บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกราคม ๒๕๕๐)
Hegemony & Historical
bloc
Midnight
University
ปรัชญาการเมือง สำหรับสารานุกรมหลังสมัยใหม่
ม.เที่ยงคืน
Gramsci:
แนวคิดการครองอำนาจนำและกลุ่มประวัติศาสตร์
วัชรพล พุทธรักษา : เขียน
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทความนี้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนโปรดดู
วัชรพล พุทธรักษา. ๒๕๔๙
รัฐบาลทักษิณกับความพยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำ. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต
ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บทความนี้ได้นำเสนอในงาน
ประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ ๘ ที่ไบเทคบางนา
กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา
สำหรับในส่วนที่นำเสนอบนเว็บเพจ ม.เที่ยงคืนนี้
ภาคแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจแนวคิดปรัชญาการเมืองมาร์กซิสท์แบบคลาสสิค(เดิม)
และการทำความรู้จักแนวคิดมาร์กซ์ในความคิดของอันโตนิโอ กรัมชี เกี่ยวกับการครองอำนาจนำ
ซึ่งจะต้องยึดพื้นที่ทางการเมืองและพื้นที่ทางความคิดหรือประชาสังคมให้ได้ ชนชั้นที่พยายาม
ครองอำนาจนำจึงจะสามารถมีอิทธิพลเหนือสังคมได้อย่างสมบูรณ์
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๗๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๗.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
ปรัชญาการเมือง สำหรับสารานุกรมหลังสมัยใหม่
ม.เที่ยงคืน
Gramsci:
แนวคิดการครองอำนาจนำและกลุ่มประวัติศาสตร์
วัชรพล พุทธรักษา : เขียน
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ชื่อเดิมของบทความ:
แนวความคิดการครองอำนาจนำของกรัมชี: บททดลองเสนอในการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทย
The Gramsci's Hegemony concept: An attempt to explain Thai political phenomena
หมายเหตุ:
เนื่องจากบทความที่กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับจากผู้เขียน มีความยาวกว่า
๔๐ หน้ากระดาษ A4
ดังนั้นจึงได้แบ่งการนำเสนอออกเป็น ๒ ภาค ตามความเหมาะสมการนำเสนอในรูปเว็บเพจ
ด้วยชื่อเรื่องที่ต่างกัน ในลำดับที่ ๑๔๗๙ - ๑๔๘๐)
บทความนี้มีคำถามหลักในการศึกษา 2 ประการด้วยกัน คือ
1. กรอบแนวความคิดการครองอำนาจนำ (Hegemony) ของกรัมชี (Antonio Gramsci) นั้นมีลักษณะอย่างไร และ
2. จะสามารถนำกรอบแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยอย่างไร
การนำเสนอในบทความนี้เริ่มต้นที่การตอบคำถามประการแรก ด้วยการนำเสนอผลการศึกษาว่าแนวคิดการครองอำนาจนำ (Hegemony) ของกรัมชีนั้นมีลักษณะอย่างไร และในส่วนท้ายของบทความจะเป็นการนำเสนอในส่วนของการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทย กรณีศึกษาการครองอำนาจของรัฐบาลทักษิณในช่วงปี 2544-2549 ด้วยกรอบแนวคิดดังกล่าว
แนวคิดการครองอำนาจนำ
(Hegemony): นิยาม ความหมาย
คำว่า "Hegemony" หรือที่ในงานชิ้นนี้ใช้คำว่า "การครองอำนาจนำ"
(1) เป็นคำที่มีที่มาจากภาษากรีก ที่ว่า "Hegemon" (2) ที่มีความหมายถึง
การนำ (leading) การมีอำนาจเหนือผู้อื่น (prominent power) และมักจะมุ่งใช้ในความหมายของการครองอำนาจนำทางการเมือง
(political dominance) เป็นส่วนใหญ่
แนวความคิดเรื่องการครองอำนาจนำ (3) นั้น ได้ถูกกล่าวถึงในงานเขียนของ อันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) (4) ในสมุดบันทึกจากคุก (Prison Notebooks) ผลงานชิ้นสำคัญของกรัมชีนี้เขียนขึ้นระหว่างที่เขาถูกจำคุกระหว่างปี ค.ศ.1926-1935 แม้เขาจะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องสุขภาพ และสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากในเรือนจำ แต่เขาก็ยังสามารถเขียนงานออกมาได้ถึงกว่า 2,848 หน้าจากสมุดบันทึกจำนวน 33 เล่มด้วยกัน
งานเขียนของเขามีลักษณะกระจัดกระจายมิได้รวบรวมเป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ
และมีประเด็นกว้างขวางครอบคลุมในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ประเด็นว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์อิตาลี
ว่าด้วยการศึกษา ปัญญาชน ว่าด้วยทฤษฎีและแนวความคิดในทางการเมือง ความคิดเกี่ยวกับรัฐ
สังคม การใช้อำนาจ รวมถึงเรื่องการครองอำนาจนำ เป็นต้น อีกทั้งการใช้ภาษาก็มีลักษณะกำกวม
ซึ่งยากต่อการตีความ เพื่อให้จดหมายและข้อเขียนของเขาสามารถผ่านการควบคุมจากคุกได้นั่นเอง
(5)
งานเขียนของกรัมชีเป็นการสะท้อนมุมมองของเขาที่มีต่อสภาพการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ
และสังคมในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแนวคิดการครองอำนาจนำ ที่เป็นกรอบแนวความคิดหลักในการอธิบายปรากฏการณ์ในงานวิจัยชิ้นนี้นั้น
เป็นการสะท้อนความคิดของเขาที่มีต่อแนวความคิดมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมที่เชื่อใน
"หลักเศรษฐกิจกำหนด (6)" (Economism) "หลักการกำหนดนิยมอย่างกลไก"
(Mechanical determinism) (7) ที่มองว่าปัจจัยในเรื่องเศรษฐกิจนั้นเป็นอิสระจากปัจจัยอื่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยในเชิงเจตจำนงของมนุษย์ และเป็นตัวกำหนดความเป็นไปหรือพัฒนาการของสังคมโดยอัตโนมัติ
ดังนั้นตามความคิดของกรัมชีเขาจึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของพวกมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมพวกหนึ่ง
ที่เชื่อในหลักการกำหนดนิยมโดยเศรษฐกิจอย่างเป็นกลไก ในมุมมองของกรัมชีนั้นมองว่าโครงสร้างส่วนบนอันประกอบไปด้วยพื้นที่ของระบบกฎหมาย
ความเชื่อ ศีลธรรม ปัญญา นั้นก็เป็นส่วนสำคัญต่อการกำหนดความเป็นไป หรือมีผลต่อพัฒนาการของสังคมได้
(8)
ทั้งนี้การกล่าวว่าแนวความคิดมาร์กซิสต์เป็นความคิดแบบเศรษฐกิจกำหนด (Economic Determinism/Economism) โดยนักวิชาการส่วนใหญ่นั้น เป็นการกล่าวหาแนวคิดมาร์กซิสต์ที่เกินเลยและเหมารวมเกินไป ในความเป็นจริงแล้วนักคิดมาร์กซิสต์ที่เชื่อในหลักเศรษฐกิจกำหนดนั้นเป็นเพียงบางพวกเท่านั้น เช่น เคาท์สกี้ (9) และเบอร์นสไตน์ (10) นักคิดพวกนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจนั้นจะพัฒนาไปเองโดยอัตโนมัติ โดยมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป (Gradualism) ไม่ใช่ลักษณะของการปฏิวัติ
แต่นักมาร์กซิสต์อีกส่วน
อาทิ เลนิน, เหมา เจ๋อ ตุง, เช กูวารา, และฟิเดล คาสโตร นั้นไม่ได้เป็นพวกเศรษฐกิจกำหนด
เพราะเขาเหล่านี้พยายามที่จะปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เหตุผลหนึ่งของการพยายามเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ก็เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ก็เพราะความเข้าใจในเรื่องของวัตถุนิยมวิภาษวิธี
(Dialectical Materialism) ที่จิตก็มีพลังในการเปลี่ยนแปลงวัตถุได้ด้วย ทั้งนี้เลนินเองก็เคยกล่าวไว้ชัดเจนว่า
"จิตสำนึกของมนุษย์นั้นไม่เพียงแต่สะท้อนภาพของโลกในทางวัตถุเท่านั้น แต่ยังสามารถสรรสร้างสรรพสิ่งได้อีกด้วย"
(11) ซึ่งอาจสรุปได้ว่าวิภาษวิธีในบริบทนี้อาจเข้าใจได้ว่าเป็น Creative Reflection
(12) (การสะท้อนภาพปัญหาโดยสร้างสรรค์วิธีเพื่อแก้ปัญหาด้วย) นอกจากนี้ตัวอย่างงานที่กล่าวยืนยันได้ว่ามาร์กซ์นั้นไม่ได้เป็นผู้ที่เชื่อในเศรษฐกิจกำหนดอย่างกลไก
สามารถดูเพิ่มเติมได้ในงานของ Richard W. Miller (13) เป็นต้น
ความคิดเรื่องการครองอำนาจนำของกรัมชีได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง "อุดมการณ์"
(Ideology) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องของ
"โครงสร้างสังคมส่วนล่าง และสังคมส่วนบน" (Base/Super Structure) โดยที่กรัมชีได้เน้นให้ความสำคัญกับบทบาทของโครงสร้างส่วนบน
และได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง "สังคมสองแบบ" ภายในโครงสร้างส่วนบนว่า
ประกอบไปด้วย
- สังคมแรก คือ "รัฐ / สังคมการเมือง" (Political Society) ซึ่งได้แก่รัฐ และองค์กรการใช้อำนาจต่างๆ รัฐ และอีกสังคมหนึ่งคือ
- "ประชาสังคม" (14) (Civil Society) ซึ่งได้แก่ ส่วนที่เป็นเอกชน หรือส่วนอื่นๆ ที่เป็นองค์กรนอกอำนาจรัฐ
กรัมชี อธิบายว่าขณะที่ สังคมการเมือง ดำเนินการสร้างและสืบทอด "อำนาจครอบงำ" (Domination)โดยชนชั้นปกครอง ผู้ยึดกุมอำนาจรัฐและมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย (Legislation) และมีอำนาจบังคับรองรับ (Coercion) อยู่ด้วย แต่ในประชาสังคมนั้นจะมีการดำเนินการเพื่อสร้างและสืบทอด/รักษาการครองอำนาจนำ โดยอาศัยวิธีการที่แตกต่างไปจากสังคมการเมือง โดยใช้วิธีการสร้าง ความยินยอมพร้อมใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน โดยที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับ หรือ เป็น"การยินยอมพร้อมใจโดยธรรมชาติ" (15) (Spontaneously Consensus)
ในประชาสังคมนี้ การใช้อำนาจเพื่อครอบงำกลุ่มบุคคลหรือชนชั้นอื่นนั้น จะแตกต่างจากสังคมการเมือง นั่นคือ ในประชาสังคมจะเป็นการใช้อำนาจนำโดยไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรง แต่จะเป็นการครองอำนาจนำในเชิงพื้นที่ (Realm) หรือความคิดในการผลิตทางเศรษฐกิจ และการดำรงชีวิต โดยผ่านทางเครื่องมือหรือกลไกชนิดต่างๆ. ในแง่นี้โลกทัศน์ของผู้คนในประชาสังคมจะถูก "ครองอำนาจนำ" ทางความคิด ความเชื่อ ทัศนคติโดยกลุ่มผู้ปกครอง และโลกทัศน์ที่ถูกครอบงำจะกลายไปเป็น "วัฒนธรรมร่วมของผู้คน" (Popular Culture) และแทรกซึมไปทั่วทั้งประชาสังคม
การสร้างภาวะการครองอำนาจนำนี้จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบไม่ได้ ถ้ากลุ่มผู้ปกครอง หรือชนชั้นปกครองจะมุ่งหวังยึดครองแต่เพียงอำนาจรัฐ แต่เพียงอย่างเดียว โดยปราศจากการครองอำนาจนำเหนือระบบความคิด หรืออุดมการณ์ เหนือสังคมส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้"กลุ่มผู้ดำเนินการสร้างภาวะครองอำนาจนำ" (Hegemon) (16) นั้นจะต้องพยายาม (Attempt) ที่จะสร้างแนวร่วม และแปรสภาพ (Transform) อุดมการณ์ของพันธมิตร (Alliance) จากกลุ่มหรือชนชั้นต่างๆ รวมถึงกลุ่มที่เป็นอริ (Rival) ให้เป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ การสร้างแนวร่วมพันธมิตรระหว่างกลุ่มพลังหรือชนชั้นต่างๆ นี้เรียกว่า การสร้าง"กลุ่มประวัติศาสตร์" (17) (Historical Bloc) ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเป็นเอกภาพระหว่างผู้ครองอำนาจนำกับผู้ถูกนำ ให้เกิดขึ้นโดยที่ความรู้สึก (Feelings) ของประชาชนผู้ถูกนำ/ถูกปกครองนั้น ถูกครอบครองความคิดโดยสมบูรณ์ตามความต้องการของชนชั้น หรือกลุ่มผู้ดำเนินการสร้างภาวะครองอำนาจนำ
แนวความคิดเรื่อง การครองอำนาจนำนี้นอกจากจะมีการนำมาใช้โดยกรัมชี และนักวิชาการสายมาร์กซิสต์ใหม่ (Neo-Marxism) (18) ที่ศึกษากรัมชี (19) แล้วยังพบว่าได้มีการนำไปใช้ในอีกแขนงหนึ่งของการศึกษาทางรัฐศาสตร์ นั่นคือมีการนำแนวคิดเรื่องการครองอำนาจนำไปใช้ในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ ด้วยนั่นเอง
การครองอำนาจนำในแง่มุมของการศึกษาทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั้นได้ถูกนำมาใช้เป็นกรอบความคิดในการวิเคราะห์การกำหนดนโยบายต่างประเทศ และการดำเนินการทางการทูตทั้งในด้านต่างๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการทหาร ของประเทศมหาอำนาจที่มีต่อตัวแสดงต่างๆ ในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีการเมืองโลก โดยเฉพาะในยุคสมัยหลังสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาก้าวสู่การเป็นขั้วอำนาจเดียวหลัก เพียงขั้วเดียว (20)
ดังนั้น ความหมายโดยสรุปของคำว่า "การครองอำนาจนำ" (Hegemony) ที่ใช้ในงานวิจัยชิ้นนี้คือ การใช้อำนาจของกลุ่ม / ชนชั้นใดๆ เพื่อสร้างภาวะการครอบครองความคิด และมีอำนาจนำเหนือกลุ่ม / ชนชั้นอื่นๆ ในสังคม โดยที่การใช้อำนาจดังกล่าวนั้นปราศจากการใช้ความรุนแรง หรือการบังคับในเชิงกายภาพ แต่เป็นการใช้อำนาจผ่านทางกลไกชนิดต่างๆ เพื่อครอบครองความคิด โน้มน้าว และทำให้เกิดการยอมรับ เพื่อก่อให้เกิดขึ้นซึ่งความยินยอมพร้อมใจและได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพลังทางสังคมและชนชั้นต่างๆ โดยที่ผู้คนในกลุ่ม/ชนชั้นที่ถูกกระทำนั้นไม่ทราบ หรือไม่สามารถตระหนักได้ว่าตนได้ถูกครอบครองความคิดไปแล้ว
การดำเนินการเพื่อสร้างภาวะการครองอำนาจนำให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัตินั้น ต้องอาศัยกลไกต่างๆ เพื่อปฏิบัติการ เช่น การใช้สื่อ และสถาบันต่าง หรือสิ่งใดๆ ก็ตามที่สามารถนำมาใช้เพื่อโน้มน้าวชักจูงและครอบงำทางความคิดได้ ทั้งนี้กลไกต่างๆ นี้จะถูกกลุ่ม/ชนชั้นที่ต้องการครองอำนาจนำ นำมาใช้ในพื้นที่ทางสังคมที่เรียกว่า "ประชาสังคม" ควบคู่กันไปกับการใช้อำนาจบังคับในสังคมการเมือง เพื่อให้สามารถสร้างภาวะการครองอำนาจนำได้อย่างเบ็ดเสร็จ
จากความหมายที่ดังที่ได้นำเสนอข้างต้น สามารถสังเคราะห์แนวคิดที่จัดเป็นองค์ประกอบหลักของการครองอำนาจนำได้ 5 ประการด้วยกันได้แก่
1) แนวความคิดเรื่องโครงสร้างส่วนล่างและโครงสร้างส่วนบน กับกลุ่มประวัติศาสตร์
2) แนวความคิดเรื่องประชาสังคม และสังคมการเมือง กับความยินยอมพร้อมใจ และการใช้อำนาจบังคับ
3) แนวความคิดเรื่องสงครามขับเคลื่อน และสงครามยึดพื้นที่ทางความคิด
4) กลไกการครองอำนาจนำ และกลไกการใช้อำนาจรัฐ และ
5) การโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำ ซึ่งจะได้ทำการอธิบายในส่วนต่อไป
โครงสร้างของการครองอำนาจนำ:
แนวความคิดองค์ประกอบของการครองอำนาจนำ
โครงสร้างของแนวคิดเรื่องการครองอำนาจนำ (Hegemony) นั้น ผู้เขียนสามารถสังเคราะห์แนวความคิดองค์ประกอบซึ่งสำคัญต่อการทำความเข้าใจ
"กระบวนการ" สร้างภาวะการครองอำนาจนำทั้งหมด ได้เป็น 5 หัวข้อด้วยกันได้แก่
1) แนวความคิดเรื่องโครงสร้างส่วนล่างและโครงสร้างส่วนบน (Super/Base Structure)
กับกลุ่มประวัติศาสตร์ (Historic Bloc) 2) แนวความคิดเรื่องประชาสังคม และสังคมการเมือง
(Civil and Political Society) กับความยินยอมพร้อมใจ และการใช้อำนาจบังคับ (Consent
and Coercion) 3) สงครามขับเคลื่อน และสงครามจุดยืน (War of Movement and War
of Position) 4) กลไกการครองอำนาจนำ และกลไกการใช้อำนาจรัฐ(Hegemonic Apparatuses
and State Apparatuses) และ 5) การโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำ (Counter Hegemony)
ตามลำดับ
1) แนวความคิดเรื่องโครงสร้างส่วนล่าง
และโครงสร้างส่วนบน (Super/Base Structure) กับกลุ่มประวัติศาสตร์ (Historic
Bloc)
สำนักคิดมาร์กซิสต์มีแก่นความคิดหลักที่สำคัญ ได้แก่ (21)
- หลักการวัตถุนิยมวิภาษวิธี (Dialectical Materialism)
- หลักเศรษฐกิจกำหนด (Economic Determinism) และ
- มุมมองด้านสังคมชนชั้น (Social Class)
หลักวิภาษวิธี
เมื่อกล่าวถึงหลักการวิภาษวิธี (Dialectic) นั้นเป็นหลักการที่มาร์กซ์เองได้รับอิทธิพลมาจากเฮเกล
(22) โดยมีแนวคิดหลักว่า ในสภาวะหนึ่ง หรือช่วงเวลาหนึ่งของสังคมใดๆ ก็ตาม สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนั้นเราเรียกว่า
"ข้อเสนอ/บทเสนอ" (Thesis) เมื่อบทเสนอดำรงอยู่ต่อไปในระยะเวลาหนึ่ง
จะเกิดสิ่งอื่น หรือข้อเสนออื่นขึ้นมาโต้แย้งข้อเสนอ/บทเสนอเก่า ซึ่งเรียกว่า
"ข้อแย้ง/บทแย้ง" (Anti thesis) จากการโต้แย้งของบทแย้งจะนำไปสู่การผสานหลักการ
และเหตุผลที่ลงตัวและนำไปสู่ "ข้อสรุป/บทสรุป" (Synthesis) ในที่สุด
และข้อสรุป/บทสรุปที่ดำรงอยู่นี้จะกลับไปสู่กระบวนการแรกของวงจร "วิภาษวิธี"
นั่นคือ บทสรุป/ข้อสรุปหนึ่งๆ นั้นก็จะมีสถานะเป็น "ข้อเสนอ/บทเสนอ"
ไป และวนเวียนเป็นวัฏจักรเมื่อต้องเผชิญกับข้อโต้แย้ง และหาจุดลงตัว ผสานเป็นข้อสรุป
เช่นนี้เรื่อยไป. หลักการวิภาษวิธีดังกล่าวนี้เป็นหลักการที่ใช้อธิบายสรรพสิ่งโดยยึดหลัก
"การเปลี่ยนแปลง" ซึ่งหมายความว่าทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง และมีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา
หลักเศรษฐกิจกำหนด
หลักการอีกประการหนึ่งของสำนักคิดแนวมาร์กซิสต์ (23) คือหลักเศรษฐกิจกำหนด (Economic
Determinism/Economism) แนวคิดนี้ตั้งอยู่บนฐานของการมองโครงสร้างสังคม (Social
Structure) โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือโครงสร้างส่วนบน (Super Structure)
และโครงสร้างส่วนล่าง (Sub Structure)
- โดยที่โครงสร้างส่วนบนนั้นได้แก่ ปรัชญา ระบบกฎหมาย สถาบันทางการเมือง ระบบการศึกษา วัฒนธรรม ศาสนา เป็นต้น
- ส่วนโครงสร้างส่วนล่าง นั้นประกอบไปด้วย 1) พลังในการผลิต (Productive Force) ซึ่งมีที่มาจากพลังแรงงานและปัจจัยการผลิตต่างๆ อาทิ เครื่องจักร โรงงาน เป็นต้น และ 2)ความสัมพันธ์ทางการผลิต (Relation of Production) หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองผู้สามารถครอบครองพลังในการผลิต ที่มีต่อชนชั้นอื่นๆ ความสัมพันธ์เช่นนี้มีหลายลักษณะ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการ กับแรงงานเป็นต้น
หลักสำคัญของแนวคิดเรื่องหลักเศรษฐกิจกำหนดของสำนักมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมก็คือ การมองว่าในการเปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการหรือพัฒนาการของสังคมใดๆ ก็ตามจะถูกกำหนดโดย "โครงสร้างส่วนล่าง" และการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างส่วนล่างจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างส่วนบน นั่นหมายความว่าเป็นการให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ หรือการผลิตเป็นหลักในการเปลี่ยนแปลงสังคม หรืออาจกล่าวได้ว่าถ้าชนชั้นใดจะสามารถปกครองชนชั้นอื่นได้ ก็จะต้องยึดโครงสร้างส่วนล่างให้ได้นั่นเอง
มุมมองด้านสังคมชนชั้น
หลักการสำคัญอีกประการของแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ คือ มุมมองด้านสังคมชนชั้น (Social
Class) เกี่ยวกับเรื่องนี้ Roskin (24) เห็นว่าเรื่องชนชั้นทางสังคมนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งตามแนวคิดแบบมาร์กซิสต์
โดยมาร์กซ์มองว่าในสังคมทุกสังคมนั้นได้ถูกแบ่งเป็น 2 ชนชั้น ชนชั้นหนึ่ง คือชนชั้นขนาดเล็กของคนจำนวนน้อยที่เป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิต
และอีกชนชั้นหนึ่ง คือชนชั้นขนาดใหญ่ของประชากรส่วนใหญ่ที่ต้องทำงานเพื่อชนชั้นขนาดเล็ก
สังคมแต่ละสังคมได้ดำเนินไปภายใต้การบงการของชนชั้นที่เหนือกว่า ซึ่งเป็นชนชั้นผู้จัดตั้งกฎหมาย
ศิลปะ และการออกแบบโดยมีความต้องการรักษาไว้ซึ่งอำนาจของชนชั้นของตน
แนวคิดเรื่องชนชั้นในสังคมนี้มาร์กซ์และเองเกล เพื่อนของเขาได้อธิบายไว้ใน "The Communist Manifesto" (25) โดยได้อธิบายว่า ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างชนชั้นเรื่อยมา โดยชนชั้นหนึ่งกดขี่รีดนาทาเร้นอีกชนชั้นหนึ่ง โดยสาเหตุที่ชนชั้นหนึ่งสามารถขูดรีดอีกชนชั้นหนึ่งได้นั้นก็เนื่องจากเรื่องทางเศรษฐกิจนั่นเอง ชนชั้นใดเป็นผู้ควบคุมปัจจัยการผลิตชนชั้นนั้น ก็จะเป็นชนชั้นที่มีอำนาจในสังคม
แนวคิดเรื่องหลักการวัตถุนิยมวิภาษวิธี, หลักเศรษฐกิจกำหนด, และชนชั้นทางสังคม, ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ได้ถูกนำมาใช้ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์โดยสำนักคิดมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิม ซึ่งในการอธิบายดังกล่าวนี้ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานเรื่อง "เศรษฐกิจ"หรือโครงสร้างส่วนล่างเป็นหลัก โดยความขัดแย้งระหว่างชนชั้นในสังคมนั้นได้เกิดขึ้นเพราะปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ อันทำให้เกิดการปฏิวัติ/ต่อสู้เพื่อล้มล้างชนชั้นที่เอาเปรียบ และเปลี่ยนแปลงรูปแบบสังคมไปนับจากสังคมดั้งเดิม ไปจนถึงสังคมสุดท้ายคือสังคมคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นสังคมที่ไม่มีชนชั้น ไม่มีการเอาเปรียบกัน และไม่มีปัญหาในทางเศรษฐกิจอีกต่อไป (26). แนวคิด/แนวการศึกษาแบบมาร์กซิสต์ เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจ และเป็นการมองหรือให้ความสนใจกับเหตุการณ์แบบวัตถุนิยม (Materialism) กล่าวคือให้ความสนใจในเรื่องของการทำมาหากิน การดิ้นรนเพื่อมีกิน เพื่อดำรงชีวิตอยู่ หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ วัตถุนิยมนั้น เป็นการมองว่าสิ่งของ วัตถุต่างๆ เป็นตัวกำหนดความคิด และมีอิทธิพลเหนือการเมือง ศาสนา วัฒนธรรม และทุกสิ่งในสังคม (27)
การนำปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธีมาใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคม (28) นี้เรียกว่า "วัตถุนิยมประวัติศาสตร์" (Historical Materialism) (29) ซึ่งเป็นการมองว่าประวัติศาสตร์นั้นถูกสร้างโดยมนุษย์เอง มิใช่โดยธรรมชาติหรือโดยประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใด (30). การที่ได้กล่าวถึงหลักการสำคัญ หรือแนวคิดหลักของสำนักคิดแบบมาร์กซิสต์ ดังที่อธิบายมาข้างต้นนี้เพื่อเป็นการชี้ให้เห็นว่า แนวความคิดแบบมาร์กซิสต์นั้นให้ความสำคัญอย่างมากกับ "โครงสร้างส่วนล่าง" ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งหมด
กรัมชี: กับให้ความสำคัญของโครงสร้างส่วนบน
ดังนั้นความสำคัญของกรัมชี ก็คือ เขาเป็นนักคิดมาร์กซิสต์คนแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างส่วนบน
(Super-Structure) ซึ่งต่างออกไปจากแนวคิดของนักมาร์กซิสต์ดั้งเดิมบางจำพวก (31)
ที่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างส่วนล่างในฐานะที่เป็นโครงสร้างหลักในการกำหนดโครงสร้างส่วนบนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
และอาจกล่าวได้ว่าเขาเองเป็นคนที่กลับมาเน้นย้ำ (Re-emphasis)ในมิติทางด้านการเมือง
และความสำคัญของการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ของแนวความคิดมาร์กซิสต์ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่สังคมนิยม
(32)
สำหรับกรัมชี โครงสร้างส่วนบนนั้นเป็นโครงสร้างสังคมที่มีความสำคัญ
และสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือส่งผลต่อสังคมในส่วนรวมได้เช่นเดียวกันกับโครงสร้างส่วนล่าง
หรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (33) โครงสร้างส่วนบนนี้ประกอบด้วยส่วนที่เรียกว่า
"สังคมการเมือง" และ"ประชาสังคม" ซึ่งเป็นโครงสร้างของระบบความคิด
ความเชื่อ อุดมการณ์ กฎหมาย วัฒนธรรม และอื่นๆ ที่ไม่ใช่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
พื้นที่ในโครงสร้างส่วนบนตามแนวคิดของกรัมชี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ประชาสังคม
นั้นเป็นพื้นที่ของการสร้างความยินยอม และสามัญสำนึก(Common Sense) หรือมีมุมมอง/โลกทัศน์ต่อปรากฏการณ์ตามที่ถูกชนชั้นปกครอง
หรือกลุ่มผู้พยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำพยายามสร้างหรือกำหนดไปในทิศทางเดียวกัน.
ดังนั้นการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากทิศทางของโครงสร้างส่วนบนนี้จึงเป็นสิ่งที่ก้าวไปไกลกว่าการมองเพียงแค่ความสัมพันธ์
และพลังในการผลิตเท่านั้น ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่มุมมองในการอธิบายปรากฏการณ์ให้กว้างขวางออกไป
ภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจส่วนล่าง และโครงสร้างทางอุดมการณ์ส่วนบนนั้นต่างก็ประกอบไปด้วยกลุ่มทางสังคมกลุ่มต่างๆ
ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันแตกต่างกันไป อาทิ กลุ่มที่อยู่ภายในสังคมส่วนล่างนั้นก็มีความสัมพันธ์ในการผลิต
และการบริโภคในทางเศรษฐกิจต่อกัน, ส่วนกลุ่มที่อยู่ในโครงสร้างสังคมส่วนบนในพื้นที่ประชาสังคมนั้นก็จะมีความสัมพันธ์กันในเชิงอุดมการณ์
ระบบความคิด และความเชื่อ ขณะที่ภายในพื้นที่สังคมการเมืองนั้นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มก็จะเป็นความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ
และการใช้อำนาจบังคับต่อกัน
กรัมชี: แนวคิดเรื่อง"กลุ่มประวัติศาสตร์"
กรัมชีได้เสนอแนวคิดเรื่อง กลุ่มประวัติศาสตร์ (Historic Bloc) (34) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม
เพื่อใช้แทนแนวคิดเศรษฐกิจกำหนดแบบกลไกของสำนักคิดแบบมาร์กซิสต์ดั้งเดิม (35)
แนวคิดดังกล่าวเป็นการอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relation)
ระหว่างชนชั้นและกลุ่มพลังต่างๆที่อยู่ภายในโครงสร้างของสังคม โดยอธิบายว่าในสังคมทุนนิยมนั้น
ชนชั้นนายทุน (Bourgeoisie) จะพยายามครองอำนาจนำให้เกิดในพื้นที่ของความสัมพันธ์ในการผลิต
(Sphere of Production) ซึ่งการครองอำนาจนำในพื้นที่นี้แต่เพียงพื้นที่เดียว
จะไม่เกิดการครองอำนาจนำที่สมบูรณ์ (Absolute) ดังจะเห็นได้ว่ามีการพยายามท้าทายชนชั้นนายทุนจากกลุ่มชนชั้นแรงงาน
เช่น จากสหภาพแรงงานอยู่เนืองๆ การสร้างภาวะการครองอำนาจนำที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้น
จึงเป็นการสร้างแนวร่วมพันธมิตร (Alliance) ระหว่างกลุ่มพลัง หรือชนชั้นต่างๆ
เหนือพื้นที่ทางสังคมที่กว้างกว่ามิติเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น
การแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างพื้นที่ภายใต้ "โครงสร้างสังคมส่วนล่างที่เป็นความสัมพันธ์เชิงการผลิต" กับ "โครงสร้างสังคมส่วนบนที่เป็นความสัมพันธ์เชิงอุดมการณ์ และอำนาจ" โดยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและโลกแบบวัตถุนิยมแต่เพียงอย่างเดียวนั้น จึงไม่เป็นการเพียงพอสำหรับการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่มีความซับซ้อนมากกว่าปัจจัยในเชิงวัตถุ เนื่องจากในสังคมนั้นยังมีพื้นที่การเมือง, อุดมการณ์, และความคิดจิตใจอยู่ด้วย (36)
ดังนั้นความคิดเรื่องกลุ่มประวัติศาสตร์สำหรับกรัมชี จึงถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายถึงการสร้างภาวะการครองอำนาจอย่างสมบูรณ์ด้วยการยึดครองโครงสร้างทางสังคมทั้งสองส่วน
- ส่วนแรกคือการยึดครองโครงสร้างส่วนล่าง(Sub structure) ที่ให้ความสำคัญกับปรัชญาวัตถุนิยมโดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ เป็นหลัก
- ขณะที่โครงสร้างสังคมอีกส่วนหนึ่งคือ โครงสร้างส่วนบน(Super structure) ที่เป็นพื้นที่ของปัจจัยในเชิงอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนวัฒนธรรม และศาสนา
หากสามารถผนวกการครองอำนาจนำ เหนือความสัมพันธ์ทางสังคมในพื้นที่ทั้งสองของโครงสร้างสังคมใดๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ได้นั้น เรียกว่าการสร้าง"กลุ่มประวัติศาสตร์"ให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างภาวะการครองอำนาจนำได้อย่างสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นเหนือสังคมนั้นๆ นั่นเอง
ตัวอย่างของกรณี การพยายามสร้างกลุ่มประวัติศาสตร์ที่พอสังเกตเห็นได้ในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยโดยเฉพาะในยุคของรัฐบาลทักษิณ
คือความพยายามในการให้ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมผ่านทางนโยบายประชานิยมชนิดต่างๆ
ซึ่งเป็นการยึดกุมพื้นที่โครงสร้างสังคมส่วนล่าง ขณะเดียวกันในโครงสร้างสังคมส่วนบนก็ยังมีมิติที่กว้างไปกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ดังเห็นได้ว่ามีการสร้างพันธมิตร (37) ระหว่างชนชั้น และกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยระหว่างรัฐบาลทักษิณ
ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนสื่อสารโทรคมนาคมขนาดใหญ่ กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่อื่นๆ
อาทิ กลุ่มทุนอุตสาหกรรมของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นต้น รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับกลุ่มคนเดือนตุลา
ซึ่งเปรียบได้กับการสร้างพันธมิตรระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกลางที่ได้รับการยอมรับจากชนชั้นล่างจำนวนมาก
อาทิ การดึงนายภูมิธรรม เวชยชัย มาเข้าร่วมมีบทบาทภายในพรรคไทยรักไทย เป็นต้น
อีกทั้งยังได้มีการพยายามที่จะเป็นพันธมิตรกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในระยะแรกของการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยอีกด้วย
(38)
2) แนวความคิดเรื่องประชาสังคมและสังคมการเมือง (Civil
and Political Society)
กับความยินยอมพร้อมใจและการใช้อำนาจบังคับ (Consent and Coercion)
สังคมการเมือง และประชาสังคม (39) ตามแนวความคิดของกรัมชีนี้จัดเป็นพื้นที่หนึ่งของโครงสร้างสังคมส่วนบน
ซึ่งเป็นพื้นที่ของความสัมพันธ์ในเชิงระบบความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ กฎหมาย
ศิลปะ วัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่ความสัมพันธ์ทางการผลิตหรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจในสังคมส่วนล่าง
แนวความคิดเรื่องประชาสังคม (Civil Society) นี้ กรัมชีได้นำมาจากความคิดของเฮเกล (Hegel)(40) ซึ่งตามแนวคิดของเฮเกลนั้นมองประชาสังคมว่า มีลักษณะของความสัมพันธ์ และความร่วมมือของเอกชนในลักษณะต่างๆ เช่น ในเชิงธุรกิจการค้า (Commercial) ในเชิงของการรวมตัวเป็นสมาคมต่างๆ รวมทั้งสมาคมการค้า (Trade association) เป็นต้น ขณะที่กรัมชี ได้นำแนวคิดของเฮเกลมาปรับใช้ โดยมองว่า ประชาสังคมนั้นมีลักษณะของการเป็นโครงสร้างสังคมส่วนบนที่มีความสำคัญในเชิงอุดมการณ์ หรือระบบความคิด ความเชื่อ ผ่านทางตัวการที่เป็นสถาบัน และกลไกการครองอำนาจนำต่างๆ เพื่อสร้างและสืบทอด / ส่งต่อ ความคิด ความเชื่อชุดต่างๆ ให้แพร่กระจายทั่วไปในสังคม
สถาบันในพื้นที่ประชาสังคม ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างและส่งต่อชุดความคิด ความเชื่อตามที่กลุ่ม/ชนชั้นผู้พยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำต้องการนั้น ประกอบไปด้วยสถาบันต่างๆ ในสังคมที่เป็นแหล่งรวมของความสัมพันธ์ของผู้คน ได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน เป็นต้น. สถาบันดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการสร้าง ชุดอุดมการณ์หนึ่งๆ ขึ้นมา ตามความต้องการของกลุ่ม/ชนชั้นที่พยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำ และทำหน้าที่ส่งต่อ สืบทอด แพร่กระจาย อุดมการณ์ดังกล่าวด้วยในขณะเดียวกัน
การทำหน้าที่เพื่อสร้างและส่งต่ออุดมการณ์ดังกล่าวของสถาบันต่างๆ ในประชาสังคมนั้น จะมีลักษณะเด่นที่สำคัญคือ ปราศจากการใช้อำนาจบังคับ (Coercion) และการใช้กำลังบังคับในเชิงกายภาพ หากแต่เป็นการใช้อำนาจในลักษณะของการชักจูง โน้มนำ หรือกล่อมเกลาความรู้ ความคิดของผู้คนเป็นหลัก เพื่อก่อให้เกิดซึ่งความยินยอมพร้อมใจ (Consent) ของคนในสังคม และก่อให้เกิดโลกทัศน์ที่เป็นแบบเดียวกัน ตามความต้องการของกลุ่ม/ชนชั้นผู้พยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำ
ส่วนสังคมการเมือง (Political Society) นั้น มีลักษณะที่แตกต่างไปจากประชาสังคม กล่าวคือ ในขณะที่ความสัมพันธ์ของผู้คนผ่านสถาบันต่างๆ ในประชาสังคมนั้นเป็นลักษณะของการปราศจากอำนาจบังคับ แต่ความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมการเมืองจะเป็นลักษณะของการใช้อำนาจบังคับ ผ่านทางกลไกการใช้อำนาจบังคับต่างๆ อาทิ การใช้กำลังของกองทัพ การบังคับใช้กฎหมายฉบับต่างๆ ดังนั้นสถาบันหลักในสังคมการเมืองนี้จึงประกอบไปด้วย สถาบันศาล กองทัพตำรวจ รัฐบาล เป็นต้น
การทำหน้าที่ของสถาบันต่างๆ ในสังคมการเมืองนั้น อาศัยการใช้อำนาจบังคับ (Coercion) เป็นหลักเพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบงำ (Dominant) ตามความต้องการของกลุ่ม/ชนชั้นผู้พยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำเหนือชนชั้นอื่นๆ ในสังคม ซึ่งตามแนวความคิดของกรัมชี การใช้อำนาจครอบงำด้วยการใช้อำนาจบังคับในพื้นที่สังคมการเมือง สามารถกระทำเพื่อหวังผลสำเร็จในระยะสั้นได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่ในระยะยาวนั้นการใช้อำนาจบังคับแต่เพียงอย่างเดียว จะทำให้กลุ่ม/ชนชั้นปกครองดังกล่าวมีอำนาจเหนือชนชั้นอื่นได้ไม่ยั่งยืน
ดังนั้นกรัมชีจึงได้เสนอว่า กลุ่ม/ชนชั้นปกครอง ผู้ต้องการสร้างภาวะการครองอำนาจนำให้เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์เหนือสังคมใดๆ จะต้องพยายามยึดกุมพื้นที่เหนือ "ประชาสังคม" ให้สำเร็จก่อน ด้วยการใช้กลไกการครองอำนาจนำต่างๆ เพื่อสร้างความยินยอมพร้อมใจ (Consent) ให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งแม้จะต้องใช้เวลานานกว่าการใช้อำนาจหรือกำลังบังคับ แต่ก็จำเป็นต้องยึดประชาสังคมให้ได้ ส่วนการใช้อำนาจบังคับนั้นให้มีการใช้ควบคู่กันไปตามสมควร
3) สงครามขับเคลื่อน และสงครามยึดพื้นที่ทางความคิด
(War of Movement and War of Position)
ในการดำเนินการเพื่อสร้างภาวะการครองอำนาจนำให้เกิดขึ้นนั้น กรัมชีได้เปรียบดังเช่นการทำสงคราม
แนวคิดเรื่องสงครามขับเคลื่อน (War of Movement) และสงครามยึดพื้นที่ทางความคิด(War
of Position) (41) จึงได้ถูกนำมาใช้โดยอธิบายว่า การทำสงครามขับเคลื่อนนั้นเป็นการทำสงครามในทางยุทธวิธีทางการทหาร
การที่จะสามารถเอาชนะฝ่ายศัตรู หรือฝ่ายตรงข้ามได้ จะต้องทำการบุกเพื่อยึดครองปัจจัยสำคัญของฝ่ายตรงข้ามให้ได้
อาทิ การยึดเมืองหลวง หรือสถานที่สำคัญเป็นต้น. แต่ในการดำเนินการเพื่อสร้างภาวะการครองอำนาจนำให้เกิดขึ้นเหนือชนชั้นอื่นๆ
ชนชั้นผู้พยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำจะต้องดำเนินการต่อสู้เพื่อยึดกุม "พื้นที่เชิงอุดมการณ์
ความคิด ความเชื่อ" ของผู้คนใน "ประชาสังคม" ให้ได้
การดำเนินการช่วงชิง หรือยึดกุมความคิด ความเชื่อของคนในพื้นที่ประชาสังคมนี้ กรัมชีเรียกว่า เป็น "การทำสงครามยึดพื้นที่ทางความคิด" ถ้าสามารถเอาชนะสงครามนี้เหนือพื้นที่ประชาสังคมได้สำเร็จ การสร้างภาวะการครองอำนาจนำก็จะสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์ และยั่งยืนสืบไป
4) กลไกการครองอำนาจนำ
และกลไกการใช้อำนาจรัฐ (Hegemonic Apparatuses and State Apparatuses)
แนวคิดเรื่อง"กลไกการครองอำนาจนำ"และ"กลไกการใช้อำนาจรัฐ หรือกลไกรัฐ"
นับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการสร้างภาวะการครองอำนาจนำให้เกิดขึ้น
ตามเป้าหมายของกลุ่ม/ชนชั้นผู้พยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำ
แนวคิดเรื่องกลไกการครองอำนาจนำ เปรียบได้กับการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อถ่ายทอดอุดมการณ์ หรือระบบความคิด ความรู้ ความเชื่อ ค่านิยมชุดหนึ่งๆ ตามที่กลุ่มผู้พยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำต้องการ เพื่อสื่อไปถึงประชาชนในชนชั้นต่างๆ เหนือพื้นที่ประชาสังคม เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมในการเห็นพ้องและยินยอมที่จะปฏิบัติตาม (Consent) ความต้องการของชนชั้นผู้ถ่ายทอดอุดมการณ์ นอกจากนี้กลไกการครองอำนาจนำยังทำหน้าที่รวมไปถึงการสร้างจิตสำนึก (Conscious) ให้ชนชั้นผู้ถูกครอบงำมีความรู้สึกว่าผลประโยชน์ของชนชั้นตนนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากชนชั้นปกครองหรือชนชั้นผู้พยายามครองอำนาจนำ โดยที่ชนชั้นผู้ถูกครอบงำไม่รู้สึก หรือไม่สามารถสำนึกได้ว่าชนชั้นของตนนั้นถูกเอาเปรียบ หรือขูดรีดอย่างไร
กลไกการครองอำนาจนำนี้ กล่าวได้ว่าเป็นสิ่งใดก็ได้ที่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอด หรือส่งผ่านชุดความคิด (42) จากด้านของผู้พยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำไปยังผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ปัญญาชน นโยบายของพรรคการเมือง/รัฐบาล สื่อมวลชนทุกประเภท สถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา การสร้างภาพ/การจัดการภาพลักษณ์ของฝ่ายผู้พยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำ เป็นต้น
ขณะที่กลไกการใช้อำนาจรัฐนั้น
จะถูกใช้เหนือพื้นที่สังคมการเมือง โดยแตกต่างจากกลไกการครองอำนาจนำตรงที่ "กลไกรัฐ"นั้นไม่ได้เป็นกลไกที่ใช้สื่อสารเพื่อสร้างชุดของอุดมการณ์ตามที่ชนชั้นผู้พยายามครองอำนาจนำต้องการ
แต่กลไกรัฐนั้นเป็นกลไกที่ใช้อำนาจบังคับ เพื่อบังคับให้ประชาชนของชนชั้นต่างๆ
ปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติตามความต้องการของชนชั้นปกครองหรือผู้พยายามสร้างการครองอำนาจนำ
โดยที่ทุกคนในสังคมนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้. กลไกการใช้อำนาจรัฐจึงได้แก่
สิ่งใดๆ ก็ตามที่รัฐ หรือผู้ครองอำนาจนำสามารถนำมาใช้เหนือผู้คนในสังคมทุกชนชั้น
เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายต่างๆ ตามต้องการ กลไกลักษณะนี้จะอาศัยอำนาจในการบังคับ
เช่น กฎหมาย การใช้อำนาจศาล การใช้กำลังของกองทัพ และตำรวจ เป็นต้น
5) การโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำ (Counter Hegemony)
การดำเนินการสร้างภาวะการครองอำนาจนำที่ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือไม่สามารถสร้างภาวะการครองอำนาจนำเหนือพื้นที่ประชาสังคม
หรือสังคมการเมืองได้เลย หรือสามารถสร้างภาวะการครองอำนาจนำได้ในระดับหนึ่ง ด้วยการครองพื้นที่ทางสังคมพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้
หรือสามารถสร้างภาวะครองอำนาจนำได้ใกล้เคียงกับการครองอำนาจนำสมบูรณ์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้เกิดเหตุปัจจัยต่างๆ ที่บั่นทอนความชอบธรรม และลดทอนความรู้สึกยินยอมพร้อมใจของชนชั้นผู้ถูกครอบงำที่มีต่อชนชั้น/กลุ่มผู้ครองอำนาจนำ
ทำให้ในช่วงเวลาต่อมาภาวะการครองอำนาจนำนั้นถูกลดทอนลงไป กรณีทั้งหมดนั้นหมายความว่า
กลุ่มผู้ดำเนินการสร้างภาวะครองอำนาจนำ ไม่สามารถสร้างภาวะการครองอำนาจนำได้อย่างสมบูรณ์
การครองอำนาจนำสมบูรณ์ที่กลุ่มผู้ดำเนินการสร้างภาวะครองอำนาจนำ สามารถเอาชนะสงครามยึดพื้นที่ทางความคิดได้ด้วยการยึดครองเหนือพื้นที่ประชาสังคม และสังคมการเมืองนั้น ผู้คนในสังคมจะดำเนินชีวิตอย่างปกติ โดยไม่เกิดการความสงสัยหรือตั้งคำถามต่อการดำเนินการต่างๆ ของกลุ่มผู้ดำเนินการสร้างภาวะครองอำนาจนำ และไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อแสดงความคิดที่ขัดแย้งต่อความคิดหลัก หรืออุดมการณ์ตามที่กลุ่มผู้ดำเนินการสร้างภาวะครองอำนาจนำต้องการ
ในทางกลับกันถ้ากลุ่มผู้ดำเนินการสร้างภาวะครองอำนาจนำ สร้างภาวะการครองอำนาจนำสมบูรณ์ไม่สำเร็จ ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งที่ตระหนักรู้ได้ว่า ตนหรือชนชั้น/กลุ่มของตนได้ถูกดำเนินการครองอำนาจนำเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม/ชนชั้นผู้ครองอำนาจนำ กลุ่มคนที่ตระหนักรู้นี้จะได้แสดงออก หรือเผยให้เห็นถึงการดำเนินการใดๆ เพื่อเป็น "การโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำ"ของชนชั้นผู้ครองอำนาจนำ ทั้งนี้การโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำของกลุ่มคน/ชนชั้นอื่นในสังคม อาจเป็นไปเพียงเพื่อแสดงให้ผู้ครองอำนาจนำได้เห็นและรับรู้ว่าอำนาจของตนนั้นถูกท้าทาย หรือแม้การโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำ เพื่อโค่นล้มกลุ่มผู้ดำเนินการครองอำนาจเก่า และนำไปสู่การก้าวไปเป็นกลุ่มผู้ดำเนินการครองอำนาจนำกลุ่มใหม่ก็เป็นได้ (43)
ตัวอย่างของกรณี การโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำที่เห็นได้ชัดคือ (44) การโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำของระบบเสรีนิยมใหม่ระดับโลก ผ่านการดำเนินการของสถาบันระหว่างประเทศเช่น ธนาคารโลก (World Bank) หรือองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization; WTO) โดยเห็นได้จากการแสดงออกถึงการโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำจากการระดมพลการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 30 กันยายน ปี 1999 โดยผู้ประท้วงได้ทำการขัดขวางการประชุมผู้แทน WTO ที่จัดขึ้นที่เมือง ซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกา โดยการประท้วงในครั้งนี้ได้มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากโดยมีระยะเวลาการประท้วงไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 1999 ส่งผลให้การประชุมองค์กรการค้าโลกในครั้งนั้นต้องยกเลิกไป (45)
กรณีตัวอย่างของการโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำอีกกรณีหนึ่งคือ
การเคลื่อนไหวซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นที่รับรู้กันในสังคมมากขึ้น เกี่ยวกับการต่อสู้เรียกร้องเพื่อต่อต้านกับกระแสโลกาภิวัตน์นั่นก็คือ
"เวทีสมัชชาสังคมโลก" (World Social Forum; WSF) (*) ที่จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า
6 ปีแล้วนั่นเอง
(*)The first WSF was held from 25 January to 30 January 2001 in Porto Alegre,
organized by many groups involved in the alternative globalization movement,
including the French Association for the Taxation of Financial Transactions
for the Aid of Citizens (ATTAC). The WSF was sponsored, in part, by the Porto
Alegre government, led by Brazilian Worker's Party (PT). The town was experimenting
with an innovative model for the local government which combined the traditional
representative institutions with the participation of open assemblies of the
people. 12,000 people attended from around the world. At the time, Brasil
was also in a moment of transformation that later would lead to the electoral
victory of the PT candidate Luiz In?cio Lula da Silva.
(http://en.wikipedia.org/wiki/World_Social_Forum)
WSF นั้นถือกำเนิดขึ้นอันเนื่องมาจากการรวมตัวกันของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายๆ
ฝ่ายที่ได้รับความเดือดร้อน/ได้รับผลกระทบจาก กระแสโลกาภิวัตน์/ทุนนิยมเสรี/เสรีนิยมใหม่ร่วมกัน
ทั้งนี้เพราะโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาในประเทศโลกที่สาม/ประเทศซีกโลกใต้
ที่มีลักษณะร่วมกันทั่วโลก คือต้องเผชิญกับอำนาจรวมศูนย์ที่เข้มแข็งของรัฐ และทุนจากบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่
ที่เข้าไปกอบโกยทรัพยากร/ผลประโยชน์จากประเทศเหล่านั้น ทั้งนี้ต้นเหตุมาจากนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม/ทุนนิยม
ที่พยายามสร้างให้ระบบเศรษฐกิจเสรี การค้า การลงทุนที่เสรี ภายใต้การช่วยเหลือ/เอื้อประโยชน์ประเทศโลกที่หนึ่ง
จากองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น WTO, IMF, WORLD BANK, ADB เป็นต้น
ดังนั้นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน/ได้รับผลกระทบจาก กระแสโลกาภิวัตน์/ทุนนิยมเสรี/เสรีนิยมใหม่
จึงได้มีการพยายามแสวงหาหนทางร่วมกันเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้าน โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่
ในการสร้างเวทีสมัชชาสังคมโลกขึ้นมา เพื่อร่วมกันต้านโลกาภิวัตน์กระแสหลัก และเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่การประท้วงเท่านั้น
แต่ WSF นั้นจะเป็นที่เปิดที่หลายๆ ฝ่ายได้ร่วมกันคิดถึงการสร้าง โลกอีกใบ (Another
World) ที่เอื้อประโยชน์ต่อคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันได้อีกด้วย (46)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++ (คลิกไปอ่านต่อบทความต่อเนื่อง ลำดับที่ 1480)
เชิงอรรถ
(1) มีการใช้คำในภาษาไทยแทนความหมายของคำว่า "Hegemony" แตกต่างกันออกไป อาทิ "การครองความคิดจิตใจ" "การใช้อำนาจนำ" "การครองความเป็นเจ้า" และ "การครองความเป็นใหญ่" เป็นต้น ในงานวิจัยชิ้นนี้ผู้เขียนเลือกใช้คำว่า "การครองอำนาจนำ" ควบคู่กับคำว่า "ภาวะการครองอำนาจนำ" เพราะเป็นคำที่ผู้เขียนมองว่าเหมาะสมกับการนำมาใช้เป็นกรอบในการอธิบายรัฐบาลทักษิณมากที่สุด เนื่องจากคำดังกล่าวได้สื่อถึง สภาวะที่สังคมการเมืองไทยได้ประสบมาช่วงปี 2544-2548 ที่มีรัฐบาลทักษิณเป็นตัวแสดงนำ โดยมีบทบาทนำในสังคมไทยหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ได้เป็นอย่างดี
(2) David Macey, The Penguin Dictionary of Critical Theory, (London: Penguin Books, 2000), p.176. และ Iain McLean and Alistair McMillan, Oxford Concise Dictionary of Politics, 2nd ed, p.239.
(3) คำว่าการครองอำนาจนำ หรือ hegemony นั้นถูกนำมาใช้แต่แรกเริ่มโดยเปลคานอฟ (Plekhanov) และนักมาร์กซิสต์รัสเซียในช่วง คริสตวรรษที่ 1880 โดยที่เลนิน (Lenin) ได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในลักษณะของการเป็นกลยุทธ์/กลวิธีในการปฏิวัติ โดยมุ่งให้ชนชั้นแรงงานแสวงหาความร่วมมือ หรือเป็นพันธมิตรกับชนชั้นอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นชาวนาเพื่อเพื่อสร้างภาวะการนำแห่งชาติ (National leadership) ให้เกิดขึ้น ความสำคัญของกรัมชีคือ เขาเป็นผู้นำแนวคิด hegemony มาเพิ่มเติมรายละเอียด (elaborated) ทำให้แนวคิดดังกล่าวมีลักษณะของการเป็น "ปรัชญา" มากขึ้นกว่าการเป็นแค่ "กลยุทธ์" ในการปฏิวัติ โดยกรัมชีได้เพิ่มเติมมิติของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนชั้นกับพลังทางสังคมต่างๆ รวมถึงการอธิบายวิธีการในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ และการได้รับการยอมรับจากชนชั้นต่างๆอีกด้วย ดูเพิ่มเติมใน Roger Simon, Gramsci's Political Thought An Introduction, (London: Lawrence and Wishart, 1982), pp.17,18,21-23.
(4) ดูสังเขปชีวประวัติของอันโตนิโอ กรัมชี ได้ในภาคผนวก
(5) ดูเพิ่มเติมใน Quintin Hoare and Geoffrey Nowell Smith, Selections from the Prison Notebooks of Antonio Gramsci, (New York: International Publishers, 1971)
(6) คำว่า "หลักเศรษฐกิจกำหนด" นี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้โดยตัวของคาร์ล มาร์กซ์เอง แต่ผู้ที่นำคำนี้มาใช้เป็นครั้งแรกๆ คือ เลนิน ซึ่งเป็นการนำมาใช้ในเชิงกลยุทธ์ของการปฏิวัติมากกว่าจะเป็นการให้ความหมายในเชิงปรัชญา
(7) คำว่า กำหนดนิยม (Determinism) นี้เป็นคำที่ใช้สื่อความหมายแง่ลบในทางสังคมศาสตร์ เป็นการอธิบายความสัมพันธ์เชิงเหตุผลในลักษณะที่มีการกำหนดผล หรือมีคำอธิบายต่อปรากฏการณ์นั้นๆ ล่วงหน้าตายตัวอยู่แล้ว ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำนิยาม "กำหนดนิยม/นิยัตินิยม" ได้ใน เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา, "determinism นิยัตินิยม กำหนดนิยม," ใน คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย, เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา และสิริพรรณ นกสวน, บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546), หน้า 95.
(8) ดู Rupert Woodfin and Oscar Zarate, Introducing Marxism, (London: Icon Books, 2004), pp. 118-127.; David Forgacs, A Gramsci Reader Selected Writings 1916-1935, (London: Lawrence and Wishart, 1988), p.422.; Anne Showstack Sassoon, Approaches to Gramsci, p.13. และ Roger Simon, Gramsci's Political Thought An Introduction, pp. 9-20.
(9) เคาท์สกี้ (Karl Johann Kautsky) นักสังคมนิยมชาวเยอรมัน (1854-1938) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยอิสระ เขานิยมแนวความคิดของมาร์กซ์และเองเกลส์ แต่เลือกแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองโดยสันติวิธี และต่อต้านแนวทางการปฏิวัติรุนแรงของเลนิน และทรอตสกี้ เพราะเขาเป็นพวกเศรษฐกิจกำหนด (Economism) ที่เชื่อว่าในระบบทุนนิยมนั้นมีความขัดแย้งในตัวของมันเอง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องปฏิวัติเพราะระบบทุนนิยมนั้นในที่สุดแล้ว ก็จะต้องล่มสลายลงด้วยตัวของมันเอง จึงปล่อยให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปเองอย่างเป็นกลไก ดู สุรพงษ์ ชัยนาม, "ทฤษฎีการปฏิวัติสังคม," ใน เอกสารการสอนชุดวิชาปรัชญาการเมือง หน่วยที่ 8-15 (นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2548), หน้า 563 และ ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานของเขาใน http://en.wikipedia.org/wiki/Karl_Kautsky [6 เมษายน 2550]
(10) ส่วนนักคิดที่มีความคิดสุดขั้วกว่าเคาท์สกี้ก็คือ
เบอร์นสไตน์ (Edward Bernstein) ซึ่งจัดเป็นนักคิดคนสำคัญของแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย
หรือ SPD ของเยอรมันในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19
เบอร์นสไตน์นั้นได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากแนวคิดสังคมนิยมเฟเบียน ซึ่งเป็นแนวคิดสังคมนิยมที่สวนทางกันกับแนวคิดมาร์กซิสต์อย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือ แนวคิดดังกล่าวนั้นเน้นที่การปฏิรูปไม่ใช่การปฏิวัติ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างมวลชนกรรมาชีพในการขับเคลื่อน
แต่เน้นความสำคัญของชนชั้นกลางอย่างมาก และแนวคิดนี้ไม่นิยมการต่อสู้ทางชนชั้นผ่านการปฏิวัติที่รุนแรง
เพราะเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว สำหรับเบอร์นสไตน์นั้นถูกจัดเป็นนักคิดของพวกลัทธิแก้
(Revisionism) กล่าวคือการปฏิเสธความคิดแบบมาร์กซิสต์ที่ให้ความสำคัญกับการต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองของชนชั้นกรรมาชีพนั่นเอง
เบอร์นสไตน์นั้นมองว่าหนทางในการไปสู่สังคมนิยมในแบบของเขา ซึ่งให้ความสำคัญกับการประนีประนอมปรองดองกันระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชนชั้นนายทุน แทนที่การต่อสู้กันระหว่างชนชั้นนั้นดีกว่าหนทางของมาร์กซ์ เพราะเขามองว่าหนทางการต่อสู้แบบมาร์กซ์ จะพบอุปสรรคนานา และลงท้ายด้วยความล้มเหลวในที่สุด โปรดดูเพิ่มเติมใน ฮาล เดรเปอร์, สองวิญญาณของสังคมนิยม, แปลโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ และจิระยุทธ คงหิ้น [Online]. แหล่งที่มา: http://www.marxists.org/thai/archive/draper/two-souls.htm [6 พฤษภาคม 2550]; http://en.wikipedia.org/wiki/Eduard_Bernstein [6 เมษายน 2550] และ David Mclellan, Marxism after Marx, (New York: Harper and Row, 1979), pp. 20-38.
(11) ดูเพิ่มเติมใน David
Mclellan, Marxism after Marx, p. 108.
(12) คำว่า Creative
Reflection นี้เป็นคำของ รศ.สุชาย ตรีรัตน์ แห่งภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้เขียนขอขอบพระคุณ รศ.สุชาย ไว้ ณ ที่นี้ด้วย
(13) Richard W. Miller, Analyzing Marx Morality, Power and History, (New Jersey: Princeton University Press, 1984), pp. 9, 227.
(14) David Macey, The
Penguin Dictionary of Critical Theory, pp.176-177.
(15) Anne Showstack
Sassoon, "A Gramsci Dictionary," in Approaches to Gramsci, ed.
Anne Showstack Sassoon, pp.13-14.
(16) ในงานวิจัยนี้หมายถึงรัฐบาลทักษิณ
(17) Roger Simon, Gramsci's Political Thought An Introduction, pp. 26-27;
32.
(18) เป็นการจำแนกตามแนวของ Michael Haralambos, Martin Holborn and Robin Heald, Sociology Themes and Perspectives, (London: HarperCollins, 2004), pp.559-561. และ Ken Newton and Jan W. Van Deth, Foundations of Comparative Politics, (Cambridge: Cambridge University Press, 2005), p. 257.
(19) นักวิชาการที่ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดมาร์กซิสต์ในแบบของกรัมชีที่มีชื่อเสียงอาทิ Louis Althusser, Ernesto Laclau, Chantal Mouffe, Paulo Freire, Edward Said, Noam Chomsky, Judith Butler, Alain de Benoist, Cornel West เป็นต้น ดูเพิ่มเติมได้ใน Antonio Gramsci, http://en.wikipedia.org/wiki/Gramsci
(20) Iain McLean and Alistair McMillan, Oxford Concise Dictionary of Politics, 2nd ed, p.240. และ David Robertson, The Routledge Dictionary of Politics, 3rd ed, pp. 222-223.
(21) Michael G. Roskin et. al., Political Science : An introduction, 6th ed. (New Jersey : Prentice Hall, 1997), pp.23-25.
(22) ปรัชญาวิภาษวิธี (Dialectic) สำหรับเฮเกลนั้นเป็น "จิตนิยมวิภาษวิธี" (Dialectical Idealism) ซึ่งถือว่าความคิดหรือจิตนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งทั้งปวง และเป้าหมายอยู่ที่การรู้แจ้งเห็นจริงทางความคิด แต่สำหรับมาร์กซ์นั้นปรัชญา "วิภาษวิธี" ของเขามีลักษณะของปรัชญาวัตถุนิยม (Materialism) ที่ถือว่าธรรมชาติและมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของธรรมชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง และเป้าหมายไม่ได้หยุดนิ่งเพียงการรู้แจ้งเห็นจริงทางความคิดเท่านั้น แต่ต้องนำเอาความรู้นั้นไปปฏิบัติจึงจะบรรลุถึงหลักการของปรัชญาได้ ดังนั้นวิภาษวิธีในแบบของมาร์กซ์จึงเป็น "วัตถุนิยมวิภาษวิธี" (Dialectical Materialism)
ทั้งนี้คำว่า "วัตถุนิยมวิภาษวิธี" นั้นไม่ได้เป็นคำที่ถูกใช้โดยตัวของมาร์กซ์เอง แต่เป็นคำของเปลคานอฟ ดู สุรพงษ์ ชัยนาม, "ทฤษฎีการปฏิวัติสังคม," ใน เอกสารการสอนชุดวิชาปรัชญาการเมือง หน่วยที่ 8-15, หน้า 506-510.
(23) ในที่นี้หมายถึงแนวคิดมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิม (Classical Marxism) ที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยในเรื่องเศรษฐกิจในสังคมส่วนล่างเป็นหลัก เช่น เคาท์สกี้ โปรดดูเชิงอรรถที่ 8
(24) Michael G. Roskin et. al., Political Science : An introduction, 6th ed. p.24.
(25) อ้างถึงใน โกวิท วงศ์สุรวัฒน์, พื้นฐานรัฐศาสตร์กับการเมืองในศตวรรษที่ 21, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2546), หน้า 60; อานนท์ อาภาภิรม, รัฐศาสตร์เบื้องต้น, (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2528) หน้า 109.; David Macey, The Penguin Dictionary of Critical Theory, pp. 183,242 และ ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ, อะไรนะลัทธิมาร์กซ์ เล่ม 2, (กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน, 2545) หน้า 9-51.
(26) Michael G. Roskin
et. al., Political Science : An introduction, p.107.
(27) โกวิท วงศ์สุรวัฒน์, พื้นฐานรัฐศาสตร์กับการเมืองในศตวรรษที่ 21, หน้า 59.
(28) ด้วยการมองว่าสารัตถะของชีวิตมนุษย์ (Matter) นั้นมีความสำคัญเหนือจิตสำนึก (Consciousness) และสภาพการณ์ในทางวัตถุ (Material) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิต การบริโภค การดำรงอยู่ ฯลฯ นั้นมีเหนือเรื่องของสติปัญญา ความรู้ (Intellectual) ปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธีมองว่าความขัดแย้งในเรื่องทางวัตถุ ทำให้เกิดข้อโต้แย้ง (Anti-thesis) ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่ข้อสรุป/บทสรุป (Synthesis) ใหม่ของความขัดแย้งครั้งนั้นๆ ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธีจึงเป็นการมองที่ความขัดแย้งในทางวัตถุตั้งแต่สังคมบุพกาล ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมศักดินา สังคมทุนนิยม และสังคมคอมมิวนิสต์ในที่สุด ดูเพิ่มเติมใน David Macey, The Penguin Dictionary of Critical Theory, pp.97-98.
(29) บุญศักดิ์ แสงระวี,
สัจธรรมของมนุษยชาติ วัตถุนิยมประวัติศาสตร์, (กรุงเทพฯ: ชมรมศึกษาวิทยาศาสตร์สังคม,
2544), หน้า 9.
(30) ริอุส, มาร์กซ์ฉบับการ์ตูน,
(กรุงเทพฯ: สุชนการพิมพ์, ม.ป.ป.), หน้า 124-136.
(31) กรัมชีเป็นคนที่พยายามเน้นถึงมุมมองในเชิงอุดมการณ์ และทำให้พวกนักมาร์กซิสต์จำนวนหนึ่งที่หยิบเอาความคิดของมาร์กซ์ไปใช้เพียงบางส่วน โดยเฉพาะนักมาร์กซิสต์ดั้งเดิมในช่วงของสากลที่สอง (Second International) ในช่วงปี 1889-1916 เช่น เคาท์สกี้ เปลคานอฟ และฮิลเฟลดิ้ง เป็นต้น ได้ทบทวนว่าที่จริงแล้วมาร์กซ์เองก็ไม่ได้พูดถึงแต่เพียงปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในงานเขียนของมาร์กซ์เองก็ได้พูดในเรื่องของอุดมการณ์ไว้เช่นกัน เช่น ในเค้าโครงเศรษฐกิจและปรัชญา (Economic and Philosophical Manuscript) ซึ่งเขียนขึ้นในปี 1844 และในอุดมการณ์เยอรมัน (German Ideology) ซึ่งเขาเขียนร่วมกับเองเกลส์ ในปี 1845 เป็นต้น
(32) David Mclellan,
Marxism after Marx, p. 175.
(33) สุรพงษ์ ชัยนาม, "อันโตนิโยกรัมชีกับทฤษฎีว่าด้วยการครองความเป็นใหญ่,"
ใน ปาจารยสาร 8 (6, 2525), หน้า 70-79.
(34) Roger Simon, Gramsci's Political Thought An Introduction, p. 26.
(35) Anne Showstack Sassoon, "A Gramsci Dictionary," in Approaches
to Gramsci, ed.
Anne Showstack Sassoon, p.14.
(36) Ibid.
(37) หมายความถึงการร่วมมือ ให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางประการร่วมกันไม่ว่าจะเป็นการร่วมมืออย่างเป็นทางการที่มีข้อตกลง/ข้อกำหนดที่ชัดเจน เช่น การเข้าเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยของตัวแทนจากกลุ่มทุนต่างๆ หรือการร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ กล่าวคือมีลักษณะเฉพาะกิจ เช่น การเข้าไปมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ในช่วงแรกของการตั้งพรรคไทยรักไทย เพื่อสร้างการสนับสนุนจากชาวบ้านในชนบท เป็นต้น
(38) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทที่ 3 พรรคไทยรักไทยและรัฐบาลทักษิณ: ความเป็นมาและการก่อตัว
(39) Roger Simon, Gramsci's Political Thought An Introduction, p.67-79. และ Anne Showstack Sassoon, "A Gramsci Dictionary," in Approaches to Gramsci, ed. Anne Showstack Sassoon, p.12.
(40) Joseph V. Femia, Gramsci's Political Thought Hegemony, Consciousness, and the Revolutionary Process, (Oxford: Clarendon Press, 1987), p. 26.
(41) Roger Simon, Gramsci's Political Thought an Introduction, pp.27-28; 74-79.
(42) วนัส ปิยะกุลชัยเดช, "จากอุดมการณ์ที่ถูกวิพากษ์สู่การครองความเป็นใหญ่: การครองความเป็นใหญ่แบบกรัมชี่" ใน รัฐศาสตร์สาร, ธเนศ วงศ์ยานนาวา, บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550), หน้า 100-112.
(43) Barry Burke, Antonio Gramsci and informal education [Online]. Available from: http://www.infed.org/thinkers/et-gram.htm [7 มีนาคม 2550]
(44) Andrew Deak, The Condition of Hegemony and the Possibility of Resistance [Online]. Available from: http://www.undercurrentjournal.ca/2005II3%20-%20deak.pdf [7 มีนาคม 2550]
(45) http://encyclopedia.thefreedictionary.com/antiglobalization [5 กุมภาพันธ์ 2550]
(46) กนกรัตน์ เลิศชูสกุล,
"เหลียวหลังแลหน้าเวทีสังคมโลก", ใน ฟ้าเดียวกัน 1 (เมษายน-มิถุนายน
2546), หน้า 109-122. และ ปิยะมิตร ลีลาธรรม, "วิวาทะแห่งอนาคต: ข้อถกเถียงของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในสมัชชาสังคมโลก
2547", ใน ฟ้าเดียวกัน 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547), หน้า 137-148.
(คลิกไปอ่านต่อบทความต่อเนื่อง
ลำดับที่ 1480)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90