โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๑๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐ (November, 22, 11, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

22-11-2550

Political History
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

การเมืองเบื้องหลังการเสด็จประพาสยุโรป รัชกาลที่๕
ลืมเรื่องเก่าก็เผาเมือง: การเมืองการเสด็จประพาสยุโรป (กรณีฝรั่งเศส)
ฉลอง สุนทราวาณิชย์ : เขียน
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความต่อไปนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน ขอรับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ: การเมืองเบื้องหลังการเสด็จประพาสยุโรป
พิมพ์ครั้งแรก ใน กาญจนี ละอองศรี และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (บก.)
ลืมโคตรเหง้าก็เผาแผ่นดิน รวมบทความเนื่องในวาระครบรอบ ๖๐ ปี
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๔ หน้า ๒๒๗-๒๖๔
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเบื้องหลังของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเสด็จประพาสยุโรป โดยเฉพาะประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีท่าที
ไม่ปรารถนาที่จะต้อนรับ อันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมืองหลายประการ
และตัวอย่างของกษัตริย์เอเชียหลายพระองค์ที่มีการเสด็จประพาสก่อนหน้านั้น

เนื่องจากเนื้อหาต้นฉบับพร้อมเชิงอรรถค่อนข้างยาว
จึงได้มีการนำเสนอเป็น ๒ หัวข้อตามลำดับต่อไปนี้
๑๔๑๖. ลืมเรื่องเก่าก็เผาเมือง: การเมืองการเสด็จประพาสยุโรป (กรณีอังกฤษ)
๑๔๑๗. ลืมเรื่องเก่าก็เผาเมือง: การเมืองการเสด็จประพาสยุโรป (กรณีฝรั่งเศส)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๑๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๑.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การเมืองเบื้องหลังการเสด็จประพาสยุโรป รัชกาลที่๕
ลืมเรื่องเก่าก็เผาเมือง: การเมืองการเสด็จประพาสยุโรป (กรณีฝรั่งเศส)
ฉลอง สุนทราวาณิชย์ : เขียน
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440: ปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองกับฝรั่งเศสและ การแทรกแซงของรัสเซีย

อย่างไรก็ดี ประเด็นทางการเมืองที่เป็นทั้งเป้าหมายและอุปสรรคที่สำคัญที่สุดของการเเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. 2440 อยู่ที่ปัญหาความขัดแย้งที่ฝ่ายไทยมีอยู่กับรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112 และสนธิสัญญาและอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องที่ทำขึ้นระหว่างรัฐบาลทั้งสองในวันที่ 3 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2436 ในช่วงระยะแรกของการรื้อฟื้นแผนการเสด็จประพาสยุโรปในตอนปลายปี พ.ศ. 2439 นั้น เป้าหมายสำคัญของการเสด็จประพาสโดยทั่วๆ ไป คงมุ่งเพียงให้เกิดผลในการสร้างภาพลักษณ์ของไทยในยุโรปในเชิงบวก เพื่อเป็นการเกื้อหนุนสถานะของไทยในทางการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนถึงอธิปไตยของไทย แต่ในขณะเดียวกัน ก็มุ่งหวังว่าการเสด็จเยือนฝรั่งเศสจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองดีขึ้น จนนำไปสู่ข้อตกลงที่เป็นการยุติปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่

ในด้านหนึ่ง สนธิสัญญาและอนุสัญญาไทย-ฝรั่งเศส เดือนตุลาคม พ.ศ. 2436 เป็นเพียงข้อตกลงชั่วคราวที่ช่วยยุติสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ให้ขยายตัวลุกลามขึ้นเป็นสงครามเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยคลี่คลายปมความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งสองอย่างแท้จริง ในทางตรงกันข้าม ทั้งสนธิสัญญาและอนุสัญญาเดือนตุลาคม พ.ศ. 2436 กลับได้สร้างปัญหาข้อขัดแย้งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายปัญหา ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่คุกคามหรือท้าทายอธิปไตยของไทยในเวลาต่อมาโดยตรง ปัญหาเหล่านี้เป็นผลมาจากความขัดแย้งในการตีความข้อความในสนธิสัญญาและอนุสัญญาในประเด็นสำคัญสามประการ คือ

1. การจดทะเบียนคนในบังคับฝรั่งเศส
2. อำนาจการปกครองในเขตแดนเมืองหลวงพระบางบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง และ
3. เขตปลอดทหาร (ไทย) ระยะยี่สิบห้ากิโลเมตรบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตลอดแนวชายแดนระหว่างไทยกับอาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศส

นอกจากนั้น ก็ยังมีปัญหาการคืนเมืองจันทบุรีให้แก่ฝ่ายไทย ที่ฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม ด้วยข้ออ้างที่ว่าฝ่ายไทยยังไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขในสนธิสัญญาและอนุสัญญา พ.ศ. 2436 อย่างครบถ้วน (41)

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 เป็นต้นมา ท่าทีของกลุ่มผลประโยชน์อาณานิคมของ ฝรั่งเศส (Parti colonial) ทั้งในปารีสเองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศส ที่มีต่อไทยก็เริ่มมีความก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ แรงบีบคั้นเพื่อให้รัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจใช้กำลังอาวุธเข้ายึดครองบริเวณฝั่งขวาแม่น้ำโขงเริ่มมีอย่างเปิดเผยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการประกาศ "คำแถลงการณ์ร่วมอังกฤษ-ฝรั่งเศส" ในตอนต้นของปี พ.ศ. 2439 (42)

ดังนั้น เมื่อมีการตกลงแน่นอนเกี่ยวกับแผนการเสด็จประพาสเรียบร้อยแล้วในตอนต้นปี พ.ศ. 2440 (ตามระบบปีปฏิทินปัจจุบัน) และเริ่มดำเนินการเตรียมหมายกำหนดการของการเสด็จที่แน่นอน โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ อรรคราชทูตไทยที่ลอนดอนทรงเป็นผู้รับผิดชอบนั้น การเสด็จเยือนฝรั่งเศส จึงถูกกำหนดให้มีความสำคัญเป็นลำดับต้น โดยเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศมหาอำนาจในยุโรปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการ ดังปรากฎในหนังสือกราบทูลของพระยานนทบุรีฯ ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรปการ ลงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2440 อ้างถึงหมายกำหนดการเสด็จประพาสที่พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณทรงจัดทำขึ้น ซึ่งกำหนดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินทางบกจากเมืองเวนิสในอิตาลี อันเป็นเมืองแรกในยุโรปที่เรือมหาจักรีเทียบท่าในวันที่ 15 พฤษภาคม มายังฝรั่งเศส เสด็จถึงปารีสในวันที่ 21 พฤษภาคม และเสด็จต่อไปยังกรุงเวียนนาในวันที่ 23 พฤษภาคม จากนั้นจะเสด็จต่อไปยังบูดาเปสต์และมอสโคว์ ตามลำดับ (43)

เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเยือนฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกไม่ปรากฎชัดเจนนัก อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ว่าการเลือกฝรั่งเศสเป็นประเทศมหาอำนาจยุโรปชาติแรกที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการ ในเบื้องแรกนี้เป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองระหว่าง รัฐบาลทั้งสองที่เลวร้ายลงในขณะนั้น บรรยากาศการเจรจาปัญหาข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการตีความความหมายของ "คนในบังคับฝรั่งเศสในไทย" ระหว่างรัฐบาลไทยและฝรั่งเศสในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้น เข้าสู่ขั้นวิกฤต เมื่อนายกาเบรียล อาโนโต (Gabriel Hanotaux) เสนาบดีว่าการต่างประเทศของฝรั่งเศส ไม่พอใจ ทั้งในความล่าช้าของข้อเสนอแย้งและตัวสาระของข้อเสนอแย้งของฝ่ายไทย ที่เสนอให้ฝรั่งเศสจดทะเบียนคนในบังคับได้แต่เฉพาะ ผู้ที่เดินทางจากอาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศส เข้ามาพำนักอยู่ในเขตไทย ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเท่านั้น (44)

ดังนั้น ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองกับฝรั่งเศสจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า ที่รัฐบาลไทยต้องแสวงหาทางยุติลงโดยเร็วที่สุด และดูเหมือนว่าการเสด็จประพาสจะเป็นโอกาสที่ดีของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง และทำให้บรรยากาศของการเจรจาปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ดีขึ้น ประการสำคัญ เป็นไปได้ว่า แนวคิดเบื้องหลังการกำหนดหมายกำหนดการดังกล่าว เป็นแนวคิดเดียวกับที่กำหนดแผนการเสด็จประพาสยุโรปโดยรวม กล่าวคือ เป็นแนวคิดบนมูลฐานความเชื่อดังที่เจ้าพระยาอภัยราชาได้อธิบายไว้ในจดหมายที่เขียนถึงนายคอร์ราจิโอนี ดอเรลลี (Corragionid' Orelli) นักกฎหมายระหว่างประเทศชาวสวิส และที่ปรึกษาประจำสถานทูตไทยที่กรุงปารีส ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2440 ก่อนหน้าการเริ่มการเสด็จประพาสเพียงประมาณหนึ่งสัปดาห์ ความว่า

"ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้าพเจ้าคาดหวังไว้สูงมากว่าผลการเสด็จประพาสครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาระหน้าที่ของเราอย่างที่ท่านจะได้เห็น พระมหากษัตริย์ของกรุงสยามจะทรงได้รับการยกย่องว่า เป็นบุคคลผู้ประเสริฐสุดในทุกๆ ประเทศที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน พระองค์ทรงเป็นผู้มีความกระตือรือร้น เปิดเผย มีสติ ช่างสังเกต มีความละเอียดอ่อนอย่างหาได้ยาก

ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำแต่สิ่งที่ดีๆ ปราศจากความเย่อหยิ่ง จองหอง หรือมักมากใฝ่สูงอย่างกษัตริย์ตะวันออกรุ่นเก่า ข้าพเจ้ามั่นใจว่า พระองค์จะทรงสามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่วิเศษในทุกๆ สถานที่ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน และจะไม่รู้สึกแปลกใจแต่อย่างไรที่ว่า แม้แต่ในนครปารีสเอง พระองค์จะทรงสามารถสร้างปฏิกิริยาให้เกิดขึ้นในหมู่สาธารณชนที่ต่อต้านอคติอันไร้สาระทั้งปวง ที่ดำรงอยู่ได้ด้วยคำโกหกของพวกนักบริหารโครงการ และพวกบ้าอาณานิคมเพียงหยิบมือเดียว" (45)

ผู้นำคนอื่นๆ ในคณะรัฐบาลไทยก็ดูจะมีแนวความคิดเกี่ยวกับผลประโยชน์ของฝ่ายไทยที่ควรได้รับจากการเสด็จประพาสยุโรปในครั้งนี้ไม่แตกต่างไปจากของเจ้าพระยาอภัยราชานัก ดังที่จะเห็นได้จากปฏิกิริยาที่มีต่อความเคลื่อนไหวคัดค้านการรับเสด็จในหมู่นักการเมืองบางกลุ่มในฝรั่งเศสที่ว่า นักการเมืองกลุ่มผลประโยชน์อาณานิคมของฝรั่งเศสมีความเกรงกลัวว่า การเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะสร้างความประทับใจขึ้นแก่สาธารณชนและข้าราชการชาวฝรั่งเศส จนถึงกับสามารถยุติข้อขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกัน ในทางที่จะขัดต่อผลประโยชน์ของนักการเมืองกลุ่มอาณานิคมเอง ความว่า

"ที่ประชุม ที่ปฤกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีความเชื่ออยู่ว่า พวกคอลอเนียลฝรั่งเสศในเวลานี้ กำลังกระทำโดยอย่างที่สุดเต็มกำลังที่จะให้เกิดข่าวเล่าฤาให้คนทั้งปวงตกตื่นใจไปต่างๆ ด้วยไส่ความเท็จ เพื่อที่จะให้คนทั้งปวงเกิดความเห็นไม่ชอบต่อกรุงสยาม แลกระทำให้มีการขัดขวางในทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินประพาศเมืองฝรั่งเศส เพราะเหตุว่าพวกนั้นย่อมจะเชื่อว่า ท่านคงจะกระทำด้วยพระองค์เองให้คอเวอนเมนต์ฝรั่งเศสแลคนทั้งปวงเห็นดีเห็นชอบแก่ไทยได้…" (46)

อย่างไรก็ดี แรงกดดันของกลุ่มผลประโยชน์อาณานิคมทั้งในฝรั่งเศสในอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศสและที่ในกรุงเทพฯ เอง ดูเหมือนจะรุนแรงเกินกว่าที่ผู้นำไทยคาดคิด การเจรจาในรายละเอียดเกี่ยวกับหมายกำหนดการเสด็จประพาสฝรั่งเศส ก่อนการเริ่มเสด็จพระราชดำเนินจริงในตอนต้นเดือนเมษายน จึงต้องล้มเหลวลงไป ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความระแวงที่รัฐบาลฝรั่งเศสมีต่อไทยมากขึ้น ภายหลัง "แถลงการณ์ร่วม อังกฤษ-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1896" ที่ว่า แถลงการณ์ฉบับนี้ทำให้รัฐบาลไทยมีความมั่นใจและมีท่าทีต่อการเจรจาในปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองกับรัฐบาลฝรั่งเศส ในลักษณะที่หยิ่งยโสและเหยียดหยามมากขึ้น (47)

ความรุนแรงของเหตุการณ์และความตึงเครียดของบรรยากาศการเจรจา ถึงกับทำให้ พระยาสุริยานุวัตร อรรคราชทูตไทยที่ปารีส รู้สึกหมดหวังและทำรายงานกราบทูลเสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทย ให้พิจารณาความเป็นไปได้ของการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นก่อนหน้าหรือภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงเทพในการเสด็จประพาสยุโรป (48) ความล้มเหลวในการเจรจาเรื่องหมายกำหนดการเสด็จประพาสฝรั่งเศส ได้กลายเป็นหนามแหลมที่คอยสร้างความกังวลในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ตลอดเวลา นับจากที่เริ่มเสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงเทพฯ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึงยุโรปในตอนกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2440 โดยที่หมายกำหนดการเสด็จประพาสทั้งหมดยังไม่เรียบร้อยลงตัวดีนั้น รัฐบาลไทยก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุผลประการสำคัญของการเสด็จครั้งนี้ หมายกำหนดการเสด็จประเทศฝรั่งเศสยังไม่มีการตกลงในรายละเอียดขั้นสุดท้าย เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัว "นายกาดีร์" (Kadir) และ "นายมหเหมด บิลลาห์" (Mahomet Billah) นักโทษเด็ดขาดชาวเขมรสองคนที่เป็นคนในบังคับฝรั่งเศส เป็นเงื่อนไขก่อนที่จะทำการเจรจาตกลงกันในเรื่องหมายกำหนดการรับเสด็จ ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นการขู่บังคับ แต่ในที่สุดเพื่อให้หมายกำหนดการเสด็จเยือนฝรั่งเศสเป็นที่ตกลงกันได้ และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น รัฐบาลไทยจึงจำต้องยินยอมทำตามเงื่อนไขข้อเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศส เพราะตระหนักดีว่า หากแผนการเสด็จจำต้องล้มเลิกไปแล้ว สถานการณ์ระหว่างประเทศทั้งสองจะต้องเลวร้ายลงจนยากที่จะแก้ไขได้ (49)

อย่างไรก็ดี เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลฝรั่งเศสมีเจตนาที่จะคุกคามเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองจากรัฐบาลไทยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยพยายามทำให้ปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อไปอีกและบ่ายเบี่ยงที่จะตกลงกับรัฐบาลไทยในเรื่องหมายกำหนดการเสด็จ ท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศสต้องการบีบบังคับให้รัฐบาลไทยยินยอมในเรื่องการจดทะเบียนคนในบังคับฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ตามเงื่อนไขที่เป็นข้อเสนอของตนอีกด้วย แต่เงื่อนไขของรัฐบาลฝรั่งเศสในเรื่องนี้มีลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบมากเกินกว่าที่รัฐบาลไทยจะยอมรับได้ รัฐบาลไทยดูเหมือนจะมองเห็นว่าการเจรจาโดยลำพังระหว่างผู้แทนของรัฐบาลทั้งสอง ไม่อาจที่จะยุติปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้โดยเร็ว ความเกรงกลัวว่าปัญหาดังกล่าวอาจจะทำให้แผนการเสด็จประพาสฝรั่งเศสต้องล้มเหลวลง ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยว่า เมื่อเสด็จถึงรัสเซียแล้วพระองค์จะกราบทูลขอให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เข้าดำเนินการไกล่เกลี่ย (50) การตัดสินพระทัยครั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากนโยบายเดิมของรัฐบาลไทย ที่ประสงค์จะอาศัยความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลฝรั่งเศสในฐานะของทวิภาคีพันธมิตร เป็นตัวกลางในการประนีประนอมข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส (51)

ในทันทีที่ได้รับการทูลขอ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ตกลงพระทัยที่จะช่วยไกล่เกลี่ยให้รัฐบาลฝรั่งเศสยอมเปิดการเจรจากับรัฐบาลไทย ในเรื่องหมายกำหนดการเสด็จประเทศฝรั่งเศส (52) ด้วยการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลรัสเซีย ในที่สุดการเจรจาก็เป็นที่ตกลงกันได้ด้วยดี และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ในเดือนกันยายนของปีนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ถวายการต้อนรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ และเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระองค์ไม่น้อย ในพระราชโทรเลขที่ทรงมีถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถ องค์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระองค์ทรงรับสั่งถึงการถวายการรับเสด็จที่ประเทศฝรั่งเศสในเดือนกันยายนของปีนั้นว่า "การรับรองดีอย่างยิ่งแต่ต้นจนตลอด ทางไมตรีแสดงต่อกันสนิทสนมขึ้นมาก ราษฎรพอใจฉันมากขึ้นทุกวัน เป็นข้อที่ควรจะดีใจแน่แล้ว" (53)

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ระหว่างฝรั่งเศสและไทยในตอนปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2440 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จถึงรัสเซียเล็กน้อย ก็ได้เลวร้ายลงตามลำดับ รัฐบาลฝรั่งเศสได้กล่าวหารัฐบาลไทยว่า ตลอดเวลานับตั้งแต่ที่ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาและอนุสัญญาฉบับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ละเมิดและหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาสองฉบับนี้หลายข้อ (54) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปรากฎข่าวทางโทรเลขจากกรุงเทพฯ ที่ว่า กองทหารไทยได้บุกรุกเข้าไปปล้นสดมภ์หมู่บ้านหลายแห่งในเขตปกครองของฝรั่งเศส และบาทหลวงคาทอลิคชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งถูกฆาตกรรมที่ปราจีนบุรี (55)

ดังนั้น ระหว่างที่พระองค์เสด็จประทับอยู่ที่รัสเซีย ปัญหาที่พระองค์ทูลปรึกษาต่อพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และปรึกษาหารือกับเคานต์มูราเวียฟ (Count Muravieff) เสนาบดีว่าการต่างประเทศของรัสเซีย จึงไม่มีเพียงเฉพาะปัญหาหมายกำหนดการเสด็จเยือนฝรั่งเศส แต่ยังรวมไปถึงปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับฝรั่งเศส และสถานการณ์ทางการเมืองโดยทั่วไปของไทยอีกด้วย พระองค์พยายามแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยมีความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกับฝรั่งเศสอย่างสันติ และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็เห็นด้วยกับพระองค์ที่ว่านโยบายคุกคามที่รัฐบาลฝรั่งเศสมีต่อไทยนั้น ไม่เป็นประโยชน์ต่อฝรั่งเศสมากเท่ากับที่ช่วยให้รัฐบาลอังกฤษ มีข้ออ้างที่จะเข้ายึดครองประเทศไทยไว้เป็นรัฐในอารักขาของตนเร็วขึ้น (56) ดูเหมือนพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ทรงเห็นว่าสถานการณ์ที่รัฐบาลไทยต้องเผชิญอยู่ในขณะนั้น มีความรุนแรงไม่น้อย ดังนั้น พระองค์จึงทรงรับที่จะช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทั้งสองให้สามารถยุติลงได้เร็วที่สุด พร้อมกับทูลเสนอว่าพระองค์จะทรงแต่งตั้งราชทูตมาประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้เพื่อให้การปรึกษาหารือระหว่างรัฐบาลทั้งสองในปัญหาข้างต้นดำเนินไปด้วยดี (57)

ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยและฝรั่งเศสสามประการ ที่เป็นผลมาจากการตีความในสนธิสัญญาและอนุสัญญา พ.ศ. 2436 ที่แตกต่างกันนั้น ไม่เพียงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเลวร้ายลงไปดังที่เห็นได้จากท่าทีในระยะแรกของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่มีต่อแผนการเสด็จประพาสเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการที่รัฐบาลฝรั่งเศสถือเป็นโอกาสยืดเวลาการยึดครองเมืองจันทบุรีออกไปอีกอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งในประการหลังนี้นับเป็นการกระทบต่ออธิปไตยของไทยเหนือดินแดนส่วนนั้นโดยตรง และทำให้รัฐบาลไทยจำต้องแสวงหาลู่ทางยุติข้อขัดแย้งดังกล่าวข้างต้นลงเร็วที่สุด แต่ความพยายามของรัฐบาลไทยก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญอยู่ตลอดมา ทั้งนี้เนื่องมาจากการตีความในประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่ของทางฝ่ายฝรั่งเศสนั้น มีลักษณะที่เป็นการทำลายบูรณภาพและเป็นอันตรายต่ออธิปไตยของไทยอย่างเห็นได้ชัด

การอ้างสิทธิของรัฐบาลฝรั่งเศส ในการครอบครองเขตแดนเมืองหลวงพระบางที่อยู่บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง เป็นการเรียกร้องที่อยู่นอกเหนือพันธสัญญาตามมาตรา 1 ของสนธิสัญญา พ.ศ. 2436 ที่รัฐบาลไทยจะต้องถือปฏิบัติ นอกไปจากนั้น การตีความของรัฐบาลฝรั่งเศสในประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจทางการปกครองและบังคับคดี (jurisdiction) ของรัฐบาลไทยในเขตปลอดทหารยี่สิบห้ากิโลเมตรบนฝั่งขวาแม่น้ำโขง และการจดทะเบียนบัญชีคนในบังคับของฝรั่งเศสที่เป็นชาวลาว เขมร และเวียดนาม ที่รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการให้ครอบคลุมไปถึงชั้นหลานนั้น ก็นับเป็นการจำกัดขอบเขตของอำนาจอธิปไตยของรัฐบาลไทยลงไปมาก ดังนั้น ในขณะที่รัฐบาลไทยปรารถนาที่จะยุติข้อขัดแย้งกับรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อรักษาอธิปไตยในดินแดนส่วนหนึ่งของตน คือ จันทบุรี รัฐบาลไทยก็ไม่อาจยินยอมที่จะให้อธิปไตยในดินแดนอีกส่วนหนึ่ง เป็นต้นว่าเขตแดนเมืองหลวงพระบางบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงนั้น ต้องถูกกระทบกระเทือนไปด้วยเช่นกัน

จากปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ข้างต้น รัฐบาลไทยจึงต้องยึดนโยบายที่อาศัยความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลฝรั่งเศส และอิทธิพลที่รัฐบาลรัสเซียมีอยู่ในฐานะของภาคีคู่สัญญาในทวิภาคีพันธมิตร (Franco-Russian Dual Alliance) ที่ได้ร่วมลงนามไปกับรัฐบาลฝรั่งเศสในตอนต้นของปี พ.ศ. 2437 โดยขอให้รัสเซียเป็นตัวกลางในการเจรจาประนีประนอมปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับฝรั่งเศส การเจรจาในเรื่องหมายกำหนดการเสด็จประพาสฝรั่งเศสที่สำเร็จลงได้ด้วยดี ได้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมองเห็นลู่ทางของการยุติข้อขัดแย้งกับรัฐบาลฝรั่งเศสขึ้นมาบ้าง และนี่นับเป็นจุดเริ่มแรกของการที่ รัฐบาลรัสเซียได้เข้ามามีบทบาทในปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลไทยในเวลาต่อมา

ดูเหมือนว่า ความล้มเหลวของพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณและพระยาสุริยานุวัตรในการเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสในปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างรัฐบาลทั้งสองในขณะนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยที่จะทำการเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยพระองค์เอง ในระหว่างที่เสด็จประพาสประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2440 ทั้งนี้เพื่อเป็นการวางหลักการเบื้องต้นที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาตกลงในขั้นรายละเอียด ระหว่างผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มของทั้งสองฝ่ายต่อไป ดังนั้น ในระหว่างที่เสด็จประทับอยู่ที่ประเทศรัสเซีย พระองค์จึงได้ทูลปรึกษาปัญหาข้างต้นพร้อมกับทรงขอให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ช่วยประสานความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลไทย ในประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องการตีความข้อกำหนดในสนธิสัญญาและอนุสัญญา พ.ศ. 2436 (58)

เมื่อได้รับการทูลทาบทามขอความช่วยเหลือพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ทรงตอบรับและทรงให้สัญญาด้วยว่า จะทรงช่วยเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนบัญชีคนในบังคับของฝรั่งเศสในประเทศไทย และที่เกี่ยวกับปัญหาเขตแดนเมืองหลวงพระบางที่อยู่บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง โดยจะทำการเจรจากับประธานาธิบดีเฟลิกซ์ โฟร์ (Felix Faure) ของฝรั่งเศส ซึ่งมีกำหนดการเดินทางมาเยือนรัสเซียก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสฝรั่งเศส ประเด็นทั้งสองข้างต้นเป็นประเด็นที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงเห็นลู่ทางที่จะทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสยอมรับที่จะประนีประนอม และเห็นด้วยกับการตีความของฝ่ายไทยมากกว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับเขตปลอดทหารยี่สิบห้ากิโลเมตรที่อยู่บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งในกรณีหลังนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสอาจจะต้องการสิทธิพิเศษจากรัฐบาลไทยบางอย่างเป็นการแลกเปลี่ยน เพราะเป็นประเด็นที่มีข้อกำหนดระบุไว้ในสนธิสัญญา พ.ศ. 2436 อย่างค่อนข้างชัดเจนกว่าในสองประเด็นแรก (59)

ไม่ปรากฎหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า การเจรจาระหว่างพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และประธานาธิบดีเฟลิกซ์ โฟร์ของฝรั่งเศส ดำเนินไปในลักษณะใด แต่ความช่วยเหลือของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ครั้งนี้ ทำให้ท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศสที่มีต่อรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึงกรุงปารีสในเดือนกันยายนของปีนั้น ความพยายามของรัฐบาลไทยในอันที่จะยุติปัญหาข้อขัดแย้งที่มีอยู่กับฝรั่งเศส ก็มีทีท่าว่าจะสำเร็จลงได้ด้วยดี โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนบัญชีคนในบังคับของฝรั่งเศสที่อยู่ในประเทศไทยนั้น ทรงมีพระราชหัตถเลขาว่า ประธานาธิบดีฝรั่งเศส…

"เหนตามที่เรากล่าว คือ บรรดาคนฝั่งซ้าย [ของแม่น้ำโขง ซึ่งหมายถึงดินแดนที่ตกเป็นของฝรั่งเศสตามสนธิสัญญา พ.ศ. 2436] จะกลับไปไม่ห้าม ที่เกิดในเมืองเราเปนโปรเตคเย [protege] ชั้นเดียว เติมว่า ถ้าคนฝั่งซ้ายมาค้าขายใหม่ในฝั่งขวาอยู่ในโปรเตคเยจนชั้นลูกเหมือนกัน เขายืนยันแขงแรงว่าเปนยุติธรรม จะพูดกับคอเวอนแมน [government] ให้ตกลงตามนี้…" (60)

นอกจากนั้น ยังปรากฎอีกว่านายอาโนโต เสนาบดีว่าการต่างประเทศของฝรั่งเศสที่เคยมีท่าทีก้าวร้าวและคุกคามรัฐบาลไทยมาก่อน ก็ยังรับปากที่จะปลดนายอาร์ดูแอง (Hardouin) กงสุลฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ ซี่งมีพฤติการณ์ที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของรัฐบาลไทยออกจากตำแหน่ง รวมทั้งจะอนุญาตให้ปล่อยตัวพระยอดเมืองขวาง ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสได้บีบบังคับให้รัฐบาลไทยลงโทษในกรณีที่พระยอดเมืองขวาง ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้รับผิดชอบในการฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ชาวฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2436 (61)

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะมีท่าทีว่ายอมลดหย่อนเงื่อนไขเดิมของตนลงมาบ้างก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน ประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในการตีความเรื่องอื่นๆ ก็ยังไม่ได้มีการเจรจากันอย่างจริงจัง ทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิการเป็นคนในบังคับฝรั่งเศสที่ความเห็นของทั้งสองฝ่าย ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกันด้วยดีดังที่อ้างแล้วข้างต้น กลับปรากฎว่าไม่อาจหาข้อสรุปที่เป็นที่พอใจกันได้ เพราะยังมีประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่อีกในการตีความมาตรา 4 ของอนุสัญญา พ.ศ. 2436 ที่ระบุว่า รัฐบาลไทยจะไม่ขัดขวางคนจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งก่อน หรือที่ข้ามมาด้วยสาเหตุใดก็ดี กลับไปอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตามเดิม ในประเด็นดังกล่าว รัฐบาลไทยได้ตีความว่า ถ้าคนจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเหล่านั้น ไม่ปรารถนาจะกลับไป ก็แสดงว่ามีเจตนารมณ์ที่จะสมัครเข้าเป็นคนในบังคับของไทย ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสยืนยันที่จะต้องถือว่าคนเหล่านี้ยังคงเป็นคนในบังคับของฝรั่งเศสอยู่ (62)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่อาจยอมรับการตีความในประเด็น ดังกล่าวของฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งคำนึงถึงเฉพาะผลประโยชน์ของตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ นอกจากนั้น หลังจากที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินออกจากประเทศฝรั่งเศสแล้ว พระองค์ก็ทรงเริ่มที่จะระแวงและไม่มั่นพระทัยว่า ท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศสที่มีต่อไทยนั้นจะเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร ดังที่พระองค์ทรงมีพระราชโทรเลขถึงกรมหลวงเทวะวงษ์วโรปการ ความว่า

"เวลานี้ด้วยอาไศรยคำแนะนำของเอมเปอเรอกรุงรัสเซีย ฉันเข้าใจว่าฝรั่งเศสจะเปนไมตรีแก่เราอยู่ แต่หากว่าเขาต้องคิดจะเอาเปรียบเราที่สุดตามธรรมดาเขา" (63)

ดังนั้น ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับไปยังกรุงปารีสอีกครั้งอย่างเป็นทางการในราวกลางเดือนตุลาคม เพื่อเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสในปัญหาที่ยังคั่งค้างอยู่นั้น พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เป็นการส่วนพระองค์ที่เมืองดาร์มสตัดท์ ประเทศเยอรมนี ซึ่ง พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับอยู่ เพื่อทรงปรึกษาหารือปัญหาดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง การเข้าเฝ้าที่เมืองดาร์มสตัดท์นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในนโยบายของไทยที่จะพยายามยุติปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่กับฝรั่งเศส เพราะในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทูลขอให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงรับเป็น "ผู้ตัดสิน" (arbitrator) ในการตีความประเด็นที่ขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลไทยและฝรั่งเศสในเรื่องการจดทะเบียนบัญชีคนในบังคับฝรั่งเศส ในขณะที่ก่อนหน้านั้น ในระหว่างการเสด็จประพาสรัสเซียในเดือนกรกฎาคม พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เคยทูลเสนอที่จะทรงรับเป็น "ผู้ตัดสิน" ให้ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธ ด้วยทรงเห็นว่า "ยังไม่ถึงคราวที่จะทำ" (64)

การเปลี่ยนแปลงท่าทีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมองไม่เห็นความหวังที่จะสามารถเจรจาตกลงยุติกรณีปัญหาความขัดแย้ง ที่มีอยู่กับรัฐบาลฝรั่งเศสได้อย่างราบรื่นโดยลำพังได้ แม้ว่าจะมีรัฐบาลรัสเซียคอยให้การสนับสนุนการต่อรองของรัฐบาลไทยอยู่ก็ตาม ดังนั้น พระองค์จึงได้ทรงหันมายอมรับที่จะให้การตีความที่ขัดแย้งกันในประเด็นดังกล่าวยุติลงด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ. พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ไม่เพียงแต่ยอมรับที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินตามคำทูลขอเท่านั้น แต่ยังได้ทูลแนะนำพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลฝรั่งเศส ถ้ารัฐบาลฝรั่งเศสต้องการให้รัฐบาลไทยโอนดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งให้ และรวมทั้งยังทรงแนะนำมิให้มีการแลกเปลี่ยนบันทึกความเห็นในประเด็นที่ขัดแย้งอยู่กับรัฐบาลฝรั่งเศสด้วย ทั้งนี้โดยที่พระองค์จะทรงช่วยจัดการปัญหาเหล่านี้ให้รัฐบาลไทยเอง (65) การตกลงยอมรับที่จะเป็นผู้ตัดสินของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ครั้งนี้ ได้ทำให้รัฐบาลไทยมีความหวังว่าข้อขัดแย้งในเรื่องการตีความจะยุติลงได้โดยเร็ว (66) ทั้งนี้เพราะ รัฐบาลไทยคาดว่ารัฐบาลฝรั่งเศสคงจะยินยอมตกลงรับข้อเสนอดังกล่าวโดยเห็นแก่รัฐบาลรัสเซีย

แต่การคาดคะเนของรัฐบาลไทยก็ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสได้รับการทาบทาม ก็ได้ตอบปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงกับข้อเสนอของการตัดสินปัญหาด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ แม้ว่าข้อเสนอของรัฐบาลไทยนั้นจะขอให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองของฝรั่งเศสเองเป็นผู้ตัดสินก็ตาม (67) นอกจากนั้น ท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศสที่มีต่อไทยในระหว่างการเจรจากับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งที่สอง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2440 นั้น ก็ยังได้เปลี่ยนแปลงกลับไปสู่ท่าทีเดิมที่ยืนยันให้รัฐบาลไทยโอนดินแดนส่วนหนึ่งให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยอมรับประนีประนอมในประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่ระหว่างรัฐบาลทั้งสอง (68)

การปฏิเสธของทางฝ่ายรัฐบาลไทยต่อข้อเรียกร้องในประเด็นนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสมาก เพราะภายหลังจากนั้น นายอาโนโต เสนาบดีว่าการต่างประเทศของฝรั่งเศสก็ได้แสดงท่าทีให้เห็นว่า จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ ที่เคยกราบบังคมทูลรับไว้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นว่า การปล่อยตัวพระยอดเมืองขวาง ฯลฯ (69) ความขัดแย้งและท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปเชิงแข็งกร้าวและคุกคามมากขึ้นของนายอาโนโตครั้งนี้ ทำให้การเจรจาที่ดำเนินไปอย่างมีความหวังในระยะแรกต้องล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง

ความเปลี่ยนแปลงในท่าทีของฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศสข้างต้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความระแวงที่ทำให้บรรยากาศของการเจรจาเลวร้ายลงไป รัฐบาลฝรั่งเศสระแวงว่าการเสด็จพระราชดำเนินไปอังกฤษอีกครั้งในตอนปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2440 มีส่วนทำให้พระองค์เปลี่ยนแปลงการปฏิบัติต่อ ฝรั่งเศสในทางที่ไม่ดีมากขึ้น (70) อย่างไรก็ดี สาเหตุประการสำคัญที่สุด น่าจะเป็นผลของการเข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่เมืองดาร์มสตัดท์ ท่าทีของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทำให้รัฐบาลไทยยืนกรานที่จะให้มีการตีความข้อกำหนดในสนธิสัญญาและอนุสัญญา พ.ศ. 2436 อย่างตรงไปตรงมา แทนที่จะให้มีการประนีประนอมด้วยการที่ไทยโอนดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งให้แก่ฝรั่งเศสตามที่รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการ การที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ยอมรับทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินตามข้อเสนอของรัฐบาลไทย ยังสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสและนักการเมืองกลุ่มผลประโยชน์อาณานิคมของฝรั่งเศส เพราะนอกจากข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลฝรั่งเศสไม่เคยยอมรับวิธีการอนุญาโตตุลาการมาระงับหรือคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลไทยมาก่อนแล้วเท่านั้น แต่การยอมรับเป็นผู้ตัดสินของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ยังเป็นการเข้าเกี่ยวข้องแทรกแซงปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสและไทยในทางที่รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ปรารถนา

ปฏิกิริยาของนักการเมืองกลุ่มผลประโยชน์อาณานิคมในฝรั่งเศส ที่มีต่อการแทรกแซงของรัฐบาลรัสเซียและท่าทีของรัฐบาลไทยในการเจรจาครั้งนี้ เห็นได้ชัดจากบทความในหนังสือพิมพ์ "สยามฟรีเปรส" (Siam Free Press) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่อยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมืองฝรั่งเศสกลุ่มนี้ ที่พยายามสร้างข่าวลือขึ้นที่กรุงเทพฯ ว่า รัฐบาลรัสเซียได้ดำเนินการให้ประเทศไทยตกเป็นรัฐในอารักขาของรัฐบาลฝรั่งเศส ทั้งนี้เพื่อเป็นการยุติปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทั้งสอง (71) ข่าวลือดังกล่าวย่อมมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความเข้าใจผิดและความระแวงสงสัยให้เกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลไทยอาศัยอิทธิพลทางการเมืองที่รัสเซียมีอยู่ บีบบังคับให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่พึงได้รับจากการเจรจากับรัฐบาลไทย

ความล้มเหลวของการเจรจาที่กรุงปารีส ระหว่างการเสด็จประพาสฝรั่งเศสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้การเจรจาเพื่อยุติข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทั้งสองต้องหยุดชะงักลงไปกว่าหกเดือน และย้ายการเจรจากลับมาที่กรุงเทพฯ ปัญหาข้อขัดแย้งหลักๆ ระหว่างฝรั่งเศสและไทยมายุติลงได้ในอีกเจ็ดปีต่อมาด้วยอนุสัญญา พ.ศ. 2447

ความตาม

"…คิดๆ ดู การที่มาคราวนี้ เปนการที่หลับตามาแท้ๆ ไม่หลับตาแต่เราที่อยู่บางกอกเลย คนที่อยู่เมืองนอกบางทีก็ยิ่งไปกว่าเรา เสียดายความรู้ที่ควรจะได้ดีกว่า ต้องไปสังเวยความไม่รู้ของคนอื่นเสียเปนอันมาก นั่งๆ นอนๆ พิจารณาดูประโยชน์ที่มาเห็นเปนแต่นอนหลับฝันไปถึงบ่อเงินบ่อทองเท่านั้น ไม่แลเห็นทางว่าจะไปขุดเอาได้จริงฤาไม่ ถ้าคิดอะไรๆ ยังพอแลเห็น ถ้านึกถึงคนแล้วเปนสิ้นสติทีเดียว ราชการในยุโรปนี้ ถ้าการทูตขรตรีเศียรยังเปนอยู่เช่นนี้ตราบใด เปนนับว่าหาประโยชน์มิได้เลย การอะไรๆ ที่ส่งออกมา ขอให้เข้าใจว่าไม่มีใครอ่าน ขอให้พึงรู้เถิดว่า อะไรที่ส่งออกมาที่ทูตนั้น คือโยนเข้าตู้ฤาส่งวิมานพรหม อย่าได้พึงหมายว่าจะได้ทำอันใด การที่เปนดังนี้เพราะไม่มีใครรับผิดแลชอบในน่าที่ตัวเลย ไม่ใช่จะเปนเพราะไม่เอื้อเฟื้อของทูตอย่างเดียว เปนเพราะความเขลาอย่างหนึ่ง ความกลัวผู้ที่มือไม่พายเอาตีนราน้ำอย่างหนึ่ง เพราะคอเวอนเมนต์ต่างประเทศไม่เห็นเราเปนสำคัญที่จะต้องโต้ตอบ นิ่งๆ เสียก็แล้วกันอีกอย่างหนึ่ง" (72)

กล่าวได้ว่า การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. 2440 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะดำเนินไปด้วยเหตุผลของการประชาสัมพันธ์ "สร้างภาพลักษณ์" ของ "ความศิวิไลซ์" ของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อมหาอำนาจและสาธารณชนในตะวันตก และรวมทั้งเพื่อเรียนรู้ความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของโลกตะวันตก เพื่อประโยชน์ต่อการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยแล้ว ในด้านหนึ่ง การเสด็จประพาสครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของอังกฤษต่อแนวนโยบายด้านการต่างประเทศของไทย และเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองระหว่างไทยและฝรั่งเศสภายหลังวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112

นอกจากนั้น การเสด็จประพาสยุโรปยังได้เปิดโอกาสให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและผู้นำไทยคนอื่นๆ ได้มีโอกาส "เรียนรู้" และ "สัมผัส" การเมืองระหว่างประเทศของบรรดาผู้นำของมหาอำนาจตะวันตกเป็นครั้งแรกอย่างแท้จริง แตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ ที่การเรียนรู้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในการเจรจากับผู้แทนทางการทูตของมหาอำนาจเหล่านั้นที่ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ และข้าราชการอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกบางคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ประการสำคัญก็คือ การประจักษ์ความจริงเกี่ยวกับความอ่อนแอของกลไกทางการทูตของไทยในการเมืองโลก อันเป็นผลเนื่องมาจากความเหลวไหล ไร้ประสิทธิภาพ และขาดความใส่ใจในหน้าที่ราชการของนักการทูตไทยส่วนใหญ่ที่ประจำอยู่ในยุโรป ซึ่งมีผลทางลบต่อผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศของไทยเอง ดังปรากฎอยู่ในพระราชหัตถเลขาที่อัญเชิญมาลงไว้ข้างต้นของ "ความตาม" นี้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(41) ฉลอง สุนทราวาณิชย์, รุสเซีย-ไทย สมัยรัชกาลที่ 5, 104, 147-149; และ Tuck, The French Wolf and the Siamese Lamb, 179-180, 186-188. สำหรับคำแปลภาษาไทยข้อความเต็มของสนธิสัญญาและอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้, ดู จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ, วิกฤตการณ์สยาม ร.ศ.112 : การเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง, 384-389. และคำแปลภาษาอังกฤษใน Tuck, The French Wolf and the Siamese Lamb, 291-295.

(42) ดูการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผลประโยชน์อาณานิคมของฝรั่งเศส และรวมทั้งทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ ช่วงหลังวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ.112 ถึง พ.ศ. 2439 ใน Tuck, The French Wolf and the Siamese Lamb, 169-188.

(43) การเสด็จประพาส…, 151.

(44) "หนังสือพระยาสุริยานุวัตร ราชทูตประจำกรุงปารีส กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ เรื่องหมายกำหนดการเสด็จถึงประเทศรัสเซีย ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ร.ศ.115" ใน การเสด็จประพาส, 86-87; และ Petersson, "King Chulalongkorn's …," 8.

(45) Agathon Aerni, Siam-Swiss Centenary : The Growth of a Friendship, 71 (fn. 5).

(46) หอจดหมายแห่งชาติ. ร. 5 ต. 11 ก/25, "Queen Saowabha-King Chulalongkorn," Tel., Bangkok, June 3, 1897; ร่างข้อความพระราชโทรเลขฉบับนี้ ใน การเสด็จประพาส…, 283.

(47) Tuck, The French Wolf and the Siamese Lamb, 191.
(48) Petersson, "King Chulalongkorn's …," 8.

(49) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต. 11 ก./15, "Queen Saowabha-King Chulalongkorn", Tel., Bangkok, June 3, 1897; และ "พระราชโทรเลข กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเทพฯ 3 มิถุนายน ร.ศ. 116)" ใน การเสด็จประพาส…, 283-284.

(50) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต. 11 ก./14, "พระราชหัตถเลขา ถึงสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ" ฟลอเรนซ์,
13 มิถุนายน ร.ศ.116.

(51) ฉลอง สุนทราวาณิชย์, รุสเซีย-ไทย สมัยรัชกาลที่ 5.

(52) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต. 11 ก./29 "King Chulalongkorn-Prince Devawongse,"
Tel., Peterhof, July 5, 1897.

(53) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต. 11 ก./11 "ร่างพระราชโทรเลขถึงสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ" ปารีส, ไม่ปรากฎวันเดือนปี

(54) "Document No.62: Communication from the French Embassy in Russia to the Russian Foreign Affairs' Ministry about Franco-Siamese Relations, dated St. Petersburg, June 13, 1897", และ "Document No.63: Communication from the French Embassy in Russia to the Russian Foreign Affairs' Ministry about Franco-Siamese Relations, dated St. Petersburg, June 20, 1897," ใน Institute of Oriental Studies, the USSR Academy of Sciences (Moscow), Politika Kapitalisticheskikh Depjav i Nasionalno-osvoboditelnoie Dvijenie v Yugo-Vostochnoi Azii (1871-1917) : Dokumenty u Materialy, (The Policy of the Capitalist Powers and the National Liberation Movement in Southeast Asia (1871-1917) : Document and Background Material) Volume II, Moscow: Nauka Publications, 1967. Parts III, IV, V and VI of this volume which deal with "Siam" are translated into English for the Graduate School, Chulalongkorn University, by Mr. Bruno Baron.), 142-143, 143-144.

(55) ดูรายละเอียดของข่าวโทรเลข ใน Great Britain. Foreign Office Confidential Prints (Further Correspondence respecting the affairs of Siam), IX, "King Chulalongkorn-the Siamese Government," Tel., Buda-Pest: June 30, 1897 (Inclosure I in "Greville (British Minister in Bangkok)-Lord Salisbury," No.59, Confidential, Bangkok: July 6, 1897).

(56) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต. 11 ก./29 "King Chulalongkorn-Prince Devawongse,"
Tel., Peterhof, July 5, 1897.

(57) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต. 11 ก./11 "ร่างพระราชโทรเลข ถึง กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ" รัสเซีย ไม่ปรากฎวันเดือนปี.

(58) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต. 11 ก./29 "King Chulalongkorn-Prince Devawongse,"
Tel., Peterhof, July 5, 1897.

(59) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 บ. 1.1 ก./5 "พระราชหัตถเลขา ถึง กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ" อ่าวฟินแลนด์, 11 กรกฎาคม ร.ศ. 116.

(60) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต. 11 ก./11 "ร่างพระราชโทรเลขถึงสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ" ปารีส, ไม่ปรากฎวันเดือนปี
(61) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต. 11 ก./11 "ร่างพระราชโทรเลข ถึง กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ" ลอนดอน, ไม่ปรากฎวันเดือนปี.
(62) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต. 11 ก./32 "ร่างพระราชโทรเลข ถึง กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ" ปารีส, ไม่ปรากฎวันเดือนปี.

(63) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต. 11 ก./11 "ร่างพระราชโทรเลข ถึง กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ" เมเดนเฮด (Maidenhead) ประเทศอังกฤษ, ไม่ปรากฎวันเดือนปี.

(64) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต. 11 ก./32. "ร่างพระราชโทรเลข ถึง กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ" ไม่ปรากฎสถานที่ ไม่ปรากฎวันเดือนปี อย่างไรก็ดี ร่างพระราชโทรเลขฉบับนี้ ตอบรับลายพระหัตถ์ที่กรมหลวงเทวะวงศวโรปการกราบบังคมทูล ฉบับลงวันที่ 29 กรกฎาคม ร.ศ. 116 ร่างพระราชโทรเลขฉบับนี้ จึงน่าที่จะลงวันที่ประมาณต้นเดือนกันยายน

(65) Great Britain. Foreign Office Papers 69 (Siam)., 187; "Greville-Lord Salisbury," No.44, Tel., Bangkok, October 21, 1897.

(66) Great Britain. Foreign office Confidential Prints, "Greville-Lord Salisbury," No.43, Tel., Confidential, Political, (Bangkok, October 11, 1897).

(67) หอจดหมายแห่งชาติ. ร.5 ต.11 ก./32. "ร่างพระราชโทรเลขถึงกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ" ไม่ปรากฎสถานที่ และวันเดือนปี.

(68) Great Britain. Foreign Office Papers 69/187; "Greville-Lord Salisbury," No.97, Confidential, Bangkok, October 22, 1897.

(69) Great Britain. Foreign Office Papers 69/189; "King Chulalongkorn-Queen Regent (Queen Saowabha)," Tel., San Sebastian, October 15, 1897. (Inclosure in "Greville-Lord Salisbury," No. 97, Confidential, Bangkok, October 22, 1897.

(70) Politika Kapitalisticheskikh Depjav i… , footnote 210, 391. อ้างถึงรายงานทางราชการของบารอนมอห์เรนไฮม์ (Baron Mohrenheim) เอกอัครราชทูตรัสเซียที่กรุงปารีส ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1897.

(71) Great Britain. Foreign Office Papers 69/175; "Siam: A French Protectorate," Siam Free Press, October 18, 1897.

(72) "พระราชหัตถเลขาฉบับที่ 52, เอสเซน, วันที่ 5 กันยายน ร.ศ.116 (พ.ศ. 2440)" ใน พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์…, 181-2

 


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
22 November 2007
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
ความรู้ที่เกี่ยวกับการเสด็จประพาสของบรรดาพระมหากษัตริย์แต่ประเทศตวันออก เหล่านี้ ยังได้มาเป็น "มาตรวัด" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เปรียบเทียบ "สถานภาพ" ที่พระองค์ทรงได้รับจากการถวายการต้อนรับที่ราชสำนักและรัฐบาลต่างๆ ของมหาอำนาจตะวันตกจัดขึ้น โดยหนึ่งในบรรดา "พระคัมภีร์" ข้างพระแท่นบรรทมที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่านอย่างจริงจัง ตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่บนเรือพระที่นั่งมหาจักรีจากสิงคโปร์ถึงทะเลแดง ก็คือ "ไดอรีของชาห์ออฟเปอเซีย" ที่บันทึกระยะทางเสด็จประพาสยุโรป