โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 21 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๒๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 21, 04,.2007)
R

ข้อคิด ความเห็น บทวิพากษ์ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
กระดานความคิดชาวบ้าน: เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ (กระดานหนึ่ง)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
จารีตและกระบวนการสร้างรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน

ข้อคิด ความเห็น บทวิพากษ์ และการนำเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้
กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากจดหมายอิเล็กทรอนิก ตู้ไปรษณีย์ สาระจากกระดานข่าว
เวทีอภิปราย รวมทั้งการเลือกหยิบยืมมาจากบทความบนหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับ
พูดให้ง่ายคือ นำมาจากพื้นที่สาธารณะที่ยังหลงเหลืออยู่ในสังคมไทยขณะนี้
เพื่อเสนอความคิด ความเห็น และประกอบสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ลงขัน
โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
ขึ้นเป็นฉบับแรกของประเทศไทย
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเคยเป็นที่รวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองเชิงนโยบาย โดยประชาชน และข้อเสนอรัฐธรรมนูญฯ
เกิดความเสียหายอันเนื่องจากสาเหตุเชิงเทคนิค ทำให้หัวข้อที่น่าสนใจในเรื่องนี้จำนวนมากต้องสูญไป
ด้วยเหตุดังนั้น จึงได้เปิดหน้าเว็บเพจนี้ขึ้น เพื่อเก็บรักษาทรัพย์สมบัติทางปัญญาของประชาชนไว้
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๒๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กระดานความคิดชาวบ้าน: เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ (กระดานหนึ่ง)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
จารีตและกระบวนการสร้างรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน

รัฐธรรมนูญฉบับลงขันปัญญา (กระดานที่หนึ่ง) ประกอบด้วย 5 หัวข้อเรื่องดังนี้

1. ช่องโหว่ รอยขาด และจุดด่างบนร่างรัฐธรรมนูญ 2550
2. วิเคราะห์ความเลวร้ายของรัฐธรรมนูญ คมช.
3. ประชามติ รัฐธรรมนูญ ฉบับแพงที่สุดในโลก
4. เณรแอบหนีเล่นสงกรานต์ กับพุทธศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ
5. การยกร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา

1. ช่องโหว่ รอยขาด และจุดด่างบนร่างรัฐธรรมนูญ 2550
สมชัย ศรีสุทธิยากร, ท่าพระจันทร์ (20 เมษายน 2550) (ได้รับมาจากผู้เขียน)

เหมือนเด็กที่รอคอยของฝากที่พ่อแม่ไปต่างจังหวัดหลายวัน แต่กลับมาด้วยมือที่ว่างเปล่า
เหมือนคนอยากมีบ้านสวย ฝากความหวังว่าเมื่อจ้างช่างฝีมือดีมาสร้างบ้าน แต่กลับได้สิ่งที่ไม่ได้ดังใจ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนในช่วงไม่กี่วันนี้ก็อย่างไรอย่างนั้น ด้วยเหตุที่ฝากความไว้วางใจผู้มีความรู้ความสามารถทั่วแผ่นดิน ให้ทำหน้าที่ในการร่าง ไม่เคยปริปากบ่นแม้ว่าจะใช้งบประมาณเป็นเงินเดือนค่าจ้างมิใช่น้อย หรือต้องเสียค่าสถานที่โรงแรม สนามกอล์ฟหรูในการระดมความคิด เพราะเชื่อว่าความคิดดี อาจเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม และเมื่อเทียบกับสิ่งคาดหวังว่าจะได้ ก็น่าจะคุ้มค่า เพราะนี่คือกติกาบ้านเมืองที่จะคงอยู่ต่อไปอย่างน้อยก็อีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นกติกาที่ค้ำจุนบ้านเมืองไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ช่วยให้บ้านเมืองก้าวเดินต่อไป หลังจากทุกอย่างหยุดนิ่งหลังเมื่อ 19 กันยายน 2549

ร่างฉบับใหม่ที่วิจิตรบรรจง แสดงถึงหลักการที่ดีงามที่ไม่เคยปรากฏจำนวนมาก เช่น การกำหนดให้มีจริยธรรมของนักการเมือง, การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน, เพิ่มอำนาจการตรวจสอบจากประชาชนและรัฐสภา, ป้องกันนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงองค์กรอิสระและข้าราชการประจำ, เพิ่มสิทธิชุมชนและองค์กรภาคพลเมือง, เสริมเพิ่มอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ซึ่งเป็นการแต่งเติมสิ่งที่ไม่เคยมี ไม่เป็นรูปธรรม ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ในอดีต จนเกือบกล่าวได้ว่า น่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ความมุ่งมั่น ตั้งใจของกรรมาธิการร่างแต่ละคนเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมถึงความเสียสละ ทุ่มเท ใช้เวลาแม้ในวันหยุดพักผ่อนของคนอื่นๆ เพื่อผลักดันให้ร่างแรกปรากฏต่อสายตาประชาชน และยังไม่รวมเวลาจากนี้อีกหลายเดือน กว่าจะถึงวันประชามติ ที่ต้องพร่ำชี้แจง เพียรให้เหตุผลต่อผู้คนที่อาจไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ หรือมีอคติตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้การลงประชามติเป็นสิ่งที่มีความหมาย มาจากความเข้าใจในสาระ และยอมรับให้เป็นกรอบกติกาของบ้านเมือง มากกว่าการเพียงแค่ลงว่ารับหรือไม่รับบนความว่างเปล่าหรืออวิชา

แต่บางจุดที่ปรากฏในร่างที่เผยแพร่ นำไปสู่การฉุกคิดว่านี่คือ จุดเล็กๆที่ไม่สมบูรณ์ เป็นปมทอหรือรอยเปื้อนเล็กที่พอมองข้าม เป็นรอยขาดที่ชายผืนที่ไม่สมควรติดใจ หรือเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่กลางผืนผ้า เป็นรอยขาดฉกรรจ์ และจุดด่างที่ไม่สามารถซักย้อมให้กลายกลับเป็นผ้าผืนงามได้

เมื่ออ่านทีละมาตราจนจบ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีช่องโหว่ รอยขาด และจุดด่าง จนไม่อาจตัดใจซื้อ โดยความสงสัยว่าด้วยภูมิปัญญาของช่างทอฝีมือดี นี่คือเจตนาให้ขายไม่ออกหรืออย่างไร ?

ในมาตรา 68 การระบุให้มีคณะบุคคล ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิสภา, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด, และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, ให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาในกรณีประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต เหตุการณ์คับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งทางการเมือง

ดูเหมือนจะเป็นอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยที่ออกแบบให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งแต่ละฝ่ายมีองค์ประกอบ คณะบุคคล กรอบกติกาที่มิอาจใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่นี่กลับรวบอำนาจทั้งสาม สถาปนาอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจปกครองประเทศให้แก่บุคคลจำนวนเพียงไม่กี่ราย ทั้งยังไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอะไรรองรับ ถึงกระบวนการเรียกประชุม การนับจำนวนองค์ประชุม วาระวิธีการดำเนินการประชุม หรือแนวการลงมติในการประชุมแต่อย่างใด นี่คือรอยโหว่ใหญ่ที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ในมาตรา 107 การกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มาจากการสรรหาของคณะบุคคล 7 คน ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา, ประธานกรรมการ ปปช., ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, ตัวแทนผู้พิพากษาในศาลฎีกา, และตัวแทนตุลาการในศาลปกครอง, แทนวิธีการเลือกตั้งที่เกิดปัญหาสภาครอบครัวในอดีต เท่ากับการโอนอำนาจการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ ไปอยู่กับการตัดสินใจของคน 7 คน โดยเชื่อว่าด้วยความซื่อสัตย์สุจริตของคนทั้ง 7 ร่วมกับกลไกการคัดกรองจากจังหวัดต่างๆ และการเสนอชื่อจากองค์กรวิชาชีพ ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอื่นๆ จะช่วยให้ได้ สมาชิกวุฒิที่สภาที่มีคุณภาพ นับว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างน่ากลัวที่สุด

ให้ประชาชนเลือก ประชาชนยังได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนา เห็นบทบาท ส.ว.ที่เขาเลือกและจดจำเป็นบทเรียนในการเลือกครั้งต่อไป และเมื่อผ่านการเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง น้ำดีก็จะเข้ามาไล่น้ำเสีย แต่ให้คน 7 คนทำหน้าที่แทนประชาชน, ตำแหน่งทั้ง 7 จะเป็นตำแหน่งแห่งอำนาจ ซึ่งมีคำถามมากมายถึงความรอบรู้ว่า จะรู้จักผู้สมัครจากทั่วแผ่นดินได้อย่างไร ถึงความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไรจึงจะรู้จริง ถึงความตรงไปตรงมาไม่ถูกร้องขอฝากฝังจากผู้มีอำนาจคนใด ถึงความซื่อสัตย์สุจริตว่าจะคงทนถาวรต่อสิ่งยั่วยวนต่างๆ ได้เพียงไร?

การกล่าวอ้างถึงคุณงามความดีสะสมที่กว่าจะมาดำรงตำแหน่งสูงขนาดนี้ ไม่เป็นข้ออ้างที่เชื่อถือได้ ก็ลองพลิกไปดูประวัติศาสตร์ในอดีตสิ ไม่ใช่ตำแหน่งประธาน กกต. หรือที่ไม่เป็นกลาง จนต้องออกจากตำแหน่งและเข้าคุกอยู่หลายวัน, ไม่ใช่ตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือที่มีข้อกล่าวหาตัดสินคดีเข้ากับนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ และมีข่าวลือการรับผลประโยชน์ต่างๆ จนถึงข่าวเล็กๆ เรื่องฝากลูกเข้าทำงานในกระทรวงสำคัญ, ไม่ใช่ตำแหน่งประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือที่ถูกศาลตัดสินจำคุกสองปี เนื่องจากใช้วิจารณญาณในการการลงมติการประชุมที่ไม่รอบคอบเป็นผลเสียหายต่อประเทศชาติ, ไม่ใช่ตำแหน่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาหรือที่แช่เรื่องการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นจัดการเลือกตั้งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ด้วยอาจเกิดจากความเกรงใจนักการเมืองบางคน. เหล่านี้เป็นสัจจะว่า ไม่อาจฝากอนาคตกับใครไม่กี่คนได้ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงไร

และต้องไม่ลืมว่า วุฒิสภา เป็นเงื่อนปมสำคัญของการปฏิรูปการเมือง เพราะจะเป็นผู้ลงมติเลือกองค์กรอิสระทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น กกต. ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชน กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน. หากวุฒิสภาพัง องค์กรอิสระพังไปด้วย ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงอำนาจในการตรวจสอบถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ซึ่งถือเป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่สำคัญ

อำนาจที่เป็นของประชาชน ไม่อาจมอบให้คนเพียง 7 คนได้ นี่คือรอยขาดฉกรรจ์ของผ้าผืนนี้

ในมาตรา 92 การกำหนดให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนลดลงเหลือ 400 คน โดยมาจากเขตเลือกตั้ง 320 คน และแบบสัดส่วน 80 คน จาก 4 ภาค, ภาคละ 20 คน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการมี สส.บัญชีรายชื่อแบบเดิม เพียงแต่กำหนดให้เป็นสัดส่วนมาจากภาคต่างๆ เท่านั้น ก็เป็นตรรกะที่ยากจะทำความเข้าใจ เพราะไม่เห็นประโยชน์อะไรที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย ยกเว้นการประหยัดงบประมาณเงินเดือนผู้เป็น สส. ที่มีจำนวนน้อยลง

หรือไม่เคยได้ยินว่า สส.บัญชีรายชื่อนั้นเป็นที่รวมของนายทุนพรรคที่ประมูลซื้อลำดับตำแหน่งในปาร์ตี้ลิสต์ เป็นที่ทางของการจัดการความขัดแย้งซ้ำซ้อนพื้นที่ของนักการเมืองในพรรค เป็นเบ็ดล่อให้คนเข้าสู่การเมืองโดยง่ายเพียงแค่มีเงินมากพอ

ไม่เคยประเมินหรือว่าหาก สส.เขตที่มีจำนวนน้อยลง จะทำให้การแข่งขันที่เอาเป็นเอาตายมากขึ้น นักการเมืองเก่า ผู้มีเงิน ผู้มีอำนาจย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบ แล้วจะมีคนดีเข้าสู่ระบบ มีนักการเมืองหน้าใหม่ที่มีคุณภาพเข้าสู่สภาได้อย่างไร ไม่เข้าใจว่าประเมินอนาคตการเมืองไทยกันอย่างไร นี่จะไม่ว่าสักคำเลยหากลด สส. ลงเหลือ 400 คน โดยยกเลิกปาร์ตี้ลิสต์ไปเสีย และนี่คงเป็นอีกจุดของผ้าขาดผืนนี้

เหลือบมองในกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กกต. ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการสิทธิฯ ดูเหมือนแทบจะฝากอนาคตกับคน 5 คน คือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภา ซึ่งทุกท่านคงต้องมีงานหนักหน่วงเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องเป็นกรรมการสรรหาในเกือบทุกตำแหน่งที่เอ่ยข้างต้น แถมยังคงสิทธิในการยืนยันความเห็นด้วยเสียงเอกฉันท์หรือเสียงข้างมากเหนือการลงมติของวุฒิสภา คือหากวุฒิสภาลงมติไม่เลือก หากคณะบุคคลกลุ่มนี้เห็นต่างก็สามารถมีความเห็นเหนือวุฒิสภาได้ แล้วจะไม่ให้เรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ขาดความสมดุลได้อย่างไร ในเมื่อมุ่งส่งเสริมการใช้อำนาจของบุคลากรที่มาจากสายตุลาการจนเกินเหตุ เป็นรอยด่างที่ปรากฎในร่างรัฐธรรมนูญ

ตรงไหนมีอำนาจ ตรงนั้นจะถูกแทรกแซงอำนาจ นี่คือสัจธรรมของการเมืองไทย

หากเปรียบร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผ้าผืน ผ้าผืนนี้คงเป็นผ้าไทยที่ทอละเอียด ลวดลายงามวิจิตร ผ่านการทอโดยช่างฝีมือดี แต่กลับมีช่องโหว่ รอยขาด และจุดด่างรอยเปื้อน ซึ่งมิใช่รอยขาดเล็กที่มองข้ามผ่าน และหากให้คนไทยพิจารณา คงไม่อาจตัดใจซื้อได้ เพียงแค่หวังว่าจะมีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพราะหากเลือกแล้วการเมืองไทยไม่เปลี่ยน อำนาจยังมิได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพียงแต่ส่งทอดจากนักธุรกิจการเมือง มาสู่ราชการอำมาตยาธิปไตย ประชาชนเป็นเพียงคนชั้นสองที่ได้แต่ชะเง้อมองการปกครองประเทศของคนชั้นนำ ที่จะสร้างกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ตามที่ใจปรารถนา ก็ไม่เห็นประโยชน์อะไรที่จะเกิดขึ้น

ข้อเขียนนี้มิได้มุ่งหวังรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่มุ่งหวังให้สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เห็นด้านขาดวิ่นของผลงานที่ตนภาคภูมิใจ และเปลี่ยนแปลงแก้ไขตราบเท่าที่มีเวลาดำเนินการได้ แต่หากยังเสนอผ้าขาดผืนนี้แก่ประชาชนอีก คงต้องตัดใจเดินจาก ไม่ว่าเนื้อผ้าส่วนที่เหลือจะวิจิตรบรรจงเพียงใดก็ตาม

และขอทวงต้นทุนค่าจ้างทอผ้าคืนด้วย


2. วิเคราะห์ความเลวร้ายของรัฐธรรมนูญ คมช.
ใจ อึ๊งภากรณ์ : พรรคแนวร่วมภาคประชาชน
Workers Democracy Thailand 0813469481 (ได้รับมาจากผู้เขียน)

รัฐธรรมนูญ คมช. เกิดจากกระบอกปืน เกิดจากรัฐประหารที่ไม่ชอบธรรม และร่างโดยคนกลุ่มเล็กๆ ที่แต่งตั้งโดยคณะเผด็จการ โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีบทบาทในการร่างแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญปี ๔๐ (ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ควรปรับปรุง) รัฐธรรมนูญ ๕๐ เป็นรัฐธรรมนูญของทหาร อภิสิทธิ์ชน และกลุ่มทุนที่ไม่เคยศรัทธาในระบบประชาธิปไตยเลย เห็นได้จากเนื้อหาสาระดังนี้

1. ลดพื้นที่ประชาธิปไตยและตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญ คมช. เพิ่มอำนาจให้กลุ่มอภิสิทธิ์ชนในสังคมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดย

- ถอยหลังเข้าคลอง ยกเลิกการเลือกตั้งวุฒิสภา
- เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายศาลหรือตุลาการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
- สร้างระบบพรรคพวกชนชั้นนำแต่งตั้งกันเอง คือ ฝ่ายศาลและองค์กรที่อ้างว่า"อิสระ"แต่งตั้งวุฒิสมาชิก และวุฒิสมาชิกกับอภิสิทธิ์ชนแต่งตั้งองค์กร "อิสระ" วนเวียนกันในวัฏจักรน้ำเน่าของคนชั้นสูง

- กีดกันคนส่วนใหญ่จากการบริหารประเทศ (รัฐบาลและวุฒิสมาชิก) ด้วยข้อจำกัดเรื่องอายุและวุฒิการศึกษา
- กีดกันบทบาทพรรคการเมืองที่ต้องสมัครรับเลือกตั้ง เช่นในกรณีวุฒิสภา แต่เพิ่มหรือคงไว้อำนาจของทหาร ศาล และข้าราชการประจำ
- มาตรา 4 เชิดชู "ประเพณีการปกครองแบบไทยๆ" ซึ่งใครๆ ก็ทราบว่าประเพณีนี้ตรงข้ามกับประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม

- มาตรา 167 ซึ่งจำกัดวาระของนายกรัฐมนตรี เป็นการใช้กฎหมายในทางที่ผิด แทนที่จะไว้ใจเสียงประชาชน และมันจะไม่นำไปสู่การขยายประชาธิปไตยแต่อย่างใด
- ไม่มีมาตรการใดๆ ทั้งสิ้นที่สนับสนุนให้มีพรรคการเมืองของภาคประชาชน

2. เพิ่มอำนาจให้กลุ่มทุน เพื่อเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการเมือง
ทั้งๆ ที่ คมช. อ้างว่าคัดค้านอำนาจธุรกิจและกลุ่มทุน แต่รัฐธรรมนูญ คมช. เพิ่มอำนาจและอิทธิพลของกลุ่มทุนยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี ๔๐

- มาตรา 82 / 83 พ่วงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบตลาดเสรีอย่างชัดเจน ส่งเสริมให้ลดบทบาทรัฐในการควบคุมกลุ่มทุน ส่งเสริมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และบังคับให้รัฐบาลต้องลดงบประมาณที่ใช้สร้างสวัสดิการให้คนจนผ่านประโยคเรื่อง "การรักษาวินัยทางการคลัง" ซึ่งบังคับให้รัฐบาลต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมตาม ไอเอ็มเอฟ และฉันทามติวอชิงตัน

- ในขณะที่รัฐต้องจำกัดค่าใช้จ่ายสำหรับคนจน มาตรา 76 ระบุว่ารัฐต้องเพิ่มงบประมาณทหาร

- ในขณะที่เพิ่มอำนาจให้ตลาดและกลุ่มทุน ไม่มีการเพิ่มอำนาจและสิทธิเสรีภาพในการต่อรองของกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน หรือกลุ่มเกษตรกรแต่อย่างใด ไม่มีข้อเสนอให้เก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย และไม่มีข้อเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการ

3. เพิ่มบทบาททหารในสังคม
รัฐธรรมนูญนี้ระบุอย่างชัดเจนว่า จะต้องเพิ่มงบประมาณทหาร และไม่มีการจำกัดบทบาททหารในเรื่องการเมือง การคุมสื่อ หรือการเข้าไปแทรกแซงรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด

- มาตรา 299 ให้ความชอบธรรมกับการทำรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งเปิดทางให้ทหารแทรกแซงการเมืองต่อไป

4. ไม่แก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้
รัฐธรรมนูญ คมช. เต็มไปด้วยความคิดและวาจาของแนวชาตินิยมคับแคบ ไม่มีข้อเสนอใดๆ ที่จะแก้ปัญหาภาคใต้ผ่านการสร้างสันติภาพ การปกครองตนเอง และการให้ความเคารพในวัฒนธรรม ศาสนา หรือภาษาที่หลากหลายแต่อย่างใด

5. ไม่เพิ่มสิทธิเสรีภาพ
รัฐธรรมนูญ คมช. ไม่ขยายสิทธิเสรีภาพทางเพศ ไม่ให้สิทธิกับคนรักเพศเดียวกัน ไม่ให้สิทธิทำแท้ง ไม่เพิ่มสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือคนพิการแต่อย่างใดทั้งสิ้น.
วาจาว่าด้วย "การมีส่วนร่วม" ของประชาชนหรือชุมชนเป็นเพียงนามธรรม และมองว่าประชาชนเป็นไพร่ที่ปกครองตนเองไม่ได้

มาตรา 32 ยังเชิดชูโทษประหารซึ่งเป็นการปกป้องระบบลงโทษแบบป่าเถื่อน

นอกจากนี้ ไม่มีการบังคับใช้ประชามติในกรณีการเซ็นสัญญาค้าเสรี... ด้วยเหตุนี้ เราต้องร่วมกันคัดค้านรัฐธรรมนูญ คมช. ปี ๕๐!!!

3. "ประชามติ" รัฐธรรมนูญ ฉบับแพงที่สุดในโลก
ทวี มีเงิน : คอลัมน์ สามัญสำนึก / จากประชาชาติธุรกิจ

ไม่รู้ว่าเป็นความคิดของใคร ใช้สมองส่วนไหนคิด ที่ทำเรื่องง่ายๆ ให้เป็นเรื่องยาก ด้วยการเสนอให้มีการทำประชามติรับ -ไม่รับ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2549 เพื่อสร้างภาพให้เห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

ในโลก มี 5 ประเทศที่ทำประชามติ
ในโลกนี้มี 5 ประเทศเท่านั้น ที่มีการทำประชามติจากประชาชน คือ

ฝรั่งเศส หลังการปฏิวัติใน ค.ศ.1789 ฝรั่งเศสปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้มีการนำระบบออกเสียงประชามติมาใช้แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งยุคของ "นายพลเดอโกล์" มีการออกเสียงประชามติอีกครั้ง ในการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ.1946 หลังจากนั้นก็มีการใช้กระบวนการนี้มากขึ้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของฝรั่งเศสบัญญัติขึ้นให้มีการออกเสียงใน 3 กรณี

1) แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ
2) ตรากฎหมายเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายแห่งรัฐ และ
3) การเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือดินแดน

สวิตเซอร์แลนด์ การทำประชามติของชาวสวิส จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เช่น การเสนอกฎหมายของรัฐสภา การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเข้าเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ และการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่โดยเด็ดขาด. โดยการทำประชามติขอเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน มีการ เตรียมความพร้อมและให้ข้อมูลประเด็นที่จะมีการแก้ไขถึง 28 ปี จึงมีการลงประชามติ

ติมอร์ตะวันออก อินโดนีเซียเข้ายึดครองพื้นที่ติมอร์ตะวันออกเป็นเวลา 16 ปี ภายหลังการต่อสู้หลั่งเลือดเพื่อปลดแอกตนเองของชาวติมอร์ก็ประสบความสำเร็จ โดยสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้จัดให้มีการลงประชามติให้ประชาชนชาวติมอร์ได้เลือกช่องทางเป็น "เอกราช" ถึง 78.5% เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2542 โดยมีฝ่ายที่จงรักภักดีกับรัฐบาลอินโดนีเซียเพียง 20% เท่านั้น

แคนาดา การทำประชามติในประเทศแคนาดามีขึ้น 3 ครั้ง โดยประเด็นที่มีการทำประชามติคือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประชาชนที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนไปปกครองตนเอง โดยแคว้นควิเบกต้องการแยกตัวออกไปเป็นอิสระ แต่การออกเสียงประชามติ 3 ครั้งไม่ผ่าน ทำให้แคว้นควิเบกไม่สามารถแยกตัวออกไปเป็นอิสระ แต่สามารถลดความขัดแย้งทางความคิดของประชาชนได้

สหรัฐอเมริกา หลักการทำประชามติของสหรัฐอเมริกา คือ การมอบอำนาจสุดท้ายในกระบวนการนิติบัญญติ เป็นการดำเนินการในระดับมลรัฐ เมือง เขตปกครองท้องถิ่น โดยเป็นการทำประชามติเพื่อปฏิเสธกฎหมายบางฉบับที่สภานิติบัญญัติของรัฐตราออกมา หรือการเสนอเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของมลรัฐนั้นๆ

หากดูรายละเอียด จะเห็นว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่มีการทำประชามติรับหรือไม่รับร่าง "รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ" ประเทศไทยจึงเป็นประเทศแรกของโลก ประเทศที่เคยทำประชามติมาแล้ว "ยกเว้นติมอร์" ล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนมีการศึกษาดี กระนั้นก็ตามก่อนทำประชามติก็ยังต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ อย่างกรณีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต้องใช้เวลาให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนนานถึง 28 ปี ก่อนให้ลงประชามติ

สำหรับประเทศไทย นอกจากจะเป็นประเทศแรกที่ลงมติกันทั้งฉบับ แถมยังไม่ต้องมีการรณรงค์ประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจกันอย่างเพียงพอ คงว่ากันสดๆ ร้อนๆ หลังจากที่เพิ่งร่างเสร็จ ยกออกจากเตาหมาดๆ กันเลยทีเดียว

คงเป็นเรื่องลำบากที่จะให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญกันอย่างถ่องแท้ แล้วลงมติรับ-ไม่รับ คนที่รู้เรื่องอาจจะมีบ้างเฉพาะบรรดาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 100 คน, อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนในคณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เกิน 1,000 คน แล้วอย่างนี้จะเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างไร

กลับกัน การทำประชามติเท่ากับเปิดช่องให้นักการเมืองเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอำนาจเก่า ใช้เป็นเงื่อนไขในการแสดงออกเพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยใช้ฐานทางการเมือง ผ่านหัวคะแนน ลงมติคว่ำรัฐธรรมนูญ จนอาจทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองครั้งใหญ่ได้ นั่นหมายถึงความวุ่นวายจะตามมา

หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการยอมรับจากประชาชน ต้องนำฉบับปี 2540 (รัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงแก้ไข - กอง บก. ม.เที่ยงคืน) มาใช้ใหม่ในเวลา 1 เดือน หลังการทำประชามติ เพื่อให้ทันการเลือกตั้ง นั่นเท่ากับเราเสียเวลา 1 ปี และเสียเงินงบประมาณในการร่างรัฐธรรมนูญและลงประชามติ เกือบ 3,000 ล้านบาทไปฟรีๆ แถมยังต้องหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ผู้ก่อการรัฐประหารบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญมีตำหนิมากมายมาใช้ใหม่ มันรู้สึกขัดกันยังไงชอบกล

ความจริงการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ใช่แค่ให้เขาลงมติรับหรือไม่รับ แต่ควรให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหาจากความรู้สึกนึกคิดของเขาว่า อยากมีรัฐธรรมนูญแบบไหน มีเนื้อหาอย่างไร? สภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการยกร่าง เป็นแค่คณะทำงานนำความคิดเห็นของประชาชนนำมาประมวลให้เป็นระบบและทำหน้าที่ขัดเกลาให้สละสลวย ไม่ใช่ทำหน้าที่คิดแทน ร่างแทน เหมือนกับที่ผ่านมาและกำลังทำกันอยู่

หากใช้วิธีนี้ อย่างมากก็ไม่เกิน 200 ล้านบาท ยังจะได้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมร่างจริงๆ อีกด้วย

4. เณรแอบหนีเล่นสงกรานต์ กับพุทธศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ
ชื่อเดิมของบทความ : พุทธศาสนากับวิธีการพ้นทุกข์ในรัฐธรรมนูญ
ดร. บุณยสฤษฎ์ อเนกสุข : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ได้รับมาจากผู้เขียน)

บทนำ
พลันที่มีข่าวการชุมนุมของพระสงฆ์และชาวพุทธกลุ่มใหญ่เพื่อให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมข้อความลงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก่อให้เกิดความฉงนต่อผู้เขียนอย่างยิ่ง และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดบทความนี้ขึ้น อย่างไรก็ดีผู้เขียนขอออกตัวว่าเป็นเพียงชาวพุทธไกลวัดคนหนึ่ง ที่มีกำพืดซึ่งเคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม ดังนั้นบทความนี้จึงมิได้ส่งเสริมหรือคัดค้านการบรรจุหรือไม่บรรจุพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาประจำชาติ หากแต่ประสงค์จะตั้งคำถามถึงวิธีคิดต่อความพยายามเรียกร้องดังกล่าว ดังนั้นประเด็นที่ว่าเมื่อบรรจุให้มีศาสนาประจำชาติไปแล้วจะทำให้เกิดความแตกแยกคนในชาติ หรือหากไม่บรรจุศาสนาประจำชาติจะทำให้ศาสนาพุทธเสื่อมโทรมลง หรือมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ในเรื่องนี้ ฯลฯ จึงไม่ใช่สาระสำคัญของบทความ และคิดว่าสังคมไทยควรก้าวพ้นจากวังวน 2-3 ประเด็นนี้ได้แล้ว

พุทธศาสนากับสังคมไทยปัจจุบัน
เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้เขียนประสบเหตุการณ์อันชวนประหลาดใจประการหนึ่ง กล่าวคือผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นสามเณรหลายรูปยืนสูบบุหรี่ และสาดน้ำสงกรานต์บนท้ายรถหกล้อที่เขียนว่าเป็นสมบัติของวัดหนึ่งในต่างจังหวัด แน่นอนที่สุดภาพดังกล่าวอาจเป็นเพียงภาพหนึ่งในหลายๆ ภาพเช่น พระสงฆ์ร่วมวงเตะตะกร้อ พระสงฆ์ค้ายาบ้าและเสพยาเสพติด พระสงฆ์ร่วมคดีข่มขืน ฯลฯ ที่ปรากฏอย่างดาษดื่นในสังคมไทยปัจจุบัน พร้อมกับมีคำอธิบายจากนักวิชาการด้านศาสนาว่าผู้ที่ถูกเรียกว่า "ทรงศีล" เหล่านี้มีวัตรปฏิบัติ "นอกรีต" และเป็นเพียงคนโกนหัวห่มผ้าเหลือเท่านั้น อย่างไรก็ดีสิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนให้สังคมไทยมองเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างยิ่ง

หากพิจารณาคำอธิบายของนักวัฒนธรรมศึกษาแบบคลาสสิก ที่พยายามอธิบายว่า สังคมไทยอยู่ยั้งยืนยงได้เพราะศีลธรรมของพุทธศาสนามาตั้งแต่โบราณกาล ความนอกรีตดังกล่าวจึงนับเป็นการบั่นทอนคำอธิบายที่คลาสสิกเหล่านี้อย่างยิ่ง สิ่งที่นึกถึงต่อมาภายหลังการเห็นภาพสามเณรกลุ่มนี้ก็คือ สามเณรในฐานะเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งแม้จะสมควรโดนตำหนิอย่างยิ่งต่อการกระทำ "ไม่ละอายผ้าเหลือง" แต่ผู้ที่สมควรถูกตำหนิมากที่สุดน่าจะเป็นเจ้าอาวาส พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของวัด รวมถึงฆราวาสโดยเฉพาะคนขับรถหกล้อที่มิได้ว่ากล่าว ห้ามปราม แต่กลับสนับสนุนให้เกิดการกระทำเช่นนี้ โดยนัยนี้ความผิดพลาดของกลุ่มสามเณรดังกล่าวส่วนหนึ่งจึงเกิดจากความเพิกเฉยของผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวสามเณร มากกว่าความบกพร่องของสังคมที่เรียกร้องให้สามเณรยินดีแอบไปเล่นน้ำสงกรานต์

สิ่งที่ผู้เขียนเห็น สามารถเทียบเคียงกับปรากฏการณ์การเรียกร้องให้บรรจุพุทธศาสนาลงในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร? ซึ่งใคร่แสดงทัศนะดังนี้

1. ในภาวะที่เรานับถือศาสนาพุทธ แท้ที่จริงแล้วเราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในศาสนากันแน่ ระหว่างการนับถือผู้แทนหรือผู้สั่งสอนคุณธรรมตามหลักของศาสนา กับการหวนกลับไปสู่อรรถะในศาสนาพุทธแบบบริสุทธิ์ ดังนั้นเหตุการณ์สามเณรเล่นน้ำสงกรานต์กับการชุมชุมเรียกร้องดังกล่าว จึงมีความคล้ายคลึงกันตรงที่เราพยายามเรียกร้องอะไรระหว่างแก่นของศาสนาพุทธซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามพึงปฏิบัติ เช่น พระสงฆ์ที่ควรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหน้าที่ในพระวินัย, ฆราวาสที่พึงปฏิบัติต่อกันตามศีลธรรมของศาสนา หรือจะเป็นเพียงสัญญะที่พยายามบอกว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างอะไรกับความพยายามใช้ผ้าเหลืองห่มกายแล้วอุปโลกน์ว่าเป็นพระสงฆ์ หรือการประกาศว่าประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

2. หากสังคมไทยพยายามอธิบายว่าเราควรมีศาสนาประจำชาติที่ส่วนหนึ่งเป็นคำอธิบายเชิงชาตินิยม เราจะอธิบายตนเองภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity) อันเป็นจุดเด่นที่เราพยายามอธิบายตนเองมานานนับเกือบศตวรรษ ทั้งในมิติทางศาสนาที่นิยมกล่าวอ้างนับจากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชย้อนขึ้นไปว่า ทรงมีขันติธรรมอย่างยิ่ง, มิติทางประวัติศาสตร์ที่อธิบายถึงการหลั่งไหลเข้ามาของนานากลุ่มชาติพันธุ์ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ,หรือมิติทางสังคมที่อธิบายว่าสังคมไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การยอมรับและปรับตัวท่ามกลางความแตกต่างกัน ฯลฯ ได้อย่างไร

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาอรรถะสำคัญทางพุทธศาสนา เราจะพบว่าศาสนาพุทธเองให้ความสำคัญกับการไม่เบียดเบียนกัน อันนับเป็นรากฐานหนึ่งของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายอย่างสันติ สอดคล้องกับคำสอนของศาสนาอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับ "ความรัก" และ "สันติภาพ" เช่นกัน. ดังนั้นการระบุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จึงควรถูกอธิบายแก่นแท้ที่มาอันเป็นรากฐานของสังคมไทยมากกว่าฉลาก (brand) เท่านั้น แม้จะเป็นความหวังดีก็ตาม

3. ศาสนาพุทธมีคำกล่าวที่เด่นชัดในเรื่องของความไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งที่เป็นเปลือกนอก เพราะทุกสิ่ง (รวมถึงตัวตน) เป็นทุกข์ ดังนั้นคำพูดของคนไทยที่มักจะกล่าวติดปากอยู่เสมอ ว่า "ช่างมัน" "ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง" "ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน" "ให้อภัย" ฯลฯ จึงเป็นความพยายามที่จะบ่งชี้ว่า อย่าไปใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่มีจนเกินขอบเขตและความพอดี (ที่จริงแล้วความพอดีก็นับเป็นอีกหลักการหนึ่งของพุทธศาสนาเช่นกัน) และพร้อมที่จะปล่อยวางภาวะคับแค้นในใจ

ดังนั้นไม่ว่าจะเห็นสามเณรแอบหนีเจ้าอาวาสมาเล่นสงกรานต์ หรือจะบรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ จึงมิอาจเป็นสาระสำคัญมากไปกว่าการตั้งคำถามต่อใจของผู้เกี่ยวข้องว่า "แอบหนีแล้วอย่างไร ไม่แอบหนีแล้วอย่างไร" และ "บรรจุแล้วอย่างไร ไม่บรรจุแล้วอย่างไร"

4. สืบเนื่องจากข้างต้นนี้เอง หลักธรรม "กาลามสูตร" ของศาสนาพุทธซึ่งให้ความสำคัญกับการพิจารณาไตร่ตรองเหตุการณ์ต่างๆ อย่างถ้วนถี่ มีสติและปัญญาก่อนที่จะเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตลอดจนรู้เท่าทันอารมณ์ในขณะที่ตนเองกำลังประกอบกิจกรรมใดๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากไปกว่าการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้พระสงฆ์ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือต้องเรียกร้องให้มีหรือไม่ให้มีการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก่อนที่เรา(ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส) จะตกหลุมพรางของวาทกรรม(discourse) การเป็นคนดี คนชั่ว การเมือง อำนาจเก่า ฯลฯ ไปมากกว่านี้

พุทธศาสนากับวิธีการพ้นทุกข์ในรัฐธรรมนูญ
สิ่งหนึ่งของปรากฏการณ์การเรียกร้องให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ข้อเรียกร้องและการตอบโต้ของแต่ละฝ่ายล้วนเป็นการกระทำตามความยึดมั่น "ในความดีของตนเอง" ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันผู้เขียนยังมิเห็นข้อถกเถียงเชิงวิชาการใดๆ ที่กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการบรรจุหรือไม่บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แม้จะมีการกล่าวอ้างจากทั้งสองฝ่ายว่ามีการทำประชาพิจารณ์ หรือมีการพูดคุยในวงสัมมนาจำนวนมาก หากแต่ข้อถกเถียงในประเด็นเหตุและผล "อย่างมีสติและปัญญา" อันเป็นวิธีการพ้นทุกข์หนึ่งตามหลักศาสนากลับถูกบดบังเพียงการท้าตีท้าต่อยระหว่าง พระสงฆ์ กับ ฆราวาสเท่านั้น

ตามความเห็นส่วนตัวคิดว่า บางครั้งการบรรจุพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำ (แห่ง) ชาติลงในรัฐธรรมนูญ อาจจำเป็นต่อการพ้นทุกข์ของคนในชาติน้อยกว่าการให้หลักคำสอนของพุทธศาสนาปรากฏในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ ซึ่งประเด็นต่างๆ นี้เรายังไม่เคยกล่าวถึงเลย เช่น

1. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการจัดทำแผนแม่บทการศึกษาของชาติอย่างไร โดยเฉพาะการทำให้คนในชาติมีกาลามสูตรมากกว่าจะเชื่อเพียงเพราะว่าเป็นอาจารย์ของเรา หรือเป็นนายเรา เชื่อเพราะเขาว่ามาอย่างนี้ หรือเชื่อเพราะเขาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ฯลฯ

2. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างไร

3. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชาติอย่างไร เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และความเป็นธรรมในสังคมให้คงอยู่ยาวนานที่สุด

4. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการสร้างการบริหารการปกครองประเทศอย่างไรเพื่อมิให้เกิดภาวะ "ยึดมั่นถือมั่นและความหลงโลภ" ในอำนาจ ความมั่งคั่ง และการมีอยู่ของตัวตน อันเป็นที่มาของความบ้าอำนาจและฉ้อราษฎร์บังหลวงของฝ่ายการเมืองและนักปกครอง

5. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างไร ไม่ให้เกิดความเอารัดเอาเปรียบ การเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างของเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาคในสังคม

6. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการสร้างความเข้าใจความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมในสังคมไทย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนชายขอบในสังคมไทยได้อย่างไร

7. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการลดความขัดแย้ง แตกแยก ในสังคมได้อย่างไร ฯลฯ

โดยนัยนี้ การที่เรากำลังให้ความสำคัญกับการประกาศว่าพุทธศาสนาควรเป็นศาสนาประจำชาติ จึงอาจเป็นเพียงการเรียกร้องให้ "รัฐธรรมนูญต้องห่มผ้าเหลือง" คล้ายกับการที่สามเณรแอบหนีเล่นสงกรานต์ ซึ่งผู้ที่ควรถูกตำหนิอันดับต้นหาใช่ความบกพร่องของสังคม ที่นำไปสู่การเรียกร้องให้ต้องประกาศว่า ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเพียงอย่างเดียว หากแต่คือผู้ที่มีความสัมพันธ์กับหลักคำสอนทางศาสนาพุทธ (ซึ่งในกรณีสามเณรแอบหนีเล่นสงกรานต์ ได้แก่ พระสงฆ์ และฆราวาสผู้เกี่ยวพันกับสามเณรนั้น) ที่ไม่ใช้หลักการดังกล่าวในสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างผู้เป็น "พุทธะ" แก่ประชาชนอันกอปรด้วยความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานในธรรมต่างหากที่สมควรถูกตำหนิ

ปิดท้ายด้วยพุทธวจนะที่ว่า

"...ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรักษาตนก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น (ด้วย) เมื่อรักษาผู้อื่นก็ชื่อว่ารักษาตน (ด้วย). เมื่อรักษาตนก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่นนั้นอย่างไร ด้วยการหมั่นปฏิบัติ ด้วยการเจริญธรรม ด้วยการทำให้มาก อย่างนี้แล เมื่อรักษาตนก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น (ด้วย)

เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตนนั้นอย่างไร ด้วยขันติ ด้วยอวิหิงสา ด้วยความมีเมตตาจิต ด้วยความเอ็นดูกรุณาอย่างนี้แล เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน (ด้วย)

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคิดว่า "เราจะรักษาตน" ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน เมื่อคิดว่า "เราจะรักษาผู้อื่น" ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน เมื่อรักษาตนก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น (ด้วย) เมื่อรักษาผู้อื่นก็ชื่อว่ารักษาตน (ด้วย)..."

มหาวรรค สังคยุตตนิกาย

5. การยกร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา
(ตัดมาบางส่วนจากบทความฉบับสมบูรณ์)
สุธรรม ส่งศิริ : ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมกิจการบ้านเมืองที่ดี

บทความนี้ ต้องการจะนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ซึ่งมีอายุยืนนานถึง 220 ปี ส่วนของประเทศไทยนั้น มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 16 ฉบับ และฉบับสุดท้าย ซึ่งได้รับการยอมรับจากส่วนใหญ่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด ก็มีอายุเพียง 9 ปีเท่านั้น

รัฐธรรมนูญของสหรัฐมีอายุยืนนานโดยมีการแก้ไขทางรัฐสภามา 27 ครั้ง แต่ได้รับการแก้ไขโดยอาศัยการตีความจากศาลสูงสุด (Supreme Court) ของสหรัฐมาประมาณ 15 ครั้ง ซึ่งนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่า เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกวิธีหนึ่งซึ่งไม่ผ่านขบวนการทางรัฐสภา

การยกร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ
ต้นเหตุของการนำมาสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐนั้น นักศึกษาทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐคงจำได้ว่าหลังสงครามปฏิวัติ (Revolutionary war) ของสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1776 แล้ว รัฐทั้ง 13 รัฐ ซึ่งได้มีสภาพเป็นรัฐอิสระ แต่ผูกพันกันไว้ด้วยกฎบัตรแห่งการเป็นสหพันธ์ (Aritcle of Confederation) และก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ของการร่วมกันอยู่แบบสหพันธ์ ดังนี้

- หนี้สินที่กองทัพปฏิวัติของอเมริกาได้กู้ยืมมาจากหลายประเทศในยุโรปนั้น ยังไม่มีผู้รับผิดชอบในการใช้คืน แต่ละรัฐก็ยังสงวนท่าทีอยู่ว่าใครจะต้องรับผิดชอบและแต่ละรัฐจะต้องร่วมใช้หนี้นี้เท่าไหร่

- รัฐอิสระทั้ง 13 รัฐ ไม่มีรัฐบาลกลางที่จะประสานหรือสั่งการให้แต่ละรัฐร่วมมือกันในการป้องกันและต่อสู้กับศัตรูที่มาจู่โจม

- แต่ละรัฐก็มีอิสระในระบบการเงินของตัวเองโดยการเก็บภาษีเต็มพิกัด ที่ตัวเองตั้งจากสินค้าที่มาจากรัฐอื่น หรือแม้จะผ่านไปก็ตาม

- ปัญหาเรื่องพรมแดนของแต่ละรัฐก็ยังไม่เด่นชัด ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่งถึงการมาร่วมประชุมกันเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่ระบุไว้ข้างต้น รวมทั้งปัญหาพรมแดนด้วย กล่าวคือพรมแดนของรัฐเวอร์จิเนีย และเมืองบัลติมอร์ของรัฐแมริแลนด์ นั้นระบุไว้บนระดับแนวแม่น้ำสูงสุดบนฝั่งทางด้านของรัฐเวอร์จิเนียตลอดไปจนถึงปากอ่าวเชสอะพีค (Chesapeake Bay) ซึ่งก็ต้องนับว่าเป็นการปักปันเขตแดนที่พิสดาร และชาวประมงเวอร์จิเนียรับไม่ได้และได้ต่อสู้มาตลอด แต่ทางฝ่ายรัฐแมริแลนด์ก็ยังยืนยันในสิทธิของดินแดนของตน จึงเป็นสงครามดินแดน เรื่องหอย เรื่องปู รวมทั้งสิทธิในการเดินเรือในแม่น้ำโพโตแมคนี้

จากปัญหาต่างๆ ที่ได้กล่าวมานี้ทำให้สมาชิกสภาคองเกรสของทวีปอเมริกา (Continental Congress) ได้นัดไปประชุมกันที่เมืองแอนนาโปลิสในปี ค.ศ.1786 แต่ล้มเหลวเพราะสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม จึงได้นัดกันอีกครั้งให้แต่ละรัฐส่งคณะผู้แทนไปพบกันในวันจันทร์ที่สองของปี ค.ศ.1787 โดยการเสนอจากอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน แห่งรัฐนิวยอร์กเพื่อที่จะหารือในการแก้ปัญหา ซึ่งอาจจะมีรัฐธรรมนูญของรัฐบาลกลางที่เหมาะสมในการปกครองสหพันธ์ และก็ใช้เวลาร่างประมาณ 4 เดือน จึงเสร็จเรียบร้อยโดยผ่านการโต้แย้งและคัดค้านอย่างดุเดือด

แต่ในที่สุดก็เกิด "การประนีประนอมที่ยิ่งใหญ่" (The Great Compromise) จึงทำให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้และมีอายุยาวนานถึง 220 ปี ในปีนี้

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนลงขัน (บนเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน)

1180. ข้อเสนอรัฐธรรมนูญใหม่ จากวงเล็บหนึ่งถึงวงเล็บสี่ (ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
1216. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์: จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญไทย ๘ ประการ (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
1217. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์: จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม
(กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน)

บทความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องรัฐธรรมนูญ (บนเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน)

- กระบวนการประชาธิปไตยกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
- การเมืองไทยที่ต้องทำความเข้าใจให้กระจ่าง (รัฐธรรมนูญไม่ใช่ประตูสู่ปฏิรูปการเมือง)
- คำกล่าวปิดการอภิปรายเรื่องพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ
- โครงการเสวนา "รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน"
- จาก: ถีบลงเขาเผาลงถัง ถึง กรณีกรือเซะและตากใบ
- ตบตีโลกาภิวัตน์ อัดซ้ำรัฐธรรมนูญ๔๐
- นิติธรรมอำพรางในนิติศาสตร์ไทย
- บทวิจารณ์หนังสือเรื่อง"พระราชอำนาจ"
- ปาฐกถานำ วันทวงคืนรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย

- ปาฐกถาวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ : มติพจน์สำหรับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
- พระราชอำนาจของกษัตริย์และหน้าที่ของประมุขแห่งรัฐ

- พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนญ (๑)
- พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนญ (๒)
-
พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนญ (๓)

- รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปวกเปียก (นิธิ เอียวศรีวงศ์)
- รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปวกเปียก (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์)
- รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปวกเปียก (นิธิ และ วนิดา)
- รัฐธรรมนูญใหม่กับปรากฏการณ์ไทยรักไทย
- รัฐบาล รัฐธรรมนูญ และรัฐประชาธิปไตย
- รัฐบาลไม่มีสิทธิ์แปรรูป อ.ส.ม.ท. ผิดรัฐธรรมนูญ

- วันทวงคืนรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย
- วาทกรรมและวงศาวิทยาการปฏิรูปสื่อ
- วิเคราะห์รัฐธรรมนูญ อำนาจวุฒิสภา และการเมืองบนท้องถนน
- ศาลรัฐธรรมนูญ กับการทำให้สิทธิ - เสรีภาพเป็นจริง
-
ศาลรัฐธรรมนูญกับปัญหาโครงสร้างและระบบวิธีพิจารณา (๑)
- ศาลรัฐธรรมนูญกับปัญหาโครงสร้างและระบบวิธีพิจารณา (๒)
- ศาลรัฐธรรมนูญ: พิทักษ์รัฐหรือรัฐธรรมนูญ
- สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ (ตอนที่ ๑)
-
สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ (ตอนที่ ๒)
- สังคม การเมือง และเรื่องพระปรมาภิไธย
- สิทธิชุมชน กับ รัฐธรรมนูญติดหล่ม
- สิทธิชุมชน ชุมชนไม่มีสิทธิ์ "รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" (เสน่ห์ จามริก)
- สิทธิชุมชน ชุมชนไม่มีสิทธิ์ : "รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" (อานันท์ กาญจนพันธุ์)
- อำนาจของประชาชนในรัฐธรรมนูญ การเมืองเกาะเกี่ยววัฒนธรรม

- Constitutionalism: Road Map สู่อุตมรัฐที่ไร้ประชาชน?



คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

หากเปรียบร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผ้าผืน ผ้าผืนนี้คงเป็นผ้าไทยที่ทอละเอียด ลวดลายงามวิจิตร ผ่านการทอโดยช่างฝีมือดี แต่กลับมีช่องโหว่ รอยขาด และจุดด่างรอยเปื้อน ซึ่งมิใช่รอยขาดเล็กที่มองข้ามผ่าน และหากให้คนไทยพิจารณา คงไม่อาจตัดใจซื้อได้ เพียงแค่หวังว่าจะมีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพราะหากเลือกแล้วการเมืองไทยไม่เปลี่ยน อำนาจยังมิได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพียงแต่ส่งทอดจากนักธุรกิจการเมือง มาสู่ราชการอำมาตยาธิปไตย ส่วนประชาชนเป็นเพียงคนชั้นสองที่ได้แต่ชะเง้อมองการปกครองประเทศของคนชั้นนำ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

21-04-2550

Constitution
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.