บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Dual
Power
Midnight
University
บนเส้นทางและเป้าหมายการปฏิวัติในละตินอเมริกา
Dual
Power: อำนาจทวิลักษณ์ในการปฏิวัติของเวเนซุเอลา
ภัควดี
วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง
George Ciccariello-Maher, "Dual Power
in the Venezuelan Revolution
บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
บทความวิชาการชิ้นนี้แปลจากงานของ
George Ciccariello-Maher
เรื่อง: Dual Power in the Venezuelan Revolution เผยแพร่ใน Monthly Review
สำหรับผู้สนใจต้นฉบับ สามารถคลิกอ่านได้จาก http://www.monthlyreview.org/
November 12, 2007
โดยสาระสำคัญของบทความ เป็นการกล่าวถึงอำนาจทวิลักษณ์
หรืออำนาจคู่ขนานของสภาชุมชนท้องถิ่น ที่ควบคู่กันไปกับอำนาจรัฐ และธรรมนูญรัฐ
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติแนวซ้ายเวเนซุเอลา ที่มีลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของตนเอง
อย่างไรก็ตาม แนวทางอำนาจทวิลักษณ์หรือคู่ขนานดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับ
การมีส่วนร่วมในทางการเมือง ทั้งในเชิงนโยบาย การปฏิบัติ และการตรวจสอบอำนาจรัฐ
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๒๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๘.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บนเส้นทางและเป้าหมายการปฏิวัติในละตินอเมริกา
Dual
Power: อำนาจทวิลักษณ์ในการปฏิวัติของเวเนซุเอลา
ภัควดี
วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง
George Ciccariello-Maher, "Dual Power
in the Venezuelan Revolution
ความนำ
การปฏิวัติโบลิวาร์ที่กำลังดำเนินไปในเวเนซุเอลา มักถูกผู้วิจารณ์ ทั้งจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ดูแคลนว่าเป็นแค่การดำเนินการที่มีรัฐเป็นศูนย์กลางโดยพื้นฐาน ผู้สันทัดกรณีบอกเราว่า อย่างดีที่สุด นี่เป็นแค่ความต่อเนื่องของสถานภาพแบบราชการที่ฉ้อฉล หรือถ้าแย่ที่สุดก็คือ การรวบอำนาจรัฐไว้ในมือของบุคคลคนเดียวตามลัทธิเชิดชูตัวบุคคล และสิ่งที่สูญเสียไปคือ "การตรวจสอบและถ่วงดุล" ที่เป็นจารีตของระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมตะวันตก ทัศนคติดังกล่าวนี้เป็นความเข้าใจผิด ทั้งนี้เพราะไม่สามารถอธิบายสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้นและเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการปฏิวัติ ผู้เขียนจะเน้นไปที่จุดสำคัญที่สุดในกระบวนการนี้ นั่นคือ การเบ่งบานของอำนาจชุมชน
ด้วยการพิจารณากระบวนการผ่านมโนทัศน์ "อำนาจทวิลักษณ์" ของแนวคิดเลนินนิสต์ กล่าวคือ การสร้างอำนาจทางเลือกอิสระที่สามารถท้าทายโครงสร้างรัฐที่ดำรงอยู่ เราก็จะเห็นว่า การสถาปนาสภาชุมชนในเวเนซุเอลาเป็นย่างก้าวในด้านบวกที่ชัดเจน อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเต็มใบและหยั่งรากลึกกว่าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ความสำคัญของสภาชุมชนยังไปไกลกว่านั้น การสร้างความเป็นปึกแผ่นให้อำนาจชุมชนบอกอะไรเราได้มากเกี่ยวกับบทบาทของรัฐในการปฏิวัติของเวเนซุเอลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ของเวเนซุเอลามีความพิเศษเฉพาะก็คือ ข้อเท็จจริงที่บางภาคส่วนของรัฐกำลังทำงานอย่างขันแข็งเพื่อรื้อทลายกลไกรัฐเก่าๆ โดยโอนถ่ายอำนาจให้กลไกท้องถิ่นที่สามารถก่อรูปขึ้นเป็นอำนาจทวิลักษณ์ได้ ด้วยการก้าวพ้นวิวาทะทื่อๆ ที่ลดทอนทุกอย่างเหลือแค่การยึดอำนาจรัฐหรือต่อต้านอำนาจรัฐ การมุ่งความสนใจไปที่อำนาจทวิลักษณ์จะช่วยให้เราจับจุดได้ว่า สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ในเวเนซุเอลาและในประเทศอื่นๆ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิวัติต่อโครงสร้างกดขี่ที่ดำรงอยู่
'อำนาจที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง'
ขณะที่เลนินยืนอยู่ตรงจุดที่เขารู้สึกว่า นี่คือทางแพร่งทางการเมืองที่คาดไม่ถึงและไม่เคยมีมาก่อน
เขากล่าวถึงอุบัติการณ์ของ "อำนาจที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง" กล่าวคือ
อำนาจที่แตกต่างโดยพื้นฐานจากระบอบประชาธิปไตยกระฎุมพีที่ครองความเป็นใหญ่อยู่ในขณะนั้น
(1) คู่ขนานไปกับรัฐบาลเฉพาะกาลของเคเรนสกี* รัฐบาลทางเลือกของสภาโซเวียต แรงงานได้ถือกำเนิดขึ้น
กลายเป็นอำนาจทวิลักษณ์ (Dual Power) หรือ dvoevlastie ที่ดำรงอยู่ภายนอกและต่อต้านโครงสร้างรัฐเดิม
โครงสร้างทางเลือกที่ยัง "อ่อนแอและเพิ่งก่อกำเนิด" นี้ เลนินบรรยายว่าเป็น
"ระบอบเผด็จการปฏิวัติ กล่าวคือ อำนาจที่ตั้งอยู่บนการยึดอำนาจเพื่อการปฏิวัติโดยตรง
ตั้งอยู่บนการริเริ่มโดยตรงของประชาชนจากเบื้องล่าง และไม่ได้ตั้งอยู่บนกฎหมายที่ตราขึ้นโดยอำนาจรัฐรวมศูนย์"
* Alexander Feodorovich Kerensky (1881-1970) นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเฉพาะกาล
ก่อนที่จะถูกพรรคบอลเชวิคโค่นล้มลงในการปฏิวัติเดือนตุลาคม
อะไรทำให้อำนาจนี้ "แตกต่างโดยสิ้นเชิง"? ตามความคิดของเลนิน อำนาจทวิลักษณ์ถูกกำหนดจากเนื้อหาทางการเมืองที่พิเศษเฉพาะเป็นเบื้องต้น
ซึ่งมีจุดอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนที่สุดคือ ปารีสคอมมูน ค.ศ. 1871 (2)
ลักษณะเฉพาะพื้นฐานของอำนาจประเภทนี้คือ
(1) ที่มาของอำนาจไม่ใช่กฎหมายที่อภิปรายและตราขึ้นในรัฐสภา แต่เป็นการริเริ่มโดยตรงของประชาชนจากเบื้องล่างในพื้นที่ท้องถิ่นของตน ถ้าใช้ศัพท์ปัจจุบันก็คือ มันเป็น "การยึด" (seizure) โดยตรง
(2) ตำรวจและกองทัพ ซึ่งเป็นสถาบันที่แยกขาดจากประชาชนและตั้งขึ้นเพื่อเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน จะถูกแทนที่ด้วยการติดอาวุธให้ประชาชนทั้งหมดโดยตรง ระเบียบในรัฐภายใต้อำนาจแบบใหม่นี้รักษาไว้โดยแรงงานและเกษตรกรติดอาวุธ กล่าวคือ โดยประชาชนที่ติดอาวุธให้ตัวเอง
(3) ผู้มีอำนาจหน้าที่ ระบบราชการ จะถูกแทนที่ด้วยการปกครองโดยตรงของประชาชน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมพิเศษ ไม่เพียงแต่ข้าราชการต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ยังถูกถอดถอนได้ทันทีที่ประชาชนต้องการ ข้าราชการถูกลดสถานะเหลือแค่ตัวแทนธรรมดาๆ คนหนึ่ง จากกลุ่มอภิสิทธิ์ที่มี "ตำแหน่ง" ซึ่งได้รับค่าตอบแทนสูงแบบกระฏุมพี กลายเป็นแค่คนงานใน "แผนกบริการ" พิเศษ ซึ่งได้รับค่าตอบแทนไม่มากไปกว่าค่าแรงปรกติของแรงงานมีฝีมือ
ดังที่เราจะได้เห็นต่อไป มโนทัศน์นี้สามารถใช้ได้กับเวเนซุเอลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก่อให้เกิดลักษณะซ้อนกันขึ้นมา เผยให้เห็นข้อจำกัดบางประการของมโนทัศน์นั้นในรูปแบบดั้งเดิม และเตือนเราให้ตระหนักถึงอันตรายบางอย่างที่กระบวนการปฏิวัติในเวเนซุเอลากำลังเผชิญ ด้วยการใช้แนวคิดของอำนาจทวิลักษณ์ หวังว่าเราอาจเพิ่มพูนความเข้าใจ ทั้งต่อตัวมโนทัศน์เองและต่อการปฏิวัติโบลิวาร์
การเบ่งบานของอำนาจชุมชน
หลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของชาเวซ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2006
การปฏิวัติโบลิวาร์ก็มาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ศัตรูกลุ่มต่างๆ ของกระบวนการพ่ายแพ้ไปแล้วราบคาบ
เส้นทางได้รับการถากถางกรุยทางเพื่อกระบวนการหยั่งรากและเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน
ยิ่งกว่านั้น วาระการเป็นผู้นำอีกหกปีข้างหน้า ทำให้ชาเวซมีเวลาพักหายใจช่วงสั้นๆ
จากข้อเรียกร้องของ "เหล่าพันธมิตร" เปิดทางให้เขาขยับย่างก้าวสำคัญเพื่อจัดการกับข้าราชการทุจริตภายในฝ่ายชาวิซตา
(ฝ่ายสนับสนุนชาเวซ) ที่อาจเป็นตัวการขัดขวางกระบวนการปฏิวัติ โครงการเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนนี้ถูกบรรยายด้วยคำว่า
"หัวจักรห้าประการ"** ที่จะขับเคลื่อนการปฏิวัติ
** หัวจักรขับเคลื่อน 5 ประการประกอบด้วย
1) กฎหมายที่ให้อำนาจ (enabling law) ซึ่งชาเวซกล่าวว่าเป็น "กฎหมายแม่" ของโครงการทั้งหมด
2) การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ชาเวซกล่าวถึงหัวจักรนี้ใน 2 ประเด็นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียง 2 สมัย กับการยกเลิกความเป็นอิสระของธนาคารชาติ ซึ่งชาเวซกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือของลัทธิเสรีนิยมใหม่3) "การให้การศึกษาประชาชนตามแนวทางโบลิวาร์" หมายถึง "การปลูกฝังค่านิยมใหม่และทำลายค่านิยมเก่าของลัทธิปัจเจกบุคคลนิยมและระบบทุนนิยม"
4) "การสร้างเรขาคณิตทางอำนาจใหม่ให้แก่แผนที่ของชาติ" แม้แต่ชาเวซเองก็ยอมรับว่าหัวจักรตัวนี้ค่อนข้างนามธรรมสักหน่อย! อันที่จริง เขาหมายถึงการจัดสรรอำนาจทางการเมืองเสียใหม่ในเวเนซุเอลา เช่น การส่งเสริมให้รัฐและพื้นที่ที่ค่อนข้างยากจนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น, การปฏิรูประบอบการปกครองส่วนท้องถิ่นเสียใหม่ เป็นต้น
5) การเพิ่มอำนาจให้แก่สภาชุมชน ชาเวซเน้นว่า หัวจักรนี้คือหัวจักรที่สำคัญที่สุด เป้าหมายคือการสร้างรัฐที่ตั้งอยู่บนอำนาจของชุมชน เพื่อล้มล้างรัฐราชการและอำนาจที่รวมศูนย์อยู่ที่ภาคธุรกิจใหญ่)
หัวจักรที่ห้าและเป็นประการสำคัญที่สุดคือ "การเบ่งบานของอำนาจชุมชน" หมายถึงการขยายสภาชุมชนท้องถิ่นและอำนาจหน้าที่ของสภาทั่วทั้งประเทศเวเนซุเอลา นี่เป็นกระบวนการที่เริ่มต้นด้วยกฎหมายสภาชุมชน ค.ศ. 2006 และเพิ่งเริ่มดำเนินการในช่วงไม่กี่เดือนนี้เอง (3) ณ ปัจจุบัน มีสภาชุมชนประมาณ 18,320 แห่ง และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีราว 50,000 แห่ง (4)
คณะกรรมการร่างกฎหมายสภาชุมชน มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ดาวิด เวลาสเคซ นั่งเป็นประธาน เขาเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการมีส่วนร่วมและการพัฒนาสังคม เวลาสเคซเห็นว่า สภาชุมชนคือพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงรัฐแบบปฏิวัติ โดยให้เหตุผลว่า "เป้าหมายคือโอนถ่ายอำนาจและระบอบประชาธิปไตยแก่ชุมชนที่มีการจัดตั้ง จนถึงระดับที่กลไกรัฐถูกลดทอนลงจนหมดความจำเป็นไปในที่สุด" (5)
แต่ดังที่เราจะได้เห็นต่อไป
ทัศนะเช่นนี้แตกต่างจากความเข้าใจที่เลนินมีต่ออำนาจทวิลักษณ์ ตรงที่กระบวนการนี้ส่วนหนึ่งดำเนินผ่านระบบกฎหมายและกลไกรัฐเอง
ความแตกต่างนี้อาจอธิบายด้วยข้อเท็จจริงว่า วิสัยทัศน์ของเวลาสเคซได้มาจากอันโตนิโอ
เนกรีโดยตรง นั่นคือ ความแตกต่างระหว่าง "อำนาจปวงชนปฏิวัติ" (constituent
power) กับ "อำนาจธรรมนูญรัฐ" (constituted power)*** ซึ่งเป็นความแตกต่างที่ชาเวซเองอ้างถึงหลายครั้งและเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่
"ปวงชนปฏิวัติ" ต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อคัดง้างกับความตายซากของระบบกฎหมายและการยึดติดกับโครงสร้างธรรมนูญรัฐที่ตายตัวแล้ว
(6)
***"constituent power" อำนาจประชาธิปไตยของการสร้างสรรค์เชิงปฏิวัติ
"constituted power" อำนาจตายตัวของระบบกฎหมายตามแบบแผนและอำนาจส่วนกลาง
การไม่ปฏิเสธอำนาจตามธรรมนูญรัฐ สถาบันหรือกฎหมายตั้งแต่แรกเสียทีเดียว แต่ทำให้อำนาจนั้นอยู่ภายใต้การเพิกถอนโดยประชาชน
ทำให้ความแตกต่างนี้มีประโยชน์ในการอภิปรายถึงอำนาจทวิลักษณ์มากกว่าทัศนะที่มองโครงสร้างรัฐเป็นเนื้อเดียวไปหมด
และมีเหตุผลที่กล่าวได้ว่า ลักษณะเช่นนี้มีคุณูปการสำคัญ (ส่วนหนึ่งมาจากการแทรกแซงของเวลาสเคซเองด้วย)
ต่อการก่อร่างสร้างอำนาจทวิลักษณ์ขึ้นมาในเวเนซุเอลา ซึ่งการแทรกแซงของอำนาจปวงชนปฏิวัติได้สร้างรากฐานทางจริยธรรม-กฎหมายขึ้นมา
(7)
เมื่อพิจารณาถึงความนิยมในอำนาจปวงชนปฏิวัติในเวเนซุเอลา เราคงไม่ประหลาดใจที่พบว่า บทบาทของกฎหมายในเวเนซุเอลาปัจจุบันค่อนข้างแปลกประหลาดทีเดียว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่า "การเคารพกฎหมายอย่างปฏิวัติ" (revolutionary reverence for the law) ซึ่งไม่ใช่การเคารพกฎหมายโดยไม่ขึ้นกับประสบการณ์ใดๆ แต่เป็นความชื่นชมที่ได้มาจากประสบการณ์ของการตรากฎหมายแบบปฏิวัติที่กดดันให้เกิดขึ้นจากเบื้องล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้งเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญโบลิวาร์ใน ค.ศ. 1999 (การปกป้องที่ให้กำเนิดองค์กรรากหญ้าปฏิวัติที่รู้จักกันในนาม ชมรมโบลิวาร์) ดังที่โฆษกของสภาชุมชนในเขตนากัวนากัวของเมืองวาเลนเซีย บอกกับผู้เขียน--โดยมีกฎหมายชุมชนถืออยู่ในมือ-เมื่อไม่นานมานี้ว่า "เราต้องไม่อ่านกฎหมายฉบับนี้แบบเดียวกับทนายความปฏิกิริยา แต่เราจำเป็นต้องทำให้กฎหมายสอดคล้องกับความเป็นจริงทางสังคมของเรา โดยไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อรื้อฟื้นความเป็นผู้นำที่มีบทบาทอย่างแท้จริงของประชาชน" ทัศนะต่อกฎหมายที่ก้าวหน้าอย่างถึงรากถึงโคนนี้ ที่แท้ก็คือ การสำแดงออกของชาวเวเนซุเอลาที่เน้นความสำคัญของอำนาจปวงชนปฏิวัติ กล่าวคือ ในขณะที่จำเป็นต้องใช้อำนาจธรรมนูญรัฐที่มีอยู่ (ในกรณีนี้คือกฎหมาย) เราต้องไม่ลืมว่า โดยพื้นฐานแล้ว อำนาจธรรมนูญรัฐนี้ต้องอาศัยอำนาจปวงชนปฏิวัติที่ตรากฎหมายขึ้นมา
ตามมาตรา 2 ของกฎหมาย ค.ศ. 2006 สภาชุมชนคือ "กรณีตัวอย่างของการมีส่วนร่วม การเชื่อมต่อและบูรณาการระหว่างองค์กรชุมชน กลุ่มสังคม และพลเมืองที่หลากหลาย" เป้าหมายคือ "เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีการจัดตั้งได้เข้ามาบริหารจัดการนโยบายสาธารณะ และโครงการต่างๆ โดยตรง เพื่อตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของชุมชนในการก่อร่างสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมและความยุติธรรม" ยิ่งกว่านั้น สภาชุมชนต้องดำเนินงานตามบรรทัดฐานที่ประกอบด้วย "ความรับผิดชอบต่อกันและกัน, ความร่วมมือ, ความสมานฉันท์, ความโปร่งใส, การตรวจสอบได้, ความซื่อสัตย์, ความสามารถ, ความมีประสิทธิภาพ, ความรับผิดชอบต่อสังคม, การควบคุมโดยสังคม, ความเที่ยงธรรม, และความเท่าเทียมในสังคมและเพศ" (มาตรา 3) และได้รับอำนาจให้ "รับรองมติที่สำคัญต่อชีวิตในชุมชน" (มาตรา 6) ตามกฎหมายฉบับนี้ สภาชุมชนถูกปกครองด้วยการมีคณะกรรมการ โดยมีโฆษกที่ได้รับเลือกตั้งมีวาระ 2 ปี (มาตรา 12) และเช่นเดียวกับการเลือกตั้งทุกระดับ อำนาจหน้าที่นั้นสามารถเพิกถอนได้ (มาตรา 6)
ความอิสระด้านการเงินการคลังของสภาชุมชนมีความสำคัญยิ่ง ถึงแม้ข้อเท็จจริงก็คือ เงินอุดหนุนเกือบทั้งหมดมาจากรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในประเทศร่ำรวยน้ำมัน ชาเวซเคยประกาศมาหลายครั้งแล้วว่า ในอนาคต กำไร 50% ที่ได้จากบริษัทปิโตรเลียมของรัฐ PDVSA ซึ่งมีกำไรรวมมูลค่ากว่า 6 พันล้านดอลลาร์ระหว่างช่วงครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 2006 จะถ่ายโอนโดยตรงไปให้แก่สภาชุมชน เดิมทีเงินอุดหนุนเหล่านี้โอนผ่านผู้ว่าการรัฐและนายกเทศมนตรี แต่ต่อไปจะให้ระดับชุมชนบริหารเองโดยตรง
เพื่อเป้าหมายนี้ เงินจำนวน 590 ล้านโบลิวาเรส (274 ล้านดอลลาร์) ถูกมอบให้แก่โครงการชุมชน 2,500 โครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 และตัวเลขก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (8) เช่นเดียวกับขอบเขตอำนาจเฉพาะของสภาชุมชนก็ขยายกว้างขวางขึ้นเช่นกัน เช่น เพื่อตอบโต้ปัญหาการขาดแคลนเนื้อที่เกิดจากการกักตุน มีการออกกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลยึดกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกักตุน และกฎหมายนี้มอบอำนาจอย่างเดียวกันแก่สภาชุมชนด้วย แม้ว่าทั้งหมดยังคงเป็นแค่เค้ารางๆ ที่บ่งบอกถึงความสำคัญในอนาคตของสภาชุมชน แต่มันก็เป็นนัยยะที่น่าชื่นใจ แต่อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างสภาชุมชนที่เพิ่งเกิดใหม่ กับมโนทัศน์ของอำนาจทวิลักษณ์ที่กล่าวถึงข้างต้น?
ปฏิปักษ์ต่อระบบราชการ
หากยึดตามบรรทัดฐานของเลนินแบบสวนทาง เราก็จะเห็นว่า เป้าหมายชัดเจนของสภาชุมชนคือ
กดดันให้ระบบราชการยอมน้อมต่อเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกด้วยการมีส่วนร่วมโดยตรงในระดับท้องถิ่น
เนื่องจากมีการขยับก้าวอย่างละล้าละลังและน้อยเกินไปในการโจมตีการคอร์รัปชั่นและระบบราชการภายในรัฐบาลกลาง
สภาชุมชนจึงถือเป็นการยกระดับการต่อสู้ไปอีกขั้นหนึ่ง ทั้งในแง่ของอำนาจ "การตรวจสอบทางสังคม"
ที่มอบหมายให้แก่สภาชุมชน รวมทั้งความโปร่งใสและเท่าเทียมที่เป็นปทัสถานในการดำเนินงานภายในสภาชุมชนด้วย
ส่วนบรรทัดฐานสองประการของเลนิน กล่าวคือ ระบบผู้นำที่ถอดถอนได้และการขจัดความแตกต่างของค่าจ้าง ก็ควรแก่การชี้ให้เห็นว่า ผู้รับมอบอำนาจที่ถอดถอนได้เป็นแกนกลางสำคัญของการปฏิวัติโบลิวาร์มาตั้งแต่เริ่มต้น และระบุไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1999 (9) ส่วนค่าจ้างนั้น รัฐบาลเวเนซุเอลาเริ่มหามาตรการเพื่อกำหนดเพดานค่าจ้างของภาคราชการ ในเดือนมกราคม สมัชชาแห่งชาติอ้างถึงกรณีที่ผู้พิพากษาศาลสูงบางคนได้รับเงินเดือนมากกว่า 28,000,000 โบลิวาเรส (13,000 ดอลลาร์) สมัชชาจึงเริ่มร่างกฎหมายจำกัดเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐบาลและข้าราชการไว้ที่ 6 ล้านโบลิวาเรส (2,800 ดอลลาร์) (10)
ความสามารถของสภาชุมชนในการโจมตีระบบราชการและการคอร์รัปชั่น มีจุดเริ่มต้นตรงความสามารถในการสอดส่องดูแลรัฐบาลทุกระดับ สภาทุกแห่งเลือกตั้งคณะกรรมการ 5 คนเพื่อ "ตรวจสอบทางสังคม" [contraloria] ตามคำพูดของเลนินก็คือ จัดวางข้าราชการไว้ "ภายใต้การควบคุมพิเศษ" นั่นเอง คณะกรรมการเหล่านี้ได้รับอำนาจให้ตรวจสอบ "ระเบียบวาระและโครงการที่เป็นการลงทุนสาธารณะ ซึ่งได้รับงบประมาณและบริหารโดยรัฐบาลระดับชาติ ระดับภูมิภาคหรือเทศบาล" (มาตรา 11) อำนาจเช่นนี้สะท้อนถึงอาวุธทรงพลังเพื่อต่อต้านระบบราชการที่ฉ้อฉล ซึ่งมีอยู่ทั้งในระดับรัฐและท้องถิ่น และต่อต้านผู้ว่าการรัฐและนายกเทศมนตรีทั้งหลาย คนจำนวนมากหวังว่า สภาชุมชนจะเข้าไปทำหน้าที่แทนคนเหล่านี้ได้โดยสิ้นเชิงในที่สุด
แต่เรื่องนี้ยังห่างไกลจากความแน่นอน ดังที่เฟอร์นานโด นักจัดตั้งคนหนึ่งในสถาบันวัฒนธรรมซีโมนโบลิวาร์ ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกบ้าน 23 de Enero ที่มีประวัติความเป็นชุมชนนักปฏิวัติมายาวนาน นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของพรรคสหสังคมนิยม (PSUV) ของชาเวซด้วย เฟอร์นานโดกล่าวถึงความกังวลต่อขั้นตอนการก่อตั้งสภาชุมชนว่า "นายกเทศมนตรีส่วนใหญ่มีบทบาทมากเกินไปในการก่อตั้งสภาชุมชน พยายามเข้าไปควบคุมมัน บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐควรมีแค่ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่สภา"
มีความหวังด้วยว่า เมื่อไม่ต้องผ่านระบบราชการหลายลำดับชั้น สภาชุมชนน่าจะสามารถหลีกเลี่ยง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ลดการคอร์รัปชั่นให้เหลือน้อยที่สุด ในระหว่างการโอนถ่ายเงินอุดหนุนจากระดับชาติลงสู่ระดับท้องถิ่น "เวลาที่องค์กรชุมชนต้องการขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล" เฟอร์นานโดอธิบาย "เงินนั้นต้องผ่านมือคนมากเกินไป [เช่น รัฐมนตรี ผู้ว่าการรัฐและนายกเทศมนตรี] จนหลีกเลี่ยงการคอร์รัปชั่นไม่ได้ เราหวังว่าสภาชุมชนจะช่วยขจัดหรืออย่างน้อยก็ลดความเป็นไปได้ในการคอร์รัปชั่นให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการสร้างข้อต่อตรงระหว่างเงินอุดหนุนกับชุมชน" แม้เขายังสงสัยว่า การต้องพึ่งพิงเงินงบประมาณจากรัฐทั้งหมดคงไม่มีทางเปลี่ยนเป็นอื่นไปได้ในอนาคตอันใกล้ "จะมีวิธีไหนอีก" เขาถาม "ที่เงินจากน้ำมันจะมาถึงชุมชน?" ความหวังของเขาก็คือ สภาชุมชนจะลดความแปลกแยกระหว่างสถาบันกับประชาชนลง
นอกจากนั้น ในระดับท้องถิ่น เราพบกุญแจดอกที่สองที่เอื้อให้สภาชุมชนสามารถโจมตีระบบราชการและการคอร์รัปชั่น นั่นคือ ระบอบประชาธิปไตยทางตรงในระดับท้องถิ่น ลองย้อนไปดูคำพูดของเลนินอีกครั้ง ในส่วนที่เน้นย้ำผู้รับมอบอำนาจที่ถอดถอนได้และเงินเดือนจำกัด สมาชิกคณะกรรมการในสภาชุมชนได้รับเลือกตั้งด้วยการมีส่วนร่วมโดยตรงของชุมชน โดยมีวาระดำรงตำแหน่งสั้นๆ (สองปี) และสามารถถอดถอนได้ง่ายกว่าผู้ได้รับเลือกตั้งในระดับสูงขึ้นไป นอกจากนี้ ค่าตอบแทนในสภาชุมชนยังไม่มีโดยสิ้นเชิง ตำแหน่งที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมดเป็นตำแหน่ง "ad honorem" (ได้รับเกียรติเป็นการตอบแทน) (มาตรา 12)
ส่วนความสามารถในการสอดส่องรัฐบาลกลาง สภาชุมชนทำหน้าที่ถ่วงดุลผู้มีอำนาจระดับสูงขึ้นไป ลักษณะการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยทางตรงในสภา บวกกับผู้นำจากการแต่งตั้งที่ไม่มีค่าตอบแทน จึงป้องกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่นและการกลายเป็นระบบราชการของสภาชุมชน ทำให้สภาเป็นที่ธำรงไว้ซึ่งอำนาจทวิลักษณ์ที่มั่นคงและยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองมากกว่า นี่คือโครงสร้างที่เป็นต้นเค้าให้เห็นสังคมแบบมีส่วนร่วมในอนาคต พร้อมกันนั้นก็ค่อยๆ สะสมขุมกำลังเพื่อโจมตีองค์ประกอบต่างๆ ของรัฐที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
แต่สภาชุมชนจะประสบความสำเร็จสมความคาดหวังนี้หรือไม่ ยังไกลเกินกว่าจะรับประกันได้ ระหว่างการเลือกตั้งสภาชุมชน คาร์ลอส โรดริเกซ น้องชายของวีรชนพลีชีพที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของ 23 de Enero แม้จะมองในแง่ดี แต่เขาก็ยืนยันว่า "เวลาเท่านั้นจะบอกได้ว่า สภาชุมชนสามารถทำหน้าที่บรรลุเป้าหมายหรือไม่"
มวลชนติดอาวุธ
บรรทัดฐานที่สองของเลนินเกี่ยวกับอำนาจทวิลักษณ์ กล่าวคือ การติดอาวุธมวลชนโดยตรง
เป็นคำถามที่ซับซ้อนกว่า เนื่องจากสภาชุมชนไม่ได้ติดอาวุธในความหมายของทางการแต่อย่างใด
เราต้องพิจารณาเรื่องนี้ในบริบทที่กว้างกว่านั้น ประวัติศาสตร์ขององค์กรติดอาวุธภายนอกรัฐ
และต่อต้านรัฐมีอยู่อย่างลึกซึ้งในเวเนซุเอลา เวลาหลายทศวรรษของการต่อสู้แบบกองทัพจรยุทธ์ในชนบทและในเมืองสมัยก่อนยุคชาเวซ
ไม่ได้ทำให้คนเหล่านี้หันมาหาสันติวิธีและปลดอาวุธลงหลังจากชาเวซได้รับการเลือกตั้ง
แต่กลับขยายเครือข่ายของหน่วยติดอาวุธป้องกันตัวเองในท้องถิ่น ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในเวเนซุเอลา
หากจะยกสักตัวอย่างหนึ่ง ก็เช่นกลุ่มต่างๆ ที่กระจุกอยู่ในละแวก 23 de Enero ทางตะวันตกของกรุงคารากัส การก่อกบฎในเขตเมืองมาหลายสิบปี ก่อให้เกิดขบวนการ Coordinadora Simon Bolivar (CSB), Revolutionary Tupamaro Movement, Revolutionary Carapaica Movement-Nestor Zerpa Cartollini Combat Unit, Colectivo Alexis Vive ฯลฯ นี่เป็นแค่ไม่กี่ตัวอย่าง องค์กรแบบนี้ยังมีอยู่ในละแวกบ้านใหญ่ๆ อื่นๆ ในคารากัส ทั้งในเปตาเร, ลาเวกา, เอลวาเญ ฯลฯ และมีอยู่ทั่วไปทั้งประเทศ ตลอดจนถึงกิจกรรมลับๆ ล่อๆ ของกลุ่ม Bolivarian Liberation Front ที่กระจายเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่รวมศูนย์อำนาจและมีปฏิบัติการในเขตชนบท
มีหลายครั้งที่กลุ่มเหล่านี้ได้รับกำลังบำรุงจากรัฐบาลระดับชาติและระดับท้องถิ่นด้วยซ้ำ (โดยเฉพาะนายกเทศมนตรีฮวน บาร์เรโต แห่งคารากัส) แม้การสนับสนุนนี้ไม่รวมถึงอาวุธอย่างที่ฝ่ายค้านมักเอาไปกล่าวหา นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกันและกัน เมื่อชาเวซถูกรัฐประหารในเดือนเมษายน ค.ศ. 2002 รัฐมนตรีของเขาหลายคนได้รับข้อเสนอที่หลบภัยในชุมชนอย่าง 23 de Enero และลาเวกา ดังนั้น ขณะที่พื้นที่ติดอาวุธป้องกันตัวเองในระดับท้องถิ่นมีการขยายตัวและยิ่งได้รับการส่งเสริม พร้อมๆ กับที่นักการเมืองสายชาวิซตาได้รับเลือกตั้งเข้าไปในกลไกรัฐระดับต่างๆ เราก็ควรระลึกไว้ด้วยว่า นี่เป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปและไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้เพราะการครองความเป็นใหญ่ของสายชาวิซตาเพิ่งเป็นปึกแผ่นในตอนนี้ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ดังที่นักปฏิวัติคนหนึ่ง ซึ่งกำลังช่วยท้องถิ่นเตรียมการทำสงครามเสียเปรียบในกรณีที่สหรัฐอเมริกาบุกเวเนซุเอลา เขาบอกผู้เขียนว่า "แม้ชาเวซประกาศถึงความจำเป็นของการมีกองทหารพลเมือง แต่คนจำนวนมากในโครงสร้างรัฐก็ยังเชื่อว่า รัฐจำเป็นต้องรักษาการผูกขาดการใช้ความรุนแรงเอาไว้"
เช่นเดียวกับกรณีของการโจมตีระบบราชการและการคอร์รัปชั่น ความตึงเครียดนี้เกิดขึ้นในสองระดับ ทั้งภายในโครงสร้างกองทัพ (ระหว่างกองกำลังเหล่าทัพกับกองหนุน) และที่สำคัญกว่านั้นคือระหว่างโครงสร้างกองทัพ (และตำรวจ) กับองค์กรติดอาวุธท้องถิ่น. ในระดับแรกนั้น ผู้เขียนเพิ่งได้พูดคุยกับสมาชิกทหารกองหนุนแห่งชาติคนหนึ่ง ซึ่งสนใจวิวาทะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่กองหนุนควรมีกับกองทัพ ในขณะที่การรวมกองหนุนไว้ภายในกองกำลังเหล่าทัพหน่วยต่างๆ อาจตีความได้ว่าเป็นการยอมรับการคานอำนาจเชิงประชาธิปไตยของกองกำลังทหารพลเรือน แต่การตีความที่ถูกต้องกว่าก็คือ นี่น่าจะเป็นความพยายามกลืนและดึงทหารกองหนุนมาไว้ใต้บังคับบัญชา "ทหารกองหนุนไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ" วิกเตอร์บอกผู้เขียน "เราควรล่องหน นิรนาม รอคอยและพร้อมโจมตีผู้รุกรานโดยไม่รู้ตัว"
ทัศนะนี้สอดรับกับอดีตผู้บัญชาการทหารกองหนุน และเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กุสตาโว รางเคล บรีเซนโญ เขาให้เหตุผลว่า "กองหนุนไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ" เนื่องจากมันไม่มีโครงสร้างตายตัวเหมือนกองทัพ และ"ควรนำลักษณะเด่นขององค์กรประชาชนมาปรับใช้" (11) เขาประเมินว่า ขณะนี้มีทหารกองหนุนประมาณ 880,000 นาย โดยมีเป้าหมายระยะยาวตั้งไว้ที่ 15 ล้านนาย (หมายถึงเกินครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด)
รางเคล บรีเซนโญหวังว่า ชาเวซจะแก้ไขกฎหมายทหารกองหนุนฉบับ ค.ศ. 2005 เพื่อให้ทหารกองหนุนมีอิสระเต็มที่ ซึ่งในกรณีนั้น ทหารกองหนุนของเวเนซุเอลาน่าจะใกล้เคียงกับแนวคิดของเลนินเกี่ยวกับ "การติดอาวุธให้ประชาชนทั้งหมดโดยตรง" ยิ่งกว่ากองทัพใดๆ ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ อย่างน้อยที่สุด นี่คือเป้าหมายที่ชาเวซประกาศออกมาเอง "ทหารกองหนุนต้องเชื่อมโยงกับองค์กรประชาชน...เป้าหมายไม่ใช่แค่มีทหารกองหนุนอยู่ในกองกำลังเหล่าทัพเท่านั้น เปล่าเลย มันต้องเป็นประชาชนทั้งหมดต่างหาก" (12)
แต่ไม่ว่าจะเป็นที่นิยมและเป็นอิสระแค่ไหน โครงสร้างทหารกองหนุนแบบรวมศูนย์ก็ยังมีความแปลกแยกจากกลไกท้องถิ่นของอำนาจทวิลักษณ์อยู่ดี และในแง่นี้ สภาชุมชนดำรงอยู่ในพื้นที่ระหว่างทหารกองหนุนกับองค์กรป้องกันตัวเองท้องถิ่น ซึ่งสร้างรอยแยกขึ้นมาในการผูกขาดการใช้ความรุนแรงโดยชอบธรรมของรัฐ (13) แม้ตอนที่ยังไม่ได้ก่อตั้งสภาชุมชนและในพื้นที่ที่ไม่มีองค์กรป้องกันตัวเองติดอาวุธ ความไม่เชื่อใจตำรวจที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง ทำให้ชุมชนหลายแห่งสร้างมาตรการความปลอดภัยและความมั่นคงในท้องถิ่นของตนขึ้นมาเอง แม้สภาชุมชนไม่ใช่หน่วยเสนาธิการทหารปฏิวัติติดอาวุธแม้แต่น้อย (ดังเช่นชมรมโบลิวาร์บางแห่ง) แต่เสียงเรียกร้องให้กระจายอำนาจสู่ฐานราก ขยายไปสู่คำถามเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองของท้องถิ่น และการก่อตั้งคณะกรรมการด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของท้องถิ่น
"คณะกรรมการความมั่นคง" เหล่านี้เป็นสิ่งที่ระบุไว้ชัดเจนในกฎหมายสภาชุมชน ค.ศ. 2006 (มาตรา 9) แต่การมีอยู่ของคณะกรรมการยังเป็นเพียงทฤษฎีเสียส่วนใหญ่ จนกระทั่งหลังจากการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2006 เป็นต้นมา ปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ผู้บัญชาการทหารกองหนุน รางเคล บรีเซนโญ ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสภาเพื่ออำนาจชุมชนของประธานาธิบดี เขาประกาศว่า รัฐบาลจะเน้นความจำเป็นในการก่อตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยและความมั่นคงในสภาชุมชน โดยมีคำพูดเสริมท้ายอย่างน่าสังเกตว่า "คณะกรรมการเหล่านี้ไม่ได้มีหน้าที่แค่ดูแลด้านความมั่นคงจากการรุกรานทางทหารภายนอกเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงภายในในการปฏิบัติภารกิจประจำวันของเราด้วย" (14)
ริโกเบอร์โต อธิบายให้ผมฟังถึงสถานการณ์ความมั่นคงภายใน barrio (ละแวกบ้าน) ต่างๆ ผมพบเขาราวๆ เที่ยงในวันที่มีการเลือกตั้งสภาชุมชนของละแวกบ้าน 23 de Enero เขากำลังดื่ม Polar Negra เย็นๆ กับรัมหลายเป๊ก เขาสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการความมั่นคง โชคดีที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง (เขาได้คะแนนเป็นที่สี่ แต่ยืนยันว่าจริงๆ แล้วเขาได้ที่สองต่างหาก) ถึงจะมีอาการมึนเมา แต่ริโกเบอร์โตก็อธิบายถึงวิธีการรักษาความปลอดภัยในเขตนี้ก่อนที่จะมีสภาหรือคณะกรรมการความมั่นคง "ถ้าเราจับใครขายยาในละแวกบ้านได้" เขาเล่า "ครั้งแรกเขาจะถูกตักเตือน ถ้ายังโผล่มาอีก คราวนี้จะโดนกระทืบ แล้วถ้าโผล่มาเป็นครั้งที่สามล่ะก็..." เขาพูดค้างไว้อย่างนั้น พลางทำมือให้ดูว่าผลลัพธ์คงไม่น่าอภิรมย์นัก
เขายังเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ สมาชิกในชุมชนจับ malandro หรือผู้ร้ายที่ปล้นหมอคิวบาใน Barrio Adentro ซึ่งเป็นหน่วยสาธารณสุขท้องถิ่น ชาวบ้านที่ไม่มีอาวุธช่วยกันจับชายคนนั้น ตีจนน่วม จับแก้ผ้า แล้วไล่ออกไป แม้การบริหารจัดการความปลอดภัยกันเองในท้องถิ่นอาจดูเหมือนเรื่องเล็กน้อย แต่มันเป็นเงื่อนไขพื้นฐานเบื้องต้นในการหยั่งรากอำนาจทวิลักษณ์ในเวเนซุเอลา และถึงแม้ไม่ได้เริ่มต้นที่สภาชุมชน แต่อำนาจของสภาในด้านความมั่นคงและการป้องกันตัวเองก็เข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุน
ไม่ว่าทหารกองหนุนจะมีความสำคัญในฐานะ "การติดอาวุธให้ประชาชนทั้งหมดโดยตรง" ในความหมายของเลนินแค่ไหนก็ตาม เราก็ควรระลึกว่า เหตุผลที่เลนินสนับสนุน "การแทนที่ตำรวจและกองทัพ" ก็เพราะ "สถาบันเหล่านี้แยกขาดจากประชาชนและตั้งขึ้นเพื่อเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน" กองทหารพลเมืองที่เป็นอิสระ อาจช่วยลดความแปลกแยกของกองกำลังรักษาความมั่นคง และในแง่นี้ถือเป็นย่างก้าวในเชิงบวก แต่การแทนที่กองทัพและตำรวจอย่างแท้จริงจะต้องแยกขาดจาก "การผูกขาดการใช้ความรุนแรง" ให้มากกว่านี้ นั่นคือ กระจายกองกำลังติดอาวุธให้หยั่งรากลงในโครงสร้างท้องถิ่นให้มั่นคงยิ่งขึ้น การกระจายอำนาจในประเด็นความมั่นคงมีประวัติศาสตร์ยาวนานในเวเนซุเอลา นับตั้งแต่กองทัพจรยุทธ์ไปจนถึงกลุ่ม Tupamaros ในเมือง (องค์กรป้องกันตัวเองแบบลัทธิเหมา) สภาชุมชนมีศักยภาพที่จะสานต่อและตั้งมั่นบนประวัติศาสตร์แบบนี้
"เราสร้างเขาขึ้นมา"
เมื่อพิจารณาถึงบทบาทสำคัญของชาเวซในกระบวนการปฏิวัติเวเนซุเอลา การอภิปรายใดๆ
เกี่ยวกับอำนาจทวิลักษณ์ในการปฏิวัติโบลิวาร์ จำต้องมีการปรับคำนิยามที่ใช้อธิบายบทบาทอันแปลกประหลาดของชาเวซ
ดังที่เขาเรียกตัวเองว่า "ขบถผู้ครองอำนาจ" (a subversive on power)
(15) ความจำเป็นต้องปรับมโนทัศน์ของเราให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในเวเนซุเอลา
อาจบรรยายได้ดีที่สุดด้วยคำพูดของออสวัลโด นักรบจรยุทธ์ผู้คร่ำหวอดชาวเวเนซุเอลา
(ตัวเขาเองไม่ได้เป็นมิตรกับอำนาจธรรมนูญรัฐเลย) แม้เห็นพ้องว่า มโนทัศน์ของอำนาจทวิลักษณ์ช่วยได้มากในการทำความเข้าใจกระบวนการของเวเนซุเอลา
แต่เขาเตือนว่า "เราคงไม่อยากเปรียบชาเวซกับเคเรนสกี" นี่ไม่ใช่แค่ความเลื่อมใสที่มีต่อผู้นำ
มันเป็นการขีดเส้นแบ่งให้เห็นการหักมุมที่พิเศษเฉพาะ ซึ่งประสบการณ์ในเวเนซุเอลาช่วยนำเสนอสิ่งใหม่ๆ
ให้แก่กรอบคิดเกี่ยวกับอำนาจทวิลักษณ์
ความตึงเครียดระหว่างมโนทัศน์กับความเป็นจริงยิ่งแหลมคมที่สุด เมื่อเราพิจารณาบรรทัดที่สามของเลนิน กล่าวคือ อำนาจทวิลักษณ์ไม่ใช่สิ่งที่ตราขึ้นเป็นกฎหมาย แต่เป็นการยึดอำนาจโดยตรงจากเบื้องล่าง การมองว่าอำนาจทวิลักษณ์คือคู่ตรงข้ามระหว่าง "การริเริ่มโดยตรงของประชาชนจากเบื้องล่าง" กับ "กฎหมายที่อภิปรายและร่างโดยรัฐสภา" ดูเผินๆ อาจทำให้เราต้องตัดประสบการณ์ของสภาชุมชนออกไป (เพราะมันเป็นการสร้างด้วยกฎหมาย) แต่ความเป็นจริงไม่ง่ายอย่างนั้น ทั้งนี้เพราะนับแต่เริ่มต้น การปฏิวัติโบลิวาร์ถูกผลักดันจากเบื้องล่าง ไม่ใช่เป็นแค่การเลือกตั้งธรรมดาๆ (16) ยกตัวอย่างเช่น การพยายามรัฐประหารของชาเวซที่ล้มเหลวใน ค.ศ. 1992 ในหลายๆ แง่ก็ถือเป็นผลลัพธ์โดยตรงจากเหตุจลาจลคารากาโซใน ค.ศ. 1989 ซึ่งเป็นการก่อกบฏของมวลชนจำนวนมากอย่างเป็นไปเองและยาวนานเป็นสัปดาห์ ทั้งยังขยายไปทั่วทั้งประเทศโดยเป็นปฏิกิริยาต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ดังที่ฮวน คอนเตรราส ผู้นำขบวนการ Coordinadora Simon Bolivar กล่าวว่า "ชาเวซไม่ได้สร้างขบวนการขึ้นมา เราสร้างเขาขึ้นมาต่างหาก"
ความสำคัญขององค์กรรากหญ้าไม่ได้ปลาสนาการไปไหน หลังจากชาเวซได้รับเลือกตั้งใน ค.ศ. 1998 ในการรณรงค์เพื่อลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน ค.ศ. 1999 กลุ่มศึกษารัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาอย่างเป็นไปเอง โดยมีเป้าหมายในการศึกษา ทำความเข้าใจและปกป้องกฎบัตรแห่งรัฐฉบับใหม่ กลุ่มศึกษาเหล่านี้กลายเป็นชมรมโบลิวาร์ องค์กรละแวกบ้านที่มีลักษณะปฏิวัติ (และมีเหตุผลอ้างได้ว่า มันคือต้นเค้าของสภาชุมชน) ถึงแม้กลุ่มเหล่านี้สนับสนุนชาเวซและการปฏิวัติอย่างแรงกล้า แต่ก็ต่อต้านการกลายเป็นสถาบันทางการด้วย
ระหว่างการรัฐประหารโค่นล้มชาเวซใน ค.ศ. 2002 ชมรมโบลิวาร์เหล่านี้ผนึกกำลังกับองค์กรรากหญ้าอื่นๆ พิสูจน์ให้เห็นอำนาจทวิลักษณ์ปฏิวัติของตนอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับที่เคยทำมาแล้วในเหตุการณ์คารากาโซ ครั้งแรกในวันที่ 11 เมษายน บนสะพานญากูโน บรรดาชาวิซตาและสมาชิกของชมรมโบลิวาร์ติดอาวุธสู้รบกับตำรวจนครบาลของฝ่ายต่อต้านชาเวซอย่างดุเดือด สามารถยันตำรวจไว้ได้หลายชั่วโมงเพื่อปกป้องมวลชนที่ไร้อาวุธ ต่อมาในวันที่ 13 เมษายน เมื่อชาวิซตาหลายล้านคนหลั่งไหลไปรุมล้อมทำเนียบมิราฟลอเรส ค่ายทหารติอูนาในคารากัส และค่ายทหารพลร่มในเมืองมาราไก พวกเขาเป็นกุญแจสำคัญที่ผลักดันให้กองทัพขับไล่รัฐบาลเฉพาะกาลที่ไร้ความชอบธรรมออกไป และอุ้มชาเวซคืนสู่อำนาจ
เหตุการณ์เหล่านี้เป็นชั่วขณะหัวเลี้ยวหัวต่อในประวัติศาสตร์ของอำนาจทวิลักษณ์ในเวเนซุเอลา สำแดงให้เห็นความสามารถของสามัญชนในการยึดอำนาจโดยตรงจากเบื้องล่างดังคำพูดของเลนิน แต่นี่ไม่ใช่ทั้งหมดที่พวกเขาแสดงออกมา ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์คารากาโซ 1989 กับการรัฐประหารที่ล้มเหลวของชาเวซในปี 1992 และระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2002 ที่มีการรัฐประหารล้มล้างชาเวซกับการลุกฮือของมวลชนในวันที่ 13 เมษายน ที่พาชาเวซคืนสู่ตำแหน่ง ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นวิภาษวิธีระหว่างบนกับล่างอันซับซ้อน ระหว่างชาเวซกับฐานประชาชน ซึ่งกลายเป็นลักษณะเฉพาะของประสบการณ์ในเวเนซุเอลา ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบกับสภาพการณ์อันแปลกประหลาด ซึ่งองค์กรประชาชนรากหญ้าที่ต่อต้านรัฐและต่อต้านสถาบันอย่างถึงรากถึงโคนที่สุด กลับยอมรับความสำคัญของชาเวซ ที่มีต่อกระบวนการสร้างอำนาจทวิลักษณ์
ประเด็นนี้อาจเห็นได้ชัดเจนที่สุดในขบวนการ Tupamaros กองกำลังอำนาจทวิลักษณ์ที่สำคัญที่สุดที่ยังมีบทบาทในเวเนซุเอลา ในแถลงการณ์ ค.ศ. 2003 ขบวนการ Tupamaros โจมตีนักการเมืองที่ฉ้อฉล ซึ่งต้องการ "สถาปนาสถาบันขึ้นมาใหม่ในประเทศนี้" เพื่อค้ำจุนโครงสร้างรัฐกระฎุมพีเดิมๆ เอาไว้ (17) สำหรับขบวนการ Tupamaros เส้นทางปฏิวัติต้องเป็นเส้นทางที่ต่อต้านสถาบันอย่างชัดเจน "รัฐและเครือข่ายของมัน ซึ่งเชื่อมร้อยเข้าด้วยกันตลอดหลายปีของการครองความเป็นใหญ่ ย่อมไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการปฏิรูป" เป้าหมายของพวกเขาจึงเป็น "การส่งเสริมอำนาจทวิลักษณ์ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่การมีส่วนร่วมของประชาชน เชื่อมโยง จัดตั้งและทวีจำนวนกลุ่มพลังทางสังคมที่เป็นอิสระ" เพื่อเป้าหมายนี้
พวกเขาเสนอให้มีสภาชุมชนที่ประกอบด้วยคนงานและเกษตรกร ซึ่งจะเป็นตัวแทนของ "อำนาจท้องถิ่นที่ใช้อำนาจผ่านสมัชชาประชาชนโดยปราศจากอิทธิพลของสถาบันหนึ่งใด อำนาจท้องถิ่นนี้ต้องสามารถวางแผน ชี้นำ และบริหารพลังสังคมเพื่อให้สามารถรื้อทำลายความงมงายในอำนาจธรรมนูญรัฐ" ตรงจุดนี้ เราได้เห็นขบวนการ Tupamaros เชื่อมโยงการสร้างอำนาจทวิลักษณ์เข้ากับสภาชุมชนโดยตรง และแยกแยะความแตกต่างชัดเจนระหว่างอำนาจปวงชนปฏิวัติกับอำนาจธรรมนูญรัฐ
วิสัยทัศน์แบบต่อต้านสถาบันเช่นนี้ โดยเน้นการควบคุมและใช้อำนาจปวงชนปฏิวัติเพื่อสร้างอำนาจทวิลักษณ์ทางเลือกที่เป็นไปได้ ไม่ได้กีดกันการมีส่วนร่วมของคนที่อยู่ภายในกลไกรัฐ สำหรับขบวนการ Tupamaros เส้นแบ่งนักปฏิวัติออกจากนักปฏิรูปตัดผ่านโครงสร้างรัฐด้วย กล่าวให้ชัดก็คือ สมัชชาแห่งชาติ (ค.ศ. 2003) ถูกมองเป็นนักปฏิรูปที่ดีแต่พูด เป็นหัวหอกของฝ่ายกระฎุมพีที่ต่อต้านการปฏิวัติ ส่วนชาเวซกลับอยู่ในฝ่ายพลังปฏิวัติ อันเป็นผลลัพธ์มาจาก "บทบาททางประวัติศาสตร์" ของเขา นั่นคือ "รัฐบุรุษที่อุทิศตัวเพื่อเสียงของประชาชน" แม้ถูกแวดล้อมด้วยพวกฉวยโอกาส แต่ Tupamaros ก็ยังให้เครดิตชาเวซที่ "ปลุกประชาชนที่ถูกทิ้งขว้างขึ้นมาจากความเฉื่อยเฉย ปลุกเร้าประชาชนให้กลายเป็นฝ่ายรุก". กล่าวคือ ชาเวซถูกมองว่าเป็นตัวกระตุ้นอำนาจปวงชนปฏิวัติให้ก้าวไปสู่การสร้างอำนาจทวิลักษณ์ เพื่อตอบโต้นักการเมืองชาวิซตาบางกลุ่ม ที่พยายามสลายพลังประชาชนและขัดขวางการปฏิวัติ ขบวนการ Tupamaros เคยเรียกร้องให้ประธานาธิบดีใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญยุบสมัชชาแห่งชาติด้วยซ้ำไป
ความพยายามที่ดูเหมือนขัดแย้งกันเอง (paradox) ในการสร้างอำนาจทวิลักษณ์ นั่นคือ การเป็นพันธมิตรกับบางส่วนของรัฐ มีอยู่ในยุทธศาสตร์ของ Tupamaros ด้วย. ใน ค.ศ. 2004 ปีกเลือกตั้งของขบวนการ Tupamaros สนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีสายชาวิซตา อเล็กซิส โตเลโด ในรัฐวาร์กัส เมื่อได้รับเลือกตั้ง โตเลโดแต่งตั้งผู้นำของ Tupamaros โฮเซ ปินโต เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งรัฐวาร์กัส แม้ว่าชาว Tupamaros บางคนแสดงความวิตกเกี่ยวกับการเข้าไปในวังวนการเมืองเลือกตั้ง แต่มีไม่น้อยที่คิดว่า การที่นักปฏิวัติต่อต้านรัฐได้เข้าไปดูแลกรมตำรวจ ย่อมไม่ใช่การก้าวถอยหลังในแง่ของการสร้างอำนาจทวิลักษณ์ในเวเนซุเอลาแน่
โรลันด์ เดนิส**** แสดงวิสัยทัศน์คล้าย
ๆ กันเกี่ยวกับอำนาจทวิลักษณ์ที่เกิดจากการแทรกแซงของปวงชนปฏิวัติ เดนิสบอกเราว่า
ขบวนการปฏิวัติในปัจจุบัน "ตอนนี้พุ่งความสนใจไปที่การบ่มเพาะและขยายอำนาจประชาชน
ด้วยการฟื้นอำนาจปวงชนปฏิวัติของประชาชนขึ้นมาอย่างถาวร. คำขวัญเก่าๆ อย่าง 'อำนาจทวิลักษณ์'
(กระฎุมพีกับชนชั้นแรงงาน) ซึ่งเป็นคำที่เหมาะสมที่จะใช้เรียกจุดสุดยอดของขบวนการปฏิวัติในวันนี้
กลายเป็นยุทธศาสตร์ถาวรที่สอดคล้องกับความจำเป็นในการจัดตั้งอำนาจทางสังคมที่ไม่ใช่รัฐ"
(18)
**** Roland Denis เป็นนักปฏิวัติแถวหน้าคนหนึ่งของเวเนซุเอลา
เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยในรัฐบาลชาเวซ ช่วง ค.ศ. 2002-2003 แต่ลาออกหลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง
10 เดือน เพื่อประท้วงต่อการที่ขบวนการรากหญ้า ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผน
เขาเสนอ "รัฐบาลของฝ่ายขัดขืน" เพื่อปฏิบัติภารกิจบริหารงานท้องถิ่น
อันที่จริง เดนิสอ้างว่า สภาชุมชนเป็นผลมาจากการประชุมอย่างต่อเนื่องกับองค์กรประชาชนระหว่างช่วงระยะเวลาสั้นมากๆ
ที่เขาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและพัฒนา หลังการรัฐประหาร ค.ศ. 2002
(19) สำหรับเดนิส ก็เช่นเดียวกับขบวนการ Tupamaros สภาชุมชนคือหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์อำนาจทวิลักษณ์ที่ตั้งอยู่บนอำนาจปวงชนปฏิวัติ
และหลักฐานที่ดีที่สุดในการประยุกต์ใช้มโนทัศน์อำนาจทวิลักษณ์กับบริบทของเวเนซุเอลา
อาจอยู่ตรงข้อเท็จจริงว่า ผู้สนับสนุน "อำนาจที่ไม่ใช่รัฐ" คนนี้ (หมายถึงเดนิส)
ก็คือผู้นำองค์กรที่เรียกกันว่า "ขบวนการ 13 เมษายน" ซึ่งตั้งขึ้นตามวันที่ที่มวลชนเวเนซุเอลาสำแดงอำนาจทวิลักษณ์ที่แท้จริงของตน
ปลุกอำนาจปวงชนปฏิวัติขึ้นมาเพื่ออุ้มชาเวซคืนสู่ตำแหน่ง ภายในโครงสร้างของอำนาจธรรมนูญรัฐ
เมื่อพยายามอธิบายบทบาทอันแปลกประหลาดของชาเวซ ในการสร้างอำนาจทวิลักษณ์ในเวเนซุเอลา อดีตรองประธานาธิบดีโฮเซ วิเซนเต รางเคล พูดตรงๆ ว่า "ชาเวซคือการต่อต้านอำนาจ ชาเวซคือคนที่ผลักดันสิ่งต่างๆ ทั้งภายในอำนาจและภายนอกอำนาจ ทำไม? ก็เพราะชาเวซคือคนที่ดึงอำนาจออกจากบริบท (decontextualize) ทำลายความเร้นลับ (demystify) ของอำนาจ นำอำนาจมาใกล้ชิดกับประชาชน และสามารถเชื่อมโยงอำนาจเข้ากับพลเมืองสามัญชนทั่วไปได้" (20)
รางเคลยังเอ่ยถึงบทบาทนี้ว่าเป็น "อำนาจทวนกระแส (counterpower).... ซึ่งดำเนินการอยู่ภายนอกอำนาจธรรมนูญรัฐ" และต่อต้านโครงสร้างสถาบันเดิม (21) แน่นอน นี่ยังไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ทั้งนี้เพราะชาเวซไม่ใช่ทั้งการต่อต้านอำนาจหรืออำนาจทวนกระแส ขบวนการปฏิวัติรากหญ้าและสภาชุมชนที่เพิ่งเกิดใหม่ต่างหากที่สมควรได้รับขนานนามเช่นนั้น แต่ตรงกันข้ามกับผู้วิจารณ์ชาเวซส่วนใหญ่ เราต้องยอมรับว่า ผู้นำเวเนซุเอลาคนนี้มีคุณูปการไม่น้อยต่อการต่อต้านอำนาจหรืออำนาจทวนกระแส กล่าวสั้นๆ คือ มีคุณูปการต่อการสร้างอำนาจทวิลักษณ์ ด้วยบทบาทที่สำคัญและเด็ดขาด
อำนาจทวิลักษณ์กับรัฐ
ในวิวาทะเกี่ยวกับการปฏิวัติเวเนซุเอลาส่วนใหญ่ สองฝ่ายต่างก็มีความคิดคับแคบและมีทัศนะต่อรัฐง่ายเกินไปว่า
รัฐเป็นแค่หน่วยที่เป็นเนื้อเดียวกันหมด การวิวาทะที่เกิดขึ้นจึงไร้ประโยชน์
วนเวียนอยู่แค่: เราต้องเปลี่ยนแปลงโลกโดยไม่ยึดอำนาจ หรือต้องยึดอำนาจเท่านั้นเราจึงจะเปลี่ยนแปลงโลกได้?
(22) หากเราพินิจดูการสร้างอำนาจทวิลักษณ์ในเวเนซุเอลาแล้วไซร้ เราก็สามารถหลีกเลี่ยงวิวาทะไร้เดียงสาแบบนั้นได้
โดยหันไปสนใจคำถามที่สร้างสรรค์มากกว่า นั่นคือ การแยกแยะระหว่างกลุ่มพลังที่ดำเนินการภายในและมุ่งค้ำจุนโครงสร้างรัฐแบบเดิมๆ
ต่อไป กับกลุ่มพลังที่ดำเนินการภายในและต่อต้านโครงสร้างเดิม ๆ เพื่อมุ่งสู่การรื้อทำลายรัฐ
สภาพการณ์ของอำนาจทวิลักษณ์ในตัวมันเอง ย่อมมีแต่ความเปราะบางและเต็มไปด้วยภัยคุกคาม ยิ่งบางส่วนในกลไกรัฐมีบทบาทบ่มเพาะการสร้างอำนาจทวิลักษณ์ในเวเนซุเอลาด้วย ภัยคุกคามเหล่านี้จึงยิ่งซับซ้อนและมองเห็นได้ยาก สิ่งที่ชัดเจนก็คือ ภัยคุกคามที่พื้นฐานที่สุดคือ กรณีที่สภาชุมชนไม่สามารถเป็นอิสระจากรัฐ นี่ยิ่งเป็นเรื่องยาก เนื่องจากพวกเขาต้องพึ่งพิงรายได้จากน้ำมัน ดังนั้น กระบวนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เป็นของท้องถิ่นเองในระยะยาวและการเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนน้ำมัน จึงมีความสำคัญที่สุดในการสร้างความเข้มแข็งให้อำนาจชุมชน แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเวเนซุเอลาไม่มีทางเกิดขึ้นในระยะสั้นข้างหน้า สิ่งที่เป็นไปได้มากกว่าคือ ขบวนการปฏิวัติเวเนซุเอลาจะต้องเดินหน้าปฏิบัติการอย่างที่ทำมาแล้วหลายทศวรรษ ในเชิงยุทธศาสตร์คือการบุกเข้าไปในจุดที่ศัตรูล่าถอย ค่อยๆ สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่สภาชุมชนในฐานะอำนาจทวิลักษณ์ที่เป็นคู่ต่อกรกับโครงสร้างรัฐเดิม และอาจเปลี่ยนแปลงรัฐได้อย่างถึงรากถึงโคน
เกี่ยวกับผู้เขียน: George Ciccariello-Maher เป็นนักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาทฤษฎีการเมืองของมหาวิทยาลัย UC Berkeley เขากำลังเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ revolutionary subjectivity ในแนวคิดของ Sorel, Negri และ Fanon ผลงานของเขามีตีพิมพ์ใน Journal of Black Studies, Qui Parle, Radical Philosophy Review, The Commoner, Human Architecture และ Listening เขาอาศัยอยู่ในกรุงคารากัสและเขียนให้เว็บไซท์ Counterpunch และ MRzine
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
1. การอ้างอิงในจุดนี้และต่อจากนี้คัดมาจาก V. I. Lenin, "The Dual Power," Pravda, n. 28 (April 9, 1917), http://www.marx.org.
2. แน่นอน เลนินกล่าวถึงลักษณะทางชนชั้นของสภาโซเวียตด้วย แต่นี่ไม่ใช่บรรทัดฐานของอำนาจทวิลักษณ์โดยตัวมันเอง มันเพียงแต่อธิบายถึงความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์ที่สภาโซเวียตมีต่อรัฐบาลเฉพาะกาลกระฎุมพี ข้อตั้ง (premise) พื้นฐานในข้อถกเถียงของผู้เขียนก็คือ อำนาจทวิลักษณ์สามารถสถาปนาขึ้นในเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ และไม่จำเป็นต้องเป็นเงื่อนไขทางชนชั้นเสมอไป (แม้ว่าเงื่อนไขทางชนชั้นไม่เคยหายไปไหน และมักช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใดบางภาคส่วนของสังคมจึงต่อต้านรัฐ) สำหรับการอภิปรายที่แหลมคมเกี่ยวกับอำนาจทวิลักษณ์ของซาปาติสตา ซึ่งแปรมโนทัศน์นี้ให้กลายเป็นรูปธรรมของเขตเทศบาลปกครองตนเอง โปรดดู Christopher Day, "Dual Power in the Selva Lacandon," in R. San Filippo, ed., A New World in Our Hearts (Oakland: AK Press, 2003), 17-31.
3. Republica Bolivariana de Venezuela, Asamblea Nacional, "Ley de los Consejos Comunales"
(April 7, 2006).4. "Consejos comunales han sido una experiencia exitosa," Ultimas Noticias (April 7, 2007).
5. El Nacional, January 12, 2007.
6. Antonio Negri, Insurgencies, trans. M. Boscagli (Minneapolis: University of Minnesota Press, 1999), 268-292. ในจุดนี้ เลนินถือเป็นจุดสูงสุดในการคิดเกี่ยวกับอำนาจปวงชนปฏิวัติในจารีตตะวันตก โปรดดูประกอบ Understanding the Venezuelan Revolution, trans. C. Boudin (New York: Monthly Review, 2005), 41. ชาเวซเล่าว่า อ่านงานเขียนของเนกรีระหว่างติดคุก หลังจากรัฐประหารล้มเหลวใน ค.ศ. 1992
7. แม้ว่าคำเหล่านี้จะได้มาจากปรัชญาของเนกรีก็ตาม แต่ต่อจากนี้ ผู้เขียนจะให้ความสนใจว่า มโนทัศน์ของอำนาจปวงชนปฏิวัติถูกใช้อย่างไรในเวเนซุเอลา มากกว่าความหมายที่เนกรีใช้ อันที่จริง เมื่อพิจารณาประกอบบริบทแล้ว กล่าวได้ว่า ความเข้าใจต่ออำนาจปวงชนปฏิวัติแบบเวเนซุเอลาน่าจะใกล้เคียงกับแนวคิด potentia ที่ขัดแย้งกับ potestas ของ Enrique Dussel ซึ่งคัดค้านการขยายความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างคำสองคำนี้จนเกินจริง แต่หันมาเน้นย้ำความจำเป็นในการหาทางลดทำลายความแปลกแยกของโครงสร้างสถาบันและตัวแทน โปรดดู 20 tesis de la politica (Mexico City: Siglo XXI, 2006), forthcoming in English as 20 Theses on Politics, trans. G. Ciccariello-Maher.
8. Asociacion Bolivariana de Noticias, "Ejecutivo asignara mas de Bs. 590 millardos para consejos comunales" (February 15, 2007).
9. สำหรับ Dussel ผู้รับมอบอำนาจที่ถอดถอนได้คือกุญแจที่นำไปสู่ความถึงรากถึงโคนของการปฏิวัติเวเนซุเอลา โปรดดูมาตรา 6, 70 และ 72 ของรัฐธรรมนูญโบลิวาร์ รวมทั้ง Dussel, 20 tesis, 147-49. ปลายปีนี้ ข้าราชการที่มาจากการเลือกตั้ง 208 คน ตั้งแต่ผู้ว่าการรัฐไปจนถึงนายกเทศมนตรี สามารถถูกถอดถอนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของฝ่ายตรงข้ามในการรวบรวมรายชื่อตามจำนวนที่กำหนดไว้
10. "No mas de 6 millones para altos funcionarios," Panorama Digital (January 12, 2007).
11. Ultimas Noticias (April 17, 2007).
12. Hugo Chavez Frias, jAlo Presidente! no. 216 (March 20, 2005).
13. ในแง่นี้ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของ Christopher Day ในการอภิปรายถึงอำนาจทวิลักษณ์ของซาปาติสตาในงานเขียนของเขา ("Dual Power in the Selva Lacandon") แม้ว่าเดย์สมควรได้รับคำชมเชยที่เน้นย้ำให้เห็นความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในประเด็นด้านยุทธศาสตร์การทหาร แต่ดูเหมือนเขายอมรับการผูกขาดการใช้ความรุนแรงง่ายไปหน่อย
14. Asociacion Bolivariana de Noticias, "Consejos comunales se incorporaran a comites de Seguridad y Defensa" (February 28, 2007).
15. Interview on Jose Vicente Hoy (March 4, 2007).
16. สำหรับข้ออ้างเหตุผลคล้ายๆ กัน แต่ไม่ยืนยันเท่าของผู้เขียน โปรดดู Steve Ellner, "Las estrategias 'desde arriba' y 'desde abajo' del movimiento de Hugo Chavez," Cuadernos del CENDES 23, no. 62 (May-August 2006), 73-93.
17. คำคัดอ้างนี้และต่อไปคัดมาจาก Movimiento Revolucionario Tupamaro, "Manifiesto del Movimiento Revolucionario Tupamaro al Pueblo en General," July 19, 2003.
18. Roland Denis, "Revolucion vs. Gobierno (III): De la Izquierda Social a la Izquierda Politica," Proyecto Nuestramerica-Movimiento 13 de Abril (August 11, 2006).
19. Monica Bergos, "Es necesario ir mas alla de la vigente Constitucion bolivariana," Periodico Diagonal 42 (November 23-December 4, 2007). เดนิสอ้างว่า การที่เขาหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นผลมาจากปฏิกิริยาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีอิทธิพลในรัฐเวเนซุเอลา และขบวนการชาวิซตา
20. Eleazar Diaz Rangel, "Jose Vicente Rangel: 'Chavaz es el antipoder,'" Ultimas Noticias (February 11, 2007), 40-41.
21. Jose Vicente Rangel, "Contrapoder," Ultimas Noticias (April 16, 2007), 26.
22. ตัวอย่างของ "วิวาทะว่าด้วยอำนาจ" ในระยะหลัง เช่น ในหมู่นักคิดอย่าง John Holloway, Hilary Wainwright, Tariq Ali และ Phil Hearse, http://marxsite.com.
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88