บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทุกชิ้นที่เผยแพร่ เป็นสมบัติสาธารณะ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ ภายใต้นโยบายลิขซ้าย (copyleft) เพื่อสังคมไทย



สำหรับผู้สนใจส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ความยาวไม่น้อยกว่า ๑๐ หน้ากระดาษ กรุณาส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
นักศึกษาและผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่แบนเนอร์ข้างบนนี้
อุดมศึกษาทางเลือก สำหรับผู้เรียนรู้ด้วยตัวเอง
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014

Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licen
e document, but changing
it is not allowed. - Editor
อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๙๗ เผยแพร่วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ : date 2 March 2008
ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี รวมบทความทั้งหมดจำหน่ายเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการดำเนินงานเว็บไซต์ หากสนใจสั่งซื้อได้ที่อีเมล์ midnightuniv(at)gmail.com
H

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
ค้นหาบทความโดยคลิกที่แบนเนอร์และใส่คำค้นที่สำคัญ



02-03-2551 (1497)

การเมืองแห่งอัตลักษณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องต้องรู้ของรัฐไทยในการแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้ (ตอนที่ ๑)
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะ
ดุษณ์ดาว เลิศพิพัฒน์, อารีลักษณ์ พูลทรัพย์,สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

งานศึกษาต่อไปนี้เคยเผยแพร่แล้วในรูป pdf ที่ www.polsci.tu.ac.th/polsci2550/srisompop.pdf
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำมาเผยแพร่ต่อบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเพื่อเป็นวิทยาทาน เดิมชื่อ
การเมืองชายขอบกับการใช้ความรุนแรง และการเมืองแห่งอัตลักษณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยงานศึกษานมุ่งชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ปัจจุบัน
ได้กลายรูปเป็นการเมืองแห่งอัตลักษณ์แบบใหม่(new identity politics)
ที่เน้นย้ำการสร้างความเป็นเราและเป็นอื่นอย่างเข้มข้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ซึ่งทำให้เกิดการสร้างวาทกรรมและปฏิบัติการทางวาทกรรมที่ซับซ้อนและรุนแรง
สาระสำคัญของงานศึกษานี้ ประกอบด้วย
1. แนวความคิดและสมมุติฐานเรื่องการเมืองชายขอบ
2. แนวความคิดและสมมุติฐานเรื่องการเมืองแห่งอัตลักษณ์
3. เรื่องของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศาสนา กับอำนาจการทำสงครามแบบใหม่
4. ตัวแบบการสร้างความสมานฉันท์ ขจัดความไม่ไว้วางใจ ขจัดอคติและความเกลียดชัง
5. ตัวแบบการสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองตามทรรศนะอิสลาม
(หมายเหตุ: เนื่องจากงานศึกษานี้มีความยาวพอสมควร จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ภาค)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๙๗
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การเมืองแห่งอัตลักษณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องต้องรู้ของรัฐไทยในการแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้ (ตอนที่ ๑)
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะ
ดุษณ์ดาว เลิศพิพัฒน์, อารีลักษณ์ พูลทรัพย์,สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

บทนำ
การต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์เป็นลักษณะทั่วไปของการเมืองในโลกยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันที่นำไปสู่ประเด็นปัญหาการเมือง การก่อความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่างๆ ในท่ามกลางการต่อสู้อันซับซ้อนเหล่านี้ ตัวแสดงบทที่สำคัญก็คือ การต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนาในพื้นที่ และกลุ่มคนชายขอบที่อัตลักษณ์ของตนเองถูกปิดกั้น กีดกัน และถูกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกแห่งโลกาภิวัตน์ ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารมีความก้าวหน้ามากขึ้น เห็นได้ชัดว่าอัตลักษณ์เป็นเรื่องการสร้างความเป็นจริงหรือ "ความจริงเสมือน" ในสังคมการเมืองที่มีพลวัตรเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา. ถ้าจะเทียบกับปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของความเป็นจริงที่แสดงตัวออกมาในหลากหลายมิติ (multiple realization) และได้ขยายตัวออกไปเป็นเรื่องของการสร้างวาทกรรมทางการเมือง การสร้างสัญลักษณ์และความหมายเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ในหลากหลายรูปแบบ

การศึกษาในครั้งนี้มุ่งจะชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวในปัจจุบันได้กลายรูปเป็นการเมืองแห่งอัตลักษณ์แบบใหม่(new identity politics) ที่เน้นย้ำการสร้างความเป็นเราและเป็นอื่นอย่างเข้มข้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งทำให้เกิดการสร้างวาทกรรมและปฏิบัติการทางวาทกรรมที่ซับซ้อนและรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีประวัติศาสตร์ทางการเมืองไม่ลงตัว ในที่ซึ่งสังคมและรัฐมีการจัดการทางสถาบันที่ขาดตกบกพร่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นดินแดนชายขอบและมีคนชายขอบอยู่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ

นอกจากนี้ การศึกษาครั้งนี้ยังต้องการแสดงให้เห็นทั้งในทางทฤษฎีและการปฏิบัติว่า การสร้างอัตลักษณ์ที่รุนแรง
ที่แท้แล้วเป็นผลมาจากปรากฏการณ์สองด้านของโลกาภิวัตน์

- ในด้านหนึ่ง การที่อัตลักษณ์เฉพาะของคนบางกลุ่ม ถูกกดทับ ถูกปิดกั้น และบิดเบือนจากการพัฒนาโลกาภิวัตน์ในกระแสหลักทำให้เกิดกระบวนการทำให้เป็นคนชายขอบ (marginalization) อันต่อเนื่องยาวนาน ผลที่ตามมาก็คือ การต่อต้านโดยใช้ความรุนแรง และรูปแบบใหม่ของการใช้ความรุนแรงได้แผ่กระจายไปทั่วโลก. เหตุการณ์ 9 กันยายนที่สหรัฐอเมริกา สะท้อนให้เห็นความรุนแรงของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ในแบบนี้ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การใช้ความรุนแรงกลายเป็นเครื่องมือการระดมทางการเมือง (political mobilization) การสร้างความหวาดกลัวและความเกลียดชังเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการระดมทางการเมืองดังกล่าว นี่คือการต่อสู้ทางการเมืองของคนชายขอบที่กลายเป็นสงครามอัตลักษณ์แบบใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญในการสร้างองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน

- แต่ในอีกด้านหนึ่ง การวิจัยครั้งนี้ก็ต้องการแสดงให้เห็นว่า การต่อต้านการพัฒนาในกระแสโลกาภิวัตน์ดังกล่าว ที่แท้แล้วก็คือกระแสโลกาภิวัตน์อีกแบบหนึ่งนั่นเอง แต่เป็นโลกาภิวัตน์จากฐานล่าง (globalization from below) เป็น "อุบัติการณ์อันสมบูรณ์แบบ" ซึ่งเป็นชัยชนะของโลกาภิวัตน์ในการสู้รบกับตัวเอง.

เหตุผลสำคัญที่การเมืองชายขอบกลายเป็นประเด็นการศึกษารัฐศาสตร์เพราะการเมืองแบบดังกล่าวมีผลกระทบต่อวิธีคิดในเรื่องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในระบอบการเมือง การต่อสู้อย่างรุนแรงและการใช้ความรุนแรง ทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายต่อต้านรัฐ ทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การเมืองอัตลักษณ์แบบใหม่ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่มีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกและความขัดแย้งในทางการเมืองโดยเฉพาะประเด็นเรื่องศาสนาและชาติพันธุ์ การศึกษาในเรื่องการเมืองชายขอบจึงมีผลกระทบอย่างมากต่อประเด็นสิทธิเสรีภาพ การใช้ความรุนแรงเพื่อยืนยันอัตลักษณ์มีผลกระทบต่อชีวิต รวมทั้งความคิด ความรู้สึกของผู้คนในสังคมเป็นอันมาก

ในท้ายที่สุด การเมืองแห่งอัตลักษณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเด็นปัญหาเรื่องอำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มคนในสังคม ซึ่งการจัดการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความรับรู้ในเรื่องรัฐ โครงสร้างอำนาจ และการจัดการของรัฐในสังคมประชาธิปไตยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม. แนวทางการศึกษาในครั้งนี้จะใช้การวิเคราะห์สังเคราะห์จากแหล่งข้อมูลและเอกสารการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองชายขอบ การเมืองแห่งอัตลักษณ์ นอกจากนี้จะมีการประมวลผลจากการวิจัยเชิงประจักษ์ล่าสุด จากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสังเคราะห์ในทางทฤษฎีและยกระดับของความเป็นนามธรรมให้สูงขึ้น เพื่อหาตัวแบบใหม่ในการแก้ไขปัญหาจากองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

หัวข้อการศึกษาประกอบด้วย

1. แนวความคิดและสมมุติฐานเรื่องการเมืองชายขอบ
2. แนวความคิดและสมมุติฐานเรื่องการเมืองแห่งอัตลักษณ์
3. เรื่องของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศาสนา กับอำนาจการทำสงครามแบบใหม่
4. ตัวแบบการสร้างความสมานฉันท์ ขจัดความไม่ไว้วางใจ ขจัดอคติและความเกลียดชัง
5. ตัวแบบการสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองตามทรรศนะอิสลาม

1. แนวความคิดและข้อสมมุติฐานเรื่องการเมืองชายขอบ
ความเป็นชายขอบหมายถึง กลุ่มซึ่งในนิยามทางสังคมวิทยาเป็น "กลุ่มที่ยังไม่ถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มใหญ่อย่างสมบูรณ์ กลุ่มที่ละทิ้งวัฒนธรรมเดิมของตนไปบางส่วน และยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างสมบูรณ์ในวัฒนธรรมใหม่ที่กลายเป็นวิถีชีวิตของตน..."(1)

(1) อ้างใน สุริชัย หวันแก้ว, คนชายขอบจากความคิดสู่ความเป็นจริง, กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550, หน้า 11.

คำนิยามในที่นี้ยังเกี่ยวกับ "กระบวนการทำให้เป็นชายขอบ" ซึ่งเป็นกระบวนการที่บุคคลถูกปฏิเสธหนทางที่จะเข้าถึงการได้รับตำแหน่งสำคัญ และเป็นสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจ ศาสนา อำนาจทางการเมืองในสังคม การที่เราเข้าใจกลุ่มชายขอบก็เพื่อที่จะเข้าใจว่า สังคมนั้นกำหนดหรือนิยามความเป็นพิเศษของสังคมตนอย่างไร และถูกกำหนดในแง่มุมเทียบเคียงกับกลุ่มอื่นๆ อย่างไร รวมทั้งจะได้เข้าใจต่อไปว่า ค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เป็นหลักหรือแกนกลางของสังคมนั้นคืออะไร

แนวคิดในการศึกษาคนชายขอบ ให้ความสำคัญต่อการค้นหาประสบการณ์และกระบวนการทำให้ผู้คนเหล่านี้กลายเป็นคนชายขอบหรือ marginalization ประเด็นที่สำคัญก็คือการศึกษาวิธีการที่ทำให้กลายเป็นชายขอบนั้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนชายขอบกับระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมถูกเปิดเผย ซึ่งก็ย่อมหมายความถึงการเผยให้เห็นถึงโครงสร้างอำนาจที่สำคัญๆ ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับเหนือชาติ

เมื่อมีการเผยให้เห็นโครงสร้างอำนาจดังกล่าว เราก็จะพบว่า ชุมชนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชน ชนเผ่า ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ หรือภาคส่วนของสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ต่างดำรงอยู่ในบริบทความสัมพันธ์กับชุมชนรอบข้างและระบบสังคมวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่า โดยมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เป็นตัวกำหนด ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม ความเป็นชายขอบในมุมมองของนักวิเคราะห์สังคมศาสตร์ในยุคหลังสมัยใหม่ จึงหมายถึงคนที่ด้อยอำนาจ คนที่ตกเป็นเบี้ยล่างของคนกลุ่มใหญ่ และคนยากไร้. เมื่อคนเหล่านี้ตกเป็นคนกลุ่มน้อย ชาติพันธุ์ส่วนน้อย เพศด้อยและไม่มีตำแหน่งแหล่งที่ในสังคมก็จะมีสถานะเป็นคนอื่น (the others) ทำให้พวกเขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกีดกันอย่างทวีคูณซ้ำแล้วซ้ำเล่า (multiple exclusions) (2)

(2) สุริชัย หวันแก้ว, เพิ่งอ้าง, หน้า 18


เมื่อนิยามถึงจุดนี้ จะเห็นได้ว่ากระบวนการทำให้คนบางกลุ่มกลายเป็นคนชายขอบ เป็นแนวคิดที่ท้าทายการศึกษาเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ หรือชนกลุ่มน้อย ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังจะเห็นได้จาก Wikipedia นิยามคำว่า Marginalisation ว่าหมายความถึง ความโน้มเอียงทั้งที่เปิดเผยและซ่อนเร้นภายในสังคมต่างๆ ซึ่งคนที่ถูกมองว่าขาดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ หรือเบี่ยงเบนออกจากมาตรฐานทางสังคมของกลุ่มใหญ่ มักจะถูกกีดกันเบียดขับออกจากสังคมส่วนใหญ่ หรือถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นพวกไม่น่าพึงปรารถนา(undesirables). Wing Leung อธิบายว่า "คนชายขอบ" คือคนที่ไม่เป็นส่วนหนึ่งสังคม อาศัยอยู่ตรงชายขอบของสองวัฒนธรรม มีความคิดความรู้สึกแบบชายขอบ อันเป็นผลมาจากวิกฤติเอกลักษณ์ที่แก้ไม่ตก (3)

(3) Wing Leung, 1995, Survival of the Marginal Person from a City in Transition: Resolution of the Hong Kong Mentality in Films set in America, Sync vol. 1 number 2 อ้างใน Wikipedia

คำอธิบายนี้ ถูกขยายความให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อเรามาพิจารณาดูที่คนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่ถูกแยกออกจากสังคมกลุ่มอื่นๆ เพราะลักษณะทางกายภาพหรือวัฒนธรรม พวกเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไม่เท่าเทียมกับคนอื่น ถูกปฏิบัติอย่างไม่เสมอภาคกัน และรู้สึกว่าตนเองเป็นวัตถุแห่งการกีดกันแบ่งแยกแบบรวมหมู่ (collective discrimination) นี่คือเนื้อหาสาระที่สำคัญของคำว่า marginalization ในสังคมประเทศพัฒนาแล้ว คนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติ เป็นกลุ่มที่มักถูกกีดกันเป็นคนชายขอบ ซึ่งในที่นี้อาจจะรวมไปถึงคนยากจน คนแก่ คนป่วย คนพิการ คนอ้วน แม่หม้ายในกลุ่มวัยรุ่น และคนกลุ่มรักร่วมเพศ พวกนี้มักจะถูกทำร้ายจากการทำให้เป็นชายขอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และประสบปัญหาการป่วยทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากความยากจน การว่างงาน การด้อยการศึกษา และสุขภาพเสีย

การปฏิรูปทางสังคมที่เกิดขึ้นในคริสตศตวรรษที่สิบเก้าและยี่สิบที่ผ่านมา ก็มักจะถูกผลักดันจากความจำเป็นของสังคมที่ต้องการจะบรรเทาความรุนแรงและความเสียหาย ที่เกิดจากการประท้วงหรือการลุกขึ้นสู้ของคนกลุ่มนี้ ด้วยการพลิกกลับความโน้มเอียงที่ไม่เป็นธรรมทางการเมืองและทางสังคมที่ทำให้เกิดการเป็นคนชายขอบ ของคนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ และผู้ด้อยโอกาสทางการเมือง รวมทั้งกลุ่มสตรี (4)

(4) ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ระบบรัฐสวัสดิการเกิดจากการต่อสู้และลุกขึ้นสู้ของคนจนในเมือง และคนผิวดำ จนเกิดภาวะความไร้ระเบียบของสังคม (civil disorder) อย่างรุนแรง ดูใน Frances Fox Piven and Richard A. Cloward, Regulating the Poor: The Functions of Public Welfare, New York: Vintage Books, 1993.

ในวิชาการสังคมศาสตร์ คนชายขอบคือผู้ที่อยู่กึ่งกลางหรือห่างไกลจากศูนย์กลางทั้งในทางภูมิศาสตร์และในทางวัฒนธรรม คนชายขอบมักจะเป็นกลุ่มคนที่ต้องเคลื่อนย้ายจากภูมิลำเนาดั้งเดิม ด้วยเหตุผลทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การตั้งถิ่นฐาน การประกอบอาชีพ หรือวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับการแก่งแย่งทรัพยากรอันมีอยู่อย่างจำกัด ถูกกีดกันและเอาเปรียบจากคนกลุ่มใหญ่. เมื่อมองในแง่วัฒนธรรม คนชายขอบจึงเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมสมัยใหม่ ประกอบไปด้วยวัฒนธรรมย่อยที่สังคมไม่ยอมรับ และต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด ตัวอย่างของคนชายขอบ ได้แก่ ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ ประชากรที่อาศัยอยู่ในสลัม ชาวนาชาวไร่ในชนบท โสเภณี แรงงานข้ามชาติ ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อมองว่ามีคนชายขอบ เราควรจะต้องมองภาพของศูนย์กลางด้วย ถ้าผู้ศึกษาใช้รัฐหรือชาติเป็นบริบทในการอ้างอิง ความเป็นชายขอบถือเป็นปรากฏการณ์กลุ่มแบบหนึ่ง ภายในชาติและรัฐหนึ่งๆ ซึ่งจะประกอบด้วยศูนย์กลางอำนาจ นั่นคือ รัฐบาล ระบบราชการ สถาบันทางวิชาการ และบรรษัทธุรกิจต่างๆ. ส่วนกลุ่มชายขอบ (marginal group) ก็เหมือนกับกลุ่มอื่นๆ ในสังคม คือต้องขึ้นต่ออำนาจเหล่านี้ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนชายขอบไม่เหมือนกับกลุ่มอื่นๆ ก็คือพวกเขาไม่มีใครเป็นตัวแทน ไม่มีอิทธิพล ไม่สามารถเข้าถึงหรือมีอยู่ แต่น้อยมาก ในความสัมพันธ์กับศูนย์อำนาจ. ส่วนคนกลุ่มที่สามารถมีตัวแทนหรือมีอิทธิพลต่อศูนย์ อำนาจได้ถูกเรียกว่า "กลุ่มที่เป็นกระแสหลัก (mainstream)" (5)

(5) 5 Agar, Michael, and Heather Schacht Reisinger. (2001). "Open Marginality: Heroin Epidemics in Different Groups." Journal of Drug Issues 31 (3) : 729-746


ปัจจัยที่ทำให้แบ่งคนเป็นกลุ่มได้ มิใช่ความสัมพันธ์ทางสังคม หรือเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม แต่เป็น "อัตลักษณ์ (identity)" ทางสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของ สีผิว ชาติพันธุ์ ความโน้มเอียงในทางเพศ ความเป็นผู้อพยพย้ายถิ่น ศาสนา ลักษณะอาชีพ ลีลาวิถีชีวิต และกลุ่มอายุ เป็นต้น. นอกจากนี้ ความเป็นอัตลักษณ์ที่ว่านี้ อาจจะเป็นในเชิงสัญลักษณ์ หรือในเชิงความหมาย หรืออาจจะเป็นสภาพความเป็นจริงก็ได้ (6)

(6) อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, อัตลักษณ์ Identity การทบทวนหฤษฎีและกรอบแนวคิด, คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา, 2548

การที่คนชายขอบถูกนำมาศึกษากันมากก็เพราะ ในหลายๆ สังคม ปัญหาของพวกเขาไม่ใช่เพียงแค่การสร้างอัตลักษณ์ในทางการเมืองและสังคม ที่จะต้องแก้ไขปัญหาด้วยนโยบายทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น. การแพร่ระบาดยาเสพติดบางชนิดก็จะกระจายไปตามกลุ่มเหล่านี้ด้วย ตัวอย่างเช่น ในช่วงทศวรรษที่ 1960 การแพร่ระบาดเฮโรอินเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มคนผิวดำ หรืออัฟริกันอเมริกัน ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่สำคัญในการแพร่ระบาดยาเสพติดของสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้น ในประเทศไทยการแพร่ระบาดฝิ่น ภายในกลุ่มชาวเขาทางภาคเหนือและบริเวณสามเหลี่ยมทองคำก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง (*)

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน ปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดเป็นจำนวนมากในชุมชนโดยเฉพาะในเยาวชนมุสลิม ทำให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่สำคัญที่มีปัญหายาเสพติดมากที่สุดของประเทศ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นความอ่อนแอของสังคมและชุมชน ในพื้นที่ที่ถูกละทิ้งและกีดกันในการพัฒนาเป็นเวลายาวนาน ปัญหาที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ความเป็นคนชายขอบในภาพลักษณ์นี้มีสหสัมพันธ์กับปัญหาที่มีความซับซ้อนทางสังคมด้านอื่นๆ ด้วย เช่น อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงทางการเมือง การก่อการร้าย การฆ่าตัวตาย การติดแอลกอฮอล์และสารเสพติดต่างๆ เพราะสภาพชีวิตของพวกเขาทำให้เกิดโรคที่เกิดจากความตึงเครียดและปัญหาทางจิตเวทได้ง่าย (7)

(7) โปรดสังเกตด้วยว่าการเกิดปัญหาทางสังคมที่กล่าวถึงนี้เป็นเพียง "สหสัมพันธ์" เท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อสรุปว่า การเป็นคนชายขอบจะทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวทั้งหมด มีคนชายขอบที่ไม่มีปัญหานี้อยู่ด้วยเช่นกัน และก็ไม่ใช่ความผิดของคนชายขอบที่จะทำให้เกิดปัญหา นักวิชาการควรมองปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งจะต้องมีการศึกษาต่อไป

2. แนวความคิดและสมมุติฐานเรื่องการเมืองแห่งอัตลักษณ์
จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้น ความเป็นชายขอบและการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์จึงมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก คำถามก็คือ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? เราอาจจะสืบค้นหาคำตอบจากแนวคิดอันเป็นที่มาของของคนชายขอบ ซึ่งมาจากสามสำนักคิดคือ

- แนวคิดสังคมวิทยาการพัฒนา (Sociology of Development)
- แนวคิดวัฒนธรรมศึกษา (Cultural Studies) และ
- แนวคิดประวัติศาสตร์สังคมที่ถูกกดทับไว้ (Subaltern Studies)

แนวคิดในสองสำนักแรกเน้นหนักที่ผลของการพัฒนาแบบตะวันตกของประเทศกำลังพัฒนา ผลของการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมที่มีต่อสังคม โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางชนชั้น เช่น ชนชั้นชาวนา และกรรมกรในเมือง ประเด็นที่เน้นก็คือการพัฒนาให้ทันสมัยและทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ ประเทศด้อยพัฒนา ที่ต้องไล่กวดให้ทันประเทศทุนนิยมตะวันตก ทำให้สังคมเปลี่ยนผ่านจากจารีตประเพณีไปสู่ภาวะทันสมัย ซึ่งทำให้เกิดทุนนิยมและตลาดเสรี รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ถูกมองว่ามีอคติ และถูกแทนที่ในช่วงปี 1960 ด้วยทฤษฎีการพึ่งพาแบบมาร์กซิสม์ แต่แนวคิดนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการมองการพัฒนาในแบบเรียบง่ายเกินไป ทำให้ทำได้เพียงแค่ย้อนรอยกลับจากแนวคิดเดิมเรื่องการพัฒนาเท่านั้น สิ่งที่ตามาก็คือทฤษฎีดังกล่าวมีลักษณะตัดตอน แตกกระจายเป็นส่วนเสี้ยวการพัฒนา จึงทำให้เกิดการเน้นที่เทคนิค การสะสมทุนและทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของประชากรในประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก การทำให้เกิดวัฒนธรรมการพัฒนาแบบสายเดี่ยวของตะวันตกทำให้เกิดสงครามกลางเมือง การทำลายทรัพยากรอย่างรุนแรง และทำให้เกิดภาวะหนี้สินของประเทศด้อยพัฒนา รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับ"วัฒนธรรมย่อย"ต่างๆ ทั้งในกลุ่มวัยรุ่น สตรี และชนชาติส่วนน้อย ผลที่ตามมาก็คือการด้อยพัฒนา และการทอดทิ้งคนบางกลุ่มให้อยู่ในภาวะคนชายขอบของสังคม

ประเด็นน่าสังเกตก็คือ ในวงการวิชาการทางสังคมวิทยาทุกวันนี้ มีสามแนวทางหลักในการศึกษาการพัฒนา ทั้งสามแนวทางให้ความสำคัญต่อสถาบันในฐานะที่เป็นทั้งพลังขับเคลื่อน หรือตัวอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย การเติบโตทางเศรษฐกิจ และสวัสดิการสังคม

แนวทางแรก เน้นความสำคัญต่อความได้เปรียบทางสถาบันในเชิงเปรียบเทียบ โดยให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ทางชนชั้น และบทบาทของรัฐในฐานะตัวแสดงหลักที่มีบทบาทอิสระในการกระบวนการพัฒนา

แนวทางที่สอง เน้นที่ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมในทุกระดับ ตั้งแต่รัฐชาติจนถึงท้องถิ่น สิ่งที่สำคัญก็คือโครงสร้างสถาบันทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อ หรือเป็นสื่อกลางการไหลเข้ามาของโลกาภิวัตน์ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น

แนวทางสุดท้าย ให้ความสำคัญต่อทุนทางสังคม และให้ความสำคัญต่อเครือข่ายทางสังคมในการสร้างผลกระทบและผลลัพธ์แห่งการพัฒนา

ข้อถกเถียงต่อแนวทางทั้งหมดนี้ก็คือ เราจะต้องทำให้การพัฒนาเป็นการขยายศักยภาพของบุคคลในการเลือกหนทางที่เหมาะสมของตนเอง มากกว่าจะคิดในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างเดียว ดังนั้น การพัฒนาจะต้องให้ความสนใจเป็นลำดับแรกต่อมิติทางสังคมและวัฒนธรรมของการมีชีวิตที่ดี และเสริมสร้างอำนาจของคนในการพัฒนาที่เกินไปกว่าหลักการผลประโยชน์ส่วนบุคคล (8)

(8) www.cultureandpublicaction.org เว็บไซต์นี้เป็นการนำเสนอความคิดเห็นต่างๆ ที่มาจากการประชุมทางวิชาการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2002 เพื่อประกอบกับหนังสือเรื่อง Culture and Public Action, edited by V. Rao and M. Walton, Stanford University Press, 2004. (South Asia edition published by Permanent Black, 2004)

การศึกษาเรื่องการถูกกดทับ (Subaltern Studies)
กล่าวในอีกแง่หนึ่ง ในกระบวนการพัฒนาศักยภาพของคนตามแนวทางนี้ ปัญหาคนชายขอบก็น่าจะถูกแก้ไขได้ด้วยนักวิชาการอีกกลุ่มที่ศึกษาเรื่องของคนชายขอบ โดยเฉพาะสำนักประวัติศาสตร์สังคมของกลุ่มที่ถูกกดทับไว้ หรือ Subaltern Studies Group (SSG) ซึ่งมาจากนักวิชาการชาวเอเชียใต้และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่สนใจการศึกษาในแนวหลังอาณานิคมหรือหลังยุคจักรวรรดินิยม. คำว่า Subaltern Studies หมายถึงแนวทางที่ศึกษาประวัติศาสตร์จากชนชั้นล่าง (history from below) ซึ่งสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับมวลชนในระดับพื้นฐานของสังคมมากกว่าประวัติศาสตร์ชนชั้นนำ คำว่า subaltern เชื่อกันว่ามาจากกงานของ Antonio Gramsci นักมารกซิสม์ชาวอิตาลีซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1881-1937 คำๆ นี้หมายถึงคนหรือกลุ่มที่มีฐานะสถานภาพต้อยต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ชนชั้น เพศ ความโน้มเอียงทางเพศ ชาติพันธุ์หรือศาสนา

แนวคิดทางวิชาการ เริ่มมาจากการสร้างคำอธิบายหรือเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์แบบใหม่ของอินเดียหรือเอเชียใต้ ตามแรงบันดาลใจทางทฤษฎีของ Gramsci ที่มาของคำอธิบายตามแนวนี้มาจากนักวิชาการชื่อ Ranajit Guha ซึ่งพยายามจะอธิบายพื้นฐานของการก่อความไม่สงบของชาวนาในอินเดีย แนวคิดนี้วิพากษ์บรรดามาร์กซิสม์แบบเก่าที่อธิบายว่า สังคมกึ่งศักดินาอินเดียถูกครอบครองโดยอังกฤษ จนเกิดการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น อันเป็นผลมาจากชนชั้นนำมีสำนึกทางการเมืองและปลุกเร้าให้มวลชนก่อกบฏ ลุกขึ้นสู้ต่อต้านอังกฤษ อันที่จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

คำอธิบายใหม่คือ การเคลื่อนไหวของคนชายขอบเป็นผลมาจากชนชั้นล่าง หรือจากตัวของมวลชนเอง ซึ่งทำให้พวกเขาเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม ดังนั้นพวกสำนักคิดนี้จึงให้ความสนใจกับวาทกรรมทางการเมืองของขบวนการทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ มากกว่าจะสนใจสิ่งที่เห็นได้ง่ายอย่างการชุมนุมเดินขบวนและการลุกขึ้นสู้

ในที่นี้ สิ่งที่สำนักคิดประวัติศาสตร์สังคมของกลุ่มที่ถูกกดทับไว้ (9) ค้นพบคือ การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ ซึ่งปรากฏขึ้นในอินเดีย และกลุ่มทางสังคมเหล่านี้พยายามใช้วิธีการใหม่หลายอย่างในการปลุกระดมพลังการเมือง เช่น ใช้วิธีการเลือกตั้งและวิธีการที่ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 1990 กลายเป็นการเมืองชาติพันธุ์แบบใหม่ของอินเดีย (new ethnography of politics) การเมืองแบบนี้คือ การเมืองของคนชายขอบซึ่งต่อสู้กันอย่างเปิดเผย มีการรวมตัวแบบจัดตั้ง และใช้ทั้งวิธีการทั้งในแบบที่ถูกกฎหมายและนอกกฎหมาย รวมทั้งการใช้ความรุนแรงในบางระดับ การต่อสู้ดังกล่าวเป็นการยืนยันสิทธิประชาธิปไตยในหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกัน ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ดังกล่าว รูปแบบของการจัดการทางการปกครอง(governance) ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างถึงรากด้วย (10)

(9) ดูรายละเอียดใน สุริชัย หวันแก้ว, อ้างแล้ว, หน้า 37-42

(10) "Towards a Postcolonial Modernity AsiaSource Interview with Partha Chatterjee" founding member of the subaltern studies editorial collective ดูใน www.asiasource.org

จากแนวคิดที่กล่าวข้างต้น การเมืองชายขอบจึงอาจเกิดขึ้นจากการไร้ซึ่งโอกาสในการพัฒนา การละทิ้งคนบางกลุ่มให้ด้อยโอกาส ทั้งในแง่พื้นที่การพัฒนา ในแง่ชนชั้นและกลุ่มชนชาติ เราเรียกลักษณะของการละทิ้งนี้ว่า "การกดทับทางการเมือง" ซึ่งจะแสดงให้เห็นในหลายรูปแบบทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการกีดกันกดทับในแง่ของประวัติศาสตร์. การจะเข้าใจการกดทับแบบนี้ได้ จำเป็นที่ต้องเข้าใจกระบวนการที่สำคัญอีกกระบวนการหนึ่ง ในการสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันของความเป็นชาติ ความเป็นชาติพันธุ์ที่เป็นหนึ่งเดียว การเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมและความเป็นประชาชาติ

ชุมชนในจินตนาการ" (imagined communities)
กระบวนการทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวเกิดจากการสร้าง "ชุมชนในจินตนาการ" (imagined communities) ขึ้นมาดังเช่นที่ Benedict Anderson อธิบายว่า ความเป็นชาติหรือชาตินิยม เป็น "สิ่งประดิษฐ์ในทางวัฒนธรรม" (cultural artifacts) ในรูปแบบพิเศษเฉพาะของตนเอง สำนึกเช่นว่าถูกสร้างให้เกิดขึ้นภายในห้วงเวลาของประวัติศาสตร์ ซึ่งความหมายของมันสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในห้วงเวลาที่ต่างกัน และในทุกวันนี้ชุมชนในจินตนาการก็ได้กลายเป็น "ความชอบธรรมในทางอารมณ์" ที่หยั่งลึกในแต่ละสังคม

Anderson ชี้ให้เห็นอย่างน่าสนใจว่า การสร้างสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า "ชาติ" นี้สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ในกระบวนการที่ทั้งอย่างเป็นไปเอง หรืออาจจะถูกบีบบังคับจากสภาพแวดล้อมในประวัติศาสตร์ กระบวนการดังกล่าวเกิดจากพลังในอดีตที่อาจจะแยกส่วนกัน แต่มาผสมผสานกันได้อย่างสลับซับซ้อน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันได้กลายเป็นชุดของความคิดสำเร็จรูปที่เป็นตัวแบบหนึ่งเดียว(modularity) ซึ่งสามารถนำไปปลูกฝังได้ทุกที่ทุกแห่ง ทำให้เกิดสำนึกแห่งตัวตนในสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ทางสังคมอันหลากหลายเพื่อผสมและถูกผสมให้เข้ากับชุดของอุดมการณ์ทางการเมืองอื่นๆ อันมีอยู่มากมาย ที่สำคัญก็คือ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ความสำนึกดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันกันอย่างลึกซึ้งของคนในสังคม(11)

(11) Benedict Anderson, Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism, Lon Don New York: Verso, 1983, p.. 4

สิ่งที่ตามมาจากการเป็นชุมชนในจินตนาการก็คือ ชุมชนแบบนี้ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันเป็นพี่น้องหรือเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งนำไปสู่การเสียสละชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมากเพื่อความเป็นชาติ คำถามก็คือ อะไรที่ทำให้ความสำนึกในจินตนาการของคนซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไม่นานนักในประวัติศาสตร์ นำไปสู่ความเสียสละมากมายถึงขนาดนั้น คำตอบอยู่ที่รากฐานทางวัฒนธรรมของสำนึกชาตินิยมดังกล่าวที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นเอง

แนวคิดเรื่อง imagined community แสดงให้เห็นว่า การเกิดขึ้นของชาตินิยมและอัตลักษณ์ที่กลายเป็นชุมชนในจินตนาการ เป็นกระบวนการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญในโลกยุคใหม่ จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงสำนึกในโลกแบบเก่ามาสู่แบบใหม่ อันเนื่องมาจากจากกระแสการเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางวัฒนธรรมสามชนิด

- ประการแรก คือ ความเปลี่ยนแปลงในการใช้ "ภาษา" ของตัวบทตามคัมภีร์ทางศาสนาเก่าแก่ ที่เป็นสิ่งบ่งบอกภาวะการดำรงอยู่ของโลกและชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ ดังเช่นใน ศาสนาคริสต์ อิสลาม และศาสนาอื่นๆ ในกระบวนการนี้ได้เกิดการสร้างภาษาของชาติซึ่งเป็นภาษาในทางโลกขึ้นจากระบบทุนนิยมและการพิมพ์

- ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงความเชื่อเดิมที่ว่าสังคมต้องขึ้นต่ออำนาจศูนย์กลางของระบบกษัตริย์ ซึ่งปกครองได้เพราะมีคุณสมบัติอันสูงส่งเหนือมนุษย์ และได้อำนาจมาจากพระเจ้า กษัตริย์ในแบบเก่าได้ความชอบธรรมมาจากพระเจ้า ไม่ใช่จากประชาชน อำนาจจึงอยู่ที่ศูนย์กลางโดยไม่มีพรมแดนที่ชัดเจนแน่นอน แต่ในแนวคิดใหม่ รัฐที่มีอำนาจอธิปไตยมีอำนาจและเขตแดนที่ชัดเจนบนพื้นฐานของประชาชน

- ประการที่สาม การเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องกาลเวลา ในกาลเวลาแบบเก่านั้นจักรวาลวิทยาและประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ โลกในยุคโบราณจึงไม่มีเวลาเทียบเคียงกันได้โดยแท้จริงในสถานที่ต่างกัน

การเปลี่ยนแปลงแนวคิดสามอย่างข้างต้น เกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ไม่สมดุล เริ่มจากยุโรปตะวันตกในคริสตศตวรรษที่ 18 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการสื่อสารที่มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้จักรวาลวิทยากับประวัติศาสตร์แยกจากกันได้ เมื่อแนวคิดดังกล่าวเปลี่ยนไป ทำให้มนุษย์ต้องหาหนทางใหม่ในการเชื่อมโยงความรู้สึกผูกพันแบบเป็นพี่น้อง การใช้อำนาจและกาลเวลาเข้าด้วยกัน ประกอบกับการพัฒนาของเทคนิคการพิมพ์ในระบบทุนนิยม ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ของคนจำนวนมากในการมองภาพลักษณ์ของตนเอง รวมทั้งแนวคิดในการเชื่อมโยงความเป็นตัวเองเองกับคนอื่นในความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้น (12)

(12) Anderson, Ibid, p. 36 ความคิดในเรื่อง "กาลเวลา" ที่เปลี่ยนไป เป็นเพราะในสมัยโบราณ มนุษย์ไม่มีมิติของเวลา "ในขณะเดียวกัน" หรือคำในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า "meanwhile" มีแต่กาลเวลาในสำนึกทางศาสนาที่เชื่อม อดีต ปัจจุบันและอนาคตเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น คนในศาสนาคริสต์มักจะมองว่าในขณะนี้ (แม้แต่คนในโลกยุคกลางของยุโรป) คนเราจะอยู่ในยุคใกล้จุดสุดท้ายของโลกตามคำทำนายของศาสนา

Anderson อธิบายว่า การเดินทางมาพบกันระหว่างระบบทุนนิยม เทคโนโลยีการพิมพ์ ในเงื่อนไขที่สังคมของยุโรปตะวันตก ระหว่างคริสตศตวรรษที่สิบแปด ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา ได้สร้างเงื่อนไขความเป็นไปได้ที่จะเกิดรูปแบบใหม่ของชุมชนในจินตนาการ ซึ่งเป็นขั้นแรกที่จะนำไปสู่ประชาชาติในยุคใหม่ ศักยภาพของการขยายตัวของชุมชนในจินตนาการดังกล่าวมีขีดจำกัด แต่ก็สอดคล้องกันอย่างบังเอิญกับเส้นเขตแดนทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น

ประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาในที่นี้ก็คือ คำอธิบายอันลึกซึ้งของ Anderson ทำให้เราเข้าใจอย่างชัดเจนว่า ในชุมชนดั้งเดิมก่อนการสร้างจินตนาการแบบรัฐประชาชาติและภาษาของชาติ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และภาษาท้องถิ่นโดยธรรมชาติอยู่แล้วในทุกหนแห่ง ในเวลาดังกล่าวมีแต่การใช้ภาษาของโลกทางศาสนาเท่านั้น ที่ทำให้เกิดสากลนิยมในภาษาทางศาสนา เช่น ภาษาลาติน ภาษาอาหรับ และภาษาจีนในคัมภีร์โบราณ เป็นต้น ในโลกแบบเก่าดังกล่าวคนหลายหลากสังคมจะมีความสัมพันธ์ร่วมกันโดยเข้าใจภาษากลางที่มีความขลัง แต่พวกเขาไม่จำเป็นจะต้องมีจินตนาการร่วมกันถึงความเป็นหนึ่งเดียว หรือไม่มีการเน้นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตนมากนัก

การปฏิวัติทางภาษาและการสร้างศัพท์เฉพาะของแต่ละภาษา (เช่นฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน ฯลฯ) ในยุโรปนับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่สิบหกเป็นต้นมา ทำให้เกิดภาษาเฉพาะท้องถิ่นและภาษาของชนชาติที่เป็นระบบและหลากหลาย กระบวนการเช่นนี้ เกิดขึ้นโดยผ่านการสร้าง "ภาษาของการพิมพ์" และการขยายตัวของทุนนิยม ในจุดนี้ การปฏิวัติทางภาษา(lexicographic revolution)ในยุโรป ทำให้เกิดความเชื่อที่แผ่ขยายออกไปในที่ต่างๆ ว่า ภาษาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะผู้ที่พูดภาษานั้น หรือผู้ที่อ่านภาษานั้นในชีวิตประจำวัน และจากจุดนี้ทำให้คนที่พูดและอ่านภาษาเดียวกันเกิดจินตนาการร่วมกัน คิดฝันถึงคนในชุมชนเดียวกัน เชื่อว่าตนมีสิทธิในการครอบครองพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอย่างเป็นเอกเทศ โดยมีฐานะที่เท่าเทียมกันอย่างภราดรภาพ (13)

(13) Anderson, Ibid., p. 84


ลัทธิชาตินิยมและชาตินิยมอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นตามมาอย่างหนีไม่พ้น ประวัติศาสตร์ของหลายประเทศชี้ให้เห็นว่า กระบวนการสร้างชุมชนในจินตนาการหรือสร้างสำนึกความเป็นชาติอย่างเป็นทางการ(official nationalism) ในตัวของมันเองกลับเป็นตัวแปรที่ก่อให้เกิดความเป็นชายขอบ (marginalization) เพราะการรับเอาความคิดชาตินิยมของคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นหลักในสังคมกลายเป็นการคุกคามต่อคนกลุ่มอื่นๆ ให้กลายเป็นคนชายขอบ

ลัทธิชาตินิยมในช่วงเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ไทย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของกระบวนการสร้างความเป็นชายขอบ ด้วยลัทธิชาตินิยมในช่วงเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ของไทยก็คือ การดำเนินการ"สร้างรัฐไทย" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยอาศัยตัวแบบการสร้างรัฐชาติที่เลียนแบบตัวแบบของรัฐในยุโรปที่สร้างชุมชนในจินตนาการ ชนชั้นนำไทยดูเหมือนจะถูกคุกคามจากแนวคิดที่แพร่หลายในเรื่องชุมชนในจินตนาการแบบยุโรป แต่ตัวแบบที่รัชกาลที่ 5 ศึกษาเพื่อเลียนแบบไม่ใช่รัฐอังกฤษและเยอรมันโดยตรง กลับเป็นรูปแบบรัฐอาณานิคมของดัทช์ในอีสอินดีส และตัวแบบอาณานิคมอังกฤษในมลายา และอินเดีย

ในกระบวนการนี้ พระองค์ท่านจึงมิได้สร้างกองทัพสมัยใหม่ที่เข้มแข็ง และระบบการศึกษาสมัยใหม่เต็มรูปเพื่อทำให้เกิดชาตินิยมอย่างเป็นทางการแบบญี่ปุ่นสมัยเมจิ ผลก็คือมีการสร้างระบบรัฐบาลกษัตริย์ที่รวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลาง ขจัดรูปแบบการปกครองกึ่งอิสระของประเทศราชอย่างรวดเร็ว และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจตามแบบรัฐอาณานิคม. การสร้างลัทธิชาตินิยมอย่างเป็นทางการ (official nationalism) เกิดขึ้นตามมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งก็คือการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติ การเขียนประวัติศาสตร์ของชาติขึ้นมาใหม่ การรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อของรัฐ และการเน้นลัทธิทหาร

แต่กระบวนการดังกล่าวดูเหมือนเป็นแค่เปลือกนอก เพราะจุดสำคัญอยู่ที่การเน้นย้ำอัตลักษณ์ของราชวงค์และความเป็นชาติ. อัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นตามมาจากการสร้างสำนึกความเป็นชาติและรัฐชาติของราชวงค์ แต่กระบวนการสร้างรัฐและชาติได้สร้างภาวะชายขอบให้เกิดขึ้นกับคนเชื้อชาติอื่นๆ กระบวนการนี้ก็คือ การผนวกเข้ามาทางภูมิศาสตร์และการกีดกันทางสังคมวัฒนธรรม การผนวกรวมเข้ามาเป็นอาณาจักรสยามหรือไทย และกระบวนการรวบอำนาจในการจัดการพื้นที่และทรัพยากรจากหัวเมืองเข้าสู่ศูนย์กลางทำให้เกิดพื้นที่ชายแดนขึ้น ซึ่งคำว่า"ชายแดน"ก็คือคำว่า"พื้นที่ชายขอบในตัวของมันเอง"(14)

(14) สุริชัย หวันแก้ว, อ้างแล้ว, หน้า 66-67


ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การสร้างอัตลักษณ์ความเป็น"ตัวเรา-ตัวเขา"นั้น ส่วนมากเกิดขึ้นจากกระบวนการสร้างรัฐชาติ และการสร้างพรมแดนขึ้นจนกลายเป็นวาทกรรมเรื่องแผนที่ของประเทศไทย(15) ความสำนึกทางชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของการสร้างอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ด้วยสำนึกทางประวัติศาสตร์ ผูกกับสำนึกประวัติศาสตร์เดิมที่สัมพันธ์กับเมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางทางการเมืองในอดีต หรือเรื่องเล่า ตำนานความเชื่อโบราณเป็นความสำนึกในเทือกเถาเหล่ากอที่สืบทอดตามตำนาน เป็นต้น ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การเมืองว่าด้วยอัตลักษณ์ เมื่อความเป็นชาติพันธุ์ถูกก่อรูปขึ้น

(15) ธงชัย วินิจกูล "ประวัติศาสตร์การสร้างตัวตน", ใน สมบัติ จันทรวงศ์ และชัยวัฒน์ สถาอานันท์ บรรณาธิการ อยู่เมืองไทย: รวมบทความทางสังคมเพื่อเป็นเกียรติแด่ ศ. เสน่ห์ จามริก ในโอกาสอายุครบรอบ 60 ปี (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2530).

มโนทัศน์ความเป็นชาติพันธุ์ก็คือ การจำแนกแยกแยะกลุ่มคนเมื่อมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ความเป็นชาติพันธุ์จึงหมายถึง แง่มุมหนึ่งของความสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างกลุ่มคนที่คิดว่าตนแตกต่างจากกลุ่มอื่นนั่นเอง(16) อัตลักษณ์และชุมชนในจินตนาการจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กันในโลกยุคใหม่ แต่สิ่งนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหา เพราะมันได้ทำให้เกิดการสร้างภาวะชายขอบและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามมา

(16) อัตลักษณ์ดังกล่าวทำให้เปลี่ยนแปลงได้ด้วยเพราะไม่ใช่คุณลักษณะเฉพาะในกลุ่มใดเท่านั้น อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, อ้างแล้ว, หน้า70-71

โลกาภิวัตน์กับความหมายใหม่เกี่ยวกับอัตลักษณ์
ในยุคโลกาภิวัตน์ ความซับซ้อนก็เกิดซ้ำขึ้นอีก ยุคโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดความหมายใหม่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ เพราะโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาติ ทำให้เกิดจินตนาการเกี่ยวกับชาติแบบใหม่ที่ตัดข้ามพรมแดน เส้นแบ่งต่างๆ รวมตลอดถึงความคิดในเรื่องชาติพันธุ์แบบใหม่ที่มิได้ยึดโยงอยู่กับอาณาเขตของรัฐ-ชาติอีกต่อไป. มิเชล ฟูโก เสนอให้มองอำนาจในเชิงบวก ในฐานะของการสร้างเอกลักษณ์ตัวตน วาทกรรม และความรู้ เราอาจจะมองการสลายเส้นแบ่งในฐานะที่เป็นอำนาจในทางบวกเช่นเดียวกัน เนื่องจากการสลายเส้นแบ่งทุกครั้งจะนำไปสู่การลากเส้นแบ่งใหม่ขึ้นมาพร้อมๆ กันเสมอ การสลายเส้นแบ่งจึงเป็นอำนาจในเชิงบวกที่สมบูรณ์ (17)

(17) ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, รัฐ-ชาติ กับ(ความไร้)ระเบียบโลกชุดใหม่, (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์วิภาษา, 2549) หน้า28

ประเด็นที่น่าคิดก็คือ โลกเต็มไปด้วยเส้นแบ่งและการแบ่งแยกทั้งสิ้น การแบ่งแยกในสังคมมนุษย์มีความสลับซับซ้อนหลายมิติ หลายระดับ และผสมปนเปกันไปหมด แต่สถานการณ์ในยุคหลังสมัยใหม่ เกิดแบบแผนพิเศษที่ภาวการณ์ "การกำลังจะเกิด หรือการกำลังจะเป็น" ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้แบบเส้นตรงแต่เพียงอย่างเดียว แต่เราจำเป็นที่จะต้องมองภาวการณ์กำลังจะเป็น ว่าคือที่รวมของสรรพสิ่งมากมายและเป็นสิ่งที่เข้าไม่ถึง คิดไม่ได้หรือมองไม่เห็น. "การกำลังจะเกิด กำลังจะเป็น" คือพื้นที่ในระหว่างสิ่งต่างๆ หรือพื้นที่ของความก้ำกึ่งที่หาความลงตัวไม่ได้ กำหนดแน่นอนไม่ได้ แต่เป็นพื้นที่ซึ่งสลายบรรดาเส้นแบ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ เป็นสิ่งที่นักวิชาการบางคนเรียกว่าตัวตนที่ปราศจากรูป (a body without organ) หรือวัตถุที่ไร้ตัวตน (incorporeal materiality)

ตัวตนดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่หลากหลายมิติมาประกอบกันอย่างเข้มข้น เป็นตัวตนขึ้นมา จึงเป็นตัวตนที่สามารถต่อต้านขัดขืนพลังการครอบงำที่มาจากภายนอก ขณะเดียวกันก็เป็นตัวตนที่มีลักษณะลื่นไหลไม่ตกอยู่ภายใต้รหัส การจัดระบบระเบียบของรัฐ หรือระบบอำนาจและการควบคุมแบบอื่น แต่เป็นที่ราบของความอัดแน่นของสรรพสิ่ง จึงทำให้ตัวตนแบบนี้สามารถเชื่อมต่อกับสิ่งอื่นๆ ไม่ต่างจากเหล็กเส้นที่ยื่นออกมานอกผนังคอนกรีต เพื่อรอคอยการต่อเติมพร้อมจะแปรเปลี่ยนตัวเองให้เป็นสิ่งอื่นได้เสมอ (18)

(18) ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, เพิ่งอ้าง, หน้า29


Douglas Kellner
เมื่อบริบทใหม่เป็นเช่นนี้ ความเป็นอัตลักษณ์ในชุมชนจินตนาการในบริบทของโลกาภิวัตน์ก็ยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น Douglas Kellner เสนอแนวการวิเคราะห์ที่น่าสนใจว่าโลกาภิวัตน์ประกอบขึ้นด้วยความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ระหว่างทุนนิยมและประชาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ทั้งให้อำนาจและลดอำนาจของคนหรือกลุ่มคน ทั้งบั่นทอนและส่งเสริมศักยภาพของประชาธิปไตย (19) โลกาภิวัตน์จึงเป็นการผสมผสานตัวแปรทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคมและวัฒนธรรมในตัวแบบพิเศษที่มีลักษณะสลับไขว้ทับซ้อน (unique matrix) ซึ่งรวมเอาลักษณะผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกัน ความแตกต่างและการผสมข้ามพันธ์ เป็นการผสมกลมกลืนกันอย่างมีความขัดแย้งในตัวเอง

(19) Douglas Kellner, Globalization, Terrorism, Democracy:9/11 and Its Aftermath
http//:www.gseis.ucla.edu/faculty.kellner p. 6


ดังนั้นโลกาภิวัตน์จึงเป็นสิ่งที่รวมเอาสิ่งที่ขัดแย้งกันมาอยู่ด้วยกันในเบ้าหลอมเดียวกัน ทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น ทำให้เกิดวาทกรรมท้องถิ่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยุคหลังสมัยใหม่ หลังโครงสร้างนิยม สตรีนิยมที่เน้นทั้งความแตกต่าง ความเป็นอื่น ความเป็นชายขอบ การผสมข้ามพันธ์ ความเป็นเฉพาะมากกว่าลักษณะทั่วไป จึงทำให้มีการต่อสู้ระหว่างวัฒนธรรมย่อย ให้ความสำคัญของท้องถิ่นและอัตลักษณ์

โลกาภิวัตน์จากเบื้องบน vs. โลกาภิวัตน์จากฐานล่าง
ในขณะเดียวกัน โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดวัฒนธรรมสองกระแสขึ้น กล่าวคือลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นที่มีความหลากหลายวัฒนธรรมต่อต้านโลกาภิวัตน์ในบริบทของโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างโลกาภิวัตน์จากเบื้องบน (globalization from above) ซึ่งถูกสร้างโดยบรรษัทข้ามชาติ รัฐชาติ และสถาบันระดับโลก กับโลกาภิวัตน์จากฐานล่าง (globalization from below) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มที่ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์โดยบรรษัทข้ามชาติ ทุนนิยม และรัฐชาติ เพื่อต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์จากเบื้องบน เกิดกระแสการต่อต้านโดยวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมย่อยซึ่งพยายามจะรักษารูปแบบเฉพาะทางวัฒนธรรมของตนเอง กระบวนดังกล่าวต่อต้านการสร้างความเป็นเป็นเนื้อเดียวกันของสังคมโลกาภิวัตน์ (homogenization) และสร้างพลังที่เป็นทางเลือกใหม่ทางสังคมและวัฒนธรรม

กระบวนการดังกล่าวเป็นการต่อต้านโลกาภิวัตน์ แต่ตัวของมันเองก็เป็นโลกาภิวัตน์จากฐานล่าง (20) ประเด็นวิเคราะห์ที่ Kellner เสนอทำให้เรามองเห็นว่า โลกาภิวัตน์เป็นระบบที่ประกอบด้วยสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเองและมีความคลุมเครือ (contradictions and ambiguities of globalization) ดังนั้นความขัดแย้งและความรุนแรงแบบการก่อการร้าย จึงเป็นผลมาจากความขัดแย้งในตัวเองและความคลุมเครือของโลกาภิวัตน์ในแบบดังกล่าว เพราะโลกาภิวัตน์แบ่งแยกโลกในขณะที่สร้างความเป็นหนึ่งเดียว สร้างศัตรู ในขณะเดียวกันก็สร้างผู้มีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก โลกาภิวัตน์เชื่อมโยงคนเข้าด้วยกันในขณะที่แยกพวกเขาออกจากกันและสร้างความไม่เสมอภาคขึ้นมา

(20) Douglas Kellner, Ibid., p. 7


Jean Baudrillard
การต่อสู้กับตัวเองของโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสพรึงกลัว เพราะความสับสนและซับซ้อนของโลกาภิวัตน์ ทำให้มันขาดความหมาย และความเป็นจริงของโลกาภิวัตน์สูญหายไปด้วย การสูญหายไปของความจริงนี้ อาจเป็นสิ่งที่ Jean Baudrillard เรียกว่าความเป็นจริงที่เกินจริง(hyperreality). Baudrillard อธิบายว่า สังคมแบบโลกาภิวัตน์ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ยี่สิบ ได้เกิดภาวะที่มีการสร้างสัญญะและความหมายอย่างล้นเกิน ซึ่งทำให้ความเป็นจริงเลือนหายไป อันเป็นลักษณะที่ขัดแย้งในตัวเอง

ตัวอย่างก็คือ ในยุคนี้ไม่มีใครเชื่อโลกอุดมคติของมาร์กซิสม์ และเสรีนิยมอีกต่อไปแล้ว เราไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านโลก แต่อยู่ในโลกที่สามารถทำให้ตื่นกลัวชะงักงันได้ แม้แต่เรื่องเพียงเล็กน้อย เพราะว่าโลกปฏิบัติการในระดับที่มีการแลกเปลี่ยนทั้งสื่อ สัญญะ และสินค้า โลกจึงกลายเป็นสิ่งที่มืดบอดในปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ (symbolic acts) ดังนั้น การก่อการร้ายอาจจะดูเหมือนการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ของคนชายขอบ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองในยุคก่อนหน้านี้ แต่มันได้ถูกทำให้ไร้ความหมายไปจากความรุนแรงที่ก่อขึ้นในลักษณะลอกแบบกัน และความล้นเกิน

อาณาบริเวณแห่งสัญลักษณ์
อาณาบริเวณแห่งสัญลักษณ์ (symbolic realm) แตกต่างจากเครื่องหมายและการมีนัยสำคัญ (signs and significance) เพราะว่าเครื่องหมาย(signs) สามารถแลกเปลี่ยนกันได้เหมือนสินค้า แต่สัญลักษณ์ (symbols) มีความหมายต่างกัน มันสามารถจะแลกกันได้เหมือนของขวัญ ซึ่งบางครั้งก็ด้วยความรุนแรง. Baudrillard อธิบายว่า สังคมโลกาภิวัตน์ขาดไร้ซึ่งส่วนประกอบทางสัญลักษณ์ (symbolic elements) จึงอยู่ในภาวะไร้การป้องกันตนเองต่อการกระทำที่รุนแรง เช่นการก่อการร้ายหรือเหตุการณ์ 11 กันยายน เมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการที่น่าสนใจก็คือ ธรรมชาติของความสัมพันธ์ทางสังคมมักจะถูกกำหนดโดย "รูปแบบการสื่อสาร" ที่สังคมนั้นได้นำมาใช้

ในรูปแบบของการสื่อสารแบบนี้โลกจะผ่านยุคของต้นแบบดั้งเดิมก่อน ต่อมาได้เกิดการลอกเลียนแบบ การสร้างเครื่องมือการลอกเลียนแบบ และในที่สุด ได้เกิดสภาวะการลอกเลียนแบบในขั้นที่สาม ซึ่งในขั้นนี้สิ่งที่เป็นตัวลอกเลียนแบบเข้าแทนที่ตัวต้นแบบ ในสังคมสมัยใหม่ ตัวแบบที่ลอกแบบมาจากของบางอย่างจะเข้าแทนที่วัตถุที่เป็นต้นแบบ ดังนั้นเราจึงได้เห็นแผนที่เข้าแทนที่พื้นที่จริงทางภูมิศาสตร์ ในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก ภาพลักษณ์สงครามได้เข้าแทนที่สงครามตัวจริง โลกปัจจุบันได้กลายเป็น "อภิสภาวธรรม" หรือ hyperreality ซึ่งตัวของวัตถุแห่งความเป็นจริงได้ถูกลบเลือนหรือแทนที่ด้วยภาพลักษณ์ที่แสดงภาวะการดำรงอยู่ของตัวมันเอง

ตัวอย่างการวิเคราะห์แบบนี้ก็คือ แทนที่จะมองว่าการที่คนเราหลงไหลในความเป็นเด็กจนไม่เข้าใจความเป็นเด็ก อันที่จริงความเป็นเด็กอาจจะไม่เคยมีอยู่ด้วยซ้ำไป หรือแทนที่จะบอกว่าแนวคิดของ "ความเป็นจริง" ถูกทำให้ซับซ้อนเพราะการสร้างภาพลักษณ์ของความจริงที่มากเกินไป เรากลับมองว่า อันที่จริงนั้น "ความเป็นจริงไม่เคยมีอยู่เลย" นี่คือการท้าทายทางปรัชญาโดยตั้งคำถามว่า ทำไมจึงมีบางสิ่งอยู่ (แทนที่จะไม่มี), เรากลับถามว่า ทำไมมันจึงไม่มีสิ่งเหล่านั้นอยู่ (แทนที่จะมี) (21)

(21) Wikipedia the free encyclopedia, "Jean Baudrillard"


ความขัดแย้ง สับสนและคลุมเคลือดังกล่าวทำให้ความรุนแรงในความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ศาสนา และสัญลักษณ์กลายเป็นสิ่งที่สะท้อนความขัดแย้งของโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในตัวของมันเอง นี่เป็น"อุบัติการณ์อันสมบูรณ์แบบ" (absolute event) ซึ่ง Jean Baudrillard นำมาอธิบายสรุปเหตุการณ์ 11 กันยายนที่ตึก World Trade Center ไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ

".... นี่ใม่ใช่การปะทะกันของอารยธรรมหรือศาสนา มันก้าวไปไกลเกินกว่าอเมริกาและอิสลามอย่างที่ใครๆ พยายามจะอธิบายความขัดแย้งเผชิญหน้ากัน เพื่อให้คนหลงเข้าใจผิด เพื่อที่จะใช้กำลังในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอันนี้ อันที่จริง มีสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กันโดยพื้นฐานอยู่ แต่สิ่งนี้ได้ก้าวเกินไปกว่าความเป็นศูนย์กลางของอเมริกา (ซึ่งอาจจะเป็นศูนย์กลาง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนทั้งหมดของโลกาภิวัตน์) และความเป็นศูนย์กลางของอิสลาม (ซึ่งอิสลามก็ไม่ใช่ตัวแทนของลัทธิก่อการร้ายเช่นกัน) มันกลายเป็นชัยชนะของโลกาภิวัตน์ในการสู้รบกับตัวเอง !"

สรุป
กล่าวโดยสรุป อัตลักษณ์หรือตัวตนของคนชายขอบอาจถูกสร้างขึ้นมาในกลุ่มชายขอบ เพื่อยืนยันความเป็นตัวของตัวเองในกระบวนการถูกกดทับทางประวัติศาสตร์ หรือความล้มเหลวของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน ในกระบวนการนี้ได้ก่อเกิดกระบวนการที่สร้างอัตลักษณ์ร่วมกันของความเป็นชาติ และรัฐประชาชาติ กระบวนการทางประวัติศาสตร์ได้สร้างชุมชนในจินตนาการขึ้นมา ผลที่เกิดตามมาก็คือ "สิ่งประดิษฐ์ในทางวัฒนธรรม" ในหลากหลายรูปแบบ

แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาติ ก่อให้เกิดจินตนาการเกี่ยวกับชาติแบบใหม่ ที่ตัดข้ามพรมแดน เส้นแบ่งต่างๆ รวมตลอดถึงความคิดในเรื่องชาติพันธุ์แบบใหม่ที่มิได้ยึดโยงอยู่กับอาณาเขตของรัฐ-ชาติ แต่บริบทใหม่ของโลกาภิวัตน์ยังทำให้เกิดกระแสการต่อต้านตัวของมันเองจากเบื้องล่างที่ทำให้มีทั้งกระแสประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ในทำนองเดียวกันก็สร้างความคลุมเครือ ความขัดแย้งและการทำลายตัวมันเองจากฐานล่างแสดงออกมาในรูปการก่อการร้าย โลกาภิวัตน์จากฐานล่างกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสงครามอัตลักษณ์ในโลกยุคโลกาภิวัตน์

ในท่ามกลางการต่อสู้เหล่านี้อาจจะทำให้ความหมายของรัฐและอำนาจอธิปไตย หรือแม้แต่ตัวโลกาภิวัตน์เองสูญสลายไปได้ในที่สุด นี่คือปรากฏการณ์ที่น่ากลัวในการต่อสู้ของคนชายขอบและความเป็นชายขอบในปัจจุบัน การแก้ปัญหาจึงต้องเข้าใจธรรมชาติของรัฐและการเมืองในบริบทโลกาภิวัตน์ดังกล่าวด้วย

คลิกไปอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกันนี้ ตอนที่ ๒

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

(*) ฝิ่นในประเทศสยามเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะนั้นการขยายอำนาจของอังกฤษ ในภูมิภาคเอเชียมีสูงมาก พระองค์ทรงตระหนักดีว่า ประเทศสยามคงจะต้านทานภาวะดังกล่าวไว้ไม่ไหวจึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายโอนอ่อนตามประเทศตะวันตก โดยยอมเซ็นสัญญาบราวริ่ง ซึ่งสยามเสียเปรียบอังกฤษหลายประการ เช่น สิทธิสภาพนอกอาณาเขต การให้ฝิ่นเป็นสินค้าถูกกฎหมาย และ ให้นำเข้าโดยเสรี ฯลฯ ในช่วงเวลานั้นประเทศสยามมีการนำเข้าฝิ่นในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างสูงมาก โดยรัฐบาลสามารถเก็บภาษีฝิ่นได้ถึง 10 - 15 % ของภาษีทั้งหมด แต่ด้วยนโยบายที่ชาญฉลาดของประเทศไทยที่อนุญาตให้เฉพาะคนจีนและคนชั้นสูงเท่านั้นที่สูบฝิ่นได้ จึงทำให้การสูบฝิ่นนั้นจำกัดอยู่ในวงแคบ สถานที่สูบฝิ่นหรือที่เรียกว่าโรงฝิ่นนั้นจึงมักจะตั้งอยู่ในย่านคนจีนและท่าเรือ

เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สอง โลกเกิดภาวะขาดแคลนฝิ่นขึ้น รัฐบาลในขณะนั้นยังให้ฝิ่นเป็นสินค้าถูกกฎหมายอยู่ จึงได้กำหนดให้มีการขึ้นมาซื้อฝิ่นดิบจากทางภาคเหนือเพื่อ ตอบสนองความต้องการของผู้เสพในกรุงเทพฯ เมื่อได้ฝิ่นดิบจากชาวเขามาแล้ว จะนำลงมาเคี่ยวที่พื้นราบ แถวเขตอำเภอแม่จัน จ.เชียงราย. กระบวนการผลิตฝิ่นเริ่มกระบวนการเคี่ยวกันตั้งแต่เช้ามืดจนถึงดึกดื่น เคี่ยวในกระทะใบใหญ่ แล้วกรองด้วยผ้าขาว กระบวนการไม่ซับซ้อนแต่ต้องทำซ้ำ ประมาณ12 ครั้ง จนกระทั่ง ได้ฝิ่นที่ข้นเหนียว แล้วจึงปั้นเป็นก้อน เพื่อขนส่งลงกรุงเทพฯ จนกระทั่ง พ.ศ. 2502 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีบทลงโทษกับผู้เสพและผู้จำหน่าย

(หมายเหตุ: เชิงอรรถในส่วน (*) เพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com


Words from the Text
สิ่งที่สำนักคิดประวัติศาสตร์สังคมของกลุ่มที่ถูกกดทับไว้ ค้นพบคือ การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ ซึ่งปรากฏขึ้นในอินเดีย และกลุ่มทางสังคมเหล่านี้พยายามใช้วิธีการใหม่หลายอย่างในการปลุกระดมพลังการเมือง เช่น ใช้วิธีการเลือกตั้งและวิธีการที่ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ ทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 1990 กลายเป็นการเมืองชาติพันธุ์แบบใหม่ของอินเดีย (new ethnography of politics) การเมืองแบบนี้คือ การเมืองของคนชายขอบซึ่งต่อสู้กันอย่างเปิดเผย มีการรวมตัวแบบจัดตั้ง และใช้ทั้งวิธีการทั้งในแบบที่ถูกกฎหมายและนอกกฎหมาย รวมทั้งการใช้ความรุนแรงในบางระดับ การต่อสู้ดังกล่าวเป็นการยืนยันสิทธิประชาธิป
ไตยในหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน ...
Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
Postcolonialism deals with cultural identity in colonised societies:
the dilemmas of developing a national identity after colonial rule;
the ways in which writers articulate and celebrate that identity
(often reclaiming it from and maintaining strong connections with
the coloniser); the ways in which the knowledge of the colonised (subordinated) people has been generated and used to serve
the coloniser's interests; and the ways in which the coloniser's literature
has justified colonialism via images of the colonised as
a perpetually inferior people, society and culture.