บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกราคม ๒๕๕๐)
6th October 1976
Midnight
University
ข้อมูลจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ข้อมูลดิบ
ความคิด-ความเห็น เกี่ยวกับ ๖ ตุลานอกฤดูกาล
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมจากจดหมายอิเล็กทรอนิกและสื่อต่างๆ
เพื่อการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการไม่เกี่ยวข้องกับผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
สำหรับข้อมูลในส่วนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองของพลเมืองไทย
ซึ่งเกิดขึ้นกว่าสามทศวรรษมาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ได้รับการหยิบยกขึ้นมาในช่วงนี้ เพราะประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจาก
พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙
และได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวไปในทำนองบิดเบือนความจริงทางประวัติศาสตร์
การรวบรวมข้อมูล ความคิด ข้อเขียน กิจกรรม และบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้
มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการ ประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
๑. Who is Who during
6 Oct. : ใครเป็นใครในเหตุการณ์ ๖ ตุลา
๒. 'ซ้าย'ไล่ถลุง'หมัก'ประวัติศาสตร์6ตุลาเดือด / ลามเชือด'เจิม'เซ่น
๓. จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือด: ประวัติศาสตร์บาดแผล กับบท(ไม่)เรียนของเรา
๔. ธงชัย วินิจจะกูล : อย่าหยุดแค่นายสมัคร
๕. เรื่อง ข้อมูลและจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายในกรณี 6 ตุลา
๖. ส.ว. - ๖ ตุลา - ภาคใต้ และประชาธิปไตยไทย
๗. 6 ตุลา: ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอายุความ"
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๘๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๖ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ข้อมูลจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ข้อมูลดิบ
ความคิด-ความเห็น เกี่ยวกับ ๖ ตุลานอกฤดูกาล
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมจากจดหมายอิเล็กทรอนิกและสื่อต่างๆ
เพื่อการค้นคว้าทางวิชาการ
ความนำ
หลังจากนายสมัคร
สุนทรเวช (หัวหน้าพรรคพลังประชาชน) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับเหตุการณ์
๖ ตุลา ๑๙ ว่ามีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียว บรรดาญาติมิตรของผู้สูญเสีย บุคคลที่ได้รับผลกระทบ
คนเดือนตุลา นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว และประชาชน ต่างคัดค้านและถามถึงเรื่องราวเหตุการณ์
๖ ตุลา ต่อนายสมัครเป็นจำนวนมาก และมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องราว
๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา. ในส่วนของเนื้อหาต่อไปนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน ได้รวบรวมมาจากข้อมูลหลายแหล่ง
ทั้งจากจดหมายอีเล็กทรอนิกที่ส่งถึงและได้มีการคัดลอกมาจากสื่อต่างๆ ซึ่งได้นำเสนอไปบ้างแล้วบนกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ในที่นี้ได้นำมารวมไว้ในที่เดียวกันบนเว็บเพจหลักอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเก็บไว้สำหรับการค้นคว้าทางวิชาการและเพื่อความมั่นคงของข้อมูลต่อไป
(1)
Who is Who during 6 Oct. : ใครเป็นใครในเหตุการณ์
๖ ตุลา
and an opened letter from Surin Matsadit (Minister to
the Premier Office)
(ข้อมูลส่วนนนี้ ได้รับมาจาก email ของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)
พระสุรินทร์ มาศดิตถ์ สส. นครศรีธรรมราชและอดึต รมต. สมัย 6 ตุลาคม 2519 เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า
"หลังจากนั้น พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัน ก็ออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่นาน
ลูกเสือชาวบ้านและพวกเขาที่เตรียมไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีนายธรรมนูญ เทียนเงิน,
นายสมัคร สุนทรเวช, นายส่งสุข ภัคเกษม, และพวกได้ไปร่วมอยู่ด้วยนั้น ก็เคลื่อนขบวนมาทั้งรถยนต์
และเดินมาล้อมทำเนียบรัฐบาล"
ดูรายละเอียดจาก จดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์ (รมต.ประจำสำนัก นรม. สมัย 6 ตุลาคม
2519)
วัดพรหมโลก กิ่ง อ.พรหมคีรี นครศรีธรรมราช วันที่ 24 ตุลาคม 2520
เจริญพร
(1) จดหมายของอาตมา ฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม 2520 แจ้งผลการทอดผ้าป่าสามัคคีและเล่าเรื่องก่อนการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
คือ การที่รัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมา แล้วถูกยึดอำนาจให้ทราบบ้างแล้ว ตอนท้ายได้กล่าวไว้ว่า
ความลับในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เท่าที่ประสบด้วยตนเองต่อ ดังนี้
วันที่ 6 ตุลาคม 2519 อาตมามาถึงตึกบัญชาการ สำนักนายกรัฐมนตรี เวลาประมาณ 7.00 น.เศษ มีนักหนังสือพิมพ์มาคอยอยู่ที่บันไดและลานก่อนเข้าลิฟท์หลายคน ต่างก็ถามถึงการที่มีภาพแขวนคอหน้าคล้ายเจ้าฟ้าชาย อาตมาตอบว่า ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว นายกรัฐมนตรีสั่งดำเนินคดี และกรรมการศูนย์นิสิตนักศึกษาบางคนเข้ามอบตัวแล้ว ต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย แล้วอาตมารีบขึ้นไปชั้น 4 ที่ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี พบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ดูภาพในหนังสือพิมพ์ดาวสยามและบ้านเมือง จึงเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีว่า ให้รีบประกาศภาวะฉุกเฉิน ห้ามชุมนุมทั่วประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ฯพณฯ นายกเห็นด้วย และว่าเดี๋ยว 9 โมงเช้า ประชุมคณะรัฐมนตรี จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
(2) อาตมาจึงลงไปห้องทำงานชั้น 3 เห็นหนังสือด่วนไม่กี่ฉบับ. เวลา 9.00 น.เศษ จึงรีบลงไปประชุมคณะรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า ไปถึงคณะรัฐมนตรีเปิดประชุมไปแล้ว นายกรัฐมนตรีกล่าวกับอาตมาว่า กำลังพิจารณาเรื่องประกาศภาวะฉุกเฉิน อาตมาว่า ก็ไม่มีปัญหาอะไร เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทย และจำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันเหตุร้ายในบ้านเมือง
ปรากฏว่าพลตรีชาติชาย ชุณหะวัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีอื่นฝ่ายพรรคชาติไทย คัดค้านไม่ให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ไม่ให้ห้ามการชุมนุม โดยอ้างเหตุผลว่าหากห้ามการชุมนุม ลูกเสือชาวบ้านจำนวนมากที่นัดมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า เดินทางเข้ามาชุมนุมมากแล้วและกำลังเดินทางมา ก็จะเดือดร้อน ชุมนุมไม่ได้ แล้วจะหันมาเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล
เหตุผลการคัดค้านของพลตรีชาติชาย ชุณหะวัน อ่อน รัฐมนตรีส่วนมากนั่งเฉย แสดงว่าเห็นด้วยในการประกาศภาวะฉุกเฉิน พลตรีชาติชายจึงได้ไปนำเอาพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เป็นหัวหน้าลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งของฝ่าย ตชด. เข้ามาในคณะรัฐมนตรี มาคัดค้านการประกาศภาวะฉุกเฉิน และกล่าวว่า จะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก
(3) นายกรัฐมนตรีพูดว่าไม่ได้ หากเกิดจลาจลเป็นหน้าที่ของตำรวจทหาร บ้านเมืองมีขื่อมีแป คุณจะเอาประชาชนไปฆ่าประชาชนไม่ได้. พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์บังอาจโต้นายกรัฐมนตรีต่อไปว่า ลูกเสือชาวบ้านก็มีวินัยรวมกับตำรวจทหารได้ ดูเหตุการณ์จากการกระทำของรัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทยและที่ไปนำพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ เข้ามาโต้เถียงกับนายกรัฐมนตรีแล้ว
อาตมาเข้าใจได้ทันทีว่าพวกนี้ต้องวางแผนการปฏิวัติไว้แล้ว และเชื่อแน่ของพวกเขาแล้วว่าต้องสำเร็จแน่ ตำรวจยศพลตำรวจตรี ยังกล้าเถียงนายกรัฐมนตรีถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย รมต.เกษตรฯ แสดงความเห็นในคณะรัฐมนตรีว่า เป็นจังหวะและโอกาสดีที่สุดแล้วที่จะปราบปราม ให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ถูกลบชื่อหายไป
(4) ก่อนเที่ยงที่กำลังโต้กันเรื่อง จะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ โดยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปัตย์ให้ประกาศ รัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทยไม่ยอมให้ประกาศ ทั้งๆ ที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการ่างประกาศไว้แล้ว ยังไม่เป็นที่ยุตินั้น พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ ได้เข้ามารายงานในคณะรัฐมนตรี พร้อมกับร้องไห้โฮๆ ว่า ฝ่ายนักศึกษามีอาวุธปืนสงครามร้ายแรง ระดมยิงตำรวจบาดเจ็บและตายจำนวนมาก ฝ่ายนักศึกษาก็ตายแยะ พูดพลางร้องไห้พลาง ตำรวจนครบาลสู้ไม่ได้จึงส่งตำรวจพลร่มและ ตชด.เข้าไปปราบปราม
(5) ต่อมา พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจ เข้าไปรายงานเหตุการณ์ว่า ควบคุมสถานการณ์ในธรรมศาสตร์ไว้ได้แล้ว มีความสงบเรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีถามว่า "ตำรวจตายกี่คนท่านอธิบดี" อธิบดีกรมตำรวจตอบว่า "ตำรวจไม่ตาย แต่บาดเจ็บไม่กี่คน" รัฐมนตรีจึงแสดงสีหน้าสงสัย
อธิบดีกรมตำรวจหันไปมอง พล.ต.ท.ชุมพล นั่งเช็ดน้ำตา จึงไม่รู้ว่าก่อนนั้นเขารายงานกันว่าอย่างไร อธิบดีกรมตำรวจจึงเดินออกจากที่ประชุมไป. ต่อไป พล.ต.ต.กระจ่าง ซึ่งเป็นหัวหน้านำ ตชด.เข้าไปทำการควบคุมนักศึกษา 3,000 คนเศษไว้แล้วนั้น เข้ารายงานเหตุการณ์ในคณะรัฐมนตรี ท่านผู้นี้อาตมาไม่ทราบนามสกุล และอาตมายกย่องเขาอยู่จนบัดนี้ว่า เขาเป็นตำรวจอาชีพ ผู้บังคับบัญชาสั่งไปทำงานก็ไปทำ แล้วมารายงานคณะรัฐมนตรีตามความเป็นจริง แต่สังเกตดูไม่เป็นที่พอใจของรัฐมนตรีฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์
พล.ต.ต.กระจ่าง รายงานว่า ปืนที่ยึดจากนักศึกษาเป็นปืนพกเพียง 3 กระบอก คุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ รองนายกรัฐมนตรี ถามว่าปืนอะไร ที่เสียงดังมาก ดังปุดๆ ปึงๆ ใครยิง ฝ่ายเรายิง หรือฝ่ายนักศึกษายิง พล.ต.ต.กระจ่าง ตอบว่า ปืนอย่างนั้นนักศึกษาจะเอามาจากไหน ตำรวจยิงทั้งนั้น
(6) จนกระทั่งเที่ยงปัญหาจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ ยังตกลงกันไม่ได้ อาตมาจึงตัดบทด้วยการเสนอว่ามอบอำนาจนายกรัฐมนตรีก็แล้วกัน ท่านจะประกาศภาวะฉุกเฉินเวลาใด แล้วพักรับประทานอาหาร อาตมาถาม พล.ต.ต.กระจ่าง เป็นการส่วนตัวนอกที่ประชุมว่า ยึดอาวุธจากนักศึกษาได้เพิ่มหรือไม่ พล.ต.ต.กระจ่าง วิทยุถามไปที่ควบคุมนักศึกษาบางเขน ซึ่งเป็นศูนย์ ได้รับตอบมาทางวิทยุว่าได้ปืนจากนักศึกษาในธรรมศาสตร์เพียง 3 กระบอก เป็นปืนพกขนาด .22
(7) ตอนบ่ายประชุมคณะรัฐมนตรี มีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ ได้มีการแถลงการณ์บางตอนไม่ตรงตามความจริง อาตมาเป็นผู้คัดค้านไม่ให้ออกแถลงการณ์เท็จ ต่อมา พล.ต.ชาติชาย รมต.อุตสาหกรรม ออกไปนอกห้องประชุมแล้วพูดว่า ลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเริ่มอึดอัดแล้วเพราะไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีถามว่า เหตุการณ์สงบแล้วยังไม่กลับบ้านอีกหรือ พล.ต.ชาติชายตอบว่า ยังไม่กลับ และเตรียมเดินขบวนมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอทราบคำตอบจากรัฐบาลตามข้อเรียกร้อง จึงมีรัฐมนตรีคนหนึ่งจำไม่ได้ว่าใคร ถามว่าลูกเสือชาวบ้านเรียกร้องอะไร
(8) นายกรัฐมนตรีตอบว่า กลุ่มแม่บ้านได้ยื่นข้อเรียกร้องมาเมื่อวันก่อน พร้อมกับล้วงซองขาวออกจากอกเสื้อ แล้วอ่านให้ฟังถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มแม่บ้าน จำได้ว่ามีข้อเรียกร้องให้นายสุรินทร์ มาศดิตถ์, นายชวน หลีกภัย, นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ออกจากรัฐมนตรี ให้จับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, นายแคล้ว นรปติ, และกรรมการพรรคสังคมนิยมทุกคน ให้ใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์โดยเด็ดขาด
เมื่ออ่านข้อเรียกร้องจบ นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเรียกร้องให้รัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเป็นสิ่งที่มากไป นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผมก็ไม่เห็นด้วยเพราะรัฐมนตรีได้รับพระกรุณาแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ การออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ส.ส.ก็อาจลงมติไม่ไว้วางใจได้ การแถลงนโยบายในวันมะรืนนี้ (8 ตุลาคม) เพื่อรับรองความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ก็มีสิทธิที่จะลงมติไม่ไว้วางใจได้ ประชาชนเพียงบางส่วนจะมาเรียกร้องแบบนี้ เห็นว่าไม่ถูกต้อง
(9) อาตมาประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยความอดทน สิ่งที่จะพูดหลายครั้งแต่ไม่พูด แต่เฉพาะข้อเรียกร้องของแม่บ้านกลุ่มหนึ่งนั้น อาตมาเห็นว่าจะต้องพูด เพราะมีรัฐมนตรีบางคนในพรรคชาติไทยเป็นผู้ร่วมก่อเรื่องนี้ขึ้นด้วย อาตมาจึงพูดว่า อาตมาถูกใส่ร้ายป้ายสีมากมายด้วยความโกหกมดเท็จของนักการเมืองบางพวก บางคน เป็นการสาดโคลนใส่ร้ายป้ายสีกันอย่างน่าละอายที่สุด โดยมีหนังสือพิมพ์บางฉบับ สถานีวิทยุบางแห่ง เป็นผู้ร่วมสร้างข่าวเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีอาตมาด้วยความเท็จมาโดยตลอด แต่อาตมาทนหวังให้ผลงานเป็นสิ่งพิสูจน์ แต่เมื่อมาถึงขั้นให้กลุ่มคนส่วนน้อยที่ไม่ทราบความจริงมามีหนังสือบีบบังคับเช่นนี้ อาตมาไม่ออก อาตมาจะสู้เพื่อพิสูจน์ความจริง
(10) แล้วอาตมาพูดต่อไปว่า อาตมาเป็นรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งปี 2519 นี้ พออาตมาได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระมหากษัตริย์แล้ว อาตมาได้พูดกับนายกรัฐมนตรีต่อหน้าเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่า หากผมไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ขอให้หัวหน้า (หมายถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี) กราบบังคมทูลเอาผมออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีได้ทุกเวลา
และต่อมาในสมัยเสนีย์ 2 เมื่อหัวหน้าลาออกจากนายกรัฐมนตรี และสภาซาวเสียงให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก อาตมาก็พูดกับนายกรัฐมนตรีอีกว่า ตั้งผมเป็นรัฐมนตรีอาจยุ่งยากมาก ขออย่าแต่งตั้งผมเลย แม้ไม่เป็นรัฐมนตรี ผมก็จะช่วยพรรคเหมือนเดิม นี่ย่อมแสดงว่าอาตมาไม่ได้หวงตำแหน่งรัฐมนตรี ยอมทำตามมติพรรค คำสั่งพรรค และดำเนินแนวนโยบายของพรรคอย่างเคร่งครัดทุกประการ
แต่เมื่อมาบีบบังคับกันด้วยเล่ห์การเมืองที่สกปรกแบบนี้ ผมไม่ลาออก ผมจะสู้ สู้เพื่อศักดิ์ศรีของผม เป็นคำพูดของอาตมาในวันนั้น หลังจากนั้น พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร พูดขึ้นว่าการใส่ร้ายป้ายสีกันมันก็มีทั้งนั้นละ นี่ก็มีข่าวว่าคุณดำรงไปพูดที่ขอนแก่น
(11) หลังจากนั้น พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัน ก็ออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่นาน ลูกเสือชาวบ้านและพวกเขาที่เตรียมไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีนายธรรมนูญ เทียนเงิน, นายสมัคร สุนทรเวช, นายส่งสุข ภัคเกษม และพวกได้ไปร่วมอยู่ด้วยนั้น ก็เคลื่อนขบวนมาทั้งรถยนต์ และเดินมาล้อมทำเนียบรัฐบาล
(12) ขณะนั้นฝนกำลังตกหนัก การประชุมคณะรัฐมนตรีเลิกประมาณ 15.00 น.เศษ อาตมานั่งรถยนต์จากตึกไทยคู่ฟ้าไปตึกบัญชาการ ตั้งใจว่าจะทำงานอยู่ตามปกติ เพราะถือว่าตนไม่ได้ทำผิดอะไร แต่นายตำรวจคนหนึ่งยืนกรำฝนรออยู่และเตือนว่า ท่านรัฐมนตรีรีบออกจากทำเนียบรัฐบาลเร็วที่สุด มิเช่นนั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต
อาตมาก็ได้คิดและสั่งคนขับรถออกจากทำเนียบไปได้อย่างปลอดภัย ความจริงยังมีอีกมาก ปฏิวัติแล้วเขาว่าจะมีเลือกตั้ง เราต้องพบกันอีก ขอพวกเราจงสามัคคีกัน อย่าเอาคนทรยศต่อพรรคเข้ามาอีก การอยู่รวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง ต้องเลือกเอาคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน แม้แต่คนละพรรคก็น่าจะร่วมกันได้ นักการเมืองทุกฝ่าย ควรจะได้ร่วมกันเพื่อชาติจริงๆ ไม่ใช่เพื่ออำนาจและเงิน หรือผลประโยชน์ในกิจการส่วนตัว
การรวมพรรคการเมืองที่มีแนวความคิด นโยบาย ใกล้เคียงกัน เป็นปึกแผ่น สามารถที่จะเอาชนะเผด็จการได้ หากแตกแยกกัน เผด็จการจะครองเมือง เหมือนที่เป็นมา ขอให้ทุกคนประสบความสุขและโชคดี
เจริญพรด้วยความรัก นับถือ
สุรินทร์ มาศดิตถ์
(ก) ใครเป็นใครในสมัย 6 ตุลา 2519
อธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ
รองอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละพ.ต.ท.สล้าง บุนนาค รองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม
(ตำรวจปราบจลาจลเป็นแผนกหนึ่ง (แผนก 5) ของกองกำกับการ 2 กองปราบปราม) นายตำรวจระดับแถวหน้ามีอาทิ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น, พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์, พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์, พล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิทผู้บังคับการกองปราบปราม พล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต
หัวหน้าลูกเสือชาวบ้าน พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัญ
หัวหน้ากระทิงแดง พล.ต.สุดสาย หัสดิน ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ กอ.รมน. และนายเฉลิมชัย มัจฉากล่ำ
ผู้นำสงฆ์ต่อต้านฝ่ายซ้าย กิตติวุฑโฒภิกขุ
ผู้นำนวพล นายวัฒนา เขียววิมลลักษณะของกองกำลังติดอาวุธที่ลงมือปราบปรามนักศึกษาประชาชน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีแต่ตำรวจไม่มีทหาร เช่น นครบาล, แผนกอาวุธพิเศษ (สวาท), สันติบาล, กองปราบปราม, ตำรวจแผนกปราบจลาจล (คอมมานโด), ตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวร หัวหิน
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเรือตรีสงัด ชะลออยู่
ผบ.ทบ. พลเอกเสริม ณ นคร (รับตำแหน่งต่อจากพลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์)
ผบ.ทร. พลเรือเอกอมร ศิริกายะ
ผบ.ทอ. พลอากาศเอกกมล เตชะตุงคะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์
นายก อมธ. นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ
นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์
นายกองค์การนักศึกษารามคำแหง นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม
เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ นายสุธรรม แสงประทุม
นายวิโรจน์ ตั้งวานิขย์ และนายอภินันท์ บัวหภักดี 2 นศ. มธ. ผู้แสดงละครล้อเลียนการกลับเข้าประเทศไทยของสามเณรถนอม กิตติขจร และถูกนำไปกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมฯ อันนำไปสู่การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนด้วยอาวุธร้าย
(ข) รายชื่อคณะรัฐมนตรี
คณะที่ 38 ของไทย
(20 เมษายน พ.ศ.2519 - 23 กันยายน พ.ศ. 2519)
ม.ร.ว.เสนีย์
ปราโมช เป็น นายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.
2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ นายอุทัย
พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
1. พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นรองนายกรัฐมนตรี
2. นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
3. พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
4. นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
5. นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
6. พลเอก กฤษณ์ สีวะรา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
7. นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
8. นาย พิชัย รัตตกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
9. นาย พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
10. นายทวิช กลิ่นประทุม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
11. นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
12. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
13. นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
14. พลตรีศิริ สิริโยธิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
15. พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
16. พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
17. นายนิพนธ์ ศศิธร เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
18. พลเอกทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
19. นาวาอากาศโททินกร พันธุ์กระวี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
20. นายเล็ก นานา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
21. นายไกรสร ตันติพงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
22. นายอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
23. นายบุญเกิด หิรัญคำ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
24. นายประชุม รัตนเพียร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
25. นายคล้าย ละอองมณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
26. นายขุนทอง ภูผิวเดือน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
27. นายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
28. นายสมบุญ ศิริธร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
29. นายชูสง่า ฤทธิประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
30. นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม
31. นายสิดดิก สารีฟ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
32. นายดาบชัย อัคราช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
33. นายปรีชา มุสิกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
34. นายแผน สิริเวชชะพันธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
35. นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
(ค) รายชื่อคณะรัฐมนตรี
คณะที่ 38 ของไทย (ครม.ก่อน 6 ตุลา 19)
(25 กันยายน พ.ศ. 2519 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519) (การปรับคณะรัฐมนตรี)
ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.
2519 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น นายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่
25 กันยายน พ.ศ. 2519 สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ
นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
1. พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นรองนายกรัฐมนตรี
2. นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
3. พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
4. นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
5. นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
6. นายนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
7. พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
8. นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
9. นายพิชัย รัตตกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
10. พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
11. นายทวิช กลิ่นประทุม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
12. นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
13. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
14. นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
15. พลตรีศิริ สิริโยธิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
16. พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
17. พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
18. นายนิพนธ์ ศศิธร เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
19. นายนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
20. นาวาอากาศโททินกร พันธุ์กระวี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
21. นายเล็ก นานา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
22. นายไกรสร ตันติพงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
23. นายอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
24. นายบุญเกิด หิรัญคำ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
25. นายประชุม รัตนเพียร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
26. นายคล้าย ละอองมณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
27. นายขุนทอง ภูผิวเดือน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
28. นายแผน สิริเวชชะพันธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
29. นายดาบชัย อัคราช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
30. นายชูสง่า ฤทธิประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
31. นายสิดดิก สารีฟ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
32. นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
33. นายปรีชา มุสิกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
(ง) คณะรัฐมนตรีคณะที่
39 ของไทย (ครม.หลัง 6 ตุลา 19)
(8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520)
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น นายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่
8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ
พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1. นายอัมพร จันทรวิจิตร เป็น รองนายกรัฐมนตรี
2. นายดุสิต ศิริวรรณ เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
3. พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
4. นายสุพัฒน์ สุธาธรรม เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
5. นายอุปดิศร์ ปาจรียางกูร เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
6. นายอินทรีย์ จันทรสถิตย์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
7. คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
8. นายสุธี นาทวรทัต เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
9. นายสมัคร สุนทรเวช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
10. นายเสมา รัตนมาลัย เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
11. นายภิญโญ สาธร เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
12. เรือโทยงยุทธ สัจจวาณิชย์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
13. พลอากาศโทเพิ่ม ลิมปสวัสดิ์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
14. นางวิมลศิริ ชำนาญเวช เป็น รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
15. พลเอกเล็ก แนวมาลี เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
16. นายคนึง ฤๅชัย เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
(2)
การเมือง - ข่าว (นสพ.ไทยโพสต์)
'ซ้าย'ไล่ถลุง'หมัก'ประวัติศาสตร์6ตุลาเดือด
/ ลามเชือด'เจิม'เซ่น
14 กุมภาพันธ์ 2551 กองบรรณาธิการ
คนเดือนตุลาเดือด ตั้งวงรุมสกรัม "หมัก" บิดเบือนประวัติศาสตร์ 6 ตุลา
แจกหลักฐานบันทึกของสำนักงานอัยการยืนยันรายชื่อคนตาย 41 ศพ ประธานเครือข่ายญาติฯ
ไม่หวังได้ยินคำขอโทษ เพราะงาไม่เคยงอกจากปากหมา นัดรวมพลถล่มซ้ำอีก 17 ก.พ.
หึ่งรัฐบาลเชือด "เจิมศักดิ์" ถอดรายการพันคลื่น 105 หลังเปิดหลักฐานจับโกหก
"สมัคร" จักรภพปัดทันควันไม่เกี่ยวข้อง โยนอธิบดีกรมกร๊วกชี้แจง
ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ เมื่อเวลา 18.30 น. คนตุลามีการรวมตัวของเครือข่ายญาติวีรชน 6 ตุลา เพื่อร่วมแสดงท่าทีต่อการให้สัมภาษณ์ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อมูลประวัติศาสตร์ 6 ตุลากับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่ามีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียวในเหตุการณ์นั้น โดยภายในงานมีคนเดือนตุลามาร่วมพูดคุยเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อนแถลงข่าว มีการนำรายชื่อของวีรชนที่เสียชีวิต 41 คน จากการบันทึกข้อมูลของสำนักงานอัยการมาแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนด้วย
นพ.กุศล ประวิชไพบูลย์ กล่าวว่า ตนเองมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เนื่องจากเป็นนักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล และเข้าไปร่วมชุมนุมตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. ก่อนถูกปราบปรามในวันที่ 6 ต.ค. ใต้ตึกบัญชีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่ยืนยันจำนวนผู้ตายที่ชัดเจน คือการเห็นกับตาว่าตามขั้นบันไดที่ใต้ตึกบัญชี มีคนตายมากกว่า 1 คนแน่นอน เพราะหลบอยู่ภายในห้องพยาบาลที่คอยดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จึงอยากให้คนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันเหมือนที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีพูดช่วยกันค้นหาความจริง เพราะจากภาพถ่ายที่มีอยู่มากมายเป็นสิ่งที่บอกเล่าความจริงได้ดีเยี่ยม
"ไม่ต้องการต่อล้อต่อเถียงกับใคร แต่คุณสมัครเป็นผู้นำประเทศ แล้วออกมาพูดบิดเบือนความจริงแบบนี้ไม่ถูกต้อง อยากให้มีการไต่สวน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นการฆ่ากันแบบนี้ ถ้าถามว่าญาติพี่น้องของคนเหล่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่เขาจะรู้สึกอย่างไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 คือมีคนตายเป็นจำนวนมากแบบนี้ ถ้าไม่เรียกว่านายสมัครเป็นอัลไซเมอร์ ก็เท่ากับเป็นการจงใจพูดในสิ่งที่ไม่ควรจะพูดแล้ว" นพ.กุศลกล่าว
นายทวีป กาญจนวงศ์ อดีตสหภาพแรงงานทหารเรือ กล่าวว่า เป็นกรรมกรที่เข้าร่วมชุมนุมในท้องสนามหลวงครั้งนั้นในช่วง 6 ต.ค. 2519 ถ้าไม่มีนายสมัคร ไม่มีวิทยุยานเกราะ และอีกหลายๆ คนที่ปลุกระดมให้ประชาชนเกลียดชังนักศึกษาออกมากล่าวหาว่านักศึกษาไม่ใช่คนไทย จนทำให้เกิดความเกลียดชัง ก็จะไม่เกิดขึ้นเหมือนที่เราได้เห็นในรูปภาพจนทุกวันนี้
นายคงเจต พร้อมนำพล ประธานเครือข่ายกองทุนญาติวีรชน 6 ต.ค. 2519 กล่าวว่า มีรายชื่อของผู้เสียชีวิตที่พิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดจากสำนักงานอัยการ ซึ่งมีทั้งหมด 41 คนมาแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนด้วย ซึ่งการออกมาพูดบิดเบือนประวัติศาสตร์ของนายสมัครครั้งนี้ เราต้องแปรวิกฤติเป็นโอกาส ดังนั้นวันอาทิตย์นี้จึงขอนัดเพื่อนพ้องน้องพี่และสื่อมวลชนที่รักประชาธิปไตย มาร่วมกันเสวนาในเวลาบ่ายโมงของวันอาทิตย์ที่ 17 ก.พ. เพื่อหาข้อเท็จจริงกรณี 6 ตุลาอีกครั้ง ซึ่งในการเสวนาจะมีญาติวีรชน ญาติคนเดือนตุลา และพี่น้องคนเดือนตุลาที่อึดอัดอยากพูด มาร่วมเสวนามากมาย
"การแถลงข่าวของพวกผมครั้งนี้ ไม่ได้เรียกร้องให้นายสมัครออกมาขอโทษใคร เพราะนายสมัครขอโทษใครไม่เป็น เขาไม่เคยยอมผิดใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะถูกหรือผิด เปรียบเหมือนกับงาที่ไม่เคยงอกจากปากหมา เช่นใดก็เช่นนั้น คำขอโทษก็ไม่เคยออกจากปากคุณสมัคร และผมก็ไม่เรียกร้องให้คนเดือนตุลาที่รับใช้อีกฝั่งออกมาเช่นกัน หรือถ้าคุณอยากจะออกมาเองก็มาก็ได้ หรือคุณไม่อยากจะมาก็ได้" นายคงเจตกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าไม่ให้นายสมัครขอโทษ และทางเครือข่ายจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อจุดประสงค์ใด นายคงเจตกล่าวว่า ต้องการให้ประชาชนได้รับทราบถึงความจริง เพราะยังมีบางคนที่เชื่อว่ามีคนญวนมาบุกเมืองไทย การที่เขาจะขอโทษหรือไม่ขอโทษ เป็นเรื่องจิตสำนึกของเขา เราไปบังคับไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคนอายุ 70 กว่าว่าเขาจะมีจิตสำนึกแค่ไหน และขึ้นอยู่กับประชาชนว่าเขาจะเลือกเชื่อใคร
นายโอริสสา โอราวัณวัฒน์ อดีตเลขาธิการแนวร่วมอาชีวศึกษาเพื่อประชาชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่เกิดเหตุล้อมปราบนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ตนเองอยู่ในหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อตรวจตราตามจุดต่างๆ ตามระบบการรักษาความปลอดภัยที่วางเอาไว้ และเห็นการบุกเข้ามาอย่างรุนแรงที่สุด เช่นเดียวกับทางด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เมื่อถามว่า นายสมัครพูดว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 1 คน นายโอริสสากล่าวว่า หากนายสมัครตั้งใจที่จะพูดเช่นนั้น ก็แสดงว่านายสมัครตั้งใจจะบิดเบือนความจริงทางประวัติศาสตร์ เพราะไม่เชื่อว่าคนอย่างนายสมัครจะไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ตนคิดว่านายสมัครทราบดีว่าเหตุการณ์จริงๆ เป็นอย่างไร ในอีกด้านหนึ่งเชื่อว่านายสมัครต้องการจะให้นักข่าวเข้าใจว่าเหตุการณ์นั้นไม่ได้รุนแรงอะไร มีคนตายแค่คนเดียวเท่านั้น
"นายสมัครในฐานะตอนนี้ไม่ใช่นายสมัครธรรมดา แต่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่คนระดับนายกฯ ถ้าพูดอะไรออกมาในลักษณะเช่นนี้ มันหมายถึงว่า หนึ่ง คุณไม่รู้อะไรเลยในทางประวัติศาสตร์ หรือสอง คุณตั้งใจจะบิดเบือนทางประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นตรงนี้แล้วน่าจะทำอะไรให้มันกระจ่างขึ้นในตัวเขาเอง ไม่เช่นนั้นแล้ว ถ้ามองจากมุมของคนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่รู้เรื่องนี้ดี เขาจะหมดความเชื่อถือไปทันที" นายโอริสสากล่าว
เขากล่าวด้วยว่า สำหรับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของสังคม และเป็นบุคคลที่เห็นว่าความจริงเป็นอย่างไร เขาควรจะออกมาพูดความจริง ไม่ควรนิ่งเฉย แต่บางครั้งเรื่องของอำนาจ เรื่องของผลประโยชน์ หรืออะไรก็ตาม ทำให้หลายคนคิดว่านิ่งเฉยน่าจะดีกว่า แต่ถ้าสำนึกของเขาเป็นสำนึกของคนเดือนตุลาที่ยังมีจิตวิญญาณของนักสู้ เขาไม่ควรจะนิ่งเฉย
นายโอริสสากล่าวว่า ความนิ่งเฉยของ นพ.สุรพงษ์มีมานานแล้ว ไม่อยากจะพูดว่าที่เขาเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เป็นเพราะความบังเอิญ เพราะดูจะเป็นการหยามกันเกินไป แต่ก็ยังนึกถึงวีรภาพของพวกเขาในอดีต เขาจะเข้าไปด้วยสาเหตุอะไรก็แล้ว แต่เรายังนึกถึงสิ่งที่เขาทำไว้ในอดีต ไม่พยายามนึกถึงเรื่องปัจจุบันของเขา เพราะถ้านึกถึงแล้วความรู้สึกรังเกียจมันจะเกิดขึ้นในใจ
ซักว่ากรณีที่นายสมัครไปพูดกับนักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2520 ว่าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลังเกิดเหตุมีการพบหมาย่าง หมาตุ๋น และมีภาพโฮจิมินห์อยู่ในศพที่ถูกเผา ทำให้ดูเหมือนว่ามีคนเวียดนามแทรกซึมเข้ามา นายโอริสสาตอบว่า ในข้อเท็จจริงเชื่อว่านายสมัครไม่พบสิ่งเหล่านั้น เพราะไม่มี ตนตรวจตราอยู่ทุกจุดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ที่นายสมัครพูดอย่างนั้น เป็นสิ่งที่ฝ่ายผู้ปกครองต้องการจะป้ายสีให้พวกเราเป็นคอมมิวนิสต์ จึงพูดอย่างนั้นเพื่อทำให้ดูเลวร้าย ให้พวกเราเป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ เพื่อทำให้มีเหตุผล สร้างความเป็นธรรมในการเข้าปราบ ซึ่งไม่ว่าจะทำยังไงๆ ก็ไม่เป็นธรรม
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ผู้ที่จะตอบคำถามได้ดีที่สุดคือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และคนเดือนตุลาหลายคนในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งบุคคลเหล่านี้ควรจะออกมาตอบคำถาม ขณะนี้ตนในฐานคนเดือนตุลา มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถชำระด้วยการพูด
นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการตามข้อมูล ทั้งโดยการบันทึกโดยปากคำ โดยภาพถ่าย และภาพยนตร์ ทั้งจากชาวไทยและชาวต่างประเทศ ย่อมเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดี ทางราชการไทยเองก็แถลงว่ามีคนตาย 46 คน ซึ่งตัวเลขนี้อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งน่าจะต้องมีมากกว่านี้แน่ เพราะใช้อาวุธสงครามร้ายแรงร่วมด้วยช่วยกันกับอันธพาล นี่ยังไม่นับคนที่บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง และคนที่ถูกจับในวันนั้นอีกประมาณ 3,000 คน ดังนั้น การที่นายสมัครกล่าวว่ามีคนตายเพียง 1 คน จึงไม่เป็นความจริง
มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดรายการ "มุมมองของเจิมศักดิ์" ออกอากาศที่คลื่นวิทยุ 105 วิสดอมเรดิโอ คลื่นวิทยุในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกวันในเวลา 08.00-09.00 น. ได้นำจดหมายของนายสุรินทร์ มาศดิตถ์ ซึ่งในขณะนั้นบวชเป็นพระ ที่เขียนบอกเล่าถึงความจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 พร้อมทั้งนำข้อมูลเทปคำต่อคำที่นายสมัครไปพูดกับนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2520 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น โดยนายสมัครยืนยันชัดเจนกับนักศึกษาไทยในฝรั่งเศสในขณะนั้นว่ามีผู้เสียชีวิต 48 คน
ปรากฏว่าระหว่างที่นายเจิมศักดิ์กำลังอ่านคำชี้แจงของนายสมัครต่อนักศึกษาไทยในฝรั่งเศสอยู่นั้น ได้มีรัฐมนตรีในรัฐบาลได้โทรศัพท์เข้ามายังคลื่นวิทยุวิสดอมว่า จะโละทิ้งผังรายการทั้งหมดของคลื่นวิทยุวิสดอม ซึ่งฝ่ายรายการก็ได้โทรศัพท์มาสอบถามยังนายเจิมศักดิ์ว่า จะช่วยลดความเสียหายให้กับคลื่นวิทยุอย่างไรบ้าง ซึ่งนายเจิมศักดิ์ก็ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการถอนตัวออกจากการจัดรายการ เพื่อที่จะบรรเทาความเสียหายให้คลื่นวิทยุวิสดอม. นายเถลิง สมทรัพย์ ผู้ดำเนินรายการร่วมกับนายเจิมศักดิ์ยอมรับว่า นายเจิมศักดิ์ขอหยุดจัดรายการจริงเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากเกรงว่าอาจกระทบกระเทือนคลื่นวิสดอม เจ้าของสัมปทาน จึงขอหยุดยาวไม่มีกำหนด โดยจะเอารายการภาษาอังกฤษกับข่าวมาแทน โดยจัดยาวตั้งแต่ 09.00-11.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายว่า กรณีดังกล่าวมีข่าวสะพัดอ้างว่านายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้โทรศัพท์มาเพื่อขอความร่วมมือขอให้หยุดการออกอากาศรายการของนายเจิมศักดิ์ ที่กล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์การเสียชีวิตของนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างการจัดรายการนายเจิมศักดิ์ได้อ่านบันทึกประวัติศาสตร์ในหนังสือชื่อ Gang of Five ซึ่งเขียนโดยนายวีระ ทำให้สถานีต้องขอความร่วมมือกับนายเจิมศักดิ์ให้ถอดรายการนออกไป เพราะไม่เช่นนั้นนายจักรภพจะถอดสัญญาสัมปทานทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม นายจักรภพปฏิเสธไม่ได้สั่งให้มีการถอดรายการของนายเจิมศักดิ์ และได้ให้นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ประสานงานไปยังบริษัทฟาติมา ซึ่งเป็นเจ้าของคลื่น 105 เปิดการแถลงข่าวเพื่อแสดงข้อเท็จจริงในวันที่ 14 ก.พ. โดยมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ร่วมกันแถลงข่าวไขข้อสงสัยทั้งหมด
นายจักรภพกล่าวว่า ช่วงนี้อาจจะมีนโยบายไปยังแต่ละสถานี ว่าอย่าเพิ่งมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในช่วงนี้จนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนโยบายสื่อ ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะมีความชัดเจน รวมถึงเรื่องทีวีช่องใหม่ เพราะไม่อย่างนั้นหากเกิดอะไรขึ้นในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นที่จะถูกมองว่ารัฐบาลเป็นคนสั่งการ เนื่องจากว่าในช่วงนี้ก็เป็นธรรมดาที่อาจจะมีการทำอะไรสนองนโยบายโดยที่รัฐบาลไม่ได้สั่งเพื่อเป็นการเอาใจ
(3)
TU FORUM โครงการ " ๑๔ ตุลาศึกษา" ในวาระสู่
๓๕ ปี ๑๔ ตุลา
จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือด: ประวัติศาสตร์บาดแผล
กับบท (ไม่) เรียนของเรา
From October 14th to 6th and the Bloody May: The Unlearned
Lessons of Our History
(ได้รับมาทางจดหมายอีเล็กทรอนิก)
อังคาร 19 กุมภาพันธ์ 2551 - 13:00-18:30
ชั้น 3 ตึกเอนกประสงค์ มธก ท่าพระจันทร์
13:30-14:00 ฉายภาพยนตร์สารคดี
"จากสยามเป็นไทย: นามนั้นสำคัญมากฉะนี้หรือ?"
From Siam to Thailand: What in a name (English subtitle)14:00 อธิการบดีกล่าวเปิดงาน
14:15 ปาฐกถานำ "ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียน"
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์14:30 "นาฏรัฐเพลงประวัติศาสตร์การเมืองสยามประเทศ (ไทย)"
Theater State and Songs from Siam to Thailand (SeasTU Students/8)
(บทกวี "ฉันเยาว์ ฉันเขลา" สู้ไม่ถอย, G. Verdi's Liberty)14:45 ภาพยนตร์สารคดี / VCD (57 นาที): 14 ตุลา บันทึกประวัติศาสตร์
(October 14 Student Uprising, with English subtitle)15:45 ปาฐกถาพิเศษ "6 ตุลา-บท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย"
อ. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย16:00 "นาฏรัฐเพลงประวัติศาสตร์การเมืองสยามประเทศ (ไทย)"
Theater State and Songs from Siam to Thailand (SeasTU Students/8)
(International หนักแผ่นดิน และ แสงดาวแห่งศรัทธา)16:15 ภาพยนตร์สารคดี / VCD: 6 ตุลา
17:00 ปาฐกถาพิเศษ "พฤษภาเลือด-อีกหนึ่งบท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย"
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (นักศึกษาปริญญาเอกรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวายอิ)17:15 "นาฏรัฐเพลงประวัติศาสตร์การเมืองสยามประเทศ (ไทย)"
Theater State and Songs from Siam to Thailand (SeasTU Students/8)
(ทะเลใจ บทกวีและบทเพลง "ราษฎร/ราชดำเนิน")17:30 ภาพยนตร์สารคดี / VCD 54 นาที: บันทึกสีดำ
พิธีกร อ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ
หมายเหตุ จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (โครงการตลาดวิชา มหาวิทยาลัยชาวบ้าน), วิชา ป. 211 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หลักสูตรควบตรี/โทด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(หมายเหตุ: อ่านต่อเนื้อหาในส่วนนี้ เฉพาะปาฐกถาของ ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, อ. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ในบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่ 1490)
(4)
ธงชัย วินิจจะกูล : อย่าหยุดแค่นายสมัคร
(ได้รับมาทางจดหมายอีเล็กทรอนิก)
ผมติดตามกรณีนายสมัคร สุนทรเวช พูดเกี่ยวกับ 6 ตุลาด้วยความรู้สึกเซ็ง เศร้า
และขยะแขยง. นายสมัครพูดจาไม่รับผิดชอบ บิดเบือนข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ไม่ได้เกี่ยวกับการตีความหรือขึ้นต่ออุดมการณ์ใดๆ
เลยสักนิด นายสมัครแกล้งลืมหรืออาจพร่ำบอกโกหกตัวเองตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ว่าเหตุการณ์
6 ตุลาเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่สำคัญอะไร เพราะเขารู้ว่าเป็นรอยด่างอัปลักษณ์ในประวัติของเขาที่หลงตัวเองว่า
เก่งดีงามกว่าคนอื่น
การจงใจทำให้ 6 ตุลา กลายเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่มีความสำคัญใดๆ ต่อสังคมการเมืองไทยเป็นเรื่องน่าเศร้า น่าขยะแขยง เป็นการปฏิเสธความสำคัญของทุกๆ ชีวิตที่ดับสูญไปฉับพลันในวันนั้น ไร้ความเคารพต่อพวกเขา ครอบครัวของเขา และผู้ได้รับผลกระทบเสียหายอีกมากมายจากเหตุการณ์ 6 ตุลา. เราต้องประณามนายสมัครและต่อสู้กับการบิดเบือนลบเลือนประวัติศาสตร์อย่างน่าขยะแขยงเช่นนี้. แต่นายสมัครไม่ใช่คนแรกหรือคนเดียวที่พยายามทำเช่นนี้ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อกรรมทำเข็ญในโศกนาฏกรรมดังกล่าว ทั้งระดับผู้ปฏิบัติการรายย่อยๆ ตลอดถึงผู้บงการประสานงานวางแผนระดับสูงต่างทำอย่างเดียวกับนายสมัครทั้งสิ้น
สังคมไทยโดยรวมก็ทำไม่ต่างจากนายสมัครเท่าไรนัก คือ แกล้งลืมหรืออาจพร่ำบอกโกหกตัวเองตลอด 30 ปีที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่สำคัญอะไร เพราะสังคมไทยรู้ว่าเป็นรอยด่างอัปลักษณ์ในประวัติของสังคมไทยที่หลงตัวเองว่า ดีงามสูงส่งวิเศษกว่าสังคมอื่น สังคมไทยไม่เคยตอบรับเสียงเรียกร้องให้ทำการสะสางความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่เคยพยายามให้คำตอบกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ไม่เคยคิดถึงความยุติธรรม ไม่เคยเอาจริงเอาจังกับประวัติศาสตร์. การบิดเบือนไม่รับผิดชอบของนายสมัครไม่ใช่กรณีพิเศษ แต่เป็นตัวแทนของผู้คนทั่วไปในสังคมไทย รวมทั้งปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์นักเคลื่อนไหวหลายคน ที่กำลังวิจารณ์นายสมัครอย่างเอาเป็นเอาตายด้วย
นายสมัครปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทของตนก่อนและหลัง 6 ตุลาใหม่ๆ มีส่วนสร้างและกระพือความเกลียดชังด้วยการโฆษณาชวนเชื่อให้ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามกับตน (ทั้งนักศึกษาฝ่ายซ้ายและคู่ปรับของตนในพรรคประชาธิปัตย์) เป็นบทบาททำนองเดียวกับวิทยุยานเกราะ ทมยันตี นักการเมือง และนักพูดนักจัดรายการวิทยุอีกหลายคนในระดับต่างๆ กันไป ความเกลียดชังจนเห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นปีศาจที่ต้องกำจัดทำลายเป็นปัจจัยหนึ่งของความโหดเหี้ยมเมื่อ 6 ตุลา. กระบอกเสียงของฝ่ายขวาเหล่านี้เป็น "เป้า" ที่เห็นได้ชัดโดยไม่ต้องคิดวิเคราะห์อะไรเลย แต่หากใครคิดว่า 6 ตุลาเกิดขึ้น เพราะคนพวกนี้แค่นั้น ต้องนับว่าตื้นเขินอย่างเหลือเชื่อ
ผู้มีบทบาทอย่างสำคัญ ทั้งในการสร้างความเกลียดชัง จัดตั้งกลุ่มฝ่ายขวา วางแผน สั่งการ จนเกิดการใช้ความรุนแรงถึงชีวิต กลับมักเป็นคนที่ไม่ออกมาแสดงตัวโผงผาง หลายคนทำตัวดีเลิศประเสริฐศรี เป็นผู้นำเรียกหาคุณธรรม จนผู้คนนับหน้าถือตากันทั้งบ้านเมือง. ปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์ นักเคลื่อนไหวการเมืองทั้งหลายไม่รู้ข้อนี้ หรือแกล้งไม่รู้กันแน่ จึงไม่เคยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาสอบถามตัวการผู้มีบทบาทอย่างสำคัญเลย แถมหลายคนกลับร่วมสังวาสทางการเมืองกับคนเหล่านี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยไม่เคยรู้สึกตะขิดตะขวงใจอย่างใด ทำตัวน่ารังเกียจไม่ต่างจากพวกที่เขาเรียกว่า ตุลาชิน ที่ร่วมมือกับนายสมัครในขณะนี้
หากต้องการชำระสะสาง 6 ตุลาจริง กรุณาอย่าหยุดแค่ประณามนายสมัคร แต่ขอให้สืบสาว ตั้งคำถามและประณามอีกหลายคน ที่ยังคงมีบทบาทอำนาจทางการเมืองสูงเช่นกัน อาทิ
1. นายพันฝ่ายข่าวทหาร ซึ่งต่อมาเป็นนายพลก่อนลาออกจากราชการ เขาทำหน้าที่ประสานงานกลุ่มฝ่ายขวาเพื่อต่อต้านนักศึกษา มีบทบาทสูงในการต่อต้านนักศึกษาที่เคลื่อนไหวให้ถอนฐานทัพอเมริกัน เป็นผู้จัดการชุมนุมฝ่ายขวาครั้งสำคัญที่สนามไชย เมื่อปี 2519 เป็นคนสำคัญในการชุมนุมกลุ่มฝ่ายขวา ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลา เขามีบทบาทสูงมากในพันธมิตรต่อต้านทักษิณ และเพื่อการรัฐประหารที่ผ่านมา. ถ้าหากบทบาทของคนๆ นี้ไม่ชัดเจนเท่านายสมัคร ก็น่าที่จะสืบสวนหาความกระจ่าง อย่ามักง่ายเอาแค่เป้าที่เห็นง่ายๆ ทั้งๆ ที่บทบาทประสานงานกลุ่มฝ่ายขวาน่าจะสำคัญต่อ 6 ตุลาไม่น้อยกว่านายสมัคร
2. นายพลที่มีบทบาทสำคัญต่อการปราบปรามคอมมิวนิสต์สมัยนั้น เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยการจัดตั้งกลุ่มขบวนการฝ่ายขวาขึ้นมา รวมทั้งมอบหมายให้เพื่อนสนิทของเขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดตั้งกลุ่มกระทิงแดง และให้นายพันคนสนิทของเขา (ในข้อ 1) ประสานงานกับอีกหลายกลุ่ม นายพลคนนี้ต่อมาเป็นใหญ่เป็นโตมาก ทั้งในรัฐบาลและอำนาจแฝงเหนือรัฐบาล ฝ่ายขวาที่ถูกเขาใช้แล้วทิ้งให้ฉายาเขาว่าเป็น "นักฆ่าฯ" ในขณะที่สังคมยกย่องให้เขาเป็นผู้มีคุณธรรมสูงยอดคนหนึ่ง
ปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์ที่แคร์กับ 6 ตุลามากในการวิจารณ์นายสมัคร กลับเชิดชูปกป้อง "นักฆ่าฯ" ผู้นี้อย่างสุดใจเมื่อไม่นานมานี้เอง หากบทบาทของเขาไม่ชัดเจนเท่านายสมัคร ก็น่าที่จะทำการบ้านและลงแรงสืบสวนเสียบ้าง แทนที่จะพอใจแค่การโจมตี เป้าที่เห็นชัดๆ แต่กลับร่วมสังวาสทางการเมืองกับผู้มีบทบาทในการก่อความรุนแรงยิ่งกว่านายสมัครเสียอีก
3. ใครสั่งตำรวจตระเวนชายแดน ณ 02.00 น. ของวันที่ 6 ตุลา ให้เคลื่อนกำลังจากหัวหิน เพื่อมาถึงธรรมศาสตร์ทันเวลาลงมือ ณ 06.00 น. พอดี ผู้สั่งต้องรู้แผนการหรือเกี่ยวข้องกับผู้รู้แผนการว่าจะเกิดอะไรในตอนเช้า จนบัดนี้ดูเหมือนว่าความจริงข้อนี้เป็นความลับที่สุดข้อหนึ่ง แต่กลับไม่มีปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์สืบสาวให้ถึงต้นตอของเรื่องนี้เลย เพราะความจริงข้อนี้อาจนำไปสู่ตัวการสำคัญที่พวกเขาพยายามทำเป็นไม่รู้และไม่ต้องการรับรู้
4. ในการปลุกระดมกระพือความเกลียดชัง มีหลายฝ่ายหลายกลุ่มที่มีบทบาทไม่น้อยกว่านายสมัครเลย ที่สำคัญมากๆ ได้แก่ วิทยุยานเกราะ และลูกเสือชาวบ้าน จนบัดนี้ ไม่เคยมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงว่า ใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นวิทยุของทหารทั่วประเทศ สร้างความเกลียดชังถึงขนาดนั้น ใครมีส่วนทำให้ลูกเสือชาวบ้านกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างอันตรายขนาดนั้น ทั้งสองกลุ่มเป็นกลไกที่ต้องอาศัยผู้มีอำนาจร่วมมือกันอย่างกว้างขวาง ต้องมีการประสานงานวางแผน และทำงานเป็นระบบกว่านายสมัครหลายเท่านัก
ถ้าหากต้องการชำระสะสาง 6 ตุลาจริง เพราะต้องการความจริงและความยุติธรรม เพื่อเชิดชูการเสียสละของวีรชน 6 ตุลาจริง กรุณาอย่าหยุดแค่นายสมัคร แต่กรุณาสืบสาวและตั้งคำถามกับคนที่มีบทบาททำให้คนตายที่สำคัญกว่าปากของนายสมัคร เอาให้ถึงตัวการสำคัญๆ มากเท่าไรก็ยิ่งดี และอย่าร่วมสังวาสทางการเมืองกับคนพวกนี้ ซึ่งวางแผน บงการ และอยู่เบื้องหลังอาชญากรรมคราวนั้น
การจำกัดโจมตีแค่เป้าที่เห็นชัดๆ แต่ไม่พูดถึงตัวการสำคัญๆ อาจช่วยให้ปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์เหล่านี้ปลอบตัวเองได้ว่า ตนกำลังทำเพื่อ 6 ตุลา ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงเป็นการหลอกตัวเอง และหลอกสังคมไทยต่อไปเรื่อยๆ. หากจงใจเล่นงานแค่นายสมัครเพื่อผลทางการเมืองขณะนี้ แต่กลับร่วมสังวาสทางการเมืองกับผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความรุนแรงเมื่อ 6 ตุลา ก็ต้องนับว่าเป็นการโกหกแหกตาประชาชนแค่นั้นเอง เป็นการฉวยโอกาสใช้ 6 ตุลาเป็นแค่เครื่องมือทางการเมืองอย่างมักง่าย ไม่ได้เคารพผู้เสียชีวิตเมื่อ 6 ตุลาเลยแม้แต่น้อย
การใช้ 6 ตุลาเป็นเครื่องมือในวันนี้ เพื่อสร้างประโยชน์ทางการเมืองแก่กลุ่มการเมืองที่วางแผน บงการ และอยู่เบื้องหลังอาชญากรรม 6 ตุลา เท่ากับเป็นการทำร้ายผู้เสียสละ เมื่อ 6 ตุลาซ้ำอีกครั้ง เป็นการสังหารวีรชนซ้ำอีกครั้งอย่างน่าขยะแขยง น่าทุเรศที่สุด
ดูเอาเองก็แล้วกันว่า
ใครกำลังทำเพื่อความความจริง ความยุติธรรม และเพื่อวีรชน 6 ตุลา ใครกำลังฉวยโอกาสทำร้ายวีรชนซ้ำอีกครั้ง
(เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 กุมภาพันธ์
2551)
(5)
เรื่อง ข้อมูลและจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายในกรณี
6 ตุลา
Attn. 6 Tula Fatalities and Archives
To Whom It May Concern:
I am writing this on behalf of the Siam Association of Archives with a plan to clarify and record keeping of the event of 6 Tula . I would appreciate it very much if you could send us names, photo, and information of the 6 Tula fatalities. Please send it to this email or by post: Siam Association of Archives, Old Library Building , 2nd Fl., Thammasat University , Bangkok , 10200. Best wishes.
Sincerely,
Charnvit Kasetsiri
Chairperson: Siam Association of Archives
เรื่อง ข้อมูลและจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายในกรณี 6 ตุลา
เรียน กัลยาณมิตร
สืบเนื่องจากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องของข้อมูลและจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายในกรณี 6 ตุลา สมาคมจดหมายเหตุสยามจึงใคร่เรียนขอความอนุเคราะห์ ขอให้ท่านที่ทราบเรื่องราว หรือมีข้อมูลดังกล่าว (ชื่อ รูปถ่าย ประวัติ ฯลฯ) ได้จัดส่งให้กับสมาคมฯ ทางอีเมล์นี้ หรือทาง ป.ณ. ไปยัง "สมาคมจดหมายเหตุสยาม" ตึกหอสมุดเก่าชั้น 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กทม. 10200 ทั้งนี้เพื่อรวบรวมไว้สำหรับชำระประวัติศาสตร์ของชาติสืบไปด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง
นาย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
นายกสมาคมจดหมายเหตุสยาม
(6)
ส.ว. - ๖ ตุลา - ภาคใต้ และประชาธิปไตยไทย
ใจ อึ๊งภากรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(ได้รับมาทางจดหมายอีเล็กทรอนิก)
ปัญหาใหญ่สำหรับประชาธิปไตยไทยในยุคนี้คือการที่เรามีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทยที่โกหกและไม่ปกป้องสิทธิมนุษยชน
และเรามีฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ที่สนับสนุนรัฐประหาร ไม่สนใจแก้ปัญหาอาชญากรรมรัฐ
และดูถูกคนจน ในขณะเดียวกันผู้ที่สำคัญที่สุดในการปกป้องและขยายพื้นที่ประชาธิปไตย
เครือข่ายภาคประชาชน ยังจมอยู่ในการเมือง "กบขอนาย" ไม่รู้จักอิสระทางการเมืองจากชนชั้นปกครองสักที
ล่าสุดพวกคนในภาคประชาชนที่แสดงความจงรักภักดีต่อ ค.ม.ช. โดยการเสนอตัวเป็น ส.ว.
แต่งตั้ง ก็ถูกทหารและข้าราชการเตะหน้าโดยไม่เลือกเขาสักคนเข้าสภา
ผมคงไม่ต้องลงรายละเอียดมากมายเรื่องการโกหกของนายกสมัคร และรัฐมนตรีเฉลิมเรื่อง ๖ ตุลา ในกรณีหลังมีการพูดว่าตำรวจเมาปืนลั่น และผมได้ยินคนเดือนตุลาคนหนึ่งตอบรับว่า "ใช่ ถูกแล้ว แต่มันเกิดใน Pub เมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ไม่รู้ลูกใคร แต่ตำรวจตายด้วย" แต่สิ่งที่เราต้องมาเน้นในเรื่องนี้คือ สมัครมันไม่แค่โกหกเรื่อง ๖ ตุลา มันโกหกเรื่องตากใบด้วย สมัครให้สัมภาษณ์ Al Jazeera ว่า "พวกนั้นถือศีลอด อ่อนแอ เลยล้มทับกันเอง ไม่มีใครเจตนาฆ่า รัฐบาลผิดตรงไหน?" ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นคนแบบนี้ สภาพสิทธิมนุษยชนจะเป็นอย่างไร? สงครามปราบยาเสพติดของรัฐมนตรีเฉลิมจะเป็นอย่างไร? ตำรวจทหารเมาทั่วประเทศปืนลั่นตายอีก 3000 ศพหรือ? แล้วมาเฟียค้ายาเสพติดใหญ่ๆ ที่เป็นนักการเมืองระดับสูงลอยนวลเหมือนเดิม? ถ้านายก และ ม.ท.๑ โกหกตามใจชอบ เขาจะโกหกประชาชนเรื่องอื่นเมื่อไร?
พรรคประชาธิปัตย์ไม่จริงใจในการชำระประวัติศาสตร์ ๖ ตุลาหรอก พรรคนี้สนับสนุนรัฐประหารของ ค.ม.ช. ด้วยคำพูดและพฤติกรรม ค.ม.ช. ก็แต่งตั้งนายกที่เคยปราบประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ค.ม.ช. ออกมาเซ็นเซอร์หนังสือ เวปไซท์ และออกกฎหมายความมั่นคง ประชาธิปัตย์ก็เงียบ และพรรคนี้เคยตั้งรัฐบาลมาสามรอบหลัง ๖ตุลา ไม่เห็นสนใจจะชำระประวัติศาสตร์ ๖ ตุลาเลย
รัฐมนตรีเฉลิมมองว่า ๖ ตุลา เกิดนานแล้ว ลืมดีกว่า การลืมและไม่ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เราไม่มีมาตรฐานทางสังคมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ตรงกันข้ามเรามีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เปิดช่องทางให้ชนชั้นปกครองฆ่าประชาชนเมื่อไรก็ได้. หลัง ๖ ตุลา ก็มี พฤษภาทมิฬ มีสงครามยาเสพติด มีตากใบ มีการสูญหายของนักเคลื่อนไหว เช่นทนายสมชาย และรูปแบบแต่ละครั้งก็ซ้ำรอยอยู่เรื่อยๆ มีการฆ่า มีการถอดเสื้อมัดมือ มีการโกหกแก้ตัวโดยรัฐ ฯลฯ การโกหกของสมัครเรื่องตากใบเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมอาชญากรรมรัฐแบบนี้ แต่ประชาธิปัตย์ก็เงียบ พวกที่อยู่ข้างฝ่าย ค.ม.ช.-พันธมิตรประชาชนเพื่อ... ที่ต้องการตีพรรคพลังประชาชน ก็ไม่สนใจเช่นกัน
เมื่อวานนี้ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เชิญผมไปออกอากาศเรื่อง ๖ ตุลา ที่ ASTV ธรรมดาผมจะไม่ร่วมมือกับ ASTV แต่ผมไปเพราะอาจารย์เจิมศักดิ์ชวน เขาพึ่งถูกปิดรายการวิทยุเรื่อง ๖ ตุลา และเคยมีจุดยืนที่ดีเรื่องภาคใต้ทั้งๆ ที่ร่วมมือกับ ค.ม.ช. ในภายหลัง. ในรายการ ASTV สด ผมพยายามทำตามคำแนะนำของ ธงชัย วินิชกุล และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรื่อง ๖ตุลา. ผมพูดว่าสมัครเป็นคนปลุกระดมก็จริง แต่ไม่ใช่ตัวกลางที่มีอำนาจสั่งการ ผมพูดว่าชนชั้นปกครองไทยจากเบื้องบนสุด รวมถึงผู้มีอำนาจอื่น มีบทบาทในการก่อเหตุการณ์นองเลือด พอผมพูดเสร็จ ในช่วงพักครึ่งเวลา โทรศัพท์มือถือของเจิมศักดิ์ก็ดัง "กริ้งๆ"... เจิมศักดิ์รับโทรศัพท์... "ครับคุณสนธิ" และผมก็ได้ยินคุณสนธิเอ่ยชื่อผม และพูดว่าคำพูดผมอาจมีปัญหา
ผมไม่ได้เกิดเมื่อวาน ผมทราบดีว่าในระบบทุนนิยมชนชั้นปกครองคุมสื่อผ่านรัฐร่วมกับนายทุนที่คุมสื่อเอกชน แต่ผมไม่เคยคิดว่าจะโชคดีพอที่จะได้เห็นและได้ยิน ต่อหน้าต่อตา ภาพของเจ้าของสื่อเอกชนโทรศัพท์มาเซ็นเซอร์สื่อขณะกำลังออกอากาศ. ผมจำได้ว่าพวกพันธมิตรฯ เคยให้เหตุผลหนึ่งว่าเราควรร่วมมือกับสนธิ ลิ้มทองกุล "เพราะเขามีสื่อ" ใช่เขามีสื่อ เขาเป็นนายทุน เขาเป็นเจ้าของสื่อ และเขาพร้อมจะเซ็นเซอร์และควบคุมสื่อไม่ให้มีการพูดกันถึงความจริงเกี่ยวกับ ๖ ตุลา แต่พวกพันธมิตรฯ ก็คิดว่าสามารถใช้สื่อของสนธิเพื่อด่าทักษิณที่ไปคุมสื่อ?!!!!
ในเรื่อง ๖ตุลา ผมคิดว่า สมศักดิ์ และธงชัย คงมองว่ากษัตริย์เป็นตัวกลาง (ถ้าผมตีความผิดก็ขออภัย) ความคิดนี้มีเหตุผล แต่ผมไม่เห็นด้วยเพราะผมเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจกษัตริย์ไปแล้ว อย่างไรก็ตามเราคงต้องแลกเปลี่ยนกันต่อไปเรื่องนี้
หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยาภาคประชาชนส่วนหนึ่งไม่ยอมออกมาเดินขบวนต้าน คมช. ในงานสมัชชาสังคมไทย มีการห้ามลูกน้องด้วย มีการตั้งความหวังกับ สนช. มีการร่วมมือในการร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ มีการด่าพวกเราว่า "ทารกไร้เดียงสา ยึดติดอุดมการณ์มากไป ไม่มีใครทำงานด้วย...ฯลฯ" ผมจำได้ว่าไปฟังวิทยากรรับเชิญจาก ค.ม.ช. ในเวทีพิจารณารัฐธรรมนูญใหม่ของ ก.ป.อ.พ.ช. วิทยากรคนนั้นพูดว่าต้องรับรัฐธรรมนูญนี้เพราะจะเพิ่มสิทธิเสรีภาพ จะทำให้คนของภาคประชาชนและเอ็นจีโอได้มีโอกาสถูกแต่งตั้งเป็น ส.ว. "เป็นครั้งแรก" แกละเลยที่จะพูดว่า ส.ว. เอ็นจีโอเคยชนะการเลือกตั้งในอดีตและคนหนึ่งเป็นประธาน ก.ป.อ.พ.ช. ตอนนั้นด้วย!!.... ภาคประชาชนบางส่วนเลยชวนให้เรารับรัฐธรรมนูญทหาร ต่อมาก็เสนอตัวเป็น ส.ว. แต่งตั้ง... ที่เหลือเป็นประวัติศาสตร์ที่ท่านรู้แล้ว ประเด็นคือจะมีการทบทวนเรียนรู้ไหม?
ในวันที่ 2 มีนาคมผมจะไปเลือกคุณรสนา และหวังว่าเขาจะได้เป็น ส.ว. ของภาคประชาชนในกรุงเทพฯ เพราะอย่างน้อยสุดเขามีบทบาทเด่นในการต่อต้านการแปรรูป ก.ฟ.ผ. และการเปิดโปงการกินโกงที่กระทรวงสาธารณสุข. แต่ถ้าใช้ปัญญาคิด คุณรสนามีทางชนะน้อย เพราะฝ่ายเรายังเป็นเสียงข้างน้อย อย่างไรก็ตามผมคิดว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งไม่สูญเปล่า ต้องทำ แต่ผมผิดหวังที่คุณรสนาไม่ออกไปหาภาคประชาชนมากกว่านี้ ไม่ออกไปคุยกับทุกกลุ่มทุกเครือข่าย ไม่ขอบริจาคคนละบาทสองบาทเพื่อให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ ไม่ขอความช่วยเหลือในการแจกใบปลิวและติดโปสเตอร์ และไม่ใช้โอกาสนี้ในการเสนอภาพกว้างของการปฏิรูปการเมืองไทยในเวทีต่างๆ ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลไกตลาด สิทธิเพศ ปัญหาภาคใต้ สิทธิแรงงาน ฯลฯ เพราะนั้นคือแนวทางที่จะไปสู่การเมืองอิสระของภาคประชาชน
ใจ อึ๊งภากรณ์
กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน
Workers Democracy Thailand (0813469481)
ดู Blog สิ่งตีพิมพ์ กปร. http://wdpress.blog.co.uk/
ดู website พรรคแนวร่วมภาคประชาชน http://www.pcpthai.org/
(7)
6 ตุลา: ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอายุความ"
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ - ตอบคำถามผู้สื่อข่าว
(ได้รับมาทางจดหมายอีเล็กทรอนิก)
ถาม ประวัติศาสตร์ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ควรค่าแก่การศึกษา แต่สังคมไทยในวงกว้างยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ อาจารย์คิดว่าหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ หรือรัฐบาล หรือภาคประชาสังคม ควรจะขับเคลื่อนในแง่การชำระประวัติศาสตร์ช่วงนั้นให้เป็นบทเรียนต่อสังคมไทยได้อย่างไรครับ
ตอบ
ควรจะต้องบรรจุอยู่ใน "แบบเรียน" วิชาสังคมศึกษา ระดับมัธยม แต่ปัญหาก็เป็นเรื่องของ
"นโยบาย"
และ "แนวคิด" กับ "จิตสำนึก" ว่าด้วยวิชา "ประวัติศาสตร์"
ของผู้กุมอำนาจรัฐในระดับของรัฐและกระทรวงศึกษาฯ หากยังคงย่ำอยู่กับที่เพียงเรื่อง
"ประวัติศาสตร์" โบราณๆ อันเต็มไปด้วย "จักรๆ วงศ์ๆ " ประวัติศาสตร์
(และ/หรือที่ถูกแปรสภาพให้ไร้พลังสร้างสรรค์ กลายเป็น "วิชาสังคมศึกษา"
ไปแล้วนั้น) ก็คงเป็นเรื่องน่าเบื่อ มีแต่ท่องจำ และกลายเป็น "ยากล่อมประสาท"
กับทั้งไม่สร้างสติปัญญาให้กับเยาวชนเท่าไรนัก
ถาม ในมุมมองของอาจารย์คิดว่า การที่ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในช่วงนี้ เป็นเพียงการตอบโต้กันทางการเมือง แล้วสุดท้ายก็เงียบหายไปเหมือนเคย หรือจะเป็นการจุดประกายให้ชำระประวัติศาสตร์กันอย่างจริงจังเสียทีครับ
ตอบ คงจะเงียบหายไปในเวลาไม่ช้านี้ เพราะนี่เป็น "ประวัติศาสตร์" ที่ผู้กุมอำนาจของรัฐ และ/หรือระดับคณะรัฐมนตรี หรือเจ้ากระทรวง หรือผู้บัญชาการ หรือผู้อำนวยการใดๆ ก็ตาม มักต้องการให้เรา "ลืม" มากกว่าให้เรา "จำ". วิชาประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของการต่อสู้ "แย่งชิงพื้นที่" กันในหน้ากระดาษของตำราเรียน ในสื่อสารมวลชนทั้งของฝ่ายรัฐและฝ่ายเอกชน และที่สำคัญในยุคปัจจุบันคือในโลกอินเตอร์เน็ทและอีเมล์
ดังนั้น การชำระประวัติศาสตร์
หรือการทำให้เรื่องของ 6 ตุลาไม่เป็นเพียง "ตำนาน" หรือ "ความทรงจำส่วนตัว"
ก็คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากในสถานการณ์และสภาพการเมืองปัจจุบัน แต่ก็ต้องถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี
ที่คนระดับ นรม. สมัคร และ รมต. เฉลิมออกมาเปิดประเด็นว่า "มีคนตายเพียง
1 คน หรือตำรวจเมา ทำปืนลั่น"
เป็นการจุดประเด็นจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ทำให้ "ความเงียบ"
ของ 6 ตุลา กลับมา "กึกก้อง" ได้อีกครั้ง
ถาม การที่นักการเมืองหลายคนที่มีส่วนในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ออกมาพูดในทำนองบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่รับรู้กันพอสมควรแล้ว เช่น กรณีของคุณสมัครที่ไปพูดกับสื่อต่างประเทศว่ามีคนตายแค่คนเดียว หรือกรณีของคุณเฉลิม ที่ระบุว่าจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์นองเลือด เป็นเพราะตำรวจกองปราบเมาแล้วทำปืนลั่น เหล่านี้จะกลายเป็นตัวเร่งทางการเมืองทำให้สถานการณ์บานปลายจนเกิดความรุนแรงรอบใหม่หรือไม่ครับ หรือว่าสุดท้ายก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ แล้วจบๆ กันไป
ตอบ ในเบื้องต้น คำสัมภาษณ์ของทั้งของ นรม.สมัคร และ รมต. เฉลิมนั้น อาจมีเป้าหมายในการทำให้เรื่องของ "6 ตุลา" กลายเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อย ไร้สาระ ไม่มีความสำคัญ ไม่จำเป็นจะต้องมีผู้รับผิดชอบ (คือที่ผู้กุมอำนาจรัฐในสมัย 2519 ที่ใช้สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ในการประกอบอาชญากรรม ยึดอำนาจเมื่อ 6 ตุลา) นั้น และก็ไม่จำเป็นจะต้องรับผิดชอบต่อบาปและความทารุณโหดร้าย นี่เป็นวิธีปัดความรับผิดชอบ ที่ใช้มาตลอดเวลา และยังได้ผลอยู่ (รวมทั้งในกรณีพฤษภาเลือด 2535)
และในประเด็นต่อมา ก็ทำให้ฝ่ายขวาสุดของรัฐบาลผสมชุดปัจจุบัน (ที่เป็นการ "เกี่ยเซี๊ยะ" กันชั่วคราวในพรรคพลังประชาชน และทำให้เราๆ ท่านๆ หลงเชื่อว่า นรม. สมัครเป็นเพียง "นอมินี" ของคุณทักษิณ เพื่อเอาคะแนนเสียงเลือกตั้งจาก "รากหญ้าและรากแก้ว" นั้น) มีอำนาจต่อรองเหนือ (อดีต) ฝ่ายซ้ายสุดในพรรคฯ ซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่าไม่มีใครกล้าหรือออกมาแสดงความคิดเห็นหรือจุดยืนใดๆ ที่ตรงกันข้ามกับข้อมูลประวัติศาสตร์ และกับ นรม. สมัครและ รมต.เฉลิม และที่ร้ายที่สุดก็คือมีบางคนถึงกับออกมา "ปกป้อง" แก้ต่างให้กับฝ่ายขวาสุดด้วยซ้ำไป. ดังนั้น คำถามก็คือ นี่เป็นการ "เกี่ยเซี๊ยะ" กัน "ชั่วคราว" ของ พปช. กับรัฐบาลสมัคร 1 แบบเดียวกันกับระหว่างเหมาเจ๋อตุงและเจียงไคเช็ค หรือเป็น "เกี่ยเซี๊ยะ" กัน "ถาวร" แบบไทยๆ
ถาม บทเรียนจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือการไม่ยอมรับความต่างของอุดมการณ์ทางการเมือง อาจารย์คิดว่าสังคมไทยก้าวพ้นสภาพดังกล่าวไปหรือยัง หรือว่ายังอยู่ในวังวนเดิมๆ แล้วก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการนองเลือดได้อีกทุกเมื่อ เหมือนกับไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารซ้ำอีกในบ้านเรา
ตอบ
"6 ตุลา" คืออีกหนึ่งบท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย เช่นเดียวกับเรื่องของ
"14 ตุลา" หรือเรื่องของ "พฤษภาเลือด" ดังนั้น สังคมไทยยังก้าวไม่พ้น
"วังวน" ของการทำผิดและพลาดได้อีกตลอดเวลา เหมือนๆกับเรื่องของรัฐประหาร
(ทีเรียกกัน "ผิดๆ" ทางวิชาการทางรัฐศาสตร์ ว่าเป็นการ "ปฏิรูป"
ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) นั้น ก็คงต้องมีอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก
เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ (2550 ของ "เนติบริการและรัฐศาสตร์บริการ"
ที่ถูกเสียดสีว่าเป็น "รัด ทำ มะ นวย") นั้นก็คงจะถูกฉีกทิ้ง และร่างกันขึ้นมาใหม่อีก
สังคมไทยยังไม่พ้นจาก "วัฏจักรของความชั่วร้าย" ของการเมือง "น้ำเน่า"
แบบนี้
ถาม แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดการขยายผลวิวาทะกรณี 6 ตุลาฯของบรรดานักการเมืองให้กลายเป็นความรุนแรงในบ้านเมืองอีก อาจารย์คิดว่าสังคมไทยควรจะมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ
ตอบ นึกไม่ออก
ดูเหมือนจะยังไม่มีทางออก เพราะผู้กุมอำนาจรัฐ เป็นผู้กำหนดเกมนี้ตลอดเวลา นั่นคือการใช้
"ความรุนแรง" หรือกระทำ "อาชญากรรมโดยรัฐ" ต่อประชาชนของตนเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของ "คณาธิปไตย". ในการสังหารหมู่
"รัฐประหาร" 6 ตุลา ผู้กุมอำนาจรัฐใช้ทั้งอาวุธสงคราม
ใช้ทั้ง ตชด. ทั้งตำรวจในกรุง ทั้งอันธพาล ทั้งลูกเสือชาวบ้าน หน่วยจัดตั้งอย่างนวพล
กระทิงแดง กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ ใช้ทั้งสื่อวิทยุ (ยานเกราะ) กับเครือข่ายทั่วประเทศ
ทั้งทีวี ปลุกระดมให้เกิดความคลุ้มคลั่งและก่ออาชญากรรมขึ้นมาได้
เรื่องทำนองนี้เกิดอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ "จังหวัดภาคใต้" ซึ่งความรุนแรง และทารุณกรรมที่เราเห็นได้จากทั้ง "6 ตุลา" และ "พฤษภาเลือด" ก็คงมีความเหมือนกันกับกรณีของ "กรือเซะ" และ "ตากใบ" (หรืออีกมายมายกรณีแถวชายแดนที่ไม่เป็นข่าว) เพียงแต่ว่านั่นอยู่ไกลแสนไกลจากพวกเราๆ ท่านๆ ที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางของอำนาจใน กทม. และมองไม่ค่อยเห็น สัมผัสก็ไม่ค่อยจะได้ และ/หรือ "ไม่แคร์ด้วยซ้ำไป" (ขอให้ดูงานศิลป์ชั้นเยี่ยมยอดของมานิต ศรีวานิชภูมิ ในชุด "พิ้ง ขาว น้ำเงิน" โดยเฉพาะรูปชายคนหนึ่ง ใส่ชุดสีชมพู มาดูการทารุณกรรมศพที่ถูกแขวนคอที่ต้นมะขาม สนามหลวง)
ถาม สิ่งที่นักวิชาการหลายท่านพูดในงานสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันอังคารที่ 19 ก.พ. (2551) ว่าการเอ่ยอ้างถึงประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ควรหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ที่จำกัดเฉพาะเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต หรือใครคือต้นเหตุของการนองเลือดนั้น อาจารย์มองว่ามิติอื่นๆ ของเหตุการณ์ที่ควรกล่าวถึงเพื่อเป็นบทเรียนจริงๆ ของสังคมไทยมีอะไรบ้างครับ
ตอบ
เรื่องจำนวนตัวเลขของผู้ตาย (ที่ฝ่ายราชการของรัฐบาลธานินทร์ ไกรวิเชียรให้ไว้ประมาณ
40 กว่าๆ
และที่ฝ่ายเอกชนอิสระองค์กรประสานงานทางสังคมและศาสนา เช่น นาย Nicholas Bennett
ให้ไว้ว่าประมาณ 300 นั้น) เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญและจำเป็นในประวัติศาสตร์
ดังนั้น การถูกนำมาถกเถียงครั้งนี้ ก็เป็นสิ่งที่สมควรยิ่ง แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น
และควรต้องไปให้ไกลและสูงกว่านั้น (กว่า นรม.สมัคร และ รมต.เฉลิม) ก็คือ "หัวใจ"
ของประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ที่ว่า who, what, when, why นั่นคือ "ใคร คือผู้อยู่ในเหตุการณ์นั้น
ทั้ง "ผู้กระทำ" และ "ผู้ถูกกระทำ" ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้
ผู้คนหรือใครเหล่านั้นทำอะไร ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทั้งในที่ลับตาและที่เปิดโล่ง กระทำกันตั้งแต่เมื่อไรจนถึง ณ วันที่ 6 ตุลานั้น
(และหลังจากนั้นด้วย) และที่สำคัญคือ ทำไมต้องทำหรือถูกกระทำใน "อาชญากรรม"
ครั้งนั้น
สำหรับบุคคลที่มีตำแหน่งสำคัญๆสมัยนั้น หรือ "ใครเป็นใครเมื่อ 6 ตุลา 2519" ก็มีอาทิ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็น นรม., อธิบดีกรมตำรวจ คือ พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ, รองอธิบดีฯ คือ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ ทั้งยังมี พ.ต.ท.สล้าง บุนนาค เป็นรองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม และมีนายตำรวจแถวหน้าๆ เช่น พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น, พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์, พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์, พล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิท, พล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต
ทางด้านลูกเสือชาวบ้านมี พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัญ เป็นผู้นำ ส่วนหัวหน้ากระทิงแดงก็คือ พล.ต.สุดสาย หัสดิน ณ อยุธยา และยังเป็นรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. อีกด้วย และมีพรรคพวกสำคัญ คือ นายเฉลิมชัย มัจฉากล่ำ. นอกจากนี้ทางด้านผู้นำสงฆ์ที่ต่อต้านนิสิตนักศึกษา ก็คือ กิตติวุฑโฒภิกขุ ซึ่งมีผู้นำนวพล นายวัฒนา เขียววิมล เป็นมิตรร่วมรบ และที่สำคัญคือมีกระบอกเสียงวิทยุสถานี "ยานเกราะ" กับเครือข่ายวิทยุเสรี อันมีนายทหารโฆษกปลุกระดมคนสำคัญ คือ อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ร่วมด้วยอาจารย์ "ฝ่ายเกลียด" เช่น ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ หรือนักเขียนเช่น "ทมยันตี" ฯลฯ
สมัยนั้น ผบ.สส. คือ พลเรือตรีสงัด ชลออยู่ ที่กลายเป็นหัวหน้าคณะนายทหารทำการ "รัฐประหาร 6 ตุลา 2519 (แต่ใช้ชื่อไม่ถูกต้องวิชารัฐศาสตร์ว่า "การปฏิรูป" เช่นเดียวกับครั้ง 19 กันยายน 2549 หรืออีก 30 ปีต่อมา) สมัยนั้นมี ผบ.ทบ. ชื่อพลเอกเสริม ณ นคร (เพิ่งรับตำแหน่งต่อจากพลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์) ส่วน ผบ.ทร. คือ พลเรือเอกอมร ศิริกายะ และ ผบ.ทอ. คือ พลอากาศเอกกมล เตชะตุงคะ
ทางธรรมศาสตร์ซึ่งกลายเป็น Killing Field ไปนั้น มี ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี และมีนายก อมธ. คือ นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ส่วนผู้นำนักศึกษา "เป้านิ่ง" ของการสังหารหมู่ ก็มีเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ชื่อนายสุธรรม แสงประทุม นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ คือ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ และนายกองค์การนักศึกษารามคำแหงฯ คือ นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม เป็นต้น
นักศึกษา "ตัวเล็กๆ" ที่ไม่ใช่ระดับนำ แต่ได้กลายเป็น "ข้อกล่าวหาคลาสสิก" ว่าด้วย "การหมิ่นพระบรมเดชาฯ" และ "ไม่จงรักภักดี" ต้องการทำลาย "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" คือ นายวิโรจน์ ตั้งวานิชย์ และนายอภินันท์ บัวหภักดี 2 นศ. มธ. ผู้แสดงละคร ณ ลานโพธิ์ เรื่องกรรมกร 2 นายถูกฆ่าตายที่นครปฐม ละครนี้ต่อต้านการกลับเข้าประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ลอบไปบวชเณรที่สิงคโปร์ แล้วห่มผ้าเหลืองเข้ามาบวชพระอีกรอบหนึ่ง ที่วัดบวรนิเวศ บางลำภู ซึ่งนำไปสู่การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนอย่างโหดเหี้ยมด้วยอาวุธร้าย และการรัฐประหาร 6 ตุลาในที่สุด
ถาม อดีตคนตุลาฯ ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบหรือจุดยืนบางประการตามที่มีบางฝ่ายเรียกร้องหรือไม่ และท่าทีของผู้นำประเทศ รวมถึงรัฐมนตรีบางคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในมิติต่างๆ ควรจะเป็นอย่างไร จึงจะเป็นการสร้างทางออกที่สร้างสรรค์กับสังคม
ตอบ ใช่แล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่แถวหน้าๆ ของฝ่ายที่ "ถูกกระทำ" ที่เป็น "คนเดือนตุลา" แต่ก็น่าประหลาดใจยิ่ง ที่ในทางตรงกันข้าม ที่แถวหน้าของฝ่าย "ผู้กระทำ" กลับกลายเป็นฝ่ายรุกในเกมล่าสุดนี้ ทั้งยังดูเหมือนว่าแถวหน้าของฝ่าย "ผู้กระทำ" สามารถทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาแทนที่จะเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญหรือ "บทเรียน" ในกระบวนการของการเมืองไทยสมัยใหม่ ทั้งยังมีสถานะที่สำคัญเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์สากลของโลกสมัยนั้น กลับกลายเป็นเรื่องเล็ก เรื่องน้อย ไร้สาระ และสมควรที่จะต้องถูก "ลืม" ไปด้วยซ้ำ นี่อาจจะเป็น "วาระซ่อนเร้น" ของฝ่าย "ผู้กระทำ" (คือบรรดานักอนุรักษ์นิยม/ฝ่ายขวาในรัฐบาลผสมชุดนี้ ที่ดำเนินการรุกและปิดปากฝ่ายซ้าย (ที่เคยเชื่อว่าตนเองเป็นฝ่ายก้าวหน้า) ก็เป็นได้
สุดท้าย "วิวาทะ" ล่าสุดนี้สอนให้เรารู้ว่า
1. ผู้นำระดับชาติที่เป็นถึง นรม. หรือ รมต. นั้นสามารถ "พูดปด คำโตๆ" ได้ ทั้งนี้โดยมี "วาระซ่อนเร้น" ไว้ดังที่อดีต รมต. กระทรวง Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) ของนาซี Goebbels กล่าวว่า "the bigger the lie the more it is believed"
2. วิวาทะที่เกิดขึ้น ต้องมองในเชิงบวกและสร้างสรรค์ กล่าวคือจะทำให้มีการรื้อฟื้นชำระ และทบทวนบทเรียนประวัติศาสตร์ 6 ตุลา
3. ประวัติศาสตร์เป็น "ศาสตร์" ที่แปลกประหลาดมาก กล่าวคือ "ไม่มีอายุความ"
4. ปีศาจ หรือผี หรือบาดแผลประวัติศาสตร์ 6 ตุลานี้ จะยังอยู่กับเราอีกนานแสนนาน จะปะทุพุพองขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้ หากไม่ได้รับการเยียวยารักษาให้ถูกวิธีของศาสตร์แห่งสังคม
(หมายเหตุ ให้สัมภาษณ์
22 กุมภาพันธ์ 2551)
คลิกไปอ่านต่อบทความลำดับที่ ๑๔๙๐
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90