บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทุกชิ้นที่เผยแพร่ เป็นสมบัติสาธารณะ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ ภายใต้นโยบายลิขซ้าย (copyleft) เพื่อสังคมไทย



สำหรับผู้สนใจส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ความยาวไม่น้อยกว่า ๑๐ หน้ากระดาษ กรุณาส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
นักศึกษาและผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่แบนเนอร์ข้างบนนี้
อุดมศึกษาทางเลือก สำหรับผู้เรียนรู้ด้วยตัวเอง
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014

Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licen
e document, but changing
it is not allowed. - Editor
อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๐๓ เผยแพร่วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ : date 8 March 2008
ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี รวมบทความทั้งหมดจำหน่ายเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการดำเนินงานเว็บไซต์ หากสนใจสั่งซื้อได้ที่อีเมล์ midnightuniv(at)gmail.com
H

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
ค้นหาบทความโดยคลิกที่แบนเนอร์และใส่คำค้นที่สำคัญ



08-03-2551 (1503)

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : ประยุกต์แนวคิดพุทธธรรมในโลกอย่างสมสมัย
พุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์ พุทธธรรมในยุคหลังสมัยใหม่
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : ปาฐก
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เสมสิกขาลัย จัดงานปาฐกถา เสม พริ้งพวงแก้ว ครั้งที่ ๑๔
เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ณ เรือนร้อยฉนำ คลองสาน กรุงเทพฯ
ภายในงานดังกล่าว มีการแสดงปาฐกถาเรื่อง 'พุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์'
โดย 'เสกสรรค์ ประเสริฐกุล' พูดถึงผลกระทบของกระแสโลกาภิวัตน์
หรือระบบทุนนิยม บริโภคนิยมที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคม
มนุษย์กับโลกทางกายภาพ และระหว่างมนุษย์กับตัวเอง

โดยปาฐกได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
หนึ่ง พุทธธรรมคืออะไร?
สอง โลกาภิวัตน์คืออะไร? และ
สาม พุทธธรรมสัมพันธ์กับยุคโลกาภิวัตน์อย่างไร?
midnightuniv(at)gmail.com

หัวข้อและคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับปาฐกถาชิ้นนี้ ประกอบด้วย
ความเสื่อมทรุดของรัฐชาติ, ความเสื่อมทรุดของวัฒนธรรมแห่งชาติ,
ข่าวสารถูกขับเคลื่อนโดยแนวคิดทุนนิยม, โลกาภิวัตน์ ด้านที่ช่วยปลดปล่อยพันธนาการ,
ปัญหามูลฐานของปัจเจกชนในยุคโลกาภิวัตน์ และทางออก, พุทธธรรมบำบัด,
พุทธธรรม: จากตะวันตกหวนกลับสู่ตะวันออก, พุทธธรรมกับวิทยาศาสตร์,
เคน วิลเบอร์: The Atman Project เป็นต้น

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๐๓
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๓ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : ประยุกต์แนวคิดพุทธธรรมในโลกอย่างสมสมัย
พุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์ พุทธธรรมในยุคหลังสมัยใหม่
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : ปาฐก
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความนำ : จากประชาไท
ปาฐกถา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล:
ถ่วงดุลด้านมืดยุคโลกาภิวัตน์ โดยกอบกู้สติสัมปชัญญะของผู้ตกเป็นเหยื่อ

เสมสิกขาลัย จัดงาน ปาฐกถา เสม พริ้งพวงแก้ว ครั้งที่ ๑๔ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ณ เรือนร้อยฉนำ คลองสาน กรุงเทพฯ ภายในงานดังกล่าว มีการแสดงปาฐกถาเรื่อง 'พุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์' โดย 'เสกสรรค์ ประเสริฐกุล' พูดถึงผลกระทบของกระแสโลกาภิวัตน์ หรือระบบทุนนิยมโลกที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคม มนุษย์กับโลกทางกายภาพ และระหว่างมนุษย์กับตัวเอง

นอกจากนี้ มีการอ้างถึง 'พุทธธรรม' ว่าคืออะไร และสามารถนำมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมและภายในจิตใจของปัจเจกบุคคลได้อย่างไร รวมถึงความเกี่ยวโยงสัมพันธ์ระหว่างพุทธธรรมและโลกาภิวัตน์ เพราะทั้งรัฐและรัฐบาลคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับที่ระบอบการเมืองการปกครอง ไม่ว่าเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็แก้ไขไม่ได้ เพราะโครงสร้างทั้งหมด ตลอดจนผู้คนที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้แก้ไขปัญหาในระดับจิตใจและจิตวิญญาณ

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องถ่วงดุลด้านมืดของยุคโลกาภิวัตน์ โดยการกอบกู้สติสัมปชัญญะของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในระดับบุคคลและการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยอาจารย์เสกสรรค์ ได้ให้ความเห็นว่า ต้องพึ่งพาอาศัย 'พุทธธรรม' ในการแก้ไขปัญหา เพราะพุทธธรรมคือคำสอนที่พุ่งเป้าไปสู่การปลดปล่อยบุคคลออกจากการครอบงำตัวเองเป็นสำคัญ

เริ่มเรื่อง: พุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์
"กราบเรียนอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ที่เคารพยิ่ง เรียนมิตรสหายที่รักและท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน วันนี้ผมรู้สึกภูมิใจและดีใจเป็นอันมากที่ได้มาสนทนากับท่านทั้งหลาย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มชนที่มีสติปัญญา และเป็นผู้อยู่ในวิหารธรรมและเป็นกำลังฝ่ายสร้างสรรค์ของสังคม ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายได้รับเกียรติ ดังนั้นจึงต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้โอกาส

หัวข้อที่เราจะพูดคุยกันในวันนี้เป็นหัวข้อที่ผมเลือกเองและตั้งชื่อเอง และท่านทั้งหลายคงจะสังเกตเห็นว่าผมใช้คำ 'พุทธธรรม' แทนที่จะเป็น 'พุทธศาสนา' ตรงนี้ขออธิบายว่า แท้จริงแล้วความหมายของทั้งสองอย่างคาบเกี่ยวกันอยู่เป็นส่วนใหญ่ แต่ที่เลือกใช้คำว่า 'พุทธธรรม' ก็เพราะไม่ต้องการแตะต้องศาสนาที่เป็นทางการ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความยากลำบากขึ้นในชีวิตโดยไม่จำเป็น ถ้าเอ่ยถึงศาสนา เราจะพบว่า มักมีผู้ถือสิทธิเป็นเจ้าของ แต่ถ้ากล่าวถึงหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นสัจธรรมสากล ที่ไม่ขึ้นต่อลักษณะชาติหรืออำนาจรัฐใดๆ ในทางผูกขาด ทำความเข้าใจ หรือการหวงแหนกรรมสิทธิ์ คงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องขออนุญาตชี้แจงเสียตั้งแต่แรกว่า ผมเลือกหัวข้อนี้ด้วยใจศรัทธา และไม่ใช่เพราะถือตนว่าเชี่ยวชาญทางธรรมแต่อย่างใด หากจะมีความรู้อยู่บ้างก็ค่อนไปในทางทฤษฎี อีกทั้งยังเป็นความรู้ในระดับงูๆ ปลาๆ จุดมุ่งหมายในการพูดมีเพียงอยากสนับสนุนให้นำพุทธธรรมมาเป็นองค์ความรู้ในการลดทอนความทุกข์หรือดับทุกข์ให้มนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งผมอนุมานไว้แล้วตั้งแต่ต้นว่าท่านทั้งหลายคงคิดอ่านไปในแนวเดียวกัน ดังนั้น ผมจึงอยากจะเตือนผู้ฟังไว้ล่วงหน้าว่าผู้พูดมีความรู้จำกัด และอาจจะผิดพลาดได้ นอกจากนี้ ที่พูดทั้งหมดคงต้องถือว่าเป็นแค่ทัศนะส่วนตัว

หัวข้อที่ตั้งไว้ ทำให้มีคำถามใหญ่ 3 ประการที่เกี่ยวข้องกันคือ
หนึ่ง พุทธธรรมคืออะไร
สอง โลกาภิวัตน์คืออะไร และ
สาม พุทธธรรมสัมพันธ์กับยุคโลกาภิวัตน์อย่างไร

๑. พุทธธรรมคืออะไร?
ในการสนทนาวันนี้ ผมคงจะแสดงความเห็นรอบๆ สามคำถามดังกล่าว แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน และเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดของตัวเอง ผมคงไม่ก้าวล่วงไปพูดถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามากนัก จะขอกล่าวโดยสั้นๆ ว่า ตามความเข้าใจของผม พุทธธรรมคือความจริงอันดำรงอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบ และนำมาสั่งสอนผู้คนในยุคสมัยของท่าน ภายหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพานไปแล้ว คำสอนเหล่านี้จึงได้รับการบันทึกไว้และสืบทอดโดยสาวกรุ่นต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ประการต่อมา พุทธธรรมมีจุดเน้นอยู่ที่ความจริงเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ โดยมุ่งทำความเข้าใจกับความทุกข์ เหตุที่มาแห่งทุกข์ การดับไปแห่งทุกข์ และหนทางแห่งการดับทุกข์ สุดท้าย พุทธธรรมเป็นการสำรวจชีวิตจากด้านใน โดยถือว่าจิตเป็นต้นทางของปัญหา ดังนั้น กระบวนการแก้ปัญหาจึงเน้นที่การชำระจิตให้สะอาด หรือการข้ามพ้นจิตที่ปรุงแต่งและยึดถือในตัวตน ไปสู่จิตที่บริสุทธิ์อันมีธรรมชาติเป็นความว่าง ผมกล่าวถึงฐานะและภาพรวมของพุทธธรรมไว้แค่นี้ ก็เพื่อจะใช้เป็นฐานคิดส่งต่อไปสู่การพิจารณายุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งดูจะมีอะไรหลายอย่างที่สวนทางกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ขณะเดียวกันก็เป็นยุคสมัยที่เปิดพื้นที่ให้กับการเผยแผ่พุทธธรรมอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากโลกาภิวัตน์เป็นปรากฎการณ์หลายมิติ เป็นทั้งตัวก่อปัญหาใหม่ๆ และเป็นตัวเปิดโอกาสในการแก้ปัญหาเก่าๆ ในเวลาเดียวกัน

๒. โลกาภิวัตน์คืออะไร?
ถามว่า 'โลกาภิวัตน์คืออะไร' ตอบอย่างกว้างสุดก็คงต้องบอกว่า เป็นยุคสมัยที่โลกถูกย่อส่วนให้เล็กลงและหมุนเร็วขึ้นด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร มนุษย์จากทั่วทุกมุมโลกสามารถติดต่อกันได้ รับรู้ความเป็นไปของกันและกันได้ โดยก้าวข้ามทั้งพื้นที่และกาลเวลาในลักษณะที่อัศจรรย์ยิ่ง แน่นอน พูดแค่นี้คงไม่พอ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังขับเคลื่อนใหญ่โตที่สุดของกระแสโลกาภิวัตน์คือระบบทุนนิยมโลก ซึ่งมีลักษณะข้ามชาติ และระหว่างประเทศ และมีพลังส่งผลกระทบใหญ่หลวงที่สุด ต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคม ระหว่างมนุษย์กับโลกทางกายภาพ และระหว่างมนุษย์กับตัวเอง

พูดให้ชัดขึ้นก็คือทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ อันกระทบต่อชะตากรรมของมนุษย์อยู่ 3 ประการ ซึ่งเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้แก่

หนึ่ง การเสื่อมสลายของรูปแบบการใช้อำนาจแบบรัฐชาติ และความกลวงเปล่าของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน
สอง การเสื่อมสลายของสิ่งที่เรียกว่า 'วัฒนธรรมแห่งชาติ' ตลอดจนจารีตประเพณีหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคของการค้าเสรี
สาม การยึดครองช่องว่างทางจิตใจ และจิตวิญญาณของมนุษยชาติในขอบเขตทั่วโลก ด้วยชีวทัศน์วัตถุนิยม บริโภคนิยม
และปัจเจกชนนิยมแบบไร้ความรับผิดชอบ

ความเสื่อมทรุดของรัฐชาติ
กล่าวสำหรับความเสื่อมทรุดของรัฐชาติและระบอบประชาธิปไตยที่เน้นแต่การเลือกตั้งนั้น อาจจะไม่ใช่ประเด็นใหญ่สำหรับการพูดคุยในวันนี้ แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น ผมจะขอพูดเพียงกว้างๆ ว่า ระบบทุนโลกาภิวัตน์มีส่วนอย่างยิ่งในการจำกัดอำนาจของรัฐชาติ ไม่ให้ดูแลประชาชนที่ประกอบขึ้นเป็นชาติได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งนี้โดยการยกเลิกพรมแดนด้านการค้า การลงทุน ลดบทบาทของรัฐในการกระจายความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ปล่อยให้ทุนข้ามชาติเข้ามาหาผลประโยชน์ได้อย่างเสรี ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ

ด้วยเหตุนี้ นับวันระบบเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนจึงยิ่งทำให้ข้ออ้างความชอบธรรมของรัฐ ในฐานะผู้ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ ไม่มีความจริงรองรับ ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนใหญ่ที่โยงใยกับทุนระดับโลกก็มีแรงจูงใจและมีศักยภาพมากขึ้นในการขึ้นกุมอำนาจรัฐด้วยตนเอง ทั้งนี้เพื่อพิทักษ์ระบบที่ตนเองได้เปรียบ และพิทักษ์โครงสร้างผลประโยชน์ของพวกเขา สภาพดังกล่าวอาจจะแก้ไขได้บ้าง โดยการอาศัยการเมืองภาคประชาชนมาถ่วงดุลการเมืองแบบเลือกตั้ง ด้วยการโอนอำนาจที่เคยมีมาแต่เดิมของรัฐชาติบางส่วนไปไว้ที่ชุมชนท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นได้พัฒนาตนเองตามทางเลือกนอกกระแสหลัก ซึ่งสอดคล้องและเหมาะสมกับเงื่อนไขและวิถีชีวิตของพวกเขามากกว่า หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว คนจำนวนมากก็จะถูกทิ้งให้อยู่กับความหายนะ กลายเป็นแค่ฐานเสียง เป็นหางเครื่องทางการเมือง กระทั่งอาจกลายเป็นบ่อเกิดของมิคสัญญี

ความเสื่อมทรุดของวัฒนธรรมแห่งชาติ
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ความเสื่อมทรุดของรัฐชาติอาจเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และสังเกตเห็นยังไม่ได้ชัดเจนในหมู่คนทั่วไป การเสื่อมสลายของสิ่งที่เรียกว่า 'วัฒนธรรมแห่งชาติ' และ 'จารีตประเพณีพื้นเมือง' กลับปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนกว่า และเกิดขึ้นในอัตราเร่งที่เข้มข้นมา ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารอันทรงประสิทธิภาพได้นำพาข่าวสารซึ่งขัดแย้ง กระทั่งหักล้างความคิดความเชื่อในกรอบวัฒนธรรมแห่งชาติเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ชีวิตทางเพศ รสนิยมทางศิลปะ อาหาร ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างความสัมพันธ์ทางสังคมและความคิดเรื่องอำนาจ การรับข่าวสารเหล่านี้ ดำเนินมาในลักษณะอนาธิปไตย ไม่มีใครควบคุมได้ ส่วนใหญ่ปราศจากการกลั่นกรอง แล้วก็เป็นไปตามความพอใจของบุคคลมากกว่าเป็นไปเพื่อเชื่อมร้อยและจรรโลงสังคม

"ผลรวมของโลกาภิวัตน์ในประเทศไทย กลายเป็นว่าเกิดพื้นที่รกร้างขึ้นมาอย่างใหญ่หลวงในด้านวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ผู้คนจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนและคนชั้นกลาง ได้ถูกหล่อหลอมโดยระบบการค้าเสรี-ระบบข่าวสารเสรี ได้ติดหล่มอยู่กับวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม บริโภคนิยม และปัจเจกชนนิยมแบบสุดขั้ว ซึ่งกลายเป็นบ่อทุกข์บ่อใหม่ที่ยังหาทางป่ายปีนขึ้นมาไม่ได้"

แน่นอน เราจะไปโทษกระแสโลกาภิวัตน์ฝ่ายเดียวก็คงไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา กระบวนการสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติในประเทศไทย แม้จะมีบทบาททางด้านเชื่อมโยงคนไทยหลายหมู่เหล่าเข้าหากัน แต่ก็เป็นกระบวนการใช้อำนาจของรัฐมาตั้งแต่ต้น. รัฐไทยและชนชั้นนำไทย เป็นผู้นิยามวัฒนธรรมแห่งชาติตามอำเภอใจมาโดยตลอด โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญอยู่ที่การเชื่อฟังผู้กุมอำนาจ มีเครื่องปรุงภายนอกเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกในคริสตศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20 กระทั่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการหักล้างวัฒนธรรมอันมีมาแต่เดิมของชุมชนท้องถิ่น

ขบวนการดังกล่าว ทำให้ที่ผ่านมา ประชาชนไทยไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในการรังสรรค์วิถีชีวิตของตนเองเท่าที่ควร เพียงแต่ถูกเกณฑ์ให้ทำตามแนวนโยบายของรัฐเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่เรื่องของการแต่งกาย มาจนถึงเรื่องของจิตวิญญาณ. เช่นนี้แล้ว ความรู้สึกเป็นเจ้าของวัฒนธรรมแห่งชาติของประชาชนจึงค่อนข้างอ่อนแอ ทำให้ขาดภูมิคุ้มกันในการกลั่นกรองการไหลบ่าเข้ามาของกระแสวัฒนธรรมต่างชาติ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่า องค์ประกอบหลายอย่างของสิ่งที่เรียกว่า"วัฒนธรรมแห่งชาติ" ไม่ได้ช่วยจรรโลงสังคม และไม่ได้ช่วยให้ปัจเจกบุคคลพบกับความประณีตงามของชีวิตได้อย่างแท้จริง

โรงเรียน เครื่องมือหลักในการสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติ
ที่ผ่านมา รัฐชาติใช้โรงเรียนเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อเข้าแทนที่หรือครอบงำวัฒนธรรมประเพณีอันมีมาแต่เดิมของชุมชนท้องถิ่น ในแง่นี้ นับว่ารัฐประสบความสำเร็จในการดัดแปลงคนในประเทศอยู่มิใช่น้อย. แต่ขณะเดียวกัน โรงเรียนก็กลายเป็นสถาบันที่ผูกขาดคุณค่าทางสังคม การศึกษาในห้องเรียนกลายเป็นเครื่องแบ่งแยกฐานะคนในชาติ แทนที่จะสอนคนให้มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ มีอิสระทางความคิด และใช้สติปัญญาไปในทางสร้างสรรค์ กลายเป็นว่า นานวันไปเนื้อในของการศึกษาของสังคมไทยยิ่งขาดแคลนสาระในด้านนี้ การศึกษาขั้นสูงแปรสภาพเป็นแค่บัตรเครดิต หรือหนังสือเดินทางไปสู่ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นกองทุนแห่งอำนาจมากกว่าขุมทรัพย์ทางปัญญา

ความล้มเหลวของการศึกษาในโรงเรียนบนพื้นฐานที่วัฒนธรรมชุมชน และตัวชุมชนต่างก็ถูกทำลายไปมากแล้ว ทำให้เด็กไทยรุ่นหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกหลานของคนชั้นกลาง แทบจะไม่มีที่มาที่ไปทางวัฒนธรรมเหลืออยู่เลย พวกเขาขาดแคลนทั้งพุทธิปัญญาและความแข็งแรงทางด้านจิตวิญญาณ ในขณะที่โลกกำลังหมุนไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์อย่างไม่หยุดยั้ง ช่องว่างตรงนี้ทำให้ลูกหลานของเราต่างรับเอาข่าวสารข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างหิวกระหาย ปราศจากเครื่องมือทางความคิดในการกลั่นกรอง ขาดสติในการนำมาประยุกต์ใช้ กลายเป็นวิถีชีวิตที่สับสนอลหม่าน ดิบๆ สุกๆ ทางด้านรสนิยม ชีวิตเต็มไปด้วยความสุขระยะสั้นและความทุกข์ระยะยาว

ข่าวสารถูกขับเคลื่อนโดยแนวคิดทุนนิยม
พูดกันตามความจริง ข่าวสารที่ส่งผ่านมาตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ระบบโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ไม่ได้เป็นข่าวสารที่เปิดกว้างกระจัดกระจายหรือข่าวสารเสรีดังที่เราชอบคิดว่ามันเป็นเสียทั้งหมด หากส่วนใหญ่คือข้อมูลข่าวสารที่ถูกขับเคลื่อนออกมาเป็นกองหนุนของระบบทุนนิยมโลกแทบทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทกว้างๆ คือ

หนึ่ง ผ่านมาทางโฆษณาสินค้า และ
สอง เป็นการโฆษณาทางความคิดโดยตรง

จะว่าไป ในการโฆษณาสินค้าก็มีการโฆษณาความคิดติดมาด้วยเสมอ เช่น สินค้าประเภทเครื่องสำอาง มีนัยยะบ่งบอกเราว่า การปรุงแต่งร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่เว้นแม้แต่ซอกหลืบต่างๆ ล้วนเป็นความจำเป็นของชีวิต. เท่านั้นยังไม่พอ บางทีในการโฆษณาสินค้ายังพ่วงนัยยะทางสังคมติดมาด้วย เช่น เสนอว่าคุณควรจะรักผู้หญิงหรือรักผู้ชายที่ใช้สินค้าตัวนี้เท่านั้น หรือคุณจะได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ก็ต่อเมื่อคุณบริโภคสิ่งใดบ้าง อะไรทำนองนี้

ส่วนการโฆษณาความคิดนั้น มีหลายรูปแบบ หลายๆ ประเด็นเช่นเดียวกัน ที่สำคัญคือทั้งหมด ล้วนแตกหน่อมาจากแนวคิดของลัทธิ 'เสรีนิยมใหม่' ซึ่งเน้นเรื่องการ 'ไม่มีอยู่' ของประเทศชาติ กระตุ้นวิถีชีวิตแบบไร้ราก อวดอัตตา ยืนยันความเชื่อที่ว่าธรรมชาติของมนุษย์ล้วนเห็นแก่ตัว ดังนั้น จึงส่งเสริมการแยกตัวจากส่วนรวมของปัจเจกบุคคล ตลอดจนฝากคุณค่าของชีวิตไว้กับกลไกตลาด เป็นต้น

โลกาภิวัตน์ ด้านที่ช่วยปลดปล่อยพันธนาการ
แน่นอน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบทุนนิยมโลกและกระแสวัฒนธรรมเสรีในยุคโลกาภิวัตน์ก็มีด้านที่ช่วยปลดปล่อยพันธนาการเก่าๆ อยู่ไม่น้อย หากเรายอมรับว่าการดำรงอยู่ของรัฐชาติและวัฒนธรรมแห่งชาติก็มีด้านที่กดขี่ครอบงำอยู่พอสมควร นอกจากนี้ เงื่อนไขทางวัตถุที่เพิ่มขึ้นทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ ก็สามารถสนองความจำเป็นในด้านชีวิตความเป็นอยู่ได้มาก การค้าเสรี อาจจะช่วยทำลายการผูกขาดแบบเก่า อาจจะทำให้ของใช้บางอย่างราคาถูกลง ชีวิตบางด้านของประชาชนสะดวกสบายขึ้น อีกทั้งการก้าวพ้นกรอบคิดเรื่องชาติ บางทีก็อาจช่วยเปิดพื้นที่ให้เกิดจิตสำนึกพี่น้องกับเพื่อนมนุษย์ได้ง่ายขึ้น หรือในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจจะปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ในระดับปัจเจกบุคคลได้มากขึ้น โดยไม่ติดอยู่กับกรอบขันธุ์เพดานใด แต่สภาพดังกล่าวถึงจะเป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และยิ่งไม่ใช่ด้านหลักของสถานการณ์ปัจจุบัน

โลกและชีวิตทางด้านวัตถุ และความซับซ้อนของวัตถุนิยม-บริโภคนิยม
ถึงตรงนี้ผมคงต้องชี้แจงสักเล็กน้อยว่า ผมเองไม่ได้มองข้ามการดำรงอยู่ทางกายภาพของโลกและชีวิต ไม่ได้มองข้ามความจำเป็นที่จะต้องใช้เงื่อนไขทางวัตถุมาแก้ปัญหาหลายอย่างของมนุษย์ และยิ่งไม่ได้มองข้ามการดำรงอยู่ในฐานะปัจเจกบุคคลหรือความสำคัญ ตลอดจนศักดิ์ศรีและสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่สิ่งเหล่านี้เป็นคนละอย่างกับวัตถุนิยม บริโภคนิยม และปัจเจกชนนิยมแบบสุดโต่ง จนถึงขั้นอยู่คนละสำนักความคิดกัน

แนวคิดวัตถุนิยม นั้นมีขอบเขตปริมณฑลของความหมายกว้างใหญ่มาก คือเป็นได้ตั้งแต่อภิปรัชญา วิธีการทางวิทยาศาสตร์ มาจนถึงโลกทัศน์หรือทฤษฎีทางสังคมที่ยืนยันว่า 'วัตถุกำหนดจิต' ส่วนนั้นเราอาจจะต้องเคารพกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้คือ ความเชื่อแบบหยาบๆ ว่าชีวิตมนุษย์เป็นเพียงการดำรงอยู่ทางกาย หรือการสนองความต้องการทางกายเป็นที่สุด. ตรงนี้นับว่าอันตราย เพราะว่าเป็นแนวทางที่ถอยห่างจากความจริงไปไกล

แนวคิดบริโภคนิยม ส่วนบริโภคนิยมนั้น แท้จริงก็แตกหน่อมาจากวัตถุนิยมหยาบๆ นั่นเอง มันหมายถึงการวางคุณค่าชีวิตไว้ที่การถือครองหรือเสพใช้สินค้าและบริการอย่างไม่มีขอบเขต ทั้งนี้ โดยปราศจากการโยงใยอย่างสิ้นเชิงกับคุณค่าทางจิตใจและทางจิตวิญญาณ สุดท้าย ปัจเจกชนนิยมแบบไร้ความรับผิดชอบ หมายถึงการยึดถือความพอใจของตัวเองเป็นเอก ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางในการตัดสินคุณค่าของสรรพสิ่ง เห็นผู้อื่นเป็นเพียงเครื่องมือหรือเป็นแค่ 'กรรม' ที่ถูกกระทำโดยตัวเอง ซึ่งเป็นประธาน

ผมคงไม่ต้องเอ่ยก็ได้ว่าชุดความคิดเหล่านี้ เมื่อผนึกผนวกเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ได้สร้างความทุกข์ให้กับสังคมและตัวบุคคลที่หลงเข้าไปสังกัดมากน้อยแค่ไหน เพราะมันเป็นแนวทางชีวิตที่นำผู้คนไปสู่การดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง แปลกแยกทั้งจากตัวเองและผู้อื่น อีกทั้งขัดแย้งต่อความเป็นจริงของเอกภพ. ทุกวันนี้ บุคลิกภาพของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยหลายชิ้น ได้ออกมาคล้ายๆ กันคือ เป็นคนที่ทำทุกอย่างเพื่อสร้างความพอใจส่วนตัว ความแตกต่างเรื่องการปรุงแต่งร่างกายทรงผม ตลอดจนการบริโภคสินค้ายี่ห้อต่างๆ ที่อยู่ในกระแสบริโภคนิยม ไม่นับญาติ ไม่นับมิตรกับใคร ไม่สนใจกิจการบ้านเมือง เฉยเมยต่อความยากลำบากของเพื่อนร่วมชาติ อยากได้ปริญญาแต่ไม่อยากเรียนหนังสือ อยากได้ลาภยศสรรเสริญ แต่ไม่อยากทำงาน หมกมุ่นเรื่องเพศ จิตใจอ่อนแอแปรปรวน วันดีคืนดี ถ้าผิดหวังในเรื่องความรักก็อาจจะฆ่าตัวตายง่ายๆ หรือฆ่าคนอื่น หรือฆ่าทีเดียวพร้อมกันทั้งสองคน

ทั้งหมดนี้อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องของเด็กๆ แต่ผู้ใหญ่จำนวนมากก็ไม่ได้ต่างกันนัก เพียงแต่ว่าการแสดงออกที่เป็นรูปธรรมอาจจะไม่เหมือนกัน ประเด็นหลักอยู่ที่ว่า โลกาภิวัตน์ได้ทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นปัจเจกชนที่ล่องลอย ไร้ราก ไร้สังกัด ดูภายนอกเหมือนจะเปี่ยมล้นไปด้วยอิสรภาพและความสมบูรณ์พูนสุข แต่ลึกๆ แล้วเจ้าตัวก็รู้สึกได้ว่าข้างในเต็มไปด้วยความว่างเปล่า อ่อนแอ และอับจน. ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สถิติการฆ่าตัวตาย ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับจำนวนตัวเลขครอบครัวที่หย่าร้าง สถิติการล่วงละเมิดทางเพศ การตั้งครรภ์ในวัยที่ไม่สมควร ยังไม่ต้องเอ่ยถึงสถิติอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง และจำนวนผู้ใช้ยาเสพติด ทุกคนดูเหมือนจะมีปัญหาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อีกทั้งโทษผู้อื่นว่าก่อปัญหาให้ตน

ปัญหามูลฐานของปัจเจกชนในยุคโลกาภิวัตน์ และทางออก
ปัญหาระดับมูลฐานที่สุดของคนในยุคโลกาภิวัตน์ คือแม้จะดิ้นรนออกจากการครอบงำของโครงสร้างอำนาจวัฒนธรรมที่รวมศูนย์และกดทับได้ค่อนข้างเป็นผลสำเร็จ หรือหลุดจากพันธนาการมาได้ในระดับหนึ่ง แต่น่าเสียดายตรงที่มาติดกับอยู่ที่การครอบงำตัวเอง. ผมทราบดีว่าที่พูดมาทั้งหมดอาจจะเป็นด้านมืดสักหน่อย แต่โปรดเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การหมิ่นประณาม หากเป็นความห่วงใยและเป็นความพยายามที่จะเข้าใจความทุกข์ซึ่งกำลังคลี่คลุมผู้คน. ถามว่าใครเล่าจะเป็นผู้แก้ไขปัญหาความแปลกแยกดังกล่าว และจะแก้ไขด้วยวิธีใด? ต่อเรื่องนี้คงต้องเรียนตรงๆ ว่า ทั้งรัฐและรัฐบาลคงแก้ไขไม่ได้ และระบอบการเมืองการปกครอง ไม่ว่าเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็แก้ไขไม่ได้ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่าโครงสร้างเหล่านั้น ตลอดจนผู้คนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้แก้ไขปัญหาในระดับจิตใจและจิตวิญญาณ

อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะทั้งรัฐทั้งระบอบ และรัฐบาลในยุคโลกาภิวัตน์เอง ก็ตกอยู่ในสภาพอ่อนแอสับสนไม่น้อยไปกว่าภาคสังคม ดังนั้น การมุ่งหวังให้สถาบันการเมืองการปกครองมาแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนเช่นนี้ เราคงไม่ต้องเอ่ยถึง. คงไม่ต้องพูดก็ได้ว่าการกลับไปสู่วัฒนธรรมแห่งชาติแบบที่ผ่านมาก็ 'สายเกินไป' เช่นกัน เพราะวัฒนธรรมที่รัฐคอยปกป้องสนับสนุน ไม่เพียงมีจุดเน้นอยู่ที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจ และมีลักษณะที่ครอบงำมาตั้งแต่แรก หากถึงวันนี้ยิ่งอ่อนแอ ขาดทั้งพลังสร้างสรรค์ของตัวเอง และขาดพื้นที่จะรองรับการสร้างสรรค์ที่เป็นอิสระ

จริงอยู่ ปัญหาในยุคโลกาภิวัตน์นั้นมีมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่ไร้ขอบเขต ความยากจน ความรุนแรงทางสังคม ความพังพินาศของสิ่งแวดล้อม มลภาวะ หรือความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ อันเนื่องมาจากพฤติกรรมทำลายโลก. แต่ถ้าเราสืบค้นไปจนถึงต้นตอของปัญหาร้ายแรงเหล่านี้ ก็จะพบว่ามันมีที่มาจากจิตใจที่ไม่สมดุลของมนุษย์เอง

การกอบกู้จิตวิญญาณ การสร้างสันติสุขในดวงจิต
ในความเห็นของผม คิดว่าในสถานการณ์เช่นนี้ การกอบกู้จิตวิญญาณหรือสร้างสันติสุขให้บังเกิดในดวงจิตของผู้คน อาจจะทำได้ แต่ทำโดยวิถีทางการเมืองล้วนๆ ไม่ได้ แม้ว่าการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปทางเศรษฐกิจให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นอาจจะยังเป็นความจำเป็นที่ต่อเนื่อง กระทั่งอาจจะมีส่วนเกื้อกูลวิถีชีวิตที่สมดุลก็ตาม

ปัญหาระดับมูลฐานที่สุดของคนในยุคโลกาภิวัตน์ คือแม้จะดิ้นรนออกจากการครอบงำของโครงสร้างอำนาจวัฒนธรรมที่รวมศูนย์และกดทับได้ค่อนข้างเป็นผลสำเร็จ หรือหลุดจากพันธนาการมาได้ในระดับหนึ่ง แต่น่าเสียดายตรงที่มาติดกับอยู่ที่การครอบงำตัวเอง ดังนั้น "อิสรภาพที่ได้มา จึงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์". พูดอย่างรวบรัดก็คือว่า การถ่วงดุลด้านมืดของยุคโลกาภิวัตน์ จะทำได้ก็โดยการกอบกู้สติสัมปชัญญะของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเท่านั้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้ ทั้งในระดับบุคคล และเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือเป็นทั้งสองอย่างประสานกัน ตรงนี้แหละที่ทำให้ผมคิดว่า เรามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพึ่งพิงพุทธธรรม เพราะพุทธธรรมเป็นคำสอนที่พุ่งเป้าไปสู่การปลดปล่อยบุคคลออกจากการครอบงำตัวเองเป็นสำคัญ

อันนี้ไม่ได้หมายความว่าผมเพียงใช้ตรรกะหยาบๆ มาอธิบายความเห็น หากเป็นข้อเสนอจากเงื่อนไขความเป็นจริง ซึ่งประกอบด้วยทั้งความจำเป็นและความเป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ในแง่ของความจำเป็น ผมได้พูดมามากแล้ว แต่ในแง่ของความเป็นไปได้ หมายความว่าอย่างไร... หมายความว่า ในสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่นี้ เราสามารถเชิญพุทธธรรมไปเกาะเกี่ยวกับพลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่ได้ โดยไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน โอกาสมีอยู่จริงและเป็นรูปธรรม

พุทธธรรมบำบัด
เงื่อนไขข้อแรก ดังที่กล่าวมาแล้ว ปัญหาที่มนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์เผชิญอยู่ เป็นปัญหาในระดับจิตวิญญาณ ดังนั้น จึงตรงกับประเด็นหลักๆ ที่พระพุทธองค์เคยค้นคว้าและหาคำตอบ หากพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ผู้คนป่วยเป็นโรคที่เรามียารักษาได้โดยตรง

เงื่อนไขที่สอง โลกาภิวัตน์ไม่ได้มีแต่ด้านลบอย่างเดียว หากยังมีด้านบวกที่เอื้อต่อการเผยแผ่พุทธธรรมและการปฏิบัติธรรมด้วย เราต้องอาศัยด้านบวกของโลกาภิวัตน์ อันประกอบด้วย เทคโนโลยีการสื่อสาร ความเพียบพร้อมด้วยเงื่อนไขทางวัตถุสำหรับเกื้อหนุนการทำงานและการใช้ชีวิต จิตสำนึกที่ข้ามพรมแดนไปเชื่อมโยงกันในหมู่มนุษย์และเสรีภาพในการสร้างสรรค์ปัจเจกภาพของปัจเจกบุคคล มาช่วยลดทอนด้านมืด ซึ่งในการเคลื่อนไหวทิศทางนี้ เราสามารถส่งทอดข่าวสารให้เพื่อนมนุษย์ได้สะดวกกว่าเดิมมาก

สุดท้าย ถ้ากล่าวเฉพาะเงื่อนไขพิเศษของสังคมไทย ก็ต้องถือว่าเรามีคลังปัญญาของพุทธธรรมเก็บไว้อย่างล้นเหลือ แม้ว่าที่ผ่านมาคนจำนวนมากยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ข้อได้เปรียบตรงนี้ก็ตาม อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า ตั้งแตพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพานไปแล้ว นับได้กว่า 2,500 ปี คำสอนของพระองค์ ไม่เพียงได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเท่านั้น หากยังได้การตีความย้ำเน้นแตกต่างกันอยู่บ้าง ทั้งในยุคสมัยที่ต่างกัน และในดินแดนที่ต่างกัน ในจุดนี้ ผมคงต้องเอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างพุทธธรรมกับยุคโลกาภิวัตน์เสียเลย เพราะว่าในกระแสโลกาภิวัตน์ การเผยแผ่พุทธธรรมและการศึกษษพุทธธรรม ตลอดจนการสมาทานพุทธธรรม ย่อมจะได้รับผลกระทบจากยุคสมัยเช่นเดียวกัน

๓. พุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์
เท่าที่ผมสังเกตเห็นด้วยสายตาจำกัด การศึกษาพุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์มีลักษณะแตกต่างจากสมัยจารีตประเพณีอยู่ 5 ประการ คือ

1. เป็นการศึกษาและปฏิบัตินอกวัดมากขึ้น
2. เป็นการตีความอิสระโดยปัจเจกบุคคลมากขึ้น
3. ได้รับการยอมรับนับถือโดยประชาชนในประเทศที่ไม่ได้มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของชาติมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศตะวันตก
4. มีลักษณะบูรณาการระหว่างนิกายมากขึ้น และ
5. มีการนำไปเทียบเคียงและเกี่ยวโยงกับองค์ความรู้แบบอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิทยาศาสตร์และสำนักคิดทางจิตวิญญาณต่างๆ

สำหรับประการแรกและประการที่สอง คงเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว ทุกวันนี้แม้คนจำนวนมากจะหมกมุ่นอยู่ในโลกียจิต แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่หันมาศึกษาพุทธธรรม และปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจด้วยตนเอง สำนักวิปัสนานอกวัดเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิประเทศอันสงบวิเวก หลักสูตรศึกษาและปฏิบัติธรรมระยะสั้น ถูกนำมาเสนอให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป อีกทั้งพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ถูกนำมาตีความและตีพิมพ์เผยแพร่ตามร้านหนังสือ ซึ่งหาได้โดยง่าย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการเปิดพื้นที่ให้พุทธธรรมมากขึ้นในสื่อแขนงต่างๆ สภาพดังกล่าวนับว่าช่วยเหลือเกื้อกูลปัจเจกบุคคลที่กำลังแสวงหาคำตอบในทิศทางนี้เป็นอย่างยิ่ง

ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่เราจะสามารถหาอ่านคำสอนของปราชญ์และวิปัสนาจารย์ฝ่ายสงฆ์ได้โดยง่ายเท่านั้น แม้แต่งานของธรรมาจารย์ฝ่ายฆราวาสก็มีอยู่ไม่น้อย การดำรงอยู่ของสำนักปฏิบัติธรรมและผู้รู้ธรรมของฝ่ายฆราวาส ตลอดจนตำราพุทธธรรมที่เผยแพร่ทั่วไปเหล่านี้ นับว่าช่วยย่นย่อระยะทางระหว่างคนธรรมดาจากคำสอนของพระพุทธองค์ได้มากขึ้น อีกทั้งยังถูกกับจริตของคนยุคปัจจุบันที่มักปฏิเสธขั้นตอนพิธีรีตองแบบเก่า และอยากเลือก อยากคิดอะไรด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน สภาพเช่นนี้ก็สะท้อนระยะห่างระหว่างมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์กับพุทธศาสนาที่เป็นทางการพอสมควร ซึ่งจะโทษฝ่ายแรกฝ่ายเดียวคงไม่ได้

ทุกวันนี้ แม้เราจะยังมีวัดดีๆ พระดีๆ อีกเป็นจำนวนมาก แต่ก็คงต้องยอมรับว่าพลังของศาสนาที่เป็นทางการในการดึงดูดผู้คนเข้ามาไว้ภายใต้รังสีธรรม ได้ลดลงกว่าแต่ก่อน ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่า ศาสนาเองก็ได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวทางโลกมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากปรากฎการณ์ที่วัดและพระจำนวนหนึ่งถูกแปรรูปให้มารับใช้จริตทางไสยศาสตร์ของคนชั้นกลาง ซึ่งฉาบทอเอาไว้ด้วยความโลภทางวัตถุธรรม มากกว่าจะเป็นการแสวงหาภาวะหลุดพ้นใดๆ

พุทธธรรมในซีกโลกตะวันตก
ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของพุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าได้รับการเผยแผ่จากประเทศของชาวพุทธในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่โลกตะวันตกในอัตราที่เข้มข้นรวดเร็ว ซึ่งส่งผลสะเทือนกลับมายังซีกโลกตะวันออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น พูดกันตามความจริง ชาวตะวันตกได้สัมผัสพุทธธรรมมานาน การขยายอำนาจมาถึงอินเดียของอเล็กซานเดอร์มหาราชมีส่วนอย่างมากในการเปิดทางให้พุทธศาสนาเผยแผ่ไปสู่เอเชียกลาง และบันทึกการสนทนาธรรมระหว่างพญามิลินท์ผู้เป็นเจ้ากรีก กับพระนางเกษมเถระก็กลายเป็นตำราคลาสสิกเล่มหนึ่งของชาวพุทธ ซึ่งตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หากเราไม่นับการอพยพของชาวจีนชาวญี่ปุ่นไปสู่ทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งนำวัฒนธรรมประเพณีแบบชาวพุทธติดตัวไปด้วย ก็คงต้องถือว่าความสนใจพุทธศาสนาของชาวตะวันตกเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในคริสตศตวรรษที่ 19 และต่อเนื่องมาจนถึงคริสตศตวรรษที่ 20 ซึ่งในตอนแรก จำกัดวงอยู่ในหมู่ปัญญาชน ยกตัวอย่างเช่น ในปลายคริสตศตวรรษที่ 19, เฮนรี่ เดวิด ธอโร ได้แปลพระสูตรจากภาษาฝรั่งเศสมาเป็นภาษาอังกฤษ, เฟรดริช นิทเช่ นักปรัชญาคนสำคัญ ก็เคยกล่าวยกย่องพุทธศาสนาไว้ในงานของเขา ในปี ค.ศ.1895 และต่อมา ในปี 1924 มีการก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งลอนดอนขึ้น หลังจากนั้นอีก 3 ปี ก็มีการตีพิมพ์คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบตออกเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก เป็นต้น

จากนั้น พอถึงครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 20 พุทธธรรมในโลกตะวันตกก็ได้รับการเผยแผ่กว้างขวางออกไปอีก. ในปี ค.ศ.1959 ซูซูกิ ฮิโรชิ ได้เริ่มเปิดอบรมธรรมะของฝ่ายเซนที่ซานฟรานซิสโก และในปี 1965 ภิกษุจากลังกาจำนวนหนึ่ง ก็ได้สร้างพุทธวิหารขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ต่อจากนั้น การเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในอินโดจีนซึ่งนำโดยหลวงพ่อติช นัท ฮันห์, กับเหตุการณ์ที่ชาวทิเบตจำนวนมหาศาล รวมทั้งองค์พระประมุขดาไลลามะต้องลี้ภัยจากการยึดครองของจีน ได้ส่งผลใหญ่หลวงต่อการนำพุทธธรรมไปหยั่งรากในโลกตะวันตก. สภาพทั้งหมดนี้ได้ให้กำเนิดทั้งวัดและพระสงฆ์ ตลอดจนธรรมาจารย์ฆราวาสที่เป็นชาวตะวันตกเอง จนอาจกล่าวได้ว่า พระรัตนตรัยมีที่ประดิษฐานอย่างมั่นคงแล้วในซีกโลกนั้น

อย่างไรก็ดี แม้เราไม่อาจลืมคุณูปการของบุคคลอย่างท่านดาไลลามะ, หลวงพ่อนัชฮันห์, อาจารย์ซูซูกิ, ท่านเชอเกียม ตรุงปะ, ท่านโซเกียล รินโปเช, และอีกหลายๆ ท่านที่พร่ำสอนชาวตะวันตกให้เข้าใจมรรคผลวิธีของชาวพุทธ แต่ก็คงต้องยอมรับว่าการที่พุทธธรมได้หยั่งรากในโลกตะวันตกได้ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะชาวตะวันตกเองได้เผชิญกับปัญหาต่างๆ จากการพัฒนาด้านวัตถุมาก่อนเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเงียบเหงาของชีวิต ความรุนแรงของสังคม ตลอดจนปัญหาพิษภัยต่างๆ จากการล่มสลายของสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่พวกเขาต้องหันมาหาหลักธรรม ซึ่งเน้นความสมถะสันโดษ และครรลองชีวิตี่สร้างความสงบสันติขึ้นภายในตัวเอง ด้วยตัวเอง

เมื่อไม่นานมานี้มีบันทึกเล่มหนึ่ง ซึ่งสะท้อนภาพความเจ็บปวดของชาวตะวันตกได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนเป็นพระเซนชาวอเมริกัน ชื่อ 'เคลาด์ อันชิน โทมัส' (Claude Anshin Thomas) ส่วนหนังสือของท่านชื่อ At Hell's Gate หรือ 'ปากประตูนรก' ท่านโทมัสผู้นี้เคยเป็นทหาร ถูกส่งไปรบในสงครามเวียดนาม และมีส่วนในการสังหารชีวิตชาวเวียดนามหลายร้อยคน ท่านเคยได้รับเหรียญกล้าหาญขั้นสูงของสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากปลดประจำการ ปรากฎว่าสงครามในใจท่านกลับไม่ยอมสงบตาม ท่านไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติธรรมดาได้ เพราะความรุนแรงในชีวิตได้ตามมาหลอกหลอน. ท่านโทมัสได้กลายเป็นคนเครียด นอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง มีอารมณ์ฉุนเฉียวและหวาดระแวงตลอดเวลา กลายเป็นคนล้มเหลวในชีวิตครอบครัว ทำงานที่ไหนไม่ได้ และเสี่ยงที่จะเสียสติอยู่ไม่น้อย

จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านโทมัสมีโอกาสได้ไปศึกษาพุทธธรรม และฝึกภาวนาอยู่ที่หมู่บ้านพลัม ในฝรั่งเศส ของหลวงพ่อนัชฮันห์ จึงได้เรียนรู้ที่จะสรุปกรรม ทำความเข้าใจจิตของตนเอง และค่อยๆ สงบลง สุดท้าย ท่านได้กลับมาบวชเป็นพระเซน ในนิกายโซโตที่อเมริกา และกลายเป็นพระที่เอาการเอางานในการเผยแผ่พุทธธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอหิงสธรรม ซึ่งคัดค้านการใช้ความรุนแรง. แน่นอน ผลจากการที่พุทธธรรมได้หยั่งรากอย่างมั่นคงในโลกตะวันตก ทำให้เกิดอานิสงส์กลับมายังโลกตะวันออกด้วย

พุทธธรรม: จากตะวันตกหวนกลับสู่ตะวันออก
ข้อแรก คือ การเผยแพร่ธรรมะอย่างกว้างขวางเป็นภาษาสากล ทำให้เราได้มีโอกาสศึกษาการตีความพุทธธรรมของฝ่ายต่างๆ ซึ่งปกติเข้าถึงได้ยากมาก เนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษา กล่าวคือในปัจจุบัน นอกเหนือจากตำราของเถรวาทที่มีอยู่แล้ว เรายังสามารถอ่านงานสำคัญๆ ของฝ่ายมหายานได้ โดยไม่ต้องรู้ภาษาสันสกฤต สามารถศึกษาวัชรญาณได้ โดยไม่ต้องรู้ภาษาทิเบต อ่านคำสอนของเซนได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ต้องรู้ภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาจีน. ยิ่งไปกว่านั้น การมีต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ยังทำให้ง่ายขึ้นต่อการแปลคำสอนเหล่านี้เป็นภาษาไทย

ข้อต่อมา ผลจากการรับพุทธธรรมของฝ่ายตะวันตกอีกอย่างหนึ่งก็คือ โดยวิถีการเรียนรู้ของชาวตะวันตกเอง พวกเขาจำเป็นต้องสกัดส่วนที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ ที่ติดมากับคำสอนของนิกายทั้งหลายออกไปมากพอสมควร กระทั่งในบางกรณีก็ต้องกลั่นกรองเอาอคติระหว่างนิกายออกไปด้วย เพื่อให้ได้เนื้อแท้ของพระธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล และประยุกต์เข้ากับสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมของโลกซีกนั้นได้ง่ายขึ้น. ผลที่ออกมาคือการบูรณาการคำสอนนิกายต่างๆ เข้าหากัน อ้างอิงซึ่งกันและกันได้โดยไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์และตรวจสอบไต่ถามได้โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องละเมิดล่วงเกิน. พูดง่ายๆ คือพวกเขาศึกษาธรรมะตามประเพณีของ Liberal Education หรือการศึกษาเสรี ซึ่งเป็นระเบียบทางปัญญาของฝ่ายตะวันตกมานานนับศตวรรษ

ตามความเห็นของผม หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งสะท้อนแนวโน้มในด้านนี้ไว้เป็นอย่างดีคือหนังสือชื่อ 'ธรรมะมีหนึ่งเดียว' - One Dharma: The Emerging Western Buddhism ซึ่งเขียนโดย โจเซฟ โกลด์สไตน์ วิปัสนาจารย์คนแรกที่เป็นชาวอเมริกัน ผู้เคยศึกษาพุทธธรรมทั้งจากอาจารย์ไทย อาจารย์พม่า ซึ่งอยู่ฝ่ายเถรวาท, ศึกษาวัชรญาณจากครูทิเบต ตลอดจนศึกษาเซนจากอาจารย์ญี่ปุ่นและเกาหลี ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ อาจารย์โกลด์สไตน์ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า

"ลักษณะพิเศษของยุคสมัยปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ที่ตะวันออกกับตะวันตกได้มาพบกันเท่านั้น อาจยังอยู่ที่สำนักนิกายต่างๆ ของเอเชีย มาพบกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายศตวรรษ โดยพบกันในโลกตะวันตก ผลจากการปะทะสังสรรค์ของคำสอนเก่าแก่เหล่านี้ ทำให้เกิดสิ่งที่เราพอจะเรียกได้ว่า 'พุทธศาสนาของฝ่ายตะวันตก' เราไม่ได้ถูกจำกัดโดยข้อห้ามต่างๆ ของวัฒนธรรมเอเชีย อีกทั้งยังได้รับการเสริมพลังจากสังคมที่สนับสนุนให้มีการตรวจสอบไต่สวน เราจึงเต็มใจที่จะรับเอาสิ่งดีๆ จากทุกสำนักนิกาย มาผนวกกับประสบการณ์ภาคปฏิบัติของเรา"

ไม่เพียงแต่แนวโน้มข้างต้นจะเด่นชัดในซีกโลกตะวันตก ในประเทศไทยเราเอง การน้อมศึกษาพุทธธรรมจากสำนักอื่นที่ไม่ใช่เถรวาท ไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ก็ตาม กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ แน่ล่ะ เรื่องนี้จริงๆ แล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยบุกเบิกมาก่อนสมัยโลกาภิวัตน์ ด้วยการแปลคัมภีร์เซนคลาสสิก อย่าง 'ฮวงโป' กับ 'สูตรของเว่ยหล่าง' ออกเผยแพร่ ตั้งแต่กว่า 50 ปีที่แล้ว อีกทั้งยังนำแนวคิดเรื่อง 'สุญญตา' หรือ 'ความว่าง' ของมหาญาณ มาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบรรยายธรรมของท่านด้วย

ยังไม่ต้องเอ่ยว่า ผลงานของฝ่ายฆราวาส เช่น งานแปลคัมภีร์มหายานของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ก็ได้ทำไว้นานแล้วเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับว่า ในระยหลังนี้ การนำคัมภีร์โบราณ ตลอดจนตำราธรรมะของฝ่ายทิเบตและเซนมาแปลเป็นภาษาไทย ได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวางกว่าเดิมมาก จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้แสวงหาในยุคปัจจุบันจะคุ้นเคยกับพระนิพนธ์ของท่านดาไลลามะ, คุ้นเคยกับปรัชญาปารมิตาฉบับต่างๆ คุ้นเคยกับคำสอนของท่านนัชฮันห์, อ่านงานของเชอเกียม ตรุงปะ, โซเกียม รินโปเช, และท่านอื่นๆ ราวกับเป็นครูบาอาจารย์ที่เรารู้จักดี

แน่นอน เราคงต้องขอขอบคุณผู้แปลที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธาและความเอางานเอาการ อย่างคุณพจนา จันทรสันติ, ท่านไพศาล วิสาโล, อาจารย์สดใส ขันติวรพงษ์, และท่านอื่นๆ อีกหลายท่านที่ช่วยให้คนไทยเข้าถึงทางปัญญาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งต้องขอชื่นชมสำนักพิมพ์อย่างโกมลคีมทองและสวนเงินมีมา ที่ลงเรี่ยวลงแรงในด้านนี้มากกว่าใคร ส่วนคุณูปการของท่านอาจารย์สุลักษณ์นั้น แม้ผมไม่เอ่ยถึง ก็เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว

สำหรับผู้ที่ถนัดภาษาอังกฤษ จะพบว่าคำสอนดั้งเดิมของเซน ได้ถูกแปลออกมาเป็นภาษาดังกล่าวหมดแล้ว งานคลาสสิกของท่านเออิ โตเง็น ปรมาจารย์เซนในคริสตศตวรรษที่ 13 เรียวโช โบเง็นโซ่ ซึ่งครั้งหนึ่งแทบสาบสูญไปจากประเทศญี่ปุ่น บัดนี้กลายเป็นหนังสือที่วางขายอยู่กลางศูนย์การค้า ในแถวเดียวกับโพธิสัตว์จรรยาวัฒน์ ของท่านศานติเทวะ มาธยมิกการิกาของท่านนาคารชุน, ตลอดจนคำสอนของหลวงปู่มั่น, หลวงพ่อชา, ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ, และครูธรรมฝ่ายเถรวาทอื่นๆ ก็หาอ่านได้ในภาคภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน

เรื่องดีสำหรับการขยายขอบฟ้าในด้านการศึกษาพุทธธรรมของชนรุ่นหลังมีอยู่มาก ในการน้อมรับคำสอนของฝ่ายมหายานนิกายต่างๆ ทำให้การติดข้องกับวิถีท้องถิ่นต่างๆ น้อยลง การเปิดประตูกว้างให้ผู้คนศึกษาธรรมะด้วยตนเองเช่นนี้ ไม่เพียงเพิ่มพลังให้พุทธธรรม หากยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันด้วย

พุทธธรรมเชิงเปรียบเทียบ
ประเด็นสุดท้าย เป็นเรื่องฐานะของพุทธธรรมต่อองค์ความรู้อื่น ต่อเรื่องนี้ เท่าที่ผมสังเกตพบมีอยู่ 2 กรณี คือ

กรณีแรก คำสอนของพระพุทธองค์ถูกนำไปเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์มากขึ้น และ
กรณีที่สอง พุทธธรรมถูกนำไปใช้อ้างอิงโดยผู้แสวงหาทางด้านจิตวิญญาณมากขึ้น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นชาวพุทธหรือไม่ก็ตาม

กล่าวถึงกรณีแรก ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวิทยาศาสตร์มีฐานะเป็นศาสนาหลักของคนยุคปัจจุบัน และเป็นรากฐานของแนวคิดวัตถุนิยม ตั้งแต่ระดับปรัชญา วิชาการ ลงมาถึงระดับสามานย์

พุทธธรรมกับวิทยาศาสตร์
ในเมื่อพุทธธรรมมีฐานะโดดเด่นขึ้นในสากล การแลกเปลี่ยนมุมมองและการทดสอบกันและกันจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา นอกจากนี้คงต้องยอมรับว่า แม้วิทยาศาสตร์จะให้ความกระจ่างเกี่ยวกับโลกและจักรวาลไว้อย่างมหาศาล และมีคุณูปการใหญ่หลวงต่อการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งปรับปรุงแก้ไขในการดำรงชีพของคนเรา แต่จุดอ่อนที่สุดของวิทยาศาสตร์ อยู่ตรงที่ไม่สามารถเข้าใจมนุษย์เท่ากับสิ่งนอกตัวมนุษย์ มีองค์ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ ไม่พ้นเรื่องร่างกาย ไม่เข้าใจกระทั่งปฏิเสธการดำรงอยู่ของจิตและจิตวิญญาณ ช่องว่างตรงนี้ ด้านหนึ่งทำให้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหาได้ไม่ครบถ้วน ขณะเดียวกันก็ทำให้มีพื้นที่ว่างสำหรับศาสนา ที่จะเข้าไปเยียวยาผู้คน รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย

ถามว่า แล้วพุทธธรรมต่างจากคำสอนอื่นตรงไหน จึงดึงดูดการเทียบเคียงกับวิทยาศาสตร์มากกว่าคำสอนของศาสนาอื่นๆ. ในความเห็นของผม เป็นเพราะว่าพุทธธรรมไม่ใช่ความเชื่อแบบเทวนิยม ด้วยความเคารพ ไม่ได้รังเกียจศาสนาที่มีความเชื่อด้านนี้ รวมทั้งพุทธธรรมยังยืนยันว่าคำสอนทั้งหมด เป็นไปตามความจริงที่ดำรงอยู่โดยธรรมชาติ กล้าท้าให้พิสูจน์และทดสอบได้ด้วยประสบการณ์จริง เพียงแต่ว่าจุดเน้นของพุทธธรรมอยู่ที่โลกด้านใน เป็นมรรควิธีในการสำรวจตัวเอง อาศัยจิตสำนึกขั้นสูงมาควบคุมและดัดแปลงตนเอง สุดท้ายข้ามพ้นตนเอง หรือจิตสำนึกแห่งตัวตน ด้วยสมมติฐานง่ายๆ แต่เข้าใจยาก คือ 'ตัวตนไม่มีจริง' จะว่าไปตรงนี้อาจจะเป็นจุดโต้แย้งที่สุดระหว่างชาวพุทธกับนักวิทยาศาสตร์ ในขณะที่หลายๆ ด้านอาจจะเห็นพ้องต้องกัน

ยกตัวอย่างเช่น ในหนังสือเล่มล่าสุดของท่านดาไลลามะ ชื่อ 'จักรวาลในหนึ่งอะตอม' The Universe in a Single Atom ท่านได้แสดงความรอบรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง อีกทั้งเห็นด้วยและเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ในหลายๆ ด้าน แต่พอมาถึงประเด็นของจิตและจิตสำนึก ท่านยังเห็นว่าวิทยาศาสตร์สำรวจความจริงไม่ครบ เน้นแต่วามจริงทางภววิสัย มองข้ามความจริงทางอัตวิสัย ดังนั้น เมื่อมีการศึกษาเรื่องความรู้ สำนักคิดวิทยาศาสตร์จึงพยายามทำความเข้าใจจิตสำนึกในแง่ของกระบวนการทางสมองเท่านั้น พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ทำให้การมีอยู่ของจิตกลายเป็นเรื่องวัตถุ ตามคตินิยมลดทอนนั่นเอง

"ตามข้อสรุปของวิลเบอร์ การข้ามพ้นจิตสำนึกของตัวตนไปสู่ระดับจิตที่ละเอียดขึ้น และจิตสำนึกที่ไร้ตัวตน เป็นหนึ่งเดียวกับโลกกับจักรวาลนั้น ก็อาศัยแบบแผนเช่นเดียวกับพัฒนาการของจิตสำนึก ตั้งแต่วัยทารกสู่วัยผู้ใหญ่นั่นเอง คืออาศัยจิตใหม่ไปแก้ไขสำนึกเก่า และบูรณาการมาไว้ภายใต้ภาวะสูงสุดที่เจ้าตัวมาถึง"

พูดอีกแบบหนึ่งคือวิทยาศาสตร์ศึกษาจิตในฐานะการทำงานของกายเนื้อล้วนๆ ซึ่งในทางพุทธธรรมถือว่าเป็นไปไม่ได้ ขัดแย้งกับความจริง ก่อนหน้านี้หลายปี ท่านอาจารย์ประยุตต์ ปยุตโต ปราชญ์ทางฝ่ายเถรวาทของไทยก็ได้เปรียบเทียบจุดเหมือนจุดต่างระหว่างพุทธธรรมกับวิทยาศาสตร์ไว้อย่างลึกซึ้ง และโดยพื้นฐานแล้ว ทัศนะของท่านก็ไม่ต่างจากองค์ดาไลลามะ คือเห็นว่าวิทยาศาสตร์ยังมองความจริงได้ไม่ครบ เพราะวิทยาศาสตร์พิจารณาเฉพาะ "ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทางอินทรีย์ 5 หรือประสาทสัมผัสทั้ง 5 เท่านั้น. แต่พุทธศาสนาเอาอินทรีย์ที่ 6 เข้ามาด้วย แต่ทางวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับอินทรีย์ที่ 6 แต่พุทธศาสนาถือว่าอินทรีย์ที่ 6 ก็พิสูจน์ความจริงได้"

ในหลักประเด็นนี้ ผมเลือกข้างฝ่ายพุทธ แต่ตัวเองก็ไม่มีความรู้พอที่จะอธิบายเพิ่มเติมเฉพาะหน้า และสิ่งที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ ในหัวข้อโต้แย้งดังกล่าว ฝ่ายพุทธธรรมดูจะมีพลังกว่ามาก เพราะวิทยาศาสตร์เองไม่สามารถอธิบายเรื่องราวของจิตใจและจิตวิญญาณได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงมรรควิธีในการสร้างความสงบภายในให้กับตัวมนุษย์ พูดเช่นนี้แล้วทำให้ผมต้องรีบเอ่ยถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธธรรมกับวิทยาศาสตร์ในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งจะเน้นไปในด้านเชื่อมโยงผสมผสาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือใช้ความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธธรรมมาสร้างองค์รวมความรู้ให้กับมนุษย์ โดยนำทั้งสองอย่างมาส่งเสริมกัน

เคน วิลเบอร์: The Atman Project
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อหลายปีก่อน 'เคน วิลเบอร์' (Ken Wilber) นักคิดชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง ได้เขียนหนังสือชื่อ The Atman Project และในหนังสือเล่มดังกล่าว เขาได้พิสูจน์ได้อย่างน่าเชื่อถือว่าพัฒนาการทางจิตวิญญาณของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการตามธรรมชาติ การข้ามพ้นตัวตนหรืออีโก้ (Ego) ไปสู่สภาวะไร้ตัวตน หรือ 'จิตนิพพาน' ไม่เพียงเป็นไปได้ หากยังเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในหมู่อริยบุคคล และถือเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดของมนุษย์เรา

ในหนังสือเล่มนี้ เคน วิลเบอร์ ได้ย้อนรอยจิตวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์ตะวันตก ด้วยการชี้ให้เห็นว่า ศาสตร์ดังกล่าวศึกษาเรื่องจิตของมนุษย์เอาไว้ครึ่งเดียว ผลการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์สรุปได้กว้างๆ ว่า

- ช่วงเป็นทารกแรกเกิด มนุษย์เราไม่มีสำนึกแยกตัวเองออกจากโลกภายนอก

- จากนั้นเมื่อเจริญวัยขึ้นอีกขั้นหนึ่งก็จะแยกตัวเองในทางกายภาพออกจากสิ่งแวดล้อมได้ และสร้างอัตตาทางกาย หรือ Body Ego
ทำให้มีพฤติกรรม ตลอดจนข้อเรียกร้องต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความต้องการทางกายเป็นหลัก

- ครั้นเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มสาวก็จะสร้างตัวตนด้วยความคิดต่างๆ ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ถือเป็นอัตตาทางจิต หรือ Mind Ego
จากนั้นก็จะผสมผสานขั้นตอนที่ผ่านมาทั้งหมดเข้าหากัน เป็นตัวตนที่ลงตัวขึ้น ซึ่งเป็นอัตตาแบบที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป

โดยทั่วไปแล้ว ความรับรู้ของวิทยาศาสตร์กระแสหลักหยุดอยู่แค่ตรงนี้ อย่างไรก็ดี วิลเบอร์ชี้ให้เห็นว่าสิ่งซึ่งวิทยาศาสตร์สำรวจมาทั้งหมด เป็นแค่พัฒนาการของจิตในระดับธรรมดา แท้จริงแล้ว มนุษย์สามารถเดินทางต่อไปได้ในเส้นทางเดียวกันนี้ เพราะว่าในกระบวนการเติบโตของจิตสำนึกตามขั้นตอนต่างๆ แบบแผนของมันมีอยู่ว่า มนุษย์จะอาศัยตัวตนในขั้นตอนใหม่ไปแก้ไขดัดแปลงตัวตนเก่า รวมทั้งผนวกตัวตนเก่าที่ดัดแปลงแล้วมาไว้ภายใต้การควบคุมของตัวตนใหม่ จนกระทั่งถึงจุดที่อัตตาเติบโตเต็มที่ จนสามารถมาอยู่ปากประตูของการข้ามพ้นอัตตา

ปัญหามีอยู่ว่าคนทั่วไปไม่เพียงหยุดอยู่ตรงนั้นเนื่องจากมีสิ่งฉุดรั้งต่างๆ หลายคนแม้ในระดับอีโก้ ก็ยังมาไม่ถึงอัตตาที่มีวุฒิภาวะเสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ การข้ามพ้นตัวตนจึงเป็นเพียงประสบการณ์ของคนจำนวนน้อย แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่เป็นไปได้และไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติ. ตามข้อสรุปของวิลเบอร์ การข้ามพ้นจิตสำนึกของตัวตนไปสู่ระดับจิตที่ละเอียดขึ้น และจิตสำนึกที่ไร้ตัวตน เป็นหนึ่งเดียวกับโลกกับจักรวาลนั้น ก็อาศัยแบบแผนเช่นเดียวกับพัฒนาการของจิตสำนึก ตั้งแต่วัยทารกสู่วัยผู้ใหญ่นั่นเอง คืออาศัยจิตใหม่ไปแก้ไขสำนึกเก่า และบูรณาการมาไว้ภายใต้ภาวะสูงสุดที่เจ้าตัวมาถึง. อย่างไรก็ดี การพัฒนาขั้นสูงสุดที่จิตสำนึกคนเข้าสูภาวะไร้ตัวตนนั้น วิลเบอร์ชี้ให้เห็นว่าไม่แตกต่างจากสภาพของตัวทารกแรกเกิดมากนัก ตรงที่ทารกแรกเกิดไม่รู้อะไรเลย จึงแยกภาวะของตัวเองไม่ออก ส่วนผู้บรรลุธรรมนั้นรู้ความจริงครบถ้วน จึงเกิดสำนึกเหนืออัตตา หรือสำนึกที่ไม่แยกตัวเองออกจากจักรวาล

ที่น่าสนใจคือ เคน วิลเบอร์ ได้ใช้จินตภาพทางพุทธศาสนามาชี้ให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์ตะวันตกสาขาจิตวิทยานั้น หยุดอยู่แค่การทำความเข้าใจมนุษย์ในระดับ 'นิรมาณกาย' หรือ 'กายเนื้อ' เท่านั้นเอง ส่วนการดำรงอยู่ในระดับสัมโภคกายและธรรมกาย ซึ่งวิลเบอร์ถือว่ามีอยู่จริง วิทยาศาสตร์ยังไม่มีความรับรู้เพียงพอ พูดอีกแบบหนึ่งก็คือจิตวิทยาตะวันตกอาจจะเข้าใจขันธุ์ 5 - รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณทุกอย่าง แต่ก็ข้ามไม่พ้น เพราะคิดว่าการดำรงอยู่ของชีวิตคนมีอยู่แค่นั้น

แน่นอน วิลเบอร์ไม่ใช่แค่คนเดียวที่มีแนวคิดแบบบูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับคำสอนทางศาสนา. 'ฟริตจอฟ คาปรา' (Fritjof Capra) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สร้างงานแนวนี้ เพียงแต่งานของเคน วิลเบอร์ อาจจะเน้นเรื่องจิตสำนึกมากเป็นพิเศษ. จริงๆ แล้ววิลเบอร์เรียนมาทางเคมีและชีววิทยา แต่เขาก็ฝึกภาวนา และมีศรัทธาในพุทธธรรมของสำนักมัชฌิมามิก ดังนั้น จึงอาจเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ได้พอสมควรในการเชื่อมร้อยความรู้ทางโลกเข้ากับทางธรรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงนักคิดนักเขียนทางด้านจิตวิญญาณรุ่นใหม่ๆ ก็อาจกล่าวได้ว่า ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียวที่ยกคำสอนของพระพุทธเจ้ามาประกอบทัศนะของตนได้อย่างกลมกลืน ยกตัวอย่างเช่น 'เอ็กฮาร์ท โทลเลอ' (Eckhart Tolle) ผู้ประพันธ์หนังสือ The Power of Now อันโด่งดัง 'ดีแพค โชปรา' (Deepak Chopra) นายแพทย์ ครูทางจิตวิญญาณ ผู้เขียนเรื่อง Life after Death ซึ่งกำลังขายดีในขณะนี้

สรุปรวมได้ว่า พุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์นั้น ได้ถูกบรรจุไว้ในหีบห่อที่สมสมัยอยู่พอสมควร เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้น และสอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้คนในยุคตลาดเสรีอยู่ไม่ใช่น้อย ดังนั้น ผมถึงกล่าวว่าการเชิญพุทธธรรมมาเป็นที่พึ่งของคนในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน หากเป็นไปได้อย่างยิ่ง. แน่นอน โลกที่เป็นอยู่กับคำสอนของพุทธองค์ ดูเหมือนขัดแย้งเข้ากันไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วธรรมะไม่เคยขัดแย้งกับใคร ชีวิตทางโลกที่ทำให้มนุษย์เต็มไปด้วยริ้วรอยความรวดร้าว สามารถแปรเป็นเส้นทางไปสู่ประตูธรรมได้ เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับทำความเข้าใจความทุกข์ การดับทุกข์ เหมือนดังที่ท่านเชอเกียม ตรุงปะได้กล่าวไว้ว่า สังสารวัฎคือปากทาง สังสารวัฎคือยานพาหนะที่จะนำไปสู่นิพพาน

การข้ามผ่าน ต้องมีประสบการณ์
"เราจะข้ามพ้นความขัดแย้งได้อย่างไร หากไม่เคยขัดแย้งมาก่อน
จะปล่อยวางทางโลกได้อย่างไร หากไม่เคยแบกโลกมาเลย"
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว พุทธธรรมสอนให้เราข้ามพ้นความขัดแย้งทุกอย่าง เพื่อบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนมนุษย์ ความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล และเข้าสู่สุญญตาวิโมกข์ แต่เราจะข้ามพ้นความขัดแย้งได้อย่างไร หากไม่เคยขัดแย้งมาก่อน จะปล่อยวางทางโลกได้อย่างไร หากไม่เคยแบกโลกมาเลย พวกเราส่วนใหญ่คงไม่มีบารมีขนาดนั้น ด้วยเหตุนี้ สำหรับคนทั่วไป การก้าวพ้นผิดถูกดีชั่ว จึงหนีไม่พ้นที่จะเข้าใจผิดถูกชั่วดี เช่นเดียวกับการก้าวข้ามพ้นตัวตน จะต้องรู้ก่อนว่าตัวตนของตัวเองเป็นใคร ในระดับปัจเจก บางทีเราอาจจะต้องเป็นอะไรหลายอย่าง ต้องผ่านอะไรหลายอย่าง ชนะ พ่ายแพ้ สำเร็จ ล้มเหลว ตกต่ำ รุ่งเรือง โดดเดี่ยว รุ่งโรจน์ ดีใจ เสียใจ ทั้งหมดนี้ไม่เป็นไร ถ้ามันทำให้รู้จักตัวเอง ค้นพบตัวเอง

คนเรามีแต่ต้องขึ้นสู่ยอดเขา จึงจะรู้ว่ายอดเขาไม่มีจริง ไม่เคยอยู่ที่ต่ำ ก็ไม่รู้จักที่สูง ไม่เคยขึ้นที่สูงก็ไม่รู้จักที่ต่ำ เมื่อผ่านแล้วทั้งต่ำสูง จึงรู้ว่าทั้งหมดไม่มีจริง ทั้งหมดเพียงอาศัยสิ่งอื่น-ผู้อื่นมาสร้างคำนิยาม มิตรสหายหลายคนเคยถามผมว่า แล้วชีวิตเราไม่หมดสิ้นความหมายไร้พลังหรอกหรือ ถ้าเป็นเช่นนี้ หากเป็นเช่นนั้นแล้วมนุษย์จะอยู่ได้อย่างไร โลกจะรกร้างเรื่องรังสรรค์ใช่หรือไม่ ต่อคำถามดังกล่าว ผมได้ตอบพวกเขาไปว่า จุดหมายและความหมายแบบสัมบูรณ์นั้น บางทีอาจจะไม่มีเลย เพราะว่าทั้งหมดเป็นภาระกดทับ เป็นสิ่งที่บางทีคนอื่นสมมุติให้ บ่อยครั้งสมมุติเองโดยความพอใจของตนเอง หรือบางทีก็สมมุติไว้เพื่อทำร้ายตนเอง แต่พลังสร้างสรรค์นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต่างออกไป มันไม่เพียงลดน้อยถอยลง หากยังเพิ่มพูนไร้ขอบเขต เนื่องจากสิ่งฉุดรั้งจากเวทนาสัญญาต่างๆ หายไปแล้ว การปรุงแต่งสังขารจึงไม่เข้ามาแทรกวิถีแห่งพลัง

ดังนั้น
- ไม่ว่าภายนอกท่านจะรับบทบาทใด ขอเพียงภายในมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม
- ไม่ว่าภายนอกท่านจะทำหน้าที่ไหน ขอเพียงภายในมีแต่กุศลเจตนา
- ไม่ว่าภายนอกจะเผชิญกับอะไร ขอเพียงภายในเป็นเวิ้งฟ้ากว้างสงัด
ท่านจะสามารถแสดงพลังสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ท่านเป็นทุกอย่างได้โดยไม่ต้องยึดถือว่าเป็นอะไร ท่านทำทุกอย่างได้โดยไม่ต้องยึดติดว่าทำไปแค่ไหน เพราะท่านใช้ "ในกำหนดนอก", ใช้"นอกรับใช้ใน". ยามมีท่านให้, ยามยากไร้ท่านไม่บ่น, ยามรุ่งท่านสงบ, ยามสงบท่านพร้อม. จากชีวิตเช่นนี้จะบอกว่าไร้พลังได้อย่างไร

กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ ท่านสามารถอยู่กับมารได้ แต่ต้องอยู่กับมันอย่างรู้เท่าทัน อาศัยมารเป็นคำท้า รู้จักพิชิตมารเพื่อสร้างบารมี เทียบไปแล้วลีลาชีวิตดังกล่าวคงไม่ต่างจากเพลงดาบของ"มิยาโมโตะ มุซาชิ" นักดาบญี่ปุ่นผู้เลื่องชื่อในคริสตศตวรรษที่ 17 ซึ่งหยิบยืมพลังทั้งหมดมาจากจิตที่สงบ ทำให้สามารถเคลื่อนสติไหลเลื่อนไปทั่วร่าง ได้สำแดงท่วงท่าที่เฉียบขาดปราศจากสูตรสำเร็จ จนไม่มีผู้ใดเอาชนะได้ อีกทั้งคงไม่ต่างไปจากปลายพู่กันของจิตรกรที่อาศัยพลังจากการภาวนา ตวัดหมึกสีเดียวและใช้เส้นๆ เดียว เนรมิตโลกทั้งโลกขึ้นมา

บางครั้งผมชอบเรียกลีลาชีวิตเช่นนี้ว่า 'เพลงดาบและน้ำตา' แน่นอน ทั้งหมดเป็นเพียงความพยายามของผมที่จะชี้ให้เห็นว่า การเชื่อมโยงโลกธรรมกับปรมัตสัจจะ เป็นทั้งสิ่งที่จำเป็นและเป็นไปได้ในยุคปัจจุบัน ส่วนการตัดขาดจากโลกียสุขอย่างเด็ดขาดสู่หนทางแห่งบรรพชิตนั้น ผมไม่มีคุณสมบัติพอจะออกความเห็น และคงไม่ใช่ประเด็นในวันนี้ รบกวนท่านทั้งหลายมามากแล้ว ขอขอบคุณที่กรุณารับฟัง"

ช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เมื่อสิ้นสุดการปาฐกถา ช่วงต่อมาคือการเปิดให้เสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล โดยผู้ร่วมงานเสวนาท่านหนึ่งได้ถามว่า เมื่อชาวตะวันตกเริ่มหันเข้าหาพุทธธรรมแล้ว แต่คนไทย 63 ล้านคน ซึ่งมีพุทธศาสนาเป็นหลัก ยังไม่มีความตื่นตัวเท่าที่ควร ถ้าเช่นนั้นจะทำอย่างไรให้คนไทยทั้งหมดสามารถเข้าถึงพุทธธรรมและปรับตัวให้เท่าทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ได้

คำถามดังกล่าว อาจารย์เสกสรรค์ตอบว่า ไม่ควรพูดหรือคิดแทนโดยอ้างฐานะ 'เจ้าของประเทศ' หรือ 'คนไทย' เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คน 63 ล้านคนเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมพร้อมๆ กัน หรือไล่เลี่ยกัน ถ้าเลิกความคิดนี้จะดีกว่า เพราะถ้าไม่เลิกคิดจะทำให้เป็นทุกข์ นอกจากนี้ยังไม่ต้องไปเสียใจว่า บัดนี้ชาวะวันตกเอาจริงเอาจังเอาการเอางานในเรื่องการปฏิบัติธรรม แต่ควรจะดีใจกับเขา อนุโมทนาในสิ่งที่เขาทำ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ใครจะเสียอะไรเลย มีแต่ได้ อย่าไปตั้งความคิดว่า "ของของเราแท้ๆ แต่คนอื่นมาเอาไป" เพราะที่จริงแล้ว ไม่มีใครเป็นเจ้าของพุทธธรรม

คำถามต่อมา มีการอ้างถึงประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ถาม ซึ่งกล่าวว่าการนำพุทธธรรมมาใช้รับมือกับโลกาภิวัตน์จริงๆ แล้วยังมีข้อจำกัด เพราะบางครั้งไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

"ตรงนี้ผมเข้าใจ เพราะว่าพลังในสิ่งเย้ายวนมันสูงมาก คุณสามารถเปิดอินเทอร์เน็ต ดูรูปผู้หญิงแก้ผ้าได้ทั้งวัน คุณสามารถยกหูโทรศัพท์เล่นหุ้นได้ คุณสามารถที่จะเดินวันทั้งวันในศูนย์การค้าแล้วยังดูของไม่หมด พลังมันมหาศาล เป็นพลังที่...ถ้าคุณมีจิตใจที่ไม่เข้มแข็งพอ มันยากมากที่จะก้าวพ้น ไม่ต้องพูดถึงการไปนิพพานนะ เอาแค่ว่า ก้าวพ้นจากชีวิตอย่างนั้น แล้วมาใช้ชีวิตทางโลกในด้านอื่นๆ ที่ดีกว่าบ้าง หรือว่าไม่สิ้นเปลืองบ้าง ก็แสนยาก ผมในฐานะที่เป็นบุคลากรในด้านการศึกษา ผมอยู่กับคนหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัยตลอดเวลา 20 กว่าปีมานี้ เห็นชัด นักศึกษาของผมเป็นเช่นไร" อาจารย์เสกสรรค์กล่าว

"มีหลายคนที่ไม่เข้าเรียนหนังสือ และเมื่อเขาเดินมา เหมือนศูนย์การค้าเคลื่อนที่ คือเสื้อผ้าหนึ่งยี่ห้อ กระเป๋าหนึ่งยี่ห้อ คือเขาต้องการอวดยี่ห้อด้วยนะครับว่ามันทันสมัยใหม่ล่าสุด เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าพลังดึงดูดมันรุนแรง ถามว่าแล้วจะทำยังไง คือโดยวิถีทางธรรมที่ผมเข้าใจ คนอื่นทำแทนไม่ได้ ผู้ถูกกระทำต้องมีความตระหนักก่อนว่าตัวเองถูกกระทำ เข้าใจตรงนั้นแล้ว จะต้องมีความกล้าหาญที่จะไม่ยอมให้สิ่งเหล่านั้นมากระทำ"

"ทีนี้ถามว่า ถ้าทำไม่ได้จะทำยังไง ทำไม่ได้ก็คือทำไม่ได้ หมายความว่าคุณไม่สามารถที่จะเอาชนะมันได้ ก็อาจจะต้องตกเป็นเหยื่ออีกสักพักใหญ่ๆ ถ้าคุณโชคดีไม่ฆ่าตัวตายและฆ่าผู้อื่นไปก่อน วันหนึ่งคุณอาจจะสรุปได้ ตัวผมเองก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะมาเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ผมผ่านร้อนผ่านหนาว ทำผิดทำถูกมายาวนานมาก ชีวิตผมทำบาปมามหาศาล... เพราะฉะนั้นบางทีคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน อาจจะต้องสะสมความเข้าใจ ความเจ็บปวด ซึ่งท่านเชอเกียม ตรุงปะบอกว่า 'เป็นปุ๋ยอย่างดี' สำหรับการหว่านเพาะประเด็นธรรม"

"ชีวิตทางโลกไม่ได้มีด้านมืดไปเสียทั้งหมด วันหนึ่งถ้าเรานึกออก มันอยู่ในตัวเรา จริงๆ แทบไม่ต้องให้ใครมาสอน ที่ผมต้องค้นคว้ามากหน่อยก็เพื่อมาพูดกับท่าน เวลาพูดกับตัวเองมันไม่ต้องค้นคว้า มันจะค่อยๆ นึกออกทีละเรื่อง เพราะว่าจริงๆ ก็อย่างที่พระท่านสอนมา จิตเดิมของเรามันสะอาด มันบริสุทธิ์ มันไม่ทำร้ายตัวเองอย่างที่เรากำลังทำอยู่ อาจจะต้องทำใจ เราอาจจะต้องเห็นลูกหลานเยาวชนมีชีวิตที่พังทลายย่อยยับไปต่อหน้าไปอีกสักพักใหญ่ๆ กว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้"

นอกจากนี้ ได้มีการกล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม 'เด็กแว้น-เด็กสก๊อย' หรือเยาวชนชายหญิงกว่า 300 ที่ซิ่งมอเตอร์ไซค์บนถนนสาธารณะ ซึ่งอาจารย์เสกสรรค์แสดงความคิดเห็นว่า คงไม่มีใครอยากเห็นเยาวชนทั้งหลายเป็นเด็กมีปัญหา แต่ก็จำเป็นจะต้องวางอุเบกขา. "การที่ออกไปแข่งรถแข่งกลางดึกก็เพื่อขับไล่ความว่างเปล่าไร้แก่นสารของชีวิตที่เขาเผชิญอยู่ แน่นอน ในทางความรู้ สติสัมปชัญญะ เราก็ต้องเตือนกันไปตลอด แต่ว่าเขาจะหยุดตัวเองได้หรือไม่ มันขึ้นอยู่กับเขาเท่านั้น สังคมอาจจะมีกลไกของตำรวจ ของศาล ของรัฐ ไปหยุดเขา แต่ท้ายที่สุด เขาต้องหยุดตัวเอง"

"สถิติของเราในวันนี้ ตั้งครรภ์ในเวลาอันไม่สมควรสูงสุดในเอเชีย ฆ่าตัวตายโดยเฉลี่ยประสบความสำเร็จวันละ 2 คน เฉพาะวัยรุ่น แล้วก็ไม่ต้องพูดเรื่องสถิติยาเสพติด การหย่าร้าง สถิติอาชญากรรมอื่นๆ ก็ลองดูว่าคนเหล่านี้ที่มีภาพของความรุนแรง ความก้าวร้าว อย่างเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา จับไป 300 คนที่แข่งมอเตอร์ไซค์ซิ่ง ตามถนนสาธารณะ มาดของเขาที่อยู่บนมอเตอร์ไซค์ในคืนวันนั้น กับมาดของเขาหลังจากที่ถูกขังมา 5 วันแล้วเจอพ่อแม่ คนละคนเลย ร้องไห้สะอึกสะอื้นเป็นทารกน้อย หลังจากไม่เห็นหน้าแม่มา 5 วัน คนเช่นนี้ไม่ใช่คนเข้มแข็ง แต่เป็นคนอ่อนแอ และการที่ออกไปแข่งรถแข่งกลางดึกก็เพื่อขับไล่ความว่างเปล่าไร้แก่นสารของชีวิตที่เขาเผชิญอยู่"

"แน่นอน ในทางความรู้ สติสัมปชัญญะ เราก็ต้องเตือนกันไปตลอด แต่ว่าเขาจะหยุดตัวเองได้หรือไม่ มันขึ้นอยู่กับเขาเท่านั้น สังคมอาจจะมีกลไกของตำรวจ ของศาล ของรัฐ ไปหยุดเขา แต่ท้ายที่สุด เขาต้องหยุดตัวเอง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เขาก็จะเดินเข้าเดินออก ตั้งแต่วัยเยาว์ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ระหว่างท้องถนนกับห้องขัง ไม่มีใครหยุดเขาได้ ตราบใดที่วันนั้นยังไม่มาถึง เราก็น่าจะภาวนาให้เขาสามารถคิดเองได้"

 


++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com


Words from the Text
ด้วยเหตุนี้ นับวันระบบเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนจึงยิ่งทำให้ข้ออ้างความชอบธรรมของรัฐ ในฐานะผู้ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ ไม่มีความจริงรองรับ ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนใหญ่ที่โยงใยกับทุนระดับโลกก็มีแรงจูงใจและมีศักยภาพมากขึ้นในการขึ้นกุมอำนาจรัฐด้วยตนเอง ทั้งนี้เพื่อพิทักษ์ระบบที่ตนเองได้เปรียบ และพิทักษ์ในโครงสร้างผลประโยชน์ของพวกเขา สภาพดังกล่าวอาจจะแก้ไขได้บ้าง โดยการอาศัยการเมืองภาคประชาชนมาถ่วงดุลการเมืองแบบเลือกตั้ง ด้วยการโอนอำนาจที่เคยมีมาแต่เดิมของรัฐชาติบางส่วนไปไว้ที่ชุมชนท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นได้พัฒนาตนเองตามทางเลือกนอกกระแสหลัก ซึ่งสอดคล้องและเหมาะสมกับเงื่อนไขและวิถีชีวิตของพวกเขามากกว่า
Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com

Globalization in a literal sense is international integration.
It can be described as a process by which the people of the world are unified into a single society and functioning together. This process is a combination of economic, technological, sociocultural and political forces. Globalization, as a term, is very often used to refer to economic globalization, that is integration of national economies into the international economy through trade, foreign direct investment, capital flows,
migration, and spread of technology
โรงเรียน เครื่องมือหลักในการสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติ
ที่ผ่านมา รัฐชาติใช้โรงเรียนเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อเข้าแทนที่หรือครอบงำวัฒนธรรมประเพณีอันมีมาแต่เดิมของชุมชนท้องถิ่น ในแง่นี้ นับว่ารัฐประสบความสำเร็จในการดัดแปลงคนในประเทศอยู่มิใช่น้อย. แต่ขณะเดียวกัน โรงเรียนก็กลายเป็นสถาบันที่ผูกขาดคุณค่าทางสังคม การศึกษาในห้องเรียนกลายเป็นเครื่องแบ่งแยกฐานะคนในชาติ แทนที่จะสอนคนให้มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ มีอิสระทางความคิด และใช้สติปัญญาไปในทางสร้างสรรค์ กลายเป็นว่า นานวันไปเนื้อในของการศึกษาของสังคมไทยยิ่งขาดแคลนสาระในด้านนี้ การศึกษาขั้นสูงแปรสภาพเป็นแค่บัตรเครดิต หรือหนังสือเดินทางไปสู่ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นกองทุนแห่งอำนาจมากกว่าขุมทรัพย์ทางปัญญา