โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 29 September 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๖๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๐ (September, 29, 09,.2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ตั้งแต่ ๑๙๘๘ ประชาชนกับวัดร่วมมือกันเสมอในการดูแลชุมชนนั้นๆ ดังนั้น พอประชาชนเดือดร้อนขึ้นมา จริงๆ แล้ว ตั้งแต่ปีที่แล้วก็เริ่มมีการประท้วงประปราย ออกมาทีละ ๑๐๐-๒๐๐ คิดว่าพระก็เห็นว่า งานนี้ถ้าปล่อยประชาชนโดยไม่มีนักศึกษา และยังไม่ได้รับความสนใจเท่าไร ประชาชนก็อาจจะถูกรังแกได้ง่าย พระจึงอาสาตัวมาเป็นเกราะกำบังให้ ตามความรู้สึก ทั้งพระและประชาชนเขาเห็นอกเห็นใจกัน แล้วเขาช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด เพราะมันต้องช่วยตัวเอง พอประชาชนออกมา พระก็ต้องออกมาด้วย พอประชาชนเดือดร้อน พระก็เดือดร้อนไปด้วย
29-09-2550

Burma Peace Group
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์พม่าร่วมสมัย (ค.ศ.๑๙๔๘-๒๐๐๗)
ความสัมพันธ์อาเซียนกับพม่า และบทสัมภาษณ์ Burma Peace Group
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
ข้อมูลจาก Burma Peace Group และประชาไทออนไลน์

บทความวิชาการต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ได้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูล Burma Peace Group และประชาไทออนไลน์
เป็นการทำความเข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงในพม่า
นับตั้งแต่สาเหตุของการที่พระสงฆ์และประชาชนพม่านับแสนออกมาประท้วง
รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ตามมาด้วยความสัมพันธ์ของอาเซียนกับพม่า
และสุดท้ายเป็นบทสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญพม่า เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
ที่ทำให้เข้าใจถึงความเป็นมา และความซับซ้อนของปัญหาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ
สังคม และวัฒนธรรมชนเผ่าอันหลากหลายในประเทศพม่า
โดยได้นำเสนอตามลำดับดังนี้
๑. สาเหตุการประท้วงในประเทศพม่า และบทวิเคราะห์กรณีพระสงฆ์เคลื่อนไหว
๒. บทบาทและความสัมพันธ์ของอาเซียนต่อพม่า และ
๓. สัมภาษณ์พรพิมล ตรีโชติ: รัฐทหารพม่า ห่วงแต่ความอยู่รอดของกองทัพ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๖๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์พม่าร่วมสมัย (ค.ศ.๑๙๔๘-๒๐๐๗)
ความสัมพันธ์อาเซียนกับพม่า และบทสัมภาษณ์ Burma Peace Group
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
ข้อมูลจาก Burma Peace Group และประชาไทออนไลน์


1. สาเหตุการประท้วงในประเทศพม่า และบทวิเคราะห์กรณีพระสงฆ์เคลื่อนไหว
Burma Peace Group ฉบับที่ ๑

สาเหตุการประท้วง
สถานการณ์การชุมนุมในประเทศพม่า เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าซึ่งผูกขาดการจำหน่ายเชื้อเพลิงแต่เพียงผู้เดียว และเคยให้เงินอุดหนุนเพื่อพยุงราคาน้ำมัน ได้ขึ้นราคาดีเซลจากเดิม 1,500 จ๊าต หรือราว 38 บาท เป็น 3,000 จ๊าตหรือ 76 บาท ต่อแกลลอน(1)(ประมาณ 4.5 ลิตร) ส่วนก๊าซชนิดบรรจุถังขนาด 65 ลิตร ขึ้นราคาจาก 500 จ๊าต หรือประมาณ 13 บาท เป็น 2,500 จ๊าต หรือประมาณ 64 บาท แม้จะไม่มีการให้เหตุผลของการขึ้นราคาอย่างกระทันหันออกมาอย่างเป็นทางการ แต่หลายคนก็เชื่อว่าเป็นเพราะรัฐบาลขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จะนำไปซื้อเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ (1) Gallon: - United States liquid unit equal to 4 quarts or 3.785 liters / Gallon: - a British imperial capacity measure (liquid or dry) equal to 4 quarts or 4.545 liters

พม่าประสบภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิง เนื่องจากต้องจำกัดการผลิตน้ำมันภายในประเทศและมีปัญหาเรื่องเงินทุนสำรองต่างประเทศ โดยมีการขึ้นราคาเชื้อเพลิงในพม่ามีขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2548. จากการขึ้นราคาน้ำมันดังกล่าวทำให้มีประชาชนจำนวนมาก นำโดยนายมิน โก นาย ออกมาเดินขบวนประท้วงที่เมืองย่างกุ้งเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากการขึ้นราคาน้ำมันสะท้อนให้เห็นความยากลำบากที่ประชาชนกำลังเผชิญหน้าอยู่ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถจ่ายค่าโดยสารรถเมล์และแท็กซี่ได้ ต่อมาก็มีประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเป็นระยะ

สาเหตุของการออกมาประท้วงของประชาชน ยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลทหารพม่าได้ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนชาวพม่า และชนกลุ่มน้อยผู้บริสุทธิ์ การจับกุมคุมขังผู้นำนักศึกษา นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย รวมทั้งนางออง ซาน ซู จี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา ได้ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจที่ทับถมทบทวีความอดอยากยากจน ในขณะที่ชนชั้นนำในรัฐบาลกลับร่ำรวยแตกต่างกับชาวบ้านราวฟ้ากับดิน

แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ ในระหว่างนั้นเองรัฐบาลทหารพม่าได้มีการจับกุมผู้ประท้วงจำนวนมาก จนทำให้ประชาชนหลายคนทนไม่ไหวออกมาประท้วงเพิ่มขึ้น ประกอบกับในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2550 มีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งในอำเภอปะโคะกู่ ศูนย์กลางสำคัญของการเรียนรู้ของศาสนาพุทธ ที่ออกมาประท้วงได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารเข้าสลายการประท้วง และเกิดการปะทะกันขึ้น ทำให้พระจำนวน 3 รูปถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายจนได้รับความบาดเจ็บ โดยผู้ดูแลเจดีย์ Phaungdawoo ซึ่งเห็นเหตุการณ์เล่าว่า พระจำนวนสามรูปถูกทางเจ้าหน้าที่มัดตัวติดไว้กับเสาไฟฟ้าและตีด้วยด้ามปืนและดิ้ว(ดิ้ว: กระบองชนิดหนึ่งที่ตำรวจใช้ในการปราบจลาจล)

พระรูปหนึ่งชื่อพระอูส่านดิมะ (U Sandima) ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างหนัก ขณะที่มีข่าวลือว่าพระรูปหนึ่งได้รับบาดเจ็บจนเสียชีวิต โดยพบว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวของสมาคมเอกภาพและกลุ่ม paramilitary group Swan Arr Shin เพื่อเข้าขัดขวางกลุ่มผู้ประท้วง ทำให้พระสงฆ์ในกลุ่มเกิดความโกรธแค้นไม่พอใจเจ้าหน้าที่ จนในที่สุดพระสงฆ์บางรูปได้บุกเข้าไปทำลายร้านค้าของชาวบ้านที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าที่เมืองพะโค ทางตะวันออกเฉียงเหนือของย่างกุ้ง ซึ่งเหตุการณ์นี้ยังไม่นับรวมกรณีที่รัฐบาลทหารพม่าได้ใช้แก๊สน้ำตา ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่พระสงฆ์ประมาณ 1,000 รูปที่เดินขบวนประท้วงในเมืองซิททเว(Sittwe)ให้ยุติการประท้วง หรือการที่ทางการพม่าในเมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น ได้สั่งห้ามพระสงฆ์ออกจากวัด เนื่องจากพระสงฆ์ในเมืองมิตจีนา ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงให้รัฐบาลขอขมาที่ใช้ความรุนแรงสลายการประท้วงของพระสงฆ์ในอำเภอปะโคะกู่ด้วย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้พระสงฆ์จำนวนมากในประเทศพม่าขู่ที่จะไม่รับบาตรจากทหาร จนกว่ารัฐบาลทหารจะยอมขอโทษที่ทำร้ายร่างกายพระสงฆ์ในวันที่ 17 กันยายน. การไม่รับบาตรจากทหารถือเป็นการประท้วงที่รุนแรงมากต่อกองทัพ แต่พอถึงวันที่ 17 รัฐบาลก็ไม่ยอมขอขมาต่อพระสงฆ์ ทำให้กลุ่มพระสงฆ์กลุ่มดังกล่าวเรียกร้องให้พระสงฆ์ทั่วประเทศงดรับบิณฑบาตและของถวายจากคณะรัฐบาลทหารพม่าตั้งแต่วันที่ 17 กันยายนเป็นต้นไป พร้อมทั้งเรียกร้องให้พระสงฆ์เริ่มทำการประท้วงในวันอังคารที่ 18 กันยายนต่อเนื่อง

บทวิเคราะห์กรณีพระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหว
ในประวัติศาสตร์ของพม่าที่ผ่านมา พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการร่วมประท้วงทางการเมือง ดังตัวอย่างในปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ.1988) ที่มีการประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 3,000 คนจากเหตุการณ์ประท้วงดังกล่าว ซึ่งคาดว่ามีพระสงฆ์และสามเณรรวมอยู่ในจำนวนผู้เสียชีวิตด้วย ทำให้พระสงฆ์ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ยอมรับการบิณฑบาต การทำบุญหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จากผู้นำรัฐบาลพม่าและทหารพม่า รัฐบาลพม่าเองจึงได้ทำการปราบปรามตามวัดต่างๆ อย่างหนัก ต่อมาพระจำนวน 100 รูปที่เข้าร่วมการประท้วงได้ถูกจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปี

ปรากฎการณ์นี้ต่อเนื่องมานับตั้งแต่หลังจากการปล่อยตัวผู้นำนักศึกษายุค 8888 และนำมาซึ่ง "กลุ่มชุดขาว" คือ กลุ่มอดีตนักศึกษาและประชาชนที่เคยร่วมกันเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1988 ได้นัดกันแต่งชุดขาวไปสวดมนต์ตามวัดหรือศาสนสถานตามเมืองต่างๆ ของพม่า โดยมีเป้าหมายที่จะเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่านการเมืองพม่าในสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสงบและสันติ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อกรณีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม (ซึ่งช่วงนั้นรัฐบาลทหารพม่าค่อนข้างเพิกเฉยมาก)

มีการล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตื่นตัวให้แก่ประชาชนในพม่าค่อนข้างมาก เนื่องจากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สังคมพม่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของความหวาดกลัวอำนาจของรัฐบาลทหารมาตลอด กิจกรรมครั้งนี้ได้จุดประกายให้ผู้คนลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากสิ่งที่ง่ายๆ ไม่เสี่ยงมาก แต่เมื่อมาประสบกับสถานการณ์ขึ้นราคาน้ำมันอย่างมโหฬารในครั้งนี้ ทำให้ผู้คนเริ่มรู้สึกทนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะได้ส่งผลกระทบกับผู้คนเกือบทุกคน เช่น เครื่องอุปโภคบริโภคขึ้นราคาไม่สอดคล้องกับรายรับ

กลุ่มพระสงฆ์ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทไม่น้อยในสังคมพม่าเห็นว่า ควรจะต้องทำอะไรบางอย่างให้รัฐบาลรับทราบ จึงเริ่มออกมาประท้วง ตอนแรกได้ก่อตัวขึ้นจากพระสงฆ์กลุ่มเล็กๆ เพียงบางวัด พอเริ่มประท้วง ทหารและกองกำลังจัดตั้งของกองทัพก็เข้าไปปราบปราม มีการไล่ทุบตีพระ จนพระต้องปิดล้อมวัดไม่ให้ทหารออกจากวัดได้ และต้องมีการเจรจากัน ในที่สุดทหารก็ใช้วิธีการบริจาคของให้วัดแทน ซึ่งพระก็ไม่ยอมและใช้วิธีการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่า (คือการไม่รับของใส่บาตร ไม่รับกิจนิมนต์ ไม่รับการทำบุญใดๆ ของทหารและครอบครัว) และเหตุการณ์เริ่มขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ จนนำมาซึ่งการเดินขบวนครั้งที่ผ่านมาของพระสงฆ์ ในข้อเท็จจริงแล้ว บทบาทของพระสงฆ์พม่ากับการเมืองเป็นสิ่งที่คู่กันมาตลอด

การเคลื่อนไหวในครั้งนี้เริ่มต้นได้น่าสนใจ และสามารถดึงดูดให้ประชาคมโลกหันมาให้ความเอาใจใส่ประเด็นนี้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เทคโนโลยีในด้านการสื่อสารที่ก้าวหน้า เป็นอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวเผยแพร่ไปอย่างกว้างไกล ภาวะความเปิดกว้างเช่นนี้เองได้เป็นอุปสรรคที่กั้นขวางไม่ให้ทหารพม่าสามารถใช้กำลังปราบได้โดยง่าย ขณะเดียวกัน การเตรียมความพร้อมของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมีการตระหนักถึงภาวะความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นดังเหตุการณ์ 8888 (เหตุการณ์วันที่ 8 สิงหาคม 1988)

ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ผ่านความกล้าของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม ผ่านการเคี่ยวกรำกับปัญหาที่รุมเร้ามานานนับเกือบยี่สิบปี ผ่านภาวะสังคมภายใต้ความกลัวที่ทหารได้สร้างขึ้นในประเทศนี้ สภาวะความไม่ไว้วางใจกันของประชาชนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง บริบทการโฆษณาชวนเชื่อ การสร้างกลุ่มมวลชนจัดตั้งที่คอยเป็นหูเป็นตาให้รัฐ สภาพของการที่จะถูกทหารเข้ามาตรวจเยี่ยมบ้าน การถูกตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนนับตั้งแต่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย การสมัครงาน ว่าเขาหรือเธอเหล่านั้นจะไม่เกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง นี้คือสภาพการณ์ต่างๆ ที่ประชาชนในพม่าต้องเผชิญมาโดยตลอดหลายสิบปี ทำให้การประท้วงครั้งนี้ดำเนินไปบนความกล้าหาญครั้งใหญ่ เป็นความกล้าหาญที่เปี่ยมด้วยพลังใจอันแรงกล้าในการจะสร้างวิถีทางใหม่ให้กับสะงคมของตนเอง

นอกจากนั้นแล้วการย้ายเมืองหลวงเองก็อาจจะมีผลระดับหนึ่งต่อการเคลื่อนไหวของทหารพม่า การสั่งการ การประเมินสถานการณ์ต่างๆ อาจจะไม่คล่องแคล่วชัดเจนมากนัก เหมือนตอนที่การสั่งการที่เคยอยู่ที่ย่างกุ้ง ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวในช่วงที่มีการประชุม UN เอง นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทหารพม่าต้องคิดไตร่ตรองอย่างหนัก หากจะใช้ความรุนแรงในการเข้าสลายฝูงชน

บทบาทที่สำคัญของไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน
ฉะนั้น บทบาทที่สำคัญของไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังคือ การกระตุ้นเตือน และคัดค้านต่อการจะใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในครั้งนี้ และมีมาตรการขั้นเด็ดขาดหากทหารพม่าใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชนจนก่อให้เกิดการนองเลือดเหมือนเช่น 19 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งจะต้องเร่งให้เกิดแนวทางการเจรจาหาทางออกร่วมกันของกลุ่มต่างๆ ในพม่า ในฐานะมิตรที่ไม่อาจเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของประเทศเพื่อนบ้านได้

Burma Peace Group : เพื่อสันติภาพของประชาชนในพม่า ([email protected])
เป็นคณะทำงานเฉพาะกิจที่เกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการ สื่อมวลชน นักพัฒนา ที่คลุกคลีกับประเด็นพม่ามาโดยตลอด

คณะทำงาน : พรพิมล ตรีโชติ งามศุกร์ รัตนเสถียร วสุ ศรียาภัย วันดี สันติวุฒิเมธี อดิศร เกิดมงคล ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ สุชาดา สายหยุด

2. บทบาทและความสัมพันธ์ของอาเซียนต่อพม่า
Burma Peace Group ฉบับที่ ๒ (๒๘ กันยายน ๒๕๕๐)

28 กันยายน 2550 นายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียนที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในพม่าพร้อมประณามการใช้ความรุนแรง ว่าเป็นวิธีการที่น่ารังเกียจ โดยได้เรียกร้องพม่ายุติใช้ความรุนแรง แก้ปัญหาด้วยวิธีการสมานฉันท์ อาเซียนได้มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า และได้รับรายงานการใช้อาวุธและขอให้รัฐบาลพม่ายุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงโดยทันที

อาเซียนแสดงความรังเกียจต่อรายงานที่กล่าวถึงว่า การประท้วงได้รับการกดดันโดยการใช้ความรุนแรงและมีผู้เสียชิวิต อาเซียนขอให้พม่าใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุดและหาแนวทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงใช้ความพยายามเพื่อความสมานฉันท์ของชาติ นอกจากนี้ได้เรียกร้องให้ปลดปล่อยผู้ที่ถูกจับกุมรวมถึงนาง ออง ซาน ซู จี ด้วย. อาเซียนสนับสนุนการตัดสินใจของเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน ในการส่งผู้แทนพิเศษ Ibrahim Gambari ไปพม่า และขอให้รัฐบาลพม่าให้ความร่วมมือกับผู้แทนพิเศษและทำงานร่วมกัน ทั้งนี้บทบาทของนาย Gambari ในฐานะเป็นผู้ประสานงานกลาง สามารถช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ อาเซียนขอให้พม่าเปิดทางให้ผู้แทนพิเศษได้พบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในพม่า ตามที่เคยปฏิบัติในอดีต

สำหรับประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกันมากกว่า 2,400 กิโลเมตร และมีชาวพม่ากว่าหนึ่งล้านคนพำนักอยู่ มีความกังวลอย่างยิ่งกับสิ่งที่ได้ยินและได้เห็นในพม่า ทั้งไทยและพม่าต่างเป็นประเทศพุทธศาสนา ต่างมีความเชื่อร่วมกันในความสงบและความอดกลั้น ดังนั้นไทยจึงไม่สามารถยอมรับการใช้ความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายต่อพระสงฆ์และผู้ประท้วงในร่างกุ้งได้

ในระยะเวลาที่ผ่านมาแนวนโยบายต่างประเทศที่มีรูปแบบเนื้อหา"การเมืองเพื่อการค้า"ของอาเซียน ที่ให้ความสำคัญกับมิติทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้รับการสนับสนุนเห็นใจ ได้รับการปกป้องจากอาเซียนมาโดยตลอด จนในที่สุดนำไปสู่การรับประเทศพม่าเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2540 อานิสงค์สำคัญหลังจากที่พม่าเข้ามาอยู่ในอาเซียน ภาพลักษณ์ของพม่าในสายตาประชาคมโลกได้รับความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พม่าได้ตักตวงผลประโยชน์ในทุกด้านจากการเป็นสมาชิกภาพของอาเซียน พม่าได้ใช้อาเซียนเป็นเกราะกำบังและเป็นกันชนให้กับพม่าในการดำเนินความสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยพม่าได้ทำให้ปัญหาที่พม่ามีกับประชาคมโลกกลายเป็นปัญหาของอาเซียนโดยส่วนรวมมากกว่าปัญหาของพม่าโดยตรง ทำให้ประเทศอาเซียนอื่นๆ อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่พม่าได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมอาเซียน พม่าได้สร้างปัญหาให้กับสมาคมอาเซียนมากกว่าสมัยที่ยังมิได้เข้ามาเป็นสมาชิก ส่งผลทำให้ความน่าเชื่อถือของอาเซียนตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการกักขังนางออง ซาน ซู จี, การคุมขังนักโทษการเมือง, การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆอย่างร้ายแรง แต่ที่ผ่านมาอาเซียนก็ยังยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของพม่ามาโดยตลอด เหตุที่อาเซียนมีท่าทีเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากนโยบายต่างประเทศของไทย ที่ไม่ได้เป็นแกนนำในการเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารพม่า แต่กลับไปให้การสนับสนุนรัฐบาลพม่าแทน ตรงนี้เองที่ทำให้นักการเมืองในมาเลเซีย สิงค์โปร์ ต้องกลายมาเป็นผู้นำในประเด็นปัญหาดังกล่าว

สังเกตจากในระยะหลังที่ผ่านมา สมาชิกบางประเทศของอาเซียนเริ่มแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวอย่างเปิดเผยยิ่งขึ้น เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ต่างได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะงักงัน ไม่คืบหน้าของกระบวนการประชาธิปไตยและการปรองดองแห่งชาติในพม่า ตลอดจนสภาวะถดถอยของความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ระหว่างสมาคมอาเซียนกับกลุ่มประเทศคู่เจรจาที่สำคัญๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนพิจารณาประเด็นเรื่องผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น ต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศคู่เจรจา หากไม่ปรากฏความคืบหน้าในเรื่องของกระบวนการประชาธิปไตยและการปรองดองแห่งชาติในพม่า

พร้อมกันนั้น ได้มีการเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภาของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน ร่วมมือกันเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศสมาชิกฯ หาทางเจรจากับฝ่ายพม่า ให้ตระหนักถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมาคมอาเซียน หากฝ่ายเผด็จการทหารพม่ายังไม่ยอมดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้กระบวนการประชาธิปไตยและการปรองดองแห่งชาติเกิดขึ้นในพม่าอย่างแท้จริง. เท่าที่ผ่านมา พม่าเพียงสร้างภาพลวงตาเพื่อลวงประชาคมโลกให้หลงผิดว่า ได้มีการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยขึ้นแล้วในประเทศ

แต่หากพิจารณาจากพฤติกรรมของพม่าในอดีตที่ผ่านมา โอกาสที่พม่าจะยอมเห็นแก่ส่วนรวมนับว่าแทบไม่มีความเป็นไปได้เลย อีกทั้งโอกาสที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ จะตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวร่วมกันที่จะดำเนินการเอาผิดทางวินัยกับพม่า เมื่อพิจารณาจากท่าทีของแต่ละประเทศสมาชิกที่ผ่านมาย่อมมีความเป็นไปได้ยากยิ่งเช่นกัน ซึ่งน่าจะมาสาเหตุสำคัญที่ประเทศสมาชิกเอเชียไม่สามารถรวมตัวกันกดดันพม่าได้อย่างเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะไทย จีน และอินเดีย ล้วนแต่คิดในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ตัวเองจะได้เป็นสำคัญ ขณะเดียวกันแรงกดดันจากประชาคมโลก ทั้ง EU, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, และญี่ปุ่น ล้วนสร้างแรงกดดันที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย

ข้ออ้างในการสนับสนุนพม่าเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน
สุรพงษ์ ชัยนาม วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุผลสำคัญที่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้นำมาอ้างเพื่อสนับสนุนให้พม่าเข้าเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียน เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2540 คือ

1) ประเทศพม่าตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงสมควรรับเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน

2) ในเมื่อประเทศที่จัดอยู่ในภูมิภาคอาเซียนมีทั้งหมด 10 ประเทศ หากรับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิก ก็จะทำให้สมาชิกเพิ่มขึ้น
จนครบถ้วนทั้ง 10 ประเทศ และจะมีผลทำให้สมาคมอาเซียนมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีอำนาจต่อรองและอิทธิพลในเวทีการเมือง
และเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น

3) การรับพม่าเข้าเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียน มีผลสนับสนุนเหตุผลทางยุทธศาสตร์ของอาเซียนที่มีความวิตกกังวลต่อการแผ่อิทธิพลในด้านต่างๆ ของจีนที่นับวันได้เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ฉะนั้นการรับพม่าเข้ามาในสมาคมอาเซียน ถือได้ว่าเป็นการช่วยลดภาวะพึ่งพาที่พม่ามีต่อจีน และลดอิทธิพลของจีนในพม่า

4) อาเซียนมีความจำเป็นที่ต้องรีบรับพม่าเข้าเป็นสมาชิก เนื่องจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจฝ่ายตะวันตก (อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปหลายประเทศ) พยายามเข้ามาตักเตือน เรียกร้องให้อาเซียนชะลอการรับพม่าเข้าเป็นสมาชิก ฉะนั้นอาเซียนจึงจำเป็นที่จะต้องแสดงท่าทีออกมาอย่างเปิดเผยและชัดเจน เพื่อส่งสัญญาณให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเป็นปึกแผ่น เป็นอิสระ และมีอธิปไตยของตนเอง โดยจะไม่ก้มหัวหรือสยบให้กับแรงกดดันหรือการบีบบังคับจากประเทศใดทั้งสิ้น ในประเด็นของเหตุผลข้อนี้ ประเทศอาเซียนที่ทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการส่งเสริมพม่าเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างแข็งขันและอย่างออกหน้าออกตาคือ มาเลเซีย ยุคอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธียร์ และอินโดนีเซีย ยุคอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต

5) การรับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียง ภาพพจน์ ภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือที่ดี และเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาคมระหว่างประเทศ จะมีผลทำให้พม่าต้องปรับตัว ปรับท่าทีและนโยบายของพม่าให้สอดคล้องกับท่าที นโยบาย หลักปฏิบัติ และประเพณีค่านิยมของสมาคมอาเซียน

พรพิมล ตรีโชติ (นักวิชาการ Burma Peace Group) วิเคราะห์ว่า อาเซียนสนใจพม่าในมิติเดียว คือ มิติทางเศรษฐกิจ เพราะประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมากที่สุด แต่ในเรื่องของการเมืองนั้นอาเซียนแทบไม่เคยสนใจ เพิ่งจะมาสนใจอย่างจริงจังตอนที่มีการเรียกร้องจากประชาคมโลกหลังเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ที่มีการนำตัวนางออง ซาน ซู จี ไปกักบริเวณที่บ้านพักอีกครั้งเท่านั้น ฉะนั้นสิ่งที่จะสามารถทำให้พม่าฟังอาเซียนก็คือ บทบาทของจีนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นในพม่า จนพม่าไม่สามารถควบคุมจีนได้อีกต่อไปเท่านั้น

พม่าไม่ได้ไว้ใจจีน อินเดียเริ่มมีอิทธิพล
ขณะเดียวกัน พม่าก็ไม่ได้ไว้ใจจีนเท่าใดนัก เนื่องจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินเกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้อิทธิพลจีน อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชนกลุ่มน้อยที่รัฐบาลทหารพม่าเองก็ยังเข้าไปไม่ได้ เพราะพื้นที่ที่จีนเข้าไปครอบครองเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ซึ่งอิทธิพลจีนตรงนี้จะทำให้พม่าต้องฟังอาเซียนและมองว่าอาเซียนเป็นทางออกในการเจรจากับจีน นอกจากนั้นวันนี้เอง พม่าก็มีผู้ช่วยเหลือคนใหม่ที่มีความสำคัญกับกว่าอาเซียน คือ อินเดีย ซึ่งอินเดียได้เข้าไปลงทุนในประเทศพม่าจำนวนมาก ดั้งนั้นพม่าจึงอยู่ระหว่างอินเดียกับจีน และห่างจากอาเซียนไปเรื่อยๆ พม่าจะเห็นความสำคัญของอาเซียนก็ต่อเมื่อตระหนักว่าจีนและอินเดียกำลังคุกคามตนอยู่ เมื่อนั้นอาเซียนจึงจะกลายเป็นคำตอบของพม่า

พม่ากับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาเซียน
สำหรับในแง่ของความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจ (การลงทุน การค้า) ของประเทศสมาชิกอาเซียนสำคัญๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย นั้น พบว่า

- สำหรับประเทศมาเลเซียนั้น บริษัทปิโตรเลียมเบอร์ฮาร์ด หรือที่รู้จักกันดีในนามเปโตรนาส (PETRONAS) กิจการพลังงานยักษ์ใหญ่ของมาเลเซีย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันเพื่อร่วมมือกับพม่าในโครงการต่างๆ หลายโครงการในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

- ส่วนสิงคโปร์ก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารพม่า โดยผู้นำระดับสูงหลายรายของพม่าได้เข้ารับการรักษาทางการแพทย์ในสิงคโปร์ เช่น พล.อ.ตัน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ได้เดินทางเยือนสิงคโปร์เมื่อเดือนมกราคม 2550 เพื่อเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งในลำไส้ และในปีที่แล้ว(2549) สิงคโปร์มีมูลค่าการค้ากับพม่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์

- สำหรับไทยนั้นจากสถิติการให้การส่งเสริมการลงทุนของ BOI ตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปี 2549 มีการลงทุนไทยในพม่าทั้งสิ้น 56 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนสะสมทั้งสิ้น 1,345.623 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กิจการที่ไทยไปเข้าลงทุน ได้แก่ ประมง ไม้ อัญมณี และเครื่องประดับ อาหารและเครื่องดื่ม การค้า ขนส่ง โรงแรมและการท่องเที่ยว การแปรรูปการเกษตรและพลังงาน นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ทำสัญญาจัดซื้อ - จัดจ้างกับหน่วยงานรัฐของพม่า ตามเงื่อนไขของเงินกู้ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจะนำไปใช้สำหรับโครงการต่างๆ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องซื้อสินค้าและอุปกรณ์ต่างๆ จากบริษัทสัญชาติไทยที่กำหนดไว้เท่านั้น นอกจากนั้นกลุ่มบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์กรุ๊ปของไทยยังได้ลงนามในสัญญามูลค่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 228 ล้านบาท) ในโครงการก่อสร้างเขื่อนในรัฐฉานของพม่า

ฉะนั้นในประเทศอาเซียน สิงค์โปร์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ตามด้วยประเทศไทยลำดับต่อมา

กฎบัตรอาเซียน
ข้อเสนอสำหรับบทบาทของอาเซียนต่อการแก้ไขปัญหาการเมืองพม่านั้น ในปัจจุบันอาจฝากความหวังไว้กับการที่อาเซียนได้มีการร่าง"กฎบัตรอาเซียน"ขึ้นมา ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่ฟิลิปปินส์ปลายเดือนกรกฎาคม 2550 กฎบัตรอาเซียนนับเป็นหลักหมายสำคัญของกลุ่ม เพราะมันจะทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีกฎเกณฑ์ชัดเจน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดมาตรการการปฏิบัติสำหรับชาติสมาชิกอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อเพิ่มความกดดันสมาชิกที่มีปัญหา เช่น พม่า ให้ปรับปรุงแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ. นายออง เค็ง ยอง เลขาธิการสมาคมอาเซียน กล่าวว่า บทบาทของอาเซียนจะช่วยกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับพม่า เนื่องจากกฎบัตรนี้จะย้ำถึงความรับผิดชอบและพันธกรณีของประเทศสมาชิก แต่กฎบัตรไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดของมาตรการลงโทษสมาชิกที่ละเมิดกฎ ถึงแม้ว่าสมาชิกบางประเทศได้เสนอให้ใช้มาตรการขับออกจากการเป็นภาคีสมาชิก ในกรณีที่มีการละเมิดกฎอย่างร้ายแรง

นอกจากนั้นแนวโน้มที่น่าสนใจคือ หลังจากการที่พม่ายอมถอนตัวออกจากการเป็นประธานอาเซียน และจากการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พม่าจะใช้ข้ออ้างเรื่องการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญขั้นที่ 1 ที่เพิ่งจะเสร็จสิ้นลงเมื่อกลางเดือนกันยายนว่า ตนเองพร้อมที่จะเป็นประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพจัดประชุมได้แล้ว ซึ่งภาวะในข้างหน้านั้นอาเซียนจะลำบากมาก ถ้าแรงกดดันของประเทศต่างๆ ในอาเซียนยังคงอยู่ พม่าก็อาจจะไม่กล้าดำเนินการใดๆ แต่ถ้าแรงกดดันเบาบางลง พม่าก็อาจจะอ้างสิทธิดังกล่าว ดังนั้นนักการเมืองในประเทศต่างๆ จะต้องร่วมมือกันกดดันเรียกร้องประเทศพม่าต่อไป

3. สัมภาษณ์ 'พรพิมล ตรีโชติ' : รัฐทหารพม่า ห่วงแต่ความอยู่รอดของกองทัพ
คัดลอกจากประชาไทออนไลน์



แม้เราจะมีพรมแดนติดกับประเทศ 'พม่า' แต่นั่นมิได้หมายความว่า เราจะรู้จักเรื่องราวเกี่ยวกับพม่ามากนัก อย่างไรก็ดี คนไทยคงอดไม่ได้ที่จะรู้สึก 'ใกล้ชิด' กับพม่า ไม่ว่าจะในแง่มนุษยธรรม โดยเฉพาะในฐานะคนบ้านใกล้เรือนเคียง หรืออาจจะเพราะความสนใจว่า คนมีเงินมีอำนาจบ้านเราจะไปผูกสัมพันธ์กับเมืองที่เนื้อหอมด้วยทรัพยากรอย่างพม่าแค่ไหนอย่างไร หรือใกล้ชิดด้วยประวัติศาสตร์ทางการเมือง ที่ดูเหมือนจะซ้ำรอยและคล้ายคลึงในระบอบการปกครองเดียวกัน

มาวันนี้ เหตุการณ์การชุมนุมของพระสงฆ์และประชาชนในพม่าขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่รัฐทหารจะใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นอีก ในเวลาคับขันเช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย 'พรพิมล ตรีโชติ' นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่องชนกลุ่มน้อยในพม่ามายาวนาน ซึ่งหลีกไม่พ้นที่จะต้องทำความเข้าใจในประวัติศาสตร์ รัฐบาล และทหารพม่า ได้ให้สัมภาษณ์กับ 'ประชาไท' เพื่อเพิ่มมุมมองประวัติศาสตร์การเมืองพม่า รวมถึงวิเคราะห์สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

ประชาไท - ภาพรวมความเป็นพม่าคืออะไร และอะไรคือลักษณะเฉพาะของพม่า

พรพิมล - พม่ามีความเป็นพิเศษกว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะพม่ามีชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศมากถึงร้อยกว่าเผ่าด้วยกัน ถ้านับไปมาแล้ว เคยมีคนทำสถิติเอาไว้ว่า มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษา มีวัฒนธรรมต่างๆ มากถึง 135 ชนเผ่า ด้วยความที่เป็นพหุสังคม จึงเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน มีความเชื่อแตกต่างกันมา และประกอบกับพื้นที่ของประเทศพม่าเป็นพื้นที่ที่แต่ละส่วนถูกแบ่งออกจากกัน อย่างเช่น 'คะฉิ่น' (Kachin) อยู่ทางเหนือติดชายแดนจีน มีที่ราบสูงกั้นอยู่ระหว่างคะฉิ่นกับที่ราบตรงกลาง คือ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ดังนั้น คนคะฉิ่น กับคนย่างกุ้ง ก็จะไม่รู้จักกัน เนื่องจากคะฉิ่นก็มีเผ่าพันธุ์คะฉิ่น (Kachin) ย่างกุ้งก็เป็นชาวพม่า (ฺBurman) เมื่อมันประกอบกับมีภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศที่แยกคนออกจากกัน ความที่เป็นคนต่างเผ่าพันธุ์กันอยู่แล้ว ไม่รู้จักกันอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่รู้จักกันมากขึ้น นี่ก็เป็นความเฉพาะของพม่าอีกเหมือนกัน

แต่ละกลุ่มชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐกะเหรี่ยง คะฉิ่น ยะไข่ ไทใหญ่ เขาก็มีประวัติศาสตร์ของเขาเอง อย่างเช่น 'ยะไข่' เป็นรัฐโบราณที่มีอาณาจักรเก่าแก่ยาวนานมาหลายพันปี มีวัฒนธรรมโบราณสัมพันธ์กับเปอร์เซีย ชุดประวัติศาสตร์ของเขา คนละชุดกับ Burman ที่อยู่ตรงลุ่มแม่น้ำอิระวดี. ไทใหญ่ ก็มีอาณาจักรของเขา เขาก็มีประวัติศาสตร์อีกชุดหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าพูดถึงแต่ละชนเผ่าซึ่งแยกกันอยู่ตามภูมิศาสตร์ ตามชุมชนต่างๆ ของรัฐ มันไม่มีช่วงไหนของประวัติศาสตร์ที่ทำให้บุคคลเหล่านี้มาร่วมกันทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ (identity) วัฒนธรรมสอดคล้องกันได้ มันก็เป็นพื้นที่ที่ต่างคนต่างอยู่

มีทั้งเงื่อนไขของ 'กลุ่มชาติพันธุ์' ที่แตกต่างกัน, มีเงื่อนไขของ 'ภูมิศาสตร์' ที่ไม่ทำให้คนมารวมกัน, มีเงื่อนไขทาง 'ประวัติศาสตร์' ชุดของใครของมัน, มันเลยทำให้ไม่มีปัจจัยในการมาอยู่ร่วมกัน ดังนั้น การเป็นประเทศของพม่าจึงแตกต่างจากคนอื่น เพราะไม่มีครั้งไหนเลยที่พม่าจะรวมคนที่อยู่ในพื้นที่มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เมื่อเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อังกฤษก็ไม่มีแนวโน้มจะรวมพม่าเป็นหนึ่งอยู่แล้ว เขารวมแค่ขีดเส้นอาณาเขตว่า ขีดตรงนี้เป็นพม่า เป็นประเทศในอาณานิคมของเขา แต่อังกฤษก็มาใช้ความเฉพาะของพม่า ใช้ความเป็นสัดส่วนนี้แยกออกจากกัน คือเขาจะปกครองพม่าตรงกลาง ที่เรียกกันว่าพม่าแท้ๆ มีบางส่วนของกะเหรี่ยง และบางส่วนของมอญ ด้วยการปกครองแบบตรง หรือที่เรียกกันว่า Direct Rule. ส่วนพวกไทใหญ่ คะฉิ่น ยะไข่ ชิน เขาก็ปล่อยให้ดูแลของเขาเอง เขาเรียกกันว่า Divide and rule - แบ่งแยกแล้วปกครอง, ก็คือพวกชนเผ่าก็ให้ปกครองกันเอง อยู่กันตามลำพัง โดยที่อังกฤษก็แค่ส่งผู้แทนไปดูแลเป็นบางครั้งบางคราว แต่ตรงกลางนี้เขาปกครองโดยตรง คือดูแลกระทรวงคมนาคม, กระทรวงการคลัง ฯลฯ มีทหารจากอินเดีย ทหารจากกะเหรี่ยง ดังนั้น อังกฤษเข้ามาปกครองพม่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1886 อังกฤษไม่เคยสนับสนุนความเป็นเอกภาพ

เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าลักษณะสำคัญของพม่าคืออะไร คือลักษณะของความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความไม่เป็นเอกภาพ ทางด้านการเมือง ทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านชุมชน เรื่องของประชากร

ประชาไท - กรณีการล้มสนธิสัญญาปางโหลง เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดปัญหาทุกวันนี้ ?

พรพิมล - นี่ก็เป็นการวางสลักของอังกฤษ ตอนอังกฤษจะออกก็บอกพวกพม่าหรือ Burman ตรงกลางว่า ถ้าจะให้เอกราชกับคุณ คุณต้องไปรวมกับทุกชนเผ่าเข้าด้วยกันก่อน เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้น อองซานจึงไปจัดประชุมที่ปางโหลง ที่รัฐฉาน โดยเชิญผู้นำกลุ่มต่างๆ มาประชุมร่วมกัน ตอนนั้นกะเหรี่ยงไม่ได้เข้าร่วมประชุมเป็น participant (ผู้เข้าร่วม) แต่เป็นแค่ Observer (ผู้สังเกตการณ์) เพราะกะเหรี่ยงยังเข้าใจว่า ตัวเองมีชุดอีกชุดหนึ่งที่อังกฤษจะให้ความดูแลเป็นพิเศษ

ดังนั้น อองซานจึงไปประชุมกับผู้นำชนเผ่า โดยเฉพาะเจ้ารัฐฉาน ก็ปรากฏว่าผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะยอมร่วมมือกับรัฐบาลพม่าตอนนั้น ซึ่งเป็นรัฐบาลที่อังกฤษค่อยๆ ปล่อยมือให้เป็นประเทศเดียวกัน แล้วเมื่อได้เอกราชแล้ว ก็จะมาอยู่ในร่มของพม่าด้วยกัน ในข้อตกลงของปางโหลง เขาประชุมกันในปี 1947 ปี 1948 ก็ได้รับเอกราช. จากการประชุมกันในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1947 ซึ่งถือเป็นวันชาติพม่านั้น เขียนไว้ว่า ถ้าได้รับเอกราชแล้ว ให้ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ว่า ถ้าไม่พอใจที่จะอยู่ด้วยกัน กลุ่มชนเผ่าต่างๆ ก็สามารถแยกตัวเป็นอิสระได้ใน 10 ปีให้หลัง หลังจากรวมเป็นประเทศ หมายความว่า เมื่อได้เอกราชในปี 1948 แล้ว ในปี 1958 ถ้าฉานไม่อยากอยู่กับพม่า คะฉิ่นไม่อยากอยู่กับพม่า ยะไข่ไม่อยากอยู่กับพม่า ก็สามารถแยกตัวเป็นรัฐอิสระได้ นี่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

ประชาไท - แต่ไม่รวมถึงกะเหรี่ยง

พรพิมล - เฉพาะที่เป็นพันธมิตรที่ร่วมประชุมในครั้งนั้นเท่านั้น แต่มอญกับกะเหรี่ยงไมได้ร่วมประชุม มอญนั้น ส่วนหนึ่งเพราะเป็นหนึ่งเดียวกับ Burman ไปแล้ว แล้วเขายังไม่ชัดเจนว่าอยากจะแยกหรือไม่อย่างไร แต่ที่กะเหรี่ยงไม่ร่วม เพราะเขาระบุว่า มันมีสมุดปกขาว อังกฤษให้สัญญากับกะเหรี่ยงว่า กะเหรี่ยงจะไม่ต้องอยู่รวมกับพม่าเลย แต่เมื่อได้เอกราชแล้ว อังกฤษจะให้กะเหรี่ยงเป็นรัฐในความพิทักษ์ ไม่ขึ้นกับพม่า แต่ขึ้นกับอังกฤษ กะเหรี่ยงมีจินตนาการชุดนั้นอยู่ตลอด ว่าเขาจะมีพื้นที่เฉพาะเป็นรัฐกะเหรี่ยง และไม่ต้องขึ้นตรงกับรัฐบาลพม่า แต่สามารถขึ้นตรงกับอังกฤษ. พอตกลงกันไปเรื่อยๆ ได้ข้อตกลงที่ปางโหลง อังกฤษก็ให้อิสระพม่า แล้วก็กลับอังกฤษทันที ทิ้งพม่าไปโดยกะทันหัน ประเด็นกะเหรี่ยงก็เป็นประเด็นที่บอกว่า ให้ไปตกลงกันเมื่อมีรัฐบาลใหม่ ดังนั้น กะเหรี่ยงก็ต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง

รัฐบาลใหม่ ตอนนั้น 'อู นุ' เป็นนายกรัฐมนตรี แล้ว 'เจ้าส่วยแต้ก' เป็นประธานาธิบดี เขาก็จะพิจารณาเรื่องกะเหรี่ยงว่าจะตั้งเป็นรัฐกะเหรี่ยง แต่ข้อเรียกร้องของกะเหรี่ยงมีมาก เพราะเขาต้องการพื้นที่ต่างๆ มากมาย กะเหรี่ยงไม่ได้อยู่เฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง แต่มีคนกะเหรี่ยงอยู่ในเดลต้าด้วย ผสมปนเปกับพม่า ดังนั้น พื้นที่ของเขาจึงกินพื้นที่ตั้งแต่บางส่วนของลุ่มน้ำอิระวดีจนถึงชายแดน รัฐบาลก็รับไม่ได้ ก็สู้กันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทำไมกะเหรี่ยงถึงคิดว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น เพราะตั้งแต่ตอนที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม ทหารในกองทัพพม่าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ใช้กะเหรี่ยง คะฉิ่น ชิน มาเป็นทหาร ร่วมกับทหารที่มาจากอินเดีย ทั้งเผ่า กะเหรี่ยง คะฉิ่น และชิน เป็นสามชนชาติที่อังกฤษชอบมากในการให้เป็นทหาร เพราะเป็นคนภูเขา รูปร่างสูงใหญ่ อดทน รบเก่ง และหลักสำคัญก็คือ อังกฤษไม่กล้าให้พม่ามาเป็นทหารและตำรวจ เพราะถ้าเกิดกรณีอะไรสำคัญขึ้นมา อังกฤษก็ไม่สามารถใช้คนพวกนี้ในการปราบ เขาก็ชอบแบ่งแยก ไปใช้กลุ่มชนเผ่า นึกภาพว่าพอเกิดอะไรขึ้นมา ก็ใช้คนกะเหรี่ยงไปปราบพม่า มันก็เป็นแผลลึกกันมาตลอดเวลา

ดังนั้น การที่อังกฤษอยู่ ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น สนธิสัญญาปางโหลงก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะต่างคนต่างก็ยึดถือว่า ถ้าอยู่กับพม่าไม่ได้, ครบ 10 ปีมีสิทธิแยกตัว ดังนั้นพอถึง 10 ปีบ ฉาน ยะไข่ คะฉิ่น เป็นกบฏทันที แต่กะเหรี่ยงเป็นกบฏก่อนเพราะตกลงกันไม่ได้. ข้อตกลงปางโหลงนั้น ถ้าไปถามชนกลุ่มน้อยทุกคนก็จะบอกว่า พม่าผิดสัญญา พม่าให้สัญญาแล้ว, พม่าก็บอกว่าไม่ได้ผิดสัญญา เพราะตอนเนวินทำปฏิวัติในปี 1962 ก็ฉีกรัฐธรรมนูญ 1947 มันก็หมดไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ไม่ได้ผิดสัญญา ก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ปี 1974 บอกว่าทุกพื้นที่เป็นของรัฐบาลพม่า ก็ไม่ได้ผิดสัญญาอะไร. สรุปก็คือ ข้อตกลงปางโหลงมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกคนคิดว่า มีสิทธิ์ชอบธรรมที่จะตั้งตัวเป็นรัฐอิสระ

ประชาไท - ถ้าอย่างนั้น ปัจจัยอะไรที่ทำให้พม่าโตขึ้นมาจนคุมรัฐอื่นๆ ได้

พรพิมล - คืออังกฤษอีกนั่นเอง ลองคิดดูว่า เมื่ออังกฤษปกครองพม่าตรงพม่าแท้ อังกฤษก็เอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหมดมาถมไว้ที่รัฐตรงกลาง รัฐชายขอบก็อยู่กันไปตามยถากรรม ทำไร่ทำนากันไป แต่อังกฤษทำให้พม่ากลายเป็นดินแดนของการปลูกข้าวเพื่อส่งออก ขยายพื้นที่ในการทำนา แล้วการทำนานั้นก็คือการปลูกข้าว ปลูกข้าวแล้วก็มีการค้าขายกับต่างประเทศ ค้าขายแล้วก็มีการนำเข้าส่งออก มีไม้สักส่งออก มีข้าวส่งออก มีน้ำมันส่งออก ดังนั้น ตรงกลางนี้ได้วิทยาศาสตร์ องค์ความรู้รุ่นใหม่ในยุคนั้นมารวมอยู่ที่ Burman มีการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมา นักศึกษาเรียนมหาวิทยาลัย ขณะที่ฉานยังเรียนตามวัดกับหลวงพ่อ วิทยาการ วิทยาศาสตร์ มันมาอยู่ที่ Burman ดังนั้น การเจริญเติบโต องค์ความรู้ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจมันอยู่ที่ตรงนี้ ก็เท่ากับคนในพม่าแท้มีวิวัฒนาการทางการเมืองชุดเดียวกับทั่วโลก นักศึกษาที่ย่างกุ้ง ตั้งแต่สมัยอองซานเป็นนักศึกษา ก็อ่านมาร์กซ อ่านเรื่องระบอบการเมือง เรื่องการปฏิวัติ เรื่องชนชั้น คนพวกนี้ก็มีความรู้เท่าทัน เพราะเรียนที่มหาวิทยาลัย ดังนั้นทางด้านการเมืองก็เติบโตก้าวหน้า ด้านเศรษฐกิจก็ดีกว่า วิทยาการก็ทันสมัย

ประชาไท - มาจนวันนี้ อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดปัญหาอย่างทุกวันนี้

พรพิมล - ด้วยความที่ประเทศมันไม่มีความเป็นเอกภาพ ฉานก็มีของเขา กะเหรี่ยงก็มีของเขา พอปี 1948 กะเหรี่ยงตกลงกับรัฐบาลพม่าไม่ได้ ก็ลงใต้ดิน ต่อสู้กับรัฐบาลพม่า มอญก็มีบ้างประปราย เพราะไม่อยากตกเข้าไปอยู่ภายใต้การควบคุมของนักการเมืองพม่า. ปรากฏว่า รัฐฉาน กับคะฉิ่น ก็ยังเคารพในกฎนั้น แต่ในช่วงปี 1949-1950 ตอนที่จีนเป็นคอมมิวนิสต์ ก็มีจีนคณะชาติหรือก๊กมินตั๋ง ส่วนหนึ่งหลบเข้ามาอยู่ในรัฐฉาน พม่าก็ส่งทหารพม่าไปรบเพื่อจะขับไล่ก๊กมินตั๋ง ดังนั้น มันเป็นครั้งแรกที่ Burman เดินทางไปรัฐฉาน ไปใช้ชีวิตที่รัฐฉาน แต่ด้วยความที่เป็นทหาร พอไปอยู่ที่ไหนก็มีความดุเดือด ไปรังแกชาวบ้านเพราะถือว่ามีอาวุธ ไปฉุดลูกสาวเขาบ้าง ดังนั้น คนฉานซึ่งเป็นคนอ่อนโยน มีวัฒนธรรมคนละชุดกัน เมื่อรู้จักพม่าครั้งแรกอย่างเต็มที่ก็มารู้จักทหารเสียแบบนี้ การไม่ยอมรับจึงมีขึ้น

การที่ทหารพม่าไปอยู่ที่รัฐฉานทำให้คนฉานไม่ชอบ พอคนฉานเริ่มที่จะก่อกบฏ เนื่องจากฉานเป็นพื้นที่ใหญ่ แทนที่จะมีกลุ่มเดียวคือ KNU มันก็มีหลายกลุ่ม. พอฉานเป็นกบฏ คะฉิ่นตามมา มันก็เริ่มมีข้อขัดแย้งตรงกลาง ระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ. ทำไมชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ จึงมีความสำคัญและเข้มแข็งขึ้นมา คือในช่วงที่ได้เอกราชจากอังกฤษปี 1948 ก็มีการปรับกองทัพครั้งยิ่งใหญ่ในช่วง 1948-1950 ปรากฏว่า นายพลสมิธ ดูน (Smith Doon) ซึ่งเป็น ผบ.ทบ.ชาวกะเหรี่ยง ถูกบังคับให้ลาออก แล้วนายพลเนวิน ก็เข้ามาเป็น ผบ.ทบ. เนวินก็เปลี่ยนแปลงปรับปรุงกองทัพใหม่หมด ไล่ทหารที่เป็นชนกลุ่มน้อยออกไปหมด

ชนกลุ่มน้อยที่ถูกไล่และถูกรังแกก็เลยออก พอออกไปก็ไปเป็นกองร้อยกองพัน เพราะเป็นชนกลุ่มน้อยทั้งหมด แล้วก็เอาอาวุธไปด้วย ไปเสริมกับกลุ่มชาติพันธุ์ของตัวเอง กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็มีอาวุธ พอมีอาวุธ แข็งข้อขึ้นมา รัฐบาลก็ส่งทหารไปปราบ ดังนั้นประเทศพม่าตั้งแต่ 1948 เป็นต้นมา จึงเป็นประเทศที่ทหารรบกับชนกลุ่มน้อย รบกับชาวบ้านจนบัดนี้

การรบตลอดเวลา มันส่งผลให้สถาบันการปกครองที่เข้มแข็งที่สุดของประเทศคือสถาบันทหาร ทหารเป็นสถาบันที่ค้ำบัลลังก์ของรัฐบาล คือรัฐบาลพลเรือนได้มาปี 1948 มี อูนุ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ปกครองล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา เนื่องจากสู้รบกันอยู่ตลอดเวลา สถานภาพเศรษฐกิจหลังสงครามก็ไม่ดีเท่าไร ประชาชนก็ยากจน การเมืองก็ไม่มั่นคง ในขณะที่ทหารมั่นคงอยู่เรื่อยๆ เพราะทหารต้องไปรบ ท้ายสุดสถาบันทหารจึงใหญ่กว่ารัฐบาลที่เป็นรัฐบาลพลเรือน

มีช่วงหนึ่งในปี 1958 ที่รัฐบาลของอูนุก็เอาไว้ไม่อยู่ เพราะทุกฝ่ายเป็นกบฏ ทุกฝ่ายจะแยกแล้ว ก็เอาไว้ไม่อยู่ เลยไปเชิญทหาร คือนายพลเนวินมาเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงปี 1958-1960 เชิญทหารเข้ามาปกครองประเทศ รัฐบาลพลเรือนถอยออกไปอยู่ 2 ปีเต็มๆ กองทัพก็บริหารประเทศเสียสุดยอด ปราบชนกลุ่มน้อยเยอะมากๆ ฆ่ากันมาเรื่อยๆ ทำให้หลังจากปี 1960 รัฐบาลพลเรือนจึงบอกว่า อย่าเลย รัฐบาลพม่าจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็มีการปรับมาเลือกตั้งใหม่ ทหารก็กลับกรมกองไป

ปี 1962 มันก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น การเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคของอูนุกลับมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถเอาประเทศไว้ได้ ชนกลุ่มน้อยเริ่มแข็งข้อขึ้นมาก กลุ่มที่เรียกว่าพรรคคอมนิวสต์พม่าก็เริ่มแข็งข้อ ประชาชนก็ยากจนมาก โดยเฉพาะผู้นำชนกลุ่มน้อยต่างๆ เริ่มเรียกร้อง มีการประชุมกันในเดือนมีนาคม 1962 มีผู้นำชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะเจ้าไทใหญ่ไปประชุมที่ย่างกุ้ง เพื่อที่จะจัดการว่าจะแยกตัวออกแล้ว จะแยกด้วยวิธีการใดที่ไม่ผิด นายพลเนวินก็เลยทำการปฏิวัติในปี 1962 หลังจากนั้น ทหารก็ดำรงมาตลอด

ทหารได้เข้าไปกุมในทุกเรื่อง การเมือง เศรษฐกิจ ทุกๆ อย่าง ขณะเดียวกัน ก็ไม่อนุญาตให้สถาบันอื่นขึ้นมามีส่วนร่วมในการปกครอง เพราะฉะนั้น ภาคการเมือง พรรคการเมือง ภาคประชาชน ก็เลยอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ การที่ทหารเป็นใหญ่ในประเทศพม่า มันมีที่มาที่ไป เมื่อเขาปกครองมาตั้งแต่ปี 1962 จนในปี 1988 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประชาชนช่วงนั้นทนไม่ได้ เพราะทหารไม่สามารถบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจได้ดี ประชาชนยากจนลงตามลำดับ เป็นเหตุให้ผู้คนลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ ปรากฏว่าทหารก็ปราบ ชุดเก่าก็ไป ชุดใหม่ก็มา คือจริงๆ มันก็สับเปลี่ยน (Reshuffle) อยู่ในนั้น แต่ทหารก็ครองอำนาจอยู่ ไม่ว่าจะเป็น SLORC (State Law and Order Revolutionary Council) ก็ดี SPDC (State Peace and Development Council) มันก็คือคนกลุ่มเดียวกัน กลุ่มที่สืบสายทหารเดียวกัน แล้วมันก็นำพามาถึงการปะทุในครั้งนี้ เพราะตั้งแต่ 1988 จนถึงวันนี้ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น สถานการณ์ด้านสังคมมันเลวร้ายลง

ถ้าพูดกันตามจริง สถานการณ์การศึกษา-สาธารณสุขในพม่า มันย่ำแย่มาก การระบาดของเชื้อเอชไอวีรุนแรงมากเป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับพม่าใช้งบประมาณทั้งหมดไปเพื่อบำรุงทหาร ตีเสียว่า 100% นั้น แบ่งไปทหารเสีย 80% นี่ยังไม่รวมงบลับอะไรทั้งหลาย ดังนั้น สถานภาพทางสังคมแย่มาก ประชาชนต้องช่วยตัวเอง มี Black Market (ตลาดมืด) ลักลอบการค้า คือประชาชนต้องช่วยตัวเองมาตลอด มันก็เลยนำมาสู่การประท้วงในครั้งนี้ แล้วทหารก็จะอีหรอบเดิม คือลุกขึ้นมาจัดการ (ปราบ)

ประชาไท - เหตุการณ์ครั้งนี้ มีจุดเหมือนหรือจุดต่างอย่างไรกับเหตุการณ์ในปี 1988

พรพิมล - มีข้อแตกต่างในรายละเอียด แต่จุดใหญ่ใจความเป็นเรื่องเดียวกัน คือปัญหาเศรษฐกิจ มันเป็นปัญหาปากท้องที่ประชาชนทนไม่ได้. คราวก่อน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มนักศึกษา ในปี 1987 อยู่ดีๆ รัฐบาลพม่าก็ลุกขึ้นมายกเลิกธนบัตรหน่วยเล็ก เช่น ธนบัตรฉบับละ 25-30-45 จั๊ต เงินจำนวนเล็กๆ นี้ เป็นเงินที่นักศึกษาถือ เช่น คุณมาจากคะฉิ่น มาเรียนที่ย่างกุ้ง พ่อแม่ก็ไถนา กู้หนี้ยืมสินมาให้ลูก เป็นทุนการศึกษาสำหรับปีนี้ ปรากฏว่าข้ามคืนเงินที่ถืออยู่มันกลายเป็นเศษกระดาษ นักศึกษาจำนวนมากก็ได้รับผลกระทบ มันก็เป็นความไม่พอใจของนักศึกษาอยู่แล้ว แล้วพอไปทะเลาะกับตำรวจแล้วถูกจับ เลยเป็นเรื่องเป็นราว กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด (นักศึกษา) ลุกขึ้นมาเป็นหัวขบวน แล้วประชาชนที่เดือดร้อนด้วยก็ลุกขึ้นมาร่วมด้วยช่วยกัน แล้วก็มีพระบางส่วนเข้าร่วม

คราวนี้ก็เป็นปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน แต่คราวนี้นักศึกษากระจัดกระจาย เพราะตั้งแต่ 1988 มหาวิทยาลัยถูกแยกไปตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง เขาจะไม่ให้มาเรียนหนังสือตามมหาวิทยาลัย แต่ให้ใช้ระบบทางไกล คุณเรียนที่บ้าน แล้วคุณก็มาสอบ เป็นความจงใจที่จะสลายไม่ให้นักศึกษารวมตัว ดังนั้น ขบวนการนักศึกษาตั้งแต่ปี 1988 ก็เลยคลายความเข้มข้นลง แต่ประชาชนรวมตัวได้เร็วกว่า เพราะประชาชนนั้น ตั้งแต่ 1988 เป็นต้นมา เขาต้องช่วยเหลือตัวเอง เกิดเป็นสมาคมเล็กๆ น้อยๆ ลุกขึ้นมาดูแลเด็กกำพร้าที่พ่อแม่ไปเป็นทหาร ที่พ่อแม่เสียชีวิตจากเอชไอวี คนในชุมชนก็ร่วมมือกับวัดในการดูแล เช่น ชุมชนนี้มีแต่โรงเรียน ไม่มีครู หรือมีครูแล้วแต่เงินเดือนไม่พอ ก็ต้องไปทำมาหากิน พระก็เข้ามาร่วมมือกับชาวบ้าน เอาเงินที่ประชาชนไปทำบุญมาจ้างครูดูแลนักเรียน กลายเป็นชุมชนดูแลตัวเองโดยความร่วมมือกับวัด

ตั้งแต่ 1988 ประชาชนกับวัดร่วมมือกันเสมอในการดูแลชุมชนนั้นๆ ดังนั้น พอประชาชนเดือดร้อนขึ้นมา จริงๆ แล้ว ตั้งแต่ปีที่แล้วก็เริ่มมีการประท้วงประปราย ออกมาทีละ 100-200 คิดว่าพระก็เห็นว่า งานนี้ถ้าปล่อยประชาชนโดยไม่มีนักศึกษา และยังไม่ได้รับความสนใจเท่าไร ประชาชนก็อาจจะถูกรังแกได้ง่าย พระจึงอาสาตัวมาเป็นเกราะกำบังให้ ตามความรู้สึก ทั้งพระและประชาชนเขาเห็นอกเห็นใจกัน แล้วเขาช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด เพราะมันต้องช่วยตัวเอง พอประชาชนออกมา พระก็ต้องออกมาด้วย พอประชาชนเดือดร้อน พระก็เดือดร้อนไปด้วย

ช่วงหลัง สมาคมที่เกี่ยวกับมัคทายกเยอะมากที่ดึงชุมชนกับวัดเข้ามาหากัน เพียงแต่หัวข้อพวกนี้ยังเป็นหัวข้อที่ยังไม่มีใครศึกษาวิจัย แต่มีนักวิชาการพม่าที่พูดเรื่องพวกนี้มาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว สมาคมเหล่านี้ประปรายอยู่ และประชาชนก็ร่วมมือกับวัดในการดูแลชุมชน

ประชาไท - อุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชนกับพระสงฆ์แทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

พรพิมล - ใช่ อุดมการณ์คือ ทำอย่างไรจะได้รัฐบาลที่ดีกว่านี้ ทำยังไงถึงจะได้รัฐบาลที่เข้าใจปัญหาของประชาชน ทำยังไงถึงจะได้รัฐบาลที่ให้โอกาสประชาชนในการทำมาหากินที่ดีกว่านี้ นี่เป็นอุดมการณ์เดียวกันของพระกับประชาชนในตอนนี้ ถามว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ จึงมีความหวังมากกว่าไหมปี 1988? ถ้าให้เดา ดิฉันมีความคิดว่า คนที่จะหลั่งไหลเข้ามาจะมากขึ้น เพราะตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา คนทั้ง 47 ล้านรับรู้ถึงความยากลำบากถ้วนหน้ากัน สมัยก่อนชาวนาไม่ค่อยลำบาก ไม่ค่อยเดือดร้อนเวลาข้าวยากหมากแพง เพราะเขาหาข้าวกินได้ แต่ช่วงหลังนี้ ที่นาส่วนใหญ่มันไมได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น เช่น ไม่ค่อยมีปุ๋ย แล้วชาวนาก็ต้องใช้น้ำมันในการดึงน้ำเข้านา อะไรต่างๆ เหล่านี้ในระยะหลัง นอกจากคนในเมืองที่จะเดือดร้อนจากภาวะข้าวยากหมากแพงแล้ว มันก็กระเทือนไปถึงชาวนาด้วย

ฉะนั้น ความเดือดร้อนมันแผ่ไปทั่วโดยเสมอหน้ากัน ราคาน้ำมันที่แพง ไม่ได้ส่งผลสะเทือนเฉพาะชาวบ้านที่ใช้รถเมล์ แต่ชาวนาที่ใช้น้ำมันดีเซลในการปั่นไฟ ดึงระหัดวิดน้ำ ใช้รถอีแต๋น มันกระเทือนถ้วนทั่วไปหมด ความรู้สึกนี้มันเท่ากัน การที่มีคนกลุ่มหนึ่งมาเดินขบวน มันสามารถไปจุดประกายคนอื่นๆ อีกหลายหมื่นหลายแสนคน ดังนั้น ขบวนการที่จะเข้ามา จำนวนคนมันไม่หยุดอยู่แค่นี้ มันจะมากกว่านี้ และจะระเบิดไปทุกๆ ที่ ทุกๆ รัฐ เมื่อออกมามากเท่าไร การที่ทหารจะยิงแบบปี 1988 ดิฉันคิดว่ามันทำให้เขาต้องคิดมากขึ้น เพราะถ้าดูกันจริงๆ ถ้าเป็นแบบสมัยก่อนต้องมีการตูมตามกันไปแล้ว แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะมีการยับยั้งชั่งใจที่นานหน่อย ลักษณะอาการแบบนี้คิดว่าเป็นอาการสติแตกชั่วครู่ ที่พอเห็นคนเยอะๆ แล้วไม่รู้จะทำยังไง มันคุมตัวเองไม่อยู่ ไม่รู้จะจัดการยังไง เป็นอาการละล้าละลัง ถ้าพระออกมาเยอะขึ้น ประชาชนออกมาเยอะขึ้น การยับยั้งชั่งใจจะมีมาก

ประการถัดมา สิ่งที่รัฐบาลเรียนรู้จากปี 1988 คือไม่ว่าคุณจะทำอะไรที่ย่างกุ้ง มันไปรู้ที่เจนีวา มันไปเข้าหูที่ห้องประชุมในนิวยอร์ก มันไปสู่มหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลีย อิทธิฤทธิ์อิทธิเดชของ Global Media มันรุนแรง มีประสิทธิภาพมาก จนทำให้รัฐบาลพม่าต้องตระหนัก เพราะในปี 1988 นั้น เนื่องจากปิดประเทศมานาน ตั้งแต่ปี 1962 ไม่สัมพันธ์กับผู้คน ก็คิดว่านี่เป็นเรื่องภายในพม่า จะฆ่าจะแกงก็เป็นเรื่องภายในบ้าน ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์รู้ แต่พอคราวนี้ เขารู้แล้ว เทคโนโลยีมันทันสมัยเสียจนเขาคิดว่า ถ้าเขาทำอะไรรุนแรงตอนนี้ เขากำลังเป็นจุดสนใจของคนทั่วโลก นี่ทำให้เขาคิดนานมาก คิดนานกว่าเก่าในการจะทำอะไร

นี่คือประสิทธิภาพของไอที แล้วตอนนี้ประชาชนพม่าก็รู้กันหมด เพราะแค่มือถือส่งต่อก็รู้ ไม่ว่าจะคุมอย่างไรก็ไม่สามารถหนีแฮกเกอร์ได้ ดังนั้น ในปี 1988 คนพม่าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ย่างกุ้ง เพราะรัฐบาลคุมได้ เขาต้องดูจากข่าวข้างนอกถึงจะรู้ แต่ตอนนี้ เกิดอะไรขึ้นที่ย่างกุ้งมันรู้ไปทั่ว ดังนั้นอารมณ์ร่วมของคนมันจะเยอะ เขาก็กลัว กลัวคุมอารมณ์ร่วมของคนไม่ได้ กลัวคนภายนอกจะจ้องมอง แล้วปฏิกิริยาที่มามันจะแรงกว่าปี 1988

ถ้าปฏิกิริยาแรงกว่าปี 1988 พม่ามีแต่เสียกับเสีย เพราะในช่วงปี 1962 ถึง 1988 เขาเป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเอง โดดเดี่ยว ปิดประเทศ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจภาคสำคัญของเขาคือภาคพลังงาน แล้วภาคนี้เป็นภาคที่ตัวลงทุนไมได้ ต้องหาเอาจากต่างประเทศ แล้วถ้าทำอะไรที่ต่างประเทศรับไม่ได้ พม่าก็ลำบาก ดังนั้นสิ่งเหล่านี้มันทำให้เขาค่อนข้างย้ำคิดย้ำทำ สิ่งที่ดิฉันคิดว่ามันจะต่างจากปี 1988 คือรัฐบาลคิดนานกว่าเก่าในการที่จะฆ่าประชาชน และเขาคงอยากจะหาทางออก แต่เขาคิดไม่ออก เพราะคนที่คุมกำลังขณะนี้เป็นสายเหยี่ยวหมดเลย ทำไม่เป็น เพราะคนที่ทำเป็นถูกขังอยู่

ตอนปี 1988 นายพลขิ่นยุ่น เข้ามาเคลียร์เหตุการณ์ให้ นานมาก เขาใช้ระบบการข่าว ระบบทหารข่าวทหารสื่อสารเข้าไปแทรกซึม ทำให้ประชาชนไม่กล้าไหวตัว ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน นี่เป็นการทำงานเชิงการเมืองของขิ่นยุ่นหมดเลย แต่ตอนนี้ คนที่ทำเรื่องนี้ไม่มีอยู่แล้ว วิธีเดียวที่ตัวรู้จักก็คือฆ่ายิง ครั้นจะฆ่าจะยิงก็ผลเสียเยอะ ตอนนี้ก็เลยยังช็อคอยู่

ประชาไท - หรือเพราะรอท่าทีของจีนหรือเปล่า เพราะเป็นผู้ลงทุนใหญ่ในพม่า

พรพิมล - คิดว่าถึงที่สุดแล้ว เขาก็ไม่ฟังหรอก ถึงจุดหนึ่งเลือดเข้าตา เขาคิดว่านี่เป็นเรื่องภายในของเขาล้วนๆ แล้วนี่เป็นเรื่องการอยู่รอดของทหาร เขายอมเสีย ถ้าจีนคนเดียวไม่พอ มันต้องจีน อินเดีย แล้วก็อาเซียน ทุกประเทศที่เข้าไปลงทุนในนั้น มันต้องจับมือกัน มันถึงจะมีพลัง และคัดค้านอย่างเดียวไม่ได้แล้ว มันต้องตามด้วยปฏิกิริยา เช่น คุณฆ่าพระ 10 รูป 100 รูป เราถอนเงินจากคุณทันที คุณทำมากขึ้น เราถอนออกทีละ 10% 20% แต่ถ้าคุณไม่หยุด เราถอนออกหมด ถ้าทุกประเทศมีมาตรการอย่างนี้เข้าไปลงทุน มันเห็นหน้าเห็นหลัง แต่ถ้ามีแต่ "เราขอแสดงความห่วงใย.. เราขอร้อง.." อย่างนี้เอาไว้ไม่อยู่

ประชาไท - ถือว่ารัฐบาลพม่ามีความอ่อนไหวต่อการกดดันจากต่างชาติค่อนข้างต่ำ

พรพิมล - ต่ำ ถ้าตัดเรื่องประเด็นเศรษฐกิจไปแล้ว ไม่สนใจเลย เพราะเขายังคิดว่านี่เป็นเรื่องภายในของเขา ขณะเดียวกันเขาก็ถูกบังคับให้เรียนรู้ที่จะต้องพึ่งพาภายนอกโดยไม่รู้ตัว เอาตัวเองไปสัมพันธ์กับมิติโลกโดยไม่รู้ตัว พอตอนนี้จะตัดสินใจอะไร มันเริ่มมีหลายปัจจัยให้ต้องคิด จึงออกอาการละล้าละลังแบบนี้

นับจากนี้ มีสองอย่างคือ เขาหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นได้ด้วยการไม่สลายม็อบ ก็คือหาทางเจรจา ปัญหาก็มีอยู่ว่าจะเจรจากับใคร? ออง ซาน ซู จี นั้น นายพลตันฉ่วยก็ไม่เจรจาด้วย แล้วจะเจรจากับใครที่จะเป็นตัวแทนได้ ที่จะทำให้อุณหภูมิประชาชนลดลง แล้วรัฐบาลพม่าก็สามารถมองหน้าแล้วคุยด้วยได้โดยไม่รังเกียจมาก ก็ต้องหาคนประเภทนั้นขึ้นมาที่จะเป็นตัวกลางทำหน้าที่นี้ ดิฉันคิดว่า ถ้าตกลงตรงนี้ได้ มันน่าจะเป็นทางออกที่ดีและปลอดภัย

ประชาไท - แล้วทางพม่าเริ่มเห็นใคร หรือเห็นกลไกระงับปัญหานี้หรือยัง

พรพิมล - ประชาชนเริ่มเห็นแล้ว แต่รัฐบาลจะยอมรับหรือเปล่า ก็คือกลุ่มนักศึกษา 88 เก่าที่รัฐบาลทยอยปล่อยตัวมาเมื่อไม่นานมานี้ แล้วเขามารวมกลุ่มกัน. 88 Genaration Student กลุ่มใหม่ ที่มารวมกลุ่มกันทำงานร่วมกับประชาชน แต่ตอนนี้ก็ถูกจับไปบ้างแล้วเหมือนกัน ซึ่งถ้าปล่อยตัวอดีตนักศึกษาเสีย แล้วให้มาทำงานร่วมกับประชาชน มาเป็นตัวกลาง เป็นผู้แทนประชาชน แล้วมีตัวแทนของพระสงฆ์เข้าไปคุยกับรัฐบาลว่าจะพบกันครึ่งทางอย่างไร เพราะข้อเรียกร้องของประชาชนไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ขับไล่ทหาร แต่เป็นเรื่องปากท้อง ไม่ให้เข่นฆ่า ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ทหาร ที่รัฐบาล ทำได้หมดเลย

เพียงแต่ว่า ประเทศนี้เป็นประเทศที่กลัวการเสียหน้าที่สุด กลัวการเสียศักดิ์ศรีมากที่สุด ดังนั้น ทางลงที่ win-win กันทั้งหมด แล้วคนที่สามารถเป็นตัวกลางได้จริงนั้น ถ้าหาเจอ โอกาสในการฆ่าก็จะชะลอไป แต่นั่นมิได้หมายความว่าจะไม่มีการฆ่า เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่เขาเคยชิน เขาใช้เงินทั้งหมดตั้งแต่ช่วง 1988 ที่ขายอะไรต่อมิอะไรก็เพื่อการนี้โดยเฉพาะ คือทำให้ทหารเข้มแข็ง มีอาวุธที่ดี มีการปราบปรามที่มีประสิทธิภาพ มันก็อยากลอง จะให้รบกับใคร รบกับไทย รบกับจีนหรือ? ก็รบกับคนของเขาเอง ไม่รบกับชนกลุ่มน้อย ก็ปราบปรามประชาชน มันมีอาวุธยุทโธปกรณ์เต็มที่ กำลังพลเต็มที่ และเรียนรู้เทคโนโลยีมาใหม่ๆ

ประชาไท - บทบาทและสถานะของพระในสังคมพม่าเป็นอย่างไร ดูเหมือนจะมีสถานะที่สูงมากในสังคม

พรพิมล - ใช่ คนที่คิดยุทธศาสตร์ให้พระออกมานี้เป็นคนที่เก่งมาก เพราะเป็นคนที่มองจุดแข็งของสังคมพม่า พระในสังคมพม่า พระกับศาสนาเป็นสถาบันที่สูงส่ง ประชาชนนับถือ ดิฉันยังคิดว่า ช่วงแรกที่พระออกมานั้น ทหารคงอยากจะวางปืนแล้วนั่งไหว้ เวลาคนพม่าไหว้พระ เขาต้องนั่งลง นั่งยองๆ แล้วยกมือ การที่พระมีสถานะที่สูงส่งอยู่แล้ว แล้วประชาชนพม่าก็มีศาสนาเป็นสรณะ ตั้งแต่ปี 1988 ประชาชนไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดถือนอกจากศาสนา แล้วทั้งชีวิตก็ขอให้มีข้าวกิน มีเงินทำบุญ นี่คือสิ่งที่ปรารถนาสูงสุดในพม่า เพราะฉะนั้นสถาบันนี้เป็นสถาบันที่มีความหมาย

ดังนั้น พระจึงปวารณาตัวออกมา เพราะเป็นที่นับถือ จริงๆ แล้วมันก็เหมือนเป็นการฉีกหน้ากากผู้นำทหารเช่นกัน เพราะผู้นำชุดนี้จะชอบพูดว่าตัวเองเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด เข้าวัด ทำบุญ โทรทัศน์พม่าจะมีแต่สีเหลืองกับสีเขียว เขียวคือ ทหารไปทำบุญที่วัด ทีนี้เมื่อตัวเองปวารณาตัวเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี แต่ถ้าตัวเองสั่งให้ทหารใต้บังคับบัญชาของคุณยิงพระ ต่อไปนี้คุณไม่ต้องมีหน้าไปบอกใครเลยว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด พระเองก็จับจุดอ่อนตรงนี้ได้ พระก็ออกมาเลยว่า ถ้าเคลื่อนไปเป็นขบวนแบบนี้ แล้วทหารจะมีการยับยั้งชั่งใจไหม

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ 88 (ค.ศ.1988) กับยุทธศาสตร์ 07 (ค.ศ.2007) ต่างกันโดยสิ้นเชิง ยุทธศาสตร์ 07 นี้ ดิฉันคิดว่าเป็นยุทธศาสตร์อหิงสา. อดีตนักศึกษาที่เป็นโฆษกของรัฐบาลพลัดถิ่นบอกว่า ในการเดินขบวน มีการปรามว่า ประชาชนห้ามไปเกเร ห้ามไปขโมยหยิบฉวยข้าวของเครื่องใช้ตามร้านค้าข้างทาง ให้เดินโดยสงบ พระอยู่ตรงกลาง ประชาชนอยู่รอบนอก แล้วก็ให้สวดมนต์ ห้ามก่อกวน ห้ามส่งเสียงเกกมะเหรกเชิงหัวไม้ ให้อยู่ในความสงบที่สุด ยุทธศาสตร์นี้ไม่มีในช่วง 1988 ที่ประชาชนโกรธทหารแล้วจะเข้าไปตีร้านค้าของรัฐบาล แต่ครั้งนี้เขาห้ามเด็ดขาด ถ้าใครทำจะถูกดึงตัวออก มีการคุมกันดีมาก ดังนั้น ยุทธศาสตร์ใช้ความเป็นอหิงสา ใช้ความสงบเรียบร้อย สงบสยบความเคลื่อนไหว ถ้ามีภาพที่ทหารรังแกกลุ่มเหล่านี้ มันเป็นภาพที่ลบมากๆ ยุทธศาสตร์การเคลื่อนครั้งนี้จึงน่าสนใจ

ประชาไท - แกนนำในการเคลื่อนไหวมาจากกลุ่มไหน

พรพิมล - ยังไม่รู้ว่าเป็นกลุ่มไหน แต่เท่าที่มอง มีการจัดตั้งมาที่ดี มีการวางแผนที่ดี แล้วส่งต่อกันเป็นแนว แน่ใจว่าต้องมีกลุ่มที่วางระบบดูแล ตัวเองอยากคิดว่าเป็นกลุ่มอดีตนักศึกษา 88 เพราะกลุ่มนี้กระจายตัวเข้าไปอยู่กับพระมานานแล้ว คิดว่าคงจะมีการพูดถึงเรื่องนี้มาปีสองปี ว่าถ้าเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นมาจะทำอย่างไร เพราะมันมีลางบอกเหตุความไม่พอใจขึ้น

ถ้าคุณได้ดูคลิปวิดีโองานแต่งงานลูกสาวตันฉ่วย คุณต้องดู… เพชรเม็ดใหญ่ ใส่หลายชั้น ทั้งมงกุฏ แหวน และกำไล และเป็นงานแต่งงานที่หรูหรามาก ประชาชนไม่มีจะกินต้องหนีมาทำงานบ้านเรา วิดีโอคลิปนี้มันออกมาช่วงปลายปี 2006 อลังการงานสร้างมาก งานแต่งงานนี้ประชาชนเห็นก็ช็อค นี่คือการอยู่ดีมีสุขของผู้นำ แล้วเขาก็เข้าไปถ่ายในห้องหอ มันทำให้ประชาชนกรุ่น เดี๋ยวข้าวก็ขึ้นราคา เดี๋ยวกระดาษก็ขึ้นราคา

มีอยู่ครั้ง คนแก่อายุ 62 ปี วันดีคืนดีก็เขียนข้อความใส่กระดาษไปติดหน้าบ้านว่า ทำไมกระดาษถึงขึ้นราคามาก ทำให้หนังสือพิมพ์ไม่มีคุณภาพ หนังสือพิมพ์ก็ลงแต่ข่าวชวนเชื่อ (Propaganda) มันมีแบบนี้เป็นระลอกๆ เดี๋ยวคน 50 คนก็ไปนั่งจุดเทียนที่มหาเจดีย์ชเวดากอง ทุกวันอังคารจะมีคนไปสวดมนต์ให้นางออง ซาน ซู จี เพื่อให้นางออง ซาน ซู จี ได้รับการปล่อยตัว ไปเดินขบวน 100 คน เสร็จแล้วก็เดินกลับบ้าน มันเงียบๆ ประปราย ยุทธศาสตร์เหล่านี้มันได้รับการทดลองเรื่อยมาว่า ยุทธศาสตร์ไหนมันจะปลอดภัยสำหรับประชาชน นี่เป็นการคาดเดาจากสิ่งบอกเหตุต่างๆ คิดว่าไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีการวางแผน เพียงแต่ว่าสถานการณ์มันสุกงอม พอมันขึ้นราคาน้ำมัน 500% มันก็เหมือนจุดไฟแล้ว ประทัดก็ดังขึ้นมาทันที

ประชาไท - เรื่องนี้จะมีผลต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างไรบ้าง

พรพิมล - มีข่าวว่ากลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน แต่ดิฉันคิดว่า ตอนนี้ให้มันเป็นเรื่องของปากท้องประชาชนก่อน อย่าเอาเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเด็ดขาด ถ้าชนกลุ่มน้อยเข้ามาร่วมด้วย มันจะเป็นประเด็นการเมือง ชนกลุ่มน้อยตอนนี้อยู่เฉยๆ ดีที่สุด แสดงความห่วงใย แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่ง หรือเมื่อรัฐบาลคุยกับประชาชนในระดับหนึ่งแล้ว รอจังหวะแล้วค่อยคุยกัน แต่บางคนไม่เห็นด้วย บอกว่าน่าจะเปิดโต๊ะเจรจาเลย คือรัฐบาลพม่าเขาคิดได้ทีละเรื่อง ทำได้ทีละเรื่อง เขารับมือได้ทีละเรื่องจริงๆ นะ มาพร้อมกันเขารับไม่ได้ ใครต่อใครมักมีมุมมองต่อรัฐทหารพม่าในลักษณะนี้ จริงๆ แล้วมันอาจจะผิดก็ได้ แต่เพราะข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้นำพม่า มันไม่มีใครรับรู้ เพื่อนที่เป็นนักวิชาการจากฟิลิปปินส์ถามว่า ทำเรื่องพม่ามานาน รู้ไหมว่าตันฉ่วยชอบอ่านหนังสือประเภทไหน ก็ตอบไม่ได้ อ่านหนังสือปรัชญา อ่านหนังสือพุทธศาสน์ อ่านเรื่องผี หรือไม่อ่าน. ตอบไม่ได้ เพราะข้อมูลพวกนี้ มันเป็นข้อมูลที่ไม่ได้กระจายออกมา

สิ่งที่จะบอกคือ คนที่จะเข้าใจระบบคิด ระบบตรรกะของพวกผู้นำ เข้าใจได้น้อยมาก พอเข้าใจได้น้อย ก็จะคาดเดาสิ่งที่เขาจะทำได้ยาก แต่สิ่งที่คาดเดามาทั้งหมดนี้ดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ว่าถ้าเขาเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ เขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร จะตอบโต้ด้วยวิธีใด หรือจะรับมืออย่างไร แต่จริงๆ แล้ว คิดยังไง ตอบยาก. อย่างเราจะรู้ว่า พลเอกสุรยุทธ์ (จุลานนท์) จะไปแนวไหน, สพรั่ง (กัลยาณมิตร) จะออกแนวไหน เราพอรู้, แต่นี่เราไม่รู้ หม่องเอ มีข่าวลือว่าหม่องเอขี้เมา บางคนบอกไม่ใช่ หม่องเอเคร่งศาสนามากและรักลูกรักเมีย รักครอบครัว ตันฉ่วยอยากกลับไปเป็นพระจักรพรรดิใหม่ แต่นั่นเป็นเรื่องลือกันไปมา

ประชาไท - ประเทศไทยควรจะทำอะไร

พรพิมล - ประเทศไทย นอกจากจะแสดงความห่วงใย ตอนนี้ต้องเข้า war roomแล้ว, war room ในที่นี้ ต้องตั้งคำถามว่า ถ้าปราบปรามใหญ่ จะตั้งรับยังไงบริเวณชายแดน นั่นข้อที่หนึ่ง ถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลง ทุนต่างๆ ที่เข้าไปในรัฐพม่า จะตั้งรับอย่างไร รัฐบาลไทยต้องคิดแล้ว และคุณจะแถลงการณ์ต่อการฆ่าพระอย่างไรในฐานะที่เป็นประเทศพุทธศาสนา ถ้ามีการฆ่าพระ รัฐบาลไทยจะมีมาตรการอะไรที่จะแสดงต่อรัฐบาลพม่า คือต้องยืนยันว่าจะมีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร ในฐานะประเทศที่นับถือพุทธที่อยากจะบรรจุในรัฐธรรมนูญเหลือเกิน คุณต้องประกาศตัวแล้วว่าจะทำอย่างไร

ขณะนี้คุณแสดงจุดยืนได้แล้ว ว่าจะไม่ยอมรับการกระทำที่มากไปกว่านี้ แล้วต้องตั้งรับว่า ถ้าคนทะลักเข้ามาเป็นแสนจะพาเขาไปที่ไหน จะให้เขาอยู่ที่ไหน หรือจะปล่อยไปตามยถากรรม หรือจะปิดชายแดน หากถามว่าความเข้าใจของสังคมไทยที่มีต่อผู้ลี้ภัยเป็นอย่างไร คำตอบคือเดี๋ยวนี้ดีขึ้น เพราะภาคประชาสังคมได้ซึมซับความรู้สึกจากบรรดา 'มุหน่อ' ทั้งหลาย มุหน่อคือสาวใช้ประจำบ้าน คือบ้านทุกบ้าน ไม่บ้านคุณ ก็บ้านเพื่อนบ้านคุณ หรือถัดไปอีกสองหลัง ไม่มีสาวใช้เป็นกะเหรี่ยง ก็เป็นมอญ ก็เป็นคะฉิ่น ก็เป็นพม่า 1-2 ล้านคนที่อยู่ในประเทศไทยตอนนี้ มันทำให้คนไทยที่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนเหล่านี้ เริ่มเข้าใจความรู้สึกและสถานการณ์ต่างๆ ของคนพม่ามากขึ้น ถ้าเปรียบเทียบตอนนี้กับตอน 88 (1988) ตอนนี้คนสนใจเรื่องนี้มาก เพราะเด็กที่บ้านนั่งร้องไห้ ถามว่าทำไม เป็นห่วงพ่อ เป็นห่วงแม่ ก็เริ่มมีความสนใจจากภาคประชาสังคมไทย

ดิฉันคิดว่า ปี 1988 กับปี 2007 ปฏิกิริยาจากภาคสังคมไทยต่างกันมาก และถ้ามีอะไร อาจจะมีคนเข้าไปช่วยกันพูด ช่วยกันทำ ซึ่งรัฐบาลไทยก็ต้องหันมาช่วยกันสนใจเรื่องนี้มากขึ้น นอกเหนือจากเป็นห่วงเป็นใยชายแดนกับการลงทุน

 

ข่าวล่าสุด
Burma: Thousands dead in massacre of the monks dumped in the jungle
By MARCUS OSCARSSON
Last updated at 15:04pm on 1st October 2007


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

A wave of anti-government protests started in Myanmar (also known as Burma) on August 15, 2007 and are ongoing. The immediate cause of the protests was mainly the decision of the ruling junta, the State Peace and Development Council, to remove fuel subsidies, as IMF and World Bank recommended[1][2], increasing the price on fuel by as much as 100%.[3] Led by students and opposition political activists, the protest demonstrations were at first dealt with quickly and harshly by the junta, with dozens of protesters arrested and detained. Starting September 18, the protests had been led by thousands of Buddhist monks, and those protests had been allowed to proceed until a renewed government crackdown on September 26.[4] During the crack-down, there have been various rumors of disagreement within the Burmese military, but none have been confirmed. Some news reports are referring to the protests as the Saffron Revolution.[5][6]

On October 1, the Daily Mail newspaper in the United Kingdom quoted Hla Win, who it said was a "former intelligence officer for Burma's ruling junta", as saying that "several thousand" people had been killed in recent days, and that he had decided to desert and flee the country after he had been ordered "to raid two monasteries and force several hundred monks onto trucks. They were to be killed and their bodies dumped deep inside the jungle. I refused to participate in this."