ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




17-04-2551 (1535)

ประมวลบทสัมภาษณ์ เกี่ยวกับการแก้ไขให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
บทสัมภาษณ์: เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๑ ตัดวงจรอุบาทวาธิปไตย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

ประมวลบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ นำมาจากเว็บไซต์ประชาไทออนไลน์
ทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ ทั้งฉบับ
ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศเผด็จการรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙ โดยได้ลำดับบทสัมภาษณ์ดังนี้
๑. สัมภาษณ์ 'สมเกียรติ ตั้งนโม' - เสนอทางออกที่สาม 'แก้ไข รธน.ทั้งฉบับ โดยประชาชน'
๒. สัมภาษณ์ 'ชำนาญ จันทร์เรือง' ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
๓. วรเจตน์ หนุนแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ชี้หากยึดแค่"เอา"หรือ"ไม่เอาทักษิณ"ก็ได้แค่กฎหมายพิกลพิการ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๓๕
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๐ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประมวลบทสัมภาษณ์ เกี่ยวกับการแก้ไขให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
บทสัมภาษณ์: เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๑ ตัดวงจรอุบาทวาธิปไตย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

๑. สัมภาษณ์ 'สมเกียรติ ตั้งนโม' - เสนอทางออกที่สาม 'แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยประชาชน'

คำโปรย ๑ - กฎหมายสูงสุดที่ทำหน้าที่เพียงแค่แก้แค้นนี้ มันใช้ปกครองประเทศไหนบนโลกนี้ไม่ได้
กฎหมายสูงสุดจะต้องเป็นของปวงชนชาวไทยในระบอบประชาธิปไตย

คำโปรย ๒ - แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขทั้งฉบับ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน ภาพอนาคตที่ผมมองเห็นก็คือว่า
มันจะเกิดความขัดแย้งแน่นอน แล้วถ้ามีรัฐบาลชุดอื่นขึ้นมาที่ไม่ได้เป็นฝ่ายของพลังประชาชนก็จะมีการแก้ไขอีก วงจรการแก้แค้นก็จะไม่มีจุดจบ

คำโปรย ๓ - ควรจะให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยใช้กระบวนการหรือกลไกเช่นเดียวกับฉบับปี ๒๕๔๐
คือการทำประชาพิจารณ์ แล้วหลังจากที่ประชาชนทำประชาพิจารณ์แล้ว รัฐธรรมนูญถูกร่างเสร็จเรียบร้อย ก็ควรมีการลงประชามติ

คำโปรย ๔ - การมองรัฐธรรมนูญ จะต้องมองในลักษณะที่มันเป็นสหสัมพันธ์ เป็นเชิงบริบท
คุณจะไปแก้ไขบางส่วนไม่ได้ มันมีความเกี่ยวโยงสอดคล้องกันอยู่

คำโปรย ๕ - เราจะต้องออกแบบรัฐธรรมนูญขึ้นมาฉบับหนึ่งที่ให้ฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ
มันคานอำนาจซึ่งกันและกันให้เกิดดุลภาพ พร้อมกันนั้นต้องส่งเสริมเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน

คำโปรย ๖ - ผมถามว่าพรรคพลังประชาชนใครเป็นตัวแทนกลุ่มผู้หญิง ใครเป็นตัวแทนแรงงาน ใครเป็นตัวแทนกลุ่มคนจนในภาคอีสาน...
ปรากฏว่าคุณจะหาไม่พบ แล้วคุณบอกว่าเป็น 'ผู้แทนของปวงชน' มันเป็นการพูดแบบนามธรรม ทุกพรรคการเมืองก็พูดแบบนี้

ความนำ
หลังจากได้คลายร้อนจากเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว แต่สถานการณ์ทางการเมืองก็ยังคงมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่าสุด, เมื่อวันที่ 16 เม.ย.51 ที่ผ่านมา รายการ 'มองคนละมุม' ของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน FM.100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย นายมาณพ คีรีภูวดล ผู้ดำเนินรายการ ได้สัมภาษณ์ 'รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม' อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ถึงประเด็นกรณีที่ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายรัฐบาลที่มีแนวทางจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งเกิดกระแสทั้งต่อต้านและสนับสนุน

รศ.สมเกียรติ ได้นำเสนอทางเลือกที่สาม ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับโดยใช้กลไกเช่นเดียวกับฉบับ 2540 คือมี สสร.ที่มาจากประชาชน มีการทำประชาพิจารณ์และการลงประชามติ พร้อมเสนอให้รัฐเจียดงบเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับคู่ขนานโดยประชาชนอย่างแท้จริง แล้วนำมาเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาล ก่อนให้ประชาชนลงประชามติเลือกฉบับใดฉบับหนึ่ง เพื่อตัดวงจรการแก้แค้น

มีเหตุผลสมควรมากน้อยเพียงใดที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จะนำไปสู่การแก้ไขในครั้งนี้
ในส่วนตัวผมคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับแก้แค้น บางคนเรียกว่าเป็นฉบับอำมาตยาธิปไตย บ้างก็เรียกว่าฉบับอุบาทวาธิปไตยมากกว่า เพราะว่าอำนาจทั้ง 3 อำนาจ คือ ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่เคยคานอำนาจกันโดยครรลองของประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันนี้มันเกิดความสับสน อำนาจฝ่ายตุลาการค่อนข้างมีอำนาจสูง นี่คืออันตรายที่นำอำนาจของตุลาการเข้ามาก้าวก่าย อาจจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตุลาการก็เป็นได้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นมาหลังจากที่ คปค.(คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) กระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยกลไกทางคณิตศาสตร์แบบ 'มีชัย ฤชุพันธ์' เราก็ได้ 30 อรหันต์ มาร่างรัฐธรรมนูญ และในระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ข่าวที่ออกมาเสมอๆ ก็คือ ความพยายามที่จะกำจัดหรือควบคุมอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราย้อนกลับไปก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็คือ พรรคไทยรักไทยนั้นเอง จนในที่สุดก็มาออกผลโดยการยุบพรรคไทยรักไทยในที่สุด

ผมบอกบริบทในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมานี้ รัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้นมาจากบริบททางการเมืองในลักษณะนี้ แล้วผลที่ออกมาก็คือว่า ถ้าคุณเพ่งเล็งที่จะกำจัดฝ่ายตรงข้ามโดยผ่านกฎหมายสูงสุดอันนี้ มันไม่ได้เป็นประโยชน์ที่แท้จริงกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยเลย ดังนั้น จึงมีใครบางคนเรียกว่า 'รัฐธรรมนูญฉบับแก้แค้น'
ทีนี้ หากถามว่าเราควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ผมไม่ได้เสนอแค่แก้ไข แต่ว่าควรจะมีการร่างใหม่เลย เพราะว่ากฎหมายสูงสุดที่ทำหน้าที่เพียงแค่แก้แค้นนี้มันใช้ปกครองประเทศไหนบนโลกนี้ไม่ได้ กฎหมายสูงสุดจะต้องเป็นของปวงชนชาวไทยในระบอบประชาธิปไตย

แล้วฝ่ายที่ต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด
ผมอยากให้มองยาวๆ นิดหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้จะถูกแก้ไขโดยรัฐบาลตั้งแต่ต้นๆ แล้ว โดยระบุไปค่อนข้างชัดเจนว่าจะแก้มาตรา 237 หรือบางมาตราที่ไปกระทบต่อผลประโยชน์ของ ส.ส.เป็นที่ตั้ง เมื่อมีเสียงเรียกร้องของนักวิชาการที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ที่มีการให้แก้ไขทั้งฉบับ รัฐบาลก็ฟังเสียงของประชาชนและนักวิชาการในกลุ่มนี้ ก็เกิดเหตุการณ์ที่ตอนนี้พยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทั้งฉบับแล้ว ทีนี้รายละเอียดขึ้นอยู่กับว่าจะแก้ไขโดยใครเป็นคนแก้ แต่ที่เราฟังข่าวหรือว่าติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองโดยใกล้ชิด เราก็จะเห็นว่า รัฐบาลต้องการที่จะให้รัฐบาลนี้เป็นคนแก้รัฐธรรมนูญ ผมมองว่ามันจะเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ทางตันที่เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งพรรคฝ่ายตรงข้ามก็ไม่พอใจอีก โดยพรรคประชาธิปัตย์ก็มีการส่งสัญญาณมาแล้วว่า ไม่พอใจที่จะให้มีการแก้ไขโดยพรรคพลังประชาชน

ย้อนไปที่ท่านสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ท่านกล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะว่าเป็นตัวแทนของประชาชน แล้วนักข่าวก็ถามต่อไปว่า เมื่อแก้ไขเสร็จแล้วจะมีการลงประชามติหรือไม่ นายกฯ สมัครบอกว่า จะไม่มีการลงประชามติเพราะว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณกว่า 2 พันล้านบาท และในขณะที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคพลังประชาชนก็จะไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายค้านด้วย

ผมคิดว่าภาพที่เห็นได้ชัดเจนก็คือว่า เราจะได้ 'เผด็จการรัฐสภา' กลับคืนมาอีกครั้ง ถ้าทำอย่างนี้และพูดอย่างนี้. ฉะนั้น จริงๆ แล้ว แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขทั้งฉบับ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน ภาพอนาคตที่ผมมองเห็นก็คือว่า มันจะเกิดความขัดแย้งแน่นอน แล้วถ้ามีรัฐบาลชุดอื่นขึ้นมาที่ไม่ได้เป็นฝ่ายของพลังประชาชนก็จะมีการแก้ไขอีก วงจรการแก้แค้นก็จะไม่มีจุดจบ อย่างนี้ไม่ใช่เป็นกฎหมายสูงสุดของปวงชนชาวไทยครับ แต่เป็นแค่กลไกหรือเครื่องมือทางการเมืองในการสยบฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแบบนี้มันไม่ใช่ภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น

ข้อเสนอของผมก็คือว่า ควรจะให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยใช้กระบวนการหรือกลไก เช่นเดียวกับฉบับปี 2540 คือการทำประชาพิจารณ์ แล้วหลังจากที่ประชาชนทำประชาพิจารณ์แล้วก็รัฐธรรมนูญถูกร่างเสร็จเรียบร้อยก็ควรมีการลงประชามติ อันนี้คือข้อเสนออันที่หนึ่ง

อีกข้อหนึ่งก็คือ หากนายกสมัครยังยืนยันว่าผู้แทนราษฎรปัจจุบัน เป็นเสียงตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงและจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผมก็ขอเสนอว่าเราควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับคู่ขนาน โดยที่ฉบับหลังนี้ให้รัฐบาลให้งบประมาณกับประชาชนเพื่อที่จะทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศแล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นมาเป็นคู่ฉบับ เรียกว่ามีรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างมานี้ 2 ฉบับ โดยฝ่ายรัฐบาล 1 ฉบับ และฝ่ายประชาชน 1 ฉบับ เราก็จะมีรัฐธรรมนูญที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ว่า ฉบับไหนเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็คือว่าให้มีการลงประชามติให้ประชาชนเลือกฉบับใดฉบับหนึ่ง เป็นฉบับที่ใช้ในการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยต่อไป คิดว่าอย่างนี้แหละถึงจะสิ้นสุด ทำให้รัฐธรรมนูญเกิดฉันทามติหรือยอมรับร่วมกันในสังคมว่า ฉบับที่ได้รับการลงประชามติเป็นฉบับของประชาชนอย่างแท้จริง ผมคิดว่าจะตัดวงจรการแก้แค้นอะไรต่างๆ ลงได้

มีความเห็นอย่างไรกับกรณีที่ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ออกมาบอกว่า จะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาเป็นหลักและมาเปลี่ยนแปลงบางมาตรา
คือการมองรัฐธรรมนูญ จะต้องมองในลักษณะที่มันเป็นสหสัมพันธ์ เป็นเชิงบริบท คุณจะไปแก้ไขบางส่วนไม่ได้ มันมีความเกี่ยวโยงสอดคล้องกันอยู่ รัฐธรรมนูญทั้งฉบับคุณจะแก้เพียงแค่บางส่วนนั้น ถ้ามันเป็นส่วนหนึ่งที่สอดคล้องกับบริบทเดิม อันนี้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าแก้ไขแล้วไปขัดแย้งหรือขาดความสัมพันธ์ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่กะโผลกกะเผลก. เท่าที่ผมเห็นก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่มีคุณสมบัติพอที่จะใช้ปกครองประเทศ เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมันแฝงอยู่ไว้หลายมาตราจะมาโผล่ชัดเจนที่ มาตรา 309 ก็จะเห็นว่ามันเป็นกฎหมายสูงสุดไม่ได้

ในความหมายของกฎหมายสูงสุด ในหลักการนั้นต้องเป็นเช่นใดบ้าง
คือต้องเริ่มจากการดำเนินการที่ถูกต้องก่อน หลักการที่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตยก็คือมีเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพของพลเมือง เสรีภาพทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ อันนี้เป็นที่ตั้ง กลไกต่างๆ ต้องมาตอบสนองต่อเสรีภาพแบบนี้ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ แต่ผมมามองรัฐธรรมนูญปี 2550 คุณจะเห็นว่าการพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าจะเอามาจากฉบับปี 2540 ก็ตามนี้ ในมาตราที่ 40 กว่าๆ ยังมีเขียนว่าทั้งนี้แล้วแต่กฎหมายกำหนด อยู่ในการใช้สิทธิในการถอดถอนหรืออะไรก็ตามแต่ ยังมีอยู่หลายอันที่มันถูกซ้อนเอาไว้

ดังนั้น จริงๆ แล้วก็คือ สิทธิเสรีภาพที่บอกว่ามาจาก ปี 2540 มันยังมีบางอย่างที่มันติดๆ ขัดๆ อยู่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอำนาจฝ่ายบริหาร ไม่ให้เขามีอำนาจมากพอในการบริหารหรือในการปกครอง อันนี้เป็นกลไกที่ทำให้เขาเป็นง่อย ทำยังไงที่เราจะต้องออกแบบรัฐธรรมนูญขึ้นมาฉบับหนึ่งที่ให้ฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติมันคานอำนาจซึ่งกันและกันให้เกิดดุลภาพ พร้อมกันนั้นต้องส่งเสริมเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน

ในส่วนของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีหลักการอย่างไร
จะต้องยึดหลักของมันคือว่า ในหลักของกระบวนการ ผมอยากให้ใช้กระบวนการประชาพิจารณ์แบบปี 2540 และตามด้วยการลงประชามติ ในส่วนของเนื้อหาหลักการใหญ่ๆ ก็คือว่า เราต้องร่างรัฐธรรมนูญที่เท่าทันสังคมโลกก็คือโลกาภิวัตน์ เราจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบนี้อย่างไร ในขณะเดียวกันควรให้ความสำคัญในการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างไร เราต้องปฏิบัติ. จริงๆ ก็คือว่า มองบริบทสังคมโลกผ่านมุมมองโลกาภิวัฒน์ อันนี้คือสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญต่อไปในอนาคตแน่ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีกลไกอย่างไร ในการที่จะตอบสนองต่อบริบทของสังคมโลก และในทางปฏิบัติในสังคมไทยเราจะทำมันอย่างไร เพื่อที่จะให้ประชาชนทั้งหลายอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสังคมโลกนี้

โลกปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ความทันสมัย ความเท่าทันของกฎหมายสูงสุดของประเทศต้องมีความละเอียดมากด้วยใช่หรือไม่
ผมเห็นด้วยนะ ในบริบทสังคมโลกนั้น เราจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันเราอยู่ใต้โลกาภิวัตน์จากข้างบนไม่ใช่โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะตอบสนองอย่างไรกับประชาธิปไตยหรือโลกาภิวัตน์จากข้างล่างด้วย กล่าวให้เห็นชัดเจนคือว่า โลกาภิวัตน์นี้มันมีโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่อยู่ภายใต้การนำของอเมริกา ยุโรป และกลุ่มประเทศจี8 ดังนั้น ทำอย่างไรที่เราจะต้องสามารถตอบโต้โลกาภิวัตน์จากข้างบนเหล่านี้ได้ มิใช่เดินตามโลกาภิวัฒน์จากข้างบนแบบเชื่องๆ คือเราต้องมองสิ่งเหล่านี้แบบที่จะสามารถตอบสนองหรือตอบโต้มันได้อย่างเท่าทัน แล้วทำให้ประชาชนของเราส่วนใหญ่อยู่รอด

กระบวนการที่ชัดเจนในการร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นอย่างไร
ผมเสนอว่ามันต้องมี สสร.(สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) สมัยปี 2540 ได้มาจากการที่คุณถูกเลือกจากองค์กรของคุณก็ได้ เช่น คุณเป็นองค์กรเกี่ยวกับแรงงาน กลุ่มอาชีพต่างๆ เป็นต้น แต่สำหรับฉบับใหม่นี้คือว่า ถ้าคุณสนใจจะร่างรัฐธรรมนูญคุณสมัครเองก็ได้ เข้ามาแล้วก็หลังจากนั้นก็ต้องมีการจัดสรร หรือว่ามีการเลือกสรรกันอีกทีว่าใครจะเป็นตัวแทน สสร. บทบาทมันต่างกันตรงนี้ ก็คือ

อย่างแรก ตัวแทนที่เป็น สสร.นี้จะทำงานในฝ่ายที่เป็นการค้นคว้าในรัฐธรรมนูญทั่วโลกว่าเป็นอย่างไร อันที่สอง ก็คือว่า สสร.จะต้องติดตามสถานการณ์โลก อันที่สาม ก็คือว่า สสร.ที่ทำหน้าที่ประชาพิจารณ์ คุณต้องลงพื้นที่ทั่วประเทศ เรามี 76 จังหวัด คุณต้องลงพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด ทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องนำมาประกอบกัน แล้วถูกร่างโดยนักกฎหมายมหาชน ร่างขึ้นมาเป็นมาตรา หลังจากนั้นก็ทำการลงประชามติ อันนี้ก็คือกลไกหรือเทคนิคทั้งหมดที่ผมเสนอ

อาจารย์ช่วยอธิบายถึงกลุ่มตัวแทนหรือผู้สนใจที่จะสมัครเป็น สสร. แบบนี้ด้วย?
อันนี้คือตัวแทนที่แท้จริงนะครับ ทุกวันนี้ที่เราไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง เราหย่อนบัตรเพราะว่านโยบายของพรรคการเมืองบางพรรค พูดง่ายๆ ก็คือ นโยบายแบบประชานิยม มันขายได้ เราซื้อก็คือบัตรเลือกตั้ง เราไม่ได้ใช้ธนบัตรซื้อ เราซื้อก็โดยไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง วันเดียวจบ หลังจากนั้นเราก็ถอนตัวออกมาจากเรื่องของการบริหาร เพราะเรามีตัวแทนแล้ว ซึ่งผมมองคนละด้าน อันนี้เป็นกลไกหรือวิธีการทางการเมือง ซึ่งมีผู้แทนซึ่งเป็นกลไกประชาธิปไตยแบบเก่า โลกใบเก่าคือการที่มีประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน ปัจจุบันโลกใบใหม่คือการมีประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยทางตรงมันเริ่มตั้งแต่วิธีการที่ผมเสนอ คือการคัดสรร สสร.เพื่อที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมาจากกลไกที่เป็นตัวแทนอย่างแท้จริง

นายสมัคร สุนทรเวช บอกว่า เราเป็นตัวแทนของประชาชน ทำไมเราจะร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ผมถามว่าพรรคพลังประชาชนใครเป็นตัวแทนกลุ่มผู้หญิง ใครเป็นตัวแทนแรงงาน ใครเป็นตัวแทนกลุ่มคนจนในภาคอีสาน ผมถามสิว่าในพรรคพลังประชาชนใครเป็นตัวแทนของกลุ่มดังกล่าวที่ผมกล่าวไป ปรากฏว่าคุณจะหาไม่พบ แล้วคุณบอกว่าเป็นผู้แทนของปวงชนมันเป็นการพูดแบบนามธรรม ทุกพรรคการเมืองก็พูดแบบนี้

ประชาชนถ้าเปรียบให้เป็นอุปมาอุปมัยก็เป็นเหมือนสระน้ำขนาดใหญ่ คุณจะพูดถึงประชาชน โดยการรปาก้อนหินลงสระน้ำยังไงมันก็ลงที่สระน้ำอยู่ดี แต่ไม่ใช่ ผมถามเลยว่าใครเป็นตัวแทนกลุ่มเกย์ในพรรคพลังประชาชน คนไหนบอกผมมาเลย ชื่ออะไร หรือผู้แทนสวนยางแบบนี้คือคนไหน ที่ดูแลสวนยางมาโดยตลอด ไม่มีครับ ในสังคมไทยไม่มีแบบนั้น ไม่มีการต่อสู้เพื่อประชาชนมาในระยะยาว...ไม่มีครับ เราเลือกตั้งทุกครั้ง เราเลือกตั้งผ่านนโยบาย เราไม่เคยมีตัวแทนแบบนี้ครับ

ช่วยอธิบายความหมาย 'ประชาธิปไตยโดยตรง' ในการที่ตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ เข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญในกระแสโลกาภิวัตน์เช่นนี้เป็นอย่างไร
ประชาธิปไตยโดยตรงมีเงื่อนไขอยู่ 3 ประการ ถ้าคุณไม่ทำตามเงื่อนไขนี้จะไม่เป็นประชาธิปไตยทางตรง คือ 1.คุณจะต้องมีพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ได้อย่างอิสระ 2. จะต้องมีการปรึกษาหารือ คือหมายความว่ามีการพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนอะไรก็ตามแต่ 3. ต้องมีฉันทามติ ก็คือต้องมีการเลือกในสิ่งที่เป็นผลมาจากข้อ 2 เพื่อให้เกิดเป็นฉันทามติ ถ้าไม่มีข้อที่ 3 คุณจะไม่มีคำตอบ

ข้อเสนอของอาจารย์น่าจะทำให้เกิดการสร้างรากฐานประชาธิปไตยที่ดี แต่การกระทำสิ่งใดสิ่งนั้นก็ต้องใช้งบประมาณ แล้วจะทำอย่างไรให้เป็นจริง
ก็คือจะต้องผ่านงบประมาณ รัฐบาลจะต้องให้เงินจำนวนหนึ่งให้เกิดกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ที่จะทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับคู่ขนานฉบับนี้ มันไม่มีหนทางอื่นในขณะนี้ในเรื่องของงบประมาณ. คือผมตอบคำถามนี้ทันทีไม่ได้ว่ามีงบทางใดที่ผมมองเห็น ก็คือ ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาลซึ่งได้มาจากภาษีประชาชน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนานขึ้นมา แล้วเราก็ใช้ส่วนนี้ให้คุ้มค่า โดยให้ สสร.ที่ทำหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่ายนี้ทำหน้าที่ให้ถึงที่สุด

ในเรื่องระยะเวลานั้น ถ้าคุณลงพื้นที่ทั้งหมดเพื่อไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชนต้องใช้เวลา และนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาร่างเป็นรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา ผมคิดว่าไม่น่าจะเกินปีครึ่ง หลังจากนั้นก็เอามาเปรียบเทียบกับฉบับที่มาจากรัฐสภาแล้วนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะ อาจจะมีการถกเถียงกันเล็กน้อย แล้วทำการลงประชามติเลยว่าเลือกฉบับใด นี้คือข้อยุติของการแก้ไขปัญหา เพื่อในอนาคตจะได้ไม่ต้องมานั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญกันใหม่ ทับกันไปทับกันมา

เราจะทำอย่างไรให้แนวคิดแบบนี้กระจายออกไปสู่สังคมภายนอก ?
ผมคิดว่าสื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเสนอข่าวสารอย่างเช่น สถานีวิทยุ FM.100 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนได้ขึ้นมาพูด สื่อชนิดอื่นๆ ทั้งกระแสหลักและกระแสรอง หรือแม้แต่ประชาไทเองนี้ ที่คนส่วนมากเริ่มให้ความสนใจ ก็เปิดพื้นที่เสนอความคิดเห็นแบบนี้ให้กว้างขวางออกไป พลังต่างๆ ของสื่อเหล่านี้ก็คือพลังที่จะช่วยผลักดันให้แนวความคิดของกลุ่มอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้ ผมหวังว่าสื่อจะทำหน้าที่เป็นลำโพงให้กับเราในอนาคต

2. สัมภาษณ์ 'ชำนาญ จันทร์เรือง' ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ความนำ

'ชำนาญ จันทร์เรือง' นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ให้สัมภาษณ์ในรายการ "มองคนละมุม" สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ว่า 'การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อใคร โดยย้ำว่า เห็นด้วยที่มีการริเริ่มที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ตั้งแต่ต้น เนื่องจากมีที่มาจากการรัฐประหาร ไม่มีความชอบธรรม เป็นการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยวิธีการมักง่าย ด้วยการใช้กำลังและล้มล้างประชาธิปไตย แต่ว่าประเด็นที่นักการเมืองยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อส่วนรวมเลย

มองความเหมาะสมของนักการเมืองที่มีความพยายามต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในขณะนี้อย่างไรบ้าง ?
ผมอยู่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่ต้น ซึ่งที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความชอบธรรม เพราะจากการรัฐประหาร เป็นการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยวิธีการมักง่าย ด้วยการใช้กำลังและล้มล้างประชาธิปไตย อีกทั้งที่มาของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ชอบธรรม และโดยเนื้อหาต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เห็นได้ชัดว่ามีเจตนาทำลายความเข้มแข็งของภาคประชาชน ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เขาเชื่อว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยแบบไทยๆ นี้จะต้องมีผู้นำโดยชนชั้นนำ ชนชั้นมันสมองหรืออะไรก็แล้วแต่ โดยไม่เชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคนที่มีอะไรที่เหมือนๆ กัน นี่เป็นหลักการในการแสดงความไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก

แต่เมื่อมีการประกาศใช้แล้วนั้น เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่ ก็ขอตอบเลยว่าเห็นด้วยแน่นอน ซึ่งจะต้องมีกระบวนการแก้ไขต่อไป สังคมไทยเป็นสังคมนิติรัฐ เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว เราก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแก้ไข ซึ่งเราไม่มักง่ายด้วยการใช้วิธีล้มกระดาน แล้วร่างขึ้นมาใหม่ โดยมีช่องทางตามมาตรา 291 ว่าจะแก้ไขอย่างไร. ประสบการณ์ในอดีตเราก็มีมาแล้วเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2534 ที่มีการแก้ไขทั้งฉบับจนเกิดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 โดยผ่านการประมวลความคิดเห็น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดของประเทศไทยเท่าที่เคยมีมา เมื่อเทียบกับฉบับอื่นๆ แต่ก็มีข้อเสียบ้าง บางอย่างอาจจะไม่มีการควบคุมตรวจสอบที่รัดกุมเพียงพอซึ่งทำการแก้ไขได้ ควรมีการสอบถามประชาชนว่าต้องการแก้ไขในส่วนไหนบ้าง

ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้น เห็นว่าสมควรจะแก้ประเด็นต่างๆ ซึ่งไม่มีข้อยุติได้ง่ายเท่าไหร่ แต่แน่นอนว่าในสังคมประชาธิปไตยก็ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนทั้งหมด ไม่ว่าในระดับชนชั้นไหน เขามีความต้องการอย่างไร และมีความเหมาะสมกับประเทศอย่างไรบ้าง เปรียบเสมือนการตัดเสื้อผ้าหรือรองเท้า ซึ่งก็ต้องมีการวัดตัววัดร่างกาย ที่ผ่านมาเราไม่ได้กระทำแบบนั้น แต่กลับกลายเป็นการตัดเสื้อผ้าหรือรองเท้าก่อนที่จะให้คนได้สวมใส่

รัฐธรรมนูญ 2550 เราสามารถใช้วิธีการเดียวกับที่มาของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยอาศัยมาตรา 291 ซึ่งสามารถออกรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ ซึ่งไม่ควรมีการเร่งรีบที่จะทำให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้อย่างรวดเร็ว อย่างที่ฝ่ายการเมืองที่กระทำอยู่ในปัจจุบันนั้นก็คือ การแก้ประเด็นเรื่องยุบพรรค และประเด็นต่างๆ ซึ่งผมมองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ผมเห็นด้วยที่มีการริเริ่มที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นที่นักการเมืองยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อส่วนรวมเลย

อย่างมาตรา 309 นั้น ถือว่าเป็นมาตราที่อัปลักษณ์ที่สุด ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่รองรับการกระทำของคณะรัฐประหารตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับ พ.ศ.2549 ทั้งหมดโดยมีรายละเอียด คือ บัญญัติว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ก็ไปรับรองฉบับชั่วคราวปี พ.ศ.2549 อีก ซึ่งหมายความว่า ฉบับ ปี 2550 ทั้งฉบับเป็นการรองรับการกระทำที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ซึ่งไม่ถูกต้องด้วยหลักนิติรัฐใดๆ ทั้งปวง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา มีการแถลงข่าวว่า ม.309 จะไม่มีการแตะต้องแล้ว แต่จะไปเพิ่มข้อความว่าจะต้องเป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งผมคิดว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะถึงอย่างไรก็ชอบด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรมอยู่แล้ว แล้วใครจะเป็นคนตีความว่าชอบธรรมหรือไม่ชอบ หลักที่ว่านี้มันไม่มีประโยชน์. แต่บางคนก็มีความกังวลว่า ถ้าเลิกมาตรานี้ไปแล้วจะทำให้ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ) หรือองค์กรอื่นๆ หายไป ซึ่งอันนี้ไม่จริงหรอกครับ ก็ว่ากันไป เพราะสมัยเกิดองค์กรเหล่านี้นั้นเกิดเมื่อ พ.ศ. 2549 ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549 ก็รับรองอยู่ รวมถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วย เพียงแต่ว่าถ้ายังมีมาตรา309 อยู่นั้น เมื่อคดีไปถึงศาลแล้ว เมื่อเห็นว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็จะไปตัดสินอะไรอีก แต่ถ้าไม่มีตัวนี้แล้ว ประชาชนที่ถูกลิดลอนสิทธิหรืออะไรก็ตามแต่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถยกเป็นคดีขึ้นต่อสู้ในศาลได้ ซึ่งจะแพ้หรือชนะก็อีกเรื่องหนึ่ง

มองในแง่สังคมนิติรัฐ ถ้ายังมีมาตรา 309 อยู่ สังคมจะเป็นอย่างไร ?
คือสังคมนิติรัฐ เป็นสังคมที่ปกครองด้วยกฎหมาย หลักนิติรัฐคือ การกระทำของฝ่ายบริหารต้องชอบด้วยกฎหมาย และกฎหมายที่ออกมาต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และการวินิจฉัยว่าการกระทำใดชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติ จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ. อย่างมาตรา 28 นี้ที่บอกไว้ว่า บุคคลย่อมใช้สิทธิของศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติโดยตรง สามารถใช้สิทธิของศาลได้ คือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าเราถูกลิดลอนสิทธิ หรือถูกละเมิดสิทธิ เราสามารถใช้สิทธิของศาลได้ แต่อันนี้ (ม.309) มันปิดทางไปหมด ในเมื่อชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญก็จะไม่ใช้สิทธิของศาลอะไรได้อีก

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือว่า อย่างกรณีคาร์บ๊องค์ ว่านี้เป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องจากการทำรัฐประหาร ถ้าอ้างแบบนี้กฎหมายก็ไม่สามารถเอาผิดผู้ที่ก่อการได้เลย เพราะมีมาตรา 309 รองรับไว้อยู่ เพื่ออ้างที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการก่อรัฐประหาร ซึ่งนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ทำให้เห็นชัดเจนขึ้นเท่านั้น

ในแง่ของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของนักวิชาการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะทำอย่างไรกันต่อไป
ในส่วนของนักวิชาการนั้น ผมไม่สามารถพูดแทนได้ทั้งหมด เพราะนักวิชาการก็มีหลายแนวความคิด ทั้งรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชน ซึ่งอยู่กึ่งๆ ระหว่างนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ คือเป็นทั้ง 2 อย่าง เพราะเกี่ยวกับการจัดระเบียบโครงสร้างของรัฐในเรื่องการเมืองการปกครอง แนวความคิดก็หลากหลาย นักวิชาการก็เช่นเดียวกันกับประชาชนทั่วไปที่มีแนวความคิดที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ละพื้นฐานที่มา บางคนก็มีความเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือทุนนิยม ซึ่งก็แล้วแต่ความคิดเห็นของแต่ละบุคคล

เมื่อวันที่ 3 เม.ย.51 ที่ผ่านมา ก็มีการออกมาแถลงของอาจารย์คณะนิติศาสตร์จากหลายสถาบัน ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยบ้างในบางประเด็น และเห็นต่างบ้างในบางประเด็นก็เป็นอิสระของแต่ละบุคคล อย่างประเด็นที่ไม่เห็นด้วยนั้นคือ ส่วนใหญ่ของนักวิชาการที่แถลงนั้นก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 237 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องยุบพรรค แต่ว่าเขาเห็นด้วยกับมาตรา 309. แต่นักการเมืองเขาเห็นด้วยกับการแก้ไขทั้ง 2 มาตรา ทั้ง 309 และ 237. ในความคิดเห็นส่วนตัวเรื่องการแก้ไข ม.237 กรณียุบพรรคในฐานะที่สอนทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์นั้น ผมคิดว่าพรรคการเมืองนั้นเป็นตัวแทนของแนวคิดของประชาชน เป็นสถาบันของการเมืองที่ต้องการพัฒนาการ เราต้องแยกให้เห็นชัดว่าความคิดที่ตัวบุคคลกระทำ หรือพรรคกระทำนั้น ต้องแยกออกจากกัน ไม่ใช่ว่าเมื่อคนหนึ่งทำผิดแล้ว อีกหลายๆ คนไม่รู้เรื่องด้วยก็ต้องรับผิดชอบร่วมด้วยนั้น มันไม่ใช่เป็นลักษณะตัวตายตัวแทนที่ต้องล้มไปทั้งพรรค เพราะพรรคการเมืองจะต้องเป็นวิวัฒนาการที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของประชาธิปไตย

ยกตัวอย่าง คดีวอเตอร์เกต คดีวอเตอร์เกตเริ่มต้นขึ้น เมื่อตำรวจจับคนร้ายจำนวนหนึ่งที่พยายามบุกเข้าไปในโรงแรมวอเตอร์เกต ในกรุงวอชิงตัน อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมแครต ซึ่งต่อมาพวกเขาพบว่า บรรดาคนที่ถูกจับเหล่านี้ต่างทำงานให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ จากการสอบสวนพบว่า ในสมุดโน้ตของแม็คคอร์ด หนึ่งในคนร้าย มีหมายเลขโทรศัพท์ของโฮเวิร์ด ฮันต์ อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนหนึ่ง ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่า คดีนี้น่าจะมีเงื่อนงำทางการเมือง นอกจากนี้แม็ค คอร์ดยังสารภาพกับศาลด้วยว่า เขาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอปลดเกษียณ ด้วยการขุดคุ้ยเจาะข่าวของสื่อมวลชน ทำให้มีการเปิดโปงสาวลึกเข้าไปเรื่อยๆ จนมีการระบุว่า ทำเนียบขาวของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้นำสหรัฐฯ และหัวหน้าพรรครีพับลิกันในขณะนั้น เป็นผู้สั่งการให้บุคคลเหล่านี้แอบเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ดักฟังในสำนักงานพรรคฝ่ายตรงข้าม เมื่อเรื่องราวฉาวๆ แดงขึ้นมา จนรู้ตัวผู้บงการ ประธานาธิบดีนิกสันจึงยอมประกาศลาออกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ในช่วงค่ำของวันที่ 8 สิงหาคม 1974 ก่อนที่รัฐสภาอเมริกันจะถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งนี่ถือว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรง แต่ก็ไม่มีการยุบพรรค ซึ่งเราก็เช่นเดียวกันซึ่งจะหาความต่อเนื่องไม่ได้

จริงอยู่ อาจมีคนบอกว่า 'ใช่สิ เพราะประเทศเขาเจริญแล้ว แต่บ้านเราคนโกงมีเยอะ ผมเห็นว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน เราพูดกันตรงๆ ว่าไม่มีวงการไหนที่มีคนดี 100% ผมก็ไม่เชื่อ ซึ่งเรื่องของระบบก็เป็นเรื่องของระบบ จะไปเหมารวมกันนั้นไม่ได้ การจะลงโทษคนผิด จะลงโทษรุนแรงขนาดไหนก็ว่ากันไป ขอให้สภาพบังคับใช้กฎหมายให้มันได้ผลจะดีกว่าการโละกระดานใหม่ ต้องแยกระหว่างเรื่องของบุคคลกับพรรค นักการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งจะต้องพิจารณากันให้ดี การยุบพรรคจะทำให้วิวัฒนาการทางการเมืองล้าหลัง

ผมมองว่าทุกพรรคก็มีคนไม่ดีไปอยู่ ไม่มีพรรคไหนดีไปทั้งหมด ผมใช้คำว่ามีความพยายามขจัดคู่แข่งทางการเมือง กำจัดคู่แข่งที่มีแนวความคิดไม่ตรงกับตนเอง กำจัดขั้วอำนาจฝ่ายตรงข้าม ระหว่างผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาทุนนิยมกับศรัทธาเลื่อมใสในระบบอำมาตยาธิปไตย ที่จะต้องมีผู้นำจากชนชั้นนำ ซึ่งมีการแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอด. ผลของการปฏิวัติ ตลอดเวลา 1 ปี กับ 6 เดือน ที่ผ่านมา ผลที่ได้ก็อย่างที่เราเห็น มันเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจกัน และกำจัดฝ่ายที่มีความคิดเห็นกันคนละข้าง ซึ่งผมก็ไม่ได้ยอมรับว่าฝ่ายที่ถูกกำจัดออกไปนั้นเป็นฝ่ายที่ดี ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการที่เขาอาศัยช่องทางในการเอาเปรียบฉ้อฉลเชิงนโยบาย อีกฝ่ายก็เช่นเดียวกันที่ใช้วิธีการมักง่าย ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มาจากภาษีอากรมาล้มกระดาน. การที่จะเป็นคนดีหรือไม่ดีนั้น ถ้าเราดูแบบผ่านๆ อาจจะเป็นคนดี แต่ถ้าเขามีโอกาสอยู่ในสภาวะหรือตำแหน่งที่เสี่ยงต่อความอ่อนไหวในการที่จะทุจริต ถ้าเขายังเป็นคนดีได้ เขาถึงจะเรียกว่าดีจริง แต่คนที่ด่าเขาอยู่ปาวๆ ว่าทุจริตนั้น ถ้าตัวเองเข้ามามีโอกาส ตัวเองจะทำหรือไม่ อันนี้ก็ต้องดูอีกที

กระแสการแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายการเมืองทุกวันนี้ ยังเป็นการแย่งชิงอำนาจของทั้ง 2 ฝ่ายอยู่หรือไม่
ถูกต้องครับ ตอนนี้เขาพยายามจะออกมาแก้ไข พูดง่ายๆว่า 'วัวสันหลังหวะ' ก็แล้วกัน กลัวกลไกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะทำร้ายเขา เช่น กรณียุบพรรค การเซ็นสัญญากับต่างประเทศ ซึ่งทุกที่ในโลกเขาก็ต้องมีการแถลงต่อรัฐสภาถึงรายละเอียดที่จะเซ็นสัญญาต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้เป็นการแก้ไขเพื่อตนเองอย่างชัดเจน ไม่ได้กระทำเพื่อส่วนรวมเลย

แล้วประชาชนควรจะกระทำอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ?
ประชาชนต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ไม่ควรนิ่งเฉยเพราะว่าสิทธิของประชาชนหรือสิทธิตามรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมาตั้งแต่กำเนิด อย่าให้ใครมากล่าวอ้างว่าทำสิ่งนี้เพื่อประชาชน แล้วไปอ้างเหตุผลให้เข้ากับฝ่ายตัวเอง อย่างเช่น มีการถามว่าต้องมีการทำประชาพิจารณ์หรือไม่ เขาบอกว่า "ไม่ต้องแล้ว พวกผมมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนเลือกผมมาแล้วไม่ต้องถามแล้ว" ซึ่งไม่ถูกต้อง มันคนละเรื่องกัน

การทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญก็เช่นเดียวกัน ที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมาแล้วห้ามแก้ไข เราก็รู้ๆ กันว่า บางคนอาจจะไม่ได้อ่านรายละเอียดในรัฐธรรมนูญเล่มสีเหลืองด้วยซ้ำ โดยเขาอยากเพียงแค่ให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็วเท่านั้น เพราะหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็จะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ไม่ทราบมาประกาศใช้เพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง, ฝ่ายที่ออกเสียงรับร่างฯ เขากลัวในจุดนั้น ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาธิปไตยบางคนก็ไม่สนใจ

ในส่วนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ควรจะเป็นไปทิศทางไหน ?
ควรจะมีการแก้ไขทั้งฉบับ แต่จะนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นฐาน หรือนำมาเป็นแนวที่เริ่มวิธีการที่มาที่ไปเท่านั้นเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็มีจุดอ่อนอยู่เยอะ แต่ถ้าเทียบกับฉบับปี 2550 แล้ว ฉบับปี 2540 นั้นดีกว่ามาก แต่จะให้กลับไปใช้ฉบับปี 2540 ทั้งหมดผมก็ไม่เห็นด้วย เอาเฉพาะแนวทางซึ่งถ้าไหนๆ ก็จะแก้ไขแล้วก็ควรแก้ไขทั้งฉบับไปเลย ให้สอดคล้องกัน เพราะบางมาตราก็มีการขัดแย้งกันเอง อย่างเช่น มาตรา 82 และ 83 ที่อีกมาตราหนึ่งบอกว่าใช้เศรษฐกิจพอเพียง อีกมาตราหนึ่งบอกว่าใช้เศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งผมก็ไม่รู้เจตนาว่าเขียนเพื่ออะไร เพราะเขียนติดกันทั้ง 2 มาตรา ก็ยังขัดแย้งกันเอง

กฎหมายมี 2 อย่าง คือ กฎหมายที่เป็นไปตามธรรมชาติและกฎหมายที่มนุษย์เป็นคนกำหนดขึ้น เช่น เรื่องการพนันหรืออะไรก็แล้วแต่นั้น บางที่ก็บอกว่าเป็นความผิด บางที่ก็บอกว่าไม่ผิด แต่การฆ่าคนตาย ถือว่ายังไงก็ต้องผิด รัฐธรรมนูญก็เช่นกัน ในส่วนที่เราจะบัญญัติขึ้นว่าสิ่งไหนจะถูกหรือไม่ถูก ก็อยู่ที่ความต้องการหรือพื้นฐานของสังคมว่าต้องการอะไร

3. วรเจตน์ หนุนแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ชี้หากยึดแค่"เอา"หรือ"ไม่เอาทักษิณ"ก็ได้แค่กฎหมายพิกลพิการ

ความนำ
รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์นายจอม เพชรประดับ ในรายการ "ถามจริง ตอบตรง" ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เกี่ยวประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อ 7 เม.ย.51 ที่ผ่านมา โดยอาจารย์วรเจตน์เสนอแก้ไข รัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ และทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ประชาชนได้มีส่วนร่วม ชี้หากแก้รัฐธรรมนูญด้วยสมมติฐาน 'เอา' หรือ 'ไม่เอา' ทักษิณ ก็ได้แค่กฎหมายที่มีกลไกพิกลพิการ สังคมไม่ไปไหน

ทั้งนี้ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็น 1 ใน 5 อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ประกาศสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่ผ่านมาได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านบทบาทของตุลาการภิวัฒน์ ในช่วงวิกฤตการเมืองปี 2549 ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญที่ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะ ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษ กกต.ชุด พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ และถือเป็นหัวหอกสำคัญของกลุ่มที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในช่วงการลงประชามติ จากการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ รศ.ดร.วรเจตน์ เว็บไซต์'ผู้จัดการ'รายงานบทสัมภาษณ์โดยพาดหัวว่า 'ธาตุแท้"วรเจตน์" ป้อง"ระบอบแม้ว"สุดตัว ขวางพันธมิตรฯ ยื่นถอดถอน ส.ส.'

หนุนแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
นายวรเจตน์กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ การดีเบตร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติในวันที่ 19 ส.ค. 50 ฝ่ายคัดค้านมองว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้างและหลักการหลายเรื่อง ใช้ไปนานจะมีปัญหาต่อบ้านเมืองในระยะยาว. ประเด็นในขณะนี้ประการที่หนึ่ง จะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ, ประการที่สอง หากจะมีการแก้ไข จะแก้บางมาตราหรือแก้ทั้งฉบับ. แต่ขณะนี้ก็มีเสียงคัดค้านว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่งประกาศใช้มา เพราะฉะนั้นอย่าแก้ ให้ใช้บังคับไปก่อน เพราะฉะนั้นการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะมีต่อไป

แต่ผมคิดว่าเสียงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะดังกว่า ปัญหาคงอยู่ที่จะแก้บางมาตราหรือแก้ทั้งฉบับ ซึ่งผมเห็นว่าควรจะแก้ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญนี้มีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ไขเฉพาะบางมาตรา จะไม่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และปัญหาบางอย่างอาจจะไปปะทุขึ้นเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเรื่อยๆ อีกประเด็นคือหากการแก้เฉพาะบางมาตรา อาจจะมองได้ว่าเป็นการแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง การแก้ทั้งฉบับจะเป็นการนำประเทศออกจากวิกฤติรัฐธรรมนูญ

สำหรับระยะเวลาในการแก้ไขนั้น เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ความจริงตั้งแต่การเลือกตั้งเลย เราเห็นความแปลกประหลาดและความผิดปกติของระบบเลือกตั้ง ประชาชนหลายคนคงข้องใจว่า ทำไมเวลามีการเลือกตั้ง จังหวัดของเขาไปรวมกับจังหวัดอื่น การเลือกตั้ง ส.ว. ทำไมจังหวัดใหญ่ จังหวัดเล็กถึงมี ส.ว. ได้คนเดียวเหมือนกัน นี่คงเป็นปัญหาที่มีมาอยู่แล้ว ตามมาด้วยปัญหาการยุบพรรค ซึ่งมีผลกระทบประเทศเราด้วย หากรอช้าต่อไป ยิ่งช้าไปเท่าไหร่ ความเสียหายก็จะยิ่งมากขึ้น

เวลาที่เราพูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ แน่นอนมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นรูปธรรมโดยตรง เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่จะมีปัญหาในระยะยาว คือปัญหาพวกนี้เราจะมองไม่เห็น เราจะเห็นก็ต่อเมื่อมันเป็นกลายเป็นปัญหาความมั่นคงทางการเมือง และจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ กระทบต่อปากท้องในที่สุด เมื่อถึงตรงนี้นายจอมถามว่า จึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ นายวรเจตน์กล่าวว่า "ถูกต้องครับ"

หากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องแก้ 'กระบวนการ' แก้
นายวรเจตน์กล่าวต่อว่า การแก้รัฐธรรมนูญถ้าแก้ทั้งฉบับ ต้องแก้ที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกระบุไว้ใน ม.291 ซึ่งระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำอย่างไรบ้าง และเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา แต่ความมุ่งหมายนั้นคงเป็นเพียงการแก้บางมาตรา แต่ถ้าจะแก้ทั้งฉบับเราต้องย้อนกลับไปเหมือนกับที่เรามีประสบการณ์ก่อนปี 2540 นั่นคือ ต้องมีการตั้งองค์กรขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วก็เอาทุกภาคส่วนเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายจอมถามว่า คิดอย่างไรที่นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เสนอว่าให้เอาญัตติในสภาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวรเจตน์ตอบว่า ผมไม่แน่ใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการแก้บางส่วนหรือทั้งฉบับ แต่เห็นว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญบางส่วนในพรรคประชาธิปัตย์คงไม่เห็นด้วย แต่ถ้าแก้ทั้งฉบับน่าจะเห็นด้วย ผมจำได้ว่าตอนที่ดีเบตเรื่องนี้กันที่เชียงใหม่ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางท่านก็บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีปัญหาอยู่ แต่อยากให้มันผ่านประชามติไปก่อนแล้วค่อยไปแก้

ความเข้าใจของผมคือ ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีการจัดตั้งองค์กรที่ยกร่างกันขึ้นมาใหม่ แล้วก็มีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย น่าจะไม่มีใครคัดค้าน โดยนายวรเจตน์คาดว่า หากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างต่ำคงใช้เวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี. นายจอมถามว่าหากใช้เวลาแก้รัฐธรรมนูญนานจะมีปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ นายวรเจตน์ตอบว่า "เสถียรภาพของรัฐบาลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่ง แต่อย่างที่บอกถ้ารัฐธรรมนูญมีปัญหาแล้วใช้วิธีแก้แบบ 'ปะชุน' บางมาตรา มันก็ไม่แก้ปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนมาร่วมกันทำขึ้นมาใหม่ แล้วก็ให้มีกระบวนการที่มีความชอบธรรมกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 คิดว่าในที่สุดน่าจะดีกว่า"

แก้ ม.237 ทำตามหลักการ เพื่อให้คนผิดรับผิดไม่เกี่ยวกับคนไม่ทำผิด
ต่อคำถามว่า หากรัฐบาลคิดจะแก้เพียง ม.237 มาตราเดียว อาจถูกมองได้ว่าแก้เพื่อให้พรรคการเมืองของตัวเองพ้นผิดหรือไม่ ดร.วรเจตน์กล่าวว่า หากแก้เพียงมาตรานี้มาตราเดียวก็คงมองได้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหากับบทบัญญัติใน ม.237 เป็นการแก้เพื่อให้ตัวเองพ้นผิดไป แล้วตอนนี้หลายส่วนในสังคมก็พูดแบบนี้ นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็อธิบายแบบนี้ แต่ผมอยากให้เราดูปัญหาในระดับหลักการมากกว่าดูว่าบทบัญญัติมาตรานี้เขียนไว้ว่าอย่างไร

ผมเห็นว่า ม.237 คงเป็นมาตราหนึ่งที่ควรแก้ไขแน่นอน เพราะหลักการมันไม่ถูกต้อง หมายความว่าหากตีความตัวบทของมาตรานี้ตามถ้อยคำก็คือ สมมติผมเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่พรรคหนึ่ง คุณจอมก็เป็นด้วยอยู่ในพรรคเดียวกัน แล้วผมไปมีปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง อาจไปกระทำการโดยไม่ชอบ ไม่ถูกต้องมา แล้วก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผลก็คือว่าถ้าตีความตามถ้อยคำใน ม.237 มันจะนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง เมื่อยุบพรรคแล้วคุณจอมก็จะถูกตัดสิทธิเลือกตั้งด้วย ทั้งที่คุณจอมไม่ได้ทำอะไรผิด

นายจอม ถามต่อว่า แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรานี้ ได้เทียบเคียงกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระดับการบริหารองค์กร ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิด ย่อมมาจากการสั่งการหรือนโยบายของผู้บริหาร หมายความว่าผู้บริหารต้องรับผิดชอบ. นายวรเจตน์ตอบว่า ผมยังไม่พบกฎหมายหรือข้อกฎหมายแบบนี้เลย ที่อ้างกันอยู่นี้มีสองเรื่องคือ กรณีที่ลูกจ้างไปกระทำละเมิดบุคคลภายนอก แล้วให้นายจ้างรับผิดแทนลูกจ้างไปก่อน กฎหมายนี้มีเพื่อคุ้มครองคนที่ได้รับความเสียหายจากลูกจ้าง คือลูกจ้างไปขับรถชนคนอื่นในทางการที่จ้าง ผู้ได้รับความเสียหายเขาอาจมาฟ้องนายจ้างได้ พอนายจ้างได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายแล้ว ก็อาจไปไล่เบี้ยกับลูกจ้างได้

แต่ไม่มีข้อกฎหมายที่บอกว่าถ้าลูกจ้างไปกระทำความผิด ลูกจ้างติดคุก นายจ้างต้องติดคุกด้วย หรือไปตัดสิทธิการประกอบอาชีพของนายจ้าง มันไม่มีข้อกฎหมายแบบนี้ แม้แต่เรื่องกฎหมายฮั้วหรือเรื่องอื่น กฎหมายก็ยอมให้คนซึ่งเกี่ยวพันพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนผิด แต่ตามรัฐธรรมนูญโดยถ้อยคำ ถ้าคุณจอมไปทำการบริหารพรรคการเมือง คุณจอมไม่มีสิทธิพิสูจน์. จริงๆ ที่มีปัญหาอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง คือกรณีพรรคชาติไทย ก็ชัดเจนว่าในทางข้อเท็จจริง กรรรมการบริหารพรรคคนอื่นไม่ได้รับรู้ด้วย นี่จึงเป็นความอึดอัดใจในข้อกฎหมายที่ว่ายุบพรรคแล้วตัดสิทธิ์คนอื่นที่เขาไม่ได้ผิด

นายจอมถามว่า ทำไมกรรมการบริหารพรรคจึงไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับลูกพรรค นายวรเจตน์ตอบว่า กฎหมายตามถ้อยคำเขียนว่า ให้ถือว่าเป็นการกระทำของพรรค เมื่อยุบพรรคแล้วให้ตัดสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเลย ถ้าตีความตามถ้อยคำ ซึ่งผมได้ออกแถลงการณ์ไปว่าการตีความรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ตีความไปตามถ้อยคำไม่ได้ ถ้อยคำเขียนลักษณะนี้จริง ถ้าจะเขียนให้มีผลในทางกฎหมายแบบนี้ ต้องไปยกเลิกหลักการหลายหลักการในรัฐธรรมนูญ เช่น ต้องเลิกหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม เลิกหลักประกันสิทธิเสรีภาพ เลิกหลักประชาธิปไตย เราจะประกาศไม่ได้ว่าเป็นรัฐชนิดนี้ เราต้องประกาศว่าเราเป็นรัฐเผด็จการและอื่นๆ ก่อน ถึงจะใช้กฎหมายมาตรานี้ได้ตามถ้อยคำ เพราะฉะนั้นผมจึงมีความเห็นว่า เรื่องดังกล่าวสามารถหาทางออกได้โดยการตีความเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่ตอนนี้มันกลายเป็นปัญหาทางการเมืองไปแล้ว แล้วไม่มีใครคิดหาทางออกทางกฎหมายแบบนี้

เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 มันก็ถูกต้องตามหลักการที่มันควรจะเป็น และผมไม่เห็นว่าจะทำให้เกิดคนที่มีส่วนได้เสีย จนแก้ไม่ได้แต่อย่างใดดังที่มีการกล่าวอ้าง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้คนผิดได้พ้นผิดไป กรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิดก็ยังต้องรับผิดต่อไป แต่คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยเขาไม่ควรรับผิด ผมยังไม่เห็นว่าการแก้ไขตรงนี้มันบกพร่องตรงไหน เหมือนที่พูดกันว่าแก้ให้พ้นผิด เพราะเขาไม่ได้ผิดอยู่แล้ว กฎหมายไม่ได้ไปแก้ว่า คนซึ่งไปซื้อเสียงแล้วถูกตัดสินว่าผิดห้ามไม่ให้เขารับผิด เขาก็ต้องรับผิดอยู่ แต่คนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยไม่ควรต้องรับผิด

ต่อข้อถามของนายจอม ที่ว่ามีนักกฎหมายออกมาระบุว่าถ้าแก้หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ ม. 237 เท่ากับทำลายระบบกฎหมายของชาติ นายวรเจตน์ตอบว่า ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญแล้วมีผลแบบนั้นจริง ผมคงเป็นคนแรกๆ คงออกมาคัดค้านเคลื่อนไหว. ถ้าคุณจอมติดตามดูอยู่ จะเห็นผมวิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่มาตรา 309 ซึ่งหนักหนาสาหัสกว่ามาตรานี้มาก อย่างที่บอกการแก้มาตรานี้ไม่ได้แก้เพื่อล้างความผิดของคนกระทำผิด ตัวสมาชิกพรรคการเมืองหรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งยังคงต้องรับผิดอยู่ ไม่ได้แก้ว่าถ้าเขาทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด แต่ทำให้ถ้อยคำที่มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนที่จะไปเอาผิดกรรมการบริหารพรรคคนอื่นที่ไม่ได้ทำผิด ก็ไม่ต้องรับผิด ซึ่งสอดคล้องกับ 'หลักทั่วไป'

ปัญหาที่พูดกันอยู่ตอนนี้คือ แล้วคนเหล่านี้มีส่วนได้เสียไหม ถ้าตีความเรื่อง 'ส่วนได้เสีย' แบบที่เข้าใจกันอยู่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้เลย มีบางคนบอกว่าให้แก้ไขเสียก่อนที่การกระทำจะเกิดขึ้น ก็ยังไม่ทันมีสภาเลยก็มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว มันจะแก้ไขได้อย่างไร ถ้าตีความกันแบบนี้ ผมเรียนว่าแม้แต่ ส.ส.จะแก้กฎหมายเรื่องพรรคการเมือง เรื่องนักการเมืองก็ทำไม่ได้ แม้แต่จะแก้กฎหมายภาษีก็ไม่ได้ เพราะตัวเองเป็นผู้เสียภาษา ดังนั้นผมจึงมองไม่ออกว่ามันจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องส่วนได้เสียอย่างไร

ม.309 ไม่มีที่ไหนในโลกเขียนแบบนี้
ส่วนกรณี ม.309 ที่มีการมองว่า หากแก้กฎหมายข้อนี้ จะเป็นการนิรโทษกรรม ให้กับกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยหรือไม่นั้น ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ม.309 เขียนไว้ว่าอย่างไร ตอนที่มีการดีเบตรัฐธรรมนูญกัน ฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญก็พูดชัดในวันที่ดีเบตว่า ม.309 รับรองการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายให้มันชอบ ผมยังถามว่าถ้าการกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วจะไปเขียนรับรองทำไม ไม่มีความจำเป็นต้องเขียน ไม่มีใครพูดถึงเรื่อง 111 คน ไม่มีใครพูดถึงเรื่อง คตส.

ที่นี้ปัญหาคือ ม.309 ในทางถ้อยคำไม่ได้มีความหมายเท่านี้ ม.309 ถ้าอ่านดูแล้วมีความหมายรับรองการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย. กฎหมายแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการรับรองการกระทำซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ซึ่งอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่บอกให้มันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่เขียนกฎหมายแบบนี้ มีแต่รัฐธรรมนูญของเราที่เขียน ซึ่งมันผิดหลัก. ประเด็นก็คือ ตอนนี้มีคนกลัวว่าหากมีการแก้ไข จะไปกระทบ 111 คน และ คตส. ผมเรียนว่าไม่กระทบ เพราะว่า 111 คน ถูกเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งยังมีผลในทางกฎหมายอยู่ จะทำลายผลตรงนี้ได้ต้องมีการตรากฎหมายขึ้นเพื่อทำลายผลของกฎหมาย อย่างที่เรียกกันว่าการนิรโทษกรรม

เลิก ม.309 ไม่กระทบ คตส. แต่เพื่อให้ คตส. ถูกตรวจสอบตามระบบ
ส่วน คตส. เกิดขึ้นจากประกาศของ คปค. ความจริงผมไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจแบบนี้ขึ้นมา แต่เขาเกิดขึ้นจากตัวประกาศของ คปค. หมายความว่า แม้เลิก ม.309 นี้ ตัวองค์กรนี้ก็จะอยู่ต่อไป เพราะได้รับการแก้ไขโดยพระราชบัญญัติตอนที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สิ่งที่ดีก็คือ ม.309 เดิมรับรองการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดพรุ่งนี้หรือเมื่อวาน ให้มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เมื่อเลิกมาตรานี้ไป กระบวนการต่างๆ ของ คตส. ที่ทำกันไป ถ้าชอบด้วยกฎหมายมันก็ใช้ได้ไม่มีปัญหา ก็ถูกต้อง มันไม่ได้ไปลบล้างหรือล้มเลิก

แต่ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเราในฐานะคนที่มโนสำนึกธรรมดาเหมือนกัน สิ่งที่ไม่ชอบก็ควรไม่ชอบ ถ้า คตส. ดำเนินกระบวนการสอบสวนโดยไม่ถูกต้อง โดยไม่ชอบ ผลการสอบสวนก็ต้องไม่ชอบ มันไม่ควรถูกรับรองเอาไว้ล่วงหน้าว่ามันชอบ. นายจอมถามต่อว่า ถ้ายกเลิกมาตรานี้ หลายคนกลัวว่า สิ่งที่ คมช. หรือประกาศ คปค. ก็เริ่มต้นกันใหม่หมด. นายวรเจตน์ตอบว่า ต้องไปดูว่าประกาศต่างๆ เหล่านั้น เมื่อมาตรวจวัดกับ'มาตรา'ในทางรัฐธรรมนูญแล้ว มันมีประกาศไหนที่ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ต้องไปดูทีละเรื่อง. กรณี คตส. เขาตั้งขึ้นมา ตัวประกาศ คปค. คตส. ยังอยู่ แต่การกระทำของ คตส. ต่างหากจะถูกตรวจสอบว่าสิ่งที่ คตส. ทำไปนั้น ชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซี่งเป็นหลักปกติ เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว กระบวนการต่างๆ ที่ทำกันไปโดยองค์กรต่างๆ ควรที่จะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

ผมเรียนว่าถ้า คมช. ทำอะไรโดยที่ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ต้องเกรงว่าจะมีปัญหา แต่กระทำการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ควรต้องมีปัญหาใช่ไหมครับ. ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญกันจริง กว่าที่รัฐธรรมนูญจะแก้ไข คตส. ก็หมดวาระไปแล้ว เขาอยู่ในวาระอีกแค่ 2 เดือน คตส.เป็นองค์กรเฉพาะกิจ แรกเริ่มเดิมที่จะตั้งขึ้นมา 1 ปี ก็จะได้ระยะเวลาพอดีกับที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งความจริงควรจะเลิกไปตั้งแต่ครบปีหนึ่งแล้ว แล้วส่งเรื่องให้ ปปช. ดำเนินการต่อไป เพราะ ปปช. เป็นองค์กรในระบบ แต่ สนช. ไปต่ออายุ คตส. จนอยู่มาทุกวันนี้ เลยทำให้ คตส. เป็นองค์กรที่มีปัญหากับระบบรัฐธรรมนูญที่มันเริ่มเดิน

ต่อข้อถามที่ว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ม.309 จะเกิดปัญหากับเอกภาพของรัฐบาลไหม นายวรเจตน์ตอบว่าเป็นไปได้ เพราะมันเป็นปัญหาที่เถียงในทางกฎหมาย บางกรณีก็ยากแก่การทำความเข้าใจของคนทั่วไป ต้องฟังผู้ที่มีเสียงดังในทางสังคมเป็นสำคัญ ว่าคนเหล่านั้นอธิบายอย่างไร ซึ่งเสียงส่วนใหญ่จะอธิบายในลักษณะตรงกันข้ามกับผม. ตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมบอกกับผู้ร่างบางท่านว่า ถ้าจะเขียนเรื่อง คตส. ก็รับรององค์กรไป รับรองให้ คตส. มีอยู่ อย่าไปรับรองการกระทำ เพราะเราไม่รู้ว่าการกระทำนั้นจะชอบหรือไม่ชอบ เราไม่ควรเขียนเช็คเปล่าให้ใคร ว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นถูกต้อง หรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ ไม่ควรเป็นแบบนี้

เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้ากังวล และเพื่อให้ระบบกฎหมายเดินไป ผมคิดว่าก็แก้ไป ยกเลิก ม.309 ถ้ากังวลเรื่อง คตส. ก็เขียนรับรอง คตส. ให้เขาอยู่จนครบวาระ แต่การกระทำของเขาต้องถูกตรวจสอบโดยเกณฑ์ทางกฎหมายว่าชอบหรือไมชอบ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ประกาศตัวไม่ได้ว่าเราเป็นนิติรัฐ

ขืนตีความ 'ส.ส.แก้ไขรัฐธรรมนูญ คือประโยชน์ทับซ้อน' จะไม่มีใครแก้กฎหมายอะไรได้
ต่อข้อถามที่ว่า กรณีที่มีกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญบอกว่า จะใช้วิธีรวบรวมรายชื่อ เพื่อถอดถอน ส.ส.ที่ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยบอกว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ (แก้ ม.237 เพื่อให้พ้นจากการยุบพรรค) เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการขัดกันซึ่งผลประโยชน์นั้น. ดร.วรเจตน์ กล่าวว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะ ม.122 พูดเรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในอาณัติมอบหมาย หรือครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยปราศจากการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ มาตรานี้เขียนรับรองสถานะของ ส.ส. และ ส.ว. เอาไว้ให้เขาทำหน้าที่อย่างอิสระ

ประเด็นคือ การที่ตีความเรื่องนี้ ต้องดูว่าการที่เขากระทำการนั้นเป็นเหตุถอดถอนหรือไม่ ถ้าเขาใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งไปในทางมิชอบก็ถอดถอนได้ แต่การแก้รัฐธรรมนูญ มันคงเอาเรื่องนี้มากล่าวอ้างไม่ได้ อย่างที่ผมบอก ถ้าตีความแบบนี้ ใครๆ ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส.ส.ฝ่ายค้าน หรือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเองก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราจะถูกมองว่ากระทำการแก้ไขเพื่อตัวทั้งสิ้น กฎหมายพรรคการเมือง หรือ การออกฎหมายบางฉบับ ก็จะกระทำมิได้เลย ความมุ่งหมายคงไม่ใช่อย่างนั้น ถ้ามีการเข้าชื่อกันจริง ถามว่าใครจะเป็นคนถอดถอน เพราะจะกลายเป็นว่าทุกคนกลายเป็นคนที่มีส่วนได้เสียกันหมดทั้งสภา

พรรคการเมืองเป็นที่รวมของคนคิดอ่านเหมือนกัน ตั้งมาแล้วไม่ควรให้ยุบง่ายๆ
เรื่องการยุบพรรคนั้น พรรคการเมืองเมื่อตั้งขึ้นมาแล้ว หลักทั่วไปในโลกเขาไม่ให้ยุบกันง่ายๆ เพราะพรรคเป็นที่รวมของคนที่มีความคิดความอ่านทางการเมืองคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะบ้านเราที่สถาบันทางการเมืองมันค่อยๆ พัฒนาไป ลองนึกดูถ้ายุบพรรคทำได้ง่ายๆ แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองโดยบัญญัติในมาตรานี้ก็อาจถูกยุบพรรคเหมือนกันทั้งที่มีอายุมากว่า 60 ปี มันคงไม่ถูกต้อง ใครทำผิดต้องเอาผิดคนนั้น แล้วการตีความเรื่องนี้ต้องตีความให้สอดคล้องกับหลักการที่มันควรจะเป็น สังคมจะได้มีทางออก ขอให้พูดกันในหลักการ อย่าพูดในผลประโยชน์เฉพาะหน้าใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นายจอมถามว่า ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้เป็นธรรม ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมโดยประชาชน. นายวรเจตน์ตอบว่า โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการแก้ไขแล้วว่าให้ญัตติมาจากใคร พิจารณากันอย่างไร ปัญหาอยู่ที่ถ้าเดินตามกลุ่มของผู้ที่ต้องการแก้ไขบางมาตรา โอกาสที่ประชาชนมีส่วนร่วมอาจจะน้อย เขาอาจไปฟังความเห็นของประชาชน แต่อาจจะน้อย ถ้าเกิดว่าดำเนินกระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญกันทั้งฉบับ ประชาชนก็จะมีส่วนร่วมในหลายลักษณะ

ในความเห็นผม คนที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมีที่มาตามความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งเข้ามาส่วนหนึ่ง บวกกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ประกอบกันขึ้นเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้ที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญมีความชอบทำ ไม่ใช่การให้ผู้มีอำนาจตั้งบุคคลกลุ่มหนึ่งขึ้นมายกร่าง.
ผมคิดว่าหากทุกคนต่างถอยกันคนละก้าวแล้ว และยอมรับว่ารัฐธรรมนูญมันมีปัญหาจริงๆ ในทางหลักการ ปัญหาคือ บางฝ่ายคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา แต่ผมเองเห็นว่าเป็นปัญหา และปัญหาที่เห็นมันไม่ใช่ปัญหาที่มองย้อนในอดีต แต่มันเป็นปัญหาระดับหลักการ เราจะไม่ทะเลาะกัน ถ้าหากเราพูดเรื่องหลักการที่ควรจะเป็นว่ามันจะเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญควรเขียนหลักการก่อน รัฐธรรมนูญควรมองไปข้างหน้าว่าอะไรคือสิ่งที่สังคมไทยใฝ่ฝันจะไปให้ถึง อาจไม่ต้องยาวมาก ที่เหลือก็ทำเป็นกฎหมายในระดับรองลงมา เวลามีปัญหาทางการเมืองจะไม่กระทบกับรัฐธรรมนูญ

ชี้การเมืองแบ่งสองขั้ว แต่สังคมไทยต้องพ้นไปจากเรื่อง 'เอา' หรือ 'ไม่เอา' ทักษิณ
นายวรเจตน์กล่าวต่อไปว่า สภาพทางการเมืองตอนนี้มันแบ่งเป็นสองขั้ว ขั้วหนึ่งมีอำนาจทางการเมือง ขั้วหนึ่งมีอำนาจในทางกฎหมาย แล้วสองขั้วนี้ปะทะกัน แล้วตอนนี้ฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมืองต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนขั้วที่มีอำนาจทางกฎหมายไม่ต้องการแก้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวพันกันในระบบการเมือง ซึ่งประชาชนต้องรู้เท่าทัน และยกระดับปัญหานี้ไปสู่ปัญหาในระดับเชิงหลักการ. ถ้าจะเถียงกันเชิงหลักการว่าไปได้แค่ไหน ไม่ใช่ไปจนสุดอย่างเรื่องยุบพรรคการเมือง ที่ยุบไปแล้วก็เกิดพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา ซึ่งสืบสาวมาจากพรรคการเมืองเดิมที่ประชาชนก็ยังเลือกอยู่ ถามว่าที่สุดประเทศชาติได้อะไรจากการเล่นเกมการเมืองและกฎหมายในลักษณะเช่นนี้

นายจอมถามต่อว่า กลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภาหลายกลุ่มในขณะนี้จะเผชิญหน้ากันหรือไม่ในอนาคต. นายวรเจตน์ตอบว่า ประเมินยาก ขึ้นอยู่กับว่าลักษณะและวิธีการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือตอนนี้บ้านเมืองเรายังไปไม่พ้นไปจากปัญหา 'เอา' หรือ 'ไม่เอา' คุณทักษิณ ยังเป็นแบบนี้ เพียงแต่มันแปรรูปไปเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การออกเสียงลงประชามติ มีคนกลุ่มหนึ่งที่เริ่มมองไปที่ปัญหาเรื่องหลักการ ไม่ได้มองว่า 'เอา' หรือ 'ไม่เอา' คุณทักษิณ แต่ตอนนี้ปัญหานี้ยังดำรงอยู่ และต่อสู้กันต่อไป ถ้าคนที่เป็นชนชั้นนำในสังคมยังมองไปไม่พ้นจากปัญหานี้ ก็เป็นไปได้ว่าจะปะทะกัน

พรรคการเมืองซึ่งร่วมรัฐบาลพรรคใหญ่สุดคือพรรคพลังประชาชน ได้หาเสียงเอาไว้ว่าเมื่อเป็นรัฐบาล สิ่งหนึ่งซึ่งต้องแก้ไขคือ แก้รัฐธรรมนูญ. แต่น่าเสียดายไม่มีการพูดกัน ในวันแรกๆ ที่มีการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าทำตั้งแต่ตอนนั้น และกำหนดกระบวนการแก้ไขให้ชัดเจน แรงกดดันที่มีต่อรัฐบาลจะน้อย แต่ตอนนี้ในเชิงระยะเวลามาเกิดเอาในช่วงที่มีปัญหายุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค ซึ่งยังไม่ได้มีการยุบพรรค เนื่องจากกลไกยังอีกหลายขั้นตอน แต่ข้อกฎหมายมันพอมองไปได้

ตอนนี้เลยเป็นปัญหา ทุกคนเลยหวาดระแวงกันหมด ไม่คิดว่าจะดำเนินการไปเพื่อหลักการที่มันควรจะเป็น ในที่สุด ทุกฝ่าย รัฐบาลเองคงทำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นระบบ ขั้นตอนที่จะเสนอจะเป็นอย่างไร ให้พ้นไปจากปัญหาเรื่องแก้เพื่อตัวเอง. อีกเรื่องต้องฟังคำอธิบาย และพ้นไปจากเรื่อง 'เอา' หรือ 'ไม่เอา' คุณทักษิณ คุณทักษิณไม่ได้อยู่กับเราตลอดกาล บ้านเมืองต้องเดินไปข้างหน้าอีก เรามาทะเลาะกันด้วยเรื่องแค่นี้ เอามาเป็นปัญหาหลักการทางสังคม เราก็จะได้กฎหมายที่มีกลไกพิกลพิการและทำให้สังคมไม่ไปไหน

เรื่องเรียกร้องให้ยึดอำนาจ สะท้อนวุฒิภาวะทางสังคมว่าไม่ยอมโต
นายจอมถามว่า คิดว่ากองทัพกังวลแค่ไหนกับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ. นายวรเจตน์กล่าวว่า กองทัพคงกังวล และได้รับบทเรียนจากการยึดอำนาจว่า การยึดอำนาจใน พ.ศ. นี้ไม่แก้ปัญหาทางการเมือง การใช้กำลังยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่แก้ปัญหาอะไรเลยในช่วงปีที่ผ่านมา. ต่อข้อถามที่ว่า ยังคงมีการเรียกร้องให้มีการยึดอำนาจกรุ่นๆ อยู่นั้น. นายวรเจตน์กล่าวว่า นี่เป็นปัญหาเรื่องวุฒิภาวะทางสังคม เรายังเด็กอยู่มาก ไม่ยอมโต หลายคนคิดว่ามีปัญหาต้องแก้ด้วยการยึดอำนาจ ซึ่งมันไม่แก้ปัญหา และปัญหาที่มันมีอยู่ มันก็ยังอยู่

พัฒนาการในทางประชาธิปไตย มันไปไกลพอสมควร จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกลไกหลายอย่างที่เป็นปัญหาทางประชาธิปไตยแฝงเร้นในรัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุดผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องหนีไม่พ้นกระแสให้ยอมรับหลักนิติรัฐและนิติธรรมในประชาธิปไตย ก็ต้องเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่ดี เลยเป็นปัญหาเวลาตีความทางกฎหมาย ว่าคุณจะให้คุณค่ากับหลักการพวกนี้อย่างไร. ผมเองเห็นว่า เพื่อให้ระบบเดินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการสูญเสีย ปัญหาระดับหลักการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็ควรว่ากันไปตามระบบ ไปตามหลักที่ควรจะเป็น เอาเหตุเอาผลมาพูดกัน อย่าตั้งธง มันก็จะไปได้

ชี้ชนชั้นนำไทยเสียรังวัดไปมาก หลังทุ่มกำลังกำจัดทักษิณ
นายจอมถามว่า สังคมไทยขาดที่พึ่ง ขาดคนชี้แนะ ขาดอะไรที่พอออกมาแสดงความคิดเห็นทุกคนยอมรับและไปร่วมกัน เราขาดกลุ่มคนกลุ่มนี้ไหมครับ. นายวรเจตน์ตอบว่า ก็อาจเป็นไปได้ ผมเห็นว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นนำในสังคมไทยทุกส่วน ได้สูญเสียความน่าเชื่อถือไปอย่างมาก ทุ่มทุกสิ่งทุกอย่างไปจัดการกับคุณทักษิณ เราละเลยคุณค่า ละเลยหลักการที่ควรจะเป็น วันนี้สังคมไทยมีปัญหามาก ถึงที่สุดใครพูดอะไรก็ไม่มีใครฟังใคร ผมคิดว่ายังไม่สายถ้าเราจะย้อนกลับมาดู ทำอย่างที่มันควรจะเป็น อย่าไปปักธง อย่ามีอคติกันไว้ก่อน ใช้กฎหมายให้มันเสมอกันกับทุกฝ่าย ในวันพรุ่งนี้ (8 เม.ย.51) กตต. จะประชุมกันเรื่องการยุบพรรค ผมเห็นว่าประเด็นในข้อกฎหมายที่ผมและเพื่อนๆ 4 คน เสนอว่าจะการตีความ ม.237 ต้องคำนึงหลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐนั้น ถ้า กกต. ตีความในหลักการนี้ น่าจะแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง

วอนผู้คัดค้านแก้รัฐธรรมนูญ อย่าอ้างผลประชามติ เพราะไม่ได้มาตรฐานสากล
นายวรเจตน์ยังเสนอแนะว่า รัฐบาลก็คงต้องฟังทุกๆ ฝ่าย และพยายามหาคนซึ่งน่าจะเป็นกลางหรือคนพอฟังอยู่บ้างมาพูดคุยกัน เพื่อออกไปจากสภาพความขัดแย้งแบบนี้ แต่อย่างที่บอกว่าอย่าปักธงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขไม่ได้ โดยที่มีการอ้างเรื่องของการออกเสียงประชามตินั้น ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งเห็นว่าการอ้างดังกล่าวมันอ้างไม่ได้ เพราะการทำประชามติที่ทำในคราวที่แล้ว ไม่ใช่การทำประชามติในระดับมาตรฐานสากล เราคงรู้ว่าหลายคนรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเพียงเพื่อให้ประเทศพ้นสภาพ ที่หลุดพ้นจากสภาวะรัฐประหาร ให้ประเทศกลับสู่หนทางประชาธิปไตยไปก่อน ถึงตอนนี้เมื่อกลับมาสู่ระบบแล้ว คงต้องเดินต่อไป ถ้าใครคิดว่าเป็นนักประชาธิปไตย เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต้องมองประเด็นนี้เป็นหลัก ถ้ามองประเด็นนี้เป็นหลักแล้วจะคุยกันได้ ถ้ามองประเด็นอื่นเป็นหลักจะคุยกันไม่ได้ทั้งสองข้าง

ชวนสังคมจินตนาการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ จากเวอร์ชั่น 2534 มาเป็น 2540
ในช่วงสุดท้าย นายจอมถามว่า ทุกฝ่ายจะทำอย่างไรให้ประเทศพ้นไปจากหนทางตันจากการแก้รัฐธรรมนูญ. นายวรเจตน์ตอบว่า เราอาจต้องย้อนเวลากลับไป อย่างยุคก่อน 2540 เรามีประสบการณ์ที่จะผ่านตัวรัฐธรรมนูญจาก 2534 มาเป็น 2540 อย่างไร. อีกทีหนึ่งคือย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ที่มีการพูดเรื่องปฏิรูปรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เราน่าจะย้อนกลับไปตรงจุดเวลานั้น และทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสาธารณะ ทำองค์กรที่มีความชอบธรม ให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้สังคมไทยมีเป้าหมายเดินกันไปได้ ไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างเท่านั้นเอง แล้วมันก็แก้ไม่ได้

ที่เหลือเป็นเรื่องในระดับกฎหมาย แม้ผมเองส่วนตัวจะเห็นว่า เรื่องนี้ ในภาวะการณ์ที่สู้กันทางการเมืองแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย แต่ว่าเราต้องใช้ความพยายาม อย่าได้กลายเป็นว่า เมื่อผ่านไปอีกหลายปีข้างหน้าแล้วมองย้อนกลับมาในอดีต ต่างสำนึกเสียใจกันหมดว่าเราไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ในการเอาบ้านเมืองออกจากปัญหา แล้วมานั่งเสียใจกันภายหลัง

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 17 April 2008 : Copyleft by MNU.
อีกข้อหนึ่งก็คือ หากนายกฯ สมัครยังยืนยันว่าผู้แทนราษฎรปัจจุบัน เป็นเสียงตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงและจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผมก็ขอเสนอว่าเราควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับคู่ขนาน โดยที่ฉบับหลังนี้ให้รัฐบาลให้งบประมาณกับประชาชนเพื่อที่จะทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศแล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นมาเป็นคู่ฉบับ เรียกว่ามีรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างมานี้ ๒ ฉบับ โดยฝ่ายรัฐบาล ๑ ฉบับ และฝ่ายประชาชนอีก ๑ ฉบับ เราก็จะมีรัฐธรรมนูญที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ว่า ฉบับไหนเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็คือว่าให้มีการลงประชามติให้ประชาชนเลือกฉบับใดฉบับหนึ่ง เป็นฉบับที่ใช้ในการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยต่อไป คิดว่าอย่างนี้แหละถึงจะสิ้นสุด ทำให้รัฐธรรมนูญเกิดฉันทามติหรือยอมรับร่วมกัน
H
ในส่วนตัวผมคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับแก้แค้น บางคนเรียกว่าเป็นฉบับอำมาตยาธิปไตย บ้างก็เรียกว่าฉบับอุบาทวาธิปไตยมากกว่า เพราะว่าอำนาจทั้ง 3 อำนาจ คือ ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่เคยคานอำนาจกันโดยครรลองของประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันนี้มันเกิดความสับสน อำนาจฝ่ายตุลาการค่อนข้างมีอำนาจสูง นี่คืออันตรายที่นำอำนาจของตุลาการเข้ามาก้าวก่าย อาจจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตุลาการก็เป็นได้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นมาหลังจากที่ คปค.(คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) กระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยกลไกทางคณิตศาสตร์แบบ 'มีชัย ฤชุพันธ์' เราก็ได้ 30 อรหันต์ มาร่างรัฐธรรมนูญ และในระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ข่าวที่ออกมาเสมอๆ ก็คือ ความพยายามที่จะกำจัดหรือควบคุมอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราย้อนกลับไปก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็คือ พรรคไทยรักไทยนั้นเอง จนในที่สุดก็มาออกผลโดยการยุบพรรคไทยรักไทยในที่สุด