ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



17-03-2551 (1510)

๖ เดือนที่แล้วกับคำสัมภาษณ์ไชยันต์ รัชชกูล ถึงแนวคิดพหุนิยมของธีรยุทธ บุญมีเมื่อเร็วๆ นี้
ไชยันต์ รัชชกูล: รัฐประหารยังคงเกิดขึ้นได้ ถึงแนวคิดพหุนิยมของธีรยุทธ บุญมี
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
บทสัมภาษณ์เมื่อ ๖ เดือนที่แล้วจากประชาไทออนไลน์ และคำบรรยายเมื่อเร็วๆ นี้

บทสัมภาษณ์และคำบรรยายต่อไปนี้ รวบรวมมาจากเว็บประชาไทออนไลน์ ประกอบด้วย
๑. สัมภาษณ์ ไชยันต์ รัชชกูล: อนาคตข้างหน้าอาจจะได้ชันสูตร และพบว่า อาจเป็นก้าวที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง
๒. ธีรยุทธ บุญมี : 'อัตลักษณ์' เป็นปัญหาที่ประเทศไทยและทั้งโลกต้องเผชิญหน้า

โดยเรื่องแรกเกี่ยวกับ การให้สัมภาษณ์ของ ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ในวาระครบรอบ ๑ ปี การรัฐประหาร ๑๙ กันยา
มีการพูดถึงภาพกว้างของความขัดแย้งและการบาดลึกระหว่างเมืองกับชนบท, ความหวงอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่า
ที่ไม่ยินยอมกระจายอำนาจให้กับราษฎรตามระบอบประชาธิปไตย เงื่อนไขของการต่อสู้และความขัดแย้งจึงยังคง
ดำเนินต่อไปอีกหลายครั้งหลายครา ประวัติศาสตร์ภายหน้าจะทำหน้าที่ชันสูตรพลิกศพปัจจุบันในอนาคต

ส่วนเรื่องที่สอง เป็นการเก็บคำบรรยายของ ดร.ธีรยุทธ บุญมี เรื่องพหุนิยมกับพหุความเป็นไทย
เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๐ ซึ่งได้พูดถึงความเปลี่ยนแปลงไปของจินตนาการและวาทกรรมต่างๆ
ในประวัติศาสตร์ไทย เกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ความเป็นไทย ประชาธิปไตย และโลกาภิวัตน์
ตลอดรวมถึงแนวคิดพหุนิยม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม พหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกระแสหลังสมัยใหม่
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๑๐
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๐ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๖ เดือนที่แล้วกับคำสัมภาษณ์ไชยันต์ รัชชกูล ถึงแนวคิดพหุนิยมของธีรยุทธ บุญมีเมื่อเร็วๆ นี้
ไชยันต์ รัชชกูล: รัฐประหารยังคงเกิดขึ้นได้ ถึงแนวคิดพหุนิยมของธีรยุทธ บุญมี
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
บทสัมภาษณ์เมื่อ ๖ เดือนที่แล้วจากประชาไทออนไลน์ และคำบรรยายเมื่อเร็วๆ นี้

๑. สัมภาษณ์ ไชยันต์ รัชชกูล: อนาคตข้างหน้าอาจจะได้ชันสูตร และพบว่า อาจเป็นก้าวที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง

ความนำ (จากประชาไท)
ออกตัวกันก่อนว่า บทสัมภาษณ์นี้ไม่ขอพูดถึงอนาคต ส่วนหนึ่งคงมาจากจากผู้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าไม่มีศาสตร์ความรู้ใดในสังคมศาสตร์จะคาดการณ์อนาคตได้ เว้นเสียแต่โหราศาสตร์ ถึงกระนั้นการพูดถึงอดีตอย่างรอบคอบจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการก้าวเดินไปในอนาคตข้างหน้าได้อย่างระมัดระวัง
อย่างไรก็ตาม 15 ปี ที่ผ่านมานี้ แม้จะระมัดระวังที่สุดแล้ว แต่สุดท้ายในวันที่ 19 กันยายน 49 ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นท่ามกลางเสียงชื่นชมและก่นด่าพอๆ กัน ซึ่งในอีกไม่กี่วันต่อไปนี้กำลังจะครบรอบ 1 ปี ของการรัฐประหารครั้งนั้นอันกระทำโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ที่กลายร่างมาเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในภายหลัง

ในรอบเกือบ 1 ปี ของการรัฐประหารที่ผ่านมาก็ได้ผ่านไปแล้วเช่นกัน กับปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญวันที่ 19 สิงหาคม 50 เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการลงประชามติอย่างมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้สืบสาวต่อ โดยเฉพาะผลของประชามติในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สวนกระแส 'รับ' อย่างมีนัยยะสำคัญ. จากภาพสะท้อนของผล 'ประชามติ' ครั้งประวัติศาสตร์ และการมี 'รัฐธรรมนูญใหม่' ที่กำลังจะนำไปสู่ 'การเลือกตั้ง' ทั้งหมดล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากการ 'รัฐประหาร' ทั้งสิ้น ซึ่งสามารถขมวดเข้าไปได้กับการเดินทางของประชาธิปไตยอันมีการรัฐประหารและพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในรอบ 75 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอดีตในรอบ 1 ปี กับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในรอบ 75 ปี จำเป็นจะต้องถูกชันสูตรพลิกศพครั้งใหญ่กันสักครั้ง เพื่อจะได้ระแวดระวังอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในภายภาคหน้า

'ประชาไท' จึงขอนำบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล นักวิชาการจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สามารถบอกได้ค่อนข้างเต็มปากว่าเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ผู้ถือเป็นมือมีดชำแหละอดีตคนสำคัญของสังคมไทย มาเสนอ…
สัมภาษณ์โดย ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ขอย้อนกลับไปช่วงก่อนวันที่ 19 สิงหาคม 50 ทำไมจึงไปรณรงค์ไม่รับร่างรับธรรมนูญ พ.ศ. 2550
แต่แรกก็ไม่ได้คิดอะไรมาก รู้สึกหดหู่ด้วยซ้ำที่ใครๆ เขาก็ว่ากันว่า มันต้องผ่านฉลุยแน่ๆ. ที่เชียงใหม่นี้ผมไม่ได้สังกัดองค์กรใด ผิดกับเมื่อสมัยอยู่กรุงเทพฯ ตอนนั้นอยู่ ครป. (สมัย อ.โคทม อารียา) ก็ทำงานร่วมกับพรรคพวกเพื่อนฝูงเป็นกลุ่ม ส่วนที่เราทำมันเป็นส่วนของทั้งหมด แต่ที่นี่ก็ทำไปแบบแก้กลุ้มของคนหงุดหงิดมากกว่า เรื่องของเรื่องก็คือมีโปสเตอร์รณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 ส่งมาแถวภาควิชาประวัติศาสตร์ มช. เยอะแยะมาก แต่ไม่มีจุดที่รณรงค์ แม้กระทั่งโปสเตอร์ที่ติดอยู่หน้าภาควิชาฯ ตอนแรกก็ยังมีคนเก็บไปด้วยซ้ำ ที่อื่นๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือในเมืองก็เกือบไม่มีการติดเลย ผมเพียงคิดแต่จะเอาไปกระจายเพื่อระบายออกไป ไม่อย่างนั้นจะเสียเปล่า ทีแรกก็นำไปติดในหมู่บ้านผม แต่ก็ติดที่ไหนไม่ได้เลยเช่นกัน เมื่อไปติดที่รั้วบ้านตัวเอง ยังไม่ถึงชั่วโมงก็มีคนดึงไปแล้ว

ที่ติดไม่ได้ก็เพราะมันเหมือนคล้ายกับการยั่วยุต่อทางราชการ พอติดแล้ว เดี๋ยวตำรวจก็มา เดี๋ยวเจ้าหน้าที่อำเภอก็มา แต่เขาก็จะไม่เจาะจงว่าใครเป็นคนทำ จะระบุว่าหมู่บ้านนี้ทำ ตีขลุมไปทั้งหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านจะเดือดร้อนไปด้วย เราต้องเข้าใจเงื่อนไขนี้. ต่อมา 'เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร' ส่งใบปลิวเป็นรูปหนังสือขนาดเท่าฝ่ามือมา รูปแบบนี้แจ๋วมากใช้รณรงค์ได้ผลกว่า เพราะเราสามารถนำไปแจกทีละคนได้ เขารับไปแล้ว นำไปอ่าน ก็ไม่ต้องไปประกาศอะไรให้กระโตกกระตาก ผมคิดว่าคนที่อ่อนแอในสังคมไทยก็มีวิธีการสู้ของเขาโดยใช้วิธีไม่โฉ่งฉ่าง

พอเริ่มต้นแจก มีคนรับ ก็ย่ามใจขึ้น เอาติดตัวไปแจกทุกที่ ประชุมผู้ปกครองนักเรียนก็เอาไปแจก ไปร้านอาหารก็แจกทั้งร้าน ไปเชียงรายก็ขนไปด้วย เจอใครแจกได้ก็แจก ตอนหลังได้เรียนรู้ว่า จะมีคนไม่ชอบหรือไม่พอใจเพราะเขาจะรับรัฐธรรมนูญ เขาจะไม่รับที่เราไปแจกเลย แต่ในภาพรวมๆแล้วกลุ่มนี้มีไม่มาก ส่วนในทางไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นมีเยอะกว่ามาก แจกไปแจกมาบางทีมีคนขอหลายๆ เล่มนำไปช่วยแจก หรือบางกรณีอย่างครั้งหนึ่งในที่ประชุม อบต. เมื่อนำไปแจก ปรากฎว่าเขาไม่อยากให้ฝ่ายราชการจากอำเภอหรือจังหวัดเห็น เขาก็เอาไปไว้ใต้ผ้าคลุมโต๊ะ ค่อยๆ แอบแจกคนละเล่มสองเล่ม ผมได้กำลังใจเยอะเลย วิธีการแก้กลุ้มของผมก็ไม่เลวนะ. ตอนก่อนจะรู้ผลประชามติ ผมจึงมีโพลตัวเองว่าในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่จะมีคนไม่รับค่อนข้างมาก แต่แน่นอนที่ "กลุ่มตัวอย่าง" เป็นแบบมวยวัด แม้กระนั้นผมก็คาดเดาว่า ผลประชามติไม่น่าจะออกมาว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญกันอย่างท่วมท้น อย่างที่โพลหลายๆ สำนักว่า

การที่ใน 2 จังหวัดดังกล่าว ผลประชามติออกมาก้ำกึ่งกัน เป็นไปตามโพลส่วนตัวหรือไม่
การคาดการณ์มันผสมปนอยู่กับความปรารถนา ผมหวังว่าฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะชนะ แต่ในเมื่อทั่วประเทศแล้วมันแพ้ ก็รู้สึกเสียใจที่รัฐธรรมนูญนี้มันผ่าน ผมก็หวังว่าใน 2 จังหวัดนี้จะมีเสียงค้านมากกว่านี้ แต่หากเทียบกับที่มีคนปรามาสเอาไว้ถือว่าดีกว่า. คนที่ปรามาสมีทั้งฝ่ายราชการหรือฝ่าย Liberal กลางๆ ซึ่งเกือบจะไม่มีฝ่ายไหนเลยที่เห็นว่าจะมีคนไม่รับมากขนาดนี้ ความคิดว่าไม่ผ่านมีน้อยมาก มีช่วงปลายๆ เท่านั้น โพลส่วนตัวของผมก็ผิดเหมือนกับโพลอื่นๆ แต่มันช่วยให้ผมประเมินเอง ไม่ใช่รับจากข่าว หรือที่เขาว่าๆ กัน

บรรยากาศการปิดกั้นการรณรงค์ของฝ่ายไม่รับ มีผลต่อประชามติครั้งนี้หรือไม่
คิดว่ามีผลมาก โดยเฉพาะแก่คนที่ไม่แน่นอนไปในทางใดทางหนึ่ง จึงยังลังเลอยู่ และเมื่อรวมกับเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ใช่บรรยากาศการขวางการณรงค์อย่างเดียว เช่น บางคนขอให้มีการเลือกตั้งก็พอ หรือขออย่าให้บ้านเมืองวุ่นวาย หรือเชื่อว่ารับก่อนแล้วไปแก้ทีหลังได้ รวมกระทั่งด้วยเหตุผลว่า ไหนๆ ก็ไหนๆแล้ว เดี๋ยวจะไปได้ฉบับที่แย่กว่านี้อีก อย่างที่พวก คมช. ขู่ไว้ เลยรับๆ ไปเถอะ เมื่อรวมกันเข้าไปทำให้มีผลต่อการลงประชามติ

ทำให้มีประเด็นต่อไปว่า ผลที่ต่างกันคือไม่รับ 10 ล้าน กับรับ 14 ล้านนั้น น้ำหนักไม่ถ่วงกันมาก ชนะไม่ขาดลอย ฝ่ายที่รับ ก็รับด้วยเหตุผลนอกเหนือจากตัวบทรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก ในบรรดาคนที่ลงคะแนนรับก็ใช่ว่าจะเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ก็ยอมรับไปก่อน ดังนั้นเมื่อคะแนนออกมาแบบนี้มันก็มีเหตุผลหนักแน่นมากเลยที่รัฐธรรมนูญควรจะแก้ไข แต่จะแก้ได้หรือไม่และจะต้องออกแรงกันอีกเท่าไรนั้น เป็นคำถามใหญ เหตุผลหนักแน่นที่ต้องการให้แก้ไข เพราะฝ่ายที่รับนั้นถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ใช่ว่าจะดี ดังนั้นเมื่อรับไปแล้ว เหตุผลที่กลัวจะวุ่นวายบ้าง อยากให้เลือกตั้งบ้าง ก็ไม่เป็นเหตุผลอีกต่อไป ดังนั้นก็ต้องแก้ไขได้ แม้กระทั่งฝ่ายราชการเองก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้วิเศษเลิศเลอ แม้มีข้อดีแต่มันก็มีข้อเสียด้วย ทำไม่ถึงไม่ยอมแก้บางข้อเสียเล่า

การรับร่าง รัฐธรรมนูญ 2550 จะส่งผลอย่างไรต่อไป
คำถามนี้ให้เรากำลังพูดถึงเหตุการณ์ไปข้างหน้า มีนักวิชาการที่ผมเคารพบอกว่าจะเกิด Political Tsunami (ซึนามิทางการเมือง) บางคนบอกว่าจะมีการพลิกแผ่นดิน แต่คิดว่าไม่มีศาสตร์ไหนในสังคมศาสตร์ที่สามารถพูดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า มีสาขาเดียวที่ทำได้คือโหราศาสตร์ ส่วนประวัติศาสตร์นั้นสันทัดเรื่องชันสูตรพลิกศพ แล้วบ่อยๆ จะเห็นว่า เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่า ข้อคิดของคนร่วมสมัยในเวลานั้นมันไม่เป็นไปอย่างที่คิดกัน หรือ ทำนายว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้. เช่นเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 10 ปี หรือ 100 ปี เมื่อนักประวัติศาสตร์ไปศึกษาจะเห็นว่า คนในสมัยนั้นเมื่อคิดว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ก็จะพบว่าส่วนมากจะไม่ถูก เพราะการกระทำของมนุษย์มันเป็น Logic (ตรรกะ)ที่ลึกลับ ส่วนหนึ่งที่ประวัติศาสตร์น่าตื่นเต้น เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า วิชาประวัติศาสตร์จะคอย 'เช็คบิลล์' ศาสตร์ต่างๆ ที่ชอบทำ forecast (พยากรณ์) ผมชอบอ่านหนังสือพิมพ์เก่าๆ ประการแรกเพราะไม่ต้องเสียสตางค์ ประการที่สองจะได้รู้ว่าหนังสือพิมพ์ที่ออกมาวันนั้นๆ มันผิดอย่างไร

ขอถามถึงความหมายของตัวเลข 10 ล้านเสียงแทนแล้วกันครับ
ผมเคยทำงานเป็นผู้ประสานงานองค์กรกลางในภาคอีสานตอนบน และไม่มีปัญหาเลยในการหาคนทำงานที่จะมาเป็นผู้ประสานงานและอาสาสมัครองค์กรกลางในจังหวัดเหล่านี้ เขาขันแข็งกันมาก แต่พื้นที่ที่มีปัญหาในการหาอาสาสมัครกลับเป็นในพื้นที่กรุงเทพฯ เขาว่ากันว่า คนที่อยู่เมืองหลวงนั้นเจริญในความสำนึกประชาธิปไตย เป็นประชากรส่วนสำคัญในเชิงพัฒนาประชาธิปไตย แต่ส่วนตัวกลับไม่เห็นอย่างนั้น ทฤษฎีที่ว่าคนไม่มีการศึกษา คนโง่ หรือไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรสงสัยจะเป็นคนกรุงเทพฯ (หัวเราะ)

แล้วถ้าย้อนกลับไปมีครูที่ผมนับถือมากคนหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่มีการเลือกตั้งเรื่อยมา ส.ส.ที่มาจากภาคอีสาน โดยรวมๆ แล้วจะเป็น ส.ส. ที่เป็นฝ่ายหัวก้าวหน้าค่อนข้างมาก พรรคที่มีแนวทางเพื่อประชาธิปไตยทางสังคม หรือถึงกับประกาศสังคมนิยมอยู่ในภาคอีสาน เพิ่งมาเปลี่ยนในตอนช่วงหลังๆ นี้ ดังนั้นจึงไม่ประหลาดใจอะไรที่ผลโหวตทางภาคอีสานตอนบนจะเป็นเช่นนั้น จึงอยากจะใช้คำว่าอย่าดูถูกสติปัญญาของมวลราษฎร

ตอนนี้มีคนอธิบายว่าเป็นเพราะอำนาจเก่า เพราะซื้อเสียง เพราะความไม่รู้กันหมดเลย. ทำไมจึงไม่พูดอย่างนี้บ้างกับสงขลาที่รับ รัฐธรรมนูญ 2550 ว่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือทั้งปักษ์ใต้อยู่ใต้อำนาจพรรคประชาธิปัตย์ อำนาจเก่ากว่าอีก ทำไมจึงพูดว่าการไม่รับรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ เมื่อคิดอย่างนี้เลยต้องอธิบายไปว่า ชาวบ้านไม่รู้หรอกเป็นแค่หุ่นกระบอกให้เขาเชิด. ขอถามว่าทำไมไม่คิดว่าชาวบ้านคิดเองได้ มีวิจารณญาณเองได้. ประสบการณ์ที่ผมได้จากการแจกใบปลิว ก็คือ ชาวบ้านเขาคิดอยู่แล้วว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาข้อความในใบปลิวก็เป็นสิ่งที่พอจะรู้ๆ กันอยู่แล้ว การรับใบปลิวไปอ่านหรือไปแจกต่อ เป็นการแสดงความสมานฉันท์ว่าเราเป็นพวกเดียวกันมากกว่า ไม่ได้ไปเปลี่ยนหรือปลุกระดมเขาได้

ตอนนี้บ้านเมืองมีอะไรไม่ชอบมาพากลหลายอย่างมาก อันไหนที่เป็นสิ่งที่ผิดทำนองคลองธรรมก็มาพูดให้เป็นเรื่องที่ถูก ทำให้การใช้เหตุผลบิดเบี้ยวไป ตอนนี้ที่เห็นมากคือการใช้เหตุผลแบบลักลั่น 'Double Standard' คล้องกับ สำนวน 'ไม่คงเส้นคงวา' และ 'ลักลั่น' กฎหมายฉบับหนึ่งใช้กับกลุ่มหนึ่งอย่างหนึ่ง ใช้กับอีกกลุ่มหนึ่งอีกอย่างหนึ่ง ที่ชอบใช้เป็นเหตุผลกันมากก็เช่น คุณบอกว่าไม่ต้องการการปกครองแบบนี้เพราะไม่เหมาะกับสังคมไทย แต่พอคุณจะทำอะไรที่ยังไม่ได้ทำในสังคมไทย คุณก็บอกว่า ต่างประเทศเขายังทำกันแบบนี้เลย เช่น จะออก พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ก็บอกว่าที่อังกฤษ สหรัฐฯ มาเลเซีย สิงคโปร์ ประเทศที่เจริญแล้วเขาก็มีกัน แต่ทำไมคุณไม่ทำตามประเทศเหล่านี้บ้างที่เขาไม่ทำรัฐประหาร. Monarchy (ระบอบกษัตริย์)แบบไทยๆ ก็ต่างจากที่อื่นๆ ผมยังไม่เคยได้ยินว่า ให้เราตาม Monarchy แบบอังกฤษ, อ้างแบบกลับไปกลับมา เรื่อยเปื่อย คิดว่ามันเป็นปัญหานะ

คำว่าสังคมไทยมันไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขอถามว่าความแตกแยกคืออะไร ความไม่สามัคคีกันคืออะไร คือคุณไม่ได้คิดอย่างผมใช่หรือไม่ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ความคิดที่จะที่เพิ่งคิดกันใหม่ สมัย 14 ตุลา - 6 ตุลา ก็ชอบพูดอย่างนี้ มีครูคนหนึ่งเคยบอกว่าถ้าสามัคคีคือการที่ผมต้องไปเป็นพวกคุณ ผมก็ไม่ต้องการความสามัคคี เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ความสามัคคีจะมีค่าอะไร สมัยที่ต่อต้านทักษิณกันหนักๆ ไม่เห็นพวกนี้ออกมาเรียกร้องให้ "รู้รัก สามัคคี"

บทความหนึ่งที่อาจารย์เคยเขียนลง 'ประชาไท' พูดถึงระบอบชนชั้นล่างมีส่วนร่วมมาก ว่าหากมีปรากฏการณ์อย่างนี้ จะเกิดการขัดแย้งหรือการรัฐประหารตามมาทุกครั้งจริงหรือ
คงไม่ถึงกับทุกครั้ง ฝ่ายผู้ปกครองขัดแย้งกันเอง จนต้องทำรัฐประหารก็มี เช่น พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่, และพล อ. เกรียงศักดิ์ ล้มรัฐบาลองคมนตรีธานินทร์ (ไกรวิเชียร) เมื่อ 20 ตุลาคม 2520 แต่หากมองย้อนกลับไปไกลๆ หน่อย มันเป็นแนวโน้มทั่วไปเช่นนั้นที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2476 หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ให้ประชาชนมีส่วนแบ่งในอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นการพยายามล้มอำนาจของคณะราษฎรใน พ.ศ. 2476 จึงอธิบายได้ในแนวนี้ ส่วนแบ่งของราษฎรขัดกับอำนาจที่ดำรงอยู่ และนี่คือกลุ่มอำนาจเก่าที่แท้จริง ส่วนระบอบทักษิณนั้นเป็นอำนาจใหม่ พรรคไทยรักไทยเพิ่งมีเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

อำนาจใหม่อย่างทักษิณ เข้าไปเพิ่มบทบาทชนชั้นล่างให้มีส่วนร่วมมากขึ้นหรือ
ประเด็นนี้ต้องพูดในเชิงสัมพัทธ์ เปรียบเทียบกับนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนๆ และจะยิ่งชัดเมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งเกือบจะไม่มีนโยบายทางสังคมเพื่อคนยากคนจนในชนบทเลย(หมายถึงช่วงพลเอกสุรยุทธ์ เป็นนายกฯ หลังรัฐประหาร 19 กันยา) ที่โฆษณามากคือเรื่องจริยธรรม เป็นนโยบายของพวกชอบเทศน์ สั่งสอนให้ทำตามโอวาท คำถามคือ"พุทธโอวาทไม่เพียงพอหรือ?" รัฐบาลอานันท์ที่เขาว่าเยี่ยมมาก ไม่มีนโยบายอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสำหรับชาวชนบทเลย พอมีคนวิจารณ์ในเรื่องนี้ เขาก็ว่าการพัฒนาชนบทเป็นเรื่องซับซ้อน รัฐบาลเขาไม่มีเวลาพอ

ส่วนสมัยทักษิณจะเห็นว่าชาวบ้านมีส่วนในแชร์ในการแบ่งเค้กทางเศรษฐกิจมากขึ้น หรือเรื่องของการก้าวไปของการปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีส่วน แม้ว่าจะยังไม่ดีอย่างที่เราคาดหวังไว้ แต่ว่าแนวโน้มทั่วๆ ไปดีขึ้น เช่น นโยบายให้ทุนการศึกษาเด็กจากแต่ละอำเภอวิเศษมาก กองทุนหมู่บ้านเป็นการจัดการบริหารงบประมาณโดยชาวบ้าน ดีกว่าสมัยเงินผันของสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ และในแง่นี้ดีกว่าของรัฐบาลทุกสมัย. คนกรุงเทพ คนในเมืองไม่สนใจนโยบายนี้ กลับกล่าวหาอย่างสาดเสียเทเสีย คนพวกนี้ได้ประโยชน์อยู่แล้วจากการจัดสรรงบประมาณอย่างที่เป็นอยู่ จึงอยากตั้งคำถามเลยไปด้วยว่า ตอนที่เขาชุมนุมไล่ทักษิณและพูดว่าทักษิณคุกคามสื่อ แต่หนังสือพิมพ์สามารถด่าทักษิณแหลกได้ทุกวัน ไม่ทราบว่าคุกคามตรงไหน? นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการที่เรียกร้องเสรีภาพของสื่อในตอนนั้น ตอนนี้หายไปไหน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการใช้เหตุผลแบบไม่คงเส้นคงวา

เรื่องการมีส่วนแบ่งของประชาชน เห็นได้ชัดในช่วง 14 ตุลา - 6 ตุลา. ก่อน 14 ตุลา (พ.ศ.2516) เกือบจะไม่มีสหภาพแรงงานเลย แต่หลังจาก 14 ตุลา ภายในช่วงเวลาไม่กี่เดือน ก็มีการจดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานกว่า 90 สหภาพ และมีแนวโน้มในการจดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งมีชุมนุมต่างๆ ของเกษตรกรอีกเยอะแยะมากมาย นี่คือประชาชนมีส่วนร่วมหรือที่สำคัญกว่าคือมีส่วนแบ่งในการปกครองมากขึ้น

สำหรับการรัฐประหารครั้งนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการรัฐประหารส่วนมาก แต่แน่นอนที่แต่ละครั้งก็มีลักษณะเฉพาะของแต่ละครั้งไป ครั้งนี้อยู่ที่เหตุผลที่ใช้ บังเอิญทักษิณเป็นเป้า การต่อสู้ของคนถูกปกครองนั้นสามารถตีกินพื้นที่มาได้เรื่อยๆ มีผลพวงที่ได้จากการต่อสู้ แต่ฝ่ายอำนาจเก่า ก็พยายามลิดรอนส่วนแบ่งของราษฎรอยู่เสมอ. รัฐธรรมนูญ 2550 ก็พยายามให้เป็นอย่างนั้น. ก่อนปี 2516 การเมืองไทยเป็นเรื่องของคนเมืองหลวง แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว จริงอยู่ที่เมืองหลวงคงจะข่มหัวเมืองไปอีกนาน แต่อย่างน้อยก็ยังได้ขึ้นเวทีการเมืองกับเขาบ้าง ขณะที่การเมืองเปลี่ยนไปเช่นนี้ แต่วิธีคิดของฝ่ายพวกผู้ปกครองยังนิยมการพัฒนาแบบประทานพรกันอยู่ จะให้ชาวบ้านรอแต่จะรับประทานแบบบรรเทาทุกข์ เมื่อมีสาธารณภัยหรือ

มีความเห็นของคนที่เห็นรัฐประหารในเมืองไทยมา 18 ครั้ง เขาว่าครั้งนี้อันตรายที่สุด อันตรายไม่ใช่ในแง่ของความรุนแรง หรือมีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย แต่ในแง่ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากปวดร้าว มันบาดลึกลงไปบนแผลที่มีอยู่แล้ว มันบาดความร้าวฉานให้ร้าวลึก ความร้าวฉานนี้คงไม่มีผู้ใดหรือสถาบันใดจะมาเป็นจุดรวมศูนย์ที่ทุกฝ่ายยอมรับอีกต่อไป ความจริงไม่ใช่ว่า สังคมไทยสมัครสมานปรองดองกันมาแต่ไหนแต่ไร แต่ไม่เผชิญหน้ากันเป็นความขัดแย้งอย่างกว้างขวางมากกว่า สภาพและเงื่อนไขทางการเมืองแบบนี้คงเป็นอดีตไปแล้ว เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้อย่างไร ในเมื่อข่มเหงรังแกกันขนาดนี้ นี่คือสิ่งที่น่าโกรธและน่ากลัว. เรื่องการกระจายรายได้ที่ไม่อยู่ในวาระของพรรคการเมืองและหน่วยราชการใดเลยนั้น มันคงไม่ใช่เพราะเพียงไม่มีปัญญาจะคิดกัน แต่เป็นเรื่องการรักษาและลิดรอนอำนาจ นี่คือสิ่งที่น่าโกรธและน่ากลัว

มีการพูดถึงพรรคการเมืองนอมินี เราสามารถมองพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์เป็นนอมินีของอะไรบางอย่างได้หรือไม่
คิดว่าคนที่ไม่ต้องสนใจการเมืองอย่างลึกซึ้งก็เห็นปรากฏการณ์นี้ ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ สมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ใครสนับสนุน. นี่ไม่ได้เป็นเรื่องลับ คนที่ไม่ต้องถึงกับเป็นคอการเมืองก็รู้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ชอบพอกับองคมนตรีคนสำคัญคนไหน และพรรคนี้ถนัดมากในการเดินหมากการเมืองแบบชุบมือเปิบ การพูดแต่เรื่องนอมินีของคนอื่น ผมว่านอมินีใช้ไม่ได้ หรือถ้าใช้ได้ก็ต้องใช้กับทุกๆ พรรค. ไม่มีพรรคใดตอนนี้ที่มีอิสระและไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ทับซ้อน พวกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและกิจการรับเหมาคือฐานอำนาจการเมือง นี่ไม่ใช่ประเด็นใหม่อะไรเลย เป็นที่ประจักษ์กันอยู่ การพูดเรื่องนอมินีก็เป็นเหตุผลที่ลักลั่นอีกข้อหนึ่ง

ยกตัวอย่างสมัยพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน นายชวนชอบว่าพรรคอื่นซื้อเสียง ขายเสียง แต่การบันทึกข้อมูลของอาสาสมัครองค์กรกลางระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ซื้อเสียงมากเป็นอันดับสอง ส่วนพรรคที่ซื้อเสียงมากที่สุดคือพรรคชาติไทย ที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะพรรคชาติไทยส่ง ส.ส. เยอะกว่าพรรคประชาธิปัตย์ นายคนนี้ยังชอบพูดว่า ถือหลักการระบบรัฐสภา นี่เป็นวาทะ (ที่ไม่มีศิลป์) ทางการเมือง ไม่รู้ว่านอกจากคนพูดแล้วคนฟังจะมองเห็นเป็นสาระสำคัญมากแค่ไหน. มีตัวละครตัวหนึ่งในนิยายของดอสโตยเยียฟสกี เขาโกหกจนเป็นนิสัย โกหกจนกระทั่งเชื่อในสิ่งที่ตนเองโกหก มันอาจจะใช้ได้กับพรรคการเมืองบางพรรค เพื่อนผมเขาเรียกพวก Democrats นี้ว่า Democrits คมคายนะผมว่า

เหตุการณ์ในช่วงสมัยนายปรีดี พนมยงค์ และ ส.ส.ในภาคอีสานเคยมีบทบาทสูงในสังคมไทย กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ มันถูกจัดการด้วยกระบวนวิธีเดียวกันใช่ไหม
เห็นด้วยกับประเด็นนี้มาก ถ้าเราไม่มีความจำสั้น เมื่อมองย้อนกลับไปเราจะเห็นว่ามันเป็นแนวโน้มอย่างนั้น กรณีเสรีไทย มีงานวิจัยชิ้นหลังมานี้ที่ทำให้เราเข้าใจว่า คล้ายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง แต่ก็น่าสนใจมากว่า มีฝ่ายไหนบ้างที่มีส่วนร่วมในขบวนการเสรีไทย หรือมีพรรคประชาธิปัตย์กี่คนในนั้น และในเวลาที่เขาสู้กันเพื่อประชาธิปไตย บทบาทของประชาธิปัตย์ไปอยู่ที่ไหน

มีพรรคบางพรรคชอบพูดว่า ส.ส.มีหน้าที่ทางนิติบัญญัติเขาจะไม่ยุ่งอย่างอื่น เช่น เรื่องการประท้วงของประชาชน เรื่องความเดือดร้อนของประชาชน เรื่องสิทธิประชาชนถูกละเมิด เพราะเขามองว่าหน้าที่ของเขาคือผู้ออกกฎหมาย ซ้ำอ้างว่าเป็นไปตามอังกฤษ ประเทศแม่แบบของประชาธิปไตย ถ้ายกตัวอย่าง ส.ส.ในอังกฤษ เขาก็ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะในสภา แต่ทำหน้าที่ดูแลความเดือดร้อนในเขตเลือกตั้งของตนเองด้วย จริงๆ แล้วในกรณีของไทยมันยิ่งกว่านั้นอีก เพราะชาวบ้านลำบากมากในการที่จะไปต่อรองหรือกำหนดให้ทางราชการทำอะไร เขาจึงต้องพึ่ง ส.ส. ให้เหมือนเป็นตัวแทนของเขาในเรื่องเดือดร้อนต่างๆ และเมื่อ ส.ส. ลดลงก็ยิ่งตัดทอนส่วนแบ่งส่วนหนึ่งของราษฎร ผมไม่เห็นว่าการมี ส.ส. มากเป็นการเปลืองงบประมาณ มีทหารมากซิ ถึงจะเรียกว่าเปลืองงบประมาณ เรียกว่าการใช้เหตุผลไม่อยู่กับร่องกับรอยมันปรากฏอยู่ทั่วไป ดังนั้นจึงพูดรณรงค์กันมากให้ว่าให้รับรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะว่ามีส่วนดีอะไรบ้าง แต่ส่วนเสียจะเงียบ และเมื่อมีใครไปรณรงค์ให้ไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 กลับเสมือนว่าเป็นความผิด

รัฐประหารคราวนี้มีเรื่องให้เศร้าใจหลายอย่าง แต่ก็มีอยู่อย่างหนึ่งที่ทั้งเสียใจและน่าภูมิใจมากพร้อมๆ กัน คือการที่ประเทศชาติมีคนอย่างคุณลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ซึ่งเป็นคนไทยที่ใจเด็ด ผมยกท่านเป็น 1 ใน 5 บุคคลที่ผมเคารพอย่างสูงสุด ตอนที่คุณลุงนวมทองเอารถแท็กซี่ไปชนรถถังยังมีทหารบอกว่าใครจ้างมา นี่เป็นการดูถูกเหยียดหยามกันสุดๆ วิธีของคุณลุงนวมทอง แสดงถึงวิธีการต่อสู้ของราษฎรตัวเล็กๆ เขาต่อสู้ได้ลำบาก คุณลุงนวมทองประณามการรัฐประหารครั้งนี้ด้วยชีวิต เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เท่าที่รู้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมนี้ ส่วนที่ได้รับรู้อยู่วันละหลายมื้อ คือปากว่าสละชีพเพื่อชาติ แต่ไม่รู้ว่าการสังเวยด้วยชีวิตของคุณลุง จะรบกวนมโนธรรมสำนึกของพวก คมช. ขนาดไหน หรือว่าพวกนี้มโนธรรมหนา เหมือนกับทหารรับจ้างทั่วไป ในอนาคตถ้าผู้คนที่ต่ำต้อยน้อยหน้าจะมีอำนาจขึ้นในสังคมไทย ชื่อ 'นวมทอง ไพรวัลย์' จะเป็นวีรชนคนหนึ่งของเรา

การเดินทางของการต่อสู้มันไปทีละก้าวแล้วก็ถูกโต้กลับ รับและรุกเป็นช่วง ๆ และเนื่องจากว่าเกมนี้มันเป็นเกมที่ไม่จบ แต่จะต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน เราเรียกว่ามีแพ้ มีชนะ ครั้งนี้แพ้ไป แต่อยากให้มองเห็นบทเรียนจากที่พลาดนี้ไปว่า อำนาจที่จะลิดรอนประชาธิปไตยนั้นมีอยู่อย่างแข็งแรง บางครั้ง บางช่วงจะหลบๆ แอบๆ แต่พร้อมที่จะออกมาแย่งอำนาจส่วนแบ่งของราษฎรอยู่เสมอๆ. ผมอยากจะถามคนที่ยังเห็นว่าประเทศไทยเราควรจะรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ แม้มันจะมีนักการเมืองและนักโกงเมืองได้รับเลือกตั้งเข้ามาว่า มันคุ้มกันไหมที่การรัฐประหารเป็นทางที่เราใช้ล้มทักษิณ โดยหลายคนอ้างว่าอาจจะเกิดการนองเลือดในวันที่ 20 กันยายน 2549 ซึ่งนั้นเป็นการวิเคราะห์การเมืองแบบใช้แค่วันเดียวหรือใช้เพียงช่วงเวลาที่ทักษิณเป็นรัฐบาลมาเป็นกรอบในการวิเคราะห์

ปรากฏการณ์ 10 ล้านเสียง หลังประชามติ 19 สิงหาคม 50 ถือเป็นการเตือนหรือไม่ว่า ไม่ควรทำรัฐประหารอีก
แม้ไม่อยากทำตัวเป็นโหรการเมือง แต่ก็อยากจะตอบว่าการรัฐประหารครั้งนี้คงจะไม่ใช่เป็นครั้งสุดท้ายในสังคมไทย และไม่ใช่ว่าพวกที่สามารถทำรัฐประหารได้จะแคร์ว่ามันไม่ดี แต่การตัดสินใจทำรัฐประหาร เขาจะดูว่าชนะหรือไม่ อำนาจของเขาจะข่มฝ่ายตรงข้ามได้หรือไม่ นี่คือปัจจัยของการตัดสินใจทำรัฐประหาร. ตราบใดที่อำนาจมันไม่ทานกัน ไม่ใช่เฉพาะอำนาจทางอาวุธหรือทางทหารเท่านั้น อำนาจทางอื่น เช่น อำนาจทางความคิด ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมายต่างๆ ถ้ามันไม่ทานกันและห่างกันมาก คนที่มีอำนาจมากกว่าก็จะทำรัฐประหารได้ง่ายมาก ถึงผมจะไม่ชอบการมองเชิงพยากรณ์ แต่ก็คิดว่ามันจะไม่เป็นครั้งสุดท้าย ตราบใดที่อำนาจของราษฎรยังถูกกดอยู่

ตอนนี้มีแนวโน้มที่ฝ่ายขั้วอำนาจเข้ามาก้าวก่ายทางการเมืองไม่ใช่อำนาจทางทหารเท่านั้น แต่อำนาจตุลาการก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ที่เป็นข้อน่าสังเกตมาก แต่เกือบไม่มีใครพูด คือ ใน รัฐธรรมนูญ 2550 บทเฉพาะกาล มาตรา 306 มีการขยายอายุราชการของผู้พิพากษาจาก 60 ปีเป็น 70 ปี และใช้กับอัยการด้วย มาตรา 306 นี้ก็ไม่ได้ใส่ไว้ในฉบับรับฟังความคิดเห็น แต่เอามาใส่ทีหลัง มี 2 ประการขอเพิ่มเติมกับอีกหลายประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกันอยู่แล้ว

ประการแรก คือ มันไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตขนาดจะต้องเอามาบรรจุในรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญควรจะเป็นกฎหมายหลักที่จะมอบอำนาจว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ได้ และให้ออกกฎหมายต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่เอาละไหนๆ รัฐธรรมนูญไทยก็ยังรวมเรื่องวิธีการเลือกตั้งเข้าไปด้วย ก็ไม่ว่าอะไรกัน ทำกันมาจนชินไปแล้ว แต่การทำเช่นนี้เกินกติกาไปมาก แสดงถึงการฉวยโอกาสและมัดมือชกอย่างชัดเจน และที่แน่นอนก็คือเป็นกลุ่มพวกพิพากษากลุ่มหนึ่งเองที่ทำการเช่นนี้ เราต่างก็ได้รับการสั่งสอนมาว่าให้เคารพผู้พิพากษา เคารพพระ แต่พระบางรูปเป็นอลัชชีก็มี

ประการที่สอง คือ เงินเดือนที่ข้าราชการได้ ประชาชนต้องเป็นคนจ่าย เขาจึงควรถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ยินดีจ่ายหรือไม่ ไม่ใช่คิดเอาแต่ได้กันถึงขนาดนี้ ผมคิดว่ามันไม่ค่อยสุภาพ

อำนาจตุลาการที่เข้ามาในการเมืองครั้งนี้ ทั้งใหม่และแปลก จะทำให้การจัดสรรอำนาจอธิปไตยไทยบิดเบือนไปขนาดไหน
ผมชอบความคิดของฝ่ายที่สถาปนาระบบรัฐสภาเมื่อคริสตศตวรรษที่ 17 ในอังกฤษที่ถือหลักการว่า อำนาจที่ควรจะสูงสุดคืออำนาจนิติบัญญัติ ส่วนอำนาจบริหารและตุลาการควรจะเป็นไปตามกฎหมาย แต่นักคิดต่อมาเห็นว่าอำนาจมันฉ้อฉลได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการทานกันไว้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะไปพูดถึงแขนงอำนาจในเชิงนามธรรมก็จะละเลย มนุษย์ที่เสวยอำนาจนั้นๆ ในอำนาจแขนงตุลาการก็มีกลุ่มคนที่มาใช้ช่องทางนี้เพื่อประโยชน์ในการมีอำนาจทางการเมือง และมีอำนาจทางการกำหนดผลประโยชน์ของกลุ่มพรรคที่เอื้อประโยชน์กัน

ปรากฏการณ์ที่อำนาจตุลาการเข้ามาก้าวก่ายหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น มันแสดงให้เห็นว่าอำนาจทางทหารอย่างเดียวมันไม่พอ อันนี้คงต้องคิดถึงคุณูปการของการก่อสร้างประชาธิปไตยมาหลายทศวรรษของเราที่มีส่วนทำให้ความชอบธรรมของทางทหารลดลง เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องหาอำนาจความชอบธรรมอื่นๆ มาเสริมให้หนักแน่นขึ้น แต่ผมก็หวังว่านักกฎหมายและผู้ศึกษานิติศาสตร์จำนวนมากที่ยึดถือหลักนิติธรรมคงเห็นว่ามันไม่ชอบมาพากล

เดี๋ยวนี้เราต้องยอมรับว่าสื่อสารมวลชนของไทยและการอ่านออกเขียนได้ของคนไทยแพร่ไปทั่ว ซึ่งหากเทียบกับบางประเทศก็น่าพอใจ คนไทยจึงสามารถรับทราบข่าวสารต่างๆ นานา แม้ว่าอาจจะถูกหลอกบ้าง แต่วิจารณญาณเดิมเขามีอยู่ ถึงเขาเลี้ยงควายแต่เขาไม่ได้กินหญ้าแบบควาย เขาก็กินข้าวเหมือนกับทุกๆ คนในสังคมไทย และกินข้าวเหมือนกับพวก elite (ชนชั้นสูง)ทั่วไป. อาจจะยืนยันความคิดได้จากการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ลงไปศึกษาตามหมู่บ้าน ชุมชน ซึ่งยังไม่เคยเห็นการศึกษาทางมานุษยวิทยาเล่มใดที่บอกว่าชาวบ้านโง่ และผมก็คิดว่านักมานุษยวิทยาก็คงรู้จักชาวบ้านไม่น้อยไปกว่าพวกสื่อสารมวลชน นักการเมือง และไฮโซทั้งหลาย คนที่เห็นว่าชาวบ้านโง่จะเป็นพวก elite หรือชนชั้นสูงในสังคมไทย และเมื่อเริ่มจากฐานคิดแบบนี้ การอธิบายจึงเป็นไปตามช่องนี้หมดเลยว่า ชาวบ้านไม่มีปัญญาคิดเอง ไม่เข้าใจอธิปไตย ซึ่งเป็นการดิสเครดิต. การดิสเครดิตอีกอย่างหนึ่งคือ สมมติว่าถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารหรือไม่เห็นด้วยกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติฯ (คมช.) เขาก็จะหาว่าคุณเป็นพวกเดียวกับทักษิณ

แล้วทำไมเวลาดิสเครดิตมักจะต้องไปลงที่คนอีสานทุกที คนภาคอื่นไม่เห็นค่อยโดนบ้าง
เป็นภาพพจน์ที่สั่งสมกันมาตั้งแต่สมัยคนจากส่วนกลางไปตรวจราชการหัวเมืองที่ราชสำนักจากกรุงเทพเรียกว่า 'กลุ่มหัวเมืองลาว' มีวิทยานิพนธ์ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ พอจะสรุปสั้นๆ ได้ว่า 'ภาพลักษณ์ของความเป็นอีสาน' กับ 'ความเป็นอีสานที่แท้จริง' นี้ไม่จำเป็นต้องตรงกัน 'ภาพลักษณ์ของความเป็นอีสาน' เป็นการสร้างขึ้นจาก "ความเข้าใจ" ของผู้ปกครองกรุงเทพฯ ซึ่งมิได้สำรวจ 'ความเป็นอีสานที่แท้จริง' อย่างถ้วนทั่ว แต่ได้ข้อมูลจากการบอกเล่าบ้าง จากการไปตรวจราชการพื้นที่บ้าง จากการเปรียบเทียบสถานะที่อื่นๆ บ้าง

ผมไปอุบลฯ ครั้งแรก ผมตกใจเลยที่มันเขียวไปสุดหูสุดตา ไม่ใช่แห้งแล้งอย่างที่บอกเล่ากัน อีกสาเหตุที่คนอีสานถูกให้ร้าย ความยากจนก็มีส่วนอยู่มาก คนรวยชอบดูถูกคนจนเป็นนิสัยอยู่แล้ว ยิ่งคนกรุงที่ระบบคิดแบบศักดินาครอบมานานยิ่งแล้วใหญ่

อย่างนี้แสดงว่าคนภาคอีสานมีอะไรบางอย่างที่ยังไม่กลืนไปกับคนชั้นสูงหรือ
ถ้าพูดโดยรวมๆ ก็เป็นอย่างนั้นได้ และจะชัดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบในเชิงสัมพัทธ์กับคนภาคกลาง จะเห็นว่าคนที่ Conservative (อนุรักษ์นิยม) ไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจประชาธิปไตย แต่คนที่ Conservative ที่เห็นจากการรัฐประหารครั้งนี้คือคนกรุงเทพฯ และคนภาคกลาง

ในเชิงสัดส่วนแล้ว คนกรุงเทพฯได้รับผลประโยชน์น้อยจากนโยบาย 'ประชานิยม' ของรัฐบาลทักษิณ ด้านที่รัฐบาลทักษิณทำไม่ถูก จึงถูกนำมาไฮไลท์(เน้น)จนเกินสัดส่วน คือไม่ได้ว่าทักษิณไม่ได้ทำสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล มันก็อาจจะมีบางส่วนที่มันไม่ชอบมาพากล แต่มันถูกไฮไลท์เกินสัดส่วน ผมคิดว่าคนภาคกลางกับกรุงเทพฯ ค่อนข้างจะอยู่ภายใต้อาณัติทางความคิดของอำนาจเก่า อำนาจเก่าที่แท้จริง

จากนี้เราน่าจะสร้างกระแสรณรงค์ให้แก้ รัฐธรรมนูญ 2550 และผมก็อยากจะฟังกลุ่มคณะที่เคยเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เคยเรียกร้องว่าให้รับรัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขกันทีหลัง อยากจะดูว่ากลุ่มนี้จะทำอย่างที่พูดหรือไม่ และอยากพูดว่ากลุ่มแกนนำพันธมิตรฯ ได้สำนึกบ้างหรือไม่จากผลของการกระทำของตัวเอง. การรัฐประหารครั้งนี้มันเป็นพลัง Conservative ซึ่งทำให้ผมได้มองคนกรุงเทพฯด้วยสายตาใหม่ และขอบคุณที่ผมไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ (หัวเราะ)

แต่อนาคตข้างหน้าเราอาจจะได้มาชันสูตร และพบว่านี่อาจเป็นก้าวที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของพลัง Conservative และพลังของพวกไฮโซ, จะเห็นว่าการรัฐประหารครั้งนี้ได้หาพรรคพวกหาพันธมิตรกันเต็มที่จึงทำสำเร็จ หากเป็นเมื่อก่อนจะไม่ต้องหาพรรคพวกกันขนาดนี้ คำถามคือใครเป็นเครื่องมือใครกันแน่ ทหารใช้ใครเป็นเครื่องมือ หรือใครใช้ทหารเป็นเครื่องมือ หรือมีเอี่ยวกันอยู่มานานแล้ว

สังคมไทยน่าจะพัฒนาทางเศรษฐกิจและการศึกษาไปได้ดีกว่านี้ การที่เรามีกองทัพขนาดใหญ่มันฉุดรั้งสังคมไทย ขอเปรียบเหมือนว่าเรามีบ้านเรายากจนมีบ้านเราโกโรโกโส แต่กลับสร้างรั้วและแถมมีอาวุธไว้ป้องกันบ้านโกโรโกโสนี้เกินพอดี แต่พวกทหารเรียกว่าความมั่นคง ก็อาจจะใช่ ถ้าคือความมั่นคงของทหารเอง นี่คือการถือเสมอตนเป็นชาติ และนี่ก็เป็นเรื่องขำๆ ในประเทศนี้ที่ไม่มีใครหัวเราะ

2. 'พหุนิยมกับพหุความเป็นไทย' โดย ธีรยุทธ บุญมี
ธีรยุทธ บุญมี : 'อัตลักษณ์' เป็นปัญหาที่ประเทศไทยและทั้งโลกต้องเผชิญหน้า

ความนำ (จากประชาไท)
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2550 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัด เวทีนโยบายสาธารณะครั้งที่ 5 เรื่อง "จินตนาการความเป็นไทยกับสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้"

เก็บตกปัจฉิมกถาเรื่อง 'พหุนิยมกับพหุความเป็นไทย' โดย ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการและผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองวิธีถอดปมความแตกต่างก่อนสถานการณ์ความขัดแย้งจะรุนแรงขึ้นและคลี่คลายกระจายตัวทั้งรัฐไทย

เริ่มเรื่อง
ขณะนี้บ้านเมืองมีปัญหาใหญ่ 2 เรื่อง คือ เรื่องการเมืองหรือเรื่องประชาธิปไตยของประเทศไทยกับเรื่องความแตกต่างในความรู้สึกทางชาติพันธุ์ ทางวัฒนธรรม หรือความร่วมกันในความเป็นชาติ คิดว่าทั้งสองเรื่องเป็นปัญหาที่ยากมาก. ประวัติศาสตร์การเมืองไทยและปัญหาเรื่องความเป็นไทยมันรุนแรง ขมขื่น แบ่งขั้ว แบ่งชนชั้น แบ่งฝ่ายกันค่อนข้างมาก คงต้องค่อยๆ คิดอย่างกว้างๆ ลึกๆ ใช้สติ ไม่สุดขั้วเกินไปในการที่จะแก้ปัญหา

ประชาธิปไตยควรจะเป็นอะไรที่สมดุลหรือถ่วงดุลได้ มันมาจากทั้งการเลือกตั้งซึ่งเรามีปัญหาต่อว่ามีการซื้อเสียง. อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับตัวของประชาชนในกระบวนการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ควรมีอำนาจมาตรวจสอบได้ อำนาจตรวจสอบควรมาจากฐานความชอบธรรมในสังคม ซึ่งสังคมไม่ได้มีเฉพาะกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น แต่มาจากภาคสังคมหรือสถาบันต่างๆ ก็ได้ หลายประเทศทั่วโลกมีตรงนี้

แต่อย่างไรก็ดี ในทางความเป็นจริง เวลาร่างรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาอย่างกรณีวุฒิสภา ในอดีตกลัวเรื่องสภาผัวเมียกันมาก รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 วุฒิสภาส่วนหนึ่งจึงมาจากการสรรหา แต่อำนาจที่ให้ไปเป็นอำนาจที่เกินที่มา เกินความชอบธรรม คือมีอำนาจในการไปล้มฝ่ายบริหารซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน อันนี้เป็นการโน้มเอียงแบบหนึ่ง คือไม่เข้าใจ ศึกษาไม่ลึกซึ้งถึงหลักการที่มาว่าอำนาจตรวจสอบคือเรื่องของการคอรัปชั่นหรือการใช้อำนาจที่เกินเลยไป เพราะฉะนั้นอำนาจไม่ควรข้ามเส้นไปในการยุบรัฐสภาหรือล้มรัฐบาลได้ ห่วงว่าปัญหาใหญ่ในชาติบ้านเมืองยังแก้ไม่เสร็จ คงต้องถกเถียงทำความเข้าใจกันต่อไป

อีกปัญหาหนึ่งซึ่งใหญ่มากเช่นกัน และยังกระเทือนความรู้สึก ชีวิต อีกหลายอย่าง และอาจยืดเยื้อยาวนาน. ปัญหานี้คือปัญหาเรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ รวมไปถึงการยอมรับความเป็นไทยของคน 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นต้นตอปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงที่มีในปัจจุบัน. โดยรวมเหมือนเราจะถอดรื้อความเป็นไทยซึ่งเพิ่งสร้างหรือประดิษฐ์กันมาเมื่อประมาณ 100 กว่าปีมานี้ การถอดรื้อความเป็นไทยเป็นเรื่องที่สมควรพูดถึง และต้องทำกันอีกมาก แต่มีข้อสังเกตคือ เวลาเราพูดถึงจินตนาการ เรานึกถึงการจินตนาการประวัติศาสตร์ไทย จินตนาการวัฒนธรรมไทย จินตนาการชาติพันธุ์ จินตนาการเอกลักษณ์ทางจิตวิทยา จินตนาการเอกลักษณ์ทางอุปนิสัยใจคอของคนไทย แล้วมาสร้างเป็นความเชื่อหนึ่ง เป็นภาพรวมหนึ่งของคนไทยโดยบอกว่าเป็นอัตลักษณ์คนไทย ตรงนี้มองเห็นความโน้มเอียงและความผิดพลาดที่ผ่านมา

แต่บางครั้งก็รู้สึกเหมือนกันว่า บางทีตัวเองก็อยากจะมีจินตนาการทางประวัติศาสตร์เหมือนกัน อยากจะรู้รากเหง้าของตัวเองเหมือนกัน แต่ไม่อยากจะรู้ในแบบที่บอกถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตหรือความรุ่งเรือง ดังนั้นรู้สึกว่าถ้าเราจะถอดรื้อประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมทั้งหมด จะให้เราอยู่กับปัจจุบันลอยๆ อย่างนั้นหรือ, หรือว่าเรามีสิทธิจะมีมิติทางประวัติศาสตร์หรือทางรากเหง้าของเราอยู่ด้วย. ถ้าถอดรื้อให้เราอยู่ในปัจจุบันขณะเฉยๆ เราก็กำลังอยู่ในปรัชญาแบบมาร์เก็ต(ตลาด) คือ คนเป็นผู้ตัดสินใจในมูลค่าของตลาด ซึ่งเป็นการลดทอนคุณค่าของคนลงไปมากถ้าพูดในเชิงปรัชญา

ดังนั้นปัญหานี้ก็อาจจะไม่ง่าย ในเมื่อเราอยากจะถอดรื้อในสิ่งที่มันบิดเบี้ยวแต่ขณะเดียวกันเราก็อยากจะมีบางอย่างเหลืออยู่ เช่นเดียวกันกับการที่หลายคนพูดถึงจินตนาการความเป็นไทยและจินตนาการความเป็นมลายู ในที่สุดถ้ามองย้อนไป จะพบว่าเรานิยามตัวตน เราสร้างตัวตน เราจินตนาการสิ่งที่เรียกว่าเป็นอัตลักษณ์ของตัวบุคคล และกระทั่งส่วนรวมมาทุกยุคสมัย. ช่วงหนึ่งเราบอกว่าเราเป็นเมือง เช่น เชียงใหม่ เชียงแสน เชียงรุ้ง สุโขทัย อยุธยา คำว่าเมืองก็เป็นจินตนาการเหมือนกับชาติ เหมือนกับรัฐ เหมือนเขตการปกครองสมัยใหม่เหมือนกัน จินตนาการมันจึงเกิดขึ้นและทำงานบางอย่างในประวัติศาตร์เหมือนกัน

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าชาติ รัฐ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เป็นจินตนาการก็ได้ หรือถ้าจะบอกว่ามันเป็นความเป็นจริงทางสังคม และเป็นการสร้างความเป็นจริงทางสังคมก็พูดได้เหมือนกัน. อยากให้ข้อสังเกตว่า มนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์ทางกายภาพ ทางชีววิทยา ต้องอยู่กับความจริง เช่น ไม่ควรกระโดดจากที่สูงเกิน 4 เมตร เพราะขาจะหัก กระดูกทนได้แค่นั้น หรือเราควรกินอาหารที่มีประโยชน์ เป็นต้น นี่คือเราต้องอยู่กับความเป็นจริงทางกายภาพ

ดังนั้นมนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคม เราก็ต้องอยู่กับความเป็นจริงทางสังคม หรือหมายความว่าเราต้องอยู่กับจินตนาการทางสังคมด้วย เราทำงานในสังคมทั้งโดยจินตนาการทางสังคม โดยคอนเนคชั่น(การเชื่อมโยง) หรือโดยสิ่งที่เราประดิษฐ์สร้างขึ้นมาตลอดเวลา ตรงนี้เป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญที่ต้องเข้าใจให้ดี เพราะจะทำให้ถอดรื้อโครงสร้างที่มันผิดพลาดได้ดี กล่าวโดยสรุปคือต้องอยู่ทั้งกับความเป็นจริงและจินตนาการทางสังคม

ข้อสังเกตอีกอย่าง คือ สิ่งที่เรียกว่าความเป็นจริงทางสังคม หรือจินตนาการทางสังคมมันก็มีประโยชน์ของมันต่างไปตามยุคสมัย และมีข้อผิดพลาดเสียหายมากมายในอดีต. ยุคสมัยใหม่ การสร้างประวัติศาสตร์กระแสหลักของความเป็นชาติ ทุกชาติมันเต็มไปด้วยชีวิติ เลือดเนื้อ ความกดขี่ เอาเปรียบ และมีความรุนแรงเกิดขึ้น ข้อสังเกตคือมันจะอยู่และเสื่อมไปตามยุคสมัยของมันเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม การพูดถึงมันในวันนี้ก็สะท้อนแล้วว่าคงถึงจุดบางอย่าง มันอาจจะหมดหน้าที่หรือหมดประโยชน์ของมัน แล้วต้องมองมันด้วยมุมใหม่ หรือมันอาจจะคงอยู่ต่อไปในลักษณะบางแบบ เพราะยังมีการมองปัญหาเรื่องชาติและความเป็นไทยที่ต่างกันไป

การถอดรื้อความเป็นไทยเป็นกระบวนการที่ควรทำ เพราะข้อผิดพลาด

ประการแรก คือ เราจินตนาการให้มันเป็นหนึ่งเดียวมากกว่าหลากหลายหรือพันทางมานานแล้ว เพราะฉะนั้นต้องจินตนาการให้มันถูกว่า มันหลากหลายมากขึ้น แตกต่างมากขึ้น จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

ประการที่สอง มันถูกจินตนาการขึ้นมาอย่างบิดเบือน ครอบงำ ปิดกั้น เอารัดเอาเปรียบ กีดกันบางคนบางส่วนออกไป จินตนาการแบบนี้ที่มันผิดพลาดก็ต้องแก้ไข

ประการที่สาม ต้องเลือกให้ดี มิติประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมมันกว้าง แต่มักจะมีความลำเอียงในทุกฝ่าย ทุกกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปแล้ว มักจะเลือกสิ่งที่พอใจของตัวเองอย่างแคบๆ แต่กับคนอื่นคือเลือกมองสิ่งที่ไม่ดีงามหรือเลือกจะจดจำสิ่งที่มันเจ็บปวด ขมขื่น ทำให้เกิดความรุนแรง อาฆาตพยาบาทกันได้ง่าย มากกว่าจะเลือกจินตนาการที่มาทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

เหล่านี้เป็นสิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตเป็นเบื้องต้น ส่วนในเชิงวิชาการเคยเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง 'พหุนิยม' ความเป็นหนึ่งเดียวหรือความหลากหลายของอัตลักษณ์ของทั้งตัวคนและขององค์รวม มันผันแปรไปเรื่อยๆ ตามช่วงสมัยประวัติศาสตร์ อย่าคิดว่าความเป็นไทยมันเป็นหนึ่งเดียวอย่างนี้มาตลอด มีบางช่วงเราก็อยากให้มันหลากหลาย ให้มันมีมากกว่าหนึ่ง ส่วนบางช่วงความต้องการของการเมืองเศรษฐกิจจะอยากให้มันเป็นหนึ่ง กระบวนการก็จะโน้มเอียงมาด้านการทำให้เกิดความเป็นหนึ่ง ปัจจุบันเราก็อยากจะให้มันหลากหลาย อยากให้กว้างขึ้นเราก็เทมาทางนี้

ให้มอง ให้เลือก ให้คัดสรรความคิดเราให้ดีที่สุด ในอดีต สังคมเกษตรหรือสังคมก่อนสมัยใหม่ เขาต้องการอยู่กับความต่างมากกว่าอยู่กับความเป็นหนึ่ง อีกนัยหนึ่งคือความสามารถมนุษย์ในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่สามารถชนะความต่างทางธรรมชาติ ทางพื้นดิน แร่ธาตุ ทรัพยากร ภูมิอากาศได้ ก็ยอมรับความต่างกันเป็นเหมือนความต่างทางธรรมชาติ แล้วก็อยู่และค่อนข้างพอใจกับมัน ความต่างนั้นกลับช่วยในการทำให้มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะฉะนั้นในสังคมศักดินา ยุคเกษตรกรรมก็ชอบความต่างและรับความต่าง ไม่ส่งเสริมให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวทางเชื้อชาติ

ขณะเดียวกันบางครั้งกลับเสริมให้มีความต่างเป็นพิเศษด้วย เช่นการเอาคนกลุ่มน้อยมาทำหน้าที่พิเศษ อย่างการเอาคนมาเป็นที่ปรึกษาในเรื่องพิธีกรรม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องต่างประเทศ การมีพราหมณ์ปุโรหิตจากอินเดีย เขมร หรือขอม มาให้คำปรึกษาแก่กษัตริย์หรือขุนนางผู้ใหญ่ เพราะเชื่อกันว่า คนที่เป็นชนกลุ่มน้อยจากข้างนอกจะไม่โน้มเอียง ไม่มีผลประโยชน์ข้างใน วิธีคิดจะเป็นกลางและให้คำปรึกษาที่ดี นอกจากนี้ยังเอามาเป็นทหารรับจ้าง ทหารรักษาวัง ทหารพิเศษของกษัตริย์หรือเจ้านายผู้ใหญ่ก็มี เช่น ทหารรับจ้างญี่ปุ่น โปรตุเกส หรือทำหน้าที่เก็บภาษี แบบนี้ในยุโรปก็ใช้ ตะวันออกกลางก็ใช้ ส่วนไทยใช้คนจีนมาเป็นเจ้าภาษีนายอากรหรือมาเป็นพ่อค้า เพราะชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรมักอยู่ติดที่ จึงต้องอาศัยพ่อค้าคนจีน

แต่บางครั้งเมื่อสังคมเปลี่ยนยุคสมัย ก็เกิดปัญหาแก่คนกลุ่มน้อย อย่างกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ บางทีก็เป็นเรื่องคติของสังคมศักดินาทุกที่ในสมัยก่อน ที่อยากขยายอาณาจักรให้กว้าง มีส่วย ภาษี จังกอบ อากร แรงงานเกณฑ์ทำให้ยึดกันไปมา. ประวัติศาสตร์จึงเจ็บปวดง่ายเมื่อเกิดสงคราม แต่ทุกชาติมีปัญหาเดียวกันหมด คือ ไม่ไปรุกรานเขา ก็ถูกเขารุกราน เพราะสมัยก่อนไม่มีสิทธิมนุษยชน ไม่มีกฎเกณฑ์กติกา ไม่มีการเคารพกันและคิดว่าเป็นบารมีของผู้ปกครอง ที่จะครองจักรวาลหรือจักรวรรดิตัวเองให้กว้างใหญ่ที่สุด เพราะฉะนั้นจึงทำให้ไม่ว่าประเทศไหนในปัจจุบันมีเชื้อชาติบริสุทธิ์เด็ดขาดทั้งหมด ชนกลุ่มน้อยก็ถูกผนวกรวม ผสานรวม ผนวกรวมก็คือเปลี่ยนให้เป็นเหมือนตัวเอง ผสานรวมก็คือเคารพความต่างมากหน่อย

อย่างกรณีฝรั่งเศสที่เวลานี้คนรักภาษามาก เกลียดหนังฮอลลีวู้ด และไม่ชอบภาษาอังกฤษ เพราะตั้งแต่สมัยปฏิวัติฝรั่งเศส ภาษาฝรั่งเศสในฝรั่งเศสตายไป 400 - 500 ภาษา จนเหลือภาษาฝรั่งเศสเวลานี้ เป็นภาษาที่คนรักกันมาก เพราะมันเกิดมาจากการทำลายภาษาถิ่น. ส่วนไทยเราคิดว่าทำลายไปไม่ต่ำกว่า 100 ภาษา หากประเมินตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 โดยถูกกรองให้เหลือภาษากลางภาษาเดียว

การที่เป็นแบบนี้ทำให้รัฐชาติทุกชาติในปัจจุบันประสบปัญหานี้ทั้งนั้น เพราะมันเกิดจากการรวมคนที่ต่างกันในเชิงภาษา เชิงความเชื่อ เชิงวัฒนธรรม และเชิงศาสนา ยิ่งถ้าคนทำหน้าที่พิเศษเป็นคนกลุ่มน้อยยิ่งมีปัญหามากกว่า อย่างคนจีนหรือคนยิวในประวัติศาสตร์ทั่วโลกได้กลายเป็นเป้า เมื่อเปลี่ยนยุคสมัย หน้าที่พิเศษอาจถูกต้องการให้หน้าที่นั้นเป็นของคนทั่วไป แต่คนที่เคยทำหน้าที่พิเศษมีประสบการณ์ มีทุน มีสถานะเดิม ทำให้ได้ประโยชน์ในการทำหน้าที่ในสมัยใหม่ได้ดีก็ร่ำรวย รุ่งเรือง จนเป็นที่ไม่ชอบใจและอิจฉา เป็นปัญหาของการเหยียดผิว การต้านคนส่วนน้อยในยุโรป. และในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เคยเกิดกับคนจีน แต่ในปัจจุบันปัญหานี้กับคนจีนเกือบหมดไปแล้ว

ต่อมาในสังคมสมัยใหม่ต้องการความเป็นเอกภาพ ความเป็นสากล ความเป็นหนึ่งเดียวค่อนข้างมาก ภาษาที่ต้องการคือภาษากลางภาษาเดียว เพราะต้องใช้ในระบบราชการ ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ภาษาจึงถูกสร้างขึ้นมาโดยความจำเป็นของมัน เรื่องภาษากลางนี้คิดว่าไม่ค่อยมีใครพล็อต(วางแผน)ขึ้นเท่าไหร่

การศึกษา ในสมัยสังคมเกษตรกรรมเป็นเรื่องถ่ายทอดกันภายในครอบครัว ภายในชุมชน หรือภายในสกุลช่าง มีภาษาพิเศษ มีการถ่ายทอดตัวต่อตัว มีการเลือกสรร มีการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดช่างที่ดีและมีฝีมือ แต่ในสังคมสมัยใหม่กลับต้องการอะไรที่กว้าง ดังนั้น ครูจึงมาจากนอกถิ่นเป็นส่วนใหญ่ และมาสอนความรู้ที่เป็นกลางๆ ใช้ภาษากลาง. โดยเหตุนี้ ภาษา, การศึกษา, และความรู้, จึงกลายเป็นของกลางของสากลหมด โดยความเรียกร้องของสังคมอุตสาหกรรม สังคมทุนนิยม และสังคมสมัยใหม่

สิ่งที่เป็นไปนี้เอื้อต่อวัฒนธรรมหลวง เอื้อต่ออัตลักษณ์ของคนกลุ่มใหญ่โดยปริยาย ภาษาของภาคกลางหรือภาษาของคนกรุงเทพฯ เป็นภาษาที่ได้เปรียบและถูกใช้. วัฒนธรรมซึ่งเป็นวัฒนธรรมหลวงก็ถูกถ่ายทอดไปตามกระบวนการการศึกษา กระบวนการทางสังคม กระบวนการการเมืองการปกครอง และกระบวนการทางเศรษฐกิจด้วย เพราะฉะนั้นในสังคมสมัยใหม่จึงเอื้อไปในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ความเป็นมาตรฐาน ความเป็นของร่วมกับส่วนกลาง จะหยาบหรือบิดเบือนอย่างไรก็แล้วแต่สิ่งที่มันจะเกิด

แต่เราพบปัญหาอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ และคิดว่าไม่มีคำตอบที่ดีกับปัญหานี้คือ ทำไมปัจจุบันอัตลักษณ์จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญขึ้นมา... ความคิดในเรื่องความต่างทางชาติพันธุ์ ซึ่งสะท้อนให้เกิดความรุนแรงและขยายตัวไปค่อนข้างมากในหลายๆ ที่ คิดว่าคำตอบอย่างเรื่องความขมขื่นในประวัติศาสตร์ ถูกผลิตขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้จากทุกฝ่าย และถูกผลิตซ้ำให้ขมขื่นมากขึ้น ถ้าอันไหนแรงมากก็กลายเป็นความทรงจำ ตรงนี้ต้องรีบแก้ไขก่อน การถูกผลิตซ้ำขึ้นก็ถือเป็นโชคไม่ดีของกระบวนการโลกาภิวัตน์ และกระบวนการสื่อสารที่เกิดขึ้น แต่เราไม่ค่อยมีคำตอบว่าทำไมจึงเกิดขึ้น หากจะให้พูดถึงปัจจัยความเป็นไปได้ คงเป็นเพราะปัจจัยความเป็นประชาธิปไตยหรือเสรีนิยม เอื้อต่อความอดทนอดกลั้นความต่าง ทำให้ความต่างและความหลากหลายเป็นที่นิยม เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่ปรับมาสู่ความหลากหลายมากขึ้น คิดว่าคงเกิดขึ้นมาไม่นาน คือราวช่วง 30 ปีมานี้เอง

ประการต่อมา คนเสพข่าวสารวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น อันเป็นผลจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ และเมื่อคนนิยมเสพมากขึ้นก็ทำให้เกิดตัวกระบวนทัศน์ใหม่ขึ้นด้วย เราพบว่าโลกมีการแลกเปลี่ยน มีการย้ายถิ่นมากขึ้น จึงเอื้อต่อความหลากหลาย แต่ยังไม่มีคำตอบทางวิทยาศาสตร์หรือทางทฤษฎีว่าทำไมคนชอบความหลากหลาย เป็นเพราะชีวิต โลก และความเป็นจริงมันหลากหลายใช่หรือไม่. หรืออาจเป็นไปได้ว่ากระบวนทัศน์ที่เป็นสากลกับกระบวนทัศน์ที่หลากหลายมันอยู่ด้วยกัน แต่ก็แล้วแต่คนจะเลือกดูในมุมไหน ขึ้นกับยุคสมัย ขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่มันมีในแต่ละยุคสมัย ดังนั้นคนที่ไปติดทั้งคู่ก็จะเอียง

เราพบว่าปัจจุบันมีกระแสอัตลักษณ์นิยมแบบหลังสมัยใหม่ คือ อะไรที่หลากหลายมากๆ แต่กระบวนการมันวนกลับไปสู่พื้นฐานนิยมค่อนข้างรุนแรง นำไปสู่การเกิดความขัดแย้งที่เป็นปัญหาใหญ่ถึงชีวิตและสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับคนกลุ่มที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องอัตลักษณ์สมัยใหม่แบบมนุษย์สมัยใหม่ แต่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน ชาวนา หรือคนซึ่งอยู่ในภาคส่วนที่ไม่ได้เป็นภาคส่วนในเศรษฐกิจสมัยใหม่มากนัก. บางคนบอกว่า เป็นเพราะกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ล้มเหลว กระบวนการพัฒนาล้มเหลว การสร้างชาติล้มเหลว คนเหล่านี้จึงต่อต้านและตั้งตัวเองเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง เป็นกลุ่ม เป็นรัฐ เป็นหน่วย

ตรงนี้เป็นปัญหาที่ประเทศไทยและโลกเผชิญหน้ากับมัน ประเทศไทยเผชิญหน้ากับมันค่อนข้างมาก มองจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาซึ่งพรรคพลังประชาชนชนะอย่างท่วมท้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ ปัญหานี้สะท้อนปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ของคนด้วย เป็นอะไรที่ฝังลึกอยู่ หรือถูกผลิตซ้ำให้มันเป็นเรื่องที่ลึกหรืออาจจะส่งผลสะเทือนมากก็ได้. เป็นเรื่องที่ต้องสนใจมอง ต้องติดตาม แต่อย่ามองในแง่ที่น่ากลัวอย่างเดียว ให้มองปัญหาที่เกิดว่าสะท้อนอะไร และอาจจะเห็นสิ่งที่ดีก็ได้ในการที่คนตื่นตัวค่อนข้างมากในทุกภาค ทำให้เรามองกว้างขึ้น ยอมรับกันมากขึ้น ตั้งใจแก้ปัญหามากขึ้น

ขอสรุปสุดท้าย เรามีสองทางแก้ปัญหา คือ ปัญหาเกิดจากความต่างใหญ่ 2 อัน คือความต่างระหว่าง Plurality กับ Pluralism, กับความต่างระหว่าง Multiplicity กับ Multi-culturalism เรามองเฉพาะความต่างหรือลัทธิความต่างหรือความเชื่อเรื่องความต่างความหลากหลาย

ถ้าเราเชื่อเฉพาะเรื่องความต่าง ความหลากหลาย ข้อสรุปอาจจะเป็นการที่เราอยากเห็นอัตลักษณ์ที่พันทางหลากหลาย โดยยังเชื่อว่าโลกอาจจะมีหนึ่งเดียวได้ มีการรวมกันเป็นองค์รวมเดียวแต่ต่างกันได้ในหน้าที่และรายละเอียด. กลุ่มนี้จึงพยายามบอกว่าเป็นคนไทย เช่น คนไทยเชื้อสายมลายู คนไทยมุสลิม แต่ความรับรู้ของผมยังไงก็ฝืน เพราะยังมองว่าก็ยังเป็นคนมลายูที่นับถืออิสลาม และส่วนตัวก็ไม่มีปัญหาในการยอมรับในลักษณะนั้น ไม่ต้องยัดเยียดความเป็นไทยให้แล้วบอกว่าไทยมันต่างกัน แบบนี้เท่ากับเชื่อ Plurality คือขอรวมเป็นหนึ่งไว้ก่อน อาจเพื่อยุค Modern เพราะเราสร้างรัฐชาติได้แล้ว สร้างความเป็นไทยไว้แล้ว มันก็มีประโยชน์ มีหน้าที่ของมัน ไม่ให้เกิดปัญหาก็ต่างกันได้ ยอมรับกันได้

แบบที่สอง เป็น Pluralism หรือ Multi-culturalism คือเชื่อว่ามันต่างไปเลยแล้วมาทำสัญญา มาตกลงกันว่า เราอยู่ด้วยกันเพื่อความสะดวก. คำว่า 'ไทย' ต่อไปนี้เป็น 'สัญญะ' ไม่ใช่ 'สัญลักษณ์' คือเป็นเครื่องบอกเท่านั้น แต่ไม่ใช่บอกว่าอะไรคืออะไร หากเป็นสัญลักษณ์จะมีความศักดิ์สิทธิ์ มีอารมณ์ความรู้สึกร่วม ดังนั้น คำว่า 'ไทย' ต่อไปนี้เป็นภาษาที่เป็นเครื่องมือ เป็นความจำเป็นที่เราต้องติดต่อประสานงาน บริหารราชการ มันจำเป็นจริงๆ

เพราะถ้าเราคิดว่าจะไปให้สุดทางจริงๆ มันไม่มีคำตอบสุดท้าย หรือคำตอบมันแพงมากในความเป็นจริง ถ้าหากเราจะแก้ปัญหาความต่างแบบสุดขั้วจริงๆ อย่างผมมีเพื่อนคนหนึ่งสมัยอยู่ในป่า เป็นคนชนชาติบลู มีเหลือประมาณ 100 คนที่อีสาน เขามาเป็นทหารพิทักษ์ตอนอยู่ในป่า ถ้าเราบอกว่าจะรักษาวัฒนธรรมและภาษาของเขา เช่น จัดให้มีโรงเรียนสอนภาษาบลู มีมหาวิทยาลัยสอนภาษาบลู สร้างให้คนประมาณ 100 คน เราไม่มีเงินในแง่ความจริงและไม่มีระบบไหนที่รวยพอจะทำเช่นนั้นได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหากฎเกณฑ์ที่ตกลงอยู่ร่วมกันลงตัวลำบาก

อีกปัญหาคือเมื่อถึงเวลาจริงๆ ความแตกต่างมันจะมีไม่จำกัด แม้แต่ผมกับน้องตัวเองยังต่างกันมากมาย ถ้าทะเลาะกันให้ถึงที่สุดก็ได้ ไม่ต้องมองแค่ที่คนไทย มุสลิมเองก็ต่าง บางทีในตัวคนคนเดียวกันยังทะเลาะเองก็มี มันไม่จำกัด มันแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้นต้องหาความสมดุลพอดีและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ. การแก้ค่อนข้างลำบากมาก ต้องแล้วแต่จะเลือก จะเป็น Plurality หรือ Pluralism ก็ได้ โดยส่วนตัวผมอยู่ฝ่ายหลัง ไม่ติดว่าจะเรียกไทยเป็นสยามหรือคิดชื่อใหม่เลยก็ได้ แต่มองเป็นสัญญะที่ช่วยทำงานเท่านั้น แต่ก็มีคนมองเป็นความภูมิใจ อยากยกธงชาติโบกซึ่งยังเห็นได้ทั่วโลก

ทางแก้ต้องแก้ปัญหาจริงจัง อย่างที่บอกว่ามันบิดเบือนมาก มันเลือกสรรอย่างผิดๆ หากอยากจะแก้ปัญหาอย่างแรกคือ ต้องเปิดกว้างขึ้นทั้งในมิติจินตนาการ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เพราะตอนนี้ประวัติศาสตร์ยังเห็นเป็นประวัติศาสตร์ราชวงศ์เป็นส่วนใหญ่ จึงยังไม่ต้องพูดถึงประวัติศาสตร์สังคม ตอนนี้ในกรุงเทพฯ เห็นอนุสาวรีย์ของคนที่ไม่ได้อยู่ในราชวงศ์สักเท่าไหร่? พอเป็นประวัติศาสตร์ราชวงศ์มากก็โน้มเอียงมาก เพราะรวมศูนย์มากเกินไป ไม่กระจายแม้แต่มิติวัฒนธรรมหรือชนชาติ ต้องแก้จริงๆ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ย่อย วัฒนธรรม ภาษาย่อย และเศรษฐกิจ

ต้องเป็นฝ่ายรุกก่อนเกิดปัญหา เนื่องจากปัญหาไม่มีความพอดี ต้องรีบรุกแก้ก่อนเกิดปัญหา ต้องมี Inside ที่รู้ว่าปัญหาอันไหนรีบทำได้ก่อน บางทีการส่งเสริมความต่างทางวัฒนธรรมก็เป็นประโยชน์ในเรื่องการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและความภูมิใจของคน และต้องมีความมุ่งมั่น จริงจัง หวังดีที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ ร่วมมือร่วมใจกันจริง …จะเชื่อแบบ Plurality หรือ Pluralism ก็ได้ แต่ต้องคุยกันให้หมด

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๑ : Release date 17 March 2008 : Copyleft by MNU.
จากนี้เราน่าจะสร้างกระแสรณรงค์ให้แก้ รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และผมก็อยากจะฟังกลุ่มคณะที่เคยเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชา ธิปไตยที่เคยเรียกร้องว่าให้รับรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขกันทีหลัง อยากจะดูว่ากลุ่มนี้จะทำอย่างที่พูดหรือไม่ และอยากพูดว่ากลุ่มแกนนำพันธมิตรฯ ได้สำนึกบ้างหรือไม่จากผลของการกระทำของตัวเอง. การรัฐประหารครั้งนี้มันเป็นพลังอนุรักษ์นิยมซึ่งทำให้ผมได้มองคนกรุงเทพฯด้วยสายตาใหม่ และขอบคุณที่ผมไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ (หัวเราะ) แต่อนาคตข้างหน้าเราอาจจะได้มาชันสูตร และพบว่านี่อาจเป็นก้าวที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของพลัง อนุรักษ์นิยม และพลังของพวกไฮโซ, จะเห็นว่าการรัฐประหารครั้งนี้ได้หาพรรคพวกหาพันธมิตรกันเต็มที่จึงทำสำเร็จ
H