บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Thainess Construction
Midnight
University
ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน
รัชกาลที่
๕: การสร้างวิธีคิดเกี่ยวกับสังคม และวัฒนธรรมไทย (๑)
รองศาสตราจารย์
สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
งานวิจัยต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ขอรับมาจากผู้วิจัย
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำหรับโครงการ:
"ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.๒๔๓๕-๒๕๓๕)"
โดย รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ (สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)
เนื้อหาสมบูรณ์ของโครงงานวิจัย ประกอบด้วย ๑๓ บท เป็นการศึกษาวิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและ
วัฒนธรรมไทยของปัญญาชนจำนวน ๑๐ ท่าน ดังนี้: - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
- หลวงวิจิตรวาทการ - พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
- พระยาอนุมานราชธน - ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ - สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะทะยอยเผยแพร่ไปตามลำดับบท อย่างต่อเนื่อง
สำหรับในบทนี้ นำมาจากบทที่
๒ ของงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เดิมชื่อ
การสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
โดยปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์: พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๕๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๕ มกราคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๒ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++
ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน
รัชกาลที่
๕: การสร้างวิธีคิดเกี่ยวกับสังคม และวัฒนธรรมไทย (๑)
รองศาสตราจารย์
สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
โดยปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์: พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องจาก "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
ของคนไทย เป็นผลมาจากความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
ที่ปัญญาชนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นิยาม และทำการปลูกฝังลงไปในความรู้สึกนึกคิดของคนไทย
แม้ว่าปัญญาชนในยุคหลังจะได้ทำการเลือกสรรความคิดเฉพาะบางส่วนมาสืบทอด และ/หรือปรับเปลี่ยนความหมายของความคิดบางประการไปจากเดิมไม่น้อย
แต่กรอบโครงหลักทางความคิดเกี่ยวกับ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย"
ที่ปัญญาชนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สถาปนาเอาไว้ ได้รับการเน้นอย่างมากในระยะหลัง
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์การนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ
"ความเป็นไทย" ของปัญญาชนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ละเอียดชัดเจน
ก่อนหน้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เพื่อเป็นอุดมการณ์ของรัฐที่สร้างความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และรัฐไทยในเวลานั้นยังไม่มีเส้นเขตแดนที่ชัดเจนแน่นอน อุดมการณ์ของรัฐมาจากความคิดทางศาสนา ทั้งฮินดูและพุทธศาสนา ซึ่งในสมัยนั้นเส้นแบ่งที่ชัดเจนตายตัวระหว่างศาสนาทั้งสองยังไม่เกิดขึ้น (18)
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ความคิดทางพุทธศาสนาได้รับการเน้นจนมีความสำคัญมากขึ้น อุดมการณ์ของรัฐในช่วงเวลาดังกล่าวนี้มีสาระสำคัญว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระมหาธรรมิกราชาธิราชเพราะพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ที่พระราชทาน "โอวาทานุศาสน์" สั่งสอนให้คนเข้าใจธรรมและประพฤติธรรม หากผู้ใดประพฤติผิดธรรมก็จะทรงตัดสินคดีความอย่าง "ยุกติธรรม" คือถูกต้องตามหลักธรรม สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรจึงได้พึ่งพระบรมโพธิสมภาร ซึ่งทำให้มีโอกาสเข้าใจธรรมะ และสามารถทำบุญให้ทานสร้างกองการกุศล อันจะส่งผลให้เข้าใกล้อุดมคติของชีวิตคือพระนิพพานมากขึ้น ทุกคนจึงควรกตัญญูกตเวทีด้วยการปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ เช่น ไพร่ทุกคนจะต้อง "เอาเรี่ยวแรงเป็นแดนแทนพระเดชพระคุณจึ่งจะชอบ" (19) ดังนั้น ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ การทำให้ทุกคนในรัฐมีความสำนึกหรือมีจินตนาการว่าเป็นคน "ชาติ" เดียวกัน จึงไม่เกิดขึ้น ความรุ่งเรืองของรัฐแสดงออกด้วยการมีคนหลาย "ชาติภาษา" เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหาธรรมิกราชาธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีการจำแนก "ชาติภาษา" ต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น ดังปรากฏในวรรณกรรมเรื่องนางนพมาศและจารึกวัดพระเชตุพน ซึ่งมีการระบุถึง "ชาติภาษา" ต่าง ๆ ถึง 32 ชาติภาษา เพื่อเป็นความรู้ของคนในสมัยนั้น โดยที่ผู้เขียนตั้งใจจะให้หมายถึงคนที่มีจริง ในโลกที่เป็นจริง ตามทัศนะแบบมนุษยนิยมและสัจนิยม (20) แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ยังมิได้กล่าวถึง "ชาติ" ในฐานะที่เป็นชุมชนในจินตนาการ เพื่อเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนใน "ชาติ" แต่อย่างใด
ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อเศรษฐกิจและสังคมไทยประสบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาเบาริง และสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ รวมทั้งมีการขยายอำนาจทางทหาร และอิทธิพลทางวัฒนธรรมของตะวันตกในรูปของความรู้ต่าง ๆ ตลอดจนแบบแผนการดำเนินชีวิตแบบตะวันตก ในขณะที่จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิของไทยกำลังเสื่อมลง (21) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ของรัฐเป็นอันมาก เช่น การประกาศว่าพระมหากษัตริย์มิใช่พระโพธิสัตว์ พระราชอำนาจของพระองค์มาจากสัญญาประชาคม ทรงมีพระบารมีอันเกิดจากการสืบสันตติวงศ์ และทรงเป็นมนุษย์ที่มีความรอบรู้ซึ่งทำให้สามารถสร้างระเบียบและประโยชน์สุขแก่คนทุกกลุ่ม (22)
การปรับเปลี่ยนทางอุดมการณ์เช่นนี้ นอกจากจะเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้น ที่ขุนนางตระกูลบุนนาคมีอำนาจเหนือองค์พระมหากษัตริย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำให้พระราชอำนาจของพระองค์มีมากขึ้น และมีความมั่นคงเพียงพอที่จะทรงมีบทบาทเป็นผู้นำในการทำให้ประเทศสยามดำรงไว้ซึ่งอิสรภาพ และมีความเจริญรุ่งเรือง (23) นอกจากนี้ การสถาปนาอุดมการณ์ใหม่ยังเอื้อต่อการวางรากฐานทางการเมืองและวัฒนธรรม ที่จะช่วยให้รัชกาลของพระราชโอรสซึ่งจะเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ มีความมั่นคง และสามารถตอบสนองต่อปัญหาใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและปัญหาทางเศรษฐกิจ-การเมืองอันยุ่งยากและซับซ้อน ทั้งภายในและระหว่างประเทศ
ปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งในรัชกาลที่ 4 ก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเน้นอุดมการณ์ "เมืองไทยนี้ดี" ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ไม่ว่าศิลาจารึกหลักนี้จะได้รับการสร้างโดยใครและตั้งแต่เมื่อใดก็ตาม แต่พระองค์ทรงเป็นผู้เผยแพร่เนื้อหาของจารึกหลักนี้ให้ปรากฏแก่มหาชน อุดมการณ์ "เมืองไทยนี้ดี" ในจารึกหลักที่ 1 มีสาระสำคัญว่า ระเบียบ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าของเมืองไทย เป็นผลมาจากการปกครองของพระมหากษัตริย์ที่ทรงใกล้ชิดประชาชน ทรงรับรองกรรมสิทธิ์เอกชนและเปิดเสรีทางการค้า ทรงอำนวยความยุติธรรมในการตัดสินคดีความ และทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา รวมทั้งทรงสอนศีลธรรมแก่คนทั้งหลาย เมื่อประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยแล้ว ก็ทำให้ "เมืองไทยนี้ดี" อย่างแท้จริง จึงสมควรที่ชาวสยามทุกคนจะรัก "เมืองไทย" และมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่ง "เมืองไทย" อย่างเต็มที่
นอกจากการเผยแพร่จารึกหลักที่ 1 แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงวางรากฐานทางความคิดอีกหลายด้าน เพื่อเป็นฐานให้แก่อุดมการณ์ใหม่ ที่สำคัญได้แก่ การปรับเปลี่ยนความคิดทางพุทธศาสนา เพื่อให้สอดคล้องกับโลกทัศน์แบบ "กระฎุมพี" ของชนชั้นนำในเวลานั้น (24) ดังปรากฏในการสถาปนาธรรมยุติกนิกาย อันทำให้เกิดพุทธศาสนาแบบที่เน้นอุดมคติที่จะบรรลุได้ในโลกนี้มากขึ้น รวมทั้งเน้นหลักธรรมที่สามารถปฏิบัติได้จริงในชีวิต และเน้นว่า "สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ" (25) ที่สำคัญก็คือเน้นให้ทุกคนและทุกท้องถิ่นทำการศึกษาพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎก ซึ่งเอื้อต่อการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของความคิดทางศาสนาทั่วประเทศ อีกทั้งยังทรงวางรากฐานการปรับเปลี่ยนพระราชพิธีให้เป็นพุทธหรือ "เป็นไทย" มากขึ้น ทรงพยายามปรับเปลี่ยนความทรงจำของชนชั้นนำ ด้วยการชำระพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และทรงริเริ่มกำหนดภาษาไทยกับมารยาทไทยให้เหมาะแก่สังคมไทยสมัยใหม่ ที่จะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางวัฒนธรรมมากขึ้น ภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น
แม้ว่าในรัชกาลที่ 4 จะยังไม่เกิดการนิยามความหมายของ "ชาติสยาม" และ "ชาติไทย" อย่างชัดเจน แต่พระราชกรณียกิจต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ช่วยวางรากฐานอันสำคัญยิ่งสำหรับการปรับเปลี่ยนอุดมการณ์รัฐและการสถาปนาความหมาย "เมืองไทย" "ชาติสยาม" และ "ชาติไทย" โดยพระราชโอรส คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในเวลาต่อมา
การนิยามความหมายของ "ชาติสยาม" และ "ชาติไทย" เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 เพื่อตอบสนองปัญหาในระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ซึ่งทำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือทุกส่วนของรัฐอย่างเท่าเทียมกันในทางทฤษฎีนั้น จะเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติก็ต่อเมื่อ คนทั้งประเทศตระหนักถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการมีชะตากรรมร่วมกันภายใต้การปกครองของพระองค์ เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุดีหรือเหตุร้ายเกิดขึ้นแก่คนในเขตใดเขตหนึ่ง ก็จะส่งผลกระทบต่อคนในเขตอื่น ๆ และการกระทำใด ๆ ของรัฐบาลย่อมจะส่งผลแก่คนในทุก ๆ ส่วนของประเทศ
ใน พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัส ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการนิยามความหมายของ "ชาติสยาม" ที่ประกอบขึ้นด้วย "ไทยลาวชานทั้งปวง" ซึ่ง "พูดภาษาอันเดียวกันเพี้ยนกันบ้าง" และอยู่ภายใต้พระราชอำนาจกับการอุปถัมภ์บำรุงของพระมหากษัตริย์แห่งประเทศสยาม ดังความต่อไปนี้
...ความจริงที่เราสามารถจัดการบ้านเมืองได้สำเร็จตลอดทั่วไปในพระราชอาณาเขตรอันกอบด้วยหัวเมืองทั้งหลาย แผ่ขยายอยู่ในพื้นแผ่นดินอันไพศาล มีราษฎรอาไศรยอยู่ พูดภาษาอันเดียวกันเพี้ยนกันบ้างดังนี้ เปนเหตุที่เต็มใจยินดีของเราเปนอันมาก ไทยลาวชานทั้งปวงนี้ ก็นับถือตัวเปนพวกอยู่ในชาติเดียวกันอันหนึ่ง แลตั้งตาหมายว่าเราเปนเจ้าเปนใหญ่ผู้อุปถัมภ์บำรุงทั้งนั้น (26)
สถานการณ์ในรัชกาลที่ 5 นับว่าแตกต่างจากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นอย่างมาก เพราะพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นทรงปกครอง เก็บภาษี และตัดสินคดีความ โดยอาศัยกลไกของระบบไพร่ จึงไม่จำเป็นต้องสร้างความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อีกทั้งวิถีการผลิตหลักยังเป็นแบบศักดินา ซึ่งทำให้การค้าที่เชื่อมโยงคนในอาณาบริเวณต่าง ๆ เข้าหากันยังมีอย่างจำกัด คนส่วนใหญ่อยู่ในระบบการผลิตแบบพอยังชีพและส่งส่วยแก่นาย ความผันผวนที่มีต่อคนในอาณาบริเวณหนึ่ง ๆ แทบจะไม่มีผลกระทบต่อคนที่อยู่ในอาณาบริเวณอื่น ๆ แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในรัฐเดียวกันก็ตาม ส่วนเจ้าเมืองและกรมการแต่ละเมือง ส่วนใหญ่แล้วต่างก็สืบทอดอำนาจในสายตระกูล หรือแย่งชิงอำนาจกับตระกูลอื่นในท้องถิ่น ในขณะที่อุดมการณ์ทางการเมืองที่ตกทอดมา ก็เน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับ "สมณชีพราหมณ์อานาประชาราษฎร" ในแง่ที่แต่ละคนจะต้องพึ่งพระบรมโพธิสมภารเพื่อจะบรรลุนิพพาน ดังกล่าวมาแล้ว พสกนิกรในรัฐจึงไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองเดียวกันอย่างแท้จริง
เมื่อถึงรัชกาลที่ 4 แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงมีความสำนึกทางเวลาแบบก้าวหน้าแทนความเชื่อในคติปัญจอันตรธาน และทรงมีพระราชประสงค์จะทำให้พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะผู้กำหนด "วิถีของประวัติศาสตร์" (27) อย่างแท้จริง แต่การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางก็ยังไม่อาจเกิดขึ้นได้ พระองค์ต้องทรงรักษาระบบไพร่และทาสเอาไว้ และอำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในมือของขุนนางในส่วนกลางและตระกูลผู้นำในท้องถิ่นต่าง ๆ
ดังนั้น ในรัชกาลที่ 5 ขณะที่ทรงดำเนินการปฏิรูปการปกครอง ก็มีความจำเป็นต้องสถาปนาอุดมการณ์และโลกทัศน์ใหม่ เพื่อเป็นฐานทางความคิดให้แก่ระบอบการเมืองที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้พระราชอำนาจ และเป็นอุดมการณ์กับโลกทัศน์ที่เอื้อต่อการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งระบบไพร่และระบบทาสกำลังสลายตัวลงไป ในการนี้ปัญญาชนของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสำนึก "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ขึ้นมา แล้วนิยามความหมายของ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ไปในทางที่เป็นคุณประโยชน์ต่อการเสริมสร้างพระราชอำนาจเด็ดขาดสูงสุดของพระมหากษัตริย์ และการจัดระเบียบสังคมในลักษณะของการแบ่งชั้นตามหลักชาติวุฒิ เพื่อช่วยในการจรรโลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งเพื่อให้สามารถเผชิญกับภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักเป็นอย่างดีว่า "การภายนอกย่อมหนักแน่นขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงจะเป็นการจำเป็นที่จะทำช้า...ไม่ได้ การสมัครสมานภายในต้องเรียบร้อยโดยเร็ว ไว้รับภายนอกให้ทันแก่เวลา" (28)
การสร้างจินตภาพ "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ให้เกิดขึ้นในสำนึกของคนทั้งปวง จะช่วยในการจัดระเบียบสังคม พร้อมทั้งช่วยลดความแตกต่างและความขัดแย้ง ทั้งระหว่างชนชั้น ระหว่างชาติพันธุ์ และระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง ฯลฯ รวมตลอดไปถึงความขัดแย้งส่วนบุคคล เอื้อให้สภาวะที่มี "เอกภาพ" "การสมัครสมานภายใน" หรือ "ความสามัคคีภายในชาติ" สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะการมีความสำนึกและจินตนาการเกี่ยวกับ "ชาติสยาม" (29) หรือ "ชาติไทย" ร่วมกัน จะทำให้คนทั้งปวงตระหนักว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำของ "ชาติ" ที่จะทำให้ "ชาติ" มีอิสรภาพ มีระเบียบ มีความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า โดยที่ทุกคนใน "ชาติ" จะได้รับผลดีจากสภาวการณ์ดังกล่าว ในขณะที่ความสำนึกในความสำคัญของ "ความเป็นไทย" จะช่วยทำให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางวัฒนธรรมและเกิดการยอมรับโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น โดยที่คนแต่ละชั้นมีสถานภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่เท่าเทียมกันและมีหน้าที่ต่อ "ชาติ" แตกต่างกันตามระดับของชาติวุฒิ ความจงรักภักดี และความรู้ความสามารถที่มีอยู่
การวางรากฐานความคิดเรื่อง
"ชาติ"
แม้ว่าในรัชกาลที่
5 จะยังไม่มีการสร้างมโนทัศน์ "ชาติสยาม" หรือ "ชาติไทย"
ขึ้นมาอย่างละเอียดชัดเจน แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงมีพระราชดำรัส
พระราชนิพนธ์ และพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เพื่อสร้างความสำนึกในเรื่อง "ชาติ"
และ "ความรักชาติ" อันเป็นการวางรากฐานให้แก่มโนทัศน์ "ชาติไทย"
และ "ความเป็นไทย" ที่จะได้รับการนิยามอย่างจริงจังในรัชกาลต่อมา
ในรัชกาลที่ 5 นี้ ความคิดความเชื่อใหม่ ๆ ที่เป็นภัยต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ก่อตัวขึ้นมาในคนหลายกลุ่ม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่า การศึกษาในโรงเรียนจีนและโรงเรียนฝรั่งที่แพร่หลายขึ้นนั้น มีส่วนอย่างมากในการทำให้คนมีความรู้และความคิดใหม่ ที่จะส่งผลให้คลายความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนา (30) ความคิดทางสังคมและการเมืองใหม่บางประการปรากฏในหมู่ชนชั้นสูงด้วย เช่น กรณีเจ้านายข้าราชการกลุ่มหนึ่งซึ่งนำโดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ "กราบบังคมทูลถวายความเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน ร.ศ.103" โดยเสนอให้มีการปกครองแบบมีรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ที่จะส่งผลให้เกิดความเสมอภาค เสรีภาพ และความยุติธรรม (31) หรือกรณี "เทียนวรรณ" เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสังคมและการเมืองผ่านทางหนังสือพิมพ์ (32) ก็บั่นทอนความมั่นคงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกัน ถึงแม้ว่าผลกระทบที่ชัดเจนจะยังไม่เกิดขึ้นในเวลานั้น แต่การคาดการณ์ว่าความคิดความเชื่อใหม่ ๆ เหล่านั้นจะมีอิทธิพลมากขึ้นในอนาคต ก็ทำให้ชนชั้นนำต้องหาทางป้องกันแก้ไขไว้ล่วงหน้า นอกจากนี้ การปกครองประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งอาจอ้างเอาการกดขี่ราษฎรตลอดจนความป่าเถื่อนล้าหลังในด้านต่าง ๆ เป็นเหตุผลในการยึดครองเข้ายึดประเทศสยามเป็นอาณานิคมอีกด้วย
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวมานี้ การสถาปนาอุดมการณ์ใหม่จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยลดปัญหาข้างต้นแล้ว ยังช่วยสร้างความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศที่ทุกคนเคารพต่อพระราชอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ และยอมรับสถานะความเป็น "ผู้นำ" ของพระมหากษัตริย์ในการ "เลือกฟั้น" สิ่งที่จะรับเข้ามาในบ้านเมือง ขณะเดียวกันอุดมการณ์ใหม่ยังจำเป็นสำหรับการจัดระเบียบและควบคุมสังคมแทนระบบไพร่และทาส ดังนั้น ในปลายรัชกาล เมื่อกระบวนการปฏิรูปการปกครองเพื่อรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางได้บรรลุความสำเร็จมากพอสมควรแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงดำเนินการสร้างมโนทัศน์ "ชาติไทย" อันมีพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาเป็นหัวใจของ "ความเป็นไทย" อย่างจริงจัง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนจะถึงปลายรัชกาลนั้น ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้จินตนาการ "ชาติสยาม" หรือ "ชาติไทย" ได้อย่างจำกัด ก็คือการที่ประเทศสยามยังมีเมืองประเทศราช ดังจะเห็นได้ว่าใน พ.ศ.2434 เมื่อทรงตรา "พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.110" นั้น ก็ยังปรากฏว่า "ธงบรมราชธวัชมหาสยามมินทร์" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และมีความสำคัญเป็นลำดับแรกนั้น มุ่งเน้นว่า พระมหากษัตริย์แห่งสยามทรงมีพระราชอำนาจปกครองหลาย "ประเทศ" ได้แก่ "สยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง...ลาวประเทศ...มลายูประเทศ" ดังความใน "พระราชบัญญัติที่กำหนดลักษณะธง" ดังนี้
...พื้นในสีขาบ เปนรูปโล่ตราแผ่นดิน มีจักรีไขว้กันอยู่บนโล่...ในโล่ตราแผ่นดินนั้น ช่องบนเปนรูปช้างไอยราพต ...บอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวานั้น เปนรูปช้างเผือกพื้นชมพู เปนนามสัญญาแห่งลาวประเทศ ช่องล่างข้างซ้ายนั้น เปนรูปกฤชคดแลตรงสองอันไขว้กัน... บอกสัญญานามมลายูประเทศ... จึ่งเปนบรมราชธวัชสยามมินทร์สำหรับพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสยามินทร์ แต่พระองค์เดียว (33)
ส่วน "ธงชาติ" ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ มิได้เป็นสัญลักษณ์ของคนทั้งหมดในรัฐ แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ของพ่อค้าและสามัญชน "สำหรับปักในเรือทั้งหลายของพ่อค้าแลของสามัญชนทั่วไปบรรดาที่เปนชาติสยาม" และมีความสำคัญในลำดับที่ 14 (34)
แต่เมื่อถึงปลายรัชกาล พระมหากษัตริย์แห่งประเทศสยามได้ "เสียดินแดน" หรือเสียเมืองประเทศราชไปมากแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ล้วนตกอยู่ภายใต้พระราชอำนาจอย่างมั่นคงมากขึ้น โดยที่ส่วนกลางสามารถขยายอำนาจออกไปจัดการทรัพยากรทั่วประเทศ และใช้กองทัพสมัยใหม่ในการปราบปรามการกบฏใน "ลาวประเทศ...มลายูประเทศ" ได้สำเร็จ อีกทั้งมีการสร้างระบบการสื่อสารคมนาคมสมัยใหม่และการศึกษาแผนใหม่ และมีการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 รวมทั้งมีการปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างกว้างขวาง ดังนั้น ในปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้ความสำคัญแก่การสร้างความทรงจำร่วม (Collective memory) ว่า "ชาติไทย" ที่ทรงปกครองนั้นเป็น "ชาติ" เก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ โดยมีพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญของความเป็นชาติที่มั่นคงและเจริญรุ่งเรือง ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถึงปลายรัชกาลที่ 5 นี้ ความสำนึกในเรื่อง "ชาติไทย" ในความหมายที่ว่า "คนชาติไทยก็คือเกิดเปนไทย เกิดในหมู่ชนที่เรียกนามตนว่าไทย" (35) ได้ก่อตัวขึ้นมาแล้วในหมู่ชนชั้นนำ แต่ยังไม่อาจสร้างเป็นความสำนึกร่วมของคนทั้งประเทศได้ ด้วยเหตุผลที่ประเทศสยามในระยะก่อนทศวรรษ 2430 นั้น ยังมีระบบการเมืองแบบจารีต ที่อำนาจกระจายอยู่ในตระกูลเจ้าเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเจ้าประเทศราชดังที่กล่าวมาแล้ว อีกทั้งยังขาดกลไกที่จะปลูกฝังสำนึกเรื่อง "ชาติ" ให้เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลายอีกด้วย เพราะการศึกษาแผนใหม่สำหรับทวยราษฎร์ และการปฏิรูปการปกครองกับการปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ ล้วนแต่กระทำได้อย่างจำกัด ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ก็เผยแพร่เฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเขตเมืองซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ
สำนึกทางการเมืองเรื่อง "คนชาติไทย" ของชนชั้นนำ น่าจะเริ่มก่อตัวขึ้นหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษ และสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับชาติอื่น ๆ ซึ่งไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประเทศคู่สัญญาทั้งหลาย เป็นผลให้ชนชั้นนำไทยต้องจำแนก "ชาติ" ของคนในพระราชอาณาจักรอย่างละเอียด เมื่อเกิดปัญหากับคน "ชาติ" ต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน ลาว มลายู ฯลฯ ถึงแม้ว่าจะเป็นปัญหาประเภทเดียวกันก็ต้องใช้วิธีจัดการกับปัญหาแตกต่างกัน โดยจะต้องคำนึงถึงปัญหา "การเมือง" ที่ผูกติดกับปัญหา "ชนชาติ" อยู่ตลอดเวลา หากอ่านพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแก่เสนาบดีกระทรวงนครบาล จะเห็นได้ชัดเจนว่า มีการแยกแยะอยู่เสมอว่าคนร้ายเป็นคนชาติใด ผู้เสียหายเป็นคนชาติใด (36) และหากอ่านเอกสารราชการที่บันทึกรายงานการประชุมเสนาบดี ก็จะพบว่ามีการจำแนกเช่นเดียวกันว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนชาติใดบ้าง และการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่มีคนต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ต้องคำนึงถึงมิติทางการเมืองอย่างละเอียดอ่อน ในสถานการณ์เช่นนี้ ความสำนึกเรื่อง "ชาติ" ที่เกี่ยวโยงกับอำนาจการเมืองจึงก่อตัวขึ้น จนเป็นจุดเริ่มต้นของ "ชาตินิยม" ในหมู่ชนชั้นนำ โดยเป็น "ชาตินิยม" แบบที่เน้นเอกราชและความเจริญรุ่งเรืองของ "ชาติ" ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้นำของ "ชาติ"
อาจกล่าวได้ว่า ความสำนึกเรื่อง "ชาติสยาม" หรือ "ชาติไทย" ของชนชั้นนำ เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งเรือรบฝรั่งเศสปิดปากอ่าวไทย เพราะด้วยความสำนึกหรือจินตนาการ "ชาติไทย" ซึ่งมีอำนาจอยู่ในดินแดนแหลมทองนี้เอง ที่ส่งผลให้ชนชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากษัตริย์แห่ง "ชาติไทย" ทรงรู้สึก "เสียเกียรติยศ" เป็นอย่างมากเมื่อเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งฝรั่งเศสนำเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย และ "ชาติไทย" ต้อง "เสีย" ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ความหมายของ "ชาติไทย" ในช่วงเวลาดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะหมายถึง "ชาติ" ของ "ชนชาติไทย" แต่ก็มิใช่ "ชาติ" ที่ทุกคนใน "ชาติ" มีความเสมอภาคกัน หรือครอบครองอำนาจอธิปไตยร่วมกันแต่อย่างใด ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเน้นแบบแผนความสัมพันธ์อันถูกต้องว่า "ผู้น้อย...ต้องอ่อนน้อมยำเกรงผู้ใหญ่" ดังความว่า
บ้านเมืองจะอยู่เย็นเปนศุขได้ก็ด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน การที่จะเปนสามัคคีพร้อมเพรียงกันได้นั้น ก็ต้องอาไศรยที่ผู้ใหญ่มีความโอบอ้อมอารีรักใคร่ต่อผู้น้อยโดยสุจริต ผู้น้อยก็ต้องอ่อนน้อมยำเกรงผู้ใหญ่...จึงจะเปนการเรียบร้อยได้ (37)
อย่างไรก็ตาม ทรงระมัดระวังมิให้เกิดการกดขี่ภายในบ้านเมือง ในบริบทที่มีการเผยแพร่ความคิดเรื่องความเสมอภาค เสรีภาพ และประชาธิปไตย เพราะหากมีการกดขี่เกิดขึ้นก็ย่อมแสดงว่าการปกครองของพระองค์มีข้อบกพร่อง และจะทำให้การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นระบบอบรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยชอบธรรม อีกทั้งในเวลานั้นมหาอำนาจก็ต้องการดินแดนและประชากรเพิ่มเติม ซึ่งทำให้ต้องระวังไม่ให้เกิดการกดขี่ราษฎรในพื้นที่ใด ๆ อันจะทำให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างในการยึดครองพื้นที่นั้น ๆ เมื่อปรากฏว่า "ราษฎรในหัวเมืองลาว มีความกลัวเกรงแลเกลียดชังข้าหลวงมาก...การซึ่งเปนเหตุให้ราษฎรลาวได้ความเดือดร้อนเช่นนี้ ก็เหมือนหนึ่งต้อนพวกลาวให้เข้าหาฝรั่งเศส ด้วยฝรั่งเศสมาตั้งถ้าคอยรับอยู่แล้ว" พระองค์ก็ทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าหลวงไต่สวนเอาตัวผู้ผิดมาลงโทษ เพื่อจะ "รงับความเดือดร้อนของราษฎรให้เย็นใจลง...กลับคืนเข้าภูมิลำเนา" (38)
ในกรณีการจับผู้ร้ายชาวตองสู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเตือนมิให้มีการทุบตีหรือทรมานผู้ร้าย ดังความว่า
ด้วยเมืองพิชัยมีใบบอกเรื่องจับตองสูผู้ร้ายฆ่านั้น...ห้ามอย่าให้เฆี่ยนตี ตอกขื่อ แลอย่าให้ผู้คุมเรียกเงินค่าธรรมเนียมเล็กน้อย...การที่จะจับผู้ร้ายต่อไปอีก...ถ้าไม่ต่อสู้อย่าให้ทุบตีฟันแทงให้เจ็บป่วย ถ้าต่อสู้ให้ต่อสู้บ้างแต่เพียงพอจับได้ อย่าให้ทำโดยความโกรธ จับได้แล้วทุบตีอย่างหนึ่งอย่างใดเปนอันขาด (39)
จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระมัดระวัง มิให้เกิดการกระทำที่จะแสดงให้เห็นว่า ภายใต้การปกครองของพระองค์มีการกดขี่เบียดเบียนมนุษย์ด้วยกันอย่างรุนแรง อันจะส่งผลให้คนทั้งหลาย รวมทั้งชาติมหาอำนาจ เห็นว่าระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ยังไม่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ "ผู้น้อย" หรือการกดขี่คนต่างชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศก็ตาม พร้อมกันนั้นพระองค์ก็ได้ทรงดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้เป็นที่ปรากฏว่า พระองค์ได้ทรงพยายามลดการกดขี่เบียดเบียนภายในประเทศลงอย่างมากที่สุด เป็นต้นว่า ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเศกครั้งที่ 2 ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้เสนอให้ทรงเลิกระบบทาสนั้น พระองค์ก็โปรดเกล้าฯ ให้ "ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ จ.ศ.1235" ในทันที เพื่อเน้นว่าทรงตั้งพระทัยจะปกครอง "เพื่อที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มีความสุขความเจริญ แก่พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทั้งสมณชีพราหมณ์ประชาราษฎรทั้งปวง" และการกดขี่เบียดเบียนทั้งปวงที่มีอยู่นั้นก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะกำจัดให้หมดสิ้นไป "มิให้มีแก่ชนทั้งหลายในพระราชอาณาจักรต่อไป" อย่างไรก็ตาม พระองค์จำต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป "ตามเวลาที่ควรแก่กาล" ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างในคราวเดียวได้ ดังที่ทรงระบุว่า
ก็ในประเทศสยามนี้ ธรรมเนียมบ้านเมืองที่เป็นการกดขี่แก่กัน อันไม่ต้องด้วยยุติธรรมนั้น ก็ยังมีอยู่อีกหลายประการ จะต้องคิดลดหย่อนผ่อนเปลี่ยนเสียบ้าง แต่การที่จะผลัดเปลี่ยนธรรมเนียมให้แล้วไปในครั้งเดียวคราวเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องคิดเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ควรแก่กาลที่จะเปลี่ยนแปลงได้ บ้านเมืองจึ่งจะได้มีความเจริญสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป" (40)
ดังนั้น การลดการกดขี่เบียดเบียนในระยะแรกจึงมีเพียงการยกเลิก "ธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้" ซึ่ง "เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแขงแรงนัก...ไม่ทรงเหนว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมืองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย" (41) ในเวลาต่อมา จึงได้ขยายมาสู่การมีพระบรมราชโองการห้ามมิให้ข้าราชการทำการกดขี่ประชาชนในเรื่องอื่น ๆ รวมทั้งทรงยกเลิกระบบไพร่และทาส ซึ่งทำให้ชาติตะวันตกแสดงความชื่นชนเป็นอันมากว่า พระองค์พระราชทานเสรีภาพแก่ราษฎร อันทำให้ให้ "ชาติไทย" ดูศิวิไลซ์ขึ้นมากในสายตาของต่างชาติ
กลางทศวรรษ 2430 เป็นต้นมา พระราชดำริเรื่อง "ชาติ" และ "รักชาติ" ปรากฏในพระราชนิพนธ์และพระราชหัตถเลขาบ่อยครั้ง และทรงใช้คำว่า "ชาติชาวสยาม" อยู่เสมอ (42) และเมื่อถึงทศวรรษ 2440 ซึ่งการปฏิรูปการปกครองบรรลุผลมากพอสมควรแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพยายามลดความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของประชาชน และสร้างความสำนึกว่าเป็นไทยด้วยกัน เช่น การเปลี่ยนชื่อมณฑลต่าง ๆ ใน พ.ศ.2442 จากชื่อเดิมที่แสดงถึง "ชนชาติ" ซึ่งอาศัยอยู่ในมณฑลเหล่านั้น มาเป็นชื่อใหม่ที่เน้นทิศอันเป็นที่ตั้งของมณฑล เช่น จากชื่อ "มณฑลลาวเฉียง" เป็น "มณฑลพายัพ" ส่วน "มณฑลลาวพวน" เป็น "มณฑลอุดร" และ "มณฑลลาวกาว" เป็น "มณฑลอิสาน" นับเป็นการลบเลือนความ "ไม่เป็นไทย" ออกไปจากการรับรู้ของคนทั้งหลาย และพยายามสร้างความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ไทยขึ้นมาแทน ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องนี้ไว้ ดังต่อไปนี้
...พระเจ้าอยู่หัว...ทรงริเริ่มปฏิรูประบบการปกครอง เปลี่ยนให้เป็นแบบรวมราชอาณาเขตรไทยให้เปนอันหนึ่งอันเดียวกัน ล้มเลิกประเพณีที่หัวเมืองขึ้นต้องทูลเกล้าฯ ถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง เปลี่ยนชื่อ...และยกเลิกการเรียกชื่อราษฎรในมณฑลทั้งสามนั้นว่าลาว (43)
ใน พ.ศ.2440 เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ทหารเรือ ในเรื่อพระที่นั่งมหาจักรี โดยทรงเน้นเรื่อง "รักชาติและรักบ้านเมืองอันเป็นที่เกิด" ซึ่งเป็นความรู้สึกแบบ Patriotism พร้อมกับทรงสร้างความเชื่อมั่นในความเท่าเทียมระหว่างคนไทยกับชาวตะวันตกในฐานะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน เพื่อป้องกันมิให้ทหารเรือรู้สึกว่าคนชาติไทยด้อยกว่าคนชาติตะวันตก พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งระบุว่า
เดี๋ยวนี้เราได้มาจากประเทศของเราไกลตั้ง 6000 ไมล์...มาถึงประเทศที่เขาได้เจริญแล้ว ด้วยวิชาการฝ่ายทะเล แลการรุ่งเรืองด้วยการเล่าเรียนแลการปกครอง กับทั้งป้องกันอันกวดขันในเขตแดนบ้านเมืองของเขา เพราะเขารักชาติและรักบ้านเมืองที่เขาเกิด...ความเจริญรุ่งเรืองทั้งหลายนี้ ได้เกิดขึ้นเพราะความสังเกตแล้วคิดการประกอบแลเล่าเรียนต่อ ๆ กันมา อาศัยความอุตส่าห์และความเพียรเปนที่ตั้งเท่านั้น เขาหาได้เปนอย่างอื่น นอกจากเปนมนุษย์เหมือนเราไม่ เราควรจะมีมานะว่าเราก็เปนมนุษย์เช่นเขา ไม่ได้เลวไปกว่าเขาในการที่เกิดมานั้นเลย แต่เพราะว่าเรามีความรู้น้อยกว่าเท่านั้น จึงได้เห็นเปนผิดไปบ้าง...เราอยากรู้อันใดเราเรียนรู้ได้เหมือนเขาทั้งสิ้น (44)
พระราชดำรัสพระราชทานนักเรียนที่ได้ออกไปเรียนในยุโรป ก็เน้นให้นักเรียนเหล่านั้น "ทำให้ตนเปนประโยชน์" คือนำความรู้กลับมา "ทำให้แพร่หลายในหมู่ชนชาติเดียวกัน...ความรู้อันนี้ ไม่มีข้อซึ่งจะขัดขวางต่อการที่จะรักษาไว้ซึ่งอำนาจฉเพาะประเทศ คืออิศรภาพของเมืองเราในชาติเอเชียชาติหนึ่ง" (45)
ต่อมาใน พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สร้างความทรงจำเกี่ยวกับ "ชาติ" อย่างสำคัญ ด้วยการที่ทรงพระราชนิพนธ์ประวัติพระพุทธชินราชขึ้นมาใหม่อีกสำนวนหนึ่ง ทรงใช้ชื่อเรื่องว่า "พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช" (46)
ก่อนหน้านี้เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธชินราชปรากฏใน "พงศาวดารเหนือ" ซึ่งกล่าวถึงเรื่อง "พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก" แห่งเชียงแสน ว่าทรงโปรดฯ ให้สร้างพระพุทธชินราชขึ้น เมื่อถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ "ตำนานพระพุทธราช" ขึ้นใหม่ ระบุว่าคนไทยแห่งเมืองสวรรคโลกเป็นผู้สร้าง เพื่อเน้นว่าช่างไทยมีฝีมือเหนือกว่าช่างลาวเมืองเชียงแสน และยังเป็นการเชื่อมโยงพระพุทธรูปที่งามเลิศพระองค์นี้เข้ากับประวัติศาสตร์ไทยไปพร้อมกัน (47) โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพื่ออธิบายว่า เหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้สร้างโดยคนไทยแห่งเมืองสวรรคโลก ก็เพราะกษัตริย์เชียงแสนคือ "พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก...ทรงพระวิตกว่า ถ้าจะทำพระพุทธรูปขึ้นแต่โดยลำพังฝีมือลาวชาวเมืองเชียงแสน กลัวเกลือกจะไม่งามดี " (48)
ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะจำลองพระพุทธชินราช เพื่อใช้เป็นพระประธานพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ได้ทรงพระราชนิพนธ์ประวัติพระพุทธชินราชขึ้นใหม่อีกสำนวนหนึ่ง คือ "พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช" (49) พระราชนิพนธ์เรื่องนี้สามารถแบ่งได้เป็นสามตอน โดยตอนต้นมีพระราชนิพนธ์เนื้อหาเพิ่มขึ้นใหม่เพื่อปูเรื่องเข้าสู่ประวัติพระพุทธชินราช ตอนกลางว่าด้วยประวัติพระพุทธชินราชซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินตามเนื้อหาหลักในฉบับรัชกาลที่ 4 และตอนท้ายเป็นส่วนพระราชนิพนธ์ใหม่ทั้งหมดว่าด้วยการจำลองพระพุทธชินราช เนื้อหาในตอนต้นนั้น แม้จะมีเนื้อความไม่มากนัก แต่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้าง "องค์ประกอบเนื้อหา" ใหม่ ที่แตกต่างจากฉบับพงศาวดารเหนือและฉบับรัชกาลที่ 4 อย่างมีนัยสำคัญ เพราะทรงเน้นเรื่อง "ชาติ" เป็นอย่างมาก ดังความว่า
ประเทศข้างฝ่ายเหนือซึ่งเรียกว่าลานนาไทย...เมืองเชียงแสนซึ่งแต่ก่อนเคยเรียกว่านาเคนทร เปนเมืองใหญ่ในหมู่ชนทั้งปวง ซึ่งมีชาติเรียกว่าไทย เปน เมืองหลวงแล้ว.....เมืองในประเทศลานนาไทยนี้ เมืองเดิมก็คือเมืองเชียงแสนที่กล่าวมาแล้ว ภายหลังสร้างเมืองเชียงราย เมืองพเยา เมืองฝางเปนต้น ในเมืองเหล่านี้เมืองเชียงรายได้เปนราชธานีมากกว่าเมืองอื่น ต่อภายหลังเมื่อได้ประเทศหริภุญไชยจึงได้ย้ายเข้ามาตั้งเมืองเชียงใหม่เปนราชธานี...." (50)
จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายเมืองลาวเชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ ว่าเป็นเมืองในกลุ่ม "ลานนาไทย" ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ปรากฏคำว่า "ลานนาไทย" ขึ้นในเอกสาร อันแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงต้องการอธิบายว่าเมืองเชียงแสนที่สร้างพระพุทธชินราชนั้นเป็นเมืองของชนชาติ "ไทย" ต่างจากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่นิยามเมืองเชียงแสนว่าเป็นเมือง "ลาว" ดังนั้น การสร้างคำอธิบายที่ปรากฏใน "พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช" จึงเป็นการสร้างความทรงจำใหม่เพื่อยืนยันความชอบธรรมของพระมหากษัตริย์ไทย ในการผนวกหัวเมืองล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ด้วยเหตุว่าเป็น "คนไทย" เหมือนกัน (51) และคำว่า "ลานนาไทย" ก็ได้ถูกใช้โดยนักวิชาการและนักเขียนสารคดีสืบต่อมาอีกนาน จนทำให้ "ล้านนา" เป็นที่รับรู้ของคนไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ "ชาติไทย" มาแต่โบราณ
นับว่าพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวส่วนที่เป็นการเกริ่นนำ ก่อนเข้าสู่เรื่องประวัติพระพุทธชินราช ได้ช่วยเสริมให้พระพุทธชินราชกลายเป็นพระพุทธรูปของชนชาติไทยอย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น และสามารถอธิบายพระพุทธชินราชว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญในประวัติศาสตร์ "ชาติไทย" ได้ดียิ่งกว่าพระราชนิพนธ์เรื่อง "ตำนานพระพุทธชินราช" ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (52)
ในพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเชื้อสายระหว่างกษัตริย์แห่งประเทศสยาม กับราชวงศ์ของพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (ผู้สร้างองค์พระพุทธชินราช) อย่างชัดเจน (53) กล่าวคือ "พงศาวดารเหนือ" และพระราชนิพนธ์ "ตำนานพระพุทธชินราช" ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กล่าวว่า วงศ์กษัตริย์ของพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจะสืบทอดต่อมาเพียงอีกเจ็ดชั่วคนก็หมดลง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอธิบายว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นต้นราชวงศ์เชียงราย ซึ่งก็คือเชื้อวงศ์ของกษัตริย์ที่จะสืบเนื่องมาเป็นกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรอยุธยาอันเป็นบรรพบุรุษของประเทศสยามนั่นเอง ดังความต่อไปนี้
ต่อภายหลังจึงปรากฏว่าพระราชวงษ์เมืองเชียงราย ได้ถอยลงมาตั้งเปนเอกราชอยู่ในพระราชอาณาเขตรนั้นปรากฏชื่อว่าเมืองเชลียงช้านาน จึงได้เลื่อนลงมาตั้งกรุงทวารวดีศรีอยุธยาตำบลหนองโสน ส่วนข้างตวันออกแลตอนข้างใต้ลงมา มีราชธานีใหญ่ชื่อกรุงลโว้ซึ่งตั้งอยู่ที่ลพบุรี มีเมืองเจ้าเปนเมืองบริวารอย่างเดียวกัน คือเมืองเสนาราชนคร ซึ่งภายหลังเปนอโยชฌิยา...แล้วเปลี่ยนเปนศรีอโยทธยา จนภายหลังที่สุดเปนทวารวดีศรีอยุธยาที่หนองโสน..." (54)
จากนั้นพระองค์ก็ทรงเชื่อมโยงให้เห็นว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีเชื้อสายสัมพันธ์กับสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยาด้วย ดังความว่า
...พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกผู้สร้างพระพุทธปฏิมากรนี้ ก็นับว่าเปนต้นเชื้อสายเก่าพระบรมราชวงษ์เชียงรายอันเปนบรมราชวงษ์สืบเชื้อสายมายืดยาว ถึงจะมิได้ตรงมาโดยลำดับ ก็นับเนื่องกันได้ดังเช่นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถ ๒ พระองค์นี้พระราชมารดาก็คือสมเด็จพระวิสุทธิกษัตริย์ อันเปนพระราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชบรมราชวงษ์เชียงราย.....(55)"
จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตีความว่า "เมืองเสนาราชนคร" ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ และไปรับเจ้าดวงเกรียงกฤษณราชมาจากเมืองกัมพูชา มาอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของพระองค์ แล้วโปรดฯ ให้ครองเมืองร่วมกันนั้น คือ "เมืองอโยธยา" ซึ่งจะมีพัฒนาการต่อมาเป็น "กรุงศรีอยุธยา" ราชธานีแห่งราชอาณาจักรสยาม (56) เมื่อรวมเข้ากับที่ทรงพระราชนิพนธ์ที่ว่า กษัตริย์ราชวงศ์เชียงรายย้ายลงมาสร้างเมืองเชลียงและย้ายอีกครั้งมาที่กรุงศรีอยุธยา ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพเชื่อมโยงต่อเนื่องกันเป็นสายโซ่ประวัติศาสตร์ ที่แสดงว่าบรรพบุรุษของชนชาติไทยแต่เดิมตั้งบ้านเมืองอยู่ทางภาคเหนือ เรียกว่า "ลานนาไทย" จากนั้นจึงค่อย ๆ เคลื่อนย้ายลงมาทางใต้โดยลำดับ โดยมีพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำคัญของกษัตริย์แห่ง "ชาติไทย" ตั้งแต่ครั้งราชวงศ์เชียงราย เรื่อยมาจนถึงพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา และสืบเนื่องลงมาจนถึงพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (57)
เท่าที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำให้พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปที่แสดงเรื่องราวความเป็นมาของ "ชาติไทย" โดยที่พระพุทธชินราชเองเป็นพระพุทธรูปสำคัญในประวัติศาสตร์ "ชาติไทย" และด้วยความสำคัญของพระพุทธชินราชดังกล่าวมานี้ เมื่อประกอบกับจินตภาพที่เพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น ว่าพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงามที่สุดในประเทศสยาม ก็ได้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวสถาปนาวัดเบญจมบพิตรขึ้นใน พ.ศ.2442 โปรดเกล้าฯ ให้จำลององค์พระพุทธชินราชขึ้นใหม่ในขนาดเท่าพระองค์จริง เพื่อเป็นพระประธานในพระอารามหลวงแห่งพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 นี้
ในปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพยายามกระตุ้นให้ปัญญาชนหาทางสร้างสำนึกและจินตนาการเกี่ยวกับ "ชาติ" ภายใต้การปกครองของ "พระเจ้าแผ่นดิน" อย่างจริงจัง โดยพระองค์ทรงใช้ทั้งคำว่า"ชาติชาวสยาม" และคำว่า "ชาติไทย" ดังปรากฏในพระราชดำรัสเปิด "โบราณคดีสโมสร" ใน พ.ศ. 2450 ซึ่งพระองค์ได้ทรงระบุว่า "จะต้องถือว่าพระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองราชอาณาเขตซึ่งเป็นชาติชาวสยามนี้ ได้มีขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,239 ปี" (58) ทรงเน้นว่า ควรทำการศึกษา "พงศาวดารชาติไทย" ย้อนหลังไปถึงยุคก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา เพื่อแสดงให้เห็นว่า "ชาติไทย" เป็นชาติเก่าแก่ที่มีอำนาจและมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ เพราะประกอบขึ้นด้วยราชธานีสำคัญ ๆ จำนวนมาก ที่เคยมีอิสรภาพและความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงใดช่วงหนึ่งของ "พงศาวดารชาติไทย" ที่มีอายุมากกว่าหนึ่งพันปี ดังความว่า
...ความหลงพระราชพงศาวดารนี้ ทำให้ทอดธุระเสียว่า เรื่องราวของชาติและประเทศเราอยู่เพียงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา เรื่องราวที่เก่ากว่านี้น่าจะพิจารณา ก็ได้ละเลยเสียทั้งสิ้น
...ชวนท่านทั้งหลายแต่ในสโมสรที่ประชุมกันครั้งแรกนี้ ได้กระทำในใจไว้ว่า เราจะค้นหาข้อความเรื่องราวของประเทศสยาม ไม่ว่าเมืองใด ชาติใด วงษ์ใด สมัยใด รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวของประเทศสยามจำเดิมตั้งแต่ 1,000 ปีลงมา เรื่องราวเหล่านี้คงต้องจับตั้งแต่เมืองหลวงไทย...ซึ่งเป็นที่ตั้งของชาติไทยแต่ต้นเดิม ลงมาจนถึงเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ สวรรคโลก โศกโขทัย อยุธยาเก่า อยุธยาใหม่ และเมืองลโว้ลพบุรี นครไชยศรี นครศรีธรรมราช ฤาเมืองซึ่งเป็นเจ้าครองเมือง เช่น กำแพงเพชร ไชยนาท พิษณุโลก เมืองสรรค์ สุพรรณ กาญจนบุรี เพชรบุรี เหล่านี้ เป็นต้น บรรดาซึ่งได้เป็นใหญ่ในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง แล้วรวบรวมมาเป็นประเทศสยามอันหนึ่งอันเดียวนี้... (59)
จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสนอให้ศึกษาประวัติศาสตร์ของ "ชาติไทย" ย้อนหลังไปมากกว่าหนึ่งพันปี เพื่อแสดงให้เห็นว่า "ชาติไทย" เป็นชาติเก่าแก่ที่เจริญรุ่งเรืองมานาน และทรงเสนอให้ศึกษาเรื่องราวของเมืองสำคัญ ๆ ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ ซึ่งได้รวมตัวกันเข้ามาเป็นประเทศเดียวกัน กลายเป็น "ประเทศสยาม" ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างจินตภาพ "ชาติไทย" (อันหมายถึงชาติของคนไทย) และ "ชาติชาวสยาม" อันหมายถึงชาติของคนไทยและคนชาติอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศสยาม) ที่มีเอกภาพภายใต้การปกครองของพระองค์นั่นเอง
ในพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานในพระราชพิธีเปิดโบราณคดีสโมสรนี้ ทรงเน้นอย่างชัดเจนถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษา "โบราณคดี" ว่าเป็นไปเพื่อสร้างความทรงจำเกี่ยวกับ "ชาติ" ในวิถีทางที่จะทำให้คน "รักชาติ" และ "รักแผ่นดิน" ดังความต่อไปนี้
"ประเทศทั้งหลายซึ่งได้ควบคุมกันเป็นชาติแลประเทศขึ้น ย่อมถือว่าเรื่องราวของชาติตนแลประเทศตนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะพึงศึกษาแลพึงสั่งสอนกันให้รู้ชัดเจนแม่นยำ เป็นวิชาอันหนึ่งซึ่งจะได้แนะนำความคิดแลความประพฤติ ซึ่งจะพึงเห็นได้เลือกได้ ในการที่ผิดแลชอบชั่วแลดี เป็นเครื่องชักนำให้เกิดความรักชาติแลรักแผ่นดินของตัว ถึงว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ชั่วช้าไม่ดีอย่างใด ก็เป็นเครื่องที่จะจำไว้ในใจ เพื่อจะละเว้นเกียจกันไม่ให้ความชั่วความไม่ดีนั้นมาปรากฏขึ้นอีก ในเวลาซึ่งเราทั้งหลายเป็นตัวผู้ทำเหมือนตัวละครที่ทำบทอยู่ในเวลานี้ ถ้าเรื่องใดที่ดีก็ทำให้ใจคอเฟื่องฟู ให้เกิดความเย่อหยิ่งขึ้นในใจ ซึ่งจะใคร่ได้แลจะใคร่รักษาความดีนั้นไว้ ทั้งจะใคร่ทำขึ้นใหม่ให้เทียบเคียงกันหรือดียิ่งขึ้นไปกว่าเก่า การเรียนรู้เรื่องประเทศของตน เมื่อผู้ใดได้เรียนรู้ด้วยความประสงค์อันดี จะได้รับแต่ผลที่มีคุณไม่มีโทษ ดังได้กล่าวมาโดยสังเขปฉะนี้" (60)
ในการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับ "ชาติไทย" เพื่อให้เกิด "ความรักชาติ" ดังกล่าวมานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเตือนปัญญาชนที่จะเป็นผู้สร้างความทรงจำ ว่าจะต้องรู้จัก "เลือกฟั้น" ความคิดหรือความรู้ที่สำคัญและไม่สำคัญ โดยทรงวางเกณฑ์ในการ "เลือกฟั้น" เอาไว้ว่า จะต้องมองจากฐานเดิมของไทย ทั้ง "น้ำใจแลความคิดข้างไทย" ทั้งนี้ พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าการ "เลือกฟั้น" นี้ ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับประเทศอื่น ๆ จะสามารถกระทำได้ดีกว่า แต่จะต้อง "จับหลักน้ำใจแลความคิดข้างไทยให้มั่น" หากอะไร "แปลกไปจากประเพณีความคิดของไทยเราแท้" ก็ "ไม่ควรจะด่วนเชื่อ" ดังพระราชดำรัสว่า
"...ข้าพเจ้าจึงมีความพอใจ ที่ได้เห็นท่านทั้งหลายเอาใจใส่ในพงศาวดารแลเรื่องราวของชาติบ้านเมืองได้เกิดขึ้นใหม่ เป็นที่วางใจว่าความพอใจฟังเรื่องราวของประเทศตัว จะไม่เสื่อมซามสิ้นเร็วเหมือนอย่างที่ได้เป็นมาแล้ว แลทั้งผู้ซึ่งจะได้เข้าในสโมสรนี้โดยมาก เป็นผู้ซึ่งมีวิชาสามารถที่จะฟังเรื่องราวแลเรียบเรียงด้วยตาแลหู อันได้รู้เรื่องราวของประเทศอื่น ๆ แลอาจจะเลือกฟั้นข้อสำคัญแลไม่สำคัญดีกว่าผู้ที่ไม่มีวิชาต่างประเทศ
ทั้งเวลานี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่เราสามารถอาจจะหาเรื่องราวจากต่างประเทศทั้งในยุโรปแลเอเชีย ซึ่งได้เคยสมาคมคบหากับเรามาแต่ปางก่อน... เรื่องราวซึ่งฝรั่งเล่า มักจะแต่งให้อัศจรรย์เพื่อจะให้คนอ่านพิศวงได้ซื้อหนังสือนั้นมาก ๆ ... วิธีที่จะวินิจฉัยเรื่องราวอันได้มาแต่ต่างประเทศนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่จะจับหลักน้ำใจแลความคิดข้างไทยให้มั่น ถ้าเรื่องราวอันใดแปลกไปจากประเพณีความคิดของไทยเราแท้ เราควรจะพิจารณาในข้อนั้น ไม่ควรจะด่วนเชื่อ" (61)
นอกจากการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับ "ชาติไทย" แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเน้นการแสดงความเจริญของ "ชาติไทย" ในยุคของพระองค์ เพื่อมิให้ฝรั่งดูหมิ่น เช่น เมื่อพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเบญจมบพิตรใน พ.ศ.2444 ทรงเน้นให้ตกแต่งอย่างประณีต เพื่อป้องกันมิให้ฝรั่งเห็นว่า "สักว่าแต่งไม่รู้จักงาม...จะขึ้นชื่อว่าฝีมือไทยเคยดีเพียงเท่านั้น" ซึ่งเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ (พระยศในขณะนั้น) ทรงรับรองว่า "ข้าพระพุทธเจ้าก็พยายามที่จะทำให้ถึงคนเก่าเขาทำนั้น เพื่อให้ปรากฏว่าคนรู้วิชาช่างเขียนเต็มตามวิธีของชาติแห่งตนยังมีมาจนถึงรัชกาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท" (62) สะท้อนความรู้สึกผูกพันกับ "ชาติ" ของชนชั้นนำ และความพยายามจะทำให้ "ชาติ" มีศักดิ์ศรีอย่างชัดเจน
เนื่องจากมโนทัศน์ "ชาติ" ในเวลานั้น เป็น "ชาติ" ที่ประกอบด้วยคนต่างชั้นกัน มิใช่ชาติที่ทุกคนมีความเสมอภาคและมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงเน้น "หน้าที่" ของคนทุกชั้น ทุกสถานภาพ พร้อมกับทรงชี้ให้เห็นว่าเมื่อทุกคนซื่อตรงต่อ "หน้าที่" แล้ว ก็จะเกิดผลดีแก่ตนเองและบ้านเมือง ดังความในพระบรมราโชวาท พ.ศ.2453 ดังนี้
ความรู้สึกและความซื่อตรงต่อหน้าที่นี้ เป็นคุณวุฒิอันสำคัญของคนทั้งปวง ไม่ว่าผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูงต่ำเพียงใด หรือว่าจะเปนคนรับราชการฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน หรือประกอบการอย่างใด ๆ ถ้าคนทั้งหลายมีความรู้สึกและซื่อตรงต่อหน้าที่ของตนแล้ว ก็อาจให้เกิดความพร้อมเพรียงกัน เป็นกำลังช่วยกันประกอบกิจการทั้งปวงให้สำเร็จลุล่วงไป ได้ประโยชน์แก่ตนเองและเกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองของตนได้ดังประสงค์ (63)
นอกจากเรื่อง "ความซื่อตรงต่อหน้าที่" แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเน้นเรื่อง "ความสามัคคี" เป็นอย่างมาก เพราะในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น การมีความคิดทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือมีอุดมการณ์ที่แตกต่างไป จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของรัฐและองค์อธิปัตย์ ดังนั้น นอกจากจะต้องขจัดหรือเบียดขับความคิดเหล่านั้นออกไปแล้ว ยังต้องเน้น "ความสามัคคี" ระหว่างคนทุกชั้น โดยอาศัยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของความสามัคคี ซึ่งจะทำให้ "รวบรวมกันเป็นความคิดอันหนึ่งอันเดียว คือเอากระแสพระราชดำริพระเจ้าแผ่นดินเป็นประมาณ" (64)
ด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันใน "ชาติ" ภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเน้น "ความสามัคคี" อยู่เสมอ ในพระราชดำรัสที่พระราชทานในการเฉลิมพระชนม์พรรษา พ.ศ.2452 ทรงเน้นความสามัคคีระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนในระดับของความรู้สึก "รักใคร่" โดยทรงเน้นมโนทัศน์ "สมเด็จพระปิยมหาราช" ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสถาปนาขึ้น (65) เพื่อเป็นหลักการของความสามัคคีที่จะสืบทอดต่อไปในอนาคตข้างหน้า ดังความตอนหนึ่งว่า
ที่พระราชอาณาจักรนี้ ได้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก็ดี และที่จะเจริญรุ่งเรืองต่อไปภายหน้าก็ดี อาศรัยความรักใคร่ไมตรีที่เปนอันหนึ่งอันเดียวกันในระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับประชาชนเปนกำลังอันสำคัญของบ้านเมือง รูปเราซึ่งคนทั้งหลายได้สร้างประดิษฐานไว้กับทั้งคำจารึก... จะปรากฏอยู่เปนพยาน และเปนเครื่องแนะนำแก่คนทั้งหลายในภายหน้า ให้ดำรงความรักใคร่ในระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับประชาชนไว้ให้มั่นคง (66)
พระราชดำรัสพระราชทานข้าราชการ ประชาชน พ่อค้า ในมณฑลอยุธยา ใน พ.ศ.2451 แสดงอย่างชัดเจน ถึงความหมายของ "ชาติชาวสยาม" ที่ดำรงอยู่อย่างมั่นคง เป็นอิสระ เจริญก้าวหน้า และ ราษฎรมีความสุข โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำ ทรงเน้นว่า "ความสามัคคี" ของคนในชาติ ทำให้ทรงดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้สำเร็จ แม้ว่าสถานการณ์ในรัชกาลของพระองค์จะยากลำบากกว่าในอดีตเป็นอันมาก ดังความว่า
เราเห็นด้วยในถ้อยคำ ที่กล่าวยกย่องสรรเสริญพรเกียรติยศแห่งพรเจ้าแผ่นดินในกาลปางก่อน ซึ่งได้ทำนุบำรุงรักษาแผ่นดินโดยกำลังพรปรีชา ด้วยความปรารถนาที่จะยกย่องพรราชอาณาเขตร แลชาติชาวสยาม ให้เปนอิศรภาพ แลให้อาณาราษฎรมีความสุข...ในปัจจุบันนี้เปนการยากลำบากกว่าแต่ก่อนยิ่งนัก แต่เราก็มิได้มีความท้อถอยใจที่จะนำท่านทั้งหลายให้ไปสู่ความเจริญ ความสุข แลสมบัติ ทั้งความมั่นคงในอิศรภาพของชาติแลประเทศเรา ความสำเร็จอันใดซึ่งดำเนินมาได้ ถึงเพียงนี้ เรามารู้สึกอยู่เสมอว่า อาไศรยความพร้อมเพรียงของพระราชวงษานุวงษ์แลข้าราชการ แลความซื่อตรงจงรักภักดีของประชาราษฎรทั้งหลาย ย่อมเปนกำลังอันใหญ่ ซึ่งให้เรามีความสามารถอาจทำกิจการทั้งปวงให้เปนผลดีได้ ความพร้อมมูลเปนสามัคคีอันใดอันมีเปนคุณสมบัติแก่พวกเราทั้งหลายในเวลานี้ เปนเครื่องอุปถัมภ์อันใหญ่ที่จะให้ชาติบ้านเมืองของเราตั้งมั่นคง ในระหว่างประเทศทั้งหลาย อันได้ถึงพินาศฉิบหายอยู่โดยรอบข้าง เราควรรักษาความพร้อมเพรียงอันนี้ไว้ให้เปนที่มั่นคงยืนยาว เพราะรู้ว่าเปนทางเจริญแลทางมั่นคงของเราโดยแท้แล้ว (67)
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเน้น "ความสามัคคี" หรือ "ความรักใคร่" ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะนับแต่เสด็จกลับจากยุโรปครั้งหลังพระองค์ทรงพระประชวรมากแล้ว (68) ทำให้ทรงห่วงใยพระราชโอรสซึ่งจะเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อไป หากในรัชกาลของพระราชโอรสมี "ความรักใคร่" ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์ ก็จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งทั้งทางความคิดและทางการเมืองได้มาก และจะช่วยให้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(หมายเหตุ : เนื่องจากเกิดความคลาดเคลื่อนในการใส่ตัวเลขเชิงอรรถ(อัตโนมัติ)
จึงทำให้หมายเลขเริ่มต้นที่ 18)
(18) นิธิ เอียวศรีวงศ์, "พรมแดนของศาสนา" ใน ก่อนยุคพระศรีอาริย์ ว่าด้วยศาสนา ความเชื่อ และศีลธรรม กรุงเทพฯ: มติชน, 2545. หน้า 59-64.
(19) สายชล สัตยานุรักษ์, พุทธศาสนากับแนวคิดทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.
(20) นิธิ เอียวศรีวงศ์, "โลกของนางนพมาศ" ใน ปากไก่และใบเรือ พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ่งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2538. หน้า 432.
(21) สายชล สัตยานุรักษ์, "ผลกระทบของหมอบลัดเลย์ต่อสังคมไทย" อักษรศาสตร์พิจารณ์ 18,1 (มกราคม 2529): 1-30.
(22) โปรดดูรายละเอียดใน พงศ์ธิดา เกษมสิน, "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการธำรงฐานะพระมหากษัตริย์" วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531.
(23) อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 - พ.ศ.2475 กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538.
(24) โปรดดูโลกทัศน์แบบกระฎุมพีใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, "วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์" ใน ปากไก่และใบเรือ พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ่งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2538. หน้า 19-291.
(25) ศรีสุพร ช่วงสกุล, "ความเปลี่ยนแปลงของคณะสงฆ์: ศึกษากรณีธรรมยุติกนิกาย (พ.ศ.2368-พ.ศ.2464)" วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530. หน้า 6-23.
(26) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตั้งแต่ พ.ศ.2417 ถึง พ.ศ.2453 ) พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒนากร, 2458, หน้า 41.
(27) อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 - พ.ศ.2475 กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538.
(28) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชหัตเลขาส่วนพระองค์ พระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิต สยามมกุฎราชกุมาร ในวโรกาสวันพระราชสมภพครบ 25 พรรษา ใน พ.ศ.2436 อ้างใน พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล, "รัชกาลที่ 5 กับฝรั่งเศสและเวียดนาม" ใน รัชกาลที่ 5 : สยามกับอุษาคเนย์และชมพูทวีป ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อรอนงค์ ทิพย์พิมล บรรณาธิการ กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547. หน้า 501-502.
(29) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำว่า "ชาติสยาม" ในพระราชนิพนธ์และพระราชดำรัสหลายครั้งตั้งแต่ทศวรรษ 2420 เป็นต้นมา
(30) ห.จ.ช., ร.5 ศ.5/81. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 27 กันยายน ร.ศ.129.
(31) ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ,
"พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับ "คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน
ร.ศ.103"
ศิลปวัฒนธรรม 24, 12 (ตุลาคม 2546): 73-83.
(32) ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, "เทียนวรรณ: ไพร่กระฎุมพีคนแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์" ศิลปวัฒนธรรม 26, 9 (2548): 80-103.
(33) "พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม"
ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 13 รวบรวมโดย เสถียร ลายลักษณ์ พระนคร:
โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2478. หน้า 79-80.
(34) "พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม"
ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 13 รวบรวมโดย เสถียร ลายลักษณ์ พระนคร:
โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2478. หน้า 79-80.
(35) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,
ปลุกใจเสือป่า กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,
2530. หน้า 71-72.
(36) โปรดดู พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ประชุมพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงบริหารราชการแผ่นดิน ภาคที่ 2 กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2509. ประชุมพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงบริหารราชการแผ่นดิน ภาคที่ 3 (ตอน 1) กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2513. ประชุมพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงบริหารราชการแผ่นดิน ภาคที่ 3 (ตอน 2) กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2513. และ พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค 4 กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2512.
(37) ห.จ.ช., ร. 5 บ 1.2/4 พระราชนิพนธ์เบ็ดเตล็ด.
(38) ห.จ.ช., ร. 5 บ. 1. 2/31 พระราชหัตถเลขาเบ็ดเตล็ด อ้างใน ศิริพร สุเมธารัตน์, แนวพระราชดำริทางพุทธศาสนาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร 2528. หน้า 176-177.
(39) ห.จ.ช., ร. 5 รล.-กต. เอกสารเย็บเล่ม กระทรวงการต่างประเทศ เล่ม 24 หน้า 106. อ้างใน ศิริพร สุเมธารัตน์, แนวพระราชดำริทางพุทธศาสนาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร 2528. หน้า 187.
(40) เสถียร ลายลักษณ์ และคนอื่น ๆ (ผู้รวบรวม) "ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่" ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 8. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2478. หน้า 115.
(41) เรื่องเดียวกัน.
(42) ห.จ.ช., ร. 5 รล. 3/7 กรมราชเลขาธิการ ลงวันที่ 30 เมษายน ร.ศ. 112.
(43) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ หน้า 280 อ้างใน เตช บุนนาค, การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยามพ.ศ.2435-2458 แปลโดย ภรณี กาญจนัษฐิติ กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2532. หน้า 199.
(44) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพร้อยตรีชลยุทธ์ เอกพจน์ 8 พฤษภาคม 2514. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สามมิตร, 2514. หน้า 8. อ้างใน ศิริพร สุเมธารัตน์, แนวพระราชดำริทางพุทธศาสนาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร 2528. หน้า 241.
(45) ห.จ.ช., ร. 5 บ. 1.9/17 พระราชหัตเลขาเบ็ดเตล็ด
(46) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช (พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2460, หน้า (1).
(47) ชาตรี ประกิตนนทการ, "พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นไทย" วารสารเมืองโบราณ 32,3 (กรกฎาคม-กันยายน 2549).
(48) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา พิมพ์ในงานศพคุณปุ้ย อิศรางกูร ณ อยุธยา ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม 26 มีนาคม 2496. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2496 หน้า6.
(49) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช (พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2460, หน้า (1).
(50) เรื่องเดียวกัน,หน้า 2-4.
(51) ชาตรี ประกิตนนทการ, "พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นไทย" วารสารเมืองโบราณ 32,3 (กรกฎาคม-กันยายน 2549).
(52) เรื่องเดียวกัน.
(53) เรื่องเดียวกัน.
(54) เรื่องเดียวกัน, หน้า 5.
(55) เรื่องเดียวกัน, หน้า 20.
(56) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช,
หน้า 16.
(57) ชาตรี ประกิตนนทการ, "พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นไทย" วารสารเมืองโบราณ 32,3 (กรกฎาคม-กันยายน 2549).
(58) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชดำรัสเรื่องทรงตั้งโบราณคดีสโมสร พ.ศ.2450 วารสารศิลปากร ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 หน้า 103. อ้างใน พระยาอนุมานราชธน, "เรื่องราวเกี่ยวกับโบราณคดีและประวัติศาสตร์" ใน งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน หมวดประวัติศาสตร์และโบราณคดี เล่มที่ 29 เรื่อง รวมเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดี กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2535. หน้า 4-5.
(59) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, "สมาคมสืบสวนของบุราณในประเทศสยาม" วารสารศิลปากร 12,2 (กรกฎาคม 2511): 43-45.
(60) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, "พระราชดำรัสเรื่องทรงตั้งโบราณคดีสโมสร พ.ศ.2450" วารสารศิลปากร ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 หน้า 103 อ้างใน พระยาอนุมานราชธน, "เรื่องราวเกี่ยวกับโบราณคดีและประวัติศาสตร์" ใน งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน หมวดประวัติศาสตร์และโบราณคดี เล่มที่ 29 เรื่อง รวมเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดี กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2535. หน้า 4-5.
(61) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชดำรัสเรื่องทรงตั้งโบราณคดีสโมสร พ.ศ.2450 วารสารศิลปากร ปีที่ 1 เล่มที่ 1 หน้า 107 อ้างใน พระยาอนุมานราชธน, "เรื่องราวเกี่ยวกับโบราณคดีและประวัติศาสตร์" ใน งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน หมวดประวัติศาสตร์และโบราณคดี เล่มที่ 29 หน้า 5.
(62) ห.จ.ช., ร. 5 ศ.9/14 เอกสารรัชการที่ 5 กรมราชเลขาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ
(63) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพร้อยตรีชลยุทธ์ เอกพจน์ 8 พฤษภาคม 2514. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สามมิตร, 2514. หน้า 36.
(64) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, "พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคี" ใน ประวัติศาสตร์และการเมือง กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลลัยธรรมศาสตร์, 2516. หน้า 179.
(65) สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม กรุงเทพฯ: มติชน, 2546. หน้า 141-152.
(66) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพร้อยตรีชลยุทธ์ เอกพจน์ กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สามมิตร, 2514. หน้า 35.
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
(คลิกอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกันตอนที่ ๒)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90