สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยปี
๒๕๔๙
การกลับมาของทหารและการใช้นโยบายละเว้นโทษ
(ตอนที่ ๒)
กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
: AHRC
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจาก
AHRC ผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิก
รายงานประเทศไทยปี
๒๕๔๙ ภาคภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
โดยกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) (เฉพาะภาษาไทยยาว
๓๓ หน้า) เรื่อง
"การกลับมาของทหารและการใช้นโยบายละเว้นโทษ"
เป็นการเปิดเผยถึง การถอยหลังของสถาบันที่ทำหน้าที่ด้านนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนของไทย
ภายหลังรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
ในจดหมายของ AHRC แจ้งว่า "รู้สึกยินดีที่รายงานสำคัญฉบับนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย
และเผยแพร่ทางอินเตอร์เนต อีกทั้งยังหวังว่ารายงานนี้จะนำมาสู่การอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเรื่องผลกระทบหลังจากการรัฐประหาร"
สำหรับในรายงาน ได้กล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ
หลังจากที่ทหารได้เข้ามามีอำนาจทางการเมืองและยังได้อภิปรายถึงการมี "รัฐธรรมนูญแบบจอมปลอม"
ที่บัญญัติโดยคณะรัฐประหาร และการปกป้องอำนาจของทหารระดับผู้นำ
ขณะเดียวกันก็พยายามสะกัดกั้นกลุ่มผู้ต่อต้านเอาไว้
ข้อสังเกตทั้งหมดที่ผ่านมา ซึ่ง AHRC ได้เคยนำเสนอตั้งแต่การเกิดรัฐประหาร
บัดนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งแก่สังคมแล้ว สิ่งที่จะถามต่อไปคือ ขณะนี้ผู้ที่สนใจและทำงานด้านสิทธิมนุษยชน
และกระบวนการยุติธรรม ได้ตระหนักและเตรียมความพร้อมถึงภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองหรือไม่
AHRC หวังว่า รายงานฉบับนี้จะช่วยกระตุ้นให้คนทำงานด้านดังกล่าวได้ตระหนักถึงข้อกังวลดังกล่าวอย่างจริงจัง
นอกจากรายงานจะเปิดประเด็นเรื่องรัฐประหารและเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว
ในเนื้อหาขนาดยาวของรายงานนี้ ยังมีเรื่อง การบังคับให้บุคคลสูญหาย, การทรมาน,
การวิสามัญฆาตกรรม,
ปัญหาในกระบวนการตำรวจ, กระบวนการพิจารณาคดีความอาญา
และการคุ้มครองพยานในประเทศไทย
สำหรับสมาชิก นักศึกษา
และผู้สนใจรายงานภาคภาษาไทยในรูปของ pdf เข้าไปดูได้ที่
http://material.ahrchk.net/hrreport/2006/Thailand2006-Thai.pdf
ส่วนรายงานภาคภาษาอังกฤษในรูป pdf เข้าไปดูได้ที่
http://material.ahrchk.net/hrreport/2006/Thailand2006.pdf.
หมายเหตุ
: กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หรือ AHRC
เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ที่ทำงานด้านการตรวจสอบ
และรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย
AHRC ก่อตั้งปี ๒๕๒๗ และมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศฮ่องกง
(midnightuniv(at)gmail.com)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๓๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยปี
๒๕๔๙
การกลับมาของทหารและการใช้นโยบายละเว้นโทษ
(ตอนที่ ๒)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: เรียบเรียง
จากรายงาน AHRC-PL-017-2007
ตอนที่ ๒
คำสัญญาว่างเปล่าต่อสถานการณ์ภาคใต้
ไม่กี่วันหลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 มีความคาดหวังกันว่าเหตุการณ์รุนแรงและการบาดเจ็บล้มตายในภาคใต้อาจลดน้อยลง
แต่ก็เหมือนเรื่องอื่นอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การวางระเบิดและการลอบยิงยังดำเนินต่อไป
และขีดความรุนแรงอาจเพิ่มสูงขึ้นด้วยซ้ำ
เดือนตุลาคมนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนสองคนถูกฆ่าตายในเหตุการณ์ที่ทำให้คนอื่นๆ ที่ทำงานในพื้นที่รู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัยของตัวเองอีกครั้ง
- รายแรกคือมูฮัมหมัด ดุไน ตันยีโน ถูกยิงเสียชีวิตใกล้บ้านพักที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ครอบครัวของดุไนเล่าว่าเขาถูกฆ่าตายหลังได้รับโทรศัพท์แล้วขี่มอเตอร์ไซด์ไปข้างนอก ดุไนเป็นผู้ใหญ่บ้านที่คอยช่วยเหลือลูกบ้านที่เดือดร้อนจากการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือจากการถูกดำเนินคดีโดยไม่มีหลักฐาน
- อีกรายคือฮัสซัน ยามาเละ ผู้ใหญ่บ้านในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา ถูกยิงเสียชีวิตกับเพื่อนอีกคนหลังจากที่เขาไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และต่อกลุ่มสิทธิมนุษยชนในประเทศเกี่ยวกับวิธีที่เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคง ปฏิบัติต่อชาวบ้านในพื้นที่
ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกโหมกระพือให้รุนแรงยิ่งขึ้น จากนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาเรื่องเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงลักพาตัวชาวบ้านไปทรมานแล้วฆ่าทิ้ง การทำให้ชาวบ้านจำนวนมากเสียชีวิตขณะมีการจับกุมในเดือนเมษายนและพฤศจิกายนปี 2547 การปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการในพื้นที่หรือการยกเลิกหน่วยงาน ศอบต. ล้วนเป็นความผิดพลาดในการบริหารงานของรัฐบาลที่ทำให้สถานการณ์ในภาคใต้เลวร้ายลงทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งบุคคลจากฝ่ายการเมืองซึ่งไม่น่าไว้วางใจให้มาสืบสวนคดีที่หน่วยงานรัฐควรเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ การแต่งตั้งบุคคลทางการเมืองเหล่านี้ขึ้นมาทำหน้าที่เหมือนเป็นการให้หลักประกันว่า ทหารและตำรวจจะไม่ต้องได้รับโทษสำหรับความผิดจากการทำให้ผู้ต้องขังเสียชีวิตระหว่างการคุมขัง การทำให้ชาวบ้านจำนวนมากเสียชีวิตหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ การที่ พนักงานอัยการใช้วิธีการสกปรกในการตามหาตัวผู้บริสุทธิ์มาลงโทษ แทนที่จะตามหาตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงและเป็นสิ่งที่ยังเกิดขึ้นจนทุกวันนี้ เป็นการทำลายความเชื่อมั่นที่ชาวบ้านในพื้นที่มีต่อความเป็นกลางของศาล
ปี พ.ศ.2548 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ขึ้นเป็นการเอาหน้าว่ารัฐต้องการให้หน่วยงานนี้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และโดยเจตนาที่แท้ก็เพื่อลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิ่มขึ้นจากสาธารณะชนต่อนโยบายการทำงานของรัฐ คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติพยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด และในเดือนพฤษภาคม 2549 กอส. ได้ส่งมอบรายงาน 132 หน้าให้รัฐบาล
เนื้อหาในรายงานอธิบายสภาพปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว ปัญหาไม่ได้แตกต่างจากที่ชาวบ้านในชุมชนอื่นทั่วทุกภาคของประเทศประสบอยู่เลย แต่ปัญหาในภาคใต้ถูกทำให้ดูร้ายแรงกว่าที่อื่นเป็นเพราะกระแสความกดดัน ที่เกิดจากการมีกองกำลังรักษาความมั่นคงลงไปอยู่ในพื้นที่มากเกินไป เพียงเพื่อต้องการตอบโต้กลุ่มซึ่งมีแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย
ในบรรดาสาเหตุสำคัญของปัญหาในภาคใต้ กอส. ระบุว่าสาเหตุหนึ่งสืบเนื่องมาจาก การใช้อำนาจในทางที่ผิดอย่างขาดการควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและการใช้มาตราการรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ บวกกับความไม่ยุติธรรมที่เกิดจากกระบวนการพิจารณาไต่สวนคดี และการทำงานของฝ่ายปกครอง ข้อเสนอของ กอส. จึงรวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการทำงานของกระบวนการยุติธรรมในภาคใต้ เพื่อให้มีการบริหารงานที่สอดคล้องกันมากขึ้น มีประสิทธิภาพและการตรวจสอบการทำงานมากขึ้น และเจ้าหน้าที่รัฐต้องเปลี่ยนทัศนคติในการทำงาน
รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้กล่าวแสดงความชื่นชมรายงานดังกล่าว แต่ไม่ได้นำสิ่งที่ กอส. เสนอแนะไปปฏิบัติ มีเพียงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งไปหาวิธีการที่จะนำข้อเสนอแนะจาก กอส.ไปปฏิบัติ แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริงใดๆ. พลเอกสนธิ ซึ่งในเวลานั้นทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ ยังได้กล่าวสนับสนุนเห็นด้วยกับสิ่งที่ กอส.รายงาน แต่ก็ไม่ได้พยายามนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นไปปฏิบัติ
หลังการยึดอำนาจในเดือนกันยายน รัฐบาลใหม่ก็เน้นความสนใจไปที่การแก้ปัญหาภาคใต้อย่างจริงใจ แต่ในวันที่ 18 ตุลาคมกลับยืดเวลาการใช้ พรก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนใต้ต่อไปอีกสามเดือน. พรก.ฉบับนี้เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้รับการยกเว้นโทษ
เดือนกรกฎาคม ศาสตราจารย์ฟิลิป อัลสตัน ผู้เสนอรายงานการประชุมพิเศษขององค์การสหประชาชาติ กรณีการวิสามัญฆาตรกรรมหรือการตัดสินคดีโดยพลการได้กล่าวว่า "การใช้ พรก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้ทหารและตำรวจยังคงลอยนวลจากการฆาตรกรรมต่อไป" เขากล่าวเพิ่มเติมว่า "การยกเว้นโทษให้เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคงที่กระทำการรุนแรงยังคงเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย แต่การประกาศใช้ พรก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่พวกนี้มีอำนาจมากขึ้น และทำให้การยกเว้นโทษดูเหมือนเป็นนโยบายของรัฐ"
เขาได้ยื่นคำขอต่อรัฐบาลเพื่อเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้ง อย่างน้อย 4 ครั้ง แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานว่าคำขอของเขาจะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยหรือไม่ หรือเมื่อไรจึงจะมีการยกเลิกการใช้ พรก.ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
คณะทำงานองค์การสหประชาชาติเรื่องการบังคับให้บุคคลสูญหาย (the UN Working Groupon Enforced and Involuntary Disappearances) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติที่ให้ความสนใจต่อสถานการณ์ในภาคใต้ของไทย. ในปี พ.ศ. 2549 กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (the Asian Human Right Commission, AHRC) ร่วมกับคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (the Working Group on Justice for Peace) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การสหประชาชาติกรณีผู้สูญหาย 18 รายจากพื้นที่ภาคใต้ของไทย ซึ่งนี่เป็นเพียงจำนวนเล็กน้อยจากตัวเลขทั้งหมดที่ไม่มีใครทราบ
แต่เชื่อกันว่ากรณีคนหายที่เกิดขึ้นในภาคใต้มีจำนวนเป็นร้อยในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากจำนวนทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ในจำนวนรายชื่อคนหายที่ยื่นต่อองค์การสหประชาชาตินั้นมีอยู่ 5 คน และในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง ที่เชื่อว่าหายไปพร้อมกันในเดือนตุลาคม 2548. วิไลลักษณ์ มามะ กับสามีและลูกชายอายุ 4 ขวบ เดินทางกับเพื่อนอีกสองคนเพื่อไปเอารถคันใหม่ที่อำเภอหาดใหญ่ก่อนเดินทางกลับบ้าน แต่ทั้งหมดไม่เคยกลับถึงบ้าน เพื่อนคนหนึ่งของครอบครัวนี้มาที่บ้านและบอกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามอาชญากรรมได้จับตัววิไลลักษณ์และคนอื่นๆ ไป เจ้าหน้าที่ตำรวจที่หาดใหญ่บอกญาติว่าคนกลุ่มนี้หายตัวไปเพราะมีเรื่องขัดแย้ง "ส่วนตัว"
เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ ที่คล้ายกันนี้ในภาคใต้ ซึ่งจนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาเหล่านั้น และไม่เคยมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างจริงจัง. เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษไปพบญาติเพื่อหาข้อมูลบางอย่างแต่ไม่เคยแสดงความคิดเห็นใดๆ
พวกเขาอยู่ไหน?
- ยะ เจาโดเลาะห์ : วันที่หายไป 26 มีนาคม 2545 สถานที่เกิดเหตุ โรงแรมพาร์ควิว ยะลา หายไปหลังพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- แวหะรง รอร์ฮิง : วันที่หายไป 26 มีนาคม 2545 สถานที่เกิดเหตุ โรงแรมพาร์ควิว ยะลา หายไปหลังพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- อิมรอฮิม กาโยะ : วันที่หายไป 8 มกราคม 2547 สถานที่เกิดเหตุ อำเภอบันนังสะตา ยะลา ถูกชายในเครื่องแบบนำตัวไปจากบ้านพัก
- อับดุลเลาะห์ ฮะยิมะสะเลห์ : วันที่หายไป 5 มิถุนายน 2548 สถานที่เกิดเหตุ สถานีรถไฟ สงสัยว่าถูกจับขึ้นรถกะบะที่จอดรออยู่
- แวะ อัดดุล วะห์เอง บานิง : วันที่หายไป 15 ตุลาคม 2548 สถานที่เกิดเหตุ ระหว่างปัตตานี-ยะลา ไม่ทราบรายละเอียดของการหายตัวไป
- อะหมัด อาห์มีเด็น : วันที่หายไป 1 พฤศจิกายน 2548 สถานที่เกิดเหตุ ปัตตานี สงสัยว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสะกดรอยตาม
- มุฮะหมัด เซ็นเร็น : วันที่หายไป 1 พฤศจิกายน 2548 สถานที่ ปัตตานี สงสัยว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสะกดรอยตาม
- บดุลเลาะห์ ซาลาม : วันที่หายไป 1 พฤศจิกายน 2548 สถานที่ ปัตตานี สงสัยว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสะกดรอยตาม
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารจับคนๆ หนึ่งไปฆ่าแล้วนำศพไปทิ้ง เขาได้ทำฆาตรกรรมอำพรางที่โหดเหี้ยมและชั่วร้ายที่สุด การทำให้บุคคลหายไปถือเป็นความรุนแรงที่มีการวางแผนมาอย่างดียิ่ง เป็นการกระทำที่ทั้งโหดเหี้ยมป่าเถื่อนและมีการเตรียมการอย่างถี่ถ้วน เพราะต้องมีคนคอยสะกดรอยเก็บข้อมูล เตรียมแผนการลงมือ จัดหาคนที่จะลงมือ จัดหายานพาหนะ อาวุธและสถานที่ ต้องมีการทำรายงานเท็จ การทำลายหลักฐาน และต้องเตรียมอ้างกฎหมายหรือเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายที่จะนำมาใช้ ปกป้องผู้กระทำผิด
การทำให้บุคคลสูญหายมักเกิดร่วมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งการทรมาน การกักขังหน่วงเหนี่ยวโดยไม่ให้ติดต่อกับใคร และการวิสามัญฆาตรกรรม คำว่า"การทำให้บุคคลหายตัวไป" จึงเป็นเพียงการใช้ภาษาที่สุภาพสำหรับการลักพาตัวไปกักขังโดยมีเจตนาจะฆ่าทิ้งนั่นเอง
การกระทำทั้งหมดนี้ยังดำเนินต่อไปได้ตราบใดที่ทุกฝ่ายยังปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง ตราบใดที่สถาบันซึ่งทำหน้าที่รักษากฎหมายถูกทำลาย บิดเบือนหรือเพิกเฉย การไม่ยอมรับความจริงนี้ไม่ได้จำกัดเพียงในรูปของการทำให้บุคคลหายตัวไปอย่างเดียว เพราะนานไปการกระทำนี้จะกลายเป็นมาตรฐานของปฏิกิริยาเมื่อเริ่มมีการชี้มูลความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในที่สุดจะขัดขวางความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาใดๆ ที่สำคัญที่สุดการทำให้บุคคลหายตัวไปเป็นการปฏิเสธหนทางที่จะชดใช้ความผิดแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อ เพราะหน่วยงานของรัฐได้ผนึกกำลังกันที่จะไม่จ่ายค่าเสียหาย แต่กลับคิดแผนการสกปรกกับประชาชนและยังปิดบังไว้เป็นความลับ
พฤติกรรมที่ปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย เห็นได้อย่างชัดเจนในปลายเดือนพฤษภาคม เมื่อมีบุคคลสำคัญซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สองคนเรียกร้องให้มีการสืบสวนเป็นกรณีพิเศษหลังมีการพบศพนิรนามเป็นร้อยศพในพื้นที่. คุณหญิงหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เป็นผู้นำการสืบสวนขั้นต้นในบางพื้นที่ และกล่าวว่าจะทำการขุดซากศพจำนวนนับร้อยขึ้นมาชันสูตร โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เธอบอกว่าศพส่วนใหญ่อาจเป็นพวกแรงงานอพยพที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ใช่คนในท้องถิ่น
ขณะเดียวกันนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รักษาการสมาชิกวุฒิสภาก็บอกว่ารัฐบาลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเมื่อมีการพบศพนิรนามนับร้อยในภาคใต้ ปฏิกิริยาจากฝ่ายข้าราชการทั้งรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดคือ ปฏิเสธไม่รับฟังรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างหน้าตาเฉย รายงานข่าวระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพูดว่า เขาไม่ถือข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นเรื่องจริงจัง ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็บอกว่านี่เป็น "เรื่องเก่า" ไม่มีอะไรต้องตื่นเต้น
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นความดื้อดึง และปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงของข้าราชการหลายคนที่มีต่อข้อกล่าวหาเรื่องข้าราชการในพื้นที่ภาคใต้ลักพาตัว และสังหารผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก รัฐพยายามปฏิเสธการขุดพบศพเหล่านั้น ปฏิเสธว่ามีการพบศพจำนวนมาก ปฏิเสธว่าศพเหล่านั้นไม่ใช่คนท้องถิ่น แล้วยังปฏิเสธว่าศพเหล่านั้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคงฯ
หรือเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ หรือข้อสงสัยเรื่องการลักพาตัว การให้ความสำคัญเรื่องจำนวนศพและศพเหล่านั้นเป็นใคร กำลังเป็นเรื่องหลงประเด็น เพราะประเด็นคือความจริงที่ว่า สิ่งเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป กำลังบอกว่าบ้านเมืองยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไร้กฎหมาย หากสถาบันซึ่งทำหน้าที่รักษากฎหมายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง เราคงไม่ได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการขุดพบศพจริงหรือไม่ หรือพบกี่ศพ หรือศพนั้นเป็นใครและตายด้วยสาเหตุใด
ก่อนที่จะมีการสืบสวนตามกระบวนการที่ควรเป็น หากเป็นการสอบสวนคดีอาญาทั่วไปก็คงมีการเปิดหลุมเพื่อนำศพขึ้นมาชันสูตรว่าผู้ตายเป็นใคร แล้วส่งผลการตรวจไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งรายงานถึงศาลเพื่อให้ศาลตัดสินว่า สมควรทำการสืบสวนคดีต่อไปหรือไม่และอย่างไร แต่เมื่อมีกฎอัยการศึก และ พรก. ในสถานการณ์ฉุกเฉินมาอยู่เหนือกฎหมายอาญาทั่วไปเช่นนี้ ทั้งตำรวจและทหารเองก็มีอิสระที่จะกระทำการที่โหดร้ายรุนแรง โดยไม่ต้องรับโทษเช่นนี้ การปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงจึงกลายเป็นสิ่งที่รัฐนำมาใช้ปกครอง แต่ไม่ใช้หลักแห่งกฎหมาย
ผลของการปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงนี้ เป็นสิ่งที่ผู้ตกเป็นเหยื่อและญาติๆ ต้องสัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งก็คือครอบครัวของผู้ถูกทำให้หายตัวไปไม่เพียงแต่ต้องต่อสู้กับภาระทางด้านอารมณ์และจิตใจ แต่ยังต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ขาดความเข้าใจ และปัญหาปากท้องในชีวิตประจำวันที่เกิดจากการที่ลูกชาย พ่อ ลุง น้า หรือพี่ชายน้องชายถูกจับตัวไป และเนื่องจากรัฐไม่มีช่องทางให้ญาติพี่น้อง สามารถร้องเรียนเรื่องคนหายได้ตามปกติโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกคุกคาม เหยื่อส่วนใหญ่จึงยังมีชีวิตอยู่ และสามารถติดต่อได้ในสายตาของผู้ปกครองทั่วไป
แน่นอนว่านี่เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับครอบครัวอย่างหนีไม่พ้น ชายคนหนึ่งที่หายตัวไปได้รับหมายเรียกจากกองทัพให้มาเกณฑ์ทหาร เมื่อเขาไม่มาปรากฏตัวกองทัพก็ออกหมายจับ อีกกรณีที่คล้ายกันคือ ชายคนหนึ่งที่ได้รับการประกันตัวระหว่างรอขึ้นศาลได้หายตัวไป ศาลจึงยึดเงินประกันและออกหมายจับ อีกรายเป็นครอบครัวที่ทรัพย์สินสูญหายระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบุกเข้าตรวจค้นบ้าน ทำให้ไม่มีหลักฐานที่จะนำไปใช้ชี้ตัวผู้สูญหายเวลาที่ตนไปยื่นคำร้อง. ส่วนรายอื่นๆ ก็มีปัญหาเรื่องการใช้ชื่อร่วมในสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร โฉนดที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ หรือเอกสารและบันทึกอื่นๆ ที่ต้องมีการมอบอำนาจหรือลงชื่อยินยอมโดยบุคคลที่หายไปเพื่อจะขอข้อมูลหรือทำธุรกรรมใดๆ
นี่คือเหตุผลที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงานพิเศษขึ้นมารับคำร้องเรื่องคนหาย และเมื่อมีการสืบสวนในชั้นต้นแล้ว ต้องมีอำนาจในการออกเอกสารที่มีผลในทางกฎหมายเพื่อยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวได้หายไปจริง เอกสารที่หน่วยงานนี้ออกสามารถนำไปใช้ในศาล หน่วยงานของรัฐ ธนาคาร และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยให้บุคคลที่หายไปนั้นเป็นอิสระจากภาระผูกพันในเวลานั้นไปก่อนระหว่างรอการสืบสวนเพิ่มเติม แล้วแต่งตั้งให้ญาติหรือผู้ใกล้ชิดเป็นผู้มีสิทธิกระทำการแทน
หน่วยงานเดียวกันนี้ ยังสามารถจัดเตรียมเอกสารยืนยันว่าบุคคลที่หายไปนั้นเสียชีวิตแล้ว
ประเทศไทยเคยประสบเหตุที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างได้ชัดเจนในการดำเนินงานเรื่องนี้
นั่นคือภัยพิบัติสึนามิ เมื่อเดือนปลายธันวาคม 2547 ที่ไม่สามารถค้นหาศพผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากทำให้ต้อง
สันนิษฐานว่า เหยื่อสึนามิเหล่านั้นเสียชีวิตหมดแล้ว
ในสถานการณ์ปกติตามมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายแพ่งระบุว่า ญาติของบุคคลซึ่งสูญหายขณะเกิดภัยพิบัติหรือสงครามต้องรอเป็นเวลา 2 ปี จึงจะสามารถแจ้งให้ศาลออกเอกสารยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว บทบัญญัตินี้สร้างปัญหาและอุปสรรคที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างใหญ่หลวงต่อคนในครอบครัวที่พยายามดำเนินชีวิตต่อไป. ในเดือนพฤษภาคม 2548 รัฐบาลจึงมีมติให้แก้ไขกฎหมายซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมและน่ายกย่อง โดยให้เหยื่อของผู้ประสบภัยสึนามิได้รับยกเว้นจากบทบัญญัติของกฎหมายนี้ ประเทศอื่นๆ ที่ประชาชนตกเป็นเหยื่อคลื่นยักษ์สึนามิก็มีการประนีประนอมข้อกฎหมายในทำนองเดียวกัน
เหยื่อการสังหารและการทำให้บุคคลหายไปที่เกิดขึ้นในภาคใต้หรือที่อื่นๆ แล้วถูกนำมาฆ่าทิ้ง หรือฝังที่นั่นเป็นเหยื่อคลื่นสึนามิที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ มันกวาดล้างไปตามหมู่บ้านและเมืองอย่างงียบๆ ทิ้งไว้ซึ่งความตายและความย่อยยับในรูปแบบต่างๆ ในความเป็นจริงมหันตภัยที่มนุษย์เป็นผู้ก่อนี้สร้างความหายนะยิ่งกว่ามหันตภัยจากธรรมชาติมากนัก เพราะก่อให้เกิดทุกข์ที่ยิ่งกว่าความตายและความปั่นป่วนรุนแรง มันทำลายสถาบันอันเป็นรากฐานที่จะช่วยให้สังคมดำรงอยู่ได้ มันสร้างความเสียหายที่เกินจะเยียวยาแก้ไขต่อทุกๆ มิติของชีวิตทางสังคมและความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีต่อกัน
ก้าวแรกที่หน่วยงานของรัฐควรทำหากอยากเห็นโศกนาฎกรรมนี้สิ้นสุดลง และอยากให้ประชาชนในภาคใต้ได้รู้จักความหมายใหม่ของคำว่า"ความยุติธรรม"ก็คือ ออกมายอมรับปัญหาและความรุนแรงที่แท้จริงที่กำลังเป็นไป ปัญหานั้นก็คือการบังคับให้บุคคลหายไป ทั้งที่รู้แล้วว่าเป็นใครและอีกหลายคนที่ไม่ทราบจำนวนแน่นอน นี่เป็นสิ่งที่รัฐต้องใส่ใจว่าบุคคลเหล่านี้สมควรได้รับการพิจารณาให้ได้รับสถานะเช่นเดียวกับผู้ตกเป็นเหยื่อคลื่นสึนามิ
หนึ่งในพฤติกรรมการอุ้มฆ่าประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ของไทย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่อื่นก็คือ การใช้วิธี "ขึ้นบัญชีดำ" ซึ่งในเดือนเมษายน พลเอกสนธิก็พูดเป็นเชิงว่า บัญชีที่ว่ามีอยู่จริงและถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ คือเป็นการแก้แค้นส่วนตัว แต่ไม่ให้รายละเอียดว่าตนรู้อะไรเกี่ยวกับรายชื่อและการปฏิบัติต่อคนที่ถูกขึ้นบัญชี. เดือนพฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีชั่วคราวออกมายอมรับว่ามีการขึ้นบัญชีดำคนในภาคใต้ ด้วยการสั่งให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ "ฉีก" บัญชีดำทิ้ง
การขึ้นบัญชีดำกลายเป็นเรื่องที่คนรู้กันทั่ว และที่จริงก็เป็นวิธีที่กองกำลังรักษาความมั่นคงในประเทศไทยใช้มาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตามยังมีคำถามที่น่าเป็นห่วงอีกหลายข้อเกี่ยวกับการขึ้นบัญชีดำคนในภาคใต้ คือ
1. ใครทำบัญชีดำ? มีบัญชีลักษณะนี้กี่บัญชี ?
2. ใครเป็นผู้สั่งทำบัญชีดำ? อะไรคือเหตุผลที่ต้องสั่งทำบัญชีดำ ?
3. บัญชีดำถูกส่งให้ฝ่ายต่างๆ อย่างไรและถูกใช้อย่างไร ? รายชื่อนี้ถูกนำไปใช้อุ้มฆ่าอย่างไร ?
4. คนที่ถูกขึ้นบัญชีดำมีจำนวนเท่าไร ? และชื่ออะไร ?
5. มีกี่คนที่ถูกอุ้มฆ่าเพราะมีชื่ออยู่ในบัญชีดำ และเป็นใครบ้าง? ใครคือผู้ลงมืออุ้มฆ่า ?6. มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างไรจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถูกสงสัยว่าเป็นคนอุ้มฆ่าผู้ที่มีชื่ออยู่ใน
บัญชีดำ ? มีการสืบสวนเรื่องนี้กี่ครั้ง ? ผลของการสืบหาความจริงคืออะไร ?7. ประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่ามีการฉีกบัญชีดำทิ้ง ? รัฐจะทราบได้อย่างไร ? รัฐมีวิธีการใด
เป็นหลักประกันว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งให้ฉีกรายชื่อทิ้ง ?8. รัฐมีมาตรการใดมาแทนที่ให้ประชาชนอุ่นใจว่าจะไม่มีการทำบัญชีดำขึ้นใหม่ ? ประชาชนจะ
มีหลักประกันในเรื่องนี้อย่างไร ?
ขณะที่รัฐออกมายอมรับว่ามีการทำบัญชีดำจริง รัฐกลับไม่ยอมรับถึงผลที่เกิดจากการมีบัญชีดำ
หลักฐานไม่มี ปัญหาก็ไม่มี
เดือนตุลาคมอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในเวลานั้น ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงยุติธรรม
ได้แสดงความเห็นดังคำกล่าวข้างล่างว่า
"ทางกรมอยากเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งทำหน้าที่สืบสวนคดีต่างๆ ได้เก็บรวมรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนก่อนทำการจับกุม เพราะมีการตั้งข้อหาอย่างผิดกฎหมายเกินกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนคนที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งรัฐต้องเป็นผู้จ่ายเงินค่าทดแทนความเสียหาย"
ขณะที่คดีอาญาร้ายแรงจำนวนมากอาจกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าเป็นการใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ คำพูดนี้ทำให้เรารู้ว่ามีความผิดปกติร้ายแรงเกิดขึ้น และไม่ใช่แค่เรื่องที่รัฐต้องเป็นผู้จ่ายค่าทดแทน แต่การยื่นคำร้องขอรับค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย เป็นอาการที่สะท้อนให้เห็นความผิดปกติที่ฝังลึกอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของการดำเนินคดีอาญา สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามที่ต้องให้ความใส่ใจอย่างจริงจังตามมาอีกหลายข้อ ได้แก่
1. เกิดอะไรขึ้นกับระบบการข่าวของตำรวจ
?
การสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ถือเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
เมื่อคนจำนวนมากถูกจับตั้งข้อหาและฟ้องร้องดำเนินคดีโดยขาดพยานหลักฐานชัดเจน
นั่นหมายความว่าได้เกิดความบกพร่องอย่างร้ายแรงขึ้นในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
โครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรมีหลักประกันว่าเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่สืบสวนคดีต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง และมีการตรวจสอบการทำงานจากผู้บังคับบัญชา ก่อนจะทำให้ใครคนหนึ่งต้องสูญเสียอิสรภาพ การจะแก้ปัญหาเรื่องการตั้งข้อหาอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย จำเป็นต้องจัดการเรื่องความล้มเหลวในการให้คำแนะนำของผู้บังคับบัญชา และจำเป็นที่เราต้องหันมามองปัญหาเรื่องการจัดโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่าเกิดจากการที่หน่วยงานนี้ถูกตั้งขึ้นบนหลักการที่ต้องการให้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการปกครองตนเอง แทนที่จะเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและสนับสนุนจากรัฐบาล
2. คดีที่เป็นการจงใจสร้างพยานหลักฐานเท็จมีกี่เปอร์เซ็นต์
?
ในจำนวนคดีอาญาร้ายแรงที่เป็นการใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ อาจมีบางคดีที่เกิดจากความสะเพร่าในการทำงานของตำรวจ
ขณะที่อีกหลายคดีเป็นการจงใจสร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นมารังแกผู้บริสุทธิ์ เพื่อแลกกับเงินหรือสินบนอื่นๆ
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าตำรวจไทยส่วนใหญ่นั้นรับสินบน และชอบใช้วิธีซ้อมทรมานหรือวิธีการอื่นๆ เพื่อบังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพและมีการสร้างหลักฐานเท็จ ตำรวจยังมีความเกี่ยวพันอย่างเหนียวแน่นกับโลกอาชญากรรม ในสภาพการณ์เช่นนี้ การเรียกร้องให้เจ้าพนักงานผู้ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีอาญา ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนยื่นฟ้องต่อศาลจึงยังไม่เพียงพอ การเรียกร้องนี้อาจทำให้เกิดการสร้างพยานหลักฐานเท็จที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นคดีร้ายแรงอย่างในคดีที่มีการเรียกร้องค่าทดแทนจากรัฐ
ประเด็นที่แท้ของปัญหานี้จึงอยู่ที่ลักษณะโครงสร้าง และการทำงานของกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทย สังคมกลัวผู้ก่ออาชญากรรมมากถึงขนาดไม่กล้านำคนผิดมาลงโทษ แต่กลับดำเนินคดีกับผู้บริสุทธิ์แทนอย่างนั้นหรือ? หรือตำรวจตกอยู่ใต้อิทธิพลของอาชญากร มากขนาดที่พวกเขาจำเป็นต้องสร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นมาแทนที่จะตามล่าหาตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาดำเนินคดี ? เราควรจัดการปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในหน่วยงานของรัฐ และสังคมไทยนี้อย่างไร ?
3. เกิดอะไรขึ้นกับกฎหมายและขั้นตอนการตรวจสอบพยานหลักฐาน
?
รัฐธรรมนูญปี 2540 นำมาซึ่งการปฏิรูปหลายอย่าง โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการพิจารณาไต่สวนและดำเนินคดีอาญาในสังคมไทย
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการกำหนดมาตราที่กล่าวถึงการรวบรวมพยานหลักฐานก่อนการจับกุมโดยเฉพาะ
และไม่ยอมรับคำสารภาพที่ได้จากการซ้อมทรมาน หรือวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กระนั้นก็ตามกระบวนการพิจารณาคดีของศาลไทย มักมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาสำนวนคดีของตำรวจและคำให้การของพยานบุคคลค่อนข้างมาก และทำให้ตำรวจตั้งข้อหาเท็จกับผู้บริสุทธิ์ได้ง่าย วิธีหนึ่งที่จะแก้ไขความไม่สมดุลนี้ได้ก็คือ
ศาลต้องให้ความสำคัญกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเป็นหลักฐานที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอย่างเป็นอิสระ ในประเทศไทยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นผู้บุกเบิกการทำงานในด้านนี้ อย่างไรก็ตาม สถาบันนี้ต้องตกเป็นเป้าการโจมตีอย่างหนักและการทำงานของสถาบันก็ถูกขัดขวางโดยไม่จำเป็น เพราะไปท้าทายอำนาจของตำรวจที่มีมานาน
ยังมีงานอีกหลายด้านที่จำเป็นต้องทำเพื่อพัฒนาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบบกฎหมายและขั้นตอนการนำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้จากผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง มาใช้ประกอบคำให้การของพยาน เนื่องจากไทยจัดได้ว่าเป็นสังคมที่ก้าวหน้าทันสมัย และมีทรัพยากรมากมายเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย จึงไม่มีเหตุผลให้ยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดีอาญาจะถูกทิ้งให้ล้าหลัง เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความใส่ใจในการนำวิธีการสืบสวนสอบสวนที่เป็นวิทยาศาสตร์ และการนำคำให้การของผู้เชี่ยวชาญมาใช้ในกระบวนการพิจารณาไต่สวนคดีอาญาในศาลไทย
4. เกิดอะไรขึ้นกับผู้ทำหน้าที่เป็นพนักงานอัยการของรัฐ
?
อัยการรัฐมีหน้าที่รับผิดชอบศึกษาตรวจสอบสำนวนคดีก่อนนำขึ้นพิจารณาในศาล แต่เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า
อัยการรัฐในประเทศไทยมีอิสระในการทำงานน้อยมาก และต้องอาศัยสำนวนคดีที่ตำรวจ
หรือพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญาเป็นผู้มอบให้เป็นหลัก อัยการไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสืบสวนหาข้อเท็จจริงด้วยตนเอง
ยกเว้นคดีพิเศษบางคดี
พนักงานในสำนักงานอัยการคนหนึ่งเปรียบเทียบสำนักงานอัยการว่า เป็นเหมือน "โรงงานทำลูกชิ้น" ได้ข้อมูลอะไรมาก็เอามาบดสับแล้วส่งให้ศาลโดยไม่มีการตั้งคำถามใดๆ ทั้งนั้น พฤติกรรมแบบขาดความเป็นมืออาชีพ และขาดอิสระในการทำงานของสำนักงานอัยการ เป็นอุปสรรคร้ายแรงอีกข้อต่อการแก้ปัญหาคดีป้ายสีผู้บริสุทธิ์ ที่มีมาถึงศาลเป็นจำนวนมาก
ตัวอย่างคดีดังที่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัยการรัฐในประเทศไทยสามารถถูกใช้ให้ทำคดีอะไรก็ได้ คือการดำเนินคดีเหยื่อ 58 รายที่ตกเป็นจำเลย เมื่อกองกำลังรักษาความมั่นคงเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนหน้าสถานีตำรวจอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และจบลงด้วยการมีคนตายมากกว่า 48 ราย โดย 78 รายเสียชีวิตระหว่างถูกทหารควบคุมตัว และอีกหลายรายกลายเป็นผู้พิการถาวร
ทหารและตำรวจซึ่งต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตจำนวนมากที่อำเภอตากใบ ก็เช่นเดียวกับทหารและตำรวจในกรณีกรือเซะ ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายนปีเดียวกันคือ ไม่เคยถูกลงโทษ. ความจริงพวกเขากลับได้รับการเลื่อนขั้นด้วยซ้ำ ตรงข้ามกับผู้ตกเป็นเหยื่อที่ถูกลากตัวไปขึ้นศาลในข้อหาว่ามีการกระทำในทางยุยงปลุกปั่นให้ทหารและตำรวจต้องใช้ความรุนแรง อันนำไปสู่การมีผู้บาดเจ็บล้มตายในวันนั้น
การดำเนินคดีในศาลจังหวัดนราธิวาสกลายเป็นการเล่นละครตบตา เมื่ออัยการรัฐล้มเหลวที่จะนำตัวพยานมาขึ้นศาลครั้งแล้วครั้งเล่า หรือเมื่อหัวหน้าชุดสืบสวนคดีซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าตำรวจสถานีตำรวจอำเภอตากใบ ไม่สามารถชี้ตัวจำเลยได้แม้แต่คนเดียว (สองคนในจำนวนผู้ตกเป็นจำเลยเสียชีวิตแล้ว) หรือไม่กล้าบอกว่ามีหลักฐานอะไรที่ใช้ยืนยันความผิดของจำเลยบ้าง ดูราวกับว่าอัยการรัฐกับตำรวจ พยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำคดีนี้แบบสุกเอาเผากิน
ก็ทำไมจะไม่เป็นเช่นนั้นในเมื่อชาวบ้านกลุ่มนี้ ถูกตั้งข้อหาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปจากผู้ทำความผิดที่แท้จริงเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และเห็นชอบกับเหตุผลที่ต้องใช้ความรุนแรงในวันนั้น รัฐจึงไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญว่าจำเลยมีความผิดจริงหรือไม่ คดีนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของมันแล้ว นั่นคือทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีนายทหารคนไหนถูกตัดสินลงโทษ
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่รัฐบาลชั่วคราวมีคำสั่งให้ถอนฟ้องจำเลยทั้ง 58 คน ในเดือนพฤศจิกายน แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีแต่การถอนฟ้องกลับกลายเป็นการหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาที่แท้จริงไปอย่างแนบเนียน เหตุใดคนพวกนี้จึงถูกตั้งข้อหาแต่แรก และทำไมคดีนี้จึงถูกตำรวจและอัยการรัฐถ่วงไว้ถึงสองปี โดยไม่มีการนำพยานหลักฐานใดๆ มาแสดง ? นี่ไม่ใช่คำถามต่อศาลจังหวัดนราธิวาส หรือที่ภาคใต้เท่านั้น แต่เป็นคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดในประเทศไทย
การดำเนินคดีอาญาในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส ตรงข้ามกับคำร้องทุกข์จากอัยการและตำรวจว่า ตนขาดงบประมาณ เวลา และทรัพยากรที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อการปฏิบัติงานที่น่าสรรเสริญกว่านี้ อุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินคดีอาญาอย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจำเลยจะมีฐานะใดก็ตาม คือการขาดเจตนารมณ์ทางการเมืองและการบริหารงาน ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ อดีตนายตำรวจชั้นสูง พล ต.อ. ชลอ เกิดเทศ ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ในคดีปล้น "เพชรซาอุ" อันอื้อฉาว ลักษณะเด่นประการหนึ่งของคดีนี้และยังเป็นอยู่จนถึงปัจจุบันก็คือการมอบหมายให้อัยการรัฐผู้หนึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลคดีนี้เต็มเวลาตลอด 13 ปี การมีอัยการรัฐหนึ่งคนที่ทุ่มเทเวลาให้คดีหนึ่งอย่างมุ่งมั่นและเต็มความสามารถ ได้แสดงผลงานที่ผิดกับคดีอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนอย่างชนิดขาวกับดำ
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเซียที่ไม่ว่าใครก็ตามที่ถูกสอบสวนดำเนินคดี ล้วนเป็นการตัดสินใจทางการเมือง และไม่ว่าพวกเขาจะถูกดำเนินคดีอย่างยุติธรรมหรือไม่ ก็เป็นการตัดสินใจทางการเมืองเช่นกัน คำว่าการตัดสินใจทางการเมืองไม่ได้ใช้ในความหมายที่แคบแต่ในความหมายที่กว้างที่สุด หมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่ตำรวจและอัยการรัฐจะตกอยู่ใต้อิทธิพล คำสั่งหรืออำนาจของอีกฝ่าย ซึ่งนอกเหนือไปจากนักการเมืองแล้วก็ยังมีทหาร ข้าราชการ ฝ่ายบริหาร นักธุรกิจ หรือเจ้าพ่อมาเฟีย
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
คลิกไปอ่านต่อรายงานตอนที่ ๓
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)