บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Thainess Construction
Midnight
University
ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน
รัชกาลที่
๕: การสร้างวิธีคิดเกี่ยวกับสังคม และวัฒนธรรมไทย (๒)
รองศาสตราจารย์
สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
งานวิจัยต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ขอรับมาจากผู้วิจัย
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำหรับโครงการ:
"ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.๒๔๓๕-๒๕๓๕)"
โดย รองศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ (สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)
เนื้อหาสมบูรณ์ของโครงงานวิจัย ประกอบด้วย ๑๓ บท เป็นการศึกษาวิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและ
วัฒนธรรมไทยของปัญญาชนจำนวน ๑๐ ท่าน ดังนี้: - พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
- หลวงวิจิตรวาทการ - พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
- พระยาอนุมานราชธน - ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ - สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะทะยอยเผยแพร่ไปตามลำดับบท อย่างต่อเนื่อง
สำหรับในบทนี้ นำมาจากบทที่
๒ ของงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เดิมชื่อ
การสร้าง "วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย"
โดยปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์: พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๕๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๖ มกราคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๓๒ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน
รัชกาลที่
๕: การสร้างวิธีคิดเกี่ยวกับสังคม และวัฒนธรรมไทย (๒)
รองศาสตราจารย์
สายชล สัตยานุรักษ์ : ผู้วิจัย
ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความสำคัญของพุทธศาสนา
ถึงแม้ว่าจะเกิดการปฏิรูปการปกครอง และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
จนกระทั่งจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิและคติปัญจอันตรธานเป็นที่เชื่อถือน้อยลงมาก
แต่ตลอดรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงให้ความสำคัญแก่พุทธศาสนาเป็นอย่างสูง
จนต้องทำให้เกิดการรับรู้ว่าพุทธศาสนาเป็นหัวใจอย่างหนึ่งของ "ความเป็นไทย"
ที่จะละทิ้งเสียมิได้ ทั้งนี้ก็เพราะ พุทธศาสนามีความสำคัญต่อพระมหากษัตริย์และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลายมิติด้วยกัน
นับตั้งแต่ต้นรัชกาลมาแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาศัยพุทธศาสนาเพื่อเสริมสร้างพระบารมี เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในประเทศนับถือพุทธศาสนา การเสริมสร้างพระบารมีของพระมหากษัตริย์ด้วยพระราชกรณียกิจทางพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ใน พ.ศ.2413 อันเป็นปีที่ 2 ที่ทรงครองราชย์ ขณะทรงมีพระชนม์มายุ 17 พรรษา และอำนาจส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสนอพระราชดำริว่าจะทรงสร้างพระพุทธรูปในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ถึงแม้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะได้คัดค้าน ด้วยเหตุผลว่า "เปลืองเงินเปลืองทองเปล่า" และ "ยังหนุ่มอยู่" ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำบุญต่ออายุ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประสบความสำเร็จด้วยการ "อธิบายกันไปในเรื่องที่จะต้องตั้งถือน้ำ เป็นต้น จึงได้ตกลงเป็นอันได้" (18)
นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชานุกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณีอย่างสม่ำเสมอ เช่น การทรงบาตร การสดับพระธรรมเทศนา การนมัสการพุทธศาสนสถานที่สำคัญและบำเพ็ญพระราชกุศลเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปในหัวเมืองต่าง ๆ ตลอดจนการเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกุศลในวันสำคัญทางพุทธศาสนา (19)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ "พระราชวิจารณ์วิจารณ์เทียบลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานกับมหายาน" ซึ่งช่วยยืนยันว่า พระองค์ทรงมีความรอบรู้ในเรื่องพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราชซึ่งเทรงป็น "เอมเปรอใหญ่ยิ่งกว่าเอมเปรอทั้งหลายซึ่งได้มีมาในอินเดีย เปนคอนสแตนไตน์ของพุทธศาสนา" ซึ่งก็คือ "พระบรมมหาธรรมิกราชาธิราช" ที่เป็นแบบอย่างในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา ในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดี เพราะพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงทำให้เป็น "ศาสนาของราษฎร" และเป็น "ศาสนาของแผ่นดิน" ดังความว่า
...อโศกนี้เอมเปอเรอใหญ่...กล่าวได้ว่าเปนผู้ตั้งสาสนาพระพุทธขึ้นเปนศาสนาของราษฎร...ยกขึ้นเปนสาสนาสำหรับแผ่นดินด้วย เปนสาสนาซึ่งมีความมุ่งหมายมากแต่บังคับกดขี่น้อย เพราะเปนเหตุฉะนั้นจึงได้ถือแพร่หลายในหมู่ราษฎรทั้งปวง.. .เธอเปนผู้มีราชศรัทธา...ด้วยเจดีย์ฐานและการก่อสร้างสำหรับพุทธศาสนา...ไม่ได้คิดถึงพระราขทรัพย์เลย โดยที่พระองค์เปนพระราชาธิราชแท้ (20)
การที่ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราช ว่าทรงทำให้พุทธศาสนาเป็น "ศาสนาของราษฎร" และเป็น "ศาสนาของแผ่นดิน" นี้ จะช่วยปูทางให้แก่พระองค์เอง ในการที่จะทำให้พุทธศาสนาแบบที่ทรงต้องการเน้นกลายเป็น "ศาสนาของราษฎร" และ "ศาสนาของแผ่นดิน" หรือศาสนาแห่งชาติเช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราชในพระราชนิพนธ์ ทั้งนี้ พระองค์ทรงตระหนักดีว่า พุทธศาสนาจะสามารถตอบสนองพระบรมราโชบายในการสร้างความมั่นคงให้แก่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ ก็ต่อเมื่อทรงนำธรรมยุติกนิกายของพระราชบิดามาเป็นฐานในการปรับเปลี่ยน ทั้งในเรื่องของหลักคำสอน พิธีกรรม ตลอดจนบทบาทของวัดและพระสงฆ์ พระราชนิพนธ์ "พระราชวิจารณ์วิจารณ์เทียบลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานกับมหายาน" จึงไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นถึงความรอบรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาของพระองค์ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ พระราชนิพนธ์เรื่องนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจโดยนัยด้วยว่า การตีความพุทธศาสนาใหม่และการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ เพราะปราชญ์ทางพุทธศาสนาในอดีตได้เคยทำมาแล้ว จนกระทั่งพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น "ลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานกับมหายาน" อีกทั้ง "ราชาธิราช" ที่ยิ่งใหญ่เช่นพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ได้ทรงเปลี่ยนแปลงพุทธศาสนาเป็นอันมาก
นอกจากจะทรงแสดงความหมายโดยนัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงเน้นในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาด้วยว่า
ยังมีพยานอีกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจวนจะปรินิพพาน ยังได้อนุญาตไว้ว่า สิกขาวินัยอะไรควรจะคงไว้ ก็ให้คง ถ้าควรจะยกเสีย ก็ให้ยกเสีย ควรจะเพิ่มขึ้นก็ให้พร้อมกันเพิ่มขึ้น ข้อนี้ให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าถือเอาทางตรัสรู้เปนสำคัญ ไม่ถือวัตตปฏิบัติเปนหลักฐาน (21)
เนื่องจากพุทธศาสนาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถูกท้าทายเป็นอย่างมากจากคริสต์ศาสนา และพระองค์ก็ได้ทรงเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปเป็นแบบตะวันตกในหลายเรื่อง ทำให้เกิดความวิตกอยู่ไม่น้อยว่าพระมหากษัตริย์จะทรงเปลี่ยนศาสนาด้วย ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงทำให้คนทั้งหลายเชื่อมั่นว่าพระองค์จะนับถือพุทธศาสนาและทำนุบำรุงพุทธศาสนาตลอดไป เช่น ทรงมีพระราชดำรัสว่า "เมื่อข้าพเจ้าได้ดำรงราชสมบัติแล้ว ก็ตั้งใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แลทำนุบำรุงพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงอยู่เปนนิจ...ข้าพเจ้าอาจปฏิญาณใจได้ว่า ถ้าชีวิตข้าพเจ้ายังอยู่ตราบใดแล ข้าพเจ้าคงจะคิดทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่เปนนิจ" (22)
ก่อนเสด็จประพาสยุโรปใน พ.ศ.2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำให้พระสงฆ์และบุคคลทั้งหลายในประเทศมีความมั่นใจว่า จะไม่ทรงเปลี่ยนศาสนาอย่างแน่นอน และจะ "รักษาตนให้สมควรแก่ที่เปนเจ้าของประชาชนชาวสยามทั้งปวง" ด้วยการ "ปติญานตนเฉภาะหน้าพรสงฆเถรานุเถรทั้งหลาย" ดังนี้
"ข้าพเจ้าจะไม่มีจิตรยินดีน้อมไปในสาสนาอื่น นอกจากสมเด็จพรสัมมาสัมพุทธเจ้า แลพรธรรมอันพระองค์ได้ตรัสรู้ชอบดีแล้ว กับทั้งพรสงฆ์หมู่ใหญ่ อันได้ประพฤติตามคำสั่งสอนของพรสัมมาสัมพุทธเจ้าพรองค์นั้นเลยเปนอันขาด จนตราบเท่าสิ้นชีวิตร
...จะไม่ร่วมประเวณีด้วยสตรีใด จนกลับเข้ามาถึงในพรราชอาณาเขตร
...จะไม่เสพสุราเมรัยให้มึนเมาสียสติ ฤาแม้แต่มีกายวิกลเกินปรกติ" (23)
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ทางพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ แม้แต่ "ในเวลาที่เสด็จอยู่ห่างไกลนอกพุทธเขตต์...กิจเล็กน้อยก็หาทรงละเมินไม่" อันทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่าทรงมี "พระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา" เป็นอย่างยิ่ง (24)
ศีลธรรมของพุทธศาสนา ยังคงมีความสำคัญมากต่อการจัดระเบียบและควบคุมสังคมใน ขณะที่มีการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่รัฐยังขาดกลไกสมัยใหม่ที่จะควบคุมความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของคนในระบบเศรษฐกิจและการเมืองใหม่ อีกทั้งการสถาปนา "ชาติ" ขึ้นมา ก็ทำให้ต้องการศีลธรรมใหม่ที่จะจรรโลง "ชาติ" ให้มั่นคงด้วย ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและปัญญาชนทุกพระองค์ในเวลานั้น จึงปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องการปลูกฝัง "ธรรม" ของพุทธศาสนา
ขณะเดียวกันการเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในขณะที่ระบบราชการสมัยใหม่ยังไม่เข้มแข็ง แต่ต้องยกเลิกระบบไพร่และระบบทาส ก็ทำให้ชนชั้นนำต้องหา "ตัวเชื่อม" ระหว่างรัฐบาลกับราษฎร ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงพระดำริว่า พระสงฆ์จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่ต้องเปลี่ยนพระสงฆ์ทั่วประเทศให้เข้ามาอยู่ในระบบการปกครองและระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ที่พระองค์จัดขึ้นเสียก่อน แล้วพระสงฆ์ก็จะสามารถ ทำหน้าที่ ใน "ข้อสำคัญ คือ เป็นทางเชื่อมให้สนิทระหว่างรัฐบาลกับราษฎร" (25) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมอบหมายให้พระราชอนุชาคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้
ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ ชนชั้นนำได้ประกาศอย่างตรงไปตรงมาแล้วว่า คติปัญจอันตรธานและเรื่องนรกสวรรค์เป็นความเชื่อที่เหลวไหล จึงไม่อาจใช้ความเชื่อดังกล่าวในการควบคุมพฤติกรรมของคนอีกต่อไป ขณะเดียวกันก็มีความวิตกว่า "คนที่ได้เล่าเรียนคงจะประพฤติตัวดีกว่าคนที่ไม่ได้เล่าเรียนนั้น หาถูกไม่ คนที่ไม่มีธรรมเปนเครื่องดำเนินตาม คงจะหันทางทุจริตโดยมาก ถ้ารู้น้อยก็โกงไม่ค่อยคล่อง ฤาโกงไม่สนิท ถ้ารู้มากก็โกงคล่องขึ้น แลโกงพิศดารมากขึ้น" (26) ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระราชหัตถเลขาไปยังสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้สอนพุทธศาสนาไปในทางที่จะทำให้คน "มีคุณธรรมในสันดาน" (27)
การดำเนินนโยบายสอนพุทธศาสนาในโรงเรียน สอดคล้องกับนโยบายในการทำให้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ มีความคิดความเชื่อทางศาสนาคล้ายคลึงกัน และมีความผูกพันกับพุทธศาสนาที่มีลักษณะเฉพาะถิ่นน้อยลง แต่ด้วยเหตุที่ครูในโรงเรียนยังขาดความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบที่ชนชั้นนำต้องการเน้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงอาราธนาให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเขียนหนังสือพุทธศาสนาที่บังคับให้โรงเรียนนำไปใช้ ซึ่งทรงเน้นให้เขียนในลักษณะที่เข้าใจง่าย แม้แต่คำถามที่จะให้นักเรียนตอบ ก็ต้องเขียนไว้ให้ครูได้นำไปใช้ในการถามนักเรียน
...ถ้ามีหนังสืออ่านสำหรับโรงเรียนที่บังคับให้โรงเรียนต้องสอนกัน แต่ให้เปน อย่างใหม่ ๆ ที่คนจะเข้าใจอย่างง่าย ๆ และเปนความประพฤติของคฤหัสถ์ขั้นต่ำ ๆ ขึ้นได้ จะเปนคุณประโยชน์มาก หนังสือเช่นนี้เสมออธิบายธรรมจักก็ยังสูง ต้องให้เปนหนังสือชาวบ้านมาก ๆขึ้น...และมีคำถามสำหรับครูสอบถาม เช่น ศีล 5 ถามว่าอะไร...ซึ่งให้เด็กต้องจำในใจ คำซึ่งเปนหัวใจเช่นนั้นได้ (28)
ความกังวลประการหนึ่งก็คือ ผู้ที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่อย่างครี่ง ๆ กลาง ๆ โดยไม่มีที่ให้เรียนในระดับสูงขึ้นและไม่มีงานไว้รองรับ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกทีนั้น จะทำตัวเป็นคนเอาอย่างตะวันตก ไม่สนใจขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมของไทย และละเลยธรรมะ ดังที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงปรารภในหนังสือที่ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความตอนหนึ่งว่า
นักเรียนผู้เรียนจบอักขรสมัยแลภาษาแล้ว ไม่มีวิชาจะเรียนต่อไป ไม่มีความรู้ที่จะทำการให้เปนประโยชน์ได้มากพอ ...ซ้ำสำคัญตัวว่าเปนนักเรียนมีสติปัญญาความรู้...จะประพฤติอะไรก็เปนโซ๊ตไปครบไตรทวาร ข้อนี้ทำสันดานให้ปราศจากคุณธรรม เปนอบายมุขอย่างยิ่ง ควรหาอุบายแก้ด้วยการสอนให้มีวิชาความรู้พอจะประกอบกิจอันเปนประโยชน์ แลมีธรรมในสันดานสมแก่ที่เขาสำคัญตัว ถ้าได้อย่างนี้ คนเหล่านี้จะกลับเปนประโยชน์แก่บ้านเมืองมากขึ้น (29)
ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเป็นผู้ดำเนินการ ให้ผู้ได้รับการศึกษาแผนใหม่ตลอดจนคนทั่วไปในประเทศได้ "มีธรรมในสันดาน" โดยองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคอยพระราชทานพระดำริและทรงดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การสอนพุทธศาสนาเป็นไปในทิศทางที่ทรงมีพระราชประสงค์ เช่น ทรงกำหนดกรอบความคิดของพระเทศนาที่พระสงฆ์จะแสดง และทรงตรวจแก้ร่างพระธรรมเทศนาของพระสงฆ์ในโอกาสสำคัญ ๆ ด้วยพระองค์เอง (30) แม้แต่พระนิพนธ์เรื่อง "เบญจศีลเบญจธรรม" ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งจะใช้เป็นตำราเรียนสำหรับนักเรียน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเป็นผู้พระราชทานพระราชดำริในการเขียน และเมื่อทรงเขียนฉบับร่างเสร็จแล้ว ก็ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร ซึ่งปรากฏว่าทรงตรวจแก้และเพิ่มเติมเนื้อความบางตอนก่อนที่จะตีพิมพ์เผยแพร่ (31)
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะให้คนทุกกลุ่มมีความ "ความสามัคคี" กันภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ เพื่อจะป้องกันมิให้เกิดการต่อต้านพระราชอำนาจ พระองค์จึงทรงนำหลักธรรมเรื่อง "ความสามัคคี" ของพุทธศาสนามาเน้นเป็นพิเศษ พร้อมกันนั้นก็ทรงทำให้คนทั้งหลายเชื่อด้วยว่าความแตกต่างทางความคิดเป็นที่มาของ "การแตกสามัคคี" ดังนั้น เมื่อคณะเจ้านายข้าราชการซึ่งมีหม่อมเจ้าปฤษฎางค์เป็นผู้นำ ทูลเกล้าฯ ถวาย "คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ.103" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตอบคำกราบบังคมทูลดังกล่าว ด้วย "พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคี" ซึ่งเน้นว่า การคิด "ต่าง" คือการ "แตก" เป็น "พวก" จึงควรคิดไปในแนวทางเดียวกันภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ ดังความว่า
"ถ้าจะคิดทำนุบำรุงบ้านเมืองจริง ๆ แล้ว จะใช้ความคิดอย่างแรงทั้งสองอย่าง คือตั้งเป็นพวกที่มีความคิดต่างแตกกันเป็นสองพวกอย่างฝรั่งนั้น ยากกว่าที่จะจัดการให้ความคิดร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตามอย่างเก่า โดยว่าเจ้าแผ่นดินจะอนุญาตให้ทำ...เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะรวมความคิดเข้าเป็นกลาง ให้ลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน...ปลงใจพร้อมกันคิดอ่าน ไม่ต้องถือว่าเป็นความคิดพวกนั้นพวกนี้" (32)
ดังนั้น ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมิได้ทรงสร้างความหมายของ "ชาติ" อย่างละเอียดชัดเจน แต่ทรงเน้นเรื่องความสามัคคีของคนทุกชั้นใน "ชาติ" เป็นอย่างมาก นอกจากจะทรงมอบหมายให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสปลูกฝังศีลธรรมในข้อนี้ผ่านการเทศน์ของพระสงฆ์แล้ว บ่อยครั้งที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง "ความสามัคคี" โดยเน้นว่าเป็น "ธรรม" ที่พึงปฏิบัติ เป็นต้นว่า พระบรมราโชวาทในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเศกเมื่อ พ.ศ.2451 มีความว่า
ธรรมอันเปนอุปการะใหญ่ ในที่จะตั้งความปกครองให้เปนหลักฐานมั่นคง และเปนการสำเร็จได้ด้วยดีนั้น คือต้องอาศัยสามัคคีเปนที่ตั้ง...ให้เกิดมีความสามัคคีต่อกันตั้งแต่พระบรมราชวงศ์ลงไปจนถึงอาณาประชาราษฎร์ ให้เกิดสมัครสโมสรไว้วางใจกัน ให้อาณาประชาชนเชื่อมั่นในการปกครอง ว่าจะดำเนินไปในทางซึ่งจะให้เจริญสุขสมบัติ (33)
จะเห็นได้ว่า ในรัชกาลที่ 5 ศีลธรรมของพุทธศาสนาในฐานะศาสนาแห่งชาติ ได้รับการเน้นในมิติที่เอื้อต่อความมั่นคงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นอย่างมาก
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำให้พระไตรปิฎก "กลายเป็นไทย" ด้วยการที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฎกแล้วพระราชทานพระราชทรัพย์ในการพิมพ์ด้วยตัวอักษรไทย แล้วพระราชทานไปยังวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ละวัดที่ได้รับพระราชทานพระไตรปิฎกนี้จะจัดให้มีงานฉลองอย่างใหญ่โต ด้วยการสวดมนตร์ เวียนเทียนสมโภช และมหรสพรื่นเริง อันทำให้ประชาชนทั่วไปในท้องถิ่นได้รับรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา ในการพระราชทานพระไตรปิฎกนี้ ทรงเตือนว่ามิให้พระสงฆ์นำพระไตรปิฎกไปเก็บเอาไว้เฉย ๆ และมิให้ถือเป็นสมบัติส่วนตัว "ควรมีข้อบังคับติดไปกับตู้ส่งหัวเมืองด้วย เปนต้นว่า อย่าให้ยืมจนหาย ทำลาย ฤาปิดไม่ให้คนอ่าน ต้องผ่อนผันให้ควรแก่ประโยชน์ แลของวัด ห้ามอย่าให้ถือเอาเปนของสำหรับตัวด้วย" (34) นับเป็นการสืบทอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสถาปนาธรรมยุติกนิกาย ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์จะให้พระภิกษุสามเณรศึกษาธรรมะจากพระไตรปิฎก เพื่อทำให้เกิดมาตรฐานกลางของความคิดทางพุทธศาสนาที่คนทั่วประเทศยึดถือร่วมกัน จนเกิดเอกภาพในทางความคิดและความเชื่อซึ่งเอื้อต่อเสถียรภาพของระบอบการเมืองการปกครอง
นอกจากพระไตรปิฎกแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงทำให้แนวความคิดทางพุทธศาสนา "เป็นไทย" มากขึ้น เพื่อทำให้คนใน "ชาติ" ที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองต่าง ๆ มีความรู้สึกนึกคิดทางพุทธศาสนา "แบบไทย" อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งนี้ พระองค์ทรงอาราธนาให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวิรญาณวโรรส ทรงพระนิพนธ์หนังสือทางพุทธศาสนาด้วยภาษาไทย เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง แทนหนังสือพุทธศาสนาในหัวเมืองซึ่งมีทั้งที่ "เหลว ๆ ไหล ๆ" และที่ "ลึกเกินไป" ดังความในพระราชหัตถเลขาที่ถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวิรญาณวโรรส ว่า
...เหนว่าการศาสนาในหัวเมืองอยู่ข้างจะเหลวไหลเสื่อมทรามมาก ...มีแต่หนังสือที่เหลว ๆ ไหล ๆ ฤาหนังสือที่ลึกเกินไป ผู้อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง จึงเหนว่าถ้าแต่งหนังสือเทศน์ที่เข้าใจง่าย ๆ ...แต่งให้เปนคำไทย ๆ อย่าให้ติดศัพท์มาก ...ตีพิมพ์ออกมาให้พระสงฆ์สามเณรตามหัวเมืองเทศนาสั่งสอนสัปรุศ เหนว่าการศาสนาที่แท้จริงจะแพร่หลายเปนประโยชน์มาก (35)
การเน้นความสำคัญของพระไตรปิฏกและหนังสือธรรมะที่แต่งเป็นภาษาไทย ในการเผยแผ่คำสอนของพุทธศาสนานี้ มีความสำคัญในทางการเมืองอย่างยิ่ง เพราะช่วยลดความแตกต่างของความคิดทางพุทธศาสนาให้น้อยลง ในเวลานั้นแต่ละท้องถิ่นนับถือพุทธศาสนาที่มีลักษณะเฉพาะถิ่น และพระสงฆ์ในท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการถ่ายทอดความคิดและพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ทำให้เกิดความแตกต่างหลากหลายของความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งไม่เอื้อต่อการสร้างอุดมการณ์ที่จรรโลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จำเป็นจะต้องลดบทบาทของพระสงฆ์ในการสอนศาสนา จนกว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงพระสงฆ์ในท้องถิ่นให้ "กลายเป็นไทย" ได้สำเร็จ ขณะเดียวกันก็ต้องเปลี่ยนมาเน้นให้ใช้หนังสือที่ส่วนกลางจัดพิมพ์ขึ้นในการสอนศาสนาแทน เพราะจะช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางความคิดได้มาก ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเน้นความสำคัญของการพิมพ์หนังสือทางพุทธศาสนารวมทั้งพระไตรปิฎกเป็นอย่างมาก ทรงระบุว่า "การแผ่พระพุทธศาสนาในกาลทุกวันนี้... ต้องการเงินทุนสำหรับพิมพ์คำสั่งสอนแจกจ่ายให้แพร่หลายที่สุดด้วยเปนสำคัญ" (36)
พระราชกรณียกิจทั้งปวงเกี่ยวกับพุทธศาสนาดังกล่าวข้างต้นนี้ นับเป็นการวางรากฐานแนวความคิดอันสำคัญเกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" นั่นก็คือความคิดที่ว่า พุทธศาสนาเป็นหัวใจอย่างหนึ่งของ "ความเป็นไทย" ดังนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนา "แห่งชาติ" ของไทย และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนา และนอกจากจะทรงทำให้เห็นว่าเมืองไทยเป็นศูนย์กลางความเจริญของพุทธศาสนาในโลก โดยที่พระมหากษัตริย์ของไทยทรงเป็นพระประมุขของโลกพุทธศาสนาแล้ว ยังทรงมีพระบรมราโชบายให้คนไทยเรียนรู้ศีลธรรมของพุทธศาสนา เพื่อช่วยในการจัดระเบียบและควบคุมสังคม ทรงเน้นว่า ในการจัดการศึกษาของชาตินั้น "ต้องสั่งสอนถึงการศาสนาด้วย...ข้อนี้เปนความปรารถนาอันยิ่งใหญ่" ทั้งนี้ ก็เพื่อจะยกระดับศีลธรรมของคนไทย จากสภาพการณ์เดิมที่ปรากฏว่า "คนไทยไม่รู้จักศีล 5 โดยมาก...เห็นเสื่อมทรามมาก ดูเปนคนไทยไม่มีศาสนา" (37) ให้กลายเป็นพลเมืองดีที่มีศาสนาและมีศีลธรรมประจำใจ ทั้งนี้ก็เพราะ การมีศีลธรรมในหมู่ประชาชนนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการรักษาระเบียบของสังคมดังกล่าวมาแล้ว ยังเป็นเครื่องบ่งบอกด้วยว่า "ชาติไทย" นี้มิใช่ชาติป่าเถื่อน แต่เป็นชาติศิวิไลซ์ชาติหนึ่งในโลก
การสถาปนามโนทัศน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง
"ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นปัญญาชนที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้น
ระหว่าง "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" ในลักษณะที่เน้นว่า "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นหัวใจ"
หรือทรงมีความสำคัญสูงสุดทั้งต่อ "ชาติ" และต่อ "พุทธศาสนา"
เมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองจันทบุรี ซึ่งโปรดฯ สร้างพระเจดีย์บนไหล่เขา และสร้างสะพานให้ประชาชนขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์ได้โดยสะดวกนั้น ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้ในจารึก ณ พระเจดีย์ดังกล่าว ความว่า "ในที่นี้จะทรงสถาปนาพระสถูปไว้เปนที่นมัสการของผู้ซึ่งได้มาถึงในที่นี้ เปนที่รฤกถึงเวลาที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาสรงน้ำในลำธาร พระราชทานนาม อลังกรณเจดีย์" (38) ข้อความในจารึกสะท้อนว่า ทรงเน้นให้ผู้มานมัสการพระเจดีย์ได้ "รฤกถึง" พระมหากษัตริย์ มิได้ทรงเน้นให้ระลึกถึงหลักธรรมของพุทธศาสนาแต่อย่างใด
นอกจากพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับพุทธศาสนาภายในประเทศแล้ว พระองค์ยังได้ทรงเน้นความสำคัญของพระมหากษัตริย์แห่งสยามในฐานะ"พระบรมมหาธรรมิกราชาธิราช" ซึ่งเป็นประธานในการจรรโลงธรรมในโลกของพุทธศาสนาทั้งหมดด้วย เช่น ทรงรับเอาพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลอังกฤษในอินเดียขุดพบ ในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของกรุงกบิลพัสดุ์มาประดิษฐานไว้ที่กรุงเทพฯ แล้วพระราชทานให้แก่ประเทศอื่น ๆ ที่ขอมา เช่น ญี่ปุ่น พม่า ลังกา ไซบีเรีย และส่วนที่เหลือนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุในเจดีย์ทอง ประดิษฐานไว้ที่สถูปภูเขาทอง และใน พ.ศ.2431 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระพระไตรปิฎกใน พ.ศ.2431 เพื่อพิมพ์เป็นหนังสือชุดละ 39 เล่ม รวมทั้งสิ้น 1,000 ชุด แล้วพระราชทานไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้ในการศึกษาเล่าเรียนธรรมะของพุทธศาสนา (39) เป็นต้น
ตลอดรัชกาลอันยาวนาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นผู้นำในการเลือกสรร "ความเป็นไทย" ทางศิลปะและวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนา อันแสดงถึงเอกลักษณ์แห่ง "ชาติไทย" และทรงทำให้ศิลปะและวัฒนธรรมอันเป็น "เอกลักษณ์ของไทย" และเป็น "ฝีมือไทย" นั้น เป็นเครื่องปลูกฝังความทรงจำและความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทางพุทธศาสนาและทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง พร้อมกันนั้น ก็ทรงพยายามแสดงออกให้ปรากฏว่า พระมหากษัตริย์ทรงถึงพร้อมด้วยทศพิธราชธรรมของพุทธศาสนา ที่ทำให้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ในการทำให้ "ชาติ" มั่นคงและเจริญรุ่งเรือง รวมทั้งการปกครองอย่างยุติธรรมที่ทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข
ใน พ.ศ.2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเบญจมบพิตร "แบบไทย" โดยมีสัญลักษณ์ใหม่ ๆ อันแสดงถึงพระราชอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ (40) ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์ อันประกอบกันขึ้นเป็นหัวใจของ "ความเป็นไทย" แต่เน้นความสำคัญของพระมหากษัตริย์มากกว่าพุทธศาสนา
ในการสร้างวัดเบญจมบพิตรนี้ มิได้มีการสร้างสิ่งต่าง ๆ ตามคติความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ แต่มุ่งแสดงถึงพระราชอำนาจอันสูงสุดที่พระมหากษัตริย์ทรงมีในฐานะที่ทรงเป็นมนุษย์มิใช่เทพเจ้า เช่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ให้เขียนภาพพระราชประวัติและพระราชจริยาวัตรของพระองค์ขึ้นภายในพระที่นั่งทรงผนวช ในบรรดาภาพเหล่านั้น มีพระบรมสาทิสลักษณ์แบบเหมือนจริงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเป็นพระราชบิดา ที่แสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีข้าราชการแบบใหม่อยู่ในสถานะต่ำกว่า ในขณะที่ภาพเขียนเหมือนจริงของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นภาพของขุนนางคนหนึ่งเท่านั้น
ความพยายามที่จะทำให้วัดเบญจมบพิตร เป็นแหล่งแสดงอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ ยังเห็นได้จากการสร้างสัญลักษณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่หน้าบันพระอุโบสถและระเบียงวัด โดยหน้าบันรวมทั้งหมด 10 ด้านของระเบียงวัดนั้น โปรดฯ ให้นำตราประจำกระทรวงต่าง ๆ ที่ได้รับการตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 5 มาผูกลายขึ้นใหม่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของรัฐที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างแท้จริงได้เป็นครั้งแรก ส่วนหน้าบันของพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงเป็นผู้ออกแบบผูกลายขึ้นใหม่ โดยนำตราพระราชลัญจกรมาเป็นต้นแบบ ได้แก่
- พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ ที่ใช้ประทับผนึกพระราชสาส์นและหนังสือสัญญาต่างประเทศ
- พระราชลัญจกรมหาอุณาโลม ใช้ประทับพระราชสาส์นกำกับพระสุพรรณบัฏเกี่ยวกับเจ้าประเทศราช
- พระราชลัญจกรไอยราพต ใช้ประทับพระราชสาส์นและประกาศตั้งกรม และ
- พระราชลัญจกรจักรรถ ใช้ประทับเลขในหนังสือซึ่งประทับตราพระราชลัญจกรมหาโองการ และพระบรมราชโองการแล้ว
นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมพระพุทธรูปจากเมืองสำคัญ ๆ รวมทั้งจากเมืองประเทศราชจำนวนถึง 52 พระองค์ มาประดิษฐานภายในพระระเบียงวัดเบญจมบพิตร ได้แก่ พระพุทธรูปจากเชียงใหม่ พะเยา ลำพูน นครราชสีมา เพชรบุรี นครศรีธรรมราช (41) โดยที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ "มหาชนเห็น" ดัง ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
ขณะเมื่อสร้างวัดนี้อยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระพุทธรูปสำหรับประดิษฐานไว้ ณ วัดนี้ ควรจะเลือกพระพุทธรูปโบราณซึ่งสร้างขึ้นในประเทศและในสมัยต่าง ๆ กัน...รวบรวมมาแสดงให้มหาชนเห็น... (42)
การรวบรวม "พระที่มีองค์เดียวไม่มีสองงามเลิศล้น" (43) มาไว้ที่วัดเบญจมบพิตรเช่นนี้ นับเป็นการแสดงให้คนทั้งหลายได้ประจักษ์แก่ตาว่า พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือหัวเมืองสำคัญซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปเหล่านั้น ส่วนพระสถูปเจดีย์นั้นไม่สามารถนำมาได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพสถูปเจดีย์สำคัญ ๆ ที่มีอยู่ในเมืองต่าง ๆ ไว้ภายในพระอุโบสถ นับเป็นการสร้างสัญลักษณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และรัฐชาติไทย ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน (44) และยังเป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่า รัฐชาติไทยที่พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทรงปกครองนี้ มีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะและวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ดังมีพระพุทธรูปและพระสถูปเจดีย์ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นประจักษ์พยาน ขณะเดียวกัน ยังเป็นการประกาศแก่ผู้ที่ยังมีความคิดความเชื่อตามแบบจารีตประเพณีว่า พระมหากษัตริย์แห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทรงครอบครอง "ขวัญ" ของเมืองทั้งหลาย ซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือชีวิตจิตใจของคนทั้งปวงในเมืองเหล่านั้น
นอกจากนี้ การที่ทรงมีพระราชดำริให้รวบรวม "พระพุทธรูปโบราณซึ่งสร้างขึ้นในประเทศและในสมัยต่าง ๆ กัน" ตลอดจนการวาดภาพพระสถูปเจดีย์สำคัญเอาไว้ ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะให้วัดเบญจมบพิตรเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ที่ยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณของประเทศสยามที่พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจปกครอง
อนึ่ง วัดเบญจมบพิตรยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง
ที่ได้รับการจัดวางในฐานะพระประธาน หรือเป็นศูนย์กลางของพระพุทธรูปทั้งหลายที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้อัญเชิญมาจากเมืองต่าง ๆ โดยพระพุทธชินราชได้รับการสร้างความหมายให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญ
ที่แสดงถึงการบรรลุความเจริญขั้นสูงของประติมากรรมไทยในอดีต และเป็นพระพุทธรูปที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับพระบรมราชจักรีวงศ์อย่างมาก
(45) แต่เดิมพระพุทธชินราชปรากฏประวัติในพงศาวดารเหนือว่ากษัตริย์ลาวเชียงแสนคือพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกโปรดให้สร้างขึ้น
แต่ได้มีการเขียนประวัติขึ้นใหม่โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เพื่อเน้นว่าเป็นพระพุทธรูปที่งามที่สุดที่สร้างโดยคนไทยแห่งเมืองสวรรคโลก และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระอนุชาธิราช
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาเป็นพิเศษในพระพุทธรูปองค์นี้
(46)
การสร้างวัดเบญจมบพิตรและเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธชินราชดังกล่าวข้างต้นนี้
นับเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง "ชาติไทย"
"พระมหากษัตริย์" และ "พุทธศาสนา" โดยที่ "พระมหากษัตริย์"
ทรงทำให้ "ชาติไทย" มีความเจริญทาง "พุทธศาสนา" และความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมต่าง
ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
การทำให้พระราชพิธีต่าง ๆ กลายเป็นพระราชพิธี "แบบไทย" ก็แสดงให้เห็นความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน เพราะพระราชพิธีต่าง ๆ ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์กลางนั้น ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นพระราชพิธีทางพุทธศาสนามากขึ้น จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปพระราชพิธีทั้งหลายในพระราชสำนัก รวมทั้ง "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ที่เสริมสร้างสถานภาพของพระมหากษัตริย์ให้ทรงเป็นศูนย์กลางหรือเป็นหัวใจของรัฐ เพื่อจะทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดสูงสุดเหนือคนทั้งปวง (47) พร้อมกันนั้น การจัดพระราชพิธีในแต่ละเดือนตามแบบแผนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้ทรงวินิจฉัยไว้ว่า "ถูกต้อง" ยังช่วยปลูกฝังให้เกิดการยอมรับระเบียบทางสังคมที่คนอยู่ในสถานภาพสูง-ต่ำลดหลั่นกันลงมา ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งอยู่ได้ด้วยการเน้นหลักชาติวุฒิ ที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น แล้วรวมศูนย์อำนาจไว้ในมือของ "คนชั้นเจ้า" ซึ่งมีสถานภาพทางสังคมสูงสุด โดยที่ "คนชั้นเจ้า" เอง ยังได้รับการแบ่งออกเป็น "ชั้น" ต่าง ๆ อย่างละเอียดซับซ้อน โดยสัมพันธ์กับอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่แตกต่างกัน
การแบ่ง "ชั้น" ของคนในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เห็นได้ชัดเจนจากนโยบายทางการศึกษา ที่มุ่งให้คนแต่ละชั้นได้รับการศึกษาเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมกับสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของตน รวมทั้งสงวนการศึกษาชั้นสูงไว้สำหรับคนมี "ชาติตระกูล" (48) เป็นต้นว่าโรงเรียนสวนกุหลาบ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้บัญชาการนั้น มีจุดมุ่งหมายในการให้การศึกษาหนังสือไทยและเลขแก่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ บุตรขุนนางและข้าราชบริพาร เพื่อจะได้มีความรู้เข้ารับราชการ "รักษาเชื้อสายราชตระกูลมิให้ตกต่ำ" (49) ส่วน "เจ้า" ชั้นสูง จะได้รับการศึกษาในประเทศตะวันตก เพื่อจะเป็นผู้มีอำนาจระดับสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินในองค์กรต่าง ๆ เช่น เป็นเจ้ากระทรวง และผู้บัญชาการกองทัพ เป็นต้น
กล่าวได้ว่า พระราชนิพนธ์ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ทำให้พิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีที่มาอันหลากหลาย ทั้งจากศาสนาฮินดู พุทธศาสนาหลายนิกาย และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติต่าง ๆ กลายเป็นพิธีกรรม "แบบไทย" ที่พุทธศาสนามีความสำคัญมากเป็นพิเศษ พระราชพิธีเหล่านี้จะช่วยจรรโลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะพระราชพิธีที่จัดขึ้นในแต่ละเดือน จะช่วยสร้างความรู้สึกนึกคิดให้คนยอมรับความสัมพันธ์ทางสังคมที่แบ่งคนออกเป็น "ชั้น" อย่างซับซ้อน ในยุคที่ราชสำนักได้ปรับเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของเมืองหลวงให้กลายเป็นตะวันตกไปมากแล้ว โดยเฉพาะในด้านสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมที่เลียนแบบตะวันตกอย่างชัดเจน ในขณะที่สังคมก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากการขยายตัวของระบบทุนนิยมและระบบราชการสมัยใหม่ ที่ทำให้เกิดชนชั้นใหม่ ๆ เช่น ชนชั้นกลางทั้งในและนอกระบบราชการ เมื่อชนชั้นใหม่ ๆ เหล่านี้ได้รับรู้ถึงพระราชพิธีต่าง ๆ ที่ได้รับการจัดขึ้นโดยหมุนเวียนไปในแต่ละเดือนปีแล้วปีเล่า ก็จะช่วยให้เกิดความตระหนักในความสำคัญของพระมหากษัตริย์และเจ้านาย ซึ่งทรงเป็นศูนย์กลางหรือทรงมีบทบาทหลักในพระราชพิธีเหล่านั้น
ด้วยเหตุที่ความสำคัญของ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" มีมากเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน เพื่ออธิบายให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า แต่ละพระราชพิธีมีที่มาและความหมายอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร มีอะไรบ้างที่ควรยกเลิกไป และมีอะไรบ้างที่จะต้องรักษาไว้ และมีอะไรบ้างที่ได้รับการเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อให้เหมาะแก่กาลสมัย (50) รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ที่ถูกทำให้ "เป็นพุทธแบบไทย" หรือ "เป็นไทย" มากขึ้นแล้วนี้ ในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์อีกด้วย
นับว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีบทบาทสำคัญในการทำให้ "ชาติ" "พุทธศาสนา" และ "พระมหากษัตริย์" มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น โดยที่"พระมหากษัตริย์" ทรงมีความสำคัญสูงสุด
พระมหากษัตริย์และการปกครองแบบไทย
เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในขณะที่มีความคิดทางสังคมและการเมืองใหม่
ๆ เข้ามาท้าทาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างประเทศสยามกับประเทศต่าง
ๆ ในยุโรป เพื่อเน้นลักษณะเฉพาะของ "เมืองไทย" ซึ่งทำให้ต้องมี "การปกครองแบบไทย"
ดังความใน "พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคี แก้ความในคาถาที่มีในอามแผ่นดิน"
ซึ่งทรงชี้แจงว่า ในยุโรปนั้นเป็นความจริงที่ว่าบ้านเมืองของเขาเจริญ
"เพราะเขามีปาลิเมนต์ที่ประชุมใหญ่ มีโปลิติกัลป์ปาตี คือพวกคิดราชการมีความเห็นต่างกัน สำหรับที่จะโต้ทานกันและกัน เมื่อคนเป็นอันมากได้พูดจาโต้ทานกันด้วยฝีปากจนสุดปัญญา การที่จะสำเร็จในปลายมือนั้น คงจะเป็นการที่ได้คิดเหมือนหนึ่งกรองจนใสละเอียดแล้ว ด้วยผู้คิดดีกว่ากันคงต้องชนะกัน การอันนี้ก็เป็นการมีคุณดีจริง" (51)
แต่การปกครองแบบมีปาลิเมนต์เช่นนี้ เหมาะสมแต่กับประเทศยุโรปเท่านั้น
...แต่เป็นการมีคุณดีมากแต่ในประเทศยุโรป ซึ่งเกิดขึ้นโดยความจำเป็นต้องมีขึ้น และได้ฝึกหัดต่อ ๆ มาหลายร้อยปี เป็นรากเหง้าพื้นเพแน่นหนา ไม่ต้องรื้อถอนขุดคุ้ยมาก ...และผู้ซึ่งคิดราชการนั้นเป็นผู้มีวิชาความรู้ เป็นผู้ได้เคยได้ยินได้ฟังแบบอย่างที่จะจัดการบ้านเมือง ซึ่งได้ทำได้ทดลองมาเป็นพื้นเพชัดเจนตลอดทั้งสิ้นด้วย (52)
ด้วยเหตุดังนั้น การปกครองที่ดีสำหรับประเทศยุโรปจึงไม่เหมาะสมกับ "เมืองไทย" ซึ่งมีความแตกต่างจากประเทศในยุโรปเป็นอย่างมาก
จะเพลินถือเอาความคิดของพวกที่เป็นผู้คิดราชการในประเทศยุโรปนั้น ๆ มาถือเป็นความคิดของตัว มาจัดการในเมืองไทยก็จะเป็นการไม่ถูกกันเลย ด้วยพื้นเพการงานทั้งปวงไม่เหมือนกัน เหมือนหนึ่งจะไปลอกเอาตำราทำนาปลูกข้าวสาลีในเมืองยุโรป มาปลูกข้าวเจ้าข้าวเหนียวในเมืองไทย ก็จะไม่ได้ผลอันใด ด้วยภูมิราชการในเมืองไทยแต่ก่อนมาเมื่อยังไม่ได้คบกับฝรั่งเป็นอย่างหนึ่งทีเดียว... (53)
ทรงเสนอพระดำริว่า "การปกครองแบบไทย" เหมาะแก่บริบทของเมืองไทยดีอยู่แล้ว นั่นคือเป็นการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ที่ "ทรงพรสติปัญญา ทรงพระราชดำริการรักษาแผ่นดินโดยทางที่ถูกต้อง ปกครองราษฎรโดยพรมหากรุณาแลความเที่ยงธรรม" (54) จะเห็นได้ว่า "การปกครองแบบไทย" นี้ ไม่เน้น "พระเดช" ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงมีพระบรมเดชานุภาพสูงสุด เพราะเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจในบริบทที่มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่จะค้ำประกันสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน และยังต้องแสดงให้เห็นด้วยว่า ภายใต้การปกครองของพระองค์ "ชาติไทย" ไม่มีความป่าเถื่อน แต่เต็มไปด้วยความศิวิไลซ์ ดังนั้น พระองค์จึงต้องเน้น "พระคุณ" มากกว่า "พระเดช" มโนทัศน์ "การปกครองแบบไทย" ที่ทรงสถาปนาขึ้น ทั้งด้วยพระราชนิพนธ์ พระราชดำรัส และพระราชกรณียกิจต่าง ๆ จึงมีลักษณะสำคัญอยู่ที่การใช้ "พระเดช" โดยปราศจากการกดขี่เบียดเบียน และใช้ "พระคุณ" เพื่ออำนวยประโยชน์สุขและความยุติธรรมแก่คนทุกชั้นอย่าง "เสมอหน้า" กัน (55)
ทรงปลูกฝังพระดำริเกี่ยวกับ "การปกครองแบบไทย" ดังกล่าวนี้แก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชซึ่งจะเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อไป เพื่อให้สามารถรักษาพระราชอำนาจในระบอบ "การปกครองแบบไทย" เอาไว้อย่างราบรื่น โดยเน้นว่าให้รักษา "ความคิดที่ดี" ที่มีอยู่แล้วเอาไว้ให้ดี ให้ระวังว่า "จะมีผู้ชักโยงให้เลือนไปจากความคิดที่ดี" พร้อมทั้งทรงกำชับว่า ผู้เป็นใหญ่ที่จะมีอำนาจทำการทั้งปวงอย่าง "สำเร็จเด็ดขาด" นั้น จะต้องเป็นที่พึ่งของคนทั้งปวง มิใช่เป็นที่พึ่งเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนความเมตตากรุณาที่จะให้บำเหน็จความชอบนั้น อาจเลือกให้ได้ตาม "คุณวุฒิ" ของผู้ที่จะได้รับ ดังความว่า
ให้รู้จัก กำชับบ่าวไพร่ให้รู้จักผิดแลชอบ และที่สำคัญก็คือ ผู้จะเปนใหญ่ต้องไม่เปนที่พึ่งแต่คนเฉพาะหมู่เฉพาะเหล่า ต้องเปนที่พี่งของคนทั่วไป ส่วนความเมตตากรุณา อาจจะแสดงมากบ้างน้อยบ้างตามคุณวุฒิของผู้ที่จะได้รับ...จึงเปนข้อสำคัญที่จะให้เปนที่พึ่งของคนทั้งปวงได้ด้วย แสดงความเมตตากรุณาต่อผู้ที่สมควรจะได้รับเมตตากรุณาได้ด้วย จึงจะเปนผู้ใหญ่ที่สำเร็จเด็ดขาดในกิจการทั้งปวง (56)
ทรงแสดงให้เห็นว่า "การปกครองแบบไทย" ที่จะทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าได้ ลักษณะสำคัญของ "การปกครองแบบไทย" คือ เป็นการปกครองโดยผู้นำที่มีคุณธรรม คือความเมตตากรุณาอย่างแรงกล้าต่อราษฎร ซึ่งทำให้ได้รับความไว้วางใจอย่างแท้จริงจากราษฎร และทำให้ราษฎรยอมอ่อนน้อม จนเป็น "ธรรมเนียมยั่งยืนมานาน เป็นพื้นเพอันดีอยู่แล้ว " ดังความต่อไปนี้
ด้วยเหตุว่าคนในเมืองไทยเคยรวบรวมกันเป็นความคิดอันหนึ่งอันเดียว คือเอากระแสพระราชดำริพระเจ้าแผ่นดินเป็นประมาณ เมื่อกระแสพระราชดำริเป็นอย่างไร คนทั้งปวงเห็นตามโดยจริงเป็นตกลงไปได้โดยง่าย เป็นธรรมยั่งยืน เคยฝึกหัดมาหลายชั่วคนแล้ว เหตุว่ากระแสพระราชดำริพระเจ้าแผ่นดิน ว่าเอาแต่เพียงในพระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้เป็นประมาณ ก็ย่อมตั้งอยู่ในความชอบธรรม อาศัยพระเมตตากรุณาต่ออาณาประชาราษฎรอันแรงกล้า เป็นที่นิยมยินดีชอบใจของราษฎรทั้งปวง จึงได้เป็นที่เชื่อใจวางใจของคนทั้งปวง เคยอ่อนน้อมยอมตามมา ไม่มีผู้ใดจะคิดฝ่าฝืน...เป็นธรรมเนียมยั่งยืนมานาน เป็นพื้นเพอันดีอยู่แล้ว... (57)
ทรงเน้นว่า การปกครองแบบไทยที่ถือเอา "พระราชดำริของพระเจ้าแผ่นดินเป็นประมาณ" นี้ จะทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้นอย่างแน่นอน เพราะพระเจ้าแผ่นดิน "มีความอุตสาหะคิดอ่านที่จะเปลี่ยนแปลงการบ้านเมืองให้มีความเจริญก่อนบ้านเมืองจะต้องการเร่งรัดเอาเสียอีก" ส่วนศาสนานั้นก็พึงนับถือศาสนาพุทธเหมือนเดิม เพราะเป็นศาสนาที่ดีอยู่แล้ว สิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงก็มีอยู่แต่เพียง "ปลูกความจงรักภักดี ความสามัคคีพร้อมเพรียง และความอุตสาหะ ให้แรงกล้าขึ้นว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" (58) เท่านั้น
พระราชดำริเกี่ยวกับ "การปกครองแบบไทย" ซึ่งเหมาะแก่เมืองไทย เพราะราษฎรขาดความรู้ แต่มีผู้นำที่เมตตากรุณาอย่างแรงกล้าต่อราษฎร ดังกล่าวมานี้ จะได้รับการสืบทอดต่อมาโดยปัญญาชนอื่น ๆ ทั้งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และในสมัยหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนต่อไปข้างหน้า
อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า "การปกครองแบบไทย" ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองที่ราษฎรไม่มีสิทธิและเสรีภาพที่จะร่วมในทางการเมืองการปกครอง หรือการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร แต่ต้องผูกขาดอำนาจไว้ภายในกลุ่มเจ้านาย ดังนั้น การเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมจึงกระทำได้อย่างจำกัด กล่าวคือ มีการยกเลิกระบบไพร่และทาส แต่ยังเน้นหลักชาติวุฒิเป็นอย่างมาก ดังนั้น การแบ่งชั้นทางสังคม (ซึ่งสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม) จึงดำรงอยู่ต่อมา แม้ว่าลักษณะการแบ่งชั้นและความสัมพันธ์ระหว่างคนในชั้นต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปจากเดิมไม่น้อยแล้วก็ตาม
ด้วยเหตุที่การแบ่งชั้นทางสังคมมีความสำคัญต่อความมั่นคงของ "การปกครองแบบไทย" แต่ไม่สามารถรักษาระบบไพร่และระบบทาสเอาไว้ เพราะขัดแย้งกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ จึงเห็นได้ชัดว่า ในท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดระหว่างสองฝ่าย ซึ่งฝ่ายหนึ่งเห็นว่า "บ้านเมืองเราเคยรักษามาอย่างไรให้ช่วยกันรักษาไปตามเดิม ปลงใจลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เอาอย่างยักเยื้องไปตามประเทศใด" (59) และอีกฝ่ายหนึ่ง "เห็นว่าธรรมเนียมแบบอย่างอันใดจำเป็นจะต้องเอาธรรมเนียมยุโรปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อจะให้เป็นที่นับถือของคนในประเทศยุโรปว่ าเป็นคนมีชาติมีธรรมเนียมเสมอกัน" (60) นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเห็นพ้องกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่ทรงเสนอ "ทางสายกลาง" ในการเสนอ "ทางสายกลาง" ว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชี้แจงว่า
ข้าพเจ้าจึงเห็นควรว่า ในการปกครองกรุงสยามนี้ ถ้าจะจัดการอาศัยเจ้าแผ่นดินเป็นหลัก ให้เป็นไปตามความนิยมอย่างเก่าจะเป็นการง่าย...เพราะเป็นของมีพื้นเพมาแล้ว แต่เมื่อข้าพเจ้ากล่าวดังนี้ ผู้ซึ่งอยู่ในความคิดที่กลับตรงกันข้ามทั้งสองพวก หรือจะเป็นพวกที่คิดจะเปลี่ยนแปลงโดยแรงที่สุดพวกเดียว จะเห็นว่าข้าพเจ้ากล่าวดังนี้เพื่อจะหาอำนาจใส่ตัว...การเจริญทั้งหลายก็จะไม่สำเร็จไปได้... ข้าพเจ้าหวังใจว่าคงจะมีผู้เห็นจริง...ว่าตัวข้าพเจ้าเองเป็นคนแรกหรือเป็นคนหนึ่งซึ่งได้มีความอุตสาหะ คิดอ่านที่จะเปลี่ยนแปลงการบ้านเมืองให้มีความเจริญก่อนบ้านเมืองจะต้องการเร่งรัดเอาเสียอีก แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นชอบในความคิดที่แรงจัดทั้งสองอย่าง คือที่จะเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งถึงศาสนา ...และไม่เห็นด้วยในการซึ่งจะรักษาบ้านเมืองแต่ตามธรรมเนียมเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงอันใดเลยนั้นด้วยเหมือนกัน ข้าพเจ้าชอบใจแต่เพียงทางกลาง และไม่มีความหวงแหนอันใดในการที่จะเปลี่ยนแปลงแต่ในทางกลาง (61)
นอกจากเรื่องการปกครองซึ่งทรงเห็นว่าไม่ควรเอาอย่างประเทศยุโรปในเรื่องการมี "ปาลิเมนต์" แต่ควรจะ "อาศัยพระเจ้าแผ่นดินเป็นหลัก" และเรื่องศาสนาซึ่งทรงเห็นว่าไม่ควรจะเปลี่ยนศาสนาแล้ว พระองค์มิได้ทรงระบุอย่างเป็นรูปธรรมว่าควรรับอะไรบ้างจากตะวันตก และควรสืบทอดอะไรบ้างที่เป็นของไทยเราเอง แต่เมื่อมองโดยภาพรวมแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า "ทางสายกลาง" ที่ทรงเสนอนั้น หมายถึงการเปลี่ยนประเทศให้มีความเจริญทาง "วัตถุ" แบบตะวันตก แต่รักษา "จิตใจแบบไทย" ที่ยอมรับความสัมพันธ์ทางสังคมแบบ "รู้ที่ต่ำที่สูง" เอาไว้นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับความเจริญทาง "วัตถุ" จากตะวันตกในด้าน "รูปแบบ" ของการศึกษา ระบบราชการ การสื่อสารคมนาคม สถาปัตยกรรม ฯลฯ แต่ "เนื้อหา" ยังเป็นแบบไทย เช่น ในการจัดการศึกษาแผนใหม่นั้น ทรงกำหนดให้นักเรียนได้รับความรู้สองอย่างด้วยกัน อย่างหนึ่งคือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิควิทยาแบบตะวันตก อันเป็นวิชาที่นำไปสู่ความเจริญด้านชีวิตความเป็นอยู่หรือนำความเจริญด้านวัตถุมาให้ อีกอย่างหนึ่งเป็นความรู้ด้าน "จริยธรรม" หรือ "ธรรมประพฤติปฏิบัติ" ที่เลือกสรรมาจากพุทธศาสนาของไทย และความรู้ในวิชาภาษาไทยและพงศาวดารไทย ซึ่งทำให้นักเรียนได้ซึมซับวัฒนธรรมไทย (62) ส่วนระบบราชการก็ยังคงยึดหลักชาติวุฒิอย่างมาก รวมทั้งการที่ข้าราชการมี "ศักดินา" สูง-ต่ำ แตกต่างกันเป็นลำดับชั้นก็ยังคงได้รับการรักษาไว้จนถึงปีที่มีการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ในขณะที่การสื่อสารคมนาคมก็เป็นกลไกทางการปกครองของพระมหากษัตริย์ มิใช่ระบบที่เปิดเสรีแก่ประชาชน แม้แต่สถาปัตยกรรมซึ่งมีรูปแบบเป็นตะวันตกก็ยังมีเนื้อหาเป็นไทย เช่น กรณีการสร้างพระราชวัง วัง และพระตำหนักต่าง ๆ เป็นตึกแบบตะวันตก รวมทั้งมีการแต่งกาย และรับประทานอาหารแบบตะวันตก แต่วิถีชีวิตภายในตึกเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ภายใต้ระบบความสัมพันธ์แบบ "รู้ที่ต่ำที่สูง" อย่างเคร่งครัด (63)
การสร้างอัตลักษณ์ "ข้าราชการ"
เนื่องจากมีการสร้าง
"ระบบราชการสมัยใหม่" เพื่อเป็นกลไกในการบริหารราชการของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์แทนระบบมูลนาย-ไพร่
แต่ในระยะแรกนั้น "ระบบราชการยังไม่เดินไปได้เองเหมือนเครื่องจักร"
ประสิทธิภาพในการขยายอำนาจในการจัดการทรัพยากรออกไปทั่วประเทศยังขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่เป็นข้าราชการว่าเป็น
"คนดี" มากน้อยเพียงใดเป็นสำคัญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้ความสำคัญอย่างมากแก่การสร้าง
"อัตลักษณ์ของข้าราชการ" เพื่อทำให้ข้าราชการมีความสำนึกในการทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ
ด้วยพลังแห่งความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ (64)
วิธีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกใช้ คือการสร้างระบบเกียรติยศและให้อภิสิทธิ์แก่ข้าราชการ ซึ่งจะทำให้ข้าราชการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เช่น ทรงนำเอาการพระราชทาน "ศักดินา" มาเน้นมากขึ้น โดยทรงตราพระราชบัญญัติศักดินาข้าราชการหลายฉบับ เพื่อกำหนดสถานภาพสูงต่ำของข้าราชการ และเน้นการแบ่งชั้นของข้าราชการโดยละเอียด พร้อมกับขยายชั้นของข้าราชการลงมาจนถึงระดับกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนำเอาผู้นำชุมชนท้องถิ่นเข้ามาสู่ระบบเกียรติยศที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้พระราชทาน (65) นอกจากนี้ยังมีการสร้างระบบเกียรติยศด้วยวิธีการใหม่ ๆ เช่น โปรดฯให้สร้างเหรียญจักรมาลา เพื่อพระราชทานแก่ทหารหรือตำรวจที่รับราชการตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และ "ทรงพระราชดำริห์เปนสมควรเพิ่มชั้นพิเศษสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าขึ้นอีก เพื่อให้เป็นเกียรติยศแลประโยชน์แก่ผู้รับราชการยิ่งขึ้น" (66) ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศชั้นสูงเช่นนี้ มีอภิสิทธิ์ในการเข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลพระกรุณาโดยตรง ในกรณีที่เกิดคดีความต่าง ๆ และสามารถสืบทอดสถานภาพอันสูงในตระกูลตลอดไปจนกว่าจะหาผู้สืบตระกูลโดยตรงมิได้ (67)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงกำหนดให้มี "เครื่องแต่งตัวข้าราชการ" ให้ข้าราชการ "แต่งตัวตามฐานันดรศักดิ์" (68) เพื่อเน้นสถานภาพที่ลดหลั่นเป็นลำดับชั้นและเน้นสถานภาพที่สูงส่งของข้าราชการเหนือราษฎรทั่วไปให้เด่นชัด เช่น "พระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการฝ่ายพลเรือนในกระทรวงโยธาธิการ" ซึ่งแบ่งข้าราชการออกเป็น 10 ชั้น ได้ระบุว่า "สมควรที่จะมีเครื่องแต่งกายยุนิฟอร์มให้เปนระเบียบและเฉลิมเกียรติยศในน่าที่ราชการ ตลอดถึงเจ้าพนักงานผู้น้อยตามสมควร" (69) ทั้งยังได้ทรงตรา "พระราชบัญญัติเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาชญา ร.ศ.120" ซึ่งระบุว่า "มาตรา 2 ห้ามไม่ให้ศาลรับฟ้องราษฎรเรียกข้าราชการเป็นจำเลยในความอาญา มีข้อหาในเรื่องที่เกี่ยวกับน่าที่ราชการ เว้นไว้แต่โจทก์ได้นำพยานมาสืบบ้างแล้ว พอเห็นได้ว่าจำเลยมีพิรุธ" (70) ทรงระบุด้วยว่า การข่มเหงและหมิ่นประมาทข้าราชการ มีความหมายเท่ากับหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ดังความว่า
หลวงวิชิตเปนข้าราชการมีสัญญาบัตร แลเปนบุตรเจ้าพระยาสุรพันธ์ซึ่งเปนข้าราชการผู้ใหญ่ ถึงจะผิดร้ายอันใด หาควรที่ตำรวจภูธรจะจับกุมด้วยความหยาบที่รุนแรงดังนี้ไม่ การที่เปนเช่นนี้ ย่อมเปนที่หวาดหวั่นแก่ข่าราชการซึ่งมีบรรดาศักดิ์แลมีตระกูล...ผู้น้อยหาอยู่ในบังคับผู้ใหญ่ไม่ จะเอาการดีมาแต่ไหน...อนึ่ง ขอบอกกล่าวโดยแขงแรงว่า ถ้าการข่มเหงแลหมิ่นประมาทข้าราชการผู้มีตระกูลแลมีบรรดาศักดิ์เช่นนี้ จะถือว่าเปนการหมิ่นประมาทต่อเราผู้เปนเจ้าแผ่นดิน ผู้ที่ยกย่องยศศักดิ์แลชุบเลี้ยงวงษตระกูลข้าราชการเก่าใหม่ทั้งปวง ซึ่งเราจำจะต้องป้องกันแลปราบปรามโดยแรง... (71)
"ข้าราชการ" ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีความสำนึกว่าตนเป็นผู้มีสถานภาพ เกียรติยศ และอภิสิทธิ์เหนือคนทั่วไป ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความระมัดระวังที่จะทำให้สถานภาพ ความก้าวหน้า และผลประโยชน์ของข้าราชการทั้งปวง ขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจและมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงที่พระราชทานแก่ผู้สืบตระกูลนั้น ทรงเน้นว่า "การที่จะวินิจฉัยว่า ผู้ใดควรจะได้รับพระราชทานสืบตระกูลอันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฤาผู้ซึ่งจะได้ทรงสืบสันตติวงษ์ ดำรงพระเกียรติยศเปนพระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงษ์นี้พระองค์เดียว เปนผู้ได้ทรงพระราชดำริห์พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเด็ดขาด" (72) เบี้ยบำนาญที่พระราชทานแก่ข้าราชการนั้น ก็ทรงเน้นว่า "เปนของพระราชทานโดยทรงพระกรุณา เพราะฉะนั้นไม่มีผู้ใดมีอำนาจที่จะเรียกร้องเอาบำเหน็จบำนาญ โดยอ้างว่าเปนอำนาจของตนจะต้องได้ตามกฎหมาย" (73)
การปูนบำเหน็จ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์ของข้าราชการที่ดี เพราะเป็นการทำให้ข้าราชการที่ได้รับการปูนบำเหน็จ กลายเป็นบุคคลที่ "เปนเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่จะรับราชการสืบไปภายหน้า...จะได้ตั้งน่าทำราชการหาความชอบกันต่อไป" (74) นับเป็นการแก้ปัญหาประการหนึ่งเกี่ยวกับข้าราชการที่องค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญอยู่ในเวลานั้น คือปัญหาที่ว่า "ทุกวันนี้คนทั้งปวงหาใคร่จะเหนแก่ราชการไม่ มักจะหาแต่ความสุข" (75)
นอกจากการปูนบำเหน็จแล้ว ทรงใช้วิธีการสรรเสริญด้วย เช่น กรณีพระยาสุนทรบุรีและพระสุนทรสงครามจับโจรขโมยโคได้ "ได้โคคืนเจ้าของโดยมาก แลได้เค้าเงื่อนหลักฐาน...มีประโยชน์ได้ผู้ร้ายอื่น ๆ ด้วยนั้น...เห็นว่า พระยาสุนทรบุรีแลพระสุนทรสงคราม ทำการโดยความจงรักภักดีต่อราชการจริง ๆ แขงแรงมาก ให้สรรเสริญไป" (76)
ในขณะเดียวกับที่พระราชทานเกียรติยศ รางวัล รายได้ และคำสรรเสริญ ที่เอื้อให้ข้าราชการได้ดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเน้นให้ข้าราชการ "ฉลองพระเดชพระคุณ" (77) ด้วยการปฏิบัติราชกิจด้วยความจงรักภักดีและซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ราชอาณาจักรเจริญก้าวหน้า มีเอกราช และราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ทั้งนี้ ทรงทำให้ข้าราชการตระหนักด้วยว่า การทำหน้าที่ในงานราชการอย่างดีที่สุดนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ข้าราชการมีเกียรติยศ และการละเลยหรือละทิ้งหน้าที่ทำให้เกียรติยศที่มีอยู่เสื่อมสูญไป
สรุป
เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเน้นมโนทัศน์
"เมืองไทยนี้ดี" ที่รับมาจากศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งมีความสำคัญทางอุดมการณ์มาตั้งแต่รัชกาลที่
4 (78) โดยเฉพาะในแง่ที่ "เมืองไทย" มีการปกครองที่ดี มีเอกราชและความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ
และเอกราชกับความเจริญรุ่งเรืองนั้น เป็นผลมาจากการนำของพระมหากษัตริย์ในสมัยต่าง
ๆ ซึ่งได้ทรงปกครองโดยยึดมั่นในหลักธรรมของพุทธศาสนา ทรงอำนวยให้เกิดความยุติธรรม
และทรงดูแลทั้ง "ลูกเจ้า" "ลูกขุน" "ไพร่ฟ้าข้าไท"
และ "ไพร่ฟ้าหน้าใส" ให้ประพฤติตนตามหลักศีลธรรม อันส่งผลให้ "เมืองไทยนี้ดี"
และอาณาประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข แม้จะเกิดปัญหาบ้างในบางยุคสมัย แต่ราษฎรก็ไว้วางใจว่า
พระมหากษัตริย์จะทรงแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญหรือรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด
ตลอดรัชกาลอันยาวนานถึง 42 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางรากฐานทางอุดมการณ์ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งด้วยการประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ การจัดพิมพ์ธนบัตร เงินตรา และดวงตราไปรษณียากรที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ การจัดพระราชพิธีในโอกาสสำคัญ ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนการพระราชนิพนธ์หนังสือและการมีพระราชดำรัสในโอกาสต่าง ๆ เป็นอุดมการณ์ที่เน้นหลักชาติวุฒิในการแบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น มีพระมหากษัตริย์และเจ้านายซึ่งทรงมีคุณธรรมและมีสถานภาพสูงสุดในโครงสร้างสังคม เป็นผู้ทำการปกครองประเทศด้วยความเสียสละ เพื่ออำนวยความยุติธรรมและช่วยให้คนทั้งหลายในประเทศได้อยู่เย็นเป็นสุข รวมทั้งทรงอุปถัมภ์ศิลปวิทยาการ อันส่งผลให้ "ชาติไทย" ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ ได้มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปในปัจจุบันและอนาคต พระราชนิพนธ์ที่สะท้อนอุดมการณ์ข้างต้นนี้ได้เป็นอย่างดี คือ "พระราชดำรัสทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2430" ดังความตอนหนึ่งว่า
พระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามนี้ ไม่ได้มีปรากฏในกฎหมายอันหนึ่งอันใด ด้วยเหตุถือว่าเป็นที่ล้นที่พ้น ไม่มีข้อใดสิ่งอันใดหรือผู้ใดจะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้ แต่เมื่อว่าตามความที่เป็นจริงแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจะทรงประพฤติการอันใด ก็ต้องเป็นไปตามที่สมควรและที่เป็นยุติธรรม ... ประเทศอื่น ๆ ราษฎรเป็นผู้ขอให้ทำ พระเจ้าแผ่นดินจำใจทำ ในเมืองเรานี้เป็นแต่พระเจ้าแผ่นดินคิดเห็นว่าควรจะทำ เพราะจะเป็นการเจริญแก่บ้านเมืองแลเป็นความสุขแก่ราษฎรทั่วไปจึงได้คิดทำ...
...และการที่จะปกครองบ้านเมืองเช่นประเทศสยามนี้ ตามอำนาจอย่างเช่นเจ้าแผ่นดินประเทศอื่น ๆ คือประเทศยุโรป ก็จะไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ และจะไม่เป็นที่ชอบใจของราษฎรทั่วหน้าด้วย เหมือนอย่างถ้าจะมีปาลิเมนต์จะไม่มีผู้ใดซึ่งสามารถเปนเมมเบอได้สักกี่คน และโดยว่าจะมีเมมเบอเหล่านั้น เจรจาการใดก็ไม่เข้าใจในราชการทั้งปวงทั่วถึง เพราะไม่มีความรู้และการฝึกหัดอันใดมาแต่เดิมเลย ก็คงจะทำให้การทั้งปวงไม่มีอันใดสำเร็จไปได้ ...
...ราษฎรคงจะเชื่อเจ้าแผ่นดินมากกว่าผู้ซึ่งจะมาเป็นเมมเบอออฟปาลิเมนต์ เพราะปกติทุกวันนี้ ราษฎรย่อมเชื่อถือเจ้าแผ่นดินว่าเป็นผู้อยู่ในยุติธรรม และเป็นผู้รักใคร่คิดจะทำนุบำรุงราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขยิ่งกว่าผู้อื่นทั้งสิ้นทั่วหน้ากัน เป็นความจริง... (79)
แนวพระราชดำริข้างต้น โดยเฉพาะความคิดที่ว่าราษฎร "ไม่มีความรู้" ต้องให้ผู้นำที่มีความรู้ความสามารถและคุณธรรมเหนือกว่าผู้อื่นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง โดยไม่พึงมี "ปาลิเมนต์" หรือรัฐสภา ยังคงเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยสืบต่อมาอีกนาน
กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นปัญญาชนที่ได้ทรงวางรากฐานการนิยามความหมาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" เอาไว้อย่างครอบคลุม ซึ่งจะกลายเป็นมโนทัศน์หลักที่ปัญญาชนอื่น ๆ จะเลือกสรรมาเน้น หรือปรับเปลี่ยนความหมายเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองใหม่ ๆ ในช่วงเวลาต่าง ๆ แนวทางสำคัญประการหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางไว้อย่างชัดเจนก็คือ การรับความเจริญทางวัตถุแบบตะวันตก แต่รักษา "จิตใจ" หรือความสัมพันธ์ทางสังคม "แบบไทย" เอาไว้ แนวทางดังกล่าวนี้เป็น "ทางเลือก" ที่ปัญญาชนกระแสหลักส่วนใหญ่ในยุคหลังได้พยายามสืบทอดตลอดมา
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(หมายเหตุ
: เนื่องจากเกิดความคลาดเคลื่อนในการใส่ตัวเลขเชิงอรรถ(อัตโนมัติ) จึงทำให้หมายเลขเริ่มต้นที่
18)
(18) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ประเพณีทำบุญวันเกิด อ้างใน ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เล่ม 2 โรงพิมพ์เทพไพศาล, 2504. หน้า 1-2 .
(19) ศิริพร สุเมธารัตน์, "แนวพระราชดำริทางพุทธศาสนาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร 2528.
(20) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชวิจารณ์เทียบลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานกับมหายาน และเรื่องสร้างพระบทหลวง วัดบวรนิเวศน์วิหาร พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายทวี เหวียนระวี 5 กรกฎาคม 2509. หน้า 43-44.
(21) เรื่องเดียวกัน, หน้า 48.
(22) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2417-2453) ธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.ทองเถา ทองแถม 10 ธันวาคม 2510. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สถานสงเคราะห์หญิงปากเกร็ด, 2510. หน้า 81.
(23) ห.จ.ช., ร.5 ต 11.1/5 เอกสารกรมราชเลขาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ เสด็จต่างประเทศ เล่ม 1.
(24) ห.จ.ช., ร. 5 กรมราชเลขาธิการ กระทรวงวัง "คำถวายชัยมงคลและพระราชดำรัสตอบ" อ้างใน ศิริพร สุเมธารัตน์, "แนวพระราชดำริทางพุทธศาสนาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" หน้า 79.
(25) อ้างใน ศิริพร สุเมธารัตน์, "แนวพระราชดำริทางพุทธศาสนาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" หน้า 288.
(26) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชหัตเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีไปมากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472.หน้า 72.
(27) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชหัตเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีไปมากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส. หน้า 72.
(28) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, ประมวลเรื่องการศึกษา กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2514. หน้า 7.
(29) หจช. ร. 5 ศ. 8/1
กรมราชเลขาธิการ
(30) ศิริพร สุเมธารัตน์, "แนวพระราชดำริทางพุทธศาสนาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว".
หน้า 273.
(31) เรื่องเดียวกัน, หน้า 291.
(32) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, "พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคี" ใน ประวัติศาสตร์และการเมือง กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2516. หน้า 180.
(33) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพร้อยตรีชลยุทธ์ เอกพจน์ 8 พฤษภาคม 2514. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สามมิตร, 2514. หน้า 34.
(34) ห.จ.ช., ร. 5 ศ.
19/5. เอกสารรัชกาลที่ 5 กรมราชเลขาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ
(35) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชหัตเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีไปมากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส.
หน้า 54.
(36) ห.จ.ช.,ร.5 ต. 2.
1/7 เอกสารรัชกาลที่ 5 กรมราชเลขาธิการ กระทรวงต่างประเทศ.
(37) ห.จ.ช., ร.5 ศ.12/7. เรื่องจัดการเล่าเรียนมณฑลต่าง ๆ และรายงานการประชุมพิเศษ
วันที่ 26 กันยายน ร.ศ.117.
(38) ห.จ.ช., ร.5 บ. 1. 2. ½ เอกสารรัชกาลที่ 5 พระราชหัตถเลขาเบ็ดเตล็ด
เล่ม 1 หน้า 106-107.
(39) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานพุทธเจดีย์ กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.
หน้า 255.
(40) ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม สยามสมัยไทยประยุกต์ชาตินิยม กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2547. หน้า 187-191.
(41) ชาตรี ประกิตนนทการ,
การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม สยามสมัยไทยประยุกต์ชาตินิยม. หน้า 176.
(42) อ้างในเรื่องเดียวกัน.
(43) โปรดดู ประมวลพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชหัตเลขา-ลายพระหัตถ์ พิมพ์ในงานมหาสมณานุสรณ์ครบ 50 ปี แต่วันสิ้นพระชนม์แห่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส 1-7 สิงหาคม 2514 กรุงเทพฯ: มหามมกุฏราชวิทยาลัย, 2514, หน้า 196.
(44) ชาตรี ประกิตนนทการ,
การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม สยามสมัยไทยประยุกต์ชาตินิยม หน้า 187-188.
(45) ชาตรี ประกิตนนทการ,
"พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นไทย" วารสารเมืองโบราณ
32,3 (กรกฎาคม-กันยายน 2549).
(46) เรื่องเดียวกัน.
(47) โปรดดู สายชล สัตยานุรักษ์, "ปัญญาชนและการสร้างอัตลักษณ์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์" เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องวิถีนักคิด ปัญญาชนไทย/เทศ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต จัดโดยศูนย์มนุษยศาสตร์เพื่อสังคมและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 11 มีนาคม 2543.
(48) โปรดดูรายละเอียดใน วารุณี โอสถารมย์, "การศึกษาในสังคมไทย พ.ศ.2411-พ.ศ.2475" วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2524. หน้า 43-195.
(49) โปรดดู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, "ตำนานสวนกุหลาบ อธิบายมูลเหตุแห่งนามวิทยาลัย", ใน สวนกุหลาบอนุสสร 2498. กรุงเทพฯ: ไม่ปรากฏที่พิมพ์.
(50) ก่อนหน้านี้ คือในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงให้ความสำคัญแก่การปฏิรูปพระราชพิธีต่าง ๆ ให้เป็น "แบบไทย" มาแล้ว ด้วยการทำให้แต่ละพระราชพิธีมีความ "เป็นพุทธ" มากขึ้น และมีความ "เป็นพราหมณ์" น้อยลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสืบทอดแนวทางที่พระราชบิดาทรงวางรากฐานไว้
(51) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, "พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคี แก้ความในคาถาที่มีในอามแผ่นดิน" ใน ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2516. หน้า 175
(52) เรื่องเดียวกัน.
(53) เรื่องเดียวกัน.
(54) ห.จ.ช., ร.5 ว. 21/4 คำถวายชัยมงคลและพระราชดำรัศตอบพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชพิธีทวิธาภิเศกพ.ศ.2447.
(55) คำว่า "เสมอหน้า" ในรัชกาลที่ 5 มิได้หมายถึงความเสมอภาคระหว่างคนทุกชั้น แต่หมายถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงดูแลให้ทุกคนได้หรือเสียสิ่งต่าง ๆ อย่างทั่วถึง โดยแต่ละคนได้หรือเสียเท่า ๆ กันกับคนอื่น ๆ ในชั้นเดียวกัน
(56) ห.จ.ช., ร. 5 บ 8.1/8. อ้างใน ศิริพร สุเมธารัตน์, "แนวพระราชดำริทางพุทธศาสนาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" หน้า 184-185.
(57) เรื่องเดียวกัน.
หน้า 179.
(58) เรื่องเดียวกัน. หน้า 182-183.
(59) เรื่องเดียวกัน. หน้า 182-183.
(60) เรื่องเดียวกัน.
(61) เรื่องเดียวกัน.
(62) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,"พระราชดำรัสพระราชทานแก่นักเรียน พ.ศ.2432-2433" ใน เอกสารการจัดการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการจัดงานฉลองวันเถลิงราชสมบัติครบ 100 ปี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2511. กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2514. หน้า 90-91.
(63) โปรดดูรายละเอียดใน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, สี่แผ่นดิน กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2545. (แม้ว่า สี่แผ่นดิน จะเป็นนวนิยาย แต่เป็นนวนิยายแนวสัจนิยม และผู้เขียนพยายามจำลองบรรยากาศในราชสำนักให้ "สมจริง" แม้ว่าจะสร้างภาพแต่ด้านดีก็ตาม)
(64) สายชล สัตยานุรักษ์, "ปัญญาชนและการสร้างอัตลักษณ์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์" เอกสารประกอบการสัมมนาวิถีนักคิดไทย-เทศ: อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 7-8.
(65) เสถียร ลายลักษณ์ และคณะ (ผู้รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 17 ภาค 2 พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2477. หน้า 423, 472. และ เสถียร ลายลักษณ์ และคณะ (ผู้รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 19 ภาค 2 พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2478. หน้า 178.
(66) เสถียร ลายลักษณ์
และคณะ (ผู้รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 17 ภาค 2 หน้า 470.
(67) เสถียร ลายลักษณ์
และคณะ (ผู้รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 18 พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์,
2478. หน้า 421.
(68) เสถียร ลายลักษณ์
และคณะ (ผู้รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 17 ภาค 2. หน้า 482.
(69) เสถียร ลายลักษณ์
และคณะ (ผู้รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 20 พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์,
2478. หน้า 421. หน้า 459-460.
(70) เสถียร ลายลักษณ์
และคณะ (ผู้รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 18. หน้า 23.
(71) ห.จ.ช., ร.5 ประชุมพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสั่งราชการ ภาค 1 ตอน 2 การสุขาภิบาล อ้างใน ศิริพร สุเมธารัตน์, "แนวพระราชดำริทางพุทธศาสนาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" หน้า 179.
(72) เสถียร ลายลักษณ์
และคณะ (ผู้รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 17 ภาค 2 หน้า 472.
(73) เสถียร ลายลักษณ์
และคณะ (ผู้รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 18 หน้า 187.
(74) ห.จ.ช., ร.
5 บ 1.2/19 พระราชหัตถเลขาเบ็ดเตล็ด.
(75) ห.จ.ช., ร.
5 บ 1.2/19 พระราชหัตถเลขาเบ็กเตล็ด.
(76) ห.จ.ช., ร. 5 ประชุมพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค 1 ตอน 2 อ้างใน ศิริพร สุเมธารัตน์, "แนวพระราชดำริทางพุทธศาสนาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" หน้า 211.
(77) พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าประสิทธิ์ศักดิ์ เกษมสันต์ พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2473.หน้า 37.
(78) นิธิ เอียวศรีวงศ์, "มรดกโลกทางวัฒนธรรม" ใน ประวัติศาสตร์ ชาติ ปัญญาชน, กรุงเทพฯ: มติชน, 2548. หน้า 32-39.
(79) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, "พระราชดำรัสทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน" ใน ประวัติศาสตร์และการเมือง กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2516. หน้า 168-169.
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
(คลิกกลับไปทบทวนบทความเรื่องเดียวกันตอนที่ ๑)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90