระบวนการเตรียมจิตใจคนในชาติเลยว่า สถานการณ์ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร หากวันหนึ่งสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จะยิ่งผลักให้สังคมไทยโดยรวมเข้าสู่กับดักแห่งความรุนแรง

"การให้สื่อช่วยประโคมข่าว ด้านหนึ่งก็มีส่วนดีที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐมีประสิทธิภาพแก้ปัญหาได้ แต่เมื่อสถานการณ์ตีกลับ คนก็จะเริ่มรู้สึกในทางกลับกัน รู้สึกกับเหตุการณ์ไปในทางลบมากขึ้น ทั้งรัฐบาลและสื่อ ต้องพูดความจริงมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่ว่าเราจะประโคมข่าวพี่น้องไทยพุทธหรือเจ้าหน้าที่รัฐถูกสังหาร แต่วันนี้ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมามากกว่านี้ เพื่อให้สังคมไทยรับรู้"

สถานการณ์ความรุนแรงที่ดำเนินมาเกือบจะเข้าสู่ปีที่ 5 ปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือ ความรู้สึกของสังคมไทยเริ่มเฉยชาต่อปัญหา ซึ่งสุรชาติเรียกว่าเป็นอาการเบื่อบวกเซ็ง รัฐบาลไหนก็แก้ไม่ได้สักที สิ่งที่ต้องระมัดระวังต่อความรู้สึกเช่นนี้ก็คือ การสวิงหรือการตีกลับของความรู้สึกไปอีกด้านหนึ่ง. "ภาพที่น่ากลัวที่สุดคือ ประชาชนไม่สนใจเลย แล้วจะมีความรู้สึกว่าจบอย่างไรก็ได้ เหมือนมีคนหลายส่วนในวันนี้รู้สึกว่า ไม่เอาไว้ก็ได้ แต่ต้องตอบว่า แล้วพี่น้องชาวพุทธ แม้กระทั่งพี่น้องมุสลิมที่ไม่เกี่ยวข้อง เราจะดูแลเขาอย่างไร? ในสภาพการเมืองข้างหน้า โจทย์เหล่านี้ไม่ต้องคิด แต่ผมเชื่อว่า เมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 สังคมจะเริ่มเบื่อบวกเซ็ง เมื่อเป็นเช่นนี้ บวกกับสภาพการเมืองในกรุงเทพฯ แล้วรัฐไทยจะมีเวลาไปทำสงครามการเมืองที่ภาคใต้หรือ ผมว่านี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด"

ท่ามกลางความวิตกห่วงใยต่อปัญหาชายแดนภาคใต้ จากการศึกษาแนวทางมาตรการของรัฐบาลที่ผ่านมาในอดีต ทั้งรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไล่มาจนถึงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้น, สุรชาติเห็นว่า ปัญหาหลักไม่เคยเปลี่ยน ทั้งการปรับตัว ปรับแนวคิด ความเป็นเอกภาพ ซึ่งประเด็นสำคัญคือ การบริหารจัดการที่ดี ถ้าระบบบริหารจัดการในพื้นที่ไม่เกิด แม้จะมีความคิดที่ดี แต่ก็ไม่สามารถผลักดันได้

สุรชาติอธิบายประเด็นการบริหารจัดการ โดยเทียบสถานการณ์ขณะนี้ว่า เป็นสงครามการตลาดของผู้ผลิตสองรายที่จะขายสินค้าแข่งกัน หากมองโดยใช้แนวคิดเชิงธุรกิจ รัฐไทยจะทำการตลาดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร จะนำอะไรไปขาย. "หากมองภาคใต้เป็นสงครามการตลาด ผมว่าชัด มองเห็นง่ายกว่าสงครามอุดมการณ์ ไม่ต้องพูดให้ซับซ้อน เพราะถ้าพูดว่าเป็นสงครามอุดมการณ์ มีมิติทางเชื้อชาติ ศาสนา ผมว่ายุ่ง ว่ากันง่ายๆ นี่คือสงครามการตลาด สรุปว่ารัฐไทยจะขายอะไร สินค้าอะไร การตลาดทำอย่างไร ใครเป็นคนขาย วันนี้เห็นแต่คนขายคือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ผลิตภัณฑ์ไม่มี ระบบการตลาดก็ยังไม่มี"

สุรชาติเห็นว่า ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่รัฐจะผลิตออกมาต้องไม่ใช่แค่ชิ้นเดียว ต้องผลิตหลายชิ้น แต่ละชุมชน สินค้าอาจต้องมีความหลากหลายแตกต่างกันไป อาจต้องศึกษาวิจัยให้มากขึ้นเพื่อให้รู้มากขึ้น แต่วันนี้สังคมไทยรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับปัญหา การเรียนรู้เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ เพราะกระแสความรุนแรงกลบโอกาสที่เราจะเรียนรู้

"ผมให้เกียรติคู่สงครามเสมอ ฝ่ายเสนาธิการของขบวนการวันนี้แหลมคม เราดูหมิ่นอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ สิ่งที่ผมห่วงคือ สังคมไทยไม่เห็นเป้าชัด ยิ่งนานวันก็ยิ่งเบื่อ ยิ่งเซ็ง สุดท้ายจะไปลงคำตอบง่ายๆ คือ จะทำอะไรก็ทำเถอะ จะได้จบๆ ซะที สิ่งที่ท้าทายในขณะนี้คือ ความรุนแรง เวลา และกระแสโลกไม่รอเรา การบริหารจัดการสถานการณ์ความรุนแรงในปี 2551 คือสิ่งที่รออยู่ แนวโน้มเราจะต้องระวัง ทั้งการเมืองที่กรุงเทพ ผสมกับเศรษฐกิจทรุดตัว คนจะยิ่งเบื่อ อีกทั้งหากยังอยู่ในสภาพเช่นนี้ การกำหนดยุทธศาสตร์ใหญ่ต่อปัญหาภาคใต้จะไม่เกิด ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ ตั้งหลักให้กระบวนการคิดเกิดขึ้น แล้วเริ่มสร้างระบบบริหารจัดการที่ดี" นักวิชาการ หัวหน้าโครงการความมั่นคงศึกษาให้ข้อสรุป

'คน' สำคัญกว่า 'ดินแดน' - ข้อเสนอยุทธศาสตร์สงครามความคิด
หากปมประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนา เป็นเงื่อนไขสำคัญในการก่อความไม่สงบ ตลอดระยะเวลาการต่อสู้บางช่วงเวลา รัฐไทยอาจชนะในทางการทหาร แต่ด้านความคิดนั้น เรียกได้ว่าล้มเหลว ซึ่งเห็นได้ชัดจากความรุนแรงระลอกใหม่ที่ปะทุขึ้น และภายใต้สถานการณ์ที่ส่อแววว่าจะยืดเยื้อต่อไป การยุติความรุนแรงเป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทายแนวคิดการแก้ไขปัญหาขององคาพยพต่างๆ ในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเผชิญแรงกดดันจากสงครามมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ สังคมไทยก็ยิ่งสุ่มเสี่ยงที่จะตกอยู่ในกับดักแห่งความรุนแรง ซึ่งปัญหาจะขยายลุกลามออกไปจนมิอาจควบคุมได้

ในการยุติความรุนแรง ก็มีคำถามที่ต้องขบคิดอีกว่า จะใช้แนวทางใด เพราะหากปัจจัยสาเหตุมาจากปมเงื่อนทั้งสามดังกล่าว ขณะนี้รัฐไทยและสังคมไทย มีชุดความคิดใดเพื่อจะโต้แย้ง คานแนวคิดดังกล่าว. หากปมเงื่อนทั้ง 3 คือสินค้าที่ขบวนการใต้ดินนำมาเสนอขาย วันนี้รัฐไทยผลิตสินค้าใดเพื่อมาแข่งขัน ซึ่งจะมีคำถามตามมาอีกว่า สินค้าที่ผลิตขึ้นมาแข่งขันกันนั้น สินค้าของใคร 'โดนใจ' ผู้บริโภคกว่ากัน

หากความคิดของขบวนการใต้ดินสุดโต่ง ความคิดของรัฐไทยที่มองว่าเป้าหมายของขบวนการใต้ดินคือ การแบ่งแยกดินแดน ตั้งรัฐเอกราช ก็อาจสุดโต่งเช่นเดียวกัน. จากประสบการณ์ความรุนแรงในอดีต กระทั่งถึงปัจจุบัน ท่าทีแนวคิดของรัฐไทยต่อปัญหาดังกล่าว อาจเป็นไปอย่างที่สุรชาติ บำรุงสุข ได้กล่าวเอาไว้ นั่นคือ 'รัฐพุทธแบบไทยไม่เข้าใจปัญหา' เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า เป้าหมายสูงสุดของขบวนการใต้ดินคืออะไร เรียกร้องการรักษาอัตลักษณ์ ต้องการอำนาจจัดการสังคมตนเอง หรือรัฐเอกราช

คำตอบเรื่องการแบ่งแยกดินแดนซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหลายได้มาจากคำสารภาพของผู้ก่อเหตุ ชัดเจนเพียงพอที่จะสรุปว่า นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของขบวนการใต้ดินหรือไม่ ! อ.พีรยศ ราฮิมมูลา บอกว่า จากการที่ได้พูดคุยกับอดีตผู้นำขบวนการในอดีต คนเหล่านี้ยืนยันว่า เป้าหมายที่ต้องการคือเขตปกครองพิเศษ (Autonomy) ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่า การประกาศถึงการแบ่งแยกดินแดนเป็นเพียงกลวิธีในการโน้มน้าวให้ผู้คนเข้าร่วม

หากกรอบแนวคิดของรัฐไทย ยังคงเป็นประเด็นในเรื่องดินแดน พูดและตอกย้ำถึงแต่การรักษาดินแดน อคติที่ถูกมองมาโดยตลอดว่า ปิดกั้นและบดทับความเป็นมลายู ก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยน. ที่อันตรายกว่านั้นก็คือ การให้ความสำคัญกับดินแดน เป็นการสะท้อนถึงแนวคิดเพื่อยึดครอง ซึ่งจะกลายเป็นปุ๋ยที่ทำให้แนวคิดชาตินิยม เพื่อต่อต้านการยึดครองโดยเจ้าอาณานิคมสยาม ยิ่งเจริญงอกงามต่อไป

แนวคิดของ ดร.วัน การ์เด เจ๊ะมาน อดีตประธานขบวนการเบอร์ซาตูที่บอกว่า "ทุกวันนี้ชีวิตของพลเมืองสำคัญกว่าเรื่องดินแดน" จึงเป็นสิ่งที่รัฐไทยต้องขบคิดอย่างจริงจัง เพราะถือเป็นการท้าทายเชิงยุทธศาสตร์แนวคิดที่สำคัญอย่างยิ่ง. หากเป้าหมายการแก้ปัญหาเป็นไปเพื่อรักษาดินแดน จะมีประโยชน์อะไรในการยึดพื้นที่ แต่ไม่อาจครองใจคน ดังนั้นมุมมองด้านความมั่นคง จึงควรอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ความมั่นคงของคนคือความมั่นคงของชาติ

การให้สิทธิเสรีภาพ เปิดโอกาสให้ดำเนินชีวิตภายใต้ศาสนาและวัฒนธรรม การให้อำนาจบริหารจัดการภายในสังคมกันเอง โดยอำนาจรัฐส่วนกลางเพียงกำกับดูแลอย่างมีระยะห่างที่เหมาะสม ระหว่างการธำรงรักษาอัตลักษณ์และความมั่นคง แนวทางเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดทบทวนอย่างรอบคอบ เพื่อเป็นเครื่องมือขจัดเงื่อนไขเพื่อยุติความรุนแรง

ผ่านมาแล้วร่วม 60 ปี แต่รัฐไทยไม่เคยทำตามข้อเรียกร้อง 7 ข้อ เพื่อจัดการสังคมมุสลิมชายแดนภาคใต้ของฮัจยีสุหรง เลยแม้แต่ข้อเดียว จึงไม่แปลกที่ปมเงื่อนไขการต่อสู้จะยังเข้มข้นอยู่ตลอดมา. สถานการณ์วันนี้ อาจจำเป็นต้องพิจารณามากไปกว่าข้อเสนอทั้ง 7 ของฮัจยีสุหรง

นิรโทษกรรม, การเจรจาหาทางยุติสถานการณ์รุนแรง, การกระจายอำนาจให้ชุมชนได้บริหารจัดการอย่างแท้จริง, การเคารพอัตลักษณ์, การใช้ภาษามลายู, การใช้กฎหมายอิสลาม, การให้โอกาสประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้ปรากฏบนพื้นที่สาธารณะ, สิ่งเหล่านี้มีการพูดถึงกันเป็นระยะ แต่ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันอย่างจริงจัง ในฐานะข้อเสนอเพื่อลดความเข้มข้น. การชิงนำทางความคิด อาจต้องอาศัยความกล้าหาญทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน และทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะกล้าทำ วันนี้กลยุทธ์ทางการตลาดของรัฐไทยในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จึงจำเป็นต้องสร้าง Surprise เพื่อเรียกความสนใจ และต้องเป็นการสร้าง Surprise อย่างต่อเนื่อง สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จะวางตลาดนั้น ต้องออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นชุด มิใช่เพียงแค่ชิ้นเดียวแล้วหายไป

ยอมรับด้วยการเปิดพื้นที่ สร้างเวทีใหม่ ให้ทุกฝ่าย ทุกแนวคิดได้มีโอกาสมีที่ยืน ทำให้สิ่งต้องห้ามกลายเป็นความปกติ ให้เรื่องใต้ดินกลับขึ้นมาอยู่บนดิน ทำให้การต่อสู้กลายเป็นการพัฒนา เช่น หากสำนึกทางประวัติศาสตร์ฝังแน่น ก็ยิ่งไม่ควรให้ 'คนนอก' อย่างรัฐไทยเข้าไปชำระประวัติศาสตร์ แต่ควรให้โอกาสประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองได้อย่างเสรี

วันนี้ควรทำให้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บทเพลง บทกวีภาษามลายู พ้นออกมาจากคำบอกเล่าภายในโรงเรียนตาดีกา ซึ่งไม่รู้ว่าผ่านการแต่งเติมเสริมกันเข้าไปอย่างไรบ้าง เพื่อเพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจ ความรันทดหดหู่ของชนชาติผู้ถูกกระทำ รวมทั้งทำให้กลายเป็นตำนานศักดิ์สิทธิ์ การให้โอกาสเรื่องราวเหล่านี้ได้เปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ 'คนใน' ด้วยกันเองได้วินิจฉัยตามข้อเท็จจริง ในที่สุดประวัติศาสตร์ปัตตานี ก็จะถูกบอกเล่าด้วยข้อมูลซึ่งได้รับการยอมรับว่าตรงตามข้อเท็จจริงมากที่สุด

หรือในประเด็นการปลดปล่อยปัตตานีเพื่อสถาปนารัฐอิสลาม การกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการสังคมของตนเองได้อย่างแท้จริง เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและศาสนา ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าจะวิตกเกินเลยไปถึงการแบ่งแยกดินแดน เพราะภายใต้เหตุผลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ก็เพียงพอที่รัฐไทยจะคงกองกำลังขนาดใหญ่ไว้ในพื้นที่ต่อไป

แนวทางนี้มิใช่การเอาใจมุสลิมมลายูปัตตานี แต่เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้คนที่มีความแตกต่างมีที่ยืน และยืนได้อย่างมั่นคงด้วยลำแข้งของตัวเอง เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า ทั้งกระบวนการหลอมรวมแบบยัดเยียด และการดำเนินนโยบายพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคม ก็ไม่อาจสลายแนวคิดการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปัตตานีได้ เนื่องจากการต่อสู้ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยทางประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ และศาสนา. การเอาชนะทางความคิด จึงควรลดแรงขับทั้ง 3 ดังกล่าวให้เหลือน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างแนวทางการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยได้โดยสามารถรักษาอัตลักษณ์ และมีความหวังถึงชีวิตที่ดีได้อย่างเท่าเทียมกัน

และถึงที่สุดแล้ว หากไม่อาจเปลี่ยนแนวคิดได้ แต่การเสนอโอกาสและทางเลือก ก็อาจช่วยให้แนวทางพฤติกรรมแห่งความรุนแรงเปลี่ยนแปลงมาสู่การต่อสู้ในระบบได้

'มันโซร์ สาและ' ปัญญาชนภาคประชาชนชายแดนภาคใต้ เห็นว่า รัฐต้องแสดงความจริงใจอย่างแท้จริงในการที่จะแก้ปัญหา เพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านตั้งแง่สงสัยมาโดยตลอด ขณะที่ขบวนการใต้ดินหยิบยกประเด็นความอยุติธรรมมาอธิบายได้ตลอดเวลา รวมทั้งชี้ให้เห็นอคติของสังคมไทยที่ไม่ยอมรับสังคมมลายู ดังนั้น หากรัฐไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง และแสดงความจริงใจให้ประชาชนพิสูจน์ได้ แม้ว่าจะมีการกระจายอำนาจผ่านองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้สรุปได้ว่าเลวร้ายกว่าก่อนหน้านี้ ทางเลือกทางการเมืองของคนในพื้นที่ยังไม่เปิด การต่อสู้ของขบวนการจึงจำต้องยื่นข้อเรียกร้องสูงสุด คือการแบ่งแยกดินแดน ถึงแม้ว่าจะพ่ายแพ้ แต่ผู้คนที่นี่ก็ยังคงมีความรู้สึก และหากประชาชนยังรู้สึก รัฐก็ยังพ่ายแพ้อยู่ดี

ประเด็นเรื่องความรู้สึกตามที่มันโซร์กล่าวนั้น น่าสนใจยิ่ง เพราะที่ผ่านมา ไม่ว่ารัฐจะดำเนินแนวทางมาตรการอย่างไร ก็ไม่อาจสลายความรู้สึกอคติของประชาชนมลายูมุสลิมไปได้ ซึ่งประเด็นสำคัญคือการเรียกร้องอัตลักษณ์ ภายใต้วัฒนธรรมและศาสนา. "แค่รับรองความเป็นเชื้อชาติมลายูลงในบัตรประชาชนไทย แค่นี้ก็ลดความรู้สึกไปได้เยอะแล้ว" 'คนใน' ขบวนการใต้ดินให้ความเห็นเสริมในประเด็นนี้

การเอาชนะทางความคิด จึงไม่เกินเลยไปจากการสลายความรู้สึกเก่า และสร้างให้ความรู้สึกใหม่ลงหลักอย่างมั่นคงนั่นเอง

คลิกกลับไปทบทวนบทความเกี่ยวเนื่อง ตอนที่ ๑ ลำดับที่ 1544

อ่านต่อบทความเกี่ยวเนื่อง ลำดับที่ ๑๕๕๑ - บทวิเคราะห์ย้อนรอย สถานการณ์ภาคใต้ยุครัฐประหาร (๑๙ กันยา)

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 27 April 2008 : Copyleft by MNU.
แนวคิดของ ดร.วัน การ์เด เจ๊ะมาน อดีตประธานขบวนการเบอร์ซาตูที่บอกว่า "ทุกวันนี้ชีวิตของพลเมืองสำคัญกว่าเรื่องดินแดน" จึงเป็นสิ่งที่รัฐไทยต้องขบคิดอย่างจริงจัง เพราะถือว่าเป็นการท้าทายเชิงยุทธศาสตร์แนวคิดที่สำคัญอย่างยิ่ง. หากเป้าหมายการแก้ปัญหาเป็นไปเพื่อรักษาดินแดน จะมีประโยชน์อะไรในการยึดพื้นที่ แต่ไม่อาจครองใจคน ดังนั้นมุมมองด้านความมั่นคง จึงควรอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ความมั่นคงของคนคือความมั่นคงของชาติ การให้สิทธิเสรีภาพ เปิดโอกาสให้ดำเนินชีวิตภายใต้ศาสนา และวัฒนธรรม การให้อำนาจบริหารจัดการภายในสังคมกันเอง โดยอำนาจรัฐส่วนกลางเพียงกำกับดูแลอย่างมีระยะห่างที่เหมาะสม ระหว่างการธำรงรักษาอัตลักษณ์และความมั่นคง แนวทางเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดทบทวน
H