โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 14 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๓๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 14, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ในคิวบา คนวัยทํางานมีรายได้เทียบเป็นเงินไทยตกราวเดือนละหนึ่งพันบาท แต่ข้าวของอาหารการกินถูก กว่าเมืองไทยหลายเท่าตัว กาแฟแก้วละเจ็ดสิบสตางค์ แฮมเบอร์เกอร์เนื้อ กับข้าวผัด จานละสี่บาท ขนม นมเนยก็อยู่ในราคาเดียวกันนี้ วิถีชีวิตและความสามารถในการจับจ่ายเทียบได้ประมาณชนชั้นกลางกึ่งล่างในจังหวัดขนาดกลางของไทย แต่ความแตกต่างคือ พวกเขาไม่ได้ถูกทําให้รู้สึกว่าจนอยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่าต้องหาเพิ่ม ต้องมี หรือรู้สึกด้อยกว่าจนกว่าเมื่อเทียบกับคนรวย หรือชนชั้นพ่อค้าข้างบ้าน… เรียกได้ว่าประเทศนี้ไม่มีคนจน
14-08-2550

Cuba & Malaysia
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

แนวทางสังคมนิยม และแนวคิดปรัชญาซูฟีในโลกสมัยใหม่
จากคอมมิวนิสต์คิวบา ถึงขบวนการอิสลามมาเลเซียสมัยใหม่
สุขทวี สุวรรณชัยรบ - อะฮ์มัด เฟาซี อับดุล ฮามิด
รวมรวมโดย กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วยบทความ ๒ เรื่อง
๑. จดหมายจากคิวบา : ในวันนี้ที่อุดมการณ์ยังไม่ตาย - Hasta la Victoria, Siempre
(เขียนโดย: สุขทวี สุวรรณชัยรบ,อาจารย์วิชาสันติภาพฯ มหาวิทยาลัยอเมริกานา ประเทศนิคารากัว)
๒. ขบวนการอิสลามมาเลเซีย จาก "ดารุล อาร์กัม" ถึง "รูฟากา" (เขียนโดย: อะฮ์มัด เฟาซี อับดุล ฮามิด)


โดยเรื่องแรก เป็นการนำเสนอสิ่งซึ่งผู้เขียนได้พบเห็นในการไปเยือนประเทศสาธารณรัฐคิวบา
โดยสาระสำคัญประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้ สาธารณรัฐคิวบา - ชีวิตที่พึงพอใจ,
ประธานาธิบดี ฟิเดล คาสโตร, สินค้ายอดนิยมของคิวบากำลังเปลี่ยนไป, คิวบาส่งออกแพทย์ไปทั่วโลก,
คิวบากับเวเนซุเอลา, เรื่องของนโยบายการท่องเที่ยวในคิวบา,

ส่วนเรื่องที่สอง เป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการอิสลามมาเลเซียสมัยใหม่ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ
ดังต่อไปนี้: พลวัตของความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง ในขบวนการเคลื่อนไหวของอิสลามในมาเลเซีย,
ธุรกิจของรูฟากา ที่กระจายอยู่ทั่วโลก, ความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและวิถีแห่งการปฏิบัติ
ของอุสตาซอาฮาอารีต่อการพัฒนาของศาสนาอิสลาม, อุดมการณ์ของการฟื้นฟูลัทธิซูฟี,
ซูฟี : ชำระล้างจิตใจให้พ้นจากเรื่องของตนเอง, ความแตกต่างระหว่าง "ดารุล อาร์กัม" กับ "รูฟากา",
ปรัชญาของรูฟากา, รูฟากา กับวัฒนธรรมหลากหลายในยุคโลกาภิวัตน์,
การบูรณาการบทบาทของผู้หญิงเข้ากับโครงการรูฟากา, ความสัมพันธ์ระหว่างรูฟากาและรัฐมาเลเซีย:
การเปรียบเทียบและความแตกต่างในยุทธศาสตร์การพัฒนา
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสม
สำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้า
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๓๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

1. จดหมายจากคิวบา : ในวันนี้ที่อุดมการณ์ยังไม่ตาย
สุขทวี สุวรรณชัยรบ : อาจารย์วิชาสันติภาพและการแก้ไขข้อขัดแย้ง
มหาวิทยาลัยอเมริกานา ประเทศนิคารากัว

ความนำ
๕ เมษายน๒๕๕๐ อาบานาคูบา. บนโลกที่ระบบเศรษฐกิจวัฒนธรรมและโลกทรรศน์แบบทุนนิยมเสรี ใครดีใครได้แผ่สืบสอดไปทั่วทุกมุมหมู่บ้าน และเมืองใหญ่ กลาง เล็กทั่วโลก ยังมีอีกประเทศ อีกสังคมและอีกกลุ่มชนที่ไม่ยอมรับระบบอันไม่เป็นธรรมทั้งต่อมนุษย์ด้วยกันและต่อธรรมชาติ นั่นคือสาธารณรัฐคิวบา ซึ่งเรามักได้ยินกันอยู่เสมอว่า อุดมการณ์ตายแล้ว คอมมิวนิสต์ตายแล้ว สังคมทุนนิยมคือระบบที่เป็นไปได้จริงและดีที่สุด

จีน เปิดประเทศและเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก พร้อมประกาศว่าใครรวยได้รวยไปก่อนแล้ว ความเติบโตทางเศรษฐกิจจะช่วยให้สังคมโดยรวมรุ่งเรืองตามไปเอง แม้แต่ลาวและเวียดนาม ก็ใช้นโยบายเดียวกันนี้กับระบอบการปกครองที่พวกเขาเรียกว่าคอมมิวนิสต์ จนหลายคนนึกไปว่าคอมมิวนิสต์คือระบบเผด็จการที่มีพรรคการเมืองเดียว อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ตายแล้ว จะเหลือก็แต่ซากอันเป็นข้ออ้างของกลุ่มผู้ปกครองในลาว จีน เวียดนาม ที่เอาไว้ใช้สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง(ว่ากันอย่างนั้น) แต่อุดมการณ์ยังไม่ตาย ยังมีอยู่โดยทั่ว ยังกินได้และกินได้ดีกว่าความคิดมองโลกในแง่ร้ายเชิงแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น

สาธารณรัฐคิวบา - ชีวิตที่พึงพอใจ
คิวบา เกาะไม่ใหญ่ไม่เล็กยาวประมาณเชียงรายถึงระนอง กว้างขนาดกรุงเทพถึงอุบลราชธานี วางขวางตัวพาดกลางทะเลคาริบเบียนห่างจากไมอามี่ เมืองใหญ่ของรัฐฟลอริดาเพียงหนึ่งชั่วโมงบิน ผู้คนเกือบทั้งหมดของประเทศมีสภาพความเป็นอยู่พอกิน มีระบบการศึกษารักษาพยาบาลและสาธารณูปโภคที่ดีทั่วถึงและฟรี นี่คือผลของอุดมการณ์ที่ต้องการสร้างสังคมอันเท่าเทียมและเป็นธรรม

ในคิวบา คนวัยทํางานมีรายได้เทียบเป็นเงินไทยตกราวเดือนละหนึ่งพันบาท แต่ข้าวของอาหารการกินถูก กว่าเมืองไทยหลายเท่าตัว กาแฟแก้วละเจ็ดสิบสตางค์ แฮมเบอร์เกอร์เนื้อกับข้าวผัดจานละสี่บาท ขนม นมเนยก็อยู่ในราคาเดียวกันนี้ วิถีชีวิตและความสามารถในการจับจ่ายเทียบได้ประมาณชนชั้นกลางกึ่งล่างในจังหวัดขนาดกลางของไทย แต่ความแตกต่างคือ พวกเขาไม่ได้ถูกทําให้รู้สึกว่าจนอยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่าต้องหาเพิ่ม ต้องมี หรือรู้สึกด้อยกว่าจนกว่าเมื่อเทียบกับคนรวยหรือชนชั้นพ่อค้าข้างบ้าน

ความรู้สึกที่ว่าตนไม่จนนั้นทําให้คุณภาพจิตและมุมมองต่อชีวิตของชาวคิวบา แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากชนชั้นกลางไทยและในอีกหลายประเทศ เรียกได้ว่าประเทศนี้ไม่มีคนจน ในคิวบาคนอ้วนหายาก ไม่มีใครมีเหลือกินเหลือ หรือใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ทุกคนออกกําลังและทํางานเสมอ ไม่มีสถานีโทรทัศน์ที่วันๆ มีแต่โฆษณากระตุ้นการบริโภคอย่างบ้าคลั่ง และละครหลังข่าวไร้คุณภาพ แต่มีภาพยนตร์และสารคดีชั้นดีฉายให้ชมอยู่ตลอดเวลา

อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ในคิวบาคือความเท่าเทียมกันของชนชั้นและชาติพันธุ์ เท่าที่เคยประสบพบมาในหลายสังคม หลากมุมโลก ต้องยอมรับว่าไม่เคยจะเห็นสังคมใดที่คนขาว คนดํา คนผิวแดง ผิวเหลืองจะมีสถานภาพทางสังคมเท่าเทียมกันได้ขนาดนี้ เด็กผิวดํา เด็กผิวขาวเล่นเบสบอลข้างถนนด้วยกันโดยที่พ่อแม้ไม่มาคอยห้ามปรามกีดกันเหมือนในอเมริกา ยุโรป หรือแอฟริกา. ลูกคนจีนตาเฉี่ยวกับเด็กคอเคเชียนตาสีฟ้าใสเดทกันเป็นคู่ ความรักก็ไม่มีใครเห็นว่าแปลก

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้สร้างสํานึกความเป็นชาติร่วมกันขึ้นมา ด้วยความเกี่ยวเนื่องทางเผ่าพันธุ์ แม้แต่อเมริกาที่ชอบพูดว่า ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติในประเทศมีสิทธิเท่าเทียมกันแต่ ตามพฤตินัยเจ้าของประเทศคือคนขาว โดยส่วนมากแล้วในเขตรัฐหนึ่งๆ ที่มีชนชาติหลากหลาย แต่ละชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อย มักจะสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตน บ้างปรองดองกันได้ดี บ้างขัดแย้งอยู่เรื่อยไป แตกต่างไปตามอัตลักษณ์ของกลุ่มนั้นๆ คนกลุ่มน้อยที่ทําตัวเป็นคนกลุ่มใหญ่มักจะถูกล้อเลียน เช่นคนดําอยากเป็นคนขาว หรือในทางกลับ กันคนขาวที่อยากแต่งตัวเป็นคนดําและร้องเพลงแร็ป ก็มักถูกเหน็บแนม

แต่ในคิวบา ลักษณะการแสดงออกทาง วัฒนธรรมหรือค่านิยมต่างๆ ได้ถูกหล่อหลอมอย่างไม่แบ่งแยก ทุกคืนที่คาสาเดลามูสิกา(Casa de la Musica) ผับเต้นรําระดับตํานานบนฟลอร์ จะมีหนุ่มตี๋ควงสาวผิวดําเต้นซาลซ่าอย่างร้อนแรง สาวผมทองสะบัดก้นเอวอ่อนอย่างที่คนส่วนใหญ่คิดว่า จะมีแต่ผู้หญิงละตินผิวแทนเท่านั้นที่ทําได้ ทุกคนดูเป็นหนึ่งเดียวแต่เต็มไป ด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์

ประธานาธิบดี ฟิเดล คาสโตร
Fidel Alejandro Castro Ruz (born August 13, 1926)
หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย และประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ฝั่งยุโรปตะวันตกได้เปลี่ยนแปลงกลายเป็น ประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี รวมทั้งลาว จีน และเวียตนาม ที่กลายเป็นทุนนิยมเช่นกัน แต่ยังไม่มีประชาธิปไตย ใครๆ ก็คิดว่าคงจะถึงคราวของคิวบา แต่วันนี้คิวบาก็ยังคือคิวบาประเทศสังคมนิยมที่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์สร้างสังคมที่เท่าเทียมเป็นธรรม และไม่เห็นแก่ตัว. ประธานาธิบดีของคิวบา"ฟิเดล คาสโตร" ไม่ใช่ผู้นําประเทศที่เป็นทหารเผด็จการ ความคิดคับแคบ เขาจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์และเป็นนักวิชาการที่เข้าใจระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลกเป็นอย่างดี บทปาฐกถาในสถานที่ต่างๆ รวมถึงหนังสือที่เขาเขียนขึ้น บ่งบอกว่าฟิเดลรู้ดีถึงประวัติศาสตร์การเงินระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้ง

เขาเขียนวิเคราะห์แนวคิดเบร็ตตัน วูดส์, การออกพันธบัตรแบบใช้ทองคําสํารอง และการก่อตั้งองค์กรการค้าโลกได้อย่างลึกซึ้ง และอธิบายอย่างเป็นระบบว่าเนื้อหาโดยแท้จริงของสถาบันและระบบการเงินเหล่านี้ ใน ความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้ประเทศร่ำรวย ให้สามารถรักษาความได้เปรียบอยู่เสมอแม้จะกล่าวอ้างซ้ำอยู่เสมอถึงการสร้างความเท่าเทียมและเสมอภาค แต่ในความเป็นจริงความสามารถในการแข่งขันที่ไม่เท่ากัน ทําให้ประเทศยากจนเสียเปรียบและจนลงเรื่อยๆ

รูปแบบระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ฟิเดล และนักเศรษฐศาสตร์นอกกระแสหลายคนประณามว่าเป็นจักรวรรดินิยมรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องใช้ปืนหรือทหาร แต่ใช้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจขู่บังคับ และการให้ความช่วยเหลือที่แนบมากับการควบคุม ซึ่งโดยเนื้อหาและผลลัพธ์นั้นไม่ต่างไปจากการเอาเรือกลไฟไปจ่อเมืองหลวงแล้วบังคับให้เป็นเมืองขึ้น

หลังปฏิวัติสําเร็จเมื่อเกือบห้าสิบปีที่แล้ว ฟิเดลโอนกิจการอุตสาหกรรมและธุรกิจหลายอย่างให้เป็นของรัฐ แต่ให้ หน่วยงานส่วนภูมิภาคจัดการกันเองโดยไม่ยึดรวมศูนย์ รัฐบาลใหม่ของฟิเดลออกกฎหมายจํากัดสินทรัพย์โดยไม่ให้ผู้ใดมีที่ดินเกินกําหนด ใครมีบ้านเกินหนึ่งหลังต้องเลือกเอาหนึ่งแล้วมอบที่เหลือให้รัฐนําไปมอบให้คนที่ไม่มี

สินค้ายอดนิยมของคิวบากำลังเปลี่ยนไป
รัฐบาลสร้างสหกรณ์รับซื้อพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์จากเกษตรกรแล้วนํามาแบ่งคืนประชาชนที่ต้องใช้แรงงานด้านอื่น ส่วนที่เหลือนํามาจําหน่ายในราคาถูก หากผู้ใดต้องการเพิ่ม คิวบามีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ดีมาก อากาศไม่ร้อนไม่หนาวเฉลี่ย ๒๕ องศาตลอดปี ฝนตกดีหลายเดือน สินค้าหลักของคิวบาเดิมคือ น้ำตาล ใบยาสูบ และซิการ์ ในอดีตคิวบาส่งออกค้าขายกับสหภาพโซเวียตและได้รับความช่วยเหลือในหลายๆ ด้านจนพัฒนาขึ้นมาเป็น ประเทศชั้นนําที่หลายประเทศต้องอิจฉา แต่เมื่อไม่มีโซเวียตแล้ว คิวบาก็ยังอยู่ได้

เมื่อสิบปีที่แล้วเป็นปีที่แล้งและพืชพรรณได้รับความเสียหาย ส่งออกน้ำตาลได้น้อย ฟิเดลจึงระดมนโยบายสร้างความหลากหลายของรูปแบบ สินค้าและการผลิต และลดการพึ่งพาสินค้านําเข้า เพื่อรับมือการอนาคตทางความไม่แน่นอนของผลผลิตทางการเกษตร เน้นพัฒนาคุณภาพการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ทุกวันนี้สินค้าส่งออกที่โด่งดังของคิวบาไม่ใช่น้ำตาลและซิการ์ แต่เป็นโค้ชนักกีฬาอาชีพและหมอซึ่งรายได้ของพวกเขาที่ได้รับในต่างประเทศกว่าครึ่ง จะถูกหักภาษีกลับมาช่วยในประเทศ คนไทยคงคุ้นเคยดีถึงความสามารถของโค้ชและนักกีฬาคิวบา แต่ที่ได้รับการยกย่องอย่างมากคือความก้าวหน้าทางการแพทย์และการผลิตหมอได้เป็นจํานวนมากในแต่ละปี

คิวบาส่งออกแพทย์ไปทั่วโลก
ตามสถิติจากหนังสือพิมพ์แกรนมาของคิวบา ทั่วทั้งเกาะคิวบามีหมออยู่ ๗๑ , ๐๐๐ คน นับเป็นจํานวนเฉลี่ยต่อประชากรมากกว่าประเทศโลกที่หนึ่งหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ปีที่แล้วมีนักศึกษาแพทย์รวมจํานวน ๑,๕๙๓ คนจาก ๒๖ ประเทศจบการศึกษาจากคิวบา. คิวบาส่งแพทย์อาสาสมัครไปยัง ๖๘ ประเทศทั่วโลกโดยเน้นที่ประเทศยากจน นักศึกษาแพทย์เหล่านี้ไม่เพียงได้รับการศึกษาให้รักษาผู้ป่วยเป็นเท่านั้น แต่ได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์เน้นการทํางานเพื่อผู้ยากไร้ โดยไม่หวังความร่ำรวย ในพิธีจบการศึกษาพวกเขาทําพิธีสาบานว่าจะรักษาจริยธรรมทางการแพทย์ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใหนของโลก และจะทํางานเพื่อประชาชนโดยเน้นกลุ่มคนที่ยากลําบากที่สุดก่อน คิวบาส่งออกแพทย์เหล่านี้ในหลายประเทศแบบให้เปล่าในสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินและสงคราม และเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาการแพทย์ในประเทศที่ยากจน

ที่ปากีสถานช่วงหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเขตแคชเมียร์ครั้งใหญ่ในสองปีที่แล้ว หมอจากคิวบาสู้หนาว ช่วยผู้บาดเจ็บอยู่ตามเขตภูเขาและเมืองหลัก ข้าพเจ้าเห็นพวกเขาซื้อเสื้อกันหนาวในตลาดที่กรุงอิสลามาบัด ทุกคน ดูอ่อนน้อมถ่อมตนปนตลกสไตล์คิวบา ทําให้ชาวปากีสถานพูดคุยต้อนรับพวกเขาเป็นอย่างดี หมอคิวบา เหล่านี้ไม่มีทีท่าขี้โอ่หยิบโหย่งเหมือหมอหลายคนจากประเทศอื่นๆ

คิวบากับเวเนซุเอลา
กับเวเนซูเอลา ประเทศที่ประกาศตัวต่อต้านระบบจักรวรรดินิยมอเมริกา คิวบาแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือทาง การแพทย์กับน้ำมัน ซึ่งเวเนซูเอลามีอยู่มากมายมหาศาล เป็นการแลกเปลี่ยนโดยไม่ใช้เงินหรือการคํานวณเป็น ค่าเงิน ต่างกับการแลกข้าวกับเครื่องบินรบระหว่างไทยกับรัสเซีย ประเทศในเขตละตินอเมริกาที่มีรัฐบาลจากฝ่ายซ้ายสังคมนิยม เช่น นิคารากัว โบลิเวีย เวเนซูเอลา และคิวบา ต่างรวมตัวเป็นพันธมิตรและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

เมื่อสองวันก่อนข้าพเจ้าถามคนขับแท็กซี่ในเมืองคามากูเอย ทางภาคกลางของคิวบาว่า คิวบาแลกหมอกับน้ำมันจากเวเนซูเอลา แต่นิคารากัวเป็นประเทศยากจนจะแลกเอาอะไร คนขับแท็กซี่บอกซื่อๆ 'ก็ไม่ต้องแลก เราก็ช่วยไปก่อนวันไหนนิคารากัวมีอะไรก็ค่อยให้มา' ความคิดแบบนี้รัฐมนตรีประเทศทุนนิยมและซีอีโอหลายบริษัทคงคิดไปไม่ถึง อุดมการณ์แบบนี้ใช้ตรรกะแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอธิบายไม่ได้ ข้าพเจ้าค่อนข้างทึ่งและรู้สึกคารวะแล้วส่งซิการ์รสแรงแท่งละสองบาทให้หนึ่งมวน

เรื่องของนโยบายการท่องเที่ยวในคิวบา
มหาวิทยาลัยฮาวานา ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.๑๗๒๘ เกือบสามร้อยปีที่แล้ว คิวบาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเมื่อสิบปีที่ผ่านมา แต่เปิดอย่างระมัดระวังและมีแผนการรองรับอย่างเป็นระบบ นักท่องเที่ยวจะต้องแลกเงินที่มีอัตราแพงกว่าปรกติกว่ายี่สิบห้าเท่าเพื่อใช้จ่ายในคิวบา ชาวต่างชาติต้องพักและใช้รถโดยสารระหว่างเมืองที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวเท่านั้น ไม่สามารถใช้บริการหรือซื้อสินค้าในราคาที่รัฐอุดหนุด เช่นยารักษาโรคได้ ต้องจ่ายในอัตราอื่นเช่นวิตามินซีทีชาวต่างชาติต้องซื้อในราคาจริงประมาณกล่องละสามดอลล่าห์ ส่วนคนคิวบาแสดงบัตรและซื้อได้ในราคาเพียงสองบาท

โดยรวมแล้วคิวบามีระบบรองรับนักท่องเที่ยวที่ดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพอสมควร ที่น่าชื่นชมคือการไม่ใช้ถุงพลาสติกเลย ในร้านค้าทุกคนต้องใช้มือถือของ หรือนําถุงมาเอง หน่วยงานพัฒนาโครงสร้างรองรับการท่องเที่ยวนําเงินที่ได้จากบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์มาปรับปรุงตึกเก่าๆ ในเมือง สร้างงานเพิ่มและมอบเงินที่เหลือส่งเข้ารัฐบาล หลายคนมองว่าการท่องเที่ยวจะนํามาซึ่งความเปลี่ยนแปลง

ในเมืองหลวงและเมืองท่องเที่ยวหลักๆ ข้าพเจ้าพบว่ามีกลุ่มคนที่คอยหากินกับนักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และสถานีขนส่ง ถึงแม้จะน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ไทย อิตาลี หรืออินเดีย แต่ก็อดเป็นห่วงในอนาคตไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลงที่ชาวคิวบาสังเกตได้คือ สินค้านําเข้าหลายอย่างที่เคยขาดแคลน ก็เริ่มมีการนํามาจําหน่าย เพราะมีอุปสงค์และเงินตราต่างประเทศพอซื้อ นักดนตรีที่เคยไม่มีงานก็กลับมารวมตัวกันเล่นตามผับและร้านอาหาร หาเงินจากนักท่องเที่ยวได้เป็นกอบเป็นกํา

บทสรุป แต่ไม่สุดท้าย
ความปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคมและเศรษฐกิจแบบนี้เกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นแล้ว แต่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และไม่รีบร้อน. ประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร อายุจะแปดสิบในปีนี้ เขาป่วยและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อปีที่แล้ว โดยมอบอํานาจการบริหารประเทศให้กับราอูล คาสโตร น้องชายของเขา นักวิเคราะห์คาดการว่าคงจะไกล้ถึงคราวที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในคิวบาแล้ว หลายคนมองว่านี่คงเป็นจุดสุดท้ายของระบอบคอมมิวนิสต์ในคิวบา แต่ชาวคิวบาอีกมากยังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ เขาบอกกับข้าพเจ้าว่าสังคมแบบคิวบานี้ชาวคิวบาทุกคนได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาด้วยความเชื่อมั่นในความเป็นธรรม และความดีงามของระบบ แม้จะถึงวันที่ไม่มีฟิเดล คาสโตร พวกเขาก็จะรักษาและพัฒนามันได้ต่อไป ระบบนี้ก้าวต่อไปด้วยความเสียสละและความเข้าใจของทุกหน่วยในสังคม มิใช่ด้วยปลายกระบอกปืและการขู่บังคับ

ชีวประวัติสังเขปของ ฟิเดล คาสโตร
From Wikipedia, the free encyclopedia
http://en.wikipedia.org/wiki/Fidel_Castro (220850)

Fidel Alejandro Castro Ruz (born August 13, 1926) is the current President of Cuba, though currently with his duties transferred.

Casto led the revolution overthrowing dictator Fulgencio Batista in 1959 and shortly after was sworn in as the Prime Minister of Cuba.[1] Castro became First Secretary of the Communist Party of Cuba in 1965, and led the transformation of Cuba into a one-party socialist republic. In 1976 he became president of the Council of State as well as of the Council of Ministers. He also holds the supreme military rank of Comandante en Jefe ("Commander in Chief") of the Cuban armed forces.

Castro first attracted attention in Cuban political life through nationalist critiques of Batista and the United States political and corporate influence in Cuba. He gained an ardent, but limited, following and also drew the attention of the authorities.[2] He eventually led the failed 1953 attack on the Moncada Barracks, after which he was captured, tried, incarcerated and later released. He then travelled to Mexico[3][4] to organize and train for the guerrilla invasion of Cuba that took place in December 1956. Since his assumption of power in 1959 he has evoked both praise and condemnation (at home and internationally). Castro is described by opponents as a dictator[5][6] while supporters see Castro as a charismatic liberator.[7]

Outside of Cuba, Castro has been defined by his relationship with the United States and the former Soviet Union, both of whom courted Cuban attentions as part of their own global political game. After the failed Bay of Pigs invasion of Cuba in 1961 by U.S. backed forces, the Castro-led government has had an openly antagonistic relationship with the U.S., which encouraged a closeness with the Soviet bloc. The collapse of the Soviet Union in 1991 forced Castro to seek alliances regionally to counter U.S. and find like-minded partners in regional nationalist figures such as Hugo Chavez in Venezuela and Evo Morales in Bolivia. Over time he has become a world icon,[8] and is the current Secretary-General of the Non-Aligned Movement (his second term in that office, the first having been 1979-1983.

At home, Fidel Castro has overseen the implementation of various economic policies, leading to the rapid centralization of Cuba's economy, land reform, collectivization and mechanization of agriculture, and the nationalization of leading Cuban industries. The expansion of publicly funded health care and education has been a cornerstone of Castro's domestic social agenda. Cuba ranks better than many countries on the United Nations' List of countries by infant mortality rate, which is claimed by Castro's supporters as a success of his regime. Opponents note that Cuba's health care and infant mortality were the same if not better before the revolution than after [9].Castro and his policies are cited by some as being responsible for Cuba's economic problems, whilst others blame the U.S. embargo. Still others attribute the shortcomings to a mix of these factors.

On July 31, 2006, Castro, after undergoing intestinal surgery for diverticulitis,[10] transferred his responsibilities to the First Vice-President, his younger brother Raul Castro. On 2 June 2007, Castro appeared on Cuban Television with Vietnamese Communist Party Leader Nong Duc Manh looking somewhat healthier.[11]

2. ขบวนการอิสลามมาเลเซีย จาก "ดารุล อาร์กัม" ถึง "รูฟากา"
อะฮ์มัด เฟาซี อับดุล ฮามิด

ความนำ
ย้อนรอยถอยกลับไปยังปี 2537 "ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามดารุล อาร์กัม" (Darul Arqam) จากมาเลเซีย ที่กำลังแผ่อิทธิพลเข้ามายังเมืองไทย ตั้งแต่ภาคใต้ยันดินแดนเหนือสุดแห่งสยาม ถูกรัฐบาลมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น จัดให้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐในลำดับหนึ่ง

ขณะที่การกวาดล้างมวลหมู่สมาชิก "ขบวนการดารุล อาร์กัม" ในมาเลเซียดำเนินไปอย่างหนัก ผู้นำของขบวนการนาม "อุสตาซอัสฮาอารี มูฮัมมัด" ก็ใช้ไทยเป็นฐานของการเคลื่อนไหวชนิดเอาการเอางานยิ่ง. เหตุการณ์สิ้นสุดลง เมื่อ "พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ" อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น จับกุม "อุสตาซอัสฮาอารี มูฮัมมัด" นำตัวมามอบให้ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียด้วยตนเองกับมือ ณ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ช่วงประมาณกลางปี 2537 นั่นเอง

ถึงวันนี้บทบาท "ขบวนการดารุล อาร์กัม" และผู้นำ "อุสตาซอัสฮาอารี มูฮัมมัด" หวนคืนกลับมาปรากฏอีกครั้ง
บทความทางวิชาการเรื่อง "พลวัตของความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่องในขบวนการเคลื่อนไหวของอิสลามในมาเลเซีย: จากดารุล อาร์กัม ถึงกลุ่มรูฟากา" ของ "อะฮ์มัด เฟาซี อับดุล ฮามิด" แห่ง School of Distance Education, Universiti Sains Malaysia, ได้บอกเล่าถึงการกลับมาของขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามขบวนการนี้

พลวัตของความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง
ในขบวนการเคลื่อนไหวของอิสลามในมาเลเซีย



จากดารุล อาร์กัม ถึงกลุ่มรูฟากา
ปลายปี ค.ศ.2006 ได้มีข่าวใหญ่ขึ้นในประเทศมาเลเซีย เกี่ยวกับความพยายามร่วมกันที่จะรื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามดารุล อาร์กัม (Darul Arqam) ซึ่งถูกรัฐบาลห้ามดำเนินการเคลื่อนไหวไปในปี ค.ศ. 1994 ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยบรรดาสมาชิกขององค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง บริษัทรูฟากา (Rufaqa Corporation) ซึ่งมีการกล่าวกันว่า ความพยายามดังกล่าวนี้ แท้จริงแล้วนั้น ดำเนินการนำโดย อุสตาซอัสฮาอารี มูฮัมมัด ผู้นำคนก่อนของดารุล อาร์กัม ซึ่งถูกคุมขังภายใต้อำนาจของกฎหมายความมั่นคงภายใน (Internal Security Act - ISA) ในวันที่ 2 กันยายน 1994 โดยการส่งตัวให้จากรัฐบาลไทยจากพันธะของการปฏิบัติการร่วมทางด้านความมั่นคงระหว่างไทยและมาเลเซีย ทั้งนี้ หลังจากคุมขัง 2 เดือน อุสตาซอัสฮาอารี ยังถูกกักบริเวณต่อเนื่องภายในเขตอำเภอกอมบัก (ตุลาคม 1994 - กุมภาพันธ์ 2002) และลาบวน (กุมภาพันธ์ 2002 - ตุลาคม 2004)

ในความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์ในช่วงปลายปี 2006 นั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่รูฟากาได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ในสื่อต่างๆ นับตั้งแต่การจับกุมกลุ่มผู้นำของดารุล อาร์กัม โดยกฎหมายความมั่นคงภายในครั้งที่ 2. ในช่วงกลางปี 1996 ก็มักจะมีการกล่าวกันถึงการที่รูฟากานั้น เป็นหน้าฉากที่สมาชิกดารุล อาร์กัม ซึ่งจงรักภักดีต่ออุสตาซอัสฮาอารี ใช้ซ่อนบังกิจกรรมซึ่งทำตามคำสอนและเป้าหมายของดารุล อาร์กัม. ความพยายามของสื่อกระแสหลักที่จะเชื่อมต่อระหว่างรูฟากาและดารุล อาร์กัมยิ่งเห็นได้ชัดขึ้น หลังเกิดหลายเหตุการณ์คุกคามความมั่นคงที่สัมพันธ์อยู่กับศาสนาอิสลาม อาทิเช่น กบฏอัล - มาอูนาฮ์ (Al-Ma'unah) ในอำเภอกริก รัฐเปรัค ในเดือนกรกฎาคม 2000. การจับกุมสมาชิกของกลุ่มมูจาฮิดีนมาเลเซีย (KMM - Kumpulan Mujahidin Malaysia) ในเดือนสิงหาคม 2001 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังกลุ่มขบวนการก่อการร้ายได้โจมตีตึกเวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์และตึกเพนตากอนในวันที่ 11 กันยายน 2001

การตีความอิสลามอย่างสุดโต่ง
มีการคาดการณ์กันว่าความล้มเหลวที่จะหยุดยั้งความพยายามรื้อฟื้นดารุล อาร์กัม อาจจะนำมาซึ่งความรุนแรงที่เกิดจากการตีความอิสลามอย่างสุดโต่ง และสู่วิถีแห่งความรุนแรง ซึ่งนั่นจะเป็นการคุกคามความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้ก่อนหน้า "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" นั้น การพยายามขับเคลื่อนใหม่ของสมาชิกดารุล อาร์กัม ไม่ได้ถูกเชื่อมเข้ากับกลุ่มองค์กรใดๆ แต่มักจะถูกนำเสนอในฐานะแผนการส่วนตัวของผู้นำบางคน ในการปกป้องอุดมการณ์ ซึ่งเชื่อมต่อกับ Aurad Muhammadiah แนวทางคำสอนลี้ลับแบบซูฟี ซึ่งบัญญัติโดยดารุล อาร์กัม แต่ถูกสภาฟัตวาแห่งชาติ (the National Fatwa Council) ประกาศในปี 1994 ว่า นั่นมิใช่วิถีแห่งอิสลาม

ธุรกิจของรูฟากา ที่กระจายอยู่ทั่วโลก
แม้ว่าจะมีภาพลักษณ์ในแง่ลบ เมื่อมีการเข้าใจว่าเป็นทายาทของดารุล อาร์กัม แต่รูฟากานั้นยังคงประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง และภายในช่วงระยะเวลาไม่นานในการดำเนินการธุรกิจ รายได้ของ 3 บริษัทหลักของรูฟากา ซึ่งมีอุสตาซ อัสฮาอารีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น สูงถึง 9.8 ล้านริงกิต การดำเนินการทางธุรกิจของรูฟากาครอบคลุมทั่วทั้งประเทศมาเลเซีย โดยจะจำแนกออกเป็นโครงการ 3 ศูนย์กลางหลัก คือ โครงการเขตภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ โดยในแต่ละศูนย์กลางเหล่านี้ จะเน้นหนักอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงภาคธุรกิจเกษตรกรรม และการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

ทุกรัฐในมาเลเซียจะมีสาขาของรูฟากาในหลากหลายลักษณะธุรกิจ ตั้งแต่ซูเปอร์มาร์เก็ต ค้าปลีก ร้านอาหาร โพลีคลีนิค ธุรกิจบริการช่วยเหลือมารดา บริการบำบัดรักษาแผนโบราณ ผลิตและบริการผลิตภัณฑ์สมุนไพร ร้านตัดเย็บและเสื้อผ้า บริการธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจสำนักพิมพ์หนังสือ วารสาร สถาบันศิลปะและวัฒนธรรม บริการซักรีด ธุรกิจเบเกอรี่ โครงการให้คำปรึกษาและฝึกอบรม ผลิตภัณฑ์มัลติมีเดีย โรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กโทรนิค โรงงานผลิตยานยนต์ เครือข่ายธุรกิจโรงแรมและห้องพัก เป็นต้น. ขณะที่ในภาคธุรกิจระดับโลก มีการประเมินว่า รูฟากามีเครือข่ายเปิดดำเนินการถึงราว 500 - 700 แห่งครอบคลุมนับแต่มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย ออสเตรเลีย จอร์แดน ซีเรีย อียิปต์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน

ในช่วง 10 ปีของการถูกคุมขังและกฎหมายกักบริเวณ อุสตาซอัสฮาอารี ถูกให้ภาพในด้านลบ ในฐานะผู้นำศาสนา ซึ่งอิทธิพลของเขานั้นควรจะถูกตรวจสอบ แม้ว่าส่วนซึ่งมีลักษณะก้าวหน้าของความคิดและกิจกรรมขององค์กรของเขา ควรที่จะได้รับการพิจารณา และน่าจะถูกนำเสนออย่างที่มันเป็นมากกว่านี้ ทั้งนี้ อุสตาซอัสฮาอารีถูกปล่อยตัวออกจากการกักบริเวณในวันที่ 25 ตุลาคม 2004 ติดตามมาด้วยการออกหนังสือที่เขาเขียนหลายเล่ม ซึ่งยกย่องด้วยเหตุผลต่อการประสบความสำเร็จของการลงทุนในทางธุรกิจ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมของรูฟากา

ความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและวิถีแห่งการปฏิบัติ
ของอุสตาซอาฮาอารีต่อการพัฒนาของศาสนาอิสลาม

มี 3 ปัจจัยสำคัญ ซึ่งทำให้สมาชิกของ"ดารุล อาร์กัม"ยืนหยัด ผ่านการเผชิญหน้ากับความกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศได้อย่างเกินธรรมดา คือ

- หนึ่ง การเน้นย้ำยึดมั่นในอุดมการณ์รื้อฟื้นลัทธิซูฟี
- สอง การปรับตัวเข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้สำเร็จ และ
- สาม ความศรัทธาที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

ซึ่งจากการสำรวจวิจัยอย่างใกล้ชิดได้พบว่า องค์ประกอบทั้ง 3 นี้ยังคงมีอยู่ในรูฟากาด้วยเช่นกัน แม้ว่าอาจจะแตกต่างในรายละเอียดจากแบบแผนดารุล อาร์กัมไปบ้าง

อุดมการณ์ของการฟื้นฟูลัทธิซูฟี
อุดมการณ์ของการฟื้นฟูลัทธิซูฟี ได้สร้างการเชื่อมต่อสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ ระหว่าง"ผู้นำทางจิตวิญญาณ"กับ"ผู้ดำเนินรอยตาม" ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ซึ่งลดลักษณะอย่างเป็นทางการระหว่างผู้นำกับผู้ตาม หรือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง. ข้อหาทางกฎหมายในการระงับการเคลื่อนไหวของดารุล อาร์กัม จึงไม่กระเทือนต่อสถานะผู้สอนสั่งของอุสตาซอัสฮาอารี ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะผู้มีความรู้ และได้รับการเคารพจากผู้ติดตามของเขา. ซึ่งตรงกันข้ามกับกระบวนทัศน์เกี่ยวกับความเป็นผู้นำในที่ยอมรับกันในปัจจุบัน ลักษณะความเป็นผู้นำแบบซูฟี กำหนดให้องค์กรนั้นขึ้นอยู่และถูกหลอมรวมเข้ากับผู้นำ กล่าวโดยสรุปก็คือการต่อสู้ของอุสตาซอัสฮาอารีนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดารุล อาร์กัม หรือรูฟากา หรือแม้แต่แนวทางใดๆ หากแต่ขึ้นอยู่กับตัวของอุสตาซอัสฮาอารีเองเป็นสำคัญ

ซูฟี : ชำระล้างจิตใจให้พ้นจากเรื่องของตนเอง
อุดมการณ์ฟื้นฟูลัทธิซูฟีนั้น ให้ความสำคัญกับกระบวนการชำระล้างจิตใจของตน ให้พ้นจากการคำนึงถึงเฉพาะตนเอง. ในช่วงเวลาของดารุล อาร์กัมนั้น สมาชิกจะถูกผลักดันให้ต่อสู้เอาชนะความเห็นแก่ตัวของตน การพยายามสร้างความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณในกระบวนการแบบซูฟี ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว หากแต่เพื่อการสร้างเกราะกำบังในการต่อสู้กับแรงปรารถนาจากการเห็นแก่ตัวเอง ซึ่งเปรียบดังกับปีศาจ และเพื่อการเผชิญหน้ากับโลก เมื่อแต่ละคนต้องพัฒนาความศรัทธาของตนในการใช้ชีวิตในสังคม

จิตใจที่พัฒนาแล้วจะช่วยในการป้องกันจากโรคร้ายทางจิตวิญญาณ อาทิ ความโลภ ความคับแคบ ความอยาก เหมือนอยากได้อย่างคนอื่น ความหลงตัว หลงชื่อเสียง และความอยากเด่นอยากดัง อุดมการณ์ของการฟื้นฟูลัทธิซูฟี ไม่ใช่ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณสำหรับตนเองเท่านั้น หากต้องรวมถึงการสร้างผลประโยชน์ให้แก่สังคม และการพัฒนาทางสังคมด้วยเช่นกัน และอุดมการณ์นี้เอง ที่ได้สร้างกลุ่มซูฟีผู้ซึ่งพยายามอย่างแข็งขันในการนำเอาระบบแบบอิสลามไปใช้ในสังคม ไม่ใช่เพียงแค่การปลีกตัวเองอย่างวางเฉยและยอมรับทุกอย่าง

ความแตกต่างระหว่าง "ดารุล อาร์กัม" กับ "รูฟากา"
สำหรับสมาชิกกลุ่มดารุล อาร์กัม ซึ่งปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวในทุกองค์ประกอบของชีวิตมาอย่างยาวนาน การห้ามการดำเนินการของอารุล อาร์กัมในปี 1994 เหมือนนำมาสู่ช่วงเวลาแห่งความ "ว่างเปล่า" ในชีวิตพวกเขา สมาชิกโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วมในความเคลื่อนไหวของอิสลามอื่นใด ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อในทันทีที่อุสตาซอัสฮาอารีก่อตั้งรูฟากา ในปี 1997 อดีตสมาชิกดารุล อาร์กัมจำนวนมากได้เข้าพบเขา หรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นสมาชิกในคณะกรรมการบริหารของรูฟากาเพื่อขอทำงานในองค์กรดังกล่าว

เส้นทางการพัฒนาของรูฟากา ไม่ได้แยกห่างออกจากวิธีการ และแนวทางขั้นพื้นฐานที่ว่าไว้โดยอุสตาซอัสฮาอารี รากฐานของการฟื้นฟูซูฟียังคงมีบทบาทโดดเด่น หากแต่แนวคิดที่สัมพันธ์นั้นถูกขยายให้กว้างขึ้นในการรวมการพัฒนาทางสังคม ตั้งแต่แรกเริ่ม แตกต่างจากดารุล อาร์กัมก็คือว่า

รูฟากาจัดตั้งขึ้นโดยผ่านการรับรองจากกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การจับตามองอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ทางด้านความมั่นคง จากหน่วยงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้ นับแต่ช่วงเริ่มต้นนี้ รูฟากาเลือกวิธีการที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง ซึ่งตรงกันข้ามกับดารุล อาร์กัม และขณะที่ดารุล อาร์กัมดำเนินการทางด้านการพัฒนาหลายช่องทาง ซึ่งเป็นการเผยแพร่ความเชื่อทางศาสนาไปยังสังคม แต่ในกรณีของรูฟากานั้น ได้เริ่มเข้าสู่สังคมผ่านทางการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะมีบทบาทในการเป็นช่องทางในการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า และการดำเนินตามวิถีแห่งศาสนาอิสลามไปพร้อมๆ กัน โดยการหลอมรวมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าในแนวดิ่ง เข้ากับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในแนวระนาบไว้ด้วยกันนับแต่แรกเริ่ม

ปรัชญาของรูฟากา
คำขวัญประจำบริษัทของรูฟากาที่ว่า "สงบสุขและมั่นคง" (serene and reassurring) จึงเกิดขึ้นจากการหลอมรวมดังกล่าวนั้น โดย "สงบสุข" หมายถึงสภาวะแห่งจิตใจของนักลงทุน และ "มั่นคง" หมายถึงผลบังเกิดของความสงบสุขนั้น ซึ่งมาจากผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งสร้างความมั่นคงให้แก่สังคม และด้วยเหตุนี้เองที่ผลทางธุรกิจจะนำมา ซึ่งผลกำไรใน 2 ลักษณะคือ ผลกำไรทางด้านวิญญาณและในรูปลักษณ์สิ่งของรูปธรรม

เพื่อจะทำให้พนักงานของตนเข้าถึงภาวะสงบสุขแห่งจิตใจ รูฟากากำหนดให้พนักงานต้องเข้าร่วมในโครงการให้คำปรึกษาและฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้พวกเขาเกิดความรู้สึกศรัทธา และปฏิบัติตามแนวทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในการปฏิบัติดังกล่าวนั้น แม้แต่กลุ่มผู้บริหารก็ไม่ได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ ในความเป็นจริงพวกเขาจำเป็นต้องทำให้พนักงานเห็นเป็นตัวอย่าง

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและลูกจ้างของรูฟากานั้นแตกต่างจากบริษัทที่ลงทุนหวังกำไรทั่วไปเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ในกรณีของรูฟากา ผู้บริหารปฏิบัติต่อพนักงานไม่ต่างกับบุตรหลานในสภาพแวดล้อมเหมือนบ้านที่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่น ขณะที่ลูกจ้างถูกอบรมให้เข้าใจว่าอาชีพของตนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการทางด้านศาสนาอิสลาม ซึ่งพวกเขาไม่ใช่คนงานที่แรงงานของตนมีเพื่อสร้างผลกำไรสูงสุดให้แก่นายจ้าง ขณะที่ในส่วนของการพัฒนาทางด้านอิสลามในรูปแบบของรูฟากา การพัฒนาทางด้านมนุษย์จะต้องถูกปฏิบัติควบคู่ไปด้วยการพัฒนาทางด้านวัตถุสิ่งของด้วยเช่นกัน โดยรูฟากากล่าวว่าโครงการทางด้านเศรษฐกิจทั้งหมดของตน ได้รับการพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของการตอบสนองต่อการพัฒนาทางด้านมนุษย์

อย่างไรก็ตาม สำหรับบทบาทในฐานะองค์กรทางด้านธุรกิจแล้ว รูฟากาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางธุรกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งนั่นทำให้แตกต่างไปจากดารุล อาร์กัม ซึ่งพยายามต่อสู้เพื่อศาสนาอิสลามในประเด็นต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน แม้ว่ารูฟากาจะได้จัดตั้งแผนกต่างๆ ในหลากหลายมิติ แต่ในด้านของการวางแผนทางด้านธุรกิจแล้ว เป้าหมายทางเศรษฐกิจมักถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ. ในการประชุมของคณะกรรมการบริหารของบริษัททั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ รูฟากาได้พยายามขยายกิจการไปสู่ภาคที่ไม่ใช่เศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ ทางด้านการศึกษาสามัญ ซึ่งจดทะเบียนผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้การศึกษาแก่บุตรหลานของพนักงานของบริษัทและคนยากจน

ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่รับรู้แพร่หลายของดารุล อาร์กัมนั้น ให้ความสำคัญกับพื้นที่หมู่บ้าน แต่การพัฒนาชุมชนในแนวทางของรูฟากานั้น ดำเนินไปพื้นที่เขตเมือง ซึ่งสิ่งนี้อาจสืบเนื่องจากการที่การเคลื่อนไหวของอุสตาซอัสฮาอารีนั้น ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่เขตชนบท การพัฒนาพื้นที่ในเขตใกล้ชิดกับคณะผู้บริหาร จึงสามารถเปิดโอกาสให้เขาได้ดูแลธุรกิจของบริษัท แม้ว่าจะอยู่ภายใต้การกักบริเวณอยู่ก็ตาม

รูฟากา กับวัฒนธรรมหลากหลายในยุคโลกาภิวัตน์
การก่อตั้งห้างสรรพสินค้าใน Celebration Mall ในพื้นที่ Bandar Country Homes เมื่อปี 1997 เป็นฐานให้แก่เมืองรูฟากาแห่งแรก ซึ่งต่อมาได้ขยายแพร่ไปทั่วทั้งประเทศภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ทุกรัฐในมาเลเซียจะต้องมีเมืองรูฟากาอย่างน้อยหนึ่งแห่ง เมืองรูฟากานั้นจะประกอบไปด้วยภาคธุรกิจต่างๆ อยู่ด้วยกัน ซึ่งอาจจะให้เช่าหรือขายขาด โดยโครงการหลักๆ ที่ก่อรูปเป็นเมืองรูฟากานั้น มักจะประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ ร้านขายและตัดเย็บเสื้อผ้า บางแห่งจะมีสีสันขึ้นด้วยห้องเช่าสำหรับหนุ่มสาว บ้านพัก และที่พักของพนักงานอยู่ภายในพื้นที่ดังกล่าว

การให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจเมือง ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์อย่างแข็งขันระหว่างรูฟากาและประชากรที่ไม่ใช่ชาวมลายูที่อยู่รายรอบ ซึ่งแตกต่างไปจากภาพพจน์ที่ค่อนข้างยึดมั่นในเชื้อชาติของดารุล อาร์กัม. รูฟากา ได้สร้างความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับเพื่อนบ้าน และลูกค้าที่ไม่ใช่ชาวมลายู ทั้งในด้านของการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจและความสัมพันธ์ทางสังคมแบบไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ขณะที่ในทางด้านสังคม รูฟากาตัดสินใจไม่กำหนดให้พนักงานของตนต้องแต่งกายในลักษณะแบบอาหรับ เพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมที่จะหลอมรวมเข้ากับสังคมมลายูส่วนใหญ่ ซึ่งเริ่มสูญเสียวัฒนธรรมการแต่งกายของตน ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 เครื่องแบบการแต่งกายในรูปแบบอาหรับของดารุล อาร์กัม ได้ทำให้เกิดความกังวลใจขึ้นในชุมชนมลายู และเป็นสัญลักษณ์อย่างเปิดเผยของลักษณะการแยกขาดออกจากสังคมยุคใหม่อย่าง "สุดโต่ง" ของดารุล อาร์กัม

การบูรณาการบทบาทของผู้หญิงเข้ากับโครงการรูฟากา
ขณะที่ในประเด็นของสตรี แม้ว่าไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในช่วงสมัยดารุล อาร์กัมนั้น อุสตาซอัสฮาอารีสนับสนุนทัศนะที่ว่าบทบาทของผู้หญิงนั้น ควรจำกัดอยู่เฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น ผู้หญิงจะถูกอนุญาตให้มีส่วนร่วมในหน้าที่ทางสังคมได้ ก็เฉพาะแต่สภาวะเร่งด่วน ซึ่งต้องการการร่วมมือของผู้หญิงตามหลักการของกฎหมายศาสนาอิสลาม อาทิเช่น การเผยแพร่คำสอนทางด้านศาสนาในหมู่ผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสมัยของรูฟากา อุสตาซอัสฮาอารีค่อนข้างจริงจังที่จะสั่งห้ามสิ่งซึ่งจะเป็นการขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงพัฒนาชีวิต ตราบเท่าที่การประพฤติปฏิบัติตนดำเนินแนวทางของกฎหมายอิสลาม ผู้หญิงสามารถที่จะก้าวไปเป็นหมอ วิศวกร หรืออาชีพชำนาญการต่างๆ ได้ และภายใต้การเปลี่ยนแปลงความคิดดังกล่าวนี้เองที่บทบาทของผู้หญิงได้ถูกบูรณาการเข้ามาสู่โครงการของรูฟากา ผู้หญิงได้รับโอกาสในการก้าวสู่ตำแหน่งสูง บางตำแหน่ง อย่างเช่น ทางด้านการเงินให้การยอมรับผู้หญิงเป็นอย่างสูง

พลวัตของแบบแผนความคิดและการปฏิบัติในความสัมพันธ์ระหว่างรูฟากาและรัฐมาเลเซีย:
การเปรียบเทียบและความแตกต่างในยุทธศาสตร์การพัฒนา

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มซึ่งนำโดยอุสตาซอัสฮาอารี (ดารุล อาร์กัมในช่วงก่อนหน้านี้ และรูฟากาในปัจจุบัน) กับรัฐมาเลเซียนั้น ไม่อาจปฏิเสธว่าเปลี่ยนแปลงไปจากท่าทีขัดแย้งสู่ลักษณะสงบศึกเป็นอย่างมาก นับแต่นายอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัดในวันที่ 31 ตุลาคม 2003. นับจากอุสตาซอัสฮาอารีได้รับอิสรภาพจากการกักบริเวณในวันที่ 25 ตุลาคม 2004 รูฟากาได้กำหนดท่าทีในการสนับสนุนการบริหารของอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวี โดยเฉพาะในการยอมรับอิสลามฮาดารี (Islam Hadhari) ในฐานะวิถีทางแห่งการพัฒนาทางอารยธรรม อุสตาซอัสฮาอารีได้ตีความอิสลามฮาดารี ว่าเป็นหนทางซึ่งไม่แตกต่างไปจากทัศนะเรื่องสังคมอิสลาม ซึ่งเขาปรารถนาให้เป็น

รูฟากาคิดว่าโอกาสในการที่จะเผยแพร่ความคิด พลังงาน และเวลาในโครงการที่รัฐสนับสนุนในการต่อสู้กับความป่วยไข้ของสังคมจากการร่วมมือกับรัฐบาลของอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวีในการทำให้อิสลามฮาดารีนั้นเป็นจริง รูฟากายกย่องอย่างเชื่อมั่นต่อความปรารถนาทางด้านศาสนาของอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวี ขอบคุณและแสดงความหวังว่าอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวี จะเปิดเส้นทางใหม่ให้เกิดรัฐอิสลามอย่างแท้จริงขึ้นในประเทศมาเลเซีย

ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างรูฟากาและรัฐ
ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างรูฟากาและรัฐบาลอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวี มักจะจำกัดอยู่เฉพาะในประเด็นซึ่งเกี่ยวกับอุดมการณ์ผู้ปลดปล่อย และวิถีทางลึกลับแบบซูฟี ซึ่งกล่าวกันว่าได้รับการปกปิดและปฏิบัติโดยอุสตาซอัสฮาอารี และสิ่งนี้ที่นำไปสู่ความขัดแย้งกับกรมการศาสนาเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุดมการณ์ความเชื่อในเรื่องผู้ปลดปล่อยเป็นสิ่งหนึ่งที่แข็งแกร่งมากในหมู่ผู้ติดตามอุสตาซอัสฮาอารี แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ชักจูงในโครงการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นทางการของรูฟากา ความเป็นไปได้นั้นคือว่าพนักงานของรูฟากานั้นยังคงมีสำนึกและวิถีปฏิบัติ ซึ่งนำมาจากช่วงสมัยของดารุล อาร์กัมเป็นการส่วนตัวมาก่อนแล้ว

ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างรูฟากาและรัฐ ภายใต้การนำของอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวีนั้น เป็นไปลักษณะของการระแวงระวังแบบยอมรับ (tolerated tension) ซึ่งหมายความว่า รูฟากาได้รับอนุญาตให้ดำเนินการทางธุรกิจ และสร้างความมั่งคั่ง ตราบเท่าที่ยังคงปฏิบัติตามกฎหมายและไม่ก้าวล้ำขอบเขตของเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาเลเซีย ซึ่งยังคงรวมศูนย์อยู่เฉพาะในการเมืองแบบอุปถัมภ์ของกลุ่มชนชั้นสูง หากว่าข้อหวงห้ามในทางการเมืองนั้นถูกละเมิด อาทิเช่น หากอิทธิพลทางเศรษฐกิจของรูฟากาถูกมองว่าเริ่มคุกคามชนชั้นนำชาวมลายู รัฐก็จะใช้อำนาจของกรมการศาสนาและคำตัดสินทางศาสนาอิสลาม สร้างมติตัดสินว่านอกกฎเกณฑ์และผิดกฎต่อรูฟากา

แม้แต่ในประเด็นซึ่งรูฟากาให้การสนับสนุนรัฐ อาทิเช่นต่ออิสลามฮาดารี ก็ไม่เป็นการยากที่ผู้มีอำนาจทางด้านศาสนาที่จะหาเหตุผลระบุว่า ในความเป็นจริงแล้ว แนวทางเกี่ยวกับอิสลามฮาดารีของรูฟากานั้นขัดแย้งกับแนวทางอย่างเป็นทางการของรัฐ แม้ว่ากระทั่งในปัจจุบันที่แนวทางการบริหารของอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวีจะยกกิจการทางด้านอิสลามไปยังความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจทางด้านศาสนา แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกิจการความมั่นคงภายใน อึกอักที่จะมองรูฟากาว่าคุกคามความพยายามในการครอบครองทรัพยากรทางเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นนำผู้ปกครอง

ขณะที่ในประเด็นของวิธีการและการนำไปปฏิบัติระหว่างการพัฒนาในแบบของรูฟากา และในแบบของรัฐนั้น แม้ว่าทั้งสองแนวทางจะเน้นย้ำให้ความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสังคมมลายูมุสลิม โดยให้เป็นแนวทางที่ดีที่สุดทั้งสำหรับโลกนี้และโลกหน้า หากแต่การพัฒนาในรูปแบบของรูฟากานั้น ให้ความสำคัญกับประเด็นทางจิตวิญญาณมากยิ่งกว่าอย่างเห็นได้ชัด

การพัฒนาทางด้านอิสลามของรูฟากา เน้นย้ำการพัฒนามนุษย์ในบริบทของการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณเหนือสิ่งอื่นใด. ขณะที่การพัฒนาในแนวทางของรัฐ จะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อความเชี่ยวชาญ ฉลาดเฉลียว และความคิด มากกว่าจะให้ความสำคัญต่อจิตวิญญาณหรือจิตใจ

บทสรุปและข้อเสนอแนะ
รูฟากาประกาศว่าตัวเองนั้นเป็น "การหลอมรวมระหว่างการพัฒนา 2 ด้าน คือ อารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งสร้างขึ้นจากความรักและหวาดเกรงในพระเจ้า และอารยธรรมทางวัตถุ ซึ่งเป็นการหลอมรวมระหว่างความรักและห่วงใย" แม้ว่าการประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาทางวัตถุนั้น ยังคงจำกัดอยู่ แต่พลวัตในการปรับเปลี่ยนจาก"ดารุล อาร์กัม"สู่"รูฟากา"นั้น เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่งในหลายประการ คือ

ประการแรก ตลอดเส้นทางการพัฒนาของรูฟากานั้น ได้รับการสอดส่องตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากผู้มีอำนาจ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะตกลงไปสู่ภาวะที่ถูกน้อมนำโดยรัฐ แต่รูฟากาพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะธำรงไว้ซึ่งหลักการการพัฒนาตามแนวทางอิสลาม ซึ่งนำเสนอไว้

อัสฮาอารี มูฮัมหมัด ซึ่งเคยนำมาสู่การเติบโตขึ้นของดารุล อาร์กัม ในช่วง 1968 ถึงปี 1994 เราสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายประการในวิธีการ และการปฏิบัติใช้แนวทางการพัฒนาในลักษณะพลวัตของการเปลี่ยนแปลงจากการเคลื่อนไหวทางด้านอิสลาม ในกรณีดารุล อาร์กัม สู่บริษัทแบบอิสลามในกรณีบริษัทรูฟากา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แสดงให้เห็นความพยายามและการสร้างสรรค์ยุคใหม่ต่อการเข้าร่วมในแนวทางการพัฒนากระแสหลัก

ประการที่สอง การประสบความสำเร็จของการพัฒนาตามแนวทางศาสนาอิสลามของรูฟากา ได้ปฏิเสธทัศนะที่แพร่หลายของนักคิดชาวตะวันตก ที่มักมองว่าคำสั่งสอนทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาของโลกตะวันออก มักจะเป็นการขัดขวางหรือทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเชื่องช้าลง. ความแข็งแกร่งของรูฟากานั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและการตีความทางศาสนา ซึ่งค่อนข้างมีความแตกต่างจากทัศนะของอิสลามแบบจารีต ผนวกกับความศรัทธาต่อผู้นำซึ่งกระตุ้นให้พนักงานยึดมั่นต่อทัศนะมองโลกและอนาคตในแง่ดี ขณะที่การกดดันนานาจากรัฐบาล ได้มีบทบาทกระตุ้นอย่างยิ่งต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งต่อดารุล อาร์กัม และรูฟากา ในโลกทัศน์ของสมาชิกดารุล อาร์กัมและพนักงานของรูฟากา. แรงกดดันนั้นถูกมองในแง่ดีในฐานะบททดสอบการสำนึกในความผิดพลาดเมื่อครั้งอดีต เพื่อยกระดับทางจิตวิญญาณ และเป็นดั่งหนึ่งในการต่อสู้ในวิถีทางแห่งอิสลาม ซึ่งเป็นเหมือนประสงค์ของพระเจ้าต่อผู้แสวงหาความจริง

ประการที่สาม ในบริบทของเศรษฐศาสตร์การเมืองมลายูมุสลิมในประเทศมาเลเซีย แผนการทางด้านเศรษฐกิจของรูฟากา ย่อมได้รับผลประโยชน์เนื่องจากรัฐได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ภาคส่วนเอกชนนั้นเป็น "ผู้นำในการพัฒนา" และ "การเติบโตทางเศรษฐกิจ" รวมถึงการที่มาเลเซียปรารถนาที่จะเป็นศูนย์กลางนานาชาติ ของผลิตภัณฑ์และบริการอาหารฮาลาล ขณะที่การดำเนินการของรูฟากายังได้ส่งเสริมให้กับนโยบายภูมิบุตราของรัฐบาล

ประการที่สี่ ภายใต้บริบทของเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งสังคมพหุลักษณ์ของมาลาเซีย การดำเนินที่มีลักษณะสร้างพันธมิตรทางธุรกิจแบบหลากเชื้อชาติของรูฟากา สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ธุรกิจแบบภูมิบุตราอื่นๆ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมามีลักษณะการดำเนินการขึ้นอยู่กับการอุปถัมภ์ของชนชั้นนำมลายู ในการเสริมสร้างความมั่งคั่ง ขณะที่นักธุรกิจที่ไม่ใช่ภูมิบุตรา ได้เกิดความสงสัยและเป็นกังวลใจต่อการดำเนินการของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy- NEP) นับจากปี 1990 เป็นต้นมา รูฟากาได้พยายามที่จะสนับสนุนนักธุรกิจเหล่านั้นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนที่ซื่อสัตย์

.................................................

ที่มา : สัมมนาวิชาการนานาชาติ: สรรพเสียงแห่งอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, นักวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุ่นใหม่, วันที่ 24 - 25 กุมภาพันธ์ 2550, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, นครศรีธรรมราช

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 




1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62