สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยปี
๒๕๔๙
การกลับมาของทหารและการใช้นโยบายละเว้นโทษ
(ตอนที่ ๓)
กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
: AHRC
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจาก
AHRC ผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิก
รายงานประเทศไทยปี
๒๕๔๙ ภาคภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
โดยกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) (เฉพาะภาษาไทยยาว
๓๓ หน้า) เรื่อง
"การกลับมาของทหารและการใช้นโยบายละเว้นโทษ"
เป็นการเปิดเผยถึง การถอยหลังของสถาบันที่ทำหน้าที่ด้านนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนของไทย
ภายหลังรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
ในจดหมายของ AHRC แจ้งว่า "รู้สึกยินดีที่รายงานสำคัญฉบับนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย
และเผยแพร่ทางอินเตอร์เนต อีกทั้งยังหวังว่ารายงานนี้จะนำมาสู่การอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเรื่องผลกระทบหลังจากการรัฐประหาร"
สำหรับในรายงาน ได้กล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ
หลังจากที่ทหารได้เข้ามามีอำนาจทางการเมืองและยังได้อภิปรายถึงการมี "รัฐธรรมนูญแบบจอมปลอม"
ที่บัญญัติโดยคณะรัฐประหาร และการปกป้องอำนาจของทหารระดับผู้นำ
ขณะเดียวกันก็พยายามสะกัดกั้นกลุ่มผู้ต่อต้านเอาไว้
ข้อสังเกตทั้งหมดที่ผ่านมา ซึ่ง AHRC ได้เคยนำเสนอตั้งแต่การเกิดรัฐประหาร
บัดนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งแก่สังคมแล้ว สิ่งที่จะถามต่อไปคือ ขณะนี้ผู้ที่สนใจและทำงานด้านสิทธิมนุษยชน
และกระบวนการยุติธรรม ได้ตระหนักและเตรียมความพร้อมถึงภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองหรือไม่
AHRC หวังว่า รายงานฉบับนี้จะช่วยกระตุ้นให้คนทำงานด้านดังกล่าวได้ตระหนักถึงข้อกังวลดังกล่าวอย่างจริงจัง
นอกจากรายงานจะเปิดประเด็นเรื่องรัฐประหารและเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว
ในเนื้อหาขนาดยาวของรายงานนี้ ยังมีเรื่อง การบังคับให้บุคคลสูญหาย, การทรมาน,
การวิสามัญฆาตกรรม,
ปัญหาในกระบวนการตำรวจ, กระบวนการพิจารณาคดีความอาญา
และการคุ้มครองพยานในประเทศไทย
สำหรับสมาชิก นักศึกษา
และผู้สนใจรายงานภาคภาษาไทยในรูปของ pdf เข้าไปดูได้ที่
http://material.ahrchk.net/hrreport/2006/Thailand2006-Thai.pdf
ส่วนรายงานภาคภาษาอังกฤษในรูป pdf เข้าไปดูได้ที่
http://material.ahrchk.net/hrreport/2006/Thailand2006.pdf.
หมายเหตุ
: กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หรือ AHRC
เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ที่ทำงานด้านการตรวจสอบ
และรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย
AHRC ก่อตั้งปี ๒๕๒๗ และมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศฮ่องกง
(midnightuniv(at)gmail.com)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๓๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๕.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยปี
๒๕๔๙
การกลับมาของทหารและการใช้นโยบายละเว้นโทษ
(ตอนที่ ๓)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: เรียบเรียง
จากรายงาน AHRC-PL-017-2007
ตอนที่ ๓
ปราศจากช่องทางร้องทุกข์
เดือนกรกฎาคม กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียได้ร้องเรียนกรณีที่เหยื่อรายหนึ่งกล่าวอ้างว่า
ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับไปกักขังอย่างผิดกฎหมาย มีการใช้อาวุธปืนจี้ ทรมานให้รับสารภาพและขู่กรรโชกทรัพย์
แต่ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานใดๆ ของรัฐมานานกว่า 3 ปีแล้ว เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดของรัฐที่ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์
และตรวจสอบความจริงเมื่อเกิดกรณีตำรวจไทยใช้อำนาจโดยมิชอบ จึงไม่มีใครรู้สึกว่าตนต้องรับผิดชอบเรื่องนี้
ยกตัวอย่างกรณีของอุทัย บุญน้อม ที่เล่าว่าเขากับภรรยาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปที่บ้านหลังหนึ่งในป่าจังหวัดสระบุรี โดยมีผ้าปิดตาและใช้ปืนจี้ จากนั้นตำรวจก็ซ้อมพวกเขาและเอาของมีค่าไป พอตกเย็นก็ตั้งวงดื่มเหล้าและเล่นการพนัน คืนนั้นตำรวจบังคับให้พวกเขาลงชื่อรับสารภาพว่าตนซื้อขายยาเสพติด ตำรวจยื่นข้อเสนอว่าจะปล่อยตัวอุทัยโดยแลกกับเงินก้อนหนึ่ง แต่เมื่อเขาไม่อาจหาเงินมาได้ทันพวกเขาจึงถูกกักตัวต่อไป
เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2543 แต่นั่นเป็นเพียงภาคแรก ภาคที่สองของเรื่องเริ่มขึ้นเมื่ออุทัยกับภรรยายื่นจดหมายร้องเรียนว่าตนถูกทำร้ายร่างกาย และบังคับให้รับสารภาพ ทั้งยังมีพยานหลักฐานสนับสนุนคำร้อง เช่น รายงานการตรวจร่างกายโดยบุรุษพยาบาลในเรือนจำว่ามีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายบนตัวของอุทัย ซึ่งต่อมาบุรุษพยาบาลคนนี้ยังได้ขึ้นให้การต่อศาลสนับสนุนคำกล่าวอ้างของอุทัย จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจเดียวกับที่นายตำรวจที่ถูกกล่าวหาทำงานอยู่แต่มียศต่ำกว่า ได้มาพบอุทัยที่เรือนจำเพื่อสอบปากคำและบันทึกคำร้อง แต่ศาลกลับเชื่อรายงานที่ฝ่ายตำรวจเป็นผู้เขียน และตัดสินให้อุทัยกับภรรยารับโทษจำคุก ปัจจุบันคดียังอยู่ในขั้นอุทธรณ์
อุทัยเริ่มส่งจดหมายร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ระหว่างปี 2543 ถึงปี 2546 เขายื่นคำร้องถึงนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, องคมนตรี, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, ศาล, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, อธิบดีกรมอัยการ, ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา, หน่วยงานอิสระหลายแห่ง รวมทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในปี 2547. คดีนี้ยังถูกยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ความจริงอุทัยพยายามส่งจดหมายถึงทุกคนที่เขาคิดว่า สามารถช่วยให้มีการพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจับกุมโดยมิชอบ การทรมานและการตัดสินจำคุก
ความพยายามของอุทัยที่ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้ผลตอบแทนแก่เขาน้อยมาก ส่วนใหญ่ไม่แม้แต่จะเสียเวลาตอบจดหมายที่เขาเขียนไป หรือหากตอบก็เป็นคำตอบที่ไม่ได้ให้ความหวังกับอุทัย สำนักนายกรัฐมนตรีตอบว่าได้ส่งเรื่องของอุทัยต่อไปยังตำรวจภูธรภาค 1 แต่ตำรวจภูธรภาค 1 ก็ไม่เคยติดต่ออุทัย. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตอบว่าคดีนี้ถูกส่งไปที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งตอบมาว่าทางกรมได้ตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว และตำรวจบอกว่าเป็นการจับกุมอย่างถูกกฎหมาย แถมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพยังตำหนิอุทัยโดยอ้อมที่ไม่ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่สืบสวนทันทีหลังถูกจับกุม และไม่ได้ฟ้องร้องให้ดำเนินคดีอาญากับตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตอบว่า ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากคดียังอยู่ระหว่างการไต่สวนในศาล ส่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ตอบว่าคดีนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กรมจะเข้าไปตรวจสอบ จึงดูเหมือนว่าคำกล่าวหาว่ามีการจับกุมอย่างผิดกฎหมาย มีการกักขัง ทรมานปล้นทรัพย์ ขู่กรรโชกทรัพย์ ข่มขืน และความผิดอีกหลายอย่างที่ตำรวจชุดจับกุมจากสระบุรีก่อขึ้นจะไม่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงานใดๆ ของรัฐและผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายในประเทศไทย
พูดสั้นๆ ก็คือทุกฝ่ายพากันปัดความรับผิดชอบหรือไม่ก็เลิกใส่ใจคดีนั้นไปเลย
นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นเมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเมืองไทย คดีของอุทัยไม่ได้เป็นกรณียกเว้น เพราะในความเป็นจริงก็คือ เป็นไปไม่ได้ที่จะยื่นคำร้องเมื่อมีการละเมิดสิทธิโดยตำรวจไทย และคาดหวังให้มีการจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ
AHRC ได้เฝ้าสังเกตการณ์มาหลายปีแล้วว่า กระบวนการยุติธรรมในเมืองไทยมีท่าทีอย่างไรเมื่อมีผู้ยื่นคำร้อง และจากการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐหลายแห่งก็ได้แสดงให้เห็นแบบแผนการปฏิบัติต่อคดีต่างๆ ที่เหมือนกันนั่นคือจะไม่ดำเนินการอะไรหากคดีนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ถูกกล่าวหา ยังมีตัวอย่างคดีในลักษณะนี้อีกคือ
(1). กรณีที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พยายามข่มขืนมะเต๊ะเต๊ะ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ไปตรวจสอบและแจ้งกับ AHRC ในจดหมายลงวันที่ 11 เมษายน 2549 ว่าทางกรม "ได้ติดต่อไปที่ตำรวจภูธรภาค 6 เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ และได้รับแจ้งว่า... เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นจริงตามที่มีการกล่าวอ้าง... แต่กระทำโดยบุคคลที่อ้างตนว่าเป็นตำรวจด้วยการแต่งกายเลียนแบบ"
(2). คดีที่นายอุไร ศรีเหน่ อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดชลบุรี ใช้วิธีทรมานอย่างโหดเหี้ยม กระทรวงมหาดไทยได้เข้ามาตรวจสอบ และแจ้งกับ AHRC ในจดหมายลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 ว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดไปตรวจสอบเรื่องนี้ และพบว่าเหยื่อถูกทรมานจริง แต่ "นายอุไรบอกว่า เขาไม่ได้ถูกทรมานอย่างโหดเหี้ยมทารุณโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยืนยันว่าชายกลุ่มนั้นไม่ได้เป็นตำรวจ"
(3). กรณีที่มีการกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองได้บุกเข้าตรวจค้นและยึดเอกสารจำนวนหนึ่งไปจากศูนย์แรงงานอพยพ ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้เข้าไปตรวจสอบ จากนั้น AHRC ได้รับแจ้งผ่านจดหมายลงวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ว่า "กองตรวจคนเข้าเมืองเขต 3 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเปิดเผยว่า...เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นั้นได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายระบุไว้ โดยไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินส่วนตัวแต่อย่างใด"
(4). กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดนนทบุรีถูกกล่าวหาทำวิสามัญฆาตรกรรมนายสุนทร วงศ์ดาว กระทรวงมหาดไทยได้เข้าไปตรวจสอบและแจ้ง AHRC ผ่านจดหมายลงวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ว่า เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดได้รับคำสั่งให้ไปตรวจสอบและพบว่า "เจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอบางใหญ่ได้ทำการชันสูตรศพแล้วสรุปว่า เป็นการฆ่าตัวตาย" เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าเหยื่อรายนี้ฆ่าตัวตายโดยการใช้อาวุธปืนยิงที่ศีรษะ และหน้าอกตัวเองห้านัด ส่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษก็บอกว่าตนไม่มีอำนาจเข้าไปทำคดีนี้
(5). คดีที่นายเอนก ยิ่งนึก กับพวกอีก 3 คน และนายเอกวัฒน์ สีมันตะกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทรมานพวกตนอย่างโหดร้ายทารุณ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกับกระทรวงมหาดไทยได้ไปตรวจสอบแล้วแจ้ง AHRC ว่าคดีนี้ถูกส่งต่อไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.AHRC พยายามชี้ว่าสำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ใช่หน่วยงานที่ควรเข้ามาตรวจสอบข้อกล่าวหาเรื่องการทรมาน แต่หน่วยงานของรัฐต่างทำเป็นหูหนวกต่อคำท้วงติงนี้ ทั้งยังไม่เคยปรากฎหลักฐานว่าสำนักงาน ป.ป.ช. เคยตรวจสอบคำร้องในลักษณะนี้มาก่อน AHRC ยังพบว่าเอกสารที่บอกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิถูกสั่งย้ายนั้นไม่เป็นความจริง หรือถ้าเป็นความจริงตำรวจพวกนั้นก็กลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมหลังถูกพักงานเพียงเวลาสั้นๆ
เจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ปฏิเสธที่จะเข้ามาทำคดีเพราะอ้างว่าคดีอยู่ในชั้นศาล ถึงแม้คำร้องที่ยื่นต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กับการไต่สวนคดีในศาลจะเป็นคนละเรื่องกันก็ตาม ผู้ตกเป็นเหยื่อจะให้การในศาลว่าพวกเขาถูกทรมาน แต่ศาลกลับมองข้ามคำให้การนี้เพราะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาไต่สวนคดี ญาติของเหยื่อรายหนึ่งยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตกเป็นจำเลยฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท
กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียพบว่า ในประเทศไทยเมื่อคนธรรมดาร้องทุกข์ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจละเมิดสิทธิ การร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นไม่เคยนำไปสู่การสืบสวนและดำเนินคดี เพื่อเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหาได้จนเป็นที่พอใจแม้แต่คดีเดียว แม้แต่คดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากก็ยังต้องอาศัยการต่อสู้อย่างหนัก เพื่อให้มีการไต่สวนในชั้นศาลและได้รับการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม
สาเหตุของความล้มเหลวนี้ก็เนื่องมาจากการขาดหน่วยงานที่เป็นอิสระในการทำหน้าที่รับฟังคำร้องทุกข์และตรวจสอบความจริง ซึ่งได้มีหลายหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายคนพยายามชี้ให้เห็นแล้ว เป็นที่รู้กันมานานกว่า 30 ปีแล้วว่า การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 คณะกรรมการการปกครองรัฐสภาได้ตระหนักว่า "กรมตำรวจเป็นกรมที่คนนอกทุกคนชิงชังรังเกียจเป็นที่สุด" ด้วยเหตุผลว่าตำรวจคอรัปชั่นและใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่ผิดอย่างกว้างขวาง นับแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่เคยมีการทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ ความพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งถูกขัดขวางโดยกลุ่มตำรวจที่กุมอำนาจกันเอง และอำนาจนั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างคงที่จนมาถึงระดับที่เป็นอยู่ในรูปแบบการบริหารงานในปัจจุบัน ที่ตำรวจหรืออดีตนายตำรวจเข้ามาดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาล ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาจนแทบเรียกได้ว่าอยู่ในทุกภาคส่วนของรัฐบาล
ถึงที่สุดแล้ว สังคมใดจะมีความยุติธรรมและเคารพในสิทธิมนุษยชนได้ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นมีช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทำผิดกฎหมายเพื่อให้มีการสืบสวนสอบสวน และหากจำเป็นก็ต้องมีการดำเนินคดีได้ ในบางประเทศที่กระบวนการยุติธรรมมีความมั่นคงตั้งมั่น หน่วยงานที่มีอยู่ในประเทศนั้นจะมีความเข้มแข็งเพียงพอและได้รับความไว้วางใจจากประชาชนว่า สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้จริง ขณะที่ในที่อื่นๆ ยังจำเป็นต้องตั้งหน่วยงานที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงขึ้นมาใหม่เพื่อทำหน้าที่นี้ คณะกรรมาธิการต่อต้านการทุจริตในฮ่องกง เป็นหน่วยงานอิสระซึ่งจัดเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับภูมิภาคนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 พยายามเปิดประตูเพื่อสร้างโอกาสในการจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ในด้านนี้ แต่จนปัจจุบันหลายหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นก็ยังไม่สามารถทำงานได้ตามที่ประชาชนคาดหวัง กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นตัวอย่างหนึ่งในกรณีนี้ ขณะที่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหลายคนและหลายหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้ ได้ตั้งความหวังว่า DSI จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสอบสวนคดีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา แต่เมื่อ DSI มีนายตำรวจนั่งเป็นหัวหน้า หน่วยงานนี้จึงทำหน้าที่เป็นเพียงเกราะป้องกันอีกชั้นให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่อยู่ในเครื่องแบบ
ปี 2548 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวสรุปผลการประเมินการปฏิบัติงานของประเทศไทยตามหลักการสำคัญในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งสมควรนำมาเตือนความจำในที่นี้ว่า "คณะกรรมการฯ มีความกังวลต่อข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกรณีที่เกิดการวิสามัญฆาตรกรรมหลายครั้ง และการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคง(ในประเทศไทย)ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ... การสืบสวนสอบสวนคดีต่างๆ ก็มักประสบกับความล้มเหลวและไม่ได้นำไปสู่การดำเนินคดีหรือลงโทษผู้กระทำผิดให้สาสมกับความร้ายแรงของอาชญากรรมที่ก่อขึ้น กลายเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมให้คนผิดยังลอยนวลอยู่ได้
คณะกรรมการฯ รู้สึกห่วงใยว่าสถานการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดหนทางเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ แก่ผู้ตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งขัดต่อมาตรา 2 วรรค 3 ของบทบัญญัติในอนุสัญญา(มาตรา 2, 6 และ 7) ที่กำหนดไว้ว่า รัฐภาคีพึงดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีในลักษณะนี้ และการละเมิดสิทธิอื่นๆ อย่างเป็นกลาง และพึงดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบสวนสอบสวน รัฐภาคียังต้องให้หลักประกันด้วยว่าเหยื่อและครอบครัวของผู้ตกเป็นเหยื่อรวมทั้งญาติพี่น้องของผู้สูญหาย หรือถูกบังคับให้หายจะได้รับเงินทดแทนอย่างเพียงพอ...
รัฐภาคีพึงปฏิบัติตามแนวคิดในการจัดตั้งหน่วยงานของพลเรือนที่เป็นอิสระขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบคำร้องทุกข์กล่าวโทษที่มีต่อเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย หากมีองค์กรหรือหน่วยงานอิสระของพลเรือน ซึ่งมีหน้าที่รับและตรวจสอบคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายเกิดขึ้นจริง เหยื่อของคดีต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นคงสามารถทำให้ความทุกข์ร้อนของตนได้รับการรับฟัง และพอจะคาดหวังได้ว่าจะมีคนสนใจ และคงไม่จำเป็นที่เราต้องใช้คำว่า "มีการกล่าวหาหรือสงสัยว่า" อีกต่อไปสำหรับคดีพวกนั้น เพราะจะมีหน่วยงานที่สามารถเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยยังไม่เคยแสดงท่าทีว่าจะนำข้อเสนอแนะใดๆ จากคณะกรรมการของสหประชาชาติไปปฏิบัติให้เกิดผล อย่าว่าแต่กรณีที่กล่าวมานี้เลย
ยังไม่มีกฎหมายห้ามการทรมาน
เอกวัฒน์ สีมันตะ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพระนครศรีอยุธยาจับเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน
2547 ในข้อหาปล้นทรัพย์ ตำรวจนำตัวเขาไปขัง เอกวัฒน์อ้างว่าเขาถูกคลุมหัว จากนั้นตำรวจก็รุมซ้อมและบังคับให้เขารับสารภาพ
ต่อมาเขาถูกย้ายไปที่สถานีตำรวจอำเภออุทัย และกล่าวหาว่าตำรวจที่นั่นใช้ไฟฟ้าจี้ที่อวัยวะเพศและลูกอัณฑะ
ที่ผิดปกติคือเขาถูกปล่อยตัวหลังจากนั้นไม่นานแล้วเพื่อนๆ ก็รีบพาเขาไปโรงพยาบาล
ภาพและข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์เผยให้เห็นเอกวัฒน์ที่มีรอยแผลไหม้บริเวณหว่างขา อวัยวะเพศ ลูกอัณฑะ และนิ้วเท้า ร่องรอยบาดเจ็บจากการถูกรุมซ้อมยังมีให้เห็นทั่วร่างกายรวมทั้งรอยรองเท้าบู้ตกลางแผ่นหลัง ต้นขา ใบหน้า แก้มและลำคอของเขาบวมเป่ง และมีเส้นเลือดฝอยแตกในกระบอกตา. ระหว่างรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมีตำรวจชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการหลายคนไปเยี่ยมเอกวัฒน์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสองคนได้รับคำสั่งให้มาคุ้มครองความปลอดภัยให้เขาเป็นเวลา 30 วัน
ระหว่างการสืบสวนสอบสวนตำรวจ 23 คนที่มีชื่อในบันทึกคดีถูกย้ายเข้ากรุงเทพ ผู้บังคับการตำรวจภูธรกล่าวเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ว่า จะมีการดำเนินคดีทางอาญาตามมา จากนั้นคดีนี้ถูกโอนไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนไหนถูกฟ้องฐานทำผิดคดีอาญา แม้จะมีความมุ่งมั่นและพยานหลักฐานแวดล้อมสนับสนุนคดีนี้อย่างชัดเจน ตำรวจทุกคนที่ถูกกล่าวหายังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมต่อไป
กลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายหลายกลุ่มได้ร่วมกันต่อสู้ในคดีนี้ เอกวัฒน์ได้มาเล่าประสบการณ์ในการสัมนาเรื่องการทรมานที่จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความแห่งประเทศไทยได้แต่งตั้งทนายขึ้นมาทำคดีให้เอกวัฒน์. ถึงแม้คดีนี้จะได้รับความสนใจจากประชาชนมากและจัดว่าเป็นคดี "พิเศษ" แต่เอกวัฒน์ก็ไม่ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยนานเป็นพิเศษแต่อย่างใด ในที่สุดเขาก็ถอนฟ้องตำรวจก่อนมีการไต่สวนคดีที่ศาลจังหวัดอยุธยาในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 โดยไม่แจ้งให้ทนายความของเขาทราบ
ตั้งแต่เกิดเรื่องจนถึงเวลาที่กำลังจะมีการไต่สวนคดีในศาลกินเวลาเกือบหนึ่งปี เห็นได้ชัดว่าหลังจากที่สื่อและประชาชนหันไปให้ความสนใจกับข่าวอื่นๆ ตำรวจที่ตกเป็นจำเลยก็ไปข่มขู่บังคับให้เหยื่อถอนฟ้อง เอกวัฒน์จึงตกเป็นเป้าอย่างง่ายดายเมื่อไม่ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย. กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ทำให้เอกวัฒน์และคนอื่นอีกหลายคนที่เราไม่รู้จำนวนต้องผิดหวัง เพราะไทยไม่เคยมีกฎหมายเพื่อเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหาว่าทรมาน หรือปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ถึงแม้ในความเป็นจริงมาตรา 31 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 จะมีบทบัญญัติซึ่งห้ามการกระทำดังกล่าวไว้ และไม่เคยมีหน่วยงานไหนของรัฐที่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งถูกกล่าวหาว่าก่อคดีอาญาด้วยการทรมานผู้อื่นมาขึ้นศาลได้แม้แต่คดีเดียว
ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและหยามเกียรติ แม้จะมีเสียงเรียกร้องที่ดังมากขึ้นจากทั้งในและนอกประเทศที่กดดันให้รัฐบาลไทยถือเอาการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และให้ตระหนักยิ่งขึ้นว่า การที่ไทยไม่ให้สัตยาบันเป็นการทำลายชื่อเสียงของประเทศบนเวทีโลก รัฐบาลไทยไม่เคยให้เหตุผลที่รับฟังได้ว่าทำไมจึงยังไม่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับนี้ แม้จะมีเสียงยืนยันหลายครั้งจากบางกลุ่มของรัฐบาลว่าจะให้สัตยาบันเร็วๆ นี้แน่นอน และจะมีการศึกษาเนื้อหาในอนุสัญญาใหม่เพื่อเตรียมการในขั้นสุดท้าย แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามีหน่วยงานหรือบุคคลที่มีอำนาจบางกลุ่มกำลังขัดขวางเรื่องดังกล่าวอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ
เพราะการตัดสินใจยอมปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ต่อต้านการทรมานและปฏิบัติที่โหดร้ายทารุณ ย่อมกลายเป็นสิ่งท้าทายหน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีบีบบังคับให้ "คนชั่ว" รับสารภาพและถูกลงโทษ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไม่มีอำนาจตัดสินใจลงนามในกฎหมายระหว่างประเทศ และอำนาจนี้ก็อยู่ที่รัฐบาล ความรับผิดชอบเรื่องการให้สัตยาบันอยู่ที่ผู้นำสูงสุดของประเทศ เช่นเดียวกับคำตำหนิรัฐบาลไทยที่ผัดวันประกันพรุ่งการให้สัตยาบันมาปีแล้วปีเล่า
อย่าลืมผู้ถูกฆ่าในสงครามปราบปรามยาเสพติด
วันที่ 18 กันยายน 2549 หนึ่งวันก่อนที่ทหารจะก่อรัฐประหารเพื่อล้มล้างรัฐบาลรักษาการ,
นายวสันต์ พานิช หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจหันมาสนใจข้อมูลที่เขาตรวจสอบพบเกี่ยวกับการวิสามัญฆาตรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของ
"สงครามยาเสพติด"อย่างจริงจัง
วสันต์บอกว่าเหยื่อในคดีต่างๆ ที่เขาเข้าไปตรวจสอบให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติส่วนใหญ่เป็นผู้บริสุทธิ์ และการเสียชีวิตของคนกลุ่มนี้ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2546 ไม่เคยมีการสืบหาข้อเท็จจริงตามกฎหมาย การฆาตรกรรมที่เกิดขึ้นบางรายยังเป็นการจัดฉากโดยตำรวจด้วยซ้ำ. การออกมาพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผยทำให้ตัววสันต์เองตกเป็นเป้าการข่มขู่ และมีความพยายามจะลักพาตัวเขาอย่างน้อยหนึ่งครั้งในเดือนมิถุนายน หลังจากได้รับโทรศัพท์จากคนแปลกหน้าที่โทรมาที่บ้านและที่โทรศัพท์มือถือทั้งของเขาและของภรรยา
รถยนต์ที่เขานั่งก็ถูกตาม เนื่องจากวสันต์เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับคดีที่ทนายความนักสิทธิมนุษยชน"สมชาย นีละไพจิตร"ถูกลักพาตัว เขาจึงระมัดระวังการใช้โทรศัพท์มือถือและรถยนต์ในการติดตามเป้าหมายอย่างมาก แต่ถึงแม้วสันต์จะมีตำแหน่งที่เป็นที่ยอมรับ รัฐบาลกลับไม่ยอมรับรู้ว่าเขาถูกข่มขู่หรือพยายามที่จะให้การคุ้มครอง
ความพยายามในการทำให้คดีเหล่านี้ได้รับการพิจารณาอีกครั้ง ถูกขัดขวางจากการเกิดรัฐประหารพอดี อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้พยายามสานต่อเรื่องนี้อีกในเดือนพฤศจิกายน โดยร่วมกับสภาทนายความแห่งประเทศไทยยื่นหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับคดีที่ทั้งสององค์กรนี้เข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียด และพบว่าเป็นการฆ่าผู้บริสุทธิ์โดยฝีมือของตำรวจหรือตัวแทนของตำรวจกว่า 40 ราย จากจำนวนทั้งหมดอย่างน้อย 2,500 ราย
มีอีกหลายคำถามที่ต้องเน้นย้ำเพื่อให้ได้คำตอบอย่างจริงจังเกี่ยวกับการฆ่าประชาชนในสงครามยาเสพติด และหน่วยงานของรัฐในประเทศไทยถูกนำไปใช้ฆ่าประชาชนอย่างไร ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอดีตนายกรัฐมนตรีกับรัฐบาลของเขา คือผู้ตัดสินใจที่นำไปสู่การฆาตรกรรม. ประชาชนนับพันบนท้องถนน ในบ้านพัก และร้านอาหารในช่วงสองสามเดือนของปี 2546 นายกรัฐมนตรีเป็นคนออกคำสั่งอย่างโจ่งแจ้งว่า ให้ทำทุกวิถีทางเพื่อล่าตัวพวกค้ายาเสพติด มีการตั้งรางวัลและกำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจนสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
ภาษาที่รัฐบาลใช้สื่อสารกับประชาชนยังตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า พวกที่ถือว่าค้าเสพติดสมควรถูกฆ่า พวกเจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่นจึงถูกกดดันให้ปฏิบัติตามคำสั่ง บวกกับความกระตือรือร้นของตัวเองที่อยากลงมืออยู่แล้ว และเพื่อผลตอบแทนที่จะได้รับ
แต่เหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงสามารถออกคำสั่งที่ขัดต่อมาตรฐานทุกข้อของกฎหมายในประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ แถมยังคาดหวังว่าจะมีผู้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ? ใครเป็นผู้วางแผนและลงมือฆ่า ? ไม่ใช่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง แต่คือเจ้าหน้าที่ตำรวจกับข้าราชการในท้องถิ่น และมือปืนรับจ้างที่เป็นคนลงมือแทน คนพวกนี้จะทำบัญชีรายชื่อขึ้นมา หลอกให้เหยื่อไปพบ ใช้กำลังบังคับให้สารภาพ แล้วจัดการส่งคนไปฆ่า จากนั้นก็ไม่มีการสืบสวนตามมา การกระทำทั้งหมดนี้จำเป็นต้องอาศัยคนนับหมื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะต้องใช้ทรัพยากร ความชำนาญ และเงินของรัฐที่ไม่ใช่เพื่อปกป้องประชาชนแต่กลายเป็นการสังหารประชาชน
ในสังคมที่ตั้งมั่นตามหลักแห่งกฎหมาย หน่วยงานของรัฐไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร หากข้อเรียกร้องนั้นเป็นการทำเกินอำนาจหรือล่วงละเมิดบทบาทหน้าที่ การปฏิเสธนี้ไม่ได้ทำด้วยเหตุผลด้านศีลธรรมหรือความฉลาดรอบรู้ แต่เพราะเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานนั้นตระหนักดีว่า ตนอาจตกเป็นผู้ร่วมทำความผิดในภายหลัง และคำแก้ตัวว่าตนเพียงทำตามคำสั่งจะไม่อาจคุ้มครองตนให้พ้นจากการถูกลงโทษได้
ซึ่งตรงข้ามกับสังคมที่หน่วยงานรัฐเป็นส่วนหนึ่งของระบบศักดินารูปแบบใหม่อย่างประเทศไทย ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติสามารถออกคำสั่งที่ผิดกฎหมายและขาดความชอบธรรมแล้วคาดหวังให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ พวกที่อยู่ใต้บังคับบัญชาแน่ใจว่าตนจะไม่ถูกสอบสวนดำเนินคดีหรือต้องรับโทษจากความผิดที่ตนก่อขึ้น ตรงข้าม บทลงโทษอย่างเดียวที่มีสิทธิเจอคือ เมื่อตนไม่สามารถทำงานที่ถูกสั่งมาให้สำเร็จลุล่วง
เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว นับแต่มีการประกาศ "สงครามต่อต้านยาเสพติด" ในรอบแรก และผ่านมากว่า 16 เดือนแล้ว ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวมีประชาชนที่ไม่รู้จำนวน ต้องเสียชีวิตด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะรัฐบาลไทยล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามข้อผูกมัดที่ตนมีต่อกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายในประเทศ การสืบสวนสอบสวนที่ทำแบบไม่เต็มใจและคำขอโทษ ไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกพอใจกับการทำหน้าที่ของรัฐ ทั้งไม่ใช่การจ่ายเงินทดแทน และถอนฟ้องผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหา
ปี 2548 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทย เพื่อบอกข้อเรียกร้องที่ไทยต้องปฏิบัติตามอย่างชัดเจน นั่นก็คือการสืบสวนที่เป็นกลางและกระทำอย่างถึงที่สุด การจัดหามาตรการลงโทษผู้กระทำผิด การจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อและครอบครัวอย่างพอเพียง และการจัดตั้งหน่วยงาน เพื่อรับฟังและตรวจสอบเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากรัฐบาลไทยต่อข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้
ไม่มีการคุ้มครองความปลอดภัยของพยาน
การคุ้มครองพยาน ถือเป็นการต่อสู้กับนโยบายที่เจ้าหน้าที่รัฐได้รับยกเว้นโทษ
และเป็นหัวใจของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลก การไม่มีโครงการคุ้มครองพยานทำให้เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องหาความเป็นธรรมต้องเผชิญกับการข่มขู่
ซึ่งนำไปสู่การทำร้ายร่างกายและบางครั้งก็ถึงกับถูกฆ่า ไม่ว่าจะเป็นตัวพยานเองหรือคนที่เขารัก
ความรุนแรงที่มาถึงตัวเขาเป็นฝีมือของกลุ่มผู้มีอำนาจ และอำนาจนั้นก็มาจากเครื่องแบบที่พวกเขาใส่
ระบบกฎหมายที่สนับสนุนให้เกิดความยุติธรรมแต่ไม่ได้จัดหาช่องทางในการคุ้มครองพยาน ถือเป็นระบบกฎหมายจอมปลอม เมื่อเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนรู้เช่นนี้ พวกเขาย่อมไม่กล้าออกมายืนยันในสิทธิของตนให้ลงโทษผู้กระทำผิด และยังไม่มีแม้ความพยายามที่จะจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับฟังคำร้องทุกข์ หรือให้ประชาชนได้ใช้สิทธิที่เขาพึงได้รับ ผู้ตกเป็นเหยื่อจึงยังคงปิดปากเงียบนิ่งเฉยและหวาดกลัว
เมื่อผลของคดีจำเป็นต้องอาศัยความชัดเจนของพยานหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ต่อศาล พยานหลักฐานนั้นจะมีความชัดเจนถูกต้องเพียงใดก็ต้องอาศัยการตรวจสอบที่รวดเร็ว นับแต่เกิดเรื่องเช่นกัน ถ้าเจ้าทุกข์กล้าเปิดเผยหลังมีการทำผิดไม่นาน และไม่กลัวที่จะเล่ารายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น กล้าชี้ตัวผู้ต้องสงสัยและวัตถุพยานที่ทำให้คำฟ้องมีน้ำหนักมากขึ้น และหากมีพยานบุคคลอื่นที่กล้าให้การและไม่กลับคำให้การภายหลังคดีนั้น ก็อาจมีทางประสบความสำเร็จ
ตรงข้ามกับคดีที่โจทก์เต็มไปด้วยความกลัว และความหวังที่จะได้รับความเป็นธรรมจากศาลก็น้อย แม้เหยื่อรายนั้นจะกล้าออกมาฟ้องร้อง แต่ก็อาจเป็นเวลาที่เหตุการณ์ได้ผ่านไปนานแล้ว โจทก์ย่อมไม่มั่นใจในรายละเอียดของเรื่องที่เกิดขึ้น หรือไม่แน่ใจว่าจะมีใครมาให้การสนับสนุนตนได้ หากพยานได้รับความกดดันก็อาจกลับคำให้การ คดีนั้นก็มีสิทธิจะล้มเหลว ยิ่งถ้าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยแล้ว การคุ้มครองพยานถือเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้วัดผลของคดีเลยทีเดียว
เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐตกเป็นจำเลย นั่นหมายความว่าอำนาจศาลและความเคารพในการไต่สวนที่เป็นธรรมกำลังถูกทดสอบอย่างถึงที่สุด เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายย่อมมีช่องทางมากกว่าชาวบ้านทั่วไป ที่จะทำให้มั่นใจว่าคำฟ้องร้องที่พุ่งมาที่ตนจะไม่ได้ยินไปถึงหูของผู้พิพากษา หรือหากได้ยิน คนกลุ่มนี้ก็ยังมีช่องทางอื่นที่จะทำให้การไต่สวนนั้นเป็นเพียงการแสดงจำอวด
เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายตกเป็นจำเลยในคดีส่วนใหญ่ในเอเชีย พยานมักกลัวที่จะมาปรากฏตัวต่อศาล หรือหากกล้ามาให้การก็มักปฏิเสธคำให้การที่ให้ไว้ก่อนหน้านั้น หรือไม่ก็โกหกเอาดื้อๆ เพียงเพราะต้องการหนีผลร้ายที่จะตามมา เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้กระทำผิดก็สามารถหัวเราะเยาะใส่ศาลและผู้พิพากษา. การคุ้มครองพยานถือเป็นหน้าที่ของรัฐและถือเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่ปฏิบัติกันทั่วโลก ประเทศใดที่รัฐปฏิเสธไม่ให้การคุ้มครองพยาน ประเทศนั้นกำลังปฏิเสธไม่ให้ความยุติธรรมแก่สังคม
รัฐต้องจัดหาบุคลากร เงินทุนและช่องทางให้เกิดการคุ้มครองพยาน รัฐที่พูดถึงการคุ้มครองพยานแต่ไม่จัดสรรกองทุนและทรัพยากรเพื่อการนี้ ถือว่าล้มเหลวในการทำหน้าที่ แต่ปัญหาที่แท้จริงของการตั้งโครงการคุ้มครองพยานไม่ได้อยู่ที่เรื่องเงิน แต่อยู่ที่นโยบายด้านการคุ้มครองพยานของรัฐ หากรัฐเข้าใจความสำคัญและแสดงออกอย่างชัดเจนว่าการคุ้มครองพยานคือสิ่งที่จะนำมาซึ่งความยุติธรรม รัฐย่อมจัดตั้งและพัฒนาหน่วยงานที่จะมาสนองนโยบายดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว
ทุกวันนี้มีบุคลากรและทรัพยากรอยู่มากมายที่พร้อมจะมาทำงานด้านนี้ ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศในเอเชียที่มีประวัติการต่อสู้กับอำนาจการปกครองของทหารและตำรวจมายาวนาน ประวัติศาสตร์ส่วนนี้ได้สร้างความหวาดกลัวที่ฝังลึกในหมู่ผู้ตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความกลัวนี้เป็นมรดกตกทอดของทุกประเทศที่มีประวัติการกดขี่ทางสังคมมายาวนาน ดังนั้นแม้จะมีการตั้งสำนักงานคุ้มครองพยานขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม ในทางปฏิบัติตำรวจไทยก็ยังคุมอำนาจงานด้านคุ้มครองพยานเกือบทุกด้าน เนื่องจากผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ก็คือตำรวจไทย การจะให้ประชาชนเข้าใจว่าตำรวจสามารถคุ้มครองพยานให้ได้รับความปลอดภัย จึงเป็นทั้งวิธีคิดที่ขาดเหตุผลและขัดกับความเป็นจริง
รายงานพิเศษที่จัดทำโดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายแห่งเอเชียเมื่อปี 2549 ได้ตั้งข้อสังเกตว่าแม้โครงการคุ้มครองพยานในประเทศไทยที่มีอยู่จะมีข้อจำกัดสูงมาก แต่ก็เป็นโครงการที่มีความสำคัญยิ่งและถือเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่มีโครงการประเภทนี้ จึงสมควรได้รับการสนับสนุนให้มากขึ้น หากโครงการคุ้มครองพยานในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมและความสนใจอย่างที่ควรจะเป็น โครงการนี้ก็จะกลายเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของภูมิภาคนี้ หาไม่มันก็จะถูกกลืนหายไปโดยผู้กระทำผิด ไม่ใช่โดยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
ที่น่าเสียดายก็คือมีความพยายามน้อยมาก ที่จะทำให้สำนักงานคุ้มครองพยานเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันสำนักงานคุ้มครองพยานมีเจ้าหน้าที่ไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่กำหนดไว้ เห็นได้ชัดว่าสำนักงานคุ้มครองพยานยังต้องการบุคลากรและงบประมาณจากกระทรวงเพิ่มขึ้น ก่อนจะมีการพูดเรื่องการทำงานให้มีประสิทธิภาพ นี่เป็นเรื่องของการตัดสินใจด้านนโยบายในส่วนของรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่เรื่องมีงบประมาณที่จะนำมาบริหารงานหรือไม่
หลักการคุ้มครองพยานยังคงเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผู้นำการเมืองไทย แม้จะมีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง สถาบันระหว่างประเทศ หน่วยงานระดับทวิภาคีและองค์กรต่างประเทศทั้งหลายควรให้การสนับสนุนส่งเสริมสำนักงานคุ้มครองพยาน รัฐบาลที่มีโครงการคุ้มครองพยานที่เข้มแข็ง ก็สามารถให้ความช่วยเหลือทางด้านองค์ความรู้และเทคนิควิธีการได้ ประเทศเหล่านั้นมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือ และพวกเขายังจะได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนดังกล่าว
เพราะชาวต่างชาติที่มาตกเป็นจำเลยในคดีอาญาในประเทศไทยก็ย่อมได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการยุติธรรมที่ถูกบิดเบือนไปด้วย เนื่องจากขาดโครงการคุ้มครองพยานและปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา และสำหรับหน่วยงานระหว่างประเทศแล้ว ประเทศไทยถือว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะทำโครงการคุ้มครองพยานให้เป็นตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จ และสามารถนำไปเผยแพร่ให้เป็นต้นแบบแก่ประเทศอื่นๆ ต่อไป
องค์การด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ภาควิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัย กลุ่มวิชาชีพและกลุ่มศึกษาต่างๆ สมาชิกรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และที่สำคัญที่สุดคือผู้ตกเป็นเหยื่อและพยานเอง ควรมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการคุ้มครองพยานในประเทศไทย และควรทำทุกวิถีทางที่จะหยิบยื่นความรู้ความสามารถที่ตนมีเพื่อให้โครงการนี้กลายเป็นความจริง
ทนายสมชายอยู่ไหน?
เรื่องของทนายสมชาย นีละไพจิตร ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของประเทศไทยในหลายๆ ด้าน
นับตั้งแต่ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนคนนี้ถูกตำรวจลักพาตัวไป เมื่อวันที่ 12
มีนาคม 2547 คดีนี้ก็ได้รับความสนใจจากสาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ และกลายเป็นคดีที่แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจครั้งแล้วครั้งเล่าที่หลุดออกมาจากปากของเจ้าหน้าที่รัฐ
ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน
อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย ได้พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้คำตอบหรือความยุติธรรมที่เธอควรได้รับบ้าง บนเส้นทางแห่งการต่อสู้อันโดดเดี่ยว อังคณายังต้องเจอกับการขู่เอาชีวิต แต่เธอก็กลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่โดดเด่นตามแบบฉบับของเธอเอง ปัจจุบันเธอได้ก่อตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของครอบครัวของผู้สูญหายคนอื่นๆ ในประเทศไทย
ในวันครบรอบสองปีของการหายตัวไปของสามีเธอ ทนายสมชายได้รับรางวัลนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนครั้งที่ 2 จากกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย เพื่อแสดงความขอบคุณในการต่อสู้ทั้งของทนายสมชายและของอังคณา นอกจากนี้อังคณายังได้รับรางวัลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยและเป็นผู้ร่วมรับรางวัล Gwangju ด้านสิทธิมนุษยชนจากประเทศเกาหลีประจำปี 2549 อีกด้วย
เดือนมกราคม 2549 หลังศาลอาญากรุงเทพอ่านคำพิพากษาตัดสินจำคุก 1 ในจำเลย 5 คนเป็นเวลา 3 ปี และกล่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อการหายตัวไปของทนายสมชาย นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นกล่าวยืนยันว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะยื่นฟ้องคนกลุ่มนั้นอีกครั้งภายในเวลาหนึ่งเดือน แต่เรื่องนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นรวมทั้งคำสัญญาอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐคนแล้วคนเล่าได้ให้ไว้ และยังมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอีกหลายฉบับ ที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงรับปากไว้ตั้งแต่ปี 2547 ว่าจะมีการตั้งทีมสืบสวนที่ฝีมือดีมาทำคดีนี้อย่างจริงจังก็ไม่เคยเกิดขึ้น
ถึงปลายเดือนตุลาคม หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองบอกว่าตนรู้ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของทนายสมชายเป็นคนใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรี การออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ทำให้คนที่เฝ้าติดตามคดีนี้รู้สึกแปลกใจเล็กน้อย เพราะมีการสงสัยมาแต่ต้นแล้วว่าหลักฐานที่พบโยงใยไปถึงคนในสำนักนายกรัฐมนตรี ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวครั้งนี้ หลายคนยังเห็นตรงกันด้วยว่าตำรวจ 5 คนที่ถูกดำเนินคดีเรื่องการหายตัวไปของทนายสมชาย และ 1 ใน 5 ถูกตัดสินว่ามีความผิดนั้นเป็นการทำตามคำสั่งที่ได้รับมาจากเบื้องบนอีกทีแต่กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ยังออกมาพูดว่าคดีนี้ขาดหลักฐานที่จะฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ต้องสงสัย คำแก้ตัวซ้ำซากของกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าตนไม่สามารถสะสางคดีนี้ได้ เป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น เพราะตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 กำหนดไว้ว่าเจ้าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจเต็มที่ในการสอบสวนคดีที่ตนได้รับมอบหมาย
* มาตรา 22 กำหนดไว้ว่า เจ้าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม
- มาตรา 23 ระบุว่าให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- ส่วนมาตรา 24 ยังอธิบายอำนาจหน้าที่อื่นๆ ที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษสามารถทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รอบคอบ อำนาจที่ว่านี้รวมถึงการเข้าไปตรวจค้นในเคหสถานหรือตัวบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายค้น การเรียกหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเพื่อสอบถามหรือขอข้อมูล การยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อใช้เป็นหลักฐาน
- มาตรา 25 บอกว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษสามารถขอคำสั่งอนุมัติจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อตรวจสอบเอกสารซึ่งส่งทางไปรษณีย์, โทรศัพท์, โทรสาร, สื่ออิเล็กทรอนิกส์, หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่เชื่อว่ามีการใช้ หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการทำความผิด
- ส่วนในมาตราอื่นๆ ก็บอกว่าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษสามารถจัดทำเอกสารหรือหลักฐานปลอมขึ้นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวน ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน และสามารถแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านมาเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ หรือเป็นพนักงานอัยการได้ในกรณีที่เห็นสมควร
เมื่อพิจารณาจากอำนาจทั้งหมดที่กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอยู่ในมือ ข้ออ้างที่ DSI บอกว่าตนมีปัญหาในการขุดค้นหาพยานหลักฐาน หรือพยานบุคคลจึงเป็นเรื่องเหลวไหล และ DSI ก็เคยใช้อำนาจเหล่านี้ในการทำคดีอื่นๆ ซึ่งมีผลงานที่ดีมาแล้ว โดยเฉพาะคดีที่เป็นความผิดทางอาญาด้านการเงิน แล้วเหตุใดคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีทนายสมชาย นีละไพจิตรจึงไม่ได้รับความสำคัญโดยเท่าเทียมกันจาก DSI ?
กรมสอบสวนคดีพิเศษล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าในการทำคดีนี้ และคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน นี่รวมถึงคดีลอบสังหารนักอนุรักษ์ธรรมชาติ 2 ราย คือ "เจริญ วัดอักษร" และ"พระสุพจน์ สุวโจ" ซึ่งหลายคนมองว่าสาเหตุของความล้มเหลวมาจาก การเอานายตำรวจชั้นสูงมาดำรงตำแหน่งหัวหน้า DSI ซึ่งขึ้นตรงต่อกระทรวงยุติธรรม หลายคนยังเชื่อว่าพล ต.อ. สมบัติ อมรวิวัฒน์และนายตำรวจระดับสูงบางคน พยายามขัดขวางกระบวนการสอบสวนคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย
ด้วยเหตุนี้ในปี 2549 กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย จึงได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการ และปฏิรูป DSI ในที่สุดต้นเดือนพฤศจิกายน 2549 พล ต.อ. สมบัติก็ถูกทหารคณะปฏิรูปการปกครองเขี่ยออกจากตำแหน่ง แต่จนทุกวันนี้ DSI รวมทั้งลูกน้องของ พล ต.อ.สมบัติที่ ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ก็ยังทำตัวเป็นก้างขวางคอไม่ให้คดีนี้ได้รับการสะสาง รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยด้วย
นอกจากคำถามต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาว่าใครคือคนสั่งอุ้มทนายสมชายแล้ว ยังมีคำถามอื่นๆ ที่ต้องถามเกี่ยวกับความล้มเหลวในการทำคดีนี้ของ DSI เช่น DSI ได้พยายามทำอะไรกับนายตำรวจทั้ง 5 ที่ตกเป็นผู้ต้องหาบ้าง เพื่อที่จะสืบสาวขึ้นไปให้ถึงตัวผู้บงการ ? มีนายตำรวจระดับสูงคนไหนบ้างที่ถูกสอบปากคำโดยตรงเกี่ยวกับการหายตัวไปของทนายสมชาย ? เหตุใดอดีตนายกรัฐมนตรีและคนในรัฐบาลจึงไม่ถูกเรียกมาสอบปากคำ หลังมีการออกมายอมรับว่าตนได้ยินข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับคดีนี้ ? พนักงานสอบสวนเคยพยายามสืบหาหรือไม่ว่า พวกเขาได้ยินข้อมูลอะไรมา ? ถ้าใช่ พนักงานสอบสวนดำเนินการอย่างไรต่อไป ?
นอกจากความสงสัยที่มีต่อตัวหัวหน้า DSI แล้ว ยังมีคำถามสำคัญๆ เกี่ยวกับระบบการบริหารงานที่ต้องถามรัฐบาลไทยอีกหลายคำถาม ทั้งเรื่องการปิดบังข้อมูลไว้เป็นความลับ และการโกหกหลอกลวงที่เป็นลักษณะสำคัญในการบริหารงานของรัฐบาลไทย เหล่านี้เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับทหาร มากพอๆ กับตำรวจหรือหน่วยงานอื่นที่เป็นเครื่องมือของรัฐ การหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเกินกว่าจะบอกว่า นี่เป็นเพียงการเสียชีวิตของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผู้กล้าหาญคนหนึ่งเพราะคดีนี้สะท้อนให้เห็นความบกพร่องที่ฝังลึกอยู่ในทุกหน่วยงานของรัฐในประเทศไทย ที่ปล่อยให้เกิดการอุ้มฆ่า ประเด็นนี้ยังเกี่ยวข้องกับสำนึกรับผิดชอบและนิสัยชอบพูดพล่อยๆ กับประชาชนของสถาบันต่างๆ ของรัฐที่ทำหน้าที่บริหารปกครองประเทศ
การที่มีรัฐมนตรี ข้าราชการและนักการเมืองหลายคนออกมาพูดให้ความมั่นใจเกี่ยวกับการทำคดีนี้
ได้ชี้ให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหา เกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่ผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศสามารถรับปากโดยไม่มีสำนึกรับผิดชอบที่จะปฏิบัติตามคำพูดนั้น
? เป็นที่ทราบกันดีว่าในทุกประเทศทั่วโลก นักการเมืองและข้าราชการชอบใช้ลมปากสัญญากับประชาชน
แต่การรับปากเวลาหาเสียงเลือกตั้งว่าจะจัดการกับปัญหาอาชญากรรม กับการที่คนๆ
หนึ่งยืนยันว่าจะมี
มาตรการเฉพาะในการสอบสวนคดีอาญานั้นต่างกัน
เมื่อพนักงานสอบสวนคดีอาญา อธิบดีกรม หรือรัฐมนตรี รู้สึกว่าตนไม่มีความจำเป็นต้องรับผิดชอบในการทำหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วง นั่นเท่ากับเขากำลังหมิ่นศักดิ์ศรีตัวเอง ผู้ใต้บังคับบัญชา และสถาบันที่ตนสังกัด แม้กระทั่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นฐานในหมู่เจ้าพนักงานสอบสวนกันเอง หรือระหว่างเจ้าพนักงานสอบสวนกับประชาชนก็ถูกทำลายไปด้วย แทนที่รัฐจะมีการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ รัฐกลับเพิ่มความชอบธรรมให้ตัวเองด้วยวิธีโฆษณาชวนเชื่อ
หลักแห่งกฎหมายจึงถูกปฏิเสธ และระบบการปกครองที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจึงครอบงำต่อไป
กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
ฮ่องกง - 21 ธันวาคม 2549
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
คลิกกลับไปทบทวนรายงานตอนที่
๑
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)