โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๘๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ (Febuary, 12, 02, 2008) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกราคม ๒๕๕๐)

12-02-2551

Thai Literature
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

งานและความคิดนักเขียนไทย: กุหลาบ สายประดิษฐ์
กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ (๑)
ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : ผู้วิจัย
คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(คลิกเพื่อ download ต้นฉบับโดยผู้เขียนในรูป PDF)

บทความวิชาการต่อไปนี้ เป็นเอกสารประกอบคำบรรยาย โครงการจัดประชุม
วิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ ครั้งที่ ๒ ที่โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว
เชียงใหม่ วันที่ ๙-๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เขียนโดย ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
นำมาจากเว็บไซต์ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
http://www.human.cmu.ac.th/%7Ethai/html2/conference.htm

ในส่วนของบทความนี้ เสนอเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๘ ณ ห้องเสนอบทความวิจัย
"มนุษยศาสตร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ กับสังคม" โดยมีหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
๑. อุดมการณ์ใหม่ของกุหลาบ สายประดิษฐ์
๒. กุหลาบ สายประดิษฐ์กับการปฏิวัติ ๒๔๗๕
๓. จากเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" ถึง "แลไปข้างหน้า"
๔. บทสรุป อุดมการณ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์

(หมายเหตุ: เนื่องจากเป็นบทความวิจัยเรื่องนี้มีความยาวพอสมควร จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน
ในส่วนของบรรณานุกรมของบทความวิจัยนี้ ได้วางอยู่ตอนที่ ๒. ส่วนเชิงอรรถทั้งหมด
ได้นำมาวางใกล้กับข้อความที่ต้องการรายละเอียด เพื่อสะดวกต่อการอ่านบนหน้าเว็บไซต์)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๘๗
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

งานและความคิดนักเขียนไทย: กุหลาบ สายประดิษฐ์
กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.๒๔๗๕ (๑)
ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : ผู้วิจัย
คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(คลิกเพื่อ download ต้นฉบับโดยผู้เขียนในรูป PDF)

ความนำ
การปฏิวัติสยาม ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ซึ่งนำมาสู่การสร้างประเทศสยามยุคใหม่ ที่น่าสนใจคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นปัญญาชนร่วมสมัยคนหนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ ที่เขียนเรื่องอ่านเล่นธรรมดา แต่ในที่สุด กระแสแห่งแนวคิดประชาธิปไตยที่เผยแพร่ในระยะก่อนการปฏิวัติ ก็โน้มนำให้กุหลาบเปลี่ยนแปลงความคิด และกลายเป็นนักคิดที่มีอุดมการณ์แบบใหม่แห่งลัทธิประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อเกิดการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบจึงแสดงท่าทีสนับสนุนการปฏิวัติอย่างชัดเจน และได้มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการวิพากษ์แนวความคิดเรื่องการถือชาติกำเนิด ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่รักษาระบบศักดินาฐานันดรก่อนหน้าการปฏิวัติ

ต่อมา เมื่อเวลาผ่านไป จนถึง พ.ศ.๒๔๙๓ ซึ่งกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับอิทธิพลแนวคิดสังคมนิยมแล้วและได้ประพันธ์นวนิยายเพื่อชีวิตเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" กุหลาบ ก็ยังคงยอมรับในอุดมการณ์ของการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ เพียงแต่เห็นว่า ในระยะเวลาต่อมา ผู้ก่อการคณะราษฎร ก็ได้กลายเป็นชนชั้นนำรุ่นใหม่ที่มิได้รักษาอุดมการณ์ของตนเอง ลักษณะความคิดเช่นนี้จะเห็นได้ชัดอีกครั้งเมื่อ กุหลาบ เขียนนวนิยายเรื่อง "แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย" ซึ่งสะท้อนสังคมก่อนการปฏิวัติ จนถึงเรื่อง "แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย" ซึ่งเป็นเรื่องเล่าหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ในบทความนี้ ต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ของคุณกุหลาบ ที่สอดคล้องกับคณะผู้ก่อการคณะราษฎร ที่นำมาสู่จุดยืนที่สนับสนุนการปฏิวัติอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

๑. อุดมการณ์ใหม่ของกุหลาบ สายประดิษฐ์
กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ร.ศ.๑๒๓ ซึ่งเป็นวันสิ้นปี พ.ศ.๒๔๔๗ ตามปฏิทินเก่า(*)บิดาชื่อ นายสุวรรณ เป็นเสมียนเอกกรมรถไฟ, มารดาชื่อ นางสมบุญ. กุหลาบมีพี่สาว ๑ คน ชื่อ จำรัส ได้รับการศึกษาในวัยเด็กที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง จนจบชั้นประถม ๔ จากนั้น เข้าเรียนโรงเรียนทหารเด็กของเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุฒิ และมาเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์. บิดาของกุหลาบ ถึงแก่กรรมตั้งแต่เมื่อเขาอายุได้ ๖ ปี ทำให้ครอบครัวของเขาต้องอยู่ในฐานะยากจนมาก มารดาของเขาต้องรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนพี่สาวยึดอาชีพแสดงละครร้อง จึงสามารถที่จะส่งกุหลาบให้เรียนจบจบชั้นมัธยมได้ จากพื้นฐานครอบครัวเช่นนี้ น่าจะทำให้กุหลาบเป็นคนที่มีความรู้สึกเห็นใจคนยากจน และให้ความสำคัญยกย่องความเป็นแม่

(*)ในขณะนั้น วันขึ้นปีใหม่เริ่มที่วันที่ ๑ เมษายน ดังนั้น การคิดว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิด พ.ศ.๒๔๔๘ และ ฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีใน พ.ศ.๒๕๔๘ นั้น เป็นการคิดแบบง่าย โดยการย้อนตามปฏิทินของระบบปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อคุณสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ ผู้บุตร ยืนยันว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดปีมะโรง จึงต้องเป็นปี พ.ศ.๒๔๔๗ เพราะ ปี พ.ศ.๒๔๔๘ นั้น เป็นปีมะเส็ง ดูเพิ่มเติมจาก ข้อท้วงติง ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกี่ยวกับ ๙๖ ปีศรีบูรพา ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๒-๑๘ มีนาคม พ.ศ.
๒๕๔๔)

ในระหว่างที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เขาก็ได้เริ่มชีวิตการเขียนหนังสือ และเมื่อจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ แล้ว ก็ได้ประกอบอาชีพในด้านที่จะเป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ (*) ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ยุคสมัยที่กุหลาบเริ่มประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์นั้น ยังเป็นสมัยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งสถาปนาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และยังดำรงอยู่จนถึงรัชกาลที่ ๗

(*) รายละเอียดของประวัติในช่วงนี้ ที่เรียบเรียงได้ดี และแสดงหลักฐานชัดเจน ดูได้จาก สุชาติ สวัสดิ์ศรี. "สุภาพบุรุษ...มนุษยภาพ ศรีบูรพา" กุหลาบ สายประดิษฐ์ คืออิสสรชน คือคนดี คือ ศรีบูรพา. พิมพ์ในงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ : ๘๗.

ลักษณะสำคัญของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็คือ การผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้ที่สถาบันกษัตริย์และเจ้านายเชื้อพระวงศ์ โดยราษฎรทั่วไปไม่มีสิทธิทางการเมืองแต่อย่างใด แต่มีหน้าที่จะต้องจงรักภักดีอย่างไม่มีเงื่อนไข นอกจากนี้ในทางสังคมก็ไม่มีความเสมอภาค ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของผู้คนเห็นได้ชัดเจน โดยมีชาติกำเนิดเป็นหลักสำคัญในการแบ่งชั้นของมนุษย์ เพราะชนชั้นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ มีสถานะเหนือกว่าไพร่ฟ้าประชาชนทั่วไป

ราว พ.ศ.๒๔๗๐ มีสถิติว่า กลุ่มเจ้านายมีมากถึง ๑๐๘ องค์ (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ๒๕๓๕ : ๒๕) ท่านทั้งหมดนี้อยู่ในลำดับสูงของสังคม มีภาษา มีกฎระเบียบในสังคมตนเอง ไม่อาจลดพระองค์ลงมาเท่าเทียมกับราษฎรสามัญได้ ดังนั้น ชนชั้นเจ้านายจึงทรงไว้ซึ่งสถานะอันสูงส่งด้วยชาติกำเนิด และชาติกำเนิดนำมาซึ่งผลประโยชน์จำนวนมาก เช่น ทรงมีเบี้ยหวัดเงินปีจำนวนมาก และเมื่อทรงรับราชการจะเลื่อนตำแหน่งเร็ว ได้รับตำแหน่งสูงโดยง่าย และได้รับพระราชทานเงินเดือนจำนวนมาก ทรงมีวังอันอัครฐานเป็นที่พักอาศัย มีบริวารจำนวนมาก และอยู่ในสถานะอัน
พึงเคารพสำหรับราษฎรอยู่เสมอ

แต่กระนั้น ระบอบกษัตริย์สมบูรณาสิทธิราชย์ ซึ่งดูเหมือนจะมั่นคง ก็ได้ถูกท้าทายในด้านแนวคิดจากอุดมการณ์ใหม่ นั่นคืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งมีหลักการสำคัญ ก็คือ การให้คุณค่าแก่ราษฎร โดยเสมอว่าราษฎรเป็นเจ้าของประชาคมทางการเมือง ดังนั้นระบบการเมืองแบบเก่า ที่อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของกษัตริย์และเจ้านายเชื้อพระวงศ์จำนวนน้อยจึงไม่ถูกต้อง ควรที่จะยินยอมให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง โดยผ่านระบอบปาเลียเมนต์ หรือให้มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร

นอกจากนี้ คือ การให้มีหลักประกันในด้านกฏหมายที่จะจำกัดอำนาจของกษัตริย์ ที่เรียกว่า คอนสติติวชั่น หรือ รัฐธรรมนูญ (*) ข้อเรียกร้องเหล่านี้ ถูกนำเสนอมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘ โดย คณะกราบบังคมทูล ร.ศ.๑๐๓ นำโดย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และต่อมา ก็จะถูกนำเสนอในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเทียนวรรณ ที่กล่าวว่า ราษฎรนั้นเป็น"สายโลหิตแห่งแผ่นดิน" เป็น "แก้วตาของพระมหากษัตริย์" ดังนั้น จึงควรที่จะมีการแก้ไขวิธีการปกครองให้ทันสมัยโดยให้มีระบอบรัฐสภากล่าวคือ "จะตั้งปาลิเมนอนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนต่อราษฎรได้"(**)

(*) ก่อน พ.ศ.๒๔๗๕ คำว่า ปาเลียเมนต์ และ คอนสติติวชั่น นั้นใช้ทับศัพท์ การบัญญัติศัพท์ เป็นคำว่า รัฐสภา และรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นหลัง พ.ศ.๒๔๗๕.

(**) กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เคยเขียนบทความสดุดีความคิดของเทียนวรรณไว้ในเรื่อง "เทียนวรรณ บุรุษรัตน์ของสามัญชน" ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๙๕ เพื่อพิมพ์ในหนังสือเรื่อง เทียนวรรณ ที่ค้นคว้าเรียบเรียงโดยสงบ สุริยินทร์ และหนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรก ใน พ.ศ.๒๔๙๕ นี้เอง

แนวคิดลักษณะนี้ยังสืบทอดต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อ เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง ออกหนังสือพิมพ์ จีนโนสยามวารศัพท์ เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของการปฏิวัติประชาธิปไตยในจีน ก็ได้ส่งผลสะเทือนต่อการเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยในสยามด้วย. ดังนั้น เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยยิ่งรุนแรงมากขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายตัวของสำนึกแห่งความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์ ที่จะทำให้สถานะอันสูงส่งของชนชั้นเจ้านาย เริ่มเป็นที่ไม่ยอมรับ
มากยิ่งขึ้น ดังปรากฏหลักฐานว่า เพียงเดือนแรกที่ขึ้นครองราชย์ ก็มีนายภักดีกับนายไทย เสนอหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ (สุวดี เจริญพงศ์ ๒๕๑๙ : ๑๐๔)

นอกจากนี้ คำว่า "ปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น" เป็นที่คุ้นเคยกันทั่วไป และได้มีบทความลงหนังสือพิมพ์หลายบทความที่วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น "เจ้านายกับขุนนาง" ใน บางกอกการเมือง (๒๘ เมษายน ๒๔๗๐) ชี้ว่า มีแต่เจ้านายและขุนนางเป็นผู้บงการประเทศ ราษฎรไม่มีสิทธิแต่ประการใด. บทความเรื่อง "ราษฎรตื่นแล้ว" ใน สยามรีวิว (๑๐ กรกฎาคม ๒๔๗๐) เสนอว่า การเรียกร้องให้มีรัฐสภาเป็นความต้องการของราษฎร ถ้าหากไม่ได้รับการตอบสนองอาจจะมีการเรียกร้องด้วยวิธีรุนแรง ที่เรียกว่า "เลือดกับเหล็ก" และ บทความชื่อ "เห็นว่าเจ้าเป็นตุ้มถ่วงความเจริญ" ออกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ราษฎร (๙ มกราคม ๒๔๗๑) วิจารณ์"พวกเจ้าราชวงศ์ของจีน"ว่าเอาแต่แสวงความสุขส่วนตัว ไม่แก้ปัญหาบ้านเมือง จนในที่สุดราษฎรต้องลุกขึ้นทำการเก๊กเหม็ง(ปฏิวัติ)โค่นเจ้าราชวงศ์เหล่านั้นลง

เมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ ออกมาเป็น"นักแต่งหนังสือ" ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๗ ในระยะแรกก็ยังเป็นเหมือนนักเขียนรุ่นใหม่ธรรมดา ที่เขียนบทความที่ถ่ายทอดความรู้และสื่อความคิด พร้อมกับแต่งเรื่องอ่านเล่น ดังนั้น เรื่องสั้นและนวนิยายที่แต่งและพิมพ์เผยแพร่ในสมัยแรก ในนามปากกาว่า "ศรีบูรพา" จึงเป็นเพียงเรื่องรักที่สอดแทรกคุณธรรมในบางลักษณะ เช่น เรื่องสั้น "วาสนาความรัก" (พ.ศ.๒๔๖๙) ก็อธิบายความเป็นไปของความรักระหว่างหนุ่มสาวด้วยเรื่องของ "วาสนา". ส่วนนวนิยายหลายเรื่องที่ศรีบูรพาแต่งขึ้น (*)๕ เช่น โลกสันนิวาส(แต่ง พ.ศ.๒๔๖๙) ชีวิตสมรส(พ.ศ.๒๔๗๐)(**) มารมนุสส์(พ.ศ.๒๔๗๐) หัวใจปรารถนา(พ.ศ.๒๔๗๐) ต่างก็เป็นเรื่องชิงรักหักสวาทอย่างธรรมดาทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่อง ปราบพยศ (พ.ศ.๒๔๗๑) นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับชายหนุ่มชื่อ โกมล ดุสิตสมิต ต้องการที่จะเอาชนะความรักของหญิงงามผู้มีหัวใจปราศจากความรัก คือ ยวนใจ โรหิตบวร ปรากฏว่าในท้ายที่สุด นายโกมลก็สามารถปราบพยศ เอาชนะหัวใจหญิงสาวได้ ซึ่งโครงเรื่องลักษณะนี้ ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ เป็นที่นิยมอย่างมากในยุคสมัยนั้น (***)

(*) ความจริงนวนิยายเรื่องแรกที่ตีพิมพ์ของ ศรีบูรพา ใน พ.ศ.๒๔๖๗ เป็นเรื่อง "คุณพี่มาแล้ว" และ "จ้าวหัวใจ" (ดูบันทึกการแต่งหนังสือ ใน "คืออิสสรชน คือคนดี คือ ศรีบูรพา". พิมพ์ในงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ : ๑๐๐-๑๐๑. รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน (๒๕๒๒ : ๙๕) อธิบายว่า นวนิยายเรื่องแรก ของศรีบูรพา คือ "คมสวาทบาดจิต" แต่งานเหล่านี้ยังหาตันฉบับไม่ได้ ปรากฏว่าเรื่อง คมสวาทบาดจิต ไม่ได้ถูกเอ่ยถึงในบันทึกการแต่งเลยด้วยซ้ำ)

(**) น่าจะเป็นเรื่องเดียวกับที่ในบรรทึกการแต่ง เขียนว่า เป็น "ชีวิตวิวาห์"

(***) แต่ต่อมา เรื่อง "ปราบพยศ" กุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยประเมินค่าเมื่ออยู่ในคุก เมื่อมีสำนักพิมพ์มาขอพิมพ์ซ้ำเรื่องนี้ในพ.ศ.๒๔๙๗ ว่า "ปราบพยศไม่ได้เรื่องอะไร ผมเขียนตั้งแต่หนุ่มๆ เราได้เงินค่าเรื่องห้าพันก็จริง แต่คนอ่านกลับงมงายตามเราไปด้วย สำนักพิมพ์เท่านั้นที่เป็นผู้ได้" (ไพศาล มาลาพันธ์ ๒๕๒๘ : ๑๘๓)

จนกระทั่งในเรื่องสั้นเรื่อง"เล่นกับไฟ" ตีพิมพ์ในนิตยสารเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ที่ได้เริ่มสะท้อนถึงอุดมคติในบางลักษณะ ดังที่กุหลาบได้สอดแทรกข้อความในเนื้อเรื่องว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น"และในนวนิยายเรื่อง "ลูกผู้ชาย" ซึ่งกุหลาบแต่งในปี พ.ศ.๒๔๗๑ เช่นกัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องรักประโลมโลกธรรมดา แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า เขาได้รับผลสะเทือนจากความคิดแบบใหม่โดยเฉพาะอุดมการณ์แห่งความเสมอภาคของมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์ที่เกิดมาย่อมมีฐานะที่เท่าเทียมกัน กุหลาบจึงไม่เห็นด้วยกับสังคมสยามในขณะนั้นที่มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำต่ำสูง โดยเฉพาะการคัดค้านสถานะที่ได้จากชาติกำเนิด ดังนั้น นวนิยายเรื่องนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า คุณค่าของความเป็นมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่ฐานะและชาติกำเนิด เพราะตัวเอกของเรื่อง คือ มาโนช รักสมาคม มาจากชนชั้นล่าง มีพ่อเป็นช่างไม้ แต่ก็สามารถที่จะอาศัยความตั้งใจจริงในระบบการศึกษา สร้างตนเองจนได้รับราชการเป็นพระวิสุทธิสัตถญาน ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และยังเป็นคนที่มีคุณธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จนกระทั่งศัตรูคู่แข่งก็ยังต้องยกย่องว่า เป็น"ลูกผู้ชายที่แท้จริง"(*)

(*) ดู จดหมายของตัวละคร ชื่อ คีรี สีตะกำแหง ลูกขุนนางซึ่งเป็นผู้ร้ายในเรื่องนี้ เป็นคู่แค้นที่รังแก มาโนช มาตั้งแต่เด็ก ทั้งยังเป็นชู้และชิงอาภา ภรรยาของมาโนช แต่สุดท้ายต้องยอมรับในคุณธรรมความเป็นลูกผู้ชายของพระวิสุทธิสัตถญาน ดู ศรีบูรพา. ลูกผู้ชาย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๔๕) : ๒๕๓.

ความคิดเรื่องความเป็น "ลูกผู้ชายที่แท้จริง" กับเรื่อง "ความเป็นสุภาพบุรุษ" น่าจะเป็นเรื่องอันเดียวกันและเป็นเหตุผลหนึ่งในการที่ กุหลาบและเพื่อนมิตรร่วมกันออกนิตยสาร "สุภาพบุรุษ" รายปักษ์ ในเดือนมิถุนายนพ.ศ.๒๔๗๒ โดยมี กุหลาบเอง รับผิดชอบในฐานะบรรณาธิการ, อบ ไชยวสุ ซึ่งร่วมก่อตั้งนิตยสารนี้ เล่าว่า กุหลาบเป็นคนตั้งชื่อนิตยสารเอง เพราะกุหลาบได้กล่าวว่า "ผมคิดอยู่นานแล้วว่าจะใช้คำว่า "สุภาพบุรุษ"เป็นชื่อหมู่คณะที่เราจะรวมตัวกันขึ้น" (ฮิวเมอริสต์ ๒๕๓๑ : ๑๖๕) ดังนั้นในเรื่อง"พูดกันฉันท์เพื่อน" ที่กุหลาบ เขียนในนิตยสารสุภาพบุรุษฉบับปฐมฤกษ์ ได้อธิบายถึงความหมายของสุภาพบุรุษ โดยดึงเอาประโยคสำคัญมาจากเรื่อง"เล่นกับไฟ" ดังความว่า

หัวใจของความเป็นสุภาพบุรุษ อยู่ที่การเสียสละเพราะการเสียสละเป็นบ่อเกิดของคุณความดีร้อยแปดอย่าง หากผู้ใดขาดภูมิธรรมข้อนี้ ผู้นั้นยังไม่เป็นสุภาพบุรุษโดยครบครัน ถ้าจะอธิบายความหมายของสุภาพบุรุษให้กระชับเข้า ก็จำต้องยืมถ้อยคำที่ว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็น
สุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น"(อ้างใน สุชาติ สวัสดิ์ศรี ๒๕๔๘ : ๙๓) แม้ว่า ความคิดเรื่องลูกผู้ชาย และสุภาพบุรุษ ของกุหลาบในที่นี้จะโยงเข้ากับอุดมคติแห่งการเสียสละ แต่ก็ยังเห็นได้ว่า เป็นความคิดที่มีลักษณะของบุรุษนิยม หรือแนวคิดชายเป็นใหญ่ (*) ได้อย่างชัดเจน เหมือนกับแนวคิดของชายทั่วไปในสังคมสยาม

(*) แนวความคิดบุรุษนิยม หรือชายเป็นใหญ่ คือ แนวคิดที่ถือว่า ชายมีสิทธิและศักดิ์เหนือสตรี ซึ่งรวมไปถึงลักษณะการกำหนดให้คุณธรรมหรือความดีงามในบางลักษณะ ผูกโยงเข้ากับความเป็นเพศชาย เช่น ความเป็นลูกผู้ชาย หรือความเป็นสุภาพบุรุษ ที่โยงเข้ากับสัจจะหรือการรักษาคำพูด ความมีน้ำใจนักกีฬา ความสุภาพเรียบร้อย และในกรณีนี้ คือ การเสียสละต่อผู้อื่น ความจริงคุณธรรมเหล่านี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นลูกผู้ชาย หรือสุภาพบุรุษอะไรเลย เพราะลูกผู้หญิง หรือ สุภาพนารี ก็มีได้เช่นกัน

กุหลาบยังมิได้มีความคิดก้าวหน้าถึงขั้นที่จะเข้าใจเรื่องสิทธิสตรี ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ชัดมากขึ้นในนวนิยายเรื่อง แสนรักแสนแค้น (พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๓) ซึ่งกุหลาบวางโครงเรื่องให้จุไร สตรีที่เป็นคนรักของนายพโยม สิงหยรรยง ไปแต่งงานกับคนอื่น ปรากฏว่าพโยมได้ประนามจุไรอย่างรุนแรง และลงมือแก้แค้นด้วยความพยาบาท ปราศจากความเห็นใจหรือให้อภัย และจบเรื่องลงท้ายด้วยความตายอย่างไร้เกียรติของจุไร ซึ่งถ้าประเมินจากพฤติกรรมในเนื้อเรื่องแล้ว ต้องถือว่า พโยมเป็นคนชั่วยิ่งกว่าจุไรผู้ไม่ซื่อสัตย์มากมาย (*)

(*) ดู ศรีบูรพา แสนรักแสนแค้น. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๒๙). ความจริงน่าจะถือได้ด้วยซ้ำว่า นวนิยายเรื่องนี้ เป็นนวนิยายที่เนื้อหาแย่ที่สุดของศรีบูรพา.

ความสนใจเรื่องสิทธิของมนุษย์เห็นได้ชัดเจนเมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนบทความเรื่อง "มนุษยภาพ"ลงใน หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ เริ่มตอนแรกในฉบับวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๔ แต่บทความชุดนี้ยังไม่จบสมบูรณ์ก็เกิดปัญหา เพราะหลวงวิจิตรวาทการ(กิมเหลียง วัตนปฤดา)และคณะได้เข้ามาถือหุ้นในไทยใหม่ และมีนโยบายไม่ต้องการให้วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กุหลาบจึงนำบทความมาปรับปรุงแล้วพิมพ์ซ้ำอีกครั้งเป็น ๓ ตอนในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง เริ่มในฉบับวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๔(ปฏิทินเก่า) ในบทความนี้ กุหลาบได้แสดงจุดมุ่งหมายในส่วนนำเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์ว่า - ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ ด้วยความมุ่งหมายที่จะปรับฐานะของมนุษย์ให้ได้ระดับอันทุกคนควรจะเปนไปได้ -

ในบทความ กุหลาบได้เริ่มด้วยคำถามว่า "มนุษยภาพหรือความเปนมนุษย์ หรือ ความเปนคนควรวางอยู่บนลักษณะอย่างไร" จากนั้น ก็ได้พูดถึง "สิทธิ" โดยตั้งคำถามว่า เหตุใดในประเทศสยามจึงไม่มีการนำพาในเรื่องสิทธิ. คำตอบของกุหลาบ ในเรื่องนี้ ก็คือสัจจะ หรือความจริง ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับความซื่อตรง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความเป็นมนุษย์ จากนั้นก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การโกหกตอแหล การหลอกลวง ซึ่งตรงข้ามกับความจริงนั้น ได้ก่อกำเนิดจากคณะรัฐบาลและคนชั้นสูง และว่า "บุคคลผู้มีอำนาจ อันประกอบด้วยชาติตระกูล ด้วยยศศักดิ์ หรือด้วยเงินก็ตาม มักจะไม่ใคร่อยู่กันสัจจะหรือความเป็นจริง"

ปรากฏว่าบทความเรื่อง"มนุษยภาพ" นี้เองเป็นเหตุให้ พล.ต.ท.พระยาอธิกรณประกาศ (หลุย จาติกะวณิชย์) อธิบดีกรมตำรวจภูธรสั่งปิดแท่นพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และทำให้พระยาอุปการศิลปเสรฐ(อั่น ชัชกุล) ซึ่งเป็นบรรณาธิการถูกถอนใบอนุญาต หนังสือพิมพ์ศรีกรุงปิดได้ ๙ วัน ก็ได้เปิดดำเนินการใหม่ โดยเปลี่ยนบรรณาธิการเป็น นายเจริญ วิสิษฐ์ศรี

นอกจากนี้ ใน พ.ศ.๒๔๗๔ นี้ กุหลาบ ก็ได้เขียนนวนิยายเรื่อง "สงครามชีวิต" เป็นรูปจดหมายโต้ตอบระหว่างคนรัก คือ นางสาวเพลินกับระพินทร์ ยุทธศิลป์

(*) โดยในจดหมายรักเหล่านี้ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะในเชิงวิจารณ์สังคมไทย โดยเฉพาะในเรื่องช่องว่างทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นสำนึกเกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคม เช่นการที่กุหลาบได้อธิบายถึง ความแตกต่างระหว่างคนยากจนและคนมั่งมีไว้ว่า - คนยากจนต้องต่อสู้อย่างหนัก เพื่อความเป็นอยู่อันจำเป็น คนมั่งมีต่อสู้เพื่อการสะสม แล้วในที่สุด ไปจากโลกนี้ คนทั้งสองประเภทก็ไปทำนองเดียวกัน คือไปด้วยมือเปล่าแท้ๆ - และด้วยความยากจนของคนทั้งสองนี้เอง ที่ทำให้เพลินตัดสินใจไม่แต่งงานกับระพินทร์ แต่ไปแต่งงานกับ วินัย บูรณเกียรติ ที่มีฐานะการเงินอันมั่นคงกว่า นวนิยายเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องชีวิตของคนยากจน ที่จบลงด้วยความไม่สมหวัง ไม่ได้จบด้วยความสุขสมหวังเหมือนนวนิยายพาฝันทั่วไป. นอกจากนี้ ยังอาจได้ตีความว่า "สงครามชีวิต" เป็นนวนิยายไทยเรื่องแรกที่มีเป้าหมายเสนอปัญหาสังคม และวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเน้นความสำคัญจนถึงเ ป็นแก่นเรื่อง (ตรีศิลป์ บุญขจร ๒๕๒๕ : ๔๒)

(*) นวนิยายเรื่อง สงครามชีวิต นี้ ศรีบูรพา นำรูปแบบการเขียนจดหมายตอบโต้ กับลักษณะเนื้อหา มาจาก นวนิยายเรื่อง "รักของผู้ยากไร้" (Poor People) ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี นักเขียนชาวรุสเซีย ซึ่ง ศรีบูรพา สอดแทรกเรื่องของดอสโตเยฟสกี้ไว้ โดยที่ระพินทร์ได้เล่าเรื่องนักเขียนผู้นี้ให้เพลินทราบในจดหมายฉบับหนึ่ง และสุดท้ายก็ให้เพลินเขียนตอบไว้ตอนหนึ่งว่า "ระพินทร์จงตั้งต้นชีวิตใหม่ ชีวิตที่ลือนามของนักประพันธ์ตามความใฝ่ฝันของเธอ ดิฉันอนุญาตให้เธอนำเรื่องราวของเราเขียนเป็นหนังสือเล่มแรก ดิฉันเชื่อมั่นว่า เธอจะได้รับความสำเร็จเช่นเดียวกับที่ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ ได้รับจากเรื่อง Poor People ของเขา" ดู ศรีบูรพา. สงครามชีวิต. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๘), หน้า ๒๔๓.

๒. กุหลาบ สายประดิษฐ์กับการปฏิวัติ ๒๔๗๕
เมื่อเกิดการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงมีท่าทีสนับสนุนการปฏิวัติโดยทันที โดยแรกสุด หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ที่มี กุหลาบ ร่วมในกองบรรณาธิการ ได้มีท่าทีในทางตอบรับต่อการปฏิวัติ จากนั้นใน ศรีกรุง ฉบับวันที่ ๕ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนเรื่อง "สร้างสยามใหม่ในชั่วเวลา ๗ วัน" อธิบายให้เห็นคุณูปการของการปฏิวัติครั้งนี้อย่างชัดเจนว่า ภายในเวลา ๗ วัน คณะราษฎรได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ทำไม่ได้ นั่นคือ การดำเนินการให้มีธรรมนูญการปกครองและให้มีสภาราษฎรในสยาม และยกย่องคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยใช้คำว่า "คณะรักชาติ" ดังใจความตอนหนึ่งว่า

"ในช่วงเวลา ๗ วัน คณะรักชาติได้พิสูจน์ให้เราเห็นความสามารถอันยิ่งใหญ่ เราได้ธรรมนูญการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้กฏหมาย เปนธรรมนูญที่ให้สิทธิแก่ประชาราษฎรอย่างสมบูรณ์ ในอันที่จะแสดงความคิดเห็นในการบ้านเมือง" และแสดงความชื่นชมว่า "คณะราษฎร์ได้ยกภูเขาทั้งลูกผ่านพระเจ้าแผ่นดินไปแม้โดยใกล้ชิด ก็มิได้กระทำอาการซวนเซให้กระทบกระทั่งพระวรกายของพระองค์ คณะราษฎร์ได้ผ่านพระองค์ไปด้วยความเคารพ. จากนั้น ก็สรุปว่า การปฏิวัติครั้งนี้ เป็นไปเพื่อความดีงามของคนไทย ชาติไทย บ้านไทยเมืองไทย" ไม่ใช่เพียงแต่ในวันนี้เท่านั้น แต่จะเป็นมรดกตกทอดไปในอนาคตด้วย

การสนับสนุนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่มีต่อ"คณะรักชาติ"ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มิได้เป็นเพียงการแสดงท่าทีเห็นด้วยกับการปฏิวัติเท่านั้น แต่ยังนำเสนออย่างชัดเจน ถึงอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติ ดังนั้นกุหลาบ จึงได้เขียนบทความ ๓ ตอนครั้งใหม่ โดยบทความแรกนั้น ลงในศรีกรุง ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ในชื่อว่า "สมรรถภาพของสยามใหม่อยู่ที่ไหน" เขาได้เสนอว่า ชีวิตของประเทศนั้นควรจะผูกไว้กับความจริง และชี้ให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมานั้น ราษฎรสยามถูกอบรมให้เชื่อมั่นในเรื่องชาติกำเนิดของบุคคลมากเกินไป ดังนี้

ตลอดเวลา ๑๕๐ ปี ในอายุของกรุงเทพฯมหานคร เราได้รับการอบรมให้มีความเชื่อมั่นและเคารพบูชาในชาติกำเหนิดของบุคคล พอเรามีเดียงสาที่จะเข้าใจความหมายของคำพูดได้ ปู่ย่าตายายก็อบรมสั่งสอนให้เราบูชาชาติกำเหนิดของบุคคล ท่านให้บูชาทุกคนที่กำเนิดมาในสกุลของราชวงศ์จักรี ท่านให้เราเรียกผู้เป็นประมุขของชาติไทยว่า เจ้าชีวิต เราถามว่าทำไมต้องเรียกเจ้าชีวิต ท่านตอบว่าเจ้าชีวิตสามารถที่จะสั่งตัดหัวใครๆ ได้ ตั้งแต่นั้นมาเราก็กลัวเจ้าชีวิต เรากลัวทุกๆ คนที่เป็นพี่น้องของเจ้าชีวิต เรากลัวโดยไม่มีเหตุผล เรากลัวเพราะถูกอบรมมาให้กลัว เราเรียกทุกๆ คนในครอบครัวอันใหญ่ที่สุดนี้ว่า เจ้านาย เมื่อเราพูดถึงเจ้านาย เราจะต้องพูดว่าเจ้านายที่เคารพทุกครั้งไป กฎหมายไม่ได้บังคับให้เราพูด แต่จารีตประเพณีและการอบรมบังคับให้เราพูดเอง

เราพากันเคารพบูชาเจ้านาย เพราะเจ้านายเป็นผู้บันดาลให้เกิดความสำเร็จแทบทุกชะนิด ทุกๆ คนที่หวังความสุข พยายามอยู่ในโอวาท และในความรับใช้ของเจ้านาย เราพากันพิศวงงงงวยในความสามารถของท่าน เราคิดว่าถ้าขาดครอบครัวของท่านเสียครอบครัวเดียว สยามจะต้องล่มจม ไม่มีใครปกครองประเทศได้ดีเท่าพวกท่าน ดังนั้นเราจึงถือความเชื่อมั่นกันมาว่า สิ่งสำคัญในตัวบุคคลคือ ชาติกำเนิด ผู้ที่เกิดมาเปนเจ้านาย จะต้องเป็นที่เคารพทุกคน เจ้านายจะต้องเปนคนดีทั้งนั้น จะเปนคนชั่วไม่ได้เลย นอกจากพวกเจ้านายแล้ว เราไม่เชื่อในความรู้ความสามารถของใคร เราไม่เชื่อว่าบุคคลอื่นจะบันดาลให้เกิดความสำเร็จได้

ต่อมาในศรีกรุงฉบับวันที่ ๑๒ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เสนอบทความตอนที่ ๒ ที่ชัดเจนมากขึ้นในบทความที่ชื่อว่า"ชาติกำเนิดไม่ใช่สมรรถภาพของคน"โดยมีความขยายว่า -พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดบุคคลเปนหลัก พระราชวงศ์อาจมีทั้งที่ฉลาดและโง่- ในส่วนนี้ กุหลาบ อธิบายเพิ่มเติมว่า

ตามความอบรมที่เราได้รับสืบต่อกันมา ทำให้เราเชื่อกันโดยมากว่า พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายทุกองค์เปนผู้ทำอะไรไม่ผิด ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทรงกระทำ พวกเรายอมรับกันว่าเปนสิ่งถูกต้องดีงามอยู่เสมอ ครอบครัวของราชวงศ์จักรีเปนปาปมุติ คือ เปนผู้ที่พ้นจากบาป ไม่เคยทำอะไรผิดและจะไม่ทำผิด เรารับรองคติอันนี้โดยอาการที่เราไม่ตำหนิ หรือทักท้วงการกระทำทุกอย่างของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ เราทำตัวเหมือนลิ่วล้อตามโรงงิ้ว คือ ร้องฮ้อทุกครั้ง ไม่ว่าตัวงิ้วหัวหน้าจะพูดอะไรออกมา

แท้จริงพวกเจ้านายก็เปนมนุสส์ปุถุชนเหมือนอย่างพวกเราๆ นี่เอง ย่อมจะข้องอยู่ในกิเลสอาสวะ มีราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ดุจคนทั้งปวง เมื่อบุคคลในครอบครัวทั้งหลายอื่น ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนในครอบครัวหนึ่ง ก็ยังมีคนดีคนชั่ว คนทำถูก ทำผิด คลุกคละปะปนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นฉะนี้ เหตุใดครอบครัวของเจ้านาย...จึงกลายเปนคนดีคนทำถูกไปเสียทั้งหมด

กุหลาบได้วิพากษ์ว่า การนับถือชาติกำเนิดในลักษณะเช่นนี้ เป็นการฝ่าฝีนความเป็นจริง และขัดกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้สอนสาวกให้ยึดเอาชาติกำเนิดหรือตัวบุคคล เป็นเครื่องวินิจฉัย ดังนั้น การยกเอาชาติกำเนิดมาเป็น"เครื่องชั่งน้ำหนัก" จึงถือว่า "เป็นการหลงผิดอย่างงมงาย" แต่กระนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็เสนออย่างชัดเจนว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้ มิได้กระทำโดยมุ่งที่จะละเมิดเดชานุภาพของกษัตริย์ โดยอธิบายว่า

ข้าพเจ้ามิได้ตั้งใจจะลบหลู่พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์ใดๆ ที่ได้มีอยู่กับประเทศสยาม ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์เปนอย่างดี เพียงแต่ข้าพเจ้าตั้งใจจะให้คนทั้งปวงตกหนักในความจริงว่า ชาติกำเนิดมิได้เปนเครื่องวัดความดีความชั่ว ความสามารถ และไม่สามารถของบุคคล (ศรีกรุง ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๗๕ : ๑)

ต่อมา ในวันที่ ๑๖ และ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้เสนอตอนที่ ๓ ของบทความ ในชื่อว่า "ความเชื่อมั่นของสยามใหม่ อยู่ที่คุณวุฒิและคุณธรรมของบุคคล" โดยอธิบายว่า คุณวุฒิและคุณธรรมของบุคคลนั่นเอง คือสิ่งที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จอันชอบธรรม ไม่ใช่ชาติกำเนิดและวัยวุฒิ ข้อพิสูจน์ของเขาก็คือ ความสำเร็จของการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งกระทำการโดยคนรุ่นหนุ่มที่ไม่สูงด้วยวัยวุฒิ และมิได้มีชาติกำเนิดอันสูงส่ง กุหลาบชี้ว่า "เราเรียกแผนการปกครองของคณะราษฎร ว่าเป็นการกระทำที่ชอบธรรมได้เต็มปาก การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ และสมภาพ อันผู้เรียกร้องพึงมีพึงได้นั้น ใคร่เล่าจะบังอาจคัดค้านว่า เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยทำนองคลองธรรม"

และเสนอต่อไปว่า บุคคลที่ทำกรรมดีเท่านั้น จึงควรได้รับการยกย่องสรรเสริญ เราพึงเคารพบูชาความดีและความสามารถของคนเป็นข้อใหญ่ โดยไม่ต้องใส่ใจว่าคนๆ นั้นจะเป็นใคร เพราะแม้กระทั่งเจ้านายที่ประกอบด้วยคุณวุฒิและคุณธรรม ก็มีสิทธิเสรีภาพเหมือนกับราษฎรทั้งหลาย จากนั้นก็ได้อธิบายการปิดฉากของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า

สมัยแห่งการโกหกตอแหลเจ้าเอย ขอให้เจ้าได้ตายอย่างสนิทเถิด เจ้าอย่าเพียงแต่สลบ เจ้าจงอย่าได้ห่วงใยในบุคคลที่รักของเจ้าเลย สมัยของความสัตย์จริงจะเลี้ยงดูคนที่รักของเจ้าให้มีทั้งความสุขและความเจริญ ถ้าเขาจะไม่ทำตัวเปนปรปักษ์กับสมัยของเรา เจ้าจงตายให้สนิทและไปเกิดในนรก ซึ่งเปนบ้านเกิดเมืองนอนของเจ้าเถิด ประเทศสยามได้กล่าวคำอำลาเจ้าแล้ว
(ศรีกรุง ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๗๕ : ๕)

หลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ม.จ.วรรณไวยากร วรวรรณ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเจ้านายที่สนับสนุนการปฏิวัติ ต้องการที่จะออกหนังสือพิมพ์การเมืองเพื่อเสริมสร้างความรู้ในด้านประชาธิปไตยแก่ประชาชน จึงได้ชักชวนให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ เข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการ และชักชวนเพื่อนของกุหลาบหลายคนร่วมในกองบรรณาธิการด้วย หนังสือพิมพ์นี้ออกฉบับปฐมฤกษ์ ในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๕ และกลายเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญในสมัยแห่งการบริหารของคณะราษฎร

ใน พ.ศ.๒๔๗๘ กุหลาบ ได้เขียนลำนำสั้นเรื่อง "แม่ทำอะไรบ้างหนอ" รวมพิมพ์ในหนังสือ แม่จ๋า ซึ่งเป็น หนังสือชุมนุมบทกวี พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพของคุณแม่บุญเกิด ปาจิณพยัคฆ์ มารดาของหลวงสารานุประพันธ์(นวล ปาจิณพยัคฆ์) ในลำนำบทนี้ กุหลาบได้เขียนยกย่องความเป็นแม่ว่า ได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด โดยไม่มีใครมองเห็น และที่น่าสนใจก็คือ การที่กุหลาบเปรียบเทียบผลงานที่ยิ่งใหญ่ของแม่ กับงานสำคัญจำนวนมากในโลก เช่น การค้นพบอเมริกาของโคลัมบัส การค้นพบยาแก้พิษสุนัขบ้าของปาสเตอร์ การค้นพบเครื่องจักรไอน้ำของเจมส์ วัตต์ การรวมอาณาจักรเยอรมนีของ บิสมาร์ค และพ่วงท้ายด้วยงานของ ท่านเจ้าคุณพหลฯและคณะ ที่ทำให้ประเทศสยามได้มีรัฐธรรมนูญขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กุหลาบ ยังถือว่าการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่อยู่เสมอ

พ.ศ.๒๔๗๙ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม มีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้น ได้เกิดปัญหาในกองบรรณาธิการเพราะฝ่ายของ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม เห็นว่า ประชาชาติแสดงท่าทีสนับสนุน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของตน เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งถึงขั้นแตกหัก กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการ และเดินทางไปดูงานที่หนังสือพิมพ์อาซาฮี ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา ๖ เดือน ในระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งในโอกาสนี้เอง ที่เขาได้เก็บข้อมูลมาเขียนนวนิยายเรื่องสำคัญ คือเรื่อง "ข้างหลังภาพ" ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติใน พ.ศ.๒๔๘๐

นวนิยายเรื่อง"ข้างหลังภาพ" นี้ เป็นเรื่องรักสะเทือนใจที่เป็นที่นิยมที่สุดของศรีบูรพา นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนถึงภาพของ หม่อมราชวงศ์กีรติ ซึ่งเป็นสตรีชั้นสูงในสังคมเก่า ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องอยู่เป็นโสดตลอดชีวิต. แต่เนื่องจากปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ที่ทำให้เชื้อพระวงศ์มีโอกาสสมรสกับสามัญชน(*) หม่อมราชวงศ์กีรติ จึงต้องเลือกแต่งงานเมื่ออายุ ๓๕ ปี กับพระยาอธิการบดี ที่เป็นขุนนางอายุ ๕๐ ปี และเดินทางไปฮันนีมูนที่กรุงโตเกียว ปรากฏว่า เธอได้ไปรู้จักกับนพพร นักเรียนไทยอายุ ๒๒ ปี และได้สนิทสนมกันจนกลายเป็นความรัก

(*) ในสังคมก่อนการปฏิวัติ มีแต่เจ้านายผู้ชายเท่านั้น ที่สามารถรับเอาสตรีสามัญเป็นชายาได้ ส่วนเจ้านายผู้หญิงต้องสมรสกับเจ้านายด้วยกันเองเท่านั้น ไม่อาจลดองค์มาสมรสกับสามัญชนได้เลย หรืออีกนัยหนึ่ง ชายสามัญชนก็ไม่อาจที่จะอาจเอื้อมไปสมรสกับสตรีเชื้อพระวงศ์ได้ กฏระเบียบลักษณะนี้ ได้ถูกคณะราษฎรยกเลิกหลังการปฏิวัติ

นพพรได้สารภาพรักกับหม่อมราชวงศ์กีรติ ขณะที่ทั้งคู่ไปเที่ยวธารน้ำตกที่มิดาเกาะ แต่หม่อมราชวงศ์กีรติ แม้ว่าจะรักนพพรก็ตาม ก็ไม่อาจจะตอบรับความรักได้ ต่อมาเมื่อหม่อมราชวงศ์กีรติกลับมาประเทศไทย และเวลาผ่านไป ความรักของนพพรก็เลือนลางจืดจางลง จนเมื่อจบการศึกษาก็กลับมาแต่งงานกับสตรีคนอื่น ขณะที่หม่อมราชวงศ์กีรติ ยังคงยึดมั่นในความรัก และต่อมาเธอก็ล้มป่วยเป็นวัณโรคและเสียชีวิตพร้อมกับความรักนั้น ความตายของหม่อมราชวงศ์กีรติ จึงถือเป็นการสะท้อนถึงการล่มสลายของชนชั้นสูงหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕

นอกจากนี้คือเรื่อง "ป่าในชีวิต" ซึ่งกุหลาบส่งลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์สยามนิกร เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ ในเรื่องนี้ กุหลาบ ได้แต่งให้ตัวเอกของเรื่อง คือ นายร้อยโทนิกร เสนีบริรักษ์ เป็นหนึ่งในนายทหารที่เข้าร่วมในกบฏบวรเดช และต้องถูกจับกุมติดคุกถึง ๔ ปี แต่แก่นของนวนิยายเรื่องนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองโดยตรง และกุหลาบก็ไม่ได้ต้องการสะท้อนจุดยืนว่าจะสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎร หรือฝ่ายกบฏบวรเดช เพียงแต่ต้องการอธิบายผลกระทบทางการเมืองต่อชะตากรรมของนิกร และความรักของเขากับนางเอกของเรื่องที่ชื่อ กันยา. เรื่องนี้จบลงด้วยการเสียสละของนิกร ที่ตัดสินใจไปจากชีวิตของกันยา แต่ที่น่าสนใจคือ ศรีบูรพาน่าจะเป็นคนแรกที่หยิบเอาเรื่องเหตุการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยอันใกล้ตัว มาผูกเรื่องแต่งเป็นนวนิยาย ซึ่งยังไม่ปรากฏเห็นชัดในนวนิยายไทยสมัยก่อนหน้านี้

วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๑ สนิท เจริญรัฐ และกลุ่มเพื่อนได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชามิตร โดยมีบริษัทไทยวิวัฒน์ ของ นายวรกิจบรรหาร(พงษ์ รังควร) เป็นเจ้าของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้เข้าร่วมงานด้วย ต่อมาเมื่อประชามิตรเป็นที่นิยม บริษัทไทยวิวัฒน์ก็ได้ออกหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง โดยกุหลาบเข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จะมีบทบาทมากขึ้น ในการวิจารณ์และท้วงติงรัฐบาล เมื่อ นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นต้นมา และเริ่มบริหารประเทศด้วยนโยบายรัฐนิยม พร้อมกับมีแนวโน้มในทางทหารนิยมเผด็จการมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๓ คือ การที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม สนับสนุนให้ยืดบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ เพื่อจะครองอำนาจไปอีก ๑๐ ปี

ในกรณีนี้ หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ได้แสดงความเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรกำลังเอาสิทธิของประชาราษฎรไปจำหน่ายโอนโดยพลการ และเสนอความเห็นว่า หากรัฐบาลต้องการยืดบทเฉพาะกาล เพื่อจะบริหารประเทศต่อไป ก็ควรที่จะให้สิทธิแก่ประชาชนในการเลือกตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง เพราะจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง (นุศรา อะมะรัสเสถียร ๒๕๓๒ : ๘๑)

ต้นปี พ.ศ.๒๔๘๔ รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้รับชัยชนะในสงครามอินโดจีน และได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ๔ จังหวัด ในโอกาสนี้ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้เลื่อนให้นายกรัฐมนตรี ได้รับยศจอมพลคนแรกหลัง พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นจอมพล หลวงพิบูลสงคราม. กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้เขียนวิจารณ์แนวนโยบายของรัฐบาลที่โน้มไปในทางอำนาจนิยม และสนับสนุนญี่ปุ่น ต่อมาในระหว่างวันที่ ๔ พฤษภาคม - ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ ก็ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง "เบื้องหลังการปฏิวัติ"(*) ลงในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ

(*) บทความนี้ เดิมใช้ชื่อว่า "เบื้องหลังการปฏิวัติ" เพราะในขณะที่เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ การปฏิวัติยังมีครั้งเดียว ต่อมาเมื่อมีการก่อการรัฐประหารและปฏิวัติอีกหลายครั้ง หนังสือที่ตีพิมพ์ใหม่ จึงเติม ๒๔๗๕ ลงไป เพื่อให้เป็นที่เข้าใจชัดเจน (ทวีป วรดิลก ๒๕๔๕ : ๑๔๕)

ในกรณีนี้ ได้นำมาสู่ความไม่พอใจแก่ผู้นำในคณะรัฐบาล จนในวันที่ ๑๑ มิถุนายนนั้นเอง ได้มีการกล่าวโจมตีบทความนี้ ทางวิทยุกระจายเสียงในรายการของนายมั่นนายคง ซึ่งเป็นรายการโฆษณาของฝ่ายรัฐบาล (*)๑๔ จนกระทั่ง ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ สมาชิกในสภาราษฎร ต้องตั้งข้อถามในทำนองประท้วงต่อรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีต้องตอบต่อข้อถามในเรื่องนี้ต่อสมาชิกสภาอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะเกิดเหตุเช่นนั้น หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ก็มิได้มีท่าทีอ่อนข้อจนนายกรัฐมนตรี ต้องมีจดหมายส่วนตัวมาถึงกุหลาบ ๒ ฉบับ ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน และ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ด้วยน้ำใสไมตรีอันปลอบประโลมใจ แต่กุหลาบ ได้เขียนตอบไปว่า "ถึงแม้มีความผูกพันฉันทไมตรีและนับถือกันดีอยู่ แต่ตราบเท่าที่อยู่ในหน้าที่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์สลักสำคัญที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ข้าพเจ้าก็จำเป็นจะต้องกระทำต่อไป" (กุหลาบ สายประดิษฐ์ ๒๔๙๐ : ๑๓)

(*) โดยข้อโจมตีก็คือ การนำเบื้องหลังการปฏิวัติมานำเสนอ จะทำให้ผู้ก่อการทุกท่านที่ยังมีชีวิตอยู่เกิดความกระดากใจ เพราะทุกท่านทำการปฏิวัติโดยเสียสละแล้วทุกอย่าง โดยไม่หวังผลตอบแทน และยังเสนอด้วยว่า การเสนอเบื้องหลังการปฏิวัติ จะก่อให้เกิดความรู้สึกกระทบกระเทือนแก่ความรู้สึกของคนบางหมู่บางคณะ ซึ่งกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ตอบโต้ข้อวิจารณ์เหล่านี้และชี้ให้เห็นว่าเป็นข้อโจมตีอันไร้เหตุผล

นอกจากนี้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ยังมีบทบาทในการคัดค้านการแทรกแซงเสรีภาพส่วนบุคคล เช่น ในเรื่องการแต่งกาย สวมหมวก กินหมาก เป็นต้น และที่สำคัญ คือ การคัดค้านการที่รัฐบาลที่จะฟื้นฟูบรรดาศักดิ์กันอย่างมโหฬาร ซึ่งกุหลาบ (๒๔๙๐ : ๑๓) ได้เล่าเรื่องนี้ว่า

มีความดำริกันว่า จะสถาปนาท่านผุ้นำและสมัครพรรคพวกบริวารขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพญา เจ้าพญา ท่านพญา รวมทั้งสมเด็จเจ้าพญาหญิง เจ้าพญาหญิง ท่านพญาหญิง เป็นลำดับ เมื่อปรากฏรูปความคิดเห็นของนักปฏิวัติจอมพลและกลุ่มจอลพลออกมาดังนี้ ข้าพเจ้าก็เห็นแน่ว่า จอมพลและนักปฏิวัติกลุ่มนั้น ได้ประหารอุดมคติของเขาวินาศย่อยยับสิ้นเชิงลงแล้ว เราได้ให้โอกาสนานพอแก่คนพวกนั้น ที่จะปรับปรุงความคิดเห็นของเขาเสียใหม่ แต่เขามีแต่จะรุดหน้าไปในทางที่มิใช่เป็นที่นัดพบของเราตามที่เขาได้สัญญา และเราก็ได้รับเอาสัญญานั้น นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ฉะนั้น เราก็จำเป็นต้องหันหลังให้กัน แม้ว่าจะได้มีไมตรีต่อกัน

ด้วยทัศนะเช่นนี้ นำมาสู่การที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์จะถูกจับกุมเข้าคุกครั้งแรก ทั้งนี้เหตุการณ์สืบเนื่องมาจากการที่ญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ และรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามตัดสินใจยอมให้ญี่ปุ่นผ่านแดนและร่วมมือกับญี่ปุ่น ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ ได้มีกลุ่มคนไทยผู้รักชาติ ใช้นามว่า "คณะไทยอิสสระ" ออกใบปลิวต่อต้านญี่ปุ่น และโจมตีรัฐบาลจอมพล ป. ว่า ยอมตกเป็นเครื่องมือของญี่ปุ่น

รัฐบาลหวาดระแวงสงสัยนักหนังสือพิมพ์ว่าอยู่เบื้องหลังการทำใบปลิว ในวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ จึงได้จับกุม กุหลาบ สายประดิษฐ์, อารีย์ ลีวีระ, ขจร สหัสจินดา, เฉวียง เศวตทัต, ดำริห์ ปัทมะศิริ, สุรีย์ ทองวานิช, และคนอื่นๆ ในข้อหาต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้พิมพ์ใบปลิวแจก แต่ต่อมาปลายเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ ทางการตำรวจได้จับกุมนายเล้ง โบราณวงศ์ ในขณะที่กำลังเตรียมใบปลิวไทยอิสสระฉบับที่ ๒ จึงได้ทราบว่า กลุ่มนักเขียนที่จับมาไม่ใช่ไทยอิสระ กุหลาบและนักหนังสือพิมพ์คนอื่นๆ จึงถูกปล่อยตัว แม้กระนั้นทางการรัฐบาลก็ยังคงคุมขังกุหลาบเอาไว้ถึง ๘๔ วัน

ในระหว่างสงคราม เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและขาดแคลนกระดาษ รัฐบาลจึงได้เข้าควบคุมการทำหนังสือพิมพ์ จนทำให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับต้องปิดกิจการ และที่เหลืออยู่ก็ต้องลดหน้ากระดาษ. "ประชามิตร"และ"สุภาพบุรุษ"จึงต้องยุบรวมเป็นฉบับเดียว และยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงหลังจากที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม สิ้นวาระลงเพราะแพ้มติในสภาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗ หลังจากนั้น บรรยากาศทางการเมืองไทยก็เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเมื่อสงครามโลกยุติลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ รัฐบาลพลเรือน ที่สนับสนุนนายปรีดี พยมยงค์ มีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ หนังสือพิมพ์ก็สามารถเสนอข่าวสารได้อย่างเป็นอิสระ ในระยะนี้เอง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับความช่วยเหลือจากปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ให้กู้เงินธนาคารเอเชีย ไปศึกษาด้านรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เขาจึงออกเดินทางไปออสเตรเลียในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๐

คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๒

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
12 Febuary 2008
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
เราได้รับการอบรมให้มีความเชื่อมั่นและเคารพบูชาในชาติกำเหนิดของบุคคล พอเรามีเดียงสาที่จะเข้าใจความหมายของคำพูดได้ ปู่ย่าตายายก็อบรมสั่งสอนให้เราบูชาชาติกำเหนิดของบุคคล ท่านให้บูชาทุกคนที่กำเนิดมาในสกุลของราชวงศ์จักรี ท่านให้เราเรียกผู้เป็นประมุขของชาติไทยว่า เจ้าชีวิต เราถามว่าทำไมต้องเรียกเจ้าชีวิต ท่านตอบว่าเจ้าชีวิตสามารถที่จะสั่งตัดหัวใครๆ ได้ ตั้งแต่นั้นมาเราก็กลัวเจ้าชีวิต เรากลัวทุกๆ คนที่เป็นพี่น้องของเจ้าชีวิต เรากลัวโดยไม่มีเหตุผล เรากลัวเพราะถูกอบรมมาให้กลัว เราเรียกทุกๆ คนในครอบครัวอันใหญ่ที่สุดนี้ว่า เจ้านาย
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
home