โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๕๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑ (January, 14, 01, 2008) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

14-01-2551

Political Return: Thailand
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

(๑) เศรษฐกิจมิติเดียว ทางออกจากกับดักแห่งความรุนแรง
ปาฐกถารำลึก: เรากำลังกลับไปเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรง
พระไพศาล วิสาโล : บรรยาย
ปัจจุบัน จำพรรษาที่วัดป่ามหาวัน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

คำบรรยายต่อไปนี้ เป็นส่วนหนึ่งของปาฐกถานำ ๑๔ ตุลา ประจำปี ๒๕๔๗
จัดโดยมูลนิธิ ๑๔ ตุลา เรื่อง : เปิดหน้าต่าง สร้างสะพาน สมานใจ
ทางออกจากกับดักแห่งความรุนแรงในยุคทักษิณ

กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนเห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน เรากำลังจะได้รัฐบาลใหม่
โดยการนำของพรรคพลังประชาชน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการหวนกลับมาของ
บรรดาสมาชิกพรรคไทยรักไทยเดิมจำนวนมาก และอาจมีนโยบายบริหารประเทศ
ในลักษณะอำนาจนิยม จัดการปัญหาต่างๆด้วยวิธีใช้ความรุนแรง เพ่งเล็งพัฒนาการ
ทางเศรษฐกิจมิติเดียว และมีนโยบายประชานิยม อย่างเดียวกัน
โดยเหตุนี้ ปาฐกถาเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ซึ่งแสดงโดยท่านพระไพศาล วิสาโล
จะเตือนสังคมไทยได้เป็นอย่างดีถึงข้อควรระวัง และความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น
ตลอดรวมถึงนโยบายการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่คับแคบแบบเดิมๆ ซึ่งอาจจะหวนคืน
ดังนั้น การเฝ้าจับตาต่อกรณีเหตุการณ์และนโยบายต่างๆที่เคยเกิดขึ้นแล้ว จึงเป็นดัชนีและ
ข้อเตือนความจำ เพื่อสังคมไทยจะตั้งอยู่ในความไม่ประมาทกับรัฐบาลใหม่

เนื่องจากปาฐกถาฉบับสมบูรณ ์มีขนาดความยาวเกือบ ๔๐ หน้ากระดาษ A4
ทางกองบรรณาธิการฯ จึงไดแบ่งเนื้อหาของปาฐกถานี้ออกเป็น ๓ ตอน
โดยตั้งชื่อต่างกันแต่เรียงลำดับหัวข้อนำเสนอต่อเนื่องกัน เพื่อสะดวกต่อการค้นหา
และสะดวกต่อการจัดการเชิงเทคนิค
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๕๘
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

(๑) เศรษฐกิจมิติเดียว ทางออกจากกับดักแห่งความรุนแรง
ปาฐกถารำลึก: เรากำลังกลับไปเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรง
พระไพศาล วิสาโล : บรรยาย
ปัจจุบัน จำพรรษาที่วัดป่ามหาวัน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ


เปิดหน้าต่าง สร้างสะพาน สมานใจ
ทางออกจากกับดักแห่งความรุนแรงในยุคทักษิณ
พระไพศาล วิสาโล
การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนอันนำไปสู่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้นได้ในชั่วชีวิตของคน ๆ หนึ่ง อันที่จริงจะถูกต้องกว่าหากพูดว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้นได้ในประวัติศาสตร์ของชาติ ๆ หนึ่ง ความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่วิญญูชนยากจะปฏิเสธได้ เสน่ห์ จามริก ได้เรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "การปฏิวัติทางวัฒนธรรม" เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้มุ่งต่อต้านระบอบเผด็จการเท่านั้น หากโดยพื้นฐานแล้วยังเป็น "การประท้วงโจมตีต่อหลักการทางสังคมแบบเก่า ซึ่งไม่สามารถกำหนดความสัมพันธ์ของบุคคลและกลุ่มชนต่าง ๆ ให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ" กล่าวอีกนัยหนึ่ง "การปฏิวัติตุลาคม ๑๖" ได้ "เรียกร้องต้องการหลักการทางสังคมใหม่ เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติและเพื่อร่วมกันเผชิญปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมสมัยใหม่" (1)

หลักการทางสังคมอย่างใหม่ที่อาจารย์เสน่ห์กล่าวถึง ก็คือ"หลักการสิทธิเสรีภาพ" ซึ่ง"ปฏิเสธความสัมพันธ์แบบเจ้าคนนายคน"นั่นเอง แม้ว่าหลักการดังกล่าวจะถูกตีโต้ขัดขวางมาโดยตลอด ทำให้ประเทศก้าวถอยหลังครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมักตามมาพร้อมกับความรุนแรง อาทิ รัฐประหารปี ๒๕๑๙ และที่ทยอยมาอีกหลายครั้ง แต่คบไฟแห่งสิทธิเสรีภาพที่การปฏิวัติตุลาคม ๑๖ ได้จุดไว้ก็ไม่เคยมอดดับไปจากจิตใจของคนไทย การเคลื่อนไหวของประชาชนในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ อันนำจุดจบมาสู่ระบอบเผด็จการ รสช. และตามมาด้วยการรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี ๒๕๔๐ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามรดกของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลายังทรงพลัง และผลพวงของการปฏิวัติเมื่อ ๓๑ ปีก่อน (ปาฐกถานี้แสดงในปี ๒๕๔๗) ยังงอกงามอยู่ในใจของผู้คน แม้ว่าจะยังไม่มีที่ทางอยู่ในตำราเรียนหรือประวัติศาสตร์ของราชการอย่างสมเกียรติก็ตาม

ควบคู่กับ"หลักการสิทธิเสรีภาพ" ก็คือ"ความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติ" เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ซึ่งจบลงด้วยความสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของผู้คนเป็นจำนวนมาก ได้เน้นย้ำให้เราตระหนักถึงคุณค่าแห่งความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ขณะเดียวกันก็ฝากภาระให้ผู้ที่ยังอยู่ได้ร่วมกันหาหนทางป้องกันมิให้เลือดไหลนองแผ่นดินอีก แม้ว่าการประหัตประหารกลางเมืองจะเกิดขึ้นอีก ๒ ครั้งจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาและพฤษภามหาโหด(๒๕๓๕) โดยทิ้งช่วงห่างกันไม่ถึง ๒๐ ปี ราวกับว่าบทเรียนจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ไม่มีความหมายเลย แต่ในอีกด้านหนึ่งความสูญเสียทั้ง ๒ ครั้งดังกล่าวได้ตอกย้ำความใฝ่ฝันและบทเรียนจาก ๑๔ ตุลา ว่าการแสวงหาหนทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นภารกิจสำคัญของของคนไทยทั้งชาติ การแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีคือความจำเป็นของคนไทยทั้งมวล

อยู่ร่วมกันอย่างสันติ : หนทางที่มีอุปสรรค
เมื่อเทียบกับ ๓๑ ปีที่แล้ว ต้องนับว่าประเทศไทยได้ก้าวหน้าไปพอสมควร "หลักการสิทธิเสรีภาพ"ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(หมายถึงฉบับปี ๒๕๔๐) และได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ การปกครองแบบประชาธิปไตยโดยการนำของรัฐบาลพลเรือนมีความต่อเนื่องและยาวนานมากว่าทศวรรษ ขณะเดียวกันประชาชนก็มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น และมีส่วนร่วมในกิจการของท้องถิ่นไปจนถึงกิจการของชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในด้านของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีแล้ว ประเทศไทยยังก้าวไปได้ไม่ไกลเท่าไรนัก ในบางแง่กลับถอยหลังกว่าเดิมเสียอีก

จริงอยู่ความสามารถในการยุติความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ระหว่างคอมมิวนิสต์กับเสรีนิยม โดยหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบได้ นับเป็นความสำเร็จของสังคมไทยที่น่าสรรเสริญ แต่เมื่อต้องมาเผชิญกับความขัดแย้งอย่างใหม่ ท่ามกลางการไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัตน์ และการเติบใหญ่ของอำนาจทุนซึ่งแผ่ซ่านไปทั่วทุกท้องถิ่น ปรากฏว่าสังคมไทยกลับมีข้อจำกัดอย่างชัดเจนในการแก้ไขให้ลุล่วงโดยสันติ

เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ ปีแล้วที่สังคมไทยได้พบเห็นชาวบ้านในแทบทุกจังหวัดของประเทศลุกขึ้นมาประท้วงคัดค้านโครงการต่าง ๆ ของรัฐและภาคเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา เขาเหล่านั้นต้องการปกป้องทรัพยากรและวิถีชีวิตของตนเอาไว ้ท่ามกลางการครอบงำจากภายนอก และจำนวนไม่น้อยก็ต้องการการเหลียวแลจากรัฐตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ จำเพาะการเดินขบวนในช่วงเวลา ๓ ปี คือระหว่างเดือนตุลาคมปี ๒๕๓๖ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๓๘ เท่าที่บันทึกได้ ปรากฏว่ามีมากถึง ๑,๔๙๓ ครั้ง เฉพาะปี ๒๕๓๘ ปีเดียว มีการชุมนุมประท้วงถึง ๗๕๔ ครั้ง โดยกว่าร้อยละ ๔๐ ของตัวเลขทั้ง ๒ ชุด เป็นการประท้วงที่เกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรสาธารณะ อาทิ ดิน น้ำ และป่า (2) ความถี่ของการชุมนุมประท้วงมิใช่เป็นเรื่องเลวร้ายในตัวมันเองหากได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงโดยสันติ แต่ปรากฏว่าบ่อยครั้งมีความรุนแรงเกิดขึ้น และที่น่าวิตกก็คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝ่ายรัฐจนถึงกับมีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงผู้นำชาวบ้านที่ถูกลอบฆ่าหรือถูกทำร้าย โดยมักจับผู้บงการไม่ได้

รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ไม่มีชุดใดเลยที่ไม่เคยใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงที่ชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ และไม่มีชุดใดอีกเช่นกันที่แสดงความตั้งใจอย่างจริงจังที่จะหยุดยั้งสะกัดกั้นการคร่าชีวิตของผู้นำชาวบ้านซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว สัญญาณในทางบวกหากจะมีก็มาจากหน่วยงานบางแห่งของรัฐ ซึ่งพยายามหาหนทางแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าวโดยสันติวิธี อาทิ

- สภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งได้จัดตั้งสถาบันยุทธศาสตร์สันติวิธีขึ้น เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ความมั่นคงจากการใช้กำลังเพื่อรักษาอาณาเขต มาเป็นการใช้สันติวิธีเพื่อปกป้องวิถีชีวิตของประชาชน พร้อม ๆ กับการฟื้นฟูความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนให้เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่ อีก ๒ หน่วยงานที่น่ากล่าวถึงคือ

- กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งไปไกลถึงขั้นจัดการอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับตั้งแต่ระดับผู้กำกับลงมาจนถึงครูฝึก เพื่อให้มีทักษะการจัดการฝูงชนด้วยสันติวิธี บนพื้นฐานของทัศนคติที่ว่า ผู้ชุมนุมประท้วงคือเพื่อนทุกข์ มิใช่ศัตรูของบ้านเมือง

- ทางด้านกระทรวง มหาดไทยก็มีการอบรมระดับรองผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้มีทักษะในการดำเนินการกับผู้ชุมนุมโดยหลีกเลี่ยงความรุนแรงเช่นกัน

แม้ว่าความพยายามของหน่วยงานดังกล่าว จะไม่ได้รับความสำคัญจากผู้นำรัฐบาลที่ผ่านมาเท่าที่ควร แต่การขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี ๒๕๔๔ ได้จุดประกายความหวังว่า การแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทยโดยสันติวิธีจะมีอนาคตที่สดใสขึ้น อย่างน้อยที่สุด การที่นายกรัฐมนตรีได้ออกไปร่วมรับประทานอาหารกับชาวบ้านสมัชชาคนจน ที่ปักหลักประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลนานนับเดือนในวันแรกที่ท่านรับตำแหน่ง ก็เป็นเครื่องแสดงว่าผู้นำรัฐบาลมีความเห็นอกเห็นใจผู้ชุมนุม นับเป็นนิมิตดีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากนายกรัฐมนตรีคนใด และนั่นย่อมเป็นสัญญาณว่าความทุกข์ยากของประชาชน จะได้รับการเหลียวแลและแก้ไขอย่างแท้จริงโดยรัฐบาลชุดนี้

สี่ปี่แห่งความรุนแรง
แต่ในชั่วเวลาไม่นาน สัญญาณดังกล่าวก็ค่อย ๆ หรี่ลงเป็นลำดับ จนกระทั่งเมื่อมีการใช้ความรุนแรงอย่างอุกอาจโจ่งแจ้ง กับ

- ผู้ที่ชุมนุมโดยสงบเพื่อคัดค้านโครงการท่อก๊าซมาเลเซียที่หาดใหญ่ปลายปี ๒๕๔๕ ความหวังว่า รัฐบาลทักษิณจะสร้างมิติใหม่ให้แก่สังคมไทยในการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีก็เป็นอันมอดลง

- การรื้อถอนขับไล่ชาวบ้านสมัชชาคนจนจากหน้าทำเนียบรัฐบาลไม่กี่เดือนหลังจากนั้น รวมถึง

- การเปิดไฟเขียวให้มีการเผาทำลายหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนที่บริเวณเขื่อนปากมูล ไม่ได้หมายความว่าสายสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ชุมนุมและรัฐบาลได้ขาดสะบั้นลงเท่านั้น หากยังหมายความว่าสังคมไทยได้ถอยกลับไปสู่การใช้อำนาจเพื่อสร้างความสงบราบคาบ ซึ่งประวัติศาสตร์ได้ชี้ว่าไม่มีวันยั่งยืนได้เลย

พร้อม ๆ กับการตราหน้าคาดโทษผู้ประท้วงว่าก่อความไม่สงบบ้าง ไม่รักชาติบ้าง ผู้นำชาวบ้านที่พยายามปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น ตลอดจนผู้ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนเล็กคนน้อยหรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็ถูกสังหารทีละคนสองคน เพียงปีแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณขึ้นมาบริหารประเทศ มีแกนนำชาวบ้านที่ปกป้องท้องถิ่นถูกฆ่าตาย ๖ คน และหลังจากนั้นก็ทยอยเพิ่มเป็นลำดับ จนบัดนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่น้อยกว่า ๑๗ คน (3) โดยหลังจากการสังหารเจริญ วัดอักษรแล้ว ก็ยังมีการฆ่าผู้นำคนอื่น ๆ ตามมาอีก เป็นแต่ไม่เป็นข่าวโด่งดังเท่านั้น น่าสังเกตว่าในจำนวน ๑๗ กรณีนั้น เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรสาธารณะถึง ๑๔ กรณี ส่วนใหญ่แล้วไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ และแม้จับผู้ต้องสงสัยได้ แต่แทบทั้งหมดไม่สามารถสาวไปถึงผู้บงการเบื้องหลังได้เลย

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่กล่าวมานี้ดูเล็กน้อยไปถนัดใจเมื่อเทียบกับการฆ่าตัดตอนในการทำสงครามกับผู้ค้ายาเสพติด ภายในชั่วเวลาเพียง ๒ เดือนคือ กุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ๒๕๔๖ มีผู้เสียชีวิตกว่า ๒,๕๐๐ คน (มากเป็น ๒ เท่าครึ่งของทหารอเมริกันที่ตายในอิรักตลอด ๑๘ เดือนที่ผ่านมา) จำนวนคนที่ตายอย่างมากมายนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มิได้เป็นผลจากการให้สัญญาณไฟเขียวจากรัฐบาลโดยเฉพาะจากปากของนายกรัฐมนตรี อาทิคำพูดว่า "ยิงตายแล้วเราต้องยึดทรัพย์ด้วย...การปราบยาเสพติดเราต้องเหี้ยมพอ" หรือ "ถ้าไม่เลิก (ค้ายาเสพติด) ก็มีโอกาสถูกจัดการทุกรูปแบบ หมดทั้งตัวหมดทั้งชีวิต" (4)

คำประกาศดังกล่าวไม่เพียงเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำตัวเป็นศาลเตี้ยจัดการกับผู้ที่ต้องสงสัยค้ายาเสพติดเท่านั้น หากยังเปิดช่องให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ไม่ประสงค์ดีฉวยโอกาสใช้อำนาจเถื่อนกำจัดศัตรูหรือผู้ที่ขัดขวางผลประโยชน์ของตนอย่างสะดวกดาย (ซึ่งอาจเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์) โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตรวจสอบหรือลงโทษ เนื่องจากทำรูปการณ์ให้ชวนเข้าใจว่าเป็นการฆ่าตัดตอนโดยผู้ค้ายาด้วยกันไปเสีย แม้ว่าเกือบหนึ่งปีถัดมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตในสงครามต่อต้านยาเสพติดของทางราชการจะลดลงเหลือแค่พันกว่าคน แต่นั่นก็เพราะใช้วิธีการเดียวกับการซุกหุ้น กล่าวคือเอาตัวเลขที่เหลือไปซุกไว้กับหมวดหมู่อื่นที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติด

นโยบายและทัศนคติที่เน้นการใช้กำลังเพื่อสร้างความสงบราบคาบ โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมหรือระบบนิติรัฐของประเทศ ดังตัวอย่างที่กล่าวมา ได้บ่มเพาะปัญหาในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ไม่มีที่ใดจะประทุออกมาอย่างชัดเจนเท่ากับในสามจังหวัดภาคใต้ ความไม่พอใจที่สะสมมานาน ได้ระเบิดออกมาเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง นับแต่ต้นปีนี้จนมาถึงเหตุการณ์วันที่ ๒๘ เมษายน (เหตุการณ์ที่กรือเซะ) การตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ในหลายจุดได้จบลงด้วยการสูญเสียชีวิตของผู้ก่อความไม่สงบจำนวน ๑๐๘ คนและเจ้าหน้าที่รัฐนับสิบ ๑๐ คน แต่ก็เกิดคำถามขึ้นว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีผู้เสียชีวิตมากถึงขนาดนั้น โดยเฉพาะที่มัสยิดกรือเซะ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากการล้อมปราบของเจ้าหน้าที่รัฐถึง ๓๒ คน คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมีข้อสรุปว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ดังกล่าว "น่าจะถือได้ว่าเกินสมควรแก่เหตุ"

จะเห็นได้ว่า ๔ ปีมานี้สังคมไทยได้ถลำเข้าสู่ความรุนแรงลึกขึ้นทุกที โดยที่รัฐเองก็มีส่วนอย่างมากในการก่อให้เกิดสภาพการณ์ดังกล่าว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐตามที่กล่าวมา เมื่อมองเชื่อมโยงกับพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ตลอด ๔ ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ความรุนแรงเหล่านี้มิใช่ผลพวงจากนโยบายการรักษาความสงบของรัฐบาลอย่างโดด ๆ เท่านั้น หากเป็นผลสะท้อนจากธรรมชาติพื้นฐานของรัฐไทยในยุคพ.ต.ท.ทักษิณ นั่นคือ"รัฐแบบอำนาจนิยม" ซึ่งรวมศูนย์อำนาจทั้งหลายมาไว้ที่ผู้นำเพื่อมีอำนาจเด็ดขาดในการแก้ปัญหา อำนาจดังกล่าวมิได้เกิดจากการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภามากกว่า ๓ ใน ๕ เท่านั้น หากยังเกิดจากความสามารถในการคุมวุฒิสภาและแทรกแซงขัดขวางองค์กรมหาชนอิสระต่าง ๆ จนไม่อาจทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยิ่งกว่านั้น ยังสามารถทำให้กฎหมายและรัฐธรรมนูญบางมาตราที่จำกัดอำนาจรัฐกลายเป็นหมัน หรือไม่สามารถบังคับใช้ได้ ในขณะที่ร่างกฎหมายที่มุ่งกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นหรือส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนหลายฉบับก็ถูกแช่แข็งหรือเตะถ่วง ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงอิทธิพลที่สยายแผ่ไปครอบคลุมกลไกต่าง ๆ ของรัฐอย่างครบถ้วน รวมทั้งทหาร ตำรวจ ตลอดจนวงการสื่อมวลชน ผลก็คือ รัฐสามารถผลักดันโครงการหรือนโยบายต่าง ๆ อย่างสะดวก โดยไม่สนใจรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย อาทิ การผลักดันโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้าที่ดอยเชียงดาว ทั้ง ๆ ที่เป็นเขตสงวนรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือการผลักดันโครงการสร้างถนนตัดอ่าวไทย และโครงการเมืองใหม่นครนายก โดยไม่มีการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น

จากสมบูรณาญาสิทธิ์สู่ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
รัฐที่มีลักษณะอำนาจนิยมซึ่งรวบอำนาจเด็ดขาดไว้ในมือผู้นำ หรือที่บางท่านเรียกว่า "ลักษณะสมบูรณาญาสิทธิ์" นั้น ก่อให้เกิดข้อวิตกอย่างน้อย ๒ ประการสำหรับผู้ใฝ่สันติธรรม กล่าวคือ

๑. รัฐเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชนเมื่อกระทำสิ่งซึ่งรัฐเห็นว่า "ก่อความไม่สงบ" อาทิ การประท้วงต่อต้านนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งมีแนวโน้มที่รัฐจะใช้กำลังในการยุติปัญหาทั้ง ๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ หรือทั้ง ๆ ที่ขัดต่อหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน

๒. การรวมศูนย์อำนาจและการปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งในกระบวนการตัดสินใจของรัฐเอง และในการจัดการทรัพยากรสาธารณะ ย่อมหมายความว่าโอกาสที่ประชาชนจะปกป้องผลประโยชน์ของตน หรือต่อรองบนพื้นฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริงก็ย่อมหมดไป ผลก็คือ ประชาชนมักเป็นฝ่ายถูกกระทำจากมาตรการและนโยบายของรัฐ จนอาจถึงขั้นสูญเสียวิถีชีวิตหรือปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต

ทั้ง ๒ ประการที่กล่าวมาล้วนเป็นความรุนแรงทั้งสิ้น ความรุนแรงประการแรกนั้นเป็น
สิ่งที่เห็นได้ชัด และเราได้เห็นมาแล้วตลอด ๔ ปีที่ผ่าน ส่วนความรุนแรงประการที่สองนั้น แม้จะไม่ใช่ความรุนแรงทางกายภาพที่ทำให้เลือดตกยางออก แต่ก็บั่นทอนชีวิตและความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง จัดว่าเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงประการหลังแม้จะไม่ทำให้เลือดตกยางออกโดยตรง แต่มักจะบีบคั้นให้ผู้ถูกกระทำต้องลุกขึ้นมาประท้วง ต่อต้าน ซึ่งมักจะลงเอยด้วยการถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากรัฐ หาไม่ก็ลุกลามจนกลายเป็นการลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธ ดังการต่อสู้ของกองกำลังคอมมิวนิสต์ และล่าสุดคือการก่อความไม่สงบในภาคใต้

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่า จะ "คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน" โดยนำเสนอนโยบายต่าง ๆ มากมายที่ถูกใจประชาชน แต่บัดนี้ก็ปรากฏชัดแล้วว่า นโยบายอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ประกาศ แต่รัฐบาลทักษิณถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ได้แก่การรวบอำนาจเด็ดขาดไว้กับผู้บริหาร ซึ่งก็คือการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ขึ้นมานั่นเอง วิธีดังกล่าวแท้จริงมิใช่การคิดใหม่ทำใหม่แต่อย่างใด เพราะรัชกาลที่ ๕ ได้เคยทำมาแล้วเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และต่อมาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ดำเนินรอยตามโดยอาศัย "ระบอบปฏิวัติ" ที่ตนสถาปนาขึ้นมาจากการรัฐประหาร น่าสังเกตว่าทั้ง ๒ กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสโลกที่ร้อนแรงและเป็นอันตรายต่อประเทศไทย ได้แก่การคุกคามของลัทธิอาณานิคม และการเกิดสงครามเย็น (ซึ่งผู้นำไทยมองว่าเกิดจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์นอกประเทศ)

ความสำเร็จของรัชกาลที่ ๕ ในการรักษาบ้านเมืองไม่ให้ตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ อีกทั้งยังนำพาประเทศไทยสู่ความทันสมัยก็ดี, "ความสำเร็จ" ของจอมพลสฤษดิ์ ในการทำบ้านเมืองให้สงบราบคาบ พร้อมกับการวางพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จนเป็นที่กล่าวขานอย่างชื่นชมทุกวันนี้ก็ดี, ทั้ง ๒ กรณี (รวมทั้งความสำเร็จของลีกวนยิว-ในสิงคโปร์, และมหาธีร์-ในมาเลเซีย) น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ พ.ต.ท.ทักษิณมีศรัทธาเลื่อมใสในอำนาจรัฐที่รวมศูนย์ ว่าจะสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้เช่นเดียวกับอดีต เพราะปัจจุบันประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับกระแสโลกที่สามารถเป็นภัยคุกคามได้ เช่นเดียวกับที่เมืองไทยในยุคผู้นำทั้งสองได้เคยประสบมาแล้ว เป็นแต่ว่าคราวนี้กระแสโลกดังกล่าวมีชื่อว่า"โลกาภิวัตน์" ซึ่งมีการต่อสู้ช่วงชิงทางเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก หาใช่การเมืองและการทหารดังในอดีตไม่

พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการอำนาจรัฐแบบเด็ดขาด เพื่อจะได้ใช้ "พระเดช" และ "พระคุณ" ในการบริหารประเทศอย่างเต็มที่ ในด้านหนึ่งรัฐบาลทักษิณใช้อำนาจรัฐที่รวมศูนย์ในการทำสงครามกับผู้ค้ายาเสพติดแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขณะเดียวกันก็ทำสงครามแบบไม่ประกาศกับแกนนำชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชน ที่บังอาจประท้วงคัดค้านนโยบายรัฐ และหากจำเป็นก็ไม่ลังเลใจที่จะใช้อำนาจในมือจัดการกับผู้มีอิทธิพลที่ไม่สยบต่อผู้นำ ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็ใช้อำนาจที่มากล้นเพื่อให้ความอุปถัมภ์แก่ชาวบ้าน ผ่านโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ รวมทั้งนำเงินนอกงบประมาณมาแจกจ่ายชาวบ้าน อย่างสะดวกดาย โดยไม่ต้องห่วงจะมีผู้ขัดขวาง (เช่นนำเงินหวยมาแจกทุนการศึกษาแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย) แน่นอนอานิสงส์จากอำนาจรัฐที่ไร้การทัดทานย่อมตกอยู่แก่ประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มทุน นักการเมือง และข้าราชการอย่างไม่ต้องสงสัย อำนาจที่ไร้ผู้ทัดทานขัดขวางนี้แหละทำให้รัฐบาลทักษิณก้าวมาสู่ฐานะผู้จัดสรรผลประโยชน์ให้แก่บุคคลกลุ่มต่าง ๆ ในชาติ ดังธีรยุทธ บุญมี ได้ตั้งข้อสังเกตรัฐบาลทักษิณว่า " ในปัจจุบันรัฐกลับเป็นผู้ผูกขาดการจัดสรรผลประโยชน์เศรษฐกิจต่าง ๆ ของประเทศเกือบจะโดยผู้เดียว โดยดูเหมือนจะได้รับฉันทานุมัติจากเสียงสังคมด้วย" (5)

มองจากจุดยืนของผู้ปกครอง ประเทศไทยในยามนี้ต้องการผู้บริหารที่มีอำนาจเด็ดขาดเพื่อนำรัฐนาวาฟันฝ่ากระแสโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกราก วิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ ได้ให้บทเรียนแก่คนไทยทั้งชาติว่า กระแสโลกาภิวัตน์นั้นไม่ปรานีใคร มันสามารถซัดกระหน่ำประเทศให้ล่มจมได้ในชั่วพริบตา แม้เศรษฐกิจของชาติจะฟื้นฟูขึ้นมากแล้ว แต่อนาคตก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง โลกาภิวัตน์ได้นำพาประเทศไทยสู่สนามแข่งขันทางเศรษฐกิจที่มีเดิมพันสูงมาก และนับวันจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ในสายตาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ความอยู่รอดของชาติอยู่ที่ผู้นำที่มีอำนาจรัฐเด็ดขาดอยู่ในมือ เพื่อผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ผิดไปจากนี้ ประเทศชาติย่อมเสี่ยงต่อการถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง

ด้วยทัศนคติเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พ.ต.ท.ทักษิณ จะมองการชุมนุมประท้วงรัฐบาลว่าเป็น"ความวุ่นวาย" หรือ "อนาธิปไตย" มองการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าเป็นการไม่รักชาติ และมองการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญว่า เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ ผลก็คือรัฐบาลพร้อมจะละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่เห็นแย้งและขัดขวางรัฐบาล มิพักต้องพูดถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพในร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน

เศรษฐกิจมิติเดียว
"ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมายของผม" พ.ต.ท. ทักษิณเคยประกาศไว้ ในทัศนะของท่านประชาธิปไตยเป็นเพียงแค่ยานพาหนะหรือมรรควิธีเท่านั้น ซึ่งมีนัยยะว่าสามารถเปลี่ยนแปลงหรือละทิ้งได้ คำถามคือ ถ้าเช่นนั้น เป้าหมายของท่านคืออะไร ? ท่านเคยตอบว่า คือความผาสุกของประชาชน แต่เมื่อมองจากผลงานตลอด ๔ ปีที่ผ่านมา เป้าหมายสูงสุดของรัฐบาลนี้น่าจะได้แก่ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งวัดเป็นตัวเลขได้

เป็นการยากที่จะอธิบายได้ว่า การเอาหวยเถื่อนขึ้นมาบนดินหรือการผลักดันให้มีคาสิโนถูกกฎหมายนั้น ช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ผาสุกได้อย่างไร แต่นโยบายดังกล่าวดูมีสมเหตุสมผลขึ้นมาทันที เมื่ออธิบายว่ามันจะทำให้เศรษฐกิจของชาติเติบโตขึ้น นี้คือเหตุผลว่าเหตุใดรัฐบาลจึงละเลยปัญหาวัยรุ่น ความแตกสลายของครอบครัว และไม่สนใจปฏิรูปการศึกษา แต่กลับมีนโยบายใหม่ ๆ ทางด้านเศรษฐกิจออกมาไม่หยุดหย่อน ในขณะที่รัฐบาลประ กาศว่าการพัฒนาเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอลเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ แต่ความถดถอยทางสติปัญญาและจริยธรรมของเยาวชนซึ่งถึงขั้นวิกฤตแล้วกลับถูกเพิกเฉย

ไม่มีอะไรที่สำคัญสำหรับรัฐบาลทักษิณเท่ากับเรื่องเศรษฐกิจ นโยบายสำคัญ ๆ ล้วนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายหลัก วัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาความยากจนในชนบทก็มิใช่อะไรอื่น หากเพื่อส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติ ดังพ.ต.ท.ทักษิณได้เคยกล่าวต่อนักลงทุนในญี่ปุ่นว่า "การปรับปรุงคุณภาพชีวิตในระดับรากหญ้าจะก่อให้เกิดสภาพสังคมที่มั่นคง เป็นดังเบาะกันกระแทก ความราบรื่นทางสังคมจะช่วยปกป้องและส่งเสริมการลงทุนของท่านจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก" (6) และอีกตอนหนึ่งในปาฐกถาที่ฮ่องกงว่า "การขจัดความยากจนเป็นเป้าหมายหลักประการหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจสังคม มันเป็นหลักศิลาฐานรากในการฟื้นฟูบูรณะและสร้างสภาพทางสังคมที่มั่นคง.......สภาพสังคมที่เข้มแข็งมั่นคงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างความมั่นใจของนักลงทุน และเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวยและพึงปรารถนา" (7)

ด้วยเหตุผลที่ต้องการสร้างสภาพสังคมที่สงบราบรื่น อันเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังกล่าวมาแล้วนี้เอง นโยบายปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดจึงเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับมาตรการใช้ความเด็ดขาดกับกลุ่มประชาชนที่ลุกขึ้นมาประท้วงคัดค้านรัฐบาล ผลก็คือรัฐบาลสามารถผลักดันโครงการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก ทั้ง ๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมหาศาล อาทิ การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับนานาประเทศอย่างรวบรัด

การแข่งขันกันอย่างดุเดือดของประเทศต่าง ๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ เรียกร้องความฉับไวของผู้นำประเทศในการตัดสินใจก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าความซับซ้อนหลากหลายขององค์ประกอบต่าง ๆ ในกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้จำเป็นต้องมีความรอบคอบอย่างยิ่งในการตัดสินใจและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ในยุคที่ผู้คนมีความหลากหลายและผลประโยชน์แตกต่างกันแม้ในชุมชนเดียวกัน นโยบายทางเศรษฐกิจหนึ่ง ๆ ย่อมส่งให้คุณและโทษต่อกลุ่มต่าง ๆ แตกต่างกัน แม้รัฐบาลจะประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกภาคส่วนในประเทศจะได้รับประโยชน์ไปเสียทั้งหมด มิพักต้องกล่าวว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นเป็นธรรมหรือไม่

ในยามที่รัฐสถาปนาตนเป็นผู้ผูกขาดการจัดสรรผลประโยชน์แก่กลุ่มคนต่าง ๆ ในชาติ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลทักษิณมิได้มีลักษณะสมบูรณาญาสิทธิ์ในทางการเมืองเท่านั้น หากยังเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนใหญ่ระดับชาติ ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ต้องมองเศรษฐกิจจากภูมิหลัง ประสบการณ์ และจุดยืนของนักธุรกิจ ซึ่งย่อมแตกต่างจากประชาชนส่วนใหญ่ เมื่อผนวกกับอำนาจทางการเมืองที่รวมศูนย์อยู่แล้ว จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลทักษิณจะมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่โอนเอียงไปทางภาคธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด จริงอยู่รัฐมีโครงการเอื้ออาทรแก่ประชาชนระดับล่างมากมาย แต่เงินที่ใช้ในโครงการดังกล่าวมีสัดส่วนแค่ ๑ ใน ๒๐ ของเงินที่ใช้ไปในการเกื้อหนุนภาคธุรกิจระดับบน (อาทิ การให้เงินเกือบ ๘ แสนล้านแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อแก้หนี้เสีย หรือการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ การสร้างเมืองใหม่ ฯลฯ) (8)

แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับการมีนโยบายที่เอื้อประโยชนต่อกลุ่มทุน โดยผลักภาระให้ประชาชนระดับล่าง อาทิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเผื่อผลักดันเข้าตลาดหุ้น โดยมีแนวโน้มว่าค่าบริการจะแพงขึ้น การทำเขตการค้าเสรีกับประเทศร่ำรวย ซึ่งนับวันจะทำให้เกษตรกรรายย่อยล้มละลายเพราะการไหลบ่าท่วมท้นของสินค้าการเกษตรจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่า นอกจากนั้นยังมีนโยบายที่เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนต่าง ๆ เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากประชาชนระดับล่าง ตลอดจนแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่นที่ชาวบ้านต้องพึ่งพิง ได้อย่างเข้มข้นและกว้างขวางขึ้น ดังเห็นได้จากโครงการต่าง ๆ ที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุกคามวิถีชีวิตของชาวบ้าน อาทิ โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย, โครงการเหมืองแร่โปแตช, ตลอดจนโรงโม่หินในหลายจังหวัดซึ่งประชาชนพากันประท้วงจนแกนนำถูกฆ่าตายหลายคน ทุกวันนี้โครงการและกิจการเหล่านี้ยังดำเนินต่อไปได้ตามปกติ

ทั้งหมดนี้กำลังบอกเราว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เอาเปรียบประชาชนระดับล่างอยู่แล้ว นับวันจะก่อความทุกข์ยากแก่เขาเหล่านั้นมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้ทำให้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างขยายตัวและกระชับแน่นอีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วในส่วนที่เป็นผลจากการรวบอำนาจเด็ดขาดทางการเมือง

วิธีการคือตัวปัญหา
การรวบอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิ์โดยรัฐนาวาอยู่ในมือผู้นำแต่ผู้เดียว อาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการนำพาประเทศให้รอดพ้นจากลัทธิล่าเมืองขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่กลายมาเป็นปัญหาเมื่อมาถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งทำให้สังคมไทยมีความร้าวฉานกันมากขึ้น แม้ภายนอกจะดูสงบราบคาบก็ตาม ยิ่งมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ด้วยแล้ว สมบูรณาญาสิทธิ์เช่นนี้กลับกลายเป็นตัวสร้างปัญหายิ่งกว่าจะแก้ปัญหา

สังคมไทยในเวลานี้มีความซับซ้อนกว่าแต่ก่อนมาก ความซับซ้อนดังกล่าวได้นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงการต่าง ๆ ของรัฐแล้ว ยังมีความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ไม่ว่ามีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมเหมือนกันหรือต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ทรัพยากร อาทิ การแย่งใช้น้ำระหว่างชาวเขากับชาวนาบนพื้นราบ ระหว่างชาวนาที่อยู่เหนือเขื่อนกับที่อยู่ใต้เขื่อน หรือความขัดแย้งระหว่างชาวประมงกับชาวไร่ชาวนาหลังจากมีการสร้างเขื่อน

ยังไม่ต้องพูดถึงความขัดแย้งระหว่างคนชนบทกับคนเมืองเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า เขื่อน และการกำจัดขยะ นอกจากนั้นยังมีความขัดแย้งที่ซ้อนทับอีกชั้นหนึ่ง คือความขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งนับวันจะมีช่องว่างถ่างกว้างขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศไทยติดอันดับเลวร้ายที่สุดประเทศหนึ่งของโลกในด้านการกระจายรายได้ โดยแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียด้วยซ้ำ (9) ความขัดแย้งทั้ง ๓ประการซึ่งชัยวัฒน์ สถาอานันท์เรียกว่า "ไตรลักษณ์แห่งความขัดแย้ง" (10) เป็นลักษณะโดดเด่นของสังคมไทยในปัจจุบัน ยิ่งมีกระแสโลกาภิวัตน์เข้ามากระทบด้วยแล้ว ความขัดแย้งดังกล่าวจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละภาคส่วนมีความสามารถแตกต่างกันในการปรับตัว หาประโยชน์ และปกป้องตนเองจากกระแสโลกาภิวัตน์

ความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์และทรัพยากรดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาความขัดแย้งอีกมาก ซึ่งมิอาจแก้ไขได้ด้วยอาญาสิทธิ์จากรัฐ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่ารัฐบาลชุดนี้เต็มไปด้วยนักธุรกิจระดับชาติ จำเพาะ พ.ต.ท.ทักษิณเองมีสินทรัพย์ถึง ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนไทยเมื่อปี ๒๕๔๒ มีเพียง ๓,๕๐๐ บาทต่อเดือนเท่านั้น การที่รัฐจะตั้งตัวเป็นผู้ผูกขาดการจัดสรรผลประโยชน์ในชาติแต่เพียงผู้เดียว ย่อมยากที่จะเป็นไปอย่างชอบธรรมและเท่าเทียม เพราะผลประโยชน์ของนักธุรกิจเองก็ใช่ว่าจะไปด้วยกันได้กับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนที่เหลือ ข้อเท็จจริงที่ว่าสินทรัพย์ของบริษัทในเครือตระกูลชินวัตรเพิ่มขึ้นถึง ๒๐๐ % ในเพียงปีเดียวคือปี ๒๕๔๖ มียอดรวมถึง ๔ แสนล้านบาท ขณะที่หนี้ครัวเรือนของคนไทยเพิ่มขึ้นเกือบ ๑๐๐% จาก ๘๔,๖๐๓ เป็น ๑๖๗,๐๔๗ บาทในชั่วเวลา ๒ ปี (๒๕๔๕-๒๕๔๗) โดยสัดส่วนหนี้ต่อรายได้เพิ่มจาก ๕๑% เป็น ๖๒ % (11) ย่อมชี้ชัดถึงความไม่เท่าเทียมกันในการจัดสรรผลประโยชน์ของรัฐบาลทักษิณ

มองในแง่รายได้ คนไทยดูเหมือนจะรวยขึ้น แต่เมื่อมองในแง่หนี้สิน คนไทยดูจะยากจน ลง นโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาลอาจช่วยให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น แต่ตราบใดที่ไม่ได้แตะต้องโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เท่าเทียมกัน ความรุนแรงเชิงโครงสร้างก็จะไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นตามช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจน การลดทอนความรุนแรงเชิงโครงสร้างนั้นมิอาจทำได้ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐ ขณะที่การเอาเงินและโครงการพัฒนาต่าง ๆ หว่านลงไปตามบัญชาของรัฐ นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป เพราะสุดท้ายผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็ไปตกอยู่กับผู้ที่ได้เปรียบอยู่แล้วจากโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เป็นธรรม

ความไม่สงบในภาคใต้ในเวลานี้ เป็นผลพวงที่ปรากฏอย่างชัดเจนจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งหมักหมมสะสมมาเป็นเวลาช้านาน ขณะเดียวกันมันก็ชี้ว่า อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐไม่อาจแก้ปัญหาได้ แม้จะมีการทุ่มเงินลงไปควบคู่กันก็ตาม นี้ก็เช่นเดียวกับการปราบคอมมิวนิสต์ในชนบทไทยเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อน ซึ่งแม้จะใช้กำลังทหารควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเน้นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน ไฟฟ้า แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ได้ จนเมื่อมีคำสั่ง ๖๖/๒๕๒๓ ออกมา ทั้ง ๒ กรณีเป็นตัวอย่างชัดเจนว่า อำนาจรัฐและเม็ดเงิน ไม่อาจสร้างความสงบได้ ตราบใดที่ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หรือโครงสร้างที่ก่อความรุนแรงทั้งทางเศรษฐกิจการเมือง ยังไม่ได้รับการแก้ไข

"อำนาจรัฐ"และ"เม็ดเงิน"นั้น อย่างมากก็สร้างได้แต่ความสงบแบบราบคาบ แต่ไม่สามารถทำให้เกิดความสงบอย่างสมานฉันท์ได้ ทั้งนี้ก็เพราะทั้ง ๒ ประการนี้ไม่สามารถเป็นเครื่องมือขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้เลย ยิ่งนำเอามาใช้เป็นเครื่องมือผลักดันนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่กลุ่มคนที่ได้เปรียบอยู่แล้วในสังคม พร้อมกับผลักภาระให้แก่ประชาชนระดับล่าง ก็เท่ากับเพิ่มความรุนแรงเชิงโครงสร้างให้มากขึ้น ซึ่งในที่สุดย่อมระเบิดออกมาเป็นความรุนแรงทางกายภาพในที่สุด ที่น่าวิตกก็คือ ทั้งอำนาจรัฐและเม็ดเงินเป็นเครื่องมือที่ พ.ต.ท.ทักษิณเชื่อมั่นและไว้วางใจมากที่สุด จะด้วยภูมิหลังทั้งในฐานะ"ตำรวจ"และ"นักธุรกิจ" หรือเพราะความหลงใหลในความสำเร็จของผู้นำอย่างจอมพลสฤษดิ์ก็ตาม การติดยึดกับ ๒ วิธีการดังกล่าวในขณะที่กุมอำนาจรัฐอย่างเต็มที่ จึงมีแต่จะนำพาสังคมไทยสู่ความขัดแย้งที่ลุกลามและรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ (คลิกไปอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกันตอนต่อไป)

เชิงอรรถ

(1) เสน่ห์ จามริก ปัญหาและอนาคตของเมืองไทย (กรุงเทพ:สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ๒๕๑๙) น.๓๙๕, ๓๙๗

(2) ประภาส ปิ่นตบแต่ง การเมืองบนท้องถนน:๙๙ วันสมัชชาคนจนและประวัติศาสตร์การเดินขบวนชุมนุมประท้วงในสังคมไทย (กรุงเทพ :ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก ๒๕๔๑) น. ๕,๓๘-๓๙

(3) ปิยะ สารสุวรรณ "๑๕ แกนนำชาวบ้าน เหยื่อผลประโยชน์นายทุน ก่อนถึงคิวเจริญ วัดอักษร" มติชนรายวัน วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ (อีก ๒ คนที่ตามมาคือ เจริญ วัดอักษร และสุพล ศิริจันทร์ ผู้พิทักษ์ป่าชุมชน อ.เถิน จ.ลำปาง)

(4) คำชี้แจงนโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของนายกรัฐมนตรี ณ ห้องประชุมสถาบันราชภัฏสวนดุสิต วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๖

(5) ธีรยุทธ บุญมี "การปลดปล่อยกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศจากการครอบงำโดยตะวันตก" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๒๐๕ ,๑๙ กันยายน ๒๕๔๖ น.๒๖

(6) อ้างและแปลจาก Pasuk Phongpaichit & Chris Baker Thaksin:The Business of Politics in Thailand (Chiang Mai: Silkworms 2004) p.133

(7) อ้างและปรับปรุงจาก เกษียร เตชะพีระ "วิพากษ์นโยบายประชานิยมเพื่อทุนนิยมของรัฐบาลทักษิณ" วารสารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๔๗ น. ๒

(8) ธีรยุทธ บุญมี "๔ ปีระบอบทักษิณ" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๒๕๐, ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ น.๑๐

(9) อ้างจาก เสกสรรค์ ประเสริฐกุล "การเมืองภาคประชาชนในยุคโลกาภิวัตน์:หลักการและความจำเป็นทางสถานการณ์" ใน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง บ.ก.รู้ทันทักษิณ ๒ (กรุงเทพ:ขอคิดด้วยคน ๒๕๔๗) น.๑๕๙

(10) ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาวุธมีชีวิต ?:แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง (กรุงเทพ:ฟ้าเดียวกัน ๒๕๔๖) น.๑๓๖

(11) อ้างจาก เสกสรรค์ ประเสริฐกุล "การเมืองภาคประชาชนในยุคโลกาภิวัตน์:หลักการและความจำเป็นทางสถานการณ์" ใน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง บ.ก.รู้ทันทักษิณ ๒ (กรุงเทพ:ขอคิดด้วยคน ๒๕๔๗) น.๑๕๙ และ สิริวิชญ์ "หนี้ครัวเรือนสูง แต่ไม่เสี่ยง" เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๖๔๑ น.๑๖-๑๗

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
14 January 2008
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
"อำนาจรัฐ"และ"เม็ดเงิน"นั้น อย่างมากก็สร้างได้แต่ความสงบแบบราบคาบ แต่ไม่สามารถทำให้เกิดความสงบอย่างสมานฉันท์ได้ ทั้งนี้ก็เพราะทั้ง ๒ ประการนี้ไม่สามารถเป็นเครื่องมือขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้เลย ยิ่งนำเอามาใช้เป็นเครื่องมือผลักดันนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่กลุ่มคนที่ได้เปรียบอยู่แล้วในสังคม พร้อมกับผลักภาระให้แก่ประชาชนระดับล่าง ก็เท่ากับเพิ่มความรุนแรงเชิงโครงสร้างให้มากขึ้น ซึ่งในที่สุดย่อมระเบิดออกมาเป็นความรุนแรงทางกายภาพในที่สุด ที่น่าวิตกก็คือ ทั้งอำนาจรัฐและเม็ดเงินเป็นเครื่องมือที่ พ.ต.ท.ทักษิณเชื่อมั่นและไว้วางใจ
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
คนรวยช่วยคนจน ???
ความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์และทรัพยากรดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาความขัดแย้งอีกมาก ซึ่งมิอาจแก้ไขได้ด้วยอาญาสิทธิ์จากรัฐ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่ารัฐบาลชุดนี้เต็มไปด้วยนักธุรกิจระดับชาติ จำเพาะ พ.ต.ท.ทักษิณเองมีสินทรัพย์ถึง ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนไทยเมื่อปี ๒๕๔๒ มีเพียง ๓,๕๐๐ บาทต่อเดือนเท่านั้น การที่รัฐจะตั้งตัวเป็นผู้ผูกขาดการจัดสรรผลประโยชน์ในชาติแต่เพียงผู้เดียว ย่อมยากที่จะเป็นไปอย่างชอบธรรมและเท่าเทียม เพราะผลประโยชน์ของนักธุรกิจเองก็ใช่ว่าจะไปด้วยกันได้กับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนที่เหลือ ข้อเท็จจริงที่ว่าสินทรัพย์ของบริษัทในเครือตระกูลชินวัตรเพิ่มขึ้นถึง ๒๐๐ % ในเพียงปีเดียวคือปี ๒๕๔๖ มียอดรวมถึง ๔ แสนล้านบาท (อ้างจาก เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)