บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Peace
Conference
Midnight
University
บทบาทของสยามประเทศ กับการประชุมสันติภาพโลก
ลืมเรื่องเก่าก็เผาเมือง: ๑๐๘ ปีการทูตไทยกับสันติภาพโลก
(ตอน ๒)
ฉลอง
สุนทราวาณิชย์ : เขียน
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความต่อไปนี้ กองบรรณาธิการ
ม.เที่ยงคืนขอรับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของนักการทูตไทยที่มีต่อการประชุมสันติภาพโลก
ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ.๑๘๙๙ หรือเมื่อ ๑๐๘ มาแล้ว
ในคราวนั้น นักการทูตไทยได้แถลงยืนยันให้มีการใช้วิธีการทางการทูตเพื่อระงับข้อพิพาท
และเห็นด้วยให้การใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในกรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศ
งานวิชาการนี้ พิมพ์ครั้งแรกใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๒ (๒๕๔๒)
หน้า ๑-๓๖ เดิมชื่อ: ไทยกับการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก ค.ศ. ๑๘๙๙
แปลและแก้ไขเพิ่มเติมจาก "Siam and the First Hague Peace Conference of
1899:
A Preliminary Note" ซึ่งนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการ The International Conference
to Commemorate the Centenary of King Chulalongkorn of Siam's First Visit
to Europe in 1897 จัดโดยโครงการยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระหว่างวันที่ ๖-๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๒๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๐ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทบาทของสยามประเทศ กับการประชุมสันติภาพโลก
ลืมเรื่องเก่าก็เผาเมือง:
๑๐๘ ปีการทูตไทยกับสันติภาพโลก (ตอน ๒)
ฉลอง
สุนทราวาณิชย์ : เขียน
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.
แม้ว่าจะยังไม่พบเอกสารทางราชการโดยตรงที่เกี่ยวข้องในหอจดหมายเหตุแห่งชาติของไทย
แต่ก็น่าจะกล่าวได้ว่า ในฐานะที่เป็นรัฐเอกราชตามกฎหมายระหว่างประเทศ และมีผู้แทนทางการทูตประจำอยู่ที่ราชสำนักรัสเซีย
รัฐบาลไทยได้รับบันทึกเวียนฉบับแรกของรัฐบาลรัสเซียพร้อมๆ กับรัฐบาลของมหาอำนาจอื่นๆ
อย่างไรก็ดี บรรยากาศความตื่นเต้นและความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วไปในยุโรป
ที่เป็นผลมาจากบันทึกเวียนฉบับนี้ ได้รับการบันทึกอยู่ในรายงานทางการทูตของผู้แทนทางการทูตของไทย
(26) โดยเหตุที่บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศในตอนปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ใช้เวลาเดินทางจากยุโรปมายังประเทศไทยประมาณ
4-5 สัปดาห์ บันทึกเวียนฉบับแรกของรัฐบาลรัสเซียที่เป็นสำเนาฉบับทางราชการ จึงมาถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่กรุงเทพฯ
ในตอนต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1898
ในวันที่ 10 ตุลาคม ภายหลังจากที่ทรงได้รับพระราชกระแสรับสั่งจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหลวงเทวะวงศวโรปการ เสนาบดีต่างประเทศ ก็ได้มีลายพระหัตถ์ตอบรับบันทึกเวียนฉบับดังกล่าวไปยังนาย เอ อี โอลารอฟสกี อัครราชทูตรัสเซียที่กรุงเทพฯ ในลายพระหัตถ์ดังกล่าว รัฐบาลไทยเห็นด้วยกับทั้งพระราชดำริของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในประเด็นสันติภาพถาวร และข้อเสนอจัดการประชุมนานาชาติเพื่อพิจารณาปัญหาเรื่องสันติภาพ ลายพระหัตถ์ดังกล่าว ซึ่งแสดงความชื่นชมในข้อเสนอของรัฐบาลรัสเซียและตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุมที่จะจัดขึ้น จึงเต็มไปด้วยข้อความเชิงอุดมคติแบบเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในบันทึกเวียนฉบับแรก ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงคาดหวังได้จากหนังสือติดต่อทางการทูต ความตอนหนึ่งของลายพระหัตถ์มีว่า
"พระราชดำริห์อันประกอบไปด้วยความกรุณาต่อมนุษแลความอารีกว้างขวางของสมเด็จพระเจ้าเอมเปอเรอนั้น จะเปนอย่างอื่นอย่างไรไปไม่ได้นอกจากเปนที่เหนชอบโดยเหนดีอย่างยิ่งทั่วหน้ากันหมด มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของข้าพเจ้าเปนต้น บรรดาซึ่งเปนผู้มีน้ำใจเหนแก่ความศุขแลความเจริญของมนุษชนนั้น แลแต่เพียงสิ่งเดียวเท่านี้ ก็จะส่องรัศมีพระนาม ของสมเด็จพระเจ้านิคอลาศที่ 2 เอมเปรอแห่งกรุงรุสเซียอยู่เปนนิรันดรสืบไป
"รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามก็จะมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่จะเข้าช่วยในการประชุม ที่สมเด็จพระเจ้าเอมเปรอทรงนัศชุมนุมอันเปนสิ่งที่สูงสุดถึงเพียงนี้ แลรัฐบาลสยามมีความประสงค์อย่างแรงที่สุด เพื่อให้การที่จะคิดปฤกษากันอันประเสริฐยิ่งนี้ สำเรจตลอดไปด้วย"แม้ว่าประเทศน้อย อย่างเช่นกรุงสยามนี้จะมิได้มีเหตุต้องทนยากด้วยใช้ทุนมากเฉพาะประเทศเองในการที่สะสมทหารเครื่องสาตราวุธ ประมูลขึ้นทุกทีแล้วก็ดี แต่กระนั้นก็ยังจะเหนจริงอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากความเหนซึ่งท่านเคานต์มูราเวียฟได้กล่าวไว้ว่า ถ้าการที่เปนอยู่เช่นในประจุบันนี้ จะคงเปนอยู่อิกต่อไปแล้ว ก็เปนการที่จะชักนำไปโดยหลีกหนีอย่างใดไม่ได้ ให้ถึงความมหาภัยพินาศ ซึ่งเปนที่พึงปรารถนาจะป้องกันไม่ให้เปนขึ้น ผลของมหาภัยพินาศอันนั้น ก็จะแผ่ไพศาลไปทั่วประเทศใหญ่น้อยทั้งสิ้น อิกประการหนึ่ง ประเทศใดเล่าที่จะมามีความชื่นชมยินดียิ่งกว่าประเทศน้อยอันมีกำลังน้อย ในความหมายที่สุดแห่งการประชุมปฤกษาการอันนี้ ที่กล่าวไว้ในคำที่สุดของหนังสือประกาศแจ้งความนั้นว่า เปนการที่จะประดิษฐานไว้ให้เปนที่นับถืออย่างศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งข้อสำคัญแห่งธรรมแลยุกติ อันเปนที่อาไศรย์ของความถาวรมั่นคงแห่งบ้านเมือง แลความเจริญศุขของประชาชนทั้งปวง" (27)
แม้ว่าจะมีนักการทูตอาวุโสของไทยบางคน ที่แสดงความไม่แน่ใจว่าข้อเสนอของรัฐบาลรัสเซียดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ (28) แต่คำตอบรับอย่างกระตือรือร้นของรัฐบาลไทยข้างต้นก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ไม่เพียงเพราะนี่เป็นมรรยาททางการทูตอย่างหนึ่งที่พึงปฏิบัติ แต่ยังเป็นผลเนื่องมาจากนโยบายของไทยในขณะนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจตะวันตกด้วย อย่างน้อยที่สุด ตั้งแต่ "วิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112" ใน ค.ศ. 1893 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยมีความหวังว่าทั้งสัมพันธภาพส่วนพระองค์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมยิ่ง ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่ดำรงมาตั้งแต่ครั้งที่พระเจ้าซาร์ เมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ใน ค.ศ. 1891 และข้อเท็จจริงที่ว่า รัสเซียและฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ใกล้ชิดต่อกัน จะเป็นพลังเชิงสร้างสรรค์ต่อความสัมพันธ์ที่เลวร้ายระหว่างไทยและฝรั่งเศส
จริงอยู่ที่ว่าความคาดหวังของฝ่ายไทยจากรัสเซียในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่ควร แต่กระนั้น ความคาดหวังดังกล่าวกลับพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงระหว่างและภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชสำนักรัสเซียในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1897 เมื่อพระองค์ทรงได้รับการถวายการต้อนรับอย่างอบอุ่นยิ่งในฐานะพระสหายสนิทจากพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ดุจดังพระเชษฐาร่วมอุทร อีกทั้งรัฐบาลรัสเซียก็ได้จัดการถวายการต้อนรับสมพระเกียรติยศเยี่ยงพระมหากษัตริย์ของชาติที่เป็นเอกราช
ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนรัสเซียในครั้งนั้น พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ไม่เพียงทรงแสดงความเห็นพระทัยต่อไทย ในปัญหาความสัมพันธ์อันเลวร้ายที่มีอยู่กับฝรั่งเศส แต่ยังทรงถวายคำสัญญาด้วยว่า รัสเซียพร้อมที่จะทำทุกอย่าง ทั้งในฐานะของมิตรประเทศที่ดียิ่งของไทยและพันธมิตรทางการเมืองของฝรั่งเศส เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งสองให้ดีขึ้น นอกจากนั้น พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ยังได้ทรงเสนอที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไทย และแต่งตั้งผู้แทนทางการทูตมาประจำราชสำนักไทยที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้เพื่อคอยติดตามรายงานความคืบหน้า หรือข้อกีดขวางความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสกลับไปยังพระองค์เป็นการเฉพาะโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับข้อข้ดแย้งที่เกิดขึ้นในการเจรจาทางการเมืองระหว่างรัฐบาลทั้งสอง ในท้ายที่สุด เพื่อตอกย้ำความปรารถนาดีและความจริงใจของฝ่ายรัสเซีย พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ทรงกราบบังคมทูลเสนอให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งพระราชโอรสองค์ใดองค์หนึ่งมาศึกษาที่รัสเซียโดยทรงขอรับเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบทั้งหมด (29)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับข้อเสนอต่างๆ ของฝ่ายรัสเซีย และพระยาสุริยานุวัตร อัครราชทูตไทยที่กรุงปารีส ผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาทางการเมืองระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอัครราชทูตประจำราชสำนักรัสเซียอีกตำแหน่งหนึ่ง ปีต่อมา รัฐบาลทั้งสองก็ได้มีการลงนามแลกเปลี่ยนปฏิญญาทางไมตรี (Declaration of Friendship) ต่อกันอย่างเป็นทางการ แต่จุดเด่นที่สุดของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียในช่วงนี้ก็คือ การตัดสินพระทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ส่งเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ พระราชโอรสที่ทรงโปรดปรานที่สุดพระองค์หนึ่ง ไปทรงศึกษาที่ประเทศรัสเซีย (30)
ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1897 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสยิ่งทียิ่งเลวร้ายลงตามลำดับ อันเป็นผลเนื่องมาจากเหตุการณ์การปะทะและข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณชายเขตแดนที่ติดต่อกับอาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีน การอ้างสิทธิและข้อเรียกร้องอันไม่รู้จักจบสิ้นของฝ่ายฝรั่งเศส และข้อขัดแย้งในการตีความมาตราบางมาตรา ที่ปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาและอนุสัญญาที่ลงนามร่วมกันก่อนหน้านั้น เป็นต้น
ในช่วงเตรียมแผนการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กรุงปารีส นครหลวงของฝรั่งเศส ถูกกำหนดให้เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการ ด้วยทรงหวังว่าการเสด็จพระราชดำเนินจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองดีขึ้น จนกลับเข้าอยู่ในสภาวะที่เป็นปกติ ตราบจนกระทั่งวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึงยุโรป เพื่อทรงเริ่มต้นหมายกำหนดการเสด็จประพาส รัฐบาลไทยได้พยายามทุกวิถีทาง ทั้งด้วยการเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสโดยตรง และเจรจาทาบทามผ่านช่องทางทางการทูตอื่นๆ เพื่อขอคำยืนยันตอบรับจากรัฐบาลฝรั่งเศสเกี่ยวกับหมายกำหนดการเสด็จประพาสฝรั่งเศส และรวมทั้งพิธีการทางการทูตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ความพยายามทั้งหลายของฝ่ายไทยกลับต้องประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และหมายกำหนดการเสด็จประพาสที่เตรียมไว้อย่างลงตัวแล้วนั้น ต้องถูกนำมาปรับแก้ไขใหม่. ความสัมพันธ์ส่วนพระองค์อันดียิ่งระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทำให้ฝ่ายไทยตัดสินใจเลือกรัสเซียเป็นประเทศแรกในหมายกำหนดการเสด็จประพาส "อย่างเป็นทางการ" ทั้งยังเป็นที่คาดหวังของฝ่ายไทยด้วยว่า การถวายการต้อนรับอย่างอบอุ่นและสมพระเกียรติที่พึงหวังได้จากราชสำนักรัสเซีย จะนำไปสู่การจัดการถวายการต้อนรับที่อบอุ่นสมพระเกียรติเท่าเทียมกันในประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เห็นจะเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ด้วยการที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงตัดสินพระทัยเข้าแทรกแซงเจรจากับฝ่ายฝรั่งเศสเป็นการส่วนพระองค์ รัฐบาลฝรั่งเศสในท้ายที่สุดก็ยินยอมตอบรับการเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินจากเบลเยี่ยมถึงกรุงปารีสในตอนต้นเดือนกันยายน ก็ทรงได้รับการถวายการต้อนรับอย่างดียิ่งกว่าที่เคยเป็นที่คาดหวังเอาไว้ นำไปสู่การตัดสินพระทัยเสด็จประพาสกรุงปารีสเป็นครั้งที่สองในตอนต้นเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นการส่วนพระองค์
ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในความคิดของบรรดาที่ปรึกษาทั้งหลายของพระองค์ อย่างน้อยที่สุดรัสเซียก็ยังเป็นมิตรที่ไว้วางใจและพึ่งพาอาศัยได้ ทั้งยังมีอิทธิพลต่อฝรั่งเศสดังที่ปรากฏให้เห็นในการจัดถวายการต้อนรับ ระหว่างการเสด็จประพาสอย่างเป็นทางการครั้งแรก และการที่ฝ่ายฝรั่งเศสตอบรับเห็นพ้องกับการตีความข้อความในสัญญาของฝ่ายไทย ในประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่เคยขัดแย้งไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงมาก่อน (31) ดังนั้น การรักษาสัมพันธไมตรีที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย และให้การสนับสนุนรัสเซียในประเด็นต่างๆ ที่ไม่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของไทยเองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม หรือกระทบต่อสถานะทางการเมืองระหว่างประเทศที่ล่อแหลมบอบบางของไทย จึงเป็นนโยบายที่รัฐบาลไทยต้องยึดถือ และตราบจนกระทั่งสิ้นคริสตศตวรรษที่ 19 รัฐบาลไทยก็ได้ยึดมั่นในนโยบายดังกล่าวอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอด
โดยเหตุที่รัฐบาลรัสเซียเป็นผู้เสนอให้จัดการประชุมสันติภาพขึ้น ทั้งบันทึกเวียนฉบับแรกก็ไม่ได้ระบุสถานที่จัดประชุมไว้แต่อย่างไร รัฐบาลไทยจึงเข้าใจเอาเองมาโดยตลอดว่า การประชุมครั้งนี้คงจัดขึ้นที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก นครหลวงของรัสเซีย และเมื่อเป็นเช่นนั้น โดยหลักการความเหมาะสม พระยาสุริยานุวัตร อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักรัสเซีย ก็น่าที่จะต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม (32) อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่รัฐบาลรัสเซียได้นำส่งบันทึกเวียนฉบับที่ 2 และกรุงเฮกถูกกำหนดให้เป็นสถานที่จัดประชุมแล้ว ก็เกิดปัญหาความสับสนเกี่ยวกับผู้ที่สมควรเป็นผู้แทนของรัฐบาลไทยในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้
หนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมอย่างเป็นทางการนั้น รัฐบาลเนเทอร์แลนด์ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นผู้ลงนาม และนำส่งให้แก่ผู้แทนทางการทูตทั้งหลายที่ประจำอยู่ที่กรุงเฮก ซึ่งในกรณีของไทย ผู้แทนทางการทูตที่กรุงเฮกคือพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ผู้มีตำแหน่งเป็นอัครราชทูตไทยที่กรุงลอนดอนด้วย ดังนั้น พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์จึงมีความสมเหตุสมผลที่จะเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในที่ประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกมากกว่า (33) กระนั้นก็ดี ในท้ายที่สุดเมื่อการประชุมเริ่มขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1899 คณะผู้แทนไทยที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทน 4 นาย และผู้ช่วย (attache) 2 นาย ได้แก่ พระยาสุริยานุวัตร เป็นผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มคนที่หนึ่ง (First delegate, plenipotentiary) พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เป็นผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มคนที่สอง (Second delegate, plenipotentiary) นายชาร์ลส์ คอร์ราจิโอนี ดอเรลลี (Ch. Corragioni d'Orelli) ที่ปรึกษาประจำสถานทูตไทยที่กรุงปารีส เป็นผู้แทนคนที่สาม (Third delegate) นายเอดวร์ด โรแลง (Edouard Rolin) กงสุลใหญ่ของไทยที่เบลเยี่ยม เป็นผู้แทนคนที่สี่ (Fourth delegate) และนาย เจ เอ เอน ปาไตจ์น (J.A.N. Patijn) กับพระยาชัยสุรินทร์ เป็นผู้ช่วยประจำคณะผู้แทนไทย (Attache of the delegation) (34)
การประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก
นับเป็นการประชุมนานาชาติระดับรัฐบาล "ครั้งแรก" ที่จัดขึ้นเพื่ออภิปรายถกเถียงปัญหาว่าด้วยระเบียบทางการเมืองของโลกอย่างแท้จริง
ที่รัฐบาลไทยได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมและได้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ
เป็นที่เห็นได้ชัดจากการแต่งตั้งคณะผู้แทนไทยว่า รัฐบาลไทยยังขาดประสบการณ์ของการเข้าร่วมการประชุมนานาชาติในระดับนี้
เพราะองค์ประกอบของคณะผู้แทนไทยไม่เพียงไม่สอดคล้องกับจารีตแบบอย่างธรรมเนียมทางการทูตที่ถือปฏิบัติเป็นสากลเท่านั้น
แต่ยังล่อแหลมต่อชื่อเสียงเกียรติยศของชาติอีกด้วย การแต่งตั้งพระยาสุริยานุวัตรและพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์เป็นผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มคนที่หนึ่งและคนที่สองตามลำดับนั้น
มีความเหมาะสม แต่ดังที่พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ได้ชี้ให้เห็นในหนังสือกราบทูลกรมหลวงเทวะวงศวโรปการว่า
การที่คณะผู้แทนไทยประกอบด้วยผู้แทน (Delegate) ถึง 4 นายนั้น ทำให้คณะผู้แทนไทยเป็นคณะผู้แทนที่ใหญ่กว่าคณะผู้แทนของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ
อีกหลายประเทศ (35) ในขณะที่รัสเซีย (ผู้แทน 8 นาย) เนเทอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา
ออสเตรีย-ฮังการี และฝรั่งเศส (มีผู้แทนประเทศละ 6 นาย) อังกฤษ สวีเดนและนอร์เวย์
โปรตุเกส ญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี (ประเทศละ 5 นาย) มีคณะผู้แทนที่ใหญ่กว่าไทยนั้น
คณะผู้แทนของตุรกี สเปน และเซอร์เบีย มีผู้แทน 4 นาย เท่ากับของไทย ส่วนคณะผู้แทนประเทศที่เหลือล้วนมีผู้แทนน้อยกว่าไทยทั้งสิ้น
เป็นต้นว่า จีนมีผู้แทนในที่ประชุมเพียง 3 นายและเปอร์เซียมี 2 นาย (36)
อย่างไรก็ดี ในทัศนะของพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ประเด็นที่เกี่ยวกับคณะผู้แทนไทยที่ล่อแหลมต่อชื่อเสียงเกียรติยศของไทยที่สุด
ดูจะเป็นการแต่งตั้งนายดอเรลลีและนายโรแลงเป็นผู้แทนคนที่สามและคนที่สี่ตามลำดับ
จริงอยู่ที่ว่าทั้งสองต่างก็เป็นข้าราชการทางการทูตของไทย ทั้งยังได้รับการยอมรับตลอดทั่วทั้งยุโรปว่า
เป็นนักกฎหมายชั้นนำและเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเปรียบเทียบ แต่ก็ไม่มีใครที่มีตำแหน่งเป็นอัครราชทูต
(Minister) หรือเทียบเท่า พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์เองมีความเห็นว่าตามจารีตธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูต
ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนรัฐบาลในการประชุมนานาชาติระดับนี้ ต้องมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอัครราชทูตหรือเทียบเท่า
ที่ร้ายยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองต่างก็เป็นพลเมืองในสังกัดต่างชาติ หาใช่พลเมืองไทยไม่
นายดอเรลลีเป็นชาวสวิส ในขณะที่นายโรแลงเป็นชาวเบลเยี่ยม ดังนั้นทั้งสองคนจึงไม่มีความเหมาะสมชอบธรรมใดๆ
ที่จะเป็นผู้แทนของไทยในการประชุมอภิปรายถกเถียง และลงมติเกี่ยวกับปัญหาคอขาดบาดตายต่อความอยู่รอดของชาติ
อย่างเช่น หลักปฏิบัติในการทำสงครามและเรื่องของสันติภาพ (37)
กล่าวได้ว่า เมื่อการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรกเริ่มขึ้น ท่าทีและนโยบายหลักของรัฐบาลไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือตอบรับบันทึกเวียนฉบับแรกมากนัก อย่างไรก็ดี มีประเด็นใหม่ที่สำคัญเพิ่มเติมเข้ามาปรากฏอยู่ใน "พระบรมราโชวาทพระราชทานผู้แทนกรุงสยาม ณ ที่ชุมนุมนานาประเทศที่เมืองเฮก" ลงวันที่ 30 เมษายน ร.ศ. 118 ซึ่งสมควรอัญเชิญข้อความเต็มมาไว้ ณ ที่นี้:
[สำเนา] พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ผู้แทนกรุงสยาม
ณ ที่ชุมนุมนานาประเทศที่เมืองเฮก
ผู้แทนกรุงสยาม ในที่ชุมนุม ณ เมืองเฮกนั้น จะต้องใช้ถ้อยคำที่จะพูดจา แลใช้ความวินิจฉัยให้เปนไปในทางซึ่งเปนเหตุที่ตั้งอันสมควรสามฃ้อ คือ
ฃ้อ 1. -ว่า การชุมนุมนั้น ได้ให้มีฃึ้นโดยพระมหากระษัตริย์พระองค์หนึ่ง ผู้ซึ่งเปนมหามิตรเฉพาะพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลเปนผู้ซึ่งทรงสำแดงฉันทวิริยจิตรสนิทสเนหาเปนอันมากต่อกรุงสยาม
ฃ้อ 2. -ว่า กรุงสยาม ย่อมเหมือนกับประเทศทั้งหลาย ซึ่งไม่มีความประสงค์ที่จะชิงไชยในการศึก แลไม่ได้จัดการทหารใหญ่โตแฃงแรงนัก เปนประเทศซึ่งมีแต่ที่จะเสีย แลไม่มีที่จะได้อันใดในการสงคราม กรุงสยามเองจึงได้มีเหตุอันสมควรทุกอย่างที่ปรารถนาอยู่เพื่อจะให้การชุมนุมนี้ มีความสำเร็จบริบูรณ์ด้วย
เพราะเหตุที่กล่าวมาในสองฃ้อเบื้องต้นนี้ ผู้แทนทั้งหลายนี้ต้องรวังงดเว้นจากการที่จะเฃ้าด้วยกับการวินิจฉัยเด็จฃาดอันใดอันหนึ่ง ซึ่งจะพึงคิดเหนว่าเปนการที่บาดหมางน้ำใจฃองพระมหากษัตริย์กรุงรัสเซีย ฤาว่าเปนการบางอย่างที่จะทำลายความหมายของที่ชุมนุมนั้น
อีกประการหนึ่ง ถึงแม้ว่าไม่ได้มีที่หวังว่าจะเปนได้แล้ว การย่อมจะเกิดเปนฃึ้นได้ ตามการปฤกษาในที่ประชุมว่าด้วยเรื่องพิเศษบางเรื่องแล้ว มีฃ้อที่แยกที่แตกออกไป ซึ่งจะพึงเปนฃึ้นได้โดยอำนาจฃองการบ้านเมืองที่มีความคิดไม่เปนมิตรต่อกันอยู่เงียบๆ ในระหว่างประเทศใหญ่ๆ สองประเทศฤาหลายประเทศกว่านั้นก็ดี เมื่อการเปนเช่นนี้แล้ว ให้ผู้แทนทั้งหลายจำไว้ว่า ตนเปนผู้แทนประเทศหนึ่งซึ่งเปนกลางอย่างพิเศษ เปนประเทศที่ไม่สมควรจะแสดงความลำเอียงเฃ้าฃ้างใดฃ้างหนึ่ง ฤาจะวินิจฉัยการในท่ามกลางความกล่าวอ้างฃองประเทศที่มีกำลังใหญ่ในยุโรปทั้งหลายนั้น เพราะเหตุฉนี้ ผู้แทนทั้งหลายจะต้องกระทำการโดยรวังโดยอุบายอันแยบคาย ใช่แต่เฉพาะในการที่จะวินิจฉัยเด็จฃาดในการชุมนุมอย่างเดียว แต่ชั้นในถ้อยคำที่จะพูดจาสนทนา แลความประพฤติตนไว้ในที่ทั่วไปด้วย แล้วแลให้ช่วยอุดหนุนโดยมากที่สุดที่จะกระทำได้ในฃ้อความที่คิดฃึ้นในที่ชุมนุม เพื่อจะให้เปนการปรองดองกันก็ดี ฤาเพื่อที่จะให้ตกลงกันเปนกลางก็ได้ อันนี้ก็ย่อมเปนธรรมดาที่จะคิดทำการนี้ด้วยมีกำหนดใจไว้ว่า ถ้ากรุงสยามมีประโยชน์เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่จะตกลงกันบางเรื่อง มีเปนต้นว่า แบบวิธีกระบวนพิจารณาคดีโดยคนกลางอย่างหนึ่งนั้นแล้ว ผู้แทนทั้งหลายจะต้องพูดจาแลวินิจฉัยเด็จฃาดในการนั้น ให้ถูกต้องสมกับประโยชน์ฃองกรุงสยาม
ฃ้อ 3. -ว่า เพราะการย่อมเคยเปนฃึ้นเสมอในเมื่อความคิดอันอารีกว้างฃวางบางอย่างเกิดยื่นเฃ้ามา แลวิธีที่จะใช้ทำการนั้นได้ทดลองโดยทางที่ใช้ได้แล้ว ยังมีทางที่จะเหนเสียไปได้ ด้วยผู้ที่ไม่มีความรับผิดแลชอบอยู่นอกที่ประชุมยกย่องส่งเสิมโดยรู้จักประมาณ ฤาเปนการที่คิดใหญ่โตจนเกินการไป จึงเหนว่าการเช่นนี้อยู่ในความคิดอันแยบคายฃองผู้แทนทั้งหลาย ที่จะตั้งตนไว้ให้พ้นจากการที่จะคิดใหญ่โตเกินกว่าการไป แลจะต้องถือให้เคร่งครัดตามหมายกะการ 8 ฃ้อ ที่ชี้แจงไว้ในประกาศฉบับหลังฃองเคาน์ตมูราเวียฟ ฤาถือตามฃ้อความซึ่งที่ชุมนุมจะกำหนดห้ามไว้ในการปฤกษานั้นเองด้วย
ทรงเซนพระบรมนามาภิธัย
พระราชทานแต่วันที่ 30 เมษายน รัตนโกสินทรศก 118 (38)
ท่าทีของรัฐบาลไทยที่จะให้การสนับสนุนแผนการที่เป็นการริเริ่ม และทะเยอทะยานของฝ่ายรัสเซีย แต่โดยที่ต้องไม่กระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของตนเองนั้น ได้รับการตอกย้ำอีกครั้งอย่างที่พึงเห็นได้จากพระบรมราโชวาทข้างต้น ท่าทีดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการยึดมั่นใน "มิตรภาพและไมตรีจิต" ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และระหว่างไทยกับรัสเซีย และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ สอดคล้องต้องกันกับผลประโยชน์ของไทยด้วย
ตลอดการประชุมรวม 2 เดือนเศษนี้ คณะผู้แทนของไทยปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทอย่างเคร่งครัด ด้วยการสนับสนุนรัสเซียในเกือบทุกประเด็น ในการสนทนาหารือเป็นการส่วนตัวทันทีภายหลังจากที่การประชุมเริ่มขึ้นกับบารอน เดอ สตาล (Baron de Staal) หัวหน้าคณะผู้แทนของรัสเซียและประธานการประชุม พระยาสุริยานุวัตรได้แจ้งยืนยันกับหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายรัสเซียอีกครั้ง ถึงความเห็นชอบที่รัฐบาลไทยมีต่อวัตถุประสงค์โดยรวมของการประชุมครั้งนี้ อีกทั้งยังได้ให้คำมั่นสัญญาว่า คณะผู้แทนไทยจะออกเสียงสนับสนุนข้อเสนอของบารอน เดอ สตาล ทุกข้อที่สอดคล้องกับวาระเพื่อการพิจารณารวม 8 ประเด็นที่ปรากฏอยู่ในบันทึกเวียนฉบับที่ 2 และหากฝ่ายรัสเซียต้องการให้ไทยสนับสนุนในประเด็นอื่นๆ อีก ก็ให้แจ้งต่อคณะผู้แทนไทยได้ (39)
นอกไปจากนั้น พระยาสุริยานุวัตร ผู้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ยังได้จัดทำ "แนวถือปฏิบัติ" ขึ้นมาฉบับหนึ่งเพื่อให้คณะผู้แทนไทยใช้เป็นคู่มือในระหว่างการประชุม ประเด็นแรกสุดที่ปรากฏอยู่ใน "แนวถือปฏิบัติ" ที่ว่านี้ ก็คือ ให้ออกเสียงสนับสนุนข้อเสนอของฝ่ายรัสเซียทุกข้อที่พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของไทย หากมีข้อสงสัยไม่แน่ใจ ทางเลือกของคณะผู้แทนไทยคือ การออกเสียงคัดค้าน การงดออกเสียง หรือไม่ก็ให้สอบถามขอคำสั่งปฏิบัติจากกรุงเทพฯ ต่อไป (40)
ในหนังสือกราบทูลเสนาบดีต่างประเทศของไทย ในตอนต้นเดือนมิถุนายนฉบับหนึ่ง พระยาสุริยานุวัตรทูลรายงานอย่างภาคภูมิใจว่า เท่าที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทยได้ออกเสียงสนับสนุนในที่ประชุมให้แก่ข้อเสนอของฝ่ายรัสเซียทุกข้อ แม้แต่ในประเด็นที่ผู้แทนประเทศอื่นๆ คัดค้าน และมีแต่ไทยและรัสเซียเท่านั้นที่ลงคะแนนเสียงสนับสนุน (41) ในหนังสือกราบทูลอีกฉบับที่เขียนขึ้น 2-3 วันต่อมา พระยาสุริยานุวัตรได้รายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมของคณะกรรมาธิการชุดที่ 1 (The First Commission) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการว่าด้วยการจำกัดการสะสมกำลังอาวุธ ฯลฯ นั้น คณะผู้แทนไทยได้ออกเสียงสนับสนุนข้อเสนอของฝ่ายรัสเซียทุกข้อ แม้จะตระหนักดีตั้งแต่แรกแล้วว่าข้อเสนอต่างๆ เหล่านั้นไม่มีทางที่จะเป็นที่ยอมรับได้ของที่ประชุม (42)
ในตอนปลายปี ค.ศ. 1898 เมื่อรัฐบาลไทยตอบรับเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของฝ่ายรัสเซียที่ให้จัดการประชุมสันติภาพนานาชาติขึ้นนั้น รัฐบาลไทยมองไม่เห็นว่าสถานะของการเป็นประเทศเล็กๆ อย่างไทยนั้น จะสามารถมีบทบาทที่สร้างสรรค์ชัดเจนและเอื้อต่อการอภิปรายถกเถียงในที่ประชุมได้อย่างไร จริงอยู่ที่ว่า ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะทำให้ไทยคัดค้านไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าด้วยการปลดหรือเลิกการสะสมกำลังอาวุธ (Disarmaments) หรือแม้แต่การลดกำลังอาวุธ (Armaments reduction) แต่ข้อเสนอประเด็นดังกล่าวก็ดูเป็นอุดมคติเกินกว่าที่จะปฏิบัติได้ และมีแต่จะล้มเหลวไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์อย่างที่พึงปรารถนา อย่างไรก็ดี บันทึกเวียนฉบับที่ 2 ในตอนต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 1899 ที่สรุปวัตถุประสงค์ของการประชุมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และบรรจุประเด็นต่างๆ ที่เสนอเพื่อการพิจารณาเข้าเป็นวาระการประชุม น่าจะทำให้รัฐบาลไทยมองเห็นบทบาทของตนในที่ประชุมชัดเจนขึ้น รวมทั้งมีความคาดหวังต่อการประชุมมากขึ้น
บทบาทเชิงสร้างสรรค์ที่สำคัญของไทยในที่ประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก เกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ของการประชุมที่ปรากฏอยู่ในบันทึกเวียนฉบับที่ 2 ของรัสเซีย กล่าวคือ มุ่งที่จะนำการไกล่เกลี่ยประนีประนอมโดยคนกลางและกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยสมัครใจ มาเป็นวิธีการแสวงหาข้อยุติในกรณีพิพาทระหว่างประเทศ สำหรับไทยแล้ว กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นวิธีการที่มีความเป็นไปได้สูง และสอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ที่ไทยมีอยู่กับบรรดามหาอำนาจตะวันตก ด้วยเหตุดังนั้น ใน "พระบรมราโชวาทฯ" ฉบับลงวันที่ 30 เมษายน จึงระบุว่า "ถ้ากรุงสยามมีประโยชน์เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่จะตกลงกันบางเรื่อง มีเปนต้นว่า แบบวิธีกระบวนพิจารณาคดีโดยคนกลาง [Arbitration] อย่างหนึ่งนั้นแล้ว ผู้แทนทั้งหลายจะต้องพูดจาแลวินิจฉัยเด็จฃาดในการนั้นให้ถูกต้องสมกับประโยชน์ฃองกรุงสยาม" (43)
กล่าวได้ว่า กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นประเด็นเพื่อการพิจารณาในที่ประชุมเพียงประเด็นเดียวที่มีการเอ่ยอ้างถึงอยู่ใน "พระบรมราโชวาท" ว่าเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ข้อเท็จจริงที่ช่วยตอกย้ำให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่า การใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการเพื่อยุติปัญหาข้อพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นวัตถุประสงค์เดียวของการประชุมครั้งนี้ที่รัฐบาลไทยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง หาใช่ประเด็นที่ว่าด้วยการจำกัดการสะสมกำลังอาวุธ หรือแม้แต่การกำหนดวิธีปฏิบัติในการทำสงครามทางบกและทางทะเลที่มีมนุษยธรรมมากขึ้น ก็คือองค์ประกอบของคณะผู้แทนไทยในการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก ซึ่งไม่มี "ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคด้านการทหาร" (Technical military expert) แม้แต่คนเดียว ผู้แทนไทยทั้งสี่เป็นนักการทูตอาชีพหรือไม่ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสิ้น (44)
ท่าทีอันแน่วแน่ของรัฐบาลไทยในประเด็นกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เป็นสิ่งที่พึงคาดหวังได้ ในหนังสือสนธิสัญญาทางไมตรีทวิภาคีที่ไทยลงนามแลกเปลี่ยนกับชาติมหาอำนาจตะวันตกหลายประเทศตั้งแต่กลางคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เป็นต้นว่า สนธิสัญญากับสวีเดนและนอร์เวย์ ใน ค.ศ. 1868 กับเบลเยี่ยมในปีเดียวกัน และล่าสุดที่ลงนามแลกเปลี่ยนกันก่อนหน้าการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก คือกับญี่ปุ่น ใน ค.ศ. 1898 นั้น กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นมาตราหนึ่งของสนธิสัญญา ที่ระบุไว้เป็นทางเลือกของการแสวงหาข้อยุติในกรณีพิพาทระหว่างคู่สัญญา (45)
โดยส่วนตัวของพระยาสุริยานุวัตร หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เองนั้น โดยเหตุที่ผ่านประสบการณ์มานานทั้งในฐานะของอัครราชทูตไทยที่กรุงปารีส และทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้เจรจาฝ่ายไทยในความขัดแย้งทางการเมืองกับฝรั่งเศส ซึ่งมักประสบปัญหาที่การเจรจาต้องหยุดชะงักไม่มีความคืบหน้า จึงน่าจะเป็นบุคคลหนึ่งที่สนับสนุนให้มีการนำกระบวนการอนุญาโตตุลาการ มาบังคับใช้อย่างกว้างขวางมากยิ่งกว่าการใช้วิธีการอื่นๆ ในการสนทนาเป็นการส่วนตัวกับ บารอน เดอ สตาล ในราวกลางเดือนพฤษภาคม พระยาสุริยานุวัตรถึงกับเผยทัศนะส่วนตัวของตนว่า วัตถุประสงค์ของการประชุมที่ว่าด้วยการจำกัดกำลังอาวุธนั้น คงเป็นเรื่องที่ยากจะบรรลุผลสำเร็จได้ และชาติเล็กๆ อย่างไทยคงต้องเลือกที่จะทุ่มเทความพยายามทั้งหมดไปที่ประเด็นในเรื่องกระบวนการอนุญาโตตุลาการ แม้ว่าประเด็นดังกล่าวอาจจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากมหาอำนาจส่วนใหญ่ด้วยเช่นเดียวกันก็ตาม (46)
โอกาสที่ไทยได้แสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ที่แท้จริงและชัดเจนในการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อการประชุมใกล้จะยุติลง อย่างที่เป็นที่คาดการณ์กันมาก่อน ข้อเสนอว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นประเด็นที่พิจารณากันในคณะกรรมาธิการชุดที่ 3 (The Third Commission) ถูกต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรงตั้งแต่เริ่มต้นการประชุมพิจารณา ไม่เพียงแต่มหาอำนาจที่ทรงพลานุภาพทางการเมืองและการทหารอย่างเยอรมนีเท่านั้น ที่ไม่เชื่อว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะเกรงว่าหากมีการตกลงบังคับใช้จริง แนวทางปฏิบัติที่ว่านี้ก็อาจนำไปสู่การล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐต่างๆ ได้ แต่กระทั่งชาติเล็กๆ หลายชาติ เป็นต้นว่า โรมาเนีย กรีซ และเซอร์เบีย ก็ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวด้วยเหตุผลเดียวกัน ผู้แทนของโรมาเนียและเซอร์เบียเคยถึงกับพยายามเกลี้ยกล่อมทาบทามพระยาสุริยานุวัตรให้ร่วมมือกันล้มข้อเสนอนี้ (47)
หลังจากที่ได้พยายามเจรจาประนีประนอมกันหลายรอบระหว่างคณะผู้แทนชาติต่างๆ และวันปิดการประชุมใกล้จะมาถึง ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการชุดที่ 3 ก็ต้องพบกับหนทางตีบตันหาทางออกไม่ได้ในข้อขัดแย้งที่ว่าด้วย "คณะกรรมาธิการไต่สวนนานาชาติ" (International Commissions of Inquiry) (48) เมื่อตระหนักว่าความพยายามตลอดสองเดือนของการประชุมที่ผ่านมา และความหวังที่จะเห็นการประชุมบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้กลับดูเหมือนกำลังจะเลือนหายไปต่อหน้า คณะผู้แทนไทยจึงนำเสนอคำแถลงว่าด้วยท่าทีของไทยในประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่ต่อที่ประชุม คำแถลงดังกล่าวร่างขึ้นและได้รับความเห็นชอบจากพระยาสุริยานุวัตร โดยนายโรแลงเป็นผู้อ่านคำแถลงของคณะผู้แทนไทยในที่ประชุม ความตอนหนึ่งของคำแถลงดังกล่าวมีว่า
"รัฐบาลไทยมีความเห็นสนับสนุนอย่างยิ่งต่อการทำอนุสัญญาว่าด้วยการตกลงอย่างสันติวิธีในกรณีพิพาทระหว่างประเทศ (Pacific settlement of international disputes) นอกจากนั้น รัฐบาลไทยจะลงมติสนับสนุนความในมาตรา 9 ถึง 13 ของร่าง [อนุสัญญา] ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วย คณะกรรมาธิการไต่สวนนานาชาติ อีกด้วย
"รัฐบาลไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะลงมติให้ความเห็นชอบข้างต้น และยังหวังเป็นอย่างยิ่งด้วยว่า มาตราดังกล่าวจะเป็นที่ยอมรับของที่ประชุม เพราะเราเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นว่าในทุกกรณีความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย การทำความจริงให้เป็นที่ประจักษ์และการตรวจสอบยืนยันความจริงนั้นๆ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของรัฐบาลไทย ยิ่งไปกว่านั้น ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ความรู้ที่ได้มาจากข้อเท็จจริงที่แม่นยำและสมบูรณ์จะช่วยเกื้อหนุนต่อการยุติข้อพิพาทได้ด้วยสันติวิธี โดยป้องกันไม่ให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องในกรณีพิพาทตัดสินใจผิดพลาด และในขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันไม่ให้ [มติของ] สาธารณชนถูกชักจูงไปในทางที่ผิด
"นอกเหนือจากนั้น รัฐบาลไทยยังเห็นว่ากรณีพิพาทระหว่างรัฐ น้อยครั้งที่จะเป็นการพิพาทในเรื่องข้อเท็จจริง และเห็นว่าโดยปกติทั่วไปแล้วการตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าขั้นตอนที่นำไปสู่กระบวนการโต้แย้งทางกฎหมายที่จำเป็นและเป็นธรรมชาติ ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงเชื่อว่า หากไม่มีข้อตกลงกันก่อนเป็นอย่างอื่นแล้ว กระบวนการอนุญาโตตุลาการก็ควรจะต้องเป็นขั้นตอนถัดไปต่อจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่เช่นนี้เองที่รัฐบาลไทยขอประกาศว่า จะพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อข้อตกลงนี้ก็ต่อเมื่อข้อตกลงนี้สามารถนำไปสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า เงื่อนไขหลักที่รัฐบาลไทยจะพิจารณายินยอมให้คณะกรรมาธิการไต่สวนนานาชาติเข้ามาทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกันในดินแดนของไทย คือ การตกลงยินยอมก่อนล่วงหน้าว่าจะต้องมีการเจรจาประนีประนอม [Previous conclusion of a compromis] กันต่อไป" (49)
คำแถลงของรัฐบาลไทยได้รับการสนองตอบอย่างดียิ่งจากผู้แทนส่วนใหญ่ในที่ประชุม รวมทั้งจากผู้แทนที่เคยมีความเห็นขัดแย้งแตกต่างไปจากไทย (50) กล่าวได้ว่า การบรรลุข้อตกลงที่นำไปสู่อนุสัญญาว่าด้วย การตกลงอย่างสันติวิธีในกรณีพิพาทระหว่างประเทศ ก่อนปิดการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก ในวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1899 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากคำแถลงเกี่ยวกับท่าทีนโยบายของไทยในเรื่องกระบวนการอนุญาโตตุลาการในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1899
ในวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1900 ที่กรุงเฮก พระยาสุริยานุวัตรยื่นเอกสารรับรองสัตยาบันของรัฐบาลไทยที่ให้แก่อนุสัญญาทั้ง 3 ฉบับ ปฏิญญาทั้ง 3 ฉบับ และบัญญัติต่อท้ายอีก 1 ฉบับ อันเป็นผลจากข้อตกลงของการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก (51)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(26) เป็นต้นว่า รายงานของอัครราชทูตไทยที่กรุงเบอร์ลิน ถึงกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงเทพฯ ในตอนปลายเดือนกันยายน ค.ศ. 1898 เรื่องปฏิกิริยาในเมืองหลวงของเยอรมนีต่อบันทึกเวียนฉบับแรก ดู หจช. (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ) ร.5 (เอกสารรัชกาลที่ 5) ต. (การต่างประเทศ) เลขที่ 6.3 "พระยานนทบุรี กราบทูล เสนาบดีต่างประเทศ" ที่ 38/52 เบอร์ลิน 28 กันยายน ร.ศ. 117 (ค.ศ. 1898) นอกจากนั้น ยังมีข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์รายวันจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้านข้อเสนอของรัฐบาลรัสเซีย ที่ผู้แทนทางการทูตของไทยในยุโรปส่งกลับมายังกระทรวงการต่างประเทศ แนบอยู่ใน หจช. ร.5 ต. 6.3 "กรมหลวงเทวะวงศฯ กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ที่ 40/7407 กรุงเทพฯ 8 ตุลาคม ร.ศ. 117 (ค.ศ. 1898)
(27) หจช. ร.5 ต. 6.3 "ลายพระหัตถ์กรมหลวงเทวะวงศฯ ถึง นายโอลารอฟสะกี" สำเนาที่ 14/7465 กรุงเทพฯ 10 ตุลาคม ร.ศ. 117 (ค.ศ. 1898) (สะกดตามอักขรวิธีที่ปรากฏในเอกสาร) ดูเปรียบเทียบสำเนาลายพระหัตถ์ฉบับภาษาอังกฤษในแฟ้มเดียวกันนี้
(28) ดู หจช. ร.5 ต. 6.3 "พระยาสุริยานุวัตร (อัครราชทูตไทยที่กรุงปารีส) กราบทูล กรมหลวงเทวะวงศฯ" ที่ 166 ปารีส 18 พฤศจิกายน ร.ศ. 117 (ค.ศ. 1898)
(29) รายละเอียดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียในช่วงดังกล่าว ดู ฉลอง สุนทราวาณิชย์ "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรุสเซียและประเทศไทย ตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 20" วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2516
(30) เพิ่งอ้าง
(31) หจช. ร.5 ต. 11ก/11 "พระราชโทรเลข พระราชทานกรมหลวงเทวะวงศฯ"
ร่าง ปารีส ไม่ปรากฏวันเดือนปี
(32ป หจช. กต. (เอกสารกระทรวงการต่างประเทศ) 79.4 "พระยาสุริยานุวัตร ถึง พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ (อัครราชทูตไทยที่ลอนดอน)" ปารีส 20 มีนาคม ร.ศ. 117 (ตามระบบปฏิทินเก่า) (ค.ศ. 1899)
(33) เพิ่งอ้าง
(34) ดู Scott (ed.), The Proceedings..., Vol. I: The Conference of 1899, op.cit.,
p. 6.
(35) หจช. กต. 79.4
"พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ กราบทูล กรมหลวงเทวะวงศฯ" ที่ 30 ลอนดอน
19 พฤษภาคม ร.ศ. 118 (ค.ศ. 1899)
(36) Scott (ed.),
The Proceedings..., Vol. I: The Conference of 1899, op.cit., p. 1-7.
(37) หจช. กต. 79.4
"พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ กราบทูล กรมหลวงเทวะวงศฯ" ที่ 30 ลอนดอน
19 พฤษภาคม ร.ศ. 118 (ค.ศ. 1899)
(38) หจช. กต. 79.4 "พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ผู้แทนกรุงสยาม ณ ที่ชุมนุมนานาประเทศที่เมืองเฮก" สำเนา กรุงเทพฯ 30 เมษายน ร.ศ. 118 (ค.ศ. 1899) (สะกดตามอักขรวิธีที่ปรากฏในเอกสาร) ดูเปรียบเทียบสำเนาพระบรมราโชวาทฉบับภาษาอังกฤษได้ในแฟ้มเดียวกันนี้
(39) หจช. กต. 79.4 "พระยาสุริยานุวัตร
กราบทูล กรมหลวงเทวะวงศฯ" กรุงเฮก 20 พฤษภาคม ร.ศ. 118 (ค.ศ. 1899)
(40) หจช. กต. 79.4
"พระยาสุริยานุวัตร กราบทูล กรมหลวงเทวะวงศฯ" กรุงเฮก 8 มิถุนายน ร.ศ.
118 (ค.ศ. 1899)
(41) เพิ่งอ้าง
(42) หจช. กต. 79.4 "พระยาสุริยานุวัตร กราบทูล กรมหลวงเทวะวงศฯ" กรุงเฮก
13 มิถุนายน ร.ศ. 118 (ค.ศ. 1899)
(43) หจช. กต. 79.4 "พระบรมราโชวาทพระราชทานผู้แทนกรุงสยาม ณ ที่ชุมนุมนานาประเทศที่เมืองเฮก" สำเนา กรุงเทพฯ 30 เมษายน ร.ศ. 118 (ค.ศ. 1899) (สะกดตามอักขรวิธีที่ปรากฏในเอกสาร)
(44) ในจำนวนผู้แทนของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมในการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก ค.ศ. 1899 รวมทั้งสิ้น 100 นายนั้น จำแนกประเภทโดยวิชาชีพออกได้เป็น นักการทูต 39 นาย นายทหาร (หรือผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคด้านการทหาร) 34 นาย นักกฎหมายระหว่างประเทศ 13 นาย นักการเมือง 13 นาย และเสนาบดีต่างประเทศ 1 นาย คณะผู้แทนของรัสเซียจำนวน 8 นายนั้น 4 นายเป็นนายทหาร 3 นายเป็นนักการทูต อีก 1 นายเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศ อังกฤษมีผู้แทน 5 นาย เป็นนายทหาร 3 นาย นักการทูต 2 นาย ฝรั่งเศสก็มีผู้แทนที่เป็นนายทหาร 3 นายเช่นกัน ในขณะที่สเปน เบลเยี่ยม กรีซ ลุกเซมเบอร์ก จีน เม็กซิโก และไทยไม่มีนายทหารอยู่ในคณะผู้แทน นายทหารที่มีชื่อเสียงที่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ มีอย่างเช่น นาวาเอกมาฮาน (Alfred T. Mahan) จากสหรัฐฯ และเซอร์จอห์น อาร์ดากห์ (Sir John Ardagh) จากอังกฤษ ดูรายชื่อคณะผู้แทนทั้งหมดได้ใน Eyffinger, op.cit., pp. 126-7.
(45) ดู "Annexes"
ใน Scott (ed.), The Proceedings..., Vol. I: The Conference of 1899, op.cit.,
p. 831.
(46) หจช. กต. 79.4 "พระยาสุริยานุวัตร กราบทูล กรมหลวงเทวะวงศฯ" กรุงเฮก
20 พฤษภาคม ร.ศ. 118 (ค.ศ. 1899)
(47) หจช. กต. 79.4 "พระยาสุริยานุวัตร กราบทูล กรมหลวงเทวะวงศฯ" กรุงเฮก
12 สิงหาคม ร.ศ. 118 (ค.ศ. 1899)
(48) หรือที่เอกสารไทยร่วมสมัยบางแห่งเรียกว่า "กองข้าหลวงผสมพิจารณาไต่สวน"
ดู เพิ่งอ้าง
(49) ดู คำแถลงดังกล่าวใน
Scott (ed.), The Proceedings..., Vol. I: The Conference of 1899, op.cit.,
p. 638. (แปลโดยผู้เขียน)
(50) หจช. กต. 79.4 "พระยาสุริยานุวัตร กราบทูล กรมหลวงเทวะวงศฯ" ปารีส
12 สิงหาคม ร.ศ. 118 (ค.ศ. 1899)
(51) หจช. กต. 79.4 "พระยาสุริยานุวัตร กราบทูล กรมหลวงเทวะวงศฯ" ปารีส
22 กันยายน ร.ศ. 119 (ค.ศ. 1900)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87