โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๒๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐ (November, 25, 11, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

25-11-2550

Peace Conference
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

บทบาทของสยามประเทศ กับการประชุมสันติภาพโลก
ลืมเรื่องเก่าก็เผาเมือง: ๑๐๘ ปีการทูตไทยกับสันติภาพโลก (ตอน ๑)
ฉลอง สุนทราวาณิชย์ : เขียน
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความต่อไปนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนขอรับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของนักการทูตไทยที่มีต่อการประชุมสันติภาพโลก
ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ.๑๘๙๙ หรือเมื่อ ๑๐๘ มาแล้ว
ในคราวนั้น นักการทูตไทยได้แถลงยืนยันให้มีการใช้วิธีการทางการทูตเพื่อระงับข้อพิพาท
และเห็นด้วยให้การใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในกรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศ

งานวิชาการนี้เดิม พิมพ์ครั้งแรกใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๒ (๒๕๔๒)
หน้า ๑-๓๖ เดิมชื่อ: ไทยกับการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก ค.ศ. ๑๘๙๙
แปลและแก้ไขเพิ่มเติมจาก "Siam and the First Hague Peace Conference of 1899:
A Preliminary Note" ซึ่งนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการ The International Conference
to Commemorate the Centenary of King Chulalongkorn of Siam's First Visit
to Europe in 1897 จัดโดยโครงการยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระหว่างวันที่ ๖-๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๒๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๘ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทบาทของสยามประเทศ กับการประชุมสันติภาพโลก
ลืมเรื่องเก่าก็เผาเมือง: ๑๐๘ ปีการทูตไทยกับสันติภาพโลก (ตอน ๑)
ฉลอง สุนทราวาณิชย์ : เขียน
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



1.
นับตั้งแต่ที่ข้อเสนอว่าด้วยการประชุมสันติภาพนานาชาติเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นครั้งแรก ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1898 ปรากฏอยู่ในบันทึกเวียน (Circular Note) อ้างพระบรมราชโองการในพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (Tsar Nicholas II) ที่เคานต์มูราเวียฟ (Count Muraviev) เสนาบดีต่างประเทศของรัสเซีย ซึ่งมีไปยังผู้แทนทางการทูตของประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ ณ ราชสำนักเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก นั้น (1) การประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นใน ค.ศ. 1899 ก็ได้กลายมาเป็นหัวข้อที่มีการวิเคราะห์คาดการณ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ และมีการอภิปรายถกเถียงในวงวิชาการกันอย่างกว้างขวาง ถึงจุดกำเนิด การคลี่คลาย ความสำเร็จ และความล้มเหลวในด้านต่างๆ ตลอดรวมถึงผลกระทบของการประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งนี้ที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสงครามและสันติภาพ (2)

ประเด็นที่ได้รับความสนใจในการอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในแวดวงทางวิชาการ ยังรวมไปถึงปัญหาที่เกี่ยวกับ "กำเนิดที่มา" ของ บันทึกเวียนฉบับแรก (The First Circular Note) บทบาทของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งนี้ เป็นต้นว่า บทบาทของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ผู้ทรงมีพระราชประสงค์จะได้รับการขนานพระนามว่า "ผู้สร้างสันติภาพ" (The Peace Maker); เคานต์มูราเวียฟ; วิตเต (Witte) เสนาบดีคลังของรัสเซีย; กุโรปัตกิน (Kuropatkin) เสนาบดีกลาโหม ผู้เป็นบุคคลแรกที่เสนอต่อรัฐบาลรัสเซียในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1898 ให้พิจารณาเปิดการเจรจากับรัฐบาลออสเตรียเพื่อชะลอโครงการพัฒนาปืนใหญ่สนามยิงเร็ว (Rapid-fire Field Gun) ออกไปเป็นการชั่วคราว; เอ บาสิลี (A. Basily) นักการทูตอาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในกรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศ; ฌ็อง เดอ บลอค (Jean De Bloch) นักสันตินิยม (pacifist) ผู้เขียน Future of War ซึ่งเป็นงานค้นคว้าขนาดมหึมา มีความยาวประมาณ 4,000 หน้า ว่าด้วยอำนาจการทำลายล้างของสงครามสมัยใหม่ และตีพิมพ์ครั้งแรกในรัสเซียใน ค.ศ. 1898 (3) และบทบาทของจักรพรรดินีมาเรีย เฟโอโดรอฟนา พระพันปีหลวง (Empress Dowager Maria Feodorovna) และจักรพรรดินีอเลกซานดรา (Empress Alexandra, the Tsarina) พระมเหสีของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับบริบททางการเมืองภายในและภายนอกของรัสเซียที่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การเผยแพร่บันทึกเวียนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1898 นั้น

ประเด็นที่ได้รับการถกเถียงอภิปรายมากคือ เหตุผลความนัยที่อยู่เบื้องหลังข้อเสนอของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่ให้มีการจัดประชุมสันติภาพนานาชาติขึ้น อีกนัยหนึ่งก็คือว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสันติภาพถาวรขึ้นอย่างแน่วแน่จริงจัง หรือข้อเสนอของพระองค์เป็นเพียงกลยุทธทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของรัสเซียเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น เพราะรัสเซียในขณะนั้นกำลังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ถึงขั้นใกล้ล้มละลายทางการเงินอันเป็นผลมาจากการลงทุนพัฒนากำลังอาวุธแข่งกับมหาอำนาจอื่นๆ (4)

บันทึกเวียนของรัฐบาลรัสเซีย ลงวันที่ 24 เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1898 ให้เหตุผลความจำเป็นของข้อเสนอว่าด้วย "การประชุมสันติภาพนานาชาติ" ดังนี้:

"ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ตลอดทั่วทั้งโลกในขณะนี้ การธำรงรักษาซึ่งสันติภาพถาวรและ [การแสวงหา] หนทางที่มีความเป็นไปได้อันนำไปสู่การลดกำลังอาวุธที่มีมากเกินจำเป็นและที่เป็นภาระหนักหน่วงกดดันชาติต่างๆ ย่อมเป็นเป้าหมายในอุดมคติที่รัฐบาลทั้งหลายควรมุ่งมั่นไขว่คว้า

"สมเด็จพระจักรพรรดิฯ [พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2] เจ้าเหนือหัวของข้าพเจ้า ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระราชหฤทัยอันประเสริฐยิ่งและทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงพสกนิกรเป็นล้นพ้น ทรงเห็นพ้องต้องกันกับความรู้สึกข้างต้น ด้วยความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่าเป้าประสงค์อันสูงส่งดังกล่าวสอดรับกับผลประโยชน์สูงสุดและความคาดหวังอันชอบธรรมยิ่งของมหาอำนาจทั้งปวง รัฐบาลในสมเด็จพระจักรพรรดิจึงมีความเห็นว่า ช่วงเวลา ณ ขณะนี้เป็นโอกาสอันเหมาะสมสำหรับการประชุมนานาชาติเพื่อแสวงหาหนทางที่มีประสิทธิภาพที่สุด ที่จะยังประโยชน์สุขแก่ประชาชาติทั้งปวงจากสันติภาพยั่งยืนอย่างแท้จริง และเหนือสิ่งอื่นใด ประโยชน์สุขอันพึงได้จากการควบคุมจำกัดการพัฒนากำลังอาวุธที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง" (5)

บันทึกเวียนฉบับนี้ ยังได้วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในขณะนั้น เป็นต้นว่า การที่มหาอำนาจต่างๆ ยังคงพยายามรักษาสันติภาพอย่างผิดวิธี ด้วยการแข่งขันจัดตั้ง "กลุ่มพันธมิตรทางการเมืองที่ทรงพลานุภาพ" และด้วยการขยายแสนยานุภาพทางการทหารไปจนถึง "ระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และยังคงมุ่งมั่นขยายต่อไปอีกโดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียใดๆ ทั้งสิ้น" การลงทุนทางการเงินของมหาอำนาจทั้งหลายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้มาซึ่ง "เครื่องจักรทำลายล้างอันน่าสะพึงกลัว" (The Terrible Machines of Destruction) นั้น ไม่เพียงฉกฉวยเบียดเบียน "ต้นตออันเป็นที่มาของความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชน" เท่านั้น แต่ยังจะ "นำไปสู่ความหายนะอย่างเดียวกับที่ทุกฝ่ายต่างปรารถนาจะหันเหหลีกหนี และนำมาซึ่งความสยดสยองน่าสะพึงกลัวที่มนุษย์ทุกผู้นามพากันหวาดวิตก อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้" ด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็น "ภารกิจอันสำคัญยิ่ง" ของทุกรัฐที่จะต้องช่วยกันสะกัด ยับยั้ง การสั่งสมขยายกำลังอาวุธ และแสวงหา "หนทางเพื่อหลีกเลี่ยงมหันตภัยใหญ่ยิ่งที่กำลังคุกคามโลกทั้งโลกอยู่ในขณะนี้"

ในท้ายที่สุด บันทึกเวียนฉบับแรกจบลงด้วยข้อความต่อไปนี้

"ด้วยพระราชดำริเช่นที่กล่าวมาข้างต้น สมเด็จพระจักรพรรดิ จึงทรงมีกระแสพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าทำบันทึกข้อเสนอต่อรัฐบาลทั้งหลาย…จัดการประชุมเพื่อร่วมกันพิจารณาปัญหาอันหนักหน่วงร้ายแรงดังกล่าว การประชุมที่ว่านี้จะเป็นเสมือน…พรอันประเสริฐสำหรับศตวรรษใหม่ที่กำลังจะมาถึง ด้วยการหล่อหลอมความพยายามของรัฐทั้งหลาย ที่ปรารถนามุ่งหวังให้แนวคิดอันยิ่งใหญ่ว่าด้วยสันติภาพสากล มีชัยชนะเหนือเหตุปัจจัยแห่งความวุ่นวายและความขัดแย้ง กลายเป็นขุมพลังอันทรงพลานุภาพหนึ่งเดียว ทั้งยังเป็นโอกาสที่รัฐทั้งหลายจะได้ร่วมกันตอกย้ำข้อตกลงด้วยการให้สัตย์ปฏิญาณต่อหลักการแห่งความเสมอภาคและกฎหมาย อันจะเป็นรากฐานของความมั่นคงของรัฐทั้งหลายและความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชาติทั้งมวล" (6)

บันทึกเวียนของรัฐบาลรัสเซีย ฉบับ ค.ศ. 1898 ข้างต้น ได้รับการสนองตอบด้วยท่าทีที่แตกต่างหลากหลาย. ในด้านหนึ่ง โดยเหตุที่ข้อเสนอจัดการประชุมนานาชาติครั้งนี้ มีที่มาจากพระราชดำริของพระจักรพรรดิที่มีพระชันษาไม่สูงนัก ทั้งยังทรงขาดประสบการณ์ทางการเมือง เป็นที่กล่าวขวัญกันโดยทั่วไปว่าทรงมีบุคลิกภาพที่อ่อนไหว ขาดความเป็นผู้นำ ปราศจากความเชื่อมั่น การตัดสินพระทัยในเรื่องต่างๆ มักคล้อยตามการเพ็ดทูลของผู้ที่บังเอิญได้อยู่เฝ้าใกล้ชิดในช่วงขณะนั้น (7) ดังนั้น ในความเห็นของผู้นำทางการเมืองอื่นๆ ในเวลานั้น บันทึกเวียนฉบับนี้อย่างดีก็เป็นได้เพียงแค่เอกสารที่สะท้อนอุดมคติทางการเมืองอย่างตื้นเขิน ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ไม่สามารถบรรลุผลที่น่าพึงปรารถนาใดๆ ได้เลย

หรือไม่เช่นนั้น ก็มีความเห็นไปในด้านร้าย กล่าวคือพิจารณาข้อเสนอในบันทึกเวียนของรัฐบาลรัสเซียฉบับนี้ด้วยความระแวงสงสัยว่า เป็นกลยุทธอันฉ้อฉลของรัสเซียที่พยายามใช้ประเด็นเรื่องสันติภาพมาล่อหลอกมหาอำนาจอื่นๆ ให้ตายใจ พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 (Kaiser Wilhelm II) จักรพรรดิปรัสเซีย ซึ่งทรงเป็นทั้งพระญาติและคู่แข่งขันในทางการเมืองระหว่างประเทศของพระเจ้าซาร์ ถึงกับรับสั่งถึงบันทึกเวียนฉบับนี้ว่าเป็น "ปีศาจที่ชั่วร้าย" ในขณะที่พระเจ้าไกเซอร์ทรงแสดงความยกย่องชื่นชมพระราชดำริของพระเจ้าซาร์ในที่สาธารณะนั้น ก็ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งเป็นการส่วนพระองค์กับเสนาบดีต่างประเทศของพระองค์เองด้วยว่า ทรงไม่ไว้วางพระทัยในพระเจ้าซาร์แม้แต่น้อย แต่ที่ทรงกังวลมากที่สุดก็คือ หากพระองค์ปฏิเสธการเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมนานาชาติดังกล่าว พระองค์ก็จะทรงต้องถูกกล่าวหาจากคนทั่วไปว่าเป็นฝ่ายที่ปรารถนาจะ "ทำลายสันติภาพ" เสียเอง (8)

ในอีกด้านหนึ่ง เป็นความจริงอย่างที่บันทึกเวียนฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ในตอนปลายคริสตศตวรรษที่ 19 อำนาจการทำลายล้างที่รุนแรงมากขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งการคุกคามที่อาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้มีต่ออารยธรรมของมนุษยชาติ ได้กลายมาเป็นประเด็นปัญหาที่สาธารณชนหวาดวิตกอย่างยิ่ง บันทึกเวียนฉบับเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1898 เผยแพร่ออกมาในขณะที่กรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศหลายต่อหลายกรณีกำลังดำเนินอยู่ หรือไม่ก็ใกล้ที่จะแตกหัก เป็นต้นว่า สงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับสเปน วิกฤตการณ์ฟาโชดา (Fashoda Incident) ในอัฟริกา และการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตกในหลายๆ ที่ในตะวันออกไกล

ดังนั้น ข้อเสนอในบันทึกเวียนฉบับนี้จึงได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญ สนองตอบรับอย่างแข็งขันกระตือรือร้นจากขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพทั้งหลาย ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตลอดช่วงหลายเดือนหลังจากนั้น นักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสันติภาพได้จัดให้มีการเดินขบวนแสดงประชามติขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ เรียกร้องสนับสนุนการจัดการประชุมนานาชาติ เพื่อเป็นหนทางที่จะลดความเสี่ยงของมหันตภัยอันเกิดมาจากสงคราม การเคลื่อนไหวดังกล่าวนำไปสู่การรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนได้ถึงกว่า 1 ล้านชื่อในช่วงเพียงไม่กี่เดือน (9) นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพระดับแนวหน้าที่สนับสนุนให้มีการจัดการประชุมนานาชาติ ก็คือ ฌ็อง เดอ บลอค นายธนาคารและนักอุตสาหกรรมเชื้อสายยิวที่เกิดในกรุงวอร์ซอว์; มาร์เกอริต เซเลนกา (Marguerite Selenka) จากเยอรมนี; แบร์ธา ฟอน ซุตต์เนอร์ (Bertha von Suttner) จากออสเตรีย (10) และ ดับลิว ที สตีด (W.T. Stead) จากอังกฤษ (11)

กระนั้นก็ดี แม้ว่าข้อเสนอจัดประชุมสันติภาพนานาชาติจะได้รับการสนองตอบรับและสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นกว้างขวางจากสาธารณชนทั่วไป รวมทั้งประเด็นว่าด้วย "สันติภาพ" ก็เป็นประเด็น "เร่งด่วน" สมเหตุสมผลดังที่บันทึกเวียนของรัฐบาลรัสเซียได้ชี้ให้เห็นก็ตาม แต่การประชุมสันติภาพนานาชาติก็มาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแท้จริงในเดือนพฤษภาคมของปีถัดมา

ในด้านหนึ่ง รัฐบาลฝรั่งเศสอดรู้สึกไม่ได้ว่าการประกาศข้อเสนอของรัฐบาลรัสเซียในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1898 ครั้งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้อง "เสียหน้า" และวางตัวลำบาก เพราะในขณะที่ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของรัสเซียในขณะนั้น กลับไม่ได้รับการปรึกษาหารือในร่างข้อเสนอนี้จากรัฐบาลรัสเซีย หรือไม่ได้ทราบแม้แต่เค้าเงื่อนร่องรอยมาก่อน ปฏิกิริยาจากรัฐบาลฝรั่งเศสทำให้รัสเซียต้องส่งเสนาบดีกลาโหมไปยังกรุงปารีสในเดือนตุลาคม เพื่อชี้แจงให้รัฐบาลฝรั่งเศสเข้าใจความประสงค์ที่แท้จริงของรัสเซีย และรวมทั้งเพื่อขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว (12)

ประเด็นในบันทึกเวียนฉบับแรกที่ดูจะเป็นปัญหามากที่สุด รวมทั้งเป็นประเด็นที่ยากจะปฏิบัติได้ในความเป็นจริง และไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ในทัศนะของมหาอำนาจส่วนใหญ่ รวมทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสเอง ก็คือ ความไม่ชัดเจนและลักษณะที่เป็นอุดมคติเกินจริงของวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการบรรลุ "สันติภาพอย่างแท้จริง" (Universal Peace) ด้วยการเลิกสะสมกำลังอาวุธ (Disarmament) (13) ประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลฝรั่งเศสเห็นพ้องต้องกันกับรัฐบาลของมหาอำนาจอื่นๆ ก็คือ การที่การประชุมสันติภาพนานาชาติ อาจจะทำให้กลไกการป้องกันตนเองที่มีประสิทธิภาพที่สุด [นั่นคือ อาวุธเพื่อใช้ในการป้องกันการรุกราน] พิกลพิการไปได้ (14) ด้วยเหตุดังนั้น รัฐบาลรัสเซียจึงต้องปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับข้อเสนอการประชุมสันติภาพ และ 4 เดือนต่อมา ในวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1899 เคานต์มูราเวียฟ จึงได้เสนอบันทึกเวียนฉบับที่ 2 (Second Circular Note) (15)

บันทึกเวียนฉบับที่ 2 ตอกย้ำความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องดำเนินการไปสู่สันติภาพระหว่างนานาชาติ โดยอ้างเหตุผลที่ว่า "มหาอำนาจหลายต่อหลายประเทศได้เริ่มแข่งขันสะสมกำลังอาวุธกันอีก เพื่อขยายแสนยานุภาพทางทหารให้มีพลานุภาพมากยิ่งขึ้น" (16) บันทึกเวียนฉบับนี้จึงได้เสนอประเด็นสำหรับเป็นวาระเพื่อการพิจารณาอภิปรายในที่ประชุมที่ดูหนักแน่นมากขึ้น รวมด้วยกัน 8 ประเด็น ซึ่งมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากกว่าข้อเสนอเดิม ทั้งยังสอดคล้องกับเงื่อนไขความเป็นจริงทางการเมือง และรวมทั้งมีกรอบในการพิจารณาที่แคบลง ทั้งนี้บันทึกเวียนนี้ได้ตั้งความหวังไว้ด้วยว่า "น่าจะถึงเวลาแล้วที่มหาอำนาจทั้งปวงจะเริ่มต้นพูดคุยเจรจาแลกเปลี่ยนความเห็นเบื้องต้น…" (17) วัตถุประสงค์ของการประชุมนานาชาติที่ทางฝ่ายรัสเซียเสนอขึ้นมานั้น มีดังนี้:

(ก) แสวงหาหนทางอย่างรีบด่วนไม่ชักช้า เพื่อหยุดยั้ง สะกัดกั้นการขยายการสะสมกำลังอาวุธทั้งทางบกและทางทะเลที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงการแข่งขันกันขยายกำลังอาวุธครั้งใหม่ที่กำลังดำเนินอยู่แล้ว ก็ยิ่งปรากฏชัดถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องร่วมกันแสวงหาทางออกในประเด็นนี้; และ

(ข) เพื่อเตรียมการสำหรับการพิจารณาอภิปรายถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้การทูตระหว่างประเทศ เป็นหนทางแห่งสันติในการป้องกันความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ (18)

บันทึกเวียนฉบับที่ 2 ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในวัตถุประสงค์ของการประชุมนานาชาติไปจากเดิมหลายประการ กล่าวคือ ความคิดเกี่ยวกับ "การเลิกการสะสมกำลังอาวุธโดยปราศจากข้อแม้" (Universal Disarmament) ที่เป็นที่ถกเถียงกันมากและเป็นข้อเสนอที่ถูกตั้งแง่ปฏิเสธมากที่สุด หรือแม้แต่ความคิดเกี่ยวกับการลดกำลังอาวุธ (Reduction of Armaments) ซึ่งความคิดทั้งสองเคยปรากฏเป็นความนัยอยู่ในบันทึกเวียนฉบับแรก ได้ถูกขจัดออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยถูกแทนที่ด้วยข้อเสนอว่าด้วย "การจำกัดกำลังอาวุธ" (Limitation of Armaments) ซึ่งทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงมากกว่า และเป็นที่ยอมรับได้ในหมู่ชาติมหาอำนาจต่างๆ มากกว่า ขณะเดียวกัน ปัญหาเกี่ยวกับ "การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว" (Progressive Increase) ของกำลังอาวุธทางทะเล ก็ถูกเพิ่มเข้ามาเป็นหัวข้อวาระของการประชุมด้วย

แต่ที่สำคัญที่สุด และในความเห็นของหลายๆ ฝ่าย ดูจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ที่สุด ก็คือข้อเสนอว่าด้วยการใช้การไกล่เกลี่ยประนีประนอมโดยคนกลาง (Mediation) และการยอมรับการชี้ขาดโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยสมัครใจ (Voluntary Arbitration) เป็นหนทางระงับกรณีพิพาทและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ในขณะที่บันทึกเวียนฉบับแรกไม่ได้ระบุถึงการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศว่าเป็นหนทางไปสู่สันติภาพไว้ในที่ใดๆ เลยนั้น ในบันทึกเวียนฉบับที่ 2 นี้ วิธีการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศได้กลายมาเป็นวัตถุประสงค์หลัก 1 ใน 2 ข้อของการจัดการประชุมนานาชาติ ความสำคัญของการไกล่เกลี่ยประนีประนอมและอนุญาโตตุลาการยังมาได้รับการตอกย้ำอีกครั้งใน ข้อ 8 ของ "หัวข้อนำเสนอเพื่อการอภิปรายระหว่างผู้แทนของประเทศต่างๆ ในที่ประชุม" อันเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกเวียนฉบับที่ 2 ความว่า:

"การยอมรับโดยหลักการของการใช้การไกล่เกลี่ย การประนีประนอม และกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยสมัครใจ ในกรณีที่สามารถใช้วิธีการเหล่านี้ เพื่อป้องกันความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธระหว่างประเทศ; ทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับวิธีการใช้ และสร้างวิธีปฏิบัติในการใช้วิธีการต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นเอกภาพ" (19)

บนพื้นฐานของบันทึกเวียนฉบับที่ 2 นี้ ที่ในท้ายที่สุดได้นำไปสู่การประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งแรก ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1899 อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มผลักดันการประชุมครั้งนี้ และเพื่อให้สอดคล้องกับความปรารถนาที่ได้แสดงไว้ในบันทึกเวียนฉบับที่ 2 ที่ว่า "การประชุมที่จะจัดขึ้นครั้งนี้ไม่ควรจัดขึ้นในเมืองหลวงของชาติมหาอำนาจชาติใดชาติหนึ่ง" (20) กรุงเฮก เมืองหลวงทางการเมืองการปกครองของเนเทอร์แลนด์ จึงได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดการประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งแรก ซึ่งดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง จนเสร็จสิ้นการประชุมลงในตอนปลายเดือนกรกฎาคม ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งรัฐบาลเนเทอร์แลนด์รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมตามคำขอของรัฐบาลรัสเซีย มีรัฐเอกราชรวม 26 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ประเทศนอกทวีปยุโรปที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก ซึ่งเป็น 2 ประเทศจากทวีปอเมริกา และอีก 5 ประเทศจากทวีปเอเชีย คือ ตุรกี เปอร์เซีย จีน ญี่ปุ่น และไทย (21)

2.
ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 การประชุมสันติภาพนานาชาติดูจะไม่ใช่ประดิษฐกรรมใหม่ของการทูตตะวันตกสมัยใหม่อีกต่อไปแล้ว ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาเป็นอย่างน้อยที่การจัดประชุมระหว่างชาติเพื่อแสวงหาหนทางยุติความขัดแย้งทางการเมือง และภาวะสงครามที่มีต่อกัน เป็นวิธีปฏิบัติที่รัฐคริสเตียนต่างๆ ในยุโรปใช้กันอยู่เป็นปกติ. ตลอดคริสตศตวรรษที่ 19 การจัดประชุม "สันติภาพ" นานาชาติได้กลายมาเป็น "บทลงท้าย" ของกระบวนการทางการทูตในกรณีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในยุโรปเองและที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆ. การประชุมอย่างที่กล่าวมานี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่างกว้างขวาง ก็คือ การประชุมที่เวียนนาภายหลังสงครามนโปเลียน ระหว่าง ค.ศ. 1814-5, ที่ลอนดอน ใน ค.ศ. 1830 เพื่อตกลงปัญหาความขัดแย้งในเบลเยี่ยม, ที่ปารีส ใน ค.ศ. 1856 เพื่อยุติสงครามไครเมีย, และที่เบอร์ลิน ใน ค.ศ. 1878, และ 1884-5 เพื่อหาข้อยุติในปัญหาที่เกิดขึ้นในอัฟริกา

อย่างไรก็ดี การประชุมระหว่างชาติเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้ว เป็นการจัดประชุมเพื่อถกเถียงอภิปราย และหาข้อยุติในปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนั้น และมีแต่เพียงชาติคู่ขัดแย้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาความขัดแย้งนั้นๆ เท่านั้นที่เข้าร่วมประชุม ดังที่ศาสตราจารย์คูเปอร์ (Sandi E. Cooper) ได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า "การประชุมสันติภาพอันเป็นแบบฉบับ" ทั้งหลายที่เคยจัดกันมาก่อนหน้านั้น เป็นต้นว่า ที่ เวสต์ฟาเลีย (Westphalia) อูเทรคต์ (Utrecht) ปารีส และเวียนนา นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการประชุม "สันติภาพ" ที่ "ถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ยุติสงคราม และแบ่งสรรปันส่วนทรัพย์สินดินแดนที่ฝ่ายชนะยึดมาได้" (22)

ดังนั้น การประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก จึงเป็นการประชุมในรูปแบบนี้ "ครั้งแรก" กล่าวคือ เป็นการประชุมที่จัดขึ้นใน "ยามสันติ" ด้วยจุดประสงค์ "เพื่อจัดทำขั้นตอนที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การลดโอกาสของการเกิดสงคราม" (23) โดยเหตุที่การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่การประชุมเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ แต่เป็นการประชุมเพื่อแสวงหาข้อตกลงเกี่ยวกับการจำกัดกำลังอาวุธ และจัดทำกติกาของการทำสงครามในอนาคตที่เปี่ยมด้วยมนุษยธรรมกว่า และเพื่อแสวงหาหนทางจัดการข้อขัดแย้งระหว่างชาติที่ดูเป็น "อารยะ" มากกว่าและเป็นวิถีที่สันติกว่า ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงไม่ใช่การประชุมระหว่างชาติคู่สงครามหรือคู่กรณีความขัดแย้งอย่างที่เคยเป็นมา นอกจากนั้น การประชุมครั้งนี้ยังเป็นการประชุม "สันติภาพ" ครั้งแรกที่ชาติเอกราชเกือบทุกชาติในโลก ไม่ว่าชาติเล็กชาติใหญ่ ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม

อย่างไรก็ดี "ความเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์" ของการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮก ค.ศ. 1899 ที่โดดเด่นและสำคัญที่สุด คือเป้าหมายที่ต้องการบรรลุข้อตกลงระหว่างชาติสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมในประเด็นที่ว่า ด้วยการใช้การไกล่เกลี่ยประนีประนอมและอนุญาโตตุลาการ เพื่อเป็นหนทางยุติกรณีพิพาทระหว่างประเทศ และป้องกันความขัดแย้งทางการเมือง กระบวนการอนุญาโตตุลาการได้ถูกยอมรับนำมาใช้เป็นหนทาง ในการยุติกรณีพิพาทระหว่างประเทศก่อนหน้านั้นนานพอสมควร มีระบุปรากฏอยู่ในสัญญาทวิภาคีมากมายหลายฉบับ อีกทั้งแนวคิดเกี่ยวกับ "กระบวนการอนุญาโตตุลาการจำยอม" (Compulsory Arbitration) ก็ได้รับการสนับสนุนผลักดันอย่างแข็งขันจริงจังยิ่ง จากองค์กรของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทรงอิทธิพลทั้งหลาย เป็นต้นว่า สหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (Interparliamentary Union) และยังเป็นประเด็นสำคัญในวาระการประชุมสันติภาพสากล (Universal Peace Congress) ที่สหภาพดังกล่าวจัดขึ้นที่กรุงบูดาเปสต์ ใน ค.ศ. 1896 (24)

แต่กระนั้น การอภิปรายถกเถียงเคลื่อนไหวเรียกร้องสนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับการบังคับใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ในกรณีพิพาทระหว่างชาติทั้งหมดข้างต้น แม้ว่าจะเป็นไปอย่างแข็งขันจริงจัง ก็เป็นเพียงการอภิปรายถกเถียงเสนอแนะที่ทำกันในที่ประชุม "ภายในเฉพาะกลุ่ม" หรือไม่ก็มีลักษณะ "กึ่งทางการ" ที่ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพหรือผู้แทนขององค์กรนอกภาครัฐ ทำให้ข้อตกลงปราศจากน้ำหนัก ไม่สามารถนำไปบังคับใช้ได้. ในทางตรงกันข้าม ในการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรกนั้น ประเด็นว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เป็นประเด็นที่ถูกนำมาพิจารณาถกเถียงในการประชุมที่มีสถานะเหนือกว่า และในระดับที่เป็นทางการอย่างแท้จริง เพราะการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมที่ผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มของรัฐเอกราชต่างๆ

เมื่อการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรกยุติลงในวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1899 ที่ประชุมสามารถตกลงร่วมกันได้ในประเด็นต่างๆ ดังปรากฏออกมาเป็นอนุสัญญา (Convention) 3 ฉบับ, ปฏิญญา (Declaration) 3 ฉบับ (25) และ "บัญญัติต่อท้าย" (Final Act) อีก 1 ฉบับ. เอกสารข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้ได้รับการลงนามโดยผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มที่เข้าร่วมประชุม และได้รับสัตยาบันรับรองจากรัฐบาลที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ในเวลาต่อมา แต่กระนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่าเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว การประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรกประสบความล้มเหลว ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักที่สูงส่งได้ทั้งหมด วัตถุประสงค์ในการ "แสวงหาหนทางอย่างรีบด่วนไม่ชักช้า เพื่อหยุดยั้งสะกัดกั้นการขยายการสะสมกำลังอาวุธทั้งทางบกและทางทะเลที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้" นับเป็นวัตถุประสงค์ที่ถูกท้าทายคัดค้านจากผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมมากที่สุด ซึ่งก็เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อน ผู้แทนของรัฐบาลมหาอำนาจส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้แทนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทหาร หากไม่สงสัยความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ก็สำแดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อความคิดที่มุ่งจำกัดการสะสมกำลังอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข ที่มุ่ง "ยุติ" การพัฒนากำลังอาวุธ "ลงเป็นการชั่วคราว" และ ที่มุ่ง "ห้าม" การใช้วัตถุระเบิดและทุ่นระเบิดบางประเภท

ด้วยเหตุดังนั้น บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่ามาตรการต่างๆ ที่เสนอขึ้นมานั้น อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการป้องกันตนเองและความมั่นคงลดลงจากเดิม ทั้งยังเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของแต่ละชาติ และทำให้การพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดต้องหยุดชะงัก. ที่ประชุมในท้ายที่สุด ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ข้อแรกดังกล่าวข้างต้น จึงสามารถหาข้อยุติร่วมกันได้เพียงประเด็นเล็กๆ 2-3 ประเด็นเท่านั้น กล่าวคือ ข้อปฏิบัติในการสงครามทางบกและทางทะเล และการจำกัดการใช้ "เครื่องจักรทำลายล้างอันน่าสะพึงกลัว" บางประเภทในการสงคราม ซึ่งนับว่าห่างไกลจากเป้าหมายแรกเริ่มเดิมทีที่เคยประกาศไว้ว่า มุ่งจำกัดการสะสมกำลังอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข

อย่างไรก็ดี การประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งแรกที่กรุงเฮก ก็หาใช่ว่าจะประสบความล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงไม่ ความสำเร็จที่นับว่ายิ่งใหญ่ของการประชุมครั้งนี้อยู่ที่การตกลงใจนำกระบวนการอนุญาโตตุลาการมาใช้เป็นหนทางยุติกรณีพิพาทระหว่างประเทศ แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะถูกต่อต้านอย่างมาก ทั้งในระหว่างการอภิปรายถกเถียงและในการเจรจาต่อรองในที่ประชุมก็ตาม ประเด็นที่ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่เพียงกลายมาเป็นอนุสัญญา 1 ใน 3 ฉบับที่ผ่านการเห็นชอบของผู้แทนประเทศต่างๆ ทุกประเทศที่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้เท่านั้น แต่บนพื้นฐานของสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในอนุสัญญาฉบับนี้ ยังได้นำไปสู่การจัดตั้งศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (The Permanent Court of Arbitration) และต่อมาภายหลัง การจัดตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก (เดิมคือ The Permanent Court of International Justice ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น The International Court of Justice) ขึ้นที่กรุงเฮก

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกไปอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกัน ตอนที่ ๒

เชิงอรรถ

(1) ความเต็มของบันทึกเวียนฉบับแรก หรือที่ในบางแห่งเรียกกันว่า The Rescript ฉบับนี้ มีปรากฏอยู่ใน James Brown Scott, The Hague Peace Conferences of 1899 and 1907, (A series of lectures delivered before the Johns Hopkins University in the year 1908, Vol. II: Documents, Baltimore, M.D.: The Johns Hopkins University Press, 1909), pp. 1-2.

(2) เท่าที่ทราบ ผลงานทางวิชาการขนาดยาว 2 ชิ้นในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เกี่ยวกับการประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งนี้ คือ Peter van den Dungen, The Making of Peace: Jean De Bloch and the First Hague Peace Conference, (Center for the Study of Armament and Disarmament, California State University of Los Angeles, 1983) และ Arthur Eyffinger, The 1899 Hague Peace Conference: 'The Parliament of Man, the Federation of the World', (The Hague: Kluwer Law International, 1999)

(3) งานเขียนชิ้นนี้มีทั้งหมด 6 เล่ม ตีพิมพ์ขึ้นในตอนต้นปี ค.ศ. 1898 การตีพิมพ์เผยแพร่เกิดขึ้นภายหลังจากที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกคำตัดสินสั่งห้ามพิมพ์เผยแพร่งานเขียนดังกล่าวของเจ้าพนักงานพิมพ์รัสเซีย หลังจากนั้น งานเขียนชิ้นนี้ก็ได้มีการแปลและพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษายุโรปหลายภาษา ชื่อหนังสือเล่มนี้ในพากย์ภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันแปลออกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า War: Translation of the Russian Work on War in the Future in Its Technical, Economic and Political Aspects ดู ประวัติย่อในด้านอาชีพการงานของ เดอ บลอค รายละเอียดเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับงานเขียนชิ้นนี้ และบทบาทของงานเขียนชิ้นดังกล่าวที่คลี่คลายไปสู่ข้อเสนอจัดการประชุมสันติภาพนานาชาติของรัสเซีย ใน van den Dungen, op.cit.

(4) ดู Thomas K. Ford, "The Genesis of the First Hague Peace Conference," Political Science Quarterly, Vol. 51, No. 3 (1936), pp. 354-382; Dan L. Morrill, "Nicholas II and the Call for the First Hague Peace Conference," Journal of Modern History, Vol. 46, No. 1 (March 1974), pp. 45-60 และ van den Dungen, op.cit.

(5) Scott, op.cit.
(6) Ibid.

(7) ดูความเห็นของบุคคลร่วมสมัยและนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับบุคลิกภาพของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ เป็นต้นว่า ใน Ford, op.cit., p. 358; Morrill, op.cit., pp. 305-6, and van den Dungen, op.cit., p. 10.

(8) Calvin DeArmand Davis, The United States and the Second Hague Peace Conference: American Diplomacy and International Organization, 1899-1914, (Durham: N.C.: North Carolina University Press, 1975), pp. 6-7.

(9) Sandi E. Cooper, "Foreword," in van den Dungen, op.cit., p. vii.

(10) นักเขียนสตรีและนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพ งานเขียนนวนิยายแนวสันติภาพอันยิ่งใหญ่ของเธอเรื่อง Die Waffen nieder (Lay Down Your Arms) ใน ค.ศ. 1889 และบทบาทการเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพ ทำให้เธอเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพใน ค.ศ. 1905 ขณะที่มีอายุได้ 72 ปี

(11) บทบาทของ ฌ็อง เดอ บลอค ในการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก และรวมทั้งกิจกรรมความเคลื่อนไหวของนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพคนอื่นๆ ที่กล่าวนามมาข้างต้น มีปรากฏอยู่ใน van den Dungen, op.cit. และ Eyffinger, op.cit. ส่วนบทบาทของขบวนการเรียกร้องสันติภาพในสหรัฐอเมริกา ดู Calvin DeArmand Davis, The United States and the First Hague Peace Conference, (Published for the American Historical Association by Cornell University Press, Ithaca, N.Y., 1962), pp. 54-63. สตีด นักหนังสือพิมพ์และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพชาวอังกฤษ เสียชีวิตเมื่อเรือโดยสารไตตานิคจมลงในมหาสมุทรแอตแลนติคในเดือนเมษายน ค.ศ. 1912

(12) Ford, op.cit., p. 376-7; Morrill, op.cit.,pp. 308-9; และ van den Dungen, op.cit., p. 13.
(13) Ford, op.cit., pp. 378-9.
(14) Ford, op.cit., p. 378; Morrill, op.cit., p. 308.
(15) ดูความเต็มของบันทึกเวียนฉบับที่ 2 ได้ใน Scott, op.cit., pp. 3-5.
(16) Ibid.
(17) Ibid.
(18) Ibid.
(19) ดู "Subjects to be submitted for international discussion at the conference" ใน Ibid.
(20) Ibid.

(21) ดู รายชื่อประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก และครั้งที่ 2, บันทึกรายงานการประชุมของทั้ง 2 ครั้ง ข้อความเต็มของอนุสัญญา (Conventions) และปฏิญญา (Declarations) ที่เป็นผลของการประชุมทั้งสองครั้ง ฯลฯ ได้ใน James Brown Scott (ed.), The Hague Conventions and Declarations of 1899 and 1907, Accompanied by Tables of Signatures, Ratifications and Adhesions of the Various Powers and Texts of Reservations, (Published for the Carnegie Endowment for International Peace by Oxford University Press, N.Y., 1915), และ James Brown Scott (ed.), The Proceedings of the Hague Peace Conferences: Translation of the Official Texts, Vol. I: The Conference of 1899, Vol. II: The Conference of 1907, (N.Y. Oxford University Press, 1920).

(22) Cooper, "Foreword," in van den Dungen, op.cit., p. viii.
(23) Ibid.
(24) Ford, op.cit., p. 361; Morrill, op.cit., p. 304; และ van den Dungen, op.cit., p. 13.

(25) อนุสัญญาและปฏิญญาของที่ประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก ที่ได้รับการลงนามโดยผู้แทนของรัฐบาลประเทศต่างๆ ประกอบด้วย อนุสัญญาว่าด้วยการตกลงอย่างสันติวิธีในกรณีพิพาทระหว่างประเทศ (Convention for the pacific settlement of international disputes) อนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายและแบบธรรมเนียมของสงครามทางบก (Convention with respect to the laws and customs of war on land) อนุสัญญาว่าด้วยการปรับใช้หลักการของอนุสัญญาเจนีวาในสงครามทางทะเล (Convention for the adaptation to maritime warfare of the principles of the Geneva Convention) ปฏิญญาว่าด้วยการห้ามการยิงขีปนาวุธหรือวัตถุระเบิดจากบัลลูน (Declaration prohibiting the launching of projectiles or explosives from balloons) ปฏิญญาว่าด้วยก๊าซพิษ (Declaration concerning asphyxiating gases) และปฏิญญาว่าด้วยกระสุนหัวระเบิด (Declaration concerning expanding bullets) ดูความเต็มของข้อตกลงทั้งหมดนี้ รวมทั้ง บัญญัติต่อท้าย ได้ใน Scott (ed.), The Hague Conventions and Declarations of 1899 and 1907, op.cit.

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
25 November 2007
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๙ การประชุมสันติภาพนานาชาติดูจะไม่ใช่ประดิษฐกรรมใหม่ของการทูตตะวันตกสมัยใหม่อีกต่อไปแล้ว ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมาเป็นอย่างน้อยที่การจัดประชุมระหว่างชาติเพื่อแสวงหาหนทางยุติความขัดแย้งทางการเมือง และภาวะสงครามที่มีต่อกัน เป็นวิธีปฏิบัติที่รัฐคริสเตียนต่างๆ ในยุโรปใช้กันอยู่เป็นปกติ. ตลอดคริสตศตวรรษที่ ๑๙ การจัดประชุม "สันติภาพ" นานาชาติได้กลายมาเป็น "บทลงท้าย" ของกระบวนการทางการทูตในกรณีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว