โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๙๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ (Febuary, 29, 02, 2008) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกราคม ๒๕๕๐)

29-02-2551

MIGRANT WORKERS
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า กรณีศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร
ยุทธศาสตร์การอยู่รอดของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ : ผู้วิจัย
ส่วนหนึ่งของงานวิทยานิพนธ์ สาขาพัฒนาชนบทศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการไม่เกี่ยวข้องกับผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้วิจัย ซึ่งเป็นส่วนบทนำของวิทยานิพนธ์
สาขาพัฒนาชนบทศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง
ยุทธศาสตร์การอยู่รอดของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า: กรณีศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร
SURVIVAL STRATEGIES OF MIGRANT WORKERS FROM MYANMAR:
A CASE STUDY IN BANGKOK, THAILAND

ในส่วนบทนำ จะกล่าวถึงความสำคัญและที่มาของการศึกษา
วัตถุประสงค์การวิจัย และวิธีการวิจัย พร้อมรายงานผลดังนี้
1) ความเป็นมาของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
2) การดำเนินชีวิตและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
3) กระบวนการกลายเป็นกลุ่มคนชายขอบที่ถูกกดทับ(Subaltern group) ของแรงงานข้ามชาติพม่า
4) แนวทางการดิ้นรนต่อสู้ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ในการเผชิญกับสภาวะความกดดันต่างๆ
ในส่วนท้ายของงานชิ้นนี้เป็นข้ออภิปรายทางทฤษฎี และ
ข้อเสนอแนะ : มุมมองใหม่ในการทำความเข้าใจเรื่องแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๙๕
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า กรณีศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร
ยุทธศาสตร์การอยู่รอดของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ : ผู้วิจัย
ส่วนหนึ่งของงานวิทยานิพนธ์ สาขาพัฒนาชนบทศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ความสำคัญและที่มาของการศึกษา
ในยุคโลกาภิวัตน์การย้ายถิ่นข้ามพรมแดนเป็นสภาวการณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญของรัฐบาลแทบทุกประเทศ การย้ายถิ่นข้ามชาติเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลกในสามช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 เป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ จำนวนมาก มีการคาดว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ จะเป็นศตวรรษของการย้ายถิ่นข้ามชาติ และตัวปรากฏการณ์นี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประชาคมโลกมาก่อน

"แรงงานข้ามชาติ"หรือที่เรียกตามภาษาราชการว่า "แรงงานต่างด้าว" เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง โดยมีลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์กับอีกสังคมและ/หรืออีกวัฒนธรรมหนึ่งผ่านการว่าจ้างแรงงาน ซึ่งการเคลื่อนย้ายลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในแทบทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารคมนาคมมิได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของมนุษย์ดังเช่นอดีต ผนวกรวมกับปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่มีความรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า "แรงงานข้ามชาติ" เป็นอาการอย่างหนึ่งอันเกิดจากภาวะ "ทุนนิยมโลกาภิวัตน์"

กรณีของประเทศพม่านั้น การย้ายถิ่นนับเป็นลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากประเทศลาวและกัมพูชา นอกจากปัจจัยจากประเทศต้นทางทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ปัจจัยทางด้านการเมืองมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการย้ายถิ่น โดยเฉพาะในเรื่องของความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิต จากสภาพการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลไทยได้แก้ปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติระดับล่างจากประเทศพม่ากลุ่มนี้ ให้เป็นแรงงานที่สามารถผ่อนผันให้ทำงานในประเทศไทยได้ชั่วคราว โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2535 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีของการเริ่มต้นจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ และได้มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันอีก 9 ครั้งต่อมา เป้าหมายสำคัญของนโยบายดังกล่าวเพื่อสามารถจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันจากภาคธุรกิจเอกชนที่อาศัยแรงงานเหล่านี้

นอกเหนือจากการจัดการกับการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า โดยอาศัยกฎหมายเข้ามาจัดการในรูปของนโยบายที่ปรากฏขึ้นในแต่ละปีแล้ว ยังมีงานศึกษาทางวิชาการอีกจำนวนหนึ่งที่ได้แสดงให้เห็นเพิ่มเติมว่า การย้ายถิ่นข้ามชาติของแรงงานที่มาจากประเทศพม่าเป็น "ปัญหา" ที่ต้องได้รับการจัดการด้วย มุมมองดังที่กล่าวมา ล้วนสร้างภาพแรงงานข้ามชาติระดับล่างที่มาจากประเทศพม่าไปในเชิงลบ ทั้งที่เป็นการดูถูกเหยียดหยาม การกีดกันออกจากกลุ่ม การประทับตราจากสังคม ฯลฯ

น้ำเสียงในลักษณะนี้ ปรากฏสู่สาธารณะปะปนกับการมองพวกเขาในฐานะของกลุ่มคนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้เองได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่กล้าเปล่งเสียงในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่มีสิทธิ มีเสียง มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เหมือนกับคนทั่วๆ ไป ในขณะเดียวกันแม้ว่าพวกเขาจะพยายามส่งเสียง แต่เสียงของพวกเขาก็ไม่ได้ยินหรือสนใจฟังอย่างแท้จริง สถานการณ์เหล่านี้เองมีส่วนอย่างสำคัญในการเบียดขับให้แรงงานข้ามชาติจากพม่ากลายเป็นบุคคลชายขอบของกลุ่มชนชายขอบที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

ผู้ศึกษาเห็นแตกต่างจากข้างต้น กล่าวคือ มองว่าแรงงานข้ามชาติจากพม่าโดยเฉพาะ แรงงานไร้ฝีมือระดับล่าง (Unskilled labor) มีส่วนสร้างความเจริญทางด้านเศรษฐกิจต่อสังคมไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจภาคประมงทะเล ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมของการส่งออกในระดับต้นๆ ของประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันสังคมไทยก็มีองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้น้อยมาก เราเลือกที่จะรู้จักแต่เพียงมิติใดเพียงมิติหนึ่ง แต่ขาดการมองทุกมิติและการตีความจาก "คนใน". ชีวิตของแรงงานข้ามชาติคนหนึ่ง จะมีหลายสถานะและหลายมิติ วันนี้มีแรงงานข้ามชาติระดับล่างจำนวนมากอยู่ในสังคมเดียวกับเรานับล้านคน ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการศึกษาให้เห็นถึงวิถีชีวิตของแรงงานข้ามชาติระดับล่าง เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมไทยที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม

การศึกษาครั้งนี้เลือกศึกษาวิเคราะห์แรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่าระดับล่าง ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในโครงการพัฒนาความรู้และให้การศึกษาแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่า (DEAR BURMA) ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า เป็นกลุ่มศึกษา. เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานข้ามชาติระดับล่างที่หลากหลายประเภท เช่น งานก่อสร้าง งานรับใช้ในบ้าน งานโรงงาน งานกรรมกร จากการมาลงทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติในปี 2548 ปรากฏว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแรงงานข้ามชาติที่มาจากพม่าลงทะเบียนมากที่สุด คือ 105,779 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติที่มารายงานตัวและขอใบอนุญาตทำงานทั่วประเทศ (เฉพาะที่มาจากพม่าเท่านั้น) รวมทั้งสิ้น 633,692 คน และอาชีพที่มาลงทะเบียนมากที่สุดก็คืออาชีพแม่บ้าน

นอกจากนั้นกรุงเทพมหานครยังมีลักษณะของความเป็นเมืองสูงมาก ซึ่งแรงงานข้ามชาติระดับล่างที่มาจากประเทศพม่าส่วนใหญ่ จะอพยพมาจากหมู่บ้านในชนบท ทำให้เห็นว่าแรงงานเหล่านี้ต้องปรับตัวมากกว่าแรงงานที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ คือ

- ลักษณะแรก เป็นการปรับตัวระหว่างความต่างทางวัฒนธรรม คือ วัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมในประเทศพม่า
- ลักษณะที่สอง คือการปรับตัวของผู้ที่ใช้ชีวิตในชนบท ที่ต้องกลายมาเป็นแรงงานในภาคเมือง

ผู้ศึกษาไม่ได้มองว่า แรงงานข้ามชาติระดับล่างที่มาจากประเทศพม่าเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมผิดปกติ เป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ต้องได้รับการควบคุมหรือจัดการ เนื่องจากการมองปรากฏการณ์การเข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทยว่าเป็นปัญหาในสังคมก็ดี หรือการมองว่าพวกเขาเป็นเพียงเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ดี เป็นการมองที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำทางสังคม อีกทั้งยังมองข้ามศักยภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ

การศึกษาครั้งนี้เลือกที่จะทำความเข้าใจตัวตน ความคิด ความรู้สึก ความกดดัน การเผชิญหน้ากับสภาวการณ์ต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติกลุ่มดังกล่าว ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศไทยในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีอารมณ์ ความรู้สึก เหตุผลการดำรงอยู่อย่างปะปนกัน และต้องการขจัดอคติในการมองแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งเปิดพื้นที่ทางสังคมให้พวกเขาได้แสดงความคิดและความหมายต่อตนเอง ตราบเท่าที่ยังไม่มีนโยบายและมาตรการในเชิงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ยอมรับและให้ความเป็นธรรมต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

วัตถุประสงค์การศึกษา

1. เพื่อศึกษาการดำเนินชีวิตและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่มาทำงานในประเทศไทย
2. เพื่อศึกษาการกลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดทับ(Subaltern group)ของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่มาทำงานในประเทศไทย
3. เพื่อศึกษากระบวนการดิ้นรนต่อสู้ของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่มาทำงานในประเทศไทย เมื่อเผชิญกับสภาวะความกดดันต่างๆ

วิธีการศึกษาวิจัย
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือระดับล่าง (Unskilled labor) ที่มาจากประเทศพม่าในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่ถูกกดทับในสังคมไทย (Subaltern Group) และการโต้ตอบโดยการสร้างพื้นที่ทางสังคมภายใต้ความทรงจำชุดใหม่ขึ้นมาปะทะตอบโต้กับความทรงจำชุดเดิม. งานครั้งนี้ใช้วิธีวิทยาทางมานุษยวิทยา ซึ่งให้ความสำคัญกับวิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ และการบันทึกข้อมูลที่ได้เป็นความเรียงเชิงพรรณนา. การศึกษาครั้งนี้ใช้เวลารวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2547 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2549 รวมระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน

ผลการวิจัย

1) ความเป็นมาของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
2) การดำเนินชีวิตและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
3) กระบวนการกลายเป็นกลุ่มคนชายขอบที่ถูกกดทับ(Subaltern group) ของแรงงานข้ามชาติพม่า
4) แนวทางการดิ้นรนต่อสู้ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ในการเผชิญกับสภาวะความกดดันต่างๆ

1) ความเป็นมาของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
การหลบหนีของกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนพม่าเข้ามาในประเทศไทยนั้น เนื่องจากการบีบบังคับของรัฐบาลพม่าภายใต้เงื่อนไขต่างๆ คือ

(1) เพราะความขัดแย้งทางการเมือง : การเมืองว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า
(2) เพราะนโยบายภายในของรัฐบาล: นโยบายการปกครองแบบสังคมนิยมตามวิถีพม่า
(3) เพราะนโยบายการพัฒนาประเทศด้านพลังงาน: การขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาให้กับรัฐบาลไทย และการสร้างเขื่อนสาละวิน
(4) เพราะนโยบายการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจ: โครงการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)
(5) เพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจภายในประเทศพม่า : นโยบายส่งเสริมความยากจน
(6) เพราะระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ในภูมิภาคอาเซียน

จากนโยบายทำให้ชนกลุ่มน้อยเป็นพม่า (Burmanization) ที่มีเป้าหมายเพื่อผสมกลมกลืนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้รู้สึกว่าเป็นพม่า พร้อมให้ความจงรักภักดีต่อประเทศพม่ามากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของตนนั้น ได้นำมาสู่การต่อต้านนโยบายจากประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐบาลพม่าจึงได้เข้าปราบปรามอย่างหนักจนส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ต้องอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่านำมาใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับชาวบ้านเป็นแรงงานทาส , การยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน, การบังคับให้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน, การปล้นและเผาหมู่บ้าน, การข่มขืนผู้หญิงที่ต้องสงสัยว่าสนับสนุนกองทัพชนกลุ่มน้อย ก่อให้เกิดการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ

สาเหตุของการบังคับใช้แรงงานในพม่านั้นมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในปัจจัยสำคัญมาจากการลงทุนต่างประเทศในโครงการพัฒนา เนื่องจากประเทศพม่าในปัจจุบันยังคงปกครองด้วยรัฐบาลทหารซึ่งมีนโยบายการบังคับใช้แรงงานชาวบ้าน การลงทุนโดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงานและด้านเศรษฐกิจที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ทั้งนโยบายการขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาให้กับรัฐบาลไทย นโยบายเรื่องการสร้างเขื่อนสาละวิน และโครงการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประชาชนในประเทศพม่าต้องเผชิญผลกระทบจากการพัฒนาดังกล่าวอย่างยากจะหลีกเลี่ยง และเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้พวกเขาและ เธอต้องเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ในแผ่นดินอื่น

นโยบายทางการเมืองของประเทศพม่าที่ปิดประเทศมาอย่างยาวนาน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชาชนลดลง ประชาชนมีรายได้ต่ำ พม่าประสบกับปัญหาการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ก่อให้เกิดการค้าในตลาดมืดและการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ความเป็นอยู่การดำเนินชีวิตประจำวันยังคงยากลำบาก การค้าระหว่างประเทศยังประสบปัญหาการขาดดุลการค้า เป็นผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ความยากจนอดอยากในการเลี้ยงชีพ ทำให้ประชาชนทนสภาพความยากลำบากไม่ไหว จึงต้องอพยพย้ายถิ่นออกนอกประเทศเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

2) การดำเนินชีวิตและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ภูมิหลังทางชาติพันธุ์ของแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่าในพื้นทีกรุงเทพมหานคร ประกอบไปด้วยคนที่มาจากประเทศพม่าอย่างน้อย 5 เชื้อชาติ คือ พม่า กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ ปะโอ และมอญ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อชาติพม่า เชื้อชาติกะเหรี่ยง และเชื้อชาติปะโอ อายุโดยเฉลี่ยประมาณ 16-35 ปี นับถือศาสนาพุทธ ภูมิลำเนาของแรงงานข้ามชาติส่วนมากจะเคลื่อนย้ายมาจาก 4 เมืองหลัก คือ เมืองพะอัน เมืองย่างกุ้ง เมืองเมาะละแหม่ง และเมืองตองยี

ลักษณะการเข้าสู่ประเทศไทย มีทั้งเข้ามาเองโดยตรง คือเดินทางเข้ามาพร้อมกับครอบครัว พร้อมเพื่อนๆ ในหมู่บ้านเดียวกัน กับการเข้ามาโดยผ่านการจัดการจากนายหน้า ซึ่งแรงงานคนหนึ่งๆ จะต้องจ่ายเงินค่าเดินทางอย่างน้อยคนละ 5,000-15,000 บาทแก่ผู้พาเข้ามา วิธีการเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก. แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ มีสถานะการอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย แต่จะมีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น ที่มีเอกสารประจำตัวเพื่อยืนยันกับเจ้าหน้าที่รัฐครบทั้ง 3 ชิ้น คือ

- เอกสารพร้อมรูปและชื่อใน ทร. 38/1 ของแต่ละคน (residence paper)
เป็นเอกสารผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทย ตราบใดที่ยังทำงานอยู่อย่างถูกกฎหมาย
- บัตรประกันสุขภาพ (health care card) และ
- บัตรอนุญาตทำงาน (work permit card)

แรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบอาชีพแม่บ้านมากที่สุด, รองลงมาคือ ทำงานในโรงงาน ตัดเย็บเสื้อผ้า ขายของหน้าร้าน พนักงานเสริฟ พวกเขาเข้ามาทำงานในประเทศไทยระยะเวลาเฉลี่ยคนละ 5 ปี หลายคนเคยเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ก่อนที่จะย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร เช่น ระนอง กาญจนบุรี และสมุทรสาคร เป็นต้น. แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะได้รับการชักชวนจากญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หรือคนรู้จัก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้ามาเองโดยตรง

การที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยเป็นเมืองเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางความเจริญทุกด้านของประเทศ มีตลาดงานรองรับมากมาย ทำให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าสามารถหางานทำได้ง่าย มีรายได้ดี และส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายได้จากการทำงานในปัจจุบันเฉลี่ยวันละ 130-200 บาทต่อวัน หรือ 3,500-6,000 บาทต่อเดือน โดยขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ทำ สำหรับแรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้างรายวันนั้น บางครั้งรายได้จะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปริมาณของงานที่ทำได้

แรงงานข้ามชาติจะสะสมเงิน เพื่อส่งไปช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวแทบทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ใด หากส่งเงินเป็นประจำจะอยู่ประมาณ 8,000 - 15,000 บาท หากเก็บเงินเป็นระยะเวลานานมักจะส่งเงินกลับบ้านครั้งละประมาณ 10,000 - 50,000 บาท
ในประเด็นชั่วโมงการทำงานนั้น งานรับใช้ในบ้านเป็นกลุ่มที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนานมากที่สุด คือ มากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน บางคนก็มากกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับแรงงานในโรงงาน ส่วนใหญ่ชั่วโมงทำงานอยู่ระหว่าง 9-12 ชั่วโมงต่อวัน บางคนอาจทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน เช่น 14 ชั่วโมงต่อวัน สถานะการจดทะเบียนมีผลอย่างสำคัญต่อชั่วโมงการทำงาน เพราะแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน

ความเสี่ยงของแรงงานข้ามชาติพม่า
ความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญเมื่ออยู่ในประเทศไทย ได้แก่

(1) ความเสี่ยงที่จะถูกขูดรีดจากนายหน้าในระหว่างการขนย้ายแรงงานข้ามประเทศ
(2) ความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม เนื่องมาจากการเดินทางข้ามเขต และการไม่มีบัตรแรงงานต่างด้าว
(3) ความเสี่ยงที่จะถูกขูดรีดจากตำรวจ: ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการถูกจับและติดสินบน
(4) ความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย
(5) ความเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ
(6) ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ
(7) ความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับมายาคติเรื่อง "ไทยไม่รักพม่า"

ส่วนปัญหาสำคัญที่แรงงานข้ามชาติจะเผชิญยามเจ็บป่วยและไม่สามารถไปที่โรงพยาบาลได้ คือ

(1) ความไม่คุ้นเคย ไม่กล้า ไม่เข้าใจว่าการมาโรงพยาบาลจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร
(2) ไม่เข้าใจสิทธิของตนเองในการใช้บัตรประกันสุขภาพ
(3) ปัญหาเรื่องการไม่สามารถพูดภาษาไทยและเขียนภาษาไทยได้
(4) ถูกรีดไถเงิน ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล
(5) โรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้อยู่ไกลจากที่ทำงาน ที่พัก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น
(6) เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่ให้ความสนใจ ไม่รักษาให้ เพราะเห็นว่าเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย

สำหรับเรื่องการปรับตัวของแรงงานข้ามชาตินั้น แรงงานข้ามชาติที่สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี จะต้องเป็นคนที่เข้ามาอยู่เป็นเวลานานจนสามารถพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว และเข้าใจภาษาไทยในระดับสื่อสารได้ ส่วนใหญ่แล้วแรงงานข้ามชาติจะไม่ค่อยมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งหรือสร้างปัญหาให้กับคนไทย เนื่องจากมีความเกรงใจคนไทย ซึ่งเป็นคนที่ให้ที่พักพิง ให้งานทำ และกลัวว่าถ้ามีปัญหาแล้วจะต้องถูกส่งกลับประเทศ ซึ่งจะมีปัญหาติดตามมาอีกจำนวนมาก

แรงงานข้ามชาติจะติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติเดิมที่ประเทศพม่าใน 2 ลักษณะ คือ การส่งเงินกลับบ้าน และการสอบถามสารทุกข์สุขดิบผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติไม่สามารถเดินทางกลับบ้านที่ประเทศพม่าได้โดยตรง บางครั้งพบว่า แรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี และไม่มีญาติพี่น้องอยู่ที่ประเทศพม่าแล้ว จะมีความสัมพันธ์กับชุมชนที่ประเทศพม่าน้อยกว่าแรงงานข้ามชาติที่มาประเทศไทยไม่นานมาก เช่น 1-3 ปี และยังมีครอบครัวที่ชุมชนเดิมอยู่ ดังนั้นจึงมีการติดต่อและส่งเงินให้ครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ

ความแตกต่างในอาชีพการงานของแรงงานข้ามชาติพม่า
โดยสรุปแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่ดำรงชีวิตในเมืองหลวง จะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกับแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ดำรงชีวิตในเมืองชายแดน (เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ระนอง กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน) หรือเมืองอื่นๆ เช่น สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม ในหลายลักษณะ กล่าวคือ

(1) ความแตกต่างในอาชีพ
โดยทั่วไปแล้ว แรงงานข้ามชาติที่มาทำงานประเทศไทยแถบเมืองชายแดน หรือเมืองปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานคร มักจะมีอาชีพอยู่ในกิจการประมง กิจการอาหารแช่แข็ง กิจการเลี้ยงสัตว์ กิจการถนอมอาหาร เช่น โคนม ฟาร์มไก่ โรงงานไก่แช่แข็ง เฝ้าดูแลไร่ รีสอร์ท เหมืองแร่ งานฉีดพ่นสารเคมี ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงหมู ทำงานในโรงงาน ในโกดังที่ไม่ได้มาตรฐาน ในสวนผลไม้ เป็นส่วนใหญ่ แต่แรงงานในกรุงเทพฯ มักจะทำงานรับใช้ภายในบ้านหรือในสำนักงาน ลูกจ้างร้านค้าประเภทต่างๆ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า

(2) ความแตกต่างในที่พักอาศัย
พบว่าแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองอื่นๆ มักจะถูกนายจ้างกำหนดให้พักอยู่ตามเพิงพักแคบๆ ในไร่นาหรือสวน หรือบางคนที่ทำงานในโรงงานก็จะอยู่ตามเพิงที่ก่อสร้างขึ้นมา หรือตู้คอนเทนเนอร์เล็กที่ตั้งอยู่หลังโรงงาน ในกระท่อมท้ายไร่ หรือห้องแคบๆ ที่อยู่ตามโรงรถหรือใกล้ห้องน้ำ แต่ถ้าเป็นแรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครมักจะพักอาศัยอยู่กับนายจ้าง หรือไม่ก็เช่าบ้านอยู่รวมกันกับครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนจากหมู่บ้านเดียวกัน. จากสถานที่พักที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต ได้นำไปสู่เรื่องสุขภาวะในตัวแรงงานข้ามชาติด้วย ซึ่งมีโอกาสได้รับอันตรายจากโรคร้ายและภัยต่างๆ รอบๆ ที่พักเพิ่มขึ้นด้วย

(3) ความแตกต่างในบุคลิกลักษณะ
แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในกรุงเทพมหานคร มักจะมีผิวขาวขึ้น รูปร่างหน้าตาดีขึ้นเหมือนคนในเมือง ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะมีการแต่งกายตามอย่างคนไทย เรียนรู้วิถีชีวิตของคนเมือง ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะแตกต่างกับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในเมืองอื่นๆ และใช้ชีวิตในชนบทที่มีแบบแผนแตกต่างกัน

(4) ความแตกต่างในการรักษาวัฒนธรรมแบบเดิมที่ประเทศพม่า
แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะให้ความสำคัญกับการยังคงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีของกลุ่มชาติพันธุ์น้อยลง มักจะปรับตัวคล้อยตามวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ที่รายล้อมรอบตัว ซึ่งจะแตกต่างจากแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในเมืองอื่นๆ ที่ยังคงนุ่งโสร่ง ทาแป้งตะนะคาเพื่อรักษาผิวพรรณ เคี้ยวหมาก ซึ่งเป็นวิถีที่ปฏิบัติตามแบบในพม่า

ผลกระทบจากการย้ายถิ่นต่อวิถีชีวิตแรงงานข้ามชาติพม่า
ผลสำคัญที่เกิดขึ้นจากการย้ายถิ่นต่อวิถีชีวิตของแรงงานข้ามชาติ พบว่ากระบวนการย้ายถิ่นข้ามพรมแดนของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่ามายังประเทศไทยในปัจจุบัน ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายคน เทคโนโลยี เงินทุน ข้อมูล ข่าวสาร และอุดมการณ์

(1) มิติของการเคลื่อนย้ายคน
โลกาภิวัตน์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปรากฏการณ์การย้ายถิ่นมีความถี่มากขึ้น และมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกับการโยกย้ายถิ่นฐานในอดีต การใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว มีราคาถูก และสะดวกสบาย ทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถรักษาสายสัมพันธ์กับประเทศพม่าได้อย่างแน่นแฟ้น ไม่ตัดขาดกับญาติพี่น้องทั้งในประเทศพม่าและในประเทศไทย ซึ่งช่วยให้กระบวนการปรับตัวของพวกเขาและเธอในประเทศไทยเป็นไปอย่างง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทยได้ง่าย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการโยกย้ายถิ่นฐานของพวกเขาและเธอที่เป็นคนต่างถิ่น ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และอุดมการณ์ ที่แตกต่างกับคนจำนวนมากในสังคมไทย เช่น ด้อยการศึกษา ไร้ทักษะ สื่อสารคนละภาษา สถานการณ์เหล่านี้อาจนำมาสู่ความตึงเครียดได้ในสังคมไทย เนื่องมาจากผู้คนไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายของการใช้ชีวิตร่วมในสังคมเดียวกัน

(2) มิติของการเคลื่อนย้ายเทคโนโลยี
แรงงานข้ามชาติได้รับความรู้และความสะดวกสบายจากอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีอื่นๆ ในประเทศไทย ส่งผลให้แรงงานได้รับการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับทั้งตนเองและกับสังคมไทย และต่อไปถ้าพวกเขาและเธอมีโอกาสได้กลับไปยังประเทศพม่า เทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้รับเพิ่มขึ้น อาจจะช่วยส่งผลต่อการพัฒนาประเทศพม่าเพิ่มขึ้นด้วย

(3) มิติของการเคลื่อนย้ายเงินทุน
แรงงานข้ามชาติมักจะส่งเงินกลับไปจุนเจือญาติพี่น้องที่ประเทศพม่า เฉลี่ยคนหนึ่งอย่างน้อยปีละ 10,000 - 50,000 บาท ซึ่งก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินตราทั้งในประเทศพม่าและในประเทศไทย ในหลายพื้นที่ที่มีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติจากพม่าอย่างเข้มข้น เช่น ระนอง สมุทรสาคร แม่สอด พบว่าได้เกิดการหมุนเวียนเงินตราในชุมชนนั้น มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

(4) มิติของการเคลื่อนย้ายข้อมูล ข่าวสาร

ดนตรี วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ จากกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศพม่า ทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้ มีการส่งข้อมูล/ข่าวสารจากประเทศไทยให้ครอบครัวที่อยู่ที่ประเทศพม่าได้รับรู้ ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ยังเกิดพื้นที่สื่อทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ วีดิทัศน์ อินเตอร์เน็ต ที่ใช้ภาษาของประชาชนจากพม่า เกิดการรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มมอญ กลุ่มกะเหรี่ยง ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

(5) มิติของการเคลื่อนย้ายอุดมการณ์
เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมที่อยู่ในประเทศไทยกับวัฒนธรรมที่มาจากประเทศพม่า เป็นกระบวนการสร้างความเข้าใจระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา อุดมการณ์ และความเชื่อที่แตกต่างกันให้อยู่ร่วมกันได้

3) กระบวนการกลายเป็นกลุ่มคนชายขอบที่ถูกกดทับ(Subaltern group) ของแรงงานข้ามชาติพม่า
ความเป็นชายขอบของ "แรงงานข้ามชาติจากพม่า" ในสังคมไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้

(1) ความเป็นชายขอบในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของมายาคติ(myth) "หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย,
แย่งงานคนไทย, แพร่เชื้อโรคร้าย, ภัยความมั่นคง"
(2) ความเป็นชายขอบในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการจดทะเบียน
(3) ความเป็นชายขอบในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของคนไร้สัญชาติไทย
(4) ความเป็นชายขอบในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสื่อสารของสื่อมวลชนไทย
(5) ความเป็นชายขอบในฐานะเป็นผลผลิตจากงานวิชาการ

ความเป็นชายขอบของ "แรงงานข้ามชาติจากพม่า" ในสังคมไทย เกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการของรัฐชาติ(nation state) แบบสมัยใหม่ ที่มาพร้อมกับทฤษฎีการทำให้ทันสมัยอย่างตะวันตก วาทกรรมการพัฒนากระแสหลัก ได้เปลี่ยนฐานะของประชาชนจากมนุษย์หรือพลเมืองที่มีสิทธิมีเสียง สู่การเป็นวัตถุที่ไร้วิญญาณชนิดหนึ่ง เป็นเพียง"แรงงานราคาถูกในสังคมอุตสาหกรรม"เท่านั้น วาทกรรมการพัฒนากระแสหลักได้ตอกย้ำให้เห็นว่า ผู้อพยพเหล่านี้ทั้งแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย เป็นตัวขัดขวางการพัฒนา ทำให้จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาที่ผ่านการควบคุม จัดระเบียบต่างๆ เช่น การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ,การจัดระเบียบผู้ลี้ภัย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันยิ่งขึ้น เบี่ยงเบนปัญหาเรื่องการอพยพ การย้ายถิ่นของประชาชนด้วยการชี้ให้เห็นว่า การที่ประชาชนกลุ่มนี้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย เพราะต้องการหางานทำ มีรายได้สำหรับการดำรงชีวิตเพียงเท่านั้น

4) แนวทางการดิ้นรนต่อสู้ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ในการเผชิญกับสภาวะความกดดันต่างๆ
แนวทางการดิ้นรนต่อสู้ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในบริบทสังคมไทย สามารถแจกแจงออกได้ 5 ลักษณะ คือ

(1) มุมมองด้านความสัมพันธ์กับรัฐ : การต่อรองภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจรัฐ
แรงงานข้ามชาติเรียนรู้ที่จะจัดวางความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐ เพื่อให้รัฐให้การยอมรับตนเองด้วยสถานะที่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ได้มีเครือข่าย ไม่มีมีสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจที่ดี ที่จะเป็นเงื่อนไขที่จะสามารถทำให้ต่อรองกับรัฐไทยได้ ฉะนั้นการสร้างพื้นที่ทางสังคมของแรงงานข้ามชาติกับรัฐไทย จึงดำเนินไปโดยผ่านการจัดวางความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับรัฐ. การนำเสนอตัวตนที่สอดคล้องกับวาทกรรมหรือสิ่งที่รัฐคาดหวัง ซึ่งเป็นผลดีมากกว่าการต่อต้านหรือการปะทะกับอำนาจรัฐโดยตรง ที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้น. กระบวนการต่อรองเพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคมภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับรัฐ จึงดำเนินไปผ่านการนำเสนอตัวตนในฐานะการเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย ผ่านการจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน และในฐานะการนำเสนอตัวตนผู้อยู่อาศัยในรัฐไทยที่ดี เพื่อต่อรองเรื่องความมั่นคงในการอยู่อาศัย และทำงานในประเทศไทยโดยไม่ผิดกฎหมาย

(2) มุมมองด้านเศรษฐกิจ: การต่อรองภายใต้ความสัมพันธ์กับระบบทุน
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของการพูดคุยถึงวิถีชีวิตของแรงงานข้ามชาติ คือ การที่พวกเขามักจะเล่าให้ฟังถึงการได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย การได้ทำงาน การได้ส่งเงินกลับบ้าน ผ่านการกระทำตนเป็นแรงงานที่ดีซึ่งตรงกับความต้องการของนายจ้าง แม้ว่าการเป็นคนดีในสายตานายจ้างจะต้องแลกกับการสูญเสียโอกาสในเรื่องต่างๆ ที่แรงงานข้ามชาติคนๆ หนึ่งจะได้รับ แต่พวกเขาและเธอก็ยอม การยอมไม่ได้หมายถึงการเป็นฝ่ายถูกกระทำจากนายจ้างเพียงเท่านั้น แต่การยอมเป็นการเปิดพื้นที่ของความเป็นลูกจ้างที่ดีของนายจ้าง การเป็นลูกที่ดีของครอบครัวที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศพม่า การเป็นตัวจักรหรือกลไกขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ได้นำมาซึ่งความมั่นคงปลอดภัย ทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้อย่างเป็นสุข

(3) มุมมองด้านสิทธิ: การต่อรองภายใต้ความสัมพันธ์เชิงวิชาการและการพัฒนา
การสร้างพื้นที่ทางสังคมผ่านงานวิจัยในกระบวนการทำงานทางวิชาการ , ผ่านองค์กรอิสระภาครัฐ, ผ่านการทำงานรณรงค์และการผลักดันเชิงนโยบายขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยและต่างประเทศ ในลักษณะการประสานพันธมิตรทั้งนักวิชาการ เจ้าหน้าที่องค์กรภาครัฐ นักพัฒนา แรงงานไทย สภาทนายความ องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางความรู้ เป็นการพยายามช่วงชิงพื้นที่ให้กับแรงงานข้ามชาติแบบใหม่ ทั้งผ่านการสร้างคำที่ใช้เรียกแรงงานต่างด้าวขึ้นมาใหม่ว่า "แรงงานข้ามชาติ" หรือการเชื่อมร้อยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกัน

(4) มุมมองด้านวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์: การต่อรองภายใต้ความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมและขนบจารีต
แรงงานข้ามชาติได้อาศัยวัฒนธรรมประเพณีของตน ที่มีรากเหง้า มีวัฒนธรรม เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับในการมีตัวตนและดำรงชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ ในหลายพื้นที่พบว่า แรงงานข้ามชาติเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการรื้อฟื้นวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ เช่น ชุมชนมอญในแถบจังหวัดภาคกลาง กลุ่มกะเหรี่ยง หรือกลุ่มไทยใหญ่ในแถบจังหวัดภาคเหนือ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่เป็นพวกเดียวกันหรือเหมือนกัน

ข้ออภิปรายทางทฤษฎี
การศึกษาเรื่องวิถีชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้นำเอาแนวคิดที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ 6 แนวคิด โดยแบ่งเป็นแนวคิดหลัก 4 แนวคิด และแนวคิดรอง 2 แนวคิด คือ

แนวคิดหลัก ประกอบด้วย
- แนวคิดเรื่องการวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse analysis)
- แนวคิดเรื่องกลุ่มคนที่ถูกกดทับไว้ (Subaltern group)
- แนวคิดเรื่องปฏิบัติการทางสังคม (Practices)
- แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน (the Right of Man)

แนวคิดรอง ประกอบด้วย
- แนวคิดเรื่องพื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดน (Transnationalism)
- แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยข้ามพรมแดน (Democracy without borders)

จากการศึกษาพบว่า "ความเป็นอื่นของแรงงานต่างด้าว"(the migrant worker,s otherness) เกี่ยวโยงกับมุมมองของรัฐที่สร้างคำว่า "แรงงานต่างด้าว" ขึ้นมาบนพื้นฐานของ "ความเป็นอื่น" รัฐให้คำนิยามแรงงานข้ามชาติเท่ากับ "ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย" และ/หรือ"ผู้เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ". บางครั้งทุนก็มองแรงงานข้ามชาติในฐานะ "แรงงานราคาถูก" ซึ่งไปสอดรับกับงานวิจัยบางเรื่องของบางสถาบันในประเทศไทย เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI), สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติ คือภัยต่อความมั่นคงของสังคมไทย อันเนื่องมาจากประชาชนในรัฐไทยรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนกลุ่มนี้ แรงงานข้ามชาติสามารถก่ออาชญากรรมกับตน ฉะนั้นเมื่อคนๆ หนึ่งถูกให้ความหมายว่าเป็น "แรงงานต่างด้าว" สิ่งที่พวกเขาและเธอต้องเผชิญอย่างยากจะหลีกเลี่ยงคือ การถูกควบคุมจากรัฐ จากสังคม ตกอยู่ในสภาพที่ตํ่ากว่าพลเมืองของชาติ ได้รับการดูถูกเหยียดหยาม ถูกกระทําในลักษณะที่ต่างออกไปจากคนในชาติ ตกเป็นเบี้ยล่าง จนในที่สุดกลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดทับไว้ในสังคมไทย

การกลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดทับไว้ในสังคมไทย สามารถมองผ่านปรากฏการณ์ได้หลายด้าน เช่น จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าไม่สามารถถูกจัดอยู่ในชนชั้นแรงงานไทยอย่างที่เศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซิสต์ได้เสนอไว้ได้ หรือกรณีตัวอย่างเรื่องกระแสคนไทยพลัดถิ่นในปัจจุบัน ที่ย้ำว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่แรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่ "คนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย" "พวกเขาคือคนไทยไม่ต่างด้าว" กลับยิ่งไปกดทับและสร้างความเป็นอื่นให้กับแรงงานข้ามชาติระดับล่างจากประเทศพม่ามากขึ้น

นอกจากนั้น แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยยิ่งตอกย้ำสถานะของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าให้กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดทับไว้ (subaltern group) เพิ่มขึ้น ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยเรื่องราวของประเทศพม่า คือความสัมพันธ์ด้านสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับราชธานีพม่า, การเสียกรุงศรีอยุธยา , วีรกรรมของพระศรีสุริโยทัย, ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช , วีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน หรือในปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงพม่าอาจนึกถึงปัญหาตามแนวชายแดนซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในหลายๆ ประเด็น นี้คือข้อมูลที่รับรู้โดยทั่วไป เมื่อข้อมูลที่ส่งผ่านให้ผู้คนในสังคมรับรู้มีเพียงเท่านั้น จึงทำให้แรงงานจากพม่าถูกมองว่าเป็นสิ่งผิดปกติ เป็นภัยคุกคาม

อย่างไรก็ตาม "การเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดทับ (subaltern group)" ไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่หยุดนิ่ง แต่ความเป็นชายขอบกลับสร้าง "การเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดทับไว้ที่พูดได้ขึ้นมา" กยาตรี จักรวที สปิวัค (Gayatri Chakravorty Spivak) เสนอว่าสถานภาพของกลุ่ม subaltern มีความเป็นอื่นที่ถูกคนกลุ่มอื่นเขียนถึง ถูกพูดถึง ถูกบันทึก ด้วยกลไกต่างๆ ของสังคม สปิวัคได้ตอบคำถามที่เป็นชื่อบทความว่า "กลุ่มคนที่ถูกกดทับ(subaltern group) นี้ สามารถจะพูดได้ไหม?" (Can the subaltern speak?) ไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของบทความว่า "พวกที่ถูกกดทับไว้นั้นพูดไม่ได้" ทั้งนี้เพราะ subaltern ไม่รู้ว่าจะพูดถึงตัวเองเช่นไร ในเมื่อพวกเขาเองเป็นผลผลิตด้วยการถูกสร้างตัวตนมากกว่าเป็นผู้ผลิตตัวตน(subject) ดังนั้นอัตลักษณ์ (identity) ของ subaltern หากจะมีจึงมีแต่ความแตกต่าง มากกว่าที่จะบอกได้ว่าอะไรเป็นเนื้อเดียวกัน

ผลการศึกษาพบว่า แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าสามารถพูดได้ แต่พูดได้ภายใต้เงื่อนไขของการมีพื้นที่ให้สามารถพูดได้อย่างปลอดภัยเท่านั้น กล่าวคือ แรงงานข้ามชาติในโครงการ DEAR BURMA นั้นแตกต่างจากแรงงานข้ามชาติโดยทั่วไป ในพื้นที่โครงการ DEAR BURMA แรงงานข้ามชาติมีอิสระที่จะคิด ที่จะพูด ที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ บางเรื่องราวที่ถูกนำเสนอขึ้นถ้าเป็นพื้นที่ภายนอกโครงการ เรื่องราวเหล่านั้นอาจจะนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต. กล่าวได้ว่าในโครงการได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา เป็นพื้นที่ที่อยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยทั่วไป เช่น พื้นที่ของตำรวจ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้เนื่องมาจากความคิดพื้นฐานเดิมที่ว่า แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าคือบุคคลที่ไม่ปลอดภัยต่อสังคมไทย จึงทำให้แรงงานไม่กล้าที่จะเสี่ยงไว้วางใจพื้นที่ที่พวกเขาและเธอไม่รู้จักและเข้าถึงได้ยาก

นอกจากนั้น การประสานพันธมิตรทั้งนักวิชาการ เจ้าหน้าที่องค์กรภาครัฐ นักพัฒนา แรงงานไทย สภาทนายความ องค์กรระหว่างประเทศ ที่รวมกันเป็น "ชุมชนคนทำงานสนับสนุนแรงงานข้ามชาติ" มีส่วนสำคัญต่อการทำให้แรงงานข้ามชาติกล้าที่จะพูด กล้าที่จะแสดงตัวตนเพิ่มขึ้น เป็นการทำงานผ่านการใช้ยุทธวิธี"War of Position" (สงครามสถานะ) และการใช้แนวทางการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน (Everyday resistance) ในการทำงาน

แม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะกลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดทับไว้ในสังคมไทย เป็นผู้ได้รับผลกระทำจากการใช้อำนาจของรัฐไทยในรูปแบบต่างๆ แต่ก็มีกระบวนการที่ทำให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้ในสังคม กล่าวคือ แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าเลือกใช้ฮาบีทัส (habitus) (*) (แบบแผนทางความคิด, พฤติกรรม และรสนิยม) ที่หมายถึง ปฏิบัติการของการสะสมประสบการณ์ร่วมกันที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ ตั้งแต่ในวัยเด็กจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นสิ่งที่ซึมซับเข้าไปในตัวมนุษย์ ที่จะกลายไปเป็นทุนให้มนุษย์นำไปใช้ในการดำรงชีวิตทางสังคม เป็นอำนาจในการสร้างตัวตนแบบใหม่ขึ้นมาในอาณาบริเวณ(field) ที่กลไกรัฐครอบครองอยู่

(*)Habitus is a complex concept, but in its simplest usage could be understood as a set of acquired patterns of thought, behavior, and taste [1]. These patterns, or "dispositions," are the result of internalization of culture or objective social structures through the experience of an individual or group. The concept of habitus has been used as early as Aristotle but in contemporary usage was introduced by Marcel Mauss and later re-elaborated by Pierre Bourdieu.

Bourdieu re-elaborated the concept of habitus from Marcel Mauss and extended the scope of the term to include a person's beliefs and dispositions. He used it, in a more or less systematic way, in an attempt to resolve a prominent antinomy of the human sciences: objectivism and subjectivism.
(ดูเพิ่มเติมใน http://en.wikipedia.org/wiki/Habitus_(sociology))

เมื่อรัฐไทยออกกฎมาควบคุม หรือมีนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติในแต่ละปี แรงงานข้ามชาติก็ได้โต้ตอบกฎดังกล่าว โดยใช้สิ่งที่เรียกว่าฮาบีทัส(habitus) ในฐานะที่เป็นทุนทางเศรษฐกิจที่ไม่มีฐานทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยการผลิต ตั้งรับกับการเป็นชายขอบ การเป็นแรงงานกลายเป็นตัวตนใหม่ ที่กลายเป็นทุนที่สามารถนำมาใช้เป็นอำนาจ ที่ทำให้เขาสามารถอยู่รอดได้

นอกจากนั้น แรงงานข้ามชาติยังใช้การเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในประเทศพม่าในฐานะฮาบีทัส(habitus)อีกชนิดหนึ่ง เช่น ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง นำเสนอต่อพื้นที่สาธารณะให้คนอื่นในสังคมไทยได้รับรู้ว่าตนเองมีประเพณี มีรากเหง้า มีวัฒนธรรม และมีความสามารถ เพื่อให้เกิดการยอมรับในการมีตัวตนและดำรงชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ

การเลือกฮาบิทัส (habitus) ในรูปแบบต่างๆ มาปรับใช้เพื่อสร้างนิยามใหม่ และท้าทายความจริงชุดเดิม จึงกลายเป็นปฏิบัติการทางสังคมที่สำคัญของแรงงานข้ามชาติต่อการสร้างอัตลักษณ์และความจริงอีกชุดหนึ่งขึ้นมา ทั้งการเป็น "แรงงานที่มีคุณภาพของภาคการผลิต และกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมประเพณีที่ทรงคุณค่า" นิยามที่เกิดขึ้นมาใหม่จึงเป็นการให้ความหมายภายในตนเอง เป็นการนิยามอันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงมุมมองที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ เพื่อรื้อฟื้นพลังตนเองขึ้นมาใหม่ และนำไปสู่การโต้ตอบและปะทะกับอัตลักษณ์เดิม เป็นความพยายามเรียกร้องให้เกิดการยอมรับความแตกต่างหลากหลายในการดำรงอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันมากขึ้น เป้าหมายของการนิยามอัตลักษณ์ใหม่จึงมิใช่แค่เพียงบอกว่า "แรงงานข้ามชาติคือใคร" แต่สถานภาพใหม่คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ได้รับการคุ้มครอง เป็นเกราะป้องกันกันภัย และเป็นช่องทางในการยืนยันตำแหน่งแห่งที่ในสังคมใหม่ของตนเอง

ข้อเสนอแนะ : มุมมองใหม่ในการทำความเข้าใจเรื่องแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย
จากผลการศึกษาพบว่าข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ สังคมไทยจะต้องเข้าใจมิติทางการเคลื่อนย้ายของผู้คนในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่มีลักษณะการไม่หยุดนิ่งและท้าทายแนวคิดแบบเดิมของรัฐชาติ. มุมมองแบบใหม่จะต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของการใช้ความมั่นคงของมนุษย์ในโลกนี้เป็นตัวกำหนดทิศทางการทำความเข้าใจเป็นสำคัญ ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน การปกป้อง การเสริมความเข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมของประชาชน การตระหนักถึงความสมดุลระหว่างความมั่นคงของรัฐกับความมั่นคงของประชาชนที่ไม่สามารถแยกขาดจากกันในการมองได้

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
29 Febuary 2008
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
กยาตรี จักรวที สปิวัค (Gayatri Chakravorty Spivak) เสนอว่าสถานภาพของกลุ่ม subaltern มีความเป็นอื่นที่ถูกคนกลุ่มอื่นเขียนถึง ถูกพูดถึง ถูกบันทึก ด้วยกลไกต่างๆ ของสังคม สปิวัคได้ตอบคำถามที่เป็นชื่อบทความว่า "กลุ่มคนที่ถูกกดทับ(subaltern group) นี้ สามารถจะพูดได้ไหม?" (Can the subaltern speak?) ไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของบทความว่า "พวกที่ถูกกดทับไว้นั้นพูดไม่ได้" ทั้งนี้เพราะ subaltern ไม่รู้ว่าจะพูดถึงตัวเองเช่นไร ในเมื่อพวกเขาเองเป็นผลผลิตด้วยการถูกสร้างตัวตนมากกว่าเป็นผู้ผลิตตัวตน(subject)...
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
home
Habitus is a complex concept, but in its simplest usage could be understood as a set of acquired patterns of thought, behavior, and taste [1]. These patterns, or "dispositions," are the result of internalization of culture or objective social structures through the experience of an individual or group. The concept of habitus has been used as early as Aristotle but in contemporary usage was introduced by Marcel Mauss and later re-elaborated by Pierre Bourdieu.

Bourdieu re-elaborated the concept of habitus from Marcel Mauss and extended the scope of the term to include a person's beliefs and dispositions. He used it, in a more or less systematic way, in an attempt to resolve a prominent antinomy of the human sciences: objectivism and subjectivism.