บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
The
Ugly side of Beauty
in Burma
Midnight
University
ด้านที่น่าเกลียดของความงาม
- ผู้หญิงกับการเมืองพม่าใต้เผด็จการ
The Ugly side of Beauty in Burma: ว่าด้วยสถานภาพของผู้หญิงในพม่า
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
รวบรวม
ขอขอบคุณ คุณสุภัตรา ภูมิประภาส ที่กรุณาส่งข้อมูลมาให้เสมอ
ข้อมูล บทสัมภาษณ์ และบทความต่อไปนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจาก
คุณสุภัตรา ภูมิประภาส เนื่องในวันสตรีแห่งสหภาพพม่า ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๐
ในวันดังกล่าว สตรีชาวพม่า และชาติพันธุ์ต่างๆ ได้มีการเฉลิมฉลองกันในประเทศไทย
แทนที่จะเป็นบ้านเกิดของตัวเอง ทั้งนี้เนื่องมาจากการเมืองภายใต้เผด็จการทหาร
ที่ปราศจากความเป็นประชาธิปไตย และใช้ความรุนแรงในการบริหารประเทศ
ในส่วนของประเทศไทยวันดังกล่าว ได้มีการจัดนิทรรศการและเวทีอภิปราย
เพื่อรำลึกถึงสตรีชาวพม่าและชาติพันธุ์ ซึ่งพยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ
เสรีภาพ
และประชาธิปไตยจนผลักให้ตัวของพวกเธอเองตกไปอยู่ในมุมลำบาก ด้วยความกล้าหาญ
สำหรับการนำเสนอข้อมูลบนเว็บเพจ กองบรรณาธิการได้เรียงลำดับดังต่อไปนี้
1. สัมภาษณ์พิเศษ: ประสบการณ์ขังเดี่ยวคุกอินเส่ง นักโทษหญิงอายุน้อยที่สุด
2. เสียงจากแรงงานหญิงพม่าถึงคนไทย "เราไม่ต่างอะไรไปจากนักโทษการเมืองในคุก"
3. ครบรอบวันเกิด ๖๒ ปี ออง ซาน ซูจี: อีก ๑ ปีกับการฉลองวันเกิดนอกประเทศ
4. ประท้วงกลางสายฝนในกรุงเทพฯ ค้านขังลืม ออง ซาน ซูจี
5. ลำดับเหตุการณ์รัฐบาลพม่ากักตัวอองซาน ซูจี
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๐๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๐ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ด้านที่น่าเกลียดของความงาม
- ผู้หญิงกับการเมืองพม่าใต้เผด็จการ
The Ugly side of Beauty in Burma: ว่าด้วยสถานภาพของผู้หญิงในพม่า
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
รวบรวม
ขอขอบคุณ คุณสุภัตรา ภูมิประภาส ที่กรุณาส่งข้อมูลมาให้อย่างสม่ำเสมอ
๑. สัมภาษณ์พิเศษ : ประสบการณ์ขังเดี่ยวคุกอินเส่ง
นักโทษหญิงอายุน้อยที่สุด
โดยศูนย์ข่าวสาละวิน
'คุกอินเส่ง'
เป็นชื่อคุกที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในพม่าหลายพันคนเคยย่างเท้าเข้าไป บางคนมีโอกาสได้กลับออกมาเห็นโลกภายนอกอีก
แต่บางคนไม่มีโอกาส เพราะที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่กักขังนักโทษการเมืองที่ใหญ่และโหดที่สุดในพม่า
โดยเฉพาะนักโทษในแดนขังเดี่ยว ซึ่งไม่มีโอกาสได้เห็นเดือนเห็นตะวัน หลายคนต้องจบชีวิตลงที่นี่
ส่วนคนที่รอดออกมาได้ก็ไม่สามารถลืมเลือนฝันร้ายในดินแดนที่เป็นเหมือนนรกแห่งนี้ไปตลอดชีวิต
มน (นามสมมติ) หญิงสาววัย 28 ปี อดีตผู้นำอันดับสามของกลุ่มเยาวชนพรรคสันติบาตเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ซึ่งมีนางอองซาน ซูจีเป็นผู้นำ ในวัยเพียง 19 ปี มนต้องกลายเป็นนักโทษการเมืองหญิงที่มีอายุน้อยที่สุดในแดนขังเดี่ยวของคุกอันเลื่องชื่อแห่งนี้. ตลอดระยะเวลา 11 เดือน เธอต้องเผชิญกับประสบการณ์อันโหดร้ายและเกือบเอาชีวิตไม่รอดกลับมาเห็นโลกภายนอกอีกครั้ง บทสัมภาษณ์ที่กำลังจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ยากจะลืมเลือนของอดีตนักโทษการเมืองหญิงคนนี้
คุณเข้ามาร่วมกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างไร?
ฉันเป็นลูกคนที่ 4 ของพี่น้องทั้งหมด 6 คน และเป็นลูกคนแรกที่สอบผ่านเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดะโกง
ที่ย่างกุ้ง ฉันชอบเรียนหนังสือและใฝ่ฝันอยากเป็นครู แต่ไม่เคยสนใจเรื่องการเมืองเลย
จนกระทั่ง พ.ศ. 2539 ขณะที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัยปีแรก จู่ๆ รัฐบาลทหารก็สั่งปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
ฉันโกรธมาก ที่ไม่ได้ไปเรียนหนังสือ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร มีแต่คำถามว่า
"ทำไม" อยู่ในหัว ตอนนั้นฉันและเพื่อนๆ เริ่มจับกลุ่มคุยกันว่าเป็นเพราะอะไร?
เพื่อนในชั้นคนหนึ่งเป็นลูกของส.ส. พรรค NLD (จากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2533
แต่ถูกผู้นำทหารยึดอำนาจ) เป็นคนเล่าสถานการณ์การเมืองให้ฟัง
หลังจากนั้นเพื่อนก็ชวนไปที่ทำการพรรค
NLD ประจำกรุงย่างกุ้ง ตอนนั้นฉันคิดถึงบรรยากาศในห้องเรียนมากๆ ที่ทำการพรรคฯ
มีห้องสมุด มีหนังสือให้ความรู้ต่างๆ มากมาย. อองซาน ซูจีจะให้เยาวชนเลือกหนังสือจากห้องสมุดมาอ่านและจับกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น
วันไหนถ้าเธอมีเวลาว่างก็จะมานั่งแลกเปลี่ยนด้วยทุกครั้ง ตอนแรกฉันมาร่วมกิจกรรมในฐานะเยาวชนทั่วไป
แต่หลังจากหนึ่งปีผ่านไปก็ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มเยาวชนของพรรคสันติบาติเพื่อประชาธิปไตย
(Nationality League for Democracy Youth)(*) อย่างเต็มตัวเมื่อพ.ศ. 2540
อะไรคือเหตุผลที่ตัดสินใจเป็นสมาชิกกลุ่มเยาวชนพรรคเอ็ลแอลดีอย่างเต็มตัว?
ฉันรู้สึกรักและเคารพอองซาน ซูจีมาก เวลานั้นเธอถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพัก เพื่อนๆ
หลายคนก็ถูกจับเข้าคุก ฉันอยากเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว
เพราะที่นี่เป็นเหมือนมหาวิทยาลัยชีวิต ฉันรู้สึกผูกพันกับที่นี่มาก ถ้าวันไหนไม่ได้ไปจะกระวนกระวายแทบนั่งไม่ติด
ตอนนั้นฉันกับเพื่อนๆ ก็ไม่ได้มีเงินมากนัก เราก็เลยแบ่งเงินค่าขนมมาเป็นค่ารถไป-กลับที่ทำการพรรค
เงินส่วนที่เหลือก็จะเอามารวมกันซื้อกับข้าวมากินด้วยกัน ตอนนั้นรู้สึกสนุกและมีความสุขมาก
ตอนนั้นกลัวจะถูกจับเข้าคุกเหมือนเพื่อนๆ
ไหม?
ฉันกลัวมาตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นสมาชิกแล้ว แต่อองซาน ซูจี เคยบอกกับพวกเราว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะรู้สึกกลัว
เพราะนี่เป็นสิ่งที่เราต้องกลัว หากสถานการณ์การเมืองยังเป็นเหมือนเดิม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
เราก็จะรู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสู้เพื่อให้ความกลัวหมดไป
และต้องเปลี่ยนความหวาดกลัว ให้เป็นกำลังใจในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของเราต่อไป
ครอบครัวมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?
พ่อของฉันเป็นข้าราชการในกระทรวงเกษตร ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน เราอยู่ในเขตบ้านพักราชการซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง
ถึงพ่อแม่จะเคยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพรรค NLD เมื่อปี พ.ศ. 2533 แต่ท่านก็ไม่อยากให้ลูกๆ
เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ฉันก็เลยไม่กล้าบอกความจริงกับพ่อแม่ เพราะกลัวว่าท่านจะเป็นห่วงและห้ามไม่ให้ฉันออกจากบ้าน
แต่ตอนหลัง พ่อเริ่มสังเกตว่าฉันสนใจฟังข่าววิทยุมากเป็นพิเศษ และมหาวิทยาลัยยังคงปิดแบบไม่มีกำหนด
พ่อกลัวว่าฉันจะไปเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็เลยฝากให้ฉันทำงานเป็นแคชเชียร์ในบริษัทของเพื่อน
แต่บังเอิญว่าบริษัทนั้นอยู่ใกล้กับที่ทำการพรรค
NLD ฉันก็เลยแอบแวะเข้าไปที่ทำการพรรคทุกวันหลังเลิกงาน โดยบอกพ่อแม่ว่าไปสมัครเรียนคอมพิวเตอร์
ซึ่งท่านก็ไม่ได้สงสัยอะไร ก่อนหน้าที่ฉันจะถูกจับ เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองเคยมาถามหาฉันที่บ้านครั้งหนึ่ง
แต่แม่บอกว่าฉันไปเรียนคอมพิวเตอร์ พวกนั้นก็เลยกลับไป ฉันไม่อยากให้แม่เป็นห่วงก็เลยบอกแม่ไปว่า
ที่หน่วยข่าวกรองมาตามฉันที่บ้านคงเป็นเพราะเพื่อนสนิทของฉันเป็นลูกของ ส.ส.
พรรค NLD
คุณถูกจับได้อย่างไร?
หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมของพรรค NLD ได้ประมาณ 3 ปี ฉันก็เริ่มได้รับมอบหมายให้ทำงานในตำแหน่งสำคัญมากขึ้น
ก่อนที่จะถูกจับประมาณเดือนหนึ่ง คือวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2543 อองซาน ซูจีแต่งตั้งให้ฉันเป็นผู้นำเยาวชนในเมืองตะโกงเมียวติ๊ดที่ฉันอยู่
และเป็นผู้นำอันดับสามของกลุ่มเยาวชน NLD ตอนนั้น รู้สึกภูมิใจมากและคิดว่าต้องทำงานให้หนักขึ้น
แต่ก็กลัวจะถูกหน่วยข่าวกรองติดตาม หลังจากนั้นในวันที่ 13 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนพม่า
ทางพรรคได้จัดงานโดยมีการประกวดบทกวีที่เกี่ยวข้องสิทธิมนุษยชน ฉันส่งบทกวีเข้าประกวดและได้รับรางวัลชื่อว่า
"Without rhythm" (ปราศจากท่วงทำนอง) เป็นความรู้สึกคิดถึงห้องเรียนที่ถูกสั่งปิด
ฉันถ่ายรูปตอนที่อองซาน ซูจีมอบรางวัลและเก็บภาพนั้นไว้ในห้องนอนที่บ้าน ซึ่งมันได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ฉันติดคุกในอีกหนึ่งเดือนต่อมา
เหตุการณ์ในวันที่ถูกจับเป็นอย่างไร?
ฉันถูกจับวันที่ 12 เมษายน เช้าวันนั้นฉันไปทำความสะอาด ที่ทำการพรรคเพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่
และเล่นสาดน้ำเเหมือนกับเทศกาลสงกรานต์ของไทย ฉันกลับถึงบ้านประมาณ 3 ทุ่ม พี่ชายมารับที่ท่ารถ
ตอนนั้นเห็นรถยนต์คันใหญ่ดูดีมากคันหนึ่ง จอดอยู่ก็พูดเล่นๆ กับพี่ชายว่าอยากจะนั่งรถคันนี้ไปเที่ยวรอบเมือง
พี่ชายก็บอกว่าอยากจะเล่นสาดน้ำใส่รถคันนี้ เราหัวเราะหยอกล้อกันมาตลอดทาง พอกลับถึงบ้านก็รีบขึ้นไปบนห้องเพื่อเช็ดผมและเปลี่ยนเสื้อผ้า
แต่ยังไม่ทันจะได้ทำอะไรเสียงเคาะประตูก็ดังขึ้น พอเปิดประตูออกมาก็เห็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองยืนอยู่
ฉันยืนตัวสั่นก้มหน้าเพราะรู้ตัวว่าคงถูกจับแน่ๆ พวกเขาเข้ามาค้นข้าวของในห้องกระจุยกระจาย ท่าทางหยาบคายมาก ในที่สุดก็เจอหลักฐานต่างๆ ทั้งภาพถ่ายคู่กับอองซาน ซูจี และสัญลักษณ์ต่างๆ ของพรรคฯ ตอนนั้นพ่อและน้องสาวไม่อยู่บ้าน มีแต่แม่และพี่ชายอยู่ เจ้าหน้าที่มากันทั้งหมด 8 คน พอได้หลักฐานเขาก็ลากฉันลงมาจากห้องและบอกกับแม่ว่า จะพาตัวลูกสาวไปสอบสวน โดยไม่ได้บอกว่าที่ไหน? แม่มองฉันท่าทางเป็นห่วงมากแต่ไม่ได้ร้องไห้ แม่พูดว่า "ดูแลตัวเองนะลูก อย่าลืมสวดมนต์ไหว้พระ ขอให้ท่านคุ้มครองลูกนะ" พอเดินพ้นประตูบ้านก็เห็นรถคันใหญ่ที่ฉันกับพี่ชายเพิ่งจะพูดเล่นกันเมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้ ฉันถูกปิดตาและมัดมือก่อนจะถูกโยนขึ้นไปในรถคันนั้นอย่างรุนแรง จนพี่ชายของฉันทนไม่ได้ วิ่งเข้าไปด่าว่าทำไมทำกับฉันแบบนี้
คุณได้พูดอะไรกับเจ้าหน้าที่บ้างไหม?
ตอนที่เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองมาถึง ฉันถามว่ามีใบอนุญาตค้นบ้านหรือเปล่า ขอดูหน่อย
เขาก็ตอบกลับมาว่า ใครสอนให้พูด แบบนี้อองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเธอใช่ไหม แล้วก็หัวเราะเสียงดัง
เหตุการณ์หลังจากนั้นเป็นอย่างไร?
ฉันถูกพามาสอบสวนที่หน่วยข่าวกรองหมายเลข 26 ที่ขึ้นชื่อว่าโหดที่สุด พอเอาผ้าปิดตาออกก็เห็นเพื่อนสมาชิกพรรคคนอื่นๆ
เกือบยี่สิบคนนั่งอยู่ในนั้น ทุกคนจะถูกสอบสวนแยกกันทีละคน เจ้าหน้าที่จะถามถึงพฤติกรรมของเพื่อนคนอื่นๆ
ที่ถูกจับ. เขาถามว่าทำอะไรบ้างในพรรค ฉันไม่ได้ตอบอะไรเลย แต่เขาก็รู้ข้อมูลของฉันจากเพื่อนคนอื่นหมดแล้ว
ตอนที่กำลังสอบสวนอยู่เจ้าหน้าที่พาเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาในห้องแล้วถามว่า
รู้จักคนนี้ไหม ฉันตอบว่ารู้จัก แต่เพื่อนคนนั้นกลับตะโกนโวยวายว่าไม่รู้จักฉัน
ฉันเริ่มรู้สึกแปลกๆ เลยตอบไปว่า เรารู้จักกันแค่เป็นเพื่อนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น
แต่เพื่อนคนนั้นก็ยังตะโกนกลับมาอีกว่าไม่รู้จักฉัน ฉันก็เลยตอบกลับไปอีกว่า
ไม่รู้จักฉันไม่เป็นไร แต่ฉันรู้จักเธอ ตอนหลังได้ข่าวว่าเพื่อนคนนี้ถูกปล่อยตัวหลังจากถูกสอบสวนเพราะเขาเป็นคนให้ข้อมูลทั้งหมดเรื่องกิจกรรมในพรรค
จากนั้นมาเขาก็ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเมืองอีกเลย
เราเจอกันอีกครั้งหลังจากออกจากคุก
และฉันยังทักทายเขาเหมือนเดิม ไม่ได้รู้สึกโกรธอะไร เพราะมันก็ไม่ใช่ความผิดของเขาเสียทีเดียวที่ไม่อยากติดคุก
ฉันถูกสอบสวนที่หน่วยข่าวกรองถึงประมาณตี 3 ตี 4 แต่ก็ไม่ได้บอกอะไรเลย หลังจากนั้นพวกเขาตะโกนเรียกชื่อฉันและเพื่อนบางคนออกมา
บางคนถูกปล่อยตัวกลับบ้าน แต่ฉันถูกปิดตา และพาไปขึ้นรถโดยไม่มีใครบอกเลยว่าจะพาไปไหน
ฉันเองก็ไม่ได้ถามอะไร เพราะตอนนั้นพูดอะไรไม่ออกเลย. หลังจากนั่งรถมาเป็นชั่วโมงก็มาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง
พอได้ยินเสียงประตูเหล็กเปิดออก เจ้าหน้าที่สั่งให้ก้มหัวลงและผลักให้เข้าไปด้านใน
ก็รู้ว่าถูกจับเข้าคุกเรียบร้อยแล้ว เพราะประตูห้องขังจะเตี้ยกว่าประตูปกติ.
พอดึงผ้าปิดตาออกก็เห็นว่าตัวเองอยู่ในห้องขังกับนักโทษอีกหลายคน สักพักเจ้าหน้าที่ก็เรียกฉันไปถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน
ก่อนจะถูกส่งไปยังแดนขังเดี่ยวที่โหดที่สุดในคุกอินเส่ง จนถึงวันสุดท้ายที่ถูกปล่อยตัว
คุณถูกจับข้อหาอะไรและกำหนดโทษนานเท่าไหร่?
ฉันไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่าถูกจับข้อหาอะไร และต้องติดคุกนานเท่าไหร่ ไม่มีใครบอกอะไรเลย.
สภาพแดนขังเดี่ยวที่นี่ เป็นแดนขังเดี่ยวนักโทษการเมืองหญิงที่หลายคนกลัวกันมาก
เพราะเมื่อก่อนเคยใช้เป็นห้องขังนักโทษประหาร ในแดนขังเดี่ยวจะแบ่งออกเป็น 11
ห้องขังย่อยที่จุคนได้ 2-3 คน ฉันถูกขังคนเดียวเหมือนกับห้องขังอื่นๆ แต่ละห้องจะมีประตู
3 บาน คือ ประตูเหล็กทึบ ประตูลูกกรง และประตูไม้ ในห้องจะมีกระโถนวงรีแต่ไม่มีฝาปิดวางไว้ให้
นอกประตูลูกกรงมีขวดน้ำวางอยู่หนึ่งขวด
คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นสภาพห้องขังในตอนนั้น?
พอเห็นว่ามีน้ำเพียงแค่ขวดเดียวสำหรับใช้ดื่ม ล้างหน้า และล้างก้น ฉันทนไม่ได้ก็เลยโวยวายเรียกเจ้าหน้าที่เข้ามาถามว่าคุณนับถือศาสนาพุทธหรือเปล่า
ถ้าคุณนับถือพุทธ คุณน่าจะรู้ว่าเราไม่ใช้น้ำล้างหน้ากับล้างก้นจากขวดเดียวกัน
ฉันอยากได้น้ำอีกขวดหนึ่ง เจ้าหน้าที่คนนั้นหัวเราะแล้วบอกว่า ที่นี่คือคุกไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไรทั้งนั้น
พอได้ยินอย่างนั้นฉันก็ปัดขวดน้ำกระเด็นออกไปนอกห้องขัง หัวหน้าผู้คุมเข้ามาถามว่ามีปัญหาอะไร
เจ้าหน้าที่คนนั้นรายงานให้ฟัง ตอนแรกผู้คุมคนนั้นยืนหัวเราะแต่สุดท้ายจึงยอมเอาขวดน้ำมาให้ฉันอีกขวดหนึ่ง
ฉันเห็นห้องขังอื่นมีน้ำแค่คนละขวด บางคนแก่มาก ติดคุกมานานแล้วก็ยังได้แค่ขวดเดียว
ฉันจึงขอร้องให้เจ้าหน้าที่เอาน้ำมาให้คนอื่นด้วย ในที่สุดทุกคนจึงได้น้ำเพิ่มอีกคนละหนึ่งขวด
สภาพร่างกายและจิตใจของคุณเป็นอย่างไรบ้างในช่วงแรก?
3 วันแรกฉันไม่ได้กินข้าว ไม่ได้เห็นแสงเดือนแสงตะวัน กินแต่น้ำทั้งวัน เขาเรียกฉันไปสอบสวนอยู่หลายครั้ง
ทั้งกลางวันและกลางคืน เวลาสอบสวนจะต้องสวมหมวกผ้าสีฟ้า มีปีกยื่นออกมาด้านหน้าเพื่อบังสายตาไม่ให้มองเห็นคนสอบสวน
จะมองเห็นแค่ปลายเท้าตัวเองเท่านั้น ฉันต้องนั่งอยู่บนเก้าอี้สูงขาลอยจากพื้น
มีเบาะเล็กๆ และไม่มีพนักพิง ถ้านั่งนานๆ จะปวดเอวมาก สภาพจิตใจของฉันแย่มากเพราะไม่รู้ตัวเลยว่าถูกตัดสินลงโทษด้วยข้อหาอะไร
และต้องติดคุกนานเท่าไหร่ ตอนนั้นมีชีวิตอยู่โดยที่ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร
อาหารภายในคุกเป็นอย่างไร?
เจ้าหน้าที่เอาอาหารมาให้ครั้งแรกในวันที่ 4 พอเห็นอาหาร ที่เจ้าหน้าที่เอามาให้เท่านั้น
ฉันก็ร้องไห้แบบที่ไม่เคยร้องมาก่อนในชีวิต เพราะสิ่งที่เห็นคือข้าวคุณภาพต่ำมาก
ราดน้ำแกงถั่วและเศษปลาเหม็นๆ เจ้าหน้าที่เข้ามาถามว่าเป็นอะไร ฉันตะโกนใส่หน้าไปว่า
พวกคุณคิดว่าพวกเราเป็นสัตว์หรือยังไง รู้ไหมว่า อาหารแบบนี้หมายังไม่กินเลย.
หลังจากนั้นไม่กี่นาที ฉันก็ถูกเรียกตัวไปที่ห้องเจ้าหน้าที่ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ฉันได้เห็นหน้าตาของเจ้าหน้าที่
เป็นผู้ชายท่าทางสุภาพ เขาพูดว่า "น้องสาวร้องไห้ทำไม ไม่อยากกินอาหารแบบนี้เหรอ"
จากนั้นก็มีคนยกถาดอาหารหน้าตาน่ากินหลายอย่างเข้ามาในห้อง พอฉันมองเห็นก็แทบจะเอามือไปคว้าใส่ปากเลย
เพราะไม่ได้กินอะไรมา 3 วันแล้ว
พอเจ้าหน้าที่คนนี้เห็นว่าฉันอยากกินก็เลยบอกว่า "นั่นเป็นอาหารของเธอ กินเสียสิ" ฉันเกือบจะเดินไปตักอาหารเข้าปากแล้วเหมือนกัน ถ้าไม่ได้ยินประโยคต่อมาว่า "ถ้าเธอยอมเซ็นชื่อและตอบคำถามของเรา เธอจะได้กินของอร่อยทั้งหมด เราจะไม่บอกใคร ว่าเธอเป็นคนบอกข้อมูลเราหรอกนะ" พอฟังจบฉันก็หยุดชะงัก ความรู้สึกอยากอาหารหายไปหมด ได้แต่บอกกับตัวเองว่า "ฉันจะกินของพวกนี้ไม่ได้เด็ดขาด เพราะถ้ากินเข้าไปก็ต้องตอบคำถามพวกเขา" ฉันหันกลับไปบอกเขาว่า "ฉันไม่อยากกินอะไรทั้งนั้น ช่วยส่ง ฉันกลับไปที่ห้องขังที ถ้าคนอื่นได้กินอย่างนี้เหมือนกันฉันถึงจะกิน ฉันไม่ใช่ผู้ต้องขังพิเศษถึงจะได้กินคนเดียว และฉันก็ไม่สามารถตอบคำถามอะไรคุณได้" พอพูดจบ ชายหนุ่มท่าทางสุภาพเมื่อครู่ ก็เปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่งทันที เขาตะโกนด่าฉันลั่นห้องก่อนจะส่งฉันกลับไปห้องขัง ในที่สุดฉันก็ฝืนใจกินอาหารชั้นเลวพวกนั้นจนได้
สิ่งที่เป็นปัญหาของคุณมากที่สุดคืออะไร?
เรื่องเสื้อผ้าและการอาบน้ำ หลังจากใส่เสื้อผ้าชุดเดียวที่ติดตัวมาจากบ้าน 2
อาทิตย์ ฉันก็ได้รับเครื่องแบบนักโทษสีขาว 2 ชุด. เวลามีประจำเดือนจะลำบากมาก
เพราะไม่มีผ้าอนามัยใส่ และเสื้อผ้าเป็นสีขาวมีแค่สองชุด เราได้รับอนุญาตให้ใช้น้ำแค่
6 ขัน สำหรับอาบน้ำและซักผ้า เราต้องราดน้ำลงบนเสื้อผ้าที่ใส่อยู่ แล้วค่อยเปลี่ยนชุดใหม่
ไม่มีสบู่ แชมพู พอเปลี่ยนชุดเสร็จก็ต้องตากผ้า โดยวางแผ่ไว้บนพื้นดิน ทุกๆ วันเราจะได้ออกจากห้องขัง
2 ช่วง ช่วง 9 โมงเช้าเพื่ออาบน้ำ และช่วงบ่ายเพื่อทำความสะอาดห้องขัง แต่ละช่วงมีเวลาแค่
5 นาที บางครั้งตอนหน้าฝน เสื้อผ้าที่ตากไว้เกือบจะแห้งอยู่แล้ว แต่ถ้ายังไม่ถึงเวลาออกจากห้องขังก็จะเปียกฝนเพราะไม่มีใครมาเก็บให้ต้องทนใส่ชุดเดิมต่อไปจนกว่าชุดใหม่จะแห้ง
เคยถูกทำร้ายร่างกายบ้างไหม?
เคยครั้งหนึ่ง ตอนที่ติดคุกได้ 4 วัน ฉันไม่ได้กินข้าวเลยและเหนื่อยล้ามากที่ต้องถูกสอบสวนด้วยคำถามเดิมๆ
พอได้ยินเจ้าหน้าที่พูดว่า "ซูจีเป็นเมียต่างชาติ เธออยากจะเป็นเมียต่างชาติเหมือนกันหรือไง
พวกเธอไม่มีความสำคัญกับประเทศของเรา" ฉันโกรธมากเลยตะโกนตอบกลับไปว่า "ใช่
พวกเราไม่ใช่คนสำคัญ แต่ทำไมพวกคุณถึงกลัวเรานักล่ะ ที่จับพวกเรามาเพราะกลัวพวกเราใช่ไหม?"
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ใช้หลังมือที่สวมแหวนตบเข้าที่แก้มซ้ายขวาและคางฉันอย่างแรง
ทำให้กินข้าวไม่ได้ไปหลายวัน
สภาพจิตใจตอนที่อยู่ในคุกเป็นอย่างไรบ้าง?
บางครั้งฉันก็แอบร้องไห้ที่มุมห้องเพราะไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ได้ยิน เพราะถ้าได้ยินเสียงใครร้องไห้
เขาจะคิดว่าคนนั้นเริ่มทนอยู่ในคุกไม่ได้แล้ว อาจจะยอมให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่
บางวันฉันคิดถึงพ่อแม่มากๆ ฉันก็ร้องไห้หรือตะโกนออกมาดัง ๆ เหมือนคนบ้า ฉันมีชีวิตอยู่ในแต่ละวันโดยไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ในนั้นอีกนานเท่าไหร่
กลัววันพรุ่งนี้ที่จะมาถึง เพราะไม่รู้ว่าจะถูกย้ายไปที่ไหนอีกหรือเปล่า และก็ไม่รู้ว่าจะได้ออกจากที่นี่เมื่อไหร่?
บางคนถูกจับไม่นานก็ถูกปล่อยตัวไปเพราะยอมเซ็นชื่อว่าจะไม่ร่วมกิจกรรมทางการเมืองอีก
แต่ฉันไม่ยอมเซ็น
พ่อแม่ทราบข่าวของคุณบ้างหรือไม่?
ตลอดเวลา 3 เดือนแรก พ่อแม่ไม่รู้เลยว่าฉันอยู่ที่ไหน? จนกระทั่งเดือนที่ 4 หน่วยข่าวกรองในเมืองของฉันไปบอกพ่อกับแม่ที่บ้านว่าฉันอยู่ที่คุกอินเส่งโดยไม่มีกำหนด
ให้พ่อแม่ฝากของไปเยี่ยมผ่านหน่วยข่าวกรองประจำเมืองได้ แต่ไม่ให้ไปเอง. พ่อแม่เล่าให้ฟังตอนหลังว่า
ท่านเตรียมข้าวของไปเยี่ยมฉันหลายครั้ง บางทีพวกเจ้าหน้าที่ก็จะแกล้งไม่ยอมออกมารับของ
และปล่อยให้นั่งรอตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น พอฉันได้ยินฉันรู้สึกสงสารท่านมาก เพราะท่านอายุมากแล้ว
และของที่ท่านฝากให้ก็ไปถึงฉันแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น
คุณสามารถสื่อสารกับนักโทษในแดนเดียวกันได้หรือไม่?
พวกเรามีโอกาสได้เจอกันตอนอาบน้ำ ครั้งละประมาณ 3 คน แต่ห้ามคุยกัน ถ้าเจ้าหน้าที่ได้ยินเสียงคุยกันก็จะตะโกนด่า
เราก็เลยสื่อสารกันโดยใช้ภาษามือ เช่น ยกนิ้วโป้งหนึ่งครั้งแปลว่าสบายดี หรือยกนิ้วโป้งพร้อมกับกดข้อมือลงแนบอกแปลว่าเข้มแข็งไว้นะ.
ถ้าคืนไหนได้ยินเสียงใครร้องไห้อยู่ในห้องขัง ตอนเช้าเราจะยกมือให้กำลังใจกัน
พอพ่อแม่เริ่มฝากของกินมาให้ เราก็มีวิธีสื่อสารกันมากขึ้น ฉันใช้กิ๊ฟติดผมที่เป็นเหล็กเขียนข้อความหรือบทกลอน
ลงบนพลาสติกห่อขนมที่พ่อแม่เอามาฝาก แล้วแอบส่งให้กัน หรือไม่ก็ซ่อนไว้ในรูเล็กๆ
รอบห้องขัง บางทีก็ขีดเขียนบนฝาผนัง เราจะไม่ได้อยู่ห้องขังเดิมตลอด แต่จะวนเวียนไปอยู่ห้องอื่นบ้างใน
11 ห้อง เวลาไปห้องขังใหม่เราก็จะได้อ่านข้อความที่คนเก่าเขียนไว้ให้
สามารถตะโกนคุยกันได้ไหม?
หลังจากติดคุกประมาณหกถึงเจ็ดเดือน เราเริ่มสนิทกับผู้คุมบางคน และต่อรองให้พวกเราคุยกันและเดินไปหากันได้บ้างวันละ
10 นาที ที่จริงแล้วเจ้าหน้าที่เหล่านี้เขาก็เห็นใจพวกเรา แต่เขาก็ต้องทำตามหน้าที่เพื่อความอยู่รอด
พวกเขายากจนมาก ฉันแบ่งอาหารที่แม่ฝากมาให้อยู่บ่อยๆ จนเราเริ่มสนิทกันและต่อรองได้มากขึ้น
องค์การกาชาดสากล (ICRC)
เคยเข้าไปเยี่ยมบ้างไหม?
พวกเราได้พบ 2 ครั้ง ในช่วงที่องค์การกาชาดสากลมาเยี่ยม เจ้าหน้าที่จะเปลี่ยนกระโถนในห้องขังเป็นพลาสติกที่มีฝาปิดอย่างดี
เปลี่ยนขวดใส่น้ำ เปลี่ยนอาหารให้ใหม่ แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 วัน ทุกอย่างก็เป็นเหมือนเดิม
ฉันแอบเก็บอาหารจริงๆ ห่อพลาสติกซ่อนไว้ที่เอว แล้วเอาให้คนที่มาเยี่ยมดูและเล่าความจริงให้ฟังว่าเป็นอย่างไร
พวกเจ้าหน้าที่โกรธฉันมากทีเดียว
มีปัญหาด้านสุขภาพอะไรบ้าง?
ปัญหาหลัก คือ โรคผิวหนัง และโรคกระเพาะ เพราะอาบน้ำ ซักผ้า ไม่สะอาด และกินอาหารที่มีประโยชน์ไม่เพียงพอ
หลังจากกินข้าวแล้วก็ไม่ได้เดินไปไหนมาไหน ทำให้มีกรดในกระเพาะมาก. มีอยู่ครั้งหนึ่งฉันถูกส่งเข้าโรงพยาบาลในคุกอินเส่งเพราะปวดท้องมาก
จนลุกเดินเองไม่ได้. พอไปถึงหมอก็ฉีดยาให้ ฉันกลัวจะติดเชื้อ HIV และตายในคุกเหมือนกับนักโทษอีกหลายคนที่ติดชื้อ
HIV หลังจากมารักษาที่นี่ เพราะในโรงพยาบาลมีทั้งนักโทษคดียาเสพติดและหญิงขายบริการรวมอยู่ด้วย
เวลาหมอเอาเข็มฉีดยามาฉีดให้ ฉันไม่รู้ว่าเป็นเข็มใหม่หรือเปล่า
เคยรู้สึกท้อแท้บ้างไหม?
ฉันเคยรู้สึกสับสนครั้งหนึ่ง พอติดคุกได้ 5 เดือน มหาวิทยาลัยก็เปิดสอนอีกครั้ง
หลังจากปิดไป 4 ปี. เจ้าหน้าที่มาถามฉันว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยเปิดแล้ว ถ้าอยากกลับไปเรียนก็ต้องเซ็นชื่อว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมการเมืองอีก.
จริงๆ ฉันรู้สึกคิดถึงห้องเรียนมาก เพราะการเรียนมหาวิทยาลัยเป็นความฝันของฉัน
และถ้ามหาวิทยาลัย ไม่ปิดก็คงไม่ต้องมาอยู่ที่นี่ อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกสับสนคือความรู้สึกของพ่อแมที่ตั้งความหวังไว้กับฉัน
เพราะเป็นลูกคนแรกที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และท่านก็อายุเกือบ 70 ปีแล้ว
แต่ฉันก็โกหกตัวเองไม่ได้ว่าถ้าสถานการณ์การเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง ฉันจะไม่มีวันอยู่เฉยๆ
ได้แน่ๆ
ถ้ากลับออกไปข้างนอกโดยไม่ได้ทำอะไรเลย
ฉันอยู่ในคุกต่อไปดีกว่า แม้ว่าชีวิตในคุกจะเลวร้ายแค่ไหน แต่พอฉันนึกถึงเพื่อนนักโทษคนอื่นๆ
บางครั้งฉันได้ยินเสียงเพื่อนอีกห้องล้มลงแล้วร้องไห้ บางทีก็เสียงตะโกนเหมือนคนเสียสติ
ก็ยิ่งรู้สึกว่าต้องไม่ยอมแพ้ และอยากต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ
ถ้าฉันยอมเซ็นชื่อและได้กลับไปเรียนโดยที่สถานการณ์การเมืองยังเหมือนเดิม ถ้าจู่ๆ
มหาวิทยาลัยถูกปิดอีก ฉันก็ไม่มีที่เรียนอยู่ดี เพราะไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่ามหาวิทยาลัยจะเปิดตลอดไป
ฉันก็เลยปฏิเสธที่จะเซ็นชื่อและกลับไปเรียนหนังสือ
คุณได้รับการปล่อยตัวได้อย่างไร?
ฉันถูกปล่อยตัวเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 โดยที่ไม่รู้ตัวล่วงหน้าเลย ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าถูกจับข้อหาอะไร
ต้องติดคุกนานเท่าไหร่? จู่ๆ ก็ถูกจับ, จู่ๆ ก็ถูกปล่อยตัว. เช้าวันนั้นผู้คุมนำแป้งผัดหน้าตะนาคาและสบู่ที่พ่อแม่ฝากมาให้ฉันใช้
หลังจากนั้นก็สั่งให้ฉันและนักโทษในแดนเดียวกันเก็บของและไปที่ห้องเจ้าหน้าที่
พอเข้าไปในห้องก็ได้พบกับนักโทษชายจากแดนขังเดี่ยวหลายคน จากนั้นพวกเราก็ถูกถ่ายรูป
เจ้าหน้าที่บอกว่า วันนี้พวกเราจะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ โดยไม่มีการบอกเหตุผลว่าเพราะอะไร?
แต่กำชับว่าถ้าออกไปแล้วห้ามเล่าเรื่องในคุกให้คนอื่นฟัง ก่อนจะกลับเจ้าหน้าที่เอาที่นอนและมุ้งที่พ่อแม่ฝากให้ฉันมาคืนให้
พร้อมกับมีกลิ่นเหล้าและบุหรี่ติดอยู่ พ่อแม่คงเสียใจมากถ้ารู้ว่าฉันไม่มีโอกาสได้ใช้ของเหล่านี้
แต่พวกเจ้าหน้าที่เอาไปใช้แทน หลังจากนั้นฉันถูกพากลับไปที่หน่วยข่าวกรอง 26
เพื่อรับฟังการอบรมจากเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ก่อนจะถูกพาไปส่งที่บ้าน
ทางบ้านได้ทราบก่อนหรือไม่ว่าคุณจะได้รับการปล่อยตัววันนั้น?
ไม่ทราบค่ะ ตอนที่ฉันกลับถึงบ้าน แม่ยังเตรียมอาหารฝากไปเยี่ยมฉันอยู่เลย ฉันเดินโซซัดโซเซเข้าไปในบ้าน
เพราะขายังเดินไม่ถนัด ตายังพร่ามัวไม่ชินกับแสงอาทิตย์ และจมูกก็ยังไม่ชินกับอากาศภายนอก
ตอนนั้นมีแต่แม่และน้องสาวอยู่ พอแม่เห็นฉันก็ตะโกนเรียกชื่อ แม่ร้องไห้และวิ่งเข้ามากอด
สภาพฉันตอนนั้นผอมจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เนื้อตัวมีแผลโรคผิวหนังเต็มไปหมด
ความรู้สึกหลังจากได้รับอิสรภาพเป็นอย่างไร?
ตอนแรกคิดว่าคงจะกินอะไรได้อร่อย แต่ปรากฎว่ากินไม่ค่อยได้เลย เพราะกระเพาะของฉันไม่ได้รับอาหารที่มีประโยชน์มานาน
ตอนกลางคืนก็นอนหลับบนเตียงนุ่มๆ ไม่ได้ เพราะชินกับการนอนบนพื้นปูนมาเกือบปี
เวลานอนมองเพดานทีไรก็จะเห็นแต่ภาพเพดาน ห้องขัง ฉันนอนร้องไห้และสะดุ้งตื่นทั้งคืนเพราะคิดว่ายังอยู่ในคุก.ช่วง
6 เดือนแรกหลังออกจากคุก ฉันนอนอยู่แต่ในห้อง, ไม่อยากออกไปไหนเลย ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงไม่อยากเจอใคร?
ฉันกินได้น้อยกว่าเดิมและผวาเสียงคน จนถึงวันนี้ผ่านไป 6 ปีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม.
ฉันคิดถึงคนอื่นที่ติดคุกนานๆ อย่าง มิน โก นาย อดีตผู้นำนักศึกษาถูกขังเดี่ยวนานถึง
17 ปี (ถูกจับตัวอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา) หรือ ขุน ทุน อู ผู้นำของพรรคสันติบาตชนชาติรัฐฉาน
ถูกตัดสินจำคุกนานถึง 100 ปี ฉันคิดว่าสภาพจิตใจของเขาคงจะแย่กว่าฉันหลายเท่า
เพราะนี่ขนาดฉันติดคุกแค่ 11 เดือน ยังรู้สึกแย่ขนาดนี้เลย
ชีวิตของคุณเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?
เพื่อนบ้านคิดว่าฉันเป็นคนขี้คุก ไม่ยอมให้ลูกของเขาที่เคยเป็นเพื่อนสนิทมาคุยกับฉันอีก
ญาติๆ ก็พากันรังเกียจ ไม่อยากให้ฉันไปที่บ้านเพราะกลัวจะถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองไปด้วย
แต่ครอบครัวก็เข้าใจและยอมรับฉัน คืนแรกพ่อกับแม่คุยกันว่า ท่านเป็นห่วงฉันไม่อยากให้ข้องเกี่ยวกับการเมืองอีก
แต่พอวันรุ่งขึ้น ฉันก็ขออนุญาตท่านไปรายงานตัวที่ทำการพรรค NLD เพื่อให้ทางพรรครู้ว่าฉันถูกปล่อยตัวแล้ว
ก่อนออกจากบ้านพ่อแม่ได้แต่มองหน้าแล้วไม่ได้พูดอะไร ฉันรู้ว่าท่านเป็นห่วง แต่ฉันก็อยู่เฉยๆ
ไม่ได้ ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นเหมือนเดิม
คุณใช้ชีวิตต่อมาอย่างไร?
หลังจากนั้นฉันกลับไปยื่นเรื่องขอกลับไปเรียนต่อ แต่ปีแรกที่ไปยื่นเรื่องทางมหาวิทยาลัยบังคับให้เซ็นชื่อว่าจะไม่ร่วมกิจกรรมการเมืองอีก
ฉันไม่เซ็นต์ก็เลยไม่ได้เรียนและอยู่ว่างๆ ปีหนึ่ง พอปีต่อไปก็ไปยื่นเรื่องขอกลับเข้าเรียนอีก
คราวนี้มหาวิทยาลัยไม่ได้บังคับให้เซ็นชื่อจึงกลับไปเรียนจนจบทางด้านเคมีในปี
พ.ศ. 2546 แต่ฉันสนใจงานนักข่าวมากกว่า ก็เลยสมัครเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในย่างกุ้ง
จากนั้นได้รับเลือกให้เข้ารับการอบรมด้านการข่าวจากองค์กรพัฒนาเอกชน 2 แห่ง
ทำไมถึงอยากเป็นนักข่าว?
ฉันอยากเป็นนักข่าวเพราะอยากรู้ความจริงที่เกิดขึ้น และอยากถ่ายทอดสิ่งที่รู้ให้คนอื่น
แต่ทุกวันนี้ประเทศของฉันเต็มไปด้วยการเซ็นเซอร์ ทำให้เราทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่
ตอนนี้ฉันเป็นนักข่าวรายการวิทยุภาคภาษาพม่า ที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพกับองค์กรสื่อต่างประเทศในประเทศไทย
นี่เป็นสิ่งที่ฉันสามารถทำเพื่อประชาชนของฉันได้ในเวลานี้
คิดจะกลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดอีกไหม?
บางครั้ง ฉันรู้สึกเห็นแก่ตัวที่ออกมาอยู่ข้างนอกประเทศ แต่ฉันคิดว่าถ้ายังอยู่ในพม่าตอนนี้อาจจะถูกจับอีกครั้ง
และอาจจะไม่มีชีวิตรอดได้ออกมาข้างนอกอีก เพราะเจ้าหน้าที่ยังไปที่บ้านอยู่บ่อยๆ
และถามพ่อแม่ว่าฉันไปไหน? ถ้าวันพรุ่งนี้พม่ามีประชาธิปไตย ฉันจะกลับบ้านทันที
ฉันอยากทำงานเพื่อประชาชน อยากอยู่กับพ่อแม่ แต่ตอนนี้จำเป็นต้องอยู่บนแผ่นดินอื่นเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ก่อน
2. เสียงจากแรงงานหญิงพม่าถึงคนไทย
"เราไม่ต่างอะไรไปจากนักโทษการเมืองในคุก"
ศิริพร กิจประกอบ (สำนักข่าวชาวบ้าน)
เครือข่ายรณรงค์ประชาธิปไตยในพม่า ชี้มีนักโทษการเมืองหญิงทั้งในและนอกคุกพม่าจำนวนมาก
ด้านแรงงานหญิงพม่าวอนคนไทยเข้าใจ พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยนางออง ซาน ซูจี ขณะที่ตัวแทนสหภาพผู้หญิงพม่าส่งเสียงถึงเพื่อนบ้าน
ไม่ควรสนับสนุนรัฐบาลทหาร และผู้หญิงทุกคนควรลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย
เมื่อบ่ายวันที่ 17 มิถุนายน 2550 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรมหญิงจากพม่า จัดงานการเสวนาเรื่อง "นักโทษการเมืองหญิงในและนอกคุกพม่า...จากบ้านริมทะเลสาบอินยา ถึงคุกอินเซน สู่เส้นขอบแดนไทย-พม่า" ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน เนื่องในโอกาสที่วันที่ 19 มิถุนายน นี้เป็นวันสตรีแห่งสหภาพพม่า และเป็นวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 62 ปีของนางออง ซาน ซูจี, สตรีผู้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า โดยมีตัวแทนกลุ่มผู้หญิงพม่า กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
สุพัตรา ภูมิประภาส ผู้ร่วมแปลหนังสือ "ใบอนุญาตข่มขืน" และหนังสือ "ข่มขืน ขื่นขมในความเงียบ" เล่าถึงสถานการณ์ในประเทศพม่า นักโทษการเมืองในพม่า โดยคนที่เธอพูดถึงอยู่ตลอดเวลาคือ นางออง ซาน ซูจี แต่ในขณะเดียวกันเธอได้สะท้อนว่า ไม่ได้มีเฉพาะกรณีของออง ซาน ซูจี เท่านั้น ที่เป็นนักโทษการเมือง แต่ยังมีนักโทษการเมืองอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกัน เธอยังเปิดเผยถึงตัวเลขนักโทษการเมืองที่ยังถูกคุมขังอยู่ตามคุกต่างๆ ทั้ง 35 แห่งของพม่าว่า ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนมีจำนวนทั้งสิ้น 1,114 คน
สำหรับนักโทษการเมืองในเรือนจำที่เสียชีวิตไปแล้ว ตัวเลขล่าสุดมี 127 คน ในบรรดานักโทษการเมืองเหล่านี้ ประกอบด้วยนักโทษที่เป็นผู้หญิงจำนวนไม่น้อย โดยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ นักโทษการเมืองผู้หญิงต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ข่มเหง และการละเมิดทางเพศ "นักโทษการเมืองที่ได้รับการปล่อยตัว มักจะเดินทางเข้ามายังประเทศโลกที่ 3 หรือตามชายแดนเพื่อขายแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงพม่าและชาติพันธุ์ โดยสถานการณ์ที่เป็นอยู่พวกเธอมักถูกรังแก กดขี่ข่มเหง ซึ่งอาจดูไม่ได้ต่างอะไรไปจากนักโทษการเมืองที่อยู่ในคุกนัก หรืออาจจะเรียกว่าเป็นคุกทางสังคมก็ว่าได้" สุพัตรา กล่าว
ขณะที่ เอเอ นาย แรงงานหญิงพม่า จากจ.ฉะเชิงเทรา กล่าวพลางน้ำตาคลอว่า "อยากให้คนไทยทุกคนดูแลช่วยเหลือคนพม่าด้วย" เธอยังเล่าอีกว่า ตนเองจากเมืองย่างกุ้งมากว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่อายุได้ 15 ปี เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ระยะหนึ่ง หลังจากนั้นมาก็เปลี่ยนมาทำงานที่โรงงานยาง ได้เงินเดือนละ 2,500 บาท เธอต้องหาเลี้ยงตัวเองและส่งเงินกลับบ้านทุกเดือนอีกด้วย. เธอบอกว่า "อยากกลับบ้าน" แต่สถานการณ์ในพม่าตอนนี้ไม่ค่อยสู้ดี จึงยังกลับไปไม่ได้. "อยากให้รัฐบาลพม่า ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี อย่าทรมานท่านเลย ท่านป่วยและก็แก่มากแล้ว" เอเอ นาย ฝากถึงรัฐบาลพม่า
ด้านมะ นูนู เทะ ซาน ผู้หญิงคะฉิ่น ตัวแทนสหภาพผู้หญิงพม่า เล่าถึงสถานการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศของเธอว่า ปัญหาประชาธิปไตยในพม่านั้น มีสถานการณ์ที่ไม่เคยมีความเป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นเลย "19 มิถุนายนของทุกปี นอกจากเป็นวันครบรอบวันเกิดของนางออง ซาน ซูจี แล้ว ยังถือว่าเป็นวันสตรีแห่งสหภาพพม่าอีกด้วย น่าเสียดายที่พวกเราต้องมาฉลองในประเทศไทยแทนที่จะเป็นบ้านของพวกเราเอง" มะ นูนู เทะ ซาน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงพม่าทุกคนล้วนต้องการความเสมอภาคและสิทธิที่เท่าเทียมกัน แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า ผู้หญิงพม่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากความไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงอื่นๆ. เธอสะท้อนอีกว่า ผู้หญิงตามชายแดนไม่ว่าจะเป็นคะฉิ่น มอญ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ถึงแม้ไม่ได้อยู่ในประเทศพม่า แต่ก็มีความพยายามในการต่อสู้ทางการเมือง ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือต่อสู้เพื่อเรียกร้องในประเด็นต่างๆ อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน หากดูข้อมูลตามประวัติศาสตร์ก็จะพบประวัติการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนเหล่านี้
ทั้งนี้ ปัญหาของสถานการณ์การเมือง ไม่เฉพาะนางออง ซาน ซูจี คนเดียวเท่านั้นที่เป็นนักโทษการเมืองหญิงในพม่า โดยยังมีนักโทษหญิงคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ถูกจับ โดนทำร้าย หรือถูกกลั่นแกล้งเนื่องจากจุดยืนทางการเมือง ด้วยสถานภาพความเป็นหญิง ก็ยิ่งทำให้ถูกทารุณทางเพศหนักขึ้นไปอีก นี่คือสิ่งที่เป็นอยู่. "อยากให้รัฐบาลเข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมของสิ่งเป็นอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลทหารพม่าไม่เข้าใจ หรือคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดเร่องราวรุนแรงอยู่ตลอดเวลา เกิดการคุกคามทางเพศ ทรมานเพศหญิงอยู่ตลอด" มะ นูนู เทะ ซาน สะท้อน
อย่างไรก็ดี เธอมองเรื่องวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
และเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนสามารถที่จะมีบทบาทในการต่อสู้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้
หากได้รับการยอมรับ. เธอยังกล่าวอีกว่า บทบาทของนางออง ซาน ซูจี ที่สำคัญคือ
การเป็นตัวอย่างของการต่อสู้แบบสันติวิธี เน้นเรื่องสันติภาพในการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
"อยากฝากถึงประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายว่า เราไม่ควรสนับสนุนรัฐบาลทหาร เราในฐานะผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาช่วยกันเรียกร้องประชาธิปไตยคืนมา"
มะ นูนู เทะ ซาน ย้ำ
3. ครบรอบวันเกิด 62 ปี ออง ซาน ซูจี: อีกหนึ่งปีกับการฉลองวันเกิดนอกประเทศ
โดย ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ
เราจะได้รับชัยชนะเพราะการต่อสู้ของพวกเรามีความถูกต้อง... การต่อสู้ของเรามีความชอบธรรม
ประวัติศาสตร์อยู่ข้างเรา ระยะเวลาก็อยู่ข้างเรา (ออง ซาน ซูจี)
We will prevail because our cause is right, because our cause is just. ...
History is on our side. Time is on our side. (Aung San Suu Kyi )
วันที่ 19 มิถุนายน 2550 มาเยือนเมื่อใด เราไม่อาจลืมวันเกิดของออง ซาน ซูจี ผู้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพม่า และผู้ได้รับรางวัลโนเบลเพียงคนเดียวของโลกที่ได้รับการคุมขังได้ แต่นอกเหนือจากวันนี้จะได้รับการรำลึกว่าเป็นวันเกิดของเธอแล้ว วันนี้ยังได้รับการรำลึกว่าเป็น "วันสตรีแห่งสหภาพพม่า" (Women of Burma Day) เพื่อเป็นการรำลึกถึงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้หญิงคนอื่นๆ ของพม่าอีกด้วย ซึ่งรวมถึงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหญิงและนักโทษทางการเมืองหญิงในประเทศ
จากการยืดระยะเวลาคุมขังนางออง ซาน ซูจี โดยรัฐบาลทหารพม่าเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา เราคงต้องยอมรับว่า นี่เป็นอีกปีที่เหล่านักกิจกรรมพม่าต้องเฉลิมฉลองวันเกิดของซูจีนอกประเทศ โดยที่ในพม่าไม่สามารถจัดได้อย่างเปิดเผยได้. ปีนี้ในประเทศไทยมีงานรำลึกวันเกิดออง ซาน ซูจีอีกครั้ง ณ สมาคมนักข่าวต่างประเทศ ที่กรุงเทพฯ พร้อมกับกับการจัดขึ้นอีก 24 ประเทศทั่วโลก เป็นการจัดร่วมกันขององค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรที่ทำงานเพื่อประชาธิปไตยในพม่า
องค์กรร่วมจัดประกอบไปด้วย ASEAN Inter-Parliamentary Myanmar Caucus (AIPMC), Alternative ASEAN Network on ASEAN, National Coalition Government of the Union of Burma (NCGUB), National Council of the Union of Burma (NCUB), Forum for Democracy in Burma (FDB), และ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)
ความแตกต่างของงานในปีนี้เมื่อเทียบกับทุกๆ
ปีที่ผ่านมาคือ ปีนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาหัวก้าวหน้าในประเทศอาเซียนที่สังกัด
AIPMC (*) มาพูดคุยกันเกี่ยวกับบทบาทของประเทศในอาเซียน กับการผลักดันประชาธิปไตยในพม่า
(*) AIPMC เป็นเครือข่ายการรวมตัวกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสมาชิกในอาเซียน
เพื่อผลักดันประเด็นประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2004 โดยมีเป้าหมายให้มีการปล่อยตัวออง
ซาน ซูจี และนักโทษทางการเมือง, ให้มีการยอมรับผลการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1990,
และให้มีการเริ่มการเจรจา 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐบาลทหารพม่า, พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD),
และกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า. ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตวุฒิสมาชิกดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการของ
AIPMC
รายละเอียดเพิ่มเติ่ม คลิกดูที่ http://www.aseanmp.org
แม้ว่างานนี้จะจัดหลังจากการยืดระยะเวลาคุมขังนางออง ซาน ซูจี แต่ด้วยมีนักกิจกรรมจากพม่าและทั่วโลกที่สนใจและผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงในพม่าอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งทำให้เกิดสีสันและกำลังใจมากขึ้น อย่างไรก็ดี การจัดงานครั้งนี้มีการตั้งคำถามในหมู่ผู้เข้าร่วมว่า
อีกนานเท่าใดที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าจะประสบความสำเร็จ, ออง ซาน ซูจี
และนักโทษทางการเมืองจะได้รับการปล่อยตัว และเราคาดหวังอะไรกับอาเซียนได้จริงหรือ
?
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงในพม่ายังไม่ได้เกิดเป็นรูปธรรมมากเท่าใดนัก แต่พลังของประชาชนจะเป็นผู้ชนะในที่สุด
- มินท์ มินท์ ซาน หนึ่งในผู้นำนักศึกษาในปี 1988 นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ได้รับรางวัลผู้หญิงขององค์กรนิรโทษกรรมสากล ในการทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ในพม่า ปัจจุบันเป็นสมาชิกสหภาพผู้หญิงพม่า กล่าวถึงสตรีพม่ากับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยว่า "ผู้หญิงในพม่ามีพลังและกำลังใจในการต่อสู้ แม้ว่าได้รับการกดขี่อยู่ก็ตาม ในขณะที่พูดคุยกันอยู่นี้ สหภาพผู้หญิงพม่า (Burma Women Union) ก็กำลังเฉลิมฉลองบริเวณชายแดนไทย-พม่า แม้ว่าเราไม่มีสิทธิที่จะเฉลิมฉลองในพม่า แต่เราไม่ควรรู้สึกท่อแท้แต่อย่างใด"
ผู้หญิงพม่ามีบทบาทในการต่อสู้ในเรื่องต่างๆ ในพม่า ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา, สาธารณสุข, เรื่องสิทธิผู้ติดเชื้อ HIV, กล้าที่จะตั้งคำถามกับเรื่องศาสนาและมีบทบาทสำคัญในสังคม แต่อย่างไรก็ตาม หลายๆ ครั้งเราลืมพูดถึงผู้หญิงที่อยู่ในสภาวะลำบาก เช่น เมื่อพูดถึงนักโทษทางการเมือง เราลืมที่จะพูดถึงความยากลำบากของภรรยานักโทษทางการเมือง หรือผู้หญิงที่ตกเป็นนักโทษทางการเมืองเอง ในวันสหภาพผู้หญิงพม่า เราอยากจะรำลึกถึงผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจำนวนมาก
- นอ ออง ลา ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่มีบทบาทเรียกร้องการปล่อยตัวออง ซาน ซูจี และได้รับการเหยียดหยามจากหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่าว่าเป็นหญิงค้าบริการ และได้รับการข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- ซู ซู นาง ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชน แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญกับโรคหัวใจ แต่ก็ยังคงต่อสู้อย่างต่อเนื่อง
- ดอ วิน ยายา เป็นบุคคลที่อยู่เคียงข้างออง ซาน ซูจี เมื่อเกิดเหตุการณ์การฆาตกรรมหมู่ ธุรกิจเล็กๆ เกี่ยวกับการค้าขายเสื้อผ้าของเธอถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ข้อหาเพียงแค่มีรูปภาพของพรรคสันนิบาตแห่งชาติในกระเป๋าสตางค์
- ดอ อู จี มารดาของ มิง โก นาย ผู้นำนักศึกษายุค 1988 ยังพูดกับเจ้าหน้าที่รัฐว่า เธอไม่อยากพูดอะไรกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะลูกชายของเธอกำลังทำงาน" เธอกล่าวว่า อย่างไรก็ดีเราไม่ควรจะรู้สึกท้อแท้ เพราะตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าได้สร้าง"พื้นที่ทางการเมือง" และได้กำเนิดนักกิจกรรมผู้หญิงขึ้นมานับไม่ถ้วน
ขณะที่ สุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า "ผู้หญิงไทยและผู้หญิงพม่าต่างเป็นพี่สาวน้องสาวกัน ที่ผ่านมากรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าใจการต่อสู้ของผู้หญิงกะเหรี่ยง ฉาน และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จากการต่อสู้กับเผด็จการ. ดิฉันได้ให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวพม่าตลอดมมา และได้พบกับพี่น้องพม่าในค่ายผู้ลี้ภัย แม้ว่าชัยชนะจะอยู่อีกไกล แต่ประชาชนพม่ายังคงต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้ว่าผู้หญิงพม่าได้มีบทบาทอย่างสูงในเศรษฐกิจของไทย แต่ในขณะเดียวกันได้ถูกเอารัดเอาเปรียบและกดขี่
แม้ว่าได้มีการกดขี่คุกคามพี่น้องผู้หญิงพม่า แต่สิ่งเช่นนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นจากผู้หญิงไทย เราได้มีโอกาสไปที่เขื่อนสะลาวินเพื่อผลักดันให้มีการหยุดการสร้างเขื่อน สำหรับผู้หญิงพม่าแล้ว เชื่อว่านักกิจกรรมไทยและผู้หญิงไทยจะร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่า กำลังใจจากผู้หญิงคนหนึ่งหรือจากขบวนการผู้หญิงพม่า จะเป็นแรงบันดาลใจของการต่อสู้ของประชาชน ผู้หญิงทั่วโลกมีความสัมพันธ์กันเพราะเป็นพี่น้องกัน แม้ว่าผู้ปกครองจะมีอำนาจ, แต่ในวันหนึ่ง อำนาจของผู้ปกครองจะหมดไป อย่างไรก็ตาม พลังประชาชนจะคงอยู่ตลอดไป
ปิดท้ายด้วย ลอเรตตา แอน
รอซาเลซ (Loretta Ann P. Rosales) ผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าในประเทศฟิลิปปินส์
ในอดีตเป็นประธานสถาบันเพื่อการปฎิรูปการเมืองและการเลือกตั้ง (Institute for
Political and electoral Reform)(*) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์
สังกัดพรรค Akbayan และเป็นสมาชิกของ AIPMC กล่าวถึงบทบาทของอาเซียนที่ควรจะเป็นต่อสถานการณ์ในพม่าว่า
...
(*) Electoral and Political Reform. IPER advocates for
necessary electoral reforms to ensure citizen participation in elections and
to maintain the credibility and legitimacy of the electoral process. It also
engages in electoral services such as election monitoring and citizen-voter
education. It offers capability-building services such as trainings on electoral
campaign planning and administration and trainings on party-building and consolidation
to marginalized sectors.
IPER also advocates for necessary constitutional, legislative, and other political
reforms necessary to build and consolidate Philippine democracy.
IPER engages various governmental institutions such as the Philippine Congress,
the Executive Department and its agencies, constitutional bodies, as well
as the local governments regarding the legislation and implementation of political
and electoral reforms.
- Hon. Loretta Ann P. Rosales (President)
- http://www.iper.org.ph/programs.html
"อาเซียนต้องสนับสนุนขบวนการเพื่อประชาธิปไตยในพม่า ปัจจุบันการที่อาเซียนไม่ยอมรับสถานการณ์วิกฤติทางประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ การที่รัฐบาลพม่าเป็นสมาชิกอาเซียน อาเซียนมีหน้าที่ในการนำพม่าไปสู่ประชาธิปไตย. สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันได้มีการคาดการณ์ก่อนแล้วโดยออง ซาน ซูจี ว่าอาเซียนจะหลบหน้าหนีโดยไม่แก้ไขปัญหาในพม่า แม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลทหารพม่าได้มีผลกระทบกับภูมิภาค และได้ทำตัวเหมือนเด็กทารก ดังที่เห็นได้จากนโยบายกับขบวนการเพื่อประชาธิปไตย. แม้ว่านักกิจกรรมจะผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี แต่ถ้ารัฐบาลจีน รัสเซีย และอินเดีย ให้การสนับสนุนการค้ากับรัฐบาลพม่า การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่สามารถเกิดขึ้น. อาเซียนต้องมีความกล้ากับการอ้างถึงหลักนิติรัฐ โดยการมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อพม่า ถ้าเผด็จการทหารไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลง
แม้ว่าการต่อสู้จะยาวนาน แต่นางออง ซาน ซูจียังคงเป็นหัวหอกในการต่อสู้ และพวกเราสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทั่วอาเซียนยังคงต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ และต้องทำให้ประเทศของตนเองเห็นความสำคัญของการต่อสู้เกี่ยวกับประเด็นพม่าร่วมกัน. ตอนนี้เราได้พยายามนำประเด็นพม่าเข้าไปในเวทีรัฐสภาในญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, เนปาล, อินเดีย, และที่อื่นๆ โดยได้ประกาศกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเหล่านั้นว่า "อย่าลืมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า" ลอเรตตา แอน รอซาเลส กล่าว
4. ประท้วงกลางฝนในกรุงเทพฯ
ค้านขังลืมซูจี
ประชาไท: เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2550
ที่ผ่านมา นักกิจกรรมชาวไทย ชาวพม่า และชาวตะวันตกกว่า 30 คน รวมตัวกันหน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย
ประท้วงการตัดสินใจขยายเวลาการคุมขังนางออง ซาน ซูจี ไปอีก 1 ปี. ทั้งนี้ นางออง
ซาน ซูจี ถือเป็นผู้นำคนสำคัญของพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)
ในประเทศพม่า โดยผู้ชุมนุมทั้งชาวไทย ชาวพม่า และชาวตะวันตก ได้ตะโกนข้อความเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง
ซาน ซูจี เป็นภาษาไทย พม่า และอังกฤษ
โดยกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้ออก 'แถลงการณ์รำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่เดปายิน และประณามการยืดระยะเวลาการคุมขังนางอองซาน
ซูจี' อีกด้วย โดยมีข้อเรียกร้องให้มีการพิพากษาลงโทษผู้ทำผิดในเหตุการณ์ลุมทำร้ายที่เดปายิน
ตามกระบวนการยุติธรรมโดยทันที และให้อิสรภาพแก่นาง อองซาน ซูจี - นักโทษการเมือง
- นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน -ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งถูกจับกุมด้วยเหตุผลทางการเมือง
และการเรียกร้องประชาธิปไตย
นอกจากนี้องค์การนิรโทษกรรมสากล ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาระบุว่า การขยายเวลาการกักตัวนางออง ซาน ซูจี ของรัฐบาลทหารพม่าเหมือนเป็นการตอกย้ำถึงสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า. "ไม่ควรนำกฎหมายด้านความมั่นคงมาใช้คุมขังนางออง ซาน ซูจี และคนอื่นๆ ซึ่งเป็นการนำกฎหมายด้านความมั่นคงมาใช้ในทางที่ผิด ทั้งนี้นางออง ซาน ซูจี และคนอื่นๆ ควรได้รับการปล่อยตัว" แถลงการณ์ตอนหนึ่งขององค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุ. ทั้งนี้นางออง ซาน ซูจี ถูกกักตัวอยู่แต่ในบริเวณบ้านตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2546 หลังจากกลุ่มนิยมรัฐบาลทหารโจมตีเธอ และผู้สนับสนุนที่หมู่บ้านเดปายิน ทางตอนเหนือของพม่า. องค์การสหประชาชาติประมาณว่า ปัจจุบันมีนักโทษการเมืองในเรือนจำของพม่าไม่ต่ำกว่า 1,100 คน
แถลงการณ์รำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่เดปายิน
และประนามการยืดระยะเวลาการคุมขังนางอองซานซูจี
สืบเนื่องจากการยึดครองอำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหารของสหภาพเมียนมาร์ ที่มีมาอย่างยาวนาน รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ได้ทำการลิดรอนสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวพม่า ในการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างไร้มนุษยธรรม ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลทหารพม่ายังละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของชนชาติพันธ์ต่างๆ ในประเทศ ขณะที่คำสัญญาต่อประชาชนพม่าและประชาคมโลกเรื่องการมอบประชาธิปไตยคืนแก่ประชาชนก็สวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ในการควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยคนสำคัญนางออง ซาน ซูจี ถูกคุกคามเสรีภาพทั้งการคุมขังกว่า 3 ครั้งและการกดดันโดยอ้อมจากรัฐบาลทหารพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546, 4 ปีก่อน, การปะทะของผู้สนับสนุนอองซาน ซูจี กับมวลชนจัดตั้งของรัฐบาลทหารพม่า (USDA) ที่เมืองเดปายิน(Depayin) ส่งผลให้เธอถูกคุมขังอีกครั้ง และรวมทั้งนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในพม่าจำนวนไม่น้อยที่ประสบชะตากรรมเลวร้ายยิ่งกว่าเธอเสียอีก. วันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นอีกวาระหนึ่งซึ่งครบกำหนดที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าสัญญาจะให้เสรีภาพแก่เธอ... แต่ก็เป็นอีกครั้งเช่นกันที่รัฐบาลเผด็จการทหารยังคงหน่วงเหนี่ยวเสรีภาพเธอต่อไปอย่างไม่มีกำหนด...เ ช่นเดียวกับนักโทษการเมือง และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมากในพม่าที่ยังคงถูกคุมขังอย่างไร้มนุษยธรรม
แม้นานาประเทศ รวมถึงอาเซียน และสหประชาชาติจะมีทีท่าต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้วหาได้มีความจริงจังแต่อย่างใดไม่ ยังคงมีการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนจากต่างประเทศ ซึ่งไปสนับสนุนระบอบเผด็จการทหารพม่าโดยตรงและโดยอ้อม. ในวาระครบรอบ 4 ปีเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองเดปายิน และครบกำหนดสัญญาการปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี เราขอแถลงถึงข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. ให้มีการพิพากษาลงโทษผู้ทำผิดในเหตุการณ์เดปายิน ตามกระบวนการยุติธรรมโดยทันที
2. ให้อิสรภาพแก่นาง ออง ซาน ซูจี - นักโทษการเมือง - นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน -ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งถูกจับกุมด้วยเหตุผลทางการเมืองและการเรียกร้องประชาธิปไตย
3. ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหารพม่าต่อชนชาติพันธ์ต่างๆ
4. รัฐบาลไทย อาเซียน และนานาประเทศ ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตยในพม่าอย่างจริงจัง โดยการกดดันรัฐบาลทหารพม่าผ่านองค์กรระหว่างประเทศ - กดดันการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะไปสนับสนุนระบอบเผด็จการทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางอันดับต้นๆ ของโลกสุดท้ายพวกเราขอส่งใจให้กับขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ในการต่อสู้ที่ยาวนาน และเราคงปรารถนาให้สหภาพพม่าได้รับประชาธิปไตยโดยเร็ว เพื่อเป็นการยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับต่างๆ
ชมรมนักกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง
พรรคแนวร่วมภาคประชาชน
กลุ่มสังคมวิจารณ์
โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย
เครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้
28 พฤษภาคม 2550
5. ลำดับเหตุการณ์รัฐบาลพม่ากักตัวอองซาน ซูจี
- พ.ศ.2531 อองซาน ซูจี เดินทางจากสหรัฐอเมริกาเพื่อกลับมาดูแลแม่ซึ่งป่วยหนัก และอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เธอได้พบกับเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ที่รัฐบาลทหารพม่าในขณะนั้นกดขี่ข่มเหงประชาชน รวมถึงการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยอย่างทารุณ. ในฐานะที่เป็นลูกสาวคนสำคัญของนายพลอองซาน ซึ่งเป็นผู้นำในการเรียกร้องอิสรภาพแก่พม่าในอดีต อองซาน ซูจี จึงเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนได้รับความนิยมล้นหลามจากประชาชน รัฐบาลพม่าจึงใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมแสดงความคิดเห็นจนเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2531
ครั้งนั้น อองซาน ซูจีได้เดินเข้าไปหากระบอกปืนของทหารที่จ่อมายังตัวเอง
และขอร้องให้ทหารยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกครั้งที่พูดถึงวีรกรรมของอองซาน
ซูจี ในครั้งนั้น สื่อมวลชนทั่วโลกมักจะใช้คำเรียกเหตุการณ์นั้นว่า 'เหตุการณ์
8888' (เดือน 8 ของปี 1988) (*)
(*) The 8888 Uprising was a national revolution in Burma
(Myanmar) demanding democracy in 1988. The uprising began on August 8, 1988,
and from this date (8-8-88), it is known as the "8888 Uprising. "
University students began demonstrations in Yangon (Rangoon), which spread
throughout the country. The uprising ended on September 18, after a bloody
military coup by the State Law and Order Restoration Council (SLORC). Thousands,
mostly Buddhist monks and civilians (primarily students) were killed by the
Tatmadaw (armed forces).
(ดูเพิ่มเติมที่ http://en.wikipedia.org/wiki/8888_Uprising)
- พ.ศ.2533 รัฐบาลทหารจัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ผลคือพรรคสันนิบาตประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือNLD (National League for Democracy) ซึ่งมีอองซาน ซูจีเป็นผู้นำได้รับชัยชนะ แต่รัฐบาลทหารปฏิเสธผลคะแนนครั้งนั้น เมื่อมีการประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจเกิดขึ้น รัฐบาลพม่าจึงสั่งกักบริเวณอองซาน ซูจี นับแต่นั้นเป็นต้นมา
- พ.ศ.2534 รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ตกเป็นของอองซาน ซูจี ในฐานะที่เป็นผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยสันติวิธี แต่อองซาน ซูจีได้นำเงินรางวัล 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการศึกษา เพื่อช่วยเหลือชาวพม่าทั้งหมด
- พ.ศ.2538 รัฐบาลพม่าประกาศปล่อยตัวอองซาน ซูจี ภายใต้เงื่อนไขว่าหากเธอเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว จะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาอีกเป็นครั้งที่ 2 ซูจีจึงเลือกที่จะอยู่ในพม่าต่อไป เพื่อยืนยันเจตนาแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยสันติวิธี
- พ.ศ.2540 อองซาน ซูจี จำเป็นต้องแยกกันอยู่กับสามีและลูกชายอีก 2 คนเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากมีความกดดันทางการเมืองต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา ในปีนี้ไมเคิล แอริส สามีของเธอล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง แต่ซูจีไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ และรัฐบาลพม่าก็ไม่อนุมัติวีซ่าเข้าประเทศให้กับสามีของซูจี ทั้งสองจึงไม่มีโอกาสได้พบกันอีกเลย
- พ.ศ.2542 ไมเคิล แอริส เสียชีวิต
- พ.ศ.2543 อองซาน ซูจี ถูกรัฐบาลพม่ากักบริเวณอีกครั้ง หลังจากที่เธอพยายามติดต่อกับสมาชิกในพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
- พ.ศ.2545 หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติพยายามยื่นข้อต่อรองกับรัฐบาลพม่า ให้ปล่อยตัวอองซาน ซูจี จากการกักบริเวณ และได้ผลในระยะหนึ่ง
- พ.ศ.2546 เดือนพฤษภาคม อองซาน ซูจี ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านทางภาคเหนือ ร่วมกับสมาชิกบางส่วนของพรรคที่สังกัด แต่ระหว่างทางได้พบกับม็อบสนับสนุนรัฐบาล ทำให้มีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ที่สนับสนุนอองซาน ซูจี และผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล สมาชิกบางส่วนของพรรค NLD ถึงกับเสียชีวิต และอีกบางส่วนได้รับบาดเจ็บ อองซาน ซูจี จึงถูกรัฐบาลพม่าตัดสินให้จำคุกที่เรือนจำอินเส่ง. จนกระทั่งถึงเดือนกันยายน สหประชาชาติได้ต่อรองให้รัฐบาลปล่อยตัวซูจีออกจากที่คุมขัง แต่รัฐบาลพม่ายังคงยืนยันว่า จะต้องกักบริเวณผู้นำพรรคฝ่ายค้านต่อไป และจำกัดพื้นที่ให้ซูจีอยู่ในบ้านของตนเองเท่านั้น
- พ.ศ.2547 คณะมนตรีความมั่งคงสหประชาชาติเรียกร้องให้พม่ายกเลิกการกักบริเวณอองซาน ซูจี โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของรัฐบาลพม่าละเมิดกฎหมายสากล แต่คำสั่งของสหประชาชาติไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด
- พ.ศ.2548 รัฐบาลพม่าประกาศว่าจะขยายเวลากักบริเวณอองซาน ซูจี ต่อไป โดยไม่สนใจการต่อต้านจากประชาชนพม่า และกลุ่มผู้รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
- พ.ศ.2549 เดือนพฤษภาคม รัฐบาลพม่าประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะกักบริเวณอองซาน ซูจี ต่อไปอีก 2 ปี
- พ.ศ.2550 ยังไม่มีวี่แววว่ารัฐบาลพม่าจะปล่อยตัวเธอให้เป็นอิสระ ปีนี้เป็นปีที่ 5 ของการถูกจองจำครั้งล่าสุด
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน:
จากชายขอบถึงศูนย์กลาง
โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และนักวิชาการอิสระ-สถาบันฯ
ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ดูเหมือนจะเป็นยูโธเปีย(utopia)
สำหรับประเทศศูนย์กลาง
แต่ขณะเดียวกันกระแสโลกาภิวัตน์นี้กลับกลายเป็นยูโธปลอม(dystopia) ของบรรดาประเทศชายขอบทั้งหลาย
เนื่องจากได้นำมาซึ่งการสูญเสีย และกดขี่ทางด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งทางด้านความยุติธรรม ความเท่าเทียม อิสรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะมองจากมิติทางด้านการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และกฎหมาย ฯลฯ
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เกิดขึ้นมาจาก
การเล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ที่กำลังคุกคามผู้คนและพยายามที่จะแสวงหาตัวบท
พร้อมทั้งกรณีตัวอย่างในที่ต่างๆ มานำเสนอ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์โลก
ที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน และทางออกที่หลากหลายในประเทศชายขอบต่างๆ
สำหรับผู้สนใจสามารถส่งบทความเข้าร่วมที่ midnightuniv(at)gmail.com