Everyone is permitted
to copy and distribute verbatim copies of
this licene document,
but changing
it is not allowed. - Editor
อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
การเมืองแห่งอัตลักษณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องต้องรู้ของรัฐไทยในการแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้
(ตอนที่ ๓)
ศรีสมภพ
จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะ
ดุษณ์ดาว
เลิศพิพัฒน์, อารีลักษณ์ พูลทรัพย์,สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
งานศึกษาต่อไปนี้เคยเผยแพร่แล้วในรูป
pdf ที่ www.polsci.tu.ac.th/polsci2550/srisompop.pdf
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นำมาเผยแพร่ต่อบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเพื่อเป็นวิทยาทาน เดิมชื่อ
การเมืองชายขอบกับการใช้ความรุนแรง และการเมืองแห่งอัตลักษณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยงานศึกษานมุ่งชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ปัจจุบัน
ได้กลายรูปเป็นการเมืองแห่งอัตลักษณ์แบบใหม่(new identity politics)
ที่เน้นย้ำการสร้างความเป็นเราและเป็นอื่นอย่างเข้มข้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ซึ่งทำให้เกิดการสร้างวาทกรรมและปฏิบัติการทางวาทกรรมที่ซับซ้อนและรุนแรง
สาระสำคัญของงานศึกษานี้ ประกอบด้วย
1. แนวความคิดและสมมุติฐานเรื่องการเมืองชายขอบ
2. แนวความคิดและสมมุติฐานเรื่องการเมืองแห่งอัตลักษณ์
3. เรื่องของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศาสนา กับอำนาจการทำสงครามแบบใหม่
4. ตัวแบบการสร้างความสมานฉันท์ ขจัดความไม่ไว้วางใจ ขจัดอคติและความเกลียดชัง
5. ตัวแบบการสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองตามทรรศนะอิสลาม
(หมายเหตุ: เนื่องจากงานศึกษานี้มีความยาวพอสมควร จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ภาค)
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๙๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๔ มีนาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๑ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
การเมืองแห่งอัตลักษณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องต้องรู้ของรัฐไทยในการแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้
(ตอนที่ ๓)
ศรีสมภพ
จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะ
ดุษณ์ดาว
เลิศพิพัฒน์, อารีลักษณ์ พูลทรัพย์,สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
5. ตัวแบบการสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองตามทรรศนะอิสลาม
(31)
การสร้างความชอบธรรมในการบริหารการปกครอง อาจจะต้องอาศัยพื้นฐานความเชื่อ ค่านิยมและอุดมการณ์หลายอย่างมาประกอบกัน
เพื่อเป็นพื้นฐานของความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อกันและกัน รวมทั้งความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐ
ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีลักษณะที่พิเศษ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลามถึงร้อยละ
81 และมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่คล้ายคลึงกับประเทศในโลกมุสลิม โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย
(สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ : 2547) ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีความพยายามในการแสดงอัตลักษณ์ของตนเองออกมาให้คนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับรู้อย่างภาคภูมิใจ
(31) ข้อมูลในส่วนของมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ
สังคมและการเมืองตามทรรศนะอิสลามได้มาจาก 1.สัมภาษณ์ครูสอนศาสนา (อุสตาซ) โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการ
ประกาศนียบัตรภาคบัณฑิตของคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
2.การสัมภาษณ์นักวิชาการจากวิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักวิชาการอิสระในพื้นที่
3.การค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งเอกสารทั่วไปและเอกสารอิเล็กทรอนิก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเคร่งครัดในการดำรงชีวิตตามหลักศาสนาอิสลาม ความเชื่อ
และความศรัทธาในหลักคำสอนของศาสนาที่ส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในพื้นที่
อาจจะเป็นมิติหรือมุมมองที่ภาครัฐได้มองข้ามความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะความเชื่อทางศาสนาเป็นสิ่งที่มีอิทธิต่อความคิดและส่งผลต่อการปฏิบัติตนของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก
ดังนั้น การศึกษาถึงทรรศนะแนวคิดทางด้านการเมืองและความเป็นพลเมืองของศาสนาอิสลาม
ที่สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะสามารถปฏิบัติได้อย่างไร
และถ้าจุดมุ่งหมายของการปกครองไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม มุ่งที่จะก่อให้เกิดความสันติสุขแก่ประชาชนในประเทศแล้ว
ความเป็นพลเมืองที่รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบและการปฏิบัติตนตามหลักการที่ดีของศาสนา
ก็จะเป็นส่วนที่สำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศและสังคมให้เจริญก้าวหน้าต่อไปเช่นกัน
หลักการปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการเป็นมุสลิม
1. หลักศรัทธา 6 ประการ
1. ศรัทธาในอัลลอฮ์ ซุปห์
2. ศรัทธาในบรรดามลาอิกะฮ์ ที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระเจ้ากับศาสดาทั้งหลาย
3. ศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ทั้งหลายของพระเจ้า
4. ศรัทธาในบรรดาเราะซูล (ศาสนฑูต)
5. ศรัทธาในโลกหน้า (กิยามะฮ์)
6. ศรัทธาในการกำหนดสภาวการณ์ของอัลลอฮ์ ซุปห์ (วิโรจน์ นาคชาตรี : 2547,น.74)2. หลักปฏิบัติ 5 ประการ
1. การปฏิญาณตน
2. การละหมาด
3. การจ่ายซะกาด
4. การถือศีลอด
5. การบำเพ็ญฮัจญ์ (วิโรจน์ นาคชาตรี : 2547, น.89)
จากหลักศรัทธา 6 ประการและหลักปฏิบัติ 5 ประการดังกล่าวข้างต้น เป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและเชื่อมั่น เพราะว่าสำหรับมุสลิมแล้ว ความศรัทธาในระบอบ "อัลอิสลาม"เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ดังที่มีพระบัญญัติในอัลกุรอาน หลายโองการ เช่น
"แท้จริงศาสนา ณ อัลลอฮ์นั้นคืออัลอิสลาม" ซึ่งคำว่า ศาสนา หมายรวมภาคศรัทธาและภาคปฏิบัติ (อาละอิมรอน : 19)
"และใครที่แสวงหาอื่นจากอิสลามเป็นศาสนา จะไม่ถูกตอบรับจากเขา"(อาละอิมรอน : 85)
"พึงรู้เถิดว่า การชี้ขาดพิพากษานั้นเป็นสิทธิของพระองค์(อัลลอฮ์)เท่านั้น" (อัลอันอาม : 62)
เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทำการศึกษาความเป็นพลเมืองตามทรรศนะของศาสนาอิสลาม จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงหลักพื้นฐานที่เกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธาและการปฏิบัติตนของมุสลิมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักศรัทธาและหลักปฏิบัติซึ่งเป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเชื่อมั่นและศรัทธา นอกจากนั้นแล้ว การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแบ่งดินแดนตามทรรศนะของอิสลาม จะทำให้เกิดความเข้าใจต่อระบบการเมือง ระหว่าง"รูปแบบทางเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน" กับ"รูปแบบทางการเมืองของอิสลามตามหลักการที่ถูกต้อง" เหมือนเช่นในยุคสมัยของของท่านนบีมุฮัมหมัด ศ็อลฯ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งจะสร้างความเข้าใจได้มากขึ้น โดยในปัจจุบันการแบ่งดินแดนตามทรรศนะของนักวิชาการอิสลาม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบก็คือ
1. ดินแดนสันติ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทก็คือ
1.1 เป็นดินแดนที่ปฏิบัติตามหลักการทางศาสนาครบถ้วน (ดินแดนอิสลาม) ทั้งที่อยู่ในรูปของนามธรรมและรูปธรรม เช่น มีชาวมุสลิมเป็นผู้ปกครอง ใช้ระบอบการปกครองแบบอิสลามและมีการใช้กฎหมายชารีอะฮ์ (รูปธรรม) หรือการมีมัสยิดและสัญลักษณ์ของศาสนาปรากฏอยู่ทั่วไป (นามธรรม)
1.2 ดินแดนที่ปกครองโดยคนศาสนาอื่น (แดนสัญญาพันธะไมตรี) แต่ชาวมุสลิมสามารถปฏิบัติตนตามหลักปฏิบัติได้อย่างครบถ้วน ไม่มีการห้ามปราม เช่น การละหมาด การถือศีลอด การบำเพ็ญฮัจญ์ เป็นต้น (นามธรรม) ทั้งนี้รวมถึงประเทศที่มีชาวมุสลิมปกครอง แต่ไม่ได้มีระบบการเมืองการปกครองแบบอิสลาม เช่น การใช้กฎหมายชารีอะฮ์เต็มรูปแบบในการปกครอง
2. ดินแดนข้าศึกสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบด้วยกัน
2.1 ดินแดนที่ปกครองโดยคนต่างศาสนา และไม่ได้ใช้ระบอบการปกครองแบบอิสลาม ไม่มีการนำกฎหมายชารีอะฮ์มาใช้ และไม่มีสัญญาพันธะไมตรีต่ออิสลามทั้งนามธรรมและรูปธรรม
2.2 ดินแดนที่ปกครองโดยมุสลิม แต่ไม่ได้ใช้ระบอบการปกครองและกฎหมายอิสลามในการปกครองประเทศ และยังเป็นปรปักษ์กับกฎหมายอิสลามเช่นเดียวกัน (จากการสัมภาษณ์ ดร.มะรอนิง สาแลมิง อาจารย์ประจำวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
จากรูปแบบการแบ่งดินแดนของนักวิชาการอิสลาม ที่มีลักษณะแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น จะทำให้เห็นรูปแบบทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อความเป็นพลเมืองที่แตกต่างกันในแต่ละบริบทของสังคม (ดินแดน) และถ้า "นำเอาความหมายหรือการปฏิบัติตัวของความเป็นพลเมืองตามทรรศนะอิสลาม โดยเฉพาะดินแดนที่ปฏิบัติตามหลักการทางศาสนาครบถ้วน (ดินแดนอิสลาม) เปรียบเทียบกับพลเมืองของสังคมประชาธิปไตยในปัจจุบัน" จะทำให้เห็นมิติ (ภาพ) ของสิทธิและหน้าที่พลเมืองที่มีทั้งความสอดคล้องและแตกต่างกันออกไปตามรูปแบบต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ดังที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้
1. ด้านเศรษฐกิจ
ในปัจจุบันเรื่องของเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญเพราะว่า เศรษฐกิจเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้
ประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ประเทศเหล่านั้น ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของประเทศที่พัฒนาแล้ว
และยังมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจที่สูง ซึ่งความเจริญทางด้านนี้ ไม่ได้มาจากการพัฒนาตามแนวนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น
แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พลเมืองในประเทศต้องเป็นผู้ที่มีวินัยในเรื่องของการใช้จ่าย
มีความซื่อสัตย์ มีความขยันอดทนในการทำงาน และมีความอดออมไม่ใช้จ่ายทรัพย์สินที่หามาได้อย่างเกินตัว
สำหรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามหลักกฎหมายอิสลามนั้น มุสลิมต้องยึดเรื่องที่เกี่ยวกับ "ฮาลาลและฮาร่าม", "วาญิบและซูนัต" และ"ฮารุสและมักโร๊ะ"
- ฮาลาล เป็นสิ่งที่เป็นที่อนุญาต สิ่งที่ฮาร่าม เป็นสิ่งที่ต้องห้าม
- สิ่งที่ วาญิบ คือสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ซูนัต คือสิ่งที่สนับสนุนให้ปฏิบัติ และ
- มักโร๊ะ เป็นสิ่งที่ควรละทิ้ง
(โครงการศูนย์สารสนเทศอิสลามและอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี : 2549)
ดังนั้นมุสลิมจึงต้องยึดถือเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ในการปฏิบัติตนทางเศรษฐกิจ. นอกจากนี้อิสลามยังกำหนดจริยธรรมในการดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจ กำหนดหลักอนุมัติ หลักต้องห้าม และเน้นในเรื่องของความยุติธรรมในการค้าขาย เพื่อป้องกันการผูกขาด การคดโกงในทางธุรกิจอันนำไปสู่ความไม่ยุติธรรมทางสังคมอีกด้วย รวมทั้งการห้ามในเรื่องของดอกเบี้ยเพราะดอกเบี้ยถือเป็นการเอาเปรียบซึ่งกันและกันในสังคม เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีการบัญญัติไว้ในหลักคำสอนของศาสนาไว้ว่า
"ผู้ใดที่โกงเรา ผู้นั้นไม่ใช่พวกของเรา" (บันทึกโดย ญะมาอะฮ์ นอกจากบุคอรีย์ และนะซาอีย์ ดูในอัล-มุนตะกอ เลขที่ 2937)
"แท้จริงความซื่อสัตย์จะนำสู่ความดี และความดีจะนำสู่สรวงสวรรค์..." (บันทึกโดยอัล-บุคอรีและมุสลิม)
"... อัลลอฮ์นั้น ทรงอนุมัติการค้าขาย และทรงห้ามดอกเบี้ย..." (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 2 : 275)
"พ่อค้าที่ซื่อสัตย์ยิ่ง และเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจนั้น เขาจะได้อยู่พร้อมกับบรรดานบี บรรดาผู้ที่สัจจริงและบรรดาผู้ที่สิ้นชีวิต
ในสนามรบ (ชะอีด)" (บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)
"...จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า ..." (อัล-มาอิดะฮฺ 5 : 8)
ในเรื่องของการประหยัดอดออม
การประหยัดอดออมเป็นสิ่งที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนการออมของครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง
และนอกจากจะส่งผลดีต่อประเทศแล้ว ยังส่งผลดีโดยตรงต่อพลเมืองและต่อครอบครัวอีกด้วย
เพราะการประหยัดอดออม เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับความผันผวนของระบบเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง
โดยเฉพาะในสังคมทุนนิยมอย่างที่ทุกประเทศได้เผชิญกันอยู่ในปัจจุบัน
กิจวัตรของท่านนบีมุฮัมหมัด ศ็อลฯ ซึ่งท่านได้แสดงถึงความสมถะและความประหยัดอดออมกล่าวคือ
เมื่อครั้งท่านอับดุลลอฮ์ บิน มัสอูด เราะฏิยัลลอฮอันฮุ ได้เข้าไปพบท่านนบีมุฮัมหมัด
ศ็อลฯ ในขณะที่ท่านลุกจากเสื่อที่นอน ซึ่งได้ปรากฏริ้วรอยของเสื่อบนสีข้างของท่าน
ซึ่งท่านก็ไม่ได้แสดงความต้องการว่าจะต้องนอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่ม และท่านยังได้วิงวอนขอพรจากอัลลอฮ์
ซุปห์ว่า
"โอ้อัลลอฮ์ ขอพระองค์ทรงโปรดทำให้ปัจจัยยังชีพของวงศ์วานมุฮัมหมัดนั้นแค่พอมีพอใช้เถิด" (อับดุลลอฮฺ นาศิห์ อุลวาน : 2547, น.46) นอกจากนั้นยังมีการบัญญัติถึงเรื่องความประหยัดและอดออมไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ที่ว่า "แท้จริงผู้สุรุ่ยสุร่ายนั้น เป็นพี่น้องของเหล่ามาร..." (บนีอิสรออิล : 27). "สูเจ้าจงกินและดื่ม แต่อย่าสุรุ่ยสุร่าย แท้จริงอัลลอฮ์ไม่ทรงรักผู้สุรุ่ยสุร่าย"(อัล-อะอรอฟ : 31)
การทำงานอย่างขยันขันแข็ง
ความตั้งใจในการทำงานเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องปฏิบัติ และในการทำงานต้องอาศัยแรงกายและแรงใจ
เพื่อทุ่มเทให้กับภาระงานนั้นๆ คนที่มีความเกียจคร้านจะเป็นบุคคลที่ไม่มีความน่านับถือ
และตามทรรศนะอิสลามแล้ว ความเกียจคร้านทำให้มนุษย์ยากจนและอาจนำไปสู่การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์
(โครงการศูนย์สารสนเทศอิสลามและอิสลามศึกษา
ตามยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยความร่วมมือของจังหวัดปัตตานี และ
วิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี : 2549)
ดังที่ท่านศานทูตของอัลลอฮ์ได้กล่าวไว้ ดังมีความหมายว่า "ความเกียจคร้านนั้น
เกือบนำสู่การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์" (รายงานโดย อบูนุอัยม์). "และจงกล่าวเถิด
(มุฮัมหมัด) ว่าพวกท่านจงทำงานเถิดและฮัลลอฮ์จะทรงเห็นการงานของพวกท่าน"(อัต-เตาบะฮฺ
: 105)
นอกจากนั้นในวันศุกร์จริงแล้ว ไม่ได้ห้ามว่าต้องเป็นวันหยุด เพียงแต่ต้องมีเวลาในการทำละหมาดเพราะวันศุกร์ถือเป็นวันที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งการละหมาดวันศุกร์ต้องหยุดกิจการใดๆ ทั้งสิ้นไปในช่วงละหมาด "เมื่อได้ยินเสียงเรียกร้องไปสู่การละหมาด ให้รีบเร่งไปละหมาด สู่การรำลึกถึงอัลเลาะห์ ซุปห์และให้ละทิ้งการค้าขาย" แต่เมื่อละหมาดเสร็จก็ต้องไปประกอบกิจการหน้าที่ที่ตนเองต้องรับผิดชอบตามปกติ ดังที่ได้มีบัญญัติไว้ในคัมภีร์อัล-กุรอานที่ว่า "ครั้นเมื่อเสร็จสิ้นการละหมาดแล้ว พวกเจ้าก็จงแยกย้ายกันออกไปในพื้นแผ่นดินและจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)"(อัลญูมูอะฮฺ : 10)
2. ด้านสังคม
สังคมในปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความซับซ้อนและมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาซึ่งความแตกต่างที่เกิดขึ้นอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง
อันเนื่องมาจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปในแต่ละสังคมความเชื่อ ดังนั้น ความอดทนอดกลั้นต่อแนวคิดที่ต่างกัน
และการใช้หลักเหตุผลมาเป็นเครื่องมือในการตัดสิน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องมีการสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคม
หลักคำสอนของอิสลามได้ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งในเรื่องของเสมอภาคเท่าเทียมกันโดยไม่มีการแบ่งเชื้อชาติหรือวรรณะของผู้คนในสังคม นอกจากนั้น อิสลามยังมีความเชื่อว่าความหลากหลายทางสังคมที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเหตุที่นำไปสู่ความขัดแย้ง แต่เป็นสิ่งที่ อัลลอฮ์ ซุปห์ ได้สร้างไว้เพื่อให้มนุษย์ทุกคนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน. อิสลามมีแนวคิดที่ว่าความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติและเผ่าพันธุ์ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำความรู้จักหรือกระทำดีต่อกัน รวมทั้งยังเป็นการต่อต้านการแบ่งชนชั้นวรรณะในสังคมอีกด้วย เพราะว่าทุกคนต่างก็มีต้นตระกูลที่มาจากครอบครัวเดียวกัน ดังอัลลอฮ์ ซุปห์ทรงตรัสไว้ความว่า
"โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์นั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน"
(อัลฮุญุรอต : 13)
"...และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกันและกัน" (อัลฮุญุรอต : 13)
การรับฟังความคิดเห็นของทุกคนโดยอดทนต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การมีความอดทนต่อสิ่งยั่วยุ เป็นเรื่องที่สมควรปฏิบัติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะอารมณ์โกรธหรือเกลียดกันของแต่ละบุคคล มักจะเกิดจากการมีความอดทนต่ำต่อสิ่งยั่วยุ ดังนั้นการฝึกตนเองให้เป็นผู้ที่มีความอดทนอดกลั้นทางอารมณ์ จะทำให้เป็นบุคคลที่น่ายกย่องสรรเสริญ และยังถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคมอีกด้วยเช่นกัน ซึ่งหลักคำสอนของอิสลามได้กล่าวถึงเรื่องความอดทนไว้ว่า "และแน่นอน ผู้ใดอดทนและอภัย แท้จริงนั่นอยู่ในกรณีอันหนักยิ่ง"(อัล-ชูรอ : 43)
"แท้จริงผู้ที่อดทนเท่านั้น ที่ถูกทำให้ครบถ้วน ซึ่งผลการตอบแทนของพวกเขา โดยไม่มีการคิดคำนวณ" (อัซ-ซุมัร : 10)
"และจงให้พวกเขาอภัยและมองข้ามความผิดนั้นเถิด สูเจ้ามิชอบหรือที่อัลลอฮ์จะทรงอภัยแก่สูเจ้า" (อัน-นูร : 22)
นอกจากนั้น ความมีเหตุผลที่ดีจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยให้สังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างสงบสุข เพราะความมีเหตุผลเป็นหลักสากลที่ทุกคนต้องยอมรับ และพร้อมที่จะปฏิบัติตามซึ่งหลักคำสอนของอิสลาม ได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องของการใช้เหตุผลในการโต้แย้ง หรือแสดงความคิดเห็นทางด้านต่างๆ ไว้ดังนี้ "จงเผยแผ่สู่แนวทางแห่งพระเจ้าของเจ้าด้วยวิธีการที่สุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยเหตุผลและหลักฐานที่ดีกว่า" (อันนะห์ลุ : 125)
ความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบและการเสียสละ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญในสังคมเพราะว่าพลเมืองดีจะต้องเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัย ที่สามารถควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้อง เช่น การปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐ หรือการมีระเบียบวินัยต่อตนเองให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในช่วงวัยต่างๆ เช่นในวัยเด็กก็ต้องมีระเบียบวินัยในการศึกษาเล่าเรียน เมื่ออยู่ในวัยทำงานก็ต้องมีระเบียบวินัยในการทำงาน ซึ่งการมีระเบียบวินัยที่ดีนอกจากจะส่งผลดีต่อตนเองแล้ว ยังส่งผลดีต่อสังคมอีกด้วย ซึ่งพิจารณาได้จากประเทศที่มีความเจริญ พลเมืองในประเทศจะมีระเบียบวินัยต่อตนเองค่อนข้างสูง
สำหรับความมีระเบียบวินัยตามจะมีมุมมองของอิสลาม จะพิจารณาได้จากการละหมาด 5 เวลาซึ่งการละหมาดเป็น "หลักปฏิบัติ" อย่างหนึ่งที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ ซึ่งจะพบมุสลิมคนใดที่ปฏิบัติได้ครบถ้วนถูกต้องตามหลักศาสนาแล้ว มุสลิมคนนั้นจะเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยต่อตนเอง เพราะในการละหมาด 5 เวลา จำเป็นที่จะต้องอาศัยความมีระเบียบวินัยเพราะว่าในการละหมาดในแต่ละช่วงเวลาจะมีลักษณะหรือการกำหนดที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ที่ละหมาดได้ครบถ้วนตรงตามเวลา จึงต้องเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยต่อตนเอง
ความรับผิดชอบก็เป็นสิ่งที่พลเมืองควรจะมีและปฏิบัติ ให้ควบคู่กันไปกับความมีระเบียบวินัยเพราะความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้อื่น จะเป็นสิ่งที่ยืนยันต่อการกระทำของตนเองว่า ได้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ และจะต้องรับผิดชอบในการกระทำนั้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่ปฏิบัติต้องกระทำในสิ่งที่ดี เพราะท้ายสุดแล้ว คงไม่มีใครที่ต้องการรับผิดชอบในสิ่งที่สร้างความเสียหายให้กับตนเองหรือสังคม. ตามหลักการอิสลาม ได้มีการกล่าวถึงความรับผิดชอบในการกระทำของมนุษย์ และมนุษย์ทุกคนจะต้องถูกสอบถามถึงความรับผิดชอบของตนเองในวันพิพากษา (กิยามะฮ์) ซึ่งตามบทบัญญัติของศาสนาได้มีการกล่าวไว้ดังต่อไปนี้
"แท้จริงมนุษย์ทุกคน คือผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบและเขาจะต้องถูกสอบสวนถึงหน้าที่นั้นของตน"
(มุศเฏาะห์ฟา มุฮัมหมัด อัฏ-เฏาะฮาน : 2545 , น.33)
"พวกท่านทุกคนคือผู้มีหน้าที่ดูแล และพวกท่านทุกคนจะต้องถูกสอบถามถึงผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของตน..."
(บันทึกโดยอัล-บุคอรี และมุสลิม)
การเสียสละ ในสังคมทุนนิยมเช่นในปัจจุบัน การเอารัดเอาเปรียบเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ง่าย เพราะว่ามนุษย์นั้นแสวงหาแต่ความสุขส่วนตัวอย่างไม่จำกัด โดยไม่มีการนึกถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ช่องว่างระหว่างความแตกต่างของคนรวยกับคนยากจน ยิ่งห่างจากกันมากขึ้น. นอกจากนั้นแล้ว ความห่างไกลในเรื่องของการเสียสละให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทรัพย์สิน แรงกาย ความรู้ ฯลฯ ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การเสียสละโดยเฉพาะการเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของสังคม และเพื่อนมนุษย์ที่ขาดแคลน จึงเป็นสิ่งที่สมควรปฏิบัติอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้คนอื่นได้รับความสุขจากการเสียสละของตนเองแล้ว ผู้ที่เป็นผู้ให้ (เสียสละ) ก็จะพบกับความสุขจากการเสียสละเช่นเดียวกัน ซึ่งในอัล-กุรอาน และในหะดีษได้มีการกล่าวถึงเรื่องเหล่านี้ไว้ว่า
"และบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เครื่องยังชีพแก่พวกเขา" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 3)
"และความดี (หรือสมบัติ) อันใดที่สูเจ้าบริจาค ดังนั้นมันจะได้แก่ตัวสูเจ้าเอง และสูเจ้ามิได้บริจาคเว้นแต่เพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์และความดี (ทรัพย์สิน) อันใดที่สูเจ้าบริจาค พระองค์ทรงตอบแทนโดยเต็มต่อสูเจ้า และสูเจ้าจะไม่ได้รับความอยุติธรรม (แม้แต่น้อย)"
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 272)
"มือข้างบน (คนที่เป็นผู้ให้) นั้น ย่อมดีกว่าจากมือข้างล่าง (ผู้รับ)" (รายงานโดยมุสลิม)
3.
ด้านการเมือง
"บรรดานักวิชาการมุสลิมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า "คัมภีร์อัลกุรอ่าน"
(Al-Quran) และ " ซุนนะฮ์"(Sunnah; วัจนศาสดา) ต่างไม่ได้กำหนดถึงรูปแบบปกครอง
และไม่ได้อรรถาธิบายถึงแนวทฤษฎีทางรัฐธรรมนูญใดๆ ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้นการเมืองแบบอิสลามจึงเป็นได้หลายรูปแบบวิธี
ซึ่งก็ขึ้นกับมุสลิมในยุคสมัยต่างๆ จะเลือกสรรเอาตามสมควรแก่คณะตน"(อับดุล
ราชิด โมเต็นอ้างใน อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ : 2549)
จากคำกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการเมืองของอิสลาม มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับทุกยุคทุกสมัยได้โดยไม่ผิดหลักการทางศาสนา แต่ถึงอย่างไร การศึกษาถึงความเป็นพลเมืองในระบอบการปกครองตามหลักการทางศาสนาอิสลาม จะมีความแตกต่างซึ่งเป็นลักษณะพิเศษ ที่ไม่เหมือนกับการเมืองการปกครองในรูปแบบอื่นที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะใน "สังคมอิสลามที่มีการดำรงวิถีชีวิตทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม" ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น
เพราะอิสลามจะมีแบบแผนในการปกครองที่เป็นลักษณะเฉพาะ จึงส่งผลต่อหน้าที่และความเป็นพลเมืองที่แตกต่างจากการปกครองในรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะการปกครองในระบอบระชาธิปไตย เนื่องจากศาสนาอิสลามไม่ได้แยกแบบแผนการดำรงชีวิตระหว่าง "ทางโลก" กับ "ทางธรรม" ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบ ต้องดำเนินควบคู่ไปด้วยกัน ดังนั้นจึงพบว่าอิสลามจะไม่มีนักบวช เพราะถือว่าทุกคนเป็นทั้งนักบวชและเป็นคนธรรมดา โดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้. จากหลักคำสอนนี้ ทำให้ชาวมุสลิมต้องมีความเคร่งครัดในการดำรงชีวิตตามหลักการทางศาสนา ซึ่งก็มีความหมายรวมถึง "หลักการปกครอง" เช่นเดียวกัน
จากพื้นฐานของหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติที่เป็นสิ่งสำคัญของชาวมุสลิม จึงส่งผลต่อความเชื่อในเรื่องของการปกครองเพราะว่า มุสลิมทุกคนจะเชื่อและศรัทธาในความเที่ยงธรรม เที่ยงแท้ และความเป็นหนึ่งเดียวของ "อัลลอฮ์ ซุปห์ฯ" ซึ่งไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถเทียบเคียงได้เลย ดังนั้นการที่ "อัลลอฮ์ ซุปห์ฯ" ทรงประทานคัมภีร์ "อัล-กุรอาน" ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญสูงสุดในการปกครองโดยมี "ชารีอะฮ์" เป็นแนวทางด้านกฎหมายมาให้กับหมู่มวลมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ควรนำไปปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่เที่ยงธรรมและเที่ยงแท้ อย่างที่ไม่มีมนุษย์คนใดจะสร้างระบอบการปกครองหรือบัญญัติกฎหมายขึ้นมาใช้ได้เสมอเหมือน ดังที่ "อัลลอฮ์ ซุปห์ฯ" ได้ทรงประทานลงมาเพราะฉะนั้นระบอบการปกครองและกฎหมายอื่นใดในโลกจึงไม่สมควรนำมาใช้ในการปกครองชาวมุสลิม
การเมืองการปกครองตามหลักการทางศาสนาอิสลาม
การเมืองการปกครองตามหลักการทางศาสนาอิสลาม
จะวางอยู่บนความสัมพันธ์ ระหว่าง
1. หลักการ "เตาฮีด" ซึ่งเป็นหลักเอกภาพและการเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวของ "อัลเลาะห์"
2. ชาริอะฮ์ (Shari'ah) กฎหมายอิสลามตามหลักการแห่ง "กุรอ่าน" และ "ซุนนะห์"
3. เกออะเดลัน (Keadilan) การสถาปนาความยุติธรรม เสรีภาพ (สิทธิที่จะกระทำการภายใต้การเชื่อฟังต่อหลักการชาริอะห์ )
ความเสมอภาค หรือโอกาสอันเทียมเท่ากันของปัจเจกบุคคลชายและหญิง
4. ชูรอ (Shura) รากฐานองค์ประกอบสำคัญของอำนาจทางการเมืองนี้ก็คือ หลักการอุมมะห์ อันเป็นระเบียบทางสังคมแบบอิสลาม
(อับดุล ราชิด โมเต็น อ้างใน อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ : 2549)
สิ่งที่มีความแตกต่างเป็นพิเศษในเรื่องของการปกครองตามหลักการของศาสนาอิสลามก็คือ เรื่องของ "อำนาจอธิปไตย" กล่าวคือ "หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเจ้าของอำนาจอธิปไตยคือ "ประชาชน" และประชาชนได้มอบอำนาจเหล่านี้ไว้ให้แก่ตัวแทนของตนเอง (รัฐบาล) ตามระบอบประชาธิปไตย แต่ในระบอบอิสลามอำนาจอธิปไตยจะอยู่ที่พระผู้เป็นเจ้า และพระดำรัสของพระองค์ ซึ่งนักปราชญ์อิสลามเรียก อัลฮากิมียะฮ์ นั่นคือ อำนาจแห่งการบัญญัติและปกครอง และพระองค์ทรงมอบหมายให้มนุษย์เป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งพระบัญชาของพระองค์ (อำนาจอธิปไตย) " (เชค ริฏอ อะหมัด สมะดี : 2549)
ดังนั้นตามหลักการทางศาสนา "อำนาจอธิปไตย" จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมของอัลลอฮ์ ซุปห์ฯแต่เพียงพระองค์เดียว ดังที่ได้มีบัญญัติไว้ในหลักการทางศาสนาที่ว่า
"พระเจ้าของเจ้า ทรงสร้างสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์และทรงเลือก สำหรับพวกเขาไม่มีสิทธิ์ในการเลือก มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮ์
และพระองค์ทรงสูงส่งจากสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคี"(อัลเกาะศ็อศ : 68)
"ไม่บังควรแก่ผู้ศรัทธาชายและผู้ศรัทธาหญิง เมื่ออัลลอฮ์ และรอซูลของพระองค์ได้กำหนดกิจการใดแล้ว สำหรับพวกเขาไม่มีทางเลือกในเรื่องของพวกเขา" (อัลอะห์ซาบ : 36)
อาจจะอธิบายโดยสรุปให้เข้าใจภาพของการปกครองระหว่างประชาธิปไตย กับการปกครองของอิสลามไว้ดังนี้ กล่าวคือ รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเป็นรัฐบาลที่เกิดจากประชาชนมอบอำนาจอธิปไตยของตนเองให้กับรัฐบาล ดังนั้น ประชาธิปไตยจะวางอยู่บนรากฐานแนวคิดที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน. สำหรับศาสนาอิสลามรัฐบาลเป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ประทานลงมา เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ (เพื่อสร้างความสงบสุขและรักษาผลประโยชน์ให้กับมนุษย์ตามพระประสงค์ของพระองค์)
ในระบอบประชาธิปไตยมนุษย์เป็นผู้บัญญัติกฎหมาย
แต่ในอิสลามพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานแนวทางของกฎหมายลงมา (ชารีอะฮ์) ผ่านทางท่านศาสดา.
ตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย รัฐบาลจะปฏิบัติไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน แต่อิสลาม
รัฐบาลและประชาชนทั้งหมดต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด
โดยเฉพาะ (อบุล อลา เมาดูดี : 2542, น.37)
แม้ว่าหลักการที่สำคัญของศาสนาอิสลามดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้มุมมองของความเป็นพลเมืองในทางการเมืองของอิสลามมีความแตกต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าในหลักการปกครองของอิสลามก็ยังมีความเหมือนในความแตกต่างของการปกครอง เช่น ในการขึ้นสู่ความเป็นผู้นำของอิสลาม (เคาะลีฟะฮ์) ด้วยวิธีการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าอำนาจอธิปไตยจะเป็นของ อัลลอฮ์ ซุปห์ฯ แต่พระองค์ก็ยังมอบสิทธิแก่มนุษย์ในการเลือกผู้ปกครองโดยผ่านทาง "อะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิ" หรือสภานักปราชญ์และผู้อาวุโส ซึ่งเป็นผู้ที่รองรับความถูกต้องและวินิจฉัยพระดำรัสของอัลลอฮ์ ซุปห์ฯ และมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ปกครอง โดยผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในสภานักปราชญ์และผู้อาวุโส จะถูกเลือกมาจากชาวมุสลิมเท่านั้น โดยที่คนต่างศาสนาไม่มีสิทธิในการเลือก แต่ว่าชาวมุสลิมที่มีสิทธิในการเลือก จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ 2 ประการก็คือ
ประการแรก ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติทางศาสนาและคุณธรรม อย่างครบถ้วนและต้องสามารถตรวจสอบได้ว่า
ไม่เป็นผู้ที่บกพร่องต่อการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา
ประการที่สอง ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างเพียงพอ
ที่พร้อมที่จะให้คำแนะนำในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ในการบริหารหรือปกครองของผู้นำอิสลาม (เคาะลีฟะฮ์) จะต้องนำหลักการที่สำคัญทางศาสนาหลักการหนึ่งก็คือ หลักการ "ชาริอะฮ์" อันว่าด้วย "ชูรอ" ซึ่งเป็นระบบที่ต้องการให้ชาวมุสลิม(นักปราชญ์) มาปรึกษา หารือร่วมกันในการวินิจฉัยประเด็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น และจะต้องตัดสินความภายใต้พุทธิปัญญาแห่งความยุติธรรม เพื่อเป็นการป้องกันการใช้อำนาจปกครองแบบเทวราชขึ้นในทางการเมือง (เชค ริฏอ อะหมัด สมะดี)
จะเห็นได้ว่าอิสลามมีความต้องการให้ผู้ปกครองนำเอา "ชูรอ" เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบในการปกครอง และได้มอบสิทธิในการเลือกผู้นำแก่ชาวมุสลิมโดยผ่านทางสภา "อะฮฺลุลฮัลลิวัลอักดิ" ซึ่งจะพิจารณาได้ว่ามีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา แต่ว่าการเลือกตั้งมีความแตกต่างกันคือ ในระบอบประชาธิปไตยประชาชนจะเลือกตั้งหรือมอบอำนาจในการปกครองให้กับตัวแทนของตนเพื่อเข้าไปบริหารกิจการบ้านเมือง แต่อิสลามจะเลือกผู้ที่จะเข้าไปบริหารบ้านเมืองแทนอำนาจของอัลลอฮ์ ซุปห์ฯ และในการบริหารกิจการบ้านเมืองก็ต้องเป็นไปเพื่อสร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่ชาวมุสลิม โดยผู้ที่มีสิทธิในการเลือกผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
การมีส่วนร่วมในการปกครอง
มุมมองตามทรรศนะของพลเมืองในระบอบการปกครองประชาธิปไตย ได้มอบสิทธิและหน้าที่แก่พลเมืองในการตรวจสอบการทำงานหรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของรัฐบาล
เพราะว่าการปฏิบัติของรัฐบาลถือเป็นการใช้อำนาจในการปกครองแทนพลเมือง ซึ่งในการกระทำการใดๆ
ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของพลเมือง เพราะฉะนั้นพลเมืองจึงต้องมีสิทธิและหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลว่า
เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองหรือไม่
แม้ว่าอำนาจอธิปไตยจะเป็นของ อัลลอฮ์ ซุปห์ฯ โดยมีรัฐบาลเป็นตัวแทนของพระองค์ในการใช้แต่ว่ารัฐบาลก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้อำนาจเหล่านี้
เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตนเองด้วยการอ้างความชอบธรรม (อำนาจในการปกครอง) ที่มาจากอัลลอฮ์
ซุปห์ฯ ดังนั้นอิสลามจึงเปิดโอกาสให้มุสลิมสามารถที่จะตรวจสอบการกระทำของผู้นำหรือผู้ปกครองได้เช่นกัน
และถือว่าการเรียกร้องไปสู่การกระทำความดีเป็นสิทธิและหน้าที่ที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ
ซึ่งสิทธิในการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ปกครองในระบอบอิสลาม ได้ถูกกล่าวถึงซึ่ง
ท่านนบี มุฮัมหมัด ศ็อล ฯ กล่าวไว้ว่า
"ใครก็ตามในหมู่พวกท่านได้เห็นความผิดใดๆ ก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยมือ (หมายถึงอำนาจ ถ้ามี)หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น (หมายถึงตักเตือน คัดค้าน) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจ (หมายถึงการเกลียดความผิดนั้น) และนั่นคืออีมานที่อ่อนแอที่สุด" (บันทึกโดยอิมามมุสลิม)
ซึ่งในประวัติศาสตร์ของอิสลาม ได้ปรากฏถึงการเข้าไปมีส่วนในการตรวจสอบการกระทำของผู้ปกครองโดยชาวมุสลิม แม้ว่าชาวมุสลิมคนนั้นจะเป็นคนธรรมดาสามัญ ก็สามารถที่จะเข้าตักเตือนหรือคัดค้านในสิ่งที่ผู้ปกครองได้กระทำโดยไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา (เชคริฏอ อะหมัดสมะดี:2550) และหลักการสำคัญในการตรวจสอบการกระทำของผู้ปกครองจะต้องยึดหลักการพื้นฐานของชารีอะฮ์ ที่ว่า "ชารีอะฮ์ของอัลลอฮ์เป็นกฎเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดการพัฒนา และเสริมสร้างให้มนุษย์มีการตื่นตัวอยู่เสมอ ในการที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" (โครงการศูนย์สารสนเทศอิสลามและอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี : 2549). ดังนั้นการตรวจสอบผู้ปกครอง จะเป็นไปเพื่อการสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้องจึงเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้
เสรีภาพ
ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งอิสลามก็เห็นเช่นเดียวว่า
การบังคับ หรือริดรอนสิทธิเสรีภาพของมนุษย์เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง แม้ในเรื่องของการนับถือศาสนาอิสลาม
ก็ไม่ได้มีการบังคับให้มนุษย์หันมาศรัทธาต่อศาสนาอิสลาม ดังที่ได้มีการบัญญัติไว้ในอัล-กุรอานที่ว่า
"ไม่มีการบังคับในศาสนา" (อัล-บะกอเราะฮฺ : 256) และ "เจ้าไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจเหนือพวกเขา
(ให้เกิดความศรัทธา)" (อัล-ฆอซิยะฮฺ : 22)
เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า ในเรื่องของศาสนา อิสลามไม่ได้มีการบังคับให้นับถือ
ดังนั้นในเรื่องของการกระทำของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน มนุษย์จึงมีสิทธิในการดำเนินชีวิตตามที่ตนเองมีความต้องการ
แต่ว่าในการดำเนินชีวิตนั้นต้องไม่ขัดต่อพระประสงค์ของอัลลอฮ์ ซุปห์ฯ นั่นก็คือการกระทำความดีที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาตินั่นเอง
บทบาทของสตรีมุสลิมต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ปัจจุบันกระแสการเรียกร้องสิทธิของสตรีได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งในกฎหมายฉบับต่างๆ โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ให้สิทธิและหน้าที่ของสตรีและบุรุษอย่างเท่าเทียมกัน. ตามหลักการทางศาสนาอิสลามก็เช่นเดียวกัน ที่ได้เปิดโอกาสและให้สิทธิและหน้าที่แก่สตรีอย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยสตรีมุสลิมต้องมีสิทธิและหน้าที่ในการรักษาไว้ซึ่งความดีงามของสังคมเช่นเดียวกับบุรุษ ดังที่ได้มีการระบุไว้ในหลักการทางศาสนาที่ว่า
" และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในเรื่องคุณธรรมและความยำเกรง แต่พวกเจ้าอย่าได้ช่วยเหลือ กันในเรื่องบาปและความเป็นศัตรูกัน" (อัลกุรอาน อัลมาอีดะฮ (5) :3) และแม้ในทางศาสนาสตรีมุสลิมก็ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกับบุรุษเช่นเดียวกัน ดังที่ได้มีการบัญญัติไว้ในอัล-กุรอานที่ว่า
" และบุคคลใดประพฤติดีงามต่างๆ ไม่ว่าเป็นชายหรือหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา แน่นอนเขาเหล่านั้นจะได้เข้าสวนสวรรค์และพวกเขาจะไม่ถูกอธรรมเลยแม้เท่ารูเล็กๆ ที่อยู่บนหลังเมล็ดอินทผาลัม" (อัลกุรอาน อันนีสาอ (4):49)
ในเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างสตรีมุสลิมและบุรุษก็เป็นสิ่งที่ท่านนบี มุฮัมหมัด ศ็อล ฯ ได้เคยกล่าวไว้เช่นเดียวกัน ความว่า " แท้จริงสตรีนั้นเป็นพี่น้องของเพศชาย" (หะดีษ รายงานโดย อะหฺมัด และอาบูดาวูด). ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า บทบาทและหน้าของสตรีมุสลิมก็มีเท่าเทียมกันกับบุรุษ โดยเฉพาะหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในทางการเมืองก็เช่นเดียวกันสตรีมุสลิมก็สามารถเข้าไปมีบทบาททางการเมือง เพื่อเป็นการช่วยเหลือหรือพัฒนาสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้เช่นกัน
แต่ว่าตามหลักการทางศาสนานั้น สตรีมุสลิมไม่สามารถที่จะขึ้นเป็นผู้นำในการปกครองได้ (เคาะลีฟะฮ์) ซึ่งคำว่าเคาะลีฟะฮ์ มาจากคำว่า "เคาะละฟะ" แปลว่า การสืบแทนผู้อื่น ซึ่งหน้าที่ของเคาะลีฟะฮ์ คือเป็นผู้นำหรือประมุขของรัฐอิสลาม ซึ่งทำหน้าที่สืบต่อจากท่านนบีมุฮัมหมัด ศ็อล ฯและจะต้องนำประชาชาติอิสลามให้ดำรงตนอยู่ภายใต้กฎชารีอะฮ์ ตามที่ได้ระบุไว้ในอัล-กุรอาน
คุณสมบัติของเคาะลีฟะฮ์
1. ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทางศาสนา และปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่มุสลิม
2. ต้องเป็นผู้ที่มีความยุติธรรม
3. ต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะนำพามุสลิมให้ปฏิบัติตามกฎชารีอะฮ์ และปกป้องไม่ให้เกิดความแตกแยกและสงครามแก่ชาวมุสลิม
4. ต้องเป็นผู้ที่มีสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
5. ต้องเป็นบุรุษเท่านั้น เพราะว่าสตรีจะมีปัญหาในเรื่องของอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย รวมทั้งความเข้มแข็งของร่างกาย ทำให้ไม่เหมาะแก่การปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญ เช่นไม่สามารถเป็นผู้นำในสงคราม หรือเป็นอิหม่ามนำในการละหมาดได้ (วิโรจน์ นาคชาตรี : 2547, น.113)
ซึ่งตามทรรศนะอิสลามแล้ว หน้าที่ของผู้นำ อัลลอฮ์ ซุปห์ฯ ได้ทรงเลือกให้ผู้ชายเป็นผู้ที่มีสิทธิทางด้านนี้ "บรรดาผู้ศรัทธาที่ยอมรับว่าผู้ชายเท่านั้น ที่มีหน้าที่ขึ้นคุตบะฮ์ ผู้ชายเท่านั้นที่มีหน้าที่เป็นอิหม่ามนำประชาชนละหมาด โปรดยอมรับเถิดว่าหน้าที่ผู้นำนั้น อัลลอฮ์ ซุปห์ฯ ก็ทรงมอบมันให้แก่ผู้ชายเช่นกัน". แต่อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งอิสลามก็มอบหน้าที่ให้กับผู้นำที่เป็นสตรีได้ เช่นการเป็นผู้นำในกลุ่มของสตรี หรือกลุ่มอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงเช่นนี้ (คู่มือเลือกตั้งฉบับผู้ศรัทธา โดยชาวต้นไม้, น.12-13)
สรุป
จากที่ได้ศึกษาถึงหน้าที่ความเป็นพลเมืองตามทรรศนะอิสลามข้างต้น พบว่ามีประเด็นที่ต้องได้รับพิจารณาอยู่ด้วยกัน
2 ประการที่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับแนวคิดความเป็นพลเมืองที่ถูกต้องตามหลักการทางศาสนาอิสลาม
และสอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน แต่สิ่งที่จำเป็นและต้องมีการพิจารณาควบคู่กันไปก็คือ
หลักศรัทธาและหลักปฏิบัติที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวความเป็นอิสลามของชาวมุสลิมอย่างที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
ประเด็นแรก ที่ต้องพิจารณาก็คือ ในเรื่องของความเป็นพลเมืองตามทรรศนะอิสลาม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความซื่อสัตย์ ความขยันหมั่นเพียร ความอดทนอดกลั้น การประหยัดอดออม ฯลฯ เป็นสิ่งที่มุสลิมสามารถ
ปฏิบัติได้ในทุกสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้มีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย และยังเป็นการปฏิบัติตัวที่สอดคล้องกับหลักการทางศาสนาเช่นกัน
แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ เรื่องของการเมืองการปกครอง เพราะอิสลามได้มีบทบัญญัติในเรื่องของรูปแบบการเมืองการปกครองอย่างชัดเจน และถือว่าเป็นแนวทางที่ อัลลอฮ์ ซุปห์ฯ ได้ทรงประทานลงมาให้แก่มนุษย์และเป็นสิ่งที่เที่ยงธรรมและเที่ยงแท้ โดยที่ไม่มีมนุษย์คนใดที่จะสามารถ
บัญญัติรูปแบบการปกครองได้อย่างเสมอเหมือน ดังนั้น ในประเด็นเรื่องการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการพิจารณา และสร้างความเข้าใจระหว่างชาวมุสลิมและคนต่างศาสนาให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ประเด็นที่สอง เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรกในเรื่องของหลักการทางการเมืองของอิสลาม จากที่ได้อธิบายถึงหลักในการแบ่งดินแดนอิสลามของนักวิชาการมุสลิมไว้ข้างต้น ทำให้เห็นภาพของความยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นระหว่างโลกอิสลามและโลกที่ไม่ใช่อิสลาม (ดินแดนพันธะสัญญา) ที่จะส่งผลต่อแนวคิดในเรื่องของการนำรูปแบบการปกครองมาปรับใช้ให้เกิดขึ้นจริง เพราะในหลายพื้นที่ทั่วโลกมีชาวมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ มากมาย หรือแม้กระทั่งประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นผู้ปกครอง ซึ่งประเทศต่างๆ เหล่านั้นบางประเทศก็ไม่ได้นำรูปแบบการปกครองตามหลักการทางศาสนาอิสลามมาใช้ หรือว่าบางประเทศนำมาใช้แต่ยังใช้ไม่สมบูรณ์ตามหลักการทางศาสนา
ในโลกที่มุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย และมุสลิมไม่สามารถที่จะเลือกกฎหมายอื่นมาใช้ปกครองตนเองได้ ดังนั้นในกรณีที่มุสลิมไม่มีสิทธิ์เลือกระบอบการปกครองเป็นของตนเอง กรณีนี้ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย (ฎ่อรูเราะฮ์) ที่ศาสนาอนุโลม เช่นมุสลิมซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย มุสลิมก็สามารถที่จะปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองตามความเหมาะสม ตราบที่กฎหมายดังกล่าวไม่ขัดต่อบัญญัติอิสลาม นอกจากนั้น ชาวมุสลิมสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ต่อเมื่อมีความมุ่งมั่นในการเลือกบุคคลที่มีอุดมการณ์อันเข้มแข็งต่อสังคมมุสลิม และไม่ใช้สิทธิของตนในการเลือกผู้ที่ไม่หวังดีต่ออิสลามและมุสลิม หรือขายเสียงของตนให้กับบุคคลหรือพรรคที่มีนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมุสลิม (คู่มือเลือกตั้งฉบับผู้ศรัทธา โดยชาวต้นไม้, น.7-13)
ดังนั้นสิ่งที่ต้องสนับสนุนเป็นสิ่งแรกก็คือ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามแนวทางที่เป็นไปได้เพราะตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในโลก เป็นกรณีให้ศึกษา รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้รู้และนักวิชาการทางศาสนาร่วมกันหาขอยุติและแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในทุกๆ ฝ่าย และยังเป็นการดึงให้ชาวมุสลิมเข้ามาสู่กระบวนการทางการเมืองอย่างเข้าใจถูกต้อง เพื่อลดความขัดแย้ง เพราะวิถีทางการเมืองที่เปิดกว้างในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และการกระทำเพื่อพัฒนาสังคมชุมชน และธำรงไว้ซึ่งความถูกต้องดีงามตามหลักการทางศาสนา
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ย้อนกลับไปทบทวนเรื่องเดียวกัน
ภาค ๒
คลิกไปอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกันนี้
ตอนที่ ๑
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บรรณานุกรม
- คณะผู้จัดทำวารสาร (2543).
ประเด็นที่น่ารู้เกี่ยวกับการชำระซะกาด และการประกอบธุรกิจ. กรุงเทพมหานคร :
จัดพิมพ์โดย สายสัมพันธ์
- คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 206/2549 เรื่อง นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้.
เอกสาร(ฉบับร่าง) ข้อเสนอของ
คณะอนุกรรมการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ในคณะกรรมการ กอส.
- คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 187/2546 เรื่อง นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารนโยบายความมั่นคงแห่งชาติฯฉบับปัจจุบัน ปี พ.ศ.2542-2546.
- เชค อับดุลลอฮ์ นาศิห์อุลวาน
แปลโดย ญุนดีย์ บินฮาซัน (). อิสลามกฎหมายที่แท้จริงเพื่อมนุษย์ชาติ. ปัตตานี
: โรงพิมพ์มิตรภาพ
- ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร อ้างในอนุชาติ พวงสำลี (2543). พลเมืองไทย ณ จุดเปลี่ยนศตวรรษ.
กรุงเทพมหานคร : สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม
- ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, รัฐ-ชาติกับ (ความไร้)ระเบียบโลกชุดใหม่, (กรุงเทพ:
สำนักพิมพ์วิภาษา, 2549).
- ธงชัย วินิจจะกูล "ประวัติศาสตร์การสร้างตัวตน" ใน สมบัติ จันทรวงศ์ และชัยวัฒน์ สถาอานันท์ บรรณาธิการ อยู่เมืองไทย: รวมบทความทางสังคมเพื่อเป็นเกียรติแด่ ศ. เสน่ห์ จามริก ในโอกาสอายุครบรอบ 60 ปี (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2530).
- ปริญญา ประหยัดทรัพย์
(ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์). ความโปร่งใสในอิสลาม. กรุงเทพมหานคร :ศูนย์หนังสือ
- ฟัตฮีย์ ยะกัน แปลโดย นัศรุลลอฮฺ ต็อยยิบ (2544). อะไรคือความหมายการเป็นมุสลิมของฉัน?
(ภาคที่1). สงขลา : สำนักพิมพ์ อัร-ริซาละห์
- มานพ วงศ์เสงี่ยม. ฝ่ายวิชาการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (2547). การตอบท่านจุฬาราชมนตรี นายประเสริฐ มะหะหมัด เกี่ยวกับปัญหาการปฏิบัติในศาสนาอิสลาม ฉบับปรับปรุง. กรุงเทพมหานคร : สนับสนุนการจัดพิมพ์โดย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
- มุศเฏาะฟา มุฮัมหมัด
อัฏ-เฏาะฮาน แปลโดย นัศรุลลอฮฺ ต็อยยิบ (2545). มุสลิมยุคใหม่ควรมีบุคลิกภาพอย่างไร?
เล่มที่1. สงขลา : สำนักพิมพ์ อัร-ริซาละห์
- วิโรจน์ นาคชาตรี (2547). ปรัชญาอิสลาม. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ศอดิกิน อับดุลบารีย์ (2545).เลือกทางเดินให้ชีวิต.พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพมหานคร:
เชาวาล 1422
- เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (2548). การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตย.กรุงเทพมหานคร
: สำนักพิมพ์อมรินทร์
- สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ (2542). การเมืองแนวความคิดและการพัฒนา.กรุงเทพมหานคร :
สำนักพิมพ์เสมาธรรม สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ : 2547
- สุริชัย หวันแก้ว, คนชายขอบ จากความคิดสู่ความเป็นจริง, กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
2550, หน้า 11.
- อบุล อลา เมาดูดี แปลโดย บรรจง บินกาซัน (2542). ระบอบชีวิตอิสลาม. พิมพ์ครั้งที่
3. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อัล อะมีน
- อับดุลลอฮฺ นาศิห์ อุลวาน : เขียน นัศรุลลอฮฺ ต็อยยิบ (แปล) (2547). จนกว่าเยาวชนมุสลิมจะสำนึก.สงขลา:
สำนักพิมพ์ อัร-ริซาละห์
- อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, อัตลักษณ์ Identity การทบทวนทฤษฎีและกรอบแนวคิด, คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาสังคมวิทยา,
2548
บรรณานุกรมภาษาอังกฤษ
- Agar, Michael, and Heather Schacht Reisinger. (2001). "Open Marginality: Heroin Epidemics in Different Groups." Journal of Drug Issues 31 (3) : 729-746
- Benedict Anderson, Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism, Lon Don New York: Verso, 1983.
- Douglas Kellner, Globalization,
Terrorism, Democracy: 9/11 and Its Aftermath
http//:www.gseis.ucla.edu/faculty.kellner p. 6
- Frances Fox Piven and Richard A. Cloward, Regulating the Poor: The Functions of Public Welfare, New York: Vintage Books, 1993.
- Gilles Kepel, Jihad: The Trail of Political Islam, Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press, 2002.
- Mary Kaldor, New&Old Wars: Organized Violence in Global Era, (Standford, California: Standford University Press, 2007).
- Neil J. Kressel, Mass Hate The Global Rise of Genocite and Terror, Westview, 2002
- "Towards a Postcolonial Modernity AsiaSource Interview with Partha Chatterjee" founding member of the subaltern studies editorial collective www.asiasource.org และ www.cultureandpublicaction.org
- Wing Leung, 1995, Survival of the Marginal Person from a City in Transition: Resolution of the Hong Kong Mentality in Films set in America, Sync vol. 1 number 2 อ้างใน Wikipedia
- Wikipedia the free encyclopedia, "Jean Baudrillard"
บรรณานุกรมอิเลคทรอนิค
1. โครงการศูนย์สารสนเทศอิสลามและอิสลามศึกษา ตามยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยความร่วมมือของจังหวัดปัตตานี และวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. สตรีในอิสลาม [Online], Available http://www.fathoni.com/lesson3/satri/sotri3.htm
2. โครงการศูนย์สารสนเทศอิสลามและอิสลามศึกษา
ตามยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยความร่วมมือของจังหวัดปัตตานี และ
วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี. อิสลามและเศรษฐศาสตร์
[Online], Available http://
www.fathoni.com/lesson3/iseco/ is02_ 2.html
3. โครงการศูนย์สารสนเทศอิสลามและอิสลามศึกษา
ตามยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยความร่วมมือของจังหวัดปัตตานีวิทยาลัยอิสลามศึกษา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยา เขตปัตตานี (2549).เศรษฐศาสตร์อิสลาม [Online],
Available
http://www.fathoni.com/lesson3/iseco/is03 _1.html
4. เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
(2548). จากประชาธิปไตยสู่อิสลาม [Online], Available
http://www.islaminthailand.com/text.php?id=165 [15 พ.ย. 48]
5. เชค ริฏอ อะหมัด สมะดี (2549).เริ่มต้นด้วยอิสลาม :-> การเลือกตั้งผู้นำมุสลิมตามระบอบอิสลาม [Online], Available http://www.pinonlines.com/news/view00.php?newsno=0028135 [31 ม.ค. 49]
6. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา
(2549). ความเข้าใจระหว่างศาสนาคือแนวทางในการดับไฟใต้ [Online], Available
http://www.tjanews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&lang=&id=
739&Itemid=57 [30 มี.ค. 2549]
7. อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์
ดินอะ (2549). คู่มือเลือกตั้งสำหรับมุสลิมในสังคมประชาธิปไตย [Online], Available
http://www.tjanews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&lang=&id=
743&Itemid=57 [1 เม.ย. 2549]
8. อับดุล ราชิด โมเต็น
(แปลและเรียบเรียงโดย : นิพนธ์ โซะเฮง และปริญญา นวลเปียน) (2548) .หลักอิสลาม
กับประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในนัยยะการพัฒนาประสบการณ์และความคาดหวังจากโลกมุสลิม
[Online],Available http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2545/document9650.html
[8 พ.ค. 2548]
การสัมภาษณ์
1. การสัมภาษณ์ ดร. มะรอนิง สาแลมิง. การแบ่งสังคมตามทรรศนะอิสลาม ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี
2. การสัมภาษณ์ คุณปัญญศักย์ โสภณวสุ. การปกครองตามหลักการศาสนาอิสลาม
3. สัมภาษณ์ครูสอนศาสนา (อุสตาซ) โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการประกาศนียบัตรภาคบัณฑิตของคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยา เขตปัตตานี.ความเป็นพลเมืองตามทรรศนะอิสลาม
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com