โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๑๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐ (November, 23, 11, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

23-11-2550

Water resource
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

สาระและผลกระทบที่สำคัญจาก ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ
สิทธิชุมชน: ชุมชนไม่มีสิทธิ์ (กรณีร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : บรรณาธิการ
ร่วมรณรงค์ให้มีการชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ

บทความต่อไปนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน ได้รับมาจากคุณ มนตรี จันทวงศ์
มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๐)
ประกอบด้วย หัวข้อสำคัญ คือ ...
๑. จดหมายเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ
๒. เอกสารชี้แจงถึงสาระและผลกระทบที่สำคัญจาก ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ
๓. รายชื่อองค์กรแนบท้ายจดหมายให้ชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

สำหรับนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจอ่านร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ (ทั้งฉบับ)
ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญแบ่งออกเป็น ๑๐ หมวด ๙๔ มาตรา
สามารถคลิกอ่านหรือ download ได้จากท้ายบทความบนหน้าเว็บเพจนี้
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๑๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สาระและผลกระทบที่สำคัญจาก ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ
สิทธิชุมชน: ชุมชนไม่มีสิทธิ์ (กรณีร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : บรรณาธิการ
ร่วมรณรงค์ให้มีการชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ

1. ขอเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ)
77/1 หมู่ 5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 โทรศัพท์/โทรสาร (053)810623-4
Email:[email protected], [email protected]

ที่ กป.อพช. 045/2550
๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

เรื่อง ขอเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...
กราบเรียน ฯพณฯ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ด้วยเหตุที่การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๖๐/๒๕๕๐ เมื่อวันพุธที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๐ ได้ผ่านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ในวาระที่ ๑ และในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญทรัพยากรน้ำ นั้น

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ พร้อมด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนที่มีรายชื่อแนบท้าย ที่ได้ติดตามกระบวนการร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำมาอย่างต่อเนื่อง มีความเห็นว่า หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมติดตามมา เพราะกฎหมายฉบับนี้จะไม่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๖๖, ๖๗ และมาตรา ๘๗ ในทางตรงกันข้าม กฎหมายฉบับนี้จะยิ่งทำให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจควบคุมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพิ่มมากขึ้น

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ พร้อมด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนแนบท้าย จึงขอเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ในขั้นกรรมาธิการวิสามัญทรัพยากรน้ำไว้ โดยมีเหตุผลในรายละเอียด ดังนี้

๑. ร่างกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับการกำหนดรายละเอียด ในส่วนที่ ๑๒ เรื่องสิทธิชุมชน ตามมาตรา ๓๐๓ (๑) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ควรเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความเห็นและผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

เหตุผลประกอบ

๑.๑ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ไม่ว่าจะเป็นร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือการเพิ่มอำนาจรัฐในการควบคุมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น (มาตรา ๖๖) และ การลดทอนสิทธิของบุคคลและชุมชนตาม มาตรา ๖๗ ถึงแม้ว่าในส่วนอารัมภบทของร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี จะระบุเพียงว่า จะต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตามมาตรา ๒๙, ๓๓, ๔๑ และ มาตรา ๖๔ เท่านั้น และไม่ปรากฏในฉบับที่เสนอโดย โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

๑.๒ ถึงแม้ว่าร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำทั้ง ๒ ฉบับ จะถูกอ้างว่าได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาหลายครั้ง แต่ยังถือว่าการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัดและขาดความโปร่งใสอยู่มาก โดยพิจารณาได้จากทั้งส่วนของรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่เคยจัดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยเสนอร่างฯ ฉบับสมบูรณ์ในการประชุมรับฟังความคิดเห็น ดังตัวอย่างเช่น

ร่างฯ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ในการรับฟังความคิดเห็นทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่เคยระบุอัตราค่าธรรมเนียมที่ชัดเจน เช่น อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่สอง และประเภทที่สาม หรืออัตราค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาต ดังที่ปรากฏในร่างฯ ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตใช้น้ำและค่าใช้น้ำ (มาตรา ๒๐(๙) และมาตรา ๓๘(๓) ) เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งต่อประชาชนในภาคการเกษตร กระบวนการจัดทำร่างกฎหมายได้ปิดบังเรื่องนี้มาตลอด และเพิ่งมาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อเป็นร่างฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วเท่านั้น

ร่างฯ ที่เสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นที่ดำเนินการในระยะเวลาที่จำกัดอย่างยิ่ง และเป็นไปในลักษณะของการรับฟังความเห็นต่อประเด็นเนื้อหาของการร่างกฎหมาย คณะผู้จัดทำร่างฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่เคยนำร่างฯ ฉบับสมบูรณ์ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

๒. เจตนารมณ์ของการร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดกฎหมายแม่บท ที่มีความเป็นเอกภาพในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากรน้ำ และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หากเมื่อพิจารณาในสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำทั้งสองฉบับแล้ว ยังไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยใดๆ ว่า จะสามารถสร้างเอกภาพ และประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้จริงหรือไม่ (ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๖, ๖๗ และมาตรา ๘๗)

เหตุผลประกอบ

๒.๑ ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำทั้งสองฉบับ ตามมาตรา ๓ มีสาระสำคัญตรงกันคือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หากมีกฎหมายอื่นใดบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมายฉบับนั้น การกำหนดไว้เช่นนี้ จะไม่สามารถทำให้เกิดการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างเป็นเอกภาพในระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง นอกจากการทำให้กรมทรัพยากรน้ำกลายเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเท่านั้น การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำอาจนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บททรัพยากรน้ำได้ แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการบูรณาการแผนงานให้เกิดเอกภาพได้จริง เพราะภายใต้โครงสร้างและระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หน่วยงานราชการต่างต้องยึดกฎหมายของหน่วยงานเป็นหลักในการทำงาน

๒.๒ การปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยผลของร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำทั้งสองฉบับนั้น จะเป็นการลบล้างสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามจารีต ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นลงทั้งหมด และสร้างระบบสิทธิการใช้น้ำขึ้นมาใหม่ โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของชุมชน เช่นระบบเหมืองฝายในภาคเหนือ ผ่านกระบวนการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำและการขออนุญาตใช้น้ำประเภทต่างๆ (มาตรา ๓๖ และ ๔๕ ตามร่างที่เสนอโดยรัฐบาล และ มาตรา ๑๒ และ ๓๔ ตามร่างที่เสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ)

ในการจัดการน้ำระบบเหมืองฝายในภาคเหนือ องค์กรเหมืองฝายมีสิทธิในการพิจารณาการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำรายใหม่ ว่าจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำของระบบเหมืองฝายดั้งเดิมหรือไม่ ทั้งนี้หมายรวมถึงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ หากองค์กรเหมืองฝายเห็นว่าการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำรายใหม่จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำที่เป็นอยู่เดิม ก็สามารถยับยั้งได้. กฎหมายทรัพยากรน้ำตามนัยของร่างฯ ทั้งสองฉบับอาจส่งผลให้สิทธิและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขององค์กรชุมชนท้องถิ่นที่มีอยู่แต่เดิมดังกล่าวหมดสิ้นไป ถึงแม้ในร่างฯ ที่เสนอโดยรัฐบาลจะมีโครงสร้างของคณะกรรมการลุ่มน้ำ และให้เข้ามามีอำนาจการจัดสรรน้ำแทน แต่ก็ถือว่าเป็นการสร้างโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ ที่ซ้อนทับโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น

๓. การจัดสรรน้ำโดยแบ่งประเภทการใช้น้ำเป็นสามประเภท และมีระบบการขออนุญาตใช้น้ำนั้น (มาตรา ๔๕ ตามร่างที่เสนอโดยรัฐบาล และ มาตรา ๓๔ ตามร่างที่เสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ได้แก่

(๑) การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือนและการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๒) การใช้น้ำประเภทที่สอง ได้แก่ การใช้น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๓) การใช้น้ำประเภทที่สาม ได้แก่ การใช้น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การแบ่งประเภทการใช้น้ำข้างต้นนี้ จะเพิ่มความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในสังคม เนื่องจากระบบการออกใบอนุญาตใช้น้ำ ทำให้ผู้ขอต้องมีภาระทั้งค่าใช้น้ำและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้น้ำ จะเป็นการกีดกันประชาชนที่ใช้น้ำจำนวนหนึ่งออกไปจากระบบ เนื่องจากไม่สามารถรับภาระด้านการเงินได้ รวมทั้งไม่มีหลักประกันใดๆ ว่ากระบวนการจัดสรรน้ำจะเกิดความเป็นธรรมและทั่วถึงต่อผู้ใช้น้ำกลุ่มต่างๆ ในร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะที่รัฐจัดสร้างขึ้น เช่น อ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำ ตามร่างฯ ทั้งสองฉบับยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า ในยามที่น้ำขาดแคลน การใช้น้ำประเภทที่ ๑ จะได้รับการประกันว่าจะได้รับสิทธิการจัดสรรเป็นอันดับแรก ตัวอย่างการจัดสรรน้ำในยามน้ำขาดแคลนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การใช้น้ำประเภทที่ ๑ และการใช้น้ำประเภทที่ ๒ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรมหรือการเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์จะถูกจัดสรรไว้ในลำดับท้ายสุด ซึ่งสร้างความขัดแย้งในเรื่องการจัดสรรน้ำมาโดยตลอด เป็นปัญหาทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง

การประสบภัยพิบัติเกี่ยวกับน้ำที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ ถูกใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนการเร่งผลักดันกฎหมายทรัพยากรน้ำ แต่ทุกครั้งที่วิกฤติการเกิดขึ้น รัฐบาลก็สามารถสร้างมาตรการที่เหมาะสมและพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกในปี ๒๕๔๘ รัฐบาลได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้จัดทำแผนการประมาณการความต้องการน้ำ ศักยภาพน้ำต้นทุนลุ่มน้ำภาคตะวันออก เป็นที่เรียบร้อยแล้วในเดือนธันวาคม ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา หรือปัญหาพื้นที่เสี่ยงภัยจากดินโคลนถล่ม หน่วยงานราชการก็ได้เริ่มจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัย รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เห็นได้ว่าในสภาวะที่แม้ไม่มีกฎหมายทรัพยากรน้ำ การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ก็ยังสามารถที่จะดำเนินการไปได้

ด้วยเหตุผลทุกประการที่กล่าวข้างต้น จึงใคร่ขอเรียกร้องให้ฯพณฯ โปรดดำเนินการให้มีการชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(นายบุญยืน คงเพชรศักดิ์)
ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ

รายชื่อองค์กรแนบท้ายจดหมายเรื่อง การชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
ชุมชนคนรักป่า
โครงการสื่อสารแนวราบ
สหพันธ์กลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ
มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(ภาคเหนือ)
เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ
เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
โครงการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดน่าน
โครงการจัดการลุ่มน้ำปิงตอนบน
มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
โครงการฟื้นฟูชีวิตและวัฒนธรรมแม่ฮ่องสอน
กลุ่มรักษ์เชียงของ
ภาคีคนฮักเจียงใหม่
สถาบันสิทธิชุมชนท้องถิ่น
มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อสิ่งแวดล้อม
เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดลำปาง
เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดลำปาง
เครือข่ายป้องกันยาเสพติดจังหวัดลำปาง
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดลำปาง
ประชาสังคมจังหวัดลำปาง
ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
กลุ่มเพื่อนประชาชนบนพื้นที่สูง
สมาคมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ
สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน

รายนามองค์กรชุมชน แนบท้ายจดหมายเรื่องการชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...
สมัชชาองค์กรเหมืองฝายลุ่มน้ำภาคเหนือ
เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ
เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ
เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ
เครือข่ายลุ่มน้ำชี
เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำมูล

2. สาระและผลกระทบที่สำคัญจาก ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...
ประมวลโดย: มนตรี จันทวงศ์
มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

การยกร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำโดยกรมทรัพยากรน้ำ เสร็จสมบูรณ์และปรากฏบนเว็บไซด์ของกรมทรัพยากรน้ำมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 จากนั้นยังไม่มีความก้าวหน้าใดๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 60/2550 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 อย่างไรก็ตาม พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ด้วยเช่นกัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาและรับหลักการในวาระที่ 1 ทั้งสองร่าง และแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญทรัพยากรน้ำ เพื่อดำเนินการแปรญัตติโดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลัก

ร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ(ของรัฐบาล) แบ่งเป็น ๑๐ หมวด มี ๙๔ มาตรา ได้แก่

หมวด 1 แหล่งน้ำของรัฐ
หมวด 2 สิทธิในน้ำ
หมวด 3 องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ประกอบด้วย)

ส่วนที่ 1 คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ส่วนที่ 2 ลุ่มน้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำ และ
ส่วนที่ 3 องค์กรผู้ใช้น้ำ

หมวด 4 กองทุนทรัพยากรน้ำ
หมวด 5 การจัดสรรน้ำ
หมวด 6 การป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม
หมวด 7 การอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำของรัฐ
หมวด 8 การควบคุมและตรวจตราทรัพยากรน้ำ
หมวด 9 ความรับผิดทางแพ่ง ในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำของรัฐ
หมวด 10 บทกำหนดโทษ
บทเฉพาะกาล

สาระสำคัญและผลกระทบของ ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ

1. สถานะของ "น้ำ" สถานะของน้ำจะเปลี่ยนจาก เป็นสมบัติสาธารณะ ไปเป็นของรัฐในทันที ถึงแม้ว่าตามร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำจะไม่ระบุตรงๆ ว่า ให้น้ำเป็นของรัฐดังเช่นร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ ที่ผ่านมา ตามที่กำหนดในมาตรา 6(1) และ 6(2) โดยไม่ต้องรอให้มีการประกาศกฎกระทรวงหรือประกาศเขตลุ่มน้ำเฉพาะลุ่มน้ำใดลุ่มน้ำหนึ่ง เห็นได้จากผู้ฝ่าฝืนการใช้น้ำตามมาตรา 45 จะมีความผิดตามมาตรา 82, 83, 84, แสดงให้เห็นว่า น้ำได้เปลี่ยนสถานะเป็นของรัฐโดยสมบูรณ์

2. ร่างพ.ร.บ.ฯน้ำจะทำลายการใช้น้ำในรูปแบบจารีต ประเพณีของท้องถิ่น และสร้างองค์กรผู้ใช้น้ำขึ้นมาใหม่ตามมาตรา 36. พ.ร.บ.ฯน้ำรับรองสิทธิการใช้น้ำเฉพาะของบุคคลเท่านั้น แต่สิทธิการใช้น้ำก็ถูกจำกัดโดยเงื่อนไขที่กำหนดในร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ ตามมาตรา 9. การก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำในมาตรา 36 ก็รับรองสิทธิของบุคคลเป็นหลัก ไม่รับรองสิทธิของชุมชนที่มีอยู่เดิม ซึ่งสิทธิชุชนดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองในกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 66. เฉพาะ "องค์กรผู้ใช้น้ำ" ที่จดทะเบียนตามมาตรา 36 เท่านั้น ที่จะได้รับการคัดเลือกไปเป็นตัวแทนใน คณะกรรมการลุ่มน้ำ. ผู้ใช้น้ำเดิมเช่น กลุ่มเหมืองฝาย ไม่มีสิทธิส่งผู้แทนเข้าร่วมในการคัดเลือกเป็นตัวแทนในคณะกรรมการลุ่มน้ำ แต่หากจะใช้น้ำ ต้องเข้าสู่ระบบการขอใบอนุญาตใช้น้ำ สิทธิการจัดการน้ำของกลุ่มเหมืองฝายถูกทำลายลงทั้งหมด

3. ร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ ทำให้รัฐมีอำนาจบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จใน 3 รูปแบบ คือ รูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำ การผันน้ำ การทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำในยามน้ำท่วม, รูปแบบการบริหารจัดการหรือการใช้น้ำ และรูปแบบการกำหนดการใช้ที่ดิน ได้แก่

3.1 รัฐมีอำนาจพัฒนาแหล่งน้ำ(สร้างเขื่อน, อ่างเก็บน้ำ) การผันน้ำ การทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำในยามน้ำท่วม (มาตรา 7, 61, 62, 63) ซึ่งเป็นอำนาจเช่นเดียวกับกรมชลประทาน ดังนั้น พ.ร.บ.ฯน้ำ จะเพิ่มอำนาจให้กรมทรัพยากรน้ำมีเท่ากับหรือมากกว่ากรมชลประทานในบางกรณี

3.2 รัฐสามารถกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการน้ำหรือการใช้น้ำ โดยจำแนกประเภทการใช้น้ำ และการขอใบอนุญาตใช้น้ำ รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขการใช้น้ำ (มาตรา 5, 20(5)(7), 32(2)(3)(4), 34(3), 45, 46, 47, 48, 49, 50, 51, 52, 53, 54) จะทำให้กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งสามารถใช้อำนาจผ่านกรรมการทั้ง 2 ระดับและใช้อำนาจในนามพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจควบคุมการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด

นอกจากนี้การพัฒนาตลาดซื้อ-ขายน้ำ มีความชัดเจนมากขึ้น (โดยดูได้จากอัตราค่าธรรมเนียม การโอนใบอนุญาต) จะส่งผลให้เกษตรกรต้องสูญเสียปัจจัยการผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยตัวอย่างจากระบบตลาดซื้อ-ขายที่ดิน ส่งผลให้เกษตรกรต้องไร้ที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก หากรัฐสร้างกลไกตลาดซื้อ-ขายน้ำ ในที่สุดแล้วรัฐจะไม่สามารถควบคุมการซื้อ-ขายน้ำได้

3.3 รัฐสามารถประกาศเขตพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธารได้ รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ติดกับแหล่งน้ำสาธารณะได้ (มาตรา 67, 68, 69, 71) ผู้ฝ่าฝืนมีบทกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่ากฎหมายอุทยานฯ หรือเขตรักษาพันธุ์ฯ เพราะกฎหมายป่าอนุรักษ์มีผลบังคับเฉพาะในเขตอนุรักษ์เท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจไปบังคับหรือออกกฎเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ติดกับเขตอนุรักษ์ได้ เช่นที่กำหนดใน มาตรา 68, 69

4. ภาระทางการเงินของผู้ใช้น้ำ ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในเรื่อง ค่าใบคำขอ, ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้น้ำ, ค่าใช้น้ำ, ค่าปรับ, ค่าโอนใบอนุญาต (มาตรา 5, 20(9), 38(3), 50, 51, 52, 54) โดยเฉพาะอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้น้ำสูงถึงฉบับละ 1-10,000 บาท และ 1-50,000 บาท และการต่อใบอนุญาตใช้น้ำต้องเสียค่าธรรมเนียมใหม่เป็นครั้งๆ ไป ประเด็นสำคัญคือภาระทางการเงินทั้งหมดนี้ ไม่เคยถูกเปิดเผยโดยกรมทรัพยากรน้ำที่ไปดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ มาก่อนหน้านี้ทุกครั้ง

5. รัฐใช้อำนาจผ่านกลไกที่เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ(กนช.) และ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และในระหว่างที่ยังไม่มี กนช. และกรรมการลุ่มน้ำ บทเฉพาะกาลมาตรา 92 และ 93 กำหนดให้ กนช.และกรรมการลุ่มน้ำที่แต่งตั้งตามระเบียบสำนักนายกฯ ดำเนินการไปพลางก่อน ภายใน 2 ปี องค์ประกอบของคณะกรรมการตามร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ ได้แก่

- คณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ(กนช.) มี 19 คน มีภาครัฐและราชการ 10 คน อีก 9 คนมาจากผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ 6 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกฯ แต่งตั้งอีก 3 คน สรุปมีตัวแทนจริงๆ จากระดับกรรมการลุ่มน้ำเพียง 2 คนเท่านั้น มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 20

- คณะกรรมการลุ่มน้ำ มี 25 คน แต่งตั้งโดย กนช. ตามาตรา 28 และมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำตามมาตรา 27 แล้ว ซึ่งหากอิงตามบทเฉพาะกาล การแบ่งลุ่มน้ำย่อยจะเป็นไปในแบบที่แต่งตั้งไว้แล้วในปัจจุบัน คือจะมีกรรมการลุ่มน้ำจำนวน 25 ลุ่มน้ำหลักทั่วประเทศ

เพราะฉะนั้น โดยโครงสร้างของกฎหมายทั้งหมดแล้ว กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นเลขานุการของกรรมการทั้งสองระดับ จะเป็นหน่วยงานระดับกรมที่มีอำนาจสูงสุด ในการกำหนดรูปแบบการใช้อำนาจรัฐ จัดการน้ำที่ปรากฏในข้อ 2

6. หน่วยงานอื่นๆ ที่มีกฎหมายเป็นของตนเอง ได้แก่ กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงมีอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานเช่นเดิม มีเพียงการจัดสรรน้ำในข้อ 2.2 เท่านั้นที่ต้องดำเนินการร่วมกัน ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จึงเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่กรมทรัพยากรน้ำเพิ่มขึ้นอีก 1 กรมเป็นหลัก และจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมได้

คำถามสำคัญบางประการ

1. พ.ร.บ.ฯน้ำ ฉบับที่เผยแพร่บนเว็บของกรมทรัพยากรน้ำ(พ.ศ.2548) ในส่วนอารัมภบท เขียนว่า "พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๖ มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๙ มาตรา ๗๖ มาตรา ๗๙ และมาตรา ๒๙๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย" เท่ากับยอมรับว่า พ.ร.บ.ฯน้ำ จะจำกัดสิทธิชุมชนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 46

แต่ในร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ ที่เข้าสู่สภานิติบัญญัตินั้น ในส่วนอารัมภท เขียนว่า "พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๖๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย" โดยไม่ระบุว่าจะจำกัดสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 66 (ซึ่งมีสาระเช่นเดียวกันกับ มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญปี 2540) ทั้งๆ ที่สาระหลักของร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ ทั้งสองฉบับเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของชุมชนในการจัดการน้ำไม่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นความไม่โปร่งใส ความจงใจหลีกเลี่ยงในการเขียนกฎหมาย เพื่อไม่ต้องเข้าสู่การตีความตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 303(1)...

คำถาม - ร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ ฉบับปัจจุบัน มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญอย่างไร กับร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ ฉบับกรมทรัพยากรน้ำ อันเป็นเหตุผลที่นำไปสู่การตัดบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในเรื่องสิทธิชุมชน ? (ม.46 ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ ม.66 ในรัฐธรรมนูญ 2550)

2. ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดจากระบบการแบ่งประเภทการใช้น้ำ ตามมาตรา 45 ?
การแบ่งประเภทการใช้น้ำ ติดตามมาด้วยกลไกการให้ใบอนุญาตและการจัดสรรน้ำ คือ กรรมการฯน้ำแห่งชาติ และ กรรมการลุ่มน้ำ, ภาระค่าใช้จ่ายในเรื่อง ค่าใบคำขอ, ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต(มาตรา 50,), ค่าใช้น้ำ(มาตรา 51) และเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะกำหนด เช่น การติดตั้งมาตรวัดปริมาณน้ำ(มาตรา 54) สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกษตรกร "เข้าถึง" แหล่งน้ำสาธารณะได้ยากขึ้น เพราะส่วนใหญ่ของเกษตรกรเป็นการใช้น้ำในประเภทที่สอง (การเกษตรและปศุสัตว์เชิงพาณิชย์) เกษตรกรจะต้องแบกรับภาระต้นทุนเรื่อง "น้ำ" มากขึ้นโดยไม่สามารถถ่ายโอนต้นทุนเหล่านี้ไปยังราคาผลผลิตได้ แต่การใช้น้ำในกิจกรรมเชิงพาณิชยกรรม หรือการประปา ผู้ประกอบการสามารถผลักภาระต้นทุนค่าน้ำไปรวมไปในราคาของสินค้าหรือบริการได้

ตัวอย่างเช่น การประปานครหลวงผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาทำประปาฝั่งตะวันตก โดยจ่ายค่าน้ำให้กรมชลประทานลูกบาศก์เมตรละ 0.50 บาท ต้นทุนค่าน้ำนี้ กปน. สามารถผลักภาระไปยังผู้ใช้น้ำประปาได้ โดยบวกเพิ่มเป็นค่าน้ำดิบในบิลค่าน้ำประปา

นอกจากนี้หากเกษตรกรโอนใบอนุญาตใช้น้ำ(ซึ่งอาจจะเสียค่าธรรมเนียมในราคาที่ถูกกว่า) ไปให้ผู้ใช้น้ำที่เป็นภาคพาณิชยกรรม หรือกิจการใช้น้ำขนาดใหญ่อื่นๆ กลุ่มนี้จะได้ประโยชน์หลักในแง่ที่ได้ใช้น้ำ ในอัตราของการใช้ในภาคเกษตรกรรซึ่งมีราคาถูกกว่า

ในขณะเดียวกัน กลไกการจัดสรรน้ำทั้งในระดับชาติและระดับลุ่มน้ำ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่มาจากภาคราชการเป็นหลัก และแทบไม่มีตัวแทนจากภาคองค์กรผู้ใช้น้ำของเกษตรกรจริงๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม จึงไม่มีหลักประกันในเรื่องความเป็นธรรมในด้านการจัดสรรน้ำได้ โดยดูจากในระดับกรรมการลุ่มน้ำ มีตัวแทนจากองค์กรผู้ใช้น้ำเพียง 2 คนเท่านั้น คือ "องค์กรผู้ใช้น้ำ" ที่จดทะเบียนตามมาตรา 36 เท่านั้น ที่จะถูกคัดเลือกไปเป็นตัวแทนใน คณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งหมายถึงใครก็ได้มาจดทะเบียนเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำ นายทุนหรือผู้ประกอบการใช้น้ำขนาดใหญ่ ก็สามารถจดทะเบียนและส่งตัวแทนไปเป็นกรรมการในระดับลุ่มน้ำได้ ซึ่งมาตรา 36 นี้ได้ทำลายความเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตามจารีตประเพณี ที่รับรองในรัฐธรรมนูญ ม.66

ในขณะที่ตัวแทนกรรมการลุ่มน้ำ ในกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติจำนวน 2 คน ยิ่งไม่มีหลักประกันว่าจะมีตัวแทนของภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนที่เหมาะสม สามารถถ่วงดุลได้อย่างเหมาะสม. ดังนั้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ทั้งในเรื่องการเข้าถึงน้ำ และมีเสถียรภาพการใช้น้ำคือ กลุ่มกิจการใช้น้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ทั้งที่เป็นของเอกชนและที่เป็นของรัฐ(หรือรัฐวิสาหกิจ) ยิ่งเป็นการสร้างปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้มากยิ่งขึ้น

3. พ.ร.บ.ฯน้ำ ยังรอได้หรือไม่ โดยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 303(1)
การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ไม่ใช่จะอยู่สภาวะไร้ระบบโดยสิ้นเชิง หน่วยงานต่างๆ ต้องจัดทำแผนและเข้าสู่การบูรณาการแผนและงบประมาณ ซึ่งเป็นนโยบายของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติอยู่แล้ว การจัดสรรน้ำในระบบชลประทาน กรมชลประทานก็มีภาระหน้าที่ที่ชัดเจนในปัจจุบัน

ทุกครั้งที่เกิดประสบภัยพิบัติเกี่ยวกับน้ำ รัฐบาลก็สามารถสร้างมาตรการที่เหมาะสมและพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกในปี 2548 รัฐบาลได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้จัดทำแผนการประมาณการความต้องการน้ำ ศักยภาพน้ำต้นทุนลุ่มน้ำภาคตะวันออก เป็นที่เรียบร้อยแล้วในเดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา. หรือปัญหาพื้นที่เสี่ยงภัยจากดินโคลนถล่ม หน่วยงานราชการก็ได้เริ่มจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยรวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เห็นได้ว่าในสภาวะที่แม้ไม่มีกฎหมายทรัพยากรน้ำ การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ก็ยังสามารถที่จะดำเนินการไปได้

ดังนั้น พ.ร.บ.ฯน้ำจึงไม่ใช่เป็นความเร่งด่วนของสังคม แต่อาจะเป็นความเร่งด่วนของกรมทรัพยากรน้ำเท่านั้น ที่ต้องการมีอำนาจตามกฎหมายให้เร็วที่สุด

ข้อเสนอ

1. สนช. ควรชะลอการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ ไว้ในขั้นกรรมาธิการวิสามัญทรัพยากรน้ำเท่านั้น เพราะ พ.ร.บ.ฯน้ำ เกี่ยวข้องกับการกำหนดรายละเอียด ในส่วนที่ 12 เรื่องสิทธิชุมชน ตามมาตรา 303(1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ควรเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ อย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงความเห็นและผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

2. ในระหว่างนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญทรัพยากรน้ำ สมควรจะนำร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ ที่เข้าสู่ สนช.นี้ นำมาเปิดเผย และจัดกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นการสรุปความเห็นของทุกฝ่ายในสังคมอีกครั้ง เพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปนำไปพิจารณา

3. ร่าง พ.ร.บ.ฯน้ำ ควรเป็นเครื่องมือในการกระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปสู่ท่องถิ่นในระดับลุ่มน้ำ หากเปรียบเทียบกับการบริหารราชการซึ่งประกอบด้วย ส่วนกลาง - ส่วนภูมิภาค - ส่วนท้องถิ่น และในระดับท้องถิ่นก็มีการกระจายอำนาจในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล) ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงควรล้อไปด้วยกันหรือมีความก้าวหน้ามากกว่า โดยให้ศูนย์กลางการบริหารจัดการน้ำอยู่กับลุ่มน้ำย่อย ซึ่งมีประมาณ 5,000 ลุ่มน้ำย่อยทั่วประเทศ และผู้ใช้น้ำในลุ่มน้ำย่อยนั้นๆ มีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขการใช้น้ำที่สอดคล้องกับสภาพลุ่มน้ำนั้นๆ โดยกรมทรัพยากรน้ำทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิคระหว่างลุ่มน้ำย่อย และมีองค์กรอิสระในระดับลุ่มน้ำหลักและระดับประเทศ ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพากและกำหนดกรอบการบริหารจัดการน้ำในบางระดับ

การกระจายอำนาจในลักษณะเช่นนี้ จะสนับสนุนองค์กรจัดการน้ำแบบเดิมและการจัดตั้งใหม่ นำไปสู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน, ลดปัญหาความขัดแย้งและกระจายผลประโยชน์การใช้น้ำได้ทั่วถึง

ประมวลโดย มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, 19 พฤศจิกายน 2550

สำหรับผู้สนใจร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ทั้งฉบับ สามารถคลิกอ่านได้จากที่นี่
สำหรับผู้สนใจร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ทั้งฉบับ สามารถคลิก download



 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
23 November 2007
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
ในการจัดการน้ำระบบเหมืองฝายในภาคเหนือ องค์กรเหมืองฝายมีสิทธิในการพิจารณาการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำรายใหม่ ว่าจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำของระบบเหมืองฝายดั้งเดิมหรือไม่ ทั้งนี้หมายรวมถึงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ หากองค์กรเหมืองฝายเห็นว่าการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำรายใหม่จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำที่เป็นอยู่เดิม ก็สามารถยับยั้งได้. กฎหมายทรัพยากรน้ำตามนัยของร่างฯ ทั้งสองฉบับอาจส่งผลให้สิทธิและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขององค์กรชุมชนท้องถิ่นที่มีอยู่แต่เดิมดังกล่าวหมดสิ้นไป (ข้อความคัดลอกมาจากบทความ)