บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทุกชิ้นที่เผยแพร่ เป็นสมบัติสาธารณะ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ ภายใต้นโยบายลิขซ้าย (copyleft) เพื่อสังคมไทย



สำหรับผู้สนใจส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ความยาวไม่น้อยกว่า ๑๐ หน้ากระดาษ กรุณาส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
นักศึกษาและผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่แบนเนอร์ข้างบนนี้
อุดมศึกษาทางเลือก สำหรับผู้เรียนรู้ด้วยตัวเอง
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014

Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licen
e document, but changing
it is not allowed. - Editor
อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๐๔ เผยแพร่วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ : date 9 March 2008
ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี รวมบทความทั้งหมดจำหน่ายเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการดำเนินงานเว็บไซต์ หากสนใจสั่งซื้อได้ที่อีเมล์ midnightuniv(at)gmail.com
H

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
ค้นหาบทความโดยคลิกที่แบนเนอร์และใส่คำค้นที่สำคัญ



09-03-2551 (1504)

รำลึก ๑๐๐ วันการจากไปของวนิดา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
ร้อยวัน ร้อยความอาลัยแด่ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เนื่องในการรำลึกการจากไปครบ ๑๐๐ วันของวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์

วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๐
เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. ขณะอายุ ๕๒ ปี เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพฯ
ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ วันของการจากไปนี้ พันธมิตรสมัชชาคนจนได้ร่วมกันจัดงานรำลึกถึงวนิดา
โดยงานเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓-๑๖ มีนาคม ๒๕๕๑ ที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน
อ. พิบูลมังสาหาร จ. อุบลราชธานี ในงานดังกล่าวได้จัดให้มีการเดินธรรมยาตรา
งานวิชาการ งานพิธีกรรม ทำบุญกระดูก และการประกาศเจตนารมย์หยุดเขื่อนโลก
ในส่วนของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ใช้โอกาสนี้เสนอปาฐกถาเรื่อง
ทำไมต้องช่วยคนจน : วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์. เพื่อเป็นการ่วมรำลึกในโอกาสดังกล่าว
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๐๔
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

รำลึก ๑๐๐ วันการจากไปของวนิดา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
ร้อยวัน ร้อยความอาลัยแด่ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เนื่องในการรำลึกการจากไปครบ ๑๐๐ วันของนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์

เหตุการณ์ที่ผ่านมา:
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เสียชีวิตวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๐ เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น.
วัย ๕๒ ปี เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพฯ
พิธีรดน้ำศพจะมีขึ้นในเวลา ๑๗-๑๘.๐๐ น. ที่วัดวชิรธรรมสาธิต สุขุมวิท ๑๐๑/๑

งาน ๑๐๐ วัน วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์:
เรียนเชิญ
ครู อาจารย์ พี่น้อง มิตรสหาย ผู้ร่วมอุดมการณ์ ร่วมงานและร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน ๑๐๐ วัน วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
วันที่ ๑๓ - ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๑ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน อ. พิบูลมังสาหาร จ. อุบลราชธานี

ผู้เข้าร่วม: ชาวบ้านปากมูน พันธมิตรคนจน เครือข่ายสมัชชาคนจน นักวิชาการ นักศึกษา ประชาชนผู้สนใจ
รูปแบบ: เดินธรรมยาตรา งานวิชาการ งานพิธีกรรม ทำบุญกระดูก (ซักอนิจจา) ประกาศเจตนารมณ์

วัน-เวลา-สถานที่ กิจกรรม รายละเอียดกิจกรรม
๑๓ มีนาคม ๒๕๕๑ / แก่งสะพือ ๑๔.๐๐ น. พิธีต้อนรับขบวนธรรมยาตรา และจัดเวทีแลกเปลี่ยนประกอบด้วย
๑. พ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจน ๒. เครือข่ายเขื่อน ๓. เครือข่ายพันธมิตรประชาสังคม จ. อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ

๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑ / แก่งสะพือ - ถนนพิบูล-ศูนย์ไทบ้านฯ
๗.๐๐ น. / แก่งสะพือ ออกเดินธรรมยาตราจากแก่งสะพือ ถึงศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน
พิธีเปิดธรรมยาตรา ขบวนธรรมยาตรา ๑๐๐๐ คน (สมัชชาคนจนและองค์กรพันธมิตร) พระสงฆ์เดินนำขบวน พร้อมชาวบ้านชุดขาว ๒๐ คน

๑๖.๐๐ น. / ศูนย์ไทบ้านฯ ขบวนธรรมยาตราถึงศูนย์ไทบ้าน ฯ งานตุ้มโฮมกระดูกนักต่อสู้ผู้เสียชีวิต
พิธีรับขบวนธรรมยาตราโดย อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เปิดงาน ๑๐๐ วัน วนิดา และวันหยุดเขื่อนโลก

๑๘.๐๐น. / งานพิธีกรรม สวดมนต์เย็นโดยพระสงฆ์ ๙ รูป ปาฐกถาธรรม โดย พระเกียรติศักดิ์ กิติโสภโณ

๑๙.๐๐น. เวทีเสวนา เสวนาประกอบภาพยนตร์ต้องห้ามหลัง ๖ ตุลา "ทองปาน: คน เขื่อน ที่ดิน และ สายน้ำ"
โดย ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, คำสิงห์ ศรีนอก, ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม

๒๑.๐๐น. เวทีวัฒนธรรม เวทีวัฒนธรรมชาวบ้าน : วงสะเลเต, วงหมอลำลุ่มน้ำมูน, การอ่านบทกวีของกลุ่มนักเขียนจากลุ่มน้ำมูน,
หนังสั้นของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโต, สไลด์-วีดีทัศน์ของนักศึกษาอเมริกัน และกลุ่มนักสิ่งแวดล้อม

๑๕ มีนาคม ๒๕๕๑ / ศูนย์ไทบ้านฯ
๑๓.๐๐น. เวทีวิชาการ "วนิดากับคนจนและการต่อสู้ของคนรากหญ้า: อดีต ปัจจุบัน อนาคต"
กล่าวเปิดงานวิชาการโดย ประกอบ วิโรจน์กูฎ. ปาฐกถาวิชาการโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

- อภิปราย: บทเรียน องค์ความรู้ และการเปลี่ยนแปลงในการต่อสู้ของขบวนประชาชน
โดย วีรพล โสภา, สุธี ประศาสน์เศรษฐ์, สุริชัย หวันแก้ว, กนกวรรณ มโนรมย์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล ฯลฯ

- อภิปราย: สถานการณ์การต่อสู้ของขบวนการคนจน ภายใต้บริบทสังคมไทยในอนาคต
โดย กรณ์อุมา พงษ์น้อย, ประสาร มฤคพิทักษ์, เกษียร เตชะพีระ, อรรถจักร สัตยานุรักษ์, ทองเจริญ สีหาธรรม ฯลฯ

๑๙.๐๐น. งานพิธีกรรม สวดมนต์เย็น โดย พระสงฆ์ ๙ รูป
กล่าวต้อนรับโดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี / ปาฐกถารำลึก โดย อานันท์ ปันยารชุน

๒๐.๐๐น. เวทีวัฒนธรรม
- พิธีรำลึก ๑๐๐ วัน วนิดา วีดีทัศน์ "ชีวิตและความตายของวนิดา" โดย ครอบครัวตันติวิทยาพิทักษ์
- ดนตรี แสง สี เสียงและสไลด์ "๓๐ ปี การเมืองภาคประชาชนกับการต่อสู้ของสามัญชนผ่านชีวิตของวนิดา"

- เวทีศิลปะวัฒนธรรม โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ,เพื่อนศิลปินและเพื่อนมิตรเครือข่าย / หมอลำ มลฤดี พรหมจักร

๑๖ มีนาคม ๒๕๕๑ / ศูนย์ภูมิปัญญา
๗.๐๐น. งานพิธีกรรม ทำบุญกระดูก (ซักอนิจจา)
เลี้ยงพระเช้า บังสุกุล ทำบุญกระดูก (ซักอนิจจา) ตัวแทนองค์กรร่วมจัดและครอบครัวตันติวิทยาพิทักษ์ ขอบคุณผู้เข้าร่วมงาน

๑๑.๓๐ น. เวทีวิชาการ อภิปราย "การกำหนดอนาคตตนเองของขบวนการภาคประชาชน"
โดย บำรุง คะโยธา, บัณฑร อ่อนดำ, บำรุง บุญปัญญา, ตัวแทนชุมชนแออัด จ.อุบลราชธานี ตัวแทนสมัชชาคนจน
ปาฐกถาสรุปเวทีวิชาการ โดย เสน่ห์ จามริก

๑๒.๓๐น. ประกาศเจตนารมณ์ และพิธีปิดงาน ๑๐๐ วัน - กล่าวคำประกาศเจตนารมณ์หน้าอนุสาวรีย์คนจน โดย ตัวแทนสมัชชาคนจน

(หมายเหตุ: กำหนดการ อาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม)
ผู้ประสานงาน ลัดดาวัลย์ 081-4449463, [email protected], นฤมล 087-6850043,
[email protected] ปุ้ม 081-5583717, [email protected] สดใส 089-4238338, ธีรพล 083-6842710

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ทำไมต้องช่วยคนจน' โดย วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี ๒๕๔๐ แสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐


กราบสวัสดีท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์, อาจารย์ประเวศ วะสี ผู้ที่ดิฉันเคารพเสมอมา. กราบสวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้สละเวลามาในวันนี้ และต้องขอขอบคุณพี่ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ที่ได้กรุณาแนะนำตัวดิฉัน ซึ่งดิฉันรู้สึกว่า พี่ชาญวิทย์เป็นพี่ชายของดิฉันมาโดยตลอด และต้องขอขอบพระคุณมูลนิธิโกมลคีมทองที่ได้จัดงานนี้ขึ้นมา.
ความจริง ดิฉันค่อนข้างจะละอายใจที่ได้รับเกียรติเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันคิดว่าการพูดของดิฉันในวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากหัวใจของดิฉัน อีกส่วนหนึ่งมากจากเสียงเรียกร้องของคนจน และอีกส่วนมาจากวีรชนนิรนามทั้งหลาย ที่เป็นผู้อุทิศทำงานเพื่อคนยากจน เพื่อความเป็นธรรมในสังคม แต่ไม่เคยปรากฎชื่อเสียงเรียงนาม

มีผู้ตั้งคำถามมากมายว่าทำไมต้องช่วยคนจน ทำไมไม่เอาตัวเองให้รอดเสียก่อน ทำไมจะต้องไปยุ่งเกี่ยวเรื่องของคนอื่น และก็มีคำถามอีกมากมาย เบื้องหลังของคำถามนี้ บางครั้งก็มาจากความห่วงใย แต่บางครั้งก็ด้วยความขุ่นเคือง. ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ความยากจนเป็นสิ่งที่ทุกคนรังเกียจ และพยายามจะหนีไปให้ไกลที่สุด บางคนพยายามจะฆ่าตัวตายเพื่อหนีความยากจน และบางคนพยายามจะฆ่าคนอื่นเพื่อหนีให้พ้นความยากจนเช่นกัน

สภาพชีวิตของดิฉันที่ผ่านมา บางครั้งก็อาจเรียกได้ว่ายากจนอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงขนาดอดมื้อกินมื้อ หรือไม่มีที่นอน ถ้านับว่ามีคนจนมากมายแค่ไหนในประเทศนี้ สมมติว่ามีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ดิฉันคิดว่าดิฉันยังอยู่ห่างจากพวกเขาหลายเท่าตัวนัก. แต่ดิฉันคิดว่าความยากจนไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ ถ้าเป็นเพียงความยากจนทางด้านวัตถุ หรือว่าไร้ชื่อเสียงเกียรติยศต่างๆ เพราะว่าความยากจนก่อให้เกิดความเรียบง่าย ความสมถะ และลึกๆ แล้วมีความสุข

ดิฉันเคยเป็นแม่ค้า เคยมีชีวิตต้องดิ้นรนอยู่กับการคำนวณตัวเลข การกักตุนสินค้า การพูดคุยหลอกล่อผู้คน ซึ่งดิฉันประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ดิฉันก็รู้สึกว่าการประสบผลสำเร็จเช่นนั้น ดิฉันไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่นัก เพราะในโลกของการแข่งขัน เราไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง และรู้สึกว่าเป็นนายพรานที่คอยล่าเหยื่อ ดิฉันคิดว่ามนุษย์ในสังคมทุกวันนี้ ทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นทั้งนายพรานและเป็นทั้งเหยื่อ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอด แต่มนุษย์มีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดซึ่งอยู่บนความวอดวายของสิ่งอื่นๆ ได้อย่างน่าตกใจ

หลายครั้งที่ดิฉันประสบความล้มเหลว ประสบภาวะล้มละลายหรือถังแตก แต่ในภาวะอย่างนั้น ดิฉันกลับพบมิตรแท้ เพื่อนที่คอยเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลโดยที่ไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทน ดิฉันเคยเดินเข้าไปในสลัม ได้รับการต้อนรับจากผู้คนในสลัม ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยรู้จักหัวนอนปลายตีนมาก่อน แต่เขาก็ให้การต้อนรับด้วยสิ่งที่ดีที่สุดที่เขามีอยู่

ดิฉันเคยไปที่บ้านของคนจนในประเทศอินเดีย บริเวณเทือกเขาหิมาลัย พวกเขาให้การต้อนรับดิฉันเหมือนเป็นคนในครอบครัวของเขา ภายใต้เสื้อผ้าขาดๆ หรือใบหน้ามอมแมม ดิฉันพบความจริงใจอยู่มากพอสมควร นี่คือสิ่งที่ดิฉันพยายามบอกว่า ในความยากจนนั้นก็มีสิ่งที่ดีงามอยู่มากมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าความยากจนจะดี หรือความมั่งมีจะไม่ดี เพียงแต่สาระสำคญที่แท้จริงของธรรมชาติก็คือ ในความมืดย่อมสามารถหาแสงสว่างได้ และในความสว่างจ้าเฉกเช่นดวงอาทิตย์ก็ยังมีความมืด นั่นคือหลุมดำอยู่เช่นกัน เพราะฉะนั้น จะมั่งมีหรือจะยากจน เราสามารถแสวงหาความสุขได้เท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับใจของเราเอง

ความยากจนคืออะไร ดิฉันคิดว่าแม้ไม่จบ ป.4 หรือ ป.6 ทุกคนก็ตอบได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ดิฉันคิดว่าความยากจนน่าจะเกิดมาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกรังแกและขาดโอกาส มีบางคนบอกว่า ไม่มีความยากจนถ้าพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ แต่ดิฉันขอเสริมว่า ไม่มีความทุกข์ยาก ถ้ามีความยุติธรรม

ทำไมดิฉันใช้คำว่าความทุกข์ยาก เพราะบางครั้งความยากจนไม่ใช่ความทุกข์ เช่น ไม่มีเสื้อผ้าสวยๆ ใส่ อาจจะไม่ใช่ความทุกข์ แต่ถ้าเราไม่มีจะกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย ดิฉันคิดว่านี่คือความทุกข์ ดิฉันคิดว่าสาเหตุแห่งความทุกข์ยากเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม เพราะว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน มนุษย์ทุกคนเกิดมาตัวเปล่า ไม่มีอะไรติดตัวออกมาเลย แต่ทำไมบางคนมีชีวิตที่สุขสบายโดยไม่ต้องทำงานหนัก แต่ทำไมบางคนทำงานหนักแทบตาย เพียงเพื่อจะมีอาหารแค่มื้อนี้หรือมื้อหน้าเท่านั้น ดิฉันคิดว่าน่าจะมีอะไรซับซ้อนมากกว่านั้น

เมื่อห้าปีที่แล้ว ดิฉันได้ไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านที่นั่นยังมีวิถีชีวิตดั้งเดิม หาปลาเพื่อที่จะเป็นอาหาร เพื่อที่จะเป็นค่าเล่าเรียนของลูก ใช้พักผ่อนหย่อนใจ หรือเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย พวกเขามีวิถีชีวิตเช่นนี้มานานหลายร้อยปี หลักฐานสำคัญก็คือ ชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำมูนนั้นเป็นชุมชนที่ใหญ่พอสมควร พื้นดินไม่ค่อยมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ธรรมชาติก็ได้ให้แม่น้ำมูนที่มีความอุดมสมบูรณ์

แม่น้ำมูนช่วงปลายในจังหวัดอุบลราชธานีมีแก่งต่างๆ ถึง 30 กว่าแก่ง ประชาชนชาวบ้านปากมูนใช้ชีวิตอยู่บนแก่ง เช้าขึ้นก็จะลงไปที่แก่ง เอาเบ็ด เอาแห เอาอวน หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ทุกคนถนัดใช้จับปลา ผู้หญิงหรือคนแก่ก็จะเข้าป่า เก็บผัก ผ่าฟืน หากได้ปลามาก ก็จะหาบปลาไปแลกข้าว เพราะที่นั่นไม่ค่อยจะมีนาปลูกข้าว ที่ดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์เท่าที่ควร

ดิฉันได้ไปที่นั่น ขณะที่ชาวบ้านกำลังต่อต้านการสร้างเขื่อนปากมูล เขื่อนปากมูลได้รับการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และก่อสร้างในยุค รสช. ดิฉันทราบภายหลังว่าการอนุมัติสร้างเขื่อนปากมูล คณะรัฐมนตรีไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เขาอนุมัติเพราะตัวเลขความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะว่าแม่น้ำมูนช่วงปลายเป็นที่อุดมสมบูรณ์แห่งเดียวของภาคอีสานที่เหลืออยู่ เป็นบริเวณเดียวที่เป็นทางเข้าของปลาที่มาจากแม่น้ำโขง ซึ่งหล่อเลี้ยงผู้คนภาคอีสานกว่า 11 จังหวัดที่แม่น้ำมูนไหลผ่าน

ทำไมดิฉันถึงเข้าร่วมกับชาวบ้านที่ปากมูน ตอนนั้นดิฉันยังไม่เข้าใจอะไรมากนัก เพราะกินข้าวเหนียวไม่เป็น ปลาร้าก็ยังไม่รู้จัก เคยเห็นแต่อยู่ในจานหรือเคยได้ยิน ไม่เคยเข้าใจวิถีชีวิตของคนอีสาน การเข้าร่วมกับชาวบ้านปากมูน เป็นครั้งแรกที่ดิฉันเรียนรู้ว่า วิถีชีวิตของคนชนบทที่พึ่งพาธรรมชาติมีความละเอียดอ่อนมากแค่ไหน

ชาวบ้านไม่มีธนาคาร ไม่มีเงินฝากธนาคาร ไม่มีห้างสรรพสินค้าจะไปจับจ่ายซื้อของ เพราะเขาไม่มีเงิน แต่เขาอยู่ได้อย่างไร เขาอยู่กับธรรมชาติค่ะ ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทำให้เขาสามารถเลี้ยงลูกหลานสืบทอดมาจนกลายเป็นชุมชนที่ใหญ่โตของบริเวณอำเภอโขงเจียม อำเภอสิรินธร และอำเภอพิบูลมังสาหาร ฟังชื่อก็ทราบแล้วว่าพิบูลมังสาหารแปลว่าอะไร

มีแม่ใหญ่คนหนึ่งเป็นผู้นำการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูน พูดภาษาไทยไม่ได้ แต่พูดภาษาอีสานบอกว่า ถ้ามีคนขึ้นมาบนบ้าน แล้วบอกให้ถอนเสาเรือนออกไป อพยพออกไป จะมีความรู้สึกอย่างไร นี่คือคำพูดของแม่ใหญ่เต่านาจาน ซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว ในขณะที่การต่อสู้ของชาวบ้านปากมูนยังคงอยู่

พี่น้องคะ ขณะนี้ชาวบ้านปากมูนไม่เหลืออะไรแล้วในชีวิต เพราะเขาไม่เคยฝากเงินกับธนาคาร ไม่เคยรู้ว่าวันใดที่รัฐบาลจะมาสร้างเขื่อน ซึ่งเขาไม่สามารถหากินบริเวณนั้นได้อีกต่อไป แม่น้ำมูน ธรรมชาติริมมูน คือธนาคารของชาวบ้าน เพราะฉะนั้นเขาไม่เคยคิดจะสะสมเงิน ถ้าชาวบ้านจะจับจ่ายใช้สอย เขาก็ลงไปหาปลา ชาวบ้านไม่เคยมีความโลภว่าต้องหาปลามากๆ เพื่อเป็นพ่อค้าปลาเอาไปขายในห้องเย็น ไม่เคยเป็นอย่างนั้น พ่อค้าหรือแม่ค้าที่อยู่ในหมู่บ้านเป็นเพียงคนหาปลาและรวบรวมปลาในหมู่บ้านไปขายต่อเท่านั้น

ชีวิตเป็นอย่างนั้นจนกระทั่งปี พ.ศ.2534 ในขณะที่พวกเราในเมืองหลวงเริ่มรู้จักการใช้บัตรเครดิต เริ่มรู้จักการกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม เริ่มรู้จักใช้โทรศัพท์มือถือ เขื่อนปากมูลสร้างเพื่อผลิตไฟฟ้า 136 เมกะวัตต์ ดิฉันไม่ทราบว่ามากมายแค่ไหน แต่เท่าที่มีคนบอก 136 เมกะวัตต์อาจจะใช้ได้เท่ากับห้างสรรพสินค้า 10-20 ห้างอย่างมากที่สุด แต่เราได้แลกไฟฟ้ากับความอุดมสมบูรณ์แห่งสุดท้ายของจังหวัดอุบลราชธานี หรือภาคอีสาน นี่คือบทเรียนที่ดิฉันทำได้เพียงสะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกไปให้กับผู้คนที่ไม่มีข้อมูลเหล่านี้ได้ทราบ

เขื่อนปากมูลห่างจากเขื่อนสิรินธรไม่เกิน 10 กิโลเมตร เขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนที่สร้างในยุคเผด็จการ คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร จุดมุ่งหมายเดียวของการสร้างเขื่อนสิรินธรคือเพื่อความมั่นคงของชายแดน ผืนนาที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของชาวบ้านอุบลราชธานีบริเวณแม่น้ำโดมน้อยสองแสนไร่จมน้ำ แม่น้ำโดมน้อยอยู่เหนือปากมูลขึ้นไปประมาณ 10-20 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่ไหลลงแม่น้ำมูล เขากั้นเขื่อนตรงนั้นเพียงเพราะว่าไม่ต้องการระบอบคอมมิวนิสต์ ไม่ต้องการใช้คนเป็นคอมมิวนิสต์ เลยเอาน้ำท่วมคอมมิวนิสต์นั่นแหละค่ะ

บริเวณป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นป่าดงดิบ มีแม่น้ำ มีน้ำตกที่สวยงามที่สุดที่ร่ำลือกันในสมัยนั้น ท่านเผด็จการทั้งหลายก็ได้สร้างเขื่อนบริเวณนั้น หลายหมู่บ้านต้องอพยพไปอยู่ประเทศลาว เพราะไม่มีการจัดที่ดินอุดมสมบูรณ์ทดแทนให้ พี่น้องบางส่วนกลายเป็นขอทาน เดินไปขอทานหมู่บ้านอื่นๆ ที่พอจะมีข้าว พี่น้องเขื่อนสิรินธรขณะนี้กำลังมาเรียกร้องอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เป็นผลพวงจากความคับแค้นจากการเสียสละเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ลูกหลานต้องไปทำงานก่อสร้าง ต้องไปเสี่ยงตายที่ต่างประเทศ

ทุกวันนี้ชาวบ้านเขื่อนสิรินธรหลายพันครอบครัวยังมีชีวิตอยู่ เยี่ยงที่เขาบอกว่าใต้เส้นความยากจน เมื่อปีที่แล้วท่านนายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา ได้ไปดูพื้นที่ด้วยตัวเอง ยอมรับว่าที่ดินที่รัฐจัดสรรให้นั้นไม่สามารถปลูกอะไรได้เลย ความทุกข์ทรมานของชาวเขื่อนสิรินธรเหล่านี้มีมา 20 กว่าปีแล้ว จะไม่ให้ชาวบ้านปากมูนประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่าหรือคะ เพราะนั่นคือภาพที่เขาเห็นอยู่ทุกวัน เป็นภาพยนตร์ที่ฉายให้พวกเขาดูอยู่ตลอดเวลาว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีการสร้างเขื่อน เพราะฉะนั้น พี่น้องอาจจะรำคาญบ้างเมื่อได้ยินหรือได้ทราบข่าว เอาอีกแล้วไอ้พวกนี้ประท้วงอีกแล้ว ปากมูนอีกแล้วหรือนี่ทำไมไม่จบไม่สิ้น ถ้าท่านเป็นชาวบ้านปากมูน ท่านก็ต้องทำอย่างนี้ค่ะ เหมือนกับอยู่ดีๆ เรามีเงินเดือน แล้วไม่ได้รับอีกต่อไป หรือเรากำลังคิดสร้างบ้านให้กับลูกชาย แต่ทุกกิจกรรมต้องหยุดหมด เมื่อมีการประกาศสร้างเขื่อน

ในหลายๆ เขื่อน เขื่อนโป่งขุนเพชร เขื่อนแก่งเสือเต้น ชาวบ้านอยู่มานาน พอประกาศสร้างเขื่อน รัฐหยุดการพัฒนา ไม่ทำถนน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ เพราะว่าบริเวณนั้นจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ชาวบ้านแก่งเสือเต้นอยู่กับสภาพอย่างนี้กว่าสิบปีแล้ว หวาดวิตกว่าจะสร้างเขื่อนหรือไม่ จะปลูกต้นมะขามสักต้นก็คิดแล้วคิดอีกว่าปลูกไปแล้วจะได้ประโยชน์อะไรเพราะน้ำจะท่วม วิตกทุกข์ร้อนว่าลูกหลานจะอยู่อย่างไร พี่น้องปากมูลพยายามที่จะยืนหยัดคัดค้านการสร้างเขื่อน จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมได้รับบาดเจ็บ ถูกจับกุม เขื่อนก็ได้ก่อสร้างจนสำเร็จ ขณะนี้ลูกหลานชาวปากมูลหลายคนต้องออกจากโรงเรียน หลายคนแทนที่จะได้เรียนต่อในชั้นมัธยม
ก็ต้องไปเป็นกรรมกรก่อสร้าง นี่คือข้อเท็จจริงที่อยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ถ้าพี่น้องหรือท่านทั้งหลายอยากจะเข้าใจ ลองไปสอบถามพวกเขาได้

หลายวันก่อน ดิฉันนั่งแท็กซี่ คนขับแท็กซี่บอกว่า "ทำไมไอ้พวกคนจนไม่ยอมกลับบ้านเสียที มานั่งขอเงินรัฐบาล" ใช่ค่ะ ขณะนี้พวกเขาเป็นขอทาน ขอทานเกิดจากอะไร ขอทานเกิดจากวิธีการพัฒนาที่ผิดพลาดในอดีต ถ้าท่านเดินไปตามท้องถนนเห็นขอทานเดินผ่าน ท่านลองสอบถามเขาดู เขาอาจมาจากหมู่บ้านที่มีการก่อสร้างเขื่อนโดยไม่ดูตาม้าตาเรือก็ได้

หันมามองอีกด้านหนึ่ง ดิฉันเคยไปที่จังหวัดกำแพงเพชร เป็นหมู่บ้านของชาวม้งและชาวปกากะญอ หรือที่พวกเราเรียกว่าชาวกะเหรี่ยง อยู่ในป่าอุทยานแห่งชาติของจังหวัดกำแพงเพชร พวกเขาได้รับผลกระทบจากนโยบายอพยพชาวเขาลงมาจากดอยทั้งหมดหลายสิบจังหวัด หลายร้อยอำเภอในภาคเหนือ ตามนโยบายของกรมป่าไม้ พวกเขามีความผิดอะไร

พวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า พวกเขาอาจมีผ้าห่มคนละ 2-3 ผืน แต่เขามีความสุขกับการมีที่ดินไว้ปลูกข้าว มีที่ดินที่จะทำไร่หรือปลูกผัก มีแม่น้ำลำธารอยู่บนภูเขาที่ใช้อาบ มีเวลาได้นั่งร้องเพลง นั่นคือชีวิตหลายร้อยปีมาแล้วของพี่น้องที่อยู่บนดอย ซึ่งถูกข้อหาตัดไม้ทำลายป่า แต่ใครกันแน่ที่ตัดไม้ทำลายป่า ดิฉันคิดว่าไม่ต้องบรรยายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านทั้งหลายที่อยู่ในนี้เข้าใจสภาพการณ์บ้านเราดีว่าป่าไม้ต้องหมดไปเพราะอะไร

พี่น้องชาวเขาขณะนี้กำลังถูกข้อหาทำลายป่า จะต้องอพยพออกจากพื้นที่ที่จังหวัดกำแพงเพชร ได้มีการอพยพมาหลายพันครอบครัว มาอยู่ที่ราบติดถนน ถ้าเป็นนายทุนจะต้องร่ำรวยแน่ถ้ามาอยู่บริเวณนั้น แต่นี่พี่น้องชาวเขามีบ้านไม้ไผ่อยู่ริมทางหลวง เพราะว่ารัฐไม่ได้สร้างบ้านให้ พวกเขาต้องหาไม้ไผ่สร้างบ้านกันเอง ในหมู่บ้านริมทางหลวงก็ไม่ค่อยมีใครอยู่ ส่วนใหญ่มีแต่คนแก่กับเด็ก คนหนุ่มสาวล้วนเข้ามาในเมืองทั้งสิ้น บางคนต้องแอบไปรับจ้างเพราะไม่มีบัตรประชาชน

ป่าไม้ของเราหมดไปไม่ใช่เพราะชาวเขา ดิฉันยืนยันได้ เพราะดิฉันเห็นกับตา เพราะถ้าป่าไม้หมดเพราะชาวเขา ป่านนี้ชาวเขาน่าจะเป็นชาวเมืองไปแล้ว น่าจะได้มาอยู่คอนโดมิเนียม กระบวนการตัดไม้ทำลายป่าเป็นกระบวนการซับซ้อนภายใต้ระบบบริโภคนิยมที่บริโภคอย่างไม่รู้จักพอ คนร่ำคนรวยหรือนักการเมืองทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่รัฐสภา ขณะนี้มีเงินใช้จ่ายในการหาเสียงก็มาจากการสัมปทาน หรือการผลาญทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น โดยโยนข้อหาเหล่านี้ให้แก่ประชาชนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่

ท่านทั้งหลายอาจจะเคยได้ยินว่าชาวบ้านโพธิ์เขียวเป็นชาวสุพรรณบุรีแท้จริง ทำนาอย่างเดียว ในชีวิตไม่เคยทำอย่างอื่น เพราะชีวิตของคนภาคกลางนั้นอยู่บนความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มภาคกลาง เป็นเวรกรรมของพี่น้องโพธิ์เขียวไปอยู่ในบริเวณที่จะขยายความเจริญ จะมีการสร้างศูนย์ราชการ. ศูนย์ราชการคืออะไรคะ ศูนย์ราชการคือการสร้างสถานีอนามัยแห่งใหม่ คือการสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและความเจริญใหม่ๆ พี่น้องสุพรรณบุรีก็ถูกข้อหาบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์ พวกเขาไม่รู้ว่ามันเป็นที่ดินสาธารณะไปตั้งแต่เมื่อไหร่ เขาทำนามาร้อยปี ไม่มีใครบอกว่านี่เป็นที่สาธารณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีก็ยังถมดินลงไปในนาข้าว คนปลูกข้าวจะมีความเจ็บปวดมากแค่ไหน ข้าวที่กำลังขึ้นงอกงามแตกรวงนั้นถูกเอาดินถมยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยว เรื่องนี้มีมานานแล้ว ประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว

พี่น้องจังหวัดบุรีรัมย์ก็เช่นเดียวกัน ท่านโดนข้อหาบุกรุกสถานที่ ที่ดินสาธารณะประโยชน์ มีการประกาศหนังสือ นสร.ประกาศว่าเป็นที่ดินของรัฐ โดยมีการขึ้นทะเบียนไว้ ทั้งๆ ที่รอบข้างเป็นที่ดินของ ส.ส. แต่เฉพาะที่ของชาวบ้านทุ่งดอนแก้ว อ.นางรอง เป็นที่ดินสาธารณะ ต้องเป็นที่ดินหลวง ซึ่งจะต้องเอามาทำศูนย์ราชการ มาสร้างศาล สร้างเรือนจำ การก่อสร้างศาลก็ไปละเมิดสิทธิของชาวบ้านด้วย การยึดที่ของชาวบ้านก็เหมือนกันค่ะ

กรณีโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมเจนโก้ก็เช่นเดียวกัน พี่น้อง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ปลูกยางพารา ทำสวนทุเรียน สวนเงาะ วันดีคืนดีก็มีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่จะขยายโครงการเข้าไปจัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ ไม่ใช่ขนาดใหญ่นะคะ เรียกได้ว่าขนาดยักษ์ แต่ว่าการลงทุนของภาคเอกชนหรือการลงทุนของนายทุนต่างชาติในบ้านเรา ดิฉันคิดว่าเป็นการลงทุนอย่างละโมบ เพราะเรื่องโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมเพิ่งมีคิดสร้างกันภายหลัง ไม่มีการวางแผน ไม่มีการคิดอย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้น จะหาที่ซึ่งราคาถูก ก็ต้องไปเอาที่ของชาวบ้าน ไปสร้างอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งคนต้องบริโภคกันทั้งอำเภอ พี่น้องชาวปลวกแดงก็คัดค้านกันอย่างหนัก จนบัดนี้ เรื่องก็ยังอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะสร้างโรงงานกำจัดกากที่ไหน

อีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ทำงานในโรงงานมาสามสิบปี ปอดถูกเฉือนไปครึ่งหนึ่งเนื่องจากฝุ่นฝ้าย ฝุ่นจำนวนมากในโรงงานเข้าไปในปอด เจ้าของโรงงานไล่เขาออก ข้อหาว่าไม่สามารถปฏิบัติงานได้ โดยที่รัฐไม่ได้เข้ามาเหลียวแล ประเทศเราพัฒนาอุตสาหกรรมมาสามสิบกว่าปี ล้วนแต่ใช้ชีวิต เลือดเนื้อ และอนาคตของคนงานเหล่านี้ทั้งสิ้น แต่วันดีคืนดีที่พวกเขาเจ็บป่วยกลับไม่มีใครเหลียวแล ผู้นำแรงงานที่ต่อสู้เพื่อเรื่องนี้ถูกไล่ออก สามีถูกกลั่นแกล้ง อนาคตของพวกเขาอยู่ที่ไหน

เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่าความยากจนเหล่านี้น่าจะเกิดจากความไม่เป็นธรรมมากกว่า และยังเกิดจากระบบที่เลือกปฏิบัติ ทำไมคนบางคนจึงสามารถมีชีวิตอยู่ได้บ้างพอสมควร แต่ว่าคนส่วนใหญ่ต้องเดือดร้อน หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ ดิฉันจึงคิดว่าระบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นระบบเลือกปฏิบัติกับผู้ที่อ่อนแอกว่า กับผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่า กับผู้ที่รู้น้อยกว่า

สิ่งที่ดิฉันอยากจะพูดอีกเรื่องหนึ่งคือ ทำไมเราถึงต้องช่วยคนจน ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ในนี้ ไม่มีใครปลูกข้าว ไม่มีใครทอผ้าใส่เอง ไม่มีใครทำถนนได้เอง แม้กระทั่งยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคก็มาจากชนบท มาจากป่าเขาลำเนาไพร คนกวาดถนน คนลอกท่อ คนทำความสะอาดในบ้านเราก็มาจากคนยากคนจนทั้งสิ้น ถ้าไม่มีคนเหล่านี้เราจะอยู่ได้อย่างไร ข้าวที่เรากินก็มาจากชาวนา ปลาที่เรากินก็มาจากชาวประมง อาคารบ้านเรือนใหญ่โต ใครเป็นผู้สร้าง ในอดีต ปิรามิดใครเป็นผู้สร้าง กำแพงเมืองจีนใครเป็นผู้สร้าง ถ้าไม่ใช่คนยากจนหรือคนทุกข์ยากที่ถูกเกณฑ์มา อารยธรรมทั้งหลายที่สร้างด้วยน้ำมือของคนจน ความเจริญทั้งหลายสร้างด้วยน้ำมือของคนจน แต่เมื่อมีความเจริญ พวกเขากลับถูกกีดกันออกไปไม่ให้รับความเจริญ

พี่น้องเขื่อนสิรินธรไม่มีไฟฟ้าใช้สามสิบปี เรามีไฟฟ้าใช้เมื่อไหร่คะ ในกรุงเทพฯ มีไฟฟ้าใช้มาแล้วสี่สิบปี คนบริเวณเขื่อนสิรินธรเพิ่งมีไฟฟ้าใช้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ชาวบ้านเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ก็เพิ่งมีไฟฟ้าใช้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ความเจริญเหล่านี้ถูกดึงเข้าสู่คนที่มีโอกาสกว่า แต่คนที่เสียสละถูกกีดกันออกไป

ในยุคสังคมปัจจุบัน เราวัดค่ากันที่เงิน แม้กระทั่งราคาของความเป็นคนก็วัดกันที่เงิน แต่ดิฉันอยากถามว่าใครเป็นผู้กำหนดอัตราค่าแลกเปลี่ยนเหล่านี้ คนจนมีส่วนร่วมไหม ถ้าคนจนมีส่วนร่วม ทำไมข้าวเปลือกถึงถูก ข้าวสารถึงแพง ทำไมค่าแรงถึงต่ำ แต่สินค้าสำเร็จรูปถึงได้มีราคาแพง เพราะว่าคนยากจนซึ่งเป็นผู้ผลิตสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีโอกาสกำหนดมูลค่าของสิ่งของที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้ เขาถูกเอาเปรียบพอสมควร เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่าความยากจนเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเวรกรรม แต่เกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรม

หันมาดูเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พวกเราเป็นคนที่อยู่ในเมือง หลายคนมาจากภาคธุรกิจเอกชน หลายคนเป็นข้าราชการ เป็นคนชั้นกลาง แต่ดิฉันคิดว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นสามัญชนซึ่งซึมซับหรือยอมรับได้ว่า ทรัพยากรทั้งสิ้นทั้งปวงล้วนอยู่ในชนบท สิ่งที่พวกเราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบายพอสมควร ก็ล้วนเอามาจากธรรมชาติทั้งสิ้น วัตถุดิบหรือวัตถุดิบที่แปรรูปแล้ว ก็ลำเลียงมาจากชนบท ผู้คนในชนบทเป็นผู้สร้าง ผู้ผลิต และเป็นผู้ดูแลรักษา ถ้าไม่มีคนชนบทเราจะดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ดิฉันเคยคุยกับชาวบ้านที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี เขาบอกว่าอยากจะรักษาป่า แต่นายทุนลำเลียงไม้ผ่านหน้าบ้านเขา เขาไม่รู้จะจัดการอย่างไร เพราะรัฐไม่ได้ออกกฎหมายให้เขามีอำนาจจัดการคนเหล่านี้ นายทุนเข้าไปตัดไม้เป็นเวลาหลายสิบปีจนกระทั่งไม้หมด รัฐบาลไปประกาศว่าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อที่จะปลูกป่าให้สมบูรณ์ แต่เอาชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าชาวบ้านจะตัดไม้ทำลายป่า

คนชนบทเป็นคนที่สามารถดูแลทรัพยากรได้ เพราะป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ คือชีวิตของเขา ถ้าไม่มีป่าไม้ เขาก็อยู่ไม่ได้ จะเอาป่าที่ไหนหาสมุนไพร จะเอาป่าที่ไหนหาเก็บเห็ดหรือหน่อไม้ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถผลิตจากโรงงาน แต่เกิดขึ้นจากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ถ้าเขาไม่สามารถรักษาป่าได้ด้วยตัวเขาเอง เขาก็อยู่ไม่ได้

แม่น้ำก็เช่นเดียวกัน พี่น้องปากมูนส่วนใหญ่เป็นชาวประมงริมน้ำ หากินตามธรรมชาติ ไม่ได้ละโมบโลภมาก เพราะเขารู้ว่าถ้าเขาจับปลามากเกินไป ลูกหลานเขาจะไม่มีกิน เขาก็จับเพียงพอสมควร พอเอาไว้ใช้สอย เพื่อให้ลูกหลานได้มีปลาที่จะจับ ในชนบทที่อื่นก็เช่นเดียวกัน ดิฉันคิดว่าผู้คนในชนบทเหล่านี้จะเป็นกำลังในการรักษาธรรมชาติ

แต่ที่ผ่านมารัฐเป็นผู้จัดการทำเองทั้งหมด รัฐเป็นผู้รวมศูนย์การจัดการทรัพยากร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐจัดการป่าไม้โดยกรมป่าไม้ จัดการน้ำโดยกรมชลประทาน แต่การจัดการทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ ล้มเหลวมาตลอดเวลาเกือบ 100 ปี ก็เพราะว่าเราไม่เคยให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ ได้มีส่วนร่วมกำหนดว่ามีความเหมาะสมเพียงไหน ที่จะสร้างเขื่อน ที่จะตัดไม้ทำลายป่า

พี่น้องส่วนหนึ่งในภาคอีสานถูกบังคับให้ออกไปจากพื้นที่ที่เขาเคยอยู่ เพราะรัฐจะไปปลูกป่าเพิ่มเติม รัฐจะทำให้ป่าเพิ่มขึ้นด้วยการดูจากตัวเลขว่า ถ้าพื้นที่ป่าไม้มี 20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะแสดงถึงความไม่มั่นคงไม่มีเสถียรภาพทางระบบนิเวศ เพราะฉะนั้นน่าจะมีป่า 50 เปอร์เซ็นต์ ก็เลยคิดจะปลูกป่า แต่ต้องให้นายทุนมาปลูกป่า ถ้าปลูกแบบชาวบ้าน เขาว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าได้น้อย พอปลูกแบบนายทุนก็ต้องมีผลประโยชน์ตอบแทน ก็ต้องปลูกไม้โตเร็ว ไม้โตเร็วส่วนใหญ่คือยูคาลิปตัส ซึ่งพวกเราหลายคนก็พอทราบอยู่ว่า ยูคาลิปตัสนั้นทำลายระบบนิเวศในบริเวณที่ปลูกมากมายแค่ไหน ชาวบ้านเล่าว่าแม้แต่ตัวกะปอมหรือกิ้งก่าก็ไม่กล้าเกาะต้นยูคาลิปตัส ใบยูคาลิปตัสเป็นพิษทั้งหมด ต้นข้าวที่อยู่ใต้ยูคาลิปตัสก็จะตาย น้ำในบริเวณนั้นก็จะเหือดแห้งในไม่กี่ปี

ดิฉันคิดว่าการจัดการทรัพยากรที่ผ่านมาล้มเหลวจากระบบที่เราพยายามรวมศูนย์ ฝากความหวังไว้กับรัฐ แต่รัฐเองเป็นผู้ใช้ทรัพยากรเหล่านั้น เป็นผู้คอรัปชั่นด้วยกระบวนการฉ้อฉลต่างๆ เพื่อที่จะนำทรัพยากรนั้นไปแปรเป็นเงินให้กับนักการเมือง ให้กับข้าราชการ หลายท่านคงทราบดีว่าตำแหน่งอธิบดีกรมต่างๆ นั้นต้องใช้เงินซื้อมากมายแค่ไหน เท่าที่ดิฉันทราบตัวเลข ล่าสุดเกินร้อยล้านขึ้นไป ท่านอธิบดีทั้งหลายจะเอาเงินมาจากไหน ท่านก็ลองคิดดูนะคะ

สิ่งที่ดิฉันได้พูดมาทั้งหมด อยากจะเรียนให้ท่านทั้งหลายได้ทราบว่า ความยากจนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความเป็นธรรมชาติของมันเอง แต่ความยากจนเกิดจากความไม่เป็นธรรม การจัดสรรที่ไม่เป็นธรรม ขาดการแบ่งปันให้กันและกัน ดิฉันคิดว่าคนยากจนทั้งหลายคือพลังที่ยิ่งใหญ่ของสังคม ท่านที่เป็นพ่อค้า ท่านที่เป็นนายทุน ท่านจะผลิตให้ใครบริโภค ถ้าไม่ใช่คนจน ท่านจะผลิตให้ใครซื้อ ถ้าไม่ใช่คนจน คนจนเป็นคนที่มีอำนาจซื้อมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันเป็นคนที่มีอำนาจอ่อนแอที่สุดเหมือนกัน

ดิฉันคิดว่าสังคมจะอยู่อย่างมีความสุข ด้วยการที่เราพยายามช่วยเหลือคนจนเหล่านี้ ไม่ด้วยทางใดก็ทางหนึ่ง เราจำเป็นต้องตอบแทนพวกเขา ในขณะที่เราไม่ต้องปลูกข้าว ถ้าเราไม่ช่วยชาวนา ลูกหลานของเราในอนาคตอาจจะไม่มีข้าวกิน ในขณะที่เราไม่ต้องทอผ้า เราก็ต้องช่วยคนงาน เพราะว่าคนงานคือคนที่จะผลิต ทอผ้าให้เรา

พี่น้องสมัชชาคนจนที่นั่งอยู่ที่นี่ และท่านทั้งหลายที่มาให้กำลังใจการพูดของดิฉันในวันนี้ หรือให้กำลังใจกับคนยากคนจนที่อยู่หน้าทำเนียบโดยทางอ้อม ดิฉันคิดว่าในยุคสมัยนี้ถึงเวลาที่พวกเราไม่ว่ายากดีมีจนจะต้องร่วมมือกัน ต้องช่วยเหลือกัน เพราะสังคมนี้เป็นของลูกหลานของเราในอนาคต พวกเราไม่มีสิทธิที่จะซื้อขายหรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นมรดกของคนรุ่นต่อไป คนรุ่นต่อไปต้องมีสิทธิที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เท่าเทียมกับคนในยุคของเรา

ขณะนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหลานของเราเองต้องประสบกับมลพิษทางอากาศ เด็กเกิดมาไม่ได้อยู่ในอ้อมอกของพ่อแม่อีกต่อไป แต่ต้องมีกระบวนการจัดการให้คนอื่นมาเป็นผู้ดูแล ดิฉันอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ทุกวัน เด็กเล็กๆ จะต้องตายไปโดยไม่มีสาเหตุอันควร เพราะอยู่ห่างไกลพ่อแม่ พ่อแม่ไม่มีโอกาสได้ดูแล พออายุสองขวบก็ถูกส่งเข้าเนิอร์สเซอรี่ อายุสามขวบถูกส่งเข้าอนุบาล ใครจะรักลูกเท่ากับพ่อแม่ ใครจะสามารถดูแลลูกทุกเวลาทุกวินาทีได้เท่ากับพ่อแม่. กระบวนการจัดการสังคมแบบใหม่ทำให้ชีวิตครอบครัวต้องแตกสลาย ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ทำให้ผู้คนเกลียดชังกัน ทำให้ผู้คนแก่งแย่งแข่งขัน ฆ่าฟันกันเอง ดิฉันมีเพื่อนหลายคนที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน แทบจะตายแทนกันได้ แต่พอเข้ามาดิ้นรนเอาตัวรอดในสังคมนี้ก็แทบจะฆ่ากันเหมือนกัน

ท่านทั้งหลาย ความสุขของเราก็คือการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคม เราอยู่ไม่ได้ถ้าข้างบ้านเราไฟกำลังลุกไหม้ เราต้องดับไฟของเพื่อนบ้านก่อนที่ไฟจะมาถึงเรา เช่นเดียวกันค่ะ ถ้าเราช่วยคนจนก็คือการช่วยดับไฟ

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างที่ท่านได้ยินข่าวอยู่คือ การชุมนุมของสมัชชาคนจนจำนวน 20,000 คนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะนี้เดือนหนึ่งแล้ว ที่เขาอยู่กันอย่างอดทน เราพยายามใช้ความดี เราพยายามใช้อหิงสธรรม เราพยายามใช้สัจธรรม เพื่อที่จะโน้มน้าวจิตใจข้าราชการ นักการเมืองที่เป็นผู้แก้ไขปัญหา แต่ยังไม่พอค่ะ ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี้จะต้องเป็นกำลังใจจะต้องส่งเสียงเรียกร้อง ให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ เพราะถ้าชาวบ้านเหล่านี้ช่วยตัวเองได้ ผลสะท้อนกลบมาสู่ตัวท่านมีมากมายมหาศาล

เรากำลังต่อสู้เพื่อที่จะให้ชาวบ้านเป็นผู้รักษาป่า เรากำลังต่อสู้คัดค้านความคิดที่ว่าคนอยู่กับป่าได้ มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ และมนุษย์ที่อยู่กับธรรมชาติได้ดีที่สุดก็คือมนุษย์ที่อยู่ในชนบท มนุษย์ที่ทำการเกษตร พวกเขาจะช่วยพวกเราดูแลแม่น้ำลำธาร ภูเขา ป่าไม้ หรือเราจะยอมให้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของเจ้าหน้ารัฐไม่กี่คนอีกต่อไป เรายังจะไว้วางใจการจัดการในอดีตที่ผ่านมาอีกหรือ ถึงเวลาแล้วที่พวกเราควรจะทบทวนเรื่องนี้ รัฐบาลนั้นไม่ฟังเสียงของคนจนหรอกค่ะ แต่ถ้าพลังของคนจนมีพลังของท่านสนับสนุน รัฐจะหันมาฟังค่ะ ดังนั้น การช่วยพี่น้องที่ยากจนขาดการพัฒนาของรัฐ ไม่ใช่ยากจนจากบุญทำกรรมแต่ง คือการช่วยเหลือพวกเราทั้งหลายเองในอนาคตด้วย

สุดท้ายนี้ ดิฉันคงพอตอบคำถามท่านทั้งหลายได้ว่าทำไมถึงต้องช่วยคนจน ดิฉันได้แต่ภาวนาว่าการต่อสู้ของคนยากคนจนเหล่านี้จะได้รับความสำเร็จบ้าง เพราะวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทุกขณะทุกวินาทีที่พวกเรานั่งอยู่ในที่นี้มันจะร้ายแรงขึ้นทุกวัน ถ้าคนเป็นหมื่นเป็นแสนครอบครัวไม่มีที่ทำกิน จะเกิดอะไรขึ้น คนเป็นหมื่นเป็นแสนไม่มีข้าวที่จะให้ลูกหลานเขากิน จะเกิดอะไรขึ้น

ดิฉันก็คงขอสรุปคำพูดของดิฉันเองแต่เพียงเท่านี้ และขอขอบพระคุณคุณพ่อคุณแม่ของดิฉันเองที่ได้ให้ชีวิตที่มีความสุขพอสมควร ขอบคุณเพื่อน กัลยาณมิตรทั้งหลาย ที่เป็นกำลังใจอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา ขอบคุณพี่น้องคนจนที่ให้ความอบอุ่นเหมือนดิฉันเป็นครอบครัวเดียวของท่าน และในวันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การรำลึกถึงคุณโกมล คีมทอง ผู้เป็นแบบอย่างที่ดีเลิศของสามัญชน ขอให้พวกเราช่วยกันเคารพด้วยการยืนขึ้นหนึ่งนาทีค่ะ

ขอบพระคุณ สวัสดีค่ะ


++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com


Words from the Text
กรุงเทพฯ มีไฟฟ้าใช้มาแล้วสี่สิบปี คนในบริเวณเขื่อน
สิรินธรเพิ่งมีไฟฟ้าใช้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ชาวบ้านเขื่อนภูมิพล ก็เพิ่งมีไฟฟ้าใช้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ความเจริญเหล่านี้ถูกดึงเข้าสู่คนที่มีโอกาส แต่คนที่เสียสละถูกกีดกันออกไป ในยุคสังคมปัจจุบัน เราวัดค่ากันที่เงิน แม้กระทั่งราคาของความเป็นคนก็วัดกันที่เงิน แต่ดิฉันอยากถามว่าใครเป็นผู้กำหนดสิ่งเหล่านี้ คนจนมีส่วนร่วมไหม ถ้าคนจนมีส่วนร่วม ทำไมข้าวเปลือกถึงถูก ข้าวสารถึงแพง ทำไมค่าแรงถึงต่ำ แต่สินค้าสำเร็จรูปถึงได้มีราคาแพง เพราะว่าคนยากจนซึ่งเป็นผู้ผลิตสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีโอกาสกำหนดมูลค่าของสิ่งของที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้ ...ความยากจนเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเวรกรรม แต่เกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรม
Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
Poverty is deprivation, a denial of access to those things
which make a life of dignity possible, including not only food,
shelter and safe drinking water, but also such as 'intangibles' as the opportunity to learn, to engage in meaningful employment
or to enjoy the respect of one's fellow citizens. While some define poverty primarily in economic terms, others consider social and political factors
to be intrinsic. The ongoing debates around the causes, effects, and best ways to measure poverty directly influence the design
and implementation of poverty reduction programs...,