ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




02-04-2551 (1520)

เอกสารข่าว WTO Watch และแนะนำหนังสือเกี่ยวเนื่อง
สิทธิด้านเศรษฐกิจในกรอบการค้าโลก และโลกาภิวัตน์ ๖ เรื่อง
โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนสนับสนุนการเผยแพร่เอกสารข่าว WTO Watch

เอกสารข่าวจากโครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
เป็นการนำเสนอข่าวและบทวิเคราะห์ในหัวข้อดังต่อไปนี้
(๑) องค์การการค้าโลก และการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา
(๒) ข้อตกลงการค้าทวิภาคีและภูมิภาคี และข้อตกลงเศรษฐกิจอื่นๆ
(๓) การค้าโลก
(๔) ข้อพิพาทการค้า
โดยเอกสารข่าวจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์แห่งนี้เดือนละ ๒ เรื่องในสัปดาห์ที่สองและที่สี่ของเดือน
และยังนำเสนอเอกสารแนะนำหนังสือ WTO Watch ซึ่งจะเผยแพร่เป็นครั้งคราว ขึ้นอยู่กับหนังสือที่ออกจำหน่าย
เอกสารข่าว WTO Watch เริ่มเผยแพร่ครั้งแรกในเดือนมกราคม ๒๕๕๑ เป็นต้นมา

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพิจารณาแล้วเห็นว่า เอกสารข่าวดังกล่าวมีสาระประโยชน์แก่สาธารณชน
โดยทั่วไป จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นสื่อกลางให้กับสังคมไทยและคนที่อ่านไทยทั่วโลก
ปัจจุบัน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก
ที่กำลังศึกษาในต่างประเทศ รวมถึงนักวิชาการและคนในวัยทำงานทั้งภาคธุรกิจและแรงงาน
สถิติการคลิกของเว็บไซต์แห่งนี้ล่าสุดประมาณ ๓.๕ - ๔.๕ ล้านคลิกต่อเดือน โดย IP ไม่ซ้ำกันเกือบ ๒ แสน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๒๐
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๘.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารข่าว WTO Watch และแนะนำหนังสือเกี่ยวเนื่อง
สิทธิด้านเศรษฐกิจในกรอบการค้าโลก และโลกาภิวัตน์ ๖ เรื่อง
โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนสนับสนุนการเผยแพร่เอกสารข่าว WTO Watch


บทความวิชาการต่อไปนี้ประกอบด้วย

1. เหตุใดการเจรจารอบโดฮาจึงหยุดชะงัก? (เอกสารข่าวฉบับที่ 1)
2. เหตุใดการเจรจาสินค้าเกษตรจึงเป็นหัวใจของการเจรจารอบโดฮา? (เอกสารข่าวฉบับที่ 2)
3. ทำไมประเทศกำลังพัฒนาไม่เอา NAMA? (เอกสารข่าวฉบับที่ 3)
4. เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า กับ FTAs (เอกสารข่าวฉบับที่ 4)
5. Food Aid ขัดต่อกฎกติกา WTO หรือไม่ (เอกสารข่าวฉบับที่ 5)
6. ความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง (เอกสารข่าวฉบับที่ 6)

1. เหตุใดการเจรจารอบโดฮาจึงหยุดชะงัก?
สุนทร ตันมันทอง (เอกสารข่าวฉบับที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๑)

การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาหยุดพักการเจรจาอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2549 ภายหลังการประชุมระหว่างประเทศสมาชิกระดับแกนนำหกประเทศ (G-6) อันได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป บราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการอุดหนุนสินค้าเกษตรและการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม ประเทศสมาชิกต่างโยนความผิดให้แก่กันและกัน โดยเฉพาะสหรัฐฯที่ไม่ยอมประเดิมลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรก่อน จนหลายฝ่ายคาดการณ์ไปว่า การเจรจารอบโดฮาส่อเค้าล้มเหลว เพราะอย่างน้อย นี่ก็เลยกำหนดการปิดรอบเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2548 ตามเจตนารมณ์ที่ตกลงกันไว้เมื่อครั้งเปิดการเจรจาที่กรุงโดฮาในปี พ.ศ.2544 การพิจารณาว่า รอบโดฮา 'หยุดพัก' การเจรจาจึงอาจเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป จริงๆ แล้ว การเจรจารอบโดฮาอาจอยู่ระหว่างห้อง ICU กับหลุมศพก็เป็นได้

การเจรจารอบโดฮาเริ่มออกอาการโคม่า หลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกในปี พ.ศ.2546 จบลงโดยไร้ข้อสรุปใดๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการเจรจารอบโดฮาต่อไป ที่ประชุมครั้งนั้นไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องสินค้าเกษตร และเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมที่สิงคโปร์ (Singapore Issues) หลังจากแคนคูน. รอบโดฮาก็อยู่ในสภาพไร้ทิศทาง ประเทศสมาชิกกว่า 150 ประเทศตกลงกันได้เพียง กำหนดการในการขจัดการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรในปี พ.ศ.2556 เท่านั้น. ในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ฮ่องกงในช่วงปลายปี พ.ศ.2548 แม้ว่าจะมีความพยายามในการฟื้นการเจรจารอบโดฮาอยู่หลายๆ ครั้งในเวลาต่อมา ทั้งจากสัญญาณประเทศมหาอำนาจและข้อเสนอประเทศสมาชิก แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่สามารถเป็นแรงผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาหลุดออกจากหล่มได้

ปัจจัย 4 ประการที่ทำให้การเจรจารอบโดฮาหยุดชะงัก
การเจรจารอบโดฮาหยุดชะงักด้วยเหตุปัจจัยอย่างน้อย 4 ประการที่เกี่ยวข้องและสืบเนื่องกัน อันได้แก่ ประเด็นการเจรจา, จำนวนสมาชิกและเกณฑ์การตัดสินใจ, ปัจจัยภายในของประเทศมหาอำนาจ, และบทบาทของประเทศกำลังพัฒนา

1. ประเด็นการเจรจา เพื่อเปิดการค้าเสรีในรอบโดฮา มีส่วนทำให้รอบโดฮาหยุดชะงักลง อุปสรรคทางการค้าที่เหลืออยู่หลังจากการเจรจารอบอุรุกวัย ล้วนเป็นประเด็นที่เจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าได้ยาก ที่เห็นได้ชัดคือ ประเด็นสินค้าเกษตร ซึ่งประเทศมหาอำนาจต้องเผชิญหน้าอย่างจังกับประเทศด้อยพัฒนาที่ไม่ยอมยืดหยุ่นให้ง่ายๆ ยังไม่นับประเด็นการเจรจาที่เกิดขึ้นใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การอุดหนุนสินค้าเกษตร ที่ดูจะทำให้การเจรจามีความซับซ้อนมากไปกว่าการเจรจาเพียงการลดภาษีศุลกากรดังเช่นในแกตต์ (GATT) จริงอยู่ ประเด็นสินค้าเกษตรอาจเป็นประเด็นตกลงกันได้ยากที่สุดประเด็นหนึ่งในรอบโดฮา จนมีข้อเสนอให้กระตุ้นรอบโดฮาขึ้นมา โดยวิธีการเจรจาแบบ 'กลับหัวกลับหาง'(Reverse Engineering) หรือนำเรื่องข้อยกเว้นต่างๆ ในการเปิดการค้าเสรี เช่น สินค้าอ่อนไหว (Sensitive Product) และสินค้าพิเศษ (Special Product) มาเจรจาให้แล้วเสร็จ ก่อนขยายไปสู่ประเด็นการเปิดเสรีการค้าใหญ่ๆ อย่าง ภาษีศุลกากรสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การเจรจาในวิธีดังกล่าวก็ไม่มีทีท่าว่าจะก้าวหน้าไปสู่ความสำเร็จในเวลาอันใกล้ ความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกยังคงมีอยู่เพียงแต่เปลี่ยนเวทีไปเท่านั้น ประเด็นสินค้าเกษตรจึงไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ทำให้รอบโดฮาหยุดชะงักลง ในแง่นี้ องค์การการค้าโลกอาจเป็นเหยื่อของความสำเร็จของการเปิดเสรีการค้าพหุภาคีในอดีต

2. การเจรจาเพื่อหาฉันทมติ จากประเทศสมาชิกกว่า 150 ประเทศที่มีความแตกต่างกันมากเป็นกระบวนการที่ยากลำบากและใช้เวลายาวนาน เพราะแม้แต่ประเทศสมาชิกเพียงประเทศเดียว ก็สามารถยับยั้งการตัดสินใจของที่ประชุมได้ นี่ถือเป็นอุปสรรคในการเจรจาเพื่อหาฉันทมติในรอบโดฮา จนประเทศสมาชิกระดับแกนนำรวมถึงผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก เลือกที่จะใช้วิธีการเจรจาแบบกลุ่มเล็กเพื่อเป็นทางลัดไปสู่การตัดสินใจของมวลสมาชิก แม้ที่ผ่านมาวิธีการนี้ซึ่งมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่เป็นประชาธิปไตยจะใช้ไม่ได้ผลมากเท่าใดนัก แต่ประเทศสมาชิกระดับแกนนำบางส่วน ยังคงยืนยันถึงความจำเป็นของวิธีการเจรจาดังกล่าวในรอบโดฮาต่อไป

3. ปัจจัยภายในของประเทศมหาอำนาจ ดังเช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ล้วนมีความสำคัญต่อการเจรจาการค้าพหุภาคี ประเทศทั้งสองต่างนำนโยบายภายในของตนเป็นตัวตั้ง และพยายามทำให้ระเบียบการค้าพหุภาคีเป็นกลไกหนึ่งของนโยบายภายในของตน. ในกรณีของการเจรจารอบโดฮา ปัจจัยภายในของทั้งสองประเทศกลับไม่เอื้อให้การเจรจาก้าวหน้าไปตามเจตนารมณ์ของรอบแห่งการพัฒนา

เงื่อนไขภายในของสหรัฐฯ ที่ส่งอิทธิพลมาถึงการเจรจารอบโดฮาคือ อำนาจในการเจรจาแบบวิถีด่วน (Fast-Track Authority) ของประธานาธิบดีไม่ได้รับการต่ออายุจากรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศสมาชิกอื่นๆ ต่อสถานะการเจรจาของรัฐบาลสหรัฐฯ และการร่างกฎหมายการเกษตรฉบับใหม่ (Farm Bill 2007) ซึ่งยังคงไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่าง "การคงการอุดหนุนสินค้าเกษตรเพื่อตามใจกลุ่มธุรกิจและเกษตรกรอเมริกัน" กับ "การลดการอุดหนุนสินค้าเกษตร" เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาททางการค้าในอนาคตได้. ในขณะที่สหภาพยุโรป ก็ยังปรากฏข้อคัดค้านจากประเทศสมาชิกอย่างฝรั่งเศส ในการยื่นข้อเสนอการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตร. เหตุนี้ทำให้ทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ต้องเจรจาในลักษณะของการแลกเปลี่ยน (Dollar for Dollar) มากกว่าที่จะยอมเสียสละอย่างที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ คาดหวังและเรียกร้อง. ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายชี้แนะว่า ความสำเร็จของรอบโดฮาแขวนอยู่กับการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายในดังกล่าว

4. บทบาทของประเทศกำลังพัฒนา ในการเจรจาการค้าพหุภาคีในอดีต ประเทศมหาอำนาจยึดมั่นว่า ตนเป็นศูนย์กลางในการเจรจาเพื่อกำหนดนโยบายการเจรจากับประเทศสมาชิกที่เหลือคือ สิทธิที่จะรับหรือไม่รับเท่านั้น. หากประเทศสมาชิกอื่นๆ รวมกลุ่มกันตั้งข้อต่อรอง ประเทศมหาอำนาจก็มีกลยุทธ์ในการสลายกลุ่ม โดยการสร้างพระเดชพระคุณให้แก่ประเทศสมาชิกในกลุ่มบางประเทศ จนทำให้บทบาทของ ประเทศซีกโลกใต้ที่ผ่านมามีไม่มากนัก

แต่ในกรณีของรอบโดฮา กลุ่ม G20 และ G33 เป็นตัวอย่างของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ยืนหยัดในการเจรจาต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ ปัจจัยสำคัญของอำนาจต่อรองดังกล่าวคือ ความผนึกกันแน่นภายในกลุ่ม. ระบบเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องของประเทศกำลังพัฒนา ดังเช่น จีน บราซิล และอินเดีย เป็นอำนาจต่อรองที่สำคัญในการเจรจากับประเทศมหาอำนาจ, ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็อ้างถึงเจตนารมณ์ของรอบแห่งการพัฒนามาสร้างความชอบธรรมให้กับข้อเรียกร้องของตน ในเรื่องสินค้าเกษตร. กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก้าวขึ้นมาเป็นคู่ขัดแย้งหลักที่ยืนอยู่กันคนละมุมกับสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ นี่เป็นสถานการณ์ในการเจรจาการค้าพหุภาคีที่เปลี่ยนไปจากอดีต. หากความสำเร็จในการเปิดการค้าเสรีในอดีตเป็นเพราะกลยุทธ์การครอบงำของประเทศมหาอำนาจทำงานได้ง่าย การหยุดชะงักของการเจรจารอบโดฮาในปัจจุบัน ก็น่าจะมาจากกลยุทธ์ของการครอบงำของประเทศมหาอำนาจทำงานได้ยาก อันเนื่องมาจากการยืนหยัดของประเทศกำลังพัฒนา

ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า ช่วงเวลาอันแสนสุขของการเจรจารอบโดฮาจะอยู่ในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่กรุงโดฮาในปี พ.ศ.2544 เท่านั้น เพราะหลังจากนั้น การเจรจารอบโดฮาเข้าสู่อาการโคม่านับตั้งแต่การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งถัดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน บางทีเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเจรจารอบโดฮาหยุดชะงักลง อาจมาจากการเปิดการเจรจารอบโดฮาด้วยเหตุผลทางการเมือง ในการรักษาสถานะของการจัดระเบียบการค้าพหุภาคีหลังจากการสั่นคลอนจากความล้มเหลวในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เมืองซีแอตเทิลในปี พ.ศ.2542 มากกว่าความสุกงอมของสภาพการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน จนระเบียบการค้าพหุภาคีเดิมตามไม่ทัน และความพร้อมของประเทศสมาชิกที่จะทำให้การค้าโลกเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศด้อยพัฒนาเป็นหลัก

2. เหตุใดการเจรจาสินค้าเกษตรจึงเป็นหัวใจของการเจรจารอบโดฮา?
สุนทร ตันมันทอง (เอกสารข่าวฉบับที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑)

การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา (Doha Round) เริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2544 ตามชื่อกรุงโดฮา เมืองหลวงของประเทศกาตาร์ อันเป็นสถานที่จัดการประชุมรัฐมนตรี (Ministerial Conference) ครั้งที่สี่ขององค์การการค้าโลก ประเทศสมาชิกเห็นพ้องกันให้เปิดการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่ หลังจากรอบอุรุกวัยเสร็จสิ้นลงในปี พ.ศ.2537 โดยกำหนดหลักการและเป้าหมายของการเจรจาเพื่อตอบสนองต่อ "ความจำเป็นและผลประโยชน์" ของประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก จนมีการขนานนามการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบปัจจุบันว่า 'รอบแห่งการพัฒนา' (Doha Development Round) อย่างไรก็ดี แม้ว่ารอบโดฮาจะเดินทางเข้าสู่ปีที่ 6 แต่การเจรจาระหว่างประเทศสมาชิกยังคงไม่คืบหน้าตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตอนเปิดรอบเจรจา ประเด็นสำคัญที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ก็คือ การจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตร

การเจรจาเรื่องสินค้าเกษตรเป็นหัวใจของการเจรจาการค้ารอบโดฮา หากองค์การการค้าโลกวางหลักการและเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา ประเด็นสำคัญที่จะต้องเจรจาเป็นลำดับแรกๆ ก็คือ สินค้าเกษตร ทั้งนี้เนื่องจากภาคเกษตรกรรมเป็นกลไกหลักในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและลดความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา ที่ผ่านมาภาคเกษตรกรรมในประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างร้ายกาจจากนโยบายการทุ่มตลาดสินค้าเกษตรของประเทศมหาอำนาจ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การอุดหนุนฝ้ายของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อชาวไร่ฝ้ายในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะในอัฟริกา

ในการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัย (Uruguay Round) การเจรจาการค้าสินค้าเกษตรเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเคียงข้างการเจรจาการค้าสินค้าอุตสาหกรรม หลังจากประเทศกำลังพัฒนาจากซีกโลกใต้จำนวนมาก รวมกลุ่มกันเพื่อต่อรองเรื่องสินค้าเกษตรกับประเทศพัฒนา จนกระทั่งบรรลุเป็นความตกลงว่าด้วยการเกษตร (Agreement on Agriculture). เมื่อมาถึง 'รอบแห่งการพัฒนา' ประเทศกำลังพัฒนาต่างคาดหวังให้มีการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรผ่านการจัดระเบียบการค้าพหุภาคีจากรอบโดฮา. ในปฏิญญารัฐมนตรีโดฮา (Doha Ministerial Declaration) ก็ระบุถึงเป้าหมายในการสร้างระบบการค้าสินค้าเกษตรที่เสรีและเป็นธรรม อาทิ การกำหนดกฎกติกา
ที่เข้มแข็ง พันธกรณีในเรื่องการอุดหนุนเพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้มีการจำกัดและบิดเบือนการค้าสินค้าเกษตรโลก รวมทั้งการให้ 'แต้มต่อ' แก่ประเทศกำลังพัฒนาไว้ในทุกประเด็นที่จะเจรจา กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่าง G-20 ยืนยันอย่างหนักแน่นมาตลอดว่า ความสำเร็จของรอบโดฮาขึ้นอยู่กับการเจรจาการค้าสินค้าเกษตรเป็นหลัก

บทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในการเจรจารอบโดฮาทำให้เรื่องสินค้าเกษตรกลายเป็นหัวข้อใหญ่บนโต๊ะเจรจา ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่อย่างจีน บราซิล และอินเดีย รวมกลุ่มกันเป็นแกนหลักในกลุ่ม G-20 เพื่อเจรจาต่อรองเรื่องสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ กลุ่ม G-20 พยายามยึดเอาเป้าหมายของการเจรจาสินค้าเกษตรในรอบโดฮามาเจรจาต่อรองกับประเทศมหาอำนาจอย่างชอบธรรม ในการเจรจาการค้าพหุภาคีนับตั้งแต่แกตต์ การเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรเป็นไปอย่างล่าช้า แตกต่างจากการเปิดเสรีสินค้าอุตสาหกรรม เหตุผลประการหนึ่งมาจาก การครอบงำการเจรจาของประเทศมหาอำนาจที่ไม่ต้องการแข่งขันในสินค้าที่ตนไม่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบอย่างเสรีและเป็นธรรม

แต่ในการเจรจาการค้ารอบโดฮา ประเทศแกนกลางในกลุ่ม G-20 ทั้งสามประเทศต่างเป็นอำนาจใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมาในโครงสร้างอำนาจในสังคมเศรษฐกิจโลก การสร้างระเบียบเศรษฐกิจในอนาคตจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศเหล่านี้มากกว่าในอดีต นั่นหมายถึงประเทศพัฒนาจำต้องต่อรองแลกเปลี่ยนกับข้อเรียกร้องร่วมกันจากประเทศเหล่านี้มากขึ้น ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็เริ่มเรียนรู้บทเรียนจากการเจรจาในอดีตและรวมกลุ่มกันตั้งข้อต่อรองกับประเทศมหาอำนาจมากขึ้น แม้ว่าบางกลุ่มจะยุบตัวลงไปหลังจากประเทศมหาอำนาจพยายามสลายกลุ่มและรักษาฐานะศูนย์กลางของตนในการเจรจาไว้

หากการเจรจาการค้ารอบโดฮาจะมีลมหายใจต่อไปกระทั่งคาดหวังไปสู่ความสำเร็จในอนาคต ประเด็นชี้ขาดจะอยู่ที่การเจรจาการค้าสินค้าเกษตร การเจรจาการค้ารอบโดฮาหยุดชะงักลงหลังจากประเทศสมาชิกชั้นนำจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถตกลงกันในเรื่องการจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรได้ ประเทศมหาอำนาจต้องการเจรจาเรื่องสินค้าเกษตรแบบธุรกิจทั่วไปที่คู่เจรจาจะต้องมีผลประโยชน์มาแลกเปลี่ยนกัน (Concession) โดยไม่มีหลักประกันที่แน่นอนว่า ผลประโยชน์จะเป็นของใครดังที่เป้าหมายของรอบโดฮากำหนดไว้ บรรยากาศในการเจรจาของประเทศสมาชิกชั้นนำไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป บราซิล อินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อาร์เจนตินา และแคนาดา ล้วนเป็นการโยนกลองให้แต่ละประเทศเสียสละในเรื่องสินค้าเกษตร เพื่อต่ออายุรอบโดฮาออกไป โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นประเทศที่จ่ายเงินอุดหนุนสินค้าเกษตรมากที่สุด. ข้อเรียกร้องจากประเทศสมาชิกให้ทั้งสองประเทศลดการอุดหนุนการผลิตสินค้าเกษตรลง ถูกต่อต้านจากการเมืองภายในอย่างหนัก นั่นทำให้อุปสรรคของการเจรจาการค้ารอบโดฮา มาจากทั้งการเจรจาต่อรองในองค์การการค้าโลก และในรัฐสภาของทั้งสองประเทศ

การเจราการค้าสินค้าเกษตรควรเป็นหัวใจของการเจรจาการค้ารอบโดฮา การจัดระเบียบการค้าพหุภาคีควรผ่องถ่ายผลประโยชน์ไปสู่ประชากรที่กำลังประสบปัญหาความยากจนและหิวโหย แต่การคาดหวังในลักษณะนี้ดูท่าจะเป็นไปได้ยากในเมื่อประเทศที่ประชากรประสบปัญหาเหล่านี้ไม่มีอำนาจต่อรองในเวทีการค้าเจรจา ทั้งนี้อาจมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศยากจนเหล่านี้ไม่มีข้อเสนอมากพอที่จะไปแลกเปลี่ยนบนโต๊ะเจรจา

3. ทำไมประเทศกำลังพัฒนาไม่เอา NAMA?
อิสร์กุล อุณหเกตุ (เอกสารข่าวฉบับที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑)

การเจรจาประเด็นการเข้าถึงตลาดของสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตร (Non-Agricultural Market Access: NAMA) (*) เป็นประเด็นการเจรจาหลักในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา (Doha Round) ในเวทีองค์การการค้าโลก การเจรจาในประเด็นดังกล่าวมักถูก "จับเป็นตัวประกัน" โดยประเทศพัฒนาแล้วเพื่อใช้ในการต่อรองในการเจรจาประเด็นสินค้าเกษตรอยู่เสมอ ความเชื่อมโยงระหว่างการเจรจาในหลายประเด็น โดยเฉพาะระหว่างการเจรจาประเด็นการเปิดเสรีสินค้าเกษตรกับการเข้าถึงตลาดของสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตร สร้างความสลับซับซ้อนและอ่อนไหวให้แก่การเจรจามาโดยตลอดและส่งผลให้การเจรจารอบโดฮาไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งต้องหยุดชะงักลงนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2549 เป็นต้นมา

(*) หมายถึงสินคาทางด้านอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำมันและเหมืองแร่ ตลอดรวมถึงสินค้าประมงและป่าไม่ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้)
The negotiations Non-Agriculture Market Access (NAMA) are based on the Doha mandate of 2001 that calls for a reduction or elimination in tariff peaks, tariff escalation, high tariffs and non-tariff barriers, particularly on goods that are of export value and therefore of interest to developing countries.

NAMA refers to all those products that are not covered by the Agreement on Agriculture or the negotiations on services. In practice, NAMA products include manufacturing products, fuels and mining products, fish and fish products, and forestry products. The NAMA negotiations have been considered important by the WTO as NAMA products account for almost 90% of the world's mechandise exports.


ความล้มเหลวในการการประชุมนอกรอบระหว่างประเทศแกนนำในการเจรจาอันได้แก่ บราซิล อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่เมืองพอตส์ดัม ประเทศเยอรมนี เพื่อผลักดันการเจรจารอบโดฮาต่อไป เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ส่งผลให้ประธานกลุ่มการเจรจาประเด็นสินค้าเกษตร และสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลกต้องพยายามหาทางออกให้แก่การเจรจารอบโดฮาด้วยการเสนอโครงร่างข้อเสนอฉบับใหม่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2550 อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาตอบสนองโครงร่างข้อเสนอในประเด็นสินค้าอุตสาหกรรมของนาย Don Stephenson ประธานกลุ่มการเจรจาการเข้าถึงตลาดของสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตรด้วยท่าทีที่ไม่เป็นมิตรนัก

เสียงคัดค้านโครงร่างข้อเสนอดังกล่าวที่ดังชัดเจนที่สุดมาจากกลุ่มประเทศ NAMA-11 ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะกิจ (ad hoc) ของประเทศกำลังพัฒนาที่มีจุดยืนร่วมกันในประเด็นการเข้าถึงตลาดสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตร อันประกอบด้วยประเทศสมาชิกปัจจุบัน 10 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย นามิเบีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ ตูนิเซีย และเวเนซุเอลา (สาธารณรัฐประชาชนจีนเคยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก แต่มิได้แสดงจุดยืนร่วมกับกลุ่มนับตั้งแต่ต้นปี 2549)

โดยกลุ่ม NAMA-11 กล่าวว่า โครงร่างข้อเสนอที่ดีจำเป็นต้องมีศักยภาพในการสร้างพื้นฐานของการเจรจา พันธะสัญญาที่แท้จริง และฉันทามติร่วมกันของประเทศสมาชิก ซึ่งโครงร่างข้อเสนอดังกล่าวมิได้มีคุณสมบัติดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อโครงร่างข้อเสนอนี้จะส่งผลให้ประเทศสมาชิกต้องลดภาษีสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตรมากกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าเกษตร และยังเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนในเรื่อง 'วาระแห่งการพัฒนา' ซึ่งควรจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศกำลังพัฒนามากกว่าเหตุผลทางธุรกิจของประเทศพัฒนาแล้ว โดยควรเริ่มต้นจากการลดนโยบายที่เป็นการบิดเบือนการค้าสินค้าเกษตรของประเทศพัฒนาแล้ว ก่อนที่จะเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาเปิดตลาดสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตรเพิ่มเติมแต่โครงร่างข้อเสนอดังกล่าวกลับทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้อง 'วางเดิมพัน' ด้วยการเปิดเสรีสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตรในระดับสูง เพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้วตอบแทนด้วยข้อเสนอในประเด็นสินค้าเกษตรในระดับเดียวกัน

กลุ่ม NAMA-11 ชี้ว่า โครงร่างข้อเสนอดังกล่าวที่กำหนดให้ใช้สูตรสวิส (Swiss Formula) ในการเจรจา โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ที่ใช้ในสูตร (Coefficient) อยู่ระหว่าง 8 - 9 สำหรับประเทศพัฒนาแล้วและ 19 - 23 สำหรับประเทศกำลังพัฒนาประเด็นของสูตรการลดภาษี ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องลดภาษีมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วไม่เป็นไปตามหลักการต่างตอบแทนที่น้อยกว่าการต่างตอบแทนอย่างเต็มรูปแบบ (Less than Full Reciprocity: LTRF) นอกจากนี้ ข้อเสนอในการพัฒนาการเข้าถึงตลาดตามโครงร่างดังกล่าว ละเลยระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิก และไม่สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศตามวรรค 6 (Paragraph 6 Countries) ของกรอบความตกลงการเข้าถึงตลาดของสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตร ในกรอบการเจรจาเดือนกรกฎาคม 2004 (July Package 2004) และกลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปราะบาง(Small and Vulnerable Economies: SVEs) ทั้งที่ประเด็นการพัฒนาคือหัวใจหลักของการเจรจารอบโดฮา

นอกจากเสียงโจมตีโครงร่างข้อเสนอจากประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ก็แสดงท่าทีคัดค้านโครงร่างข้อเสนอดังกล่าวเช่นกัน โดยเลโซโทแสดงความเห็นว่า โครงร่างข้อเสนอดังกล่าวมิได้สะท้อนถึงข้อผูกพันที่ได้ตกลงกันเมื่อครั้งการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ฮ่องกง ในประเด็นการเข้าถึงตลาดสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ขณะที่ไนจีเรียแสดงความเห็นว่า ไนจีเรียไม่เชื่อว่า โครงร่างข้อเสนอของประธานกลุ่มการเจรจาฯ จะสามารถผลักดันการเจรจารอบโดฮาให้ก้าวหน้าต่อไปได้ เนื่องจากโครงร่างข้อเสนอดังกล่าวมิได้มี "วาระแห่งการพัฒนา" เป็นหัวใจหลัก

นาย Yonov Agah ทูตไนจีเรียประจำองค์การการค้าโลกกล่าวว่า การเจรจารอบนี้มิใช่รอบแห่งการเข้าถึงตลาด หากแต่เป็นรอบแห่งการพัฒนา ภาคหัตถอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวและเปราะบางของประเทศยากจนต้องไม่ถูกผลักดันเข้าไปสู่การแข่งขันจากต่างชาติ อันจะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับท้องถิ่น

จากการคัดค้านโครงร่างข้อเสนอดังกล่าว ทำให้นาย Don Stephenson แถลงในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มเจรจาการเข้าถึงตลาดของสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม 2550 ว่า จะมีการแก้ไขโครงร่างข้อเสนอดังกล่าวและเผยแพร่ให้ประเทศสมาชิกพิจารณาในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2550 ผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากคาดการณ์ว่า หากประเทศสมาชิกไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องกรอบการเจรจาทั้งในประเด็นสินค้าเกษตรและสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตรนี้ได้ภายในสิ้นปีนี้ การเจรจารอบโดฮาอาจต้องพบกับความล้มเหลวโดยมิพักต้องสงสัย ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า โครงร่างข้อเสนอฉบับแก้ไขของกลุ่มการเจรจาการเข้าถึงตลาดของสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตร จะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการมากขึ้นเพียงไร และจะได้รับเสียงตอบรับจากประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดอย่างไร

4. เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า กับ FTAs
สมคิด พุทธศรี (เอกสารข่าวฉบับที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑)

ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในรอบทศวรรษที่ผ่านมาคือ การเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศ สังคมเศรษฐกิจโลกหันมาใช้ยุทธศาสตร์การทำข้อตกลงการค้าเสรี เป็นกลไกหลักในการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน แทนที่การเจรจาการค้าพหุภาคีผ่านเวทีองค์การการค้าโลก (WTO) อันเป็นกลไกเดิมที่ชะงักงัน

ในฐานะสมาชิกชุมชนเศรษฐกิจโลก กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงกระบวนการไล่กวดการทำข้อตกลงการค้าเสรีได้ สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ดำเนินยุทธศาสตร์การทำข้อตกลงการค้าเสรี หลังจากนั้นภาคีอาเซียนอื่นๆ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาราม และอินโดนีเซีย ก็เริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้ยุทธศาสตร์เดียวกัน การผลักดันและส่งเสริมการค้าเสรีภายในอาเซียน การทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศนอกอาเซียน รวมไปถึงการทำข้อตกลงการค้าแบบภูมิภาคีกับประเทศที่สาม กลายเป็นวาระทางเศรษฐกิจที่ปรากกฎในพื้นที่สาธารณะเป็นประจำในสังคมเศรษฐกิจของประเทศที่กล่าวมาข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นข้อยกเว้นสำหรับประเทศภาคีใหม่อาเซียน อันได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) (*) ประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีบทบาทมากนักในกระบวนการไล่กวดการทำข้อตกลงการค้าเสรี (มีเพียงเวียดนามเท่านั้นที่เพิ่งเริ่มต้นเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น) และมักจะถูกผลักให้เป็นกลุ่มประเทศชายขอบของเวทีการค้าระหว่างประเทศอยู่เสมอ. การที่ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และข้อตกลงการค้าเสรีแบบภูมิภาคีกับประเทศที่สามที่ทำในนามของกลุ่มอาเซียน มีการบังคับใช้กับประเทศ CLMV ล่าช้ากว่าประเทศภาคีอื่นๆ หรือการที่ประเทศคู่เจรจามีท่าทีอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการที่จะเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศเหล่านี้ ล้วนเป็นประจักษ์พยานอันดีของความข้างต้น

(*)CLMV Cambodia, Laos, Myanmar and Vietnam (Asian sub-grouping)


คำถามพื้นฐานจึงมีอยู่ว่า เพราะเหตุใดกลุ่มประเทศภาคีใหม่อาเซียนนี้จึงยังมิอาจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเวทีการค้าระหว่างประเทศได้ โดยเฉพาะในบริบทของการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันที่มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีเป็นยุทธศาสตร์หลัก

ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนเห็นว่า ข้อจำกัดทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ CLMV เมื่อผสมโรงกับแรงกดดันจากพลวัตของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมเศรษฐกิจและการเมืองโลก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศ CLMV ยังมิอาจอยู่บนเส้นทางการทำข้อตกลงค้าเสรีได้ ลักษณะข้างต้นสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างน้อย 7 ประการ ดังนี้

ประการแรก เศรษฐกิจของประเทศ CLMV อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน วาระสำคัญจึงอยู่ที่การปฏิรูปเชิงสถาบันภายในประเทศหลายๆ ด้าน สำหรับการค้าระหว่างประเทศวาระสำคัญคือ การผนึกตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเศรษฐกิจโลกให้แนบแน่นกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพยายามที่จะเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก กระบวนการต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเวลา แรงงาน หรือทุน ผลที่ตามมาก็คือ กระบวนการอื่นๆ รวมถึงการทำข้อตกลงการค้าเสรีต้องถูกจำกัดทรัพยากร และมิอาจเกิดขึ้นได้

ประการที่สอง ประเทศ CLMV มีโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินเฉพาะแบบของตน ระบบเศรษฐกิจมีการวางแผนจากส่วนกลางเป็นแนวทางหลัก การบริหารนโยบายเศรษฐกิจเช่นนี้แม้จะมีจุดแข็งหลายประการ แต่ก็มีจุดด้อยอยู่เช่นกัน. จุดด้อยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ การขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถแข่งขันได้ ฉะนั้นแล้วจึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import substitution) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ การใช้นโยบายที่มีลักษณะเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อกระบวนการเปิดเสรีทางการค้า

ประการที่สาม ประเทศ CLMV พึ่งพิงการเก็บภาษีศุลกากรเป็นรายได้หลักมาโดยตลอด กระบวนการเปิดเสรีใดๆ ย่อมส่งผลให้รายได้ของรัฐลดลง ในการแก้ปัญหานี้รัฐจำเป็นต้องหารายได้มาทดแทน แต่ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเล็กทำให้การแสวงหาภาษีประเภทอื่นมาชดเชย ย่อมเป็นไปได้อย่างยากลำบาก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ด้วยโครงสร้างรายได้ของประเทศ CLMV จำต้องเผชิญต้นทุนในการเปิดเสรีทางการค้าค่อนข้างสูงโดยเปรียบเทียบ

ประการที่สี่ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งของข้อตกลงการค้าเสรีในหลายๆ ข้อตกลงคือ เป็นรูปธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความใกล้ชิดทางการค้าและการลงทุนโดยพฤตินัยกับประเทศคู่ค้าที่ร่วมตกลงกัน เมื่อพิจารณาในกรณีของประเทศ CLMV จะเห็นว่า การมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมค่อนข้างต่ำ ย่อมทำให้สัมพันธ์ที่มีกับประเทศคู่ค้าต่ำไปด้วย การที่เวียดนามเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงกว่าใครเพื่อน ย่อมทำให้มีโอกาสในการเจรจาการค้าเสรีมากกว่าด้วยเช่นกัน

ประการที่ห้า การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายในรูปทรัพยากรมนุษย์ เวลา และโอกาสในการเจรจากับประเทศอื่นๆ การที่เศรษฐกิจของประเทศ CLMV มีขนาดค่อนข้างเล็กโดยเปรียบเทียบ ผลประโยชน์ที่เกิดจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีจึงไม่มากพอที่จะดึงดูดให้ประเทศคู่ค้ายอมเสียต้นทุนที่จะเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีด้วย

ประการที่หก ประเทศ CLMV ล้วนขาดประสบการณ์ในการเจรจาบนเวทีการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าพม่าจะเป็นสมาชิกดั้งเดิมของ GATT และเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกตั้งแต่ก่อตั้งมา แต่ก็มีบทบาทน้อยมากอันเนื่องมาจากปัญหาภายในของตน ในขณะที่กัมพูชาและเวียดนามก็เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี 2547 และต้นปี 2550 ตามลำดับ ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาหลังจากที่การเจรจาการค้าพหุภาคีผ่านองค์การการค้าโลกประสบปัญหาและเริ่มมีบทบาทลดลง ส่วนลาวนั้นยังไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก บริบทที่กล่าวมาย่อมส่งผลให้ประเทศ CLMV ขาดโอกาสที่จะฝึกภาคสนามในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ประการที่เจ็ด ปัญหาการเมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ เป็นเหตุให้กระบวนการเปิดเสรีของประเทศ CLMV ไม่อาจเกิดหรือเกิดขึ้นช้ากว่าที่ควรจะเป็น ความสัมพันธ์อันย่ำแย่ระหว่างเวียดนามกับสหรัฐอเมริกาหลังสงครามเย็น และการคว่ำบาตรพม่าจากปัญหาประชาธิปไตยภายในประเทศนั้น เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจความข้างต้นได้เป็นอย่างดี แรงกดดันของประเทศมหาอำนาจนี้มิได้ส่งผลกระทบเฉพาะแต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งกระทบไปยังความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนาม/พม่ากับประเทศอื่นๆ ด้วย แม้แต่ภาคีอาเซียนซึ่งถือว่าเป็นมิตรที่ใกล้ชิดที่สุด ยังได้รับผลกระทบจากแรงกดดันดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รูปธรรมทั้งเจ็ดประการข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นว่า หากประเทศ CLMV ต้องการที่จะเข้ามาอยู่บนเส้นทางการทำข้อตกลงการค้าเสรี กระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศต้องมีทั้งมิติด้านความเร็วและมิติด้านประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและอยู่รอดจากการแข่งขันที่รุนแรงในสังคมเศรษฐกิจโลกได้

5. Food Aid ขัดต่อกฎกติกา WTO หรือไม่
วิโรจน์ สุขพิศาล (เอกสารข่าวฉบับที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๑)

ความช่วยเหลือด้านอาหาร (Food Aid) (*) เป็นธุรกรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือในรูปของสินค้าทางด้านอาหาร แก่ประเทศที่มีความจำเป็นที่จะรับความช่วยเหลือประเภทนี้. สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร โดยเริ่มต้นในปี พ.ศ.2493 ซึ่งเหตุผลของสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารก็เพื่อขจัดสินค้าเกษตรส่วนเกินภายในประเทศและเหตุผลทางการเมือง

(*)Food aid is aid in which food is given, often for humanitarian reasons. Food aid programs include USDA Foreign Agricultural Service and the UN World Food Programme.


จากแนวโน้มที่เพิ่มสูงของการให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ในฐานะเป็นเครื่องมือในการกำจัดผลผลิตส่วนเกินภายในประเทศ นำไปสู่การกำหนดหลักการจำหน่ายส่วนที่เกิน (The FAO Principles of Surplus Disposal) ขององค์การอาหารและเกษตร (FAO) ในปี พ.ศ.2497 โดยมีหลักการสำคัญคือ การให้ความช่วยเหลือด้านอาหารเพื่อเพิ่มพูนการบริโภคภายในประเทศผู้รับ ต้องไม่สร้างความเสียหายแก่ผู้ส่งออกและผู้ผลิตในประเทศผู้รับบริจาค รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยการจำหน่ายส่วนที่เกิน (Consultative Sub-Committee on Surplus Disposal: CSSD) เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านอาหารและธุรกรรมเกี่ยวกับความช่วยเหลือ

ความช่วยเหลือด้านอาหารเริ่มเป็นที่สนใจของการเจรจาองค์การการค้าระหว่างประเทศในการประชุมรอบอุรุกวัย ข้อตกลงรอบอุรุกวัยได้กล่าวถึงความช่วยเหลือด้านอาหารในความตกลงว่าด้วยการเกษตร (Agreement on Agriculture) ข้อ 10.4 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ food aid จะต้องไม่ผูกมัดกับการผลิตด้านการเกษตรแก่ประเทศผู้รับบริจาค. food aid ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ FAO "หลักการจำหน่ายส่วนที่เกิน และพันธะกรณีที่ต้องปรึกษา" (Principles of Surplus Disposal and Consultative Obligations) รวมทั้ง ในกรณีที่เหมาะสมระบบของข้อกำหนดทางการตลาดทั่วไป (Usual Marketing Requirements: UMRs) และความช่วยเหลือด้านอาหารต้องอยู่ในรูปการให้เปล่าอย่างเต็มที่ หรือภายใต้เงื่อนไขที่ลดหย่อนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ของอนุสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือด้านอาหาร 1986 (1986 Food Aid Convention) เท่าที่จะเป็นไปได้

กลุ่มประเทศสมาชิกเห็นว่า แนวทางปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ในข้อตกลงรอบอุรุกวัยไม่เข้มงวดเท่าที่ควร ในหลายครั้งความช่วยเหลือด้านอาหาร (food aid) ก่อให้เกิดการบิดเบือนทางการค้า เนื่องจากความช่วยเหลือด้านอาหารถูกใช้เป็นเครื่องมือในการอุดหนุนการส่งออก และเพื่อสนับสนุนการขยายการส่งออกในอนาคต นอกจากนั้นความช่วยเหลือด้านอาหารยังอาจไปแทนที่การผลิตในประเทศที่รับบริจาค ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกภายในประเทศผู้รับบริจาค ซึ่งความช่วยเหลือด้านอาหารอาจขัดต่อจุดมุ่งหมายในประเด็นเรื่องการเกษตรของข้อตกลงของ WTO คือ ลดการบิดเบือนในผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลก การบิดเบือนทางการค้าที่ WTO มุ่งหมายจะกำจัดประกอบไปด้วย กำแพงภาษีศุลกากร (tariffs), การอุดหนุนเพื่อการเกษตรภายในประเทศ และการสนับสนุนที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก

สหรัฐอเมริกาถูกมองว่า การให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือโดยมีข้อผูกมัด และการให้ความช่วยเหลือโดยนำสินค้าในความช่วยเหลือไปแลกเปลี่ยนเป็นเงิน(Monetization) ก่อให้เกิดการบิดเบือนในผลผลิตทางการเกษตร. กลุ่มสหภาพยุโรปเสนอว่า การให้ความช่วยเหลือด้านอาหารควรให้เป็นเงินสด แทนการให้ความช่วยเหลือด้วยโภคภัณฑ์อื่น (in-kind) เนื่องจากมีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ดีกว่า, ในขณะที่สหรัฐฯ เห็นว่า การให้ความช่วยเหลือด้วยเงินสดจะเผชิญกับปัญหาความไม่โปร่งใสและการคอร์รัปชั่น. นอกจากนั้น สหรัฐฯยังเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองจากกลุ่มธุรกิจการเกษตร
และการธุรกิจขนส่งทางทะเลในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายความช่วยเหลือด้านอาหารของสหรัฐฯ

จากกฎระเบียบของการให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ในข้อตกลงรอบอุรุกวัยที่ไม่เข้มงวดเท่าที่ควร นำไปสู่ข้อเรียกร้องของสมาชิกให้มีการแก้ไขความตกลงว่าด้วยการเกษตร(Agreement on Agriculture) ให้มีแนวทางปฏิบัติที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อมิให้ประเทศผู้บริจาคนำความช่วยเหลือด้านอาหารไปใช้เป็นเครื่องมือในการอุดหนุนการส่งออก และเพื่อให้ความช่วยเหลือสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศผู้รับบริจาคได้อย่างเหมาะสม และทันต่อความต้องการในกรณีฉุกเฉิน

คณะกรรมาธิการการเกษตร (committee on Agriculture) ขององค์การการค้าระหว่างประเทศได้แก้ไขความตกลงว่าด้วยการเกษตรข้อ 10.4 (JOB(07)/128) โดยร่างความตกลงนี้กำหนดให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ควรอยู่ในรูปการให้เปล่าอย่างเต็มที่ และควรให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของประเทศผู้รับบริจาค ทั้งยังกำหนดให้ประเทศผู้บริจาคควรจัดหาอาหารในความช่วยเหลือจากประเทศผู้รับบริจาคหรือภูมิภาคใกล้เคียง นอกจากนั้นยังกล่าวถึง Safe box สำหรับความช่วยเหลือในกรณีเร่งด่วน ซึ่งห้ามให้ความช่วยเหลือโดยวิธี monetization และยังกำหนดให้ประเทศผู้บริจาคต้องรายงานข้อมูลการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่คณะกรรมาธิการการเกษตร (committee on Agriculture)

กลุ่มประเทศสมาชิกองค์การการค้าระหว่างประเทศต่างหวังว่า ร่างความตกลงว่าด้วยการเกษตรข้อ 10.4 ใหม่นี้ จะเป็นแนวปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านมนุษยธรรมอย่างแท้จริง โดยมิได้นำความช่วยเหลือนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ประเทศของตน

6. ความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง
(Anti-Counterfeiting Trade Agreement)
สุนทร ตันมันทอง (เอกสารข่าวฉบับที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๑)

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2550 สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเป็นแกนนำในการประกาศการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง (Anti-Counterfeiting Trade Agreement: ACTA) อย่างเป็นทางการร่วมกับอีก 5 ประเทศอันได้แก่ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ เม็กซิโก และเกาหลีใต้ ทั้งนี้เพื่อเสริมเครื่องมือที่มีอยู่หลังจากการแก้ปัญหาในแนวทางพหุภาคีและทวิภาคีที่ผ่านมาไม่สัมฤทธิ์ผล ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากำลังลุกลามจนกลายเป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว

ปัญหาการปลอมแปลงและลอกเลียนแบบสินค้าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเงาตามความคิดริเริ่ม (Idea) และนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความคิดริเริ่มและนวัตกรรมเหล่านั้นมีมูลค่าในเชิงพาณิชย์. ในเบื้องต้น รัฐตะวันตกได้ให้สิทธิ์ผูกขาดแก่บุคคลหรือผู้ประกอบการเจ้าของความคิดริเริ่มและนวัตกรรมดังกล่าว หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Right) โดยแบ่งเป็นสามประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

- ลิขสิทธิ์ (Copyright)
- เครื่องหมายทางการค้า (Trademark) และ
- สิทธิบัตร (Patent)

เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ก็กลายเป็น "ดาบสองคม" สำหรับประเทศศูนย์กลางความคิดริเริ่มและนวัตกรรม เพราะถึงแม้จะครองส่วนแบ่งก้อนใหญ่จากการค้าระหว่างประเทศ ที่ขยายตัวผ่านช่องทางและนวัตกรรมใหม่ๆ แต่การละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และมีความซับซ้อนมากขึ้นจนความพยายามในการแก้ปัญหาที่มีอยู่ตามไม่ทัน

ประวัติ: ความพยายามแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ประเทศตะวันตกพยายามแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามานาน ความพยายามครั้งแรกเกิดขึ้นในอนุสัญญากรุงปารีส (Paris Convention 1884) ในปี พ.ศ.2427 เพื่อคุ้มครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property) ต่อมาในปี พ.ศ.2429 มีการจัดทำอนุสัญญากรุงเบิร์น (Berne Convention 1886) เพื่อคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในงานวรรณกรรมและงานศิลปะ แต่การควบคุมปัญหาการละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญายังคงเป็นไปได้ยาก เหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือ การขาดความร่วมมือจากรัฐอื่นๆ ส่วนใหญ่มีเพียงประเทศอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น ที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว

การแก้ไขปัญหาการละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง หลังการจัดตั้งองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ในปี พ.ศ.2510 และถูกผนวกเป็นองค์กรหนึ่งในองค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ.2517. อย่างไรก็ดี WIPO ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเครื่องมือในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่มากกว่าจะเป็นตัวแทนของประชาชนของรัฐสมาชิก นอกจากนี้ WIPO ยังขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาสามารถใช้สิทธิ์ยับยั้งสนธิสัญญาหลายฉบับ

ในช่วงทศวรรษ 2500 และ 2510 ตามหลักการตัดสินใจแบบฉันทามติ จนประเทศอุตสาหกรรมเริ่มย้ายเวทีไปผลักดันการเจรจาในเวทีแกตต์ (GATT) ในช่วงทศวรรษ 2520 และประสบความสำเร็จเป็นความตกลงว่าด้วยกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS Agreement) ในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย

ความตกลงทริปส์วางมาตรฐานขั้นต่ำจากความตกลงระหว่างประเทศที่มีอยู่ในการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเกือบทุกประเภท และผูกพันประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกกว่า 150 ประเทศ รวมไปถึงการระงับข้อพิพาททางการค้าที่รองรับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามพันธกรณีในความตกลงทริปส์ของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมยอมผ่อนปรนในเรื่องการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เกิดผลด้านมนุษยธรรมจากองค์การการค้าโลก สู่มวลมนุษยชาติผ่านปฏิญญาว่าด้วยกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและสาธารณสุข ซึ่งมีผลอนุโลมให้ประเทศด้อยพัฒนาสามารถนำเข้ายาราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนา ที่ได้รับอนุญาตให้สามารถผลิตยาจากประเทศเจ้าของสิทธิบัตรภายในปี พ.ศ.2559

มูลค่าการค้าสินค้าปลอมแปลง 2 แสนล้าน
อย่างไรก็ดี ภายหลังการบังคับใช้ความตกลงดังกล่าวเป็นระยะเวลาร่วมสิบกว่าปี ตัวเลขสถิติการละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญากลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น องค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประมาณการณ์ว่า มูลค่าการค้าสินค้าปลอมแปลงและลอกเลียนแบบคิดเป็นร้อยละ 2 ของมูลค่าการค้าโลกหรือเท่ากับ 200 พันล้านดอลลาร์อเมริกันต่อปี (สองแสนล้าน) ซึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศส่วนใหญ่ในโลก. ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯประเมินว่า ปัญหาดังกล่าวเป็น "ภัยคุกคาม" (Threat) ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก และจำเป็นที่จะต้องหาทางต่อสู้กับภัยคุกคามดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มต้นที่ปัญหาการปลอมแปลงและลอกเลียนแบบสินค้า

การแก้ปัญหา และการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง
ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นหันมารื้อฟื้นแนวทางการแก้ปัญหาโดยการริเริ่มจากความตกลงหลายฝ่าย (Plurilateral Agreement) เป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ของความตกลงฉบับนี้ย่อมเล็งไปที่จีนและรัสเซีย. ก่อนหน้านี้ ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกล่าวตำหนิอย่างตรงไปตรงมาถึงปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีนและรัสเซีย และพยายามใช้ช่องทางที่มีอยู่กดดันและต่อรองทั้งสองประเทศ เช่น การเจรจาเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก การฟ้องร้องในองค์การการค้าโลก รวมไปถึงการใช้มาตรการพิเศษ 'Special 301' ของสหรัฐฯ เป็นต้น

การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลงยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น เป้าหมายของความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง อยู่ที่การสร้างมาตรฐานร่วมกัน (Common Standard) ในการบังคับใช้มาตรการปกป้องกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา หรือที่พยายามเรียกขานกันว่า จะเป็น "มาตรฐานทองคำ" ของทรัพย์สินทางปัญญา (Gold Standard on Intellectual Property) ทั้งนี้เหตุที่การแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ผ่านมาขาดประสิทธิภาพเป็นเรื่องของตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ในประเทศว่า รัฐอื่นๆจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่หรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นหลังซึ่งประเทศอุตสาหกรรมเห็นว่า เป็นปัญหาสำคัญของประเทศด้อยพัฒนาที่ผูกพันตามความตกลงทริปส์

การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลงอย่างเป็นทางการคาดว่า จะเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2551 โดยสหรัฐฯคาดหวังว่า จะเร่งเจรจาให้เสร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โจทย์ต่อไปสำหรับการจัดทำความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลงคือ จะจูงใจประเทศที่ล้มเหลวในเรื่องตัวบทกฎหมายภายในและการบังคับใช้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้าร่วมในความตกลงโดยสมัครใจอย่างไร สหภาพยุโรปประกาศไปแล้วว่า จะให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิควิชาการ (Technical Assistance) และกลไกในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Mechanism) แก่ประเทศด้อยพัฒนาที่เข้าร่วม ในการเจรจาที่เพิ่งเริ่มต้นและต้องดำเนินต่อไปอีกยาวไกล นี่คงมิใช่ข้อเสนอจูงใจสุดท้ายที่ประเทศอุตสาหกรรมจะยื่นให้เป็นแน่

คลิกไปอ่านต่อเอกสารข่าวเกี่ยวเนื่อง

 


++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 2 April 2008 : Copyleft by MNU.
การเจรจารอบโดฮาเริ่มออกอาการโคม่า หลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกในปี พ.ศ.๒๕๔๖ จบลงโดยไร้ข้อสรุปใดๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการเจรจารอบโดฮาต่อไป ที่ประชุมครั้งนั้นไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องสินค้าเกษตร และเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมที่สิงคโปร์ (Singapore Issues) หลังจากแคนคูน. รอบโดฮาก็อยู่ในสภาพไร้ทิศทาง ประเทศสมาชิกกว่า ๑๕๐ ประเทศตกลงกันได้เพียง กำหนดการในการขจัดการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรในปี พ.ศ.๒๕๕๖ เท่านั้น. ในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ฮ่องกงในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๔๘ แม้ว่าจะมีความพยายามในการฟื้นการเจรจารอบโดฮาหลายครั้ง แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่สามารถเป็นแรงผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาหลุดออกจากหล่มได้
H
โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก: WTO Watch คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว.