บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Enchanted World
Midnight
University
On Love, Science and
Awareness in an Enchanted World
Enchanted
World: โลกที่มีชีวิตอันชวนพิศวง โลกที่มีวิญญาน
พิภพ
อุดมอิทธิพงศ์ : แปล
นักวิชาการอิสระ
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
บทความนี้ แปลจาก ผลงานเขียนเกี่ยวกับโลกธรรมชาติอันงดงาม
ชวนพิศวงของ Jeremy W. Hayward
เรื่อง Letters to Vanessa: On Love, Science and Awareness in an Enchanted
World
สาระสำคัญของงานเขียนนี้ พยายามชี้ให้เห็นถึงโลกธรรมชาติอันมีชีวิตชีวา ตายลงได้อย่างไร?
แน่นอนด้านหนึ่งคือคำอธิบายโลกฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ แต่มันมีอย่างอื่นที่ซับซ้อนมากกว่านั้น
งานเขียนอันงดงามอธิบายโลกมีชีวิตนี้ ได้แสดงออกผ่านงานเขียนในรูปจดหมาย และใช้ภาษาที่เรียบง่าย
ทำให้เราหันกลับมาทบทวนกับความเชื่อ คำอธิบายที่เราได้รับจากโรงเรียน และกระบวนทัศน์แบบยุคสว่าง
สู่การภาวนา และตรวจดูจิตใจภายใน
การภาวนาที่ปราศจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง อาจเป็นเพียงมายา ดังที่ Hayward เขียนไว้
ตอนหนึ่งว่า "เมื่อเราปฏิบัติภาวนาโดยไม่ตระหนักถึงเงื่อนไขปัจจัยอันลึกซึ้งที่ทำให้เกิดโลกที่ตายแล้ว
การปฏิบัติและความเชื่อทางจิตวิญญาณก็อาจจะเป็นเพียงเสื้อคลุมที่สวยงาม หรือเป็นเพียงเสื้อสูท
หรือเป็นเพียงการดึงหน้าซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกดีขึ้นบ้าง แต่ลึก ๆ แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย"
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๕๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๘.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
On Love, Science and
Awareness in an Enchanted World
Enchanted
World: โลกที่มีชีวิตอันชวนพิศวง
โลกที่มีวิญญาน
พิภพ
อุดมอิทธิพงศ์ : แปล
นักวิชาการอิสระ
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
จดหมายฉบับที่
2 (คลิกลิกไปอ่านต่อจดหมายฉบับที่
๑)
เรื่องราวที่เปี่ยมด้วยความรู้สึก เรื่องราวที่มีวิญญาณ
วาเนสสาลูกรัก
พ่อสัญญาแต่เมื่อวานว่าในจดหมายวันนี้จะเขียนถึงสังคมบางแห่งที่ยังไม่สูญเสียสัมผัสที่มีต่อโลกอันอัศจรรย์ไป
พ่อจะเริ่มจากโลกซึ่งอยู่ใกล้กับท้องถิ่นของเราคือ โลกของยุโรปในยุคกลาง. จักรวาลในยุคกลางมีชีวิตชีวาเต็มเปี่ยมไปด้วยสิ่งมีชีวิตต่าง
ๆ ความรู้สึกถึงการมีชีวิตอยู่ตั้งแต่พืชและสัตว์ไปจนถึงมนุษย์ เทวดาและนางฟ้า
ไปจนถึงความเชื่อของคริสตชนที่มีต่อพระเจ้าหนึ่งเดียว และความเชื่อเกี่ยวกับปิศาจ
ในตอนนั้นมนุษย์เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่จินตนการได้เกิดขึ้นเนื่องจากพระประสงค์ของพระผู้สร้าง
และห่วงโซ่แห่งชีวิตอันยิ่งใหญ่เช่นนี้เชื่อมโยงจากปิศาจและทาสผู้รับใช้ไปจนถึงพืชพรรณและสัตว์ป่า
(ซึ่งรวมทั้งผู้หญิงด้วย!) ไปจนถึงมนุษย์และพ้นจากมนุษย์ไปจนถึงเทพยดาและพระเจ้า
พระเจ้าเพียงหนึ่งเดียวอยู่เหนือสรรพสิ่ง แต่พระจิตของพระองค์แทรกซึมอยู่ในทุกชีวิต คริสตศาสนจักรยอมรับและผนวกเอาความรู้สึกของคนนอกรีตที่มีต่อพระเจ้า ซึ่งแทรกซึมและปรากฏอยู่ทั่วไปในโลก เทพยดาในตอนนั้นไม่ได้มีลักษณะเหมือนกับทูตเล็ก ๆ ผู้มีปีกที่น่ารักแบบที่เราเห็นในภาพทั่วไปในปัจจุบัน ทั้งไม่ได้เป็นแค่ผู้พิทักษ์ที่ปรากฏตัวให้ความช่วยเหลือผู้คนยามที่ตกทุกข์ได้ยากเท่านั้น เทพยดาในตอนนั้นยังดูทรงพลังและน่ากลัว มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่มากยิ่งกว่ามนุษย์ หลายตนเป็นเทพและเทพีของชนพื้นเมืองซึ่งในเวลาต่อมาได้ถูกนำมาใช้โดยศาสนจักร
ภาพแห่งสรวงสวรรค์ก็สะท้อนอยู่ในภาพแห่งโลกปุถุชน
ดังนั้นวลีโด่งดังที่บอกว่า "เฉกเช่นด้านบนและด้านล่าง" (as above,
so below) อันที่จริงคำว่า divination หมายถึงการค้นหาพระเจ้าที่สถิตอยู่ในทุกสรรพสิ่ง
ในตอนนั้นไม่มีการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่เป็นจิตกับกาย หรือภายในกับภายนอก หรือรูปกับนาม
มีแต่ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน ความรู้สึกสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง มนุษย์มีความรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่เหนือกว่าตนเอง
และพยายามค้นหาบทบาทของตนเองในจักรวาลอันยิ่งใหญ่นั้น
ในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อม ๆ กับความรุ่งเรืองของความเชื่อและลัทธิตามแนวทางแคทอลิก
ระบบดาราศาสตร์ รสายนเวท และเวทย์มนต์อันทันสมัยก็รุ่งเรืองขึ้น มีการปฏิบัติภาวนาในหลายจารีตเพื่อศึกษาความสัมพันธ์พึ่งพาหรือการกำธร
(resonances) ผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางจิตวิญญาณเหล่านี้เรียนรู้ที่จะสัมผัสกับการกำธรระหว่างระดับต่าง
ๆ ของจักรวาล อย่างเช่น ระหว่างระบบสุริยะบางส่วนของร่างกายมนุษย์และโลหะหรือพืชชนิดต่าง
ๆ พวกเขาคิดว่าการภาวนาบนความเชื่อมโยงระหว่างสรรพสิ่งในโลกธรรมชาติเหล่านี้
จะทำให้พวกเขาเกิดญาณทัศนะโดยตรงต่อความสัมพันธ์ในระดับที่เหนือขึ้นไป
สำหรับนักวิชาการสมัยใหม่ สิ่งที่นักเล่นแร่แปรธาตุทำเป็นการศึกษาความแตกต่างที่เกิดขึ้น เมื่อมีการนำโลหะกับวัตถุอย่างอื่น ๆ อย่างเช่น กำมะถัน มาผสมกัน มักมีคนบอกเราว่านี่แหละเป็นจุดกำเนิดของเคมีสมัยใหม่ แต่สำหรับนักเล่นแร่แปรธาตุเอง พวกเขาเห็นว่าการศึกษายังครอบคลุมถึงว่าองค์ประกอบของบุคลิกต่าง ๆ มีการตอบสนองต่อโลหะและวัตถุเคมีอื่น ๆ ที่นำมาผสมกันอย่างไร จากการเล่นแร่แปรธาตุต่าง ๆ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองพยายามที่จะแปรธรรมชาติทางจิตวิญญาณของตนเช่นกัน
ดูเหมือนว่าในยุคกลางมีผู้ที่สามารถเข้าถึงคุณลักษณะของวิญญาณ ซึ่งไม่เป็นที่ปรากฏต่อนักวิทยาศาสตร์ หรือวัฒนธรรมกระแสหลักอย่างในปัจจุบัน นักเขียนบางคนเรียกว่าเป็น "วิญญาณแบบมีส่วนร่วม" ซึ่งหมายถึงความรู้อย่างแท้จริงเกี่ยวกับวัตถุที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานเป็นเอกภาพระหว่างผู้รู้ ("ตัวฉัน") กับวัตถุ. ในปัจจุบัน เราเชื่อว่าเราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุได้เฉพาะการตรวจตราวัตถุนั้น ซึ่งถือว่าแยกจากตัวเรา แต่ตามแนวคิดของวิญญาณแบบมีส่วนร่วม บุคคลผู้ศึกษาเป็นผู้มีส่วนร่วมในวัตถุนั้น เขาเป็นผู้สังเกตความคล้ายคลึงและการตอบสนองระหว่างสิ่งต่าง ๆ เป็นผู้รู้สึกถึงความสัมพันธ์ในเชิงพึ่งพาและปรปักษ์ของสิ่งต่าง ๆ นี้เป็นความเชื่อและการปฏิบัติของนักเล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งไม่เห็นความแตกต่างระหว่างรูปกับนาม ดังที่มอร์ริส เบอร์แมน (Morris Berman) นักประวัติศาสตร์เขียนไว้ว่า "มันไม่ใช่กรณีที่มนุษย์รับรู้ต่อวัตถุโดยมีจิตเป็นเจ้าของ แต่ในช่วงนั้น วัตถุเป็นเจ้าของจิต และเป็นเช่นนั้นจริง ๆ" และเขาได้ตั้งคำถามว่า "สภาวะของวิญญาณที่แปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร? เหตุใดเราจึงมีความเชื่อมั่นต่อทัศนะแบบปัจจุบันมากกว่า?"
ทั้งหญิงและชายในสมัยนั้นมีการรับรู้ต่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในโลกในลักษณะที่พวกเราในโลกยุคปัจจุบันไม่อาจสัมผัสได้อีกต่อไป โลกในยุคกลางเป็นโลกอันอัศจรรย์อย่างแท้จริง เป็นโลกอันชวนพิศวง มนุษย์มองเห็นสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นอกจากมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเทวดา นางฟ้า ภูตผีปิศาจ เทพยดา และผีซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งในท้องทุ่งและในป่า พวกเขาไม่เพียงเชื่อในสิ่งเหล่านี้ หากยังมีโอกาสเห็นสิ่งเหล่านี้ด้วย หรืออย่างน้อยพวกเขาเชื่อว่าตนเองได้เห็น มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับผู้ที่มีโอกาสพบกับเทวดา นางฟ้า ภูตผีปิศาจหรือเทพยดาต่าง ๆ ซึ่งมีการบันทึกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และไม่มีเหตุผลที่ทำให้คิดว่าเป็นเรื่องที่จงใจหลอกลวง
ยกตัวอย่างเช่นในหนังสือ ทัศนะจากยุคกลาง (The Medieval Vision) ของแคโรลี เอริกสัน (Carolly Erickson) ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ได้เล่าเรื่องของพระที่โบสถ์ Byland Abbey ในเขตยอร์กเชียร์ ซึ่งบันทึกการพบปะระหว่างศรัทธาในเขตพื้นที่ของท่านกับชีวิตในมิติอื่น เธอเขียนว่า "มีอยู่เรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของสโนว์บอลที่เป็นช่างตัดเสื้อ ซึ่งทั้งตัวเขา เพื่อนบ้าน และบาทหลวงในแถบนั้นมีโอกาสสัมผัสกับภูติที่ถูกแยกร่างมาจากมิติอื่น"
"ในระหว่างขี่ม้ากลับบ้านตอนเย็นวันหนึ่ง" เอริกสันเขียนต่อว่า "สโนว์บอลเห็นอีกาบินผ่านศีรษะไปและตกลงยังพื้นเหมือนกับกำลังจะตาย เมื่อได้ยินเสียงปืนมาจากด้านข้าง เขารู้ทันทีว่าตนเองอยู่ภายใต้การคุ้มครองของภูติที่รายล้อมเขาอยู่ และทำหน้าที่แทนองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อป้องกันไม่ให้ปิศาจตนอื่นทำร้ายเขา" ปีศาจตนนั้นได้ทำร้ายสโนว์บอลอีกสองครั้ง และทำให้สโนว์บอลตัดสินใจสืบดูว่า ปีศาจต้องการอะไรกันแน่ ดูเหมือนว่าปีศาจตนนั้นไปติดอยู่ในมิติซึ่งไม่น่าพึงพอใจแห่งหนึ่ง เนื่องมาจากการกระทำผิดที่เขาเคยทำในขณะที่ยังมีชีวิตในร่างมนุษย์ และเขาต้องการให้พระมาสวดเพื่อส่งวิญญาณ ปีศาจจึงทำสัญญากับสโนว์บอลซึ่งหลังจากนั้นก็ล้มป่วยเป็นเวลาสองสามวันและเดินทางไปรับตัวพระมา จากนั้นเรื่องก็ดำเนินต่อไป ท้ายที่สุดปีศาจได้รับการปลดปล่อย และเพื่อเป็นการตอบแทน ปีศาจได้บอกถึงอนาคตให้กับสโนว์บอลฟัง เอริกสันสรุปว่า
"การรับรู้ของผู้คนในยุคกลางเต็มไปด้วยการรับรู้อย่างเป็นองค์รวมต่อมิติอื่นที่ดำเนินไปพร้อมกัน ขอบเขตของความจริงมักได้รับการกำหนดเพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับสิ่งที่ไม่อาจมองเห็น การรับรู้เช่นนี้ซึ่งดูต่างไปจากทัศนะในยุคสมัยใหม่ อาจเรียกได้ว่าเป็นความพิศวงอย่างหนึ่ง มนุษย์ในยุคกลางดำรงอยู่ท่ามกลางการรับรู้ที่คุ้นเคยต่อสิ่งมีชีวิตในเชิงนามธรรม และพลังที่ควบคุมได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเชิงเทววิทยาและวัฒนธรรมของมหาชน...ปรากฏการณ์เหนือธรรมดา ลักษณะอันผิดจากธรรมชาติ ภาพที่แปลกประหลาด การฝันถึงผู้ที่เสียชีวิตแล้ว ลางสังหรณ์จากทั้งสวรรค์และนรก ญาณทัศนะ การเห็นอนาคต ต่างมีส่วนหนุนเสริมสิ่งที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน...การเข้าใจถึงอดีตในยุคกลาง หมายถึงการตระหนักถึงคุณค่าของการรับรู้ที่ถูกละเลยจากการศึกษาสมัยใหม่ ลางสังหรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจสำหรับนักประวัติศาสตร์ในแนวเหตุผลนิยมเป็นสิ่งที่ถือว่าปรกติ ไม่ใช่สิ่งที่วิปลาส ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความจริง หากเป็นธรรมชาติ และพบอยู่ได้ทั่วไป"
แต่ประสบการณ์ต่อสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่อดีตอันไกลโพ้น. ดับบลิว วาย อีแวนส์-เวนตส์ (W.Y. Evans-Wentz) เป็นนักมานุษยวิทยาและนักศาสนศึกษา และเป็นหนึ่งในผู้แปลพระคัมภีร์พุทธศาสนาสายทิเบต ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 เขาใช้เวลาอยู่สองปีในไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์ และเวลส์ เพื่อสัมภาษณ์ผู้สูงอายุซึ่งยังคงเห็นและได้ยินเกี่ยวกับเทพยดา เทพยดาที่คนเหล่านี้เห็นไม่ใช่เทวดาองค์น้อยแบบที่เราเห็นในหนังสือนิทาน แต่เป็นเทพยดาที่สูงใหญ่กำยำมีลักษณะเหมือนมนุษย์ มีสภาพขุ่นมัวและเปล่งประกาย รวมทั้งสวมใส่เสื้อผ้าแบบคนโบราณ เทพยดาเหล่านี้พบได้ในระหว่างทำกิจกรรมทุกประเภท ทั้งในระหว่างการเดินหรือเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ในระหว่างการออกล่าสัตว์ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และอื่น ๆ และการพบเห็นเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ตัวบุคคลคนเดียว แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนหลายคน
เมื่ออีแวนส์-เวนตส์ถามชายชราผู้หนึ่งบนเกาะแมน ว่าเหตุใดคนหนุ่มสาวจึงไม่เห็นเทพยดาเหล่านี้อีก ชายคนนั้นตอบว่า "ก่อนที่การศึกษาจะมาถึงเกาะแห่งนี้ ยังมีคนที่เห็นเทพยดาเหล่านี้อีกมาก แต่เดี๋ยวนี้มีแค่ไม่กี่คนที่มีโอกาสเห็น" การศึกษาที่ว่าคงบอกกับพวกเขาว่าเทพยดาไม่มีอยู่จริง เมื่อคนหนุ่มสาวไม่ได้รับโอกาสให้เห็นเทพยดา พวกเขาก็สูญเสียความสามารถและไม่มีโอกาสเห็นเทพยดาเหล่านั้นอีก
ที่น่าประหลาดใจคือในยุคปัจจุบันยังมีคนเห็นเทพยดาอีกจำนวนมาก บางครั้งก็ปรากฏในรูปที่น่ากลัว บางครั้งก็ดูมีเมตตา ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนของแคเธอรีน บริกส์ (Katharine Briggs) ชาวอังกฤษซึ่งเป็นผู้ศึกษาขนบพื้นบ้านและเป็นผู้มีชื่อเสียง บอกกับเธอว่า เธอต้องเจ็บปวดจากเท้าที่ได้รับการบาดเจ็บมาเป็นเวลานาน และวันหนึ่งได้ไปนั่งที่ม้านั่งในสวนรีเจ้นท์ในกรุงลอนดอน ตอนนั้นยังสงสัยอยู่ว่าจะเอาแรงที่ไหนมาเดินกะเผลกกลับบ้าน ทันใดนั้น เธอก็เห็นชายผู้หนึ่งในชุดเขียวมองมาที่เธออย่างมีเมตตาและบอกว่า "กลับบ้านซะ เราสัญญาว่าเท้าของเธอจะไม่ทำให้เธอเจ็บปวดอีกในคืนนี้" จากนั้นเขาก็หายตัวไป แต่ความเจ็บปวดที่รุนแรงในเท้าของเธอก็หายไปเช่นกัน เธอสามารถเดินกลับบ้านได้อย่างสบาย และนอนหลับโดยไม่ถูกรบกวนด้วยความเจ็บปวดทั้งคืน
พ่อได้ไปสอนในฝรั่งเศสเมื่อหลายปีก่อนที่ในปราสาทโบราณที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นศูนย์วิปัสสนาเซน มันเป็นช่วงเวลาที่เข้มข้นเพราะเราไม่ได้เพียงสนทนาธรรมต่อกัน หากยังมีการปฏิบัติและอัญเชิญให้ "พระเจ้า" มาเข้าร่วมกับเรา มีสตรีสาวชาวเยอรมันผู้หนึ่งซึ่งปฏิบัติไปได้ครึ่งหนึ่งของรายการแล้ว เธอเริ่มเห็นชายในชุดเขียวแบบยุคกลางมองผ่านหน้าต่างเข้ามา เธอรู้ว่าเขาไม่ใช่มนุษย์และเธอเริ่มกลัว เธอบอกว่าเธอเคยเห็นเทพเหล่านี้ในขณะที่ยังเป็นเด็กและพยายามที่จะหยุดยั้งเพื่อไม่ให้เห็นเทพเหล่านี้อีก และในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้เห็นอีกเลย พ่อให้กำลังใจและบอกให้เธออย่ากลัว และให้ถามชายคนนั้นว่าเขาต้องการอะไร จนถึงช่วงท้ายของการอบรมเธอบอกกับพ่อว่าชายคนนั้นบอกกับเธอว่าเขาเป็นเทพยดาผู้ปกปักรักษาที่ดินและปราสาทแห่งนี้ เขาบอกกับเธอว่าเขาเพียงแต่เฝ้าดูเพื่อให้แน่ใจว่า พวกเราและผู้ปฏิบัติตามแนวทางเซนดูแลที่ดินผืนนี้เป็นอย่างดี
เช่นเดียวกับโลกของยุโรปในยุคกลาง โลกของชาวเผ่าเนวาโจก็มีชีวิตชีวาเช่นกัน เป็นโลกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตและพลังอันลึกซึ้ง ชาวเนวาโจมักพูดถึงผู้ศักดิ์สิทธิ์ (diyin dine'e) ซึ่งเป็นหัวใจของสรรพสิ่ง ทั้งมนุษย์ สัตว์ป่า พืช และวัตถุต่าง ๆ พวกเขาเชื่อว่าวัตถุที่มองเห็นทุกอย่างในโลกจะมีส่วนที่มองไม่เห็นอยู่ด้วย ซึ่งเรียกว่าเป็น diyin dine'e โดยมีทั้งที่เป็นชาวเขา ชาวดาว ชาวแม่น้ำ ชาวฝน ชาวข้าวโพดและอื่น ๆ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ อย่างเช่น ภูเขา ที่ราบสูง หุบผาชัน ถ้ำ กลุ่มหิน แม่น้ำสายใหญ่ สภาพอากาศและแสงต่างเป็นที่สิงสถิตของผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้
"ผมโตขึ้นมาโดยมีความเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้เป็นจิตวิญญาณของสรรพสิ่ง" บาจี วิธโธม (Baje Whiththorne) ศิลปินชาวเนวาโจกล่าวเกี่ยวกับผู้ศักดิ์สิทธิ์ "เป็นจิตวิญญาณแห่งสรรพสิ่ง แห่งสรรพชีวิต เช่นเดียวกับพระเจ้าที่เป็นจิตวิญญาณของสรรพสิ่ง ผู้ศักดิ์สิทธิ์จะสถิตอยู่ในทุกที่ทั้งในจารีตของชาวเนวาโจ ในศาสนาของเรา ต่างพูดแบบเดียวกัน พวกเขาเป็นจิตวิญญาณของสรรพสิ่ง พวกเขาสถิตอยู่ในก้อนหินหรือในต้นไม้หรือในทุกแห่งหน"
"ตอนที่ดิฉันออกไปข้างนอกตอนย่ำรุ่ง ดิฉันสวดภาวนาให้กับสายลม ให้กับสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิต" เคลลี มูเซียล (Kalley Musial) ช่างปั้นหม้อชาวเนวาโจกล่าว "ดิฉันไม่ได้สวดให้ใครเป็นการเฉพาะแต่สวดให้กับนก ต้นไม้ ให้กับชีวิต ดิฉันสวดให้กับย่ำรุ่งซึ่งเป็นความตื่นของชีวิต สำหรับต้นไม้ สำหรับนก สำหรับเราทั้งหลาย". "ดิฉันสวดในตอนเที่ยง สวดให้กับพระอาทิตย์ซึ่งให้ความอบอุ่นและชีวิต และการเติบโต ในตอนเย็นดิฉันสวดให้กับสายลมอีกครั้ง ให้กับสิ่งที่อยู่รอบตัว ให้กับอากาศ ให้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในตอนค่ำ พวกเราสวดให้กับทั้งหมด ให้กับทุกสิ่ง เหมือนกับมีพระเจ้าอยู่ในโลกภายนอก ซึ่งเป็นสาระแห่งชีวิต เป็นอากาศ เป็นสายฝนและทุกสิ่ง"
ผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มีลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกับชาวเนวาโจโดยทั่วไป พวกเขาปรากฏในรูปร่างของมนุษย์และมีชีวิตเช่นเดียวกับชาวเนวาโจ แต่ร่างกายของพวกเขาไม่ได้เป็นวัตถุ ร่างกายของพวกเขาเป็นเหมือนกับสายลมและแสงแดด หรือที่ชาวเนวาโจบอกว่าเป็นลมศักดิ์สิทธิ์. ลมเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังสากลที่มีชีวิต ซึ่งปรากฏและทำให้สรรพสิ่งมีชีวิต พลังแห่งชีวิตเหล่านี้ไม่อาจมองเห็นได้โดยทั่วไป แต่สามารถเห็นได้จากผลที่เกิดขึ้น อย่างเช่น เราจะเห็นพลังลมได้จากการเคลื่อนไหวของกิ่งไม้ หรือการเคลื่อนตัวของก้อนเมฆ พลังที่ลึกซึ้งในร่างกายมนุษย์เหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เรามักเรียกว่าเป็นลมศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งอันที่จริงไม่อาจแยกจากกันได้ ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของลมที่มีหนึ่งเดียว และพลังอันมีชีวิตของลมจะพัดเข้าและออกแม้ในวัตถุที่มีความแข็ง
ปีเตอร์ โกลด์ (Peter Gold) ผู้เขียนหนังสือภูมิปัญญาศักดิ์สิทธิ์ของชาวเนวาโจและทิเบต (Navajo and Tibetan Sacred Wisdoms) ระบุว่า "ลมศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนผสมของพลังที่เลื่อนไหลและมีชีวิตที่ส่องประกายไหลกระเพื่อมอยู่ในจักรวาลแห่งชีวิต เป็นพลังที่อยู่เบื้องหลังเอกจิต (สติ) ซึ่งแทรกซึมอยู่ในทุกองค์ประกอบและองคาพยพของจักรวาล" ทั้งลมศักดิ์สิทธิ์และเอกจิตผสมรวมกันก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า "โพโช" ซึ่งมักแปลว่า "ความงาม" และกินความหมายไปถึงความบรรสานสอดคล้อง ความสุข สุขภาพและความสมดุล
ความแตกต่างระหว่างผู้ศักดิ์สิทธิ์กับพวกเราได้แก่
ผู้ศักดิ์สิทธิ์มีชีวิตอย่างสมบูรณ์ร่วมกับโพโช โดยเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์กับพลัง
จังหวะ และระเบียบอันเป็นพื้นฐานของจักรวาล พวกเราเองก็สามารถพัฒนากาย-จิตอันไม่สมบูรณ์ให้ไปถึงสภาวะแห่งโพโชได้
เพราะพวกเรามีธาตุอันเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกับผู้ศักดิ์สิทธิ์ พวกเราต่างกำเนิดมาจากเอกภาพ
และพลังของโพโช ซึ่งแฝงฝังอยู่ทั่วสากลจักรวาลและสรรพสิ่ง
ชาวพื้นเมืองเนวาโจเห็นว่า การมีชีวิตอย่างสอดคล้องกับโพโช หมายถึงการมีชีวิตท่ามกลางความสมดุล
สันติภาวะ และความงามอันเป็นเป้าหมายแห่งชีวิต และเป็นเป้าหมายแห่งการปฏิบัติและการสวดภาวนาในแต่ละวัน.
จิมมี ทอดดี (Jimmy Toddy) ศิลปินชาวเนวาโจกล่าวว่า "ในทุกบทสวดเราจะเริ่มจากการบอกว่า
'ความงามเบื้องหน้าฉัน ความงามรอบตัวฉัน ความงามที่ต้องไปให้ถึง' ซึ่งบรรยายถึงโพโช
และจะมีการสวดภาวนาในลักษณะนั้น ทุกครั้งที่มีการสวดภาวนาคุณจะท่องบ่นสิ่งนี้
ความงาม ความงาม"
ในประเทศญี่ปุ่น ชินโตเป็นหนทางแห่ง กามิ ซึ่งอาจแปลได้ว่า "พระเจ้า แต่ชินโตก็เป็นหนทางของชีวิตมนุษย์เช่นกัน ทั้งนี้ตามความเห็นของโซเกียว โอโนะ ปราชญ์ชาวญี่ปุ่นด้านชินโตซึ่งบอกว่า เป็นการผสมผสานของทัศนคติ แนวคิดและหนทางการปฏิบัติที่ดำรงอยู่มาสองสหัสวรรษ และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกสำหรับวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น" เขาอธิบายว่า คำว่า กามิ เป็นคำสุภาพที่ใช้เรียกเทพผู้สูงศักดิ์และศักดิ์สิทธิ์ สะท้อนถึงความเคารพ ความรัก และความยำเกรง เขากล่าวว่า "ทุกชีวิตล้วนมีเทพเช่นนั้นอยู่ในตัว ด้วยเหตุดังกล่าว อาจเรียกได้ว่าทุกชีวิตล้วนเป็นกามิ หรือผู้ที่มีศักยภาพที่จะเป็นกามิ"
ในโลกแบบชินโตซึ่งคล้ายคลึงกับเนวาโจ จะไม่มีพระเจ้าผู้ทรงมหิทธานุภาพเพียงหนึ่งเดียวซึ่งเป็นพระผู้สร้างหรือผู้ปกครอง โลกเกิดขึ้นด้วยตนเอง และการเกิดขึ้นด้วยตนเองเป็นผลมาจากความร่วมมืออย่างบรรสานสอดคล้องของกามิ โดยแต่ละกามิปฏิบัติหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี กามิเป็นสิ่งที่พบได้ในคุณสมบัติของการเติบโต ความอุดมสมบูรณ์และการผลิต สามารถพบในปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างเช่น ลมและฟ้าผ่า ในวัตถุธรรมชาติอย่างเช่น พระอาทิตย์ หุบเขา แม่น้ำ ต้นไม้และหิน และในสัตว์บางชนิด กามิเป็นเทพผู้พิทักษ์แผ่นดิน เป็นพลังใจสำหรับอาชีพและทักษะต่าง ๆ เป็นจิตวิญญาณของบรรพชน เป็นวีรชนแห่งชาติ เป็นมนุษย์ผู้มีคุณธรรมหรือการปฏิบัติอันเลิศล้ำและเป็นผู้มีส่วนสร้างสรรค์อารยธรรม วัฒนธรรม และสวัสดิภาพของมนุษย์
แล้วชาวญี่ปุ่น เข้าถึงกามิของพวกเขาได้อย่างไร? โซเกียว โอโนะเขียนไว้ว่า "ชาวญี่ปุ่นเองไม่มีความคิดที่ชัดเจนเกี่ยวกับกามิ พวกเขารู้ว่ากามิมีอยู่ด้วยสัญชาตญาณในระดับการรับรู้ที่ลึกซึ้ง และสื่อสารโดยตรงกับกามิ โดยไม่มีระบบคิดหรือหลักเทววิทยาที่ชัดเจนเกี่ยวกับกามิ ด้วยเหตุดังกล่าว พวกเขาจึงไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานของกามิ ซึ่งค่อนข้างจะคลุมเครือ"
แนวคิดนี้สะท้อนจากเรื่องเล่าของโจเซฟ แคมป์เบล (Joseph Campbell) นักปกรณัม ซึ่งครั้งหนึ่ง เขาเคยไปญี่ปุ่นเพื่อประชุมว่าด้วยเรื่องศาสนา และได้ยินผู้เข้าร่วมประชุมชาวอเมริกันซึ่งเป็นนักปรัชญาสังคมจากนิวยอร์ก กล่าวกับพระชินโตว่า "เราได้เข้าร่วมพิธีที่ดีมากมายและได้ไปศาลเจ้ากามิหลายครั้ง แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจอุดมการณ์ของท่าน ผมไม่เข้าใจอุดมการณ์ของท่าน" พระชาวญี่ปุ่นนิ่งอยู่ครู่หนึ่งเพื่อครุ่นคิดก่อนจะส่ายศีรษะช้า ๆ พร้อมกับกล่าวว่า "อาตมาคิดว่าเราไม่มีอุดมการณ์ เราไม่มีเทววิทยา เราเอาแต่เต้นรำ"
ในประเทศญี่ปุ่น ตามชนบทจะมีศาลเจ้ากามิขนาดเล็กอยู่มากมาย ตามจุดพลังต่าง ๆ ทุกสวนและบ้าน จะมีศาลเจ้าอย่างน้อยหนึ่งหลัง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของจุดพลัง เป็นศาลเจ้าในรูปแบบง่าย ๆ อาจจะเป็นแค่กองเชือกหรือกลุ่มของหินที่ตั้งวางไว้เป็นสัญลักษณ์ในพื้นที่ หรืออาจเป็นศาลเจ้าทำด้วยไม้ขนาดเล็ก และมีช่องสำหรับวางดอกไม้สด. ชาวญี่ปุ่นรุ่นเก่าส่วนใหญ่ไม่ว่าเดิมจะเป็นผู้ถือพุทธ คริสต์ หรือชินโต หรือไม่นับถือศาสนาใดเลยก็ตาม มีความเคารพยำเกรงต่อกามิ พวกเขารู้สึกถึงการดำรงอยู่ของกามิ และตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับกามิ เพื่อให้มีการถ่ายทอดพลังอย่างสม่ำเสมอมาสู่โลก แม้แต่นักธุรกิจที่ต้องการเปิดธนาคารในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง จะจัดให้มีพิธีอย่างเหมาะสมเพื่อแสดงความเคารพต่อกามิในสถานที่แห่งนั้น ก่อนที่งานก่อสร้างจะเริ่มขึ้น หลังจากนั้นจะมีการประกอบพิธีตลอดในช่วงของการก่อสร้างเพื่อรวบรวมพลังและอำนาจของกามิ
จารีตของทิเบตก่อนยุคพุทธศาสนาเรียกการดำรงอยู่ของพลังว่า ตราลา ซึ่งคล้ายคลึงกับกามิของชาวญี่ปุ่น ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเนวาโจและพระเจ้า และเทพยดาแบบพื้นเมืองในยุโรปยุคกลาง. ตราลา หมายถึง "ปลอดจากศัตรู" และศัตรูที่ว่าได้แก่ ความก้าวร้าวและการแบ่งแยก กล่าวคือสิ่งใดก็ตามที่แบ่งโลกของเราออกเป็นส่วนต่าง ๆ และมีการต่อสู้กัน พลังของตราลาจึงช่วยสร้างความสามัคคีให้กับส่วนต่าง ๆ ของโลกและบรรเทาความแบ่งแยก ตราลาเป็นคำใหม่สำหรับพวกเรา และไม่ได้มีความหมายในลักษณะที่ตายตัวและลดคุณค่าลงอย่างเช่น คำว่า "พระเจ้า" "เทพยดา" หรือ "เทวดา นางฟ้า" และอื่น ๆ พ่อจะใช้คำ ๆ นี้บ่อยครั้งในจดหมายเหล่านี้
ท่าน เชอเกียม ตรุงปะ ผู้ก่อตั้งสัมพลอันเป็นหนทางศักดิ์สิทธิ์แห่งนักรบเห็นว่า แม้ในโลกตะวันตกจะมีการพัฒนาด้านทรัพย์สินไปมาก แต่ความมีชีวิตของผืนดินได้ถูกทำลายโดยผ่านการผลิต การทำเหมืองแร่และอื่น ๆ และเป็นเหตุให้ตราลาหายไป เพื่อฟื้นฟูความมีชีวิตและบรรเทาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ท่านได้สอนวิธีปฏิบัติตามแนวสัมพลให้กับคนในสมัยใหม่ เพื่อให้พวกเขาสามารถเชื่อมโยงภูมิปัญญาในใจของตนและพลังและอำนาจแห่งตราลา ท่านบอกว่าการปฏิบัติเหล่านี้จะช่วยนำความงดงามและศักดิ์ศรีกลับคืนสู่โลก ธรรมชาติและกาย เป็นแรงสนับสนุนสำคัญสำหรับการพูด และความกล้าหาญ และช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจให้เรา ท่านเน้นว่า เราสามารถเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับตราลาได้ โดยไม่ใช่นิยายเพ้อฝัน แต่การเชื่อมโยงเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อเรามีการปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ตีฝีปาก
ในบรรดาแนวทางการดำรงชีวิตทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นยุโรปยุคกลาง ชาวเผ่าเนวาโจ ชินโต ญี่ปุ่นหรือคำสอนเรื่องตราลาตามแนวทิเบต ศรัทธาผู้นับถือมักมีประสบการณ์กับมิติอันหลากหลายที่ทับซ้อนกันในโลกของตน ทั้งมิติที่เป็นความจริงทางวัตถุ มิติของพระเจ้า จิตวิญญาณ บรรพชนและเทพยดา และมิติทั้งสองเป็นวิธีการรับรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกันต่อโลกใบเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น แคโรลี เอริกสัน, เขียนเล่าถึงคัมภีร์ในสมัยศตวรรษที่ 13 ที่บอกเล่าเรื่องราวของพระสามรูปซึ่งตกลงเดินทางร่วมกันเพื่อ "ค้นหาสถานที่อันเป็นที่บรรจบของสวรรค์และโลก" มีการบรรยายภูมิทัศน์อย่างละเอียดของการเดินทางอันยาวไกล ข้ามแม่น้ำไทกริส ผ่านเปอร์เซีย (ปัจจุบันเป็นอิหร่าน) จนไปถึงที่ราบในเอเชีย ในระหว่างทางท่านได้พบสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดมากมาย ทั้งมนุษย์ที่มีความสูงน้อยกว่าสองฟุต เทือกเขาอันอ้างว้างเยือกเย็นแต่เต็มไปด้วยมังกร ภูเขาที่สูงกว่าแต่เต็มไปด้วยช้าง สถานที่ซึ่งบรรดาคนบาปต่างรับทัณฑ์ทรมานอย่างเจ็บปวด และอื่น ๆ. เอริกสันเขียนไว้ว่า
"บันทึกการเดินทางของพระซึ่งพบอยู่ในคัมภีร์ ให้รายละเอียดอย่างจริงจังเกี่ยวกับภูมิทัศน์ มีการผสมผสานความจริงในหลายมิติ เพื่อบรรยายถึงภูมิทัศน์อย่างต่อเนื่องเพียงหนึ่งเดียว ในบันทึกดังกล่าวมีการแสดงภูมิทัศน์ด้านจิตวิญญาณที่สอดคล้องกับความเชื่อตามพื้นบ้าน.... และมีความคล้ายคลึงกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่จริง
"ลักษณะรูปแบบที่ทับซ้อนอย่างหลากหลาย อันประกอบขึ้นเป็นพื้นฐานภูมิศาสตร์ในการเดินทางของพระ มีส่วนคล้ายคลึงกับโลกพิศวงซึ่งประกอบด้วยพรมแดนในเชิงจินตนาการและความเป็นจริงซึ่งเลื่อนไหลอยู่ตลอดเวลา ณ จุดหนึ่ง จะมีการระบุถึงจุดจำกัดทางกายภาพแห่งกาละและเทศะ ในอีกจุดหนึ่งอาจมีการมองข้ามลักษณะเฉพาะดังกล่าวไป หรือหากมองจากอีกแง่มุมหนึ่ง เป็นการข้ามพ้นลักษณะเฉพาะดังกล่าวไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสืบเนื่องและเป็นไปโดยอัตโนมัติคือ การขยายและหดตัวของพื้นที่ความจริงที่รับรู้ ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีการตั้งข้อสังเกต และไม่มีขอบเขตจากความจริงที่รับรู้โดยนักเขียนยุคกลาง"
ชาวพื้นเมืองอะบอริจินของออสเตรเลีย มีความเชื่อในสองแง่มุมของจักรวาลตนเองเช่นกัน โดยประกอบด้วยโลกทางกายภาพแบบสามัญซึ่งพวกเขาดำรงชีวิตอยู่ และโลกอีกใบหนึ่งซึ่งเรียกว่าเป็นโลกแห่งความฝัน (dreamtime) อันที่จริงพวกเขาเห็นว่า ทั้งโลกสามัญและโลกแห่งความฝันดำรงอยู่อย่างใกล้เคียงกัน พระเจ้าของชาวอะบอริจินซึ่งเป็นบรรพชนของพวกเขา ยังคงยาตราอยู่ทั่วดินแดนในปัจจุบัน และท่องบ่นเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผืนดินซึ่งอาจดูเหมือนแบนราบและตายด้านได้ถูกปลุกฟื้นคืนชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า โดยการบอกเล่าและกล่าวซ้ำถึงเรื่องราวต่าง ๆ เรื่องราวเหล่านั้นทำให้เกิดขุนเขาและหุบเขา หินและหนองน้ำ บทเพลง (songline) หรือความฝันของบรรพชนเป็นเส้นทางที่ชาวอะบอริจินแต่ละคนเดินตาม เพื่อสร้างสรรค์ดินแดนของตน
ชาวพื้นเมืองอะบอริจินยังทุ่มเทชีวิตให้กับการเรียนรู้และเคารพกฎแห่งความฝัน พวกเขาเรียนรู้การตีความบทเพลงและเรื่องเล่าทีละขั้น ยิ่งมีโอกาสเรียนรู้มากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งเข้าใจแผ่นดินของตนมากขึ้นเท่านั้น แผ่นดินเป็นเสมือนตำราที่ให้การศึกษากับชาวอะบอริจิน ข้อมูลเกี่ยวกับทุกแง่มุมของการดำรงอยู่ถูกซ่อนไว้ในเรื่องราวของแผ่นดิน ความลับของแผ่นดินเป็นการเรียนรู้ทุกสิ่งอันมีค่าแก่การเรียนรู้
บทเพลงและเส้นทางแห่งบรรพชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยนอกจากจะพรรณนาถึงความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นพลังสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว บทเพลงเป็นจังหวะและท่วงทำนองแห่งจักรวาลที่ชี้นำแนวทางในโลกประจำวัน โดยไม่ได้เป็นบทเพลงที่ประพันธ์โดยมนุษย์ เพราะไม่เช่นนั้นบทเพลงเหล่านี้จะไม่มีพลังที่จะดึงดูดโลกภายนอกไว้และเชื่อมโยงเข้ากับโลกแห่งความฝัน บทเพลงเหล่านั้นถ่ายทอดจากบรรพชนสู่ชาวอะบอริจิน ผ่านคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าและยังคงทำให้เกิดความฝันใหม่อย่างต่อเนื่อง ในยามที่ชาวอะบอริจินเดินตามเส้นสายแห่งบรรพชนและขับขานบทเพลงเหล่านั้น เขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบรรพชนและเข้าร่วมในการสร้างสรรค์ดินแดนที่สืบเนื่องมาแต่อดีต คงเป็นลักษณะเดียวกับที่ชาวเนวาโจพูดว่า "เขากำลังเดินในโพโซ" แผ่นดินมีชีวิตอยู่ตามหนทางเช่นนี้และตั้งอยู่บนพื้นฐานภูมิปัญญาของบรรพชน ตามทัศนะของชาวพื้นเมือง
สแตนลีย์ วิลสัน (Stanley Wilson) นักเขียนและอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวพื้นเมืองครี เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ในการประชุมด้านการศึกษาที่จอร์เจียว่า เขากำลังยืนอยู่ในวิทยาลัยและพูดภาษาครีกับ เพ็กกี้ภรรยาของเขา ทันใดนั้นเขารู้สึกปีติขึ้นมาในใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จากนั้นก็เกิดอาการห่อเหี่ยว เขาเอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับคนเฒ่าคนแก่ซึ่งบอกเขาว่า แผ่นดินที่เขายืนอยู่นั้นบรรจุด้วยความทรงจำของบรรพชนซึ่งตรงกับความทรงจำที่บรรจุอยู่ในเซลในกระดูกของเขา เมื่อเขาย่างเท้าสู่ดินแดนนั้น ความทรงจำแต่โบราณในร่างกายของเขาก็ได้รับการกระตุ้นขึ้นมา
เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ ลูกควรรู้ว่าที่ตั้งของวิทยาลัยที่นายวิลสันเหยียบย่างอยู่นั้น มีชื่อเรียกว่า "เส้นทางแห่งน้ำตา" ทั้งนี้เพราะเคยเป็นเส้นทางที่ชาวพื้นเมืองอเมริกันหลายคนถูกบังคับให้เดิน หลายคนเสียชีวิตระหว่างทาง ในช่วงที่พวกเขาถูกขับไล่ออกจากผืนดินถิ่นเกิดในรัฐจอร์เจียเพื่อโยกย้ายไปยังเขตสงวนที่รัฐโอคลาโฮมา ในครั้งแรก บรรพชนของนายวิลสันแสดงความยินดีและปีติที่ได้ยินเขาพูดในภาษาของตน จากนั้นก็สื่อสารให้เขารับรู้ถึงความโศกสลดของผืนดินนั้น
เรื่องเล่าเหล่านี้มีความหมายอะไรกับเราล่ะ วาเนสสา? พระเจ้าก็ดี เทวดา นางฟ้า เทพยดา ภูตผี ผู้ศักดิ์สิทธิ์ บรรพชน กามิ ตราลา มีอยู่จริงหรือ? มันคงไม่ได้เป็นคำถามง่าย ๆ แบบนั้น. พวกเขาเหล่านั้นมีตัวตนอยู่จริงในมิติที่แยกออกไป รูปปรากฏของพวกเขาจะถูกกำหนดโดยวัฒนธรรมที่ห่อหุ้มล้อมรอบ แต่พวกเขาก็ไม่ใช่แค่ตัวตนในจินตนาการ หมายถึงว่าพวกเขาไม่ได้มีอยู่แค่ "ในหัวสมองของเรา" ที่พ่อพูดจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อเราได้สนทนากันต่อไป เพื่อศึกษาถึงธรรมชาติของประสบการณ์และการกำเนิดขึ้นของโลก "ที่แท้จริง" ที่เราเรียกกัน พ่อหวังเช่นนั้น
ในจดหมายฉบับถัดไป พ่อจะแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พูดใช้ได้กับทุก ๆ เรื่องที่ลูกเชื่อว่ามีอยู่จริงในโลก ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ก้อนหิน นก เซินยี่ สุนัขของเรา แม่และตัวพ่อ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แยกขาดจากตัวลูกเลย แต่มันก็ไม่ใช่ตัวตนในจินตนาการเท่านั้น เช่นเดียวกับตราลาและอื่น ๆ และเพราะเราไม่ได้แยกขาดจากสิ่งเหล่านั้น เราสามารถเชื่อมโยงพวกเขาและนำพลังของพวกเขาให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา และเพราะพวกเขาไม่ได้มีอยู่ "เฉพาะในหัว" พวกเขาจึงสามารถสร้างความเข้มแข็งและให้ความช่วยเหลือเราได้
ในบรรดาบุคคลที่พ่อเขียนถึงในจดหมายฉบับนี้ รวมทั้งชนพื้นเมืองส่วนใหญ่ทั่วโลก เราจะพบว่าพวกเขามีแนวคิดสากลแบบเดียวกัน นั่นคือการมองโลกว่ามีชีวิต เต็มไปด้วยพลังแห่งชีวิต มีความรู้สึกตอบสนองและมีการรับรู้ และทุกสิ่งที่เราเห็น ได้ยิน และสัมผัสในโลกมีส่วนร่วมอยู่ในการรับรู้ต่อพลังชีวิตที่มีการตอบสนอง. เราอาจพูดได้ว่าชนพื้นเมืองเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณแห่งโลก ไม่ใช่จิตวิญญาณในแง่ที่เป็น "วัตถุ" ที่เราแต่ละคนมีและแยกขาดจากกัน แต่เป็นอะไรที่เหมือนจริงกว่านั้น ดังที่ โทมัส มัวร์ (Thomas Moore) กล่าวไว้ในหนังสือ Care for the Soul ว่าจิตวิญญาณ "ไม่ได้เป็นแค่วัตถุ แต่เป็นคุณภาพหรือมิติของประสบการณ์ชีวิตและตัวเราเอง"
มันเป็นคุณภาพที่สอดแทรกในทุกสิ่งเหมือนอย่างลมศักดิ์สิทธิ์ของชาวเนวาโจ
มันเป็นความสั่นไหวอย่างเป็นจังหวะเช่นเดียวกับจังหวะการเต้นของหัวใจ ที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเราเห็นสิ่งที่สวยงามหรืออัปลักษณ์
จิตวิญญาณเป็นส่วนลึกของความรู้สึกที่ไร้นาม เป็นความรักที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ และเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง
ๆ ที่มีทั้งหัวใจและหัวสมองอยู่ด้วยกัน ทั้งยังกอปรด้วยความโหยหาที่จะเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับสิ่งต่าง
ๆ ความโหยหาต่อจิตวิญญาณอย่างมีส่วนร่วมของยุคกลาง เมื่อเข้าใจสิ่งนี้เราจะเข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่าง
ๆ เพราะว่าจิตวิญญาณในตัวเราสั่นไหวอย่างสอดคล้อง กำธรกับจิตวิญญาณของสิ่งต่าง
ๆ
การรับรู้ต่อพลังและความรู้สึกที่มีชีวิตและมีการตอบสนอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสิ่งต่าง
ๆ เป็นประสบการณ์สากลที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่บอกเล่าเรื่องราวที่ไม่อาจเห็นได้แต่เป็นสิ่งที่รู้ได้
แม้ว่ารายละเอียดการบอกเล่าของพวกเขาอาจแตกต่างกันมาก เรื่องเล่าของพวกเขายังบ่งบอกถึงวิธีการสื่อสารหรือเต้นรำให้สอดคล้องกับแบบแผนการรับรู้พลังและความรู้สึกอันมีชีวิตเหล่านั้น
ที่เน้นในจดหมายฉบับนี้คือจารีตในยุคกลาง ทั้งนี้เพราะเป็นจารีตที่ใกล้ตัวเรามาก
เป็นจารีตที่ฝังลงไปอีกเพียงชั้นเดียวจากยุคปัจจุบัน เราควรระลึกว่าสิ่งต่าง
ๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเทพยดาหรือเทวดานางฟ้าในยุคกลาง ไม่ได้เป็นเทวดาน้อยผู้น่ารักแบบที่เล่ากันในนิทานหรือตามภาพที่เราเห็นในปัจจุบันทั่วไป
พวกเขาเคยมี (และพ่ออยากบอกว่ายังคงมีอยู่ซึ่ง) พลังมหาศาล เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างแดนหรือสัมผัสกับชนต่างถิ่น
เพื่อค้นหาพลังและความศักดิ์สิทธิ์ในโลกธรรมชาติ เราเพียงแต่ต้องเปิดหู สมองและใจของเราให้พร้อมที่นี่และเดี๋ยวนี้
จดหมายฉบับที่
3
เรื่องราวของโลกที่ตายแล้ว
วาเนสสาลูกรัก
ในระหว่างเตรียมปฏิบัติสมาธิภาวนาเช้าวันนี้ พ่อเหลือบมองออกไปนอกหน้าต่างที่พุ่มไม้ซึ่งยังมีหิมะปกคลุมและอยู่ระหว่างช่องว่างของทิวสนดำ
พ่อมองออกไปยังทะเลสาบที่แข็งตัวจนขาวโพลนไปยังทิวสนอีกด้านหนึ่งไกลออกไปอีกฝั่งหนึ่งของทะเลสาบ
มันดูเหมือนจะเป็นทิวทัศน์ที่หดหู่ มีแต่สีขาวและดำ แต่ในระหว่างที่มองดูก็เกิดประกายสีแดงเข้มขึ้นเหนือต้นไม้ตรงเส้นขอบฟ้า
ประกายแสงเจิดจ้าขึ้น จนกลายเป็นจุดศูนย์กลางของรัศมีสีทอง ในระหว่างที่เฝ้ามอง
รัศมีนั้นก็โผล่พ้นขึ้นเหนือทิวไม้ พ่อรู้สึกปีติอย่างเงียบ ๆ ในใจและรำพึงขึ้นมาว่า
"พระอาทิตย์กำลังขึ้น" ใน
ขณะที่พ่อมองพระอาทิตย์ ต้นไม้และทะเลสาบ พ่อสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและความมีชีวิต ความรู้สึกที่แผ่ออกไปสู่ธรรมชาติเหล่านั้นเงียบสงบ นุ่มนวลและเยือกเย็น พระอาทิตย์ ทะเลสาบและต้นไม้ก็ตอบสนองความรู้สึกของพ่อดุจเดียวกัน บางสิ่งข้างนอกนั้นกำลังสั่นไหว กำธรอย่างสอดคล้องกับจังหวะในตัวพ่อ พวกเราอยู่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน ณ ที่นั้น. มันเป็นความรู้สึกแบบเดียวกันที่พ่อมีเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่แล้วตอนที่พ่อปลูกกุหลาบในแปลง ลูกยังจำได้ไหมว่าพ่อกลับบ้านพร้อมกับกุหลาบสามต้น พ่อดีใจมากเฝ้าประคบประหงมต้นกุหลาบไว้ในวงแขน ราวกับเป็นลูกที่พึ่งคลอดของพ่อเองทั้ง ๆ ที่เป็นกุหลาบมีหนาม
ตอนที่พ่อปลูกกุหลาบ เนื่องจากพ่อไม่เคยปลูกกุหลาบมาก่อนเลย พ่อจึงไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร พ่อจึงถามกุหลาบ และทุกครั้งที่พ่อเดินไปยังแปลงดอกไม้ พ่อจะรู้สึกว่ากุหลาบต้องการบอกอะไรบางอย่างกับพ่อ มันคืออะไรล่ะ? พ่อก็บอกไม่ได้ พ่อเพียงแต่รู้สึกว่าบางสิ่ง ความรู้สึกบางอย่างสะท้อนจากกุหลาบมาสู่ตัวพ่อและจากตัวพ่อไปสู่กุหลาบ เราสื่อสารกันด้วยความรู้สึก เป็นการสื่อสารในระนาบเดียวกัน เป็นการสื่อสารผ่านความรู้สึก หรือการรับรู้ต่อความรู้สึก หรือการสื่อสารผ่านจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นการสื่อสารที่พ่อมีกับปีเตอร์แมวของเรา หรือตัวลูกหรือกับแม่ ตอนที่เรานั่งเงียบ ๆ และไม่ได้พูด แน่นอนว่าการสื่อสารที่พ่อมีต่อลูกหรือแม่มีความซับซ้อนมากกว่าการสื่อสารกับกุหลาบ และเมื่อเราเริ่มพูด เราจะสูญเสียความสามารถการสื่อสารในระดับนั้นไปอย่างรวดเร็ว เพราะมันเป็นสิ่งที่ยากจะบ่งบอกผ่านคำพูด คำพูดบ่งบอกได้เพียงสิ่งที่ผิวเผิน และไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกในระดับลึกซึ้งได้ เว้นก็แต่กวีนิพนธ์อันเลอเลิศ
เอาล่ะ กลับมาที่เรื่องทะเลสาบและทิวสนนอกหน้าต่าง หรือมาที่เรื่องกุหลาบในสวนของเรา เมื่อพ่อเพ่งจิตไปที่การรับรู้ความรู้สึกในระดับนั้น จะเกิดความเปิดกว้างในตัวพ่อขึ้นมา พ่อรู้สึกถึงความเปิดกว้างที่หน้าอกหรือที่หัวใจ ราวกับว่าพ่อกำลังมองต้นไม้หรือกุหลาบผ่านหัวใจแทนที่จะมองผ่านสมองเหมือนอย่างที่ทำเป็นปรกติ และเมื่อมองด้วยวิธีการนี้ พ่อสามารถรับรู้ความรู้สึกที่มาจากต้นไม้หรือกุหลาบที่สะท้อนกลับมาและแทรกซึมเข้าไปในตัวพ่อ และพ่อเองก็ถ่ายทอดบางสิ่งจากตัวเอง จากหัวใจพ่อไปสู่กุหลาบ
มันเป็นการถ่ายทอดบางสิ่งที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง เป็นการถ่ายทอดพลัง-ความรู้สึก หากเราต้องการเรียกเช่นนั้น และการถ่ายทอดพลัง-ความรู้สึกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพ่อและกุหลาบมีความบรรสานสอดคล้องต่อกัน หมายถึงว่าเรามีความกำธรต่อกัน มันเป็นความบรรสานสอดคล้องแบบเดียวกันเวลาที่ลูกเล่นโน้ตด้วยกีตาร์ และมีกีตาร์อีกตัวหนึ่งวางพิงกับเก้าอี้ใกล้ ๆ กีตาร์ตัวที่สองจะเปล่งเสียงตัวโน้ตเดียวกันกับกีตาร์ตัวแรก ซึ่งจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การกำธร และอันที่จริงมีการถ่ายทอดพลังจากกีตาร์ตัวแรกไปยังตัวที่สอง และถ่ายทอดกลับจากกีตาร์ตัวที่สองมายังตัวแรก หลักการกำธรเป็นพื้นฐานของสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วจักรวาล และพ่อจะเขียนถึงเรื่องนี้ค่อนข้างมากในจดหมายฉบับต่อ ๆ ไป
ในวัฒนธรรมของเรา คนจำนวนมากรับรู้ถึงความรู้สึกเหล่านี้ได้ หรือความรู้สึกแปลกประหลาดที่ยากจะเข้าใจอื่น ๆ พวกเขาอาจรับรู้ถึงความรู้สึกหรือการนึกคิดของเพื่อนซึ่งอยู่ไกลออกไปหลายไมล์ หรือพวกเขาอาจรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของบุคคลที่พวกเขามองไม่เห็น แต่ยืนอยู่ใกล้พวกเขา หรือพวกเขาอาจจะเห็นการดำรงอยู่ของบุคคลนั้นก็ได้ มีคนบอกเล่าถึงเรื่องราวแปลกประหลาดต่างๆ กัน บ่อยครั้งที่พวกเขาไม่รู้ว่าควรจะจัดการกับเรื่องนั้นอย่างไรและเก็บงำไว้กับตัวเอง พวกเขาไม่อยากให้คนอื่นมองว่าตัวเองเป็นคนเพี้ยน เราอาจปฏิเสธหรือเพิกเฉยต่อประสบการณ์ที่สำคัญต่อเราไป เพราะประสบการณ์นั้นไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เราได้รับการอบรมสั่งสอนมา แต่ก็มีคนมากขึ้นที่พร้อมจะบอกเล่าประสบการณ์เหล่านี้ เหมือนอย่างที่ลูกอาจได้เห็นหนังสือขายดีที่พูดถึงประสบการณ์ใกล้ตาย หรือรายการสารคดีของ Discovery Channel หรือ PBS ที่บอกเล่าประสบการณ์การเผชิญหน้ากับเทวดานางฟ้า แต่ในทางวิทยาศาสตร์ก็มักมีการพยายามทำลายความเชื่อเหล่านี้โดยเรียกประสบการณ์เหล่านี้ว่าเป็น "ภาพหลอน" หรือบอกว่า "มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในหัว"
เราคงเหนื่อยหน่ายกับคนที่มีแนวโน้มจะพูดเกินจริงและอธิบายจนเฝือ แต่พลังงานที่มองไม่เห็นเหล่านี้แทรกซึมอยู่ทั่วไปในโลก และเมื่อการรับรู้ของเราเปิดออกเราจะสามารถสัมผัสได้ถึงพลังงานเหล่านี้ เมื่อลูกปฏิบัติสมาธิภาวนา ลูกจะสัมผัสถึงพลังเหล่านี้ได้ไม่ช้าก็เร็ว แม้ว่านั่นจะไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการภาวนาก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ลูกอาจสัมผัสได้ถึงความไม่มีแก่นสารของสิ่งต่าง ๆ หรือคุณลักษณะที่กระตือรือร้นของพื้นที่หรือชีวิตของก้อนหิน ลูกอาจรู้สึกว่าตัวเองมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับโลกในแง่กายภาพ ลูกอาจเกิดความไม่อยากเชื่อต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องจริง และไม่เชื่อมั่นต่อประสบการณ์นั้น ความสงสัยที่ฝังรากลึกมักบอกว่า "ฉันรู้ว่าสิ่งนี้ไม่มีทางเป็นเรื่องจริงได้ เพราะนักวิทยาศาสตร์บอกมาอย่างนั้น"
เรามักเชื่อกันโดยทั่วไปว่า นักวิทยาศาสตร์เที่ยวค้นหาความจริงแบบภววิสัยโดยปราศจากอคติและความคิดเพ้อฝัน มีผู้สัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ทางทีวีเธอบอกว่า "ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามีไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งในลำไส้ใหญ่ แต่เรายังไม่มียารักษามะเร็งชนิดนี้ แต่คาดว่าภายใน 10 ปีเราจะทำได้" นักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งระบุว่า "เราพึ่งค้นพบอนุภาคขั้นพื้นฐานชนิดใหม่ที่เรียกว่า top quark ตอนนี้เรารู้จักอนุภาคทุกชนิดที่มีอยู่ในจักรวาลแล้ว และเราเข้าใกล้การพัฒนาทฤษฎีที่อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์แล้ว"
ฟรานซิส คริก (Francis Crick) ผู้รับรางวัลโนเบลบอกว่า "ตัวคุณ ความสุขและความเศร้าของคุณ ความทรงจำและความทะเยอทะยานของคุณ อัตลักษณ์และความสมัครใจของคุณ อันที่จริงแล้วก็เป็นเพียงพฤติกรรมขององค์ประกอบของกลุ่มเซลประสาทขนาดใหญ่" พวกเราส่วนใหญ่คงให้ความสนใจกับรายงานแบบนี้อย่างจริงจังและตายตัวโดยไม่มีการตั้งคำถาม เราปล่อยให้ความคิดนี้แทรกซึมเข้าสู่ชีวิตของเรา แม้แต่ผู้ที่คิดว่าตัวเองมีความเชื่อมั่นต่อญาณทัศนะก็ยังได้รับผลกระทบในระดับที่ลึกซึ้งจากโลกทัศน์วิทยาศาสตร์ที่แทรกซึมอยู่ในทุกสิ่ง
เวลาที่เราแสดงหลักฐานสนับสนุนความเห็นของตัวเอง เรามักจะบอกว่า "การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นแล้วว่า..." และนั่นดูเหมือนจะเป็นข้อสรุปในการถกเถียงใด ๆ ก็ตาม มักมีคนบอกให้เราเชื่อมั่นในควาก (quark) ซึ่งเป็นอนุภาคที่เล็กยิ่งกว่าอิเล็กตรอน (แล้วอันที่จริงลูกเคยรู้สึกหรือเห็นควากหรือเปล่าล่ะ) และให้เชื่อมั่นว่าควากนั้นมีอยู่จริงเหมือนกับนกโรบินหรือก้อนหินอย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเราบอกว่าเราเชื่อในลางสังหรณ์หรือภูตผีก็คงมีคนบอกว่าเราโง่ แม้ว่าเราจะเคยเห็นด้วยตัวเราเองมาก่อนก็ตาม ทั้งนี้เพราะนักวิทยาศาสตร์บอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง
ลูกยังจำฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง The Meaning of life ของมอนตี้ ไพตัน ( Monty Pyton) ได้ไหม เขาเป็นอนุศาสนาจารย์ในโรงเรียนเด็กผู้ชายและกำลังนำเด็กผู้ชายสวดมนต์ตอนเช้า เขาบอกว่า "พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก" พ่อบอกได้เลยว่าเราทุกคนถูกกดทับอยู่ที่นี่จริง ๆ อันที่จริงแทนที่เราจะสวดสรรเสริญพระเจ้า เราควรจะสวดสรรเสริญอนุสาวรีย์ของนักวิทยาศาสตร์แทนกระมัง พ่อได้รับการศึกษามาแบบนักวิทยาศาสตร์ ลูกก็รู้อยู่ และพ่อเองก็มีความเคารพอย่างมากต่อวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง แต่เมื่อวิทยาศาสตร์กลายเป็นมหาอำนาจทางศาสนาที่งมงาย พ่อคิดว่านักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็คงรู้สึกเศร้า และอดรู้สึกคลื่นเหียนเล็กน้อยไม่ได้
เอาล่ะ ลองมาดูเรื่องราวที่มีคนบอกให้เราเชื่อ เรื่องราวที่เราได้รับฟังครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่ชั้นป.3 ป.4 จนเราโตขึ้นมา เรื่องราวที่เราอ่านจากนิตยสาร ดูจากโทรทัศน์ทุกวัน. ทัศนะที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการมองว่ามนุษย์เป็นเครื่องจักรไม่ได้แค่คล้ายเครื่องจักร แต่เป็นเครื่องจักรจริง ๆ ตอนที่แม่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในหลักสูตรสรีรศาสตร์เมื่อปีนี้ ย่อหน้าแรก ๆ ในตำราเล่มหนาของแม่บอกว่า "ทัศนะต่อชีวิตแบบกลไกมองว่า ทุกปรากฏการณ์ไม่ว่าจะซับซ้อนเพียงใดเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ด้วยกฎทางกายภาพและเคมี" ด้วยทัศนะเช่นนี้ ซึ่งเป็นทัศนะของนักสรีรวิทยา มนุษย์จึงเป็นเพียงเครื่องจักร เป็นเครื่องจักรที่ซับซ้อนอย่างมาก แต่ก็ยังเป็นเครื่องจักรอยู่ดี...ทัศนะแบบกลไกมีอิทธิพลในศตวรรษที่ 20 ทั้งนี้เพราะข้อมูลที่ได้จากการสังเกตและการทดลองต่างสนับสนุนทัศนะเช่นนี้ แสดงว่าเราได้ข้อสรุปที่ต้องการจากการทดลองที่เราเตรียมขึ้นมา เพื่อให้ได้ข้อสรุปนั้น เราจะพูดถึงเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป
ลองมาดูถึงแง่มุมสำคัญของทัศนะหลักเช่นนี้
เราอาจเรียกได้ว่าเป็น
เรื่องราวของโลกที่ตายแล้ว
- โลกประกอบขึ้นจากสสาร ปราศจากชีวิต ปราศจากความคิด (การรับรู้ การตระหนักรู้หรือวิญญาณ) ใด ๆ ทั้งสิ้น
- เราทั้งหลายเป็นเพียงกลุ่มก้อนของสสารอันซับซ้อนนั่นเอง
- ภายนอกตัวเราก็เป็นเพียงกลุ่มก้อนของสสารที่เราเรียกว่าบุคคลอื่น
- การคิด การรับรู้หรือการตระหนักรู้เป็นเพียงผลลัพธ์จากปฏิกิริยาด้านไฟฟ้าและเคมีในสมอง
- การรับรู้ การตระหนักรู้ ความรู้สึกและอัตลักษณ์ของตัวเราเกิดขึ้นตอนที่เราเกิด เมื่อเราตายไป สิ่งเหล่านี้จะยุติลงอย่างฉับพลัน โดยสิ้นเชิงและไม่เหลือหลอ ไม่มีสิ่งใดสืบเนื่องต่อไป
- ระหว่างการเกิดและการตาย เราอาศัยอยู่ในโลกที่ปราศจากซึ่งชีวิต ปราศจากการรับรู้และปราศจากความรู้สึก เป็นโลกที่ไร้วิญญาณ
- เวลาเป็นความจริงที่ดำรงอยู่นอกตัวเราอย่างชัดเจน และดำเนินไปโดยไม่สัมพันธ์กับตัวเรา เป็นเส้นที่ลากจากอดีตไม่รู้จบสู่อนาคตอันเป็นอนันตกาล
- ธรรมชาติอยู่ใต้กฎเกณฑ์ของการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่กระทำต่อกัน
- เนื่องจากการต่อสู้ในธรรมชาติอันเป็นคุณลักษณะพื้นฐาน พฤติกรรมมนุษย์และสัตว์จึงมีแรงจูงใจสำคัญมาจากการทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ความไม่เห็นแก่ตัว การเห็นผู้อื่นสำคัญกว่าตนเอง จึงเป็นเพียงมายาภาพ
- ความรู้สึกที่ว่าเรามีเสรีภาพในการตัดสินใจ ที่ว่าเราสามารถเลือกจะประพฤติตนอย่างไม่เห็นแก่ตัวหรืออย่างมีเมตตา อันที่จริงเป็นเพียงมายาคติที่ปรุงแต่งขึ้นในสมอง
-"คุณค่า" ที่เรารับรู้เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของเราเอง
- ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเราหรือที่บอกเล่าโดยคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นลางสังหรณ์ การใช้พลังจิตเพื่อควบคุมวัตถุ โทรจิต และประสบการณ์การออกจากร่างเป็นเพียงภาพหลอนหรือเรื่องหลอกลวง
- ตัวตนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น "บรรพชน" "พระเจ้า" "เทวดานางฟ้า" "กามิ" "ตราลา" และอื่น ๆ ไม่มีอยู่จริง พวกเขาเป็นเพียงความพยายามที่จะอธิบายและควบคุมโลกธรรมชาติซึ่งล้มเหลว และเกิดขึ้นก่อนที่วิทยาศาสตร์จะให้คำอธิบายที่แท้จริง
- แนวคิดเกี่ยวกับชีวิต "ด้านใน" หรือ "ด้านจิตวิญญาณ" เป็นเพียงมายาคติ แม้ว่ามันจะช่วยปลอบประโลมใจสำหรับคนอ่อนแอบ้าง
แนวคิดเหล่านี้ปรากฏอยู่ทั่วไปในข่าวสารและเรื่องราวในนิตยสารกระแสหลัก ที่มักเขียนถึงการค้นพบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอวกาศ การแพทย์หรือพฤติกรรมมนุษย์ ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ในโลกสมัยใหม่ที่มีความเฉลียวฉลาด ได้รับการศึกษาและ "มีวุฒิภาวะ" เราก็ควรเชื่อการถามตอบในยุคใหม่เช่นนี้ ถ้าเราประท้วงว่าเราไม่ได้รู้สึกในแบบนี้ หรือเรารู้สึกว่าจักรวาลมีอะไรที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น พวกเขาก็จะบอกให้เราเงียบ หยุดแสดงความอ่อนแอและความเหลวไหล และให้หันมาเผชิญหน้ากับความจริง
เรามีชีวิตเหมือนกับร่างกายของเราเป็นเพียงกลุ่มก้อนของสสารที่แยกขาดจากกัน เราจึงสูญเสียความเชื่อมโยงที่เป็นผลดีต่อสุขภาพของเรากับโลก, เรามีชีวิตอยู่ราวกับเราอยู่ในโลกที่ตายแล้ว กลวง พลังและความรู้ที่มีทั้งหมดล้วนมาจากภายในทั้งสิ้น และเรามีความรู้สึกตื่นเต้นกระสับกระส่ายตลอดเวลาจนกว่าพลังของเราจะหมดสิ้นไป, เรามีชีวิตอยู่ราวกับว่าเวลาเลื่อนไหลจากอดีตสู่อนาคต ดังนั้นเราจึงไม่ติดยึดอยู่กับขณะปัจจุบันเลย, เรามีชีวิตอยู่ราวกับว่าสมองของเราอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายและเกิดขึ้นจากร่างกาย เราจึงกลัวความตายเพราะทำให้เราไม่สามารถคิดต่อไปได้, เรามีชีวิตอยู่ราวกับว่าเราเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในโลกซึ่งมีวัตถุที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป, เราทำหน้าที่รับรู้ราวกับตัวเราเป็นเพียงกล้องถ่ายรูป เราจึงไม่มีโอกาสได้มอง ฟัง ลิ้มรส ดมกลิ่นหรือสัมผัสอย่างแท้จริง
เรามีชีวิตอยู่ราวกับร่างกาย
อารมณ์และสิ่งแวดล้อมต้องอยู่ภายใต้กฎแห่งกลไกซึ่งเราต้องปฏิบัติตาม หรือหากขัดขืนก็เปล่าประโยชน์
ราวกับว่าเราไม่มีหนทางอื่นที่จะไปให้พ้นจากกฎเกณฑ์นี้ ด้วยเหตุดังกล่าว การศึกษาจึงมุ่งเพียงเพื่อความอยู่รอด
หรือไม่ก็เพื่อความบันเทิงเท่านั้น, เรามีชีวิตอยู่ราวกับว่าความเชื่อที่ปรุงแต่งของเราเป็นสัจธรรมเพียงหนึ่งเดียว
การรับรู้ของเราคับแคบลง เรารู้สึกว่าความศักดิ์สิทธิ์และโลกพิศวงเป็นภัยคุกคามต่อสติสัมปชัญญะของเรา
มันเป็นโลกที่ตายแล้ว
วาเนสสา น่าประหลาดใจไหมที่คนจำนวนมากมีความสิ้นหวังเช่นนั้น? น่าประหลาดใจไหมที่อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นมาก และคนจำนวนมากหาทางออกด้วยการใช้ยาที่หนักหน่วงเพื่อค้นหาโลกที่มีชีวิต? ความโหยหาลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ทั้งมวล ความปรารถนาที่จะสัมผัสได้ซึ่งความจริงอันมีชีวิตของโลก สัมผัสได้ซึ่งจิตวิญญาณของโลก ถูกตัดตอนไปด้วยเรื่องราวที่เราได้รับฟังเหล่านี้ ก่อนที่เราจะมีโอกาสรู้ถึงการมีอยู่ของความโหยหานั้นด้วยซ้ำ. แล้วเราควรทำอย่างไรดีล่ะ วาเนสสา?
เราเหนื่อยหน่ายอย่างยิ่งกับผู้ที่บอกให้เราเชื่อในสิ่งที่เราไม่เห็นว่ามีเหตุผลควรเชื่อ เราไม่สามารถถอยหลังกลับไปตอนนี้ และเริ่มเชื่อในโลกที่มีชีวิตใหม่ เราไม่สามารถเอาความเชื่อดี ๆ มาสวมทับของเก่า เหมือนกับการเอาเสื้อคลุมใหม่เอี่ยมสีสดใสมาสวมทับซ้อนเสื้อตัวเก่าได้ ปัญหาก็คือเรื่องราวที่เรารับฟังแต่เล็กป้องกันไม่ให้เราเห็นโลกที่มีชีวิต ยังมีโอกาสที่เราจะเริ่มต้นมีชีวิตอยู่ในโลกที่มีชีวิตใหม่ได้ แต่ก็ต่อเมื่อเราได้เห็นโลกเช่นนั้นหรือได้สัมผัสรับรู้ถึงโลกแบบนั้น แม้เพียงเลา ๆ และเราจะรับรู้ถึงโลกเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อ เราสามารถไปพ้นจากความเชื่อที่บอกว่าโลกเช่นนั้นไม่มีอยู่จริง
พ่อไม่ได้กำลังบอกว่าโลกที่ตายแล้วเป็นความคิดผิด
และโลกที่มีชีวิตเป็นความคิดถูก โลกทั้งสองอยู่ร่วมกัน โลกทั้งสองเป็นโลกใบเดียวกันเพียงแต่มองจากแง่มุมต่างกัน
และเราจะตระหนักถึงสิ่งนี้เมื่อได้พูดคุยกันต่อไป แต่โลกที่ตายแล้วมีข้อจำกัดอย่างมากเมื่อเทียบกับโลกที่มีชีวิต
เหมือนกับลูกมีภาพขาวดำและภาพสีของทิวทัศน์เดียวกัน ภาพขาวดำไม่ใช่สิ่งผิด ภาพขาวดำมีความงามในตัวเอง
มีความกระจ่างแจ่มชัดอย่างพิเศษของตัวเอง เพียงแต่มันไม่มีมิติแห่งสีที่สมบูรณ์เท่านั้นเอง
แต่เราทั้งหลายได้รับการเลี้ยงดูและบ่มเพาะขึ้นมาในโลกที่ตายแล้ว ไม่ว่าเราจะมีความเชื่ออย่างไร
นั่นก็เป็นโลกที่พวกเราส่วนใหญ่อาศัยอยู่ การรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของโลกที่มีชีวิตต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติอยู่บ้าง
ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงความรู้สึกลึก ๆ ที่มีต่อโลก และการปรุงแต่งการรับรู้ในความรู้สึกระดับลึก
ๆ เช่นนี้เองที่ทำให้เรามีประสบการณ์ราวกับว่าโลกตายแล้ว. ในการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกลึก
ๆ เช่นนี้มีหลักการที่สำคัญอยู่สองอย่าง
ประการแรก ลูกควรฝึกปฏิบัติเพื่อให้การรับรู้สามารถแทรกซึมเข้าไปในระดับลึกซึ้งยิ่งขึ้นของร่างกาย-สมอง-ความรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น การปฏิบัติมีรูปแบบที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการภาวนาเพื่อการรู้ตัวทั่วพร้อม หรือการนั่งสมาธิที่เราทำกัน การปฏิบัติเหล่านี้จะทำให้ลูกตระหนักถึงการปรุงแต่งของกาย-จิต และเริ่มเปลี่ยนแปลงการปรุงแต่งนั้น การปฏิบัติเช่นนี้มีความสำคัญแต่ยังไม่เพียงพอ หากลูกปฏิบัติโดยไม่ตรวจสอบความเชื่อในโลกที่ตายแล้ว สิ่งที่ปฏิบัติอาจเพียงสนับสนุนความเชื่อในโลกที่ตายแล้วเท่านั้นเอง ดังตัวอย่างที่พ่อเคยเห็นมาแล้ว
ประการที่สอง ที่จะเริ่มเปิดโลกที่มีชีวิตออกมา อันที่จริงคือการทบทวนสมมติฐานเดิมต่อโลก ซึ่งลูกได้รับจากการศึกษาในโรงเรียนและจากวัฒนธรรมที่เราเติบโตขึ้นมา สมมติฐานเหล่านั้นก็คือเรื่องราวที่พ่อเพิ่งเล่าไป ให้ใคร่ครวญสมมติฐานเหล่านั้น ตรวจสอบ ตั้งคำถาม และเปิดตัวเองสู่ทางเลือกต่าง ๆ
จากนั้นลูกจะสามารถผสมผสานความรู้ทั้งสองแบบ ลูกจะสามารถนำปัญญาที่ได้จากการทบทวนสมมติฐานต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อการปรุงแต่งที่ลึกซึ้งขึ้น ซึ่งจะพัฒนาขึ้นจากการนั่งสมาธิ เป็นการให้ความรู้ต่อความรู้สึกและการรับรู้ในระดับที่ลึกซึ้งและเริ่มต้นมีชีวิตในโลกใหม่ เมื่อนำการปฏิบัติทั้งสองแบบมาผสมกัน ทั้งการนั่งสมาธิและการเพ่งพิจารณาการปรุงแต่งอย่างลึกซึ้ง มันก็จะกลายเป็นปีกสองข้างที่ช่วยพาลูกให้บินขึ้นเหนือโลกที่ตายแล้วไปสู่โลกที่มีชีวิต
ในจดหมายฉบับต่อ ๆ ไป พ่อจะพูดถึงสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้และสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ พ่อจะช่วยให้ลูกเห็นการปรุงแต่งของตัวเอง และพ่อจะช่วยให้ลูกเห็นว่าข้อเท็จจริงหรือทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์เสนอ เพื่อคัดค้านการมีอยู่ของโลกที่มีชีวิตนั้น อันที่จริงเป็นข้อมูลที่ปราศจากแก่นสาร. วิทยาศาสตร์ก็อาจช่วยให้เราเชื่อมั่นในโลกที่มีชีวิตได้เช่นเดียวกับการเชื่อมั่นในโลกที่ตายแล้ว หากนักวิทยาศาสตร์เลือกที่จะไปในทางนั้น นอกจากนั้น ความรู้ใหม่ ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบมีความสอดคล้องมากยิ่งขึ้นกับโลกที่มีชีวิตยิ่งกว่าโลกที่ตายแล้ว แต่คงมีนักวิทยาศาสตร์ไม่มากนักที่พร้อมจะพูดเช่นนั้น แต่ก็มีหลายคนที่กล้าหาญพอซึ่งพ่อจะพูดถึง
พ่อจะพยายามเขียนให้เข้าใจได้ง่าย เพื่อให้เห็นว่าโลกที่ตายแล้วคืออะไร และโลกที่มีชีวิตหรือโลกพิศวงเป็นอย่างไร ซึ่งอาจทำให้ลูกเกิดความรู้สึกแตกต่างอย่างชัดเจนและคิดว่าการก้าวไปสู่โลกที่มีชีวิตสามารถทำได้ง่าย ๆ และตลอดไป แต่ในชีวิตความเป็นจริงของเรา โลกทั้งสองผสมปนเปกันอย่างน่าปวดหัว เราไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองจากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่งได้ตลอดไป แม้เราหวังจะทำเช่นนั้น เรายังคงต้องเห็นโลกที่ตายแล้วและต้องพยายามกระโดดเข้าไปสู่โลกที่มีชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดไป เราอาจได้เห็นโลกที่มีชีวิตเพียงแวบหนึ่ง และเพียงแวบนั้นเราสามารถผ่อนคลายตัวเองในโลกนั้น แต่โลกนั้นก็จะปิดลงอีก จากนั้นเราก็ต้องกระโดดเข้าไปอีกครั้งยังโลกที่มีชีวิต นั่นเป็นวิถีชีวิตของเรา และเพื่อให้เข้าสู่โลกที่มีชีวิตได้ เราต้องฝึกปฏิบัติครั้งแล้วครั้งเล่า
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90