โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๑๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐ (November, 24, 11, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

24-11-2550

Nonviolence
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

รายงานสรุป: การร่วมงานมหกรรมสันติวิธีที่ มหาวิทยาลัญธรรมศาสตร์
มุมมองมุสลิมภาคใต้: สิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี กรุงเทพฯ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : บรรณาธิการ
เรียบเรียงและตัดตอนมาจากงานเขียนสรุปของ
อ. อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)
[email protected]

บทความต่อไปนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นงานเขียนชิงสรุปเกี่ยวกับงานมหกรรมสันติวิธี ซึ่งจัดให้มีขึ้นเมื่อ
ต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๐ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
งานชิ้นนี้มีความยาวทั้งสิ้น ๖ ตอน ความยาวกว่า ๕๐ หน้า ประกอบด้วย
- สิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี (1) อารัมภบท
- สิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี (2) : หนังสือเกี่ยวกับชายแดนใต้
- สิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี (3 ) : ข้อค้นพบเกี่ยวกับหนังสือเกี่ยวของชายแดนใต้
- สิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี (4) : ตัวอย่างข้อมูลหนังสือที่รวบรวมได้เบื้องต้น
- สิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี (5) : ตัวอย่างการบันทึกข้อมูลหนังสือชายแดนใต้
- สิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี (6 ) : บทสรุปการรวบรวมหนังสือชายแดนใต้

เฉพาะบนหน้าเว็บเพจนี้ นำเสนอเพียง ๔ ตอน เท่านั้น... สำหรับนักศึกษา สมาชิก
และผู้สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมโดยสมบูรณ์ กรุณาคลิกไปที่ข้อมูลที่ให้ไว้ล่างสุด
ของบทความบนหน้าเว็บเพจนี้ หรือติดต่อกับผู้เขียนซึ่งได้ให้ที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกแล้ว
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๑๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

รายงานสรุป: การร่วมงานมหกรรมสันติวิธีที่ มหาวิทยาลัญธรรมศาสตร์
มุมมองมุสลิมภาคใต้: สิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี กรุงเทพฯ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : บรรณาธิการ
เรียบเรียงและตัดตอนมาจากงานเขียนสรุปของ
อ. อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)
[email protected]

สิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี (1) อารัมภบท

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสดามุฮัมมัด
ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2550 ผู้เขียนได้มีโอกาสนำเสนอผลงานทางวิชาการใน มหกรรมสันติวิธี ครั้งที่ 2 : Festival on Nonviolence ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้. มหกรรมสันติวิธี ครั้งที่ 2 นี้ ใช้ชื่องานว่า "วิถีสู่ความเป็นธรรมและสมานฉันท์" ด้วยการร่วมมือของหลายองค์กรที่ทำงานด้านสันติวิธีในสังคมไทย กว่า 30 องค์กร

ในมหกรรมครั้งนี้ มีนักการศาสนาและนักวิชาการเช่น พระไพศาล วิสาโล ได้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ "ความหวังและปัญหาท้าทายแนวทางสันติวิธีในปัจจุบัน" และ ผศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูลได้ปาฐกถาในหัวข้อ "ศีลธรรมและสันติภาพ". ในขณะเดียวกันมีเวทีบทความและงานวิจัยด้านสันติศึกษาต่างๆ มากมาย เช่น สื่อทางเลือก เว็บไซต์ Mindanews กับความขัดแย้งในแวดวงสื่อในการนำเสนอความขัดแย้งในมินดาเนา ฟิลิปปินส์ โดยคุณกอแก้ว วงศ์พันธุ์ นักข่าวอิสระ, วงจรความขัดแย้งโดยคุณศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ จากสถาบันพระปกเกล้า, วัฒนธรรมความรุนแรงในสังคมไทยโดยอาจารย์งามศุกร์ รัตนเสถียร จากมหาวิทยาลัยมหิดล, การใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขความขัดแย้ง: ศึกษากรณีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ระหว่างปี พ.ศ. 2541-2546 โดยอาจารย์จิตราภรณ์ สมยานนทนากุล จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นอกจากเวทีวิชาการทางผู้จัดได้จัดเวทีเสวนา "วิสัยทัศน์สันติวิธี" โดยรองผู้ว่าฯ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกิจกรรมในห้องย่อยเพื่อการเรียนรู้ "สันติวิธีที่เราทำได้" ในหัวข้อต่างๆ เช่น การจัดการความขัดแย้ง, สื่อละครเพื่อการเข้าใจความขัดแย้ง, การสานเสวนา, เรียนรู้สิทธิมนุษยชนด้วยตนเอง, สันติวิธีในสถานพินิจ, สันติวิถีกับชีวิตที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง

ในเวทีดังกล่าวนั้นทำให้ผู้เข้าร่วมบรรลุวัตถุประสงค์มากมาย เช่น

1. เรียนรู้ที่จะมองความขัดแย้งด้วยความเข้าใจ หรือมองด้วยมุมมองใหม่ๆ และฝึกฝนวิธีการต่างๆ ที่จะนำความขัดแย้งไปสู่การสร้างสรรค์ประโยชน์ มากกว่าการใช้ความรุนแรง, เพื่อสามารถรับมือได้กับสังคมสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

2. เป็นการเรียนรู้ถึงการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ผ่านกิจกรรมการละคร ภายใต้แนวคิดแบบมะขามป้อมคือ สนุก ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และมีสีสัน ได้สาระ และการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับและแบ่งปัน

3. ร่วมเรียนรู้ "อะไรคือสิ่งจำเป็นในชีวิตมนุษย์ที่คนทุกคนควรได้รับ" เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เช่น อากาศบริสุทธิ์ การมีงานทำ หากมีการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน สังคมจะมีความสงบและอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเข้าใจ โดยไม่เบียดเบียนกัน

4. การสานเสวนา คือ ฝึกฝนการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้ที่อาจมีจุดยืนต่างกัน เป็นการฟังอย่างลึกซึ้งโดยไม่ตัดสินผู้ใดไว้ก่อน ด้วยการใช้เมตตาเพื่อเกิดปัญญา สันติสุข และการพัฒนาความเป็นมนุษย์ จนทำให้เกิดความร่วมมือและนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งและความรุนแรงร่วมกัน

กล่าวโดยสรุปมหกรรมสันติวิธีครั้งนี้มองว่า ทุกคนสามารถใช้วิธีการสันติได้ ด้วยการมีใจเชื่อมั่นในหัวใจความเป็นมนุษย์ ที่กล้าเผชิญต่อปัญหาหรือข้อขัดแย้ง ด้วยการคิดหาทางออกด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ ยิ่งไปกว่านั้นการรวมพลังและร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องของผู้ใฝ่สันติ ในการนำทักษะที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างจริงจัง น่าจะช่วยให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นนั้นลงได้มาก และเมื่อนำสันติวิธีมาสู่การใช้ในวิถีชีวิตประจำวันก็จะเกิดความสันติสุขสมานฉันท์โดยแท้จริง

สิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี (2) : หนังสือเกี่ยวกับชายแดนใต้

ในตอนที่สองนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอสิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี จากการนำเสนอการวิจัยของ อ.โชคชัย วงษ์ตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้นำเสนอการวิจัยหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งท่านเชื่อว่าทางออกของสังคมไทยในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถทำได้คือ การขยายฐานความรู้ของผู้อ่านผ่านการจัดระบบหมวดหมู่ของหนังสือที่ "ถูกผลิต" ออกสู่สาธารณะ ทั้งที่ซื้อขายและแจกจ่าย ที่มีผลต่อการออกมาอธิบาย บรรยาย ชี้นำ บันทึกประวัติศาสตร์และร่วมช่วยเหลือ สร้างความรู้ความเข้าใจต่อสังคม ทั้งในอดีต(ก่อนเดือนมกราคม 2547) และหลังเหตุการณ์ปล้นปืน ณ ค่ายทหาร ที่บ้านปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส อันเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่อๆ มา (หลังเดือนมกราคม 2547) ถึงปัจจุบัน (ตุลาคม 2550)

งานวิจัยรวบรวมบรรณนิทัศน์นี้ มีจุดมุ่งหมายสามประการหลัก คือ

ประการแรก งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อรวมรวมหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้รับการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ที่เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ประการที่สอง งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมและประมวลเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งนำเสนอเนื้อหาสาระ คำถามและคำตอบที่ปรากฏในหนังสือเล่มต่างๆ จัดพิมพ์เผยแพร่ในลักษณะบรรณนิทัศน์หนังสือที่มีทั้งภาพปกและเนื้อหาแก่ผู้สนใจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา เพื่อการบริการวิชาการแก่ชุมชน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย

ประการที่สาม งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อการจัดแบ่งหมวดหมู่หนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งให้รายละเอียดเบื้องต้นของหนังสือ ผู้เขียน ปีที่พิมพ์ และเป้าหมายของผู้เขียน รวมทั้งให้วิเคราะห์ สังเคราะห์ถึงความสำคัญของเนื้อหา และองค์ความรู้ที่ปรากฏในหนังสือแก่ผู้อ่าน และเพื่อเป็นการสะสมองค์ความรู้พื้นฐานที่สามารถใช้ประกอบการเรียนการสอน ด้านสาขาวิชาการจัดการความขัดแย้งของสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ด้วยวิธีการจัดหมวดหมู่เรียบเรียงหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่แห่งนี้ จะเป็นวิธีการหนึ่งที่สร้างวิธีการเข้าถึงความรู้ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเลือกที่จะ"เข้าถึงซึ่งความรู้" เกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าว และเป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างกันภายใต้ความหลากหลายของผู้คนร่วมสังคมไทย และสามารถเข้าถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบ

การจัดแบ่งหมวดหมู่ของหนังสือ
อ.โชคชัย วงษ์ตานี นำเสนอรายละเอียดต่างๆ ในการวิจัยโดยครอบคลุ่มชื่อเรื่อง ภาพปก เนื้อหาของบท หัวเรื่องหลักหรือหัวข้อย่อยที่บันทึกอยู่ในหนังสือเล่มต่างๆ รวมทั้งทัศนะของท่านรวบรวมบรรณนิทัศน์ต่อหนังสือที่รวบรวม โดยครอบคลุมหนังสือที่เขียนในลักษณะต่างๆ อาทิ งานเขียน, งานแปล, งานรวบรวมเรียบเรียง, งานสรุปหรือบทวิเคราะห์ข่าว รวมทั้งเอกสารบันทึกประวัติศาสตร์ โดยในงานวิจัยรวบรวมหนังสือนี้ ท่านเลือกใช้วิธีการแบ่งหมวดหมู่หนังสือออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

1. การแบ่งหนังสือตามปีที่จัดพิมพ์หรือปีที่ผลิต โดยแบ่งเป็น
- หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ก่อนมกราคม พ.ศ. 2547
- หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์หลังมกราคม พ.ศ. 2547
โดยใช้การเรียงลำดับตามปีพิมพ์หรือปีที่ผลิตหนังสือ พร้อมให้รายละเอียดในการสรุปเนื้อหาในแต่ละเล่ม รวมทั้งบอกถึงรายละเอียดหนังสือเก่าที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ก่อนเดือนมกราคม 2547 และถูกนำกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งหลังเดือนมกราคม 2547

2. แบ่งตามคุณสมบัติ สถานะหรือสาขาอาชีพของผู้เขียนผู้เรียบเรียง โดยการกำกับรหัสในการแบ่งหมวดหมู่ ดังต่อไปนี้

3. แบ่งตามประเภทของหนังสือ ตามที่ได้กำกับรหัสไว้ในเนื้อหาว่าด้วยประเภทของหนังสือที่รวบรวม

สิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี (3 ) : ข้อค้นพบเกี่ยวกับหนังสือเกี่ยวของชายแดนใต้

ในตอนที่สามนี้ผู้เขียนขอนำเสนอสิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี จากการนำเสนอการวิจัยของ อ.โชคชัย วงษ์ตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้นำเสนอการวิจัยเกี่ยวกับหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อ (ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อค้นพบ)

ในการศึกษางานวิจัยรวบรวมบรรณนิทัศน์ฯ ชิ้นนี้ ท่านได้ค้นพบประวัติศาสตร์หนังสือเล่มสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากอดีตจนปัจจุบัน โดยมีหนังสือ ดังต่อไปนี้

1. "ฆูฆูสซัน จะฮยา กือซือลามัตตัน / รวมแสงแห่งสันติ"
(พ.ศ.2492: ปีที่เขียนเสร็จ / พ.ศ.2501: ปีที่จัดพิมพ์)

หนังสือเล่มสำคัญที่เป็นปฐมบท ของหนังสือเกี่ยวข้องกับกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเขียนในยุคก่อนปี 2500 ความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้คือ ภายหลังจากหะยีอามีน โต๊ะมีนา (บุตรของ หะยีสุหลงและพี่ชาย ส.ส.เด่น โต๊ะมีนา) ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดปัตตานีในปี พ.ศ.2501 ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ที่เขาได้รับความไว้วางใจจากชาวปัตตานีอีกครั้ง โดยอยู่ในยุคสมัยของรัฐบาลภายใต้การนำของพลโทถนอม กิตติขจร

หลังจากได้รับการเลือกตั้งครั้งนั้น หะยีอามีน โต๊ะมีนา ได้ไปติดต่อให้โรงพิมพ์ เซาดารอเพรส ตั้งอยู่ที่ถนนตะลุบัน เมืองปัตตานี สั่งพิมพ์หนังสือชื่อเล่มสำคัญนี้ในชื่อ"ฆูฆูสซัน จะฮยา กือซือลามัตตัน" ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า "รวมแสงแห่งสันติ" เป็นหนังสือที่ หะยีสุหลง เขียนขึ้นในระหว่างรอการพิพากษาของศาล ณ เรือนจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. 2492

เนื้อหาในเล่มแบ่งออกเป็นสองส่วน
ส่วนแรก คือหน้า 1-15 กล่าวถึงประวัติ ความเป็นมา ข้อเท็จจริงในชีวิตของท่านที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ การเดินทางและการทำงานทั้งทางด้านศาสนาและสังคมเพื่อชาวมลายูปัตตานี และยังมีการบันทึกเนื้อหาในประเด็นการเรียกร้องทางการเมืองต่อทางการไทย(ข้อเสนอ 7 ข้อ) ในการเรียกร้องขอความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางการเมือง ในฐานะที่เป็นข้อเรียกร้องของชาวไทยมลายูมุสลิมในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้. หนังสือนี้ถือว่าเป็นหลักฐานเบื้องต้นและแหล่งข้อมูลแรกที่การบันทึกข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งเดิมบันทึกเป็นภาษามลายูอักษรยาวี โดยมีข้อเรียกร้องที่ถูกบันทึกในหนังสือเล่มนี้เพียง 6 ข้อ(น.4-5) ที่เป็นอักษรตัวพิมพ์ ส่วนยข้อที่ 7 ถูกเขียนขึ้นโดยลายมือในภายหลัง (1)
(1) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2490 หะยีสุหลง ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึง พลเรือตรีหลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยมีข้อเรียกร้อง 7 ข้อ โดยหนังสือเล่มนี้บันทึกไว้ว่า ข้อเรียกร้องต่อทางการของหะยีสุหลงนั้นมีเพียง 6 ข้อ โดยบันทึกเป็นภาษามลายูอักษรยาวี (ตัวพิมพ์อาหรับ) ส่วนข้อที่ 7 ถูกเขียนขึ้นใหม่ด้วยลายมือของเจ้าของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งอาจเป็นหะยีอามีน(ผู้สั่งพิมพ์)ลูกชายของหะยีสุหลง จึงนำสู่ข้อสงสัยที่ว่าข้อเรียกร้องของหะยีสุหลงที่แท้จริงมี 6 หรือ 7 ข้อกันแน่

ผู้วิจัยพบว่านอกจากความคลาดเคลื่อนในเรื่องจำนวนของข้อเรียกร้องแล้ว ยังมีปัญหาในการแปลความข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นภาษาไทยที่ไม่ตรงกันในแวดวงวิชาการไทยด้วย อาทิ ในข้อเรียกร้อง ข้อที่ 1 มีผู้แปลว่า "ขอให้แต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มมาปกครองใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ให้มีอำนาจที่จะปลด ระงับ หรือโยกย้ายข้าราชการได้ บุคคลผู้นี้จักต้องถือกำเนิดในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของ 4 จังหวัด และจักต้องได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนใน 4 จังหวัดนั้น". และอีกแหล่งหนึ่งมีผู้แปลข้อความเดียวกันว่า "ขอปกครอง 4 จังหวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งประเทศไทย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูง ให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัด"

แต่สิ่งที่หะยีสุหลงเขียนในหนังสือเล่มนี้ ในข้อเรียกร้องข้อที่ 1 ว่า "ขอให้มีบุคคลหนึ่งที่มาเป็นผู้นำโดยเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มีผู้ถิ่นกำเนิดในสี่จังหวัด(สามจังหวัดรวมถึงจังหวัดสตูล)ขึ้นมาจากตัวแทน โดยมาจากการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชนใน 4 จังหวัด โดยให้เขาผู้นั้นมีสิทธิในการปกครอง และมีอำนาจเต็ม". จะเห็นได้ว่ามีความคลาดเคลื่อนในการแปลความเป็นอย่างมาก ต่างจากข้อความอื่นๆ ที่นำเสนอก่อนหน้า ซึ่งความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น อาจนำสู่ความเข้าใจผิดของรัฐที่มีต่อข้อเรียกร้องของท่านหะยีสุหลง

ส่วนที่สอง คือตั้งแต่หน้า 16 ถึงหน้า 86 มีเนื้อหาที่ท่านหะยีสุหลงเขียนเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติในการครองตนเป็นมุสลิมที่ดี(อามัลต่างๆ) และการขอดุอาร์(บทขอพร)ในวาระและโอกาสต่างๆ อาทิ ดุอาร์ให้รอดพ้นจากการคุกคามของคนร้าย หมอปลุกเสกหรือหัวขโมย(น.23), ดุอาร์ให้พ้นจากการเป็นหนี้และขอ(ริสกี)ความมั่งคั่งจากพระเจ้า(น.44), ดุอาร์ที่ใช้ขอพรหลังการละหมาด(น.54) โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นบทต่างๆ โดยท่านได้กำชับว่าจะเกิด "สันติ" ได้ด้วยการขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าเป็นวิธีการสำคัญและจบเล่มด้วยการขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าแก่ทุกคนที่ท่านให้ความสำคัญ

หนังสือเล่มนี้ถูกจัดพิมพ์ขึ้น โดยคำสั่งของหะยีอามีน โต๊ะมีนา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่พี่น้องมุสลิมทั่วไป เพื่อมุสลิมจะได้ร่วมกันทำงานและยึดเอาเจตนาที่ดี ซึ่งบิดาของผู้สั่งพิมพ์(หะยีสุหลง)ได้ทำการปูพื้นฐานทางการเมืองไว้ และในบางส่วนของเล่มยังได้เขียนฝากความหวังให้ชาวไทยมลายูมุสลิมเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้ และช่วยการอ่านกุลฮูวัลเลาะฮ(บทหนึ่งของคัมภีร์อัลกุรอ่าน)ให้แด่วิญญาณหะยีสุหลง และผู้ที่ล่วงลับไปพร้อมๆ กับท่าน

หนังสือรวมแสงแห่งสันติ พิมพ์เสร็จเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 (2) จำนวน 10,000 ฉบับ แต่ยังไม่ทันได้นำออกเผยแพร่ก็ถูกคำสั่งจากทางการในกรุงเทพฯ ให้ริบและเผาทำลายโดยทันที โดยที่หนังสือยังอยู่ในโรงพิมพ์ โดยการปฏิบัติการของผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีในสมัยนั้น
(2) พ.ศ. 2501 เป็นปีเดียวกันกับที่รัฐบาลสมัยนั้น ได้พยายามเอาใจชาวไทยมลายูมุสลิมด้วยการสร้างมัสยิดกลางเมืองปัตตานี ภายหลังการหายตัวไปของหะยีสุหลง มัสยิดกลางปัตตานี ในมุมมองของชาวไทยมลายูมุสลิมในสมัยนั้น จึงเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการฟื้นฟูสภาพจิตใจ สานสายสัมพันธ์ใหม่และสร้างความจงรักภักดีต่อรัฐบาล

มีข้อน่าสังเกตว่าต้องมีสายรายงานจากทางการ ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของหะยีอามีน ซึ่งสืบทราบแม้กระทั่งการจัดพิมพ์หนังสือ ย่อมแสดงให้เห็นว่าสายข่าวของทางการในสมัยนั้น จับตาสืบข่าวหะยีอามีนโดยตลอด ด้วยสายตาของความสงสัยและไม่ไว้วางใจทำนองเดียวกับที่หะยีสุหลงได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกันมาแล้ว

จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์หนังสือของหะยีอามีนในการจัดพิมพ์หนังสือ "รวมแสงแห่งสันติ"ไม่ประสบผลตามที่หวังไว้ แต่อย่างไรก็ตามหลังจากเผาทำลายหนังสือแล้วไม่ปรากฏว่าทางการได้ตั้งข้อกล่าวหาเอาผิดต่อหะยีอามีนแต่อย่างใด ภายหลังพิมพ์หนังสือเล่มนี้ได้กว่า 3 ปี กรณีของการผลิตหนังสือเล่มนี้ ได้ถูกนำมาร่วมเป็นเงื่อนไขหนึ่งในข้อกล่าวหาในการจับกุมหะยีอามีนในปี 2504 จนนำสู่ข้อหาใหม่ในฐานะกบฎของแผ่นดินไทย ทั้งที่ต่อสู้ในทางการเมืองในระบบรัฐสภาในฐานะตัวแทนปวงชน โดยทางการในสมัยนั้นยื่นฟ้องด้วยข้อหา "บ่อนทำลายความมั่นคงของประทศ" ด้วยการตั้งข้อหากบฏ จนเป็นที่เรียกกันในหมู่คนทั่วไปในสมัยนั้นว่า "กบฏหะยีอามีน" (3)
(3) ที่มา จดหมายจากนายเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร ในขณะดำรงตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ถึงนายเด่น โต๊ะมีนา ลงวันที่ 25 มีนาคม 2540 โดยกล่าวถึง ปัญหาในการค้นคว้าในเรื่องมุสลิม 4 จังหวัดภาคใต้ ในการทำรายงานเพื่อการศึกษาในระดับปริญญาเอก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่า หน่วยงานทางราชการไม่ให้เอกสารในส่วนที่มหาวิทยาลัยต้องการ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงของชาติเป็นประการสำคัญ และมีอุปสรรคอีกหลายประการในการจัดเก็บข้อมูล จึงเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลให้ต้องลาออกจากการศึกษาในระดับปริญญาเอก โดยในจดหมายฉบับนี้นายเฉลิมเกียรติ แนบเอกสาร เค้าโครงรายงานเรื่อง "กบฏหะยีอามีน" ซึ่งเป็นร่างเค้าโครงที่มีเนื้อหาที่กล่าวถึงหนังสือเล่มดังกล่าวในฐานะเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง

การริบและเผาทำลายหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นหนึ่งในปฐมเหตุของการที่ทางการใช้ตั้งข้อหาในการจับกุมข้อหาขบถภายใน แบ่งแยกดินแดน โดยรัฐให้เหตุผลว่า "เพื่อประโยชน์ต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ" และเมื่อผ่านการต่อสู้ในศาลแล้ว ไม่ปรากฏความผิด ทางการจึงได้ถอนฟ้องในเวลาต่อมา

หนังสือเล่มดังกล่าวได้สะท้อนถึงความพยายามในการทำงานกับมวลชนของหะยีอามีน โต๊ะมีนา ด้วยการเลือกใช้วิธีการต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภาด้วยการเป็นตัวแทนปวงชน แต่ยังไม่พ้นจากการเป็นที่ต้องสงสัยในการสืบทอดอุดมการณ์จากหะยีสุหลง. ภายหลังจากพ้นจากข้อกล่าวหา ซึ่งส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการผลิตหนังสือเล่มนี้ หะยีอามีน จึงหันหลังให้กับการต่อสู้ในระบบดังกล่าว มุ่งสู่การทำธุรกิจการค้าและขณะเดียวกันหันไปเอาดีด้านการเป็นผู้นำศาสนา จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี แต่ก็ยังไม่พ้นเงื้อมมือของรัฐที่มองไว้ไม่ไว้วางใจ. ท้ายที่สุดต้องหลบภัยไปอาศัยอยู่ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและสืบทราบมาว่าทางการอาจจะ "เก็บอย่างเงียบๆ" เช่นเดี่ยวกับ หะยีสุหลง ผู้เป็นบิดา ที่ต้องพบกับชะตากรรมเช่นกรณีดังกล่าวมาแล้ว. การหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศนั้นไม่ได้สร้างความสงบสุขแก่หะยีอามีน อย่างเช่นที่คนทั่วไปเข้าใจกัน แต่กลับถูกตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติมอีกว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน บี.อาร์.เอ็น (Barisan Revolusi Nasional : B.R.N)

หนังสือเล่มนี้ยังสำคัญไม่เพียงแต่ให้ข้อมูลการเรียกร้องและการให้ข้อเสนอที่เป็นสันติวิธี ซึ่งมาจากตัวแทนชาวไทยมลายูมุสลิมที่เสนอต่อรัฐ หนังสือเล่มนี้ยังถูกตั้งข้อสงสัยและกล่าวหาอย่างเข้าใจผิด โดยในเวลาต่อมานักเขียนไทยบางท่านได้สร้างข้อกล่าวหาต่อหนังสือเล่มดังกล่าว คือ

"หนังสือเล่มสำคัญยิ่งเล่มหนึ่งได้ถูกสร้างขึ้นชื่อว่า "รวมแสงแห่งสันติ" เขียนเป็นภาษามลายู แล้วแปลเป็นภาษาไทยเขียนโดย อามีน โต๊ะมีนาล ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2501หนังสือเล่มนี้ กล่าวหารัฐบาลร้อยแปดพันประการ พร้อมกับได้ยกย่องสรรเสริญนักรบชั้นแนวหน้าของเขาโดยเฉพาะได้ยกย่อง "หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์" ว่าเป็นยอดวีรบุรุษของชาวมลายูในประเทศไทย" (4)
(4) โปรดพิจารณางานของ สอาด จันทร์ดี. กระเทาะเปลือกไฟใต้ใครบงการ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมมิก จำกัด, 2549. ในบทที่ 16 น. 82-84 หัวข้อที่ชื่อ "โจรปัตตานีสร้างหนังสือปลุกระดมถล่มรัฐบาล"

และยังกล่าวหาเพิ่มอีกว่า

"ปี พ.ศ. 2503 อามีน โต๊ะมีนาล ได้พิมพ์หนังสือใหม่อีกเล่มหนึ่ง ชื่อ "ประวัติรัฐมลายูปัตตานี" หนังสือเล่มหลังนี้กล่าวว่าดินแดนแถบนี้ทั้งหมดเป็นของมลายูมาก่อน ดังนั้นทุกคนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในดินแดนนี้ ย่อมมีสิทธิถือสัญชาติมลายู ใครให้พวกเขาถือสัญชาติไทยก็ถือไป แต่ในใจไม่ยอมรับการเป็นคนไทย"

"หนังสือทั้งสองเล่ม ได้ถูกตีพิมพ์แจกจ่ายไปตามหมู่บ้านครบทุกครัวเรือน บางครัวเรือนมีมากถึง 3-4 เล่ม หลังจากนั้น ก็ได้จัดตั้งกองกำลังขึ้นในตำบลต่างๆ มีหัวหน้ารับผิดชอบ กระจายกันออกไป สร้างความสับสนอลหม่าน ราชการไทยเข้าไม่ถึงหมู่บ้านมาตั้งแต่บัดนั้น"

"ปี พ.ศ. 2503 ปีเดียวกันกับหนังสือ "ประวัติรัฐมลายูปัตตานี" ถูกตีพิมพ์ขึ้น แล้วแจกจ่ายชาวบ้านไปจนทั่ว เป็นปีที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ส่งคนงานชาวอีสานลงไปช่วยเหลือการกรีดยาง ปลูกต้นยาง. พวกโจรปัตตานีจำเป็นต้องยอมรับคนงานจากอีสาน เพราะความที่ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก แต่ในขณะเดียวกัน โจรปัตตานีเริ่มปลุกระดมไปตามหมู่บ้าน กระทำการแข็งข้อให้รัฐบาลเห็นจะจะ"

"ปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลสืบทราบมาว่า โจรแบ่งแยกดินแดนจะก่อการร้ายขึ้น โดยจะยึดที่ทำการของรัฐบาลและสถานที่ราชการต่างๆ โดยจะยึดพร้อมกันใน 4 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และจังหวัดสตูล รัฐบาลจึงส่งกำลังลงไปจับกุมบุคคลต้องสงสัยได้จำนวนมาก แล้วเอาตัวขึ้นมาสอบสวนที่กรุงเทพฯ รัฐบาลสอบสวนอยู่ไม่นานก็ปล่อยตัวทั้งหมด ก่อนปล่อยตัวกลับ ได้อบรมให้ความรู้และความเข้าใจ แล้ว "มอบเงิน" ให้คนละมากๆ ซึ่งก็รู้กันในหมู่โจรว่าเป็นการซื้อใจพี่น้องคนไทยเชื้อสายมลายู. มีข่าวว่าพวกโจรปัตตานีพากันหัวเราะงอหงาย รับเงินด้วยความสนุกสนาน บางคนยังได้รับเงินเป็นเดือนอีกต่างหาก ทางฝ่ายรัฐบาลสมัยนั้น คงคิดว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว โดยมีคำสั่งให้เก็บและทำลายหนังสือ 2 เล่มที่ "อามีน โต๊ะมีนาล" เขียนขึ้น" (5)
(5) อ้างแล้ว น. 84

จากข้อกล่าวหาดังกล่าวข้างต้นที่ไม่เป็นความจริงในหลายประการ ทั้งในประเด็นเรื่องเนื้อหาในหนังสือและจำนวนหนังสือที่หะยีอามีน โต๊ะมีนา ที่สั่งพิมพ์ โดยท่านได้สั่งพิมพ์เฉพาะหนังสือรวมแสงแห่งศรัทธาเพียงเล่มเดียว และความเข้าใจผิดของรัฐในอดีตที่ไม่เข้าใจเนื้อหาที่แท้จริงของหนังสือ"ฆูฆูสซัน จะฮยา กือซือลามัตตัน" หรือ "รวมแสงแห่งสันติ" ประกอบกับผู้สั่งพิมพ์เป็นทายาทของนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้หนังสือเล่มนี้ถูกเพิ่มสถานะของหนังสือธรรมดาสู่ความเป็นหนังสือที่ต้องสงสัย ต้องห้ามและนำสู่ความเข้าใจผิด จนก่อให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลาต่อมา

นับได้ว่าเหตุผลที่ทำให้ทั้งผู้สั่งพิมพ์ ผู้เขียน และหนังสือถูกตีตราด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ใช้หนังสือเพื่อการปลุกระดมที่นำสู่การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งทางการไทยขาดผู้แปลที่ให้ข้อมูลเนื้อหาที่ชัดเจนและถูกต้อง จนนำสู่การเข้าใจผิดต่อผู้พิมพ์และผู้ครอบครอง เช่นชาวมุสลิมปัตตานีที่ได้รับผลกระทบจนถูกต้องสงสัย แต่สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนี้ เป็นที่ทราบกันว่ารัฐบาลหรือนักการเมืองบางคนในสมัยนั้น อาจใช้หนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการสร้างปัญหาแก่คู่แข่ง ด้วยการตีตราหนังสือจนผู้จัดพิมพ์ต้องเผชิญปัญหา ไม่สามารถอยู่ได้อย่างสงบสุข และหนังสือต้องถูกริบทำลาย และถูกสถาปนายกชั้นขึ้นเป็นหนังสือต้องห้าม ทั้งที่เป็นหนังสือที่มีชื่อและเนื้อหาที่ชวนผู้อ่านสู่ความสันติ

2. ปัตตานี : อดีต - ปัจจุบัน. (2519)

หนังสือเล่มนี้นับได้ว่าเป็นต้นขบวน หนังสือที่เกี่ยวข้องเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุคหลังปี 2519. "ปัตตานี : อดีต-ปัจจุบัน" เป็นหนังสือที่มีความสำคัญเพราะเป็นหนังสือที่ปลุกกระแสการอ่าน นำผู้อ่านให้หันมาสนใจต่อประเด็นประวัติศาสตร์ กลับมาสำรวจรากเหง้าตนเองของชาวไทยมลายูมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีบันทึกว่า เมื่อหนังสือพิมพ์เสร็จวางจำหน่ายแล้วขายได้หมดในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น. กว่าครึ่งที่ผลิตจำหน่ายหมดที่ปัตตานี นอกนั้นวางขายในจังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส โดยไม่ทันที่จะวางขายในกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆ (6)
(6) อ้างจาก อ.บางนรา. (นามแฝง) ปัตตานีในอดีต. (ภาคแรกของ ปัตตานี / อดีต - ปัจจุบัน) มปท. 2523. น.คำนำ

ทั้งเนื้อหาและภาพประกอบในเล่มนี้ สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ปัตตานีและเหตุการณ์ร่วมสมัย(ก่อนปี 2520) ซึ่งเป็นการเขียนและรวบรวมเรื่องราวเป็นการค้นคว้าโดยคนในพื้นที่ ในฐานะผู้เขียนเป็น"คนใน"ของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งมีความสามารถในการสื่อสารแปลความด้านภาษาทั้งภาษาไทย มลายู(ยาวีและรูมี) ภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับ ทำให้สามารถสื่อและเรียบเรียงเนื้อหาในหลายแง่มุม มีหลักฐานที่เป็นวิชาการ น่าเชื่อถือ ครอบคลุมที่สุดของหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในยุคเดียวกัน

เนื้อหาในเล่มประกอบด้วย เรื่องราวเกี่ยวกับปัตตานี ทั้งเนื้อหาและภาพประกอบที่หายาก โดยกล่าวถึงปัตตานีในอดีตถึงปัจจุบันทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ การเมือง ผลกระทบของปัญหา ตั้งแต่สมัยลังกาสุกะ การสร้างเมืองปัตตานี อาทิ หัวเรื่อง ความสัมพันธ์ของปัตตานีกับสยามในสมัยสุโขทัยและในสมัยอยุธยา, เนื้อหาเกี่ยวกับราชวงศ์ต่างๆ, สมัยราชินี, สมัยเลือกราชา, ความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะส่งคนไทยไปปกครองหัวเมืองมลายู, นโยบายยัดเยียดและปราบปรามของรัฐบาล และเนื้อหาที่กล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ยุคของหะยีสุหลงกับข้อเรียกร้อง 7 ประการ, กรณีบ้านดุซงญอ และบทบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ปัตตานี พร้อมทั้งเอกสารหลักฐาน แผนที่ การอ้างอิง โดยที่มาของเนื้อหารวบรวมมาจากเอกสารที่มาจากภายในปัตตานี เอกสารภาษาอังกฤษ เอกสารภาษาไทย เอกสารภาษามาลายู ภาพข่าวและภาพเหตุการณ์วันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ปัตตานีเมื่อ 13 ธันวาคม 2518 ที่ชาวปัตตานี 13 คนถูกระเบิด อันเนื่องจากขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล และเรื่องราวของชายมุสลิม 5 คน ที่ถูกทหารฆ่าที่สะพานกอตอ เป็นต้น

หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนยังได้สรุปถึง การแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสมัยนั้น(พ.ศ. 2519) ซึ่งสามารถนำมาเปรียบเทียบกับปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน (พ.ศ.2547-2550) โดยเขากล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ว่า

"ปัญหาหลายๆ ปัญหาที่เราแก้ไม้ได้ หรือแก้ไม่ถูกจุดนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเกิดจากที่เราไม่ยอมรับความจริง ทั้งๆ ที่บางอย่างเรารู้ว่า ความจริงมันเป็นอย่างไร แล้วเราเอาความไม่จริงหรือความเท็จนั้นมาวิเคราะห์วิจัย เพื่อหาทางแก้ปัญหา ผลก็คือเหมือนกับจับไก่แล้วบอกว่า มันคือเป็ด แล้ววิเคราะห์ วิจัยว่า จะต้องปล่อยในน้ำแบบไหนมันถึงจะว่ายน้ำเหมือนเป็ด!" (7)
(7) อ้างแล้ว 2523. น.คำนำ

หนังสือเกี่ยวกับปัตตานีบางเล่ม ยังเป็นที่ต้องตาของทางราชการไทยเป็นพิเศษ เพราะมีความหวาดระแวงว่า จะเป็นหนังสือปลุกระดมให้คนมลายูในประเทศไทยเกิดความรู้สึกแปลกแยกและเกลียดชังทางราชการไทย นักเขียนและผู้อ่านหลายท่านจึงมองว่า รัฐไม่ใจกว้างต่อการนำเสนอปัญหาที่เขาอยากสะท้อน อีกทั้งไม่มองว่าความจริงที่ชาวบ้านได้รับและรู้สึก สามารถใช้เป็นกระจกเงาส่อง ความบกพร่องของทางการเอง ซึ่งบางครั้งหากเจ้าหน้าที่ค้นพบหนังสือเล่มนี้ที่ใด เจ้าของหนังสืออาจจะถูกข้อกล่าวหาเป็นแนวร่วมฝ่ายปลุกระดมมวลชนของผู้ก่อความไม่สงบก็ได้ ดังนั้น จึงไม่มีใครกล้าที่จะมีหนังสือเล่มนี้ครอบครองไว้ในบ้าน นอกจากตามห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเท่านั้น (8)
(8) ที่มา : บทความข่าว โดย อารีฟีน บินจิ เรื่อง"เราสูญเสีย "นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมลายู" ไปอีกผู้หนึ่งแล้ว" เผยแพร่ใน www. ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อ วันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2007

3. "เบอร์จีฮาด ดิ ปัตตานี / การต่อสู้ที่ปัตตานี"
(2545: ปีที่เขียนเสร็จ/2547: ปีที่หนังสือเป็นที่รู้จัก)

ปฐมบทของหนังสือเกี่ยวข้องกับกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่มาของเหตุการณ์หลังมกราคม 2547 เป็นต้นมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นหนังสือเล่มสำคัญเพราะถูกตราว่าเป็น "คู่มือมรณะ"ฉบับอื้อฉาว ซึ่งเป็นหนังสือที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จากหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากการปะทะในเหตุการณ์นองเลือดเมื่อ 28 เมษายน 2547

เบอร์ญีฮาด ดิ ปัตตานี เป็นหนังสือเขียนขึ้นด้วยลายมือ มี จำนวน 65 หน้า เป็นเอกสารที่กลุ่มผู้ก่อการใช้ในการปลุกระดมแนวร่วมผู้ก่อการ ซึ่งรัฐอ่านพฤติกรรมว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ใช้นามปากกา "กอลัม อัซซูลุก อิสมุลญามี นุฮ์" โดยระบุในส่วนนำของเล่มว่า ได้เขียนขึ้นที่บ้านกัวลาตีฆอ ตำบลตาเนาะฮแมเราะฮ์ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย วันที่เขียนเสร็จคือ 10 สิงหาคม 2545

โครงสร้างเนื้อหาในเล่มแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก เป็นการยกเอาหลักการบางโองการจากคัมภีร์อัลกุรอ่านและบางฮาดิษ (จริยวัตร แบบอย่างและการยอมรับของท่านศาสดา) มาใช้อ้างอิง นำประเด็นและสนับสนุนความชอบธรรมในเรื่องการต่อสู้เพื่อก่อเกิดการปกครองตนเองของชาวปัตตานี

ส่วนที่สอง เป็นงานเขียนที่แสดงความรู้ ความคิดเห็นทัศนคติและการมองโลกของผู้เขียน โดยขยายความจากส่วนแรกในลักษณะภาษา ที่มุ่งสร้างความฮึกเหิมและปุกระดมเพื่อการต่อสู้ อีกทั้งหนังสือเบอร์จีฮาด ดิ ปัตตานี (การต่อสู้ที่ปัตตานี) มีเนื้อหาบางส่วนที่ระบุให้ผู้อ่านและผู้เจริญรอยตาม แบ่งแยกผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกเป็น 3 กลุ่มคือ

กลุ่มแรก คือ ผู้ที่เห็นด้วยและว่าการต่อสู้ตามแนวทางเพื่อการแบ่งแยกดินแดน ถือว่าเป็นมุสลิมที่ถูกต้อง เป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง (มุอมิน)
การได้ร่วมต่อสู้และตายไป คือ ผู้ได้รับ(ชะฮีด) การพลีชีพเพื่อศาสนา

กลุ่มที่สอง คือ บรรดามุสลิมผู้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของที่โหดร้ายของกลุ่มแรกถือว่าเป็นคน(มุนาฟิก)
ผู้ทรยศ คนกลับกลอกต่อศาสนาอิสลาม

กลุ่มที่สาม คือ คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ผู้เขียนเรียกคนกลุ่มนี้ว่า(กาฟิร หรือมุซริก) หมายถึง "พวกนอกศาสนา"

โดยสรุปเนื้อหาในส่วนข้างต้นไว้ว่า "หน้าที่ของคนกลุ่มแรก" คือ กำจัดคนในกลุ่มที่สองและสาม. ที่สำคัญประการต่อมา คือ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าบิดเบือนคำสอนของอิสลาม มีข้อความที่ส่งเสริมให้ใช้รุนแรงปรากฏ อาทิ "หากผู้ใดไม่เห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้(ของกลุ่มขบวนการ) แม้จะเป็นบิดา-มารดา ก็ถือว่าเขาเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ศรัทธาที่แท้จริง จึงมีความชอบธรรมที่จะฆ่าพวกเขาได้" ซึ่งถือว่าบิดเบือนหลักการศาสนาอิสลามอย่างชัดเจน และถือเป็นบาปหนักหากใครบิดเบือนหลักการศาสนา. เมื่ออ่าน "คู่มือมรณะ" จบแล้ว สำหรับผู้ให้ความตระหนักต่อปัญหาที่เกิดขึ้น คำถามที่ตามมาคือ มุสลิมไทยและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการบริหารกิจการศาสนาอิสลามในประเทศ จะมีวิธีการอย่างไร ในการแก้ไขข้อบิดเบือนหลักการศาสนาอิสลามที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้

หนังสือแก้ต่าง

ด้วยอิทธิพลของหนังสือที่มีต่อผู้อ่าน จนนำสู่การปฏิบัติการของแนวร่วมกลุ่มต่างๆ ทางการไทยจึงมีการจัดทำหนังสือที่ทำออกมาเพื่อแก้ต่าง"เบอร์จีฮาด ดิ ปัตตานี/การต่อสู้ที่ปัตตานี" คือ หนังสือ "ชี้แจงข้อเท็จจริงการบิดเบือนคำสอนศาสนาอิสลามในเอกสาร"เบอร์จีฮาด ดิ ปัตตานี(การต่อสู้ที่ปัตตานี)" โดยสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งมีทั้งสิ้น 4 บท จำนวน 55 หน้า

- บทที่ 1 เป็นบทนำที่พูดถึงสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้จัดทำเผยว่า หากปล่อยไว้สถานการณ์ความรุนแรงอาจยืดเยื้อออกไป ส่วนผู้หลงผิดจำเป็นต้องเร่งทำความเข้าใจหลักคำสั่งสอนของศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง

- บทที่ 2 เป็นรายละเอียดการชี้แจงข้อเท็จจริงการบิดเบือนคำสอนศาสนาอิสลามในเอกสาร"เบอร์จีฮาด ดิ ปัตตานี"

- บทที่ 3 เรื่องหลักคำสอนที่แท้จริงของอิสลาม และ

- บทที่ 4 เป็นบทสรุป ซึ่งทางหน่วยงานผู้จัดทำหนังสือแก้ต่างเห็นว่าผู้เขียนเอกสารดังกล่าวขาดความเข้าใจในหลักคำสั่งสอนของศาสนาอิสลาม และมุ่งเน้นปลุกความรู้สึกในเรื่องชาติพันธุ์มลายูอย่างผิดๆ

สำนักจุฬาราชมนตรี ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารกิจการศาสนาอิสลามหน่วยงานหลักของประเทศและในฐานะของผู้จัดทำหนังสือแก้ต่าง ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตทุกคน และพร้อมทั้งเสนอขอให้ภาครัฐดำเนินการทุกอย่างด้วยความรอบคอบ และอดกลั้น และให้ตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงไม่สามารแก้ไขปัญหาได้

รัฐบาลใช้งบกว่า 3 ล้านบาทกับการแก้ไขข้อบิดเบือน
นอกจากการแก้ต่างเพื่อโต้แย้งขอบิดเบือนแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังส่งผลสำคัญถึงขนาดที่รัฐบาลสั่งจัดพิมพ์หนังสือ "ชี้แจงข้อเท็จจริงฯเผยแพร่ โดยแจกให้ทุกโรงเรียนเพื่อป้องกันการบิดเบือนและการสร้างความเข้าใจผิด โดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดพิมพ์หนังสือดังกล่าว ที่สำนักจุฬาราชมนตรีทำการศึกษา ทั้งหมด 210,000 เล่ม, ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท โดยใช้เวลาจัดพิมพ์ 2 สัปดาห์ จากนั้นได้ประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำไปมอบให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาแจกจ่ายไปยังโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐมองว่า ควรจะต้องได้รับหนังสือชี้แจงทุกโรงเรียน เพราะรัฐบาลในสมัยนายกทักษิณ ชินวัตร นั้นมองว่าเด็กและเยาวชนในพื้นที่อาจเข้าใจผิดที่มีต่อคำสอนในหลายๆ ประเด็นและรัฐเชื่อว่า "หากเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้รับความรู้ความเข้าใจคำสอนศาสนาอิสลามอย่างถูกต้องแล้ว จะนำทางให้พวกเขาได้รู้จักปฏิบัติแต่สิ่งดี ไม่หลงเชื่อคนง่ายและไปก่อความรุนแรงฆ่าคนเหมือนที่ผ่านมา"

สรุป จากข้อค้นพบที่ได้นำเสนอข้างต้น เป็นการทำความเข้าใจหนังสือ 3 เล่มที่ถูกผลิตในต่างยุคต่างสมัย แต่เกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกันคือ "สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" เล่มที่หนึ่งและเล่มที่สามถูกเขียนขึ้นในภาษามลายู เล่มที่สองถูกเขียนขึ้นในภาษไทย ทั้งสามเล่มย่อมส่งผลทั้งในทางสันติ และนำสู่การใช้ความรุนแรงในระดับที่แตกต่างกันไป เพราะหนังสือทั้งสามแตกต่างทั้งเนื้อหา วิธีการนำเสนอ ยุคสมัยของการเขียน การผลิตและเป้าหมายของผู้เขียนผู้เผยแพร่ที่แตกต่างกัน รวมทั้งหนังสือทั้งสามเล่มยังส่งผลต่อการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการช่วงชิงความน่าเชื่อถือทางการเมือง จากการตีความข้อมูลที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าหนังสือทั้งสามเล่ม ล้วนแล้วแต่เกี่ยวของกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ทางใดทางหนึ่ง จากอดีตจนปัจจุบัน

สิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี (4) : ตัวอย่างข้อมูลหนังสือที่รวบรวมได้เบื้องต้น
โดยใช้ลักษณะการทำบรรณานุกรมแบ่งและเรียงตามปีพิมพ์


ในตอนที่สี่นี้ ผู้เขียนขอนำเสนอสิ่งที่ได้รับจากมหกรรมสันติวิธี จากการนำเสนอการวิจัยของ อ.โชคชัย วงษ์ตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้นำเสนอการวิจัยเกี่ยวกับหนังสือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อ (ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวอย่างข้อมูลหนังสือที่รวบรวมได้เบื้องต้น โดยใช้ลักษณะการทำบรรณานุกรมแบ่งและเรียงตามปีพิมพ์) ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้-

ปี 2509/1969
พระยารัตนภักดี. ประวัติเมืองปัตตานี. กรุงเทพฯ : มปท, 2509.

ปี 2513/1970
เสลา เรขะรุจิ. ล่องใต้ 7,000 กิโลเมตร บุกแดนผู้ก่อการร้าย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ประมวลสาส์น 2513.

ปี 2514/1971
คณะกองบรรณาธิการภาพข่าวทักษิณ. เอกสารภาพข่าวทักษิณ (อูตูซันไทยซลาตัน). พระนคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, 2514.

ปี 2515/1972
- ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. ปัญหากลุ่มน้อยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2515.
- พระยารัตนภักดี. ดินแดนไทยในแหลมทอง (แหลมลายู). กรุงเทพฯ : มปท, 2515.
- คึกฤทธิ์ ปราโมท. มลายูรำกริช. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณาคาร, 2515.

ปี 2517/1974
อุดม เชยกีวงศ์. ระเบิดเวลาของไทย -มาเลเซีย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณกิจเทรดดิ้ง, 2517.

ปี 2518/1973
ณรงค์ คิริปะชะนะ. ความเป็นมาของกฎหมายอิสลามและดาโต๊ะยุติธรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ บริษัทบพิธ, 2518.

ปี 2519/1976
- สีแก้ว ยอดทอง. จับแหลก. กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น, 2519.
- อ.บางนรา(นามแฝง). ปัตตานี อดีต-ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: ชมรมแสงเทียน, 2519.
- อารง สุทธาศาสน์. ปัญหาความขัดแย้งในสี่จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ: บริษัทพิทักษ์ประชา จำกัด, 2519.

ปี 2522/1979
สุชีพ ณ สงขลา. ซือโก๊ะ แซกอ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พาสิโก, 2522.

ปี 2523/1980
- ดอนแม๊ค. ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะแก้อย่างไร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อักษรบัณฑิต, 2523.
- โสภาค สุวรรณ. ปุลากง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2523.
- เรืองยศ จันทรคีรี. สถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บริษัทวงศ์ปาล จำกัด 2523.
- อ.บางนรา.(นามแฝง) ปัตตานีในอดีต.(ภาคแรกของ ปัตตานี/อดีต - ปัจจุบัน) มปท. 2523.

ปี 2524/1981
- ซัยยิด อะบุลอะอฺลา เมาดูดีย์. ญิฮาดในอิสลาม. กรุงเทพฯ : สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม, 2524.
- เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ. 121. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2524.
- วรดา รงคผลิน(ผู้เรียบเรียง). ไฟใต้ ปัญหาสุมใจรัฐบาล, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เบญจมิตร, 2524

ปี 2525/1982
ประพนธ์ เรืองณรงค์. ลุ่มน้ำตานี. ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2525.

ปี 2526/1983
ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ และคณะ. ภูมิหลังชาวมุสลิมในประเทศไทยและปัญหาอิสลามในสี่จังหวัด
ภาคใต้ กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.

ปี 2527/1984
ประพนธ์ เรืองณรงค์. สมบัติไทยมุสลิมภาคใต้ การศึกษาคติชาวบ้านไทยมุสลิมจังหวัดปัตตานี
ยะลา และนราธิวาส. กรุงเทพฯ : เจริญวิทย์การพิมพ์, 2527.

ปี 2528/1985
อนันต์ วัฒนานิกร. แลหลังเมืองตานี. ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิยาลัสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี,2528.

ปี 2529/1986
- ดลมนรรจ์ บากาและคณะ. รายงานการวิจัยเรื่อง การสำรวจจิตรกรรมไทยมุสลิม จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส.
โครงการจัดตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2529.

- ประพนธ์ เรืองณรงค์. ปักษ์ใต้ชายแดน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, 2529.
- ประพนธ์ เรืองณรงค์. ลำนำลำน้ำใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, 2529.

ปี 2531/1988
- จุรีรัตน์ บัวแก้ว. การสำรวจโบราณสถานเบื้องต้นเมืองปัตตานี : ศึกษาเฉพาะกรณีวังจะบังติกอ. แผนกวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2531.

- ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารประกอบการปฐมนิเทศ โครงการปฐมนิเทศข้าราชการพนักงานเทศบาล พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ :ศูนย์ อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, 2531.

- เสาวนีย์ จิตต์หมวด. กลุ่มชาติพันธุ์ : ชาวไทยมุสลิม. กรุงเทพฯ : กองทุนสง่ารุจิระอัมพร, 2531.
- อนันต์ วัฒนานิกร. ประวัติเมืองลังกาสุกะ-เมืองปัตตานี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มิตรสยาม,2531.

ปี 2532/1989
ประมูล อุทัยพันธุ์. ฝากไว้ที่ปัตตานี. ปัตตานี: ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2532.

ปี 2533/1990
กิตติ รัตนฉายา. ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในจังหวัด
ชายแดนภาคใต้ มปท. 2533.

ปี 2534/1991
- รัชนี กัลยาณคุณาวุฒิ. รายงานวิจัย:การวิจัยสำรวจเอกสารการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาจังหวัด
ชายแดนภาคใต้.(ระหว่าง พ.ศ 2521-2532). สงขลา:คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่, 2534.

- ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้. สู่แดนใต้สันติ. ยะลา : พิมพ์ดีการพิมพ์, 2534.

ปี 2535/1992
เรืองยศ จันทรคีรี. สถานการณ์และไฟสุมขอนที่ภาคใต้ตอนล่าง. กรุงเทพฯ : จิรรัชการพิมพ์, 2535.

ปี 2536/1993
สถาบันทักษิณคดี. วารสาร ทักษิณคดี. สถาบันทักษิณคดี 2536.

ปี 2537/1994
เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร. การต่อต้านนโยบายรัฐบาล ในสี่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยโดยการนำของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์. กรุงเทพฯ :
มูลนิธิอาจารย์หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา, 2537.

ปี 2538/1995
- แวยูโซะ สามะอาลี. ประมวลคำศัพท์ ไทย-มลายูถิ่น. แมคอินซอย. 2538.

- สำนักงานศึกษาธิการเขต เขตการศึกษา 2 ร่วมกับโครงการฮารัปปันบารู. วิถีชีวิตของชาวมุสลิม.
สำนักงานศึกษาธิการเขต เขตการศึกษา 2 จังหวัดยะลา, 2538.

- อิบรอน มะลูลีม. วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศไทย: กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้.
กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อิสลามิคอะเคดามี, 2538.

ปี 2539/1996
- ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ. มุสลิมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ โครงการหอสมุดกลางอิสลามสายสกุล
สุลต่านสุลัยมาน, 2539.

- ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.). คู่มือการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตนของข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้.
ยะลา : โรงพิมพ์รวมมิตรยะลา 2539.

- สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ไทยกับโลกมุสลิม ศึกษาเฉพาะกรณีชาวไทยมุสลิม.สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.

- สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ฝ่ายส่งเสริมการศาสนาและวัฒนธรรม. สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นปัตตานี. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี , 2539.

ปี 2540/1997
ประพนธ์ เรืองณรงค์. บุหงาปัตตานี: คติชนไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2540.

ปี 2541/1998
- เจริญ ตันมหาพราน. แลประเพณีชายเล. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธารบัวแก้ว, 2541.
- ประพนธ์ เรืองณรงค์. มาลีศรีตรัง สารคดีจากเมืองใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2541.
- ลออแมน.(นามแฝง) ลังกาสุกะ ปาตานี ดารุสสลาม. ยะลา : ศูนย์วัฒนธรรมชายแดนภาคใต้, 2541.

- ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปผลการดำเนินงาน ประจำปี 2541. สงขลา : สงขลากรีนกรุ๊ป, 2541.

ปี 2542/1999
- กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้. ต่างศาสนาศรัทธาเดียวกัน. 2542.
- มุรีด ทีมะเสน. ทำไมมุสลิมจึงทำไม่ได้. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2542.
- หะซัน เอ็ม.บากิล. บทสนทนาระหว่างมุสลิมกับคริสตชน. กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสืออิสลาม, 2542.
- อนุสรณ์ มาราสา. เด็กปอเนาะ. กรุงเทพฯ : บริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2542.

ปี 2543/2000
- โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินร์ วิทยาเขตปัตตานี. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับแปลภาษามลายู อักษรยาวี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา. กรุงเทพฯ : มปท, 2543.

- ดลมนรรจน์ บากาและคณะ. รายงานการวิจัย:บทบาทผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้. ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2543.

- นิพพาน. ผีเสื้อและดอกไม้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ผีเสื้อ, 2543.
- ประพนธ์ เรืองณรงค์. ข้าวยำคำใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2543.
- ประสงค์ สุ่นศิริ. บทเรียนของแผ่นดิน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แนวหน้า, 2543.

- พีรยศ ราฮิมมูลา. พัฒนาการประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปัตตานี ตั้งแต่ ค.ศ.1350 - 1909 และการเข้ามาของศาสนาอิสลามในภูมิภาคปัตตานี. แผนกวิชารัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี,2543.

- สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. กะเทาะสนิมกริช : แลวิถีชีวิตชาวใต้ตอนล่าง. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2543.

- อารีฟีน บินจิ และคณะ. ปัตตานี ดารุสสลาม. (Patani Darussaalam) กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์มุสลิมนิวส์, 2543.

ปี 2544/2001
- มานี ชูไทย. อิสลาม: วิถีการดำเนินชีวิตที่พัฒนาคุณภาพชีวิต, กรุงเทพฯ: ภาควิชาสุขศึกษา
คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร 2544.

- มนัส จรรยงค์. จับตาย : รวมเรื่องเอก. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด, 2544.
- มัลลิกา คณานุรักษ์. รวมเรื่องน่ารู้ : ภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2544.

- รัตติยา สาและ. การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฎในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส. กรุงเทพมหานคร :
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2544.

ปี 2545/2002
- ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. ความรุนแรงกับการจัดการ "ความจริง": ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2545.

- มัลลิกา คณานุรักษ์. บุคคลสำคัญของปัตตานี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2545.
- รัตนชัย มานะบุตร. อุทกภัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นาคร, 2545.

- ศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน. 13 ปี ศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถา
บ้านสุไหงปาแน ต.บานาปัตตานีดรุสลาม. ปัตตานี : โรงพิมพ์มิตรภาพปัตตานี, 2545.

- ศูนย์ประสานงานปกครอง จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปต.). คู่มือการปฏิบัติราชการในจังหวัด ชายแดนภาคใต้. ยะลา :
ศูนย์ประสานงานปกครอง จังหวัดชายแดน, 2545.

- สมเกียรติ พ่วงทรัพย์. ไฟใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พันโพยม, 2545.
- สำนักงานจังหวัดนราธิวาส. จังหวัดนราธิวาสของเรา : ข้อมูลทั่วไปจังหวัดนราธิวาส ปี 2544. นราธิวาส : สำนักงานจังหวัดนราธิวาส, 2545.
- สมัย สุทธิธรรม.สารคดีชุด ถิ่นทองของไทย : ปัตตานี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2545.

- Ibrahim Syukri. History of the Malay Kingdom of Patani. (Sejarah Kerajaan Melayu Patani)
Conner Bailey (Translator), Chiang Mai.: Silkworm Books, 2002.

- Mooreland, W.H (ed.) Peter Floris: His Voyage to The East Indies in The Globe, 1611-1615
(Siam, Pattani, Batan). 2002 White Lotus Press. Bangkok

ปี 2546/2003
- การสัมมนาทิศทางการจัดการความขัดแย้งของสังคมไทย ปัญหาภาคใต้แก้ได้ด้วยสันติวิธี รายงานการ สัมมนา: ทิศทางการจัดการความขัดแย้งของสังคมไทยปัญหาภาคใต้แก้ได้ด้วยสันติวิธี. ขอนแก่น : สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2546.

- ครองชัย หัตถา. ภูมิลักษณ์ อ่าวปัตตานี.โครงการศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2546.
- จันทร์ ศรีจรูญ แอนเดอร์สัน. แม่วาดเมียบียอร์น ตอน "ใครคือคนไทยอิสลาม?". กรุงเทพฯ :บริษัท เคล็ดไทย จำกัด, 2546.
- ทรงกิตติ จักกาบาตร์. สถานการณ์ชายแดนใต้, ม.ป.ท. : ม.ป.พ. 2546.
- บัญชร ชวาลศิลป์. ดับไฟใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว, 2546.
- มุรีด ทิมะเสน. มุสลิมเดินขบวนประท้วง หลักการศาสนาว่าอย่างไร?. กรุงเทพ: กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ, 2546.
- วิน วนาดร. ยูโซะพลัดถิ่น แห่งท่ายามู. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์The Knowledge Center, 2546.
- สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ทิศทางการจัดการความขัดแย้งของสังคมไทย ปัญหาภาคใต้แก้ได้ด้วยสันติวิธี. สถาบันสันติศึกษา, 2546.
- อาลี เสือสมิง. ประวัติสาสตร์ขุนนางมุสลิมสยาม. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสืออิสลาม, 2546.
- อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต. ประวัติการศึกษาอิสลาม. ภาควิชาอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 2546.

ปี 2547/2004
- กองบรรณาธิการ. คนที่ตายใต้ฟ้าเดียวกัน : วารสาร ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 2547.
- กิตติ รัตนฉายา. เปิดโปงจุดไฟใต้ ตั้งรัฐปัตตานี. กรุงเทพฯ : ส.พิจิตรการพิมพ์, 2547.
- กระทรวงศึกษาธิการ. ประมวลการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษาในสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้. มปท. 2547.

- คณะกรรมการอิสระ. ข้อมูลชี้แจงคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงในกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์
อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส. สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล,2547.

- โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ ดับบ้านดับเมือง : เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้. ว่าด้วยกระบวนทัศน์อิสลามกับการพัฒนา(เพื่อชุมชนเป็นสุขในท้องถิ่นภาคใต้). โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ ดับบ้านดับเมือง, 2547.

- คอยลิน อันวาร์และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี. ไฟใต้ใครจุด?. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อินโดไชน่า พับลิช ชิ่ง, 2547.
- ชมรมนักกฎหมายมุสลิม. สูจิบัตร "จากกรือเซะสู่ตากใบ แล้วจะไปไหนต่อ...? ,มปท, 2547.
- เชคอับดุลเราะหฺมาน บินฮัมมาดอาลิอุมัรฺ คู่มือเข้าใจอิสลามเบื้องต้น. สงขลา : สำนักพิมพ์อาลีพาณิชย์, 2547.
- เด่น โต๊ะมีนา และ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา. เลือดเนื้อใช่เชื้อไฟ. กรุงเทพฯ : บริษัทเคล็ดไทย จำกัด, 2547.

- ทีมนักวิจัยวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีและผู้นำองค์กรชุมชน. คู่มือ เล่มที่ 1 ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจอิสลาม ชุด การคำนวณซะกาต ธุรกิจออมทรัพย์อิสลามและการจัดการ, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, 2547.

- ทีมงานโครงการศึกษาพัฒนาระบบคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทในชุมชน กรณีศึกษา ต้นแบบชุมชนสมานฉันท์ภาคใต้. บ้านเชิงเขา. ปัตตานี : โรงพิมพ์มิตรภาพ, 2547.

- ธนพล บุณโยปัษฎัมภ์. รู้แท้ - รู้ทัน ดับควัน ไฟใต้, บริษัทสื่อสารและการศึกษา จำกัด, 2547
- ธียุทธ บุญมี. ทิศทางประเทศไทยเมื่อโลกหยุดค้อมหัวให้ตะวันตก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2547.

- บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทางนำ. บันทึกประวัติศาสตร์ พ.ศ.2521- ก.ค. 2539: 18 ปี ฮิญาบ วิเคราะห์ ปัญหาและทางออก. กรุงเทพฯ :
หนังสือพิมพ์ทางนำ, 2547.

- นิรันดร์ พันทรกิจ. ญีฮาด…คำสอนของอิสลามที่ถูกบิดเบือน: บทวิพากษ์เอกสาร "เบอร์ญีฮาด ดี ปัตตานี". สำนักงานจุฬาราชมนตรี, 2547.
- เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์และคณะ. ขอคุยกับคุณอนันต์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2547.
- บุญกรม ดงบังสถานและคณะ. โลกสีขาวของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ออฟเซ็ทเพรส, 2547.

- ปิยนาถ บุนนาค. นโยบายการปกครองของรัฐบาลต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( พ.ศ. 2475 - 2516 ). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.

- ประยูร วทานยกุล. การทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์ 2549. (พิมพ์ครั้งแรกโดยกองทุนอริยมรรค เมื่อปี 2547.)
- ปรีดี พนมยงค์ และสุพจน์ ด่านตระกูล. สถานการณ์ไฟใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ตาลกุด, 2547.
- พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี. ผมผิดหรือ? ที่ยึดกรือเซะ!. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กู๊ดมอร์นิ่ง, 2547.
- ไพศาล วิสาโล. เปิดหน้าต่าง สร้างสะพาน สมานใจ : ทางออกจากกับดักแห่งความรุนแรงในยุคทักษิณ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิ 14 ตุลา, 2547.
- พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. เล่าเรื่องเมืองยะลา. 2547.
- พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. เล่าเรื่องหัวเมืองใต้ จากกรือเซะถึงปัตตานี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วันเวิลด์, 2547.

- ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สถานการณ์และทิศทางการ แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในยุคปฏิรูป. ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ, 2547.

- มนตรี แสนสุข. วันมูหะมัดนอร์ มะทา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Animate Group, 2547.
- มูฮำหมัด ไลซูรี. ใคร…? กำหนดสังคมมุสลิม. กรุงเทพฯ : หนังสือพิมพ์มุสลิมไทย, 2547.
- รัตติยา สาและ. เอกสารเรื่องปรากฏการณ์บางตอนจากกรือเซะ. มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
- รอกี ตุร้อบ. รัฐปัตตานี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บางหลวง, 2547.

- ศูนย์หอศิลป์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม. ดอกไม้บานที่กรือเซะ. ศูนย์หอศิลป์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม, 2547.

- สถาบันพระปกเกล้า. การระงับความขัดแย้งในกรณีการตัดสินใจโครงการวางท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า 2547.
- สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. ศานติสุขชายแดนใต้ : ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, 2547.
- สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. ภาคผนวก ศานติสุขชายแดนใต้ : ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, 2547.

- สมชาย นีละไพจิตร. กูเฮง...เผาโรงเรียน คดีประวัติศาสตร์ แบบอย่างการต่อสู้อันชอบธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์ Working Experience, 2547.

- สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี และ ดอน ปาทาน.สันติภาพในเปลวเพลิง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เนชั่นบุคส์, 2547.
- สุพจน์ ด่านตระกูล. อดีตจุฬาราชมนตรีแช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา)กับ 4 จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ตาลกุด, 2547.

สุรชาติ บำรุงสุข. วิกฤติใต้ สู้ด้วยยุทธศาสตร์และปัญญา, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อนิเมทกรุ๊ป, 2547 (ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2550).
- แสงเพชร. ปมประวัติ "รัฐปัตตานี" ไฟใต้ไม่เคยดับ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วันชนะ, 2547.
- สมัย สุทธิธรรม. นราธิวาส. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2547.
- สมัย สุทธิธรรม. ยะลา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2547.

- สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว.)สำนักงานภาคใต้.ฟื้นฟูภูมิปัญญาปักษ์ใต้ ผ่านกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น. สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) สำนักงานภาคใต้, 2547.

- สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.)สำนักงานภาคใต้. ร้อยใจสู่ฝัน อัลอัยตาม. สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.)สำนักงานภาคใต้, 2547.
- ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี SOUTH -SEE, บทสังเคราะห์เสียงจากชายแดนใต้, กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, 2547.

- Benjamin R.Barber. ญิฮาด ปะทะ แมคเวิลด์. กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา, 2547.
- Marshall Cevendish Academic. Conflict and in Southern Thailand. Marshall Cevendish International (Singapore) Private Limited, 2547.

ปี 2548/2005
- กิตติ รัตนฉายา. ดับไฟใต้กับรัฐไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฐานการพิมพ์, 2548.
- กิตติ รัตนฉายา. ยำใหญ่ไฟใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฐานมีเดียเน็ตเวิร์ค, 2548.
- กันต์กวี. (นามแฝง) เรื่องเล่าจากตันหยงลิมอ ทำไมไม่ช่วยตัวประกัน ?. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อนิเมทกรุ๊ป, 2548.
- กันต์กวี. เย้ยอำนาจรัฐ ปล้นปืนสะท้านเมือง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อนิเมทกรุ๊ป, 2548.
- กันต์กวี. ไฟใต้ท่วมเมือง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อนิเมทกรุ๊ป, 2548.
- กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. คู่มือการเรียนภาษาถิ่น : เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน,2548.

- เขต รัตนจรณะ และคณะ. เรือนไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้, สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลป์ยาณิ วัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2548.
- ขัตติยะ สวัสดิผล. คม...เสธ.แดง ภาค 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ยะ ยี่เอ๋ง, 2548.
- ขัตติยะ สวัสดิผล. คม...เสธ.แดง ภาค 5. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ยะ ยี่เอ๋ง, 2548.
- ขัตติยะ สวัสดิผล. คม...เสธ.แดง ภาค 6. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ยะ ยี่เอ๋ง, 2548.

- คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส.
ข้อเท็จจริงที่ตากใบ, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดย์ โพเอทส์, 2548.

- คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. PSU - ECON POLL. โรงพิมพ์อักษรศิลป์, 2548.
เครือข่ายชุมชนมุสลิม. การศึกษาบูรณาการ : ศาสนาและสามัญ, มปท.2548.

- คนเสื้อกาวน์. (นามแฝง) วิกฤตไฟใต้ท่วมเมือง.1 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กู๊ดมอร์นิ่ง, 2548.
- คนเสื้อกาวน์.(นามแฝง) วิกฤตไฟใต้ท่วมเมือง.2 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กู๊ดมอร์นิ่ง, 2548.

- ครองชัย หัตถา. ประวัติศาสตร์ปัตตานี สมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง, ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี, 2548.

- จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย และคณะ.การดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้: ปัญหาและแนวทางแก้ไข,
มูลนิธิพัฒนากระบวนการยุติธรรม, 2548.

- จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. การดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี,2548.

- เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร. หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ : กบฏ...หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2548.
- ดำรงค์ แวอาลี. เยียวยาจิตใจด้วยอิสลาม. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์, 2548.
- ทีมข่าวกู๊ดมอร์นิ่ง. ไฟใต้มอดได้จริงหรือ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กู๊ดมอร์นิ่ง, 2548.

- ทีมสื่อสารสาธารณะ โครงการเด็ก เยาวชน และครอบครัว. ความล้มเหลวของ"ห้องเรียน" เรื่องเด็กกับนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างสันติวิธี ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้. มูลนิธิ สาธารณะสุขแห่งชาติ, 2548.

- บะห์รูน(นามแฝง) ญิฮาดสีเทา : ใครสร้าง ใครเลี้ยงไฟใต้. นนทบุรี :สาริกา,2548.
- บุญกรม ดงบังสถาน และคณะ. การต่อสู้ครั้งสุดท้าย ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ. นนทบุรี : ออฟเซ็ท เพรส, 2548.
- ปรามินทร์ เครือทอง. สยาม - ปัตตานี ในตำนานการต่อสู้มลายูมุสลิม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2548.
- ประพนธ์ เรืองณรงค์. ปักษ์ใต้ชายแดน, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สำนักพิมพ์อรุณวิทยา, 2548.
- ประเวศ วะสี. สามเหลี่ยมดับไฟใต้. โครงการภาคีเสริมสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, 2548.

- ประสงค์ สุ่นศิริ. สงครามก่อการร้าย อันตรายใกล้ตัว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน, 2548.
- พายัพ วนาสุวรรณ. การก่อการร้ายสากลกับปัญหาภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, 2548.
- ไพศาล วิสาโล, ประเวศ วะสี และคณะ. แก้เงื่อน ถอดปม ความรุนแรงในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, 2548.
- ภูวดล ทรงประเสริฐ. เพลิงทักษิณ เอกภาพ: ท่ามกลางความแปลกแยกในภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ HIGHER PRESS, 2548.
- มนูญ หนูสงค์. The South of Thailand crisis "ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้". กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง, 2548.
- มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง. ศาสนาอิสลามสอนอะไร. กรุงเทพฯ : กระทรวงวัฒนธรรม, 2548.
- ยุค ศรีอาริยะ. คลื่นปฎิวัติโลกใหม่สู่อารยธรรมไร้พรมแดน. กรุงเทพฯ : สถาบันวิถีทรรศน์, 2548.
- รุ่ง แก้วแดง. สงครามและสันติสุข @ ชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2548.

-รณพีร์ ซามัดดาร์. เอกสารสรุปคำบรรยายพิเศษเรื่องตรวจบัญชีสันติภาพแนวคิดและประสบการณ์จากเอเชียใต้. กรุงเทพฯ :
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 2548.

- วรภ วรภา. อุบัติการณ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งนครการพิมพ์, 2548.
- วรมัย กบิลสิงห์. ดุซงญอ 2491 ถึงตากใบวิปโยค. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, 2548.
- วิสุทธิ์ (ฏ็อบรอนี) บิลล่าเต๊ะ. ปริทัศน์สังคมมุสลิม. สงขลา: สำนักพิมพ์อาลีพาณิชย์, 2548.
- ศรีศักร วัลลิโภดม. คู่อารยธรรมแหลมทอง คาบสมุทรไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2548.
- ส.ศิวรักษ์. สรรพสาระสำหรับผู้แสวงหา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2548.
- สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. วิธีชีวิตของชาวใต้, ปัตตานีการช่าง จังหวัดปัตตานี, 2548.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. ทัศนะของรัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์ ต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ สุขภาพใจ, 2548.

- สถาบันพระปกเกล้าและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. การสำรวจทัศนคติเรื่องความขัดแย้งของประชาชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, 2548.

- สมาน อู่งามสิน (บรรณาธิการ). ยึดมั่นในหลักการ สมานฉันท์มวลชน. นนทบุรี : บ.ออฟเซ็ต เพรส จำกัด, 2548
- สุจิตต์ วงษ์เทศ(บรรณาธิการ). รัฐปัตตานีใน "ศรีวิชัย" เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2548.
- สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. รู้จักทักษิณ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2548.
- สุรเธียร จักรธรานนท์. วินาศกรรมกลางเมือง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2548
- เสรี พงศ์พิศ. พี่น้องเดียว พี่น้องกัน. กรุงเทพฯ : สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน, 2548.
- สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. วัฒนธรรมกับสันติภาพ. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2548.
- เสาวนีย์ จิตต์หมวด. สมานฉันท์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ออฟเซ็ทเพรส, 2548.
- อุทัย ดุลยเกษม และคณะ. ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง กรณีวิกฤติการณ์ชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ: บริษัท เอดิสัน เพรส โปรดักส์ จำกัด, 2548.

ปี 2549/2006
- กันต์กวี.(นามแฝง) นาทีชีวิต ครูจูหลิง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อนิเมทกรุ๊ป, 2549.
- กิตติ รัตนฉายา. ถอดรหัสไฟใต้. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บริษัทฐานรวมห่อ, 2549.

- กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม. คู่มือการจัดอบรม หลักสูตรพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี.
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, 2549.

- กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักสันติวิธี
และธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า. ยุติธรรมชุมชน ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์. กรุงเทพฯ : มปท. 2549

- ครองชัย หัตถา. มัสยิดกรือเซะ มรดกอารยธรรมปัตตานี. ปัตตานี : สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี, 2549.
- เครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพสามจังหวัดภาคใต้. ปัตตานี ใต้เงาจันทร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, 2549.
- คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.). มหกรรมสันติวิธี. กรุงเทพฯ: บริษัทเป็นไท พับลิชชิ่งจำกัด, 2549.

- คณะทำงานสื่อสารกับสังคม คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ( กอส.) วิพากษ์รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์". กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2549.

- คณะกรรมการประสานงานภาคประชาชนเพื่อจังหวัดชายแดนใต้. สถานการณ์ชายแดนใต้ มุมมองของ
ภาคประชาคม. สงขลา: โรงพิมพ์บันลือ, 2549.

- คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ. รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์
แห่งชาติ (กอส.) เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2549.

- คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ. รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์
แห่งชาติ (กอส.) เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ : บทสรุปสำหรับผู้บริหาร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2549.

- คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้. รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2549.

- จารุณี จันทร์ลอยนภา และคณะ. มุสลิมก็มีหัวใจ, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2549.

- จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย และคณะ. การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้: ความสำเร็จ ผลกระทบ และข้อเสนอแนะ. กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2549.

- ฉลวย ชีวกิดาการ และคณะ. ผู้นำชุมชนกับกระบวนการสานเสวนา. สงขลา: สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2549.
- ชาวต้นไม้ (นามแฝงกลุ่ม). อิสลาม? กับคำถามที่คุณอยากรู้คำตอบ. กรุงเทพฯ: สภายุวมุสลิมโลก, 2549.

- ชิดชนก ราฮิมมูลา.ระดับการเรียนรู้และเข้าใจ การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่จังหวัด ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส (คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 187/2546). สถาบันยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานสภาความมั่นคง แห่งชาติ, 2549.

- ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์. ใต้ร่มเย็น ด้วยพระบารมี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, 2549.
- ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์. จิตวิญญาณระหว่างขุนเขาบูโด - สันกาลาคีรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, 2549.
- ชุลีพร วิรุณหะ. ความรู้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านมุมมองประวัติศาสตร์. คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

- ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. อาวุธมีชีวิต? : แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2549.
- ซาการียา บิณยูซูฟ อับดุลเลาะฮฺ สารีมิง และคณะ. "ซูรอ"การจัดการชุมชนที่ควรเรียนรู้: เพื่อชุมชนสมานฉันท์. อักษรการพิมพ์ 2549.

- ซาการียา บิณยูซูฟ,อับดุลรอเซะ กาเดร์ และคณะ. สวัสดิการชุมชนมุสลิม : ภายใต้กระบวนทัศน์อิสลามด้านเศรษฐกิจ. มูลนิธิพัฒนาชุมชนป็นสุข, อักษรการพิมพ์, 2549.

- ทัศนา ทัศนมิตร. พระมหากษัตริย์ไทยกับปัตตานี กลันตัน ไทรบุรีและตรังกานูในสยามประเทศ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้ากรุ๊ป, 2549.
- ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, 2549.

-นิธิ เอียวศรีวงศ์ และคณะ. ความรู้และความไม่รู้ 3 จังหวัดชายแดนใต้. คณะทำงานวาระทางสังคมคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

- นิพัทธ์ เพ็งแก้ว. สองฝั่งเล. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สายธาร, 2549.
- นันทเดช เมฆสวัสดิ์. ปฏิบัติการลับ ดับไฟใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, 2549.
- บุญร่วม เทียมจันทร์. 6 คดีดัง ชุด 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Animate Group, 2549.

- บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์. เอกสารประกอบเวที "สานสายใยความห่วงใยจากเพื่อนถึงเพื่อน" ครั้งที่ 1 พบปะครอบครัวผู้สูญเสียในสามจังหวัดชายแดนใต้. ฝ่ายพัฒนาสังคม มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว, 2549.

- บูฆอรี ยีหมะ. นักการเมืองถิ่นจังหวัดปัตตานี. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2549.
- ประพันธ์ เรืองณรงค์. นิทานพื้นบ้านชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนพานิช, 2549.

- ประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และคณะกรรมการ สภาวิจัยแห่งชาติ. การสร้างความสมานฉันท์ และร่วมกันฟื้นฟูท้องถิ่นภาคใต้. คณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ในส่วนภูมิภาคประจำปี 2548 สงขลา: 2549.

-เปลว สีเงิน. เขียนแผ่นดิน : สนธิ-ทักษิณ-ชินคอร์ป-ประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ openbooks, 2549.
- ปกาศิต แมนไทยสงค์. เก๊าะซารี..มิตรภาพและความตาย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์ พรินติ้ง, 2549.

- พีระเดช อนุพงษ์ จักรพันธุ์. พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีฯ กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และคณะ เรื่องเสด็จประพาสแหลมมาลายู เมื่อรัตนโกสินทร์ศก 108, 109, 117. กรุงเทพฯ : มูลนิธิส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะไทย, 2549.

- ไพศาล วิสาโล. สันติวิธี วิถีแห่งอารยะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2549
- ไพศาล สุริยะวงศ์ไพศาล. คิดแบบเอเชีย ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์นำอักษรการพิมพ์, 2549.
- มานะ เกษรศิริ. นโยบาย 66/23 ตอน 3 เรื่องยุทธวิธีแนวร่วมเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง.พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชินอักษรการพิมพ์, 2549.
- มูฮัมหมัดรอฟีอี มูซอ. กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และการจัดการความขัดแย้งในชุมชนมุสลิม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2549.
- ยูซุฟ บินอับดุลฮามิด บางอ้อ. คนขายเครา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แสงศรีการพิมพ์, 2549.

- รอฎียะฮฺ อับดุลกาเดร์. เศรษฐศาสตร์อิสลาม, โรงพิมพ์หาดใหญ่กราฟฟิก, 2549.
- ระพี สาคริก. สัจธรรมของการดำรงชีวิต. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ปาเจรา, 2549.
- ศิริวร แก้วกาญจน์. กรณีฆาตกรรม โต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด, กรุงเทพฯ : ผจญภัยสำนักพิมพ์, 2549.

- ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล. บทบาทของศาสนิกในการสร้างความสมานฉันท์.
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, 2549.

- ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า. ความรุนแรงในสายหมอก สิ่งที่เห็นและเป็นไปในสามจังหวัดชายแดนใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คบไฟ, 2549.
- ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2 ปีตากใบชีวิตที่ต้องการคำตอบ. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

- ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา. วารสารอินโดจีนศึกษา ฉบับวิกฤตการณ์ไฟใต้. วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2549.

- ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พหุวัฒนธรรมกับการพัฒนา การศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้: กรณีศึกษาปอเนาะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ หจก.ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์-การพิมพ์, 2549.

- สถาบันทักษิณคดีศึกษา. จาก 'กรือเซะ' ถึง 'สึนามิ'. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ตถาตา พับลิเคชั่นจำกัด, 2549.

- สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้. FACTS AND FIGURES ข้อเท็จจริงและสถิติภาวะคุกคามสุขภาพภาคใต้. สงขลา : หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2549.

- สถาบันศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ และ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล. ศาสนเสวนา. กรุงเทพฯ :
บริษัท เคล็ดไทย จำกัด, 2549.

- สอาด จันทร์ดี. กะเทาะเปลือกไฟใต้ ใครบงการ. กรุงเทพฯ: สายส่งดวงแก้ว, 2549.
- สุภัทรดิศ ดิศกุล. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึง พ.ศ. 2000, กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.
- สุรชาติ บำรุงสุข. รัฐกับมุสลิม : มุมมองเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สแควร์ ปริ๊นซ์ 93 จำกัด, 2549.
- สุรชาติ บำรุงสุข. การเอาชนะการก่อความไม่สงบ. กรุงเทพฯ : บริษัทสแควร์ปริ๊นซ์ 93 จำกัด, 2549.

- สนิทสุดา เอกชัย. เยียวยาแผ่นดิน, แผนงานร่วมศึกษาเสริมสร้างสุขภาวะ กรณี 3 จังหวัดภาคใต้ คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

- สำนักงานวิชาการและบริการชุมชน วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. เยาวชนสันติสุข. ปัตตานี :
โรงพิมพ์มิตรภาพ, 2549.

- สำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า. ทำเนียบผู้เข้าอบรม โครงการเครือข่ายผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้นำ ท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2549.

- มหาวิทยาลัยราชฎัชยะลา. สูจิบัตรงานมหกรรมชุมชนสมานฉันท์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี. มปท. 2549.

- เหยี่ยวข่าวอิศรา. ปักหมุด…เทใจ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุ๊ค ไทม์, 2549.
- อาณัติ อนันตภาค. หลากชาติ หลายพันธุ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บริษัท ส. เอเชียเพรส, 2549.

- เอ.ซี.มิลเลอร์. เกอราจาอัน : วัฒนธรรมมาลายูในยุครุ่งอรุณของการปกครองอาณานิคม. นครศรีธรรมราช: โครงการภูมิภาคศึกษา (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2549.

- อนุสรณ์ มาราสา. กัมปงตูวา หมู่บ้านชรา. กรุงเทพฯ : สยามอินเตอร์มัลติมีเดียจำกัด, 2549.
- เอกราช มูเก็ม. สันติภาพในเงามืดบนแผ่นดินปัตตานี. กรุงเทพฯ : เพชรนครการพิมพ์ 2549.
- อันดายา และบาร์บารา วัตสัน. ประวัติศาสตร์มาเลเซีย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2549.
- อิบรอฮีม ชุกรี. ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี. สถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2549.

ปี 2550/2007
- เกษียร เตชะพีระ. จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 วิกฤตประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2550.
(บทที่ว่าด้วย ปัญหาชายแดนใต้)

- กองบรรณาธิการมติชน. 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2550.
- กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ. จดหมายข่าวกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ หลังม่านความรุนแรง เสียงจากชายแดนใต้. กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ, 2550.
- กองบรรณาธิการผู้จัดการ. 10 วิกฤติชาติ '50. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, 2550.
- กิตติ รัตนฉายา และดาวราหู. เหลียวหน้า แลหลัง. กรุงเทพฯ : Bookworm Publishing Co.,Ltd, 2550.
- เกษม อัชฌาสัย. ก่อการร้ายทำลายโลก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หลักพิมพ์, 2550.

- เครือข่ายพลังแผ่นดินขจัดภัยก่อการร้าย. เอกสารการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้. ยะลา: เครือข่ายพลังแผ่นดินขจัดภัยก่อการร้าย, 2550.
- เครือข่ายพลังแผ่นดินขจัดภัยก่อการร้าย. เอกสารบันทึกสถานการณ์ใต้. ยะลา: เครือข่ายพลังแผ่นดินขจัดภัยก่อการร้าย, 2550.
- คนเสื้อกาวน์ (นามแฝง) บันทึก..คนเสื้อกาวน์ เรื่องเล่าจาก…ยะลา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ปัญญาชน, 2550.
- โคทม อารียา และคณะ. สานเสวนา. กรุงเทพฯ : เจริญดีมั่นคงการพิมพ์, 2550.

- คณะทำงานศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้. รายงานสรุปการประชุมกลุ่มนักเยียวยา เครือข่ายนักเยียวยาและตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ. มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, 2550.

- งานผลิตสื่อเพื่อการส่งเสริมเผยแพร่ สถาบันทักษิณคดี. เอกสารประกอบการสัมมนาส่งเสริมบทบาทกวีและนักเขียนร่วมสมัยเพื่อการพัฒนาชุมชนภาคใต้ 2550 "จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยรักสันติ". สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณศึกษา, 2550.

- จังหวัดยะลา. อิสลาม : ความจริงที่ต้องเปิดเผย. ยะลา : องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา, 2550.
- จอห์น เลน. ความเงียบ. เปิดพื้นที่เพื่อความสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สวนมีเงินมา, 2550.
- ชมรมธรรมะร่วมสมัย. หนังสือคนไทยจะอยู่ไหน?. ยะลา: ชมรมธรรมะร่วมสมัย, 2550.
- โซรยา จามจุรี. เยียวยาบาดแผลคืนวันอันโหดร้ายด้วยศรัทธา อาทร และห่วงใย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2550.

- ดลยา เทียนทอง. ปฐมบทการก่อการร้าย รากเหง้า ความเป็นไปและพลวัต. สำนักกองทุน สนับสนุนงานวิจัย ร่วมกับ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

- ธาม คนสัญญจร. บันทึกไฟใต้ แด่ครูผู้เสียสละ.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี, 2550.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์. (บรรณาธิการ) มลายูศึกษา :ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาชน มลายูมุสลิมในภาคใต้.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2550
- แนวร่วมคนไทยรักชาติ. ตาลาตี๊ตั่มปง : แผนยึดประเทศไทยใน 10 ปี. ยะลา : แนวร่วมคนไทยรักชาติ , 2550.
- ประเวศ วะสี. ดับไฟใต้ด้วยจิตวิวัฒน์และพลังแห่งทางสายกลาง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กรีนปัญญาญาณ จำกัด, 2550.
- ประสิทธิ์ ไชยทองพันธ์. เทววิทยาอิสลามเพื่อการปฏิวัติ ภัยต่อศาสนาอิสลามใน 4 จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ประสิทธิ์สาสน์, 2550.

- ปรีชา ชุ่มประดิษฐ และคณะ. การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ เล่มที่ 1 : ยุทธศาสตร์ศึกษา 2007 แนวคิดหลักนิยม. กรุงเทพฯ: สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง, 2550.

- ประยูร วทานยกุล. เสนอให้คิด, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2550
- เปลว สีเงิน. ห่วงทหาร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ openbooks, 2550.

- ไพศาล วิสาโล (ไพศาล วงศ์วรวิสิทธ์). สร้างสันติด้วยมือเรา คู่มือสันติวิธีสำหรับนักปฏิบัติการไร้ความรุนแรง, ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี (ศพส.) มหาวิทยาลัยมหิดล, 2550.

- พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. การเมืองของไพร่ : จากวิกฤติของระบอบทักษิณ สู่การก่อรูปของระบอบการเมืองไทย หลังรัฐประหาร ๒๕๔๙. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Open books, 2550.

- ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. วิกฤติความสัมพันธ์ระหว่างไทยพุทธกับไทยมุสลิม. เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการนานาชาติเรื่อง วิกฤติการรับรู้ และการธำรงชาติพันธุ์ในสุวรรณภูมิ, ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550.

- ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. การรับรู้ "พหุวัฒนธรรม"ในสังคมไทย เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการนานาชาติเรื่อง วิกฤติการรับรู้ และ การธำรงชาติพันธุ์ในสุวรรณภูมิ, ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550.

- ภาสกร จำลองราช (บรรณาธิการ). สนามข่าวสีแดง เรียนรู้โต๊ะข่าวภาคใต้. กรุงเทพฯ : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 2550.
- ภูวดล แดนไทย. สถานการณ์ภาคใต้ เมื่อ...นาวาไทยหลงทิศ. ยะลา : สำนักงานทนายความสมนึก ระฆัง, 2550.
- มัทนี จือนารา และคณะ. "ตากใบ" ในอากาศ ความทรงจำที่ปลิดปลิวจากความรับรู้. ศูนย์ศึกษาและ พัฒนาสันติวิธี (ศพส.) มหาวิทยาลัยมหิดล, 2550.

- มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม. เอกสารประกอบเวทีโต๊ะกลม การมีส่วนร่วมประชาชนกับการปฏิรูปสังคมและการเมือง เรื่อง เจาะลึก (ร่าง) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร : มุมมองและทางออกความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้. มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2550

- มนัส จรรยงค์และคณะ. แขกในบ้านตัวเอง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นาคร, 2550.
- ยงยุทธ ชูแว่น และคณะ. คาบสมุทรไทยในราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นาคร, 2550.
- เรืองยศ จันทรคีรี. เบื้องลึกสถานการณ์เดือด 3 จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุวรรณภูมิอภิวัฒน์, 2550.
- วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (บรรณาธิการ). เราคือปอเนาะ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์, 2550.
- วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (บรรณาธิการ). เสียงสะท้อนจากหมู่บ้านประมงอ่าวปัตตานี: เสียงจากคนตานี.
กรุงเทพฯ : มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์, 2550.
- วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย. เมื่อฟ้าหม่น เจดีย์หัก ที่ปักษ์ใต้. กรุงเทพฯ : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 2550.
- วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง. แสงใต้ในมรสุม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี, 2550.

- วลักษณ์กมล จ่างกมล. การสื่อข่าวสถานการณ์ความขัดแย้ง : สำนึกไหวรู้วารสารศาสตร์. คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2550.

- ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ openbooks 2550.
- ศรีศักร วัลลิโภดมและคณะ. เล่าขานตำนานใต้.กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, 2550.
- ศรีศักร วัลลิโภดม. ไฟใต้ฤาจะดับ? กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2550.

- ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล. เอกสารประกอบการประชุมเสนอผลงานวิจัย ในสามจังหวัดภาคใต้ "จากชุมชนสู่นโยบายสาธารณะ". ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. 2550.

-ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้. คู่มือการปฐมนิเทศข้าราชการ พนักงาน พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานรัฐวิสาหกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้. ยะลา : ยะลาการพิมพ์, 2550.

- ศราวุฒิ อารีย์. การก่อการร้าย มุมมองของโลกอิสลาม. สำนักกองทุนสนับสนุนงานวิจัยร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

- ส่วนข่าวและรายการภูมิภาค สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6. การเสริมสร้างสมานฉันท์จังหวัดชายแดนใต้. กรุงเทพฯ: สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี,2550.

- สุวิชชา เพียราษฎร์. 10 วิกฤตชาติ' 50. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์1, 2550.
- สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. สรรพเสียงแห่งอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นครศรีธรรมราช : สำนักวิชาศิลปะศาสตร์, 2550.

- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สถาบันข่าวอิสรา, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้,
กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. เอกสารโครงการเสวนาภาคประชาชนเรื่อง การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 2550

- สุพจน์ ด่านตระกูล. วารสารหนังสือใต้ดิน: บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา เล่ม 10 (4/2549) (บทที่ว่าด้วยเรื่อง จุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดีน มุสตาฟา)กับสี่จังหวัดภาคใต้) สำนักพิมพ์ : Shin กรุงเทพฯ 2550 และเล่ม 2/2547 มีบทความเรื่องตายใต้ฟ้าเดียวกัน, "ฝังความโกรธเกลียดชังเป็นอังคาร ปลูกสันติหอมหวานขึ้นงอกงาม และ "ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ในทัศนะสื่อมุสลิม"

- สุรชาติ บำรุงสุข และคณะ. สามจังหวัดชายแดนภาคใต้, โครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2550.
- สุรพงศ์ ชัยนาม. การทูต-การเมือง ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2550.
- สุริชัย หวันแก้ว (บรรณาธิการ). กำเนิดไฟใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550"
- สุริชัย หวันแก้ว (บรรณาธิการ). ยุติไฟใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

-- ส่วนวิจัยและยุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง. ยุทธศาสตร์ 2007 เล่มที่ 1 แนวคิดหลักนิยมตะวันตก: การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ. กรุงเทพฯ:สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง, 2550.

- สุรชาติ บำรุงสุข. วิกฤติใต้ สู้ด้วยยุทธศาสตร์และปัญญา, พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ร่วม
ด้วยช่วยกัน, 2550. (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2547 กับสำนักพิมพ์อนิเมทกรุ๊ป,)

- สุรชาติ บำรุงสุข. ระเบิด. โครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2550.
- สุรินทร์ หิรัญบูรณะ. สมรภูมิศรัทธา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน 2550.
- สิรภพ ดวงสอดศรี. เรื่องเล่าชาวใต้ ผมวิ่งชนประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านอุ่นรัก,2550.
- สันติ อัลอิดรุส. หมากรุกชีวิต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุมมองจากประสบการณ์จากพื้นที่. สมุทรปราการ: สมาคมส่งเสริมการพัฒนาชนบทไทย, 2550.
- แสงเพชร. ย้อนรอยปมประวัติศาสตร์ รัฐปัตตานีไฟใต้ที่ยังไม่ดับ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไพลิน, 2550.

- อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ. การเมืองไทยหลังรัฐประหาร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฃอคิดด้วยฅน, 2550.
- อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ. ร้อยฝัน วันฟ้าใหม่. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน, 2550.
- อังคาร จันทร์เมือง. ไปต่อเองน่ะ...เส้นทางชีวิต สมชาย นีละไพจิตร. กรุงเทพฯ : ประชาไทบุ๊คคลับ, 2550.

- อัมมาร สยามวาลา.(บรรณาธิการ). ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนากับสภาพสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์ Knowleage Plus, 2550.
- อนุศาสน์ สุวรรณมงคล (บรรณาธิการ). มรดกเมืองตานี. กรุงเทพฯ: ไทยยูเนียนกราฟฟิกส์, 2550.

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หากผู้อ่านสำรวจพบหรือคิดว่าหนังสือเล่มใด ควรที่จะถูกนับเข้าสู่บรรณนิทัศน์ในหัวข้อนี้ ผู้รวบรวมพร้อมเปิดรับการแจ้งข่าวจากผู้อ่าน โปรดแจ้งไปที่ Email: [email protected] และผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดทั้งหมดในหัวเรื่องนี้ได้ที่

1. http://www.oknation.net/blog/shukur/2007/11/12/entry-1
2. http://www.oknation.net/blog/shukur/2007/11/12/entry-6
3. http://www.oknation.net/blog/shukur/2007/11/12/entry-5
4. http://www.oknation.net/blog/shukur/2007/11/12/entry-4

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

รายชื่อหนังสือเพิ่มเติมต่อจากนี้ กรุณาติดต่อผู้เขียนโดยตรงตาม email ดังต่อไปนี้ [email protected]
เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับขัดข้องทางเทคนิค


 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

91

 

 

 

 

92

 

 

 

 

93

 

 

 

 

94

 

 

 

 

95

 

 

 

 

96

 

 

 

 

97

 

 

 

 

 

98

 

 

 

 

99

 

 

 

 

100

 

 

 

 

 

101

 

 

 

 

102

 

 

 

 

103

 

 

 

 

104

 

 

 

 

105

 

 

 

 

106

 

 

 

 

107

 

 

 

 

108

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
24 November 2007
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
หน้าที่ของคนกลุ่มแรกคือ กำจัดคนในกลุ่มที่สองและสาม. ที่สำคัญประการต่อมา คือ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าบิดเบือนคำสอนของอิสลาม มีข้อความที่ส่งเสริมให้ใช้รุนแรงปรากฏ อาทิ "หากผู้ใดไม่เห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้(ของกลุ่มขบวนการ) แม้จะเป็นบิดา-มารดา ก็ถือว่าเขาเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ศรัทธาที่แท้จริง จึงมีความชอบธรรมที่จะฆ่าพวกเขาได้" ซึ่งถือว่าบิดเบือนหลักการศาสนาอิสลามอย่างชัดเจน และถือเป็นบาปหนักหากใครบิดเบือนหลักการศาสนา. เมื่ออ่าน "คู่มือมรณะ" จบแล้ว จะมีวิธีการอย่างไร ในการแก้ไขข้อบิดเบือนหลักการศาสนาอิสลามที่ปรากฏ