โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๐๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐ (November, 07, 11, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของสังคมมิใช่เป็นสิ่งที่มีความขัดแย้งโดยพื้นฐาน รัฐพึงมีหน้าที่เคารพและเชื่อมั่นต่อหลักการของสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเชื่อมั่นว่ารัฐหรือสังคมที่มีความเข้มแข็งนั้น จะมีรากฐานและมีแนวปฏิบัติในการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของพลเมืองของรัฐนั้นๆ อย่างจริงจังและจริงใจ. สิทธิมนุษยชนจึงเป็นรากฐานของความมั่นคงของชาติ ขณะเดียวกันความมั่นคงของชาติจะบังเกิดขึ้นอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อ บุคคลทั้งหลายในรัฐนั้นให้ความเคารพต่อรัฐของตน เพราะยอมรับว่ารัฐของตนให้ความเคารพนับถือสิทธิของปัจเจกบุคคล ...
07-11-2550

Homeland Security Act
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ความเห็นและข้อวิจารณ์ร่างพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร
พระราชบัญญัติความมั่นคง ในมุมมองเชิงวิพากษ์ (ตอนที่ ๑)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : บรรณาธิการ
นักวิชาการด้านกฎหมายเขียน (anonymous)

บทความวิชาการต่อไปนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากนักวิชาการด้านกฎหมาย
เดิมชื่อ "ความเห็นและข้อวิจารณ์ร่างพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ...."
ซึ่งได้แสดงความเห็นและบทวิพากษ์ โดยพิจารณาจากเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.
รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ..... ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๐ ได้เห็นชอบในหลักการ และเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา
พิจารณา ก่อนนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติวันที่ ๗ พฤศจิกายนนี้
การให้ความเห็นและคำวิจารณ์ต่อร่าง พ.ร.บ.นี้ ได้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน โดย
- ส่วนที่ ๑ จะเป็นความเห็นต่อหลักการและเหตุผลของกฎหมาย
- ส่วนที่ ๒ จะเป็นการให้ความเห็นเรียงมาตรา

เนื่องจากบทความวิชาการทางกฎหมายเชิงวิพากษ์นี้
มีความยาวกว่า ๖๐ หน้ากระดาษ A4 กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน
จึงได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ตอน โดยใช้ปริมาณจำนวนหน้าเป็นเกณฑ์
มากกว่าจะแบ่งตอนตามเนื้อหาสาระของบทความ

สำหรับผู้สนใจบทความชิ้นนี้ ขอแนะนำให้อ่านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงทั้งฉบับก่อน
เพื่อความเข้าใจในสาระของบทวิพากษ์บนหน้าเว็บเพจ ซึ่งสามารถคลิกไปเริ่มได้ที่ http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999625.html
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๐๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๐๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๘.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ความเห็นและข้อวิจารณ์ร่างพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร
พระราชบัญญัติความมั่นคง ในมุมมองเชิงวิพากษ์ (ตอนที่ ๑)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : บรรณาธิการ
นักวิชาการด้านกฎหมายเขียน (anonymous)

ความทั่วไป

สถานะของผู้ให้ความเห็น :
เป็นนักกฎหมายที่ภารกิจของตนเองสังกัดกิจกรรมทางสังคม อยู่ในส่วนของการเมืองภาคประชาชน
จุดประสงค์ของการให้ความเห็น : เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยใช้ความรู้ในฐานะของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย
จุดยืนทางการเมือง(ร่วมสมัย) ของผู้ให้ความเห็น : ไม่เห็นชอบด้วยกับระบอบทักษิณ และไม่เห็นชอบด้วยกับการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ต้องการให้การเมืองมีความเข้มแข็งโดยพลังประชาชน แก้ปัญหาและเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะความรับผิดชอบของพลเมืองในความมั่นคงของประเทศด้วยอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริงเท่านั้น
ขอบเขตของความเห็น : ให้ความเห็นโดยพิจารณาจากเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. …. ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๐ เห็นชอบในหลักการ และเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
ลักษณะของความเห็น : การให้ความเห็นหรือข้อวิจารณ์ต่อร่าง พ.ร.บ.นี้จะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน โดย

- ส่วนที่ ๑ จะเป็นความเห็นต่อหลักการและเหตุผลของกฎหมาย
- ส่วนที่ ๒ จะเป็นการให้ความเห็นเรียงมาตรา

ส่วนที่ ๑: หลักการและเหตุผลของกฎหมาย

๑. หลักการ(ที่ปรากฏในร่างกฎหมาย)
ไม่ปฏิเสธที่จะให้รัฐไทยบัญญัติกฎหมายเพื่อใช้บังคับกับการบริหารจัดการปัญหาความมั่นคงที่มีลักษณะใหม่ๆ ขึ้นมาใช้บังคับภายในประเทศ หรือจะเรียกว่าภายในราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ ควรที่จะต้องมีเงื่อนไขและหลักการสำคัญดังต่อไปนี้เป็นเนื้อหาสาระของกฎหมาย มิฉะนั้นแล้วหากบัญญัติกฎหมายตามเนื้อหาในร่างฉบับนี้เท่านั้นแล้ว ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรากฎหมายนี้ขึ้นมาใช้บังคับ เนื่องจากรัฐสามารถใช้กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ระงับหรือยับยั้ง หรือแก้ไขสถานการณ์ความมั่นคงได้เพียงพออยู่แล้ว

หลักการของกฎหมาย(ที่พึงจะเป็น)
๑. เนื้อหาของกฎหมายจะต้องสามารถบังคับใช้ได้กับปัญหาความมั่นคงภายในทุกๆ รูปแบบ มิใช่แต่เพียงปัญหาทางการเมืองเท่านั้น และเนื่องจากความมั่นคงภายในและสถานการณ์ที่เป็นระดับปัญหาความมั่นคงนั้น เป็นสภาพนามธรรมของปัญหา จึงขึ้นอยู่กับแนวคิด จุดยืนของผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ รวมทั้งประชาชนทั่วไปในแต่ละยุคสมัย ความไม่แน่นอนหรือลงตัวในเรื่องดังกล่าวนี้ จึงสมควรที่รัฐ(คณะรัฐมนตรี) จะต้องเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการ และอำนวยการแก้ปัญหาความมั่นคงอย่างแท้จริง

๒. ผู้มีหน้าที่กำกับนโยบายความมั่นคงภายในกับผู้ปฏิบัติ จะต้องแยกจากกันอย่างเด็ดขาด และไม่สมควรให้คณะกรรมการในสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาเป็นคณะกรรมการ(บอร์ด)ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคง

๓. กองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของผู้ปฏิบัติเท่านั้น มิใช่เป็นผู้กำหนดนโยบายหรือผู้นำในการปฏิบัติในทุกเรื่องและทุกปัญหาความมั่นคง

๔. คณะรัฐมนตรีจะต้องมีบทบาทในการพิจารณากำหนดสถานการณ์ และชนิดและระดับของปัญหาความมั่นคงภายใน ในแต่ละคราวก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะดำเนินการ

๔. สภาความมั่นคงแห่งชาติจำเป็นต้องแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับความคิด ประสบการณ์และทัศนะคติที่หลากหลายในเรื่องของความมั่นคงภายในมากยิ่งขึ้น

๕. องค์กรหรือหน่วยงานกลางที่จะปฎิบัติหน้าที่นำนโยบายความมั่นคงไปสู่การปฏิบัติ เพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในอันเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการความมั่นคงภายในตามร่าง พ.ร.บ.นี้ จะต้องมีนายกรัฐมนตรีเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างคณะรัฐมนตรี, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, และผู้ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ และต้องมีขนาดพอเหมาะกับภารกิจการประสานนโยบายและการปฏิบัติ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ . ส่วนปฏิบัติการทางยุทธการ(ยก.) หรือการข่าว(ขว.) หรือยุทธวิธีเพื่อแก้ไขหรือป้องกันสถานการณ์นั้น จะต้องมีลักษณะเฉพาะกิจ(ฉก.) เท่านั้น. องค์กรตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงต้องมีขนาดกระทัดรัดอย่างแท้จริง และแยกระบบหรือสายการบังคับบัญชาต่างหากจากกองทัพหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยชัดแจ้ง

๖. ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในในแต่ละคราว จะต้องอาศัยกองทัพและหน่วยงานที่มีหน้าที่อยู่แล้วดำเนินการร่วมกัน อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่สมควรที่จะกำหนดเป็นหน่วยงานใหม่เพื่อดำเนินงานเป็นประจำ โดยไม่สัมพันธ์กับสถานการณ์ด้านความมั่นคง

๗. วิธีการปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงจะต้องอาศัยหลากหลายรูปแบบและวิธีการ ที่ขึ้นอยู่กับการสถานการณ์ความมั่นคงแต่ละประเภท ความรู้สึก ความรู้ของประชาชน และต้องยึดมั่นในหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ตามปกติเป็นสำคัญ การยกเว้นให้ใช้วิธีการใดๆ นอกเหนือไปจากหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดตามปกติ โดยเฉพาะกรณีการกระทำที่มีโทษทางอาญานั้น จะต้องบัญญัติเป็นชัดเจนในกฎหมาย และจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในกรอบ หรือขอบเขตของการดำเนินงานทางยุทธวิธีอย่างชัดแจ้ง โดยได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการ และฝ่ายปฏิบัติการจะต้องนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ โดยทันทีที่เหตุยกเว้นนั้นๆ เสร็จสิ้น

๘. เนื่องจากการใช้กฎหมายฉบับนี้จะต้องเกี่ยวพันกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นอย่างมาก การกำหนดหน้าที่และอำนาจของเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ในการปฏิบัติ รวมทั้งหลักเกณฑ์และคุณสมบัติในการแต่งตั้งบุคคลให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายนี้ จำเป็นต้องบัญญัติเอาไว้โดยชัดแจ้งในกฎหมายนี้ ไม่สมควรที่จะกำหนดให้เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติ ทั้งนี้ ไม่ว่าในระดับใดระดับหนึ่ง

๙. รัฐจะต้องกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายเอาไว้เป็นการล่วงหน้า ด้วยความเป็นธรรมและด้วยวิธีการหรือแนวทางที่สอดคล้องกับคติประเพณีของบุคคล หรือชุมชนที่บุคคลนั้นสังกัดอยู่ และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทันกาลประกอบควบคู่กันไปกับการใช้กฎหมายนี้. ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาในภายหลังว่า บุคคลที่ถูกเจ้าพนักงานดำเนินการตามกฎหมายนี้มิได้กระทำความผิด หรือเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้สั่งการเอง ในภายหลังว่าผู้นั้นไม่ได้กระทำความผิด ทั้งนี้ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นกับร่างกายหรือชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลใดก็ตาม โดยให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการ ยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน ๙๐ วัน และในกรณีที่การกระทำของรัฐส่งผลกระทบต่อสิทธิของชุมชน ไม่ว่าในเรื่องใดๆ การเยียวยาดังกล่าวก็จะต้องกระทำให้แก่ชุมชนนั้นๆ ดุจเดียวกัน

สำหรับเจ้าพนักงานที่ศาลพิพากษาว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเจ้าพนักงานที่ถูกเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่งการ มีคำสั่งว่ากระทำการโดยไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จะต้องถูกดำเนินคดีในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัด นอกเหนือไปจากถูกดำเนินการทางวินัยราชการแล้วอีกด้วย

๑๐. พ.ร.บ.ฉบับนี้สมควรที่จะต้องเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงภายในฉบับเดียว ที่บัญญัติขึ้นโดยมุ่งหมายใช้ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายใน ด้วยเหตุนี้ การใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, รวมทั้งพ.ร.บ.กฎอัยการศึก, จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการยกเลิกโดยเด็ดขาด

๑๑. พ.ร.บ.ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการก่อตั้งหน่วยงานเพื่อบริหารจัดการปัญหาความมั่นคงเป็นสำคัญ ดังนั้นเนื้อหาใน พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงจะต้องไม่มีการบัญญัติฐานความผิดขึ้นมาใหม่ ยกเว้นความผิดฐานขัดคำสั่งหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ และจะต้องเป็นกฎหมายเพื่อการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในเท่านั้น ด้วยเหตุนี้นิยามความหมายของการกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเจ้าพนักงานได้ดำเนินการอ้าง หรือใช้ในการกล่าวหาผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด จึงจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับฐานความผิดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา หรือฐานความผิดที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แต่ละฉบับที่มีโทษทางอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในขณะปัจจุบันเท่านั้น และความผิดเหล่านั้นจะต้องสามารถเทียบเคียงได้ว่าเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้อีกด้วย

๑๒. เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ นอกเหนือไปจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำนาจตามปกติแล้ว จะต้องไม่มีอำนาจสอบสวน สั่งคดี หรือโต้แย้งคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีหรือทำการฟ้องคดีด้วยตนเองเป็นอันขาด มีเพียงอำนาจทางยุทธการ(ยก.) ยุทธวิธีในการข่าว(ขว.) สืบสวนหรือจับกุมคุมขังตามขอบเขตที่ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนด ส่วนการอื่นๆ นั้นจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในกรณีที่เจ้าพนักงานสอบสวนมีความเห็นเกี่ยวกับสำนวนคดีอย่างไร ไม่ว่าด้วยเหตุใด จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเคร่งครัด ไม่ควรที่จะให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ในการให้ความเห็นใดๆ อีกต่อไป การขอทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานสอบสวนของเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ ถือเป็นหน้าที่ที่สมควร เพื่อการนำไปสู่การพิจารณาปรับปรุงการดำเนินการของตนในครั้งต่อๆ ไป

นอกจากนี้แล้วการดำเนินงานตามร่างพ.ร.บ.นี้ของเจ้าพนักงาน สมควรที่จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางปกครอง และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวีธีพิจารณาคดีปกครอง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานให้อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างจริงจัง และขจัดอิทธิพลอำนาจมืดของฝ่ายที่มีหน้าที่ปฏิบัติการ โดยอ้างความชอบด้วยกฎหมายมากำหนดวิธีการปฏิบัติ และลงมือปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

๑๓. ปัญหาความมั่นคงภายในเป็นปัญหาทุกข์ร่วมของชาติ ดังนั้นวิธีการดำเนินงานเจ้าหน้าที่จึงต้องอาศัยหลักการสร้างความเข้าใจ ร่วมมือ เป็นธรรม และโปร่งใส การตั้งสมมติฐานอันนำไปสู่การบัญญัติกฎหมายว่าความมั่นคงภายใน โดยให้เป็นเรื่องของเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเท่านั้น และเป็นสิทธิพิเศษเหนือกว่าการดำเนินการปกติ จึงไม่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้รูปแบบการดำเนินการ หรือสายการบังคับบัญชาขององค์กรรักษาความมั่นคงภายใน และรวมถึงชื่อขององค์กร รวมทั้งบุคลากรที่จะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้อีกด้วยนั้น ก็สมควรที่จะต้องพิจารณาเปลี่ยนทั้งวิธีคิด วิธีการทำงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความมั่นคงที่ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนว่า จะต้องเป็นเรื่องของการใช้กำลังอาวุธเข้าป้องกันหรือปราบปรามเท่านั้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงไม่สมควรที่จะมีลักษณะยึดโยงกับลักษณะของแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหา รวมทั้งกำหนดสายการบังคับบัญชาเข้าไว้กับของกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบกเป็นสำคัญ

การกำหนดแนวคิด และออกแบบวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ให้ความสำคัญกับการใช้ความรู้ความสามารถของกองทัพบก โดยไม่มองให้กว้างออกไปในการเห็นพลังศักยภาพของผู้อื่น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องก้าวให้พ้น อันจะเป็นการนำไปสู่คิดที่สอดคล้องกับลักษณะหรือรูปการณ์ของปัญหาความมั่นคงภายในที่กองทัพบกไม่มีประสบการณ์โดยตรงครอบคลุมทั้งหมด และจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถของหน่วยงานอื่นมาประกอบกันในการทำงาน ซี่งท้ายที่สุดแล้วจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาความมั่นคงภายในมากกว่า ด้วยเหตุนี้ ความเหมาะสมที่จะจัดตั้งองค์กรเพื่อบริหารจัดการปัญหาความมั่นคงภายในในลักษณะอื่น ที่ส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะเคียงบ่าเคียงไหล่กันที่ไม่เป็นการแข็งตัวและหยุดนิ่งอยู่ในกรอบคิด และการบังคับบัญชาแบบฝ่ายทหารที่ก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยลำพังเช่นนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดเป็นกรอบความคิดใหม่ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในของไทย

๑๔. สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของสังคมมิใช่เป็นสิ่งที่มีความขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์กันโดยพื้นฐาน รัฐพึงมีหน้าที่เคารพและเชื่อมั่นต่อหลักการของสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเชื่อมั่นว่ารัฐหรือสังคมที่มีความเข้มแข็งนั้น จะมีรากฐานและมีแนวปฏิบัติในการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของพลเมืองของรัฐนั้นๆ อย่างจริงจังและจริงใจ. สิทธิมนุษยชนจึงเป็นรากฐานของความมั่นคงของชาติ ขณะเดียวกันความมั่นคงของชาติจะบังเกิดขึ้นอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อ บุคคลทั้งหลายในรัฐนั้นให้ความเคารพต่อรัฐของตน เพราะยอมรับว่ารัฐของตนให้ความเคารพนับถือสิทธิของปัจเจกบุคคล ตนจึงมีหน้าที่ต้องเคารพต่อรัฐอันเป็นแหล่งที่รวมของความต้องการร่วมในสังคม ด้วยเหตุนี้ ความคิดที่ว่าความมั่นคงของชาติต้องมาก่อนสิทธิมนุษยชน จึงเป็นความคิดแบบแยกส่วนไม่เป็นพลวัตรกับเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกัน และเป็นความคิดของผู้ปกครองที่เห็นแต่ประโยชน์ของการใช้อำนาจรัฐครอบงำผู้อื่น โดยหวังว่าการกระทำเช่นนี้จะนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคม

๒. เหตุผลของกฎหมาย
เนื่องจากว่า ความมั่นคงของรัฐ ถือเป็นภาระหน้าที่ที่จำเป็นที่รัฐทุกๆ รัฐจะต้องดำเนินการเพื่อสร้างสภาวะความมั่นคงขึ้นอันจะก่อให้เกิดความสงบสุข สันติภาพแห่งรัฐ บูรณภาพแห่งดินแดน ความสามัคคีของผู้คนภายในชาติ ความเป็นธรรม ด้วยการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและทรัพย์สินและความสุขของประชาชน ดังนั้น ไม่ว่ารัฐใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐไทยจะมีการปกครองโดยคณะทหารหรือคณะบุคคลที่เกิดจากการกำกับโดยคณะทหาร หรือโดยพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมาตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาตราหรือบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการปัญหาความมั่นคงของรัฐตนขึ้นมาทั้งสิ้น หากว่ารัฐนั้นมีปัญหาในเรื่องของความมั่นคง อันถึงขั้นที่จะต้องบัญญัติเป็นกฎหมายขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อกำหนดสาระของกฎหมายและวิธีการปฏิบัติเอาไว้เป็นต่างหาก แยกจากกฎหมายทั่วไปซึ่งมีโทษทางอาญาและทางแพ่งที่ใช้บังคับอยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากเหตุผลที่ปรากฏในร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่ระบุว่า "โดยที่ปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงจากบุคคลหรือกลุ่มบุคลที่หลากหลาย มีความรุนแรงรวดเร็วสามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและมีความสลับซับซ้อน จนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ และเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน" จะเห็นได้ว่า สภาพของปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงที่ระบุนั้นเป็นสภาพ"นามธรรม" ไม่ปรากฏรูปธรรมแห่งปัญหา จำนวนและระดับของปัญหาที่ชัดแจ้ง และสำคัญจนถึงระดับที่จำเป็นต้องตรากฎหมายพิเศษขึ้นมาใช้บังคับ อันสะท้อนให้เห็นถึงทัศนะของผู้ยกร่างกฎหมายที่นอกจากจะไม่ชัดแจ้งในปัญหาความมั่นคงของชาติ ที่ประสงค์จะตรากฎหมายออกมาบังคับใช้แก้ปัญหาในเรื่องบางเรื่องตามที่ตนปรารถนาแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อถือหรือศรัทธาต่อกระบวนการตรากฎหมายที่จำเป็นต้องผ่านวิธีการอันเป็นที่ยอมรับจากประชาชน ผ่านความเห็นพร้อมด้วยจากประชาชนตามที่ปฏิบัติในนานาอารยประเทศ จึงเอาแต่พยายามบัญญัติกฎหมายด้วยวิธีคิดแบบอำนาจนิยม

และนอกจากนี้ ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงความต้องการของผู้ยกร่าง ซึ่งมุ่งหวังที่จะตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างอำนาจให้กับหน่วยงานหรือคณะบุคคล ที่มีหน้าที่ปฏิบัติโดยปกติเกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงด้านใดด้านหนึ่ง ได้มีอำนาจครอบคลุมไปถึงปัญหาด้านความมั่นคงในด้านอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งหากดำเนินการดังนี้แล้ว ในชั้นปฏิบัติจะเกิดปัญหาตามมาเป็นอย่างมาก และทั้งๆ ที่สภาพของปัญหาความมั่นคงภายในยังไม่ชัดแจ้ง แต่ร่างกฎหมายนี้กลับยอมรับการสถาปนาอำนาจให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่นำโดยฝ่ายทหาร และมอบหมายการจัดการปัญหาความมั่นคงให้กับกองทัพบก ซึ่งมีความรู้ความสามารถที่จะจัดการกับปัญหาความมั่นคงในเรื่องบางเรื่องเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ไม่สมควรตามสภาพของปัญหา

สภาพของปัญหากับเนื้อหาของความมั่นคงภายใน และความจำเป็นในการก่อตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ซึ่งหากพิจารณาที่คำสัมภาษณ์ของ รมต.กลาโหมซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือมติชนฉบับลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐ แล้วจะเห็นได้ว่า ความต้องการในการบัญญัติกฎหมายนี้ขึ้น ก็เป็นไปเพื่อรองรับการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายของ กอ.รมน.ในปัจจุบัน. ความจำเป็นที่กล่าวจึงกลายเป็นการซุ่มซ่อนและแอบแฝง และไม่เชื่อมโยงกับเหตุผลความจำเป็นอันเป็นสภาพของปัญหาที่ปรากฏในร่างกฎหมาย ทั้งนี้เพราะหากเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจแล้ว เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างไร

นอกจากนี้แล้ว หากอำนาจที่เจ้าหน้าที่มีอยู่ยังไม่เหมาะสมการแก้ไขสถานการณ์ด้านความมั่นคง นั้นก็ถือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร(คณะรัฐมนตรี)โดยตรง ที่พึงกระทำโดยสามารถที่จะออกพระราชกฤษฎีกา, ระเบียบ, คำสั่ง, หรือประกาศใดๆ ขึ้นมา เพื่อบังคับใช้กับสถานการณ์ความมั่นคงที่เกิดขึ้นและรองรับอำนาจในการปฏิบัติของเจ้าพนักงานได้อยู่แล้ว. ความจำเป็นการแก้ไขปัญหาด้วยการตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน หรือคุ้มครองฐานะเจ้าพนักงานให้มีอำนาจหน้าที่เหนือกว่าเจ้าพนักงานอื่น ในการรักษาความมั่นคงตามปกติ จึงไม่มีเหตุผลที่สมควรแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้การที่ฝ่ายทหารดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายและมีการวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้น ซึ่งหากหน่วยงานอื่นกระทำเช่นกันก็จะต้องดำเนินการตามปกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ไม่พึงคิดเอาเป็นเหตุวุ่นวายว่าต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นๆ โดยการต้องเสียเวลาในการไต่สวนชั้นศาล ดังนั้นจึงต้องบัญญัติกฎหมายนี้ขึ้น เพราะรูปการคิดเช่นนี้เป็นการคิดเชิงเอาเปรียบผู้อื่น และถือว่าหน่วยงานของตนเหนือกว่าผู้อื่น ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกคนและทุกหน่วยงานมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

นอกจากนี้ โดยหลักการนั้น ความจำเป็นในการแก้ปัญหาจะต้องสอดคล้องกับสภาพของปัญหา แต่เนื่องจากสภาพของปัญหาที่ไม่ชัดแจ้งจึงทำให้ร่างกฎหมายนี้เน้นให้ความสำคัญกับการแก้ไข หรือรับผิดชอบต่อการแก้ปัญหาความมั่นคงด้วยการก่อตั้งหน่วยปฏิบัติงานหลัก เพื่อรับผิดชอบดำเนินการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรในลักษณะของปัญหาความมั่นคง ในขอบเขตของความมั่นคงที่มีลักษณะดั้งเดิมคือ ความมั่นคงที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถในการปฏิบัติของหน่วยงานด้านทหารเท่านั้น. การร่างกฎหมายที่เสนอการจัดตั้งหน่วยงานที่มีแนวโน้มเป็นแบบทหาร มีผู้บังคับบัญชาเป็นทหาร และมีการให้อำนาจทหารในของเขตทั่วประเทศทุกลำดับ จึงเป็นจุดมุ่งหมายหรือเหตุผลที่แอบแฝงเอาไว้ในการร่างกฎหมายฉบับนี้ ขณะที่เนื้อหาในเรื่องของสาระบัญญัติว่า อะไรคือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง ความมั่นคงมีในลักษณะใดบ้าง อาทิเช่น

- ความมั่นคงทางบูรณภาพแห่งดินแดน อันเนื่องมาจากการพิพาทกับรัฐที่มีเขตแดนติดต่อกัน
- ความมั่นคงจากการมีลัทธิความเชื่อมีอุดมการณ์ทางศาสนา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันและมีการขยายความเชื่อด้วยวิธีการอันเป็นภัยต่อความมั่นคง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคม ความมั่นคงทางการเมือง ความมั่นคงจากสภาพความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ อะไรคือภัยพิบัติที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง

สถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จำเป็นแท้จริงแค่ไหนกับการแก้ไขปัญหาโดยใช้อำนาจของฝ่ายทหารและโดยมีทหารเป็นผู้นำ ถ้าความมั่นคงในทัศนะของพลเอกสนธิ บุญรัตนกลิน ตามคำให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ซึ่งประกอบด้วย ปัญหายาเสพติด, ปัญหาคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง, ปัญหาความยากจน, ปัญหาโลกร้อน, และปัญหาการแตกแยกทางความคิด, เป็นปัญหาความมั่นคงในทัศนะของผู้ให้สัมภาษณ์แล้ว เหตุใดการจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เหตุใดจึงไม่มอบหมายให้เป็นหน้าที่แก้ปัญหาของหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง และมีความรู้ความเข้าใจมากกว่า เหตุใดจึงยกความเชื่อถือให้กับหน่วยงานทหารเป็นผู้ดำเนินการ ประเทศไทยสิ้นไร้หน่วยงานที่เหมาะสมกว่า หรือสิ้นไร้คนดีมีความสามารถกันแล้วหรือ

อย่างไรก็ตาม ถ้ากรณีปัญหาข้างต้นเป็นภัยพิบัติทางความมั่นคง ในขอบเขตการใช้บังคับของกฎหมายนี้แล้ว เหตุใดบทบัญญัติในกฎหมายนี้ จึงไม่มีการจำแนกการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้สอดคล้องกับลักษณะของปัญหา การใช้รูปแบบในหมวด ๖ นั้น ครอบคลุมถึงวิธีการดำเนินการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในลักษณะดังกล่าวได้แล้วหรือ? ลักษณะของการเขียนกฎหมายเช่นนี้ จึงทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือในแง่ของเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่มีความชัดแจ้งในวิธีการคิด และวิธีการแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติ และมีเจตนาซ่อนอำนาจไว้กับฝ่ายทหาร

ดังนั้นกล่าวโดยสรุปในเรื่องของเหตุผลของกฎหมายแล้ว ยังไม่อาจที่จะทำให้เห็นว่าเป็นการสมควรที่จะมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้บังคับ กับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งๆที่โดยหลักการแล้ว อาจมีความจำเป็นที่รัฐจะสามารถบัญญัติกฎหมายขึ้นมาใช้บังคับในการบริหารจัดการปัญหาความมั่นคงขึ้นมาได้

ส่วนที่ ๒ ข้อวิจารณ์เนื้อหาเรียงมาตรา
คำแนะนำ : เพื่อเสริมความเข้าใจส่วนที่ ๒ กรุณาอ่านร่าง พรบ.ความมั่นคงทั้ง ๓๙ มาตรา ที่
http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999625.html

ข้อสังเกตเกี่ยวกับขอบเขตใช้บังคับของกฎหมาย
เมื่อพิจารณาที่บทบัญญัติของกฎหมายนี้ในมาตรา ๑๒(๒) แล้วจะเห็นชัดเจนว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่มีความชัดแจ้งในเรื่องของปัญหาด้านความมั่นคงภายใน ที่อาจจะเกิดขึ้นจากภายนอกราชอาณาจักร แต่กฎหมายถือว่าเป็นความผิดภายในราชอาณาจักร เช่น เกิดเหนือพื้นดินกล่าวคือ ในท้องฟ้า ในอวกาศ ในอากาศยาน หรือเรือไทยที่อยู่ในทะเลนอกอาณาเขตก็ได้ รัฐมีหน้าที่อย่างไรหรือมีแนวนโยบายอย่างไร ไม่ปรากฏชัดแจ้งในกฎหมายนี้ และหากเป็นปัญหาดังกล่าว กองทัพบกจะมีศักยภาพอย่างไรในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหานี้ หรือจะดำเนินมาตราอย่างไรในกรณีที่เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้น

๑. ชื่อของพระราชบัญญัติ
มาตรา ๑ ของร่างกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพียงเท่าที่ปรากฏในหมวด ๖ ที่ว่าด้วยการแก้ไขสถานการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งทั้งหมวดก็เป็นเรื่องที่กล่าวถึงวิธีการในการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ในกรณีที่มีปัญหาด้านความมั่นคงเกิดขึ้นแล้ว มิได้บัญญัติในเรื่องของมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดปัญหาความมั่นคงแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้สาระของกฎหมายทั้งฉบับจึงมีอยู่ ๒ ประการคือ

๑. การก่อตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อดำเนินการรักษาความมั่นคง
๒. การแก้ไขสถานการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วสาระของเนื้อหากฎหมายก็ไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีตามข้อสังเกตข้อ ๑. ที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งใน(๑) ของมาตรา ๓ ในเรื่องของบทนิยามความหมายของคำว่า " การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร"

ซึ่งนอกเหนือไปจากไม่มีบทบัญญัติในเรื่องของการป้องกัน ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ขณะที่ส่วนที่เหลือที่เป็นเรื่องของการก่อตั้งหน่วยงานรับผิดชอบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ เจตนาของผู้ยกร่างกฎหมาย จึงมุ่งที่จะกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้วยการก่อตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ มากกว่าการมุ่งหมายที่จะบัญญัติในเรื่องของวิธีการหรือหลักนโยบายของรัฐในการรักษาความมั่นคงภายใน. การตั้งชื่อของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ในเรื่องของการรักษาความมั่นคง จึงสมควรที่จะชื่อว่า " พระราชบัญญัติจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ...."จะเหมาะสมกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการให้กฎหมายฉบับนี้มีทั้งสาระในเรื่องของการรักษาความมั่นคง และก่อตั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงไปด้วย โดยเพิ่มรายละเอียดด้านสาระบัญญัติเกี่ยวของกับความมั่นคงและการรักษาความมั่นคงแล้ว การใช้ชื่อตามร่างก็จะเป็นการเหมาะสม

๒. วันใช้บังคับ
การกำหนดวันใช้บังคับตามที่กำหนดในมาตรา ๒ นั้น ย่อมมีเหตุที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมาย และระยะเวลาในการเตรียมการหรือกำหนดแผนการดำเนินงาน ซึ่งกรณีนี้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องตระเตรียมให้พร้อมเมื่อกฎหมายประกาศใช้บังคับ แต่ไม่ปรากฏว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มาตราใดโดยเฉพาะมาตรา ๙ ที่ระบุว่าให้ดำเนินการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)ขึ้นนั้น กำหนดว่ามีระยะเวลาให้ต้องเริ่มปฏิบัติหรือปฏิบัติให้เสร็จสิ้นเมื่อใด อันจะเห็นถึงความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ กรณีจึงไม่สอดคล้องหรือไม่เชื่อมโยงกับสภาพความเร่งด่วนหรือความสำคัญของปัญหา

๓. บทนิยาม
ความในมาตรา ๓ ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีการกำหนดนิยามความหมายของคำว่า "ความมั่นคง" ในขอบเขตของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า เป็นอย่างไร และมีกี่ด้าน หรือกี่ประเภท. ความมั่นคงดังกล่าวนี้เป็นความมั่นคงในความหมายเดียวกัน หรือความหมายทั่วไปในวิชาทางรัฐศาสตร์ หรือมีความหมายตรงกันกับที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา หมวด ๒ และหมวด ๓ หรือไม่ ถ้าไม่เหมือนกัน แตกต่างกันอย่างไร ?

"การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร" ในวงเล็บหนึ่งของมาตรานี้ ให้นิยามของการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในทำนองที่เป็นปรกติหน้าที่ของรัฐ(คณะรัฐมนตรี) หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ต้องมีหน้าที่ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงตามทัศนะที่ฝ่ายทหารต้องกระทำโดยตรง ก็จะต้องกระทำอยู่แล้ว ซึ่งหากจะกำหนดให้มีหน่วยงานที่รวมศูนย์อำนวยการด้านความมั่นคงขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ อาจกล่าวได้ว่าทุกกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งหน่วยงานอิสระด้วย ต้องอยู่ภายใต้การกำกับหรืออำนาจสั่งการ หรือมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานตามร่าง พ.ร.บ.นี้. จึงจำเป็นที่จะต้องไตร่ตรองให้มากในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และความมั่นคง รวมทั้งการรักษาความมั่นคงดังกล่าวนี้ ก็จำต้องเป็นไปในลักษณะพิเศษกว่าปกติอย่างแท้จริงเท่านั้น

และเนื่องจากว่า นิยามของการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในร่าง พ.ร.บ.นี้ มิได้มีความหมายเป็นพิเศษของการกระทำที่แสดงออกว่าเป็นการรักษาความมั่นคงแต่อย่างใดดังกล่าวข้างต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความต้องให้มีการสถาปนาหน่วยงานขึ้นมาอำนวยการและบริหารจัดการโดยตรงในเรื่องของความมั่นคง จึงคลุมเครือและแสดงออกถึงการเปิดอำนาจ ให้กับฝ่ายฝ่ายทหารให้เข้ามามีบทบาทครอบงำการดำเนินการโดยทั่วไปของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อความจำเป็นในการต้องมี "ทหาร"หรือ "องค์กรทหาร" เป็นผู้ทำหน้าที่ในสังคมด้านความมั่นคง (ในความหมายอย่างแคบ) และเป็นสถานะที่ทัดเทียมกันกับอาชีพหรือหน้าที่ของสังคมอื่นๆ มิได้มีฐานะเด่นกว่าหน้าที่อื่นของบุคคลหรือหน่วยงานอื่น ทั้งนี้เนื่องจากความมั่นคง (ในความหมายอย่างแคบ) ที่ต้องอาศัยบทบาทของทหารนั้น จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถความชำนาญพิเศษของ "ทหาร"และ "หน่วยงานด้านทหาร" ปฏิบัติงาน ซึ่งรัฐในประเทศประชาธิปไตยจะยึดมั่นในการกำหนดหน้าที่ทางสังคมเช่นนี้

ไม่มีประเทศที่ยึดมั่นในวิถีประชาธิปไตยใดที่เจริญทางด้านความรู้ ความคิดทางการเมืองแล้ว ยอมรับบทบาทของทหารหรือหน่วยงานด้านทหาร ให้เข้ามามีบทบาทในความหมายอย่างกว้างด้านความมั่นคง เนื่องจากสังคมมีความสลับซับซ้อน ต้องการผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเข้ารับผิดชอบในหน้าที่ต่างๆ ในองค์กรของสังคม กองทัพหรือทหารจึงเป็นเพียงกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่ง ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องทหารและการใช้อาวุธ ไม่มีความรู้ในเรื่องของเศรษฐกิจ กฎหมายหรือการปกครอง หรือการบริหารงานบุคคล ที่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญในการดึงพลังศักยภาพของกลุ่มต่างๆ ในสังคมเข้าร่วม แม้กระทั่งในปัญหาของความมั่นคงก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ "การดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างปกติสุข มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมและผืนแผ่นดินไทย ดำรงไว้ซึ่งเอกราชและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนให้ประชาชนและทุกๆ องค์กรมีความสามัคคีเข้มแข็ง พร้อมที่จะเผชิญภยันตรายต่อความมั่นคงของรัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ" ตามที่ปรากฏใน (๑) ของบทนิยาม "การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร" นั้นจึงเป็นการรักษาความมั่นคงในความหมายอย่างกว้าง ที่จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมกันภายใต้การควบคุมดูแลของฝ่ายบริหาร(คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม ฯลฯ) ไม่ใช่ต้องการให้ฝ่ายทหารหรือกองทัพเข้ามามีบทบาทครอบงำความคิด หรือดำเนินการเป็นสำคัญแต่อย่างใด และไม่จำเป็นต้องมีการก่อตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน).ขึ้นมาดำเนินการเป็นพิเศษ

ขณะที่(๒) ของบทนิยามนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นมาตรการในการดำเนินการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของทหารที่จะเป็นผู้นำหน่วย ปัญหาจึงมีอยู่เพียงว่า ความไม่ชัดเจนที่ว่า ปัญหาความมั่นคงใดเป็นภาระหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) และแต่ละปัญหามีความจำเป็นในการป้องกันและปราบปรามในตัวปัญหาอย่างไร หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ดูแลเป็นพิเศษในปัญหาความมั่นคงด้านนั้นๆ ไม่เหมาะสมอย่างไร เหตุใดจึงมอบบทบาทให้กับฝ่ายทหารในการเป็นผู้ดำเนินการ หรือเป็นผู้นำในการดำเนินการ

อาทิเช่น ในกรณีที่มีสถานการณ์อันเกิดจากการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงทางวัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)นี้ จะมีความสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความมั่นคงประเภทนี้ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ ภายใต้มาตราการในหมวดที่ ๖ ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และด้วยความรู้ ความสามารถของฝ่ายทหารที่เรียนแต่เพียงความรู้ในเรื่องการสู้รบ และการใช้อาวุธ รวมทั้งการต้องขึ้นต่อการสั่งการของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ซึ่งผู้ปฏิบัติจะสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยตนเองได้น้อยกว่าบุคลากรของหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติการแก้ไขความมั่นคงกลับคืนสู่ภาวะปกติสุขในแต่ละกรณีได้อย่างไร

"การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร"
บทนิยามตามความในข้อนี้มีข้อพิจารณาดังนี้

๑. เป็นการกระทำที่ต้องการเจตนาพิเศษของผู้กระทำ โดยต้องมีเจตนามุ่งหมายให้เกิดความไม่สงบสุข ในชีวิตของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นการบัญญัติถ้อยคำที่กว้างขวางเกินสมควร และขึ้นอยู่กับทัศนะของผู้คนหรือผู้ปกครองรัฐในแต่ละยุคสมัย ที่การกระทำเดียวกันอาจไม่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงก็ได้ เกณฑ์ในการจำแนกระหว่างสิทธิมนุษยชนกับความมั่นคงจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้แจ้งชัดในกฎหมายนี้ มิฉะนั้นแล้วจะมีปัญหาในการตีความเจตนาพิเศษของผู้กระทำ

๒. การบัญญัติกฎหมายด้วยการใช้ถ้อยคำตามบทนิยามนี้ถือว่า เป็นการใช้รากฐานความคิดมาจากยุคสงครามเย็นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) กับลัทธิทุนนิยมที่นำโดยรัฐบาลอำนาจนิยมทหาร โดยสถานการณ์ขยายตัวมากขึ้นเนื่องจากที่ฝ่ายที่มีอำนาจปกครองมีทัศนะที่คับแคบ ไม่ยอมรับหรือเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างได้มีโอกาสโฆษณาเผยแพร่ความคิด และพิสูจน์ความเชื่อของตน และถือเอาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของตน

๓. มีข้อที่ต้องพิจารณาว่า การขัดแย้งทางความคิดการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมและศาสนา ซึ่งบางกรณีอาจเป็นความขัดแย้งโดยตรงต่อทัศนะของผู้มีอำนาจปกครองรัฐ และผู้มีแนวคิดที่แตกต่างนั้นพยายามดำเนินการโฆษณาโดยสันติวิธี ต่อประชาชนเพื่อให้เห็นชอบด้วยกับความคิดของตน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีการพยายามโฆษณาแนวคิดของตน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในหลายๆ รูปแบบ อาทิเช่น ทางเอกสาร การประท้วง การเดินขบวน การต่อต้าน การสื่อสารช่องทางต่างๆ เพื่อที่ผู้กระทำต้องการให้ความคิดของตนบรรลุจุดมุ่งหมาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือต่ออำนาจปกครอง ซึ่งถือเป็นวิธีการและวิถีทางที่เป็นปกติธรรมดาของการต่อสู้ทางความคิดในระบอบประชาธิปไตย กรณีเช่นนี้จะถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐได้อย่างไรในทางหลักการ

ด้วยเหตุนี้ เกณฑ์ในการจำแนกเสรีภาพในการแสดงความรู้ ความคิด ความเชื่อมั่นของบุคคลหรือคณะบุคคลตามระบอบประชาธิปไตยกับความมั่นคงของรัฐ ที่จะต้องดำเนินการนั้น ควรที่จะเป็นอย่างไร ? ในกรณีที่สังคมมีความแตกต่างทางความคิดที่ค่อนข้างชัดเจนเป็นขั้วนั้น รัฐจัดเวทีและเปิดโอกาสให้การแตกต่างทางความคิดนั้น ได้มีพื้นที่ในการดำเนินการตามความคิดความเชื่อของฝ่ายตนอย่างไร จึงจะเป็นไปตามขนบประเพณีของประชาธิปไตยที่ดี เพื่อที่ความสงบสุขจะบังเกิดโดยผลของการร่วมกันใช้ความคิดของฝ่ายตนเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์บ้านเมือง

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มิได้กำหนดเกณฑ์เอาไว้ แต่กลับให้อำนาจพิจารณาแก่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ซึ่งเดิมเป็นเป็นหน่วยงานทหาร แต่ตามร่างกฎหมายนี้แยกจากกองทัพบก (ในเชิงโครงสร้างองค์กร แต่ในเชิงปฏิบัติและแนวคิดแล้ววางรูปแบบการบังคับบัญชาองค์กร เป็นเช่นเดียวกันกับการบังคับบัญชาของกองทัพบกอย่างชัดเจน) ซึ่งต่อปัญหาความมั่นคงนั้น กองทัพไทยมีทัศนะในเรื่องการเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้คนในสังคม การเห็นผู้คนให้ความเคารพต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสภาวะที่มีระเบียบ สงบ และรัฐมีความมั่นคง ซึ่งแตกต่างไปจากทัศนะของบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาที่เห็นว่า ความแตกต่าง และการโต้แย้ง เป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้น

ความแตกต่างในรากฐานการคิดเช่นนี้ หากให้กองทัพเป็นผู้มีบทบาทในด้านการอำนวยความมั่นคงภายในประเทศแล้ว อาจก่อให้เกิดสภาวะการใช้อำนาจที่จำกัดเสรีภาพของผู้อื่นได้มากในชั้นปฏิบัติ และสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในอนาคต. การที่พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ว่าความแตกต่างทางความคิด ถือเป็นปัญหาความมั่นคงในราชอาณาจักรนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทัศนะเกี่ยวกับความมั่นคงของฝ่ายรัฐในปัจจุบัน มีแนวโน้มไปในทางคับแคบ ไม่ยอมรับความแตกต่าง จึงไม่แตกต่างไปจากทัศนะคับแคบของรัฐบาลภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเช่นเดียวกัน

๔. การกระทำนั้นนั้น จะต้องมีขนาดแค่ไหน ถึงจะถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร บทนิยามมิได้กำหนดเอาไว้ จึงอาจก่อให้เกิดความสับสนต่อการปฏิบัติของเจ้าพนักงานผู้ใช้อำนาจนี้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ปกติตามประมวลกฎหมายอาญา โดยจะมีแนวคิดและมีมาตรฐานในการดำเนินงานแตกต่างกัน ขณะเดียวกันก็อาจเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายอาญา หลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่โดยอ้างว่าเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็ควรที่จะมอบหมายให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ดำเนินการ ประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมในระบอบยุติธรรมจะเสื่อมถอยลง และมาตรการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อำนวยความยุติธรรมในระบบจะย่อหย่อนลง เพราะจะเป็นการยากที่จะจำแนกว่าการที่เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่หลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ โดยยินยอมให้เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ปฏิบัติการแทน ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีโทษทางอาญา

๕. ขอบเขตของคำว่าราชอาณาจักรนั้น มีความหมายตามความใน พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างไร ? การใช้ดาวเทียมทางพาณิชย์หรือทางทหารของต่างประเทศ ที่มีความสามารถในการศึกษาหรือควบคุม หรือสนับสุนนการดำเนินธุรกิจหรือการสื่อสาร หรือกิจการภายในของรัฐไทยของประเทศมหาอำนาจ หรือประเทศเจ้าของเทคโนโลยีบางประเทศ รวมตลอดจนทั้งการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมของบรรษัทขนาดใหญ่น้อยของต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณการลงทุนและมีจำนวนผู้ลงทุนเป็นจำนวนมากนั้น จะมีเกณฑ์ในการกำหนดว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรหรือไม่ อย่างไร ?

"หน่วยงานของรัฐ" บทนิยามนี้ส่งผลให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) มีอำนาจเหนือหน่วยราชการอื่นของรัฐในเชิงหลักการ(ในเรื่องของการรักษาความมั่นคง) ทั้งๆ ที่ กอ.รมน.มีสถานะเป็นเพียงหน่วยราชการที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ไม่มีสถานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือองค์กรอิสระ หรือองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด โดยสามารถใช้อำนาจตามมาตรา ๘ ได้โดยความเห็นของตนเอง โดยที่หน่วยงานอื่นไม่มีอำนาจโต้แย้งหรือคัดค้าน แต่จะต้องสนับสนุนเท่านั้น ตามที่บัญญัติในมาตรา ๒๔ วรรคท้าย กรณีเช่นนี้จึงส่งผลให้เกิดการใช้อำนาจโดยไร้การควบคุมได้

ขณะที่กลไกในการบริหารราชการแผ่นดินตามปรกติ จะมีระบบในการตรวจสอบเอาไว้อย่างชัดแจ้ง อาทิเช่น ฝ่ายบริหารย่อมถูกตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ หรือฝ่ายนิติบัญญัติ แต่การดำเนินงานของ กอ.รมน.ตามกฎหมายนี้จะได้รับการยกเว้น หรืออย่างน้อยในการปฏิบัติจะได้รับการยกเว้นเป็นสำคัญจากการตรวจสอบของศาลปกครองและศาลยุติธรรม ทั้งนี้ตามที่บัญญัติในมาตรา ๓๖ และ ๓๗

นอกจากนี้มีข้อที่น่าคิดว่า หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่เฉพาะ อาทิ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะต้องอยู่ภายใต้การให้ความร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในหรือไม่ ในกรณีที่กองอำนวยการนี้มีความเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่คณะกรรมการมีความเห็นที่แตกต่าง และไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารใดต่อกองอำนวยการนี้ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยราชการแต่อยู่ในการกำกับของคณะกรรมการ จะปฏิเสธมติของคณะกรรมการของตนเอง โดยยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)ได้หรือไม่ ?

"เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ...
"เจ้าพนักงาน" ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติให้อำนาจแก่ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(ผอ.รมน.) ทำการแต่งตั้งเจ้าพนักงานมาปฏิบัติหน้าที่ แต่ในบทนิยามนี้ระบุว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า ผู้ซึ่งผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของบุคคลที่จะมาปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงาน เพื่อประกันการดำเนินการของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในให้อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างแท้จริง และไม่มีการเบี่ยงเบนการใช้อำนาจ

นอกจากนี้แล้วร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเกินสมควร โดยที่คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในยังไม่มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าพนักงานแต่อย่างใด การกำกับนโยบายของคณะกรรมการอำนวยการ จึงอยู่นอกเหนืออำนาจของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน

นอกเหนือไปจากจะไม่มีการบัญญัติว่าเจ้าพนักงาน จะมีสถานะเป็นข้าราชการแต่ฝ่ายเดียวหรือไม่ หรือเป็นบุคคลใดๆ ก็ได้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ ความไม่ชัดเจนเช่นนี้จะส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในหน่วยงานนี้ไม่มีมาตรฐานการตรวจสอบที่ชัดแจ้ง มาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานไม่มีการกำกับและตรวจสอบ ขณะที่มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นโดยตรง กรณีนี้จึงเป็นการสะท้อนวัฒนธรรมในการดำเนินองค์กรของฝ่ายทหารได้อีกอย่างหนึ่ง

๔. แนวคิดในการรักษาความมั่นคงภายใน
มาตรา ๔ เป็นบทบัญญัติที่เปิดทางให้กับการใช้อำนาจของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน และของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นไปตามที่ตนเห็นว่าจำเป็น โดยอ้างหลักการของกฎหมายที่ต้องการให้การปฎิบัติเป็นเอกภาพ ขณะที่การตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจนั้น ในร่าง พร.บ.ฉบับนี้ไม่ปรากฏให้เห็นแต่อย่างใด ข้อปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานให้มีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในมาตรา ๒๖ในเรื่องของการตรวจค้นผู้ต้องสงสัยนั้น มิได้กำหนดให้เป็นอำนาจหรือดุลพินิจของศาลโดยเด็ดขาด เนื่องจากยังมีบทยกเว้นการใช้อำนาจโดยเจ้าพนักงานอยู่ การมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องสงสัยจึงแทบไม่มีผล อันขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพราะกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจแก่ผู้ปฏิบัติในการใช้ดุลพินิจ ระหว่างสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องสงสัยกับของประชาชนโดยเน้นให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก

การเขียนกฎหมายเช่นนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ปฏิบัติในการอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน จะต้องกำหนดกรอบของหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และของเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องให้รัดกุม และนอกจากนั้น หลักเกณฑ์การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามความในมาตรา ๒๗ นั้น มิได้มุ่งหมายเพื่อถ่วงดุลอำนาจของเจ้าหน้าที่โดยให้เป็นอำนาจของศาลแต่อย่างใด เป็นเพียงการสร้างมาตรการให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติของเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องมากที่สุด เท่านั้น

ทั้งนี้เพราะการกำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถนำผู้ต้องสงสัยไปควบคุมตัวยังสถานที่อื่นใดก็ได้ ซึ่งมิใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขังทัณฑสถานหรือเรือนจำ อันเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้คุมขังผู้ต้องหาเป็นการชั่วคราวนั้น ย่อมเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะทหาร นำผู้ต้องสงสัยไปควบคุมตัวไว้ ณ สถานที่ใดก็ได้ที่ทหารเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ผู้ต้องสงสัยหรือญาติพี่น้องจะมีโอกาสรับทราบหรือติดต่อเยี่ยมได้ยากลำบากกว่าสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติอยู่ตามปรกติ เนื่องจากจะเป็นสถานที่ที่ขึ้นอยู่กับเขตอำนาจการสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวน และสัมพันธ์อยู่กับชุมชนของผู้ต้องสงสัย ด้วยเหตุนี้การกล่าวในกฎหมายว่า "จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำผิดมิได้" จึงมิได้สร้างมาตรฐานให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ ได้ปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยในลักษณะของผู้กระทำผิดมิได้แต่อย่างใด เพราะหากจะเป็นเช่นนั้นแล้วสถานที่ควบคุมตัว จะต้องมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับสถานที่ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด จะต้องสะดวกกับญาติพี่น้องผู้กระทำความผิดได้ติดต่อ และต้องเปิดโอกาสไว้ในกฎหมายให้ผู้ต้องสงสัยมีสิทธิติดต่อทนายความหรือญาติพี่น้องในกรณีที่การจับกุมตัวกระทำไปโดยที่ญาติพี่น้องมิได้รับทราบ

และแม้ว่าในวรรคสองของมาตรา ๒๗ จะบัญญัติเป็นหลักเกณฑ์ให้กับการปฏิบัติของเจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็มิได้กำหนดเอาไว้ว่าให้ศาลหรือเจ้าพนักงานมีหน้าที่แจ้งให้กับญาติพี่น้องผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวได้รับทราบว่า ถูกคุมขังอยู่ที่ใด อีกทั้งการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทำรายงาน ก็มิได้กำหนดว่าให้ผู้ต้องสงสัยมีสิทธิพบกับญาติ หรือได้รับการประกันตัวด้วย อย่างน้อยก็ภายใน ๓๐ วันที่อยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าพนักงาน ซึ่งหากเจ้าพนักงานดำเนินการตามอำนาจพิเศษตามกฎอัยการศึกอีกด้วยแล้ว อำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยจะมีมากยิ่งขึ้น และจะก่อให้เกิดความสับสนกับทั้งผู้ใช้และผู้ถูกจับกุมควบคุมตัวว่า จะมีสิทธิหรือมีอำนาจควบคุมตัวภายใต้กฎหมายใดเป็นหลัก

บทบัญญัติของร่างกฎหมายฉบับนี้จึงแสดงชัดแจ้งว่า วิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยนั้น ยังไม่สอดคล้องกับการไม่ได้รับความคุ้มครองในลักษณะของผู้ยังมิได้กระทำความผิด นอกจากนี้แล้วเหตุการณ์เสียชีวิตหมู่เป็นจำนวนมากของผู้ที่ศาลยังมิได้พิพากษาว่ากระทำความผิด ซึ่งเกิดขึ้นในอดีตขณะที่ที่ทหารเป็นฝ่ายควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย อาทิเช่น ในกรณีตากใบและมัสยิดกรือเซะนั้น ก็เห็นชัดเจนว่ามาตรฐานการเคารพต่อสิทธิของผู้ที่ต้องสงสัยในชั้นปฏิบัติของฝ่ายหารมีมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตามบทบัญญัติในมาตรา ๔ ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นเพียงแนวคิดในเชิงหลักการของการรักษาความมั่นคงภายใน สมควรที่จะต้องบัญญัติให้เป็นรูปธรรม เป็นวิธีการ เป็นขั้นตอนที่สามารถปฏิบัติได้ ความในมาตรา ๔ จึงไม่มีลักษณะเป็นบทบัญญัติของกฎหมาย

๕. ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ
มาตรา ๕ การให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ ถือว่าเป็นการเหมาะสมแล้ว เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้หน่วยงานในลักษณะทหารเช่นนี้ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง ก็มีปัญหาเช่นกัน ว่าในกรณีที่คณะกรรมการหรือผู้อำนวยการมีมติหรือมีความเห็นแตกต่างไปจากที่นายกรัฐมนตรีมีความเห็น จะดำเนินการอย่างไร หรือเช่น นายกรัฐมนตรีจะสั่งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ หรือผู้อำนวยการออกจากตำแหน่ง เมื่อมีคำสั่งแล้ว จะทำให้สถานะเดิมของผู้ถูกถอดถอนหรือถูกปลดหมดลงด้วยหรือไม่ กล่าวคือ หากนายกต้องการถอดถอนผู้อำนวยการออกจากตำแหน่ง จะทำให้ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเดิม(ผบ.ทบ.)ด้วยหรือไม่ เพราะตำแหน่งในคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในนั้น เป็นโดยตำแหน่ง มิใช่โดยตัวบุคคล เหล่านี้เป็นต้น

นอกจากนี้ การที่หน่วยงานดังกล่าวสามารถกระทำนิติกรรมในนามของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น อาจส่งผลให้มีการกำหนดสถานที่ทำงานที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาล เพื่อสะดวกในการดำเนินงาน ก็จะทำให้ทำเนียบรัฐบาลมีทหารมาปฏิบัติหน้าที่เป็นจำนวนมาก อาจทำให้ไม่เป็นภาพสถานการณ์ที่ดูดีในภาพของการเป็นประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

 

คลิกไปอ่านบทความตอนที่ ๒

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
7 November2007

โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง
โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และนักวิชาการอิสระ-สถาบันฯ

ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ดูเหมือนจะเป็นยูโธเปีย(utopia) สำหรับประเทศศูนย์กลาง
แต่ขณะเดียวกันกระแสโลกาภิวัตน์นี้กลับกลายเป็นยูโธปลอม(dystopia) ของบรรดาประเทศชายขอบทั้งหลาย เนื่องจากได้นำมาซึ่งการสูญเสีย และกดขี่ทางด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งทางด้านความยุติธรรม ความเท่าเทียม อิสรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะมองจากมิติทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และกฎหมาย ฯลฯ

โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เกิดขึ้นมาจาก
การเล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ที่กำลังคุกคามผู้คนและพยายามที่จะแสวงหาตัวบท
พร้อมทั้งกรณีตัวอย่างในที่ต่างๆ มานำเสนอ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์โลก
ที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน และทางออกที่หลากหลายในประเทศชายขอบต่างๆ
สำหรับผู้สนใจสามารถส่งบทความเข้าร่วมที่ midnightuniv(at)gmail.com