บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Political Return: Thailand
Midnight
University
(๒) คิดใหม่ทำใหม่เพื่อออกจากความรุนแรง
ปาฐกถารำลึก:
สังคมไทยต้องหลุดจากกับดักความรุนแรง
พระไพศาล
วิสาโล : บรรยาย
ปัจจุบัน
จำพรรษาที่วัดป่ามหาวัน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
คำบรรยายต่อไปนี้ เป็นส่วนหนึ่งของปาฐกถานำ
๑๔ ตุลา ประจำปี ๒๕๔๗
จัดโดยมูลนิธิ ๑๔ ตุลา เรื่อง : เปิดหน้าต่าง สร้างสะพาน
สมานใจ
ทางออกจากกับดักแห่งความรุนแรงในยุคทักษิณ
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนเห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน เรากำลังจะได้รัฐบาลใหม่
โดยการนำของพรรคพลังประชาชน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการหวนกลับมาของ
บรรดาสมาชิกพรรคไทยรักไทยเดิมจำนวนมาก และอาจมีนโยบายบริหารประเทศ
ในลักษณะอำนาจนิยม จัดการปัญหาต่างๆด้วยวิธีใช้ความรุนแรง เพ่งเล็งพัฒนาการ
ทางเศรษฐกิจมิติเดียว และมีนโยบายประชานิยม อย่างเดียวกัน
โดยเหตุนี้ ปาฐกถาเมื่อ
๓ ปีที่แล้ว ซึ่งแสดงโดยท่านพระไพศาล วิสาโล
จะเตือนสังคมไทยได้เป็นอย่างดีถึงข้อควรระวัง และความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น
ตลอดรวมถึงนโยบายการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่คับแคบแบบเดิมๆ ซึ่งอาจจะหวนคืน
ดังนั้น การเฝ้าจับตาต่อกรณีเหตุการณ์และนโยบายต่างๆที่เคยเกิดขึ้นแล้ว จึงเป็นดัชนีและ
ข้อเตือนความจำ เพื่อสังคมไทยจะตั้งอยู่ในความไม่ประมาทกับรัฐบาลใหม่
เนื่องจากปาฐกถาฉบับสมบูรณ
์มีขนาดความยาวเกือบ ๔๐ หน้ากระดาษ A4
ทางกองบรรณาธิการฯ จึงไดแบ่งเนื้อหาของปาฐกถานี้ออกเป็น ๓ ตอน
โดยตั้งชื่อต่างกันแต่เรียงลำดับหัวข้อนำเสนอต่อเนื่องกัน เพื่อสะดวกต่อการค้นหา
และสะดวกต่อการจัดการเชิงเทคนิค
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๕๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๕ มกราคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๖ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
(๒) คิดใหม่ทำใหม่เพื่อออกจากความรุนแรง
ปาฐกถารำลึก:
สังคมไทยต้องหลุดจากกับดักความรุนแรง
พระไพศาล
วิสาโล : บรรยาย
ปัจจุบัน
จำพรรษาที่วัดป่ามหาวัน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
คิดใหม่ทำใหม่เพื่อออกจากความรุนแรง
ประเทศไทยกำลังถลำสู่วังวนแห่งความรุนแรงลึกขึ้นทุกที เป็นวังวนที่นับวันจะถอนตัวออกมาได้ยากขึ้นตราบใดที่รัฐบาลทักษิณยังยึดติดในวิธีคิดและวิธีทำอย่างเดิม
ๆ ทั้งวิธีคิดและวิธีทำอย่างเดิม ๆ นี้แหละที่เป็นกับดักให้รัฐบาลจมติดอยู่กับการสร้างความรุนแรงเชิงโครงสร้างมากขึ้น
และหลีกไม่พ้นที่จะต้องใช้ความรุนแรงทางกายภาพกับประชาชนในที่สุด ผลก็คือนำพาทั้งประเทศให้ติดกับดักแห่งความรุนแรงเหล่านี้ไปด้วยกันทั้งหมด
รัฐบาลทักษิณมีแนวโน้มว่ายังจะอยู่คู่ประเทศไทยอีก ๔ ปีเป็นอย่างน้อย ประเทศไทยจะติดกับดักแห่งความรุนแรงไปได้นานเท่าไร ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณเองด้วย หากท่านต้องการนำพาประเทศไทยออกจากกับดักแห่งความรุนแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดใหม่และทำใหม่ให้ต่างจากเก่า โดยเฉพาะก็ประเด็นต่อไปนี้
๑. การมีวิสัยทัศน์ที่รอบด้าน
ไม่ใช่มีแต่เศรษฐกิจเพียงมิติเดียว
พ.ต.ท.ทักษิณมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ที่จะเพิ่มตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยวิธีการใดก็ได้
จนไม่สนใจว่าจะก่อปัญหาตามมาอย่างไรบ้าง จะเรียกว่านี้คือยุทธศาสตร์หลักประการเดียวก็ได้ของ
พ.ต.ท.ทักษิณ การจดจ่อกับเรื่องนี้เป็นหลักทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณมองไม่เห็นเหตุผลใดที่จะต้องพลิกแผ่นดินตามล่าตำรวจกาญจนบุรีที่ฆ่าฝรั่ง
๒ คน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นอกจากเหตุผลที่ว่าทำให้ภาพพจน์ของชาติเสียหาย
และกระทบต่อการท่องเที่ยว ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ก็เคยถูกมองในแง่นี้มาแล้วเช่นกัน
และที่ตอนนี้กำลังทำสงครามกับไข้หวัดนกก็มิใช่เพราะอะไรอื่น หากเพราะมันกำลังเป็นภัยต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว
เป็นเพราะเหตุผลเดียวกันนี้ใช่ไหมที่รัฐบาลพยายามปกปิดข่าวดังกล่าวเมื่อปลายปีที่แล้ว
จนทำให้ไข้หวัดนกระบาดไปทั่วประเทศ จนมีคนตายหลายคน ไก่ตายหลายสิบล้านตัว และเป็นปัญหายืดเยื้อมากระทั่งทุกวันนี้
แต่ที่กล่าวมานั้นไม่ใช่เป็นปัญหามากเท่ากับการพยายามทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยสร้างปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น การนำเงินนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบด้วยการดึงเอาหวยเถื่อนขึ้นมาบนดิน และการพยายามทำให้คาสิโนถูกกฎหมาย การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการเปิดอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยไม่สนใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมภาคธุรกิจที่มีความสามารถในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า (อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคโทรคมนาคม) โดยผลักภาระให้แก่ภาคเกษตรกรรมหรือก่อปัญหาแก่เกษตรกรรายย่อยและคนจน อาทิ การเร่งรัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในทำนองเดียวกันการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านละล้าน ธนาคารคนจน และโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ ก็เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะกระตุ้นการบริโภคเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร็วขึ้น แต่ประชาชนระดับล่างกลับมีหนี้สินพอกพูนมากขึ้น และที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เงินตราจากเศรษฐกิจนอกระบบไหลเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบ ทำให้ตัวเลขจีดีพี(ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ)เพิ่มขึ้น
เป็นเพราะติดยึดหลงใหลกับตัวเลขจีดีพีอย่างเต็มที่นี้เอง จึงมักมองปรากฏการณ์ต่าง ๆ แต่เพียงในแง่ที่ว่ามันจะส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงง่ายมากที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะอ่านโจทย์ของสังคมผิดพลาด เช่น เมื่อมีการประท้วงของชาวบ้านหรือการใช้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ก็จะมองไปในแง่ลบทันทีว่าเป็นความวุ่นวาย แทนที่จะมองว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนของความทุกข์ของประชาชน และความไม่ชอบธรรมในการจัดสรรผลประโยชน์ในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลแก้ไข ไม่ใช่ไปห้ามเขาเคลื่อนไหว หรือปิดปากเขา
การมองให้เห็น "ภาพรวมทั้งระบบ" อันเป็นวลียอดนิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น เป็นสิ่งที่ท่านเองจำต้องนำมาใช้ในในการบริหารประเทศด้วย กล่าวคือ ไม่ควรมองว่าความผาสุกของประชาชนนั้นมีแต่มิติทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังประกอบไปด้วยมิติอื่น ๆ อีกมาก อาทิ มิติทางวัฒนธรรม จริยธรรม สิทธิเสรีภาพ สุขภาพพลานามัย สิ่งแวดล้อมเป็นต้น ความเจริญก้าวหน้าของประเทศและความผาสุกของประชาชน มิได้อยู่ที่การยกระดับรายได้ของประชาชนให้ทัดเทียมประเทศโลกที่ ๑ หรืออยู่ที่การเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดในโลกเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต ปลอดภัยจากอาชญากรรม มีสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากมลภาวะ ครอบครัวและชุมชนมีความเข้มแข็ง สิทธิมนุษยชนได้รับการเคารพ ผู้คนมีความเอื้ออารีและขันติธรรม เด็กและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ถูกปล่อยไปตามยถากรรม หรือตกเป็นเหยื่อของบริโภคนิยม ประชาชนมีทัศนคติที่ดีในการทำงานและดำเนินชีวิต ไม่คิดรวยทางลัดด้วยอบายมุขหรือการคิดโกง เป็นต้น
ควรกล่าวด้วยว่า วิสัยทัศน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากจะมีมิติเศรษฐกิจเพียงมิติเดียวแล้ว ยังเป็นเศรษฐกิจที่แคบ คือมองแต่เศรษฐกิจที่ผูกติดกับภาคธุรกิจสมัยใหม่ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจที่ประชาชนส่วนใหญ่เกี่ยวข้อง ในขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าชัดเจนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและบริการ แต่สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นมากกว่านั้นก็คือ การตั้งเป้าว่าจะทำให้เศรษฐกิจรากหญ้าเติบโตอย่างยั่งยืน หรือทำให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินน้อยลง
กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่คนไทยต้องการคือ วิสัยทัศน์ของผู้นำที่ครอบคลุมทุกมิติ ผู้นำซึ่งไม่เพียงตั้งเป้าว่าจีดีพีจะเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากยังพร้อมที่จะประกาศว่า จะลดอาชญากรรมกี่เปอร์เซ็นต์ จะลดจำนวนเด็กเร่ร่อนให้เหลือกี่คนในแสน จะลดพื้นที่ที่ล่อลวงเยาวชนให้ทำชั่ว (เช่นแหล่งอบายมุข) และเพิ่มพื้นที่ทำดี (เช่นสนามเด็กเล่น ห้องสมุด)กี่เปอร์เซ็นต์ เราต้องการผู้นำที่ถือว่าการฟื้นฟูคุณภาพเยาวชนให้พ้นจากวิกฤตเป็นวาระของชาติ
การมีวิสัยทัศน์ที่ครอบคลุมทุกมิติโดยมีเป้าที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม จะช่วยให้รัฐบาลมีนโยบายอย่างเป็นบูรณาการอย่างแท้จริง นั่นหมายความว่าการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจจะไม่มองแต่ผลได้ในทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่จะคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมด้วย คนเล็กคนน้อยจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแคบ ๆ อีกต่อไป ขณะเดียวกันหากตั้งเป้าอย่างจริงจังว่าจะพัฒนามิติทางสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมไปด้วย รัฐบาลก็จะพบว่า รัฐบาลหรือกลไกรัฐอย่างเดียวนั้นไม่อาจจะผลักดันให้เกิดผลสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งสังคม ต้องอาศัยหน่วยอื่น ๆ ของสังคม เช่น ครอบครัว ชุมชน เข้ามาร่วมในกระบวนการผลักดันด้วย นี้เป็นวิธีการที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากที่รัฐใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะในกรณีหลังนั้น รัฐสามารถสั่งการลงมาได้ โดยกลไกอื่น ๆ เพียงแค่สนองนโยบายเท่านั้น หรือมิเช่นนั้นก็เชิญชวนใครต่อใครให้มาลงทุน การมีวิสัยทัศน์รอบด้านจึงหมายความว่า รัฐจะใช้วิธีการเดิม ๆ อีกต่อไปไม่ได้ หากจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ดังจะได้กล่าวเป็นลำดับต่อไป
๒. เปลี่ยนจากการ "จัดการ"
ประเทศ มาเป็นการ "ร่วมมือ"กับสังคม
พ.ต.ท.ทักษิณเห็นประเทศเป็นบริษัท ซึ่งมี "ผลกำไร" หรือ bottom line
ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลัก ดังนั้นจึงมีความเชื่อมั่นกับการบริหารประเทศด้วยวิธีที่เรียกว่า
"การจัดการ". การจัดการที่พ.ต.ท.ทักษิณคุ้นเคยเมื่อครั้งเป็นนักธุรกิจ
(หรือเถ้าแก่) ก็คือ การกำหนดทิศทางและสั่งการโดยทุกส่วนขึ้นตรงต่อตนเอง เมื่อมาบริหารประเทศก็ใช้วิธีการสั่งการจากบนลงล่างเป็นหลัก
ทั้งนี้โดยอาศัย "พระเดช" คือ อำนาจรัฐ และ "พระคุณ" คือ
เม็ดเงินหรือผลตอบแทนทางวัตถุ เป็นปัจจัยหลักในการผลักดันกลไกต่าง ๆ ให้ขับเคลื่อนตามแนวทางที่ตนได้กำหนดไว้
ดูเหมือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเชื่อว่า ประชาชนนั้นไม่สามารถคิดหรือริเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสมได้ด้วยตนเอง จำต้องอาศัยการชักจูงและผลักดันจากผู้นำหรือจากรัฐ เริ่มต้นด้วยการหว่านล้อมด้วยข้อมูล (ที่มักจะให้เพียงด้านเดียว) จากนั้นก็ชักจูงด้วยการสัญญาว่าจะให้รางวัลหรือผลตอบแทนทางวัตถุ เช่น จะนำโครงการพัฒนาต่าง ๆ มาให้ บ่อยครั้งก็ขู่ว่าจะไม่ให้รางวัลหากไม่ทำตาม (เช่น จะไม่ให้ความช่วยเหลือถ้ามาประท้วงหน้าทำเนียบ หรือเชื่อผู้นำเอ็นจีโอ) มาตรการที่ควบคู่กันก็คือการใช้อำนาจรัฐมากำกับหรือขู่ว่าจะลงโทษ ดังเห็นได้จากกรณีสามจังหวัดภาคใต้ ทันทีที่เกิดเหตุความไม่สงบขึ้นแต่ต้นปี สองสิ่งแรกที่พ.ต.ท.ทักษิณทำคือ
- ส่งกำลังทหารตำรวจลงไปเต็มอัตราศึก
- ขณะเดียวกันก็ประกาศว่าจะจัดสรรเงิน ๒๐,๐๐๐ ล้านบาทลงไปพัฒนาภาคใต้
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยสนใจคือการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนในภาคใต้ หรือการกระจายอำนาจเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการบริหารพื้นที่ภาคใต้ ผลก็คือสถานการณ์ภาคใต้เลวร้ายลง ผู้คนหวาดกลัวและไม่ไว้วางใจรัฐยิ่งกว่าเดิม ส่วนโครงการพัฒนาที่จะนำลงไปโดยไม่มีการปรึกษาประชาชน ก็ไม่ช่วยให้ประชาชนมั่นใจว่าความเป็นอยู่จะดีขึ้นกว่าเดิม และวิถีชีวิตของตนจะได้รับการปกป้อง การสู้กับผู้ก่อความไม่สงบนั้น ต้องเริ่มต้นจากการชนะใจประชาชน แต่จะชนะใจประชาชนไม่ได้เลยหากไม่เคารพเขา หรือเห็นเขาเป็นเพียง "พนักงานบริษัท" ที่มีหน้าที่ทำตามคำสั่งของผู้จัดการเท่านั้น
อำนาจนั้นมีอยู่ ๓ ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- อำนาจเหนือผู้อื่น (power
over) พ.ต.ท.ทักษิณเชื่อในอำนาจประเภทนี้
คือเชื่อว่าหากตนมีอำนาจเหนือประชาชน ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจเงิน ก็จะสามารถจัดการให้เกิดผลตามที่ต้องการได้
แต่ดูเหมือนพ.ต.ท.ทักษิณจะไม่รู้จักอำนาจอีก ๒ ประการที่เหลือ คือ อำนาจร่วม(power
with) กับ อำนาจภายใน (power within)
- อำนาจร่วม (power with) หมายถึง ความสามารถในการทำให้สำเร็จได้ด้วยการร่วมมือกับผู้อื่น
เราจะรู้จักและสามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้ ต้องเริ่มต้นจากการเคารพสติปัญญาและวิจารณญาณของผู้อื่น
พร้อมที่จะฟังผู้อื่น โดยไม่ถือตัวว่าตัวเองฉลาดกว่าหรือถูกต้องกว่า อำนาจร่วมเกิดขึ้นได้เมื่อมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
โต้เถียง เอาเหตุผลและข้อมูลมาแจง เพื่อหาข้อสรุปและความเห็นพ้องต้องกัน ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือความเห็นที่รอบด้าน
และความรู้สึกร่วมที่จะผลักดันให้เกิดความสำเร็จ และสิ่งที่ตามมาก็คือความสามัคคีและไว้วางใจที่จะทำงานร่วมกันต่อไปอีกในอนาคต
การบริหารประเทศโดยวิธีจัดการ หรือใช้อำนาจบงการผู้อื่นนั้น ย่อมนำไปสู่การรวบอำนาจมากขึ้น
และปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้นำที่ใช้วิธีนี้ย่อมไม่สนใจที่จะเสวนาและแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาชน
ไม่คิดที่จะนำข้อเท็จจริงหรือเหตุผลมาโต้แย้งกับผู้ที่คิดต่าง หากแต่ใช้วิธีบอกปัด
หรือใช้คำพูดที่ดูถูก โจมตี และกล่าวหา หากไม่ได้ผลก็จะใช้วิธีขู่หรืออาจถึงขั้นใช้กำลัง
ขณะเดียวกันก็พยายามหาพวกด้วยการใช้เงินเข้าล่อ นี้คือวิธีที่ผู้นำในระบบอุปถัมภ์ใช้กับผู้ที่อยู่ใต้การอุปถัมภ์
เป็นวิธีที่ "พ่อ"ซึ่งมีทั้งพระเดชและพระคุณ นิยมใช้เมื่อถูกลูกคัดค้าน
แต่นี้ย่อมมิใช่วิธีของผู้นำที่ต้องการให้ประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนอย่างแน่นอน
พ.ต.ท.ทักษิณ ควรจัดการประเทศให้น้อยลง และร่วมมือกับสังคมให้มากขึ้น แทนที่จะใช้อำนาจเหนือประชาชน ควรหันมาใช้อำนาจร่วมกับประชาชน นั่นคือสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปรึกษาหารือและตัดสินใจ ส่งเสริมการกระจายอำนาจในทุกระดับ ขณะเดียวกันก็พยายามแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันในหมู่ประชาชน เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของประเทศ นั่นหมายความว่า ไม่เพียงแต่จะสนับสนุนให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวางในสังคม รวมทั้งการเปิดเวทีให้มีการโต้แย้งอย่างอิสระและเท่าเทียม (เช่น สื่อมวลชน และเวทีประชาพิจารณ์) หากท่านเองต้องพร้อมที่จะเข้ามาร่วมเสวนาและโต้เถียงกับผู้เห็นต่างบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยหลีกเลี่ยงที่จะใช้อำนาจที่มีเหนือกว่า (รวมทั้งอำนาจสื่อที่มีอยู่ในมือ) ขัดขวางการแสวงหาความจริงที่ไม่สอดคล้องกับความเห็นของตน การเสวนาแลกเปลี่ยนดังกล่าวจะทำให้เกิดบรรยากาศและกระบวนการแห่งปัญญาที่จะพัฒนาสังคมไทยให้มีวุฒิภาวะทางสติปัญญาและอารมณ์มากขึ้น ขณะเดียวกันผู้นำที่สามารถนำข้อถกเถียงดังกล่าวมาสรุปเป็นมติสาธารณะก็ย่อมจะได้รับความสนับสนุนและความยินยอมพร้อมใจจากประชาชน ทำให้สามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้สัมฤทธิผลและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า
- อำนาจภายใน (power within)
ความยินยอมพร้อมใจของประชาชนยังเกิดขึ้นได้จากผู้นำที่มีคุณธรรม เสียสละ สัตย์ซื่อ
มือสะอาด และมีเมตตากรุณา ผู้นำชนิดนี้ย่อมสามารถบันดาลใจให้ประชาชนเกิดความเสียสละ
และอุทิศตนเพื่อส่วนรวมได้ ยิ่งมีความอ่อนน้อมถ่อมตน รับฟังความเห็นของประชาชนและผู้ที่เห็นต่าง
ยิ่งได้รับความเลื่อมใสศรัทธามากขึ้น แม้จะไม่มีอาวุธและอำนาจเงินก็ตาม ผู้นำเช่นนี้ก็สามารถนำพาหรือร่วมมือกับประชาชนผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้
อำนาจชนิดนี้คืออำนาจประเภทที่ ๓ ที่เรียกว่า อำนาจภายใน (power within). อำนาจชนิดนี้เป็นสิ่งที่
พ.ต.ท.ทักษิณควรให้ความใส่ใจด้วยเช่นกัน การบงการโดยอาศัยเงินและอำนาจรัฐในมือนั้น
ไม่ช่วยให้บรรลุความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อมหาชนคลางแคลงใจในความซื่อสัตย์สุจริต
ความร่วมมือจากประชาชนด้วยความยินยอมพร้อมใจและเชื่อมั่นศรัทธาต่างหาก ที่สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้
แต่ผู้นำที่ดีย่อมไม่เพียงพยายามสร้างอำนาจภายในให้เกิดขึ้นกับตนเท่านั้น หากควรส่งเสริมให้ประชาชนมีอำนาจชนิดนี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากเป็นแบบอย่างแห่งคุณธรรมแล้ว ผู้นำยังควรส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบ่มเพาะคุณธรรม
ไม่ส่งเสริมอบายมุขหรือสิ่งผิดศีลธรรมแม้จะทำให้มีรายได้เข้ารัฐมากขึ้นก็ตาม
ขณะเดียวกันก็พยายามกระตุ้นให้กระบวนการเรียนรู้หรือกระบวนการแห่งปัญญาเผยแพร่ไปทั่วสังคม
เช่น ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างเสรี บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน
ส่งเสริมสื่อที่เอื้อต่อการพัฒนาทางปัญญา ไม่ยั่วยุให้เกิดโลภะ โทสะ และโมหะ
สนับสนุนการศึกษาที่พัฒนาทั้งปัญญาและคุณธรรม มิใช่มุ่งแต่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกเท่านั้น.
อย่างไรก็ตามการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนและการพัฒนาอำนาจภายในของประชาชนนั้น
ไม่ควรเป็นภารกิจของผู้นำในฐานะบุคคลหรือคณะบุคคลเท่านั้น หากควรเป็นภารกิจของรัฐ
โดยผนวกให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบอบ อันเป็นสิ่งที่จะกล่าวในลำดับที่ ๓
๓. กระจายอำนาจและส่งเสริมการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี
การกระจายอำนาจลงไปถึงระดับท้องถิ่น เป็นหลักประกันที่ดีที่สุดสำหรับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน
ส่วนร่วมดังกล่าวมิได้หมายถึงเพียงแค่การเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนเองเท่านั้น
หากรวมไปถึงการมีส่วนร่วมโดยตรงในการพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาของท้องถิ่น รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรสาธารณะ
การรวบอำนาจคือที่มาแห่งความรุนแรง โครงสร้างที่รวบอำนาจไว้ในกับคนกลุ่มเล็ก ๆ คือโครงสร้างที่เป็นบ่อเกิดแห่งความรุนแรง ความยากจน อดอยาก เจ็บป่วย และมีชีวิตที่ลำเค็ญของผู้คนจำนวนมหาศาล ท่ามกลางทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์นับเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง ความรุนแรงดังกล่าวมิได้มาจากไหน หากเกิดจากการที่ประชาชนในระดับล่างไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อชีวิต และสาเหตุที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือครอบครองทรัพยากรดังกล่าวได้ ก็เพราะไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรเหล่านั้น (ซึ่งมิได้มีแค่น้ำ ป่า ที่ดินเท่านั้น หากรวมถึงการศึกษา วัฒนธรรม และคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์)
การผูกขาดอำนาจในการจัดการทรัพยากรไว้ในมือของรัฐ เป็นต้นเหตุแห่งความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่แผ่ขยายไปทั่วประเทศ ยิ่งกลุ่มทุนระดับชาติเข้ามามีอำนาจรัฐและกลายเป็นผู้ผูกขาดการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ในชาติดังปัจจุบัน ความรุนแรงดังกล่าวก็ยิ่งจะเพิ่มพูนมากขึ้น และเมื่อสถานการณ์สุกงอม ก็ย่อมลุกลามกลายเป็นความรุนแรงในทางกายภาพ ความไม่สงบในภาคใต้ใครเล่าจะปฏิเสธว่า มิได้มีรากเหง้าส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนระดับล่างถูกแย่งชิงทรัพยากรไปอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มทุนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ปลาที่หดหายไปอย่างรวดเร็วและทรัพยากรชายฝั่งที่ถูกทำลาย เพราะการรุกล้ำของนายทุนต่างถิ่นได้ทำให้ชาวบ้านยากจนลง วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างตั้งตัวไม่ติด สภาพดังกล่าวสร้างความไม่พอใจและความรู้สึกต่อต้านชิงชัง จนกลายเป็นเชื้ออย่างดีสำหรับการก่อความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐและ "คนนอก"
การกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการท้องถิ่น และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในสิ่งที่มีผลกระทบกับเขา ไม่ว่าโครงการต่าง ๆ ของรัฐ หรือนโยบายเศรษฐกิจ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการลดทอนความรุนแรงในสังคม อันที่จริงรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีมาตรการดังกล่าวอยู่แล้ว สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณควรทำอย่างยิ่งคือ เคารพเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และทำให้รัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติ ด้วยการออกกฎหมายลูกออกมา อาทิ กฎหมายประชาพิจารณ์ กฎหมายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งผลักดันให้กฎหมายป่าชุมชนออกมาเสียที
ไม่ว่าจะมีเจตนาดีเพียงใดก็ตาม การตั้งตัวเป็นผู้ผูกขาดการจัดสรรผลประโยชน์แก่คนในชาติ จะไม่สามารถสร้างความสงบสุขและความผาสุกแก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง ทุกวันนี้ประชาชนได้แตกตัวเป็นหลายหมู่เหล่าที่มีผลประโยชน์แตกต่างกันหรือถึงขั้นขัดแย้งกัน สุดวิสัยที่รัฐจะจัดสรรให้ทั่วถึงและยุติธรรมได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือ การเปิดเวทีให้ประชาชนทุกส่วนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการชี้แจง ถกเถียงและต่อรองผลประโยชน์กัน แน่นอนว่าเวทีดังกล่าวย่อมมิใช่รัฐสภา โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทุกวันนี้ถูกครอบงำด้วยนายทุน
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเวทีหนึ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจ แต่ควรจะมีเวทีที่เปิดกว้างมากกว่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้จากกฎหมายประชาพิจารณ์ อีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความริเริ่มของภาคประชาชน ในการจัดตั้งเวทีสำหรับถกเถียงนโยบายสาธารณะ รัฐควรส่งเสริมความริเริ่มดังกล่าว ขณะเดียวกันก็นำความเห็นที่หลากหลายจากเวทีนั้นมาสังเคราะห์เป็นนโยบาย จะว่าไปแล้วรัฐควรจัดตั้งหน่วยงานหรือผลักดันให้มีองค์กรมหาชน ที่ทำหน้าที่สนับสนุนเวทีสาธารณะดังกล่าวด้วยซ้ำ
นี้คือกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย ไม่ควรคิดว่าเวทีเหล่านี้จะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ตรงกันข้ามกลับจะช่วยให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยก็ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลาย การมีเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายพูดและฟังอย่างเท่าเทียมกันและอย่างมีกติกา ย่อมช่วยให้เกิดความเข้าใจกันได้ดีกว่าการพูดผ่านสื่อหรือพูดต่างเวที
ว่าไปแล้ว สิ่งที่รัฐน่าจะเป็นห่วงมากกว่า มิใช่พฤติกรรมของประชาชนในเวทีสาธารณะ หากได้แก่พฤติกรรมของรัฐเอง รัฐนั้นคุ้นกับการใช้อำนาจจนเป็นนิสัย จึงทนไม่ได้กับความเห็นต่าง ยิ่งผู้ที่เห็นต่างนั้นเป็นประชาชนคนเล็กคนน้อย ก็มักใช้อำนาจตามอำเภอใจมากขึ้น ดังที่มักใช้กับชาวบ้านที่ชุมนุมประท้วง ซึ่งบางครั้งมิได้ประท้วงรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐด้วยซ้ำ แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับทำตัวเป็นคู่กรณีเสียเอง และบางครั้งก็ลงเอยด้วยการใช้กำลังกับประชาชน การเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้สันติวิธีเพื่อแก้ไขความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่พึงทำควบคู่กันก็คือ การพัฒนาทักษะในการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี อันที่จริงทั้งหมดนี้คือจุดมุ่งหมายของการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ ๑๘๗ / ๒๕๔๖ เรื่องนโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี แต่สิ่งที่ขาดไปอย่างน่าเสียดายก็คือ ความมุ่งมั่นและความใส่ใจของผู้ออกคำสั่งคือ ตัวพ.ต.ท.ทักษิณเอง
อันที่จริงต้องพูดว่าการนิยมใช้กำลังเป็นสิ่งที่ฝังลึกในจิตใจ มิใช่แค่นิสัยธรรมดาเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่า ทั้ง ๆ ที่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๔๖ ระบุว่า "ต้องยึดมั่นสันติวิธีเป็นวิธีเดียวที่เป็นธรรมและสร้างความสงบสุขที่ยั่งยืน โดยเริ่มต้นที่รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อน" แต่การอุ้มและวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐหาได้หยุดยั้งไม่ ดังกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร และทั้ง ๆ ที่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับที่ ๖๘ / ๒๕๔๗ เรื่องนโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งระบุว่า "ปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ด้วยการสนับสนุนของประชาสังคม... ไม่เอนเอียงต่อกลุ่มใดหรือฝ่ายใด และโดยสันติวิธี" แต่หลังจากลงนามโดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธได้เพียงเดือนเศษ ก็เกิดการสังหารหมู่อย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุที่มัสยิดกรือเซะ และที่สะบ้าย้อยในวันเดียวกัน
การออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมการใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาอย่างเดียวย่อมไม่พอ จำต้องออกมาตรการอย่างอื่นออกมาด้วย โดยนายกรัฐมนตรีเองต้องมีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของเจ้าหน้าที่รัฐ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ และการพัฒนาทักษะในการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งนี้ต้องเริ่มต้นจากตัวนายกรัฐมนตรีเอง โดยการทำตนเป็นแบบอย่างในการรับฟังและปรึกษาหารือประชาชนมากขึ้น ไม่ลุแก่อำนาจหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ รวมทั้งไม่ส่งสัญญาณให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นิมิตดีตรงที่สถาบันยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ มีความตั้งใจอย่างจริงจังที่จะผลักดันยุทธศาสตร์สันติวิธีให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ พ.ต.ท.ทักษิณควรให้ความสำคัญกับหน่วยงานอย่างนี้มากขึ้น และส่งเสริมให้ทำงานได้มากกว่านี้
แนวทาง ๓ ประการที่กล่าวมาได้แก่
๑) การมีวิสัยทัศน์ที่รอบด้าน ไม่ใช่มีแต่เศรษฐกิจเพียงมิติเดียว
๒) การเปลี่ยนจากการจัดการประเทศ มาเป็นการร่วมมือกับสังคม และ
๓) การกระจายอำนาจและส่งเสริมกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี
เป็นแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดออกจากกับดักแห่งความรุนแรงได้ การมีวิสัยทัศน์ที่รอบด้านจะช่วยให้การพัฒนาประเทศไม่พุ่งไปบนแนวทางเศรษฐกิจอย่างแคบ ๆ ที่เอื้อประโยชน์แก่คนส่วนน้อย แต่สร้างปัญหาและความทุกข์แก่คนส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันการพัฒนาประเทศโดยคำนึงถึงทุกมิติ จะทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งมั่นคงขึ้นทั้งในทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ไม่ใช่เจริญแต่ในทางวัตถุดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ความเข้มแข็งดังกล่าวจะทำให้สังคมมีภูมิต้านทานต่อแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา ยิ่งมีการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะทุกระดับ รวมทั้งมีอำนาจจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ภาคประชาชนจะเข้มแข็งขึ้น คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น ขณะเดียวกันก็จะสามารถปกป้องวิถีชีวิตของตนได้โดยสันติวิธี
ในยุคที่กระแสโลกาภิวัตน์กำลังเชี่ยวกราก และมีอำนาจสูงในการครอบงำทำลายวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชน โดยมีกลไกตลาดเป็นเครื่องมือสำคัญของทุนขนาดใหญ่ ชนิดที่ถึงขั้น "กำหนดชะตากรรมของคนส่วนใหญ่ มาไว้ในมือของกลุ่มธุรกิจทั้งในและนอกประเทศไม่กี่กลุ่มเท่านั้น" ซึ่งเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เรียกว่า "การโอนอธิปไตยจากรัฐมาสู่ตลาด" (1) การมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการผลักดันทุกภาคส่วน ให้เข้ามีวิถีชีวิตผูกติดกับตลาดอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะตลาดที่ทุนขนาดใหญ่ครอบงำอยู่ (อาทิตลาดพืชผลจีเอ็มโอ หรือ "ตลาดเสรี" ที่ทำกับประเทศมหาอำนาจ) ย่อมเท่ากับผลักให้ประชาชนเข้าไปติดกับดักที่ยากจะถอนตัวได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ในการปกป้องท้องถิ่นและวิถีชีวิตของตนให้ได้มากที่สุด การพัฒนาสังคมในทุกมิติ ควบคู่กับการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรจะช่วยลดความรุนแรงจากการเอาเปรียบของทุนขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันจะช่วยกำกับและถ่วงดุลมิให้รัฐตกเป็นเครื่องมือของทุนเหล่านี้ในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน ที่คัดค้านการขยายตัวของอำนาจทุน
การมุ่งมั่นเอาชนะหรือได้เปรียบในทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว อาจนำพาประเทศไปสู่อันตราย นั่นคือการเข้าไปอยู่ในอาณัติของโลกาภิวัตน์อย่างเต็มที่ ความข้อนี้ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้เตือนไว้ว่า "ระบบโลกานุวัตรไม่ได้กำหนดเงื่อนไขด้านกติกาเท่านั้น หากเลยไปกำหนดเป้าหมายของรัฐอีกด้วย กล่าวคือเป้าหมายสำคัญได้แก่ การทำให้ประเทศมีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เป็นหนึ่งในสิบของประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในห้าของประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่คนนิยมที่สุดในโลก เป็นต้น" (2)
จะโดยรู้ตัวหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณได้ยอมให้กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาเปลี่ยนเป้าหมายของรัฐไทยไปไม่น้อยแล้ว เพราะบัดนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า "ประเทศคือบริษัท " รัฐบาลและระบบราชการมีหน้าที่ผลักดันธุรกิจทุกระดับ โดยทูตไทยทั่วโลกทำหน้าที่เสนอขายสินค้าไทยไปทั่วโลกไม่ต่างจากเซลส์แมน การศึกษามีจุดหมายเพียงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ขณะเดียวกันโดยอาศัยนโยบายต่าง ๆ อาทิ การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี การส่งเสริมพืชผลจีเอ็มโอ และการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน รัฐบาลไม่เพียงแต่นำประเทศสู่ตลาดโลกเท่านั้น หากยังเป็นสื่อชักนำตลาดโลกและทุนข้ามชาติให้เข้ามาครอบงำ กำกับทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนทั้งประเทศยิ่งกว่าแต่ก่อน การมีอำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อนำพาประเทศฝ่ากระแสโลกาภิวัตน์ตามวิสัยทัศน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ในที่สุดจะลงเอยด้วยการทำให้ประเทศตกเป็นเบี้ยล่างของโลกาภิวัตน์ รัฐแทนที่จะทำหน้าที่ปกป้องผู้คนจากการครอบงำของตลาด กลับทำตัวเป็นเครื่องมือของกลไกตลาดเสียเอง
มีแต่การคิดใหม่ทำใหม่ดังที่กล่าวมาเท่านั้น พ.ต.ท.ทักษิณ จึงจะสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้พ้นจากกับดักแห่งความรุนแรง ซึ่งมากับกระแสโลกาภิวัตน์ และเกิดจากการรวบอำนาจในโครงสร้างเดิม ซึ่งมีรัฐเองเป็นองค์ประกอบสำคัญ
บทบาทของภาคประชาชน
อย่างไรก็ตามหากพูดเพียงเท่านี้แล้วจบ ก็เท่ากับว่ากำลังมอง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอัศวินม้าขาว
(หรือควายดำสุดแท้แต่จะนิยม) การนำพาประเทศออกจากกับดักแห่งความรุนแรงมิใช่ภารกิจที่จะมอบหมายแก่ใครคนได้คนหนึ่งได้
จริงอยู่ พ.ต.ท.ทักษิณมีส่วนไม่น้อยในการพาประเทศไทยถลำลึกในกับดักแห่งความรุนแรง
ดังนั้นตัวท่านเองจึงมีความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่กับดักนี้มิใช่ว่าเพิ่งมีในยุคทักษิณ
หากมีมานานแล้ว โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่รวมศูนย์และก่อความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมได้ก่อตัวกันมานานแล้ว
โดยได้รับการยอมรับ สนับสนุน หรือค้ำยันจากประชาชนส่วนใหญ่ สำนึกและบทบาทของประชาชนในผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างดังกล่าว
จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดก็ว่าได้ สำหรับการนำพาประเทศไทยออกจากกับดักแห่งความรุนแรง
เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ เราไม่อาจฝากความหวังไว้กับผู้นำคนหนึ่งคนใดว่าเขาจะยอมให้อำนาจที่รวมศูนย์อยู่นั้นกระจายออกไปจากมือของตัวเองอย่างง่าย ๆ อำนาจจะกระจายออกไปได้ก็โดยการผลักดันของประชาชนเอง ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชนจึงมีความสำคัญ ประชาชนควรรวมกลุ่มเพื่อขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้างให้หมดไป ด้วยการเคลื่อนไหวให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง ครอบครอง และจัดการทรัพยากรสาธารณะอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันก็มีส่วนรวมมากขึ้นในการแก้ปัญหาปากท้อง พัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งร่วมกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและสังคม ทั้งโดยตรงและโดยผ่านตัวแทน ทั้งนี้โดยตระหนักว่า เพียงแค่การกระจายเงินไปให้ชาวบ้าน (อย่างโครงการ SML) โดยยังคงรวบอำนาจการตัดสินใจไว้ที่รัฐนั้นยังไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เช่นเดียวกันกับรัฐที่ทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ แม้จะหว่านโครงการเอื้ออาทรมามากมายเพียงใด ตราบใดที่ไม่ผลักดันให้มีการกระจายอำนาจ ก็จะไม่ช่วยให้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างลดน้อยลงไปได้เลย
การเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มอำนาจในการดูแลและปกป้องตนเองนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการประท้วงเรียกร้องให้รัฐกระจายอำนาจลงมา เช่น เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เท่านั้น หากยังรวมถึงการขันอาสาเข้าไปรับผิดชอบกิจการส่วนรวมที่ถูกปล่อยปละละเลย เช่น รวมกลุ่มดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน ช่วยกันป้องกันอาชญากรรมในละแวกบ้าน หรือร่วมกันตั้งศูนย์เยาวชนในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาวัยรุ่นมั่วสุม ตลอดจนการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นต้น มีพื้นที่มากมายที่เปิดหรือรอให้ประชาชนเข้าไปมีบทบาทในทางสาธารณะ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนทั้งในด้านจิตสำนึก ความสามัคคี และทักษะในการทำงาน กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชนขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องช่วงชิงมาจากรัฐ การเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่ดังกล่าวจัดว่าเป็นการเมืองอย่างหนึ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชน
กระบวนการสันติวิธี
อย่างไรก็ตามในยุคที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกละเมิด อำนาจถูกรวมศูนย์ไว้ที่รัฐชนิดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
ชุมชนถูกคุกคามด้วยนโยบายการพัฒนาของรัฐ การรวมกลุ่มประท้วงคัดค้านรัฐจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภาคประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเคลื่อนไหวดังกล่าวโดยตัวมันเองย่อมเป็นการต่อสู้กับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
แต่ที่จะต้องตระหนักไปด้วยกันก็คือ การพยายามป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงเชิงกายภาพขึ้นมา
ด้วยเหตุนี้ปฏิบัติการสันติวิธีจึงเป็นสิ่งจำเป็น ปฏิบัติการสันติวิธีมิได้หมายถึงการไม่ใช้อาวุธและพละกำลังเท่านั้น
หากยังรวมถึงการไม่ยั่วยุ คุกคาม หรือก่อความรุนแรงด้วยวาจา ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมพร้อมป้องกันมิให้ความรุนแรงเกิดขึ้นจากทุกฝ่าย
แม้ว่าเป็นการยากที่จะควบคุมการตอบโต้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ
แต่ก็ไม่ควรเปิดช่องให้อีกฝ่ายใช้ความรุนแรง และแม้จะเผชิญกับความรุนแรง ก็สามารถควบคุมดูแลให้ฝ่ายตนอยู่ในความสงบ
ไม่ใช้ความรุนแรงตอบกลับไป จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีการฝึกฝนอย่างจริงจัง
เป็นนิมิตดีที่องค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งมีความคิดที่จะจัดตั้ง "เวทีภาคียุทธศาสตร์สันติวิธี" ซึ่งประกอบด้วยนักคิด นักปฏิบัติ ผู้นำชุมชน ผู้นำเครือข่าย และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ มาพบปะหารือและขับเคลื่อนงานด้านสันติวิธีทั้งในระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และปฏิบัติ. ความริเริ่มดังกล่าวสอดคล้องกับหน่วยงานรัฐบางส่วน อาทิ สถาบันยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ น่าเสียดายที่โอกาสดังกล่าวถูกละเลยจากนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันมาโดยตลอด แต่นั่นก็เท่ากับชี้ว่า ความริเริ่มและความพยายามของภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการนำพาประเทศไทยให้รอดพ้นจากกับดักแห่งความรุนแรง
สิ่งที่น่าจะได้เห็นในขั้นต่อไปก็คือการทำให้เวทีภาคีดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นจริงและมีความเข้มแข็ง แต่แม้จะยังไม่เป็นจริง องค์กรสันติวิธีที่เกิดใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาทิ ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ตลอดจนสถาบันพุทธทาสภิกขุเพื่อสันติภาพก็เป็นนิมิตหมายที่ดีอีกประการหนึ่ง ข้อสำคัญก็คือ องค์กรเหล่านี้จำเป็นจะต้องตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และแลเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนโดยสันติวิธี เพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่ก่อความรุนแรงดังกล่าว แม้ว่าองค์กรเหล่านั้นจะไม่ไปลงมือทำเองก็ตาม
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตามไม่ควรมองว่า การเมืองภาคประชาชนมีความสำคัญสำหรับการลดความรุนแรงเชิงโครงสร้างเท่านั้น
ยังมีความรุนแรงอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่อาจมองข้ามได้เลย นั่นคือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม คือความคิดความเชื่อหรือทัศนคติที่เป็นตัวรองรับสนับสนุนความรุนแรงทางกายภาพและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
เป็นตัวการที่ทำให้ความรุนแรงทั้ง ๒ ประเภทกลายเป็นสิ่งชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของสังคมส่วนใหญ่
(3)
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมกำลังเป็นปัญหาที่น่าวิตกอย่างยิ่งในสังคมไทย มันมิใช่อุบัติการณ์ที่ปรากฏออกมาเป็นครั้งคราว หากแสดงตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่มาแห่งความรุนแรงที่เห็นจนชินตา อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว แต่นับวันมันจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงแบบรวมหมู่บ่อยขึ้น ความกระเหี้ยนกระหือของประชาชนผู้รักชาติซึ่งร่วมก่อความรุนแรงในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ นั้นมิใช่อุบัติเหตุหรือไร้ที่มา มันสะท้อนถึงความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย และยังไม่หายไปไหน หากยังปรากฏให้เห็นเนือง ๆ ดังเห็นได้จากการแซ่ซ้องสรรเสริญของประชาชน เมื่อมีการสังหารหมู่พลพรรคก๊อดอาร์มี่ที่ราชบุรี เมื่อปี ๒๕๔๓ และเมื่อมีการฆ่าตัดตอนกว่า ๒,๕๐๐ ศพ เมื่อปี ๒๕๔๖ และล่าสุดคือ เมื่อมีการสังหารผู้ก่อความไม่สงบถึง ๑๐๘ คนเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายนที่ผ่านมา(เหตุการณ์กรือเซะ) ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความรุนแรงอีกมากมายในระดับที่เล็กลงมาทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่กำลังเป็นปัญหาประการแรกคือความเชื่อที่ว่า คนชั่วนั้นไม่มีศักดิ์และสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ หากสมควรที่จะต้องกำจัดออกไป ยิ่งเป็นฆาตกรด้วยแล้วต้องฆ่าให้ตายตกไปตามกันโดยไม่ต้องคำนึงถึงศีลธรรมหรือกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่สะท้อนทัศนะดังกล่าวชัดเจนเท่ากับคำพูดของเกจิอาจารย์ท่านหนึ่งที่ว่า "ฆ่าคนขายยาบ้าบาปเท่ากับตบยุงตาย ๑ ตัว อย่าให้มันอยู่รกแผ่นดิน ไม่ต้องให้มันไปติดคุก" แม้ไม่ต้องพูดถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนาซึ่งปฏิเสธการฆ่าในทุกกรณี เพียงมองในแง่กฎหมาย ทัศนะเช่นนี้มีแต่จะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ เพราะสนับสนุนให้ไม่ต้องมีขื่อแปใด ๆ ทั้งสิ้น
ทัศนคติดังกล่าวทำให้ผู้คนสมาทานลัทธิตาต่อตา ฟันต่อฟัน ไปได้อย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้ คนเป็นอันมากจึงเข้าใจไม่ได้เมื่อคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ มีข้อสรุปว่า การที่เจ้าหน้าที่ปาระเบิดเข้าไปในมัสยิดนั้นเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เพราะในทัศนะของคนจำนวนไม่น้อย ผู้ก่อความไม่สงบที่หลบอยู่ในมัสยิดนั้นสมควรตายสถานเดียว ไม่จำต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น ความเชื่อว่าการแก้แค้นนั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ใคร ๆ ก็ทำได้ โดยไม่ต้องรอศาลยุติธรรม กำลังระบาดอย่างแพร่หลาย เราจึงเห็นการรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์เกิดขึ้นเป็นอาจิณ ราวกับว่าพลเมืองดีมีสิทธิละเมิดกฎหมายหรือละเมิดศีลธรรมก็ได้ หากกระทำกับคนชั่ว
ความรุนแรงนั้นมีพลวัตของมันเอง ในด้านหนึ่งความรุนแรงจะพัฒนาไปในลักษณะที่ร้ายแรงมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งเหยื่อของความรุนแรงก็จะตีวงกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ฆาตกรหรือผู้ค้ายาบ้าเท่านั้น หากยังรวมไปถึง "ผู้ไม่รักชาติ" หรือคนที่ "ไม่ใช่ไทย" ดังที่นักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้ประสบมาแล้ว และคนไทยในสามจังหวัดภาคใต้ได้ประสบมาตลอด ทั้งโดยถูกฆ่าอย่างเปิดเผยหรือถูกอุ้มหายตัวไป
ประเด็นนี้โยงไปสู่ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมประการต่อมา นั่นคือ ความเชื่อแบบชาตินิยมที่คับแคบ ได้แก่ชาตินิยมแบบชาติพันธุ์ ที่ถือว่าเชื้อชาติไทยเท่านั้นที่เป็น "ไทย" เชื้อชาติจีนหรือเชื้อชาติมลายูไม่มีสิทธิเป็นไทย ยิ่งไปกว่านั้นชาตินิยมแบบชาติพันธุ์ดังกล่าวยังควบคู่กับชาตินิยมที่เน้นวัฒนธรรมจำเพาะ กล่าวคือ ต่อเมื่อนับถือศาสนาพุทธ และพูดไทยเท่านั้นถึงจะเป็น "ไทย" ชาตินิยมดังกล่าวก่อให้เกิดความรุนแรงก็เพราะ ได้กดคนไทยจำนวนไม่น้อยที่นับถือศาสนาคริสต์หรืออิสลาม พูดไทยไม่ได้ ให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับคนที่มีเชื้อชาติไทยหรือนับถือศาสนาพุทธ ชาตินิยมแบบคับแคบดังกล่าวแม้จะเพิ่งเกิดเมื่อ ๘๐ ปีมานี้ แต่ได้ฝังลึกและยังมีอิทธิพลไม่น้อยกับคนปัจจุบัน. เกษียร เตชะพีระเคยถามนักศึกษาในชั้นว่า "นักศึกษาคิดว่าตนเองเป็นคนไทยหรือไม่ ?" ปรากฏว่า ในจำนวน ๙๑ คน, มีผู้ตอบว่า ตนไม่ได้เป็นคนไทย ๑๐ คน, และตอบอย่างกำกวม ๒๔ คน, สาเหตุสำคัญก็เพราะ ผู้ตอบนั้นนับถือศาสนาคริสต์หรือไม่ก็อิสลาม เป็นลูกจีนหรือไม่ก็มีเชื้อแขก มิได้มีเชื้อไทยแท้ ๆ (4)
ในระยะหลังชาตินิยมหรือความเป็นไทยที่คับแคบนี้ ได้ถูกนำมาใช้กับคนที่มีความคิดเห็นต่างจากตน โดยไม่จำต้องเป็นความคิดทางการเมืองเท่านั้น ไม่ใช่แต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไม่ใช่ไทย ใครก็ตามที่เห็นขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่ในเรื่องประวัติศาสตร์หรือความเชื่อท้องถิ่น เช่น ตั้งคำถามเกี่ยวกับวีรกรรมของท้าวสุรนารี หรือไม่เชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือไม่เห็นด้วยกับการห้ามผู้หญิงเข้าไปชั้นในของพระเจดีย์ที่มีพระธาตุอยู่ข้างใต้ ก็ถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทยไปในทันที ผลที่ตามมาคือถูกกลุ่มพลังมวลชนเผาพริกเผาเกลือและสาปแช่ง น่าสงสัยว่าหากผู้ที่เห็นขัดแย้งดังกล่าวตกอยู่ในท่ามกลางผู้ชุมนุมเหล่านั้น เขาจะรอดออกมาได้โดยสวัสดิภาพหรือไม่
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดขันติธรรมและเมตตาธรรมในหมู่คนไทย ซึ่งเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมประการต่อมา นับวันผู้คนจะยอมรับความเห็นที่ต่างจากตนได้ยาก และมีแนวโน้มที่จะมองเห็นคนเหล่านั้นเป็นศัตรู เมื่อมองเห็นเป็นศัตรูย่อมรู้สึกชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงกับคนเหล่านั้นได้ง่าย อย่างน้อยก็ใช้ความรุนแรงทางวาจา ดังเห็นได้ทั่วไปตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ ในแวดวงอินเตอร์เน็ต น่าสังเกตว่ากระบวนการดังกล่าวจะเริ่มจากการขีดเส้นแยกอีกฝ่ายให้เป็น "คนอื่น" หรือ "พวกมัน" จากนั้นก็กดอีกฝ่ายให้มีสถานะต่ำลง ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายคือการตีวงให้อีกฝ่ายเป็น "เสียงส่วนน้อย" จากนั้นก็ประทับตราว่า "ไม่ใช่คนไทย" หรือตั้งคำถามว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า ?" ตามมาด้วยการกล่าวหาว่า "ไม่รักชาติ" เมื่อเป็นคนไม่หวังดีต่อชาติเสียแล้ว ก็ง่ายที่จะตีตราคาดโทษว่าเป็น " คนชั่ว" ถึงตรงนี้ก็ย่อมรู้สึกชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงกับคนเหล่านั้นอย่างน้อยก็ทางวาจา หากมีอำนาจก็ย่อมทำมากกว่านั้น ทุกวันนี้วาทกรรมประชาธิปไตย ตามด้วยวาทกรรมชาตินิยม และตบท้ายด้วยวาทกรรมศีลธรรม กำลังถูกนำมาใช้สนับสนุนความคิดที่คับแคบและทัศนคติที่นิยมความรุนแรงอย่างเด่นชัดขึ้นทุกที ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวอย่างชัดเจนในการใช้วิธีการดังกล่าวกับผู้ที่เห็นต่างจากตน
อันที่จริงมีความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอีกหลายประการ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง อาทิ ทัศนคติที่ถือว่าผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว และดังนั้นจึงมีสิทธิที่จะใช้ความรุนแรงกับภรรยาหรือคู่ครอง โดยถือว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัวที่คนอื่นไม่เกี่ยว ทัศนคติดังกล่าวสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้หญิงเป็นจำนวนมากในสังคมไทย นอกจากนั้นยังได้แก่ทัศนคติรังเกียจคนจน เห็นคนจนเป็นคนขี้เกียจ ได้ไม่รู้จักพอ ถูกหลอกง่าย ไม่รู้จักคิด ดังนั้นผู้คนทั่วไปรวมทั้งรัฐบาลเอง จึงมีความรู้สึกในทางลบต่อชาวนาชาวไร่ ที่มาชุมนุมประท้วงเพราะเชื่อว่ามีมือที่สามมายุแหย่ รวมทั้งไม่รู้สึกอินังขังขอบที่เขาเหล่านั้นถูกเอารัดเอาเปรียบ ทัศนคติดังกล่าวสนับสนุนให้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างยังดำรงอยู่อย่างหนาแน่น
หากความรุนแรงทางกายภาพเป็นเรื่องของตัวบุคคล และความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องของระบบหรือโครงสร้างที่อยู่เหนือตัวบุคคล ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมก็คือสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในจิตสำนึกของบุคคลซึ่งประกอบกันเป็นสังคม ความรุนแรงในระดับจิตสำนึกนี้เองที่เป็นพื้นฐานให้กับความรุนแรงอีก ๒ ประเภท ด้วยเหตุนี้ หากต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดจากความรุนแรงอย่างแท้จริง จำเป็นที่เราจะต้องช่วยกันขจัดความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมไปพร้อม ๆ กับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่เป็นปัญหาขั้นพื้นฐานก็คือ "การขาดขันติธรรม"และ"เมตตาธรรม" เมื่อครั้งที่หมอบรัดเลย์มาประกาศศาสนาคริสต์ที่เมืองไทยราว ๆ ๑๕๐ ปีก่อน มีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งหมอบรัดเลย์ได้ยืนประกาศศาสนาหน้าร้านขายพระพุทธรูป พร้อมกับโจมตีการนับถือรูปเคารพไปด้วย หมอบรัดเลย์พูดโจมตีจนเหนื่อยเนื่องจากอากาศร้อน เจ้าของร้านซึ่งนั่งฟังอยู่อย่างสงบ รู้สึกสงสารจึงเชิญหมอบรัดเลย์มานั่งพักในร้าน และสอบถามว่าเหตุใดเขาจึงทำอย่างนั้น ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในกรุงเทพ ฯ ทุกวันนี้เราคงนึกได้ไม่ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับหมอสอนศาสนาผู้นั้น เห็นได้ชัดว่า ขันติธรรมและเมตตาธรรมที่เจ้าของร้านแสดงออกมานั้นได้ขาดหายไปอย่างมากจากจิตใจของคนไทยทุกวันนี้ เรามีความยึดมั่นถือมั่นในความคิดกันมากขึ้น และทนความคิดเห็นที่ต่างออกไปได้น้อยลง ที่จริงไม่ใช่แต่ความต่างทางความคิดเท่านั้น แม้ความต่างในด้านอื่น ๆ ก็สามารถทำให้เกิดความแตกแยกกันได้ง่าย อาทิ ความต่างทางศาสนา เชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา สถาบัน และแม้แต่ความต่างทางเพศและวัย
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ (คลิกไปอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกันตอนต่อไป)
เชิงอรรถ
(1) เสกสรรค์ ประเสริฐกุล "การเมืองภาคประชาชนในยุคโลกาภิวัตน์:หลักการและความจำเป็นทางสถานการณ์" ใน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง บ.ก.รู้ทันทักษิณ ๒ (กรุงเทพ:ขอคิดด้วยคน ๒๕๔๗) น.๑๕๒(2) ชัยอนันต์ สมุทวณิช จากรัฐชาติสู่รัฐตลาด (กรุงเทพ:บ้านพระอาทิตย์ ๒๕๔๔) น.๙๙
(3) ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาวุธมีชีวิต?:แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง (กรุงเทพ:ฟ้าเดียวกัน ๒๕๔๖) น.๕๑)
(4) เกษียร เตชะพีระ "คำถามความเป็นไทย" ตอน ๑-๒ มติชนรายวัน วันที่ ๓๐ กรกฎาคม และ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ น.๖
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90