โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 22 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๒๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 22, 04,.2007)
R

ความรู้ ๔ ชุดที่เป็นแกนกลางของวัฒนธรรมศึกษา
Stuart Hall และวัฒนธรรมศึกษา: ถอดระหัสการกดทับทางวัฒนธรรม
สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

The Birmingham School เป็นที่กำเนิดของวัฒนธรรมศึกษา (Cultural Studies)
โดยการนำของ Richard Hoggart และต่อมา Stuart Hall ได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการถัดมา
ในยุคของ Hall นั้น วัฒนธรรมศึกษาค่อนข้างเจริญก้าวหน้า และมีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง
แม้ว่าวัฒนธรรมศึกษาจะเป็นเรื่องของสหวิทยาการ แต่ความรู้ ๔ ชุดที่เป็นแกนกลางของมันก็คือ
hegemony, signs and semiotics, representation and discourse และ
meaning and struggle.
ในบทความชิ้นนี้จะมีตัวอย่างและคำอธิบายชุดความรู้เหล่านี้
ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในการถอดระหัสเรื่องราวของวัฒนธรรมร่วมสมัย
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๒๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

Stuart Hall speaking at the Center's International
Conference on Mass Culture, 1984.

Stuart Hall และวัฒนธรรมศึกษา: ถอดระหัสการกดทับทางวัฒนธรรม
Stuart Hall and Cultural Studies: Decoding Cultural Oppression
สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง

ความนำ
ในวัฒนธรรมป๊อปอเมริกัน วัฒนธรรมดังกล่าวได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในนามของคนกลุ่มหนึ่งหรือพื้นที่หนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ผู้คนสามารถที่จะเป็นตัวแทนเพื่อนบ้านของพวกเขา, ตัวแทนทีมกีฬา, หรือกลุ่มนักดนตรีโดยการมีช่องทางที่จะตะโกนหรือร้องออกมาดังๆ, หรือสวมใส่เสื้อผ้าสีต่างๆ, ใส่เสื้อยืด, ปิดป้ายสติกเกอร์, และอื่นๆ อะไรทำนองนั้น

การเป็นตัวแทนแสดงออก หมายถึงการเผยแพร่อัตลักษณ์ของพื้นที่หรือคนกลุ่มหนึ่งอย่างมีศรัทธา เพื่อทำให้มันมีเกียรติและศักดิ์ศรี และทำให้คนอื่นๆ รู้สึกรู้ทราบถึงมัน. การเป็นตัวแทนคือการแสดงออกและมีประสบการณ์เกี่ยวกับความสามัคคีของสังคม. ดังที่ Benji จากวงดนตรี Good Charlotte ซึ่งเป็นวงดนตรีในแนว pop-punkกล่าวว่า "การรักษาความเป็นตัวแทนของ GC (Good Charlotte) ทำให้คุณรู้ว่าเราคือตัวแทนของคุณ". มันเป็นประสบการณ์อันหนึ่งของอำนาจในการเป็นตัวแทน. เมื่อคุณทำหน้าที่เป็นตัวแทน คุณก็จะต้องรับผิดชอบในการที่คนอื่นๆ มองดูคุณ รวมไปถึงการที่พวกเขามองกลุ่มและพื้นที่ของพวกคุณอย่างไร ?

แต่หากว่า ใครคนใดคนหนึ่งควบคุมเหนือการเป็นตัวแทนและการแสดงออกของคุณล่ะ? แม้ว่า"การเป็นตัวแทน"จะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปอเมริกันขณะนี้ ไอเดียอื่นๆ เกี่ยวกับการควบคุมการแสดงออกคือส่วนหนึ่งของการวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรม นับจากงานเขียนของ W.E.B. Du Bois เป็นต้นมา. Du Bois (1920/1996) ได้ถูกนำไปผูกพันโดยเฉพาะกับเรื่องของเชื้อชาติ : "ชัดเจน คนขาวแทบจะไม่เคยเสนอภาพคนผิวสีเลย ไม่ว่าจะ"น้ำตาล"หรือ"เหลือง", สำหรับห้าร้อยศตวรรษที่ผ่านมา คนผิวสีต่างๆ ถูกทำให้หมดกำลังลง ไม่ว่าจะเป็นความเฉลียวฉลาด หรือความคิดจินตนาการอันสร้างสรรค์ ด้วยการหัวเราะเยาะและล้อเลียนคนผิวสีตลอดเวลา(Pp. 59-60)

ผลของการนั้นเป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรมและจิตวิทยา นั่นคือ การถอดถอนสิทธิ์ และมองดูการเป็นตัวแทนกลายเป็นเรื่องน่าละอายเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของพวกเขาเอง. Du Bois ได้ให้ตัวอย่างจากงานของเขาเองใน นิตยสาร The Crisis (นิตยสารที่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการของ NAACP - National Association for the Advancement of Colored People. - สมาคมเพื่อความก้าวหน้าของคนผิวสีแห่งชาติ). The Crisis ได้นำเสนอภาพของคนผิวดำคนหนึ่งบนหน้าปกนิตยสารของพวกเขา. เมื่อบรรดาผู้อ่านมองเห็นภาพตัวแทนดังกล่าว พวกเขากลับรับรู้ (หรือบริโภค) มันในฐานะที่เป็น "การล้อเลียน" ซึ่งพวกคนขาวตั้งใจทำด้วยการสร้างหน้าดำๆ หน้าหนึ่งขึ้นมา

Du Bois ได้ตั้งคำถามกับเพื่อนบางคนซึ่งเป็นทีมงานในที่ทำงานของเขาเกี่ยวกับปฏิกริยาอันนั้น. เพื่อนของเขากล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าคนมีผิวสีดำ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าคนๆ นั้นมันดำเกินไปต่างหาก. สำหรับเรื่องนี้ Du Bois ให้คำตอบว่า, "ไร้สาระ! คนขาวจะบ่นเรื่องในทำนองนี้หรือ เพราะว่าภาพของพวกเขามันขาวเกินไปใช่ไหม? (Du Bois, 1920/1996, p. 60)

ความเป็นมาของวัฒนธรรมศึกษา
การเผยให้เห็นถึงการควบคุมเกี่ยวกับภาพตัวแทน เป็นหนึ่งในความสนใจที่สำคัญของ Stuart Hall และวัฒนธรรมศึกษา (Cultural Studies). วัฒนธรรมศึกษาเริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัย Birmingham, ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ.1963. ที่นั่น Richard Hoggart ได้ก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมศึกษาร่วมสมัย (the Centre for Contemporary Cultural Studies)ขึ้น. ศูนย์ดังกล่าว เริ่มแรกเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาภาษาอังกฤษ เนื่องมาจากพื้นเพภูมิหลังของ Hoggart เองซึ่งสังกัดอยู่ในภาควิชาดังกล่าว แต่ต่อมาวัฒนธรรมศึกษาได้กลายเป็นภาควิชาที่เป็นตัวของมันเองซึ่งอยู่ภายใต้การนำของ Stuart Hall

Stuart Hall เป็นผู้อำนวยการของศูนย์วัฒนธรรมศึกษาดังกล่าว จากปี 1969 ถึง 1976. ในช่วงระหว่างที่ Hall ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการนั้น ศูนย์วัฒนธรรมศึกษาฯ แห่งนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จอย่างสูง มีความเจริญงอกงามและแผ่ขยายออกไปมากที่สุด รวมทั้งมีชื่อเสียงในทางที่ไม่ดีด้วย. แน่นอน พูดอย่างตรงไปตรงมาซึ่งค่อนข้างสำคัญมากเกี่ยวกับการนำของ Hall, ปัจจุบัน วัฒนธรรมศึกษาเป็นเรื่องที่ศึกษากันระดับนานาชาติ เป็นกระบวนวิชาข้ามศาสตร์ ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมและผลกระทบของมัน. ด้วยเหตุดังนั้น โดยทั่วไปเราจึงกำลังอ้างถึง Hall และ the Birmingham School สำหรับการสนทนาส่วนใหญ่ของเราเกี่ยวกับวัฒนธรรมศึกษาในที่นี้

วัฒนธรรมศึกษาในฐานะสหวิทยาการ
วัฒนธรรมศึกษาเป็นวิธีการศึกษาทางวัฒนธรรมที่วางอยู่บนทางแยกระหว่างสังคมศาสตร์, ส่วนใหญ่ทางด้านสังคมวิทยาอย่างค่อนข้างเด่นชัด, กับมนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดี. ในฐานะที่เป็นการศึกษาที่ไม่สังกัดกระบวนวิชาหนึ่งวิชาใดโดยเฉพาะ วัฒนธรรมศึกษาจึงเป็นศาสตร์ที่ดึงมาจากความรู้และขนบจารีตทางวิชาการที่หลากหลาย

ในการพูดถึงรากเหง้าทางด้านสติปัญญาเกี่ยวกับวัฒนธรรมศึกษา, ในรายชื่อของแหล่งความรู้ของ Stuart Hall (1980) นั้นประกอบไปด้วยบรรดานักคิดที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก อย่างเช่น Marx, Weber, Mead, Howard Becker, Raymond Williams, E.P. Thompson, Roland Barthes, Georg Luk?cs, Louis Althusser, Michel Foucault, และยังรวมไปถึงนักคิดแนวสตรีนิยมอีกหลายคน

เนื่องมาจากภูมิหลังอันนี้ วัฒนธรรมศึกษาจึงมักได้รับการอ้างถึงในฐานะที่เป็นศาสตร์ที่ต่อต้านสาขาวิชา หรือ "anti-discipline". จากท่าทีของการไม่สังกัดสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง มันจึงแข็งแรงพอสำหรับผลงานที่ดำเนินการอยู่ในวัฒนธรรมศึกษา. การขาดเสียซึ่งแกนๆ หนึ่งที่ต้องไปเกาะติด ได้ไปกระตุ้นและสนับสนุนการสนทนาที่มาจากความคิดที่หลากหลายและมีความเป็นไปได้ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ความรู้ 4 ชุดที่เป็นแกนกลางของวัฒนธรรมศึกษา
ถึงแม้ว่ารากเหง้าและพื้นที่ของการศึกษาจะมีความหลากหลาย แต่เราก็สามารถกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมศึกษาเป็นวิชาที่มีมุมมองในเชิงวิพากษ์ ซึ่งได้เพ่งความสนใจลงไปยังนัยยะทางการเมืองของวัฒนธรรมมวลชน(mass culture) ต่างๆ, อย่างไรก็ตาม มันมีความคิดอยู่ 4 ชุด ที่เป็นแกนกลางของวัฒนธรรมศึกษา นั่นคือ

- ความคิดเกี่ยวกับ"การมีอำนาจนำหรืออิทธิพลที่เหนือกว่า" (hegemony)
- ความคิดเกี่ยวกับเรื่องของ"เครื่องหมาย"และ"สัญศาสตร์" (signs and semiotics)
- ความคิดเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนและวาทกรรม (representation and discourse) และ
- ความคิดเกี่ยวกับเรื่อง"ความหมาย"และ"การต่อสู้เชิงความหมาย" (meaning and struggle)

1. อำนาจนำหรืออิทธิพลที่เหนือกว่า (Hegemony):
ในพจนานุกรม Merriam-Webster (2002) ได้ให้นำยามศัพท์คำว่า hegemony คือ การมีอิทธิพลหรืออำนาจที่เหนือกว่า (as having a "preponderant influence or authority.") แม้ว่านิยามความหมายนี้จะสั้นกระทัดรัด แต่ก็มีความหมายสำคัญมาก. Hegemony ได้ถูกให้คำจำกัดความในฐานะอิทธิพลที่เหนือกว่า หรือมีลักษณะครอบงำ(dominant)

สิ่งสำคัญที่เราต้องการแยกแยะโดยละเอียดสำหรับนิยามความหมายในที่นี้ก็คือ บางสิ่งซึ่งมีลักษณะ hegemonic ถ้าหากว่ามันมีพลังอำนาจหรืออิทธิพลมากกว่าความเป็นไปได้ของสิ่งอื่นๆ. ด้วยเหตุนี้คำว่า hegemony จึงให้วิธีการที่ซับซ้อนแก่เราในการพูดถึงบางสิ่งบางอย่างที่เราน่าจะคุ้นเคยอยู่ก่อนแล้ว ดังเช่น ความคิดของ Marx เกี่ยวกับ"อุดมการณ์"(ideology)

Karl Marx ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับ"อุดมการณ์"และความสัมพันธ์ทางชนชั้นเอาไว้เป็นจำนวนมาก. ตามไอเดียของ Marx (1932/1978), "ความคิดของชนชั้นปกครองในทุกยุคทุกสมัย ความคิดต่างๆ เกี่ยวกับการปกครอง ก็คือ ชนชั้นที่เป็นผู้ควบคุมพลังอำนาจทางวัตถุของสังคม ซึ่งในเวลาเดียวกันมันก็ควบคุมพลังอำนาจทางสติปัญญาด้วย"(p.127). ชัดเจนว่า วิธีการของ Marx นิยามอุดมการณ์ในฐานะบางสิ่งบางอย่างที่มีลักษณะกดขี่ และสามารถที่จะหนีรอดไปได้โดยผ่านวิธีการวิภาษวิธี(ย้อนแย้ง)กับลัทธิทุนนิยมเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ไอเดียหรือความคิดเกี่ยวกับอุดมการณ์ในลัทธิ Marxism จึงไม่ให้การยอมรับหรือให้ความเชื่อถือต่อการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมอื่นๆ หรืออุดมการณ์อื่นใด. แต่ไอเดียหรือความคิดของ hegemony ยินยอม. ค่อนข้างมากกว่าหนึ่ง, อุดมการณ์การปกครอง, ความคิดของ hegemony ยอมรับว่า มันมีวัฒนธรรมที่เป็นไปได้มากมายที่ผันแปรไปตามกาลเวลาและสถานการณ์. ไอเดียหรือความคิดนี้ของ hegemony ยินยอมให้เรามองดูอุดมการณ์ในฐานะที่มีพลังเคลื่อนไหว(active); มันเปิดประตูให้กับเราเพื่อมองวัฒนธรรมทั้งหลายในเชิงที่ขัดแย้ง มีการแข่งขัน มีการประกวดประชันกันสำหรับความเป็นไปได้และการขึ้นมามีอิทธิพล

วัฒนธรรมในสังคมอุตสาหกรรมไม่เคยมีโครงสร้างในลักษณะครอบงำหรือมีอิทธิพลอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มันค่อนข้างจะมีลักษณะหลายด้าน หลากหลายแง่มุม สะท้อนถ่ายวิธีการที่แตกต่างของการจัดการกับกลุ่มที่มีลักษณะเฉพาะต่างๆ ของสังคม และประสบการณ์ขีวิตทางวัตถุ. แม้ว่าวัฒนธรรมเหล่านี้จะถูกเรียงลำดับแตกต่างไปตามกลุ่มของสังคม ซึ่งพวกมันมีส่วนสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องด้วย (วัฒนธรรมของชนชั้นสูง จะได้รับการจัดเรียงให้สูงกว่าวัฒนธรรมของชนชั้นล่างที่ยากจน) กระนั้นก็ตามในความเป็นจริง วัฒนธรรมที่ครอบงำก็ถูกทำให้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ และต้องถูกต่อรองอยู่เสมอ: "เกือบจะเสมอมา มันเรียกร้องต้องการพันธมิตรในส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครอง - พรรคพวกทางประวัติศาสตร์อันหนึ่ง" (Hall 1976, p. 39)

ในทางตรงกันข้ามกับ Marx, the Birmingham school ได้เคลื่อนไปจับตาดูเรื่องการกดทับด้วย ในฐานะที่เป็นความสัมฤทธิผลร่วมกันอันหนึ่ง. การมีอำนาจหรืออิทธิพลนำ(hegemony)ทางวัฒนธรรมมิได้ถูกทำให้สัมฤทธิผลโดยผ่านการบังคับขู่เข็ญ แต่มันเรียกร้องต้องการความยินยอมในบางระดับจากชนชั้นที่เป็นรอง. หนทางหนึ่งในความยินยอมพร้อมใจใฝ่สัมฤทธิก็โดย ผ่านความปรองดองทางวัฒนธรรม

ในลักษณะเช่นนี้ วัฒนธรรมนำ(hegemonic culture)จึงดึงเอาบางชิ้นส่วนของวัฒนธรรมอื่นเข้ามา โดยปราศจากความยินยอมให้บรรดาวัฒนธรรมเหล่านั้นมีผลกระทบต่อมันมากนัก หรือต่อไอเดีย-ความคิด-ความเชื่อต่างๆ ที่เป็นศูนย์กลางของมันแต่อย่างใด. ดังผลลัพธ์ที่ตามมาของความปรองดองดังกล่าว "วัฒนธรรมกระฎุมพี"(bourgeois culture) จึงสิ้นสุดความเป็นชนชั้นกลางหรือกระฎุมพีลง - มันมีการเลือกสมาชิกทางวัฒนธรรมเข้ามาเป็นพวกจำนวนมาก - และกลุ่มรองๆ ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของมัน อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมของสมาชิกเหล่านี้ไม่เคยเลยที่จะมีการเผชิญหน้าโดยตรง หรือถูกกดทับโดยวัฒนธรรมทางชนชั้นที่บริสุทธิ์อันใดอันหนึ่ง; พวกเขาได้พบเห็นพื้นฐานปัจจัยของตัวพวกเขาเองในวัฒนธรรมนั้น แต่มันเป็นเพียงแค่องค์ประกอบเท่านั้น

วิธีการสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ครอบงำกลุ่มต่างๆ โดยการได้ดึงเอาความร่วมมือมาจากพวกชนชั้นที่เป็นรองก็คือ โดยการคัดสรรประสบการณ์ความเป็นอยู่ของพวกรองๆ ออกมา นั่นคือ "อย่างแรกสุด มันทำงานโดยการสอดแทรกเอาชนชั้นรองเข้ามาในสถาบันและโครงสร้างหลักต่างๆ ซึ่งให้การสนับสนุนอำนาจและหน้าที่ทางสังคมของระเบียบแบบแผนที่ครอบงำอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโครงสร้างและความสัมพันธ์เหล่านี้ที่บรรดาชนชั้นรองดำรงอยู่ใต้การบังคับบัญชาของมัน"(Hall 1976, p. 39). เพราะว่า ลักษณะของการกดขี่มันจะปฏิบัติการในเชิงรุก และการคงอยู่ของชนชั้นรองส่วนใหญ่ดำรงอยู่ในองค์กรต่างๆ และโครงสร้างที่ถูกควบคุมโดยชนชั้นสูง, โดยเหตุนี้ วัฒนธรรมรองจึงต้องปรับตัวไปสู่ความคาดหวังต่างๆ และความคิดทั้งหลายของวัฒนธรรมนำ(hegemonic culture)

2. เครื่องหมายและสัญศาสตร์ (Signs and semiotics):
หนึ่งในวิธีการอันหลากหลายที่สำคัญมาก ซึ่งวัฒนธรรมศึกษาใช้เพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรมก็คือ เรื่องของ"สัญศาสตร์". ธรรมดาแล้ว เรื่องของสัญศาสตร์คือวิธีการหรือเครื่องมืออันหนึ่งเกี่ยวกับการทำความเข้าใจวัฒนธรรม เหมือนกับว่ามันคือ"ภาษา"

ยกตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์เชิงสัญศาสตร์เกี่ยวกับภาพที่ปรากฏกับสายตาต่างๆ ในโฆษณาตามหน้านิตยสาร ภาพดังกล่าวจะได้รับการจ้องดูในเชิงที่แตกต่าง ราวกับว่าพวกมันคือตัวหนังสือ(หรือคำ) หรือเครื่องหมายต่างๆ. เรากำลังทบทวนถึงความคิดบางอย่างจากหลักสัญศาสตร์; ดังที่เราทำ เรากำลังจะพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องของเครื่องหมายและภาษา แต่พึงสังเกตว่า"วัฒนธรรมศึกษา"ธำรงรักษาวัตถุทางวัฒนธรรมที่หลากหลายเอาไว้, อย่างเช่นภาพต่างๆ และสัญลักษณ์, ในฐานะที่มันเป็นสิ่งซึ่งสามารถถอดระหัสหรืออ่านได้ ในวิธีการเดียวกัน

Ferdinand de Saussure
"สัญศาสตร์" เริ่มต้นขึ้นโดยงานของ Ferdinand de Saussure. Saussure ให้เหตุผลว่า ภาษาคือระบบเครื่องหมายชนิดหนึ่ง ซึ่งทุกๆ คำศัพท์ได้ถูกทำให้สัมพันธ์กันและกัน และสัมฤทธิผลเชิงคุณค่าของมันมาจากการมีอยู่ในเวลาเดียวกันของคำศัพท์อื่นๆ ทั้งหมด. ด้วยเหตุนี้ ลักษณะเฉพาะของการนิยามส่วนใหญ่ของเครื่องหมายก็คือ ความตรงข้ามของมันกับเครื่องหมายอื่นๆ

โดยเหตุที่ พื้นฐานต่างๆ ทางภาษาศาสตร์ได้ถูกให้ความหมายโดยผ่านความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างของพวกมัน. ดังนั้นในท้ายที่สุด เครื่องหมายต่างๆ ในตัวของพวกมันเองจึงไม่สำคัญ สำหรับมันนั้นคือความสัมพันธ์กันในท่ามกลางเครื่องหมายต่างๆ ซึ่งได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา และจำกัดความหมาย

ตามความคิดของ Saussure, มันมีแบบฉบับเป็นการเฉพาะอยู่ 2 แบบของความสัมพันธ์ระหว่างคำศัพท์ต่างๆ ในทางภาษาศาสตร์. ภายในรูปประโยคหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนตำราหรือการพูดคุย, การรวมตัวกันขององค์ประกอบต่างๆ ได้รับการสนับสนุนและให้ความหมายโดยแนวนอน. นั่นคือ การรวมตัวกันของคำต่างๆ ซึ่งสามารถปรากฏขึ้นพร้อมกันในรูปประโยคหนึ่ง (เช่น ฉันดื่มไวน์). สิ่งเหล่านี้ได้ไปจำกัดการรวมตัวกัน ที่ให้นิยามความหมายเกี่ยวกับแต่ละคำที่ยืนอยู่ในการรวมกันโดยผ่านความตรงกันข้ามกับองค์ประกอบอื่นทั้งหมด ที่มาก่อนหน้านี้หรือหลังจากมัน. ศัพท์ที่ Saussure (1916/1986) ใช้เรียกความสัมพันธ์กันอันนี้คือ "syntagmatic" (ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง) (p.122)

ความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเฉพาะอื่นๆ ที่เครื่องหมายหนึ่งอาจมี มันค่อนข้างเป็นไปในเชิงแนวคิดและวางอยู่นอกรูปประโยคโดยตรง. สิ่งเหล่านี้เป็นความสัมพันธ์กันในเชิงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง ทั้งนี้เพราะแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังเครื่องหมายมันนำเสนอสิ่งที่คล้ายๆ กับแนวคิดต่างๆ พวกมันสร้างความสัมพันธ์ของสิ่งที่เท่าเทียมกัน. Saussure ได้ให้ตัวอย่างเกี่ยวกับ"เสา"ทางด้านสถาปัตยกรรม. เสามีความสัมพันธ์ที่แน่นอนอันหนึ่งกับส่วนที่เหลือของอาคารที่มันค้ำยันอยู่; การจัดการอันนี้ขององค์ประกอบทางกายภาพในพื้นที่ว่างได้แสดงถึงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง(syntagmatic relation). แต่ถ้าหากเสานั้นถูกรู้จักในฐานะที่เป็นเสาดอริก, มันอาจนำเสนอการเปรียบเทียบขึ้นมาในใจกับสไตล์ศิลปะสถาปัตยกรรมอื่นๆ แม้แต่การไม่มีสไตล์ที่นำเสนอในพื้นที่ทางกายภาพ

ทั้งหมดนี้ มันถูกทำให้สลับซับซ้อนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ขอยกตัวอย่างศัพท์คำว่า"guitar"(กีตาร์) อย่างน้อยที่สุดมันประกอบด้วยปัจจัย 2 ส่วนในเครื่องหมายนี้: นั่นคือ "คำ"(กีตาร์)ในตัวมันเอง, กับ"วัตถุ"(ตัวกีตาร์)ที่คำๆ นี้อ้างถึง. แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องหมายและวัตถุจะเป็นไปในลักษณะตามอำเภอใจ (เราสามารถเรียกกีตาร์ว่าอะไรก็ได้ เช่น ภาษาอิตาเลียนเรียกมันอีกอย่างหนึ่งว่า chitarra), เมื่อสถาปนามันแล้ว มันก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวกัน. แต่อะไรที่เราหมายถึงเมื่อเราพูดคำว่า"guitar"? แน่นอน คำๆ นี้มันชี้ไปยังเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง; แต่ในเทอมต่างๆ ของเครื่องหมายในตัวของมันเอง, เราสร้างความหมายของมันขึ้นมาอย่างไร?

หนึ่งในท่ามกลางความแตกต่าง นั่นคือ กีตาร์ไม่ใช่ไวโอลิน ทั้งคู่ต่างเป็นเครื่องสายซึ่งปกติแล้วทำขึ้นจากวัสดุจำพวกไม้ แต่สิ่งที่ทำให้มันมีลักษณะเฉพาะและมีเอกลักษณ์ก็คือความแตกต่างในรูปทรงและขนาด รวมไปถึงเสียงและวิธีการเล่น ด้วยเหตุนี้ ความหมายของกีตาร์จึงถูกสร้างขึ้นโดยผ่านวัสดุชุดหนึ่ง นั่นคือ กีตาร์เป็นเครื่องดนตรีประเภทสายที่ไม่ใช่ไวโอลิน วิโอล่า, เชลโล, เบส, และอื่นๆ. ลักษณะการนิยามนี้เกี่ยวกับความแตกต่าง ชัดเจนมากว่ามองเห็นได้จากคำต่างๆ ซึ่งมีคำเปรียบเทียบอื่นๆ. คำเหล่านี้ได้ถูกให้นิยามในลักษณะแบ่งแยกออกคนละขั้ว. ตัวอย่างที่ดีอีกอันหนึ่งถูกพบในเรื่องเพศสภาพ. ความหมายของผู้ชายที่นิยามกันโดยคู่ตรงข้ามของมัน นั่นคือ ผู้หญิง. การเป็นผู้ชายก็คือการไม่ใช่ผู้หญิง

อีกทางหนึ่งซึ่งคำต่างๆ ได้รับความหมายก็คือ โดยผ่านความสัมพันธ์เชื่อมโยง. การมีอยู่ของคำๆ หนึ่งนั้นอาจมีนัยยะถึงอีกคำหนึ่ง อย่างเช่นคำว่า"กีตาร์ไฟฟ้า"(electric guitar) มีนัยยะถึง"กีตาร์โปร่ง(acoustic guitar - กีตาร์เสียงธรรมชาติที่ไม่ผ่านการขยายเสียงด้วยอิเล็กทรอนิก), หรือบางทีอย่างเช่นคำว่า "กลอง"(drums) แม้ว่าจะไม่มีคำอื่นๆ อยู่ก็ตาม. คำทั้งหลายยังได้รับความหมายของตัวมันโดยวิธีที่พวกมันถูกนำไปใช้ในประโยคด้วย ยกตัวอย่างเช่นประโยค

- "มันเป็นการศึกษาเชิงวิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจทฤษฎี" ประโยคดังกล่าวมีความหมายที่แตกต่างไปจาก
- "มันเป็นการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจทฤษฎีเชิงวิพากษ์"

คำต่างๆ ทั้ง 2 ประโยค โดยพื้นฐานแล้วเหมือนกัน แต่การสลับตำแหน่งของคำ ได้ก่อให้เกิดความหมายที่แตกต่างกันขึ้นมา

Roland Barthes
นักสัญศาสตร์อีกคนหนึ่ง Roland Barthes, ได้อธิบายว่า เครื่องหมายต่างๆ ทางวัฒนธรรม, สัญลักษณ์, และภาพ สามารถมีความหมายทั้ง"ความหมายตรง(denotative)" และ"ความหมายแฝง(connotative)". สำหรับหน้าที่ความหมายตรงคือความหมายที่ตรงไปตรงมาของเครื่องหมาย พวกมันคือสิ่งต่างๆ ประเภทที่เราสามารถค้นหาได้จากพจนานุกรมธรรมดา. กระนั้นก็ตาม เครื่องหมายทางวัฒนธรรมและภาพต่างๆ สามารถที่จะมีความหมายขั้นที่สองได้หรือความหมายแฝง. ความหมายเหล่านี้มันเกาะติดมากับคำธรรมดาและได้สร้างความหมายอื่น, ขอบเขตที่กว้างของความหมาย. ด้วยเหตุดังนั้น ความหมายแฝงที่กว้างกว่าเหล่านี้ มันจึงสามารถปฏิบัติการคล้ายๆ มายาคติ ซึ่งได้สร้างความหมายในลักษณะซ่อนเร้นที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ดังกล่าว

โดยเหตุที่ ระบบต่างๆ ของความหมายแฝง(connotation)สามารถเชื่อมโยงสารในเชิงอุดมคติ กับความหมายแรก หรือความหมายตรง(denotative meaning). ด้วยเหตุนี้ ในการกดทับทางวัฒนธรรม กลุ่มที่ครอบงำจึงสร้างตัวแทนเพื่อเอาชนะขึ้นมา หรือทำให้ต้องเชื่อฟังในวิธีการดังกล่าว โดยความหมายแฝงในเชิงลบและเป็นมายาคติที่ถูกผลิตขึ้น

ความสลับซับซ้อนเกี่ยวกับชั้นของความหมายในเชิงอุดมคติประเภทนี้คือเหตุผลที่ว่า ทำไมสมาชิกทั้งหลายของกลุ่มที่ถูกถอดถอนสิทธิ(disenfranchised group)ในการมีสิทธิ์มีเสียง จึงสามารถถูกทำให้รู้สึกภาคภูมิและละอายใจได้ในเวลาเดียวกันเกี่ยวกับมรดกตกทอดของพวกเขา. ดังตัวอย่างเช่น คิดถึงเพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นคนผิวดำ ซึ่ง Du Bois อ้างว่า: พวกเขาสามารถรู้สึกภาคภูมิใจของการเป็นคนดำ แต่ในเวลาเดียวกัน พวกเขาก็รู้สึกว่าภาพๆ นั้น มันดำเกินไป

ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่เรากำลังพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องคำและภาษา แต่ให้เราตระหนักไว้ว่า วัฒนธรรมศึกษาได้ใช้หลักสัญศาสตร์ในฐานะที่เป็นวิธีการอันหนึ่งในการทำความเข้าใจวัฒนธรรมทั้งมวล ไม่ใช่แค่ภาษาเท่านั้น. ดังตัวอย่างเช่น ภาพต่างๆ ที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ อาจได้รับการมองในฐานะที่เป็นเครื่องหมายต่างๆ แต่ความหมายของพวกมันได้ถูกอ่านโดยผ่านลักษณะท่าทีซึ่งพวกมันได้รับการวางหรือเรียบเรียงต่อจากอีกภาพหนึ่ง คล้ายๆ กับความหมายที่มีลักษณะสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง (syntagmatic meaning) ของคำต่างๆ. ภาพเหล่านั้นมีทั้งความหมายตรงและความหมายแฝงในเวลาเดียวกัน และด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นการอ้างอิงถึงมายาคติและวาทกรรมต่างๆ

(สำหรับผู้สนใจเรื่องเกี่ยวกับสัญศาสตร์เพิ่มเติม คลิกไปอ่านได้จากบทความลำดับที่ 551 เรื่อง "ความฉลาดของลูกตาและมายาคติในงานโฆษณา")

3. การเป็นตัวแทนและวาทกรรม (Representation & Discourse):
ดังที่เราได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ หนึ่งในความเอาใจใส่ที่สำคัญของ Hall ก็คือ"การเป็นตัวแทน" หรือเรื่องของ representation. คนที่เป็นตัวแทน หรือถูกแทนขึ้นใหม่ คือ ความเหมือน, ภาพ, แบบจำลอง, หรือ การผลิตซ้ำต่างๆ (a likeness, picture, model, or other reproduction.) อย่างไรก็ตาม อันนี้ไม่ใช่สิ่งซึ่ง Hall คิดอยู่ในใจ. Hall มองว่า การเป็นตัวแทน คือปฏิบัติการอันหนึ่งของการประกอบสร้างขึ้นมาใหม่มากกว่าการสะท้อน(act of reconstruction rather than reflection.) ยกตัวอย่างเช่น ภาพลักษณ์ของผู้หญิงสำหรับเดือนนี้ในนิตยสาร Cosmopolitan มิได้สะท้อนว่าผู้หญิงในช่วงนี้เป็นเช่นใด. ภาพลักษณ์ได้ถูกประกอบสร้างขึ้นใหม่ในภาพบางสิ่ง ซึ่งไม่ใช่ผู้หญิงคนหนึ่งธรรมดา

ภาพเกือบทุกภาพในสังคมที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ได้ถูกสรรค์สร้างขึ้นด้วยเหตุผลหนึ่ง โดยวัตถุประสงค์ที่ยิ่งใหญ่บางอย่างในใจ. ดังนั้น มันจึงเป็นปรากฏการณ์บนผิวหน้า หรือความหมายตรง(denotative meaning)ของภาพ แต่มันยังมีชั้นของความหมายที่ลึกลงไปชั้นหนึ่งด้วย, ความหมายแฝงที่เป็นมายาคตินั่นเอง. ในกรณีเกี่ยวกับผู้หญิงคอสโมของเรา ความหมายบนผิวหน้าก็คือผู้หญิงคนหนึ่ง แต่เหตุผลที่ภาพนั้นได้นำเสนอพร้อมกันออกมาด้วย มันเกี่ยวข้องน้อยมากกับความเป็นผู้หญิง อันนี้พูดในแบบธรรมชาติ

ภาพลักษณ์ดังกล่าวได้ถูกประกอบสร้างเพื่อขายสไตล์การใช้ชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะบางแบบ ที่เรียกร้องต้องการใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์บางอย่างในรายละเอียดควบคู่กันไปด้วย แม้ว่าทั้งหมดนี้จะถูกนำเสนอออกมาอย่างง่ายๆในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้น. เบื้องหลังภาพผู้หญิงบนปกนิตยสาร Cosmopolitan ก็คือ โลกของความเชื่อทั้งหมด รวมไปถึงไอเดีย, ความคิด, คุณค่า, ค่านิยม, พฤติกรรม, และความสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งจะต้องได้รับการถอดระหัส และถูกวางอยู่ที่ธรณีประตูของนายทุนหรือผู้บริหารทางวัฒนธรรม รวมถึงนักสร้างมายาคติ. ด้วยเหตุนี้ การศึกษาเชิงวิพากษ์ในวัฒนธรรมศึกษาจึงเข้าใจการเป็นตัวแทนในฐานะที่เป็นปฏิบัติการ เกี่ยวกับการสร้างสรรค์อุดมคติขึ้นมาใหม่ ซึ่งรับใช้ผลประโยชน์เฉพาะบางอย่างของผู้คนเหล่านั้นที่ควบคุมสื่อ

ความคิดเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนเป็นวิธีการหนึ่งของการทำความเข้าใจวัฒนธรรมในเชิงวิพากษ์ ซึ่งปรกติแล้วจะได้รับการโฟกัสลงไปที่ภาพโดดๆ. แต่อย่างไรก็ตาม ความคิดเกี่ยวกับวาทกรรม(discourse) โดยทั่วไปแล้ว ถูกนำมาใช้เพื่อวิพากษ์ชิ้นตัวอย่างขนาดใหญ่ทางวัฒนธรรม. วาทกรรมสำหรับ Hall (1996) แล้ว "คือ กลุ่มของแถลงการณ์ต่างๆ ซึ่งจัดหาภาษาหนึ่งขึ้นมาสำหรับการพูดถึงหรือการนำเสนอ - นั่นคือ วิธีการของการเป็นตัวแทน"(a way of representing) - ลักษณะเฉพาะของความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวนั้นๆ (p.201)

วาทกรรมได้ถูกผลิตขึ้นผ่านภาษาและปฏิบัติการ. พวกมันคือวิธีการต่างๆ เกี่ยวกับการพูด และปฏิบัติการสู่ไอเดียความคิดหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง. หนึ่งในความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งซึ่งมีพลังอำนาจมากที่สุดที่เกี่ยวพันกับเรื่องของวาทกรรมก็คือ "ใครก็ตามที่กำลังปฏิบัติการทางวาทกรรม จะต้องวางตำแหน่งตัวของพวกเขาเอง ราวกับว่าพวกเขาคือประธานหรือตัวหลักของวาทกรรมนั้น" (p.202, emphasis original).

ตัวอย่างที่ Hall ให้กับเราคือ "วาทกรรมของตะวันตก". นับตั้งแต่ความแตกต่างระหว่างตะวันออกกับตะวันตกได้ถูกสร้างขึ้น ตะวันตกได้รับการมองว่ามีความก้าวหน้ามากกว่า ทันสมัยกว่า และอื่นๆ. นี่คือข้อเท็จจริงหนึ่งในเหตุผลหลายหลากของความต่างที่ถูกสร้างขึ้น - เป็นการพูดถึงตะวันตกในฐานะที่เหนือกว่า. ในวาทกรรมนี้ยังวางพันธะผูกมัดบนความเป็นตะวันตกไว้ด้วย ซึ่งจะต้องให้ความช่วยเหลือส่วนที่เหลือของโลก และพวกเขาจะต้องพยายามมุ่งมั่นที่จะทำเช่นนั้น

วาทกรรมอันนี้ยังวางข้อผูกมัดบนความเป็นตะวันตกที่จะต้องประคับประคองส่วนที่เหลือ เพื่อที่จะนำพาผู้คนทั้งหลายที่ด้อยกว่าไต่บันไดสังคมให้สูงขึ้นไปด้วย. ขณะเดียวกัน คุณในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่งอาจไม่เชื่อในความเหนือกว่าหรือสูงส่งกว่าของตะวันตก เพื่อที่จะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกกับส่วนที่เหลือ คุณจะต้องรับเอาสถานภาพอันหนึ่งมา ราวกับว่าคุณเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณใช้ศัพท์คำว่า"ประเทศโลกที่สาม", "การทำให้เป็นสมัยใหม่", หรือ"โลกาภิวัตน์", เรากำลังวางตำแหน่งตัวเองอยู่ในวาทกรรมตะวันตก กับ ส่วนที่เหลือ (the West / Rest discourse) และแสดงนัยยะถึงความเหนือกว่าของตะวันตก

สำหรับเรา สามารถพูดถึงความสัมพันธ์กันของโลกใบนี้โดยที่ไม่ต้องเกี่ยวพันกับความเชื่อที่ว่าตะวันตกสูงส่งกว่าได้ เราจะต้องตามทันหรือนำเสนอภาษาอีกแบบหนึ่ง ภาษาที่จะไม่วางรากฐานอยู่บนการแบ่งแยกระหว่างตะวันตกกับตะวันออก. ปัญหาประเภทนี้เป็นสิ่งท้าทายของแนวคิดสตรีนิยมและทฤษฎีเชื้อชาติเชิงวิพากษ์(feminism and critical race theory) นั่นคือ การนำเสนอภาษาๆ หนึ่งขึ้นมา ซึ่งไม่ต้องให้ผู้พูดวางตำแหน่งตัวเขาเองหรือตัวเธอเอง ราวกับว่าวาทกรรมดังกล่าวเป็นความจริง

แน่นอน ในการสร้างสรรค์ภาษาอันนั้น วาทกรรมใหม่จะได้รับการผลิตขึ้นโดยตัวมัน ซึ่งเป็นชุดของสมมุติฐานต่างๆ, คุณค่า, ค่านิยม, และความเชื่อ. ดังนั้น ความคิดเกี่ยวกับวาทกรรมจึงนำเราไปสู่การโฟกัสลงบนแนวทางความรู้, ภาษา, และวัฒนธรรมที่ถูกใช้, มากกว่าไอเดียความคิดเกี่ยวกับความจริงสูงสุด หรือเรื่องถูกกับเรื่องผิด

ในข้อเท็จจริง, ทุกๆ ระบบความรู้ หรือวาทกรรมมีหนทางของมันเองเกี่ยวกับการถอดระหัสความจริงและความเท็จต่างๆ. กรณีดังกล่าว "ภาษาที่แท้จริงที่เราใช้เพื่ออธิบาย สิ่งที่เรียกว่าข้อเท็จจริงทั้งหลาย มันสอดแทรกอยู่ในกระบวนการอันนี้ของการตัดสินใจในท้ายที่สุด ว่าอะไรถูกอะไรผิด" (Hall 1996, p. 203). ความรู้และอำนาจ มักจะถูกสานเข้าด้วยกันเสมอ. ในเวลาเดียวกัน ความรู้และวัฒนธรรม ได้กล่าวหรือแสดงถึงเงื่อนไขของโลก และผลิตซ้ำความเชื่อและค่านิยมต่างๆ ทางการเมืองอันนั้น

4. ความหมายและการต่อสู้เชิงความหมาย (Meaning and struggle):
โดยทั่วไปแล้ว นิยามความหมายที่ครอบงำของคำๆ หนึ่ง, (ซึ่งทึกทักกันเอาเอง), ถูกทำให้สัมฤทธิผลต่อปัจเจกชนหรือกลุ่มอย่างมีพลังนั้น มันได้ให้ความน่าเชื่อถือและไว้วางใจต่อความสัมพันธ์กันระหว่างเครื่องหมายและความหมาย เท่าๆ กับความสัมพันธ์ที่ถูกทำซ้ำโดยสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นในสื่อต่างๆ. ความหมายที่ถูกทำซ้ำเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำที่ถูกทำให้ตกตะกอน และสร้างสมแนวเรื่องและหลักฐานต่างๆ ซึ่งผู้ที่มีส่วนร่วมทั้งหลายอาจดึงมันเอามาใช้

หนึ่งในสิ่งต่างๆ ที่เรามุ่งหมาย เมื่อเราพูดว่าความหมายพวกนั้นได้ถูกทำให้ตกตะกอนก็คือ พวกมันถูกทึกทักกันเอาเองว่าเป็นเช่นนั้น นั่นคือ "เราใช้มันโดยไม่แม้แต่จะคิด". การทึกทักกันเอาเองนี้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่สร้างความหมาย, สัญลักษณ์, และวัฒนธรรมในลักษณะอุดมคติโดยทั่วไป

ตามความเห็นของ Hall, มันคือหนทางหนึ่งซึ่ง"วัฒนธรรม"ได้กลายเป็นภาษาที่ตายเมื่อมันถูกทึกทักกันเอาเอง. เว้นแต่เรากำลังหยิบมันขึ้นมาวิพากษ์อย่างตั้งใจ. เมื่อเราพูดและปฏิบัติ เรากำลังผลิตซ้ำวาทกรรมของการกดขี่อย่างไม่รู้ตัว; มันเป็นการทึกทักกันเอาเองของวัฒนธรรม ที่ทำให้มันปรากฎเป็นจริงอย่างเป็นธรรมชาติ. แต่เมื่อเครื่องหมายหรือภาพ กลายเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมที่ขัดแย้ง, อันนี้ Hall พิจารณาว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของความสามารถเข้าใจได้ทางสังคมที่เป็นอยู่ ส่วนของวัฒนธรรมนั้นกลายเป็นสิ่งมีชีวิตขึ้นมา แต่ถ้าเครื่องหมายอันหนึ่งถูกถอดจากความขัดแย้ง มันก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ที่ทึกทักกันเอาเองระหว่างความหมายและเครื่องหมายต่างๆ ซึ่งในวิธีคิดของ Hall คือเป็นการประกอบสร้างอุมดคติอันหนึ่ง (Hall 1982, p.77) ดังนั้น วัฒนธรรมหนึ่งจะมีชีวิต เมื่อมันเป็นประเด็นของความขัดแย้ง

ความขัดแย้งเหนือความหมายของเครื่องหมายหรือวาทกรรมนั้น เป็นไปได้มากทีเดียวว่าเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเวลาของความหมายที่เป็นปัญหา. ความหมายต่างๆ กลายเป็นปัญหาโดยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดหวัง, เหตุการณ์ที่ไปทำลายกรอบกติกาของสังคม เมื่อผลประโยชน์ที่ทรงอำนาจถูกเกี่ยวโยง หรือเมื่อความขัดแย้งเชิงอุดมคติที่เด่นชัดค่อยๆ ปรากฏตัวขึ้นมา. การต่อสู้ทางสังคมอาจแสดงออกมา 2 ทาง คือ

- การแบ่งแยก, หรือการทำลายตรรกะ (disarticulation)
- การขัดแย้งกับความหมายของการสร้างที่มีนัยยะสำคัญ (conflict over the means of signification production.)

ตามแนวทางของ Barthes, การพิจารณาความหมายแฝงเกี่ยวกับการอ้างอิงศัพท์คำหนึ่งว่าเป็นหลัก ผ่านอุดมคติ ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม ซึ่งได้เข้ามาสู่ภาษา. ความหมายแฝงของเครื่องหมาย ปรกติแล้ว จะถูกท้าทายโดยผ่านกลไกในลักษณะตรงข้าม/กลับกัน (เช่นดังที่ขบวนการสิทธิมนุษยชนช่วงแรกๆ กระทำ: Black = despise(ถูกดูหมิ่นเหยีดหยาม), changed to Black = beautiful) หรือ ผ่านกลไกลักษณะนามนัย(metonymic), การใช้คำใหม่เพื่อเป็นเครื่องหมายถึงบางสิ่ง ซึ่งสามารถสร้างสรค์ให้เกิดการเลื่อนไหลไปสู่ห่วงโซ่ของความหมายแฝงในเชิงลบ (จากยุคขบวนการสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง: pig = disgusting animal; pig = police)
(metonymic - นามนัย หมายถึงคำที่นำมาใช้แทนบางสิ่ง ซึ่งเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ยกตัวอย่างเช่น
คำว่า "วอชิงตัน" มาแทนคำว่า รัฐบาลอเมริกัน เป็นต้น)

การต่อสู้เชิงความหมายยังนำมาซึ่งความขัดแย้งเหนือความหมายของการสร้างความสำคัญด้วย. ในสังคมสมัยใหม่, วัฒนธรรมศึกษามองว่าสื่อสามวลชนเป็นสิ่งซึ่งมีความสำคัญอันดับแรกสุด. วัฒนธรรมต้องการการสื่อสาร และในกลุ่มก้อนต่างๆ ของการทำให้เป็นอุตสาหกรรม ในส่วนของการถ่ายทอดสื่อสารเกิดขึ้นโดยผ่านสื่อต่างๆ. ผลงานแรกของศูนย์วัฒนธรรมศึกษาฯ (The Centre for Contemporary Cultural Studies) ได้โฟกัสลงไปที่การทำให้การสื่อสารกลายเป็นสินค้า. ในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ ประเด็นสำคัญก็คือ ใครเป็นเจ้าของเครื่องมือการสื่อสาร และลักษณะท่าทีเกี่ยวกับผู้รับสารต่างๆ (อย่างเช่นบรรดาผู้ดูผู้ฟังทั้งหลาย) จะถูกกำหนดนิยาม

เครื่องมือการสื่อสารถูกเป็นเจ้าของโดยบรรดานายทุนต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ที่แสวงหากำไร และด้วยเหตุนี้ การโฆษณาจึงมีพื้นที่การสื่อสารเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น มันจึงไปกำหนดนิยามกระบวนการถ่ายทอดหรือการสื่อสาร. การโฆษณานี้และทุกรูปแบบของการถ่ายทอดในสัดส่วนขนาดใหญ่ จึงมุ่งหมายไปที่มวลชน: ซึ่งถูกหลอกง่าย, จิตใจแปรปรวน, คล้ายฝูงสัตว์ที่ถูกต้อน, ต่ำในด้านรสนิยมและอุปนิสัย"(williams 1958, p.303)

การโฆษณาน้อมนำความอยากความปรารถนาที่มีอยู่ และสร้างสรรค์ความคิดเพ้อฝันขึ้นมารายรอบสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้ภาพของโลกซึ่งมีความก้าวหน้าได้ถูกรับรู้ ในฐานะการแสวงหาวัตถุมาครอบครอง, มันคือ"ความเท่าเทียม"ในฐานะระดับหรือมาตรฐานทางศีลธรรมเดียวกัน และอิสรภาพในฐานะพื้นฐานของความพึงพอใจที่ขาดความรับผิดชอบจนถึงที่สุด. ผลผลิตเหล่านี้เป็นของผู้ดูผู้ฟัง, โลกของผู้เสพ"(Hoggart, 1957, p. 277). ดังนั้น ความสำนึกแบบผิดๆ จึงถูกสร้างขึ้นโดยผลต่างๆ ของการโฆษณาในความเล็กน้อยเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่แท้จริงของชีวิต; ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมและเป็นส่วนตัว และเพิ่มเติมรูปแบบเดียวกันของวัฒนธรรม ซึ่งบ่งนัยถึงมาตรฐานเดียวกันอันหนึ่งที่มีส่วนร่วมกันระดับต่ำสุด

สรุปใจความสำคัญ
Stuart Hall และสำนักคิดวัฒนธรรมศึกษาได้ใช้วิธีการมองในเชิงวิพากษ์กับวัฒนธรรม. ที่ซึ่งผู้คนทั้งหลาย อย่าง Berger และ Luckmann ได้ให้ความเอาใจใส่ว่า ทำอย่างไรวัฒนธรรมจึงปรากฏตัวขึ้นมาเป็นจริง. วัฒนธรรมศึกษาได้โฟกัสลงไปยังความเกี่ยวพันที่มีนัยยะอุดมคติ และการกดทับ หรือการกดขี่ของวัฒนธรรม

โดยทั่วไปแล้ว วัฒนธรรมศึกษาได้นำเอาหลักสัญศาสตร์มาใช้เพื่อศึกษาวัฒนธรรม หลักสัญศาสตร์คือการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเครื่องหมายต่างๆ และวัฒนธรรมศึกษาได้เข้าหาวัฒนธรรมทั้งหมด ราวกับว่ามันมีหน้าที่อย่างเดียวกันกับภาษา, ด้วยความหมายที่ถูกผลิตขึ้นมาโดยผ่านความแตกต่าง, ความต่อเนื่องเป็นแนวนอน, และความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง และความเชื่อมโยง. เครื่องหมายต่างๆ ยังมีทั้งความหมายตรงและความหมายแฝง โดยที่ความหมายแฝงได้สร้างระบบความหมายชั้นที่สองขึ้นมา ซึ่งมันทำหน้าที่คล้ายดั่งมายาคติต่างๆ

Hall ยังเรียกร้องความสนใจของเราสู่ความคิดเรื่องวาทกรรมและการเป็นตัวแทนด้วย - ภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมและเครื่องหมายต่างๆ มิได้เป็นตัวแทนที่เรียบง่ายธรรมดา แต่พวกมันได้ประกอบสร้างอุดมคติต่างๆ ขึ้นมา และปฏิบัติการโดยการรับผิดชอบต่อการผลิตภาพลักษณ์ทั้งหลาย. วาทกรรมต่างๆ คือวิธีการเกี่ยวกับการพูดหรือการปฏิบัติการทางความคิดอันหนึ่ง ที่กำหนดนิยามกลุ่มหรือความคิดในส่วนทั้งหมดของมัน. เล่ห์เหลี่ยมธรรมชาติของวาทกรรมได้ถูกเปิดเผยออกมาในการพูดและการกระทำทางความคิด โดยต้องการให้คนๆ หนึ่งปฏิบัติ ราวกับว่าวาทกรรมนั่นเป็นความจริงหรือเป็นธรรมชาติ

Hall และวัฒนธรรมศึกษายังบอกกับเราด้วยว่า วัฒนธรรมไม่ใช่อะไรโดดๆ หรือหนึ่งเดียว; มันมีวัฒนธรรมต่างๆ มากมายที่นำเสนออยู่ในสังคมยุคหลังอุตสาหกรรม. วัฒนธรรมเหล่านี้ต่างประชันขันแข่งเพื่อที่จะมีอำนาจนำ หรือทรงพลังกว่าวัฒนธรรมอื่นๆ. กล่าวโดยทั่วไป วัฒนธรรมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชนชั้นสูงทางเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งมีอำนาจ ดังที่พวกเขาเข้ามาควบคุมองค์กรต่างๆ ที่ทำการผลิตสื่อและวัฒนธรรม กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็อยู่ในท่ามกลางการแข่งขัน และจะต้องสรรค์สร้างพันธมิตร เพื่อที่จะมีอิทธิพลหรืออำนาจนำ

โดยทั่วไปแล้ว วัฒนธรรมนำ(hegemonic culture) ได้รับการยอมรับโดยมวลชน เพราะมันเลือกกะเกณฑ์องค์ประกอบสำคัญบางอย่างทางวัฒนธรรมของพวกเขา และทำให้พวกมันปรากฏขึ้นมาราวกับว่าได้รับการโอบกอดเอาไว้ทั้งหมด; มวลชนทั้งหลายยังมีแนวโน้มให้การยอมรับวัฒนธรรมนำด้วย เพราะพวกเขาจะต้องทำงานและมีชีวิตอยู่ในองค์กรและผ่านองค์กรต่างๆ ที่ถูกควบคุมโดยบรรดาคนชั้นสูง ด้วยเหตุนี้ มวลชนทั้งหลายจึงต้องซื้อหรือมีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมของชนชั้นสูงในบางระดับ เพื่อที่จะอยู่รอด

ถ้าหากว่าไม่มีการท้าทาย วัฒนธรรมนำก็จะมีบทบาทหน้าที่ในฐานะอุมดคติและการกดทับ ซึ่งถูกทึกทักและมองว่าเป็นปรกติหรือเป็นธรรมชาติ. การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจะมีขึ้นได้ก็โดยผ่านการท้าทายการเหมาเอาเองเหล่านี้ และ"สวนกลับ" หรือเปลี่ยนแปลงความหมายเชื่อมโยงของคำต่างๆ โดยผ่านการย้อนแย้ง หรือกลไกแบบนามนัยต่างๆ (metonymic mechanisms)

+++++++++++++++++++++++++++++++

References
de Saussure, Ferdinand. (1974). Course in general linguistics (C. Bally and A. Sechehaye,
Eds., W. Baskin (Trans.)). London: Peter Owen. (Original work published 1915)

Du Bois, W. E. B. (1996). Darkwater. In E. J. Sundquist (Ed.), The Oxford W. E. B. Du
Bois reader. New York: Oxford. (Original work published 1920)
Good Charlotte. Retrieved October 25, 2005 from
http://www.representgoodcharlotte.com/

Hall, S. (1980) Cultural studies and the Centre: Some problematics and problems. In S.

Hall (Ed) Culture, media, language: Working papers in cultural studies, 1972 - 79.
London: Hutchinson.

Hall, S. (1982). The rediscovery of "ideology": Return of the repressed in media studies.
In M. Gurevitch, T. Bennett, J. Curran and J. Woollacott (Eds.), Culture, society
and the media. London: Methuen.

Hall, S. (1996). The West and the Rest: Discourse and power. In S. Hall, D. Held, D.
Hubert, and K. Thompson (Eds.) Modernity: An introduction to modern societies.
Malden, MA: Blackwell.

Hall, S. and T. Jefferson (Ed.). (1976). Resistance through rituals: Youth subcultures in
post-war Britain. London: Hutchinson.

Hoggart, R. (1957). The uses of literacy: Aspects of working-class life with special reference to
publications and entertainments. London: Chatto and Windus.

Marx, K. (1978). The German ideology. In R. C. Tucker (Ed.), The Marx-Engels reader.
New York: W. W. Norton. (Original work published 1932)

Merriam-Webster. (2002). Webster's Third New International Dictionary, Unabridged.
Retrieved July 7, 2004 from http://unabridged.merriam-webster.com/http://unabridged.merriam-webster.comhttp://unabridged.merriam-webster.com/.

Williams, R. (1958). Culture and society: 1780 - 1950. New York: Columbia University
Press.

สนใจอ่านต้นฉบับสมบูรณ์ : http://72.14.235.104/search?q=cache:khDLnFHuSeEJ:www.pineforge.com/upm-data/13286_Chapter_2_Web_Byte__Stuart_Hall.pdf+hegemonic+culture&hl=en&ct=clnk&cd=19&gl=th

 

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

วัฒนธรรมศึกษาเป็นวิชาที่มีมุมมองในเชิงวิพากษ์ ซึ่งได้เพ่งความสนใจลงไปยังนัยยะทางการเมืองของวัฒนธรรมมวลชนต่างๆ อย่างไรก็ตาม มันมีความคิดอยู่ ๔ ชุด ที่เป็นแกนกลางของวัฒนธรรมศึกษา นั่นคือ ๑. ความคิดเกี่ยวกับการมีอำนาจนำ (hegemony), ๒.ความคิดเกี่ยวกับเรื่องเครื่องหมาย และสัญศาสตร์ (signs and semiotics), ๓. ความคิดเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนและวาทกรรม (representation and discourse), และ ๔. ความคิดเกี่ยวกับเรื่อง"ความหมาย"และ"การต่อสู้เชิงความหมาย" (meaning and struggle)...

22-04-2550

Cultural Studies
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.