Everyone is permitted
to copy and distribute verbatim copies of
this licene document,
but changing
it is not allowed. - Editor
อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
การเมืองแห่งอัตลักษณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องต้องรู้ของรัฐไทยในการแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้
(ตอนที่ ๒)
ศรีสมภพ
จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะ
ดุษณ์ดาว
เลิศพิพัฒน์, อารีลักษณ์ พูลทรัพย์,สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
งานศึกษาต่อไปนี้เคยเผยแพร่แล้วในรูป
pdf ที่ www.polsci.tu.ac.th/polsci2550/srisompop.pdf
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นำมาเผยแพร่ต่อบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเพื่อเป็นวิทยาทาน เดิมชื่อ
การเมืองชายขอบกับการใช้ความรุนแรง และการเมืองแห่งอัตลักษณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยงานศึกษานมุ่งชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ปัจจุบัน
ได้กลายรูปเป็นการเมืองแห่งอัตลักษณ์แบบใหม่(new identity politics)
ที่เน้นย้ำการสร้างความเป็นเราและเป็นอื่นอย่างเข้มข้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ซึ่งทำให้เกิดการสร้างวาทกรรมและปฏิบัติการทางวาทกรรมที่ซับซ้อนและรุนแรง
สาระสำคัญของงานศึกษานี้ ประกอบด้วย
1. แนวความคิดและสมมุติฐานเรื่องการเมืองชายขอบ
2. แนวความคิดและสมมุติฐานเรื่องการเมืองแห่งอัตลักษณ์
3. เรื่องของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศาสนา กับอำนาจการทำสงครามแบบใหม่
4. ตัวแบบการสร้างความสมานฉันท์ ขจัดความไม่ไว้วางใจ ขจัดอคติและความเกลียดชัง
5. ตัวแบบการสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองตามทรรศนะอิสลาม
(หมายเหตุ: เนื่องจากงานศึกษานี้มีความยาวพอสมควร จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ภาค)
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๙๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๓ มีนาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๙ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
การเมืองแห่งอัตลักษณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องต้องรู้ของรัฐไทยในการแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้
(ตอนที่ ๒)
ศรีสมภพ
จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะ
ดุษณ์ดาว
เลิศพิพัฒน์, อารีลักษณ์ พูลทรัพย์,สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
3. เรื่องของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์
และศาสนา กับอำนาจการทำสงครามแบบใหม่
ความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นชายขอบและคนชายขอบ โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยต่างชาติพันธุ์กับการเมืองแห่งอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด
และเป็นที่ยอมรับกัน อย่างไรก็ดี การต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์มีความหมายต่อการใช้อำนาจเชิงบวกหรือเชิงลบ
ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายความเข้าใจอยู่มาก ว่าการต่อสู้ดังกล่าว เป็นการต่อต้านอำนาจการควบคุมและเป็นอิสระ
หรือเป็นการใช้อำนาจควบคุมแบบใหม่ที่มีความรุนแรงหนักยิ่งไปกว่าเก่าหรือไม่ สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนในเวทีการเมืองของหลายประเทศในโลก
ซึ่งการเมืองแห่งอัตลักษณ์ในแบบใหม่เป็นปรากฏการณแพร่หลาย ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจก็คือ
ได้เกิดความรุนแรงในลักษณะใหม่ที่มีการจัดตั้งเป็นอย่างดีในหลายๆ ประเทศของทวีปเอเชีย
อัฟริกา และในยุโรปตะวันออก
ลักษณะความรุนแรงดังกล่าวถูกนักวิชาการเรียกกันว่า "สงครามแบบใหม่ (new war)" อันเป็นความรุนแรงที่สะท้อนธรรมชาติทางการเมืองแบบใหม่ ลักษณะพิเศษของสงครามชนิดนี้ทำให้เราหาเส้นแบ่งได้ยาก ระหว่างสงครามแบบเก่าที่รัฐกระทำต่อรัฐ หรือระหว่างรัฐกับกลุ่มปฏิวัติติดอาวุธ รวมทั้งไม่สามารถแยกความรุนแรงทางการเมืองกับการก่อความรุนแรงแบบอาชญากรรมอย่างมีการจัดตั้ง นอกจากนี้ ความรุนแรงดังกล่าวยังก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงด้วย
ลักษณะสำคัญของสงครามแบบใหม่ก็คือ เป้าหมาย วิธีการ และการแสวงหาทรัพยากรมาสนับสนุนการก่อสงคราม เป้าหมายสำคัญที่สุดของสงครามแบบใหม่ชนิดนี้ก็คือ การเมืองว่าด้วยอัตลักษณ์ ? (identity politics) (22) ซึ่งจะแตกต่างไปจากเป้าหมายการต่อสู้เหนือดินแดน และอุดมการณ์แบบสงครามในอดีต ในบริบทของโลกยุคโลกาภิวัตน์ความแตกแยกทางอุดมการณ์และดินแดนแบบเก่าถูกแทนที่ด้วยความแตกแยกทางการเมือง ที่เกิดจากการแบ่งกลุ่มตามลักษณะอัตลักษณ์เฉพาะของตนเอง กับการเปิดตัวสู่โลกแห่งความเป็นสากล, ความแตกแยกระหว่างค่านิยมความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับความเชื่อในอัตลักษณ์ที่คับแคบของกลุ่ม
(22) แนวคิดเรื่องสงครามแบบใหม่และการเมืองแห่งอัตลักษณ์ในที่นี้ประมวลมาจากแนวคิดของ
Mary Kaldor, New&Old Wars: Organized Violence in Global Era, (Standford,
California: Standford University Press, 2007).
แบบอย่างที่เห็นได้ชัดในสังคมชายแดนภาคใต้ของไทยก็คือ สงครามขนาดเล็กได้กลายเป็นการก่อความรุนแรงที่เป้าหมายการต่อสู้ชัดเจนเพื่อประกาศตัวตนทางชาติพันธุ์
ประวัติศาสตร์และศาสนา การเมืองแห่งอัตลักษณ์ในที่นี้จึงหมายความถึง การอ้างสิทธิอำนาจบนพื้นฐานของอัตลักษณ์เฉพาะตัว
ไม่ว่าจะเป็นความเป็นเชื้อชาติ ศาสนา หรือภาษาพูด อาจมีข้อโต้แย้งว่าในอดีตสงครามทุกประเภทก็เกี่ยวกับอัตลักษณ์เช่นกัน
แต่อัตลักษณ์ดังกล่าวมักจะเกี่ยวโยงกับเรื่องของรัฐหรือการต่อสู้เพื่อรัฐ การเมืองแห่งอัตลักษณ์ในแบบใหม่เป็นการอ้างถึงอำนาจในการใช้ป้ายชื่อสัญลักษณ์เพื่อแสดงตัวตนอัตลักษณ์
ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางการเมืองและสังคม เช่นการประกาศอิสรภาพ
การสร้างรัฐอิสลามปัตตานี แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อัตลักษณ์เหล่านี้ "...
จะเชื่อมโยงกับความเป็นตัวแทนความใฝ่ฝันสู่อุดมคติในอดีตกาล
" จึงอาจจะกล่าวได้ว่ากระแสคลื่นของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ยุคใหม่
? เป็นการย้อนยุคไปสู่อดีต เป็นการฟื้นความรู้สึกเกลียดชังศัตรูในสมัยโบราณ ที่ถูกเก็บกดและควบคุมเอาไว้ในยุคอาณานิคม
และสงครามเย็น
เมื่อมองให้ลึกลงไปอีก ประเด็นทางการเมืองที่น่าสนใจในที่นี้ก็คือ คำบอกเล่าเรื่องราวของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ นอกจากจะขึ้นอยู่กับความทรงจำและการสืบทอดประเพณีของสังคม เช่น เรื่องเล่าประวัติศาสตร์แบบตำนาน และ เพลงกล่อมเด็ก อีกด้านหนึ่ง อัตลักษณ์ยังจะต้องถูก "สร้างขึ้นมาใหม่" ภายใต้บริบทแห่งความล้มเหลวของแหล่งที่มาของอำนาจที่มีความชอบธรรมทางการเมือง เช่น ความไม่น่าเชื่อถือของการเมืองแบบเผด็จการทหาร ความล้มเหลวของกระบวนการประชาธิปไตย ความผิดพลาดของผู้นำศาสนา หรือความไร้น้ำยาของวาทกรรมแห่งการสร้างชาติ หรือการสร้างภาวะความเจริญทันสมัยของรัฐบาล รวมถึงความล้มเหลวของของการสร้างรัฐชาติที่ผสมกลมกลืน
บนพื้นฐานความล้มเหลวเป็นชุดๆ ดังกล่าว ทำให้ลักษณะโครงการทางการเมืองแบบ "มองย้อนกลับไปข้างหลัง" ก่อกำเนิดขึ้นในที่ว่างสุญญากาศ ที่เกิดจากการไร้ซึ่งความสำเร็จของโครงการทางการเมือง "แบบแลไปข้างหน้า" เพราะเหตุดังกล่าว การเมืองแห่งอัตลักษณ์จึงไม่เหมือนการเมืองแห่งอุดมการณ์แบบเก่า ที่มีโครงการและนโยบายเปิดเผยแก่คนทั่วไป และมีบูรณาการความคิด เช่นนโยบายพรรคการเมืองหรือพรรคคอมมิวนิสต์. การเมืองอัตลักษณ์ชุดใหม่นี้มีลักษณะพิเศษปิดตัวแคบเฉพาะกลุ่ม และในตัวของมันเองมีแนวโน้มที่จะแยกย่อยเป็นชิ้นเป็นส่วน แต่ร้อยผูกอยู่ด้วยกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ ? เพราะความจริงในอดีตจะเป็นข้อเท็จจริงหรือมีเหตุผลหรือไม่อย่างไร ไม่สำคัญเท่าการทำให้คนมีความเชื่อว่าเป็นจริง เพราะมันเป็นความเป็นจริงเสมือนของภาพในอดีตที่ถูกสร้างขึ้นในปัจจุบัน เพื่อรับใช้ปัจจุบัน และสงครามในปัจจุบันคือการทำให้อดีตหรือประวัติศาสตร์กลับมาต่อสู้กันในปัจจุบันนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีลักษณะพิเศษของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับกระบวนการโลกาภิวัตน์ด้วย
ลักษณะประการแรก
คือ คลื่นลูกใหม่ของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ จะเกิดขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก
ทั้งในระดับชาติและข้ามชาติ ในหลายๆ กรณีจะเกิดชุมชนผู้พลัดถิ่น (diaspora communities)
ซึ่งมีอิทธิพลจากความก้าวหน้าของการเดินทางและเทคโนโลยีการสื่อสาร ผู้อพยพพลัดถิ่นในต่างประเทศที่ก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรม
หรือประเทศที่ร่ำรวยในการค้าน้ำมัน จะเป็นแหล่งของแนวคิด ทุน และเทคนิค ในการต่อสู้ทางการเมืองแห่งอัตลักษณ์
และจะผลักดันความคิดที่แปลกแยกหรือจินตนาการฝันเฟื่องของตนเองมาสู่ภายในประเทศ
ซึ่งมีสถานการณ์ที่แตกต่าง มีผู้พลัดถิ่นชาวปัตตานีและสามจังหวัดจำนวนไม่น้อยที่เกาะกลุ่มกันในต่างประเทศ
ทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและในยุโรป ในประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งยังสื่อกลับมายังบ้านเกิดของตนเองและเป็นฐานกำลังหนุนที่เข้มแข็งของสงครามอัตลักษณ์ในประเทศ
ลักษณะประการที่สอง ก็คือ การใช้เทคโนโลยีแบบใหม่
การระดมทางการเมืองจะมีอัตราความเร็วสูงขึ้นมาก เพราะการใช้สื่อทางอิเล็กทรอนิกส์
อิทธิพลของโทรทัศน์ วิทยุ วิดีโอ และอินเตอร์เน็ต เป็นสิ่งที่สำคัญมากในกระบวนการโฆษณาประชาสัมพันธ์
นอกจากนี้ สัญลักษณ์ของวัฒนธรรมมวลชนแบบโลกาภิวัตน์ เป็นสื่อแสดงอัตลักษณ์ที่สำคัญ
เช่น รถยนต์เมอซิเดสเบนซ์ แว่นตาเรย์แบน เสื้อยืด ผ้ามือสองจากประเทศตะวันตก
และทีมฟุตบอลระดับโลก ซึ่งถูกนำมาผนวกกับตราอัตลักษณ์พิเศษของตนเอง
ลักษณะประการที่สาม คือลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของการเมืองแห่งอัตลักษณ์
การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำสงคราม หรือวิธีการใช้ในการทำสงครามแบบใหม่ ยุทธศาสตร์ของสงครามแบบใหม่เป็นการถอดประสบการณ์ทั้งจากสงครามกองโจร
(guerrilla warfare) และการต่อต้านการก่อความไม่สงบ (counter-insurgency) ในยุคสงครามเย็น
ซึ่งการผสมผสานดังกล่าวทำให้สงครามแบบใหม่มีลักษณะพิเศษต่างไปจากอดีต สงครามในแบบแผนหรือสงครามโดยทั่วไปมีเป้าหมายที่จะยึดดินแดนโดยวิธีทางการทหาร
การเผชิญหน้าทางการยุทธ์ในสนามรบเป็นตัวแปรขาดของสงคราม ส่วนสงครามกองโจรนั้น
ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อหลีกหนีการระดมกำลังพลจำนวนมากที่จุดเดียว อันเป็นลักษณะพิเศษของสงครามในแบบ
ในสงครามกองโจรนั้น ดินแดนจะถูกยึดครองได้ด้วยการควบคุมทางการเมืองต่อประชากรด้วยงานมวลชน
มากกว่าจะใช้วิธีการรุกทางทหาร การปะทะอย่างเปิดเผยจะถูกหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในทฤษฎีสงครามของเหมาเจ๋อตง นักรบกองโจรมุ่งที่จะเอาชนะจิตใจของมวลชน แต่ในสงครามแบบใหม่กองกำลังกลับใช้เทคนิควิธีการสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ
คือการสร้างความไร้เสถียรภาพ ดังนั้น วิธีการทำสงครามจะเปลี่ยนไปเป็นการใช้วิธี
"สร้างความหวาดกลัวและความเกลียดชัง" ให้เกิดขึ้น เป้าหมายก็คือ ควบคุมประชากรด้วยการขจัดใครก็ตามที่มีอัตลักษณ์ต่างจากตน
(พวกกาเฟร์ซียัม) และจัดการคนที่มีความคิดต่างเป็นอื่น (ถึงแม้จะมีอัตลักษณ์แบบเดียวกับพวกตน
เช่น พวกผู้ทรยศหรือมูนาฟิก) และสร้างความรู้สึกหวาดกลัว (เตือน กับตาย !)
ดังนั้น เป้าหมายทางยุทธศาสตร์สงครามแบบใหม่ก็คือ ปลุกระดมให้เกิดการเมืองแห่งความคิดที่รุนแรงบนพื้นฐานของความกลัวและความเกลียดชัง พวกเขาจะใช้วิธีขับไล่ประชากรให้หนีจากพื้นที่ด้วยวิธีอันหลากหลาย เช่น การฆ่า ย่างสด ยิงรายวัน และใช้เทคนิคจิตวิทยาการเมืองและทางเศรษฐกิจด้วยการข่มขู่คุกคาม เช่นทำลายทรัพย์สิน ตัดต้นยางทิ้ง ห้ามไม่ให้คนท้องถิ่นซื้อที่ดินทรัพย์สินของคนพุทธที่อพยพหนีตาย ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงส่วนมากก็คือประชาชนหรือพลเรือนทั่วไป. สถิติการตายในเหตุการณ์ความไม่สงบภาคใต้ คนส่วนมากที่สุดซึ่งเป็นเหยื่อคือประชาชน มากกว่าเจ้าหน้าที่ นอกจากนั้น เพื่อสร้างความหวาดกลัวและความขัดแย้งในวงกว้าง สงครามแบบใหม่จะใช้ว้วิธีการโจมตีที่สร้างภาพปฏิบัติการที่โดดเด่นและโหดเหี้ยมอำมหิต เช่น บางครั้งจะใช้การฆ่าด้วยวิธีการตัดคอ เผาร่างไร้วิญญานของเหยื่อผู้ถูกกระทำ ฆ่าทหาร หรือพลเรือนเป็นกลุ่มในการซุ่มโจมตีและไล่ยิงหัวผู้บาดเจ็บทีละคน เป็นต้น
การใช้ความรุนแรง มีความหมายอะไรในทางการเมือง?
มีคำถามว่า การใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยม มีความหมายอะไรในทางการเมือง? Gilles Kepel
(2002) ให้คำอธิบายสาเหตุที่ขบวนการอิสลามหัวรุนแรงในหลายประเทศ เช่น อิยิปต์
และอัลจีเรียในช่วงทศวรรษที่ 1990s หันมาใช้วิธีการใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยมในปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็นการสังหารโดยใช้วิธีตัดคอ
หรือวิธีอื่นๆ เพราะความรุนแรงมีบริบทของตัวมันเอง (violence has context)
ตรรกะของยุทธศาสตร์การใช้ความรุนแรงอย่างสุดขั้วก็คือ ผลักดันให้เยาวชนที่เป็นสมาชิกของขบวนการมีอำนาจมากขึ้น หรือขยายอำนาจของคนรุ่นใหม่ที่เป็นพวกตนเข้าไปในพื้นที่เป้าหมาย เช่น ปฏิบัติการความรุนแรงทำให้สมาชิกวัยรุ่นของ Gamma Islamiya มีอำนาจและขยายพื้นที่อิทธิพลในบริเวณรอบกรุงไคโร ในช่วงปี 1992. ในพื้นที่ดังกล่าว คนหนุ่มและวัยรุ่นมีอำนาจเหนือผู้นำรุ่นอาวุโส ปรากฏการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นในอัลจีเรีย ในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างปี 1888-1998 ความรุนแรงจึงเป็นเครื่องมือระดมทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่ง (23)
(23) Gilles Kepel, Jihad:
The Trail of Political Islam, Cambridge, Massachusetts:
Harvard University Press, 2002, pp. 289-291
การใช้ความรุนแรงเพื่อประกาศสงครามเชิงอัตลักษณ์ เป็นสิ่งที่ก่อความรุนแรงอย่างเกินความคาดหมายของนักวิชาการเรื่องอัตลักษณ์
หรือนักคิดในยุคหลังสมัยใหม่ ตัวอย่างเช่น ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา ชาวเซิอร์บบอสเนียใช้วิธีการข่ม่มขืนผู้หญิงมุสลิมเป็นจำนวนกว่าสองพันคนพร้อมกัน
ในลักษณะที่เรียกว่า mass rapes และฆ่าคนบริสุทธ์ที่ไร้อาวุธเป็นจำนวนพัน (24)
ด้วยการปลุกเร้าสำนึกความเกลียดชังในอดีตที่เซอร์บมีต่อมุสลิมและเตอร์ก เรื่องราวที่ปลุกขึ้นมาใหม่เป็นเหตุการณ์เก่า
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1389 และฟื้นความรุ่งเรืองของอาณาจักรเซอร์บตั้งแต่ยุคกลาง
(24) Neil J. Kressel,
Mass Hate The Global Rise of Genocite and Terror, Westview, 2002
อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือความรุนแรงที่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่ความรุนแรงรายวันยังขยายตัวลุกลามออกไป
ดังนั้น การใช้อำนาจการเมืองของกลุ่มคนชายขอบในรูปของสงคราม หรือการเมืองแห่งอัตลักษณ์
อาจจะไม่เป็นอำนาจในทางบวกเสมอไปหากมีเงื่อนไขที่ทำให้ความรุนแรงขยายตัวออกไปจนเกินขอบเขต
และสร้างสัญลักษณ์ที่เลยความหมายเดิมของตนเอง. สิ่งที่น่าคิดก็คือ การต่อสู้กับปรากฏการณ์ดังกล่าว
ต้องอาศัยแนวคิดในการต่อสู้แบบประชาธิปไตย และการสร้างความเป็นธรรมในทางสังคมขึ้นมา
ดังเช่นที่ Kellner อธิบายว่าการใช้วิธีการแบบลัทธิทหาร และรัฐตำรวจเพื่อต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย
อันเป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์กลับจะยิ่งสร้างความไม่มั่นคงและความอ่อนแอให้มากขึ้นกับรัฐและสังคม
เพราะปัจจัยดังกล่าว จะยิ่งจะไปสร้างเงื่อนไขของความขัดแย้งหรือสร้างศัตรูให้กับระบบ
และก่อให้เกิดคลื่นใหญ่กลับมาสู่ระบบที่ดำรงอยู่ได้ ดังนั้นจึงควรยืนยันให้เห็นค่านิยมพื้นฐานและกระบวนการทางสถาบันแบบประชาธิปไตย
(25)
(25) Douglas Kellner,
op.,cit., p. 22
Cosmopolitan factors and civil society
นอกจากนี้ยังต้องให้มีการประสานวิธีการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก
เพื่อการแก้ไขปัญหา แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอของ Mary Kaldor ที่เน้นว่า
จะต้องแก้ปัญหาด้วยรูปแบบการปกครองและการบริหาร (governance) ที่อาศัยความคิดสากลนิยม
(cosmopolitanism). แทนที่จะเป็นการเน้นอัตลักษณ์บนความเชื่อแบบเชื้อชาตินิยมที่คับแคบหรือรุนแรงสุดขั้ว
แนวความคิดแบบมนุษยนิยมจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในรูปแบบการปกครองเพื่อจะแก้ปัญหานี้
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นความขัดแย้งระหว่างพลังแบบใหม่ของลัทธิชาตินิยมตามกลุ่มเชื้อชาติกับค่านิยมประชาสังคม
ฝ่ายที่เน้นชาตินิยมต้องการจะขจัดแนวคิดแบบสากลนิยมบนฐานของมนุษยธรรม ดังนั้นสงครามแบบใหม่ดังกล่าวจึงมิใช่สงครามระหว่างสองฝ่ายสองความเชื่อ
แต่เป็นสงครามที่กระทำ"ต่อประชาชนพลเมืองและต่อต้านพลังแห่งประชาสังคม"
(26)
(26) Mary Kaldor, op.cit,
p.61
ในที่นี้ จะต้องยอมรับว่ารูปแบบของการบริหารการปกครอง (governance) เป็นประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจของการแก้ปัญหาความรุนแรงซึ่งผสมปนเปกับกระแสโลกาภิวัตน์
เพราะเหตุที่ว่ารัฐประชาชาติและชุมชนในจินตนาการในแบบเก่า กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยแล้ว
และที่จริงอาจจะไม่มีอยู่จริงก็ได้ในบริบทความอ่อนแอ เปราะบาง ความขัดแย้งในตัวเอง
และความคลุมเครือของพื้นที่แห่งโลกาภิวัตน์ ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาที่ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนแบบเก่าอย่างเดียว
อาจจะใช้ไม่ได้ผลในการทำสงครามแบบใหม่ หัวใจสำคัญจึงน่าจะอยู่ที่การต่อเชื่อมปัจจัยความเป็นสากลนิยมและประชาสังคม(cosmopolitan
factors and civil society) เข้าด้วยกัน เพื่อให้พลังความเป็นสากลนิยมมีความเข้มแข็ง
และเสริมสร้างความเข้มแข็งของการบริหารการปกครองภายใน (governance)
การดำเนินการดังกล่าวทั้งหมด หมายถึงจะต้องมีโครงการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเพื่อสร้างสภาวะสงบสันติและระเบียบกฎเกณฑ์สังคมขึ้นมา (reconstruction of political, economic, and social conditions for civility) การฟื้นฟูในที่นี้หมายถึง การสร้างอำนาจอันชอบธรรมทางการเมืองขึ้นมาใหม่ (political authorities) แม้จะเป็นเพียงแค่อำนาจในระดับท้องถิ่นและการฟื้นฟูประชาสังคมในความหมายที่ทำให้เกิดกฏหมายและระเบียบทางสังคม และทำให้เกิดเงื่อนไขที่กลุ่มทางการเมืองที่เป็นกลุ่มทางเลือกที่สามสามารถจะเกิดขึ้นได้
การฟื้นฟูนี้จะต้องทำให้เกิดการจัดการทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อมิให้ไปซ้ำรอยกับสถานการณ์ก่อนการปะทุขึ้นมาของความขัดแย้งอย่างรุนแรง ที่สำคัญก็คือ การฟื้นฟูดังกล่าวจะเป็นการปฏิรูปที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยรูปแบบเดิมตามปกติที่เป็นสูตรมาตรฐานทั่วไป ของระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เช่น การจัดการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย หรือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเพื่อให้เกิดกลไกตลาดที่เสรี เพราะกระบวนการเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ตราบใดที่ยังไม่มีเวทีการระดมความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมอย่างเสรีจริงๆ
ภายใต้สภาพการไร้ความสงบสันติ หรือไร้ภาวะกฎหมาย หรือมีบรรยากาศแห่งความกลัว สถาบันทางการเมืองที่มีความหมายจริงๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก เป้าหมายสำคัญของโครงการฟื้นฟูฯ ดังกล่าวก็คือ สร้างความชอบธรรมทางการเมือง (political legitimacy) ด้วยการสร้างกลไกบางอย่างไม่ว่าจะในทางศาสนา การปกครอง อุดมการณ์ หรือค่านิยมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีความเห็นพ้องกับหลักความชอบธรรมอันนี้ อันจะนำไปสู่คำอธิบายว่าทำไมประชาชนจึงต้องเคารพกฎหมาย และองค์กรที่บังคับกฎหมาย (ไม่ว่าทหารหรือตำรวจ) จึงต้องทำงานตามคำสั่งที่ถูกต้องและชอบธรรม
ในทุกสังคมจะต้องมีความสัมพันธ์อันซับซ้อน ระหว่างกระบวนการทางการเมืองการปกครอง และการบริหารที่เรียกว่า governance กับหลักของความชอบธรรม (legitimacy) หรือความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการในเรื่องราวชีวิตมนุษย์ กับปัญหาว่าอำนาจการปกครองดังกล่าวมีพื้นฐานจากอะไร นอกจากนี้แล้ว ทั้งการปกครองการบริหารกับหลักของความชอบธรรม มีความสัมพันธ์กับปัญหารูปแบบของความมั่นคงด้วย. "ความมั่นคง"ในที่นี้หมายถึงความสามารถในการควบคุมความรุนแรงที่มีการจัดตั้ง ความสามารถในการรักษาระเบียบและปกป้องประชาชนจากความรุนแรง แต่ในทำนองเดียวกันไม่มีทางที่ใครจะควบคุมความรุนแรงได้ ถ้าขาดอำนาจความชอบธรรม
4. ตัวแบบการสร้างความสมานฉันท์ ขจัดความไม่ไว้วางใจ
และขจัดอคติและความเกลียดชัง
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า การเมืองชายขอบและการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์อาจจะมีทั้งด้านบวกและด้านลบ
ในกระบวนการดังกล่าว ทำให้เราต้องวิเคราะห์วิธีการและแนวทางการจัดการปัญหาแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนตามไปด้วย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน
และมีความเชื่อมโยงกันหลายมิติ พื้นฐานปัญหาที่แท้จริงเกิดจากความต้องการมีส่วนร่วม
การดำรงอยู่ในสังคมไทยบนพื้นฐานของความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ในขณะที่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยเท่านั้น
ได้ใช้เงื่อนไขในอัตลักษณ์เฉพาะดังกล่าวมาขยายผลในการก่อความไม่สงบ ทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัว
ความไม่ไว้วางใจระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในสภาพของความหวาดกลัว
เป็นอุปสรรคในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ (27)
(27) คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่
206/2549 เรื่อง นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
การวิเคราห์ดังกล่าวสอดคล้องกับเอกสารรายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ
(28) ที่อธิบายสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นปัญหาสั่งสมกดทับทับมาเป็นเวลานับศตวรรษ
ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา และสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการสะสมการรับรู้เชิงลบจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
และการถูกเลือกปฏิบัติ ยิ่งไปกว่านั้น สภาพการณ์ดังกล่าวยังถูกตอกย้ำด้วยสำนึกทางประวัติศาสตร์
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความภาคภูมิใจ แต่ไม่ได้รับการยอมรับความจริงทางประวัติศาสตร์
ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาหรือปัญญาชนส่วนใหญ่ ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม
ความเสมอภาคไม่ถูกเลือกปฏิบัติ มีการใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมด้วยหลักนิติธรรม
ได้รับโอกาสการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชน การได้รับเกียรติในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
และการได้รับการยอมรับในความจริงของอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เป็นความภาคภูมิใจของประชาชนมาเป็นเวลายาวนาน
แต่เมื่อพยายามเรียกร้องผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กลับถูกมองจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยสายตาที่หวาดระแวง
หาไม่ก็ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยสิ้นหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยสันติวิธี
จึงหันไปหาวิธีรุนแรง ยิ่งเมื่อได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนหนึ่ง ความรุนแรงนั้นก็ยิ่งลุกลามแพร่ขยายมากขึ้น
(28) เอกสาร(ฉบับร่าง)ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
ในคณะกรรมการ กอส. หน้า 1 - 10 ปี 2549.
จากที่กล่าวมา การพัฒนาและแสวงหาวิธีจัดการความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ และเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น
วิธีการจัดการความขัดแย้งที่เหมาะสม จึงเป็นหัวใจสำคัญที่มีผลต่อทิศทางการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่ปรารถนา ดังนั้นยุทธศาสตร์สันติวิธีเพื่อความมั่นคงของชาติ
จึงต้องได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย และผลักดันให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้เพื่อลดความระส่ำระสายในสังคม และป้องกันการขาดศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย
(29) เพราะสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ประชาชนเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนาดังกล่าวนั้น
สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยสันติวิธี ขณะเดียวกันรัฐเองก็ต้องยอมรับว่า การขัดขืนต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนต้องการนั้น
ย่อมไม่สามารถทำให้เกิดสันติสุขขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรยอมรับความเปลี่ยนแปลงโดยส่งเสริมให้เป็นไปอย่างสันติ
(29) คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่
187/2546 เรื่อง นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เพื่อให้การดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สามารถระงับและคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เกิดความสมานฉันท์และไว้วางใจในระดับที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาทั้งทางด้านสังคม
เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ด้วยการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมีบูรณาการ
มีเอกภาพในการปฏิบัติงานเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพร่วมกับการใช้พลังสร้างสรรค์ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย
ตลอดจนทุกคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสงบสุข
บนเอกลักษณ์เฉพาะของศาสนาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการที่ชาวไทยมุสลิม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่
"อยู่อย่างมุสลิมในสังคมไทย" เช่นเดียวกับศาสนิกกลุ่มอื่นที่เป็นสมาชิกของสังคมไทยเช่นกัน
ในขณะเดียวกันก็เป็นพลังสร้างสรรค์ที่สำคัญของชาติในฐานะที่เป็นพลเมืองไทย และอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมชาติอย่างมีความสุข
มีความสามัคคีร่วมกัน ทุกคนเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นพลังและปัญญาที่ช่วยให้เกิดความมั่นคง
สันติสุข และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเป็นพลังสำคัญที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในทางสร้างสรรค์และการพัฒนาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน
และประชาคมมุสลิม ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสและบทบาทในการมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาและการพัฒนา
และการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคม เพื่อปกป้องวิถีชีวิตของคนในสังคมจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันจากภายนอก
(30)
(30) อ้างอิงจากเอกสารนโยบายความมั่นคงแห่งชาติฯฉบับปัจจุบัน
ปี พ.ศ.2542-2546.
ด้วยความสำคัญของปัญหาและเป้าหมายที่กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการการจัดทำยุทธศาสตร์สันติวิธี
จึงได้ริเริ่มจัดกระบวนการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น
ก่อนที่จะนำข้อมูลในภาคประชาชนมาดำเนินการจัดทำเป็นยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
ภายใต้แนวคิดที่ว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างสันตินั้นเกิดขึ้นได้หากรัฐและประชาชนมีความไว้วางใจ
และหันมาร่วมมือกันเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกัน ก็เปิดพื้นที่สันติวิธีให้มากขึ้นด้วยการส่งสัญญาณทิศทางสันติวิธีให้ชัดเจน
ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติโดยให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง
เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ ไม่สับสนและยึดมั่นการใช้สันติวิธีเพื่อเป็นหนทางสู่การเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนา
โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อสันติวิธี ตลอดจนมีทักษะที่เอื้อให้สามารถจัดการความขัดแย้งได้ด้วยสันติวิธี
รวมไปถึงการสร้างเงื่อนไขในทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
โดยอาศัยภูมิปัญญาทางศาสนา และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมสันติวิธีอยู่แล้วเป็นบรรทัดฐาน
กล่าวโดยสรุป ผลจากการสังเคราะห์แนวคิดในเรื่องอัตลักษณ์และความเป็นชายขอบ รวมทั้งการศึกษาวิธีการจัดการความขัดแย้งของรัฐไทยในทางยุทธศาสตร์และนโยบายเพื่อแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขั้นต้นสรุปได้ว่า นโยบายของรัฐ รวมทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการที่ผ่านมาสะท้อนออกมาในนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2542-2546 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 187/2546 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 206/2549 และรายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เรื่อง "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์"
องค์ความรู้และแนวคิดในทางยุทธศาสตร์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นแนวทางสันติวิธี สมานฉันท์ และการแก้ไขปัญหาความจัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้บนพื้นฐานขององค์ประกอบ 3 ประการคือ
1. การสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินนโยบาย คือ แนวทางความสมานฉันท์และการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี
2. การฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับรัฐ ระหว่างประชาชนมุสลิมกับประชาชนชาวพุทธ และชุมชนชายแดนไทยมาเลเซีย
3. ปัจจัยสุดท้ายก็คือ การขจัดความเกลียดชังและอคติในสังคมไทย
การสร้างบรรทัดฐานใหม่ในแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์เป็นที่มาของการกล่าวถึงเรื่องความสมานฉันท์และสันติวิธีในนโยบายรัฐปัจจุบัน แต่ความสมานฉันท์เป็นเรื่องนามธรรมในระดับค่านิยมและความคิดความเชื่อ รูปธรรมนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องมีรายละเอียดอีกมากในการดำเนินการ ซึ่งก็มาเกี่ยวพันกับปัจจัยที่สองก็คือ "การฟื้นคืนความไว้วางใจ" อันเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการในทางโครงสร้าง ในที่นี้สิ่งที่สำคัญก็คือโครงสร้างการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาการลงทุน ความยากจน และการว่างงาน
นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องโครงสร้างความยุติธรรมในระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่และการพัฒนามนุษย์ ปัญหาโครงสร้างประชากร รวมทั้งปัญหาอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นธรรม ซึ่งประเด็นทรัพยากรนี้เกี่ยวพันกับเรื่องของสิทธิอำนาจของชุมชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ทะเล ที่ดินทำกิน ภูเขาและป่า เป็นต้น. ส่วนปัจจัยสุดท้ายที่กล่าวถึง การขจัดความเกลียดชังและอคติในสังคมเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเกี่ยวพันกับปัจจัยในเชิงวัฒนธรรม เป็นประเด็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภาษาของคนมลายูปาตานี เรื่องของศาสนาอิสลามและวิถีชีวิตแบบมุสลิมของคนมลายูปาตานี และเรื่องสำนึกทางประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐสยามกับรัฐมลายูอิสลามปาตานี
นอกจากปัจจัยต่างๆ 3 ประการที่กล่าวมานี้ ยังมีประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยในทางปฏิบัติอีกหลายอย่าง ที่จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย ตัวอย่างเช่น โครงสร้างการเมืองการปกครองที่ยุติธรรม การจัดการในด้านความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงปลอดภัยของชุมชน บทบาทของกองกำลังทหารและตำรวจในพื้นที่ความมั่นคง. คณะกรรมการการจัดทำยุทธศาสตร์สันติวิธี ได้สรุปแนวทางในการระดมความคิดเห็น และประเด็นสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากภาคประชาชน และพัฒนาตัวแบบนโยบายต่อไป
การจะเข้าใจว่าแนวคิดสมานฉันท์ การแก้ปัญหาความไม่ไว้วางใจ การขจัดอคติและความเกลียดชังเกี่ยวกันเป็นเนื้อเดียวอย่างไร ในกระบวนการก่อให้เกิดปัญหาและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องมองลึกไปที่ "ปัญหาใจกลาง" ของปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. จากการระดมความคิดเห็นของผู้นำและประชาชนในกลุ่มต่างๆ รวมทั้งการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ได้มาก็คือ ความสำคัญของประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ ซึ่งในที่นี้เป็นการผสมผสานขององค์ประกอบใน 3 ด้าน ได้แก่
- ความรู้สึกในชาติพันธุ์มลายูซึ่งแสดงออกในการใช้ภาษามลายูท้องถิ่น (ยาวี)
- วัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตแบบมลายูโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดภาคใต้ ความผูกพัน วัตรปฏิบัติ และ
- ศรัทธาในศาสนาอิสลามของคนมลายูปาตานี ซึ่งมีลักษณะพิเศษ และความสำนึกในประวัติศาสตร์ของรัฐมลายูปาตานีที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน
ในปี ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) เป็นปีสำคัญซึ่งนักประวัติศาสตร์มลายูบันทึกว่า เป็นปีที่เมืองปาตานีสูญเสียอำนาจอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ การสูญเสียอธิปไตยของบรรดารายา และชาวเมืองปาตานี นับเป็น "ปีแห่งความอัปยศในประวัติศาสตร์ปาตานี" เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากนั้น ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ แต่ก็ได้ถูกจัดการให้กลายเป็นความเป็นจริงในจินตนาการของคนจำนวนหนึ่ง จนกลายเป็น "ความจริงเสมือน" ก่อรูปกันเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ทางการเมืองของคนมลายูปาตานี ที่มีวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม และภาษาพูดของมลายูท้องถิ่นเป็นตัวเชื่อมโยงที่สำคัญ มีคำอธิบายวาทกรรมทางศาสนาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งมาเสริมแรงให้ชัดเจนรุนแรงยิ่งขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ
ความรู้สึกต่อความอยุติธรรม หรือความไม่เป็นธรรม ที่อัตลักษณ์ดังกล่าวข้างต้นถูกกดดัน
กีดกัน หรือเชื่อว่าถูกทำลายโดยรัฐไทยหรือนโยบายรัฐหลายอย่างนับแต่ในอดีต. ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์และความยุติธรรมจึงถูกเชื่อมโยงกันอย่างแนบสนิท
บนพื้นฐานวาทกรรม
เหล่านี้. ข้อขัดแย้งในเรื่องอัตลักษณ์เป็นความสำนึกที่เชื่อว่า เกิดจากความไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ต้นทาง
ความอยุติธรรมเกิดจากการที่รัฐไทย เจ้าหน้าที่รัฐไทย ปฏิบัติต่อคนมลายูมุสลิมปาตานีอย่างไม่เป็นธรรมต่ออัตลักษณ์
สิ่งที่เกิดตามมาคือ ความไม่ไว้วางใจ ความหวาดระแวงและความมีอคติในแง่ต่างๆ ในนโยบาย
โครงสร้างและกระบวนการของรัฐ การแก้ปัญหาก็คือ การจัดการให้รัฐปรับตัวเพื่อที่จะให้นำไปสู่การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและอคติ
ที่มาจากประเด็นชาติพันธุ์และศาสนาดังกล่าว วงจรความรู้สึกขัดแย้งจะวนกลับไปกลับมา
เมื่อรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาอัตลักษณ์ได้ ตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน
จากการวิเคราะห์ปัญหาใจกลางดังกล่าว
ทำให้ได้ข้อสรุปแนวคิดในทางยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปมปัญหาดังกล่าว โดยผ่านการปรับตัวของโครงสร้างและกระบวนการแห่งรัฐ
(state transformation) เพื่อสร้างรัฐที่มีความยุติธรรมและสันติอย่างแท้จริง
เพื่อปรับแก้ปัญหาที่โครงสร้างหรือนโยบายหรือกิจกรรมความรู้สึกหวาดระแวง, ไม่ไว้วางใจและอคติ,
ความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากอัตลักษณ์, การจัดการและโครงสร้างของรัฐที่กดดัน
ปิดกั้นและกีดกันอัตลักษณ์ของรัฐไปกดทับหรือกีดกันอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ศาสนา
และประวัติศาสตร์ของสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ปัญหาในโครงสร้างดังกล่าวในอีกชั้นหนึ่ง
ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความรู้สึกหวาดระแวงไม่ไว้วางใจ และแก้ปัญหาที่มาแห่งความมีอคติและความเกลียดชังในสังคม
นี่คือเนื้อหาที่แท้จริงของนโยบายและยุทธศาสตร์สมานฉันท์ ทำให้เกิดการร่วมมือกันอย่างแท้จริงในสังคมและรัฐที่มี
ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
แนวทางการจัดการให้เกิดการแก้ปัญหาอัตลักษณ์และการกดทับประชากรในกลุ่มชายขอบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ การทำให้เกิดรัฐแห่งความยุติธรรม ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ทั้งหมด 7 ยุทธศาสตร์ ซึ่งได้มาจากการประมวลและสังเคราะห์ข้อคิดเห็นและการเสนอแนะของผู้นำ และประชาชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
1. ยุทธศาสตร์ความยุติธรรมทางกฎหมาย
2. ยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อความยุติธรรมและบูรณาการ
3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยุติธรรม
4. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรเพื่อความยุติธรรม
5. ยุทธศาสตร์ระบบราชการเพื่อความยุติธรรม
6. ยุทธศาสตร์ชุมชนมั่นคงและการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น
7. ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อสันติ
1. ยุทธศาสตร์ความยุติธรรมทางกฎหมาย ลักษณะสำคัญของยุทธศาสตร์ความยุติธรรมก็คือการสถาปนาความชอบธรรมของรัฐ ด้วยการใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม กฎหมายที่กล่าวถึงมี 2 แบบคือ กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก เช่น
- กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา รวมทั้งกฎหมายพิเศษในพื้นที่ คือกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- ส่วนที่สองก็คือกระบวนการยุติธรรมทางเลือกซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมและศาสนา
ข้อที่พึงสังเกตก็คือ จากการระดมความคิดเห็น คนมีความคิดเห็นว่าตัวบทกฎหมายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่นำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องหรือเจ้าหน้าที่รัฐเองก็มีปัญหา กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายจึงต้องได้รับการแก้ไขและปรับปรุงให้เกิดความยุติธรรมในการปฏิบัติจริงๆ ต่อประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะคือมุสลิม นอกจากนี้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่ให้ความสำคัญกับการนำเอาหลักศาสนาอิสลามมาใช้ในกฎหมาย และการให้ความสำคัญกับดาโต๊ะยุติธรรมในการพิจารณาคดี รวมทั้งให้ความสำคัญแก่ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำชุมชนในการอำนวยความยุติธรรม
2. ยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อความยุติธรรมและบูรณาการ
ยุทธศาสตร์ความยุติธรรมในการศึกษาหมาย ถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษาที่สอดคล้องกับประชาชนในพื้นที่
ในที่นี้หมายถึงการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และสถาบันปอเนาะ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอัตลักษณ์มลายูและอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากข้อเสนอของประชาชน แนวคิดที่สำคัญก็คือการบูรณาการ ควรมีการบูรณาการระบบการศึกษาให้มีทั้งสายสามัญและสายศาสนาให้ควบคู่กัน
ในนโยบายการศึกษาจะต้องส่งเสริมโรงเรียนสามัญศึกษาประจำอำเภอหรือตำบล ให้นำหลักสูตรอิสลามศึกษามาบูรณาการในการเรียนการสอน
นอกจากนี้ยังต้องควรส่งเสริมให้มีการรับบุคลากรในพื้นที่เป็นบุคลากรครูเพิ่มมากขึ้น
พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ประเด็นที่มีการพูดกันมากก็คือ การยอมรับฐานะครูของสอนศาสนาที่จบการศึกษาจากตะวันออกกลาง
โดยเปิดโอกาสและยอมรับสถานภาพของครูสอนศาสนาเหล่านี้ ตัวอย่างวิธีการก็คือ ยกฐานะของครูสอนศาสนามาเป็นพนักงานของรัฐ
และมีการจัดตั้งคณะกรรมการหรือองค์กรขึ้นมาดูแลบริหารบุคลากรด้านการสอนศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม
เป็นต้น
ประเด็นยุทธศาสตร์เรื่องการศึกษา ยังรวมไปถึงหัวใจสำคัญของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็คือประเด็นภาษามลายู จึงต้องมีการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนในระบบ 2 ภาษา และยอมรับการใช้ระบบ 2 ภาษาในการทำงาน เน้นเนื้อหาสาระของศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ในระบบการศึกษาให้มากขึ้น นอกจากนี้เนื่องจากมีการใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการระดมทางการเมือง ตามแนวทางการเมืองเพื่ออัตลักษณ์ของมลายูปัตตานี ยุทธศาสตร์การศึกษาแบบบูรณรการจึงต้องจัดการกับปัญหาเรื่องประวัติศาสตร์อย่างมีเหตุผล มีองค์กรที่รับผิดชอบในการศึกษาและจัดทำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ถูกต้อง และมีความน่าเชื่อถือ มีการบรรจุประวัติศาสตร์ปัตตานี และประวัติศาสตร์อิสลามที่ถูกต้องเผยแพร่แก่ประชาชน และบรรจุในหลักสูตรการศึกษาร่วมกับประวัติศาสตร์ไทย เพื่อเป็นการยอมรับและเปิดพื้นที่ให้กับอัตลักษณ์ท้องถิ่นในระบบการศึกษา
3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยุติธรรม เรื่องของความไม่เป็นธรรมยังถูกนำมาใช้อ้างในปัญหาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นปัญหาที่สำคัญก็คือการขาดโอกาสการพัฒนาของคนท้องถิ่น การสร้างงาน และการประกอบอาชีพให้คนในท้องถิ่น สิ่งที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจก็คือ ทุน และการระดมทุนให้กับคนมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งยังมีจำกัดและกีดกันจนทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม รัฐควรสนับสนุนและสร้างความเข้มแข้งให้แก่กลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน ควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจและวิสาหกิจชุมชน โดยเน้นให้การสนับสนุนด้านความรู้ในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพของกลุ่มออมทรัพย์ และให้การสนับสนุนด้านโครงการขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่
4.
ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรเพื่อความยุติธรรม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนโดยท้องถิ่นและชุมชน
เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ฐานเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเข้มแข็ง
และเป็นตัวเสริมสร้างศักยภาพชุมชนที่สำคัญ ทั้งในพื้นที่ชุมชนประมงชายฝั่ง เขตป่าและที่ราบลุ่ม
เขตป่าพรุ พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่ของชุมชนที่อาศัยฐานทรัพยากรเพื่อความอยู่รอดและต้องการฐานทรัพยากรเหล่านี้เพื่อรักษาชีวิตและสวัสดิการชุมชนไว้
สาระสำคัญของยุทธศาสตร์นี้ก็คือการรักษาทรัพยากรให้ชุมชนมีส่วนร่วม และฟื้นฟูทรัพยากรโดยองค์กรชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น
5. ยุทธศาสตร์ระบบราชการเพื่อความยุติธรรม ระบบราชการที่สะท้อนลักษณะของประชากรและสังคม
(representative bureaucracy) เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดการบริหารงานที่ดีแบบธรรมาภิบาล
(good governance) นอกจากนี้ปัญหาเรื่องการย้ายข้าราชการที่เป็นคนมาจากที่อื่นและมีความผิด
เป็นปัญหาเดิมที่จะต้องให้ความสนใจ การพิจารณาให้คนในพื้นที่ซึ่งเป็นคนมุสลิมและพุทธ
ซึ่งมีความรู้ความสามารถเข้าทำงานโดยให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกในการสอบคัดเลือก
และการบรรจุแต่งตั้ง ที่เรียกว่า มาตรการยืนยันการคุ้มครองสิทธิแบบเข้มข้นหรือ
affirmative action ซึ่งเป็นตัวแบบการแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดในสังคมที่มีปัญหาขัดแย้งทางด้านอัตลักษณ์
6. ยุทธศาสตร์ชุมชนมั่นคงและการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่น
เนื่องจากชุมชนท้องถิ่นหรือหมู่บ้านเป็นฐานการต่อสู้ที่สำคัญในการเมืองแห่งอัตลักษณ์
และเป็นสนามรบที่สำคัญในการใช้ความรุนแรงหรือการก่อความไม่สงบ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์การก่อความรุนแรงส่วนใหญ่จะอยู่ที่หมู่บ้าน
และเป้าของความรุนแรงส่วนมากที่สุดจะเป็นพลเรือนหรือชาวบ้านโดยทั่วไป ดังนั้น
การทำให้ชุมชนมีความสงบและความมั่นคง จึงเป็นปัจจัยชี้ขาดในการแก้ปัญหาความไม่สงบ
ยุทธศาสตร์ชุมชนมั่นคงก็คือ สร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างอำนาจผู้นำในชุมชน
บทบาทผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้นำตามธรรมชาติ จะต้องถูกเสริมสร้างอย่างจริงจัง
ถ้าสามารถทำให้ผู้นำมีความเข้มแข็งและป้องกันตนเองได้ การกระจายอำนาจการบริหารและการปกครอง
เช่น การตั้งสภาซูรอ หรือสภาชุมชน เป็นตัวช่วยความเข้มแข็งของชุมชน รัฐควรสนับสนุนหมู่บ้านพัฒนาและป้องกันตนเองโดยใช้การกระจายอำนาจออกสู่ตำบล
หมู่บ้าน โดยเน้นบทบาทผู้นำชุมชนหรือท้องถิ่น. รูปแบบการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย
ควรจะได้มีการดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบของกฏหมายการปกครองท้องถิ่น และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ให้ท้องถิ่นสามารถจัดการการปกครองตนเองได้ให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น
ในเรื่องการก่อความไม่สงบนั้น รัฐอาจจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและป้องกันตนเองได้ ข้อเสนอที่ได้รับการเรียกร้องมากที่สุดก็คือการถอนทหารออกจากพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขให้ชุมชนบางแห่งที่ปกป้องรักษาตนเองได้ ให้ผู้นำท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการเอง มีตำรวจชุมชนและกระบวนการยุติธรรมชุมชนเป็นตัวเสริมสร้างความมั่นคงของชุมชน
7. ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อสันติ
การสื่อสารคือยุทธการที่สำคัญของการเมืองแห่งอัตลักษณ์
ดังนั้น การสื่อสาร การให้ความหมาย และการแย่งชิงพื้นที่การตีความ จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อสร้างสันติในชุมชน
บทสรุป
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าการเมืองชายขอบ กลายเป็นประเด็นการศึกษารัฐศาสตร์ เพราะมีผลกระทบต่อวิธีคิดทางรัฐศาสตร์ในเรื่องรัฐและความมั่นคง
เราได้เห็นการต่อสู้ของคนชายขอบในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำให้เกิดการเมืองอัตลักษณ์แบบใหม่
และความรุนแรงแบบใหม่ ในกระบวนการการเมืองดังกล่าวได้เกิดการต่อสู้อย่างรุนแรง
และทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้การเมืองอัตลักษณ์แบบใหม่ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่มีความอ่อนไหวต่อความรู้สึก และความขัดแย้งในทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องศาสนาและชาติพันธุ์ การศึกษาในเรื่องการเมืองชายขอบจึงมีผลกระทบอย่างมาก ต่อประเด็นสิทธิเสรีภาพ การใช้ความรุนแรงเพื่อยืนยันอัตลักษณ์มีผลกระทบต่อชีวิต ความคิดและความรู้สึกของคนในสังคม
ในท้ายที่สุดการเมืองแห่งอัตลักษณ์ มีผลกระทบอย่างมากต่อประเด็นปัญหาเรื่องอำนาจ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจของกลุ่มคนในสังคม ซึ่งการจัดการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความรับรู้ในเรื่องรัฐ โครงสร้างอำนาจ และการจัดการของรัฐในสังคมประชาธิปไตยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยุทธศาสตร์และแนวทางในการแก้ปัญหาจึงถูกเสนอขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
การเสนอชุดของยุทธศาสตร์ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของตัวแบบการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เพื่อสร้างสภาวะสงบสันติและระเบียบกฎเกณฑ์สังคมในบริบทโลกาภิวัตน์ดังกล่าวข้างต้น จุดมุ่งหมายของการฟื้นฟู ก็เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง ด้วยการสร้างกลไกที่ประชาชนมีความเชื่อหรือเห็นพ้องกับหลักความชอบธรรมนี้ เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นใจ ไว้วางใจ ลดความหวาดระแวงและความเกลียดชังที่มีต่อกัน เมื่อมีความไว้วางใจ การเคารพกฎหมาย และองค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย (ไม่ว่าทหารหรือตำรวจ) ก็จะทำหน้าที่ได้มากขึ้น จุดที่น่าสนใจก็คือชุดของนโยบายเพื่อปฏิรูปการเมืองการบริหารนี้น่าจะนำมาสู่รูปแบบการจัดการด้านความมั่นคงในท้ายที่สุด นอกจากนี้แล้ว การสร้างรูปแบบการบริหารการปกครองที่เกิดขึ้นยังต้องอาศัยการกระจายอำนาจ โดยเน้นที่กลไกของท้องถิ่นและชนชั้นนำของท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มปัจจัยในด้านค่านิยมประชาธิปไตยและสากลนิยมตามตัวแบบที่เสนอไปแล้ว
อย่างไรก็ดี การพัฒนาตัวแบบดังกล่าวจะต้องเสริมด้วยการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองตามแนวทางของสากลนิยมหรือ cosmopolitanism ในกระบวนการนี้การสร้างเครือข่ายขององค์กรการปกครองท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานด้านการพัฒนาของภาครัฐกับองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ อาจจะเป็นประโยชน์ในเปิดพื้นที่การพัฒนาภาคประชาสังคมและสร้างความชอบธรรมในการบริหารการพัฒนาของรัฐ กระบวนการดังกล่าวเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างเขตท้องถิ่นที่มีความสงบและปลอดภัย (islands of civility) ไม่ว่าจะเป็นการปกครองท้องถิ่น องค์กรชุมชน หรือองค์กรประชาชนกับสถาบันการศึกษา และองค์การระหว่างประเทศ เครือข่ายของพื้นที่ท้องถิ่นที่มีความสงบและปลอดภัยที่มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ จะช่วยสร้างกระบวนการประชาสังคมอันเป็นทางเลือกที่สามให้แก่การพัฒนา รวมทั้งทำให้เกิดภาวะประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(deliberative democracy) เพื่อฟื้นฟูสภาพความสงบปลอดภัย สร้างแบบอย่างของหลักนิติธรรมและสันติภาพ ในเมื่อพื้นที่สงบและปลอดภัยดังกล่าวขยายตัวออกไปก็จะเกิดเขตแห่งความสงบ (zone of civility) ที่ขยายตัวออกไปและลดความชอบธรรมของเขตสงคราม (zone of wars)
ย้อนกลับไปทบทวนเรื่องเดียวกัน
ภาค ๑
(นักศึกษา สมาชิก ผู้สนใจทุกท่านประสงค์อ่านต้นฉบับในรูป pdf คลิกเพื่อ download)
ย้อนกลับไปทบทวนเรื่องเดียวกัน
ภาค ๑
คลิกไปอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกันนี้
ตอนที่ ๓
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com