โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๙๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ (Febuary, 24, 02, 2008) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกราคม ๒๕๕๐)

24-02-2551

6th October 1976
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

ข้อมูลจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๓ ความคิด: กับ ๖ ตุลาและพฤษภาเลือดนอกฤดูกาล
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมจากจดหมายอิเล็กทรอนิกและสื่อต่างๆ เพื่อการค้นคว้าทางวิชาการ

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการไม่เกี่ยวข้องกับผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

สำหรับข้อมูลในส่วนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองของพลเมืองไทย
ซึ่งเกิดขึ้นกว่าสามทศวรรษมาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ได้รับการหยิบยกขึ้นมาในช่วงนี้ เพราะประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจาก
พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙
และได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวไปในทำนองบิดเบือนความจริงทางประวัติศาสตร์
การรวบรวมข้อมูล ความคิด ข้อเขียน กิจกรรม และบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้
มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการ ประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
๑.
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: ๑ คนหรือ ๔๐ คนไม่เป็นประเด็น ถ้ารู้ว่าอะไรคือเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นจริง
๒. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: ถ้าเรารื้อฟื้นประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นยุทธศาสตร์การเมือง สังคมจะเรียนรู้อะไร
๓. ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: ประวัติศาสตร์บาดแผลเดือนตุลาและพฤษภา : ระหว่างความตายที่ฟื้นได้ กับ ความตายที่ไม่มีวันฟื้น
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๙๐
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๓ ความคิด: กับ ๖ ตุลาและพฤษภาเลือดนอกฤดูกาล
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมจากจดหมายอิเล็กทรอนิกและสื่อต่างๆ เพื่อการค้นคว้าทางวิชาการ

(1)
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: ๑ คนหรือ ๔๐ คนไม่เป็นประเด็น ถ้ารู้ว่าอะไรคือเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นจริง
ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ : คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประชาไท: ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียน" ในการเสวนาหัวข้อ "จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือด ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียนของเรา" จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, วิชา ป.211 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หลักสูตรควบตรี/โท ด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 51 ที่ผ่านมา

ในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา ผมและเพื่อนได้พูดคุยและอภิปรายเรื่องเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา ที่เรียกว่า ขบวนการตุลาหลายครั้ง จนอดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกตขบวนการตุลาเมื่อปี 2516 หรือ ค.ศ. 1973 ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยของคนหนุ่มสาวในทศวรรษ 60 เป็นกระบวนการของคนหนุ่มสาวทั่วโลก ที่มีการเคลื่อนไหวต่อสู้สงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่มีผลกระทบมากมาย ในเอเชียก็มีญี่ปุ่นและประเทศไทยที่มีขบวนการนักศึกษามีบทบาทมาก จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ

แต่หลังจากนั้นมา จะพบว่า เกือบทุกแห่ง หลังสงครามเย็นสิ้นสุดในปี 1989 ขบวนการคนหนุ่มสาวรุ่นทศวรรษ 60 ไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว แต่ว่าน่าสนใจมากว่า ประเทศไทยอาจเป็นประเทศเดียวที่ขบวนการคนหนุ่มสาวตั้งแต่ยุค 60 ยังถูกพูดถึงอยู่จนปัจจุบัน ไม่ใช่ในแง่ที่ผ่านไปแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ยังไม่ผ่าน

ปีนี้ 32 ปี 6 ตุลา และ 35 ปี 14 ตุลา เราจัดรายการเฉลิมฉลองต่างๆ คำถามคือทำไมสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ หรือขบวนการประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จึงไม่สามารถหาข้อยุติหรือเกิดพัฒนาการที่เข้าใจกันได้อย่างธรรมดา ไม่ต้องเกิดวิวาทะระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างที่กำลังเกิดปัจจุบันนี้ ทั้งหมดนั้นคงจะตอบไม่ได้ในเวลาที่ได้รับมอบหมาย แต่จะตั้งคำถามและเสนอแนวคิด สิ่งที่อยากจะพูดมีสองประเด็นหลักๆ คือ

- สิ่งที่เรียกว่ากระบวนการตุลามีความหมายอย่างไรต่อประวัติศาสตร์ไทย และ
- ขบวนการ 14 ตุลา 6 ตุลาและพฤษภา มีโอกาสที่จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไทยได้หรือไม่

หนึ่ง ขบวนการตุลากับประวัติศาสตร์ สังคมที่ไร้รากคือสังคมที่ไร้ประวัติศาสตร์ สังคมไทยเป็นสังคมที่เราเชื่อมั่นและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งว่า มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและต่อเนื่องกันมาโดยไม่ขาดสาย ซึ่งเป็นลักษณะที่หายากมากโดยเฉพาะประเทศที่อยู่นอกโลกตะวันตก เพราะประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมทั้งหลายไม่สามารถย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้แล้ว ยกเว้นสยามที่กลายมาเป็นไทยทุกวันนี้ เราอ้างได้ตลอดว่าเรามีประวัติศาสตร์ที่ไม่ขาดตอนเลย 700 กว่าปี และมีสถาบันหลักๆ ที่ดำรงอยู่ตลอดมาจนปัจจุบันนี้ อันนี้ คิดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและพัฒนาของสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ไทยของเราด้วย

จากความเชื่อที่ได้รับการสั่งสอนกันมา จึงกล่าวได้ว่าคนไทยเป็นคนที่มีสำนึกทางประวัติศาสตร์สูงยิ่ง แต่ทำไมคนบางคนถึงจำประวัติศาสตร์บางเรื่องบางตอนในอดีตของตนเองไม่ได้ หรือจำได้อย่างเบลอๆ บิดเบี้ยว เช่นการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระดับนานาชาติของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีสยามไทย ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา มีคนเคราะห์ร้ายตายเพียงคนเดียวเท่านั้น หรือบอกว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกจับไป 3,000 คนนั้น ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกทำร้าย ไม่ได้จับไปเลย เป็นการช่วยนักศึกษาเสียอีก นี่เป็นแนวประวัติศาสตร์ที่มองโลกในแง่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ลึกลงไป การหลงลืมเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ เช่นการเคลื่อนไหว 14 ตุลา 2516 และการปราบปรามการชุมนุมของนักศึกษาในธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลา 2519 ที่เรียกรวมๆ ว่าเหตุการณ์เดือนตุลานั้น แสดงให้เห็นอะไรบ้าง

ประการแรก หากผู้นำทางการเมืองและสังคมจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบและเจตนารมณ์ของการลุกขึ้นประท้วงในเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็แสดงว่า ระบบและสถาบันการเมือง รวมถึงบุคลากรทางการเมืองมีสายตาที่สั้นและบิดเบือนอย่างยิ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่การกระทำและการปฏิบัติทางการเมืองไทยในระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยที่สืบทอดกันมาจนทุกวันนี้ จึงเต็มไปด้วยความไร้สาระและไร้ซึ่งจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างยิ่ง นี่เป็นปัญหาว่า ทำไมเราจึงปวดหัวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเรา อย่างที่ไม่มีใครอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

กล่าวอย่างสั้นๆ กรณี 14 ตุลาคม 2516 แม้ไม่ใช่การปฏิวัติ ไม่ใช่กระบวนการที่ตั้งขึ้นมาโดยมีผู้นำ แต่เป็นผลจากการเคลื่อนไหวอันใหญ่โตที่มีประชามหาชนทุกชั้นชนเข้าร่วมอย่างกว้างขวางที่สุด ผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลา ส่งผลเทียบเท่ากับการปฏิวัติเพราะผลักดันให้การเมืองไทยเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเปรียบ ต้องเปรียบกับ 24 มิถุนายน 2475 ที่เปลี่ยนระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีระบอบรัฐธรรมนูญ. 14 ตุลาคม 2516 ก็มีนัยของการปฏิวัติการเมืองไทยแบบนั้นอีกครั้ง แต่ถ้าคนที่จะเล่นการเมืองไทยยังแยกไม่ออกว่า 14 ตุลา เกิดอะไรขึ้น ก็แสดงว่า เราจะต้องเจอกับความปั่นป่วน และไร้สาระในการเมืองไทยต่อไปอีก

ประการที่สอง เป้าหมายที่มีการลุกฮือ 14 ตุลา และนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการถนอม ประภาส คือ ระบบราชการ นี่คือข้อเขียนของอาจารย์เสน่ห์ จามริก เพราะระบบราชการจนถึง 14 ตุลา 16 เป็นระบบที่นำไปสู่การสร้างอภิชน สร้างการคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบ สร้างมรดกตกทอดจนถึงคนรุ่นหลัง. การปฏิวัติ 14 ตุลาโดยลำพังไม่อาจสามารถทำลายหรือรื้อถอนระบบการเมืองทั้งระบบขึ้นมาได้ แต่เริ่มต้นในการนำไปสู่จุดนั้น กระแสการปฏิวัติในภูมิภาคของเราในตอนนั้นคือ เกิดกระแสคลื่นของการปฏิวัติสังคมนิยม แล้วชัยชนะของเวียดนามในวันที่ 30 เม.ย. 2518 เวียดนามเหนือชนะ ยึดประเทศเวียดนามใต้ทั้งหมด นั่นมีผลอย่างยิ่งต่อการพลิกผันของสถานการณ์ และนำไปสู่การระเบิดอีกครั้งเมื่อ 6 ตุลา 2519

ขอสรุปอย่างสั้นๆ ว่า มันมีความต่อเนื่องกันอย่างใกล้ชิดระหว่างการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา ประชาชน และกลุ่มองค์กรต่างๆ ไปจนถึง 6 ตุลา และที่สำคัญคือการฟื้นตัวขึ้นของระบอบเผด็จการ โดยใช้กองกำลังต่างๆ ในการเข้าปราบปรามฝ่ายซ้าย ฝ่ายนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม

สอง 6 ตุลา จะครบ 32 ปีในปีนี้, 14 ตุลาคมจะครบรอบ 35 ปี. สามทศวรรษที่ผ่านไป รัฐและสังคมไม่ได้คลี่คลายปมปัญหาของความขัดแย้งเหล่านั้นอย่างที่ควรจะเป็น กล่าวคือ การทำให้เหตุการณ์เดือนตุลา เป็นเรื่องราวที่สังคมและคนส่วนใหญ่รับรู้ทั้งความหมาย เหตุการณ์อย่างที่มันเป็นจริงเหมือนๆ กัน ถ้าเหตุการณ์สำคัญขนาดนั้น ทำไมสังคมของเราจึงไม่สามารถทำให้ประชาชนทุกส่วน ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม รับรู้เรื่องราวอย่างที่มันควรจะเป็น ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบันนี้ ความรับรู้เรื่อง 14 ตุลา หรือ 6 ตุลานั้น ยังเป็นความทรงจำที่เป็นส่วนตัว เป็นเฉพาะส่วนเฉพาะบุคคลต่างๆ เป็นความทรงจำของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ของส่วนรวม ซึ่งแน่นอนยังเป็นความทรงจำที่ขัดแย้งกัน หากผู้ที่กระทำเหล่านั้นยังเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐอยู่ ในขณะที่ฝ่ายที่เคยเป็นเหยื่อก็อยู่ในฐานะของผู้ไร้อำนาจและความชอบธรรมในการพูดถึงความเป็นจริง

หากเป็นเช่นนี้เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ยังไม่อาจเป็นประวัติศาสตร์ได้ และก็ยังเป็นแค่ตำนาน ยังเป็นมุขปาฐะที่คนเล่า สร้างความเป็นจริง ไม่ใช่เหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นจริงๆ นั่นคือที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ ทำไมแค่นายกฯ คนเดียว พูดประโยคเดียว เหตุการณ์ทั้งหมดก็ถูกเปลี่ยนไป ทำไมประวัติศาสตร์ยังไม่ถูกสร้างขึ้นทั้งที่เหตุการณ์นั้นผ่านมาแล้ว ประเด็นที่คาใจคนที่รับรู้ประวัติศาสตร์เดือนตุลาไม่ว่าจะโดยรูปแบบอะไรก็ตาม คือ เมื่อไรความจริงของเหตุการณ์เดือนตุลาจะปรากฎอย่างเปิดเผย ให้สาธารณชนได้รับรู้และเก็บรับเป็นบทเรียนกันอย่างจริงจังต่อไปได้

เวลาสื่อมวลชนถามว่า เราได้รับบทเรียนหรือไม่ อยากจะบอกว่า บทเรียนนั้นไม่ใช่เราในฐานะปัจเจกชนที่จะรับได้ คนที่จะรับบทเรียนที่ใหญ่ขนาดนี้ในประวัติศาสตร์นั้นต้องเป็นผู้กุมอำนาจรัฐ คือผู้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องทำตัวอย่างให้รู้ว่า เขาเก็บรับบทเรียนนั้นได้แล้ว บทเรียนนั้นจึงจะถูกสอนออกมา

ประวัติศาสตร์ที่เราอ้างว่าเอามาใช้เป็นบทเรียน มันไม่ใช่บทเรียนที่เขียนในสมุดแล้วสั่งให้เด็กท่อง เด็กจำ เด็กอ่าน แต่ประวัติศาสตร์ต้องสอนโดยการปฏิบัติ คนที่ปฏิบัติทางการเมืองก็คือคนที่ยึดกุมอำนาจรัฐ คนที่ออกนโยบาย คนที่รับผิดชอบชีวิตความเป็นไปของรัฐ จะเป็นคนให้บทเรียน. ผมบอกเขาได้ว่าบทเรียน 14 ตุลาคืออะไร แต่ผมไม่ได้สร้างบทเรียน แล้วมันจะมีความหมายก็ต่อเมื่อรัฐเอามาดำเนินการปฎิบัติให้สอดคล้องกับความเป็นจริง บทเรียนเหล่านั้นจึงจะเกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นอันนี้เองคือปัญหาของระบบการเมืองไทย ที่ไม่อาจเก็บรับและศึกษาบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีตของตนเองได้ ตราบใดที่คนที่อยู่ในอำนาจยังไม่เข้าใจความสัมพันธ์เหตุการณ์กับฐานะของรัฐบาลปัจจุบันนี้

14 ตุลาก็ดี 6 ตุลาก็ดี พ.ค. 35 ก็ดี ก็จะเป็นเพียงเรื่องเล่า เอามาหาเรื่องคนอื่น ใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม หรือมาเชิดชูประวัติของตัวเองก็ตาม ทั้งหมดนั้นจะไม่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความจริง ความยุติธรรม ผมคิดว่า กระบวนการประชาชนไม่ว่าเดือนตุลาหรือเดือนพฤษภา ต่อสู้เพื่อความจริงและความยุติธรรม ดังนั้นเมื่อมองไปในประวัติศาสตร์ของเรา การที่ประชาชนจะหาความจริง ความยุติธรรมในประวัติศาสตร์หายากมาก เหมือนควานหาเข็มในมหาสมุทร เมื่อเป็นเช่นนี้กระบวนการสร้างและทำให้ประวัติศาสตร์ของประชาชนผู้เสียเปรียบให้ปรากฎนั้นยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปเกือบไม่ได้เลย

เรามักเชื่อว่า ประวัติศาสตร์คืออะไรก็ได้ที่เป็นอดีต ไม่ใช่ !, เรื่องในอดีตไม่ใช่เป็นประวัติศาสตร์ได้ทุกเรื่อง แต่ที่สำคัญอยู่ที่ว่า คนปัจจุบันรับรู้และเข้าใจถึงเหตุการณ์อันนั้นอย่างเป็นเอกภาพ มีนัยยะรึเปล่า ถ้าเข้าใจตรงกัน อดีตนั้นถึงจะเป็นประวัติศาสตร์ได้ เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์จึงเกิดจากกระบวนการรับรู้ของสังคมในระยะเวลาที่แน่นอน เพื่อบรรลุการเข้าใจและจึงจะยึดกุมความจริงในอดีตของสังคมนั้นได้

และตัวเลขเรื่อง 1 คนหรือ 40 คนไม่เป็นประเด็นเลย ถ้าหากว่าคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจรู้ว่าอะไรคือเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นจริง จุดหมายที่ประวัติศาสตร์จะไปบรรลุ แน่นอนมันจะสัมพันธ์กับปัจจัยทางอำนาจและความรู้ของสังคมเป็นเกณฑ์ มันฟ้องให้เรารู้เลยว่าเพราะโครงสร้างอำนาจของเรายังบิดเบี้ยว อำนาจที่เป็นของประชาชนยังไม่ลงมาเป็นของประชาชน รวมทั้งเครื่องมือในการที่จะถ่ายทอด หลักสูตร หรือสถาบันต่างๆ ความจริงก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่ของการนำความจริงออกมา ดังนั้น ประวัติศาสตร์ของเดือนตุลา จึงยังไม่ใช่ "เรื่องราวต่างๆ ที่ได้เคยเกิดขึ้นจริงๆ" อย่างที่นักประวัติศาสตร์เยอรมัน Leopold von Ranke ที่บอกว่า ประวัติศาสตร์ก็คือ "what actually happened". จนปัจจุบันนี้ก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ยังไม่เคยถูกบันทึกให้เป็นจริงได้ เมื่อ 2 เหตุการณ์ของเดือนตุลา ยังไม่ถูกทำให้เป็นประวัติศาสตร์ไทยที่แท้จริง มันจึงเป็นได้แต่เพียงความทรงจำของคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง

ประเด็นสุดท้ายคือ ถ้าอย่างนั้นประวัติศาสตร์เป็นความจริงหรือไม่ และประวัติศาสตร์เดือนตุลาจะเป็นประวัติศาสตร์ได้ไหม? ในขณะที่เหตุการณ์หรือบุคคลต่างๆ ในอดีต ที่ถูกบันทึกและผลิตซ้ำในตำราและวรรณกรรมหลักของรัฐ และการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นความจริงของอดีตมาแล้วนั้น ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์เริ่มตั้งคำถามต่อความจริงต่างๆ และบุคคลต่างๆ ที่ถูกบอกว่าพวกเขาได้สร้างหรือเป็นผู้กระทำเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นว่าจริงหรือเปล่า ไม่ว่าเรื่องบรมเก่า เช่นเรื่องพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของคนไทย พระเจ้าอู่ทองกับการสร้างกรุงศรีอยุธยา คนไทยถูกจีนไล่ตีหนีมาจากภูเขาอันไต มาถึงประวัติศาสตร์ยุคใหม่ๆ เช่น อะไรคือความจริงในกรณีกบฎปัตตานีในสมัยรัชกาลที่ 5

การหายตัวอย่างลึกลับของหะยีสุหรง ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาจนถึงการฆาตกรรมอดีต 4 รัฐมนตรีอีสานที่บางเขน จนถึงการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร หลังจากเปิดเผยเรื่องในปัตตานี. เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ถูกทำให้เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างเรียบร้อย ไม่มีความขัดแย้ง ในนั้นมีตัวละครอยู่สองตัว เนื้อเรื่องสองแนว ฝ่ายหนึ่งเป็นพระเอก ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ร้าย ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองปัตตานี หะยีสุหรง จนถึงทนายสมชาย พวกนั้นเป็นผู้ร้ายในสังคมไทยทั้งหมดจนปัจจุบันนี้

กลายเป็นความจริงลวง ที่ไม่มีเหตุผลและตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ แต่เรื่องเหล่านั้นก็ยังถูกเชื่ออยู่ เพราะเป็นความจริงในอำนาจของรัฐ เป็นความจริงตามรัฐ เป็นเหตุผลของรัฐเท่านั้นเอง ดังนั้นมันจึงเป็นความจริงที่ไม่นำไปสู่การเรียนรู้และการสร้างองค์ความรู้อันมีค่าให้กับสังคม เราบ่นอยู่เรื่อยว่า ประวัติศาสตร์ไทยเรียนไปไม่รู้อะไร ท่องจำตลอดเวลา ก็จริง แต่ไม่ใช่เพราะต้องเปลี่ยนประวัติศาสตร์ใหม่ แต่ที่สำคัญคือ ไม่สามารถพูดความจริงได้ เพราะถ้าหากประวัติศาสตร์ชาติจะต้องรักษาความเป็นเอกลักษณ์ ความเรียบร้อยของสถาบันต่างๆ เอาไว้ไม่ให้มีความขัดแย้ง ประวัติศาสตร์ของเราก็จะเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าเบื่อ แล้วก็นั่งหลับ เรียนจนแก่ก็หลับ เพราะเด็กจนถึงแก่ก็ไม่มีทางที่จะตื่นเต้นอะไรกับมันได้

จุดอ่อนที่เห็นอยู่ทุกวันคือสังคมไทยไม่มีบทเรียนอะไรในทางการเมืองเลยจนถึงปัจจุบันนี้ เอาแค่ 2475 มา 70 กว่าปีที่ผ่านมา เราสรุปบทเรียนกันได้หรือเปล่าว่า ทำไมต้องมีรัฐประหาร 17-18 ครั้ง มีการร่างรัฐธรรมนูญ 17-18 ฉบับ สรุปไม่ได้ เพราะมีความเชื่อซึ่งรองรับโดยการปฎิบัติ 70 กว่าปีที่ผ่านมาว่า อำนาจคือธรรม เมื่อมีอำนาจก็ถูก คุณไม่มีอำนาจคุณก็ผิด คุณก็แพ้ แล้วหาอำนาจมาก่อนคุณจึงจะกลับมาได้ ซึ่งความเชื่อนี้ ใช้กันมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง จนถึงพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน นี่คือประวัติศาสตร์ไทยที่ต่อเนื่องจริงๆ เลย

บทเรียนในข้อนี้คือ ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ วิชาการต่างๆ นั้นมันมีสิ่งที่เรียกว่า ผลกระทบทางอำนาจอยู่ด้วย ทันทีที่เราเปิดเผยความจริงทั้งหมดอย่างที่มันเป็นความจริงออกมา นั่นคือเรื่องราวในเหตุการณ์นั้นจะไม่มีใครเป็นพระเอกคนเดียว หรือเป็นตัวร้ายคนเดียวได้ หากแต่เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างเป็นกระบวนการ มีเหตุมีผล เพื่อทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจและศึกษามันได้ ดังนั้น ปัญหาอะไรคือความจริงในประวัติศาสตร์ จึงขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้เขียนหรือกำกับการเขียนประวัติศาสตร์ด้วย

ไม่ใช่แค่นักประวัติศาสตร์ที่รู้ข้อเท็จจริงก็เขียน ถ้าหากว่ามีนักการเมืองขึ้นมายึดอำนาจได้ เขาก็พูดไปอย่างที่เขาเชื่อ แสดงว่าความเป็นจริงที่เราทำ มันไม่ลงไปในสังคมเลย เพราะอะไร ในสังคมสมัยใหม่มีความเกี่ยวโยงอย่างแน่นแฟ้นตามแนวคิดของฟูโกต์ระหว่างอำนาจกับความรู้ กับความทรงจำ ระหว่างความรู้กับกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ และระหว่างอำนาจกับประวัติศาสตร์ มันชัดเจน ในสังคมที่เราประสบอยู่นี้ การสร้างความทรงจำเพื่อไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์จึงดำรงอยู่ทุกแห่งหน แต่ทั้งหมดนี้จะเป็นจริงได้ ประชาชนและประชาสังคมจะต้องมีจิตสำนึกของตนเอง เราจะต้องรู้เท่าทันอำนาจและอิทธิพลของรัฐและทุน ไปจนถึงวัฒนธรรมการบริโภคที่ล้อมรอบเราอยู่ด้วย จึงจะไปคัดค้านหรือวิพากษ์สถาบันทางอำนาจอันใดอันหนึ่งหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง หรือชนชั้นหนึ่งได้ โดยผ่านการโจมตีเทคนิคของสัมพันธภาพ วิธีการและรูปแบบ ของอำนาจที่บดบังและปิดบังความจริงที่พึงปรารถนากว่าของประชาชนได้

ประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่วิชาโบราณ หากแต่เราจะต้องทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมืออันทรงพลานุภาพของประชาสังคมและประชาชนทั้งหลาย ในการค้นหาและสถาปนาความจริงของสังคมและของประชาชนขึ้นมา ไม่มีสังคมไหนที่ความเป็นคนจะสมบูรณ์ได้ ถ้าประวัติศาสตร์ยังเป็นแค่ตำนาน หรือนิทานเรื่องเล่าของคนแก่ๆ บางคนเท่านั้น

(2)
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: ถ้าเรารื้อฟื้นประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นยุทธศาสตร์การเมือง สังคมจะเรียนรู้อะไร
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล : อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประชาไท: กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "6 ตุลา - บท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" ในการเสวนาหัวข้อ "จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือด ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียนของเรา" จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, วิชา ป.211 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หลักสูตรควบตรี/โท ด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา

ขอเริ่มต้นด้วยบทสนทนาของหญิงวัยใกล้ 60 ปี ที่เชื่อว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมประวัติศาสตร์ 6 ตุลา กับลูกชายของเขาซึ่งเรียนรู้เหตุการณ์ 6 ตุลาอย่างตะกุกตะกักผ่านแม่ของเขา

- ผู้เป็นแม่ "เอาอีกแล้ว สมัครมันเอาอีกแล้ว มันโกหกอย่างหน้าด้านๆ อีกแล้ว มันพูดได้ยังไงว่ามีคนตายแค่คนเดียว คนเห็นกันทั้งบ้านทั้งเมืองว่านักศึกษาตายไปเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ในเช้าวันที่ 6 ตุลา"

- ลูกชาย : "แล้วอะไรล่ะคือความจริง ที่ทำให้เกิดการฆ่ากันตายในวันนั้น พวกแม่และเพื่อนๆ เป็นฝ่ายซ้าย เป็นคอมมิวนิสต์จริงรึเปล่า"
- ผู้เป็นแม่ : "ไม่ใช่ทุกคนหรอก เราอาจจะเคยเชื่ออะไรบางอย่าง แต่เวลามันก็ผ่านมานานแล้ว"
- ลูกชาย : "แล้วทำไมเขาต้องฆ่านักศึกษาล่ะ ฟังแม่พูดมากี่ที ไม่เห็นเคยได้รับคำตอบจริงๆ ชัดๆ ซักที"
- ผู้เป็นแม่ : "บางทีก็มีหลายอย่างที่เราไม่อยากจำไม่อยากพูดถึงมันอีก แต่หวังว่าคนรุ่นใหม่อย่างพวกเธอคงไม่หลงเชื่อสิ่งที่ลุงสมัครพูดนะ"

- ลูกชาย : "จะบ้าหรือไง ผมว่าคนรุ่นผมส่วนใหญ่ไม่มีใครชอบคนรุ่นจูราสิกอย่างลุงหมักหรอก แต่ถ้าคนรุ่นแม่ไม่ทำอะไรและไม่ยอมพูดความจริงทั้งหมดซักที ท้ายที่สุด ใครๆ ก็จะลืมว่าความจริงและบทเรียนจากความจริงคืออะไร สิ่งที่เหลืออยู่ในสมองคนอย่างรุ่นผม มันก็คือคำโกหกคำโตของลุงสมัครอะแหละ"

นี่เป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้นนะคะ ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ได้อ้างอิงถึงใครในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทย คนไทย ที่ไม่ได้อยู่ร่วมในประวัติศาสตร์ 6 ตุลา รวมทั้งตัวดิฉันเองด้วย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา แบบขาดๆ เกินๆ เมื่อเริ่มเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ขอบเขตของความเข้าใจของคนส่วนใหญ่จะไปไม่เคยไกลเกินภาพการต่อสู้ของนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าฝ่ายซ้ายผู้รักประชาธิปไตย กับการใช้อำนาจและความรุนแรงของรัฐและฝ่ายขวา มันเป็นภาพการต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งนี่เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับ 6 ตุลา

และเมื่อเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป ตัวแสดงผู้มีส่วนร่วมใน 6 ตุลา เปลี่ยนบทบาทโฉมหน้า การเมืองในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ซับซ้อนมากขึ้น ความเข้าใจเรื่อง 6 ตุลา ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากที่จะเกิดขึ้นสำหรับคนโดยรวมและคนรุ่นต่อๆ มา นอกจากที่ดิฉันจะมานั่งฟูมฟายถึงความยากลำบากของการเรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ 6 ตุลา สิ่งที่พยายามจะทำในเวลาอันสั้นนี้คือ พยายามจะตอบคำถามหลักที่สำคัญว่า ทำไม 6 ตุลาจึงเป็นบทที่ไม่เรียนของสังคมไทย ผ่านปรากฎการณ์วิวาทะระหว่างคุณสมัคร สุนทรเวชกับแรงต้านและความไม่พอใจของสิ่งที่คุณสมัครพูดในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คำตอบมี 3 ข้อหลักๆ ซึ่งจะขยายความต่อไป

คำตอบแรก คือ การสังคยานาประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เป็นเรื่องยาก ทั้งในแง่กระบวนการการเขียนประวัติศาสตร์ ซึ่งขาดกระบวนการการค้นหาและการกล้าที่จะพูดถึงความจริงของ 6 ตุลา มากไปกว่าเพียงเรื่องของความรุนแรงและจำนวนตัวเลขของผู้เสียชีวิต และรวมทั้งกระบวนการต่อสู้เชิงอำนาจของการสร้างความรับรู้ถึงประวัติศาสตร์ภาคประชาชนในสังคมไทย

คำตอบที่สอง ภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงในการเมืองปัจจุบัน เมื่อตัวแสดงต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป สังคมไทยยากมากที่จะเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงของคนเหล่านี้ในอดีต กับการเปลี่ยนแปลงของคนเหล่านี้ในปัจจุบัน

คำตอบที่สาม จากปรากฎการณ์วิวาทะของคุณสมัครกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในแง่ของความจริง การต่อสู้ทางวิวาทะนี้ กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของทุกฝ่าย เชื่อมโยงกับเงื่อนไขทางการเมืองในปัจจุบัน ทั้งหลังความพยายามในการล้มคุณทักษิณหลังการรัฐประหาร และภายใต้รัฐบาลของคุณสมัคร

ต่อประเด็นที่หนึ่ง เรื่องความยากของการสร้างและการขีดเขียนกระบวนการการรับรู้ประวัติศาสตร์เรื่อง 6 ตุลา เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในสังคมไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อยเพิ่งเริ่มลงหลักปักฐาน เราไม่ได้กำลังพูดถึงประวัติศาสตร์ในระบบมหาวิทยาลัย หรือในหนังสือเรียนหรือในโรงเรียนเท่านั้น แต่เราพูดถึงการเขียนประวัติศาสตร์ในแง่ของกระบวนการ เรากำลังพูดถึงกระบวนการการเขียน การเข้าถึง การผลักดันประวัติศาสตร์สู่การรับรู้ของคนในวงกว้าง ที่ผ่านการเขียนเนื้อหาและช่องทางในการผลักดัน ซึ่งเคยถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าขุนมูลนาย นักการเมือง ผู้มีอิทธิพลทางธุรกิจ เพราะการเขียนประวัติศาสตร์ภาคประชาชน แท้ที่จริงเราต้องยอมรับว่ามันคือการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งไม่มีทางที่ชนชั้นนำจะหยิบยื่นให้เรา

อำนาจในการสร้างประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำทั่วโลก เกิดขึ้นเพื่อกดทับความเป็นจริงในสังคม การให้ได้มาซึ่งประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ซึ่งสังคมไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่าทำไมประวัติศาสตร์ 6 ตุลายังอยู่ในช่วงของการตั้งไข่. อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน นอกจากความกล้าหาญของคนหลายๆ คนที่พยายามลุกขึ้นมาคัดค้านสิ่งที่คุณสมัครพูด เกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ความกล้าในการอ้าปากพูดถึงประวัติศาสตร์ของตัวเอง ของอดีตนักศึกษาฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ไปให้ไกลกว่าความตายและความรุนแรงที่รัฐกระทำเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยมาก

เราต้องยอมรับว่า 6 ตุลา เป็นเรื่องของการต่อสู้ปฎิบัติการทางการเมืองผ่านอุดมการณ์ ไม่ว่าใครจะยอมรับหรือไม่ว่าตัวเองเคยเรียนรู้เคยเชื่อและมีปฎิบัติการทางการเมืองผ่านอุดมการณ์ขวาซ้าย แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับพวกเขา หลังการปราบปรามทุกคนเต็มไปด้วยบาดแผล การกลับมายืนในสังคมอีกครั้งเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เฉพาะอดีตฝ่ายซ้าย ฝ่ายก้าวหน้า แม้แต่ฝ่ายขวาอย่างคุณสมัครเอง ความพยายามในการหลีกเลี่ยงและการสร้างตัวตนใหม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมใหม่ๆ ทางการเมือง เพื่อเจือจางภาพประวัติศาสตร์ของเขา การง้างปากคนแบบนี้พูดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งนั่นรวมถึงอดีตนักศึกษาและผู้ร่วมต่อสู้ ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาและในเหตุการณ์ 6 ตุลาด้วย ที่ต้องเผชิญถึงความอิหลักอิเหลื่อในการพูดถึงตัวตนของเขาเองอดีตของเขา เพราะในสังคมแบบนี้ที่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางการเมือง มีพื้นที่น้อยมากสำหรับคนเหล่านี้

การพูดถึงประวัติศาสตร์ 6 ตุลากลายเป็นเพียงการต่อสู้ของผู้บริสุทธิ์ เพื่อความยุติธรรมทางสังคม แต่นั่นไม่ได้เป็นการเชื่อมโยงถึงความเป็นจริงของ 6 ตุลา แม้ว่าจะมีนักวิชาการหลายๆ คนที่พยายามเขียนงานที่มีพลังมากในการวิเคราะห์เหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ปัญหาคือ เราไม่ได้กำลังพูดถึงกระบวนการประวัติศาสตร์ในตำรา เรากำลังพูดถึงกระบวนการการเขียนและการรับรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่ต้องสร้างขึ้นโดยคนมหาศาล และต้องมีส่วนร่วมโดยคนมากมายในสังคม หนังสือ การอ่าน แน่นอนหลายคนอาจจะบอกว่า ไม่ใช่วัฒนธรรมของคนไทย แต่การสร้างประวัติศาสตร์ไม่เคยห่างจากตำรา

ประสบการณ์โดยส่วนตัวของดิฉันเอง ดิฉันทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การเปลี่ยนผ่านของอดีตฝ่ายซ้ายในการเมืองปัจจุบัน ซึ่งนั่นหมายถึง ความพยายามในการเข้าใจความเปลี่ยนผ่านของอดีตนิสิตนักศึกษา ขบวนการภาคประชาชนที่เคยผ่านปฎิบัติการฝ่ายซ้ายและเปลี่ยนแปลงอย่างไรในปัจจุบัน ดิฉันเองเผชิญปัญหามากมายในการสัมภาษณ์ผู้คนเหล่านี้ ดิฉันเข้าใจ การถูกประเมินท่าทีของคนที่ไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์อย่างตัวดิฉันเอง ในการเริ่มต้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสิ่งที่พวกเขาคิดอยู่ในสมอง เป็นเรื่องยากมาก ดิฉันต้องสร้างความไว้วางใจกับพวกเขา ต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าดิฉันเข้าใจ อยู่กับพวกเขา เข้าใจเขา ดิฉันไม่ได้โทษพวกเขา แต่สิ่งที่สะท้อนคือ เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่ถูกพูดคุยกันเพียงในวงแคบๆ ของคนเหล่านี้ ไม่ใช่วงสาธารณะ

ดิฉันว่าเราต้องเลิกพูดกันเสียทีว่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลาเป็นเรื่องที่ยังไม่ลงตัว เราต้องเลิกโทษนักศึกษา เลิกโทษคนรุ่นใหม่ถึงประเด็น "6 ตุลา" ใครจะไปรู้ ใครจะไปเข้าใจในเมื่อไม่มีอะไรให้เข้าใจ ตัวดิฉันเองถึงแม้จะเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ เรียนปริญญาเอก แต่ดิฉันไม่เคยเข้าใจเรื่องนี้ จนกระทั่งมาทำเรื่องนี้ เรื่อง 14 ตุลาอาจจะยากน้อยกว่าการเข้าใจ 6 ตุลามาก เพราะประวัติศาสตร์ 6 ตุลา มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย และยากที่จะเข้าใจความจริงเกิน fact ที่พูดว่าเหตุการณ์อะไร เกิดขึ้น เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร แต่อะไรคือพลังผลักดัน อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน 6 ตุลา อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นวัน 6 ตุลา และอะไรคือผลกระทบของ 6 ตุลา ต่อจำนวนคนมากมายมหาศาล นี่คือประเด็นแรกที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไม 6 ตุลาจึงเป็นบทที่ไม่เรียนในสังคมไทย

ต่อประเด็นที่สอง นอกจากกระบวนการเขียนประวัติศาสตร์ที่มีปัญหาในตัวของมันเองแล้ว ในเงื่อนไขการเมืองปัจจุบันที่อดีตฝ่ายซ้าย อดีตฝ่ายขวา ต่างเปลี่ยนแปลงสถานภาพ บทบาททางการเมืองของตัวเองไปแล้ว ยิ่งทำให้สังคมไทยซึ่งประวัติศาสตร์ 6 ตุลาก็ยังไม่ได้เริ่มต้นชัดเจน ยิ่งยากเข้าไปอีก ภายใต้เงื่อนไขของโลกที่ถูกบังคับให้เชื่อและยอมรับเสรีนิยมประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง อดีตฝ่ายขวาปรับตัวได้อย่างดี กลับมาสร้างความชอบธรรม ผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง กรณีคุณสมัครเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจมาก ใครว่าคุณสมัครยังเหมือนเดิม ดิฉันขอเถียง คุณสมัครปรับตัวได้ดีจะตาย

เงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป เขากลับเข้ามาในกระบวนการเลือกตั้ง ก้าวเข้ามามีบทบาทและสร้างสถานภาพความชอบธรรมทางการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่คุณสมัครไม่เคยเปลี่ยนคือ ยุทธศาสตร์ propaganda อย่าเข้าใจผิดว่า หมายถึงการโกหก แต่ propaganda เป็นเรื่องที่จริงจัง เป็นเรื่องที่ผ่านกระบวนการที่คิดอย่างเป็นระบบและมีหลักการ หมายถึงการเผยแพร่ความเชื่อ ในแง่หนึ่งยุทธศาสตร์ความเชื่อ If you have to lie, you have to give the big one. ถ้าคุณโกหก คุณก็ต้องโกหกคำโตและยืนยันสิ่งที่คุณโกหกอย่างหนักแน่น นี่คือปฎิบัติการทางการเมืองที่คุณสมัครไม่เคยเปลี่ยน

ไม่ใช่เฉพาะเพียงฝ่ายขวาที่เปลี่ยนแปลงไป อดีตฝ่ายซ้ายก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ดิฉันต้องขอโทษที่อาจจะใช้คำว่า อดีตฝ่ายซ้ายอย่างพร่ำเพรื่อจนเกินไป แต่ดิฉันไม่ได้เจาะจงหมายถึงใครเป็นฝ่ายซ้าย แต่ดิฉันพยายามจะใช้คำที่เข้าใจได้ง่ายที่ทำให้สังคมไทยซึ่งเข้าใจอะไรยากอยู่แล้ว เข้าใจด้วยการตอกย้ำในการใช้คำนี้ อดีตฝ่ายซ้ายหลายคนเข้าไปทำงานร่วมกับอดีตฝ่ายขวา ในขณะที่อีกขั้วหนึ่ง เชื่อว่าตัวเองยังพยายามรักษาจุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง คือไม่ยอมรับอดีตฝ่ายขวา และยังคงต่อสู้กับการสถาปนาอำนาจทางการเมืองของชนชั้น คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนทัศนคติที่สังคมมีต่อพวกเขา ด้วยภาพซ้อนทับของประวัติศาสตร์ทางการเมืองของ 14 ตุลาและ 6 ตุลา การไฮไลท์หรือชูประเด็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คนเดือนตุลา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คน 6 ตุลาสามารถประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้พวกเขามีพื้นที่อยู่ได้ในสังคม เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าท่ามกลางเงื่อนไขประวัติศาสตร์ 6 ตุลาที่ยังไม่ได้รับการชำระ เนื้อหาที่ไปไม่เคยไกลกว่าความรุนแรงบนท้องถนนและจำนวนคนตาย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายของคนกลุ่มต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้คนในสังคมไทยเข้าใจเรื่อง 6 ตุลา

ประเด็นสุดท้าย เชื่อมโยงถึงปรากฎการณ์วิวาทะ ระหว่างเรื่องสมัครกับหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่สมัครพูด คือ ปัญหาเรื่องการใช้วิวาทะในยุทธศาสตร์ทางการเมืองภายใต้การเมืองปัจจุบัน ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งถ้าจะลุกขึ้นมาประท้วงหรือทักท้วงเรื่องที่คุณสมัครพูด ว่าเป็นความพยายามที่จะจุดประกายให้เกิดการสังคยนาประวัติศาสตร์ 6 ตุลาอย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปสู่ย่างก้าวใหม่ในการสร้างประวัติศาสตร์การเรียนรู้ภาคประชาชนให้กว้างขึ้น แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ปรากฎขึ้นคือ ข้อถกเถียงถูกจำกัดเพียงแค่เรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต ข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ 6 ตุลา และการสร้างภาพความเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ 6 ตุลากับเงื่อนไขในปัจจุบันว่า 6 ตุลา อาจจะเกิดขึ้นอีก อาจจะเกิดขึ้นอีก และอาจจะเกิดขึ้นอีก

การจำกัดหัวข้อในการถกเถียงเรื่อง 6 ตุลาแบบนี้มีที่มาที่ไป เพราะสิ่งที่สื่อและอดีตผู้ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 6 ตุลา แย้งกับคุณสมัคร ไม่ได้เกิดภายใต้บรรยากาศที่เป็นสุญญากาศทางการเมือง ไม่ใช่เฉพาะความไม่พอใจต่อท่าทีของคุณสมัครที่หลายคนอาจจะตัดสินคุณสมัครจากบุคลิกภาพ หรือจากบทบาทในอดีต แต่เกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้และสนับสนุนระบอบทักษิณ การปฏิเสธและการยอมรับ 19 กันยายน รัฐประหารความพอใจและความเบื่อหน่ายต่อการเมืองภายใต้รัฐบาลคุณสมัคร ที่กึ่งยอมรับว่า ตัวเองเป็นรัฐบาลนอมินีของคุณทักษิณ

วิวาทะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นภายใต้บริบททางการเมืองแบบนี้ การขึ้นมาของคุณสมัครเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่า แต่แม้อดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่อยู่ร่วมกับรัฐบาล หรือสนับสนุนอดีตพรรคไทยรักไทยเองก็กระอักกระอ่วนที่จะยอมรับตัวคุณสมัครและสิ่งที่คุณสมัครพูด เฉพาะฉะนั้นสำหรับอดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายปีกต้านคุณทักษิณไม่ต้องพูดถึง. ความพลาดของคุณสมัครในการพูดเรื่องจำนวนคนตาย ถ้าคุณสมัครเพียงพูดว่า คนตายไม่กี่สิบคนอาจจะไม่มีสองอาทิตย์นี้ก็ได้ ถ้าไม่ได้พูดว่า มีคนตายแค่คนเดียว ความพลาดของคุณสมัครในการพูดถึงจำนวนคนตาย กลายเป็นเรื่องที่ช่วยให้กระบวนการการแซะรัฐบาลคุณสมัครก่อตัวขึ้น และดูจะประสบความสำเร็จในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา เรื่อง 6 ตุลากลายเป็น hot issue นอกฤดูกาลเดือนตุลา

แต่สิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาคือถ้าเรารื้อฟื้นประวัติศาสตร์ชาติ ให้กลายเป็นเพียงยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่จะรองรับการต่อสู้ทางการเมืองปัจจุบัน สังคมจะเรียนรู้อะไรจาก 6 ตุลาไปไกลกว่าบทสนทนาระหว่างแม่ลูกที่ดิฉันแต่งขึ้นและกล่าวในเบื้องต้น

(3)
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: ประวัติศาสตร์บาดแผลเดือนตุลาและพฤษภา:
ระหว่างความตายที่ฟื้นได้ กับ ความตายที่ไม่มีวันฟื้น

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ชื่อบทความเดิม - ประวัติศาสตร์บาดแผลเดือนตุลาและพฤษภา :
ระหว่างความตายที่ฟื้นขึ้นมาได้กับความตายที่ไม่มีวันฟื้นคืนขึ้นมา

ประชาไทหมายเหตุ: ผู้เขียนปรับปรุงจากปาฐกถาพิเศษ "พฤษภาเลือด-อีกหนึ่งบท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" ในงานสัมมนาเรื่อง "จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือดประวัติศาสตร์บาดแผล กับบท (ไม่) เรียนของเรา" เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หัวข้อของปาฐกถานี้คือประวัติศาสตร์บาดแผล และ บท (ไม่) เรียนของสังคมไทย แต่ประวัติศาสตร์บาดแผลหมายถึงอะไรนั้นก็เป็นเรื่องที่มีความหมายคลุมเครืออยู่มาก. ธงชัย วินิจจะกูล ใช้คำๆ นี้เพื่ออธิบายสภาวะความรู้สึกที่ "ก่อความทุกข์ระทมเจ็บปวดต่อร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ" จนยากจะเยียวยารักษาได้แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้ว ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่ประวัติศาสตร์ทั้งหมดจะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ไม่ได้หมายความว่าประวัติศาสตร์บาดแผลคือประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเหลือคณานับ แต่ประวัติศาสตร์บาดแผลคือประวัติศาสตร์ที่สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวถึงขั้นที่ไม่มีวันเยียวยา แต่สภาวะแห่งความไม่มีวันเยียวยาคืออะไร?

สลาโวจ ซิเซ็ค กล่าวไว้ใน For They Know What They Do ว่า "สารัตถะของความเจ็บปวดเกินเยียวยาคือสภาวะที่น่าสะพรึงกลัวเกินกว่าจะจดจำไว้ ในแง่นี้แล้ว ความเจ็บปวดเกินเยียวยาจึงเป็นสภาวะที่น่าสะพรึงกลัวจนเกินที่วิสัยของจักรวาลวิทยาแห่งความหมาย (symbolic universe) จะเข้าใจมันได้" [1] ประวัติศาสตร์ที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่วางอยู่บนจุดตัดของ ความรุนแรง (violence), ความเจ็บปวดจนเกินเยียวยา (Trauma) และชุมชนการเมือง (political community) หรือพูดอีกอย่างคือ การพิจารณาประวัติศาสตร์บาดแผลหมายถึงการพิจารณาประวัติศาสตร์โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรง, ผลของความเจ็บปวดเกินเยียวยา, และรูปแบบของชุมชนการเมือง

น่าสนใจว่าซิเซกกล่าวต่อไปด้วยว่าหน้าที่ของ "เรา" คือการพูดถึงประวัติศาสตร์บาดแผลซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประเด็นนี้สำคัญเพราะทำให้เห็นว่าประวัติศาสตร์บาดแผลมีมิติของความเป็นการเมืองในเรื่องการต่อสู้เรื่องความทรงจำ การโต้เถียงเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการจดจำเรื่องที่ลืมเลือนไปแล้ว แต่คือการจดจำเรื่องที่จดจำได้เพื่อให้เห็นบทเรียนและความเปลี่ยนแปลง

นักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยถือว่า 14 ตุลา, 6 ตุลา และพฤษภาคม 2535 เป็นตัวอย่างของ "ประวัติศาสตร์บาดแผล" ในสังคมไทย แต่ทรรศนะนี้ลดทอนความหลากหลายและลักษณะเฉพาะของเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ลงไปมาก แม้จะเป็นความจริงว่าเหตุการณ์ทั้งสามคล้ายคลึงกันในแง่ "การจัดการกับผู้ชุมนุมด้วยวิธีรุนแรงของรัฐไทย" แต่ทว่าแต่ละเหตุการณ์ก็มีรูปแบบความรุนแรง ความเจ็บปวด และผลต่อชุมชนการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ปาฐกถาครั้งนี้รวมศูนย์อยู่ที่การอภิปรายเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลกรณีเหตุการณ์เดือนพฤษภา และเพื่อให้ข้อคิดเห็นในการอภิปรายคมชัดขึ้น จึงขออภิปรายประเด็นนี้โดยวิธีเทียบเคียงปฏิกริยาที่สังคมไทยมีต่อความตายในกรณีนี้เทียบกับความตายในเหตุการณ์หกตุลา ปาฐกถานี้พาดพิงถึงคุณสมัคร ไม่ใช่เพราะเกลียดคุณสมัคร แต่เพราะคุณสมัครป็นตัวละครทางการเมืองไม่กี่ตัวที่มีบทบาทจัดจ้าในที่สาธารณะ ทั้งในเหตุการณ์หกตุลาและเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม

พูดอีกอย่างคือปาฐกถานี้ไม่ได้สนใจที่จะถกเถียงว่าคุณสมัครเป็น "ฆาตกรมือเปื้อนเลือด" หรือ "ฆาตกรตัวจริง" หรือไม่ อันเป็นประเด็นที่มีผู้ศึกษาไว้มากแล้ว แต่สนใจที่จะพิจารณาปฏิกริยาที่สังคมไทยมีต่อคุณสมัครเป็นตัวเดินเรื่องเพื่ออภิปรายปัญหาการเขียนประวัติศาสตร์พฤษภาและประชาธิปไตยไทย อนึ่ง ควรระบุด้วยว่าผู้พูดเห็นด้วยกับการอภิปรายบทบาทคุณสมัครในเหตุการณ์หกตุลา แต่ไม่เห็นด้วยกับการอภิปรายถึงคุณสมัครเพื่อฆ่าตัดตอนความจริง 6 ตุลา

ถ้าถือว่า 6 ตุลา เป็นการฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชนที่ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า "สังคมไทยไม่มีวันลืม 6 ตุลา เพราะสังคมไทยไม่ได้จดจำ 6 ตุลา มาตั้งแต่ต้น" หรืออย่างดีก็คือทำได้แค่จำเหตุการณ์นั้นแบบอ้อมๆ แอ้มๆ แกมตะขิดตะขวงใจในความเจ็บปวดและโหดร้ายที่เกิดขึ้นในวันนั้น พฤษภา 2535 ก็เป็นอาชญากรรมโดยกองทัพที่สังคมไทยจำได้ แต่ทุกคนช่วยกันลืมมันไป. ตัวอย่างที่ยืนยันประเด็นนี้คือปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อคุณสมัครในเรื่องหกตุลาและพฤษภาคม

คนจำนวนมากพูดถึงบทบาทของคุณสมัครต่อเหตุการณ์หกตุลา แปลกที่มีคนไม่มากนักที่โจมตีคุณสมัครในเรื่องที่รุนแรงไม่แพ้กัน ซ้ำยังเกิดขึ้นไม่นานนักอย่างบทบาทคุณสมัครในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งคุณสมัครเป็นรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่มีนายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในขณะนั้น คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งหมายความว่าคุณสมัครเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคการเมืองที่ยกเก้าอี้ประมุขของฝ่ายบริหารไปประเคนให้นายทหารผู้ก่อการรัฐประหารในปี 2534 รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่สั่งการให้ทหารเคลื่อนกำลังปราบปรามประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจนมีคนเสียชีวิต 43-45 คน มีผู้บาดเจ็บและได้รับผลกระทบอีกราว 90 คน ไม่ต้องพูดถึงกรณี "คนหาย" นับไม่ถ้วนอีกจำนวนหนึ่ง

มีคำตอบอะไรบ้างที่เป็นไปได้ในการอธิบายปัญหานี้
คำตอบหนึ่งที่น่าจะผุดขึ้นมาเป็นคำตอบแรกๆ คือเพราะหกตุลามีความรุนแรงกว่าพฤษภา มีการเผาทั้งเป็น ทำร้ายศพ แขวนคอ ทรมานก่อนเสียชีวิต ฯลฯ ทำให้คนไม่พอใจสมัครจากเหตุการณ์หกตุลามากกว่า แต่คำตอบนี้โต้แย้งได้ด้วยข้อเท็จจริงง่ายๆ ว่าไม่มีใครรู้ว่าคนที่ตายในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยมแค่ไหน เพราะการตายหลายรายเกิดขึ้นเมื่อทหารควบคุมพื้นที่ชุมนุมบนถนนราชดำเนินได้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ขณะที่คนเป็นๆ ถูกมัจจุราชในเครื่องแบบทหารคร่าชีวิตให้เป็นคนตาย

ปัญหาทางอภิปรัชญาที่โหดเหี้ยมขึ้นไปอีกก็คือเราจะเปรียบเทียบได้อย่างไรว่า "ความตาย" และ "คนตาย" ในกรณีไหนโหดร้ายกว่ากัน คำตอบที่เป็นไปได้อีกข้อคือคนที่โจมตีสมัครนั้นผูกพันกับนักศึกษาที่ตายตอนหกตุลา? คำตอบนี้อาจถูกและผิด เพราะหกตุลาถูกขุดคุ้ยและรื้อฟื้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจะเพื่อพิสูจน์ความจริง ซ้ำการรื้อฟื้นหกตุลาก็ยังวนเวียนกับการชี้แจงซ้ำๆ ซากๆ ว่าคนตายไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เป็นผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นผู้รักความเป็นธรรมในความหมายทั่วไป เป็นนักศึกษาที่ไม่รู้เรื่อง เป็นผู้บริสุทธิ์ทางการเมือง ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ไม่ใช่นักสังคมนิยม ฯลฯ

พูดในเชิงเปรียบเปรยก็คือในจินตนาการของสังคมทุกวันนี้ ภาพของคนที่ตายในเหตุการณ์หกตุลาและผู้ชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ในวันนั้นอาจไม่แตกต่างจากนักศึกษาที่ไปค่ายพัฒนาชนบทในปัจจุบัน การตอบแบบนี้ดีทางการเมืองกับผู้ตอบ ดีต่อการต่อสู้เพื่อให้หกตุลามี "ที่ทางในประวัติศาสตร์ไทย" แต่แฟร์กับคนที่ตายในวันที่หกตุลาจริงหรือ? ถ้าแม้แต่นักศึกษาประชาชนที่ตายไปในวันนั้นเพียงคนเดียวที่เชื่อเรื่องสังคมนิยม เขาจะรู้สึกอย่างไรที่ในนามของการต่อสู้ทางการเมืองทุกวันนี้ เราบอกว่าเขาเป็นอย่างที่เราคิดว่าเขาควรจะเป็น

พูดอีกอย่างคือคำตอบแบบนี้แสดงความผูกพันกับคนตาย หรือแสดงความพยายามสร้างความผูกพันระหว่างผู้ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันกับเหตุการณ์ในอดีตที่ล่วงไปแล้วกันแน่? เป็นไปได้หรือไม่ที่คนตีสมัครด้วยเรื่องหกตุลาเพราะคนไทยรักความเป็นธรรม รักสัจจะ ทนไม่ได้ที่นักการเมืองรังแกนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ ฯลฯ? คำตอบคืออาจจะใช่ แต่ก็เถียงได้อีกเหมือนกันว่าถ้าตีสมัครเพราะรักความเป็นธรรม รักสัจจะ ทนไม่ได้เรื่องความโหดร้าย ก็ต้องถามว่าทำไมตีแต่สมัคร ทั้งที่การฆ่าและการประสานการฆ่าเกิดโดยคนที่มากและใหญ่กว่าสมัครขึ้นไป

เรื่องเดียวที่สมัครพูดถูกในคำชี้แจงกรณีหกตุลาคือ เขาไม่ได้ตำแหน่งทางการเมืองในขณะนั้น ไม่ได้คุมตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งเป็นกำลังหลักที่สุดในการบุกธรรมศาสตร์ ไม่ได้คุมทหาร ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เขาจึงไม่มีอำนาจราชการที่จะไปสั่งให้ใครฆ่าใครในวันที่หกตุลา ไม่มีอำนาจสั่งให้ตำรวจตระเวนชายแดนเคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ ได้ ไม่มีอำนาจสั่งให้ทหารก่อรัฐประหาร ไม่มีอำนาจสั่งลูกเสือชาวบ้านให้รวมตัวกันบุกธรรมศาสตร์ รวมทั้งไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังหกตุลา. ถ้าตีสมัครเพราะหกตุลาโหดร้าย ทำไมความจริงในหกตุลาถูกฆ่าตัดตอนให้อยู่ที่นักโฆษณาชวนเชื่อแต่เพียงคนเดียว? คนสั่งเคลื่อนกำลังตำรวจตระเวนชายแดนคือใคร? ใครสั่งเคลื่อนกำลังทหาร? ใครอยู่เบื้องหลังการแต่งตั้งธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีหลังหกตุลา ?

กลับไปยังคำถามที่ผู้เขียนตั้งไว้ว่าทำไมคนโจมตีคุณสมัครเรื่องหกตุลา แต่ไม่มีใครโจมตีคุณสมัครเรื่องพฤษภา
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? คำตอบของผู้เขียนคือคนที่ตายตอนหกตุลาเผชิญกับความตายทางกายภาพ (physical death) ที่ยังพอมีโอกาสฟื้นจากความตายทางการเมือง (political death) ขึ้นมาได้ ขณะที่คนที่ตายตอนพฤษภาเผชิญความตายทางกายภาพและความตายทางการเมือง ชนิดที่ยากเหลือเกินที่จะฟื้นคืนชีพขึ้นมา

ต่อไปนี้คือคำอธิบายซึ่งจะเริ่มต้นง่ายๆ ว่าทำไมสมัครต้องโกหกคนทั้งชาติและทั้งโลก ในเรื่องที่โกหกไม่ได้อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม

คนที่ฟังคำอภิปรายของคุณสมัครในการเปิดประชุมรัฐสภา คงจำได้ว่าคุณสมัครชี้แจงว่าที่บอกว่าคนตาย 6 ตุลา มีคนเดียว เพราะพูดตามจำนวนคนตายที่คุณสมัครเห็นด้วยตาว่าถูกฆ่าตายที่สนามหลวงในวันนั้น คำตอบแบบนี้ทำให้ประเมินบทบาทคุณสมัครใน 6 ตุลา ง่ายขึ้น เพราะคุณสมัครได้ให้การไปแล้วว่าตัวเองอยู่ที่สนามหลวง อยู่ระหว่างที่มีการฆ่านักศึกษา อยู่ขณะที่มีการเผาศพและทำร้ายศพ และอยู่ขณะที่มีการใช้กำลังตำรวจและอาวุธสงครามยิงปราบปราบประชาชน

คุณสมัครไปอยู่ตรงนั้นทำไม ในเมื่อวันที่ 6 ตุลา เป็นวันที่คุณสมัครไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในคณะรัฐมนตรีแล้ว ไปในฐานะพลเมืองดีที่ทนการฆ่านักศึกษาไม่ได้? ไปในฐานะคนไทยผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด? ไปในฐานะผู้นำการเมืองที่เห็นด้วยกับเหตุการณ์นั้น? คุณสมัครพูดแบบนี้เพื่อต้องการชำระประวัติศาสตร์ตัวเองให้เป็นผู้บริสุทธิ์จากข้อกล่าวหาเรื่อง "ฆาตกรมือเปื้อนเลือด" หรือเปล่า? คำตอบคือไม่น่าใช่ เพราะการประกาศว่าไปอยู่ในสนามหลวงขณะฆ่าหมู่ ก็คือการรับสารภาพกลายๆ ว่าคุณสมัครเกี่ยวข้องกับหกตุลา จะเกี่ยวมากแค่ไหนก็เป็นอีกประเด็น

ผู้เขียนขอทดลองตอบคำถามนี้ด้วยคำตอบง่ายๆ ว่าคุณสมัครโกหกในเรื่องที่ไม่น่าโกหก เพราะคุณสมัครรู้ดีว่าการฆ่าหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลา เป็นเรื่องที่น่าละอายทางสังคม (social guilt) ตัวคุณสมัครจะละอายใจโดยส่วนลึกหรือไม่นั้นไม่รู้ แต่ในระดับสังคมการเมือง ฆาตกรรม 6 ตุลา เป็นอาชญากรรมที่น่าละอาย จึงทำให้คุณสมัครต้องบอกปัดความผิดของตนในกรณีนี้ ให้เหลือเพียงแค่เรื่องความตายของคนเพียงคนเดียว. ความละอายทางการเมืองแบบนี้น่าสนใจ เพราะสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญจากช่วงหลังหกตุลา ที่การฆ่าหมู่นักศึกษาเป็นวีรกรรมที่น่ายกย่อง หรือที่ธงชัย วินิจจะกูล ศึกษาบันทึกการออกอากาศของวิทยุยานเกราะเวลานั้นแล้วใช้คำว่า "ฉลองชัยชนะ" [2]

หลังจากหกตุลาผ่านไปได้สิบปีเศษ ในปี 2531 ก็ยังมีคนที่ศรัทธาอุดมการณ์ขวาจัดอย่างนางจงกล ศรีกาญจนา ผู้สมัครคนหนึ่งของพรรคพลังธรรม ออกมาสดุดี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรงในเวลานั้น ว่ารู้จักท่านจำลองในฐานะผู้รักชาติมาตั้งแต่วันที่ร่วมก่อเหตุการณ์หกตุลา พูดว่าคุณจำลองสวมวิก ใส่แว่นดำ คอยชี้แนะว่าใครควรพูดอะไรที่ลานพระรูป. เมื่อการฆ่าหมู่ที่ธรรมศาสตร์เสร็จสิ้นแล้ว พูดถึงขั้นเห็นจำลองปลอมตัวไปปะปนกับลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมที่พระรูปทรงม้า ทำให้ประวัติศาสตร์หน้านี้เป็นประวัติศาสตร์หน้าที่เป็นรอยด่างที่สุดในชีวิตของจำลองเอง

ลองคิดเล่นๆ ว่าใน พ.ศ.นี้ จะมีคนสักกี่คนที่กล้าพูดอย่างองอาจผ่าเผยว่า ได้ไปร่วมฆ่านักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ ที่สนามหลวง รวมทั้งร่วมชุมนุมที่ลานพระรูปในวันที่หกตุลา? เป็นไปได้มากว่าความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกที่สังคมไทยมีต่อหกตุลา ทำให้คนที่ความคิดแบบขวาอย่างคุณสมัคร ต้องลดทอนความรุนแรงของความตายในหกตุลา ให้กลายเป็นความตายของชายโชคร้ายเพียงรายเดียว. เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลจากสังคมจดจำเรื่องหกตุลาเปลี่ยนไป? ไม่มีใครกล้าพูดในที่สาธารณะเต็มปากเต็มคำต่อไปอีกแล้วว่า ภูมิใจที่ได้ฆ่านักศึกษาเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จริงอยู่ว่ามีคนเยอะแยะที่กล้าพูดว่าสถาบันหลักทั้งสามสำคัญเหนือสิ่งใด เชื่อว่าสถาบันทั้งหมดมีค่ายิ่งกว่าชีวิต แต่มีกี่คนที่พูดได้อย่างภาคภูมิใจว่า ควรฆ่านักศึกษาด้วยวิธีโหดเหี้ยมแบบวันที่ 6 เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งสามสถาบัน?

ดูชะตากรรมของ "วีรชน" ผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการฆ่านักศึกษาในวันที่หกตุลาและก่อนหน้านั้นก็ได้ มีใครจำได้ว่าอุทิศ อุทาร หรือกิตติวุฒิโฒตายเมื่อไร. โชคร้ายที่คนเหล่านี้ตายช้า ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าพวกเขาตายเร็วกว่านี้ขึ้นสักยี่สิบปี นั่นคือตายในช่วงหลังจากเกิดเหตุการณ์หกตุลาไม่นานนัก พวกเขาคงไม่ตายอย่างเงียบงันแบบนี้. เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเข้าใจคำอธิบายหกตุลาของคุณสมัคร โดยคำนึงถึงบริบทแบบนี้ คำตอบคือเป็นไปได้ แต่ก็ควรระบุด้วยเช่นกันว่า ความรู้สึกของสังคม หกตุลาเป็นเรื่องน่าอายจนต้องรู้สึกผิด (guilt) แตกต่างจากความรู้สึกว่า หกตุลาเป็นเรื่องอัปยศ (shame) เส้นแบ่งของความรู้สึกผิดกับความอัปยศคือความรู้สึกผิดเป็นเรื่องที่เราอาจแก้ตัวด้วยข้ออ้างแบบใดแบบหนึ่งได้ แต่ความอัปยศคือความผิดบาปในสิ่งที่ไม่มีวันผลักไสออกไป แม้กระทั่งในมโนธรรมสำนึก [3] ความอัปยศจึงเป็นเรื่องที่ให้อภัยหรือไถ่ถอนไม่ได้ มีแต่กดให้เงียบหายไปตามกาลเวลา

ความละอายที่สังคมไทยมีต่อหกตุลาเป็นความละอายที่แสดงออกมาในรูปการโจมตีคุณสมัคร ฆ่าตัดตอนความผิดไปที่นักการเมืองดาษๆ เพียงคนเดียว แต่สังคมไทยไม่เคยเรียกร้องให้สอบสวนและดำเนินคดีกับคนทั้งหมดที่ก่อเหตุหกตุลา เพราะรู้ว่าเรื่องนี้เรียกร้องไม่ได้ ขืนดันทุรังทำไป ก็จะทำให้สังคมไทยถึงกาลหายนะไปทั้งหมด จึงได้แต่ลืมๆ กันไป เช่นเดียวกับที่ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่ใครต่อใครที่ร่วมก่อหกตุลาจะออกมาขอโทษนักศึกษาประชาชน

อันที่จริงอาจตั้งคำถามต่อไปได้อีกว่า อะไรคือความหมายทางการเมืองของปริศนาทางอุดมการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2519 ที่การฆ่านักศึกษาฝ่ายซ้ายเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจยิ่งชีวิต จนถึงปี 2551 ที่การฆ่านักศึกษากลายเป็นความรู้สึกน่าอับอายในระดับสังคม. คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับหกตุลา แต่เกี่ยวกับการประเมินอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวกับรัฐประหาร 2549 และสถานการณ์การเมืองหลังจากนั้นจนปัจจุบันและไปสู่อนาคต

กลับไปที่เรื่องเดือนพฤษภาคม
ถ้าปี 2539 คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการรื้อฟื้นหกตุลาเพื่อสร้าง "ที่ทางในประวัติศาสตร์" ให้คนรุ่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ และถ้าปี 2539 คือปีที่คนรุ่นตุลาคม 2519 รื้อฟื้นความภาคภูมิใจทางการเมืองผ่านการจัดงานรำลึกสองทศวรรษหกตุลาอันยิ่งใหญ่ ช่วงเวลา 3-4 ปี หลังการนองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ก็คือช่วงเวลาที่ "รัฐ" ค่อยๆ ทำให้เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมเสื่อมความสำคัญทางการเมืองถึงขั้นที่ปราศจาก "ที่ทางในประวัติศาสตร์" ในปัจจุบัน

เหตุการณ์เดือนพฤษภาคืออะไร? กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด เหตุการณ์เดือนพฤษภาคือการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อันที่จริง ข้อเรียกร้องของขบวนการเดือนพฤษภามีเนื้อหากว้างไกลกว่าเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีไปมาก เพราะมีการพูดถึงการให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งการเมืองและการบริหารประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ลดอำนาจวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ฯลฯ

ในแง่นี้แล้ว พฤษภาคม 2535 คือการสร้างความเป็นใหญ่ทางการเมือง (political hegemony) ให้เสรีประชาธิปไตยแบบประชาธิปไตยรัฐสภา ซึ่งเมื่อจัดวางระบบนี้ลงไปในประวัติศาสตร์การเมือง พฤษภาคม 2535 ก็คือการปฏิเสธระบอบรัฐที่เกิดขึ้นหลังหกตุลาทั้งหมด นั่นคือระบอบรัฐที่ทหารและข้าราชการประจำเป็นกลไกลหลักของระบบการเมือง มีรัฐสภาที่สมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง อำนาจการเมืองขั้นสูงสุดในการเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ที่การตกลงนอกรัฐสภา และเหนือการเลือกตั้งระหว่างพลังสามฝ่ายที่ในเวลานั้นเรียกง่ายๆ ว่า ทุน/วัง/ปืน

พฤษภาคม 2535 เป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาระบอบรัฐแบบใหม่ที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นศูนย์กลางของระบบการเมืองในความหมายที่แท้จริง

ปัญหาก็คือ ขณะที่การเชิดชูสภาผู้แทนราษฎรและประชาธิปไตยรัฐสภา เป็นเสาหลักของการต่อสู้การเมืองในเดือนพฤษภา การเชิดชูประชาธิปไตยรัฐสภาก็เป็นจุดเปราะทางการเมืองของขบวนการเดือนพฤษภาเองด้วย เพราะไม่มีประชาธิปไตยรัฐสภาในสังคมไหน ที่มีฐานะเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีพลังกล้าแกร่งจนเรียกร้องให้คนสละชีวิตเพื่อปกป้องอุดมการณ์นี้ได้ ซ้ำในสังคมไทยเองก็มีเงื่อนไขทางการเมืองและอุดมการณ์มากหลายที่ขัดขวางการเติบโตของความคิดเรื่องประชาธิปไตยรัฐสภา ขณะที่กระแสการเมืองโลกเองก็เริ่มเดินไปสู่เส้นทางของการตั้งคำถามกับความคิดเรื่องระบบตัวแทน (representationism) ซึ่งเป็นรากฐานทางความเชื่อที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยรัฐสภา

ในโลกศตวรรษที่ 20 นั้น มีอุดมการณ์การเมืองมากหลายที่มีพลังจนก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง การสู้รบ การปฏิวัติ การจลาจล การสละชีวิต ฯลฯ เช่นชาตินิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ สาธารณรัฐนิยม สากลนิยม รัฐธรรมนูญนิยม แต่มีน้อยครั้งมากที่คนในโลกจะยอมตายเพื่อสภาผู้แทนราษฎรและประชาธิปไตยรัฐสภา

คนที่อยู่ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคงจำได้ว่าเหตุการณ์นี้จบลงด้วยความน่าเศร้า เพราะขบวนการเรียกร้องนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจนมีคนเสียชีวิตไปจำนวนมากกลับได้นายกฯ ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแม้แต่นิดเดียว นั่นคือคุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของคนกลุ่มไหนนอกจากคนชั้นสูงและผู้ดีเพียงหยิบมือเดียว. ในแง่นี้แล้ว การเป็นนายกรัฐมนตรีของคุณอานันท์จึงสำคัญในแง่ที่แสดงให้เห็นความอ่อนแอทางอุดมการณ์ของประชาธิปไตยรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร

ควรระบุด้วยว่าการทำให้พฤษภาสูญเสียมิติทางอุดมการณ์นั้น ไม่ได้มีแค่เรื่องตลกทางการเมืองแบบนี้ แต่ยังกินความไปถึงกระบวนการทางการเมืองและสังคมทั้งหมดที่มุ่งสลายความสำคัญของเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม เริ่มต้นตั้งแต่การสร้างความหมายทางอุดมการณ์ว่า พฤษภาคมเป็นสัญลักษณ์ของการแก้ปัญหาอย่างรู้รักสามัคคีระหว่างคนในชาติ การคัดค้านไม่ให้ดำเนินความผิดทางกฎหมายกับนายกรัฐมนตรีและนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชน การกำหนดให้รายงานการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมเรื่องพฤษภาคม 2535 เป็นรายงานลับที่ไม่เปิดเผยจนถึงบัดนี้ และเหนืออื่นใดก็คือการปฏิเสธกระแสปฏิรูปกองทัพไปสู่ทิศทางที่ให้พลเรือนและสภาผู้แทนราษฎรควบคุมตรวจสอบกองทัพได้มากขึ้นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชน

เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ควรระบุด้วยว่าการไม่เปิดเผยรายงานสอบสวนของกระทรวงกลาโหมนี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่ "เชื่อมั่นในประชาธิปไตยรัฐสภา" และมีอำนาจหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาฯ

หนึ่งปีหลังจากคนเดือนตุลาจัดงานรำลึกหกตุลาอย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 6 ตุลาคม 2539 ก็เกิดการปฏิรูปการเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งวางอยู่บนการเหยียดหยามนักการเมือง สภาผู้แทนราษฎร และประชาธิปไตยรัฐสภาอย่างมากที่สุดเท่าที่ระบบการเมืองในเวลานั้นจะอนุญาตให้ทำได้ เกิดการโจมตีนักการเมืองว่าเป็นแค่นักเลือกตั้ง เกิดการโจมตีสภาผู้แทนราษฎรว่าเป็นที่รวมของโจรใส่สูท เกิดการสร้างทฤษฎีการเมืองประหลาดๆ ว่าประชาธิปไตยรัฐสภาทำให้อำนาจการเมืองวนเวียนอยู่กับคนไม่เกินสองพันคน เกิดกระแสการเมืองแบบขวาว่าผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่ "ตัวแทนที่แท้จริง" ของประชาชน ฯลฯ ซึ่งเมื่อมาถึงปี 2548-2549 ความคิดทั้งหมดนี้ก็ผสมผสานกันเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ปูพื้นฐานให้กับการทำลายประชาธิปไตยรัฐสภา ล้มล้างระบอบรัฐที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นศูนย์กลางอำนาจ รวมทั้งสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหารเดือนกันยายน

เราอาจสร้างสมการการเมืองง่ายๆ ก็ได้ว่า ถ้าประชาธิปไตยรัฐสภาและอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยมีความสำคัญ ก็ย่อมยากที่จะเกิดรัฐประหารและการแทรกแซงการเมืองของพวกอภิสิทธิ์ชน และถ้าเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของเดือนพฤษภาได้รับการพิทักษ์รักษาไว้ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดเหตุอัปยศทางการเมืองอย่างรัฐประหาร 19 กันยายน. สมการนี้กลับตาลปัตรได้อีกอย่างว่าการเพิกเฉย ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ส่งผลโดยตรงต่อมาตรา 7 วาทกรรมพระราชอำนาจ รัฐประหาร 19 กันยายน และรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

อันที่จริง มีปัจจัยสองข้อที่ทำให้เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมเป็นประวัติศาสตร์ที่สังคมไทยเคยจำ แต่จำไม่ได้

ข้อแรก คือชนชั้นของคนตายในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม
พูดให้หยาบและท้าทายที่สุด คนตายในพฤษภาคือพวกไพร่ คือคนจนเมือง คือคนชั้นล่างที่รักประชาธิปไตย คือคนระดับกลางและล่างที่มีการศึกษาไม่มากนัก คนสลัมคลองเตย คือคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คือคนอย่างลุงนวมทอง (ไพรวัลย์) ที่ตายไปเมื่อคัดค้านรัฐประหารคราวที่แล้ว หรือกระทั่งอาจเป็นเด็กข้างถนนที่ตายอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่ คือคนที่มาร์กซ์เรียกว่ากรรมาชีพจรจัด หรือนักทฤษฎีบางคนอาจเรียกว่า Multitude ขณะที่คนตายในหกตุลาคือนักศึกษา คือลูกหลานคนชั้นกลาง คือคนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอจะส่งลูกเรียนในมหาวิทยาลัยระดับนำของประเทศ คือคนที่ในเวลาสิบห้าปียี่สิบปีผ่านไป ก็สามารถเลื่อนฐานะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ผู้นำความคิด ผู้นำการเมือง หรือผู้นำสังคม

ขณะที่หกตุลามีเจ้าภาพที่มีอิทธิพลมากมายใน พ.ศ.นี้ แต่คนตายในเดือนพฤษภาคือคนสังกัดวรรณะที่ไม่อยู่ในวิสัยที่จะแสวงหา "ที่ทางในประวัติศาสตร์" ให้กับตัวเองได้แม้แต่นิดเดียว เพราะเป็นความตายของคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม มีฐานะต่ำต้อยเกินกว่าที่คนรุ่นเดียวกันหรือคนรุ่นหลังจะ engage ได้อย่างจริงจัง. ขณะที่มีคนเดือนตุลาเต็มไปหมดในสภา ในมหาวิทยาลัย ในองค์กรพัฒนาเอกชน ในกลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่และรายย่อย ในวงการสื่อสารมวลชน ในวงการนักเขียน ฯลฯ มีใครสักกี่คนที่จะอยากบอกว่าผมเป็นเพื่อนกับคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือคนสลัมคลองเตยที่ถูกยิงตายในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม?

ชนชั้นของคนตายเกี่ยวข้องโดยตรงกับที่ทางของความทรงจำรวมหมู่ ที่สังคมมีต่อความตายในเหตุการณ์ทางการเมือง

ข้อสอง การอธิบายเหตุการณ์เดือนพฤษภาแต่ในแง่ยุทธวิธีภายใต้ประเด็นหลักเรื่องความสามัคคี
คนที่ความจำดีคงจำได้ว่า หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาผ่านไปได้ไม่นาน ความต้องการปฏิรูปประชาธิปไตยในสังคมไทยก็สูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีการพูดถึงการปฏิรูปสื่อ การปฏิรูปกองทัพให้มีขนาดเล็ก การกระจายอำนาจ การเลือกตั้งผู้ว่าโดยตรง ฯลฯ ถึงขั้นที่หนึ่งในความขัดแย้งหลักที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ช่วงหลัง พ.ค.2535 ถูกโจมตีจากพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมในเวลานั้นคือ การไม่ยอมจัดการเลือกตั้งผู้ว่าโดยตรงอย่างที่เคยหาเสียงเอาไว้

มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การปฏิรูปสังคมและการเมืองเชิงยุทธศาสตร์ ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคมล้มเหลวไป เหตุผลที่สำคัญที่สุดได้แก่ชัยชนะของชนชั้นนำทั้งหมดในการเจรจาต่อรอง และสร้างข้อตกลงร่วมกันในอันที่จะไม่ปฏิรูประบบเอาไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำงานภายใต้วาทกรรมการเมืองที่สั้นๆ ง่ายๆ แต่มีพลัง นั่นก็คือวาทกรรมเรื่องความรักสามัคคี

มีใครจำได้บ้างว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมจบลงแบบที่เป็นอยู่ ด้วยปัจจัยที่สำคัญมากข้อหนึ่ง คือการชุมนุมอย่างไม่ท้อถอยของนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่รุนแรงถึงขั้นเตรียมใช้รถน้ำมันขวางรถถังที่กำลังจะเคลื่อนกำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม

ตัวอย่างที่อธิบายชัยชนะของชนชั้นนำได้ดีคือปรากฎการณ์ที่โคทม อารียา, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล , กรุณา บัวคำศรี รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการหลายคน แห่เข้าไปเป็นคณะทำงานขององค์กรกลางเพื่อควบคุมการเลือกตั้งหลังปี 2535 ถึงขั้นที่อาจพูดเปรียบเปรยเล่นๆ ได้ว่าคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) แปรสภาพไปเป็นกองเลขาขององค์กรกลางในทันทีที่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมจบสิ้นลง

ขณะที่มีคนเพียงหยิบมือเดียวที่ให้ความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวกับประชาชนเพื่อปฏิรูปประชาธิปไตย ปฏิรูปกองทัพ เลือกตั้งผู้ว่า ผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจ การติดตามกรณี "คนหาย" ในเหตุการณ์นั้น รวมทั้งการดำเนินความผิดกับ พล.อ.สุจินดา, พล.อ.อิสรพงศ์, พล.อ.เกษตร, พล.อ.อนันต์ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งกับการใช้ทหารติดอาวุธปราบปรามประชาชน

เมื่อมองย้อนหลังกลับไป การมีส่วนร่วมของ "ผู้นำนักศึกษา" และ "ภาคประชาชน" ที่หมกมุ่นแต่ปัญหาการเลือกตั้ง การไม่ซื้อเสียง ฯลฯ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นจุดกำเนิดของการโจรกรรมพลังปฏิรูปการเมืองหลังเดือนพฤษภาคมให้อยู่ภายใต้วาระทางการเมืองของชนชั้นนำเก่า นั่นก็คือการทำให้ปัญหาการเลือกตั้งไม่โปร่งใสเท่ากับปัญหาทั้งหมดของประชาธิปไตยไทย หรือพูดให้ยุ่งยากขึ้นคือการย่อยสลายและดูดกลืน "ภาคประชาชน" ให้ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบอบรัฐไทย

ในแง่นี้แล้ว "เจตนารมณ์ของวีรชนเดือนพฤษภา" หายวับไปแทบจะในทันทีที่กองเลือดหายไปจากถนนราชดำเนิน จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมผ่านมาได้สิบห้าปี นักวิชาการที่มีอดีตเป็น "ผู้นำนักศึกษา" พูดได้อย่างหน้าตาเฉยว่าคณะรัฐประหาร 2549 เป็นคณะรัฐประหารที่ดีกว่า รสช., คนไม่น้อยเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกวีรชนเดือนพฤษภา พร้อมกับรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช.ที่ทำลายเจตนารมณ์ของการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคมแทบทั้งหมดได้, พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ให้สัมภาษณ์อย่างภาคภูมิใจว่าเป็นคนวางแผนให้เกิดการจลาจลในช่วงเดือนพฤษภา, ครึ่งหนึ่งของกรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตยในปี 2535 กลายเป็นผู้สนับสนุนรัฐประหาร 2549 ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ฯลฯ

การปราศจากมิติทางอุดมการณ์ส่งผลโดยตรงให้ความตายเดือนพฤษภาคมเป็นความตายทางการเมือง แม้กระทั่งการเรียกร้องในเรื่องง่ายๆ อย่างการสร้างอนุสรณ์รำลึกวีรชนเดือนพฤษภา ก็เป็นเรื่องที่คนที่ได้ดิบได้ดีจากเหตุการณ์พฤษภาทั้งหมดลืมไปเฉยๆ ป่วยการที่จะพูดถึงการรำลึกเจตนารมณ์ของคนตาย หรือการสืบทอดอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นนามธรรมสูงยิ่งขึ้นไป

คนตายเดือนพฤษภาคือคนตายที่ตายไปแล้วอย่างไม่มีทางฟื้นหรือมีคุณค่าขึ้นมาได้ เพราะไม่มีใครรู้สึกกับความตายในเดือนพฤษภาคม

ปาฐกถานี้เริ่มต้นด้วยการเสนอว่าหกตุลาคือประวัติศาสตร์บาดแผลที่ตายไปแล้วแต่มีโอกาสฟื้นได้ แต่พฤษภาคือประวัติศาสตร์บาดแผลที่ตายไปแล้วอย่างไม่มีเงื่อนไขที่จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก แต่ปาฐกถานี้มีข้อสรุปที่แย่กว่านั้น นั่นคือหากวีรชนเดือนพฤษภาฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ พวกเขาคงงุนงงกับกระแสความเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายอย่างที่อ้างว่าเป็นเรื่องของ "การปฏิรูปการเมือง" ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการมีวุฒิสภาที่สมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งทหารและข้าราชการแก่ๆ ที่ไม่มีใครในประเทศรู้จัก แต่กลับมีอำนาจเทียบเท่าผู้แทนจากการเลือกตั้งของปวงชน การปฏิรูปสื่อจากการครอบงำของรัฐและการควบคุมของกองทัพกลาย เป็นการทำให้รัฐเป็นเจ้าของทีวีสาธารณะเพิ่มขึ้นอีกช่อง การสร้างรัฐธรรมนูญให้ศาลและสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและควบคุมตรวจสอบของประชาชนมีอำนาจเหนือสถาบันที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา

เหนืออื่นใดคือการสนับสนุนรัฐประหารและทำลายประชาธิปไตยรัฐสภา โดยคนหลายคนที่อ้างว่าเป็นผู้นำ เป็นนักต่อสู้ หรือเป็นผลผลิตของเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

[1] Slavoj ZIzek, For They Know Not What They Do : Enjoyment as a Political Factor (London : Verson, 1991), 272-3.

[2] ธงชัย วินิจจะกูล, "ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา", เอกสารในการสัมมนาโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง 'สันติวิธี ความรุนแรง และสังคมไทย' วันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2550 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[3] ดูการอภิปรายประเด็นนี้เพิ่มเติมใน Agamben, Giorgio (2002) Remnants of Auschwitz. The witness and the archive. Translated by Daniel Heller-Roazen. New York: Zone Books, 105.

คลิกกลับไปทบทวนบทความลำดับที่ ๑๔๘๙

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
24 Febuary 2008
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
ความรู้สึกของสังคม หกตุลาเป็นเรื่องน่าอายจนต้องรู้สึกผิด (guilt) แตกต่างจากความรู้สึกว่า หกตุลาเป็นเรื่องอัปยศ (shame) เส้นแบ่งของความรู้สึกผิดกับความอัปยศคือ ความรู้สึกผิดเป็นเรื่องที่เราอาจแก้ตัวด้วยข้ออ้างแบบใดแบบหนึ่งได้ แต่ความอัปยศคือความผิดบาปในสิ่งที่ไม่มีวันผลักไสออกไป แม้กระทั่งในมโนธรรมสำนึก [3] ความอัปยศจึงเป็นเรื่องที่ให้อภัยหรือไถ่ถอนไม่ได้ มีแต่กดให้เงียบหายไปตามกาลเวลา ความละอายที่สังคมไทยมีต่อหกตุลาเป็นความละอายที่แสดงออกมาในรูปการโจมตีคุณสมัคร ฆ่าตัดตอนความผิดไปที่นักการเมืองดาษๆ เพียงคนเดียว
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
home