บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกราคม ๒๕๕๐)
Thai Nation & Thainess
Midnight
University
การสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
รัชกาลที่
๖: การนิยามความหมายของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
รองศาสตราจารย์
สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
งานวิจัยต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ขอรับมาจากผู้วิจัย
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำหรับโครงการ:
"ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.๒๔๓๕-๒๕๓๕)"
โดย รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ (สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)
เฉพาะผลงานวิชาการในส่วนนนี้นำมาจาก
บทที่ ๓ ของงานวิจัยข้างต้น
ต่อจากบทความลำดับที่ 1485 ในหัวข้อ
วิธีการนิยามความหมายของ
"ชาติไทย"
(คลิกกลับไปทบทวนบทความก่อนหน้านี้)
หมายเหตุ: เชิงอรรถในบทความนี้ เริ่มต้นที่หมายเลข ๕๐
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๘๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++
การสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
รัชกาลที่
๖: การนิยามความหมายของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
รองศาสตราจารย์
สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วิธีการนิยามความหมายของ
"ชาติไทย"
ในรัชกาลที่
6 มโนทัศน์ "ชาติไทย" เป็นเรื่องใหม่ จะทำให้คนเข้าใจมโนทัศน์นี้ได้อย่างไรจึงเป็นปัญหาสำคัญ
โดยเฉพาะในยุคที่สื่อมวลชนและการศึกษายังจำกัดอยู่ในวงแคบ และสื่อมวลชนส่วนหนึ่งก็ยังนิยามความหมายของ
"ชาติไทย" แตกต่างออกไปจากปัญญาชนของรัฐอีกด้วย
วิธีหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการนิยามและปลูกฝังความหมายของ "ชาติไทย" คือการสร้างภาพพจน์ให้คนเข้าใจได้ง่าย โดยทรงเปรียบ "ชาติ" กับวัตถุที่เห็นได้ด้วยตา เป็นต้นว่า ทรงเปรียบเทียบคนไทยแต่ละคนเป็นเหมือนผงธุลีที่ลอยไปตามลมอย่างไร้ค่า ชีวิตจะมีความหมายก็ต่อเมื่อรวมกันเป็น "ชาติ" ดังความว่า
ผู้ที่ถึงแล้วซึ่งความเจริญชั้นสูง จึงจะเข้าใจซึมทราบว่า ตนของตนนั้นแท้จริงเปรียบเหมือนปรมาณูผงก้อนเล็กนิดเดียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแห่งภูเขาใหญ่ อันเราสมมุติเรียกว่าชาติ และถ้าชาติของเราแตกสลายไปแล้ว ตัวเราซึ่งเป็นผงก้อนเดียวนั้นก็จะต้องล่องลอยตามลมไป ...แท้จริงราคาของตนนั้นที่มีอยู่แม้แต่เล็กน้อยปานใด ก็เพราะอาศัยเหตุที่ยังคงเป็นส่วน ๑ แห่งชาติซึ่งยังเป็นเอกราช ไม่ต้องเป็นข้าใครอยู่เท่านั้น (50)
อีกวิธีหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ ก็คือทรงสร้างสถาบันหรือ "ชุมชน" ใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อให้คนได้เรียนรู้ที่จะรักและเสียสละเพื่อสถาบันหรือ "ชุมชน" เหล่านั้น แล้วสามารถถ่ายทอดความรักและความเสียสละมาสู่ "ชาติ" ทรงเรียกสถาบันหรือ "ชุมชน" เหล่านี้ว่า "คณชน" ที่สำคัญได้แก่ กองทัพ, คณะลูกเสือ, คณะเสือป่า, ดุสิตธานี, โรงเรียน, นามสกุล, จิตรลดาสโมสร, วรรณคดีสโมสร ราชนาวีสมาคมแห่งสยาม ฯลฯ ทรงอธิบายว่า "ก็ชาตินั้นคืออะไรเล่า คือคณชนหลาย ๆ คณะรวมกันเข้าจนเปนคณะใหญ่ จึ่งได้นามว่าชาติ เพราะฉะนั้น คณะทุก ๆ คณะที่ร่วมชาติกันต้องมีความสามัคคีปรองดองกันในระหว่างคณะต่อคณะ ชาติจึ่งจะตั้งอยู่เปนอันหนึ่งอันเดียวมั่นคงได้ (51)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหาทาง "เพาะ" ความรักชาติ ด้วยการ "เพาะ" ความรักใน "คณะ" ย่อย ๆ ให้เกิดขึ้นก่อน โดยที่ผู้มีความรักใน "คณะ" ของตนจะต้องตระหนักว่าทุก "คณะ" เป็นส่วนหนึ่งของ "ชาติไทย" ซึ่งเป็น "คณะ" ใหญ่ที่สุด
ความรุ่งเรืองของชาติเรานั้นมีอะไรเป็นมูลเป็นรากเหง้า? ต้องมีความรู้สึกรักบ้านเกิดเมืองนอนของตัวจริง ๆ แต่ก่อนที่จะมีความรู้สึกรักชาติบ้านเกิดเมืองนอนได้เช่นนี้ต้องเพาะขึ้นมาเหมือนเพาะต้นไม้เหมือนกัน ก็สิ่งที่จะเพาะให้น้ำใจบังเกิดความรักชาติบ้านเมืองได้ ต้องเริ่มเพาะจากความรักคณะของตัวเองก่อน ต้องให้รำลึกอยู่เสมอว่าตัวอยู่ในคณะนั้นแล้วต้องเอาใจใส่ เท่ากับฝากน้ำใจของตัวไว้ในคณะ และต้องหวังดี หวังประโยชน์ของคณะมากกว่าหวังประโยชน์ของตัวเอง บางทีประโยชน์ของคณะอาจจะต้องการให้ตัวบุคคลประพฤติสิ่งซึ่งไม่พอใจ หรือไม่สะดวกใจ หรือแม้บางทีอาจถึงกับขอความเสียสละบางอย่าง ผู้ที่รักคณะจริงต้องยอมเสียสละให้ เสียสละความสุข เสียสละความสะดวกของตัวเอง ที่สุดเสียสละร่างกายชีวิตเพื่อประโยชน์ของคณะ นี้เปนธรรมอันหนึ่ง ซึ่งข้างฝ่ายยุโรปเรียกเปนภาษาฝรั่งเศสว่า "เอสปรีต์ เดอ คอรป์ส" (Esprit de Corps)
...คำที่เคยพูดกันมาแล้วว่า "ความรักคณะ" "ความเห็นแก่คณะ" แต่ไม่กินความลึกซึ้งเท่าศัพท์"เอสปรีต์ เดอ คอรป์ส" ...เพราะคำแปลของศัพท์นั้น แปลว่าเหมือนเปนดวงใจ หรือเปนวิญญาณ คือวิญญาณหรือดวงใจของคณะ หมายความว่าบุคคลที่มีธรรมะอย่างนั้นต้องมอบหมดทุกอย่างให้แก่คณะ ถ้าอาจารย์และครูฝึกสอนให้นักเรียนรู้จักมี"เอสปรีต์ เดอ คอรป์ส" รู้จักรักคณะของตัวไม่ใช่แต่ในเวลาที่ยังคงเปนนักเรียนอยู่ ถึงแม้ออกจากโรงเรียนไปแล้ว เมื่อไปพบผู้ใดที่เคยเปนคณะโรงเรียนเดียวกัน ก็ยังมีมิตรจิตรเผื่อแผ่ไปเสมอ...และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรู้จักรักคณะแล้ว ต้องรู้จักนึกต่อไปว่าการรักคณะนั้นเองคือรักชาติบ้านเมือง เพราะชาติเราคืออะไร ก็คือเหมือนคณะไทยคณะใหญ่ที่สุด เราเปนสมาชิกของคณะนั้นทุกคน ควรต้องคิดอ่านช่วยเหลือคณะของเราอย่างดีที่สุด...คณะของเราก็จะยืนยาว และชาติของเราก็จะรุ่งเรือง จะมีผู้นับหน้าถือตาต่อไปชั่วกาลนาน (52)
จะเห็นได้ว่าการนิยามความหมาย "ชาติไทย" ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เน้น "ชาติ" ที่ประกอบด้วยคนหลาย "คณะ" หรือหลาย "ชุมชน" แต่มิใช่ "ชุมชน" แบบชาวบ้าน ที่คนมีความสำนึกผูกพันกันอันเนื่องมาจากการที่ได้พึ่งพากันในหลากหลายมิติของชีวิต ทั้งในการจัดการทรัพยากร การผลิต การดำรงชีวิตประจำวัน และในทางความคิดความเชื่อ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ
"คณะ" ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น "ชุมชน" ที่รัฐสร้างขึ้นมา การปลูกฝังความรักความผูกพันต่อ "คณะ" ขนาดเล็ก จะช่วยให้คนเรียนรู้ที่จะ "รัก" หรือ "จงรักภักดี" ในคณะที่ใหญ่ที่สุดอันได้แก่ "ชาติไทย" ตลอดจน "รัก" ผู้นำแห่งชาติไทย และสามารถถ่ายทอดความรักความภักดีจากคณะเล็ก ๆ ของแต่ละคนไปสู่คณะใหญ่ที่สุด คือ "ชาติไทย" ได้อย่างแท้จริง เช่น "คณะ" ที่อยู่ในรูปนามสกุลนั้น ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง "เปรียบสกุลกับชื่อแซ่" เพื่อชี้ให้เห็นว่า นามสกุลแตกต่างจาก "แซ่" ของจีน เพราะ "แซ่" นั้น เป็นเครื่องเพาะความกระด้างกระเดื่องในคณะ แต่นามสกุลเป็นมูลแห่งความรักในหัวหน้าสกุล ซึ่งจะช่วยให้รู้จักความรักในผู้ปกครองชาติ ดังความว่า
ส่วนการปกครองสกุลนั้นตรงกันข้าม ย่อมเป็นเครื่องเพาะความเคารพในผู้ปกครอง ผู้น้อยย่อมอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เพราะเป็นกุลเชษฐา...ความรักใคร่อยู่ตามธรรมดาโลกแล้ว...นับว่าเป็นมูลแห่งความจงรักภักดีต่อผู้ที่เป็นหัวหน้าสกุลชั้น ๑ และเลยเป็นเครื่องจูงใจให้รู้จักความภักดีต่อท่านผู้ปกครองชาติอีกชั้น ๑ (53)
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้มีนามสกุลนี้ มีความสำคัญในแง่ของการแบ่งชั้นทางสังคมอีกด้วย ใน "บันทึกความเห็นว่าด้วยการเลือกนามสกุล" แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพระราชประสงค์ที่จะให้การตั้งนามสกุลช่วยแยกตระกูลของ "สามัญชน" ออกจากตระกูลของชนชั้นสูง เช่น กำหนดว่า "นามสกุลของสามัญชนไม่ควรจะให้มียาว ๆ เทียมนามสกุลพระราชทาน ...ควรจะใช้เปนคำไทย ๆ เพื่อมิให้เปนการเลียนนามสกุลพระราชทานซึ่งโดยมากเปนภาษามคธหรือสันสกฤต..ไม่ควรเกิน ๓ พยางค์" (54) เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะ "ชาติไทย" ที่พระองค์ทรงนิยาม เป็น "ชาติ" ที่ต้องมีการแบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น และทำให้การเลื่อนชั้นต้องอยู่ภายใต้การควบคุม คือขึ้นอยู่กับพระมหากรุณาธิคุณหรือการพระราชทาน (รวมทั้งการพระราชทานนามสกุล) ทั้งนี้ เพื่อจะช่วยจรรโลงให้ระบอบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจไว้ในสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงนั่นเอง
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง "คณะ" ทั้งหลายที่ร่วม "ชาติ" เดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเน้นว่า "คณะทุก ๆ คณะที่ร่วมชาติกันต้องมีความสามัคคีปรองดองกันในระหว่างคณะต่อคณะ" พร้อมกันนั้นพระองค์ยังได้ทรงเน้นพระราชอำนาจและความสำคัญของพระมหากษัตริย์เหนือ "คณะ" ทั้งหลายซึ่งรวมกันเป็นชาติไทย ในแง่ที่บุคคลใน "คณะ" ทั้งหลายซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจนั้น ได้ "มอบ (อำนาจ) ถวายให้พระราชาธิบดีทรงเปนผู้ถือไว้" และพระองค์ทรง "ใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์และความสุขของคณะ" ทำให้ชาติ "มีอำนาจเต็มบริบูรณมีอิศรภาพเต็มที่...ตั้งมั่นคงอยู่ ...เปนชาติที่มีสง่าราษี เปนที่นับถือยำเกรงแห่งชาติอื่น ๆ" ดังความต่อไปนี้
พระราชาธิบดี คือ ผู้ที่ได้รับมอบให้ถืออำนาจแห่งคณะไว้ และใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์และความสุขของคณะ เพราะฉะนั้นการที่นับถือฤาเคารพพระราชาธิบดี ก็คือการเคารพนับถืออำนาจแห่งคณะ บุคคลทุก ๆ คนที่เปนส่วนหนึ่งแห่งคณะ ก็เปนเจ้าของส่วนหนึ่งแห่งอำนาจ ซึ่งได้รวบรวมมอบถวายให้พระราชาธิบดีทรงเปนผู้ถือไว้...ชาติใดเมืองใดมีพระราชาธิบดีครอบครองอยู่โดยมั่นคง จึ่งนับว่ามีพยานแน่ชัดอยู่ว่ามีอำนาจเต็มบริบูรณ มีอิศรภาพเต็มที่อยู่ ตั้งมั่นคงอยู่ ก็นับว่าเปนชาติที่มีสง่าราษี เปนที่นับถือยำเกรงแห่งชาติอื่น ๆ พระราชาธิบดีเปนเครื่องหมายแห่งอำนาจ...เปนสง่าของเมืองและชาติ (55)
เหตุที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงเน้น "คณะ" หรือ "ชุมชน" ที่มีอยู่แล้วในระดับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในเขตเมืองหรือในเขตชนบท ก็เพราะต้องการดึงเอาความจงรักภักดีจากคนทั้งปวงให้มารวมศูนย์อยู่ที่ "ชาติไทย" และ "พระประมุขของชาติไทย" คือองค์พระมหากษัตริย์ หากให้ความสำคัญแก่ "ชุมชน" แบบเดิม จะยิ่งทำให้คนผูกพันกับ "ชุมชน" ของตนมากขึ้น จนไม่สำนึกในความมีอยู่หรือความสำคัญของ "ชุมชนชาติไทย" ขณะเดียวกัน การสร้าง "คณะ" หรือ "ชุมชน" ชนิดใหม่ขึ้นมานี้ ยังเปิดโอกาสให้ปัญญาชนของรัฐสามารถเข้าไปนิยามความหมายและปลูกฝังอุดมการณ์ใหม่ได้โดยสะดวก ดังจะเห็นได้ว่าอุดมการณ์ "ชาติไทย" ได้รับการถ่ายทอดและปลูกฝังผ่าน "คณะ" ทั้งหลายอย่างเข้มข้นตลอดมา เช่น เสือป่า ลูกเสือ โรงเรียน ฯลฯ
ในกรณีของโรงเรียนนั้น นอกจากรัฐบาลจะถ่ายทอดความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ในโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนราษฎร์ ผ่านทางหลักสูตรการศึกษาและแบบเรียนชั้นต่าง ๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงใช้โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (พ.ศ.2453-2472) โรงเรียนราชวิทยาลัย (พ.ศ.2442-2472) โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ (พ.ศ.2459-2472) และโรงเรียนพรานหลวง (พ.ศ.2459-2472) ในการปลูกฝังความรู้สึกรัก "คณะ" อย่างเข้มข้น เพื่อให้นักเรียนสามารถก้าวไปสู่ความรัก "ชาติไทย" ในขั้นต่อไป เช่น โปรดฯให้มีการแข่งขันกีฬาประเพณีระหว่างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนราชวิทยาลัย และให้นักเรียนเข้าร่วมในกิจการเสือป่า ส่วนในวันนักขัตฤกษ์และวันสำคัญทางพุทธศาสนา พระองค์จะทรง "เทศนา" เพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ทรงธรรม ซึ่งมีความรอบรู้และเข้าใจในข้อธรรมของพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทรงปลูกฝังให้นักเรียนเลื่อมใสศรัทธาพุทธศาสนาซึ่งมีความสำคัญคู่กันมาในประวัติศาสตร์กับพระมหากษัตริย์ เพื่อให้นักเรียนจงรักภักดีต่อสถาบันทั้งสองอย่างแท้จริง (56) เท่ากับว่าทรงพยายามทำให้นักเรียนได้รับรู้ว่า พระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาเป็น "หัวใจของความเป็นไทย" นั่นเอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่ปัญญาชนของรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ "ชุมชน" หรือ "ท้องถิ่น" ของชาวบ้านในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของ "ชาติไทย" มีส่วนทำให้พุทธศาสนาแบบที่ชาวบ้านนับถือในชุมชนและท้องถิ่นต่าง ๆ ไม่มีพื้นที่อยู่ใน "ความเป็นไทย" ตามไปด้วย เฉพาะศาสนาพุทธแบบที่ชนชั้นสูงนับถือเท่านั้นที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของ "ความเป็นไทย" โดยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ "ศาสนาเปนเหมือนธงของคณะ คือเปนเครื่องแสดงให้ปรากฏว่าเปนคณะหรือชาติอันรุ่งเรือง ไม่ใช่ซ่องโจรหรือคณะคนป่าคนดง" (57)
ตลอดรัชกาลที่ 6 มีการสืบทอดนโยบายเกี่ยวกับพุทธศาสนาเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางรากฐานเอาไว้ กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสในการทำให้พุทธศาสนารับใช้ "ชาติไทย" อย่างเต็มที่ ดังที่พระไพศาล วิสาโลได้วิเคราะห์ไว้ว่า มีการสอนหลักศีลธรรมทั้งเก่าและใหม่ ที่มุ่งให้เกิดความจงรักภักดีต่อ "ชาติไทย" และ "พระมหากษัตริย์แห่งชาติไทย" เช่น "กตัญญูกตเวทิตาธรรม" ถูก ให้หมายว่า หมายถึงความจงรักภักดีต่อชาติ เป็นต้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเทศนาให้คนยึดมั่นในชาติและให้รักชาติอยู่เสมอ เช่น "ท่านทั้งหลายควรถือชาติเป็นสำคัญ ...ควรช่วยกันอุดหนุนชาติของตนไว้เพื่อความเป็นไทยสมชื่อ ไม่ควรรักชีวิตของตนยิ่งกว่ารักชาติ" มีการเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพุทธศาสนากับ "ชาติไทย" ซึ่งทำให้ความมั่นคงของ "ชาติไทย" มีความหมายครอบคลุมไปถึงความมั่นคงของพุทธศาสนาด้วย พร้อมกันนั้นก็มีการตีความคำสอนของพุทธศาสนาให้เกื้อหนุนต่อความมั่นคงของ "ชาติไทย" อย่างชัดเจน เช่น การตีความว่า "การรบเพื่อป้องกันชาติบ้านเมือง ไม่เป็นข้อที่พระพุทธองค์ทรงห้ามปรามเลย" เป็นต้น (58)
ในขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามทำให้ "ชาติ" ที่เป็นเรื่องใหม่ กลายเป็นที่รักที่หวงแหนของคนไทย ด้วยการเชื่อมโยง "ชาติไทย" เข้ากับสถาบันเก่าแก่ที่คนไทยมีความผูกพันมานานแล้ว นั่นคือพุทธศาสนา พระราชนิพนธ์จำนวนมากเน้นให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพุทธศาสนากับ "ชาติไทย" และ "ความเป็นคนไทย" เช่น
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา เราจำเป็นต้องถือด้วยความกตัญญูต่อบิดามารดาและโคตรวงศ์ของเรา...บรรดาท่านทั้งปวงซึ่งเป็นคนไทย เมื่อรู้สึกแน่นอนแล้วว่า ศาสนาในสมัยนี้เป็นของที่แยกจากชาติไม่ได้...จะต้องมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา (59)
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครและบทความจำนวนมาก เพื่อสร้างความสำนึกเกี่ยวกับ "ชาติไทย" และ "ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" โดยเน้นให้เห็นว่า การที่บุคคลคิดว่าตนสามารถอยู่รอดได้โดยไม่มี "ชาติ" นั้น เป็นความคิดที่ผิด ทุกคนควรจะต้องตระหนักว่าตนมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ใน "ชาติ" จึงไม่ควรเห็นแก่ตัว ควรเห็นแก่ส่วนรวมคือ "ชาติ" หากไม่เห็นแก่ส่วนรวมและเสียสละเพื่อส่วนรวม ในที่สุดเมื่อตนเองต้องเดือดร้อนก็จะไม่มีใครช่วยได้เลย เช่น บทละครพูดเรื่อง "มหาตมะ" พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อทำให้คนจินตนาการถึง "ชาติ" ที่ทุกคนจะต้องเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้แม้แต่ชีวิต
ในบทละครเรื่องนี้ ทรงสร้างตัวละครที่เต็มไปด้วยความหลงผิด ว่าตนจะสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ใดเพราะมีฐานะร่ำรวยมาก ตัวละครนี้เป็นคนที่เห็นแก่ตัวและเอาเปรียบทุก ๆ คนแม้แต่ภรรยาของตนเอง อีกทั้งไม่ยอมเสียสละทรัพย์เพื่อซื้อเรือรบมาใช้ในการรักษาเอกราชของชาติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้กลวิธีการดำเนินเรื่องโดยให้ตัวละครฝันไปว่า ตนได้รับความเดือดร้อนอย่างไรบ้างจากการที่ "ไม่รักชาติ" และ "ไม่เสียสละเพื่อชาติ" จนกระทั่งตัวละครดังกล่าวได้เรียนรู้ในท้ายที่สุดว่า ชะตากรรมของตนนั้นเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ ใน "ชาติ" อย่างแน่นแฟ้นที่สุด (60) "ความฝัน" ในบทละครเรื่องนี้แท้ที่จริงแล้วก็คือ "จินตนาการชาติ" ของผู้ชมละคร ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นมานั่นเอง
ในบทละครเรื่อง "มหาตมะ"
นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเน้นด้วยว่าผู้หญิงก็มีความรักชาติและเสียสละเพื่อชาติ
ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงภรรยาที่ยอมจำนนต่ออำนาจของสามีในทุก ๆ เรื่อง แต่เฉพาะในเรื่องความรักชาติและการเสียสละเพื่อชาตินี้
ภรรยาย่อมพร้อมที่จะคัดค้านอำนาจของสามีซึ่งเป็นบุคคลที่ปราศจากความรักชาติ นอกจากนี้ยังทรงเน้นด้วยว่า
การให้ความสำคัญแต่เฉพาะการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
ควรจะให้ความสำคัญแก่การสร้างกองทัพให้เข้มแข็งเพื่อปกป้องเอกราชของ "ชาติ"
ก่อนเรื่องอื่น ๆ เพราะหาก "ชาติ" สูญเสียเอกราช ประชาชนก็จะต้องถูกกดขี่เนื่องจากต้องตกไปเป็น
"ข้า" ของชาติอื่น (61)
ในบทความเรื่อง "ขอชวนท่านเปนแมลงหวี่" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้นามแฝงว่า
"อัศวพาหุ" พระองค์ได้ทรงนำเอานิทานเรื่อง "ยายกับตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า"
มาเล่า เพื่อใช้แมลงหวี่เป็นสัญลักษณ์ว่า คนเล็ก ๆ ก็สามารถจะช่วยส่วนรวมได้มาก
ทรงเน้นให้เห็นว่า ความคิดและการตัดสินใจของบุคคลหนึ่ง ๆ มีผลไปถึงคนอื่น ๆ ถ้าหากแต่ละคนพากันคิดว่า
"ไม่ใช่กงการอะไรของข้า" หรือไม่นึกถึงส่วนรวม ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงไปได้เลย
แต่ถ้าคนเล็ก ๆ ได้ริเริ่มแก้ปัญหาแล้ว คนอื่น ๆ ก็จะเข้ามาแก้ปัญหาในส่วนที่ตนรับผิดชอบ
จนกระทั่งการแก้ไขปัญหาทั้งปวงสำเร็จลุล่วงไปได้ในที่สุด (62)
"ชาติไทย" ที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิยาม มิใช่ "ชาติ" ที่คนมีความเสมอภาคกัน แต่เป็น "ชาติ" ที่คนมีสถานภาพต่างกันตามหลักชาติวุฒิ ดังนั้น "ชาติไทย" จึงเป็นชาติที่ประกอบด้วย "ผู้ใหญ่" กับ "ผู้น้อย" มากมายหลายชั้น แม้ว่าพระองค์จะทรงเคยมีพระราชดำรัสว่ามีเพียงสองชนชั้นเท่านั้น ดังนี้
ในเมืองไทยเรานี้มีคนสองชั้นเท่านั้น ไม่มากกว่าสองชั้น หนึ่งคือพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นหัวหน้า ซึ่งเขามอบให้ทรงไว้ซึ่งอำนาจทุกอย่าง ...อีกชั้นหนึ่งคือคนไทยทั่วไป ถ้าใครจะมาแทรกแซงในระหว่างคนไทยกับพระเจ้าแผ่นดิน ก็ไม่ใคร่ได้ความรักนับถือยกย่องของคนไทยนัก ...ข้อนี้พอสังเกตหลักฐานในพงศาวดารของเราเองได้ คือถ้าเมื่อใดขุนนางหรือบุคคลชั้นใดก็ดี แย่งชิงหรือยึดถือเอาอำนาจไว้และเข้าแทรกแซงในระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับราษฎร ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเดชานุภาพก็ได้ปราบปรามพวกนั้นให้ราบคาบไป แต่ถ้าถูกคราวที่พระเจ้าแผ่นดินอ่อนแอ พวกที่แทรกแซงมีอำนาจมาก ก็เกิดความฉิบหายย่อยยับกันทุกที (63)
พระราชดำรัสที่ว่า "มีคนสองชนชั้นเท่านั้น" พร้อมกับเน้นว่า "ธรรมเนียมไทยเรานั้นพระเจ้าแผ่นดินกับราษฎรสนิทชิดเชื้อกันมาก" (64) นี้ เกิดขึ้นในบริบทที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามทำให้ชนชั้นข้าราชการ ซึ่งทวีอำนาจและมีสถานภาพสูงส่งขึ้น และเริ่มมีการเคลื่อนไหวในทางท้าทายพระราชอำนาจ (ดังกรณี "กบฏ ร.ศ.130") กลายเป็นเพียงกลไกที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจอย่างสมบูรณ์ ทรงใช้คำสรรพนาม "ผู้รับใช้" "คนใช้" "ผู้ที่รับใช้" แทนข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ข้าราชการเนือง ๆ โดยทรงเน้นย้ำให้เห็นว่า ข้าราชการอยู่ในสถานะที่อาจจะกระทำความผิดได้ง่าย (65) เพื่อให้ข้าราชการตระหนักว่าตนมิได้มีสถานภาพสูงส่ง จะได้ไม่เหลิงต่ออำนาจและยศถาบรรดาศักดิ์ของตน นับเป็นการสร้างอัตลักษณ์ "ข้าราชการ" ในวิถีทางที่แตกต่างจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมากทีเดียว
อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความจำเป็นที่จะต้องสืบทอดระบบเกียรติยศของข้าราชการที่พระราชบิดาได้ทรงวางรากฐานไว้ เพราะจำเป็นต้องใช้ระบบราชการเป็นกลไกในการบริหารประเทศ ซึ่งจะต้องทำให้ข้าราชการมีความพอใจในสถานภาพของตนมากพอสมควร เพียงแต่ข้าราชการจะต้องตระหนักว่า สถานภาพที่ตนดำรงอยู่นั้นมาจาก "พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" มิใช่มาจาก "สิทธิ" อันพึงมีพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามแสดงให้เห็นอยู่เสมอว่า ความเสมอภาคอย่างแท้จริงนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทรงให้เหตุผลว่าเป็นเพราะคนมีปัญญา ความรู้ และประสบการณ์ไม่เท่ากัน ดังความว่า
แต่พิจารณาดูตามความจริงก็คงจะแลเห็นได้ว่า ไม่มีพลเมืองแห่งใดในโลกนี้ที่จะเท่ากันหมดจริง ๆ เพราะคนทุกคนไม่ได้มีความรู้ปัญญาเสมอกัน ใครมีปัญญาสามารถมากก็คงได้เปรียบเพื่อนบ้านที่มีปัญญาสามารถย่อมเยากว่า แต่ใช่จะหมดอยู่เพียงปัญญาและความรู้ ยังความชำนาญ (เอ๊กซปีเรียนซ์) ก็เปนสิ่งสำคัญอันทำให้คนได้เปรียบซึ่งกันและกันอยู่มาก เพราะทำให้คนมีความเชื่อถือ ยิ่งในทางปกครองบ้านเมืองด้วยแล้วยิ่งมีความสำคัญ (66)
ด้วยเหตุผลข้างต้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงยืนยันว่าการปกครองบ้านเมืองจึงต้องดำเนินการโดยพระมหากษัตริย์และข้าราชการของพระองค์ ซึ่งถึงพร้อมทั้งปัญญา ความรู้ และประสบการณ์ ไม่ควรจะมี "คอนสติตูชั่น"(รัฐธรรมนูญ) และไม่ควรมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรด้วย เพราะ "ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนของตนเพราะรู้แน่ว่าเปนคนดี สมควรจะเปนผู้แทนตนด้วยประการทั้งปวงฉะนี้เลย ตามจริงเลือกบุคคลผู้นั้นผู้นี้เพราะมีผู้บอกให้เลือก ฤาติดสินบนให้เลือกเท่านั้น" (67) ทำให้ "คณะใดมีทุนมาก จึ่งได้เปรียบอยู่มาก...อำนาจไม่ได้อยู่ในมือประชาชนจริง ๆ แต่ไปอยู่ในมือแห่งคนส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนน้อยแห่งชาติเท่านั้น" (68)
เหตุผลที่ทรงแสดงข้างต้น รวมทั้งการที่ทรงชี้แจงถึงภัยของ "ลัทธิโสเชียลิสต์" นั้น สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงมองประชาชนว่าไม่มีสติปัญญาที่จะตัดสินใจเลือกผู้แทน และยังอาจถูกหลอกลวงโดยพวก "โสเชียลิสต์เก๊" เพราะประชาชนเป็น "พวกคนที่ไม่ได้รับการศึกษาอย่างสมบูรณ์ หรือมิฉะนั้นก็เมามายและยากจน ไร้ทั้งทรัพย์สิน ไร้ทั้งธรรมจรรยา" (69) ทำให้ พวก "โสเชียลิสต์เก๊" สามารถที่จะ "หากินจากความโง่เขลาเบาปัญญาของมนุษย์" (70) มีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ทรงพระเมตตาแก่ประชาชนและทรงปกครองประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุขได้อย่างแท้จริง ซึ่งประชาชนควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์และสละได้แม้แต่ชีวิตเพื่อพระองค์
กล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีบทบาทสำคัญในการทำให้ "ชาติไทย" "พุทธศาสนา" และ "พระมหากษัตริย์" เชื่อมโยงและผูกพันกันอย่างแนบแน่น และคนไทยจะต้องรักและยอมเสียสละได้แม้ชีวิต เพื่อ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ดังที่ทรงมีพระราชดำรัส "ปลุกใจเสือป่า" ว่า
"เราได้เกิดมาในชาติคนกล้าหาญ รักเจ้า รักชาติ รักศาสนา จนไม่กลัวความตายไม่เสียดายชีวิต คนเหล่านี้เปนปู่ย่าตายายของเราทั้งหลาย ท่านสู้สละความสุขสำราญตลอดจนชีวิตให้แก่ชาติบ้านเมืองและศาสนา...เราเกิดมาในชาติไทย เราเกิดมาเปนไทย เราต้องตายเปนไทย...ผู้ที่ไม่ยินยอมพร้อมอยู่ในใจว่าจะสละชีวิตเพื่อรักษาพระเจ้าแผ่นดิน รักษาชาติบ้านเมือง และรักษาศาสนา อันเปนที่นับถือของตนแล้ว ก็ควรหลบหน้าไปเสียให้พ้น... (71) (และ)
เราอุทิศตัวเราทั้งหลาย และอุทิศกำลังกายกำลังสติปัญญาไว้เพื่อป้องกันรักษาชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ สิ่งซึ่งเปนที่เคารพรักใคร่ทั้ง ๓ คือความเปนไทยของเราอย่าง ๑ ความมั่นคงของชาติเราอย่าง ๑ พระศาสนาของเราอย่าง ๑ สามอย่างนี้ปู่ย่าตายายของเราได้ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อป้องกันแล้ว; เราทั้งหลายผู้เปนบุตรหลาน ย่อมมีหน้าที่ ๆ จะต้องทำให้สมควรที่เปนบุตรหลานของท่าน... (72)
ผู้ที่ไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไทย ย่อมไม่อาจนับเป็น "ไทยแท้" และไม่อาจถือว่าเป็นคน "รักชาติ" ด้วยเหตุผลที่ว่า "ถ้าเขาจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม เขาจึ่งจะเปนไทยแท้ แต่ถ้าใครแสดงตนว่าเปนอิสระแก่ตน ไม่มีความจงรักภักดีต่อผู้ใดดังนี้ ต้องจัดว่าผู้นั้นเปนคนไม่มีชาติ เพราะคน ๆ เดียวหรือหมู่เดียว จะตั้งตนขึ้นเปนชาติต่างหากหาได้ไม่ (73) และ ...ความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินนั้น ตรงกับความรักชาติ เพราะพระเจ้าแผ่นดินเปนเหมือนหนึ่งวัตถุที่แทนชาติ อันปรากฏแก่ตาแห่งนานาประเทศ...ผู้ใดไม่นับถือพระเจ้าแผ่นดินก็เหมือนไม่นับถือชาติไทย... (74)
ความรักชาติกับความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์นี้ ยากที่จะเกิดขึ้นได้ หากปราศจากพุทธศาสนา "เพราะความรักชาติเป็นสิ่งซึ่งเนื่องด้วยความเสียสละ...การประพฤติธรรมเป็นความจำเปนอันหนึ่งสำหรับฝึกใจบุคคลให้รู้จักค่าแห่งการเสียสละ ...ถ้าใครไม่ประพฤติธรรมแล้วจะนับว่าเปนผู้รู้จักรักชาติโดยจริงใจไม่ได้เลย..." (75) ทั้งนี้ ทรงเน้นว่า "เป็นความจำเป็นที่เราทั้งหลายผู้เปนไทย จะต้องมั่นอยู่ในศาสนาพุทธซึ่งเปนศาสนาสำหรับชาติเรา" (76) ซึ่งทำให้ "ธรรม" ที่ทรงเน้น เป็น "ธรรม" ของพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งประเทศสยาม ในบางสถานการณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่อาจจะเน้นแต่เฉพาะพุทธศาสนาได้ เช่น เมื่อทรงมีพระราชดำรัสต่อชาวมุสลิมซึ่งได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายพระพรในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2459 ก็ทรงจำเป็นต้องทำให้ชาวมุสลิมตระหนักว่าชาวมุสลิมเป็น "พลเมือง" ของ "ชาติไทย" ซึ่งจะต้องจงรักภักดีต่อ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" เช่นเดียวกัน แต่คำว่า "ศาสนา" ในพระราชดำรัสนี้ ทรงหมายถึงศาสนาอิสลาม ดังความว่า
เรารู้สึกพอใจมากที่ได้ฟังคำ...แสดงความจงรักภักดีในนามของท่านทั้งหลาย และแสดงความตั้งใจว่าในเมื่อเวลาจำเป็นแล้ว ก็จะยอมสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อป้องกันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ของท่านทั้งหลาย ให้สมกับที่เป็นพลเมืองดี และให้ตรงกับคำที่เทศนาซึ่งพระมหะมัดประสาทไว้ (77)
ส่วนกฎหมาย ก็เริ่มมีความสำคัญต่อการปกครองมากขึ้น เนื่องจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มมีลักษณะเป็นรัฐสมัยใหม่ ทำให้ต้องสร้างความสำนึกของประชาชนให้เคารพกฎหมาย ดังนั้น นอกจากจะทรงเน้นความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเน้นให้ทุกคนยึดถือกฎหมายเป็นหลัก แทนการวินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ ตามความรู้สึกหรือความคิดเห็นส่วนบุคคล ดังเช่น ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดเรื่อง "หนังเสือ" ใน พ.ศ.2468 เนื้อหากล่าวถึงชายสองคนกับหญิงหนึ่งคน โดยหญิงแต่งงานตามกฎหมายกับชายสูงอายุ แต่มีเพื่อนชายที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ทรงพระราชนิพนธ์ให้ทุกคนโดยรอบ เอาใจช่วยสามีภรรยาที่ได้สมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย (78) อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่ตราขึ้นใช้ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ย่อมเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงบัญญัติขึ้น ดังนั้น การเคารพกฎหมายจึงเท่ากับการเคารพพระบรมราชโองการ ด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์นั่นเอง
อนึ่ง ภาษาไทย ก็มีความสำคัญมากต่อการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพราะการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง หมายถึงการยอมรับระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมที่ "ถูกต้อง" ใน "ชาติไทย" ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น หรือความสัมพันธ์แบบ "รู้ที่ต่ำที่สูง" ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ในพระราชนิพนธ์ "ความเปนชาติโดยแท้จริง" ว่า "ลักษณะที่จะตัดสินว่าใครเปนคนชาติใดนั้น ก็มีอยู่แต่ที่ภาษาซึ่งคนนั้นใช้อยู่โดยปรกตินั้นแล" (79) และ "ต้องถือเอาภาษาเปนใหญ่ และใครพูดภาษาใด แปลว่าปลงใจจงรักภักดีต่อชาตินั้นโดยจริงใจ ไม่ใช่โดยความจำเปนชั่วคราว" (80) ด้วยเกณฑ์ดังกล่าวนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนชาติพันธุ์อื่นกลายเป็นไทย ด้วยการหันมาใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน จนกระทั่ง "เปนไทย" ทั้ง "ในความนิยมและความคิด" (81)
ขณะเดียวกันก็กำหนดไว้ในหลักสูตรให้โรงเรียนทั่วประเทศสอนวิชาภาษาไทยคู่กับวิชาพงศาวดาร เพราะทั้งสองวิชานี้จะช่วยหล่อหลอมให้คนทั้งหลายในประเทศสยาม "เป็นไทย...ในความนิยมและความคิด" ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านการปลูกฝังความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายรวมถึงการยอมรับพระราชอำนาจ และพระสถานภาพอันสูงสุดเหนือคนทั้งปวง และปฏิบัติตามพระบรมราชโองการและพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ทรงตราขึ้นอย่างเคร่งครัด หากผู้ใดไม่สามารถใช้ภาษาไทย ก็แสดงว่า "ผู้พูดต่างภาษากับผู้ปกครองนั้น ยังไม่เชื่องอยู่ตราบนั้น" (82)
เพื่อปลูกฝังความสำนึกใน "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ในความหมายที่ทรงนิยาม ให้มีพลังในความรู้สึกนึกคิดของคนไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้วิธีการเดียวกันกับปัญญาชนพระองค์อื่น ๆ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือกระตุ้นให้ศึกษาวิชา "พงศาวดาร" หรือ "ประวัติศาสตร์" เพราะทรงตระหนักดีว่า "พงศาวดาร" หรือ "ประวัติศาสตร์" จะช่วยฉุดรั้งมิให้คนไทยเดินตามตะวันตกจนสิ้นเชิงเพื่อจะ "จำเริญทันสมัย" จนเกิดผลร้ายตามมา ทรงมีพระราชหัตถเลขาว่า
...เห็นว่าเปนเพราะมัวไปพะวงเสียในเรื่องอื่น ๆ ซึ่งเห็นว่าเปนความจำเปนที่จะต้องกระทำเพื่อจำเริญทันสมัย จึงไม่เอาใจใส่ในเรื่องตำนานหรือโบราณคดี ซึ่งเขาย่อมไม่แลเห็นว่าเปนประโยชน์อย่างไรสำหรับความจำเริญแห่งชาติ...พงษาวดารและตำนานแห่งชาติไทย ใครพูดถึงก็ถูกพวกสมัยใหม่เขาฟุดฟัดเอา ดูเปนคนหัวเก่าภูมิคร่ำคร่าเปนบ้าเปนหลังไปทีเดียว คนขั้นสูง ๆ ที่ได้ไปเรียนวิชา ณ ประเทศยุโรป อันคนไทยสมัยใหม่นับถือเอาเปนตัวอย่าง วางท่าดูถูกพงศาวดารไทยเช่นกล่าวมาแล้วนั้น...ในที่สุดแลเห็นผลความเสื่อมเปนแน่ชัดปรากฏในหมู่คนไทยสมัยใหม่แล้ว (83)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำ"พงศาวดาร" หรือ "ประวัติศาสตร์" มาถ่ายทอดในรูปของละครด้วย เช่น บทละครเรื่อง "พระร่วง" บทละครเรื่อง "ตำนานเสือป่า" ฯลฯ ทรงใช้บทละครเหล่านี้ในการปลูกฝังให้เสือป่าและประชาชนทั่วไปรู้สึกว่า "ชาติไทย" เป็นชาติเก่าแก่ และเป็นชาตินักรบ มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ คนไทยมีบรรพบุรุษที่มีสติปัญญา มีความกล้าหาญ และรักชาติ พร้อมที่จะเสียสละเพื่อชาติ ซึ่งคนไทยทั้งปวงควรสืบทอดคุณลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทยเหล่านี้ตลอดไป ตัวอย่างเช่น ในการแสดงเรื่อง "ตำนานเสือป่า" ในงานวัดเบญจมบพิตรนั้น ปรากฏว่า
ละครเรื่อง "ตำนานเสือป่า" ในคืนวันที่ 3 มกราคม 2454 เสนอเรื่องราว "พงศาวดารไทย" ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ฉากแรกเริ่มจากเสือป่าฝ่ายสุโขทัยออกลาดตระเวน แล้วพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงสู้รบกับขุนสามชนและกำลังจะเสียที พระรามคำแหงทรงเข้าช่วยและมีชัยต่อขุนสามชน ฉากต่อมาพ่อขุนรามคำแหงทรงอาราธนาสังฆราชขึ้นนั่งแสดงธรรมบนพระแท่นมนังคศิลา จบการแสดงธรรมแล้วพระมหาราชครูอัญเชิญเสด็จพ่อขุนรามคำแหงขึ้นประทับ ลูกท้าวลูกขุนถวายบังคม ต่อด้วยเรื่องพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา ในคืนวันที่ 4 มกราคม แสดงเรื่องพระนเรศวรปีนค่าย เรื่องเจ้าพระยาโกษาปานแสดงอำนาจอาญาสิทธิ์ที่ได้รับพระราชทานมาในการลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่ง และเรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองฝาง คืนวันที่ 5 มกราคม แสดงเรื่องท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร เรื่องพระครูวิสุทธวงษาจารย์รวบรวมชาวบ้านต่อสู้กับจีนตั้วเหี่ยที่ภูเก็ต เรื่องขอมดำดิน เรื่องช้างพลายศรีมงคลและพลายมงคลทวีปที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิส่งไปแลกพระราเมศวรและพระมหินทร์ ช้างทั้งสองอาละวาดไม่ยอมไปอยู่พม่า จนพม่าต้องส่งคืน และเรื่องสมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพ ในคืนวันที่ 6 มกราคม แสดงเรื่องสมเด็จพระนเรศวรตีทัพเชียงใหม่ เรื่องพระยาสีหราชเดโชชัยรบพม่า และเรื่องราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ และคืนวันที่ 7 มกราคม แสดงเรื่องวีรกรรมท้าวสุรนารีที่ช่วยในการต่อสู้กับทัพเจ้าอนุวงศ์ กับเรื่องวีรกรรมเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่ไปรักษาเมืองเวียงจันทร์และจับเจ้าอนุวงศ์ได้ (84)
เป็นที่น่าสังเกตว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ "พงศาวดาร" หรือ "ประวัติศาสตร์" ในวิถีทางที่แตกต่างจากพระราชบิดา กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และทรงเน้น "พื้นภูมิของไทยเราเอง" เพื่อจะเลือกปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ให้เหมาะแก่กาลสมัยและให้เหมาะแก่ลักษณะเฉพาะของไทยไปพร้อมกัน ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามแสดงให้เห็นสาระสำคัญของ "ความเป็นไทย" ซึ่งปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน และจะดำรงอยู่สืบไปในอนาคต โดยที่ "ความเป็นไทย" เหล่านั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้คำต่าง ๆ หลายคำเพื่อเรียก "ความเป็นไทย" ที่เสถียรนี้ เช่น ทรงเรียก "การปกครองแบบไทย" ว่า "นิติธรรมของเราสืบมาแต่โบราณ" (85) ทรงเรียกขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของไทยว่า "ประเพณีแบบแผนอันใช้มาแต่โบราณ" (86) ทรงเรียกศีลธรรมไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณว่า "ประเพณีประพฤติธรรมจรรยาอย่างไทย" (87) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงใช้ประวัติศาสตร์ในลักษณะที่เป็นภาพนิ่ง เพื่อนิยาม "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" จนทำให้อดีตดำรงอยู่ในปัจจุบัน และปัจจุบันก็กลับไปเหมือนอดีตได้ เช่น ทรงมีพระราชดำรัสว่า "พวกเราพร้อมกันทำใจให้เหมือนคนไทยครั้งสมเด็จพระนเรศวร" (88) หรือ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว...ทรงสถิตอยู่ในทศพิธราชธรรม ดำรงราชประเพณีอันดีงามตามแบบอย่างพระบรมกษัตริยราช ซึ่งดำรงพิภพกรุงศรีอยุธยา...สืบมาเป็นลำดับ" (89) หรือ "ธรรมประเพณีที่ไทยเราได้เคยใช้เป็นเครื่องคุ้มครองใจของเราทั้งหลายมีอยู่แล้วอย่างไร ก็หาควรที่จะละทิ้งของเดิมของเราเสียไม่" (90) และ "วิธีปกครองอย่างราชาธิปไตย เป็นนิติธรรมของเราสืบมาแต่โบราณกาล" ซึ่งควรจะใช้สืบไปในอนาคต (91) เป็นต้น
ด้วยการใช้ "วิธีคิดทางประวัติศาสตร์" ที่มีลักษณะสถิตแทนลักษณะพลวัตดังกล่าวข้างต้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสามารถเน้น "ความเป็นไทย" ที่สืบทอดมาแต่โบราณ เพื่อให้คนไทยยึดมั่นสืบไป ทั้งนี้ก็เพื่อหยุดยั้งหรือชะลอความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและวัฒนธรรมที่จะเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าทรงฟื้นฟูศิลปะรวมทั้งสถาปัตยกรรมแบบจารีตของไทย และทรงเน้นว่าการปกครองแบบราชาธิปไตย ซึ่ง "เป็นนิติธรรมของเราสืบมาแต่โบราณกาล" นั้น ยังคงเหมาะแก่ "ชาติไทย" ในปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งนี้ ทรงยืนยันอยู่เสมอว่า "ความเป็นไทย" ทั้งหลายที่สืบทอดมาแต่โบราณนี้ มี "วิญญาณ" หรือ "ภูมิธรรม" ที่เป็นสากล ซึ่ง "หลักแห่งธรรมย่อมเหมือนกันหมดทั้งโลก" และ"จะมีเวลาคร่ำคร่าหรือดับสูญไปหามิได้" (92) เพื่อทำให้เห็นว่าการปกครองแบบราชาธิปไตยมิได้ล้าสมัยแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อมีการสืบทอดวิธีคิดแบบมองประวัติศาสตร์เป็นภาพนิ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในสมัยต่อมา จึงมีผลลัพธ์ในทางที่ทำให้คนไทยยึดมั่นในความหมายเดิมของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" อย่างมั่นคงเป็นเวลานาน และส่งผลให้จินตภาพ "สังคมและวัฒนธรรมไทย" เป็นภาพนิ่งที่ปราศจากพลวัตตามไปด้วย
สรุป
เท่าที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาวิธีคิดที่ว่า
การปกครองแบบไทยเหมาะสมกับ "ชาติไทย" คนไทยจะต้องจงรักภักดีต่อ "ชาติไทย"
"พระมหากษัตริย์" และ "พุทธศาสนา" ทั้งนี้ "พระมหากษัตริย์"
และ "พุทธศาสนา" อยู่ในฐานะที่เป็น "หัวใจ" หรือเป็นแกนกลางของสังคมและวัฒนธรรมไทย
และ "ภาษาไทย" เป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมไทย หากไม่ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันหรือใช้ไม่ถูกต้อง
ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นคนใน "ชาติไทย" อย่างแท้จริง วิธีคิดเช่นนี้ได้รับการสืบทอดอย่างเต็มที่จากปัญญาชนสำคัญ
ๆ ในยุคต่อมา
เพื่อสร้างความภาคภูมิใจใน "ชาติไทย" ซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ในจินตนาการของคนทั้งหลาย และเพื่อให้คนทั้งหลายสามารถเสียสละเพื่อ "ชาติไทย" ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องของปัญญาชนภาครัฐ ซึ่งหมายรวมถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ในการเน้นความเป็นชาติเก่าแก่ที่เจริญรุ่งเรือง หัวใจของความเป็นไทย คือ พระมหากษัตริย์และพุทธศาสนา ทำให้ "ชาติไทย" มีระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า อีกทั้งคนไทยยังมีคุณสมบัติสำคัญ คือเป็น "ชาตินักรบ" ทำให้สามารถรักษาเอกราชเอาไว้ได้ ทั้งหมดนี้ได้ทำให้เกิดมโนทัศน์ "ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดี" ที่กลายเป็นโลกทัศน์ของคนไทย และมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของคนไทยอย่างลึกซึ้งสืบมาเช่นกัน
อนึ่ง ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเน้น "ชาติไทย" ที่เป็นชาติของ "ชนชาติไทย" หรือเป็น "ชาติ" ของคน "เชื้อชาติไทย" ในความหมายที่เป็นกลุ่มคนซึ่งมีวัฒนธรรมเดียวกันและสืบเชื้อสายกันมา แต่พระองค์ทรงยอมรับ "การกลายเป็นไทย" ไปพร้อมกัน ทรงตรา "พระราชบัญญัติแปลงสัญชาติ" ใน พ.ศ.2454 ซึ่งเปิดโอกาสให้คนชาติอื่นกลายเป็น "คนไทย" ได้โดยสะดวก แต่ทรงเน้นย้ำว่าการแปลงสัญชาติโดยกฎหมายนั้นมิได้ทำให้ใคร "กลายเป็นไทย" อย่างแท้จริง ผู้ที่ "กลายเป็นไทย" อย่างแท้จริงนั้น อย่างน้อยที่สุดจะต้อง
- พูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน และ
- จะต้องมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
โดยที่คุณสมบัติในประการหลังนี้เป็นคุณสมบัติอันสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกของ "ชาติไทย" (93) ส่วนการเน้น "ชาติไทย" ตามคติเชื้อชาตินิยมอย่างเข้มข้น เกิดขึ้นในยุครัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดังจะวิเคราะห์โดยละเอียดต่อไปข้างหน้า
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ (คลิกกลับไปทบทวนบทความก่อนหน้านี้)
เชิงอรรถ
(50) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปกิณกคดี. หน้า 122-123.
(51) อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, "การสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นเหนือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม: ข้อสังเกตบางประการว่าด้วยการเมืองระหว่างปัญญาชนกับการเมืองของปัญญาชน". เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องวิถีนักคิด ปัญญาชนไทย/เทศ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต หน้า 45.
(52) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, "พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะโรงเรียนในพระบรมราชูถัมภ์ ในวันงานประจำปีของโรงเรียน" (วันที่ 28 ธันวาคม 2465) ใน พระราชดำรัสร้อยครั้ง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2529. หน้า 212-214.
(53) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปกิณกคดี หน้า 89-90.
(54) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, "บันทึกความเห็นว่าด้วยการเลือกนามสกุล" ใน อัครานุกรมนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ 6 กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2529. หน้า (15).
(55) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปลุกใจเสือป่า. หน้า 49-51.
(56) วารุณี โอสถารมย์, "การศึกษาในสังคมไทย พ.ศ.2411-พ.ศ.2475" วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2524. หน้า 269-270.
(57) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, บทปลุกใจร้อยประการ. รวบรวมโดยฐาปนีย์ นครทรรพ และสุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2530. หน้า 110.
(58) โปรดดูรายละเอียดใน
พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต กรุงเทพฯ:
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2546. หน้า 34-41.
(59) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, เทศนาเสือป่า. หน้า 57-58.
(60) สุมาลี ลิ้มประเสริฐ, การสร้างเรือรบหลวง "พระร่วง" กับบทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง "มหาตมะ" วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร 24, 2 (2547): 231-261.
(61) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, บทละครพูดเรื่อง ร.ต.ต. "นนทรี" และมหาตมะ กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2519.
(62) ว. 0116/ ป 3. (หอวชิราวุธานุสรณ์) เอกสารอัดสำเนาลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "ขอชวนท่านเปนแมลงหวี่" อ้างใน สุมาลี ลิ้มประเสริฐ, การสร้างเรือรบหลวง "พระร่วง" กับบทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง "มหาตมะ" วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร 24, 2 (2547): 233-234.
(63) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,
วาทะพระมงกุฎ. รวบรวมโดย ส.วัฒนเศรษฐ์,หน้า129-130.
(64) เรื่องเดียวกัน, หน้า131.
(65) โปรดดู เรื่องเดียวกัน, หน้า 146 และหน้า 216 เป็นอาทิ.
(66) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,
จดหมายเหตุราชกิจรายวัน กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2517. หน้า 72.
(67) เรื่องเดียวกัน,
หน้า 53.
(68) เรื่องเดียวกัน.
(69) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, Uttarakuru: An Asiatic Wonderland
by Asvabahu แปลโดยพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา,
2524. หน้า 1.
(70) เรื่องเดียวกัน.
(71) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปลุกใจเสือป่า. หน้า 74.
(72) เรื่องเดียวกัน, หน้า 82.
(73) อัศวพาหุ (นามแฝง), ความเปนชาติโดยแท้จริง. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2520. หน้า
15.
(74) อัศวพาหุ (นามแฝง), พวกยิวแห่งบูรพาทิศและเมืองไทยจงตื่นเถิด กรุงเทพฯ:
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2527. หน้า15.
(75) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, เทศนาเสือป่า. หน้า 120.
(76) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปลุกใจเสือป่า หน้า 82.
(77) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชดำรัสร้อยครั้ง หน้า 123.(78)
ม.ล.ปิ่น มาลากุล, อธิบายพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2521. หน้า 63.
(79) อัศวพาหุ (นามแฝง),
ความเปนชาติโดยแท้จริง. หน้า 11.
(80) เรื่องเดียวกัน, หน้า 14.
(81) เรื่องเดียวกัน, หน้า 13-14.
(82) เรื่องเดียวกัน, หน้า 15.
(83) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2517. หน้า 138.
(84) ม.ล.ปิ่น มาลากุล,
อธิบายพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา,
2521. หน้า 120-125.
(85) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,
วาทะพระมงกุฎ รวบรวมโดย ส. วัฒนเศรษฐ์ หน้า 52.
(86) เรื่องเดียวกัน, หน้า 206.
(87) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปกิณกคดี หน้า 55.
(88) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, วาทะพระมงกุฎ รวบรวมโดย ส. วัฒนเศรษฐ์
หน้า 66.
(89) เรื่องเดียวกัน, หน้า 333.
(90) เรื่องเดียวกัน, หน้า 227.
(91) เรื่องเดียวกัน, หน้า 52.
(92) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปกิณกคดี หน้า 56 และหน้า 59.
(93) อัศวพาหุ (นามแฝง), ความเปนชาติโดยแท้จริง. หน้า 5-14.
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90