โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๕๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑ (January, 01, 01, 2008) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

01-01-2551

Education in Burma
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

Education: Floating Books and Bathroom Tracts
การศึกษาในพม่า: หนังสือส่งต่อกันและบทเรียนในห้องน้ำ
อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ผู้สนใจประเด็นสื่อและการศึกษาในพม่า

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

สำหรับบทความเรียบเรียงชิ้นนี้ นำมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ชื่อ
"Education: Floating Books and Bathroom Tracts"
in Living Silence: Burma Under Military Rule

เขียนโดย Christina Fink (Publisher: White Lotus, Bangkok, 2001)
ซึ่งเป็นการอธิบายถึงความตกต่ำทางด้านการศึกษาในพม่า ภายใต้การปกครองโดยเผด็จการทหาร
ที่พยายามจำกัดการศึกษาในหมู่ประชาชน ทั้งนี้มุ่งเพื่อประโยชน์ความมั่นคงของพวกตน
พยายามกำจัดการประท้วงของนักศึกษา. วิธีการของประชาชนในการต่อสู้กับการจำกัดเสรีภาพ
ทางการศึกษา และการปิดกั้นการเรียนรู้นี้ โดยการใช้หนังสือส่งต่อ การสร้างวรรณกรรมกำแพง
การแจกจ่ายแผ่นพับ และการเรียนรู้ เรื่องราวผ่านสื่อวิทยุต่างประเทศ ฯลฯ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๕๑
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๐ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

Education: Floating Books and Bathroom Tracts
การศึกษาในพม่า: หนังสือส่งต่อกันและบทเรียนในห้องน้ำ
อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ผู้สนใจประเด็นสื่อและการศึกษาในพม่า

ความนำ
'การศึกษาทำให้คุณมีความมั่นใจในตัวเองและความเข้มแข็งในการตัดสินใจ ยิ่งมีคนที่ไร้การศึกษามากเท่าใด ก็หมายถึงมีคนที่คุณสามารถจะกดพวกเขาลงได้มากเท่านั้น' (นักการศึกษาชาวพม่าคนหนึ่งกล่าว). ช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 และ 1950 ชาวพม่าสามารถอวดได้ว่า เป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุดในเอเชีย และมีระบบการศึกษาที่กว้างขวาง มันจึงเป็นเรื่องที่เสียหายในสายตาบรรดาผู้ปกครองที่เห็นลูกหลานเติบโตขึ้นโดยมีความรู้น้อย และห่างไกลกับรุ่นพ่อแม่พวกเขาเหลือเกิน

รัฐบาลทหารได้จัดวางความสำคัญของการศึกษาไว้ต่ำมากด้วยเหตุผลหลายข้อ

- ข้อแรก คือพวกเขากลัวว่าเมื่อมีคนได้รับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งจะมีคนทำการท้าทายกฎข้อบังคับของทหารมากขึ้น
- ข้อที่สอง บรรดานายพลชั้นสูงเองก็ไม่ได้มีการศึกษาสูงมากมาย และมักมีปัญหาขัดใจกับคนที่มีการศึกษาสูงกว่า และ
- ข้อที่สาม ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณและบุคลากร พวกเขาจึงทุ่มเททรัพยากรไปที่การขยาย และเพิ่มเติมอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังกองทัพมากกว่าโรงเรียน มีงบประมาณของประเทศเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่ใช้จ่ายกับการศึกษาในขณะที่ร้อยละ 40 ใช้จ่ายกับการทหาร
(ข้อมูลจาก UNESCO ปี 2005 งบประมาณการศึกษาเพิ่มเป็นร้อยละ 18.1 แต่ข้อมูลที่แท้จริงในพม่ายืนยันได้ยากมาก* ผู้เรียบเรียง)

ในขณะที่จำนวนของโรงเรียนและครูในระดับประถมศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่โรงเรียนนั้นขาดแคลนแม้กระทั่งอุปกรณ์การเรียนการสอนพื้นฐาน และเนื่องมาจากงบประมาณที่ได้รับเพียงเล็กน้อยนี่เอง ทำให้โรงเรียนมีการเก็บภาษีรายปีจากนักเรียนรวมทั้งมีการเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกตลอดปี (เช่น ค่าโต๊ะ หม้อใส่น้ำ และค่าบำรุงรักษาต่างๆ) เพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการต่อไปได้ หนังสือเรียนก็มีจำกัด ดังนั้นนักเรียนที่ไม่ได้รับหนังสือในชั้นเรียนก็ต้องไปซื้อเล่มที่ถ่ายเอกสารมา ซึ่งมีราคาสูงกว่ามากจากในตลาดมืด นอกจากนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องจัดหาชุดเครื่องแบบนักเรียนแก่ลูกหลาน มีหลายครอบครัวที่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ได้ ทำให้ลูกหลานของพวกเขามีโอกาสเล่าเรียนที่โรงเรียนเพียงสั้นๆ หรือบางคนก็ไม่มีโอกาสเลย

ในรายงานขององค์การ UNICEF เมื่อปี 1995 เชื่อว่า "เด็กและสตรีในพม่า" ระบุว่าเด็กในพม่าถึงร้อยละ 39 ที่ไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา อีกร้อยละ 34 ที่เริ่มเข้าเรียนต้องหยุดเรียนในระหว่างชั้นปฐมวัยถึงระดับชั้นที่ 5 (ระบบการศึกษาพม่า เทียบอายุประมาณ 9 ขวบ) มีเพียงร้อยละ 27 ของเด็กทั้งประเทศเท่านั้นที่เรียนจบชั้นประถมศึกษา โดยเฉพาะในเขตชนบท พ่อแม่มักจะให้ลูกๆ ช่วยทำงานในไร่นาและทำงานบ้าน รวมทั้งดูแลน้องๆ บรรดาพ่อแม่เห็นว่าเวลาเพียงไม่กี่ปีในโรงเรียน ก็คงไม่ช่วยให้ลูกๆ ของพวกเขามีโอกาสได้งานทำมากขึ้น

สำหรับเด็กที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน ความยากจนและการขาดสารอาหารก็ส่งผลกระทบต่อพวกเด็กๆ เหล่านี้ ครูในโรงเรียนประถมคนหนึ่งที่สอนอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ได้เล่าว่า มีพ่อแม่ของเด็กนักเรียนคนหนึ่งบอกครูให้ลงโทษถ้าเด็กคนนี้ไม่ตั้งใจเรียน แต่ในความจริง เด็กคนนั้นยากที่จะมีสมาธิเล่าเรียนได้ เพราะครูพบว่าพ่อแม่เขาไม่สามารถจัดหาอาหารเช้าให้เขาก่อนมาโรงเรียนได้ เด็กคนนั้นหิวโหยเกินกว่าที่จะมีสมาธิในการเรียนได้

หลักสูตรการศึกษา
ทุกรัฐบาลต่างใช้ระบบการศึกษาเพื่อปลูกฝังทัศนคติบางอย่างในจิตใจของเยาวชนในประเทศ ในพม่าก็เช่นกัน รัฐบาลทหารได้แทรกแซงควบคุมการพัฒนาหลักสูตร. ในสมัยนายพลขิ่น ยุ้นต์เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยข่าวกรองทหาร และเป็นคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ หนังสือแบบเรียนของรัฐบาล สนับสนุนโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลที่ปรากฏอยู่แล้วในสื่อที่ควบคุมโดยรัฐ เน้นย้ำถึงเกียรติยศของทหารและความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการปกครองด้วยระบบทหารต่อไป เพื่อดำรงความมั่นคงทางการเมืองของประเทศไว้

การศึกษาระดับประถมและมัธยม ครูผู้สอนหรือแม้แต่ครูใหญ่ไม่สามารถที่จะสอดแทรกในการพัฒนาหลักสูตรได้ และไม่สามารถสอนเบี่ยงเบนไปจากตำราเรียนได้ ดังที่ครูใหญ่คนหนึ่งกล่าวไว้ว่า 'หลักสูตรมีกระบวนการทำจากบนลงล่าง (top to down) ทำขึ้นโดยผู้บริหารตำแหน่งสูง โดยที่เราไม่สามารถถกอภิปรายหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ เราเพียงแต่ทำตามเท่านั้น'

ช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 พลเอกเน วิน สั่งให้หยุดการใช้ภาษาอังกฤษในการสอนที่โรงเรียน เนื่องจากเห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งเชื่อมโยงถึงการปกครองยุคอาณานิคม และคนที่มีแนวคิดชาตินิยมควรจะพูดภาษาพม่าอย่างเดียว พ่อแม่หลายคนที่มีการศึกษาและพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วจากโรงเรียนในสมัยของพวกเขาต่างรู้สึกเจ็บปวดกับนโยบายนี้ พวกเขาตระหนักว่าพม่าเป็นประเทศเล็กและการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเชื่อมต่อกับระบบเศรษฐกิจโลก และกระแสแนวคิดต่างๆ จากภายนอก อย่างไรก็ตาม เด็กนักเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย ต่างซึมซับโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ และล้อเลียนเพื่อนที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสนทนา จนกระทั่งในปี 1979 เมื่อบุตรสาวของพลเอกเน วิน ไม่ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ของอังกฤษ เนื่องจากเธอมีภาษาอังกฤษที่ไม่ดีพอ ดังนั้นการสอนภาษาอังกฤษจึงได้กลับมาอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม การสอนภาษาอังกฤษในพม่าทุกวันนี้ก็ยังด้อยคุณภาพ เนื่องจากอดีตที่ผ่านมาทำให้มีครูที่เก่งเหลือเพียงไม่กี่คน

การเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ กลายเป็นโครงการที่สำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลทหาร ตั้งแต่เมื่อนางออง ซาน ซู จี มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองเมื่อปี 1988 ฝ่ายทหารที่รับผิดชอบเรื่องการผลิตตำราเรียนได้ลดบทบาท(ในตำราเรียน)ของนายพลออง ซาน และแทนที่ด้วยการเน้นย้ำการเป็นผู้นำของทหารเพื่อรวมประเทศไว้ด้วยกัน. นายพลออง ซานนั้นเคยเป็นผู้นำทหารแต่ภายหลังได้ลาออกเพื่อเข้าสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ในอดีตรัฐบาลทหารได้เน้นย้ำบทบาทของออง ซานว่าเป็นผู้ก่อตั้งกองทัพ แต่นางออง ซาน ซู จีผู้เป็นบุตรสาวแย้งว่า บิดาของเธอไม่เคยตั้งใจว่าจะเป็นทหารเพื่อกดขี่ประชาชนชาวพม่า ดังนั้นตำราเรียนพม่าปัจจุบันจึงพูดถึงนายพลออง ซานน้อยลง และเน้นมากขึ้นถึงความสำคัญของการรวมชาติและความสามัคคี

U Kyaw Moe อดีตครูสอนมัธยมปลายคนหนึ่ง กังวลถึงความหมายที่สอดแทรกในนโยบายการศึกษาของรัฐบาลพม่าที่สอนนักเรียน เนื่องจากเขาตระหนักว่า นักเรียนเหล่านั้นจะเติบโตขึ้นโดยคิดว่าสิ่งที่ครูสอนนั้นคือ "ความจริง" ทั้งที่จริงแล้ว มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อ เขากล่าวว่า "รัฐบาลต้องการปกครองประเทศไปนานเท่านาน ดังนั้นจึงพยายามเปลี่ยนแปลงความคิดของนักเรียนทีละน้อย อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบ" เขาพบว่าการสอนวิชาประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะสิ่งที่อยู่ในตำราเรียนและความเป็นจริงนั้นแตกต่างกันมาก

ครูอีกคนหนึ่งที่อยู่ในช่วงพรรคสังคมนิยมพม่าครองอำนาจ (1974-88) ก็รู้สึกเช่นเดียวกัน โดยอธิบายว่าตำราเรียนขณะนั้น กล่าวชื่นชมถึงการผลิตสินค้าโดยโรงงานชั้นเยี่ยมในประเทศ แต่อันที่จริงแล้ว โรงงานเกือบทั้งหมดในขณะนั้นไม่ได้ทำการผลิต "เนื่องจากการขาดวัตถุดิบ ดังนั้นพนักงาน เสมียน และคนงานต่างนั่งอ่านหนังสือหรือไม่ก็พูดคุยเกี่ยวกับข่าวลือต่างๆ" อย่างไรก็ตาม ครูคนนี้ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตชนบทและยังอายุน้อยเกินกว่าที่จะมีประสบการณ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในขณะนั้นจึงไม่ได้มีแนวคิดใดเกี่ยวกับว่า จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้อย่างไร? "เรารู้จักอยู่เพียงระบบเดียว ถ้าเรามีโอกาสได้เห็นหนังสือเกี่ยวกับระบบอื่นๆ ว่าระบบการศึกษาที่ดีเป็นอย่างไร เราก็สามารถเปรียบเทียบได้ แต่เราไม่มีหนังสืออย่างนั้นเลย"

ครูที่เป็นชนกลุ่มน้อยยิ่งได้รับความกดดันมากเป็นพิเศษ เนื่องจากพวกเขาถูกบังคับให้สอนหลักสูตรที่กีดกันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพวกเขาออกไป มุมมองเรื่องกษัตริย์เชื้อสายพม่าก่อนยุคอาณานิคมก็ไม่ได้อยู่ในหลักสูตร แต่จะกล่าวถึงเรื่องความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยว่าเป็นผลมาจากนโยบายยุคอาณานิคมอังกฤษเท่านั้น. ในเรื่องของภาษาชนกลุ่มน้อย แม้ว่าการสอนภาษาของชนกลุ่มน้อยจะได้รับอนุญาตในทางทฤษฎีให้สอนในระดับประถมศึกษา แต่ในทางปฏิบัติ นโยบายนี้กลับมีปัญหามากมาย

ครูใหญ่ชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งที่พยายามส่งเสริมหลักสูตรภาษากะเหรี่ยง ได้ส่งตำราเรียนภาษากะเหรี่ยงเพื่อขอรับอนุญาตตั้งแต่ปี 1967 แต่ก็ไม่ได้รับการตีพิมพ์จนทศวรรษที่ 1980 ทุกครั้งที่เขาสอบถามไปยังหน่วยงานในย่างกุ้งเกี่ยวกับความล่าช้า เขาก็ได้รับคำตอบว่ามีกระดาษไม่เพียงพอสำหรับตีพิมพ์ หลังจากหนังสือได้ถูกพิมพ์ในที่สุด ก็ไม่มีครูที่จะสอนเป็นภาษากะเหรี่ยงได้เสียแล้ว เนื่องจากถ้าครูเองไม่สามารถอ่านและเขียนภาษากะเหรี่ยงได้ก็ไม่สามารถสอนนักเรียนได้ นโยบายนี้อาจไม่เป็นที่แปลกใจเนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าพยายามให้ความรู้ในภาษาอื่นๆ ค่อยๆ จางหายไป และประชากรชนกลุ่มน้อยก็จะกลืนกลายไปในกลุ่มเชื้อสายพม่าที่เป็นคนส่วนใหญ่ ด้วยวิธีนี้ชนกลุ่มน้อยก็จะมีข้ออ้างน้อยลงในการไม่เข้าร่วมกับนโยบายรวมชาติของรัฐบาล

รัฐบาลทหารนั้นทำทุกอย่างที่จะทำได้เพื่อสนับสนุนแนวความคิดแบบของตนให้กับประชาชนผ่านระบบการศึกษาและสื่อมวลชน โดยหวังว่าจะสามารถลบแนวคิดอื่นๆที่ขัดแย้งกับประวัติศาสตร์และการเมืองแบบทหาร ในสมัยของพรรคสังคมนิยมแห่งพม่าก็เช่นกัน ครู อาจารย์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและมหาวิทยาลัยต้องเข้าร่วมฝึกอบรม แนะแนวหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฝึกทางทหาร เทคนิคการประเมินติดตามผลนักเรียนและแนวคิดทางการเมือง ซึ่งบางหลักสูตรก็มีจุดมุ่งหมายที่จะขจัดหรือเจือจางจิตวิญญาณอันเป็นอิสระของครู และชี้นำพวกเขาว่าจะสอนโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลอย่างไร

U Kyaw Moe เคยเข้าร่วมการอบรมหลักสูตร 3 เดือนในช่วงต้นทศวรรษที่1970 ก่อนที่เขาจะเป็นครูมัธยม เขาเล่าว่า ผู้สอนบอกพวกเขาว่าจะควบคุมเหล่านักเรียน และจะเปลี่ยนแปลงอุดมคติของพวกเขาอย่างไร เขากล่าวว่า "อุดมคติเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นอุดมคติของนักเรียนก็ขึ้นอยู่กับคุณ ผู้เป็นครูของเขา ถ้านักเรียนมีความคิดที่แย่ๆ ก็เป็นเพราะคุณ ดังนั้นคุณต้องคิดถึงนักเรียนในฐานะที่เป็นของเล่นที่สะอาด และคุณสามารถจะปรับสร้างมันอย่างไรก็ได้"

เมื่อถาม U Kyaw Moe ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ เขาตอบว่า "มันเหมือนกับมีพายุใหญ่อยู่ในใจผม แต่ผมจะทำอะไรได้ในขณะนั้น ผมมีครอบครัว ผมพยายามอดทนอย่างมากและนั่งฟังเงียบๆ" แต่หลายปีหลังจากนั้น เขาเข้าร่วมกับพรรค NLD และเสนอพวกเขาถึงการศึกษาทางเลือก อย่างน้อยก็กับนักเรียนบางคน "ผมเปิดสอนพิเศษที่บ้านผม และสอนพวกเขาอย่างเปิดเผยเต็มที่ เนื่องจากผมเลือกนักเรียนอย่างระมัดระวังแล้วว่าใครอยากจะเข้ามาร่วมในชั้นเรียนพิเศษนี้ พวกนักเรียนก็เคยเป็นสมาชิกของพรรค NLD ซึ่งผมเคยเป็นผู้นำคนหนึ่งของพรรค" เขายังกล่าวอีกว่า ในชั้นเรียนนี้ทั้งนักเรียนและครูมักจะใช้เวลาถกกันเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องบทเรียนเสียอีก แต่ที่โรงเรียนนั้นเขาไม่กล้าพอที่จะสอนหันเหไปจากบทเรียนตามหลักสูตร ถ้าเขาถูกจับ เขากลัวว่าครอบครัวเขาจะเดือดร้อนไปด้วย

ในระบบโรงเรียนของรัฐบาล การเรียนรู้ประกอบด้วยการท่องจำ การสอบนั้นก็คือการท่องจำสิ่งที่ครูสอนหรือถ้อยคำจากตำราเรียน โดยไม่มีช่องว่างสำหรับการคิดวิเคราะห์ การเรียนการสอนแบบนี้ก็เหมือนกับการสอนเด็กชายในวัดวาอาราม ที่พระสงฆ์จะให้นักเรียนท่องจำบทสวดทางพุทธศาสนา การให้ท่องจำแบบนี้เป็นลักษณะการสอนที่ปรากฎทั่วไปในเอเชีย รวมทั้งในประเทศประชาธิปไตยอย่างประเทศไทยหรือญี่ปุ่น แม้ว่าตอนนี้จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว แต่ในพม่าผลของมันดูเหมือนจะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า เนื่องจากมันเป็นการกดดันจากอิทธิพลของรัฐบาล ข้อความที่นักเรียนได้รับนั้นเกี่ยวข้องถึงทุกมิติของชีวิตของพวกเขา

U Kyaw Moe ซึ่งตอนนี้อาศัยอยู่ในต่างประเทศ กล่าวว่า 'มันเป็นเรื่องยากสำหรับชาวตะวันตกที่จะเข้าใจ แต่ในพม่า ไม่มีการถกเถียงกับผู้ใหญ่หรือครูอาจารย์ นักเรียนต้องเชื่อฟังครูอาจารย์และพ่อแม่ แม้ว่าครูหรือพ่อแม่จะทำผิด นักเรียนไม่มีสิทธิจะแย้งครู แม้ว่าบางครั้งนักเรียนอาจจะบ่นลับหลัง แต่พวกเขาก็จะไม่ได้เรียนรู้ถึงการโต้แย้งอย่างมีเหตุผล หรือทำความเข้าใจว่าโดยธรรมชาติแล้ว เรื่องที่ซับซ้อนต่างๆ ไม่ได้มีคำตอบที่ถูกอยู่เพียงข้อเดียว'

U Kyaw Moe คิดว่าในทางทฤษฎี กระทรวงการศึกษาควรจะเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เปิดกว้างมากกว่านี้ เนื่องจากมีนักการศึกษาหลายคนที่ได้รับการศึกษาในต่างประเทศโดยเทคนิคการสอนแบบอื่นๆ แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจของรัฐบาลทหาร ถ้านักเรียนกับครูสามารถถกกันได้อย่างอิสระ นักเรียนก็จะไม่ยอมรับการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล

การซื้อผลการศึกษาดีๆ
การทุจริตเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณค่าของการศึกษาในระบบโรงเรียนลดน้อยลง ตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา เงินเดือนของครูนั้นต่ำมาก จนครูต้องหารายได้เสริมทางอื่น บางคนทำธุรกิจเล็กๆ เช่นขายขนมให้นักเรียน แต่มีหลายคนที่หารายได้โดยการสอนพิเศษ เขาจะไม่สอนบทเรียนทั้งหมดในชั่วโมงสอนในโรงเรียน ดังนั้นนักเรียนจึงต้องไปเรียนเสริมต่อหลังจากโรงเรียนเลิก แม้ว่าจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เพราะเข้าใจว่าครูคงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ในกรณีอื่นๆ เจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ขายสินค้าแก่นักเรียนในราคาที่สูง ซึ่งนักเรียนก็มักถูกบังคับให้ซื้อ

ในปี 1995 นักเรียนอายุ 12 ปีคนหนึ่ง อธิบายถึงสถานการณ์นี้ในจดหมายที่ส่งถึงป้าของเขาที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ อาจารย์ใหญ่ของเขา U Ba Pe พยายามที่จะหาเงินให้ได้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่เขาจะเกษียณ Nwe Nwe พี่สาวของเขาไม่สามารถทนแรงกดดันได้ ดังนั้นเขาจึงเขียนจดหมาย ดังนี้

คุณป้าที่รัก

ท่านสบายดีไหม? ผมสวดมนต์ขอให้ท่านสบายดี เย็นนี้ผมรู้สึกอยากเขียนจดหมายจึงเขียนมาหาคุณป้า U Ba Pe ไม่ใช่คนดีนัก เขาบังคับให้นักเรียนซื้อปฏิทินราคา 45 จั๊ต จากราคาจริงเพียง 20 จั๊ต
Nwe New กลัวครูของเธอ จึงซื้อมาหนึ่งชิ้น แต่ผมไม่ซื้อเพราะมันแพงเกินไป ครูของผมรักผม จึงไม่ได้ว่าอะไรที่ผมไม่ได้ซื้อ

พวกเขายังขายย่ามในราคาที่สูง ซึ่งจะได้กำไรประมาณ 75 จั๊ตต่อใบ เขาขายถึง 5,000 ใบ พวกครูต้องเอาไปขายถึงย่างกุ้ง น่าสงสารครูใช่ไหมครับ? จริงๆ แล้วครูมีหน้าที่ให้การศึกษาที่ดีและสอนให้นักเรียนมีจริยธรรม แต่พวกเขากลับถูกสั่งให้ทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน

ผมไม่สามารถพูดได้ว่า U Ba Pe เป็นคนเลว แต่เขากำลังจะเกษียณแล้ว ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่เขาจะถือประโยชน์ได้จากตำแหน่งของเขา เขาสามารถจะทำเงินได้ถึง 300,000 จั๊ต อย่างง่ายดาย
ผมจะเข้านอนแล้วครับ

Moe Aung

วิธีการอื่นที่ครูโรงเรียนมัธยมจะทำเงินได้ก็คือ ผลการศึกษาที่จะใช้เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งมีความหมายต่อนักเรียนมาก การสอบเข้าเรียนในวิทยาลัยจะตัดสินโดยดูจากผลคะแนนสอบในโรงเรียนเท่านั้น ในหลายกรณีนักเรียนที่ได้ผลคะแนนสูงๆ มาจากการที่พ่อแม่บริจาคเงินก้อนโตให้กับครูที่รับผิดชอบเรื่องผลคะแนน ผู้ทำการตรวจผลคะแนนคนหนึ่งบอกว่า ผู้ตรวจบางคนจะเปลี่ยนคำตอบในกระดาษสอบของนักเรียน นอกจากนั้นยังมีการขายข้อสอบล่วงหน้าซึ่งจะทำเงินได้จำนวนมาก ผลของมันนั้นไม่เพียงแต่เป็นการลดคุณค่าของระบบการศึกษา แต่ยังเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมในอนาคตการศึกษาของนักเรียนด้วย นักเรียนที่ฐานะทางการเงินด้อยกว่าก็จะมีโอกาสน้อยในการจ่ายเงินเพื่อเรียนพิเศษเพิ่มเติม รวมทั้งไม่สามารถจ่ายสินบนเพื่อเข้าศึกษาต่อด้วย

จนกระทั่งในปี 1991 สถานการณ์เดียวกันก็เกิดขึ้นในระดับมหาวิทยาลัยเช่นกัน อาจารย์ผู้สอนหลายคนทำการสอนอย่างแท้จริงในชั้นเรียนพิเศษ และขายข้อสอบล่วงหน้าเพื่อเงินก้อนใหญ่ แม้แต่นักศึกษาแพทย์ก็ยังต้องเรียนพิเศษ ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยยุคทศวรรษ 1990 ท่านหนึ่งอธิบายว่า 'เงินเดือนของผมได้แค่ 1, 250 จั๊ต (ประมาณ 4 ดอลล่าห์สหรัฐในช่วงนั้น) แต่ค่ารถสำหรับไปรับลูกสาวผมจากโรงเรียนประมาณ 1, 000 จั๊ตแล้ว ดังนั้นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจึงสอนไม่เต็มที่เพื่อให้นักเรียนไปเรียนพิเศษต่อ'

นักศึกษาในมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งมาจากครอบครัวที่มีอันจะกิน ทำให้สามารถจ่ายค่าเรียนพิเศษและสินบนเพื่อให้คะแนนสูงขึ้นได้ แต่หลายคนไม่มีเงินพอทำเช่นนั้น ในมุมหนึ่ง เพื่อเป็นการประชดประชัน Moe Thee Zun ผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาและกลุ่มเพื่อนสนับสนุนให้นักเรียนที่ยากจนลอกกันในการสอบ อันเป็นการแสดงการตอบโต้ถึงความไม่เท่าเทียมในทศวรรษที่ 1980. ทศวรรษที่ 1990 อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ถูกสนับสนุนให้ออกข้อสอบง่ายๆ และให้ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นการลอกข้อสอบในหมู่นักศึกษาที่ไม่พอใจกับระบบการศึกษาและปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะนำมาสู่การประท้วงทางการเมือง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ที่จะพูดถึงว่านักศึกษาจะได้อะไรจากการเรียนในห้องเรียนบ้าง

ชีวิตในมหาวิทยาลัย
ภายใต้รัฐบาลทหาร สิ่งที่พวกเขาสนใจเป็นอันดับแรกในการพัฒนาระบบมหาวิทยาลัยก็คือ การควบคุมการทำกิจกรรรมของนักศึกษามากกว่าที่จะปรับปรุงคุณภาพการศึกษา การประท้วงที่แผ่ขยายไปทั่วประเทศในปี 1988 เริ่มต้นมาจากมหาวิทยาลัยในย่างกุ้ง ที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถที่จะติดต่อกันและรวมกลุ่มกับประชาชนในท้องถิ่นได้ง่าย แต่นับจากปี 1988 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารจึงพยายามที่จะป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยย้ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงย่างกุ้ง ไปยังวิทยาเขตต่างๆ นอกเมืองรวมทั้งตั้งวิทยาลัยในเขตภูมิภาค

อันที่จริง การตั้งวิทยาลัยในภูมิภาคตามทฤษฎีแล้วน่าจะเป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ใช้ค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก โดยที่นักศึกษาสามารถศึกษาในท้องถิ่นของตน แต่ปัญหามีอยู่ว่าวิทยาลัยในภูมิภาคนั้น ได้รับงบประมาณและมีอุปกรณ์อันน้อยนิด ทำให้คุณภาพการศึกษาด้อยกว่าในกรุงย่างกุ้งมาก. นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนให้นักศึกษาเข้าเรียนในระบบทางไกล ที่ทำให้พวกเขามาเรียนเพียงสัปดาห์ละ1-2 ครั้งเท่านั้น ระบบนี้เหมาะสำหรับนักศึกษาที่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นระบบการเรียนทางไกลยังเปิดสอนในช่วงที่วิทยาลัยภาคปกติปิดเทอม ทำให้นักศึกษาหลายคนเปลี่ยนมาเรียนโปรแกรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คุณภาพการศึกษาของระบบนี้ก็ด้อยกว่าการศึกษาภาคปกติ แต่ในสายตาของรัฐบาลสิ่งนี้กลับเป็นประโยชน์ เพราะการเรียนทางไกลทำให้นักศึกษาไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ และองค์กรอันสามารถทำให้เกิดกิจกรรมทางการเมืองได้

นักศึกษาในย่างกุ้งเอง ก็ต้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมือง และหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่ผ่านการตรวจสอบโดยหน่วยงานของราชการ และมีการเรียนการสอนเพียงไม่กี่สาขา โดยเฉพาะทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีอย่างจำกัด นอกจากนั้นอาจารย์ผู้สอนที่เก่งๆ ก็ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ที่สามารถมีรายได้มากกว่าและสอนได้อย่างเสรีมากกว่า

ตั้งแต่ปี 1964 นักศึกษาต่างถูกกำหนดให้เรียนในหลักสูตรตามคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยของพวกเขา ไม่ว่าพวกเขาจะสนใจในประเด็นนั้นหรือไม่ รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดว่าจะมีนักเรียนกี่คนเข้าเรียนในแต่ละสาขา แต่ในความเป็นจริงบางสาขานั้นไม่มีงานรองรับเลย แต่นักศึกษาก็ยังถูกกำหนดให้เรียน อย่างเช่น สาขาฟิสิกส์ หรือสัตววิทยา ดังนั้นหลายๆ ครอบครัวจึงเห็นว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นเปล่าประโยชน์ ยกเว้นแต่ว่าลูกหลานของพวกเขาจะสอบเข้าเรียนในสาขาที่มีงานทำแน่นอนได้ เช่น แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยก็เหมือนกับในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา คือใช้ระบบการท่องจำ มากกว่าเพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยคนหนึ่งกล่าวว่า 'แม้ว่าจะเป็นระดับมหาวิทยาลัยก็ยังใช้ระบบการท่องจำ คุณสามารถเรียนได้จากตำราเรียนหรือไปเรียนในห้องและจำสิ่งที่ครูบอกก็ได้ ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องไปเข้าเรียน' ในเวลาสี่ปีที่เขาเรียนในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เขาไม่เคยเข้าไปห้องสมุดเลย คนที่เข้าไปในห้องสมุดก็ไม่สามารถยืมหนังสือที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขาที่ตนเรียนออกมาได้

นักศึกษาที่พยายามมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับการศึกษาของพวกเขาก็ต้องพบกับความผิดหวัง Aung Zin ซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการป้องกันโรค และการแพทย์เพื่อสังคมในกลางทศวรรษที่ 1980 ชั้นเรียนของเขาได้จัดโครงการให้ความรู้ด้านสาธารณสุขในชุมชนใกล้เคียง ตัวเขาถูกส่งไปที่หมู่บ้านมินกะลาโดน ซึ่งอยู่ใกล้กับสนามบิน เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลครอบครัว 3-4 ครอบครัว ด้วยการให้ความรู้เรื่องสุขภาพและดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ โดยมีเป้าหมายว่าเมื่อพวกเขาได้รับคำแนะนำ โดยเฉพาะเรื่องอาหารและสุขภาวะ สุขภาพของครอบครัวนั้นน่าจะดีขึ้น นักศึกษาถูกมอบหมายให้ติดตามผล แต่ Aung Zin พบว่าเขาเป็นเพียงคนเดียวในชั้นที่ไปทำงานในหมู่บ้านจริงๆ ส่วนคนอื่นๆ นั้น แต่งรายงานขึ้นมาเองทั้งนั้น

Aung Zin ต้องการที่จะช่วยครอบครัวเหล่านั้น เขาพบว่าบ้านหลังหนึ่งที่เขารับผิดชอบ มีระบบการระบายอากาศที่ไม่ดี ห้องน้ำไม่ค่อยสะอาดและมีสมาชิกในบ้าน 2 คนเป็นวัณโรค เขาแนะนำให้ผู้ป่วยทั้งสองไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิค แต่พวกเขาบอกว่า เขายากจนและไม่สามารถจ่ายค่ารักษาที่ใช้เวลาถึง 6 เดือนได้ (ยารักษาวัณโรคต้องได้รับติดต่อกัน 6 - 8 เดือน ในพม่ายังมีผู้ป่วยโรคนี้ในอัตราสูง แม้ในปัจจุบัน * ผู้เรียบเรียง) แม้ว่าพวกเขาจะไปโรงพยาบาลของรัฐ พวกเขาก็ต้องจ่ายเงินค่ารักษาทั้งหมดเอง แต่ Aung Zin ก็ไม่ได้รับยาจากภาควิชาของเขา ดังนั้นเขาจึงช่วยครอบครัวนี้ได้ไม่มาก จากนั้นเขาก็พบว่าการไปเยี่ยมของเขาทำให้ครอบครัวนี้รู้สึกลำบากใจและอึดอัด อันมาจากประเพณีพม่าอย่างหนึ่ง คือเมื่อมีแขกมาเยี่ยม เจ้าของบ้านต้องเลี้ยงกาแฟ ชา หรือของว่าง และครอบครัวนี้ก็ไม่สามารถมีสุขภาพดีขึ้นได้เนื่องจากไม่มีเงินรักษา Aung Zin กล่าวว่า หลังจากนั้นเขาก็เลิกล้มความตั้งใจและแต่งรายงานขึ้นมาเหมือนกับคนอื่นๆ

อาจารย์ผู้สอนก็ต้องใช้เวลาในการสอดส่องในมหาวิทยาลัย ไม่ให้นักศึกษาทำกิจกรรมทางการเมือง มากกว่าที่จะเตรียมการสอน เมื่อมหาวิทยาลัยเปิดทำการสอนอีกครั้ง กลางทศวรรษที่1990 อาจารย์ทั้งหมดต้องเดินตรวจการณ์สัปดาห์ละ 3 ครั้ง และในวันสำคัญทางการเมือง พวกอาจารย์ต้องหยุดสอนถ้ามีเวรตรวจการณ์ในวันนั้น. อาจารย์หญิงคนหนึ่งซึ่งเคยสอนที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ในช่วงกลางทศวรรษที่1990 อธิบายถึงการที่อาจารย์แต่ละท่าน ต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมนักศึกษาที่อยู่ในการดูแลจำนวนหลายคน เนื่องจากทางราชการใช้นโยบายที่ว่า "ความผิดเนื่องจากการร่วมมือ" หมายถึงอาจารย์จะมีความผิดด้วยกับกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา ดังนั้นเธอจึงบอกนักศึกษาให้อยู่ห่างๆ จากการเมือง

เธอบอกพวกเขาว่า "ถ้าพวกเธอเข้าไปเกี่ยวข้อง เราก็จะมีปัญหาทั้งคู่" เธอบอกว่าอันที่จริงแล้ว เธอรู้สึกไม่ดีที่พูดอย่างนี้ เพราะว่าการที่เธอเป็นนักการศึกษา เธอมีหน้าที่สอน ไม่ใช่ไปควบคุม แต่รัฐบาลหวังที่จะใช้ความเคารพนับถือที่นักศึกษามีต่ออาจารย์ ทำให้พวกเขาอยู่ในระเบียบที่วางไว้ อย่างไรก็ตามอาจารย์ท่านนี้และเพื่อนอาจารย์อีกหลายท่านไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบ ที่จะให้นักศึกษามาเซ็นชื่อที่ห้องทำงานทุกเช้า เธอให้นักศึกษาเก็บกระดาษเซ็นชื่อนั้นไว้เอง

ยังมีตัวอย่างอื่นๆ ของความหวาดระแวงของทางรัฐบาลอีก เช่น อาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนภาษาอังกฤษแก่ชั้นเรียนที่มีนักศึกษาหลายร้อยคน ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ได้รับคำสั่งให้ถือไมโครโฟนไว้กับตัวตลอดเวลาที่สอน แม้ขณะที่เขียนกระดาน เนื่องจากกลัวว่านักศึกษาจะขึ้นไปแย่งไมโครโฟนและพูดเรื่องการเมือง

การควบคุมเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกของรัฐบาลทหาร ถ้าไม่มีบัตรนักศึกษาหรือบัตรพนักงานมหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถเข้าไปในเขตมหาวิทยาลัยได้ มหาวิทยาลัยเหมือนกับเป็นป้อมปราการ ด้วยล็อคประตูรั้วและยามรักษาการณ์ที่แน่นหนา นั่นหมายความว่าบัณฑิตที่เรียนจบไปแล้วไม่สามารถกลับไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยหรือใช้บริการสาธารณะในมหาวิทยาลัยได้ เหตุผลหลักก็คือเพื่อป้องกันศิษย์เก่าและนักเคลื่อนไหวไม่ให้ปลุกปั่นนักศึกษา การระแวดระวังสอดแนมจะทำการโดยสายลับของทางรัฐบาล นักศึกษาอ้างว่าบางทีพวกเขาก็จะปลอมเป็นคนสวนบ้าง พนักงานทำความสะอาดหรือพนักงานมหาวิทยาลัย

หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารแสดงให้เห็นว่าไม่มีความลังเลเลยที่จะปิดมหาวิทยาลัยเมื่อใดก็ตาม ที่เกิดสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมือง. ระหว่างปี 1962 - 1999 มหาวิทยาลัยต่างๆ ถูกสั่งให้ปิดไปถึง 13 ครั้ง ตั้งแต่ 1 เดือนจนถึงกว่า 3 ปี. ตั้งแต่ปี 1988 ถึง 2000 มหาวิทยาลัยมีระยะเวลาที่ปิดทำการมากกว่าเปิดทำการเสียอีก ชั้นเรียนถูกปิดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1988 ถึงเดือนพฤษภาคม 1991 จากเดือนธันวาคม 1991 ถึงเดือนพฤษภาคม 1992 และจากเดือนธันวาคม 1996 ถึงเดือนกรกฎาคม 2000 มีเพียงสถาบันการศึกษาของทหาร การศึกษาระดับปริญญาโทบางสาขาในย่างกุ้ง และวิทยาลัยเทคนิคเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากย่างกุ้งบางแห่งเท่านั้นที่เปิดการเรียนการสอน แม้แต่โรงเรียนแพทย์ก็เปิดทำการสอนอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 1999

เมื่อมหาวิทยาลัยหลักๆ เปิดการสอนอีกครั้งหลังจากถูกปิดไป 3 ปี ตั้งแต่ปี 1988 ถึง 1991 หลักสูตรเรียน 1 ปี ถูกย่อเหลือแค่ 4 เดือน เพื่อให้นักเรียนจบออกไปเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่ารัฐบาลทหารจะเข้าใจว่าประเทศจะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ถ้าปราศจากการศึกษา แต่สิ่งที่สำคัญอันดับแรกคือ การป้องกันไม่ให้มีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลอีก ด้วยเหตุผลนั้น นักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองกล่าวว่า มีการยอมให้ใช้ยาเสพติดและดื่มสุราในมหาวิทยาลัยอย่างแพร่หลาย เนื่องจากนักศึกษาที่ติดยาและสุรา ย่อมมีความสนใจต่อการเมืองเพียงเล็กน้อย ในระหว่างที่นักศึกษาที่มีส่วนร่วมทางการเมืองแม้เพียงน้อยนิด จะถูกตรวจค้นและกำจัดออกไป แต่นักศึกษาบางคนที่ผู้เขียนสัมภาษณ์กล่าวว่า มีเฮโรอีนขายอยู่ในหอพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลพยายามที่จะเพิ่มระดับการศึกษาให้กับบุคลากรของตน หลังปี 1988 กองทัพได้ตั้งโรงเรียนแพทย์และวิทยาลัยเทคนิคของตนโดยไม่เคยถูกปิดเลย ในอนาคตดูเหมือนว่าผู้ที่ได้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาของทหาร หรือเรียนในโรงเรียนทหาร 4 ปีจะมีความรู้สูงกว่าบุคคลทั่วไป นักศึกษาที่เรียนในสถาบันเหล่านี้เกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวทหารหรือข้าราชการ และต้องมีประวัติ "โปร่งใส" อันหมายถึงไม่เคยมีประวัติต่อต้านรัฐบาลในครอบครัวเลย

รัฐบาลยังส่งบุคคลเพียงจำนวนไม่กี่คนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เพื่อจะให้กลับมาและทำงานให้รัฐบาล ดังนั้นอาจารย์จากสาขาประวัติศาสตร์บางคน จึงถูกส่งไปเรียนในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อกลับมาเขียนหลักสูตรสอนให้กับเจ้าหน้าที่การต่างประเทศ จากข้อมูลของบัณฑิตสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคนหนึ่งกล่าวว่า นโยบายนี้เกิดขึ้นหลังจากที่พลเอกเน วิน เดินทางไปต่างประเทศ และพบว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศของตนมีคุณภาพที่ด้อยกว่าของประเทศอื่นๆ มาก ในช่วงทศวรรษที่ 1990 หน่วยข่าวกรองได้ส่งนักศึกษาคนหนึ่งไปเรียนวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการลงทุนระยะยาวของทหารในการรักษาความเป็นผู้นำของตน

ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ในช่วงของ พรรคสังคมนิยมแห่งพม่า ผู้นำรัฐบาลมักจะพูดถึงคำว่า lu guang และ lu daw อันหมายถึง คนที่ดีและจงรักภักดีจะดีกว่าคนที่ฉลาดเฉลียว ในเวลานั้นบุคลากรในกองทัพมักจะมีการศึกษาไม่สูง ปัจจุบันนี้กองทัพก็พยายามที่จะเพิ่มความรู้ให้บุคลากรของตน ในขณะที่การศึกษาของประชาชนทั่วไปก็ยังถูกควบคุมด้วยประเด็นทางการเมือง ทรัพยากรส่วนมากก็จะถูกส่งไปยังสถาบันการศึกษาของทหาร รัฐบาลทำให้เกิดลำดับชั้นในระบบการศึกษา โดยการศึกษาที่ดีที่สุดถูกจำกัดให้กับผู้ที่ทำงานให้กองทัพเท่านั้น

การเรียนเป็นกลุ่มและหนังสือส่งต่อ
เมื่อไม่สามารถที่จะเรียนในระบบการศึกษาปกติให้สัมฤทธิ์ผลได้ นักเรียนบางคนจึงจัดการศึกษาด้วยตนเอง บางคนก็เสาะหาครูสอนพิเศษส่วนตัว และจัดกลุ่มศึกษาอย่างลับๆ เพื่อทำความเข้าใจว่ามีอะไรผิดพลาดไปในประเทศของพวกเขาและทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนแปลงมันได้

แนวคิดในการพัฒนาการศึกษาทางเลือกในพม่ามีรากฐานมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมแล้ว ในช่วงทศวรรษที่ 1920 เมื่อนักศึกษาหยุดเรียนประท้วงกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง(Rangoon University Act) นักศึกษาที่เรียนชั้นสูงกว่าก็สอนหนังสือแก่นักศึกษารุ่นน้องที่ศูนย์กลางของการประท้วง สิ่งนี้นำมาซึ่งการก่อตั้งโรงเรียนแห่งชาติขึ้น โดยใช้ภาษาหลักคือภาษาพม่าแทนภาษาอังกฤษ และเน้นวิชาภาษาพม่ามากขึ้น จากนั้นออง ซาน ในขณะที่ยังเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งได้ตั้งกลุ่มศึกษาเรื่องคอมมิวนิสต์ เพื่ออ่านวรรณกรรมการเมืองและวางแผนว่าทำอย่างไรจึงจะได้อิสรภาพ (จากอังกฤษ) ในเวลานั้นนักศึกษาคนอื่นๆ รวมทั้งนักคิด นักวิชาการทั้งหลายช่วงสมัยอาณานิคม ต่างก็พยายามอ่านวรรณกรรมต่างประเทศ เพื่อหาวิธีในการที่จะพ้นจากการเป็นอาณานิคม

ตั้งแต่นายพลเน วิน ครองอำนาจในปี 1962 มีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่หันไปใช้ห้องสมุดเอกชน มีกลุ่มศึกษาและครูสอนพิเศษ แต่ก็เพื่อการศึกษาพัฒนาการทางการเมืองในประเทศอื่นๆ และเรียนรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่อต้านในพม่าตั้งแต่อดีต. ในสมัยพรรคสังคมนิยมแห่งพม่า มีนักวิชาการที่ต่อต้านรัฐบาลจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตให้สอนในโรงเรียนของรัฐ หรืออาจเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้นเอง กลายเป็นครูสอนพิเศษส่วนตัวเต็มเวลา พวกเขาจะคัดเลือกนักเรียนที่แสดงความสามารถและความสนใจทางการเมือง และพยายามเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจทางการเมืองและประวัติศาสตร์ รวมทั้งความรู้สึกรับผิดชอบต่อชุมชนแก่นักเรียน หลายครั้งการสอนของพวกเขารวมถึงการฝึกฝนร่างกาย เพื่อฝึกระเบียบ และการสังคมสงเคราะห์ เพื่อส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจกัน

Mi Mi นักเรียนหญิงที่กล้าหาญคนหนึ่ง ที่เดินออกไปเพียงลำพังเพื่อโต้แย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐระหว่างการประท้วงที่ตึงเครียดของนักศึกษาช่วงปลายทศวรรษ 1990 ได้เรียนกับครูส่วนตัวคนหนึ่ง เมื่อมหาวิทยาลัยยังถูกปิดอยู่ช่วงปี 1988 ถึง 1991 ครูของเธอเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมการเมืองช่วงปี 1974 เขาเชื่อในเรื่องความสำคัญของการมีระเบียบวินัยพอๆ กับเชาว์ปัญญาความรู้. Mi Mi และนักเรียนคนอื่นๆ ต้องไปวิ่งตอนเช้ามืดเวลา 4 นาฬิกา ตามด้วยบทเรียนเริ่มเมื่อ 9 นาฬิกา พวกเขาใช้เวลาทั้งวันเพื่ออ่านและฟังการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่า

Htun Htun เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ได้รับการสอนโดยครูซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านในยุคทศวรรษ1980 ครูท่านนี้เป็นสมาชิกฝ่ายคอมมิวนิสต์ เขาเชิญนักเรียนที่มีอายุในช่วงมัธยมปลายไปที่บ้าน และเขาให้ยืมหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์เชิงสังคม และวรรณกรรมฝ่ายซ้าย. Htun Htun ไปเยี่ยมอาจารย์ท่านนี้ตั้งแต่เขาอายุ 15 และมักจะใช้เวลาทั้งวันอยู่ที่นั่น ทำอาหารรับประทานกับครูและพูดคุยกับครูและนักเรียนคนอื่นๆ ครูมักจะคอยแก้ไขความเข้าใจผิดๆ ของนักเรียน ในเรื่องอดีตของประเทศที่พวกเขาเรียนมาจากตำราในโรงเรียน เขาพูดถึงเรื่องการได้มาซึ่งอิสรภาพของประเทศบ่อยๆ โดยเน้นว่ามันไม่ใช่เป็นเพียงเพราะกองทัพ ซึ่งตำราเรียนพยายามทำให้ทุกคนเชื่ออย่างนั้น แต่ทั้งองค์กรการเมืองและประชาชนทั่วไปก็มีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น แต่ตำราได้บิดเบือนด้วยการวาดภาพให้ประชาชนเป็นผู้ตาม เพื่อทำให้คนทั่วไปยอมรับว่า กองทัพควรจะเป็นผู้นำ และประชาชนควรจะยอมตาม

ครูท่านนี้ยังสนับสนุนให้นักเรียนใช้เวลาในการทำงานสังคมสงเคราะห์ โดยเฉพาะเพื่อวัดในชุมชน ทุกวันสำคัญทางศาสนา เขาจะให้นักเรียนเดินไปรอบเมือง พร้อมกับฆ้อง บาตร และพระพุทธรูป เพื่อเรี่ยไรเงินสำหรับวัด แม้ว่าทางราชการจะรู้ว่าครูคนนี้เป็นฝ่ายต่อต้าน แต่เขาก็เป็นที่นับถือในชุมชนเกี่ยวกับการอุทิศตัวเพื่อศาสนาและนักสังคมสงเคราะห์. หลังจากที่ Htun Htun ถูกจับเป็นเวลาสั้นๆ ในเดือนมีนาคมปี 1988 เขากล่าวว่า "ครูของผมมีความสุขมากถึงขนาดกระโดดไปมา เพราะเขาอยากเห็นนักเรียนเป็นนักเคลื่อนไหว" และอันที่จริงแล้ว นักเรียนที่เข้าในโปรแกรมอย่างนี้ ก็ทำเช่นนั้น Htun Htun เองหลังจากนั้นก็ยังทำงานเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต่อไป เขาย้ายมาอยู่แถบชายแดนไทย - พม่า เพื่อหนีการคุมขังระยะยาว. ในขณะเดียวกัน ในช่วงปี 1988 ในการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ครูของ Htun Htun สนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างมาก เขาขายทรัพย์สินทุกอย่างเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าว ต่อมาเขาก็ต้องไปจบลงในคุกและทิ้งให้ครอบครัวยากจน

การเรียนเป็นกลุ่มยังเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้นักเรียนระดับมัธยมปลาย และมหาวิทยาลัยที่อยากรู้อยากเห็น ได้เพิ่มความรู้และท้าทายปัญญาของพวกเขา ในระหว่างที่ชาวพม่าทั่วไปหาความสำราญจากการอ่านนวนิยายรักและแนวสยองขวัญ นักเรียนที่สนใจการเมืองเหล่านี้กลับแสวงหาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกดขี่ และการต่อต้าน ทฤษฎีการเมือง และชีวประวัติของนักต่อสู้เพื่ออิสระภาพ อย่างเช่น ชีวประวัติของเนลสัน แมนเดลา (ผู้นำชนผิวดำในแอฟริกาใต้)

นักวิชาการบางคนมีห้องสมุดส่วนตัวที่บ้านอันเป็นแหล่งข้อมูลของนักอ่านรุ่นใหม่ Moe Thee Zun เป็นนักเคลื่อนไหวในปี 1988 เขาเริ่มการศึกษาเรื่องการเมืองจากห้องสมุดส่วนตัวของสมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งพม่าท่านหนึ่ง หนังสือในห้องสมุดนี้ส่วนมากเป็นเรื่องราวของพรรคสังคมนิยมแห่งพม่า หนังสือประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และปรัชญา ห้องสมุดนี้เป็นสถานที่ซึ่ง Moe Thee Zun ได้พัฒนาความรักในการอ่านของเขา เมื่อเขาเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น เขาเริ่มไปเยี่ยมเยียนบ้านอีกหลังหนึ่งในละแวกบ้าน ซึ่งเป็นของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งท่านหนึ่ง ช่วงโรงเรียนหยุดเขามักจะไปอ่านหนังสือที่บ้านอาจารย์ท่านนี้ตลอดทั้งวัน ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ผู้คนมากมายก็ไปที่บ้านหลังนี้เช่นกัน รวมทั้งอดีตนักโทษการเมือง ครู นักแต่งเพลง เมื่อพวกผู้ใหญ่นั่งถกกันถึงเรื่องการเมือง Moe Thee Zun ก็นั่งฟังด้วยอย่างเงียบๆ

หลังจากนั้นไม่นาน เขาและเพื่อนอีกคน ที่ต่อมาใช้ชื่อว่า Min Ko Naing ในปี 1988 เริ่มเขียนกลอนและเรื่องสั้นที่โรงเรียน ครูบอกพวกเขาให้เขียนสำหรับวารสารติดผนังในโรงเรียนและห้องวรรณกรรม เขาจึงเริ่มเขียนงานและรวบรวมงานเขียนของนักเรียนคนอื่นๆ. Moe Thee Zun จำได้ว่า "เรื่องเหล่านั้นมีเพียงประเด็นทางสังคม เรื่องความรัก ความคิดแบบเด็กๆ แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าตัวเราเป็นผู้ใหญ่มาก"

ประมาณปี 1980 Moe Thee Zun ตั้งกลุ่มศึกษาขึ้นมาร่วมกับนักเรียนที่แก่กว่าคนอื่นๆ เขาเริ่มการอภิปรายเรื่องวรรณกรรมในวันอังคารและวันเสาร์ "กลุ่มนี้มีเป้าหมายว่าจะใช้วรรณกรรมในการสอนเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง และกระตุ้นให้คนพิจารณาถึงการกระทำ" กลุ่มศึกษานี้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ร่วมกันตั้งคำถามและอภิปราย ไม่ใช่เพียงนั่งฟังและพูดตามเท่านั้น งานที่พวกเขาอ่านโดยมากเป็นงานแปลมาจากผลงานอันเยี่ยมยอดของ Tolstoy, Chekhov, Dostoyevsky, Camus, Sartre, Hemingway, และ Steinbeck เนื่องจากหาหนังสือพวกนี้ยาก ดังนั้นพวกเขาจึงผลัดกันอ่าน พวกเขายังพยายามหานิตยสารอย่าง Time และ Newsweek โดยมอบหมายให้คนหนึ่งนำฉบับเก่าๆ มาจากสถานทูต แล้วให้สมาชิกคนหนึ่งแปลเป็นภาษาพม่าเนื่องจากคนอื่นๆ ไม่เก่งภาษาอังกฤษนัก

ในปี 1986 กลุ่มอภิปรายเรื่องวรรณกรรมได้แผ่ขยายไปยังหลายๆ เมือง และพวกเขาก็สามารถรวบรวมหนังสือได้จำนวนหนึ่ง การจัดระบบหนังสือเหล่านี้คือ ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของหนังสือพวกนี้ได้ถาวร เมื่อคนหนึ่งได้อ่านแล้ว เขาหรือเธอต้องเขียนข้อความวิจารณ์สั้นๆ และเขียนชื่อและเมืองที่อยู่ไว้ด้านหลัง และส่งหนังสือต่อไปให้สมาชิกคนอื่น ด้วยวิธีนี้หนังสือจึงได้เดินทางไปทั่วพม่า บางครั้งหนังสือเล่มหนึ่งจะกลับมาหาเจ้าของเดิมเมื่อผ่านไปประมาณหกเดือนถึงหนึ่งปี. Moe Thee Zun ยังจำได้ถึงความตื่นเต้นเมื่อหนังสือที่เขาส่งออกไปเมื่อหลายเดือนมาแล้ว ถูกส่งวนกลับมาหาเขาอีกครั้ง "หนังสือของผมถูกส่งไปทั่วพม่า เคลื่อนที่ไปในเครือข่ายของเรา" สำหรับคนที่พยายามพัฒนาแนวคิดทางการเมือง การที่ได้รับรู้ว่ามีคนคิดเหมือนเราอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศมีความสำคัญมาก เพราะพวกเขามักจะรู้สึกโดดเดี่ยวในกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียน เพราะพวกเขามักจะคิดว่าเปล่าประโยชน์ที่จะตั้งคำถามกับการปกครองโดยเผด็จการทหาร

ยิ่งกว่านั้น พ่อแม่โดยมากไม่ต้องการให้ลูกของตนข้องเกี่ยวกับการเมือง และวัยรุ่นที่สนใจศึกษาเรื่องการเมืองอย่างอิสระ ก็มักปิดบังกิจกรรมของตนจากพ่อแม่. Aung Zin เป็นตัวอย่างหนึ่งของนักเรียนที่ได้รับรางวัลจากการเขียนบทความเรื่อง "ข้อดีของการปกครองโดยพรรคสังคมนิยมแห่งพม่า" พ่อแม่ของเขาตื่นเต้นเมื่อเขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์ และคาดหวังว่าเขาจะเข้าเป็นข้าราชการในฐานะแพทย์ แต่เมื่อเขาอยู่มหาวิทยาลัย ความสนใจของเขาก็เปลี่ยนไป เขาพบว่าตนเองอ่านหนังสือเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ วรรณกรรม และปรัชญามากกว่าหนังสือเรียน เขาไม่ได้บอกพ่อแม่เรื่องดังกล่าว ซึ่งการอ่านเหล่านั้นทำให้ความคิดของเขาเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองของประเทศเปลี่ยนไป เขาเข้าร่วมในการประท้วงเมื่อปี 1988 และหนีมายังชายแดนไทย - พม่า และมีตำแหน่งสูงในกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่นั่นตั้งแต่นั้นมา

ร้านน้ำชาและห้องน้ำ
แม้ว่ารัฐบาลพยายามที่จะทำให้การเมืองอยู่ห่างๆ จากห้องเรียน ซึ่งก็ท้าทายให้พวกนักเรียนแสวงหาหนทางที่จะศึกษาเรื่องการเมืองอย่างลับๆ ในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย และคนที่พยายามศึกษาเรื่องการเมืองด้วยตนเองก็พยายามที่จะกระจายข้อมูลไปให้คนอื่นๆ เพื่อปลุกระดมให้เข้าร่วมกับกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลที่อาจเกิดขึ้นได้ มีกลุ่มนักศึกษาลับๆ ที่เขียนและแจกจ่ายนิตยสารไปทั่วมหาวิทยาลัย ด้วยมุ่งหมายให้นักศึกษาคนอื่นๆได้รับรู้ถึงความอยุติธรรม บางฉบับมีทั้งนวนิยาย บทกลอน และบทความอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกตรวจตัดทอนและส่งต่อกันในหมู่นักศึกษา

ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ก็มีการตั้งคณะกรรมการวรรณกรรมและวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัย ผลิตวารสารรายปีและปฏิทิน แต่ในขณะที่สมาชิกบางคนในกลุ่มนี้สนใจแต่ประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรม แต่กรรมการกลุ่มนี้ก็มีบทบาทในการสรรหานักเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนกลุ่มน้อย จะเห็นได้จากนักศึกษาที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายคนที่เข้าร่วมกับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ หลังจากปี 1988 ก็เคยเป็นคณะกรรมการด้านวรรณกรรมและวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัย ที่ซึ่งพวกเขารู้สึกไม่พอใจกับการเข้มงวดของรัฐบาลในการสอนภาษาและประวัติศาสตร์(กลุ่มชาติพันธุ์)ของพวกเขา

ร้านน้ำชาในมหาวิทยาลัยและบริเวณรอบๆ กลายเป็นที่พบปะกันของนักศึกษา ไม่ว่าจะเพื่อพูดคุยกันเรื่องความรัก หรือแม้แต่ถกกันเรื่องการเมือง นักเรียนหลายต่อหลายคนมามหาวิทยาลัยโดยรู้เรื่องการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงย่างกุ้งไม่มากนัก หรือไม่รู้เลย แต่นักเรียนบางคนก็ระมัดระวังในการพูดคุยกับเพื่อนนักศึกษาไม่ว่าจะในร้านน้ำชาหรือหอพัก. Min Zaw นักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่งซึ่งเมื่อปี 1988 มารดาให้เขาบวชเป็นพระ บอกว่า เป็นเวลาสองปีที่เขาไม่ได้เยี่ยมกรายไปในห้องเรียนเลย "ห้องเรียนของผมคือร้านน้ำชา เราอ่านบทกวี และพูดคุยว่าเราจะทำอย่างไรกัน เนื่องจากตอนนั้นเราขุ่นเคืองกับรัฐบาลมาก"

ห้องน้ำกลายเป็นห้องเรียนทางเลือกอีกแบบหนึ่ง บางที่ใช้แม้กระทั่งจัดกิจกรรมทางการเมืองเล็กๆ ด้วย มีอดีตนักศึกษาหลายคนเล่าให้ฟังว่า พวกเขาเรียนรู้เรื่องการล่มสลายของสหพันธ์นักศึกษาเมื่อปี 1962 จากกระดาษติดผนังในผนังห้องน้ำของมหาวิทยาลัย บางป้ายก็เรียกร้องให้นักศึกษารำลึกถึงเหตุการณ์นั้นในช่วงเดือนกรกฎาคมด้วยการใส่ชุดดำ ซึ่งนักศึกษาก็ปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องทุกปี. ห้องน้ำในโรงเรียนมัธยมก็กลายเป็นสถานที่ที่ใช้มากในยุค 1988 เนื่องจากมันสามารถบังสายตาสำหรับคนที่อยากจะส่งผ่านข้อความทางการเมือง เมื่อมหาวิทยาลัยถูกปิดในเดือนมีนาคมและอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายน แต่โรงเรียนประถมและมัธยมยังเปิดอยู่ นักศึกษามหาวิทยาลัยพยายามให้นักเรียนมัธยมปลายให้กระตุ้นเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งหลายคนก็กระตือรือร้นที่จะเข้าร่วม พวกครูพบว่าการสอนเป็นไปอย่างลำบากเนื่องจากมีการแอบส่งข่าวสารและทำกิจกรรมทางการเมืองในโรงเรียน

อดีตนักเรียนคนหนึ่งเล่าว่า เขาจำได้ถึงเหตุการณ์ก่อนการประท้วงทั่วประเทศเมื่อปี 1988 หนึ่งสัปดาห์ที่ผนังห้องน้ำในโรงเรียนของเขาเต็มไปด้วยโปสเตอร์ และการ์ตูนทางการเมือง ช่วงพักกลางวัน ครูจะนั่งรออยู่ที่ห้องน้ำแต่ไม่กล้าเข้าไป เพราะว่าทุกคนที่อยู่ในนั้นกำลังตะโกนส่งเสียงกันอยู่ แล้วขังตัวเองในห้องน้ำที่จะไม่มีใครเห็นตัวพวกเขา เด็กผู้ชายตะโกนคำปลุกเร้าทางการเมืองต่อเพื่อนที่อยู่นอกห้อง นักเรียนที่อยากจะใช้ห้องน้ำจริงๆ ในช่วงนั้นก็ถือว่าโชคร้ายไป

บรรดาครูต่างเตือนนักเรียนให้หยุดกิจกรรมทางการเมืองของพวกเขาเสีย แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำการบันทึกชื่อผู้กระทำผิดไว้ แม้จะถูกสั่งให้ทำ จากคำบอกเล่าขององค์กรนักเรียนในยุคนั้นกล่าวว่า พวกครูก็ติดอยู่ตรงกลางระหว่างการสนับสนุนสิ่งที่นักเรียนกระทำ กับความกลัวว่าจะถูกไล่ออกถ้าปล่อยให้นักเรียนทำต่อไป นักเรียนคนหนึ่งในยุคนั้น ซึ่งมักจะเขียนคำขวัญทางการเมืองบนกระดานก่อนที่ครูจะเข้าห้องบอกว่า ครูขอร้องนักเรียนในห้องว่าอย่าทำเช่นนั้น เธอบอกว่า "พวกเธอน่าจะสงสารครูบ้าง ครูจะตกงานนะ" แต่นักเรียนคนนี้บอกว่า เมื่อเขาเข้าไปขอการสนับสนุนทางการเงินจากครู หลายคนก็ออกเงินช่วย

อดีตนักเรียนอีกคนหนึ่งจากเมืองใกล้ๆ มันดาเลย์กล่าวถึงครูผู้หญิงคนหนึ่งว่า เธอเห็นใจนักเรียนที่ทำการประท้วงแต่ก็ร้องไห้และพูดว่า "โปรดอยู่เงียบๆ กันเถอะ พวกเธอยังอายุน้อย และแม้ว่าพวกเธอจะฉลาดแต่ประชาธิปไตยยังจะไม่มาถึงในเร็วๆ นี้หรอก" ถึงอย่างนั้นครูบางคนก็เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยด้วย แม้แต่การปรบมือของครูแก่นักเรียนที่กล่าวปราศรัยทางการเมือง ก็ทำให้นักเรียนคนอื่นๆ อยากเข้าร่วม

อีกทางหนึ่งที่เหล่านักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่พยายามทำ เพื่อให้ข้อมูลแก่นักเรียนในย่างกุ้งก็คือ การแจกแผ่นพับแก่พวกเขาระหว่างทางไปโรงเรียนในตอนเช้า อย่างไรก็ตาม นักเรียนบางคนก็ถูกจับพร้อมกับแผ่นพับนั้นพร้อมกับถูกสอบสวนจนกระทั่งยอมบอกว่าใครให้แผ่นพับนั้นมา. Lin Htet และเพื่อนนักเคลื่อนไหวบอกถึงวิธีที่จะป้องกันเหตุดังกล่าว โดยเขียนข้อความลงในกระดาษแผ่นเล็กๆ ปะไว้ว่า "คุณจะส่งต่อคำขวัญนี้เพื่อการประท้วงในโรงเรียน หรือติดบนผนังให้คนอื่นอ่านด้วยก็ได้" โดยทำชุดแผ่นพับอย่างแน่นหนา. นักเคลื่อนไหวได้ทำแผนที่ขึ้นมาแสดงถึงที่ตั้งของโรงเรียนต่างๆ และถนนสายหลักๆ ที่ผู้คนสัญจรไปมา ในวันที่ทำการแจกจ่ายแผ่นพับก็แยกกันไปแจกกลุ่มละ 2 คน แก่นักเรียนที่กำลังเดินไปโรงเรียนแล้วรีบเดินออกไป เพื่อที่ไม่ให้มีใครจำหน้าได้ เพื่อว่าเมื่อนักเรียนเหล่านั้นถูกจับจะจำหน้าคนแจกไม่ได้ ส่วนนักเรียนทั้งหลายก็จะไม่ถูกลงโทษหนัก เพราะไม่เจตนารับมา

แต่จากนั้น Lin Htet เล่าต่อ ทางรัฐบาลประกาศว่าการรับเอกสารระหว่างทางไปโรงเรียนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นพวกนักเคลื่อนไหวจึงเปลี่ยนวิธี โดยให้นักศึกษาหญิงหน้าตาดีเป็นคนแจกทำให้นักเรียนชายมัธยมปลายไม่อาจปฏิเสธได้. แต่นักศึกษาชายกลับมีปัญหาเมื่อแจกเอกสารให้นักเรียนหญิง นักกิจกรรมชายคนหนึ่งเล่าว่า นักเรียนหญิงนั้นจะอายมากและกลัวว่ามันจะเป็นจดหมายรัก เนื่องจากนักเรียนชายในพม่ามักจะบอกรักสาวๆโดยการส่งจดหมายใส่ลงไปในกระเป๋านักเรียนตอนกลับบ้าน ดังนั้นพวกนักกิจกรรมจึงต้องบอกนักเรียนหญิงว่า สิ่งที่พวกเขามอบให้นั้นไม่ใช่จดหมายรักแต่เป็นแผ่นพับที่พวกเขาสามารถอ่านและส่งต่อให้เพื่อนได้

อีกวิธีหนึ่งคือวางแผ่นพับกองไว้บนหลังคารถโดยสาร เวลามันปลิวก็จะส่งถึงมือคนอื่นๆ ได้. Lin Htet กับเพื่อนยังใช้วิธีที่เรียกว่า Shelly Method ตามชื่อของนักประพันธ์นิยายโรแมนติก Percy Bysshe Shelly ที่เมื่อประมาณช่วงทศวรรษ 1800 ได้พยายามส่งเอกสารสนับสนุนลัทธิที่"ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า"แก่นักวิชาการ และผู้สอนศาสนาในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พวกนักศึกษาได้ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ไปยังที่อยู่ที่ปรากฎในสมุดโทรศัพท์ ซึ่งพวกเขาบอกว่ามันเป็น "เพื่อนที่ดีที่สุดของนักเคลื่อนไหว" บางครั้งพวกเจ้าหน้าที่ก็ดักอ่านก่อนที่จะถึงมือผู้รับ แต่พวกนักศึกษาก็พยายามที่จะให้ถึงมือผู้รับให้มากที่สุดโดยใช้ซองจดหมายต่างๆ กัน

Lin Htet เล่าว่า ในปี 1995 นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้แปลบทความจากนิตยสารรีดเดอร์ ไดเจสท์ เกี่ยวกับนักโทษการเมือง 4 คน แล้วส่งไปกับในวารสารของมหาวิทยาลัยฉบับหนึ่ง โดยบอกที่อยู่ทางจดหมายหากต้องการร่วมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองเหล่านี้. กลุ่มของ Lin Htet จึงได้ทำคล้ายๆ กันนี้ "เราทำแผ่นพับแล้วใส่คำถามว่า คุณพอใจกับระบบการศึกษาหรือไม่? คุณต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงมันใช่ไหม? กาลงช่อง 'ใช่' หรือ 'ไม่' แล้วส่งกลับตามที่อยู่นี้" มีผลตอบกลับดีมาก. ต่อมาพวกเขาใช้วิธีการนี้กับการสนับสนุนพรรค NLD ด้วย คือถามว่าหากคุณยังสนับสนุนพรรค NLD ให้กาลงในช่องนี้ แล้วส่งไปยังสถานีวิทยุ BBC, VOA, และพรรค NLD

ก่อนปี 1988 แผ่นพับและบทความทางการเมืองจะพิมพ์ทีละชิ้นโดยใช้วิธีแบบโบราณ แต่นับจากปี 1988 เป็นต้นมา นักเคลื่อนไหวบางคนก็เข้าถึงคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์และเครื่องถ่ายเอกสารได้ แม้ว่าร้านถ่ายเอกสารทั่วไปจะไม่กล้าพอที่จะถ่ายเอกสารบทความต่อต้านรัฐบาล การส่งโทรสารก็เป็นเรื่องที่ลำบากเนื่องจากเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ที่จะใช้เครื่องโทรสารซึ่งไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล และสัญญานการส่งโทรสารก็สามารถถูกตรวจจับได้จากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล

การอภิปรายของนักศึกษาที่ร้านน้ำชาหรือการแจกจ่ายเอกสาร อาจจะดูไม่เป็นสาระสำคัญนัก แต่เนื่องจากบทบาทของนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต ทำให้ทางรัฐบาลควบคุม ลงโทษแม้แต่การแจกจ่ายเอกสารที่เกี่ยวกับการเมืองเบื้องต้นอย่างรุนแรง เหล่านายพลเข้าใจว่าถ้าประชาชนไม่มีแนวคิดที่แข็งแกร่งว่าจะเปลี่ยนแปลงพม่าได้อย่างไร และไม่มีผู้นำหรือองค์กรที่ทำให้การเคลื่อนไหวขยายออกไป พวกเขาก็จะยังคงไม่เคลื่อนไหวใดๆ. อย่างไรก็ตาม ถ้ามีกลุ่มหนึ่งสามารถแจกแจงถึงปัญหาของพม่า และเสนอถึงทางเลือกอื่นๆ และสร้างกลุ่มขึ้นมาเป็นเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ คนกลุ่มนี้อาจจะสามารถผลักดันกลุ่มประชาชนทั่วไปได้. ผู้นำนักศึกษาจำนวนมากในการประท้วงเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1988 มาจากการเป็นสมาชิกกลุ่มศึกษาและทำงานร่วมกับครูสอนพิเศษที่เป็นฝ่ายต่อต้านมาก่อน และบางคนก็ทำงานเขียนและแจกจ่ายบทความทางการเมืองมาก่อนที่จะมีการเดินขบวนประท้วงใหญ่

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า การแจกจ่ายบทความทางการเมืองนั้นดูอันตรายกว่าการมีเฮโรอีนเสียอีกนักศึกษาคนหนึ่งอธิบายว่า การขายเฮโรอีนหนึ่งห่อทำเงินให้ได้มากมาย และถ้าเกิดถูกจับคุณก็ยังมีทางติดสินบนเจ้าหน้าที่ และถ้าทำไม่ได้โทษจำคุกก็ไม่มากนัก แต่การแจกแผ่นพับทางการเมืองนั้น นอกจากจะไม่ได้เงินจากการแจกแล้ว คุณยังต้องใช้เงินตัวเองเพื่อการเดินทางและค่าจัดทำด้วย คุณต้องทำมันหลายๆ ครั้งกว่าจะเกิดผลและถ้าเกิดถูกจับขึ้นมา คุณต้องติดคุกหลายปีและไม่มีทางที่จะติดสินบนออกไปได้

แม้ว่านักศึกษาหลายๆ คนจะไม่ได้เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง แต่บางครั้งพวกเขาก็เต็มใจช่วยเหลือเพื่อนที่เป็นนักเคลื่อนไหว. Ma Aye Aye ซึ่งเป็นนักเรียนที่ร่วมทำกิจกกรรมทางการเมืองในทศวรรษที่ 1990 อธิบายว่า "มีเพื่อนหลายคนที่สนใจในการเมือง แต่พ่อแม่ไม่อนุญาตให้เข้าร่วม และบางคนไม่สนใจเข้าร่วมเลย แต่ก็ช่วยงานฉันเพราะมิตรภาพของเรา" เช่นเมื่อเธอบอกพวกเขาให้ใส่ pinni เสื้อแจ็คเก็ตผ้าฝ้ายแบบดั้งเดิม ปกติสมาชิกพรรค NLD จะสวมใส่ในวันชาติ พวกเพื่อนนักเรียนก็ใส่ เมื่อเธออยากติดสติกเกอร์ต่อต้านรัฐบาลที่ผนังในโรงเรียน พวกเพื่อนก็จะช่วยคอยดูต้นทางให้ว่ามีครูอยู่แถวนั้นบ้างหรือไม่ เมื่อเธอต้องการเงินเพื่อทำกิจกรรมดังกล่าวและพยายามหาเงินด้วยการขายบัตรงานต่างๆ เพื่อนๆก็จะช่วยซื้อเท่าที่พวกเขาช่วยได้ "หลายปีต่อมาเมื่อสถานการณ์แย่ลง และมันก็จะไม่ปลอดภัยถ้าฉันยังมีแผ่นพับพวกนั้นอยู่ ฉันก็สามารถเอาไปฝากไว้ที่บ้านเพื่อนที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลยได้"

โดยเฉพาะเมื่อการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ดูจะเหลือความหวังเพียงน้อยนิดที่จะสำเร็จได้ นักเรียนมัธยมปลายก็เหมือนกับทุกๆ คน คือรู้สึกเฉื่อยชา. Ma Aye Aye กล่าวว่า "นักเรียนมัธมปลายบางคนก็สนใจเพียงว่าจะได้คะแนนสูงๆ จากระบบที่รัฐบาลจัดไว้ได้อย่างไร บางคนก็หมกมุ่นกับบุหรี่ เหล้า และหลงระเริงไปเมื่อเขายังเด็ก" ไม่จำเป็นต้องบอกเลยว่านักเรียน นักศึกษาที่ทำการเคลื่อนไหวนั้นเป็นพวกหาได้ยาก แต่เมื่อมีการประท้วงเกิดขึ้น นักศึกษาคนอื่นๆ ก็มักจะเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นเพราะความรักที่มีต่อเพื่อน หรือเพราะว่าอยากมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ด้วยก็ตาม

วิทยุและแหล่งความรู้อื่นๆ
มีเพียงไม่กี่คนนอกจากนักศึกษาและนักวิชาการที่อ่านหนังสือหรือนิตยสารเกี่ยวกับการเมือง อย่างไรก็ตาม มีผู้ฟังอีกมากที่หมุนไปฟังวิทยุภาษาพม่าที่กระจายเสียงมาจากสถานีต่างประเทศ อย่าง British Broadcasting Corporation (BBC) และ Voice of America (VOA) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงการประท้วงปี 1988 เนื่องจากสถานีจากต่างประเทศเหล่านี้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินขบวนประท้วงและการเข่นฆ่าที่เกิดขึ้น
ทศวรรษที่ 1990 มีการตั้งสถานีวิทยุอีก 2 สถานี ที่ดึงความสนใจของผู้คนเช่นกัน ได้แก่ Democratic Voice of Burma (DVB) ที่ก่อตั้งโดยนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในนอร์เวย์ และวิทยุภาคภาษาพม่าของ Radio Free Asia (RFA) ที่มีสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา ทั้ง 2 สถานีมีจุดสนใจอยู่ที่การเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษาในพม่า

ทุกเช้าและทุกเย็น ประชาชนที่แม้จะแตกต่างกันเรื่องภูมิหลังต่างก็จะอยู่บ้าน ใกล้ๆ กับวิทยุเพื่อฟังอย่างน้อยก็หนึ่งสถานีจากทั้งสี่นี้ ผู้ฟังสามารถรับรู้ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแอฟริกาใต้ การพังทลายของรัฐบาลเผด็จการของซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย ความพยายามเป็นเอกราชของติมอร์ตะวันออก. จากการฟังวิทยุนี้ ชาวพม่าตระหนักถึงความก้าวหน้าของประเทศอื่นๆ ในขณะที่พวกเขากำลังถดถอย ห่างไกลและล้าหลังไปเรื่อยๆ ระหว่างที่ชาวพม่ายึดมั่นในวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา แต่ก็ต้องเป็นทุกข์กับการที่ไม่สามารถมีอิสระทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ ในขณะที่คนมากมายทั่วโลกได้รับสิ่งเหล่านี้อยู่

นักท่องเที่ยวอาจจะนิยมยินดีในวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวพม่า แต่เมื่อชาวพม่าได้เดินทางไปต่างประเทศ แม้กระทั่งเป็นแรงงานข้ามชาติจากเขตชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาก็รู้สึกเจ็บปวดว่า ประเทศพม่านั้นล้าหลังประเทศอื่นมากแค่ไหน พวกเขาขาดแม้แต่เรื่องสาธารณูปโภคที่เป็นพื้นฐานที่สุดอย่างระบบน้ำประปา ไฟฟ้า และโรงเรียน โรงพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น

วิทยุเปิดหน้าต่างให้รับรู้โลกที่กว้างขึ้น และรวมถึงข่าวสารที่ยากจะเข้าถึงได้ อันได้แก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศของพวกเขาเอง และนโยบายต่างๆ ที่ต่างประเทศมีต่อความสัมพันธ์กับพม่า อย่างเช่น คนที่อยู่ในเมืองใหญ่ก็ได้รับรู้ถึงผลจากการที่รัฐบาลทหารปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ชนบทห่างไกล นอกจากนั้นยังได้รับฟังคำพูดของผู้นำทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยในเขตชายแดน

พวกเขายังได้รับฟังคำปราศรัยของนางออง ซาน ซู จีที่กล่าวถึงที่ประชุมนานาชาติ และได้รับรู้ถึงองค์กรระหว่างประเทศ อย่างองค์การสหประชาชาติที่พยายามหาทางออกให้กับวิกฤติการณ์ในพม่า เช่นเดียวกับการกระจายเสียงในภาษาชนกลุ่มน้อยต่างๆ ของ DVB ที่นำเสนอข่าวสาร เทคนิคการต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง และรายการทางวัฒนธรรม สำหรับกลุ่มผู้ฟังที่ไม่ได้ใช้ภาษาพม่าเป็นหลัก ซึ่งรายการเหล่านี้ก็ได้รับความนิยมในหมู่ชนกลุ่มน้อยมาก เนื่องจากภาษาของพวกเขาไม่เคยปรากฏในสถานีวิทยุของทางราชการพม่าเลย

วิทยุกระจายเสียงยังมีความเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางการเมือง ตัวอย่างที่เด่นชัดมากก็คือการที่ BBC กระจายเสียงการให้สัมภาษณ์ของนักศึกษาคนหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 1988 ซึ่งนักศึกษาคนนี้ได้ประกาศว่า นักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้องให้มีการประท้วงทั่วประเทศในวันที่ 8 เดือนสิงหาคม 1988 (8/8/88) และวิทยุก็ได้เป็นสื่อแรกในการกระจายข้อความนี้ออกไป ผลที่ตามมาก็คือ คนเป็นหมื่นๆ คนออกมาเดินตามท้องถนนทั่วประเทศ. สิบปีต่อจากนั้นคือปี 1998 นักศึกษาที่ลี้ภัยในต่างประเทศคนหนึ่งได้ประกาศแผน "การรณรงค์สีเหลือง" ในพม่า บรรดาผู้สนับสนุนนางออง ซาน ซู จีและสภาที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 ได้รับการเรียกร้องให้ใส่เสื้อผ้าสีเหลือง ข่าวแพร่จากผู้ฟังวิทยุปากต่อปาก และในวันที่นัดหมาย พ่อค้าแม่ค้าในตลาดต่างๆ มาค้าขายในเสื้อสีเหลือง หรือผ้าถุง/โสร่ง สีเหลือง คนที่สนับสนุนแต่ไม่กล้าพอที่จะใส่สีเหลือง ก็ติดกิ๊บที่ผมเป็นสีเหลือง หรือไม่ก็เหน็บปากกาสีเหลืองในกระเป๋าเสื้อ

การกระจายเสียงจากวิทยุของต่างประเทศนี้ ได้เข้าถึงผู้ฟังอย่างมาก อันหมายถึงปราศจากมุมมองของฝ่ายรัฐบาลทหารในเรื่องการเมืองและสังคมด้วย แต่กระนั้นทางรัฐบาลก็พยายามทำทุกอย่างที่จะให้คนไม่กล้ารับฟังวิทยุเหล่านี้. ช่วงทศวรรษที่ 1990 ทหารถูกห้ามไม่ให้รับฟังวิทยุช่องสัญญานดังกล่าว และประชาชนที่รับฟังก็ถูกขู่ด้วยโทษจำคุก. ในเดือนธันวาคม 1999 เจ้าของร้านน้ำชาอายุ 70 ปีคนหนึ่ง ในรัฐคะฉิ่น ถูกตัดสินให้จำคุก 2 ปี เนื่องจากวิทยุของเขารับคลื่น VOA อยู่ ดังนั้นบางคนจึงไม่กล้าที่จะรับฟังวิทยุจากต่างประเทศเหล่านี้ และใครที่ฟังก็ต้องทำอย่างแอบๆ ซ่อนๆ ที่บ้าน เปิดเสียงเบาๆ โดยปิดประตูหน้าต่างหมด

เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการต่อสู้กับผู้ที่รับฟังวิทยุเหล่านี้ก็คือ การข่มขู่และการจับกุม อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลก็มีการรบกวนคลื่นวิทยุเป็นครั้งคราว เช่นคลื่นของ BBC ซึ่งก็มีผู้ทำงานเป็นชาวพม่าในต่างประเทศ ที่ยังถือหนังสือเดินทางของพม่าและหวังว่าจะมีโอกาสกลับมาพม่า อย่างก็ตาม การติดตามฟังก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการเมืองในพม่า เมื่อไรที่มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลหรือกิจกรรมอื่นเพิ่มขึ้นโดยนาง ออง ซาน ซู จี และพรรค NLD ผู้คนจะหมุนไปฟังมากขึ้น แต่เมื่อรัฐบาลเข้มแข็งขึ้นมาอีก และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหมือนเป็นแค่ความฝัน คนก็จะฟังน้อยลง

นอกจากนั้น การเรียนรู้ยังมาจากสื่อต่างประเทศ อย่างเช่น นิตยสาร Time และ Newsweek ฉบับเอเชีย ที่อนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศ แม้ว่าจะยกเว้นบทความที่เกี่ยวข้องกับพม่าและการดำเนินคดีกับอดีตผู้นำเผด็จการของประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่ถูกห้าม นอกจากนั้นยังมีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม รวมทั้ง CNN และ BBC ก็สามารถรับชมได้ในกลุ่มคนร่ำรวย และพนักงานโรงแรมที่มีชาวต่างชาติไปพักอยู่

ในขณะที่การเข้าถึงอินเตอร์เนตช่วยให้นักเคลื่อนไหวชาวพม่าที่อยู่นอกประเทศสามารถจัดการและแบ่งปันข่าวสารเกี่ยวกับพม่าได้ แต่ในประเทศพม่าเองนั้น การใช้อินเตอร์เนตยังถูกจำกัดมาก มีเพียงแค่เจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และนักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลเท่านั้น ที่เข้าถึงอินเตอร์เนตได้. แต่ก็ถูกรบกวนเป็นบางครั้ง ผู้ใช้ไม่สามารถดาวน์โหลด The BurmaNet News เว็บไซต์รวบรวมข่าวหรือแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่อาจจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้. ในปี 1996 รัฐบาลได้ออกกฎหมายกำหนดว่า ผู้ใดที่ใช้โมเด็มเชื่อมต่ออินเตอร์เนตโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจถูกจำคุกตั้งแต่ 7 ถึง 15 ปี

การขาดแคลนแหล่งความรู้ในย่างกุ้งทำให้มี United States Information Service หรือศูนย์ข้อมูลของสหรัฐอเมริกาและห้องสมุดของ British Council ในย่างกุ้ง ที่มีหนังสือเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศและประชาธิปไตย และหนังสือที่น่าสนใจประเภทอื่นๆ สามารถเข้าไปอ่านและยืมได้ ทั้งสองแห่งมีทั้งสื่อการเรียนภาษาอังกฤษ ที่นักเรียนสามารถเข้าไปใช้เรียนรู้เพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษ ไม่ว่าเพื่อสมัครทำงานในบริษัทระว่างประเทศ หรือเพื่อเพิ่มทักษะการอ่านได้มากขึ้น แต่ก็มีเพียงไม่กี่ชิ้นที่แปลเป็นภาษาพม่าแล้ว ห้องสมุดทั้งสองยังสนับสนุนการเรียนในหลักสูตรสั้นๆ และการพูดคุย อภิปรายกัน รวมทั้งถ่ายทอดรายการข่าวต่างประเทศเป็นครั้งคราว แต่คนที่อยู่นอกย่างกุ้งก็ไม่สะดวกในการเข้ามาใช้บริการ ดังนั้น พวกเขาจึงต้องเรียนรู้ผ่านทางวิทยุกระจายเสียง หนังสือส่งต่อ และจินตนาการของพวกเขาเองเท่านั้น

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารอ้างอิง

1. Win Htein, 'Learning in Limbo', in The Irrawaddy, May 1999, p.20.
2. Win Htein, 'Time to Change the Tatmadaw's Image'. Mizzima News Group
(posted on The BurmaNet News on 26 March 2000).

3. Karen Human Rights Group, Interview on the School Situation, KHRG No. 96-16 (Thailand: May 1996).
4. Karen Human Rights Group, The Situation of Children in Burma (Thailand: May 1996).
5. UNICEF, Children and Women in Myanmar: A Situation Analysis (Rangoon: 1995).
6. Bertil Lintner, Outrage: Burma's Struggle for Democracy (Bangkok: White Lotus, 1990) p.62.
7. 'While Schools are Closed', Burma Issues, Vol.7 No.9 (September 1997).

8. Josef Silverstein, 'Burmese Student Politics in a Changing Society', Daedalus,
Vol.97, No.1 (Winter 1968), p.287.

9. NLD Statement No.21 (2/00) cited in the transcript of Daw Aung San Suu Kyi's videotape message to the 56th Session of the UN Commission on Human Rights. 5 April 2000.

10. Matthew Pennington, 'Fearing Free Speech Pandora's Box, Myanmar's Rulers Block Internet',
AP, 18 April 2000.


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
01 January 2008
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
แม้ว่ารัฐบาลทหารจะเข้าใจว่าประเทศจะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ถ้าปราศจากการศึกษา แต่สิ่งที่สำคัญอันดับแรกคือ การป้องกันไม่ให้มีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลอีก ด้วยเหตุผลนั้น นักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองกล่าวว่า มีการยอมให้ใช้ยาเสพติดและดื่มสุราในมหาวิทยาลัยอย่างแพร่หลาย เนื่องจากนักศึกษาที่ติดยาและสุรา ย่อมมีความสนใจต่อการเมืองเพียงเล็กน้อย ในระหว่างที่นักศึกษาที่มีส่วนร่วมทางการเมืองแม้เพียงน้อยนิด จะถูกตรวจค้นและกำจัดออกไป แต่นักศึกษาบางคนที่ผู้เขียนสัมภาษณ์กล่าวว่า มีเฮโรอีนขายอยู่ในหอพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัย
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream