บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Venezuela
& Mexico
Midnight
University
รายงานสถานการณ์ในละตินอเมริกา:
เวเนซุเอลาและเม็กซิโก
ความพ่ายแพ้ของชาเวซ
และวิกฤตข้าวโพคในเม็กซิโก
ภัควดี
วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ
ผู้สนใจประเด็นขบวนการภาคประชาชน ในละตินอเมริกา
บทความแปลและเรียบเรียงต่อไปนี้
นำมาจากเว็บไซต์ประชาไท ประกอบด้วย
๑. ความพ่ายแพ้ของชาเวซ: วิกฤตหรือบทเรียน?
๒. บทเรียนจาก NAFTA: วิกฤตการณ์ราคาข้าวโพดในเม็กซิโก
เรื่องแรกเกี่ยวกับความพ่ายแพ้ในการลงประชามติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ในเวเนซุเอลา ซึ่งจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุของผลลัพธ์ดังกล่าว รวมทั้งท่าทีของชาเวซ
ส่วนเรื่องที่สองเป็นผลพวงเกี่ยวกับข้อตกลงน๊าฟต้า ระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐฯ
ทำให้เกิดวิกฤตข้าวโพดอันเป็นอาหารในชีวิตประจำวันของชาวเม็กซิกัน
ถือเป็นบทเรียนของทุนนิยมร่วมสมัยภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๓๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๖ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายงานสถานการณ์ในละตินอเมริกา:
เวเนซุเอลาและเม็กซิโก
ความพ่ายแพ้ของชาเวซ
และวิกฤตข้าวโพคในเม็กซิโก
ภัควดี
วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ
ผู้สนใจประเด็นขบวนการภาคประชาชน ในละตินอเมริกา
๑. ความพ่ายแพ้ของชาเวซ: วิกฤตหรือบทเรียน?
เพียงพ่ายแพ้สักครั้ง ทหารอ่อนหัดก็ท้อใจนึกว่าปราชัยราบคาบแล้ว
เพราะเขายังไม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า ความกล้าหาญ ความสามารถและความไม่ระย่อ
ย่อมแก้ไขโชคร้ายให้กลายเป็นดีได้
ซีโมน โบลิวาร์, แถลงการณ์แห่งเมืองคาร์ตาเฮนา
ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ และการปฏิวัติโบลิวาร์ต้องประสบความปราชัยครั้งแรกในรอบ 9 ปี หลังจากมีชัยเด็ดขาดในการลงคะแนนเสียงระดับชาติและท้องถิ่นถึง 12 ครั้ง ทว่าการลงคะแนนเสียงครั้งที่ 13 ซึ่งเป็นครั้งที่ชาเวซบอกว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการหยั่งรากสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 ในเวเนซุเอลา เขากลับพ่ายแพ้อย่างฉิวเฉียดชนิด "ต้องใช้รูปถ่ายตัดสิน". การลงประชามติครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชน "รับ" หรือ "ไม่รับ" การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแบ่งออกเป็น 2 บล็อกด้วยกัน บล็อก A เป็นข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 33 มาตรา ของประธานาธิบดีชาเวซ โดยผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมจากสมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติมาแล้ว, ส่วนบล็อก B เป็นข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 26 มาตรา โดยสมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้เสนอเอง ผู้ลงประชามติจะลงคะแนน "รับ" หรือ "ไม่รับ" ในแต่ละบล็อกแยกจากกัน
ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบล็อก A แพ้โหวตด้วยคะแนน "ไม่รับ" 4,504,354 คะแนน หรือ 50.70% และคะแนน "รับ" 4,379,392 คะแนน หรือ 49.29% ส่วนบล็อก B ข้อเสนอแก้ไขแพ้ไปด้วยคะแนน 51.0% ต่อ 49.0% โดยมีประชาชนไม่ยอมมาลงคะแนนเสียงถึง 45% ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งหรือการลงประชามติครั้งอื่นๆ ที่ผ่านมา ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบล็อก A ของประธานาธิบดีชาเวซจึงแพ้ไปด้วยส่วนต่างของคะแนนเสียงเพียง 1.4% จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 9 ล้านคน และเมื่อคำนึงถึงจำนวนผู้ไม่มาลงคะแนนเสียงคราวนี้ถึง 45% นั่นหมายความว่า มีเพียง 28% ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมดที่คัดค้านข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
ท่ามกลางเสียงโห่ร้องประกาศชัยชนะของฝ่ายค้านในเวเนซุเอลา และการประโคมข่าวอย่างชื่นมื่นของสื่อกระแสหลักตะวันตก พลพรรคชาวฝ่ายซ้ายที่ยึดเวเนซุเอลาเป็นหัวหอกของการปฏิวัติสังคมนิยมด้วยกระบวนการประชาธิปไตยถึงกับนิ่งอึ้ง ตะลึงไปตามๆ กัน เพราะผลการสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้านี้ ตลอดจนการทำนายของผู้สันทัดกรณีฝ่ายซ้ายทั้งหลาย ต่างเชื่อว่าประธานาธิบดีชาเวซจะชนะอย่างฉิวเฉียด อย่าว่าแต่ฝ่ายซ้ายเลย แม้แต่ฝ่ายขวาในเวเนซุเอลาก็ประเมินสถานการณ์ไว้แบบเดียวกัน ถึงขนาดมีบางกลุ่มจัดทำเสื้อยืดสกรีนคำว่า "โกง" เตรียมไว้ใส่ประท้วงรัฐบาลแล้วด้วยซ้ำ. คำถามที่ลอยละล่องอบอวลในบรรยากาศหงอยๆ ของฝ่ายซ้ายจึงเต็มไปด้วยคำว่า "ทำไม?" "เกิดอะไรขึ้น?" "ชาเวซอยู่ในช่วงขาลงแล้วหรือ?" "หรือการปฏิวัติโบลิวาร์เสื่อมมนตร์ขลังเสียแล้ว?"
ปริศนาของอูโก ชาเวซ
ฝ่ายค้านคิดว่าชาเวซจะชนะ ฝ่ายซ้ายคิดว่าชาเวซจะชนะ สื่อมวลชนกระแสหลักคิดว่าชาเวซจะชนะ
รัฐบาลคิดว่าตนเองจะชนะ ประชาชนชั้นล่างที่เชื่อมั่นในชาเวซก็คิดว่า ฝ่ายตนจะชนะการลงประชามติเหมือนทุกๆ
ครั้งที่ผ่านมา หลังจากการนับคะแนนผ่านไปเรื่อยๆ และมองเห็นแนวโน้มแล้วว่า เสียงโหวต
"ไม่รับ" จะได้ชัยชนะในครั้งนี้ ที่ลานหน้าทำเนียบมิราฟลอเรส มองเห็นแต่คราบน้ำตาและศีรษะก้มต่ำของประชาชนที่เริ่มเคยชินกับรสชาติของชัยชนะและไม่ได้ลิ้มรสฝาดปร่าของความพ่ายแพ้มายาวนานเกินไป
เวลา 1:00 น. ของเช้าวันจันทร์ ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซออกมาปราศรัยยอมรับความพ่ายแพ้ หมากตานี้นับว่าผิดคาดของทุกฝ่าย เพราะการนับคะแนนยังไม่ได้ผลสรุปอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ แต่ชาเวซแสดงท่าทีให้เห็นชัดเจนว่า เขาจะไม่ยื้อต่อไปและยอมรับความพ่ายแพ้ทุกประการโดยดี ไม่ต่างจากเมื่อครั้ง ค.ศ. 1992 ที่เขาออกมายอมแพ้เมื่อแน่ใจแล้วว่า การรัฐประหารไม่ประสบความสำเร็จ. คำพูดของชาเวซคือปริศนาที่น่าสนใจเสมอ เขากล่าวถึงความพ่ายแพ้อย่างฉิวเฉียดชนิดต้องใช้รูปถ่ายตัดสิน แสดงความยินดีที่การลงประชามติครั้งนี้สำเร็จลงได้ด้วยความเรียบร้อยโดยไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ แสดงให้เห็นว่าชาวเวเนซุเอลามีความเชื่อมั่นในรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมือง เขากล่าวขอบคุณประชาชนทุกคนที่ลงคะแนนสนับสนุน รวมทั้งขอบคุณประชาชนทุกคนที่ลงคะแนน "ไม่รับ" ข้อเสนอของเขาด้วย เพราะมันแสดงให้เห็นว่า ประชาชนกลุ่มที่เคยต่อต้านและไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1999 บัดนี้ได้ออกมาลงคะแนนปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว
ชาเวซบอกว่า ก่อนออกมาปราศรัย เขาสองจิตสองใจอยู่นานหลายชั่วโมง ใจหนึ่งก็อยากรอให้ผลการนับคะแนนเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการเสียก่อน แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากให้ทุกคนต้องรอยืดเยื้อต่อไปท่ามกลางความตึงเครียด เขารู้สึกดีใจมากๆ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งบอกเขาว่า การนับคะแนนที่ดำเนินไปเกือบ 90% นั้น ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนเด็ดขาดและไม่มีทางพลิกผันอีก การแพ้อย่างเด็ดขาดย่อมดีกว่าชนะอย่างไม่เด็ดขาด อย่าให้การลงประชามติของเวเนซุเอลาเป็นเหมือนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ! หลังจากนี้เขาจะนอนหลับสนิท ขอให้ประชาชนกลับบ้านพักผ่อนกับครอบครัว ส่วนใครที่อยากฉลอง เชิญฉลอง!
ชาเวซเตือนฝ่ายตรงข้ามด้วยว่า จัดการกับชัยชนะของตัวเองให้ดี มองดูชัยชนะของตัวเองในเชิงคณิตศาสตร์ให้รอบคอบด้วย ถ้าเป็นเขา เขาคงไม่อยากได้ชัยชนะแบบฉิวเฉียดเช่นนี้! เขาขอแสดงความยินดีกับฝ่ายตรงข้าม แต่อย่าลืมว่า สนามรบนี้ยังมีอีกยาวไกล เพราะ "สำหรับในตอนนี้ (For Now) เท่านั้นที่เรายังทำไม่สำเร็จ แค่ตอนนี้เท่านั้น". ชาเวซกำลังพาดพิงถึงคำพูดอันมีชื่อเสียงและเป็นคำพูดที่ทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นมา ขณะที่เขายังเป็นทหารและพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลวใน ค.ศ. 1992 เขาออกมาแถลงการณ์ยอมรับความพ่ายแพ้ "สำหรับในตอนนี้" อันบ่งบอกถึงความไม่ย่อท้อและความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาชัยชนะอีกครั้งในอนาคต
ชาเวซกล่าวอีกว่า การลงประชามติครั้งนี้ควรเป็นบทเรียนสำหรับชาวเวเนซุเอลาทุกคน
ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้าม เขาขอให้ฝ่ายค้านยึดมั่นในหนทางประชาธิปไตยและละเลิกแผนการสร้างความวุ่นวายภายในประเทศเสีย
เวเนซุเอลาต้องเติบใหญ่ทางการเมืองเสียที เวเนซุเอลาคือประเทศประชาธิปไตย ไม่มีรัฐบาลเผด็จการที่นี่.
เขาตบท้ายว่า เขาจะไม่ถอนข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ "แม้แต่จุลภาคเดียว"
ข้อเสนอนี้ "ยังอยู่" นี่ไม่ใช่การพ่ายแพ้ นี่เป็นแค่ "สำหรับในตอนนี้"
อีกครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง "เรารู้จักยอมรับช่วงเวลาลำบาก ช่วงเวลายากเข็ญ
ยิ่งกว่านั้น ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เรารู้จักแปรเปลี่ยนความพ่ายแพ้ให้กลายเป็นชัยชนะทางจริยธรรม
ซึ่งจะกลายเป็นชัยชนะทางการเมืองในที่สุด"
(คำปราศรัยของชาเวซยาวกว่านี้มาก เขาเป็นนักการเมืองที่พูดได้จับใจคน
ตอนจบยังอ้างถึงฌอง ฌาคส์ รุสโซด้วย ผู้อ่านท่านใดสนใจสามารถหาอ่านฉบับเต็มได้ที่
http://www.venezuelanalysis.com/analysis/2978)
ภาพจริงภาพลวงของชาเวซและเวเนซุเอลา
สื่อมวลชนฝ่ายค้านในเวเนซุเอลาและสื่อมวลชนกระแสหลักของตะวันตก ร่วมมือกันบิดเบือนภาพของชาเวซและเวเนซุเอลาจนห่างไกลจากความเป็นจริงมาก
มีความเชื่อที่ไม่มีมูลความจริงรองรับหลายประการ ซึ่งการลงประชามติครั้งนี้ช่วยชี้ให้เห็นภาพลวงของความเชื่อดังกล่าว
ภาพลวงประการที่ 1: ชาเวซเป็นเผด็จการ
ฝ่ายซ้ายและผู้สนใจการเมืองเวเนซุเอลาหลายคน พยายามโต้แย้งสื่อกระแสหลักตะวันตกมาระยะหนึ่งแล้วว่า
ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ ขึ้นครองอำนาจตามวิถีทางประชาธิปไตย และตลอดเวลาที่เขาดำรงตำแหน่ง
เขาปกครองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยจริงๆ แต่ข้อโต้แย้งนี้อาจเชื่อถือได้ยาก
เพราะชาเวซอยู่ฝ่ายชนะมาตลอด การพ่ายแพ้ประชามติครั้งนี้และการที่ชาเวซออกมายอมรับความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วและไม่มีเงื่อนไข
จึงทำลายภาพลวงที่ว่า ชาเวซเป็น "เผด็จการ" หรือ "ทรราช"
ลงโดยสิ้นเชิง
ภาพลวงว่าชาเวซเป็นเผด็จการเป็นกลยุทธ์ที่มีประโยชน์ต่อฝ่ายค้านในเวเนซุเอลาและรัฐบาลบุชเสมอ แม้กระทั่งหลังจากชาเวซออกมาปราศรัย ก็ยังมีการปล่อยข่าวลือว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งของเวเนซุเอลาแกล้งถ่วงผลการนับคะแนน เพราะชาเวซไม่ยอมรับผลคะแนนที่ออกมา หรือข้อกล่าวหาว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเปลี่ยนผลคะแนนให้ฝ่ายค้านชนะด้วยคะแนนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
วิเซนเต ดิอัซ หนึ่งใน กกต. ของเวเนซุเอลา ซึ่งจัดเป็นคนหนึ่งที่ค่อนข้างเข้าข้างฝ่ายค้านมาตลอด ถึงกับออกมาแสดงเหตุผลและหลักฐานว่า คำกล่าวหาเหล่านี้ไม่มีมูลความจริงโดยสิ้นเชิง ความล่าช้าของผลการนับคะแนน สืบเนื่องมาจากข้อตกลงเบื้องต้นของสองฝ่ายว่า จะรอให้นับคะแนนถึง 90% เสียก่อนค่อยประกาศผล การนับคะแนนมีตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายมาสังเกตการณ์ และคะแนนอย่างเป็นทางการทั้งในระดับรัฐ เทศบาล ศูนย์อำนวยการลงคะแนน และหน่วยลงคะแนนทั้งหมด มีการนำออกแสดงในเว็บไซต์ของ กกต. ดิอัซกล่าวประณามคนที่ปล่อยข่าวลือว่า "โกหก"
การที่ชาเวซออกมายอมรับความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วช่วยส่งเสริมภาพพจน์ของเขาในระดับนานาประเทศ ผู้นำหลายคนในภูมิภาคละตินอเมริกาออกมาชมเชยความยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยของชาเวซ แต่สื่อมวลชนตะวันตก เช่น BBC ก็ยังไม่วายออกมาจับผิดชาเวซในเรื่องเล็กเรื่องน้อย รวมไปถึงอ้างข่าวลือว่าชาเวซจำใจยอมรับผลการลงประชามติเพราะถูกกองทัพบีบ เป็นต้น. จะชอบหรือไม่ชอบอูโก ชาเวซ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 ของเขา แต่สื่อควรยอมรับเสียทีว่า ตำแหน่งประธานาธิบดีของอูโก ชาเวซ ตั้งอยู่บนระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่มีข้อสงสัย
ภาพลวงประการที่ 2: การเลือกตั้งของเวเนซุเอลาไม่โปร่งใส
การเลือกตั้งของเวเนซุเอลาไม่โปร่งใส และรัฐบาลชาเวซโกงหรือครอบงำการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้ง
อันที่จริง การเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้งของเวเนซุเอลา มีผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติ
ครั้งนี้ก็เช่นกัน มีผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติกระจายตามจุดต่างๆ ราว 100 คน
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านเองก็จัดคนสังเกตการณ์การเลือกตั้งทุกครั้ง และไม่เคยหาหลักฐานแสดงความทุจริตได้เลย
กระบวนการเลือกตั้งของเวเนซุเอลามีความโปร่งใสไม่แพ้ประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ
และจะว่าไปแล้วก็ดีกว่าสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ
เวเนซุเอลามีระบบนับคะแนนเสียงที่ดีมาก แม้จะใช้เครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์เหมือนสหรัฐอเมริกา แต่ชาวอเมริกันลงคะแนนเสียงกับเครื่องโดยไม่มีบันทึกที่เป็นกระดาษ นำไปสู่ข้อครหาของการบิดเบือนคะแนนเสียงที่ฟลอริดาและโอไฮโอในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่ชาวเวเนซุเอลาลงคะแนนเสียงโดยเลือกที่เครื่องนับคะแนนก่อน เครื่องจะบันทึกและพิมพ์กระดาษเป็นเอกสารยืนยันออกมา จากนั้นผู้ลงคะแนนจึงหย่อนกระดาษนั้นลงในหีบบัตร ในการนับคะแนนของ กกต. จะมีการสุ่มตัวอย่างหีบบัตรมาราว 54% และนับดูว่ากระดาษลงคะแนนในหีบตรงกับคะแนนในเครื่องหรือไม่ ด้วยวิธีนี้ การโกงคะแนนเสียงจึงทำได้ยากมาก
การสำรวจความคิดเห็นใน ค.ศ. 2007 ของบริษัทสำรวจความคิดเห็นจากประเทศชิลี เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่ประชาชนพอใจในระบอบประชาธิปไตยของตนสูงสุดในละตินอเมริกา สูงถึง 59% เมื่อเปรียบเทียบกับชาวละตินอเมริกาในประเทศอื่นๆ ที่พอใจเพียง 37%
ภาพลวงประการที่ 3: ไม่มีเสรีภาพของสื่อมวลชน
ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเวเนซุเอลา ฝ่ายค้านในเวเนซุเอลาและสื่อมวลชนตะวันตกมักประโคมภาพลวงที่
3 นี้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลชาเวซไม่ต่ออายุสัญญาใน RCTV. ประเด็น RCTV
นั้น เราเคยกล่าวถึงไปแล้ว หากดูเฉพาะการลงประชามติครั้งที่ผ่านมา มีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่
Ultimas Noticias ขนาดสองหน้าเต็ม โจมตีรัฐบาลและชักชวนประชาชนให้ "ไม่รับ"
ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดใส่ร้ายรัฐบาลว่า ถ้ารัฐบาลชนะการลงประชามติและแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
รัฐจะพรากเด็กไปจากพ่อแม่และเอาไปเป็นสมบัติของรัฐ ต่อไปจะไม่มีทรัพย์สินเอกชนและเสรีภาพทางศาสนาจะถูกทำลายลง
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางฉบับลงพาดหัวหน้าหนึ่ง เปรียบเทียบการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการเปลี่ยนแปลงประเทศไปเป็นแบบคิวบา นอกจากนี้ สถานีโทรทัศน์เอกชนที่เหลืออยู่ ก็รณรงค์อย่างหนักให้ประชาชนลงคะแนนเสียง "ไม่รับ". เมื่อฝ่ายค้านชนะการลงประชามติครั้งนี้ มีการฉลองกันอย่างครึกครื้น เรื่องแบบนี้จะเป็นไปได้อย่างไรในประเทศที่ไม่มี "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น"
มีอะไรในข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ?
การค้นหาเหตุผลว่า ทำไมชาเวซจึงแพ้ประชามติ คงต้องย้อนไปดูข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอต่อประชาชนเสียก่อน
ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ข้อเสนอนี้มี 2 บล็อก รวมกันแล้วมีถึง 59 มาตราและยาวถึง
31 หน้า บางข้อเสนอก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ง่าย เช่น การสร้างสวัสดิการสังคมให้แรงงานนอกระบบ
การให้นักศึกษามีสิทธิ์ออกเสียงอย่างเท่าเทียมในการเลือกตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัย
ฯลฯ แต่บางเรื่องก็ซับซ้อนมาก เช่น การให้อำนาจประธานาธิบดีจัดตั้งเขตปกครองทางการเมืองใหม่
เป็นต้น
ข้อเสนอทั้งหมดจัดได้เป็น 5 กลุ่มคือ
- การส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
- การขยายโอกาสทางสังคมและเพิ่มบทบาทของประชาชน
- การพัฒนาเศรษฐกิจ
- การจัดเขตปกครองทางการเมืองใหม่ และ
- อำนาจของประธานาธิบดี
ในขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนใหญ่ ประโคมแต่เรื่องที่ชาเวซเสนอให้ยกเลิกการจำกัดสมัยของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อันที่จริง ข้อเสนอที่สำคัญที่สุดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อยู่ที่การเพิ่มอำนาจให้สภาชุมชน การรับรองกรรมสิทธิ์แบบรวมหมู่ และการสร้างกองกำลังพลเรือน. หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ สภาชุมชนจะมีอำนาจมากขึ้น มีงบประมาณชัดเจน และมีบทบาททางการปกครองไม่น้อยไปกว่าหรืออาจมากกว่าข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง (เช่น นายกเทศมนตรี, ผู้ว่าการรัฐ ฯลฯ) การรับรองกรรมสิทธิ์รวมหมู่จะทำให้องค์กรประชาชนสามารถครอบครองทรัพย์สินร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการต่อต้านระบบทุนนิยมและแสวงหาหนทางใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยที่ระบบกรรมสิทธิ์เอกชนก็ยังไม่ได้ยกเลิก ส่วนการสร้างกองกำลังพลเรือนก็เพื่อคานอำนาจกับกองทัพ เพิ่มอำนาจปวงชนปฏิวัติ และเตรียมพร้อมหากต้องเผชิญกับการบุกของมหาอำนาจทางทหารอย่างสหรัฐอเมริกา. ข้อเสนอเหล่านี้ถือได้ว่าถึงรากถึงโคนมากๆ และดูเหมือนชาวเวเนซุเอลาบางส่วนยังไม่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงที่ถึงรากถึงโคนขนาดนี้ ดังที่ฌอง ปอล ซาร์ตร์ กล่าวไว้: การไม่เลือกคือการเลือกอย่างหนึ่ง
ในเหตุการณ์ใหญ่ๆ ใดๆ ก็ตาม ย่อมไม่มีสาเหตุเพียงประการเดียวที่ทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ประกอบด้วยสาเหตุจำนวนมาก ที่ทั้งหนุนเสริมและขัดแย้งกันจนลงเอยกลายเป็นผลลัพธ์ที่ออกมา. ในการลงประชามติครั้งนี้ ชาเวซไม่ได้แพ้ฝ่ายค้าน หากดูจากสัดส่วนของการลงคะแนน จำนวนของประชาชนที่เห็นด้วยกับฝ่ายค้านไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเลย (เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 100,000 คะแนน) เมื่อพิจารณาจากการโหมโฆษณาชวนเชื่อและพยายามสร้างความวุ่นวายต่างๆ นานา ต้องถือว่าฝ่ายค้านไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไรในการชักชวนประชาชนให้หันมาเข้าข้างตน
ปีที่แล้ว ชาเวซเพิ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สองด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายถึง 63% ครั้งนั้นมีผู้ไม่ออกมาลงคะแนนเสียงเพียง 25% (เปรียบเทียบกับครั้งนี้ที่สูงถึง 45%) คะแนนเสียงของประชาชนถึง 7 ล้านกว่าคนที่เคยเลือกชาเวซเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ในการลงประชามติครั้งนี้ กลับมีถึงราว 3 ล้านคนที่ตัดสินใจอยู่บ้านแทน!
ชาเวซและฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า ฝ่ายตนแพ้เพราะการงดออกเสียงจำนวนมากของประชาชนที่สนับสนุนตน หาใช่เพราะประชาชนที่เคยอยู่ฝ่ายรัฐบาลหันไปเข้าข้างฝ่ายค้านแต่อย่างใดไม่ ทำไมประชาชนเหล่านี้ไม่ยอมออกมาลงประชามติ? ก่อนการลงประชามติ ชาเวซปราศรัยต่อประชาชนผู้สนับสนุนเขาว่า การลงประชามติครั้งนี้เปรียบเสมือนการเลือกข้าง หากลงประชามติ "รับ" ก็คือการอยู่ข้างเขา แต่หาก "ไม่รับ" ก็เท่ากับเลือกฝ่ายตรงข้าม. ซึ่งเทียบเท่ากับเลือกข้างประธานาธิบดีบุชด้วย! วิธีการ "ถ้าไม่ใช่พวกเรา ก็ต้องเป็นพวกเขา" แบบนี้ไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก เมื่อตอนปราศรัยยอมรับความพ่ายแพ้หลังการลงประชามติ ดูเหมือนชาเวซก็พอจะรู้ตัวและพยายามไม่พูดในเชิงเลือกเขาเลือกเราแบบนั้นอีก
การบีบประชาชนให้เหลือแค่สองทางคือ ถ้า "ไม่รับ" ก็เท่ากับเป็นฝ่ายตรงข้าม ทำให้คนเกือบสามล้านไม่มาลงประชามติ คนเหล่านี้หมดความนิยมในตัวชาเวซหรือ? เปล่าเลยแม้แต่น้อย! พวกเขายังนิยมชาเวซต่างหาก ประชาชนราวสามล้านคนเลือกอยู่บ้านเพื่อบอกชาเวซว่า พวกเขายังนิยมในตัวประธานาธิบดี ไม่นิยมฝ่ายค้านหรือประธานาธิบดีบุช แต่พวกเขาก็ยังไม่พร้อมที่จะยอมรับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทำไมประชาชนจึงไม่พร้อม
ทำไมประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงไม่พร้อม ที่จะผลักดันการปฏิวัติโบลิวาร์ของเวเนซุเอลาให้ถึงรากถึงโคนยิ่งกว่าเดิม?
ต่อไปนี้คือเหตุผลส่วนหนึ่ง:
1) การลงประชามติครั้งนี้เร่งรัดมากเกินไป ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่งมีขึ้นในเดือนสิงหาคมปีนี้เอง รัฐบาลมีเวลาแค่ราว 4 เดือนในการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ถึงแม้จะมีการประชาพิจารณ์ถึงเก้าพันกว่าครั้ง มีการเปิดสายโทรศัพท์ฮอตไลน์ให้ประชาชนโทรเข้ามาแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ มีการแจกจ่ายหนังสืออธิบายข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปถึง 10 ล้านเล่มก็ตาม แต่ระยะเวลาก็ยังสั้นและรีบร้อนเกินไป
2) ในขณะที่ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายมาตรามีความซับซ้อนมาก สุดยอดนักอธิบายอย่างอูโก ชาเวซ แทนที่จะใช้เวลาทำความเข้าใจกับประชาชน เขากลับทุ่มเทเวลาให้ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่า ตั้งแต่การพยายามเป็นคนกลางในการเจรจาแลกตัวประกันกับนักโทษระหว่างขบวนการจรยุทธ์ กับรัฐบาลในโคลอมเบีย มิหนำซ้ำยังประสบความล้มเหลวจนกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับประธานาธิบดีอัลวาโร อูริเบแห่งโคลอมเบียไปเสียอีก มิพักต้องกล่าวถึงการประคารม วิวาทอย่างดุเดือดกับราชวงศ์สเปนในการประชุมสุดยอดไอบีเรีย-ละตินอเมริกา3) เมื่อชาเวซไม่ว่าง แล้วนักการเมืองและพรรคการเมืองสายชาวิซตา ที่เคยเก่งกาจในการระดมมวลชน คราวนี้เหตุใดจึงไร้น้ำยาขนาดนี้? หากยังจำกันได้ หลังได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองเมื่อเดือนธันวาคมศกก่อน สิ่งแรกที่ชาเวซทำคือการสลายพรรค "ขบวนการเพื่อสาธารณรัฐที่ห้า" และสร้างพรรคการเมืองใหม่หรือ "พรรคสหสังคมนิยมแห่งเวเนซุเอลา" (United Socialist Party of Venezuela-PSUV) ขึ้นแทน แม้การสร้างพรรคการเมืองใหม่ด้วยโครงสร้างใหม่ (กล่าวคือ ทุกคนที่จะเป็นตัวแทนของพรรคต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเบื้องล่างทั้งสิ้น) จะเป็นหมากเด็ดในการทำลายขั้วอำนาจและระบบอุปถัมภ์ที่เริ่มกัดกร่อนพรรคเก่า แต่ความไม่พอใจของนักการเมืองหน้าเก่า รวมทั้งรากฐานที่ยังไม่เข้มแข็งพอของพรรคการเมืองใหม่ ทำให้การระดมประชาชนไม่ได้ผลเหมือนที่ผ่านมา
4) ข้อเสนอเกี่ยวกับอำนาจและบทบาทที่เพิ่มขึ้นของสภาชุมชน ย่อมหมายถึงการลดบทบาทของข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง บรรดานายกเทศมนตรีและผู้ว่าการรัฐสายชาวิซตาเองก็ไม่ค่อยพอใจกับการลดอำนาจตน นี่เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร
5) การสร้างกองกำลังพลเรือนและการปรับโครงสร้างกองทัพ จะทำให้อำนาจของกองทัพลดลงเช่นกัน นายทหารบางส่วนย่อมไม่พอใจกับอำนาจของตนที่ลดลงไป การออกมาต่อต้านชาเวซของราอูล บาดูเอล อดีตนายทหารร่วมน้ำสาบานของชาเวซ ต้องถือเป็นภาพสะท้อนของปฏิกิริยาบางส่วนในกองทัพ
6) การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น การเพิ่มอำนาจประธานาธิบดีในการออกกฎอัยการศึก ทำให้ผู้สนับสนุนชาวิซตาสายกลางบางกลุ่มไม่เห็นด้วย
7) ความผิดพลาดเชิงเทคนิคที่ให้มีการลงประชามติเป็นบล็อกแทนที่จะเป็นมาตรา มีหลายมาตราที่น่าจะผ่านประชามติได้ มีหลายมาตราที่ไม่จำเป็นต้องนำมาให้ประชาชนลงประชามติ เช่น สวัสดิการสังคมของแรงงานนอกระบบหรืองบประมาณของสภาชุมชน รัฐบาลสามารถใช้กฤษฎีกาหรือกฎหมายที่มีอยู่แล้วดำเนินการได้เลย ประชาชนบางส่วนจึงรู้สึกว่า การลงประชามติเป็นเรื่องไม่จำเป็นและเสียเวลาเปล่า
8) ถึงแม้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไปจะดีขึ้นมาก นับตั้งแต่ชาเวซเป็นประธานาธิบดี แต่ปัญหาเฉพาะหน้าหลายอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรงและการฆ่ากันตายยังเกิดขึ้นเป็นประจำวัน นอกจากนี้ การที่ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและสินค้าขาดแคลน (การที่สินค้าขาดแคลนส่วนหนึ่งเกิดมาจากฝีมือของภาคธุรกิจที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลด้วย) แม้ชาเวซหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช่วยให้แก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นระบบ แต่ประชาชนบางส่วนไม่คิดเช่นนั้น พวกเขาต้องการการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมก่อน
9) ฝ่ายค้านซึ่งได้รับเงินหนุนหลังจาก CIA มาหลายล้านดอลลาร์ โหมโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีมูลความจริงเป็นจำนวนมาก เช่น กล่าวหาว่ารัฐบาลจะพรากลูกไปเป็นของรัฐ หรือจะริบทรัพย์สินของประชาชนหากมีมากเกินไป เป็นต้น อีกทั้งศาสนจักรคาทอลิกยังต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่พอใจคำว่า "สังคมนิยม" ที่จะเขียนลงในรัฐธรรมนูญหากการแก้ไขผ่านประชามติ
เมื่อพิจารณาดูเหตุผลข้างต้นทั้งหมดแล้ว เราจะเห็นว่าปัจจัยภายในมีความสำคัญมากกว่าปัจจัยภายนอก และเราจึงมาถึงข้อสรุปว่า: "สิ่งที่ฆ่าคุณไม่ตาย ย่อมทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น" หากขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์มองความผิดพลาดของตนอย่างถูกต้อง วิกฤตครั้งนี้อาจกลายเป็นโอกาสและบทเรียนที่จะหยั่งรากสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ลึกซึ้งกว่าเดิม. การแพ้ประชามติครั้งนี้ไม่ได้ทำให้ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซกลายเป็น "เป็ดง่อย" แต่ประการใด อำนาจของเขายังหนักแน่นเหมือนเดิม การที่เขายอมรับความพ่ายแพ้ได้อย่างสวยงาม ยิ่งแสดงให้เห็นว่าความนิยมในตัวเขาไม่ได้สั่นคลอนเลยแม้แต่น้อย พูดย้ำอีกทีก็ได้ว่า อูโก ชาเวซ ยังเป็นที่นิยมของชาวเวเนซุเอลาส่วนใหญ่อย่างไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนในประเทศนี้เปรียบติด
ท่ามกลางการเฉลิมฉลองชัยชนะของฝ่ายค้าน พวกเขาก็รู้ดีว่าชัยชนะครั้งนี้มีความพ่ายแพ้แฝงอยู่เช่นกัน ดังที่ชาเวซพูดในคำปราศรัย การออกมาลงประชามติ "ไม่รับ" การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมายความว่าพวกเขายอมรับรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1999 แล้วโดยดุษฎี ในเมื่อพวกเขาออกมาปกป้องมัน ก็ไม่มีข้ออ้างใดๆ จะอ้างอีกแล้วว่า มันไม่ใช่รัฐธรรมนูญของพวกเขา. ยิ่งกว่านั้น ความพ่ายแพ้และการยอมรับความพ่ายแพ้ของชาเวซ ทำให้ภาพพจน์ของชาเวซในสายตาต่างประเทศเปลี่ยนไปทันที แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ต้องยอมรับว่า เวเนซุเอลามีความเป็นประชาธิปไตยเต็มเปี่ยมและชาเวซไม่ใช่เผด็จการ. หากชาเวซจัดการกับความพ่ายแพ้ครั้งนี้ให้ดี เขาสามารถทำให้มันกลายเป็นการปิดโอกาสของฝ่ายค้านที่จะใช้ข้อหาเผด็จการมาเรียกร้องรัฐประหาร หรือการแทรกแซงจากต่างประเทศ รวมทั้งสยบความเคลื่อนไหวของนักศึกษาฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้ด้วย
ฝ่ายค้านยังสนับสนุน กองทุนประกันสังคมแรงงานนอกระบบ
ดูเหมือนฝ่ายค้านก็พอรู้ตัวอยู่บ้าง มานูเอล โรซาเลส ผู้ว่าการรัฐซูเลียและอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของฝ่ายค้านเมื่อการเลือกตั้งปลายปีที่แล้ว
เขาเปลี่ยนท่าทีที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลในทุกเรื่องและออกมาบอกว่า เขาจะสนับสนุนการสร้างกองทุนประกันสังคมของแรงงานนอกระบบ
ซึ่งเป็นนโยบายที่ชาเวซระบุว่าจะผลักดันต่อไปแม้พ่ายแพ้ประชามติ. โรซาเลสยังบอกด้วยว่า
"เวเนซุเอลาต้องเปิดช่องทางของการหันหน้ามาคุยกัน จับมือกัน และหวังว่าจะลงเอยด้วย...สันติและความกลมเกลียว".
ส่วนนายพลราอูล บาดูเอล ผู้นำคนใหม่ของฝ่ายค้าน เสนอว่าควรมีการจัดตั้งสมัชชาแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา
เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม แทนที่จะเป็นข้อเสนอของรัฐบาลฝ่ายเดียว
ในฟากฝ่ายขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์นั้น บทเรียนครั้งนี้บอกให้รู้ว่า การพยายามสร้างการปฏิวัติจากเบื้องบนลงมาไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง การปฏิวัติที่แท้จริงต้องมาจากเบื้องล่าง ต่อให้ขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์ชนะประชามติ ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาทุกอย่างแก้ไขเสร็จสิ้น การต่อสู้ยังมีอีกยาวไกล รัฐธรรมนูญไม่ใช่หลักประกันที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติขึ้น อูโก ชาเวซ ผู้เป็นหัวหอกของการปฏิวัติโบลิวาร์ เขาต้องกลับไปเริ่มต้นที่ประชาชนอีกครั้ง พร้อมกับตระหนักด้วยว่า ความสมานฉันท์ไม่ได้หมายถึงการสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไข
ข้อมูลประกอบการเขียน
- Tariq Ali, "Venezuela After the Referendum," CounterPunch (http://www.counterpunch.com/tariq12032007.html); December 3rd 2007.- Chris Carlson, "Pro-Chavez Leaders Examine Reasons for Venezuelan Referendum Loss," Venezuelanalysis.com; December 6th 2007.
- Chris Carlson, "Venezuela's Electoral Council Dispels Myths Surrounding Referendum," Venezuelanalysis.com; December 6th 2007.
- Sujatha Fernandes, "What is at Stake in Venezuela's Reform Referendum?," ZNet; November 11, 2007.
- Carlos Martinez, "I Thought Dictators Couldn't Lose Elections!," http://www.venezuelanalysis.com/analysis/2958, December 4th 2007.
- James Petras, "CIA Venezuela Destabilization Memo Surfaces," Venezuelanalysis.com; November 28th 2007.
- James Petras, "Venezuelan Referendum: A Post-Mortem and its Aftermath," ZNet; December 05, 2007.
- Clifton Ross, "The Venezuelan Referendum," Dissident Voice (http://www.dissidentvoice.org/2007/12/1247/); December 4th 2007.
- Carlos Ruiz, "Was Failure Chavez's Masterplan?," http://rebelresource.wordpress.com/2007/12/05/35/; December 6th 2007.
- Angelo Rivero Santos, "Venezuela Knows What It's Doing," http://www.latimes.com/news/opinion/la-oe-santos28nov28,0,7987444.story?coll=la-opinion-center; November 29th 2007.
- Gregory Wilpert, "Chavez: Defeat in Venezuelan Constitutional Reform is "For Now," Venezuelanalysis.com (http://www.venezuelanalysis.com/news/2951); December 3rd 2007.
- Gregory Wilpert, "Making Sense of Venezuela's Constitutional Reform," http://www.venezuelanalysis.com/print/2943; December 1st 2007.
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
๒. บทเรียนจาก NAFTA:
วิกฤตการณ์ราคาข้าวโพดในเม็กซิโก
แปลจาก : Laura Carlsen, "NAFTA Inequality and Immigration,"
Americas Policy Program Special Report
(Washington, DC: Center for International Policy, November 6, 2007).
http://americas.irc-online.org/am/4705
เมื่อเดือนมิถุนายน ผู้เขียน (ลอรา คาร์ลเซน) [1] พาทีมงานโทรทัศน์ไปที่คาเบซา
เด ฆัวเรซ โครงการเคหะชุมชนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่เขตรอบนอกของเมืองเม็กซิโกซิตี
ชาวบ้านที่นี่มีชีวิตบนริมขอบของการดิ้นรนเอาตัวรอด ความไม่มั่นคงในชีวิตของพวกเขาเป็นปรอทวัดที่ไวต่อความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจของเม็กซิโก.
เราออกไปพูดคุยกับประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของ "วิกฤตการณ์ตอร์ตีญา"
(tortilla crisis) ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2007 ราคาตอร์ตีญา (ขนมปังทำจากแป้งข้าวโพดที่เป็นอาหารประจำวันของชาวเม็กซิกัน)
ทั่วทั้งประเทศเม็กซิโกพุ่งขึ้นไปกว่า 50% จาก 5 เปโซ กลายเป็นประมาณ 8 ½
เปโซต่อกิโลกรัม
ตามทางเดินแคบๆ ระหว่างเพิงขายของ แม่บ้านทุกรายที่เราเจอเล่าเรื่องเหมือนกันหมด แค่ไม่กี่เดือนก่อน พวกเธอซื้อแป้งตอร์ตีญาวันละสองกิโลกรัมเพื่อเป็นอาหารของคนในครอบครัว ตอนนี้ต้องลดการบริโภคลงครึ่งหนึ่ง ต่อให้มีสมาชิกในครอบครัวออกไปทำงาน 2 หรือ 3 คน ก็ยังหาเงินไม่พอซื้อแป้งตอร์ตีญามาเลี้ยงท้องอิ่ม
ข้าวโพดไม่ใช่อาหารธรรมดาในเม็กซิโก ธัญพืชนี้หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมของชาวเม็กซิกัน นับตั้งแต่ตำนานการกำเนิดมนุษย์ของอินเดียนแดงเผ่ามายา ชาวเม็กซิกันก็ได้ชื่อว่า "ประชาชนแห่งข้าวโพด" ข้าวโพดเป็นองค์ประกอบสำคัญในอาหาร ศาสนา พิธีกรรมและวัฒนธรรม. แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือข้าวโพดมีราคาถูกที่สุดเสมอ มันเป็นอาหารที่เข้าถึงง่ายที่สุดสำหรับคนจนในชนบทที่ปลูกข้าวโพด และคนจนในเมืองที่ซื้อตอร์ตีญาจากร้านท้องถิ่น ในอาหารทุกมื้อ จะมีตอร์ตีญาห่อไข่หรือเนื้อ จุ่มในน้ำซุป ใช้แทนช้อนตักถั่ว หรือโรยเกลือและแทะกินเล่นกับพริกเขียวเวลาไม่มีอะไรอื่นกิน. ซินญอรา คนหนึ่งพูดสรุปสั้นๆ ว่า "ถ้าเรากินข้าวโพดไม่ได้ เราก็กินอะไรไม่ได้เลย"
ขณะที่เราเดินออกจากตลาดกลับไปสู่ถนนที่พลุกพล่าน ผู้หญิงคนหนึ่งเรียกฉันไว้และถามว่า เรามาจากสหรัฐอเมริกาหรือเปล่า เธอขอให้เราช่วยพูดกับสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อให้เธอได้ไปเยี่ยมลูกชายที่อพยพไปทำงานที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ผ่านมากว่าสิบปีแล้วที่เธอไม่ได้เจอหน้าลูก. ความผิดพลาดอยู่ตรงไหน? มันไม่ควรเป็นอย่างนี้
ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ยังเป็นแค่ประกายในแววตาของประธานาธิบดีคาร์โลส ซานินาส เด กอร์ตารี และประธานาธิบดียอร์จ บุชผู้พ่อ บรรยากาศในแวดวงการเมืองและธุรกิจของเม็กซิโกมีแต่ความชื่นมื่น นั่นเป็นช่วงเวลาของการปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ในประเทศ และ NAFTA น่าจะเป็นมงกุฎแห่งชัยชนะในการทำประเทศให้ทันสมัยของเม็กซิโก เป็นตั๋วเบิกทางเข้าสู่โลกที่หนึ่ง. ผู้สนับสนุน NAFTA ทำนายว่า ข้อตกลงนี้จะเป็นสัญญาแบบวิน-วินสำหรับทั้งสองฝ่าย ผู้บริโภคจะซื้ออาหารถูกลง ผู้ผลิตจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการอพยพออกนอกประเทศไปหางานทำจะลดลง เมื่อระบบเศรษฐกิจกำลังพัฒนาของเม็กซิโกมาบรรจบเชื่อมต่อกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของซีกโลกเหนือ
14 ปีถัดมา เราเห็นเกือบทุกอย่างเป็นไปในทางตรงกันข้าม พร้อมกับการเติบโตของการค้าระหว่างสองประเทศ ช่องว่างในการดำรงชีพของผู้คนก็ขยายห่างตามไปด้วย. หลังจาก NAFTA เศรษฐกิจของเม็กซิโกก็ปั่นป่วนจนควบคุมไม่ได้ ดังที่เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า "วิกฤตการณ์เตกีลา" (tequila crisis) เมื่อเงินตราของเม็กซิโกลดค่าลงสืบเนื่องจากการไหลออกของเงินทุน หลายปีต่อมา ความเติบโตยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เฉลี่ยเพียงแค่ประมาณ 2% หรือ 1% เท่านั้นสำหรับรายได้ต่อหัวประชากร. แม้กระทั่งธนาคารโลกที่ชอบแก้ต่างแทน NAFTA ก็ยังระบุว่า "ระดับรายได้ต่อหัวในระบบเศรษฐกิจเม็กซิโกไม่เติบโตสูงพอเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกในข้อตกลง NAFTA.....จากมุมมองโดยเปรียบเทียบนี้ แสดงว่าไม่มีความก้าวหน้าอย่างแท้จริงเกิดขึ้นเลยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา" [2]
ความเติบโตไม่ใช่แค่ปัญหาเดียวเบื้องหลังความล้มเหลวของ NAFTA ในการยกระดับมาตรฐานการครองชีพในเม็กซิโก การสร้างงานกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่น่าผิดหวังอีกประการหนึ่ง ขณะที่มีคนหนุ่มสาวกว่าล้านคนเข้าสู่ตลาดงานในแต่ละปี เม็กซิโกกลับสร้างงานได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนความต้องการแรงงานต่อปีนับตั้งแต่ลงนามใน NAFTA เป็นต้นมา. เมื่อมองดูโดยรวมทั้งหมดแล้ว สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายเพราะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ผลิตเพื่อตลาดภายในประเทศ กลับล้มหายตายจากไปเป็นระนาว วงจรการควบรวมกิจการที่เร่งเร็วรี่เพราะมาตราส่งเสริมนักลงทุนใน NAFTA ในหลาย ๆ กรณีคือ การที่บรรษัทข้ามชาติเข้ามาฮุบบริษัทท้องถิ่นของเม็กซิโก ถึงแม้สร้างงานเพิ่มได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่เบียดขับบริษัทในชาติออกจากวงจรธุรกิจ นำไปสู่การตัดลดการจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคบริการ
สินค้าเกษตรนำเข้าจำนวนมหาศาลทำให้เกษตรกรราว 2 ล้านคนต้องพลัดถิ่น เนื่องจากธัญพืชที่ได้รับเงินทุนอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาตีตลาดท้องถิ่นและตลาดภูมิภาค เมื่อมีงานใหม่ๆ เกิดขึ้นน้อยมากในภาคการผลิตหรือภาคอื่นๆ อดีตเกษตรกรจำนวนมากจึงจำใจต้องอพยพไปทำงานตามไร่นาในแคลิฟอร์เนีย แคโรไลนา หรือไอโอวา สหรัฐอเมริกา
นับตั้งแต่ NAFTA เศรษฐกิจของเม็กซิโกตั้งอยู่บนเสา 4 ต้นด้วยกัน นั่นคือ เศรษฐกิจนอกระบบ, ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (น้ำมันและก๊าซ), เงินส่งกลับประเทศจากแรงงานอพยพในสหรัฐอเมริกา, และการลักลอบค้ายาเสพย์ติด. หากบอกว่ารากฐานแบบนี้ง่อนแง่นยังออกจะน้อยไปด้วยซ้ำ
วิกฤตการณ์ตอร์ตีญา -
ใครได้ ใครเสีย
วิกฤตการณ์ตอร์ตีญาเกิดได้อย่างไร? คำตอบชี้ให้เห็นความเปราะบางของสังคมเม็กซิกันภายใต้เศรษฐกิจแบบ
NAFTA. ในงานวิจัยเมื่อไม่นานนี้ อนา เด อีตา (Ana de Ita) แห่งศูนย์ศึกษาความเปลี่ยนแปลงในชนบทของเม็กซิโก
อ้างเหตุผล 3 ประการที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ครั้งนี้:
1) ราคาข้าวโพดที่สูงขึ้นในตลาดระหว่างประเทศ เนื่องจากความต้องการข้าวโพดของสหรัฐฯ สูงขึ้นเพื่อนำไปผลิตเอธานอล
2) การเก็งกำไรของบรรษัทข้ามชาติผูกขาดที่ครอบงำตลาดข้าวโพดและตอร์ตีญาในเม็กซิโก
3) ข้อผูกมัดตาม NAFTA ที่ต้องเปิดภาคสินค้าเกษตรทั้งหมดใน ค.ศ. 2008 และการเปิดเสรีตลาดข้าวโพด
มากขึ้นทีละขั้นตั้งแต่ ค.ศ. 1994
ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้เม็กซิโกต้องพึ่งพิงการนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐอเมริกา การที่แป้งตอร์ตีญาขึ้นราคาอย่างพรวดพราดเป็นตัวอย่างชัดเจนที่ชี้ให้เห็นการโกหกคำโตของ "การค้าเสรี" เพื่อเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คุณต้องโยนตำราเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายเรื่องความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ราคา และอุปสงค์-อุปทาน ทิ้งออกนอกหน้าต่างไปเสียก่อน แล้วไล่ตามเส้นทางของเงินแทน ต่อไปนี้คือคำอธิบายโดยสาระสำคัญถึงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
สหรัฐฯ นำข้าวโพดไปผลิตเอธานอล
ตลอดปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ สหภาพยุโรป บราซิล และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G8
ต่างประกาศแผนการใหญ่โตเกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงเกษตร (agrofuel) แม้ว่าเชื้อเพลิงเกษตรสามารถผลิตจากส่วนผสมหลายอย่าง
แต่ในสหรัฐอเมริกา เอธานอลที่ผลิตจากข้าวโพดมีมากที่สุด. สหรัฐฯ เป็นผู้นำการผลิตในระดับโลกอยู่แล้ว
อุปสงค์ต่อข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นเพื่อไปผลิตเชื้อเพลิง จึงดันราคาระหว่างประเทศให้สูงขึ้น
มีหลายกลุ่มวิจารณ์การใช้ที่ดินกับข้าวโพด ที่เปลี่ยนจากการผลิตอาหารมาผลิตเชื้อเพลิงแทน ข้าวโพดเป็นอาหารหลักไม่เฉพาะในเม็กซิโก แต่ตลอดทั่วทั้งเมโสอเมริกัน (Mesoamerica--ภูมิภาคอเมริกากลาง ตั้งแต่เม็กซิโกไปจนถึงนิการากัว) ตลอดจนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อีกหลายประเทศ. เมื่อบรรษัทข้ามชาติอย่างคาร์กิล (Cargill) และเอดีเอ็ม (ADM) เข้ามาในธุรกิจข้าวโพดกับเอธานอล โดยให้เช่าที่ดินและสร้างโรงกลั่นในประเทศอื่นๆ ประเทศเหล่านี้ย่อมสูญเสียความสามารถในการผลิตข้าวโพดเพื่อเลี้ยงดูประชาชน อีกทั้งทรัพยากรทางการเกษตร ไม่ว่าน้ำสะอาด ดิน ปุ๋ย กลับถูกระดมมาใช้เพียงเพื่อให้รถวิ่งและสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ค้ารายใหญ่
ดังที่เหล่าแม่บ้านในตลาดอิซตาปาลาปาชี้ให้เห็น ราคาสินค้าบริโภคที่สูงขึ้น คือลางร้ายของความอดอยากในหมู่คนจนในเม็กซิโก ปัญหาเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนขึ้นไปตามห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากภายใต้ NAFTA ข้าวโพดนำเข้าจากสหรัฐฯ (ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจนมีราคาถูกกว่า) เข้ามาแทนที่อาหารสัตว์ประเภทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ เมื่อต้องพึ่งพิงสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ตอนนี้ราคาเนื้อก็พุ่งสูงขึ้นด้วย
การผลิตเชื้อเพลิงเกษตรคือปัญหาระยะยาวที่มีต่ออำนาจอธิปไตยทางอาหาร และการเข้าถึงอาหารของผู้บริโภค แต่มันไม่ได้อธิบายวิกฤตการณ์ตอร์ตีญา ขณะที่ราคาข้าวโพดระหว่างประเทศค่อยๆ ถีบตัวสูงขึ้น แต่ราคาข้าวโพดในตลาดเม็กซิกันกลับทะยานขึ้นไปลิบลับ. เมื่อราคาระหว่างประเทศเริ่มไต่ขึ้น ผู้นำเข้าและผู้ผลิตรายใหญ่จำนวนไม่กี่รายในเม็กซิโกมองเห็นโอกาสรวบตลาดมาไว้ในกำมือให้มากขึ้น จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทคาร์กิล, บริษัท ADM-Maseca, และผู้ผลิตแป้งข้าวโพดรายอื่น พากันกักตุนสินค้าเพื่อสร้างความขาดแคลนเทียมขึ้นมาใช้เป็นข้ออ้างดันราคาให้สูงขึ้น
ผลผลิตข้าวโพดในเม็กซิโกปีที่แล้วสูงมาก ไม่ได้มีความขาดแคลนแม้แต่น้อย บริษัทเหล่านี้ซื้อข้าวโพดในเม็กซิโกด้วยราคากดต่ำตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2006 เก็บเข้าโกดังไว้ แล้วใช้ราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นมาเป็นข้ออ้างขึ้นราคาในประเทศ แล้วนำออกขายในเดือนธันวาคมด้วยราคาสูงกว่าต้นทุนที่จ่ายไปถึงสองเท่า
เป้าหมายอีกประการหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้คือ ใช้การควบคุมอุปทานและราคามาเบียดขับโรงสีข้าวโพดท้องถิ่นดั้งเดิมออกไป ซึ่งมีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดตอร์ตีญา ด้วยวิธีการนี้ บริษัทผลิตข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่พยายามบีบให้โรงงานผลิตตอร์ตีญาหันมาใช้แป้งข้าวโพดที่ตนผลิตแทนที่จะซื้อแป้งจากโรงสีท้องถิ่น เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าไปเล่นอยู่ในการค้าข้าวโพดครบวงจร (นำเข้า ผลิต รับซื้อจากผู้ผลิตในประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตและตลาดค้าส่ง) บริษัทเหล่านี้จึงขายแป้งข้าวโพดในราคาถูกกว่า nixtamal (แป้งข้าวโพดที่ใช้ทำตอร์ตีญา) ที่ผลิตแบบดั้งเดิม และเสนอตอร์ตีญาที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรมในราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่งให้แก่เครือข่ายค้าปลีก เพื่อตัดราคาในตลาดของผู้ผลิตท้องถิ่น
ถ้าปราศจาก NAFTA เรื่องทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้น
เรื่องทั้งหมดนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าปราศจาก NAFTA. ก่อนมีข้อตกลง NAFTA รัฐบาลเม็กซิกันมีบทบาทมาตลอดในการซื้อและกระจายข้าวโพดทั่วประเทศ
ให้เงินทุนอุดหนุนราคาข้าวโพดเพื่อการบริโภคในเมือง และประกันราคาขั้นต่ำแก่ผู้ผลิต
แม้ว่ารัฐบาลแทบไม่เคยใช้การควบคุมการนำเข้าที่อนุญาตให้ทำได้ภายใต้ NAFTA แต่รัฐบาลเม็กซิกันก็พอมีเครื่องมือบางอย่างเหลืออยู่ในการจัดการตลาด.
ทว่าเมื่อใดที่การควบคุมการนำเข้าข้าวโพดถูกยกเลิกหมดสิ้นภายใต้ข้อตกลง NAFTA
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2008 ตลาดเม็กซิโก ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต จะตกอยู่ใต้อำนาจของกลุ่มบรรษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดและโลภโมโทสันที่สุดในโลก
สหรัฐอเมริกามีส่วนรับผิดชอบบ้างหรือไม่?
หลังจากข้อตกลง NAFTA ครบรอบ 10 ปี ธนาคารโลกแถลงข้อความเชิงปกป้องทำนองว่า "NAFTA
ไม่ใช่โมเดลการพัฒนา" หลังจากหนึ่งทศวรรษของการยึดมั่นอย่างเคร่งครัดต่อจิตวิญญาณและตัวอักษรของข้อตกลงการค้าและการลงทุน
สถิติของเม็กซิโกพิสูจน์ให้เห็นความจริงของถ้อยแถลงธนาคารโลกข้างต้น ไม่ว่าจะปั้นแต่งอย่างไร
ช่องว่างระหว่างความคาดหวังกับความเป็นจริงก็แตกต่างราวนรกกับสวรรค์
ทุกวันนี้ สหรัฐอเมริกาต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความยากจน การว่างงาน และการอพยพไปหางานทำในต่างประเทศที่เกิดขึ้นในเม็กซิโก ลองพิจารณาเหตุผลต่อไปนี้:
- เมื่อใช้ข้อตกลง NAFTA สหรัฐอเมริกาไม่เคยเสนอเงินชดเชยหรือเงินทุนสนับสนุนการปรับตัวของภาคส่วน ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจของสองประเทศมีช่องว่างห่างกันมหาศาล
- รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งให้เงินช่วยเหลือแก่เม็กซิโกเฉลี่ยเพียงปีละ 40 ล้านดอลลาร์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง ในขณะที่บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ เก็บเกี่ยวผลกำไรเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งจากการเข้าไปเปิดธุรกิจในเม็กซิโก และแรงงานอพยพราคาถูกที่ลักลอบเข้ามาในสหรัฐอเมริกา
- ไม่มีกลไกเป็นหลักประกันว่า บริษัทสหรัฐฯ ต้องจ่ายค่าแรงระดับยังชีพและสร้างสภาพการทำงานที่เหมาะสม ไม่มีกลไกดังกล่าวนี้เลยแม้แต่น้อย อีกทั้ง NAFTA ยังห้ามไม่ให้มีการกำหนดเงื่อนไขการดำเนินกิจการ ซึ่งอาจช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการดำเนินงานของบริษัทต่างชาติกับเศรษฐกิจของเม็กซิโกมากกว่านี้
การกระจุกตัวของอำนาจและความมั่งคั่ง ทำให้เม็กซิโกมีสถานะเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก. NAFTA ไม่ก่อให้เกิดผลดีแก่ชาวเม็กซิกัน มันไม่ใช่โมเดลการพัฒนา ไม่ใช่แม้กระทั่งโมเดลทางเศรษฐกิจที่สร้างความยั่งยืนได้ในอนาคตอันใกล้. การลงนามในข้อตกลงโดยไม่คำนึงถึงภาคส่วนที่อ่อนแอในระบบเศรษฐกิจเม็กซิโก แล้วจากนั้นก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับผลลัพธ์ที่เกิดตามมา นี่ไม่ใช่แค่ความไม่ยุติธรรม แต่มันส่งผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน. การมีผู้อพยพเข้ามาหางานทำจนควบคุมไม่ได้ก็เป็นผลกระทบอย่างหนึ่ง ถึงแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ของโลกาภิวัตน์ แต่ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อคนจำนวนมากไม่มีทางเลือก ไม่สามารถอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของตน และต้องกลายเป็นอาชญากรในประเทศที่พวกเขาเข้าไปหางานทำ
การบรรเทาความไม่เท่าเทียม
ข้อตกลง NAFTA สัญญาว่า เม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาจะก้าวเข้ามาบรรจบกัน แต่คำสัญญานั้นไม่เกิดขึ้นจริง
กุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจว่าเพราะอะไร อยู่ที่ความไม่เท่าเทียม ข้อตกลงนี้สร้างความได้เปรียบมหาศาลแก่ภาคส่วนที่มีอำนาจที่สุด
และความเสียเปรียบสุดคณานับแก่ภาคส่วนที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจ
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาของเม็กซิโกในการแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่รวมถึงแนวโน้มในทั้งสองประเทศด้วย การวางหมากของข้อตกลงการค้าแบบนี้หมายความว่า บริษัทเล็ก ๆ จะตกเป็นเหยื่อของบริษัทใหญ่กว่า โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติ คนงานจะสูญเสียอำนาจคัดง้างต่อนายจ้าง อำนาจผู้บริโภคจะลดลงเพราะตลาดถูกผูกขาดมากขึ้น. ในปัจจุบัน คนจนในเม็กซิโกเป็นผู้หญิงถึง 65% ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเข้ามาหาเลี้ยงชีพในเศรษฐกิจนอกระบบ หรือไม่ก็ทนอยู่ในหมู่บ้านที่กำลังล่มสลาย เลี้ยงดูครอบครัวด้วยเงินที่ส่งมาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งมาบ้างไม่ส่งมาบ้าง
การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จำต้องอาศัยการเปลี่ยนทัศนคติที่นิยมการค้าเสรี ไปสู่ทัศนคติที่เน้นการกำจัดความไม่เท่าเทียม นี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในเม็กซิโก. ลักษณะความสัมพันธ์ที่เม็กซิโกมีกับสหรัฐฯ ทำให้ความไม่เท่าเทียมหนักข้อยิ่งขึ้น ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย. นอกจากนี้ ภายในสหรัฐอเมริกาเอง ความไม่เท่าเทียมกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และความรุนแรงที่กระทำต่อแรงงานอพยพเป็นแค่ภาพสะท้อนหนึ่งของปัญหาทั้งหมด
การวิวาทะเกี่ยวกับแรงงานอพยพในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มักแสดงถึงปฏิกิริยาเชิงลบต่อชาวเม็กซิกัน ซึ่งรังแต่ตอกย้ำความเป็นปฏิปักษ์และความขัดแย้ง แต่ปัญหาและความรับผิดชอบที่มีร่วมกันหมายถึงการต้องร่วมมือกันและมองให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่มองแบบแยกเขาแยกเรา แต่ต้องมองให้เห็นภูมิภาคอันซับซ้อนและเชื่อมโยงกันแนบแน่น ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่มีสิทธิเท่าเทียมและความปรารถนาเฉกเช่นเดียวกัน
เชิงอรรถ
[1] ลอรา คาร์ลเซน เป็นผู้อำนวยการของ Americas Policy Program ในกรุงเม็กซิโกซิตี[2] Ningún progreso en México en los últimos 15 años: Banco Mundial,"
La Jornada, Sept. 21, 2007. World Bank Report "Mexico 2006-2012 creando las bases para el
crecimiento equitativo.
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88