โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๑๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐ (November, 21, 11, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

21-11-2550

Internal Security Act
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

แถลงการณ์ รายงานข่าว และบางแง่มุมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความมั่นคง
เผาร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงภายใน ทำไมจึงเผา ?
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความต่อไปนี้ เป็นการรวบรวมกิจกรรมทางการเมือง เกี่ยวเนื่องกับ
ความพยายามจะผ่านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน โดยรัฐบาลชั่วคราว
ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งต่อเนื่องมาจากบทความก่อนหน้า
ในหัวเรื่องเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รวบรวมและนำเสนอมาตามลำดับ
สำหรับเนื้อหาบนหน้าเว็บเพจนี้ ประกอบด้วย แถลงการณ์ ม.เที่ยงคืน ก่อนเผาร่าง พ.ร.บ.ฯ
รายงานข่าวจากสื่อสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์ และแนวคิดบางประเด็นทางด้านรัฐศาสตร์
เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคง โดยได้เรียงลำดับการนำเสนอดังนี้...
๑. ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงที่ไม่อาจยอมรับได้
๒. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเผา ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง ชี้ชัดเป็นกฎหมาย'รัฐทหารอำนาจนิยม'
๓. รายงานจาก นสพ.มติชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเผา ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน
๔. ผลกระทบของกฎหมายความมั่นคงต่อ ๖ มิติ (และความใฝ่ฝัน)ของสังคมไทย
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๑๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

แถลงการณ์ รายงานข่าว และบางแง่มุมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความมั่นคง
เผาร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงภายใน ทำไมจึงเผา ?
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เขียน
วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

๑. ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงที่ไม่อาจยอมรับได้
ในขณะที่โลกกำลังเดินหน้าไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กลับเดินสวนทางไปสู่ระบอบอำนาจนิยมโดยลำดับ นับจากนิยามความหมายเกี่ยวกับความมั่นคงภายในซึ่งค่อนข้างกว้างขวางและคลุมเครือมาแต่ต้น อาจเป็นเหตุให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ง่าย อีกทั้งในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ให้อำนาจหน้าที่อย่างล้นเกินต่อฝ่ายปฏิบัติการ และไม่ต้องรับผิดทั้งทางปกครอง ทางแพ่ง และทางอาญาในการดำเนินการ อำนาจหน้าที่ดังกล่าว นอกจากจะเป็นการคุกคามเสรีภาพของปัจเจกชน ชุมชน และสังคมอย่างรุนแรงแล้ว ยังอาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจโดยปราศจากความรับผิด(accoutability) และยังเป็นการกระทำที่ข้ามผ่านอำนาจฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชัดเจน ซึ่งโดยสาระสำคัญเป็นการผิดต่อหลักการแห่งรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารด้วย

เหตุที่ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในมีลักษณะข้างต้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่า เนื่องจากความพยายามต้องการสืบทอดอำนาจของทหารฝ่ายการเมือง ซึ่งได้ทำรัฐประหารประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายนปีที่ผ่านมา(พ.ศ.๒๕๔๙) อันนำมาซึ่งคำสั่งของคณะก่อการฉบับต่างๆ การประกาศกฎอัยการศึก การใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านความคิดเห็น การสื่อสาร และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย โดยกระบวนการดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นไปในลักษณะชั่วคราว แต่ก็ได้นำเอามาตรการในภาวะสงครามมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน มากกว่าคำนึงถึงความจำเป็นของสถานการณ์บ้านเมืองโดยภาพรวม

ดังจะเห็นได้จากผลลัพธ์ของปีที่ผ่านมา นอกจากความล้มเหลวในหลายด้านอย่างที่ประสบแล้วทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ยังปรากฏชัดขึ้นโดยลำดับว่าสิ่งที่คณะรัฐประหารประกาศเป็นหลักการเข้ายึดอำนาจ ไม่มีเรื่องใดที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนตามนิยามของฝ่ายกองทัพเลย นอกจากการเปลี่ยนย้ายอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น และยังได้มีความพยายามอยู่หลายครั้งที่คณะก่อการดังกล่าวได้เข้าแทรกแซงกลไกการร่างรัฐธรรมนูญในเชิงสืบทอดอำนาจและผลประโยชน์ฝ่ายตน โดยอิงอาศัยกลไกอำนาจกลุ่มการเมืองต่างๆ เป็นฐาน นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฉบับที่ผ่านรัฐสภาวาระแรกเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งซึ่งเป็นความพยายามอย่างไม่ลดละภายใต้ความมุ่งมั่นดังกล่าว

โดยเหตุนี้ คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงไม่อาจไว้วางใจกับร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฉบับนี้ได้ ซึ่งปราศจากความชัดเจนและประโยชน์ต่อความมั่นคงของส่วนรวม ชุมชน และสังคมอย่างแท้จริง นอกจากความพยายามรักษาอำนาจแห่งตนและผลประโยชน์พวกพ้องในนามของความมั่นคง โดยอิงกับกองทัพบก และ กอ.รมน. เพื่อเป็นฐานการรวบอำนาจอย่างถูกกฎหมายเมื่อสถานการณ์เปราะบาง เข้าขั้นวิกฤต และเพรี่ยงพร้ำทางการเมือง ด้วยการรัฐประหารเงียบผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้ง กอ.รมน. ดังที่นักกฎหมายหลายคนได้ตราไว้แล้ว

๒. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเผา ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง ชี้ชัดเป็นกฎหมาย 'รัฐทหารอำนาจนิยม'
ประชาไท : วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2550) ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำโดย รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ผศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์, ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล, อ.ไพสิฐ พานิชกุล, อ.ชำนาญ จันทร์เรือง ฯลฯ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ 'ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร : ความมั่นคงของกองทัพหรือของสังคมไทย?' โดยชี้ชัดว่า เป็นกฎหมายที่เสริม 'รัฐทหารอำนาจนิยม' เป็นการให้อำนาจแบบล้นฟ้า ที่มุ่งสร้างความมั่นคงให้กับกองทัพ(โดยเฉพาะกองทัพบก) แต่ไม่ได้เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมแต่อย่างใด

แถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ระบุว่า ท่ามกลางความคาดหวังว่าสังคมไทยกำลังจะเดินหน้ากลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กำลังจะเป็นร่างกฎหมายที่นำสังคมไทยกลับไปซุกอยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพอีกครั้ง หากมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายเกิดขึ้น ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลโดยผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม โดยมีเหตุผลสำคัญ 3 ข้อด้วยกัน

ประการแรก เป็นการเขียนกฎหมายที่ให้อำนาจครอบจักรวาลแก่หน่วยงานด้านความมั่นคงในการปฏิบัติงาน.
ร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้ความหมายของคำว่าความมั่นคงไว้อย่างกว้างขวาง สามารถถูกตีความให้ครอบคลุมสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมตามอำเภอใจ รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จะมีอำนาจล้นฟ้าในการที่ "ป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไข หรือบรรเทาสถานการณ์" ซึ่งรวมถึงมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะการประกาศเคอร์ฟิว การกำหนดห้ามเข้าพื้นที่ที่กำหนด ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นการกระทำที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งสิ้น

ประการที่สอง ขณะที่เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง แต่กลับปรากฏว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจ. เนื่องจากตามร่าง ได้กำหนดให้การกระทำตามร่างกฎหมายนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และยังยกเว้นความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือวินัยให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามร่างกฎหมายนี้ ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในการดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่ด้วย นับว่าเป็นร่างกฎหมายที่ทำลายหลักการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างสิ้นเชิง

ประการที่สาม ร่างกฎหมายฉบับนี้คือการสร้างรัฐทหารอำนาจนิยมไว้ภายในระบอบประชาธิปไตย. หากมีการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น แม้จะมีการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากพลเรือน แต่สังคมไทยก็ยังต้องอยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยมที่ดำเนินการโดยกองทัพอีกต่อไป เนื่องจากได้รับอำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ สังคมไทยหลังการเลือกตั้งจึงอาจไม่กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยดังที่คาดหมายกันอยู่ในปัจจุบัน

คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มุ่งสร้างความมั่นคงให้กับกองทัพ(โดยเฉพาะกองทัพบก) แต่ไม่ได้เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมแต่ประการใด และยังจะเป็นการขัดขวางกระบวนการในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยของสังคมไทย

(มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

หลังจากที่มีการอ่านแถลงการณ์เสร็จสิ้น นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน ได้ร่วมกันนำ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาเผาไฟ ก่อนแสดงความเห็นเพิ่มเติม โดย ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ในนามนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า เรากำลังคาดหวังกันว่า หลังเลือกตั้งเสร็จ เราจะมีรัฐบาลพลเรือนผสม เพื่อนำไปสู่เสรีประชาธิปไตย แต่ว่าร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ฉบับนี้ รวมไปถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับอื่น ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งระบอบประชาธิปไตยของไทย มันมีสิ่งที่เรียกว่า 'รัฐทหารอำนาจนิยม' ขึ้นมาดำรงอยู่ ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ตาม ซึ่งตนคิดว่าภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 บอกว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ แต่ร่างกฎหมายนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ เรากำลังจะมีรัฐทหารอำนาจนิยมแทรกอยู่ในระบอบประชาธิปไตยต่อไปเรื่อยๆ หากร่างกฎหมายตัวนี้ผ่าน

รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวเสิรมว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่นิยามคำว่า ความมั่นคงเอาไว้อย่างกว้างขวาง ทำให้วิธีการปฏิบัติเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนแล้ว อาจจะกลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย นอกจากนี้ในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หากพิจารณาดูดีๆ แล้วจะเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเรื่องของการบริหารและการจัดวางอำนาจของหน่วยงานนี้กับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด ทั้งหมดเลยประมาณ 70-80 % อำนาจจะอยู่ที่ใครบ้าง? การบริหารงานจะเป็นแบบไหน? แล้วอำนาจของเจ้าหน้าที่นั้นได้รับการยกเว้นอย่างไร?

"ทั้งหมดนี้เป็นการใช้อำนาจแบบล้นฟ้า คลุมเครือในนามของความมั่นคง สรุปก็คือร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กลายเป็น พ.ร.บ.การจัดตั้งหน่วยงาน กอ.รมน.ให้ชัดเจนขึ้น หลังจากที่บทบาทของ กอ.รมน. จางหายไปภายหลังการสิ้นสุดลงของภัยคอมมิวนิสต์ สู่บทบาทหน้าที่ใหม่นั้น ตอนนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับทหารการเมืองบางกลุ่ม ให้ใช้ประโยชน์จากร่มศาลาที่เรียกว่า กอ.รมน.นี้ต่อไป เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง แถลงการณ์ของเรากล่าวไว้ชัดเจนแล้วว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ต่อสังคมไทยเลย แล้วใช้วิธีการเขียน พ.ร.บ. แบบในภาวะสงครามนำมาใช้กับสถานการณ์ปกติ ซึ่งผิดปกติมาก ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเดินทางไปสู่เสรีประชาธิปไตย แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ กลับทำให้ประเทศไทยถอยหลัง" รศ.สมเกียรติ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถาม ถ้ามีการแปรญัติร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้มีความรัดกุมมากขึ้น จะยอมรับได้หรือไม่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีเลยดีกว่า เพราะมันมีกฎหมายอื่นรองรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน และที่แรงกว่านั้นก็มีกฎอัยการศึก ซึ่งสามารถประกาศภาวะสงครามได้เลยทันที และการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา เมื่อดูภาพรวมในประเทศไทยแล้ว เป็นการใช้สถานการณ์ในภาวะสงครามมากำจัดคู่แข่งทางการเมืองอย่างชัดเจน ซึ่งการนำกฎหมายที่สำคัญมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองแบบนี้ เป็นสิ่งที่น่าละอายอย่างยิ่ง

"ผมคิดว่าประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีประชาธิปไตยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ปัจจุบันเราเดินอยู่เคียงข้างประเทศในเอเชียอาคเนย์ที่เป็นเผด็จการมากขึ้น สื่อมวลชนถูกจำกัดสิทธิ์มากน้อยแค่ไหนก็จะเห็นได้จาก พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับไอซีทีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้จะเห็นว่ามันมาจากมดลูกเน่าๆ ฉะนั้นเราจึงได้ทารกปีศาจ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าว

อย่างไรก็ตาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้เชิญชวนสื่อมวลชนได้ช่วยกันเป็นกระบอกเสียงนำเสนอข่าวปัญหาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความมั่นคง ฉบับนี้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เพื่อให้ประชาคมโลกได้รับรู้ ซึ่งตอนนี้หลายองค์กรทั่วโลกกำลังจับตามองสังคมไทยดูอยู่

เมื่อผู้สื่อข่าวถามท่าทีของพรรคการเมืองมอง ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฉบับนี้อย่างไร? ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า ปัจจุบันพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งมีอยู่มากมาย คำถามก็คือว่า นักการเมืองต่างๆ เหล่านี้มีนโยบายอะไรเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ บ้าง เกี่ยวกับรัฐอำนาจนิยม ซึ่งเท่าที่สังเกตคิดว่าไม่มี สังคมต้องถามก่อนที่จะมีการเลือกตั้งก็คือว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรค มีนโยบายหรือมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการใช้อำนาจแบบอำนาจนิยมที่เห็นอยู่ในร่างกฎหมายนี้. "แต่เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ที่ไม่มีนักการเมืองคนไหนพูดถึงเรื่องดังกล่าวเลยสักแอะ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญกับสังคมมาก อย่างไรก็ตาม ถ้านักการเมืองไม่สนใจ แต่อยากให้สังคมไทยร่วมกันกดดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ความมั่นคง กันต่อไปหลังจากการเลือกตั้ง ภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้" ผศ.สมชาย กล่าว

ผศ.สมชาย กล่าวเสริมอีกว่า แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นคนชี้ว่ากฎหมายนี้จะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่เราคิดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการสร้างแรงกดดันให้เพิ่มมากขึ้น การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ต่อร่างกฎหมายนี้มีแรงกดดันมากพอสมควร อย่างน้อยก็ทำให้ สนช.เป็นจำนวนมากไม่ไปประชุม ซึ่งการประชุมหลายๆ ครั้งไม่เคยมี สนช.ขาดประชุมมากขนาดนี้ "ดังนั้น เราต้องให้ความหวังกับสังคม เข้าใจว่าสังคมไทยกำลังถูกกดดัน แต่ถึงที่สุดแล้วถ้าหากร่างกฎหมายนี้ผ่าน ภายหลังการเลือกตั้ง ก็มีกระบวนการที่เราสามารถจะแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทั้งหมด แต่สิ่งที่อยากให้สังคมทั้งหลายร่วมมือกันในตอนนี้คือ การเข้าใจปัญหาและมีแรงกดดัน แม้ว่า สนช.จะผ่านร่างกฎหมาย แต่เราจะแก้กฎหมายหลังการเลือกตั้งและมีรัฐบาลที่มาจากพลเรือน"

ทั้งนี้ นายไพสิฐ พานิชกุล นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้กล่าวในตอนท้ายว่า ในวันที่ 10 ธันวาคม (วันรัฐธรรมนูญ) ทางคณาจารย์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะมีการไปวางพวกมาลาที่อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะจัดเวทีเสวนาวิชาการที่สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ฯ กรุงเทพฯ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญปีนี้ เราจะทำการการเผยแพร่และรณรงค์ให้สังคมไทยตื่นตัวในเรื่อง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวด้วย

๓. รายงานจากมติชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเผา ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน
มติชน : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเผาสำเนา กม. มั่นคงประชด ชี้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ทหารไว้กำจัดคู่แข่งการเมือง ด้านสนช.เร่งปั๊มไฟเขียวแล้ว 29 ฉบับ มี กม.ป่าชุมชนด้วย โดยยอมแก้ตาม กมธ.เสียงข้างน้อย และการแปรญัตติ ห้ามทำไม้ในป่าชุมชนเขตอนุรักษ์

นายสมเกียรติ ตั้งนโม: อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน พร้อมคณาจารย์ 6 คน ร่วมกันอ่านแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 โดยระบุร่างกฎหมายนี้จะนำสังคมไทยกลับไปซุกอยู่ใต้อำนาจของกองทัพอีกครั้ง เนื่องจากมีการให้อำนาจครอบจักรวาลแก่หน่วยงานด้านความมั่นคงในการปฏิบัติงาน เอื้อต่อการทำงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ให้มีอำนาจล้นฟ้าที่จะป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง แก้ไข หรือบรรเทาเหตุการณ์ ที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง

เช่น การประกาศเคอร์ฟิว ห้ามเข้าพื้นที่ หรือห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ที่สำคัญไม่เปิดโอกาสให้ตรวจสอบการใช้อำนาจ เพราะกำหนดไว้ว่าร่างกฎหมายนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง เป็นการสร้างรัฐทหารอำนาจนิยมไว้ภายในระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล แต่สังคมไทยจะตกอยู่กับระบอบอำนาจนิยมของกองทัพโดยสิ้นเชิง จึงขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ที่มุ่งแต่จะสร้างความมั่นคงให้กับกองทัพบก แต่ไม่สร้างความมั่นคงให้กับสังคมไทย และยังขัดขวางกระบวนการในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอีกด้วย

นายสมเกียรติกล่าวว่า กอ.รมน.ควรยุติบทบาทเพราะไม่มีประโยชน์กับสังคมไทย มีแต่สร้างผลเสีย เพราะองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศเฝ้าจับตามองอยู่ กฎหมายนี้มีประโยชน์เพียงเป็นตัวคุ้มครองหรือร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับทหารบางกลุ่มไว้กำจัดคู่แข่งทางการเมือง เป็นการใช้อำนาจนิยมกับการเมืองหรือดึงเอาภาวะภัยสงครามมาปฏิบัติโดยไม่ถูกต้อง. 'พ.ร.บ.ความมั่นคงเกิดมาจากมดลูกเน่าๆ เมื่อเด็กคลอดออกมาก็ต้องแย่ไปด้วย จึงอยากเรียกร้องสังคมไทยช่วยกันสร้างแรงกดดันไม่ให้ผ่านร่างนี้ไปได้ เพราะบรรดานักการเมืองที่หาเสียงกันอยู่ก็ไม่มีนโยบายอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก' นายสมเกียรติกล่าว

จากนั้นกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกันเผาสำเนาร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯเป็นสัญลักษณ์ของการไม่ยอมรับร่าง. ทั้งนี้ กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประกอบด้วย นายสมเกียรติ ตั้งนโม, นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล, นายไพสิษฐ์ พานิชกุล, นายอรรถจักร สัตยานุรักษ์, นายชาญกิจ คันฉ่อง ซึ่งทั้ง 5 คนสังกัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และนายชำนาญ จันทร์เรือง เจ้าหน้าที่ศาลปกครองสูงสุด จ.เชียงใหม่ โดยมีนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 คน เข้าร่วมด้วย

นายเมธา มาสขาว ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) กล่าวว่า มีข้อสงสัยในการเร่งพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าน่าจะเป็นแรงกดดันให้ สนช.เร่งคลอดร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่กำลังรออยู่ให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง เพื่อใช้อำนาจทหารได้ทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่ยังเป็นที่ครหาของสังคมอยู่ว่ากฎหมายฉบับนี้สืบทอดอำนาจระบอบทหาร คุกคามสิทธิพลเมือง และยังไม่ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดวันเลือกตั้งออกมาแล้วตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม สนช.ไม่มีอำนาจชอบธรรมที่จะพิจารณากฎหมายใดๆ อีกต่อไป จึงขอเรียกร้องให้ สนช.ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายทุกฉบับโดยทันที

สำหรับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ รองประธานเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย ที่รัฐสภานั้น มีการบรรจุวาระเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ถึง 42 ฉบับ แบ่งเป็นเรื่องด่วน 19 ฉบับ และเรื่องพิจารณา 23 ฉบับ ปรากฏว่าหลังจากปิดประชุมในเวลา 20.00 น. สนช.ได้พิจารณาไปทั้งสิ้น 29 ฉบับ ดังนี้…

1.เห็นชอบประกาศร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็นกฎหมาย 2.เห็นชอบประกาศร่าง พ.ร.บ.พัฒนาที่ดิน พ.ศ.... เป็นกฎหมาย 3. เห็นชอบประกาศร่าง พ.ร.บ.การจัดการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการ พ.ศ.... เป็นกฎหมาย 4. เห็นชอบประกาศร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่...) พ.ศ.... เป็นกฎหมาย
5. เห็นชอบประกาศร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมภาค ๕ ว่าด้วยพยานหลักฐาน เป็นกฎหมาย

6. เห็นชอบประกาศร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.... เป็นกฎหมาย 7. รับหลักร่าง พ.ร.บ.ลูกเสือ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. กับคณะ เสนอ และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก 8. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.... ที่ ครม.และนายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. กับคณะ เสนอ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก 9. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.... ที่ ครม. และนายสุวัฒน์ อ้นใจกล้า สมาชิก สนช. กับคณะ เสนอ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก 10. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ ครม.และคณะสมาชิก สนช.เสนออีก 2 ฉบับ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก

11. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.... ที่ ครม.และนางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิก สนช. กับคณะ เสนอ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก 12. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ ครม.เสนอ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา 13. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิก สนช. กับคณะ เป็นผู้เสนอ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา 14. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.... ที่ ครม.และ พล.ร.อ.นพพร อาชวาคม สมาชิก สนช. กับคณะ เสนอ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก 15. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.... ที่ ครม.และนายสมบัติ เมทะนี อดีตสมาชิก สนช. กับคณะ เสนอ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก

16. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ.... ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา 17. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ.... ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา 18. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา 19. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายในคดีที่ฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ 20. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา 20. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่...) ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา

ทั้งนี้ การรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ในวาระที่ 1 ส่วนใหญ่จะไม่มีการอภิปรายจากสมาชิก สนช. จะเป็นเพียงการเสนอกฎหมายและลงคะแนนเพื่อรับหลักการเท่านั้น ส่วนร่าง พ.ร.บ.ที่ใช้เวลาพิจารณานานที่สุดคือ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง ทั้งนี้ พล.อ.จรัลได้แจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแจ้งมาว่า ขอเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... เป็นสัปดาห์หน้า ซึ่งที่ประชุม สนช.ไม่ขัดข้อง

ขณะที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.... ที่ใช้เวลายาวนานที่สุดนั้น ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนเป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 57-2 เสียง โดยใช้เวลาพิจารณาเกือบ 4 ชั่วโมง ก่อนการลงมติในวาระที่ 2 ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตรา ที่ประชุมได้มีมติด้วยคะแนน 58-33 เสียง แก้ไขในหมวด 5 การจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ มาตรา 25 ตาม กรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย เช่น นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ในเรื่องคุณสมบัติด้านระยะเวลาในการขอตั้งป่าชุมชน

มาตรา 25 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบนั้น บัญญัติให้การขอจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่ชุมชนนั้นตั้งถิ่นฐานมาก่อนการประกาศให้พื้นที่ที่ชุมชนนั้นอยู่ในเขตอนุรักษ์ และชุมชนนั้นได้จัดการดูแลพื้นที่ดังกล่าวในลักษณะเป็นป่าชุมชนมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ และยังคงดูแลรักษาพื้นที่นั้นเป็นป่าชุมชนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ขอจัดตั้งป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.นี้ รวมทั้งมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมแห่งการดำรงชีพที่เกื้อกูลต่อการดูแลรักษาป่าและระบบนิเวศ ทั้งนี้ ให้ยื่นคำขอภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

สำหรับมาตรา 25 ที่ที่ประชุมเห็นชอบตาม กมธ.เสียงข้างน้อยนั้น แตกต่างจากมาตรา 25 ที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอมาในเรื่องของระยะเวลา นั่นคือ กมธ.เสียงข้างมากให้ชุมชนนั้นมีคุณสมบัติตามที่กำหนดมาไม่น้อยกว่า 10 ปีก่อนวันที่ขอจัดตั้งป่าชุมชน ส่วนของ กมธ.เสียงข้างน้อย ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยคือให้ชุมชนนั้นมีคุณสมบัติตามที่กำหนดมาไม่น้อยกว่า 10 ปีก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

ที่ประชุมยังเห็นชอบตามที่ กมธ.เสียงข้างน้อยแปรญัตติในมาตรา 34 ด้วยคะแนน 37-23 เสียง คือห้ามทำไม้ในป่าชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์ และในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ในป่าชุมชนที่ตั้งอยู่นอกเขตอนุรักษ์ การทำไม้หรือการทำไม้ที่สมาชิกป่าชุมชนปลูกขึ้นเองในบริเวณเพื่อการใช้สอยในป่าชุมชน ที่ตั้งอยู่นอกเขตอนุรักษ์ ให้ทำได้ตามความจำเป็นเพียงเฉพาะเพื่อใช้สอยในครัวเรือนของสมาชิกป่าชุมชน หรือใช้ในกิจการสาธารณะภายในชุมชนนั้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน และการเก็บหาของป่าในป่าชุมชนให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ซึ่งแตกต่างจากของ กมธ.เสียงข้างมากที่ห้ามทำไม้ในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ในเขตป่าชุมชนเท่านั้น

4. ผลกระทบของกฎหมายความมั่นคงต่อ 6 มิติ (และความใฝ่ฝัน)ของสังคมไทย
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประชาไท: ถอดความจากงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง "ชำแหละร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรความมั่นคงของใคร" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 จัดโดย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการหลักสูตรสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอความสันติสุขมีแด่ทุกท่าน
ผมเห็นว่าถ้าจะมีการถอยกฎหมายนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ในฐานะที่มันเป็นกฎหมาย โดยตัวมันเองก็เป็นกฎหมายที่ไม่ค่อยได้เรื่อง ตัวอย่างเช่น มาตรา 9 บอกว่าคนดูแลมันคือ ผบ.ทบ. แต่กฎหมายนี้ต้องอยู่ใต้สำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ใต้นายกรัฐมนตรี ตกลงมันเป็นกฎหมายทหารหรือพลเรือน ถ้าเป็นกฎหมายทหารต้องดำเนินการโดยพระราชบัญญัติของทหาร 2521 ถ้าเป็นกฎหมายพลเรือนต้องดำเนินการโดยกฎหมายข้าราชพลเรือน. ในแง่เทคนิคมันยุ่ง หรือหมวด 6 ยกมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งหมด ข้อต่างของมันคือเวลาประกาศต้องได้ความเห็นชอบจาก ครม. หมายความว่า เรื่องเรื่องเดียวกันมาได้จากสองแหล่ง จะใช้กฎหมายไหนดี ยังไงต้องพิจารณาใหม่อยู่ดี

สิ่งที่ผมอยากจะทำวันนี้เป็นการทดลอง เพราะผมไปพูดเรื่องนี้มาที่สภา พูดแทบเป็นแทบตายแต่ข่าวลงสิ่งที่อาจารย์ปณิธาน (วัฒนายากร)พูดหมดเลย ข่าวลงรูปหน้าผมด้วยแต่ไม่ลงอะไรที่ผมพูดออกมา ผมก็ประหลาดใจ พยายามจะฟังวิทยุ มีคลื่นหนึ่งบอกว่าอาจารย์ชัยวัฒน์พูดอย่างนี้ น่าแปลกมาก เพราะนั่นเป็นสิ่งที่พี่สมชาย (หอมลออ) พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ผมเลยคิดว่ามันอาจมีความผิดปกติในประสาทการพูดของผม จึงต้องทดลองอีกทีที่นี่

ผมอยากจะพูด 5 เรื่อง แต่ผมเริ่มจากสมมติฐานง่ายๆ คือ คนออกหรือประสงค์จะออกกฎหมายนี้ทำด้วยมีเจตนาดี แปลว่า ผมตัดประเด็นเรื่องว่าใครต้องการสืบทอดอำนาจทิ้งหมด ไม่สน

ประเด็นที่สอง พระราชบัญญัตินี้เป็นอย่างไร พระราชบัญญัตินี้กำหนดว่าภัยมาจากบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยอธิบายว่าลักษณะภัยเปลี่ยนไปคือ หลากหลายขึ้น รุนแรงขึ้น เร็วขึ้น ขยายตัว ทั้งหมดนี้ทำให้ผลคลี่ออกไปในวงกว้างและซับซ้อนขึ้น เกิดความไม่สงบต่อประเทศและประชาชน เป็นปัญหาต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดน ทำให้ต้องมีหน่วยปฏิบัติงานหลักรับผิดชอบความมั่งคงในราชอาณาจักรคือ กอ.รอน. ทำหน้าที่ป้องกันและระงับภัยอย่างทันท่วงที จุดสำคัญของพระราชบัญญัตินี้คือ พยายามจะป้องกัน ซึ่งต่างจากเรื่องอื่นที่พยายามจะจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้น

ถ้าผมเข้าใจพระราชบัญญัตินี้ถูกต้อง คำถามที่สามต่อไปก็คือ แล้วพระราชนี้จะมีผลอย่างไร ต่อสังคมใดๆ ก็ได้ที่จะเอาพระราชบัญญัตินี้ไปใช้ เวลาคิดเรื่องนี้ ผมมอง 6 มิติ

- มติที่หนึ่งคือเรื่องเวลา
- มิติที่สองคือเรื่องพื้นที่
- มิติที่สามคือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน
- มิติที่สี่คือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง
- มิติที่ห้าคือความสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับโลกที่เหลือ
- มิติที่หกคือความสัมพันธ์ของสังคมไทยกับอนาคตของตัวเอง

มิติที่หนึ่งเรื่องเวลา ผลของกฎหมายนี้ต่อเวลา ถ้าดูจากมาตรา 3 วรรคหนึ่ง สิ่งที่มันทำคือมันเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่น่าเป็นสถานการณ์ยกเว้นให้กลายเป็นสถานการณ์ปกติ หมายความว่า กฎหมายหลายข้อเวลาออกมามันออกแบบมาจัดการกับปัญหาพิเศษในสถานการณ์พิเศษ เช่น ภาวะฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และอื่นๆ ถามว่าเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้ไหมในสังคมประชาธิปไตย แน่นอน เป็นเรื่องธรรมดา ในสังคมประชาธิปไตยทั้งหลาย มีเวลาที่ต้องออกกฎหมายแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องออกกฎหมายที่ต้องรักษาสิทธิเสรีภาพตลอด เพราะมันมีเวลาเช่น เวลามีสงคราม เรื่องสิทธิเสรีภาพจะถูกยกออกไป การตัดสินใจต่างๆ ก็จะเปลี่ยนสภาพหมด นี่เป็นโจทย์ปกติของสังคมประชาธิปไตยมา 200 ปีแล้ว ถามว่าสิ่งที่กฎหมายนี้ทำคืออะไร มันเปลี่ยนสภาพยกเว้นเป็นสภาพปกติ ถ้าพระราชบัญญัตินี้มุ่งรักษาโรคให้หายป่วย แล้วโรคนี้เกิดในเวลาพิเศษ นานๆ เกิดที สิ่งที่มันทำคือทำให้ป่วยตลอดเวลา นี่เป็นปัญหาสำคัญที่สุด

มิติที่สองเรื่องพื้นที่ ความน่าสนใจของพระราชบัญญัติคือ พูดเรื่องทั้งประเทศ พูดเรื่องภาค พูดเรื่องจังหวัด พูดเรื่อง กทม. มันเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมดในประเทศเป็นพื้นที่ซึ่งถูกทำให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงหมดเลย พื้นที่ความมั่นคงต่างกับพื้นที่อื่นอย่างไร พื้นที่อื่นมีชีวิตปกติได้ พื้นที่ความมั่นคงมีไม่ได้ เมื่อรวม time กับ space แล้ว พระราชบัญญัตินี้จะผลักสังคมไทยไปสู่สภาพผิดปกติทั้งด้านพื้นที่และกาลเวลา

มิติที่สาม ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ประเด็นนี้มีตัวละครในหลายมาตราคือ อัยการสูงสุด อัยการสูงสุดมีหน้าที่ฟ้อง พูดอีกภาษาหนึ่งก็คือเมื่อทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหาทั่วไปเสีย แล้วเอาคนหน้าที่ฟ้องไปดู เขาก็ต้องดูทุกหย่อมหญ้าทุกกาลเวลาโดยหาเรื่องจะฟ้องเพราะเขาทำหน้าที่นี้ หมายความว่า ต้องมองหาความผิด คนผิด สิ่งผิดๆ ตลอดเวลา จะไม่มีความไว้วางใจ ฉะนั้นในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ก็จะเปลี่ยนที่วางความสัมพันธ์นี้จากฐานอื่นๆ ที่เคยวาง มาสู่ความไม่ไว้วางใจพร้อมจะถูกฟ้อง

มิติที่สี่ สายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง พอสายสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนเป็นแบบนั้น มีความพยายามจะควบคุม ไม่ใช่ administrative (บริหาร/ปกครอง) แต่เป็น controlling (ควบคุม/กำกับ) สิ่งที่ตามมาก็เป็นกฎเกณฑ์ เป็นอะไรมากมายไปหมดโดยอยู่บนฐานของความไม่ไว้วางใจ ความไม่ไว้วางใจนี้มันจะระบาดสู่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนด้วยกันเอง เวลาสงสัยกัน หลังเหตุการณ์ 9/11 มีเรื่องเล่าเยอะแยะ บนเครื่องบิน ในห้องสมุด เช่น บนเครื่องบินเวลามีคนหน้าตาแบบผม มีหนวดมีเคราหยิบพระคัมภีร์อัลกุรอานมาอ่าน ผู้โดยสารที่นั่งถัดๆ ไปก็รู้สึกถูกคุกคาม ต้องบอกสจ๊วตให้มาจัดการให้หยุดอ่าน เพราะเห็นแล้วไม่สบายใจ ฉะนั้นความไม่ไว้วางใจก็จะระบาดไปทั่ว คำอธิบายแบบนี้ก็คงจะเกิดเต็มไปหมด คงมีคนน่าสงสัยเต็มไปหมด

มิติที่ห้า ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับโลกที่เหลือ ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ เมื่อเรามีพระราชบัญญัติประเภทนี้ก็จะเป็นที่ชื่นชอบของหลายประเทศ เพราะในที่สุดไทยได้ทำอะไรหลายอย่างเหมือนกับเขา ขณะเดียวกันประเทศอีกจำนวนหนึ่งคงไม่มีความสุขเท่าไร เพราะเขามีเกณฑ์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายชนิด วันนี้เราภูมิใจมากกับโรงงานทอผ้าที่ผ่านมาตรฐานของ EU เป็นโรงงานเดียวในโลกด้วย น่าสนใจว่ามาตรฐานของ EU ไม่ได้อยู่บนเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยู่บนเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชนด้วย ซึ่งหมายความว่าการมีพระราชบัญญัติแบบนี้ จะเพิ่มหรือลดโอกาสของประเทศไทยที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ ก็ต้องคิดให้ละเอียด

มิติที่หก ความสัมพันธ์ของสังคมไทยกับอนาคตของตัวเอง
สุดท้าย ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับอนาคตของสังคมไทย ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ออกจะยุ่งยาก แต่บังเอิญเราอยู่จังหวะที่ค่อนข้างจะดี เรามีร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็น่าสนใจ มาจากการรัฐประหาร กำลังจะมีการลงประชามติเพื่อแสวงหาความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และใครๆ ก็คาดหมายกันว่าคงจะผ่าน แต่ว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ หรือรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ตาม มันเป็นสองอย่าง ทางหนึ่งมันเป็นภาพสะท้อนสัมพันธภาพทางอำนาจของสังคม อันนี้เอามาจากหนังสือของอาจารย์เสน่ห์ จามริก หมายความว่า การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะปรากฏตัวในลักษณะดังกล่าวได้ มันเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงของอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้น

ฉะนั้น ก็ไม่ประหลาดใจอะไรที่รัฐธรรมนูญจะเป็นแบบนี้ ตอนแรกที่ฟังอาจารย์ศรีประภา เพชรมีศรี บอกว่า พระราชบัญญัติความมั่นคงของมนุษย์ของฟิลิปปินส์ ระบุว่าการรัฐประหารเป็นการก่อการร้าย ก็ไม่แปลก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ได้ระบุว่าการรัฐประหารถูกกฎหมาย ไม่มีรัฐธรรมนูญไหนว่าอย่างนั้น มาตรา 68 วรรค 1 ก็ยังอยู่ การรัฐประหารยังผิดอยู่ดี ฉะนั้น การที่เราจะทำอะไรซึ่งขัดกันเอง อาจจะเป็นเรื่องปกติก็ได้ การแสวงหาการไม่ขัดกันต่างหากที่อาจจะแปลก

ถ้าเป็นอย่างนี้ รัฐธรรมนูญก็มีอีกอย่างหนึ่งด้วย คือมันมีความใฝ่ฝันของมันอยู่ ถามว่ารัฐธรรมนูญนี้ทำอะไร รัฐธรรมนูญนี้มี 3-4 อย่างที่ชัดเจน เช่น ต้องการลดการผูกขาดอำนาจรัฐ มาตรา 167 ให้องค์กรอิสระ ศาล ขอแปรญัตติต่อกรรมาธิการได้โดยตรงเรื่องงบประมาณ. มาตรา 164 วรรค 9 ให้สมาชิกสภาเสนอกฎหมายโดยไม่ต้องผ่านพรรค และต้องการสร้างความโปร่งใส มุ่งคุณธรรม เช่น มาตรา 270 พูดเรื่องคุณธรรม มาตรา 250 พูดเรื่องทรัพย์สิน นอกจากนี้ยังต้องการความเข้มแข็งขององค์กรอิสระ การสรรหามาจากไหน ประธานสภาผู้แทนราษฎร อะไรก็แล้วแต่ แล้วก็เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พูดอีกอย่างก็คือ รัฐธรรมนูญ 2550 พยายามจะทำ 3-4 อย่างนี้ พระราชบัญญัตินี้ทำตรงข้ามทุกเรื่อง พระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ส่งเสริมการลดการผูกขาดอำนาจรัฐ แต่ย้ายอำนาจรัฐไปที่อื่น มีอาจารย์บางท่านเสนอว่านี่เป็นอำนาจที่ 5 ในสังคมไทย เรื่องความโปร่งใสเป็นไปไม่ได้ภายใต้พระราชบัญญัติแบบนี้ มันต้องเต็มไปด้วยเงามืด ความเข้มแข็งขององค์กรอิสระก็ไม่ได้ เพราะความเข้มแข็งย้ายไปอยู่อีกกับหน่วยงานด้านความมั่นคง สิทธิเสรีภาพของประชาชนเมื่อเทียบกับความมั่นคงแล้วต้องยกไว้ นั่นแปลว่าอนาคตของสังคมไทยถ้ามันอยู่หรือฝากไว้ หรือเชื่อว่ามันฝากไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญบรรจุทั้งความเป็นจริงและความใฝ่ฝันของสังคมไทยอยู่ ผมเชื่อว่าถ้าพระราชบัญญัตินี้ผ่าน มันจะบังคับให้สังคมไทยอยู่กับความจริงและทำให้ความใฝ่ฝันหายไป และความจริงที่ว่าคืออะไรเราก็ทราบอยู่

ประเด็นสุดท้าย พระราชบัญญัตินี้จะทำหน้าที่ส่งเสริมความมั่นคงได้หรือไม่ ถ้าทำลายความใฝ่ฝันของสังคมไทย เปลี่ยนแปลงเวลาหรือพื้นที่ไปหมด ไม่ว่าเราจะนิยามความมั่นคงยังไง มันต้องอาศัยพื้นฐานในสายสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เข้มแข็ง ต้องอาศัยพื้นฐานความรักความสามัคคี อาศัยความไว้วางใจ. ถ้าผมถูก พระราชบัญญัตินี้จะไปกร่อนเซาะสิ่งที่ผมกล่าวนั้นหมดเลย ถ้าไปกร่อนเซาะหมด ในที่สุดแล้วมันสามารถทำอะไร สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นก็คือมันจะส่งเสริมความหวาดระแวง สถาปนาความหวาดระแวงให้กลายเป็นสถาบัน ซึ่งน่าจะทำให้การเสริมสร้างความมั่นคงในนิยามของการสร้างความรักความสามัคคีให้ยากขึ้นอีก

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง อะไรคือผลรวมที่สุดต่อความมั่นคงในประเทศที่ทุกๆ ฝ่ายต้องการ หมายเหตุของมันก็คือว่า คนที่นั่งค้านพระราชบัญญัตินี้เขาไม่ต้องการความมั่นคงหรือ? ไม่ใช่, ใครๆ ก็ต้องการความมั่นคงในชีวิตทั้งนั้น เพียงแต่ว่าชนิดของความมั่นคงที่เราอยากได้ควรวางอยู่บนฐานของอะไร และพระราชบัญญัติชนิดนี้จะนำมาซึ่งความมั่นคงที่เราปรารถนาไหม? ความมั่นคงที่เป็นอิสระจากความกลัว ความมั่นคงที่เป็นอิสระจากความหวาดระแวง ร่างพระราชบัญญัตินี้จะให้สิ่งนั้นกับเราได้ไหม? หรือจะแย่งสิ่งนั้นไปจากเรา…


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
21 November 2007
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
พ.ร.บ.นี้จะทำหน้าที่ส่งเสริมความมั่นคงได้หรือไม่ ถ้าทำลายความใฝ่ฝันของสังคมไทย เปลี่ยนแปลงเวลาหรือพื้นที่ไปหมด ไม่ว่าเราจะนิยามความมั่นคงยังไง มันต้องอาศัยพื้นฐานในสายสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เข้มแข็ง ต้องอาศัยพื้นฐานความรักความสามัคคี อาศัยความไว้วางใจ. ถ้าผมถูก พระราชบัญญัตินี้จะไปกร่อนเซาะสิ่งที่ผมกล่าวนั้นหมดเลย ในที่สุดแล้วมันสามารถทำอะไร สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นก็คือมันจะส่งเสริมความหวาดระแวง สถาปนาให้มันกลายเป็นสถาบัน ซึ่งน่าจะทำให้การเสริมสร้างความมั่นคงในนิยามของการสร้างความรักความสามัคคีให้ยากขึ้นอีก