สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยปี
๒๕๔๙
การกลับมาของทหารและการใช้นโยบายละเว้นโทษ
(ตอนที่ ๑)
กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
: AHRC
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจาก
AHRC ผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิก
รายงานประเทศไทยปี
๒๕๔๙ ภาคภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
โดยกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) (เฉพาะภาษาไทยยาว
๓๓ หน้า) เรื่อง
"การกลับมาของทหารและการใช้นโยบายละเว้นโทษ"
เป็นการเปิดเผยถึง การถอยหลังของสถาบันที่ทำหน้าที่ด้านนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนของไทย
ภายหลังรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
ในจดหมายของ AHRC แจ้งว่า "รู้สึกยินดีที่รายงานสำคัญฉบับนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย
และเผยแพร่ทางอินเตอร์เนต อีกทั้งยังหวังว่ารายงานนี้จะนำมาสู่การอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเรื่องผลกระทบหลังจากการรัฐประหาร"
สำหรับในรายงาน ได้กล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ
หลังจากที่ทหารได้เข้ามามีอำนาจทางการเมืองและยังได้อภิปรายถึงการมี "รัฐธรรมนูญแบบจอมปลอม"
ที่บัญญัติโดยคณะรัฐประหาร และการปกป้องอำนาจของทหารระดับผู้นำ
ขณะเดียวกันก็พยายามสะกัดกั้นกลุ่มผู้ต่อต้านเอาไว้
ข้อสังเกตทั้งหมดที่ผ่านมา ซึ่ง AHRC ได้เคยนำเสนอตั้งแต่การเกิดรัฐประหาร
บัดนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งแก่สังคมแล้ว สิ่งที่จะถามต่อไปคือ ขณะนี้ผู้ที่สนใจและทำงานด้านสิทธิมนุษยชน
และกระบวนการยุติธรรม ได้ตระหนักและเตรียมความพร้อมถึงภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองหรือไม่
AHRC หวังว่า รายงานฉบับนี้จะช่วยกระตุ้นให้คนทำงานด้านดังกล่าวได้ตระหนักถึงข้อกังวลดังกล่าวอย่างจริงจัง
นอกจากรายงานจะเปิดประเด็นเรื่องรัฐประหารและเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว
ในเนื้อหาขนาดยาวของรายงานนี้ ยังมีเรื่อง การบังคับให้บุคคลสูญหาย, การทรมาน,
การวิสามัญฆาตกรรม,
ปัญหาในกระบวนการตำรวจ, กระบวนการพิจารณาคดีความอาญา
และการคุ้มครองพยานในประเทศไทย
สำหรับสมาชิก นักศึกษา
และผู้สนใจรายงานภาคภาษาไทยในรูปของ pdf เข้าไปดูได้ที่
http://material.ahrchk.net/hrreport/2006/Thailand2006-Thai.pdf
ส่วนรายงานภาคภาษาอังกฤษในรูป pdf เข้าไปดูได้ที่
http://material.ahrchk.net/hrreport/2006/Thailand2006.pdf.
หมายเหตุ
: กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หรือ AHRC
เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ที่ทำงานด้านการตรวจสอบ
และรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย
AHRC ก่อตั้งปี ๒๕๒๗ และมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศฮ่องกง
(midnightuniv(at)gmail.com)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๓๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
ภาพประกอบ
: ชาวเกาหลีประท้วงรัฐประหารในไทย
ภาพจากรายงานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยปี
๒๕๔๙
การกลับมาของทหารและการใช้นโยบายละเว้นโทษ
(ตอนที่ ๑)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: เรียบเรียง
จากรายงาน AHRC-PL-017-2007
ตอนที่
๑
ความนำ
ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและหลักแห่งกฎหมายในประเทศไทยต้องถอยหลังไปอีกหลายปี
เมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินด้วยการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน
2549 การทำรัฐประหารซึ่งนำโดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ทำให้รัฐบาลรักษาการของ
พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีลักษณะแข็งกร้าว นิยมการบริหารแบบเผด็จการและไม่เคยเคารพในสิทธิมนุษชน
หรือหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตยต้องสิ้นสุดอำนาจลงอย่างกะทันหัน ประเทศไทยจึงต้องตกอยู่ภายใต้สภาพที่เลวร้ายกว่าเดิม
หลังเข้ายึดอำนาจเพียงไม่กี่ชั่วโมง ทหารก็ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นอันสิ้นสุดลง, ยกเลิกอำนาจศาลสูง, ห้ามการชุมนุมทางการเมือง, จำกัดการเคลื่อนย้ายกองกำลังทหารและตำรวจ, ตลอดจนมีควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน. ทหารยืนยันว่าตนจำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจเพื่อแก้ไขวิกฤติของชาติบ้านเมือง แต่ในช่วงสองเดือนนับแต่มีการทำรัฐประหารทหาร กลับไม่สามารถนำหลักฐานใดๆ มาแสดงให้เห็นว่าจะเกิดความรุนแรงแพร่หลายในบ้านเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตามที่ตนใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามายึดอำนาจ
ทำนองเดียวกันทหารยังอ้างอีกว่ามีประชาชนในประเทศจำนวนมหาศาลที่สนับสนุนการทำรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นการแอบอ้างที่ทำได้อย่างปลอดภัยเพราะไม่มีทางจะพิสูจน์อยู่แล้ว คณะผู้ก่อการรัฐประหารอ้างภาพประชาชนในกรุงเทพที่นำอาหารและดอกไม้ไปมอบให้ทหารว่าเป็นการแสดงความสนับสนุน แต่กลับห้ามไม่ให้ฝ่ายที่คัดค้านออกมาจับกลุ่มเคลื่อนไหวใดๆ
คนขับแท็กซี่คนหนึ่งซึ่งใช้สีพ่นข้อความประท้วงการยึดอำนาจแล้วขับรถพุ่งชนรถถังอย่างแรง ได้กล่าวเมื่ออยู่ที่โรงพยาบาลว่า เขาไม่ได้ชื่นชอบรัฐบาลชุดที่แล้วนัก แต่รู้สึกผิดหวังเมื่อเห็นคนนำดอกไม้ไปมอบให้ทหารด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้เข้าใจกันไปว่ามีเพียงไม่กี่คนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร. ไม่กี่วันต่อมาคนขับแท็กซี่ผู้นี้ก็แขวนคอตายบนสะพาน หลังจากข้าราชการชั้นสูงคนหนึ่งได้แสดงความเห็นเป็นเชิงดูถูกการประท้วงของเขา
นอกจากนี้รายการสนทนาข่าว สถานีวิทยุชุมชน เว็บไซต์บนอินเตอร์เน็ท ตลอดจนสื่อรูปแบบอื่นๆ ที่ประชาชนใช้แสดงความคิดเห็นก็ถูกสั่งปิด หรือไม่ก็ถูกควบคุมตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สื่อมวลชนได้รับคำสั่งให้ "ร่วมมือ" กับคณะปฏิรูปการปกครองฯ ซึ่งส่วนใหญ่ยอมปฏิบัติตาม ผู้สื่อข่าวหญิงคนหนึ่งซึ่งเดินทางไปต่างประเทศกับคณะผู้ติดตามพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของรัฐบาลชั่วคราว เปรียบว่าตัวเธอเหมือนคนเกาหลีเหนือ ที่ถูกสั่งให้ไปทำข่าวอันทรงเกียรติเลิศหรูให้นายคิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีใต้
รัฐธรรมนูญแต่ง กับ รัฐธรรมนูญแท้
ศาสตราจารย์เทด แม็คดอร์แมน อาจารย์มหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศแคนาดา ได้เขียนไว้เมื่อปี
ค.ศ.1993 และตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญที่มีมาในประเทศไทยนั้นถูกมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญแต่เพียงในนาม
มากกว่าจะเป็นตัวบทกฏหมายที่แท้จริง คือเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อให้ผู้ปกครองมีอำนาจตามกฎหมายในการปกครองประเทศ
มากกว่าเป็นการตรากฎหมายอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนพึงปฏิบัติตาม เขาเขียนว่า
"นักวิเคราะห์การเมืองส่วนใหญ่ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญในไทยมีบทบาทเพียงแค่
ทำให้กลุ่มพลังการเมืองที่กุมอำนาจอยู่ในเวลานั้นมีสิทธิที่จะใช้อำนาจตามกฎหมาย"
นี่คือเหตุผลที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนมือผู้มีอำนาจ
ทว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้ฉีกแนวไปจากประเพณีปฏิบัติเดิม นับเป็นครั้งแรกที่ไทยมีรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเองก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่จากการคัดเลือกโดยทหาร มีการรวมตัวของประชาชนที่เป็นกลุ่มอิสระนับพันนับหมื่น โดยมีจุดประสงค์เพื่อชักจูงให้ประชาชนหันมาสนใจและมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น รวมถึงช่วยกันติดตามความคืบหน้าหลังประกาศใช้เป็นกฎหมาย
ปี พ.ศ.2544 ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขียนว่า"รัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะท้อนให้เห็นการตกผลึกของระบอบประชาธิปไตยไทยตลอด 67 ปีที่ผ่านมา เพราะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการแก้กฎหมายบางมาตราที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ แต่เป็นการปฏิรูปทางการเมืองที่ดึงเอาประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วม นับแต่เริ่มมีการร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดก็นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่
รัฐธรรมนูญปี 2540 ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่เคยมีการประกาศใช้ เพราะผู้มีอำนาจต้องอาศัยสิทธิตามกฎหมายในการปกครอง ตรงที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ริเริ่มและเรียกร้องโดยประชาชนซึ่งต้องการให้ระบอบการปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหยั่งรากลงในผืนแผ่นดินไทย"
สิ่งสำคัญคือรัฐธรรมนูญพ.ศ.
2540 ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อการจัดกระบวนการพิจารณาคดีอาญาในประเทศไทย
เพราะเป็นครั้งแรกที่หลักแห่งกฎหมายกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายสูงสุดอย่างแท้จริง.
ต่อกรณีนี้ ดร.กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ อดีตอธิบดีกรมคุมประพฤติได้
เขียนว่า
"รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการจัดระบบกระบวนการพิจารณาคดีอาญาใหม่หมด ขั้นตอนในการยกร่างรัฐธรรมนูญยังสอดคล้องกับความรู้สึกของประชาชนที่ต้องการให้มีการปฏิรูป เพราะประชาชนรู้สึกไม่พอใจในกระบวนการพิจารณคดีอาญา หลังจากที่มีการเสนอข่าวทางสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่สอบสวนดำเนินคดีอาญา การละเมิดสิทธิมนุษยชน และกระบวนการพิจารณาคดีอาญาที่ดำเนินไปอย่างอืดอาดล่าช้าและขาดการตรวจทานอำนาจอย่างเพียงพอ
ประชาชนยังรับรู้ถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้พิพากษากับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี ซึ่งบางครั้งได้แพร่ไปสู่บุคคลภายนอกและนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม จากสภาพความเป็นมาที่กล่าวมานี้ ทำให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญใช้เป็นโอกาสในการแนะนำให้เกิดการยกเครื่องกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาความอาญาของไทยครั้งใหญ่ขึ้น"
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในทุกๆ
กระทรวง, ทบวง, กรม, ของรัฐทั้งด้านโครงสร้างและขั้นตอนการดำเนินงาน พร้อมกับการตอกย้ำให้ตระหนักถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
มีการออกกฎหมายและจัดตั้งหน่วยงานหรือสถาบันใหม่ๆ ขึ้นเพื่อนำการเปลี่ยนแปลง
เหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติโดยมีศาลยุติธรรมให้การปกป้องคุ้มครอง
เมื่อมีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ประท้วงโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย จำเลยได้รับการตัดสินว่าไม่มีความผิด หลังจากที่ยืนยันว่าตนมีสิทธิในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับข้าราชการจากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จัดการชุมนุมประท้วงบริษัทเอกชนที่ขอสัมปทานทำเหมืองฟอสเฟต แล้วถูกบริษัทฟ้อง ก็ได้รับการตัดสินว่าไม่มีความผิด
ส่วนเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญ ที่ไปตรวจสอบบัญชีธนาคาร และข้อมูลส่วนตัวด้านการเงินของนักกิจกรรมทางสังคม 5 คน โดยผิดกฎหมาย หรือกรณีที่ทนายความผู้หนึ่งฟ้องดำเนินคดีพนักงานอัยการ ข้อหาปฏิเสธไม่รับตนเข้าทำงานเนื่องจากความพิการทางร่างกาย ซึ่งศาลได้ตัดสินว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการเลือกปฏิบัติอันเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ยังมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหลายอย่างจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น การกระจายเสียงทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุถือเป็นทรัพยากรของชาติ ที่ต้องนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน (มาตรา 40) และนี่คือหลักการที่สุภิญญา กลางณรงค์ นักรณรงค์ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของสื่อมวลชนใช้เป็นข้อถกเถียงในศาลจนประสบความสำเร็จ ในการต่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม ของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีทรัพยากรมากมายมหาศาล เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ศาลอาญากรุงเทพได้ถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่บริษัทชินคอร์ปอเรชั่นของอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง โดยกล่าวว่าเธอได้ชี้ให้เห็นว่า บริษัทได้รับผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เขาเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
หรือการที่หน่วยงานรัฐต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบถึงโครงการใดๆ ก็ตาม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือต่อคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นก่อนการอนุมัติโครงการ(มาตรา 59) และนี่คือบทบัญญัติใหม่ของรัฐธรรมนูญที่ศาลใช้เป็นพื้นฐานในการตัดสินรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และสั่งให้เพิกถอนสัมปทานการทำเหมืองในจังหวัดขอนแก่น ที่ไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์เมื่อปี พ.ศ.2547
การมีกฎหมายใหม่กระตุ้นให้เกิดการคิดและการกระทำใหม่ อย่างกรณีของจินตนา แก้วขาว แกนนำคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ผู้ชนะคดี เมื่อศาลตัดสินว่าเธอไม่เพียงมีสิทธิในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นโดยเสรีเท่านั้น แต่ยังมีสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามที่ระบุไว้ในมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกด้วย
ศาลยังตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า มาตรานี้และมาตราใหม่อื่นๆ ถูกบัญญัติขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเฉพาะเพื่อพัฒนาการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องการให้ประชาชนคนสามัญเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในกิจกรรมทางการเมือง และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาธารณชนมากกว่าที่เคยเป็นมาในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 เป็นเครื่องชี้วัดความก้าวหน้าครั้งสำคัญ ในกระบวนการคิดของคนไทยในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และการจัดการสังคมของตน เป็นรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนนับล้าน และทำให้คนไทยเข้าใจความหมายของคำว่ามติมหาชนดีขึ้นว่าหมายถึง การทำความตกลงร่วมกันระหว่างประชาชนทั่วไป จากที่แต่ก่อนคำว่า "มติมหาชน" ถูกเข้าใจไปในแง่ของระบบอุปถัมภ์ที่คนชั้นนำเป็นผู้ตัดสินใจแทนคนอื่น ในไม่ช้าประชาชนทั่วประเทศก็ได้แสดงให้เห็นว่าตนเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่ามติมหาชน ดีกว่าพวกผู้มีอำนาจในระบอบเดิม
รัฐธรรมนูญปี 2540 ยังมีความสำคัญต่อหลายๆ
ประเทศไม่ใช่เฉพาะต่อประเทศไทย เพราะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ถูกเกาะกินด้วยระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จและความไร้ซึ่งกฎหมาย
ดังที่ศาสตราจารย์แอนดรูว์ ฮาร์ดิง จากมหาวิทยาลัยลอนดอนได้เขียนว่า
"การปฏิรูปกฎหมายมหาชนของไทย
ควรถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งในแง่ของพัฒนาการการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ในเอเชีย
และในประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป"
ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงให้อำนาจประชาชนไทยว่า เป็นกลุ่มผู้ปกครองใหม่และยังเป็นการริเริ่มกระบวนการวางกฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐานบางอย่าง
เป็นการช่วงชิงอำนาจคืนมาจากกลุ่มอำนาจเดิมคือทหารกับพวกชนชั้นนำ และพยายามทำให้อำนาจตกไปอยู่ในมือของประชาชนด้วยการออกกฎหมายใหม่
และจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นอิสระ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการขาดอำนาจคุ้มครองอย่างพอเพียงทำให้ธรรมนูญการปกครองฉบับนี้
ต้องพยายามต่อสู้เพื่อปกป้องสถาบันที่ตนสร้างขึ้นให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระต่อไป
ขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับความหลงอำนาจชนิดขาดการควบคุมของทรราชกับกลุ่มผู้สนับสนุนเขาที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา
แต่การจัดการกับปัญหาดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายระบุไว้ ก็ถือเป็นความท้าทายของระบอบการปกครองอันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด
รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะทำให้ประเทศไทยต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญแบบจอมปลอมอีกครั้ง และอำนาจตกไปอยู่ในมือของชนชั้นนำที่เป็นทหาร ขณะที่พยายามสร้างภาพให้เป็นตรงข้าม. รัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ให้อำนาจทหารซึ่งปรับเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ในการตัดสินใจและแต่งตั้งบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำรัฐบาลชุดใหม่ นอกจากการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นนายพลทหารอาชีพ และยังเป็นเพื่อนร่วมงานที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาชั่วคราว
แล้วทหารยังแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิก 2000 คน และให้คัดเลือกภายในสมาชิกด้วยกันเองขึ้นมา 200 คน จากนั้นทหารก็จะเลือก 100 คนขึ้นมารับผิดชอบการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 35 คน โดย 25 คนให้คัดเลือกมาจาก 100 คน ส่วนอีกสิบคนที่เหลือทหารจะเป็นผู้แต่งตั้งเอง คาดว่ากระบวนการนี้จะกินเวลาเกือบตลอดปี 2550
ขณะเดียวกันสภานิติบัญญัติชั่วคราวก็ถูกตั้งชื่ออย่างเหมาะสมว่า "สภานายพล" เพราะในบรรดาสมาชิก 242 คนที่มีการประกาศรายชื่อเมื่อเดือนตุลาคมนั้น, 76 คนเป็นนายพลทหารชั้นสูงที่เกษียณราชการหรือยังรับราชการอยู่ สมาชิกส่วนใหญ่ที่เหลือก็เป็นข้าราชการ นักธุรกิจกับนักวิชาการ. ความแตกต่างที่เห็นคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ มีตัวแทนที่มาจากภาคผู้ใช้แรงงานเพียงคนเดียว และสี่คนมาจากพรรคการเมือง
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ที่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวขณะยังอยู่ในขั้นยกร่าง เพราะมีรายชื่อผู้ร่างเป็นคณะเดียวกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2534 ถูกเพิกเฉย จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเมื่อนักวิชาการและนักกฎหมายอาชีพคนอื่นๆ ออกมาแสดงความห่วงใย ในมาตรา 34 ที่บัญญัติให้ทหารมีอำนาจเรียกคณะรัฐมนตรีมาประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทหารได้ทุกครั้งที่ทหารเห็นสมควรนั้น นายทองใบ ทองเปา นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนและอดีตสมาชิกวุฒิสภาได้เขียนเอาไว้ว่า "ไม่ใช่เรื่องฉลาดนัก" เพราะเป็นการ "ผิดคำพูดที่ให้ไว้ว่าจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวในการปกครองของฝ่ายพลเรือน"
ภาพการ์ตูนในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประชาไท ทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น คือภาพสภาร่างรัฐธรรมนูญมีรั้วลวดหนามกั้น มีชาวบ้านสองคนยืนเกาะรั้วตะโกนมาจากด้านนอกสภาร่างรัฐธรรมนูญ: ห้ามเข้า (ที่มา- ประชาไท)
การปกครองโดยทหาร ?
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติในประเทศกัมพูชา
ได้พบกับรัฐมนตรีคนหนึ่งของไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การดำเนินงานของศาลในประเทศไทย
โดยแสดงความกังวลที่ศาลขาดอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และถามว่ารัฐบาลตั้งใจจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?
รัฐมนตรีคนนั้นได้ตอบเพียงว่า "อย่าห่วงเลย ผมจะทำให้หน่วยงานเหล่านั้นมีอิสระในการทำงานเอง"
ในเดือนพฤศจิกายน 2549 นายกรัฐมนตรีชั่วคราว ซึ่งคงจะหลงประเด็นแบบเดียวกับรัฐมนตรีคนนั้นก็ได้ออกมาพูดว่ารัฐบาลของตน "มีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูหลักแห่งกฎหมายให้กลับคืนมา" ด้วยการปฏิรูประบบการบริหารงานของกระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หัวใจสำคัญประการหนึ่งของหลักแห่งกฎหมายคือ ทุกคนมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย หมายความว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แปลว่าทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายสามัญ และได้รับความคุ้มครองโดยกระบวนการยุติธรรมเหมือนกันโดยไม่คำนึงถึงสถานะหรือตำแหน่งใดๆ
อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ผู้นำรัฐประหาร 19 กันยา รวมทั้งบุคคลทุกคนที่ได้รับการมอบหมายหรือคำสั่งจากคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ซึ่งก็รวมทั้งพลเอก สุรยุทธ์ด้วยนั้น กลับได้รับยกเว้นจากความผิดสำหรับการกระทำใดๆ ก็ตามทั้งก่อนและหลัง หรือในวันที่ก่อการนั้น
"บรรดาการกระทำทั้งหลายของ หัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไปเพื่อการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 นั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าเป็นการกระทำก่อนหรือหลังวันที่กล่าวมา เพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ, ผู้สนับสนุน, ผู้ใช้ให้กระทำ, หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ, และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง"
ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ของไทยก็มีบทบัญญัติที่คล้ายกันนี้ ยกเว้นในรัฐธรรมนูญ 2540 ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่จะได้รับการอนุมัติจากทหารที่กุมอำนาจอยู่ในขณะนี้ก็คงเอาบทบัญญัติดังกล่าวมาบรรจุเป็นมาตราหนึ่งเช่นกัน
มาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นการขัดต่อหลักกฎหมายโดยตรง เพราะทำให้คณะผู้ก่อรัฐประหารและบุคคลทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง รอดพ้นจากกฎหมายและอำนาจศาล. มาตรานี้ยังขัดต่อคำพูดที่ทหารให้ไว้ว่าจะยึดมั่นในสนธิสัญญาสหประชาชาติ. เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการให้ผู้ทำผิดได้รับเว้นโทษด้วยการใช้นโยบายนิรโทษกรรมแบบเหวี่ยงแหนี้ เป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งศาลในประเทศได้เพิกถอนคำสั่งนิรโทษกรรมดังกล่าวในภายหลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สาระสำคัญในมาตรา 2 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยนั้น เป็นการทำให้กฎหมายมีอำนาจโดยเท่าเทียมกันและยุติการนิรโทษกรรมที่เคยใช้ปกป้องความผิดทางอาญา. ประเทศไทยเคยถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงมาแล้ว ต่อกรณีที่รัฐปกป้องทหารและตำรวจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่มีการใช้พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น การยกเว้นโทษจึงเป็นการทำผิดต่อบทบาทหน้าที่ที่รัฐพึงปฏิบัติ และไม่ได้ทำให้ความกลัวของประชาชนว่าทหารและตำรวจไทยจะอยู่เหนือกฎหมายลดน้อยลง
เดือนพฤศจิกายนนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ยังออกมาแสดงความคิดเห็นอีกเรื่องที่ดูเหมือนจะโดยไม่ได้ตั้งใจ เขาบอกว่า
- "ผมไม่ได้เป็นนักการเมือง และไม่มีผลประโยชน์พิเศษใดๆ ผูกมัด"
- แต่อีกด้านหนึ่งเขากลับบอกว่า "ผมมีอำนาจที่มาพร้อมกับการได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ปฏิบัติงานอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด"
พลเอกสุรยุทธ์กลายเป็นความดีงามถูกต้องที่เกิดมาจากความชั่วร้าย เขากำลังบอกว่าความจริงที่ว่า เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดๆ และไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องที่ดี
อำนาจอธิปไตยในระบบรัฐสภาเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกจากหลักแห่งกฎหมาย หมายความว่า รัฐบาลที่เป็นอิสระ มีอำนาจที่จะผ่านมติเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยปราศจากการแทรกแซงจากกลุ่มอำนาจอื่น และกฎหมายเหล่านั้นก็อาจอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของศาล ในแง่นี้อำนาจตุลาการก็จะเข้มแข็งขึ้น และเป็นการยืนยันบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้ใช้กฎหมาย
การที่นายกรัฐมนตรีออกมายืนยันว่า ตนมีอิสระที่จะทำในสิ่งที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักแห่งกฎหมาย จึงเป็นคำพูดที่ขัดกับหลักแห่งตรรกะโดยสิ้นเชิง เพราะมีแต่ประมุขของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามหลักแห่งกฎหมาย ซึ่งก็รวมถึงการมีรัฐสภาและศาลเท่านั้นที่อาจผดุงไว้ซึ่งหลักแห่งกฎหมายได้ ที่มาของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและการอ้างอำนาจที่ตนมี จึงเป็นการละเมิดกฎหมายเสียเอง
เมื่อไม่มีรัฐสภาที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ใครคือผู้ออกกฎหมายในประเทศไทย? แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถตอบคำถามนี้กับประชาชนได้ ทหารและตำรวจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง, ข้าราชการกับนักวิชาการที่ทำหน้าที่แทนประชาชนน่ะรึ, นี่ก็ไม่ใช่หลักฐานที่พิสูจน์ถึงความมีกฎหมายเช่นกัน
นอกจากนี้ทหารยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "ความเป็นอิสระ" ในการทำงานของฝ่ายตุลาการ ดูเหมือนพวกเขาจะคิดว่าการล้มล้างรัฐธรรมนูญ สั่งให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหนึ่งในสามศาลปกครองระดับสูงของประเทศสิ้นสุดลง แล้วสั่งให้มีการตั้งศาลใหม่ขึ้นมาแทนนั้นจะสามารถทำให้การทำงานของศาลมีความเป็นอิสระ เพียงเพราะพวกเขาบอกว่ามันเป็นเช่นนั้น
- มาตรา 18 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของไทยซึ่งประกาศให้เป็นกฎหมายโดยหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ บัญญัติว่า "ผู้พิพากษา และตุลาการ มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ในพระปรมาภิไทพระมหากษัตริย์ ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้"
- มาตรา 35 ก็สั่งว่าให้มีการแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาแทนศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นรองประธาน
ที่จริงบทบัญญัติเหล่านี้ไม่ได้ยืนยันความมีอิสระในการทำงานของศาลไทยแต่ประการใด ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไม่ใช่สิ่งที่จู่ๆ จะมาประกาศบอกกันได้ การทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่ที่ผู้พิพากษาได้รับต่างหากที่แสดงความเป็นอิสระอย่างแท้จริง การประกาศใช้กฎหมายที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นการละเมิดกฎหมายเสียเอง เพราะมีคำสั่งแต่งตั้งศาลและสมาชิกขึ้นมาแทนที่ศาลที่มีอำนาจสูงกว่าด้วยการลงนามคำสั่งโดยทหารที่ได้อำนาจมาจากการใช้กำลัง
ที่สำคัญที่สุดความเป็นอิสระในการทำงานของผู้พิพากษาต้องมีความมั่นคงของตำแหน่งหน้าที่เป็นเครื่องยืนยัน หมายความว่าฝ่ายบริหารหรือฝ่ายอื่นของรัฐบาล ไม่มีสิทธิ์มาสั่งย้ายหรือแต่งตั้งผู้พิพากษา หมายความว่าบุคคลหรือหน่วยงานใดที่ไม่ได้มีอำนาจตุลาการ จะมาสั่งเปิดหรือปิดศาลไม่ได้ หมายความว่าเมื่อมีการแต่งตั้งบุคคลใดขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาแล้ว บุคคลนั้นต้องไม่ถูกย้ายอย่างง่ายดายหรือรวดเร็ว
มีบทความแสดงทัศนะและตัวอย่างมากมายทั่วโลกที่ยอมรับกันว่า ความมั่นคงของตำแหน่งหน้าที่คือหัวใจสำคัญของความมีศักดิ์และสิทธิ์แห่งศาล และการผดุงไว้ซึ่งหลักแห่งกฎหมาย ในเอกสารของชาวสมาพันธรัฐ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาสามคนกล่าวว่า "ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความมั่นคงแห่งตำแหน่งหน้าที่ที่จะทำให้ผู้พิพากษามีอิสระในการทำงาน" และเป็นการทำตามหลักการขั้นพื้นฐานของสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1985 ว่าด้วยความมีอิสระในการทำงานของฝ่ายตุลาการที่ประกาศว่า "ผู้พิพากษาซึ่งไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ย่อมได้รับหลักประกันในความมั่นคงแห่งตำแหน่งหน้าที่"
รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 ได้วางแนวทางไว้อย่างชัดเจนเรื่องระบบตรวจสอบ และการคานอำนาจเพื่อปกป้องความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา โดยมีขั้นตอนการแต่งตั้งและความมั่นคงของการดำรงตำแหน่ง และมีความพยายามอย่างจริงจังในการจัดโครงสร้างสถาบันด้วยตระหนักถึงความสำคัญของความมีอิสระในการทำหน้าที่ ทั้งยังให้อำนาจแก่ศาลสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ในรายงานปี พ.ศ.2546 ดร.เจมส์ ไคล์น อธิบายว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 15 ฉบับที่เคยมีมา ถูกนำไปรับใช้ประมวลกฎหมายและระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ที่พวกเจ้าขุนมูลนายเป็นผู้กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมคนในสังคมด้วยการจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน. นักการเมือง ทหารกับพวกข้าราชการพลเรือนระดับสูง มักสงวนอำนาจในการตีความกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไว้ให้ตัวเองเสมอ"
ผิดกับรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 ที่มีผู้พยายามทำให้เป็นบรรทัดฐานของกฎหมาย โดยให้หน่วยงานของรัฐอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแทนที่จะเป็นตรงข้าม ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ และแน่นอนว่าได้นำมาซึ่งปัญหาและความขัดแย้ง ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญและหน่วยงานอิสระอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดก็เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ทำไมเราต้องแปลกใจกับเรื่องนี้? ในเมื่อการจัดตั้งสถาบันใหม่ๆ โดยเฉพาะสถาบันที่ไปท้าทายระบบอำนาจเดิม ก็เป็นการยั่วยุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งโดยตัวมันเองอยู่แล้ว และก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยา ศาลสูงของไทยก็กำลังแก้ไขความขัดแย้งนี้อยู่
ประเด็นของความขัดแย้งที่ว่าก็คือ จะให้สังคมไทยตั้งอยู่บนหลักแห่งกฎหมาย หรือหลักของผู้มีอิทธิพล พวกที่มาจากการยึดอำนาจได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและพระมหากษัตริย์ แล้วมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง?
รัฐธรรมนูญชั่วคราวต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ตรงที่ไม่ให้หลักประกันเรื่องอิสระในการทำงานแก่ศาลยุติธรรม อีกทั้งพวกทหารที่เข้ามายึดอำนาจก็ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องดังกล่าวอย่างแท้จริง การแต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ คือการปฏิเสธความหมายของคำว่าอิสระในการทำงานของศาลนั่นเอง การที่ทหารสั่งให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐไปไล่เอาผิดกับคนในรัฐบาลชุดที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าความสนใจของทหารจำกัดอยู่แค่เรื่องการใช้ "ความยุติธรรม" ตามที่ตนเห็นชอบ เพื่อไปทำเรื่องที่ผิดกฎหมายของพวกตนเท่านั้น หาใช่เพราะต้องการผดุงไว้ซึ่งหลักแห่งกฎหมายไม่
รองศาสตราจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่าประเทศไทยยังต้องเจอกับรัฐประหารไปอีกนาน ตราบใดที่ศาลไทยยังยอมรับกฎหมายนิรโทษกรรมที่พวกผู้กระทำผิดผ่านเป็นกฎหมายเพื่อปกป้องตัวเอง อาจารย์วรเจตน์บอกว่า "กระบวนการยุติธรรมในไทยยังมีความเหลื่อมล้ำตรงที่ไปยอมรับกฎหมายที่ผู้มีอำนาจเขียนขึ้น แม้กฎหมายนั้นจะขัดต่อความถูกต้องชอบธรรม และสามัญสำนึกของประชาชนก็ตาม"
แท้จริงแล้ว "ความเหลื่อมล้ำ" นี้เองที่เป็นประเด็นสำคัญของปัญหาในประเทศไทย เพราะตราบใดที่ฝ่ายผู้มีอำนาจในการออกกฎหมาย ยังไปเห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจแบบผิดกฎหมาย ประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับการยึดอำนาจแบบผิดกฎหมายต่อไป ตราบใดที่คำสั่งของพวกทหารยังถูกนำไปเขียนเป็นกฎหมายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญของไทยก็ยังคงเป็นการเขียนนิยายต่อไป
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
คลิกไปอ่านต่อรายงานตอนที่ ๒
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)