1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
เล่าขานประวัติศาสตร์
และบทวิพากษ์การต่อสู้หลายแนวทางรัฐปัตตานี
The
Hidden Power: สงครามความคิด-การต่อสู้ยืดเยื้อทางทิศใต้
(๑)
คณะทำงานสนามข่าวสีแดง
: ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สมัชชา นิลปัทม์ : กองบรรณาธิการ DSW (Deep South
Watch - deepsouth bookazine)
บทความชิ้นนี้ได้รับการบรรจุเข้าโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
บทความเพื่อสิทธิพลเมือง
สิทธิทางการเมือง และสิทธิทางสังคม-วัฒนธรรม
บทความขนาดยาวนี้เคยตีพิมพ์แล้ว deepsouth
bookazine เป็นเรื่องเกี่ยวกับ
สถานการณ์ความรุนแรงชายแดนภาคใต้ ซึ่ง เป็นโจทย์ท้าทายอย่างสำคัญต่อสังคมไทย
นับเวลานานพอสมควร ที่ปัญหานี้ก่อตัวขึ้นมา และการแก้ปัญหาในบางช่วงทำให้สถานการณ์บรรเทาลง
แต่ในบางช่วงกลับทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น คำถามสำคัญคือ อะไรคือมูลเหตุของความรุนแรง
มีใครเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง และแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐไทยเป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จ
หรือล้มเหลวมากน้อยแค่ไหน บทความขนาดยาวนี้ พยายามที่จะให้ข้อมูลจากหลายด้าน
www.deepsouthwatch.org
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๕๔๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๖ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๐ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เล่าขานประวัติศาสตร์
และบทวิพากษ์การต่อสู้หลายแนวทางรัฐปัตตานี
The
Hidden Power: สงครามความคิด-การต่อสู้ยืดเยื้อทางทิศใต้
(๑)
คณะทำงานสนามข่าวสีแดง
: ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สมัชชา นิลปัทม์ : กองบรรณาธิการ DSW (Deep South
Watch - deepsouth bookazine)
บทความชิ้นนี้ได้รับการบรรจุเข้าโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ชื่อเดิมของบทความ: สงครามความคิด - การต่อสู้ยืดเยื้อ
"ทำไมพวกเราชาวมลายูถึงควรจะกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมไทย เรียนรู้ภาษาไทย กินและแต่งกายเหมือนคนไทย เมื่อจริงๆ แล้ว
เราอาศัยอยู่บนดินแดนของเราเอง และในดินแดนที่เป็นของพ่อ ของปู่เรา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นดินแดนของมลายูมาอย่างยาวนาน
กระนั้นประวัติศาสตร์ของเราก็ถูกละเลยและลบทิ้งไป การเน้นย้ำความจำเป็นที่เราจะต้องกลมกลืนเข้ากับกระแสหลัก
ขณะที่กระแสหลักของสังคมไทยไม่เคยรับเอาเราเข้าไปใคร่ครวญพิจารณาเลยแม้แต่น้อย"
'วัน การ์เด เจ๊ะมาน'
ความนำ - เหตุแห่งความขัดแย้งที่ยังไม่มีข้อยุติ
สถานการณ์ความรุนแรงชายแดนภาคใต้เป็นโจทย์ท้าทายอย่างสำคัญต่อสังคมไทยในการแก้ปัญหา.
ร่วมศตวรรษแล้วที่ปัญหานี้ก่อตัวขึ้นมา ความรุนแรงดำเนินไป การแก้ปัญหาในบางช่วงทำให้สถานการณ์บรรเทาลง
แต่แล้วความรุนแรงระลอกใหม่ก็หวนคืนมา. คำถามสำคัญคือ อะไรคือมูลเหตุ หรือเชื้อไฟที่ก่อให้เกิดความรุนแรงนี้
?
บรรดาผู้ติดตามศึกษาปัญหาชายแดนภาคใต้ นับแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน สรุปแนวทางที่ต่างมุม ต่างความคิดกันออกไป บ้างก็ว่าเป็นความต้องการปลดปล่อยตัวเองออกจากรัฐไทย ฟื้นฟูให้กลับคืนสู่รัฐเอกราชเช่นในอดีต, บ้างก็ว่ามาจากปัญหาความอยุติธรรม ในฐานะชนชายขอบที่เป็นกลุ่มน้อยและแตกต่างจากชนกลุ่มใหญ่ในสังคม. แต่ความแตกต่างกันของข้อสรุปเหล่านี้ มีจุดร่วมกันอยู่ นั่นคือ เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์, ความแตกต่างทางชาติพันธุ์, ศาสนา-วัฒนธรรม, และปัจจัยประกอบเสริมอื่นๆ เช่น ความยากจน, แม้กระทั่งอิทธิพลมืด, และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ
ปัจจัยสาเหตุเหล่านี้
คือเชื้อความคิด ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ คิดต่างจากรัฐไทย
ในขณะที่รัฐไทยพยามยามบูรณาการความเป็นชาติ สร้างความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกัน
แต่ถูกปฏิเสธจากผู้ที่เห็นแตกต่าง ก่อให้เกิดกระบวนการต่อสู้ เพื่อฟื้นหรือธำรงอัตลักษณ์แห่งความแตกต่างนี้เอาไว้
ซึ่งเป็นชนวนความรุนแรงที่ดำเนินมาร่วมศตวรรษ. การยุติความรุนแรงอย่างยั่งยืน
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทย ต้องสลายแนวคิดการต่อสู้ด้วยวิธีการรุนแรงเพื่อธำรงอัตลักษณ์
ซึ่งอาจจำเป็นถึงขั้นที่ต้องสร้างเวทีการต่อสู้ขึ้นมาใหม่ ภายใต้แนวทางซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง
แต่ถึงที่สุดแล้ว ทางเลือกของรัฐไทยอาจมีไม่มากนัก นั่นคือ หากไม่อาจเปลี่ยนความคิดได้
ก็ต้องเสนอทางเลือกวิธีการ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมแนวทางการต่อสู้ ให้หันกลับมาอยู่ในระบบ
ซึ่งยังเป็นปัญหาเชิงแนวคิดต่อมาว่า 'ใครจะเป็นผู้สร้างระบบ' หรือทั้งฝ่ายที่เห็นต่างและรัฐไทย
จะร่วมกันสร้างกระบวนการซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันได้อย่างไร. นี่คือโจทย์สำคัญในการแก้ไขปัญหา
เพื่อยุติความรุนแรงอย่างยั่งยืน มิฉะนั้น การต่อสู้จากฐานความคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างซึ่งดำเนินมาร่วม
100 ปี ก็ยังคงยืดเยื้อ โดยไม่อาจมองเห็นจุดยุติ
สงครามยืดเยื้อ ผลพวงความคับแค้นจากอดีต
จากคำอธิบายของ"สุรินทร์ พิศสุวรรณ" ถึง"พีรยศ
ราฮิมมูลา"
ในงานวิจัยเรื่อง 'เงื่อนไขทางการเมืองที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้'
ของ สุรินทร์ พิศสุวรรณ เมื่อปี 2526 อธิบายสถานการณ์ในขณะนั้นซึ่งใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างยิ่ง
นั่นคือ การก่อตัวของปฏิกิริยาความรุนแรงในการใช้ประเด็นชาติพันธุ์ ศาสนา และมาตุภูมิ
มาเป็นเงื่อนไขปลุกระดม สร้างเครือข่ายทั้งมวลชนและกองกำลัง เพื่อนำไปสู่การก่อความไม่สงบ.
สุรินทร์เห็นว่า สถานการณ์ในขณะนั้นกำลังจะพัฒนาไปถึงขั้น "ฉันทาคติเกลียดชังต่อกัน
ทำลายความรู้สึกผิดชอบชั่วดีร่วมกัน" แต่นับว่าเป็นโชคดีของสังคมไทย ซึ่งทั้งสถานการณ์ภายใน
สถานการณ์สากล ช่วยให้การก่อตัวของความเกลียดชังในขณะนั้นหยุดยั้งลง
จากสถานการณ์ในอดีตซึ่งบรรเทาไปชั่วขณะ การก่อตัวของเหตุการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ ซึ่งเริ่มขึ้นหลังเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จึงกล่าวได้ว่า มิใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการเพาะฟัก สร้างกระบวนการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี. ที่สำคัญ คือ สาเหตุเงื่อนไขของปัญหาก็มิได้แตกต่างไปจากเดิม สิ่งที่ผิดแผกไปบ้างคือ การเกิดคนรุ่นใหม่ของกลุ่มต่อสู้เพื่อเอกราชปัตตานี หลังจากที่สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้พลังการต่อสู้ของรุ่นเก่าถูกกร่อนสลายไป จนแทบจะไร้บทบาท
แต่ความคิดการต่อสู้เพื่อปัตตานี ซึ่งผูกโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนา ดังที่สุรินทร์ได้ระบุเอาไว้ มิได้สลายไปพร้อมกับพลังของขบวนการรุ่นเก่า แต่ดำรงอยู่ ค่อยๆ ฟักตัว และเติบโต กระทั่งปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง. พระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. กล่าวว่า "ฝ่ายตรงข้ามเริ่มต้นปลูกฝังแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2532 หรือ 2533 ในตาดีกา ในปอเนาะ วางเกม วางแผนไว้นานแล้ว เป็นการทำงานอย่างมีอุดมการณ์ แม้จะเป็นอุดมการณ์ที่ถูกบิดเบือนไป ปมในเรื่องเชื้อชาติชาติ, ศาสนา, และประวัติศาสตร์, บิดเบือนปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ในชั้นตาดีกา นี่คือโจทย์ใหญ่". ปมเงื่อนไขสำคัญทั้งสามมิได้ถูกแบ่งแยก แต่เกี่ยวพันและเกื้อหนุน จนทำให้การแก้ปมใดปมหนึ่ง จะละเลยการแก้เงื่อนปมอื่นๆ ไปพร้อมกันไม่ได้
พีรยศ ราฮิมมูลา อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งวันนี้พลิกผันบทบาทตนเองสู่สนามการเมือง ในฐานะอดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายความเกี่ยวพันของปมเงื่อนทั้งสามนี้ว่า "หลัง 10 มีนาคม 2452 คือจุดเปลี่ยน ในอดีต เขาไม่ได้เรียกร้องแยกดินแดน แต่เรียกร้องให้รักษาสถานภาพเดิม มีเจ้าเมืองเหมือนเดิม แต่ ร. 5 ปฏิรูปการปกครองเปลี่ยนระบบทั้งประเทศ หลังอังกฤษให้เอกราชแก่มาเลเซีย ลูกหลานเจ้าเมืองเก่าปัตตานี เขามองว่าชะตาชีวิตไม่มีทางเลือกแล้วนอกจากการต่อสู้และต้องใช้อาวุธ นำไปสู่การจัดตั้งขบวนการในอดีต ซึ่งมีอุดมการณ์อย่างชัดเจน แนวคิดในการต่อสู้จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาไม่ได้ เพราะเมื่อดินแดนนี้เป็นดินแดนมุสลิม ก็เป็นหน้าที่ของมุสลิมในการต่อสู้เอากลับคืนมา เป็นแกนหลักแนวคิดของทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพูโล หรือบีอาร์เอ็น และปัจจุบัน อุดมการณ์นี้ก็ยังมีอยู่"
แยกรัฐปัตตานี
10 มีนาคม 2452 (ค.ศ.1909) ที่ อ.พีรยศ พูดถึง คือวันลงนามในสนธิสัญญาปักปันเขตแดนปัตตานี
ไทย-อังกฤษ แยกรัฐปัตตานีในอดีตออกเป็น 5 จังหวัดของไทย คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
สตูล และบางส่วนอยู่ในพื้นที่ จ.สงขลา และ 4 รัฐในประเทศมาเลเซีย คือกลันตัน
เคดาห์ (ไทรบุรี) ปะลิส และเปรัค (ตรังกานู)
หากนับแต่จุดเริ่มต้นที่บรรดาเชื้อสายเจ้าเมืองในอดีตหมดความหวังในการฟื้นฟูอำนาจ มาจนถึงขณะนี้ เป็นเวลาร่วมศตวรรษ ซึ่งจุดหมายเพื่อเอกราชปัตตานียังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง. ข้อมูลของ ดร.พีรยศ ซึ่งระบุว่า แนวคิดการต่อสู้เพื่อเอกราชปัตตานีมีการนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องปะปน สอดคล้องกับข้อมูลจาก 'คนใน' ซึ่งใกล้ชิดกับขบวนการใต้ดิน เขาอธิบายฐานคิดของขบวนการใต้ดินในปัจจุบันว่า 'ยูแว' (นักต่อสู้) ตีความโองการของอัลกุรอานเพื่อรองรับการต่อสู้ของตัวเอง โดยเฉพาะโองการที่ 13 ซูเราะห์อัลหุจญร็อต ซึ่งบัญญัติว่า
"โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่ อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริง อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน"
ยูแว (นักต่อสู้) ตีความในทำนองว่า พระเจ้าได้สร้างมนุษย์มาแยกเป็นเผ่าและตระกูล หรือในที่นี้หมายถึง"เชื้อชาติ"ขึ้นก่อนที่จะประทานอิสลามมาให้มนุษยชาติ นั่นหมายถึงความเป็นชาติเกิดขึ้นมาก่อนศาสนา ดังนั้น หากสถาปนารัฐปัตตานีขึ้นมาให้แก่คนมลายูได้แล้ว ก็จะสามารถปกครองได้ตามแนวทางที่ปรารถนา หลักการของอิสลามจึงจะถูกสถาปนาโดยอัตโนมัติ
การตอกย้ำสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ปมประวัติศาสตร์ที่ตกค้างจากอดีต ถูกตอกย้ำหนักขึ้น ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ด้วยการสร้างความเป็นไทยแบบยัดเยียด ภายใต้นโยบายรัฐนิยมซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตมุสลิม
อาทิ การยกเลิกตำแหน่งดาโต๊ะยุติธรรม ยกเลิกการใช้กฎหมายอิสลามในคดีที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก
การยกเลิกการหยุดงานในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันประกอบศาสนพิธีสำคัญของมุสลิม
นโยบายรัฐนิยมในสายตามุสลิมชายแดนภาคใต้ จึงเสมือนการกดขี่ การลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมของ 'ฮัจยีสุหรง โต๊ะมีนา' ปัญญาชนมุสลิมในพื้นที่ ถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงด้วยข้อหา 'กบฏแบ่งแยกดินแดน' ซึ่งนำไปสู่การจับกุมคุมขัง แม้จะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา แต่การหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยของเขา บวกกับความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชนมุสลิม เช่น กรณีการปราบปรามจลาจลที่หมู่บ้านดุซงญอ อ.ระแงะ และหมู่บ้านปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ในปี 2491 มีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้อคติที่ประชาชนมุสลิมมีต่อรัฐเพิ่มสูงขึ้น สำนึกทางประวัติศาสตร์ที่เห็นรัฐไทยเป็นเจ้าอาณานิคมผู้รุกราน จึงถูกตอกย้ำอย่างหนักแน่น และขยายออกไปอย่างมาก
ในงานเขียนเรื่อง 'ความเป็นมาของปัญหาภาคใต้และทางออก ปัญหาการต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยปาตานี' ของ ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน ปัญญาชนมุสลิมปัตตานี หัวหน้าขบวนการแนวร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี หรือ 'เบอร์ซาตู' ได้กล่าวถึงปัญหาดังกล่าวเอาไว้ว่า. "นโยบายบูรณาการแห่งชาติที่มีเป้าหมายในการหลอมรวมชนชาวมลายูมุสลิมเข้ากับศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ ท้าทายต่อวิถีศรัทธาและอัตลักษณ์ของชุมชนมาเลย์มุสลิมเป็นยิ่งนัก ภายใต้ระบบการปกครองที่หมายมุ่งวิวัฒน์พลเมืองมาเลย์มุสลิม เข้าสู่กระบวนการความเป็นไทยอย่างยาวนานและเข้มข้นเช่นว่านี้ บรรดาชาวมาเลย์มุสลิมก็ได้ดำเนินการตอบโต้กลับคืนไปในหลากหลายวิธีการ อันรวมถึงการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนออกจากระบอบการปกครองไทย"
จากชาตินิยมสู่ศาสนา -
การปะทะแนวคิดในขบวนการใต้ดิน
การต่อสู้ของขบวนการมลายูปัตตานี มีการปรับตัว ปรับแนวทางการต่อสู้อยู่เป็นระยะ
ตามสถานการณ์ทั้งภายนอกและภายในที่เปลี่ยนแปลงไป การต่อสู้ในช่วงแรกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ยังพอเห็นถึงความเชื่อมั่นของกระบวนการต่อสู้ในระบบ ดังกรณีที่ นายอดุลย์ ณ สายบุรี
หรือ ตนกูญาลา นาเซร์ แกนนำคนสำคัญในการก่อตั้งกลุ่ม 'แนวร่วมแห่งชาติปลดปล่อยปัตตานี'
หรือ B.N.P.P. ร่วมกับ 'ตนกูมามูด มูไฮยิดดิน' บุตรชาย 'พระยาวิชิตภักดี' เจ้าเมืองปัตตานีคนสุดท้าย
เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.นราธิวาส มาก่อน
มองจากปัจจัยภายในประเทศ เมื่ออำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เริ่มเสื่อมถอยลง และกลุ่มพลเรือน โดย นายปรีดี พนมยงค์ เริ่มมีบทบาทมากขึ้นและเริ่มให้สิทธิเสรีภาพแก่มุสลิมปัตตานีมากขึ้น เห็นได้จากการออก พระราชกฤษฏีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 และให้มีตำแหน่ง จุฬาราชมนตรี เป็นผู้นำศาสนาอิสลาม ฟื้นฟูตำแหน่งดาโต๊ะยุติธรรม จัดตั้งวิทยาลัยอิสลามแห่งประเทศไทย อนุญาตให้โต๊ะครูสอนภาษามลายู อาหรับและศาสนาอิสลามได้
แนวทางของปรีดีแม้จะเป็นความพยายามของรัฐไทย ที่จะลดเงื่อนไขมิให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซงปัญหาชายแดนภาคใต้ เนื่องจากในขณะนั้น เกิดขบวนการก่อตั้งสหพันธรัฐมลายา เพื่อให้มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ โดยตนกูมูไฮยิดดิน เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการดังกล่าวและต้องการให้ปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมลายา อีกทั้งสิทธิเสรีภาพทางการเมืองในยุคของปรีดี เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ขบวนการต่อสู้ของมลายูปัตตานีในยุคแรกๆ ใช้การเมืองในระบบรัฐสภาเป็นเวทีหนึ่งในการต่อสู้
แต่การกลับคืนสู่อำนาจของจอมพล ป.รวมทั้งการใช้นโยบายรัฐนิยมหลอมรวมความเป็นชาติไทย กระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางศาสนาและวัฒนธรรมของมลายูปัตตานีอย่างรุนแรง อีกทั้งมาตรการของรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามปฏิปักษ์ทางการเมือง เป็นเสมือนแรงผลักให้ขบวนการมลายูปัตตานี หันมาใช้แนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธ โดยการเกิดขึ้นของ B.N.P.P. หลังจากนั้นไม่นานนัก
การก่อตัวของ B.N.P.P ซึ่งถือเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มแรกที่ประกาศแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐไทยก็ไม่สามารถระดม หรือสร้างแนวร่วมได้มากเพียงพอที่จะขับเคลื่อนการปฏิวัติให้ขยายวงกว้างออกไปได้ สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากผู้ก่อตั้งล้วนมาจากกลุ่มเจ้า ซึ่งเน้นแนวทางชาตินิยมเพื่อฟื้นฟูระบบเจ้าเมืองเดิมขึ้นมาใหม่ จึงไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนมากนัก
ปัจจัยเร่งปมปัญหาการแบ่งแยกดินแดนขยายตัว
ปัจจัยเร่งให้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนขยายตัว มิได้มาจากพละกำลังหรือความสามารถของขบวนการมลายูปัตตานี
หรือการสนับสนุนจากภายนอก แต่มาจากการดำเนินนโยบายผิดพลาดของรัฐไทยเอง. ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด
คือการก่อตัวของ 'แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี' หรือ B.R.N. ภายหลังรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ ดำเนินนโยบายพัฒนาการศึกษาที่เน้นการเรียนภาษาไทย และพยายามปรับปรุงปอเนาะ
สถาบันการศึกษาทางด้านศาสนาเก่าแก่คู่สังคมมลายูมุสลิมมาอย่างยาวนาน ให้เป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามและให้มีการขึ้นทะเบียนปอเนาะ
การสอนวิชาการด้านศาสนาจะต้องได้รับการอนุมัติหลักสูตรรายวิชาจากกระทรวงศึกษาธิการ
ซึ่งต่อมาในช่วงปี 2514 ปอเนาะจำนวน 109 แห่ง จากที่มีอยู่ทั้งหมด 535 แห่งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดได้ ซึ่งถือเป็นจุดที่บรรดาโต๊ะครู หรือผู้นำศาสนาเห็นว่าเป็นการรุกรานวิถีชีวิตวัฒนธรรมมลายูปัตตานี ที่ผูกโยงเข้ากับศาสนาอิสลาม. การต่อต้านรัฐไทย จึงแพร่ขยายออกไปในระดับประชาชนรากหญ้าอย่างรวดเร็ว
B.R.N. และ ฮัจยีการิม
บินฮัสซัน
ผู้นำในการก่อตั้ง B.R.N. คือ ฮัจยีการิม บินฮัสซัน โต๊ะครูจาก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
ซึ่งถือเป็นปราชญ์หรือผู้รู้ทางศาสนา ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง. การดำเนินงานในช่วงแรกของ
B.R.N. จึงเป็นการทำงานในเชิงการเมือง เผยแพร่แนวคิดในกลุ่มปอเนาะด้วยกัน จนสามารถขยายฐานมวลชนได้อย่างรวดเร็ว.
และในปี พ.ศ.2516, B.R.N. ก็สามารถจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลไทยได้สำเร็จ
และสถานการณ์หลังจากนั้นเริ่มเข้าสู่ยุคความรุนแรง ยิ่งภายหลังเกิดกองกำลังติดอาวุธเพื่อแบ่งแยกดินแดนขึ้นอีกหลายกลุ่ม
ไม่ว่าจะเป็น องค์การปลดปล่อยรัฐปัตตานี หรือ PULO และขบวนการแนวร่วมมูจาฮิดีนปัตตานี
หรือ GMP
แนวรบขยายตัวสู่เวทีสากล
สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หลังจากนั้นดำเนินไปอย่างเข้มข้น แนวรบไม่เพียงอยู่ภายในประเทศเท่านั้น
แต่ยังขยายไปสู่เวทีสากล ด้วยกลุ่มปัญญาชนมลายูมุสลิมที่อยู่ในต่างประเทศ ข้อมูลของหน่วยงานด้านความมั่นคงระบุว่า
มีการเดินขบวนของมลายูปัตตานีพลัดถิ่นในต่างประเทศ อาทิ สวีเดน และเยอรมนี เพื่อประท้วงรัฐบาลไทยกรณีเหตุการณ์สังหารประชาชนที่สะพานกอตอ
อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อปลายปี 2518 ซึ่งนำไปสู่การชุมนุมประท้วงที่หน้ามัสยิดกลาง
จ.ปัตตานีช่วงต้นปี 2519
นอกจากนี้พูโลประสบความสำเร็จในการเวียนข้อเรียกร้องของตน ในระหว่างการประชุมสุดยอดอิสลามที่นครเมกกะห์และตาอิฟ ในเดือนมกราคม 2524 เอกสารเวียนข้อเรียกร้องนี้ยังได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ใน 'The Journal of the Muslim World League' ฉบับเดือนเมษายน 2524 ชื่อเรื่องว่า 'เสียงเพรียกจากปัตตานีขอความช่วยเหลือจากมุสลิม'
สถานการณ์โลกในขณะนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอย่างน้อยสองเหตุการณ์ ซึ่งเสมือนจุดเปลี่ยนแนวคิดการต่อสู้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทย
- เหตุการณ์แรกคือกรณีรัสเซียรุกรานอัฟกานิสถาน เกิดการต่อต้านโดยกลุ่มมูจาฮิดีน และ
- เหตุการณ์ที่สอง คือ การปฏิวัติอิหร่าน ซึ่งนำแนวทางอิสลามเข้ามาฟื้นฟูสังคม
ทั้งสองเหตุการณ์ทำให้การต่อสู้ในแนวทางของอิสลามได้รับการเชิดชูจากกลุ่มนักต่อสู้มุสลิมทั่วโลก
ซึ่งส่งผลสะเทือนอย่างสำคัญต่อแนวคิดการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทยว่า
แท้จริงแล้วพวกเขากำลังต่อสู้เพื่อชาตินิยม เพื่อรัฐปัตตานี หรือต่อสู้เพื่อฟื้นฟูอิสลาม.
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการที่ B.N.P.P. เปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น
B.I.P.P. จาก N หรือ National เป็น I หรือ Islamic
จากป่าเขา สู่หมู่บ้านและชุมชน
จากการที่ขบวนการใต้ดินต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นต้นมา การต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธในเขตป่าเขา
จากที่เคยมีศักยภาพสูง มีกองกำลังเป็นจำนวนมาก กลับลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการปราบปรามอย่างหนักของรัฐบาลไทย
นั่นทำให้ขบวนการใต้ดินทบทวนแนวคิด วิธีการต่อสู้ในรูปแบบใหม่ ด้วยเห็นว่า การต่อสู้ด้วยอาวุธเพียงอย่างเดียวแทบไม่มีทางประสบความสำเร็จได้
อีกทั้งสถานการณ์หลังปี 2523 รัฐบาลไทยดำเนินนโยบาย 'การเมืองนำการทหาร' ให้โอกาสผู้ที่เคยเข้าร่วมต่อสู้ในขบวนการใต้ดินมอบตัวและนิรโทษกรรมในฐานะผู้หลงผิด รวมทั้งดำเนินนโยบายให้สิทธิเสรีภาพ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกด้าน ทำให้เงื่อนไขในการปลุกระดมให้ประชาชนต่อสู้ปลดแอกจากรัฐไทยคลี่คลายลง. ขบวนการใต้ดินจึงหันมาใช้แนวทางใหม่ ด้วยการเข้าสู่สถาบันปอเนาะ ปลูกฝังอุดมการณ์โดยประสานแนวคิดชาตินิยมรัฐปัตตานีเข้ากับศาสนา โดยปลูกฝังว่าปัตตานีเป็นแผ่นดินอิสลาม ดังนั้น มุสลิมทุกคนจึงต้องชิงดินแดนนี้คืนมาจากเจ้าอาณานิคมสยาม เพื่อให้ปัตตานีกลับคืนฟื้นสู่การเป็นรัฐอิสลามเช่นในอดีต ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของขบวนการในปัจจุบัน
สนามรบในวันนี้จึงเปลี่ยนจากพื้นที่ป่าเขามาอยู่ในหมู่บ้าน ในชุมชน และในความคิดของผู้คนที่ได้รับการบ่มเพาะปลูกฝัง แม้วันนี้รัฐไทยอาจประสบความสำเร็จในการควบคุมความรุนแรงให้ลดระดับลง หรือสามารถยุติความรุนแรงนี้ได้ แต่ในระยะยาวต่อไปในอนาคต ตราบใดที่ยังไม่มีการสลายแนวคิดเช่นนี้ ก็ยังไม่รู้ว่า ปมแนวคิดที่ได้รับการปลูกฝังนี้จะส่งผลให้ความรุนแรงปะทุขึ้นอีกเมื่อใด
ปัญญาชนรุ่นใหม่ จุดเปลี่ยนแนวทางต่อสู้
การต่อสู้ในอดีต รัฐไทยใช้มาตรการในหลายด้าน แม้ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่การใช้กำลังปราบปราม
แต่ก็เข้าใจได้ว่าในยุคนั้นการต่อสู้เป็นไปอย่างเปิดเผย ขบวนการใต้ดินมีกองกำลังเคลื่อนไหว
มีฐานที่มั่นอย่างชัดเจน การสืบให้ทราบ ค้นให้พบ และทุ่มกำลังเข้าปราบปราม จึงทำให้ขบวนการใต้ดินอ่อนกำลังลง
ขณะเดียวกันแนวทางการเมืองนำการทหาร ซึ่งเคยใช้ในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ มีการตั้งกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) เป็นหน่วยรับผิดชอบด้านยุทธการและการปราบปราม. ขณะเดียวกันด้านการฟื้นฟูและพัฒนา ก็มีการตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ในปี 2524 แนวทางการทำงานมวลชนเพื่อลดปฏิกิริยาต่อต้านรัฐไทยก็เห็นได้ชัดเจนขึ้น ทั้งการดูแลช่วยเหลือประชาชน รับฟังความคิดเห็นและแก้ไขปัญหา การอำนวยความยุติธรรม การส่งเสริมวิถีชีวิตภายใต้ศาสนาวัฒนธรรมดั้งเดิม และให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา
เหตุการณ์ชายแดนภาคใต้ช่วงหลังปี 2524 เป็นต้นมา สถานการณ์ความรุนแรงเริ่มลดระดับลงมาเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งอาจมาจากมาตรการทางการเมืองเพื่อขจัดเงื่อนไขสงครามก็เริ่มเห็นได้ชัดขึ้นจากนโยบาย หรือยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในระยะต่อมา ที่เน้นการสนับสนุนวิถีชีวิต ในการปฏิบัติตามหลักการศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่
ทิศทางการแก้ปัญหาที่เน้นการส่งเสริมวิถีชีวิต ภายใต้หลักศาสนาและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ อาจเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของรัฐไทย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการใช้มาตรการทางทหารกดดันต่อขบวนการใต้ดินอย่างหนักหน่วงก่อนหน้านั้น ทำให้ความเข้มแข็งของขบวนการใต้ดินอ่อนกำลังลงทุกขณะ. ขณะเดียวกัน แนวทางการให้สิทธิและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ จากนโยบายการเมืองนำการทหาร บวกกับระบบการเมืองภายในประเทศที่เปิดกว้าง และมีประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองในระบบของกลุ่มปัญญาชนรุ่นใหม่ก่อตัวขึ้น ซึ่งทำให้สถานการณ์ชายแดนภาคใต้พลิกโฉมไปอย่างคาดไม่ถึง ทั้งด้านบวกและด้านลบ
มหาวิทยาลัยรามคำแหง การรวมตัวของนักศึกษามลายูมุสลิม
ก่อนหน้านั้น การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเปิดอย่าง 'มหาวิทยาลัยรามคำแหง' ได้สร้างโอกาสทางการศึกษาสมัยใหม่ให้กับเยาวชนมุสลิมเป็นจำนวนมาก.
อดีตแกนนำนักศึกษามุสลิมซึ่งเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยรามคำแหงคนหนึ่ง ผู้มีบทบาทในการร่วมก่อตั้งกลุ่ม
'PNYS' ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษามลายูมุสลิม จาก จ.ปัตตานี (P) นราธิวาส
(N) ยะลา (Y) สงขลาและสตูล (S) ที่เข้ามาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง บอกเล่าถึงการรวมตัวกันในช่วงหลังปี
2520 ว่า แม้ในช่วงแรกการก่อตัวจะมีการจัดตั้งจากขบวนการใต้ดินรวมอยู่ด้วย แต่จากการเรียนรู้ความเคลื่อนไหวของขบวนการอิสลาม
ทั้งการปฏิวัติอิหร่าน (พ.ศ.2524) และขบวนการมูจาฮีนซึ่งต่อต้านการรุกรานอัฟกานิสถานของรัสเซีย
บวกกับความพ่ายแพ้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนรุ่นเก่า และปัจจัยทางการเมืองที่เปิดกว้างขึ้น
ทำให้พวกเขาเห็นแนวทางการที่สามารถนำกลไกกระบวนการทางการเมืองในระบบมาเป็นเวทีการต่อสู้
แทนการใช้กำลังอาวุธซึ่งกำลังพ่ายแพ้ไปทุกขณะ
แนวความคิดเรื่องการรวมกลุ่มทางการเมืองและการตั้งชมรมนักกฎหมายมุสลิม ถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้ นำไปสู่การต่อสู้ เรียกร้องความเป็นธรรมในพื้นที่สาธารณะในเวลาต่อมา. จุดเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ ซึ่งเริ่มต้นโดยขบวนการปัญญาชนรุ่นใหม่ น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะนี่คือการก่อตัวของแนวทางการต่อสู้ทางความคิดด้วยแนวทางสันติวิธี
ปัญญาชนมุสลิมรุ่นใหม่
ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้ให้เห็นว่า การก่อตัวของกลุ่มปัญญาชนมุสลิมรุ่นใหม่
เป็นพลพวงมาจากการดำเนินนโยบายจัดระเบียบสถาบันปอเนาะ ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ทำให้บรรดาโต๊ะครูและประชาชนในพื้นที่ส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อทางด้านศาสนาในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง
อ.ศรีสมภพ ระบุว่า ในช่วงปี 2513-2514 สถาบันปอเนาะจำนวนมาก แปรสภาพมาเป็น 'โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม' ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับนักศึกษามลายูปัตตานีที่เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศเหล่านี้สำเร็จการศึกษากลับมา ส่วนใหญ่เข้ามาเป็น"อุชตาซ"หรือ"ครูสอนศาสนา"ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเหล่านี้
ขณะเดียวกัน กลุ่มปัญญาชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งผ่านการศึกษาทางโลกหรือสายสามัญ รวมทั้งสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้เข้าสู่การต่อสู้ในระบบ ปัญญาชนรุ่นใหม่ไม่น้อยเข้าสู่แวดวงวิชาการในสถาบันการศึกษาท้องถิ่น อีกจำนวนหนึ่งรวมตัวกันตั้งกลุ่มทำงานเพื่อชุมชนมุสลิม ทั้งการพัฒนาด้านการศึกษา การช่วยเหลือประชาชนในประเด็นเรื่องความยุติธรรม ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเข้าสู่การต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภา. อ. ศรีสมภพ ระบุว่า แนวความคิดของกลุ่มนี้คือ การนำหลักศาสนาอิสลามเข้ามาใช้ในโลกยุคใหม่
-
ดร.วัน การ์เด เจ๊ะมาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มปัญญาชนรุ่นใหม่
ซึ่งเป็นผลผลิตในยุคนี้ ระบุในบทความเรื่อง 'กระบวนการประชาธิปไตยกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้'
ซึ่งเผยแพร่ใน พ.ศ.2546 ว่า นโยบายของรัฐบาลไทยในช่วงนั้น ถูกโน้มนำไปสู่การสร้างความเป็นประชาธิปไตยและความเข้าใจเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม
สะท้อนถึงความต่อเนื่องของนโยบายบูรณาการแห่งชาติ โดยพยายามนำสังคมมลายูมุสลิมเข้าสู่ระบบการเมือง
คาดหวังให้ผู้มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน หันเข้ามาใช้แนวทางสันติในระบบการเมืองแทนการต่อสู้ด้วยอาวุธ
เขาเห็นว่า แนวทางดังกล่าวเป็นช่องทางหนึ่งของผู้นำมลายูมุสลิมซึ่งปฏิเสธการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน
แต่เลือกที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ด้วยเชื่อว่าจะบรรลุเป้าหมายทางการเมืองและสร้างอำนาจต่อรอง
รักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชุมชนมลายูมุสลิม
- 'บะห์รูน' คอลัมนิสต์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์
อดีตแกนนำระดับมันสมองของขบวนการใต้ดินในยุคก่อน ได้สะท้อนแนวคิดของปัญญาชนกลุ่มนี้
โดยเขียนถึงคำปราศรัยในครั้งหนึ่งของนายนัจมุดดิน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาสและอดีตประธานชมรม
PNYS ในคอลัมน์ 'สวนทางปืน' ของเขาว่า "ในบ้านเราเศรษฐกิจอยู่ในมือคนจีน
ในทางการปกครองอยู่ในมือคนกรุง (หมายถึงอำนาจส่วนกลาง) มีช่องทางเดียวเท่านั้นที่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้อง
เข้าไปควบคุมและเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจได้ คือการเข้าสู่ระบอบการเมือง
เป็นตัวแทนของประชาชน เป็นปากเสียงให้กับพวกเราได้". บะห์รูน สรุปแนวคิดของนัจมุดดีน
ซึ่งเสมือนตัวแทนของปัญญาชนรุ่นใหม่ไว้ว่า "มลายูมีที่ยืนที่เดียวเท่านั้นคือ
การเมือง"
การมีพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองเช่นนี้ บะรูนห์ ระบุว่า ทำให้เกิดพลังต่อรองขึ้นมา
และพลังต่อรองนี้มิได้เกิด มิได้อยู่เพียงแค่กับพรรคการเมืองไทย แต่ยังมีพลังต่อรองกับขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธทุกกลุ่ม
ทำให้การปลุกเร้าการต่อสู้ด้วยอาวุธถูกบดทับด้วยแนวทางการเมือง อีกทั้งทัศนะของมลายูมุสลิมที่ไม่เคยไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัฐไทย
เมื่อถูกนำเสนอต่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ซึ่งมีโอกาสเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลในช่วงปี
2535-2540 ได้เปิดโอกาสให้มลายูมุสลิมเป็นรัฐมนตรี แนวทาง 'การเมืองนำการทหาร'
จึงชัดเจนขึ้น
แนวทางการต่อสู้ทางการเมือง ที่บะห์รูน ระบุว่า บดทับการต่อสู้ด้วยอาวุธ ซึ่งเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
แต่แล้วเหตุใดความรุนแรงระลอกใหม่หลัง 4 มกราคม 2547 ซึ่งพลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิงกับความรุนแรงในอดีตจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง
!
การต่อสู้ในระบบ การต่อสู้นอกระบบ
แม้ปัญญาชนรุ่นใหม่เหล่านี้ จะเชื่อมั่นต่อการต่อสู้ในระบบ แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญญาชนอีกกลุ่มหนึ่ง
ยังเชื่อมั่นในแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธ. งานวิจัยเรื่อง 'เงื่อนไขทางการเมืองที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้'
ของ สุรินทร์ พิศสุวรรณ เมื่อปี 2526 ระบุถึงนโยบายปฏิรูปการศึกษาในสถาบันปอเนาะของรัฐบาล
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดขบวนการปัญญาชนรุ่นใหม่เอาไว้ว่า
"ผลกระทบจากการเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาล นำความรู้สึกไม่พอใจมาสู่ประชาคมมุสลิมอย่างสูง หลักสูตรสามัญที่รัฐนำเข้าไปใช้ในสถาบันปอเนาะ ทำให้มาตรฐานการศึกษาของฝ่ายศาสนาลดลง และเกิดความรู้สึกแปลกแยกออกมาจากพื้นภูมิหลังทางศาสนาและวัฒนธรรมมลายูมุสลิมในหมู่เยาวชน เมื่อประชาคมไม่พอใจกับระบบการศึกษาที่ถูกปฏิรูปไป จำนวนนักศึกษาที่เดินทางไปศึกษาวิชาการศาสนาในต่างประเทศจึงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นักเรียนเหล่านี้มักจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลต่างประเทศ และพัฒนาความรู้สึกแปลกแยกกับรัฐไทยมากขึ้น เมื่อกลับมาประเทศไทย นักศึกษาเหล่านี้ได้รับการยอมรับ มีสถานภาพทางสังคมสูง มีคนและสถาบันในต่างประเทศรู้จัก บุคคลเหล่านี้สามารถที่จะท้าทายอำนาจของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
เช่นเดียวกับ อ.พีรยศ จากการคลุกคลีอยู่กับปัญหานี้มานาน ทำให้เขาเห็นว่า หากเทียบกันถึงศักยภาพแล้ว ขบวนการในวันนี้เหนือชั้นกว่าในอดีตมากนัก "แกนนำในอดีตหลายคนเขียนชื่อตัวเองไม่ได้ ไปจับอาวุธต่อต้านรัฐเพราะถูกกดดัน แต่ยุคนี้เป็นยุคปัญญาชนรุ่นใหม่ ซึ่งมีเครือข่าย ไปเรียนที่อินโดนีเซีย, ตะวันออกกลาง, ปากีสถาน, เขามีเครือข่าย ใช้เทคโนโลยีส่งข้อมูล แม้จะถูกบล็อกการสื่อสาร แต่เพียงแค่ข้ามแม่น้ำโกลกไปลันตู (เมืองในรัฐกลันตัน ตรงข้าม อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส) ก็ทำได้แล้ว สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมานานพอสมควร มีการสร้างองค์กรเครือข่ายขึ้นมา"
ท้าทายอำนาจรัฐไทย พัฒนาอุดมการณ์
ประสิทธิภาพในการท้าทายอำนาจรัฐไทยของกลุ่มปัญญาชนรุ่นใหม่เหล่านี้ มิได้เกิดจากกำลังอาวุธ
แต่สิ่งสำคัญคือการพัฒนาคำอธิบายอุดมการณ์การต่อสู้ได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ.
ดร.วัน การ์เด เจ๊ะมาน กล่าวถึงประเด็นนี้ในการให้สัมภาษณ์กับ ดร.ฟาริช เอ นูร์
นักวิชาการมาเลเซีย ซึ่งทำงานให้กับสถาบัน Zentrum Moderner Orient ประเทศเยอรมนี
ว่า
"หนุ่มสาวปัตตานีในทุกวันนี้ดูจะผูกพันเข้ากับการเมืองเชิงวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานทางศาสนามากยิ่งขึ้นทุกที ระหว่างที่ผมเป็นคนหนุ่ม ผู้คนในยุคของผมเป็นพวกชาตินิยม แต่ทุกวันนี้การลุกฮือขึ้นต่อต้านจากบรรดามุสลิมทั่วโลก ทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้รับแนวความคิดเชิงศาสนาเพิ่มมากขึ้น และเราก็เห็นพวก Islamist ทำงานร่วมกับพวก Nationalist ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ลัทธิแบ่งแยกดินแดนในปัตตานีที่แข็งแกร่งมากขึ้นในทุกวันนี้ เป็นเพราะการผสมผสานกันระหว่างแนวคิดเรื่องศาสนาและการเมืองเข้าด้วยกัน"
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า พลังการต่อสู้ด้วยอาวุธของขบวนการรุ่นเก่าๆ ที่ค่อยๆ สลายไป มิได้ทำให้อุดมการณ์ต่อสู้หายไปด้วย ขณะเดียวกันการเปิดกว้างขึ้นของสังคมไทย จากมาตรการและนโยบายของรัฐที่ให้สิทธิและเสรีภาพมากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ขบวนการปัญญาชนรุ่นใหม่ทั้งสองกลุ่ม-สองแนวทางต่อสู้ วางรากฐานได้อย่างมั่นคง
บะห์รูน สรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ตลอดระยะเวลาซึ่งกลุ่มปัญญาชนรุ่นใหม่ก้าวเข้าสู่การต่อสู้ในทางการเมือง ได้ขับเคลื่อนสังคมในวิถีทางการเมือง ขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธก็อ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ จนแทบจะหายไป แต่กงล้อประวัติศาสตร์ก็หมุนกลับ เมื่อประสานประโยชน์กับรัฐได้ ประสานประโยชน์กับอำนาจได้ ปัญญาชนมลายูมุสลิมที่กลายเป็นนักการเมืองเหล่านี้จึงค่อยๆ ขยับฐานะจากประชาชนเพื่อประชาชน ไปสู่ผู้ปกครองเพื่อประชาชน และสุดท้าย 'ปกครองเพื่อให้ได้ปกครอง (อีก)' จึงทำให้ฝ่ายนิยมความรุนแรงและฝ่ายอิงประโยชน์อื่นๆ เติบโตได้อีกครั้งในวันนี้
ข้อสรุปของบะห์รูน น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะหากศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ ในอดีตถึงปัจจุบัน จะพบว่า ภายใต้ความขัดแย้งนี้ แต่ละกลุ่มล้วนประสบความสำเร็จจากการประสานประโยชน์กับรัฐไทย. ภายใต้การต่อสู้ในระยะแรกโดยกลุ่มเชื้อสายเจ้าเมืองเดิม ชนชั้นสูงในสังคมมลายูปัตตานีได้รับโอกาสพิเศษต่างๆ จากรัฐไทยเพื่อลดปฏิกิริยาต่อต้าน ตระกูลซึ่งสืบเชื้อสายเจ้าเมืองเดิมหลายตระกูลได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการระดับสูง มีสถานภาพทางสังคมที่มั่นคง สืบทอดมาถึงลูกหลาน ทายาทในปัจจุบัน ไม่รวมถึงการให้การสนับสนุนทางการศึกษาที่เจ้าของปอเนาะได้รับเงินอุดหนุนการศึกษาจากรัฐบาล. และยุคต่อมา การต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธ อดีตผู้นำการต่อสู้หลายรายมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีในดินแดนต่างประเทศ
เมื่อกลุ่มซึ่งเป็นผู้นำการต่อสู้ในแต่ละกลุ่มได้รับการประสานประโยชน์ จนทำให้มีสถานะทางสังคมมีที่ยืนซึ่งมั่นคง กลุ่มสุดท้ายที่ยังไร้สถานะที่ยืน แต่เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางความรู้ความคิดอย่างยิ่ง นั่นคือ กลุ่มปัญญาชนซึ่งมีพื้นฐานหยั่งลึกกับศาสนา. คำถาม ณ ขณะนี้ก็คือ พวกเขาได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากรัฐไทย ในขณะที่ปัญหาภายในสังคมมุสลิมของพวกเขาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข. อุดมการณ์ ความคิดซึ่งผ่านการศึกษาการต่อสู้ของขบวนการอิสลามทั่วโลก และการต่อสู้ด้วยอาวุธของขบวนการต่อสู้เพื่อปัตตานีในอดีต จะผสานก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาสังคมของพวกเขาได้อย่างไร ?
ปัญหาสังคมมุสลิม ควรแก้ไขโดยมุสลิม
ความผิดพลาดเชิงนโยบายหลายๆ ด้านในอดีตของรัฐไทย ก่อกระแสเรียกร้องสำคัญประการหนึ่งของประชาคมมุสลิมในพื้นที่
นั่นคือปัญหาในสังคมมุสลิมควรได้รับการจัดการแก้ไขโดยมุสลิม ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง
เศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับข้อเรียกร้อง 7 ประการในนามของ
'ขบวนการประชาชนแห่งปัตตานี' (Patani People's Movement: PPM) ที่ฮัจยีสุหรง
โต๊ะมีนา เป็นตัวแทนเสนอต่อรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในปี พ.ศ.2490
ข้อเรียกร้องของฮัจยีสุหรง ล้วนเป็นข้อเรียกร้องเพื่อสิทธิและเสรีภาพการดำเนินชีวิตภายใต้วัฒนธรรมมลายู ซึ่งมีแนวทางอิสลามคอยกำกับควบคุม มิใช่ข้อเรียกร้องทางการเมืองโดยตรง แต่ตัวเขาเองก็ถูกจับกุมในข้อหายุยงให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน แม้จะถูกปล่อยตัวในภายหลัง แต่ก็ถูกทำให้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย. บทเรียนจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ในอดีต สะท้อนให้เห็นว่า การยื่นข้อเสนอในเชิงอำนาจต่อรัฐไทยมักจะไม่ส่งผลดี และจะยิ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัย ดังนั้นการได้มาซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านี้ จึงอาจมีความจำเป็นต้องสร้างแรงกดดันให้รัฐไทยเป็นฝ่ายเสนอแนวทางนั้นออกมาเอง
ปัจจุบัน: การต่อสู้ในหลายแนวทาง
การต่อสู้ในปัจจุบัน จึงเป็นการต่อสู้ในหลายมิติและแนวรบกระจายกันออกไปหลายด้าน
ทั้งเปิดเผยและปิดลับ วันนี้จึงเห็นปัญญาชนมลายูปัตตานีรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมและทางการเมืองกันอย่างคึกคัก
ที่เห็นปรากฏชัดคือการรวมกลุ่มทางการเมือง เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองในระบบรัฐสภา
และการเคลื่อนไหวกิจกรรมทางสังคม ทั้งการให้ความช่วยเหลือชุมชนและการเป็นตัวแทน
เป็นปากเสียงในการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ซึ่งกล่าวได้ว่า นี่คือกลุ่มที่เชื่อมั่นแนวทางการต่อสู้ในพื้นที่สาธารณะหรือในระบบ
สำหรับขบวนการใต้ดินเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งมาจากปัญญาชนรุ่นใหม่ ทั้งทางแนวคิดและการสร้างสมแนวร่วม กำลังคนและพัฒนาองค์กรเพื่อการต่อสู้. จนถึงขณะนี้ การซุ่มซ่อนอย่างยาวนานของขบวนการใต้ดิน ก็ปรากฏขึ้นให้เห็นในรูปแบบเยาวชนติดอาวุธ ซึ่งถือเป็นนักรบรุ่นใหม่ที่ได้รับการปลูกฝังสร้างสมความคิดในเชิงการเมืองและศาสนามาอย่างเข้มข้น และพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงก่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง
"ตอนที่มีการเผาโรงเรียนกว่า 30 แห่ง ในปี 2536 บรรดาผู้นำของกลุ่มนี้อ้างกับผมเป็นการส่วนตัวว่า ในช่วงเวลา 10 ปี พวกเขาจะยกระดับความรุนแรงให้สูงขึ้นไปสู่ระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน. ตอนนี้ 10 ปีให้หลัง เราได้เห็นความรุนแรงกลับมาในพื้นที่ สิ่งที่เราเห็นอยู่นี้เป็นผลจากการฝึกและการเตรียมการระยะยาวที่ว่านั้น กลุ่มเหล่านี้คือกลุ่มที่ไม่เคยเห็นพ้องกับข้อเสนอที่ว่าสามารถเปิดเจรจาอย่างเปิดเผยกับรัฐไทยได้ และไม่เคยยกเลิกการจับอาวุธขึ้นสู้" นี่คือคำพูดที่ ดร.วันกาเดร์ เคยกล่าวเอาไว้
เขาเห็นว่า ไม่ว่ารัฐไทยจะดำเนินนโยบายแนวทางการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปัตตานีก็คงยังดำเนินต่อไป สืบเนื่องมาจากการต่อสู้ของคนเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนด้วยเงื่อนไขปัจจัยทางประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ และศาสนา ซึ่งยังคุกรุ่นอยู่จนไม่อาจดับคลายลงได้อย่างง่ายดาย
ถอดแนวคิดเบอร์ซาตู ศึกษายุทธศาสตร์การต่อสู้
แม้เป้าหมายของขบวนการรุ่นใหม่ที่เข้าสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธแบบขบวนการใต้ดินในอดีตจะยังไม่ปรากฏชัด
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะสะท้อนให้เห็นแนวทางของกลุ่มนี้ก็คือ ท่าที และแนวคิดของ
ดร.วัน การ์เด เจ๊ะมาน ประธานเบอร์ซาตู ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มปัญญาชนมลายูปัตตานีรุ่นใหม่.
แนวคิดทางการเมืองของ ดร.วัน การ์เด สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนว่า จุดมุ่งหมายการต่อสู้ของเขาในวันนี้มิใช่รัฐเอกราชอีกต่อไป
เพราะการต่อสู้ในแนวทางดังกล่าวจะเป็นไปได้จริงก็เมื่อมีชาติมหาอำนาจหนุนหลัง
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ชาติมหาอำนาจมักจะไม่ให้ความสนใจกับดินแดนที่ไม่มีผลประโยชน์ร่วม
หลังเหตุการณ์ความไม่สงบที่ปะทุขึ้นระลอกใหม่ ดร.วัน การ์เด ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของเขา เกี่ยวกับประเด็นปัญหาปัตตานีและไทย เมื่อไม่อาจอยู่ร่วมและแบ่งแยกจากกันได้ ซึ่งเขาระบุว่า "ทุกวันนี้ชีวิตของพลเมืองสำคัญกว่าเรื่องของดินแดน แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งที่แท้จริง ควรเริ่มจากการเจรจากัน ซึ่งจะต้องอาศัยความเข้าใจและการประนีประนอม"
ความเข้าใจและการประนีประนอมในความหมายของ ดร.วัน การ์เด อธิบายได้จากที่เขาให้สัมภาษณ์สถาบันวิจัยเซนทรัม โมเดิร์นเนอร์ โอเรียนท์ ในประเทศเยอรมนี ซึ่งเขาระบุว่า ความรุนแรงที่ผ่านมาไม่เคยได้ผลจริง และจะไม่ได้ผลอีกต่อไป นี่คือเหตุผลที่เขาเรียกร้องให้กลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมกัน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และหาหนทางต่อสู้ตามกฎหมาย ภายใต้พื้นฐานที่รัฐไทยต้องให้การยอมรับต่อประวัติศาสตร์ในอดีตของปัตตานี อัตลักษณ์ รวมทั้งความต้องการทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของมลายูปัตตานี
"สิ่งที่ผมต้องการคือ ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้นำเอามาตรา 282 จนถึง 290 (*) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาบังคับใช้อย่างแท้จริงและอย่างมีประสิทธิภาพ มาตราดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งฝ่ายบริหารในท้องถิ่นได้ และให้มีอำนาจในการควบคุมตัวเองโดยจำกัด"
(*) หมวด 9 การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 282-290
มาตรา ๒๘๒
ภายใต้บังคับมาตรา ๑ รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น
มาตรา ๒๘๓
ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิได้รับจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องทำเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ
แต่ต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม
ทั้งนี้ จะกระทบถึงสาระสำคัญแห่งหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้
มิได้
มาตรา ๒๘๔
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายย่อมมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การปกครอง
การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ
การกำหนดอำนาจและหน้าที่ระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง
ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่ท้องถิ่นเป็นสำคัญ
เพื่อพัฒนาการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ
ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
(๑) การกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง
(๒) การจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงภาระหน้าที่ของรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเองเป็นสำคัญ
(๓) การจัดให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งทำหน้าที่ตาม (๑) และ (๒) ประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ
โดยมีจำนวนเท่ากัน
ในกรณีที่มีการกำหนดอำนาจและหน้าที่และการจัดสรรภาษีและอากรตาม
(๑) และ (๒) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดแล้ว คณะกรรมการตาม (๓) จะต้องนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาทบทวนใหม่ทุกระยะเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่มีการกำหนดอำนาจและหน้าที่หรือวันที่มีการจัดสรรภาษีและอากร
แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของการกำหนดอำนาจและหน้าที่ และการจัดสรรภาษีและอากรที่ได้กระทำไปแล้ว
ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่ท้องถิ่นเป็นสำคัญ
การดำเนินการตามวรรคสี่ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรายงานรัฐสภาแล้ว
ให้มีผลใช้บังคับได้
มาตรา ๒๘๕
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง
คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น
การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี
คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจะเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น
มิได้
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น
คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น หรือในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา
๒๘๖ และต้องมีการแต่งตั้งคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว
มิให้นำบทบัญญัติวรรคสอง วรรคสาม และวรรคหก มาใช้บังคับ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๘๖
ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง
เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป
ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การลงคะแนนเสียงตามวรรคหนึ่งต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
มาตรา ๒๘๗
ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้
คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นเสนอมาด้วย
หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อรวมทั้งการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๘๘
การแต่งตั้งและการให้พนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง
ต้องเป็นไปตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นและต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นก่อน
ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
คณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งจะต้องประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ
โดยมีจำนวนเท่ากัน
การโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษพนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๘๙
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น
หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิที่จะจัดการศึกษาอบรมและการฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นนั้น
และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรมของรัฐ แต่ต้องไม่ขัดต่อมาตรา ๔๓ และมาตรา
๘๑ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การจัดการศึกษาอบรมภายในท้องถิ่นตามวรรคสอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาศิลปะ
จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นด้วย
มาตรา ๒๙๐
เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
(๑) การจัดการ การบำรุงรักษา
และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่
(๒) การเข้าไปมีส่วนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกเขตพื้นที่
เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน
(๓) การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่
ดร.วัน การ์เด เห็นว่า บทบัญญัติในมาตราดังกล่าวของรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐบาลท้องถิ่น การจัดสรรอำนาจและอำนาจบังคับบัญชาให้กับเขตปกครองท้องถิ่น การจัดการเลือกตั้งในท้องถิ่น วัตถุประสงค์ของบทบัญญัติเหล่านี้ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงในรูปแบบบางอย่างของผู้แทนการเมืองท้องถิ่นในระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เพื่อเป็นส่วนเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการให้ประชาชนมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ได้มีโอกาสรื้อฟื้นเกียรติศักดิ์แห่งตัวเองกลับคืนมาอีกครั้ง
"นี่เป็นหนทางเดียวที่จะเปิดโอกาสให้บรรดาผู้นำ อย่างเช่นตัวผม สามารถโน้มน้าวให้กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ยกเลิกการต่อสู้ด้วยอาวุธและหันมาดำเนินการผ่านกระบวนการทางการเมืองภายใน, ที่สำคัญที่สุด นี่เป็นวิธีการที่จะทำให้การต่อสู้ของเราถูกต้องตามกฎหมายและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอีกด้วย"
เห็นได้ว่าแนวคิดของ ดร.วัน การ์เด เป็นแนวคิดเชิงประนีประนอมระหว่างการธำรงความเป็นมลายูมุสลิมและการอยู่ร่วมกับรัฐไทยอย่างสันติ ด้วยการขออำนาจให้คนท้องถิ่นจัดการสังคมและชุมชนด้วยตัวเอง แต่ถึงแม้จะมีการพบปะหารือกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอดีต แนวทางดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐไทยในสมัยนั้น
ดังนั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
ทั้งจากขบวนการใต้ดินและจากการกดดันด้วยมาตรการทางทหารของรัฐไทย จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่า
ทั้งสองฝ่ายกำลังการช่วงชิงความได้เปรียบในการรบ เพื่อเป็นผู้กำหนดวาระและหัวข้อการเจรจา
ในช่วงเวลาที่สุกงอมอย่างเหมาะสม
ในระหว่างนี้ ความอ่อนไหวในประเด็นชาติ ศาสนา และมาตุภูมิ จึงเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐไทย
คลิกไปอ่านต่อบทความเกี่ยวเนื่อง ตอนที่ ๒ ลำดับที่ 1545
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com