โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 19 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๒๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 19, 04,.2007)
R

ข้อเท็จจริงภาวะโลกร้อน โลกร้อนทุกๆ ๑๕๐๐ ปี
ความตกตื่นในภาวะโลกร้อน: การย้อนแย้งจากข้อเท็จจริง (๑)
วีรบูรณ์ วิสารทสกุล : เขียน
ภาควิชาพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์ ท่าพระจันทร์

บทความวิชาการชุดนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้รับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ - ห่ะ! โลกร้อน ทุก ๑,๕๐๐ ปี? : ความจริงที่น่าอึดอัด - (1)
เป็นเรื่องของการนำเสนอข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งในเรื่องเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้เขียนเห็นว่า ภาวะโลกร้อนไม่สำคัญ
แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ความเชื่อที่ปราศจากการรับรู้ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน
จะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวไม่ถูกจุด และไม่ก่อให้เกิดสัมฤทธิผลใดๆ
เนื่องจากบทความนี้มีขนาดยาว จึงได้แยกบทความนำเสนอออกเป็น ๒ ตอน คือ
๑๒๒๐. ความตกตื่นในภาวะโลกร้อน : การย้อนแย้งจากข้อเท็จจริง (๑)
๑๒๒๑. ความตกตื่นในภาวะโลกร้อน : การย้อนแย้งจากข้อเท็จจริง (๒)
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๒๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ความตกตื่นในภาวะโลกร้อน: การย้อนแย้งจากข้อเท็จจริง (๑)
วีรบูรณ์ วิสารทสกุล : ภาควิชาพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์

ความนำ
คงกล่าวได้อย่างไม่ผิดนักว่า กระแสความตื่นตัวต่อปรากฏการณ์เรื่องโลกร้อน ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเรื่อง An Inconvenient Truth อย่างไม่ต้องสงสัย ลำพังแค่การสั่งซื้อ DVD จาก amazon.com หนังเรื่องนี้ ก็ไต่ขึ้นไปรั้งตำแหน่งอับดับที่ 15 แล้ว (วันที่ 11 เมษายน 2550) ส่วนหนังสือในชื่อเดียวกันเอง ขึ้นเป็น New York Times bestseller ตั้งแต่ 11 มิถุนายน 2549 - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังมีผลทำให้ Al Gore ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2007 อีกด้วย

สำหรับในประเทศไทย ความตื่นตัวต่อเรื่องนี้ก็กำลังเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ นิตยสารสารคดี นิตยสารหัวหนักด้วยข้อมูล ฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็อุทิศหน้าหนังสือหลายต่อหลายหน้าเพื่ออธิบายถึงหายนะภัยของโลกร้อน ที่สำคัญ คือ บก.ใหญ่ แห่งสารคดี ลงมือเขียนเอง. ส่วน A Day นิตยสารวัยรุ่นหัวทันสมัย ที่เน้นสาระ แต่ไม่เชย ก็ส่งวิธีอนุรักษ์โลกแบบไม่เชยกับเขาด้วยเหมือนกัน เป็นต้น

ล่าสุด สัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน สำนักพิมพ์มติชน รายงานว่า หนังสือของสำนักพิมพ์ที่มีการซื้อมากที่สุด ก็คือ "โลกร้อน..ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" ซึ่งก็คือ ภาคภาษาไทยของ An Inconvenient Truth ที่เขียนโดย Al Gore นั่นเอง โดยขายได้มากถึงประมาณ 6,000 เล่ม (ผมว่าน่าจะเป็นหนังสือสิ่งแวดล้อมเพียงไม่กี่เล่มในเมืองไทย ที่ขายได้ดีขนาดนี้)

ข้อสังเกตของผมก็คือ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ Al Gore หรือ ชาวโลกร้อน (global warmist) นำมาเสนอนั้น ผมเห็นว่า สังคมไทยมีแนวโน้มที่จะเชื่อกันโดยง่าย อีกทั้งยังมีนักอนุรักษ์ นักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูงอีกจำนวนไม่น้อย ผสมโรง ทำให้ข้อมูลดูหนักแน่นมากขึ้น นั่นทำให้ บรรยากาศการถกเถียงทางวิชาการเพื่อการเจริญสติและปัญญา ในสังคมไทยดูเงียบเหงาและอับเฉาโดยสิ้นเชิง (หากจำไม่ผิด ผมเคยเห็นข้อเขียนของ อ.สุทัศน์ ยกส้าน ใน นสพ.ผู้จัดการ เพียงท่านเดียวเท่านั้นที่พูดถึง กรณีโลกร้อน ในทำนองให้ฟังหูไว้หู) แต่จนถึงปัจจุบัน เชื่อเหลือเกินว่า สังคมไทยโดยทั่วไป "เชื่อ" โดยไม่ต้องสงสัยอีกแล้วว่า

1) ปรากฏการณ์โลกร้อนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เกิดจาก ฝีมือมนุษย์
2) กิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้โลกร้อน ก็คือ การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งปล่อย CO2 (คาร์บอนไดออกไซด์) ออกมาเป็นจำนวนมาก
3) CO2 คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ อุณหภูมิโลกสูงขึ้น

ก่อนที่จะเชื่ออะไรมากไปกว่านี้จนถอนตัวไม่ขึ้น ลองฟังข้อมูลอีกด้านก่อนดีไหมครับ ผมจะขอมาทำหน้าที่เป็นทนายจำเลย คือ CO2 กับ มนุษย์ ไปพลางๆ ก่อน โดยจะใช้ข้อมูลอีกด้านที่มีการเผยแพร่ทั่วไปมาอธิบาย ผ่านบทสนทนา ระหว่าง ชาวโลกร้อน กับ ผม ...ดังต่อไปนี้

บทสนทนาระหว่างชาวโลกร้อน กับ วีรบูรณ์ วิสารทสกุล
ชาวโลกร้อน : คุณดูหนัง An Inconvenient Truth (2) หรือยัง คุณเห็นข้อมูลที่ Gore เอามาเสนอหรือเปล่า มันน่ากลัวมากน่ะ ทั้งก้อนน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ ธารน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็งในที่ต่างๆ กำลังละลาย พายุเฮอรริแคนที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น และทวีกำลังมากขึ้น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม ฤดูกาลที่ผันแปรในทุกทวีปทั่วโลก ทำไมคุณถึงยังไม่เชื่อล่ะ

วีรบูรณ์ : ก็มันมีข้อมูลที่ทำให้ผมต้องคิดหนักน่ะซิ ว่าผมจะเชื่อ Gore ที่เป็นนักการเมือง หรือ เชื่อข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ดี อย่างในหนัง Gore พูดไว้ตอนหนึ่งว่า อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นถึง 20 ฟุต โดยไม่ระบุเวลาที่ชัดเจน มันดูน่ากลัวจริงๆ แต่หากคุณไปดูรายงานของ IPCC อย่างฉบับที่ 4 (ปี 2007) เขารายงานว่า จากการคาดการณ์แบบเลวร้ายสุดๆ ในศตวรรษนี้ น้ำทะเลจะสูงขึ้น 23 นิ้ว. ระหว่าง 20 กับ 23 ตัวเลขห่างกันนิดเดียวก็จริง แต่หน่วยต่างกันมาก คุณว่าจริงไหม

ขอออกตัวก่อนว่า ผมเชื่อโดยสนิทใจว่า โลกร้อนขึ้นอย่างแน่นอน และยังเชื่อต่อว่า Greenhouse Gas (GHG) มีปริมาณเพิ่มขึ้น ผมยังกังวลถึงผลที่ตามมาจากโลกที่ร้อนขึ้นด้วย อีกทั้งยังสนับสนุนการทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย ผมจึงไม่ใช่พวกที่ชื่นชอบการพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ที่ใครๆ มักจะตราหน้าให้แก่พวกที่ยืนตรงข้ามกับชาวโลกร้อน มากไปกว่านั้น อย่างน้อยผมเป็นคนหนึ่งล่ะที่ไม่เห็นด้วยที่ สนพ.มติชน พิมพ์หนังสือเรื่อง "โลกร้อน..ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" โดยใช้ กระดาษอาร์ต 4 สี ทั้งเล่ม เพราะเข้าตำรา มือถือสาก ปากถือศีล...คุณว่าไหม?

เพียงแต่ ผมเห็นว่า หากเราเข้าใจเหตุที่ทำให้เกิดโลกร้อนพลาดไปแล้ว การแก้ปัญหา มันก็เสียเปล่าเท่านั้นเอง ที่ผมพูดแบบนี้ เพราะผมมีข้อมูลที่ทำให้เชื่อได้ว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นต้นตอของโลกร้อน หากแต่โลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีรอบการเกิดที่ค่อนข้างแน่นอน ในขณะที่ CO2 ก็ไม่ได้เป็นเหตุให้อุณหภูมิสูงขึ้น (causation) เพียงแต่มันมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเท่านั้นเอง (correlation) ที่สำคัญความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์ กล่าวคือ ในบางช่วงปีที่อุณหภูมิลดต่ำ เช่น ในช่วงปี 1940 - 1975 แต่ CO2 ก็ยังเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง ผมยังเชื่อในทางตรงข้ามอีกว่า โลกที่ร้อนขึ้นต่างหากที่ทำให้ปริมาณ CO2 ในบรรยากาศมีมากขึ้น

การเข้าใจถึงสาเหตุ และความพยายามที่จะแก้ไขนั้น หากเราเข้าใจ เหตุที่ต่างกัน ย่อมนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต่างกันด้วย เช่น หากเชื่อว่า โลกร้อนเกิดจาก CO2 ความพยายามและการทุ่มเทเพื่อแก้ไขปัญหาก็คงมุ่งไปที่ การหาพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแน่นอนว่า สหประชาชาติจะหนุนให้พลังงานนิวคลียร์เป็นพลังงานทดแทนในอนาคต หรือไม่ก็เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่ถ้าหากเชื่อว่า โลกร้อน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้และหยุดไม่ได้ หน้าที่เรา คือ ตั้งรับอย่างดีที่สุด อย่างกรณีของเมืองไทย แผนที่สมัยทวารวดี ซึ่งตรงกับช่วงร้อนในอดีต (Medieval Maximum) ชี้ให้เห็นว่า ชายฝั่งอยู่ที่ไหนบ้าง นั่นหมายถึง เราอาจต้องทุ่มงบประมาณสร้างเขื่อนยาวหลายพันกิโลเมตร ป้องกันน้ำทะเลหนุน อย่างที่เนเธอร์แลนด์เขาทำมาแล้ว แทนที่จะใช้เงินไปเพื่อการลดปริมาณ CO2

ชาวโลกร้อน : อะไร พลังงานนิวเคลียร์เลยเหรอ มันยังมีพลังงานทางเลือกอีกตั้งหลายอย่าง อย่างพลังงานลม แสงอาทิตย์ หรือแม้แต่เอธานอล ที่กำลังนิยมก็น่าจะช่วยลดการปล่อย CO2 ได้บ้าง
อีกทั้งการขยายพื้นที่ป่า การปลูกป่าเพิ่มเพื่อดูดซับ ก็เป็นเรื่องที่ช่วยได้ ไม่ใช่หรือ?

วีรบูรณ์ : แน่นอนครับ พลังงานทางเลือกเหล่านี้ ต่างกำลังต้องการการพัฒนาอีกมาก ส่วนเอธานอลเองนั้น คุณเคยได้ยินหรือเปล่าว่า การผลิตเอธานอล 1 แกลลอนที่มีค่าพลังงาน 77,000 BTUS ต้องใช้พลังงานในการผลิตถึง 131,000 BTUS นั่นหมายถึง การผลิตเอธานอลทุกๆ 1 แกลลอน เราต้องเสียพลังงานไป 54,000 BTUs ขณะเดียวกันการผลิตเอธานอล (เพื่อผสมกับน้ำมันเบนซิน) สำหรับรถยนต์หนึ่งคันต่อ 1 ปี ต้องใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ 27.83 ไร่ (= 11 เอเคอร์) ซึ่งสามารถปลูกข้าวโพดเลี้ยงคนได้ 7 คน/ปี นั่น คือ ข้อเท็จจริงที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน (3)

อีกอย่างเรื่องของการปลูกป่านอกเขตพื้นที่เส้นศูนย์สูตร (4) ก็กำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ ก็คือ งานวิจัยล่าสุดของ Dr. Bala Govindasamy และ Dr. Ken Caldeira ที่กำลังจะตีพิมพ์ใน Proceedings of the National Academy of Scientists นั้นบอกว่า การปลูกป่าในพื้นที่นอกแถบเส้นศูนย์สูตร ไม่ได้ช่วยทำให้อุณหภูมิโลกลดลง ในทางตรงข้ามมันจะเก็บความร้อนไว้ ซึ่งจะทำให้โลกร้อนมากขึ้น.บรรดานักอนุรักษ์อย่าง นักรบสายรุ้ง (Greenpeace) เมื่อได้ฟังเช่นนี้ ก็ต้องหันหัวเรือเข้าขวางทันที... คือ ฟังแล้วผมยังเหนื่อยแทน อย่างไรก็ต้องติดตามต่อครับว่างานชิ้นนี้ จะล้มเหลวหรือจะถูกเชิดชูต่อ

ชาวโลกร้อน : ขอกลับมาเรื่องหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกร้อนต่อ ขนาด Dr. Naomi Oreskes ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิ เอโก ยังเขียนไว้ในบทบรรณาธิการวารสาร Science (วารสาร 1 ใน 2 ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในแวดวงวิทยาศาสตร์ อีกเล่มหนึ่งคือ Nature) ฉบับเดือนธันวาคม 2004 ว่า, จากการตรวจสอบ บทคัดย่อ จากฐานข้อมูล ISI ทางอินเตอร์เน็ต (ข้อมูลระหว่างปี 1993-2003) โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งใช้คำค้นว่า "global climate change" พบว่ามีจำนวนบทคัดย่อ 928 บทคัดย่อ ซึ่งต่างลงความเห็นทางวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งเดียวว่า (scientific consensus) "มนุษย์ คือ สาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น" ความเห็นที่เห็นพ้องของนักวิทยาศาสตร์ขนาดนี้ คุณจะว่าไงอีก ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากต่างก็ยืนยันแบบนี้

วีรบูรณ์ : อันที่จริงข้อความทราบก็คือ มีคนจำนวนมากหลังจากอ่านบทความของเธอแล้ว พยายามเขียนความเห็นโต้แย้ง แต่ Science ไม่ยอมตีพิมพ์ข้อโต้แย้งเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่น่าสนใจครับ เมื่อมีการเปิดเผยว่า เธอจงใจมองข้ามบทความอีกประมาณ 11,000 บทความในฐานข้อมูลที่ตีพิมพ์ตลอด 10 ปี ทั้งนี้มีประมาณ 500 รายชื่อผู้เขียน ที่ถูกนำมาใช้อ้างอิงในหนังสือ unstoppable global warming : Every 1,500 year (5) ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญอีกเล่มที่ใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์จำนวนมากเพื่อชี้ให้เห็นว่า "โลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกๆ 1,500 ปี"

และที่สำคัญ บทคัดย่อจำนวน 928 บทคัดย่อนั้น ได้ถูก Dr. Benny Peiser (6) แห่งมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ตรวจสอบซ้ำ และกลับพบในสิ่งที่แตกต่างออกไป นั่นคือ บทคัดย่อจำนวนมากมีความเห็นที่แตกต่าง มากกว่าจะเห็นพ้องต้องกัน อีกทั้งเกือบทั้งหมดก็เป็นความเห็นที่ไม่กล้าฟันธงทั้งสิ้น (noncommittal) และบทความของ Dr. Benny Peiser อีกเช่นกันที่วารสาร Science ไม่ยอมลงตีพิมพ์ แม้จะยอมรับว่าข้อสังเกตของ Dr. Benny ถูกต้องก็ตาม

นั่นหมายถึง วารสาร Science ก็ยังคงปล่อยให้ บทความที่มีความผิดพลาดลอยนวลอยู่ต่อไป ....เหตุการณ์เช่นนี้ เกิดกับ Nature เช่นกัน ที่มีการลงตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ กราฟรูป Hockey Stick (ซึ่งจะกล่าวถึงเรื่องนี้ต่อไป) โดยมีผู้ทบทวนบทความ 2 คน ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ แต่กลับเป็นนักสถิติ. สุดท้ายมีการตีพิมพ์บทความนี้ ทั้งที่มีความผิดพลาดด้านข้อมูล และวิธีวิทยา ซึ่งก็นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง...นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะบอกคุณว่า ให้ฟังหูไว้หูเสียก่อน

ชาวโลกร้อน : เมื่อสักครู่คุณก็บอกเองไม่ใช่หรือว่า คุณไม่เถียงว่าโลกร้อนขึ้นจริง และยังกลัวว่ามันจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านบรรยากาศ หรือสภาพแวดล้อมตามมา

วีรบูรณ์ : แน่นอนครับ ผมก็เห็นว่าโลกร้อนขึ้นจริง แต่ที่ไม่แน่ใจก็คือ โลกที่เย็นกว่าที่เป็นอยู่นี้ จะดีกว่าโลกที่ร้อนขึ้นอย่างไร และผลจากการที่โลกร้อน ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตามมาจริงหรือไม่

มีงานศึกษาชื่อ Enhanced or Impaired? Human Health in a CO2 -Enriched Warmer World (7) ของ ศูนย์ศึกษา CO2 และการเปลี่ยนแปลงโลก (Center for the Study of Carbon Dioxide and Global Change) ระบุว่า อากาศที่ร้อนขึ้น และปริมาณ CO2 ที่มากขึ้น จะส่งผลกระทบในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ ทั้งในมิติเรื่องโรคติดต่อ โรคทางเดินหายใจ การผลิตทางการเกษตร เป็นต้น

อย่างกรณีที่ WHO อ้างว่า โลกที่ร้อนขึ้น จะทำให้มีอัตราของการเกิดโรค การติดเชื้อ และการตายที่สูงขึ้น โดยประมาณว่าจะมีผู้เสียชีวิต 150,000 คน ซึ่งเป็นผลมาจากโลกร้อนขึ้น ข้ออ้างนี้ก็เป็นข้ออ้างที่นักอุตุนิยมวิทยา เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะ

1) การขึ้นลงของอุณหภูมิของแต่ละท้องถิ่น ไม่ได้แกว่งตามอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และ

2) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทุกคนรู้ดีว่า ความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ คือ อุณหภูมิที่หนาวเย็นต่างหาก ไม่ใช่อุณหภูมิที่อุ่นขึ้น ลำพังแค่ในรัสเซีย และยุโรป ช่วงฤดูหนาวไม่กี่เดือน ก็มีคนตายจากอุณหภูมิที่ต่ำลง เฉลี่ยนับ 100,000 คนทุกๆ ปี

นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาในประเทศอังกฤษ (8) ที่คำนวณให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทุก 2 องศาเซลเซียส ตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้มี ผู้เสียชีวิตที่สัมพันธ์กับความร้อน ประมาณ 2,000 คน แต่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิต จากความหนาวเย็นได้มากถึง 20,000 คน หรืออาจกล่าวได้ว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะเดียวกันยังมีงานศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่ชี้ว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทุก 2.5 องศาเซลเซียส ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงปีละ 40,000 คน ซึ่งลดรายจ่ายด้านสุขภาพไปปีละ 20 พันล้านเหรียญต่อปี (9)

และตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศในแถบตะวันตกโดยส่วนใหญ่ มีอัตราการตายจากความร้อนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยข้อเท็จจริงก็คือ มีการปรับตัวทางด้านเทคโนโลยีเพื่อลดความเครียดจากสภาพอากาศที่เลวร้าย ซึ่งเร่งให้เกิดมาตรการการป้องกันการเสียชีวิตจากความร้อนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศพัฒนาแล้ว

หรือกรณีพายุเฮอร์ริเคน Katrina ซึ่ง Gore ระบุชัดว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนนั้น Dr. Christopher Landsea (10) ผู้เชี่ยวชาญด้านเฮอร์ริเคนที่ลาออก (ดูเหตุผลการลาออกข้างหน้า) จากการเป็นคณะทำงานจัดทำรายงานฉบับที่ 4 ของ IPCC กล่าวว่า "…ทฤษฎีโลกร้อน และโมเดลคณิตศาสตร์บอกเราแค่ว่า เฮอร์ริเคนอย่าง Katrina และ Rita นั้น อาจจะรุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากโลกร้อน แต่อาจจะแค่ 1-2 ไมล์ต่อชั่วโมงเท่านั้น" (11)

อีกอย่างเท่าที่ทฤษฎีบอกไว้ ความหนาแน่นและกำลังของพายุ อาจพิจารณาได้จากความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างแถบศูนย์สูตร (equator) กับ ขั้วโลก (poles) ในสถานการณ์โลกร้อนนั้น อุณหภูมิบริเวณศูนย์สูตรจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ขณะที่อุณหภูมิที่ขั้วโลกแถว Artic จะเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นราว 4-5 องศาเซลเซียส นั่นย่อมหมายถึง ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างศูนย์สูตร (equator) กับ ขั้วโลก (poles) จะมีน้อยลง พลังที่จะก่อให้เกิดพายุ ย่อมน้อยลงไปด้วยนั่นเอง

ชาวโลกร้อน : ฟังดูก็น่าสนใจ แต่ผมคิดว่าคงต้องหาข้อมูลที่มากกว่านี้มายืนยัน ทีนี้แล้วเรื่อง CO2 ล่ะ มันเป็นมลพิษของโลกเราไม่ใช่หรือ? ที่สำคัญ พวกเราเชื่อว่ามันคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ไม่เชื่อ คุณก็ดูกราฟความสัมพันธ์ระหว่าง CO2 กับอุณหภูมิโลกเฉลี่ยของ IPCC ซิ ว่ามันสัมพันธ์กันขนาดไหน (ภาพประกอบ)

วีรบูรณ์ : ก่อนจะไปถกกันเรื่อง CO2 เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องพูดถึง ผมขอพูดถึง IPCC สักเล็กน้อย อย่างน้อยเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือการทำงานของ IPCC ที่มีความไม่ชอบมาพากลหลายต่อหลายอย่าง จนทำให้ขาดความน่าไว้วางใจในข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็นั่นแหละ ข้อมูลเหล่านี้คือข้อมูลที่ Gore ใช้ในหนังสารคดีและในหนังสือของเขา และที่สำคัญ ยังเป็นข้อมูลที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านเรา ชอบอ้างอิงถึงอยู่บ่อยๆ ด้วย

The Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) จัดตั้งเมื่อปี 1988 โดยความร่วมมือของ องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

IPCC ทำรายงานมาแล้ว 4 ครั้ง. ครั้งแรก ปี 1990 (และมีฉบับเสริมในปี 1992) ครั้งที่สอง ปี 1995. ครั้งที่สามปี 2001. ครั้งล่าสุดเพิ่งออกมาเมื่อกุมภาพันธ์ ต้นปี 2007 นี้เอง และทุกครั้งก็มีการวิจารณ์เรื่องความน่าเชื่อถือด้วยทุกครั้ง (12)

รายงานฉบับแรกของ IPCC (IPCC FAR) มีปัญหาเกี่ยวกับความแตกแยก ด้านความเห็นภายในองค์กร IPCC เอง, ทำให้ SEPP ซึ่งเป็น NGO ในสาขาอุตุฯ รวมทั้งฝ่ายที่คัดค้านทฤษฎี ได้ทำการสำรวจความเห็นนักวิทยาศาสตร์ใน IPCC ที่เกี่ยวข้องเป็นรายบุคคล ได้ผลสำรวจพ้องกันว่า นักวิทยาศาสตร์ภายใน IPCC เอง มีผู้ที่เห็นด้วยกับรายงาน 60% และไม่เห็นด้วย 40%

สิ่งที่ไม่เห็นด้วยมากที่สุดคือ แบบจำลองบรรยากาศที่ใช้พยากรณ์ผลกระทบ โดยส่วนใหญ่เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลที่ใช้ IPCC แก้ปัญหาภาพของความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใน IPCC จึงมีนโยบายให้ตัดข้อความ หรือลดทอนน้ำหนักของเรื่องราวที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้เนื้อหาเรื่องราวที่ควรจะมีหายไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนำกระบวนการ peer review มาใช้. Peer review คือ ก่อนที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะ จะมีการตรวจสอบว่าบทสรุปเป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีการคัดเลือก ตัดทอน หรือแม้แต่เรียบเรียงบทสรุปขึ้นใหม่

รายงานฉบับที่ 2 ของ IPCC (IPCC SAR) แบ่งแยกการทำงานเป็นสาม Working Group (WG I, II, III) รายงานของแต่ละกลุ่มจะมี Summary of Policymakers (SfP) หรือบทสรุปของผู้ทำนโยบาย ทำการสรุปและนำเสนอต่อผู้แทนประเทศต่างๆ. รายงานฉบับที่สองนี้มีความเห็นที่เป็นเอกภาพภายในองค์กรมากขึ้น แต่กลับมีปัญหาเรื่องการฉ้อฉล โดยมีบางคนออกมาร้องต่อสาธารณะว่า รายงานที่ร่างขึ้นไป ถูกดัดแปลงโดย Policymakers จนเนื้อหาเปลี่ยนไป

หลังการประเมินครั้งที่สอง IPCC มีปฏิบัติการอย่างหนึ่ง คือจัดการประชุม Leipzig declaration (Nov-1995) เพื่อประกาศ "ความเป็นเอกภาพ" ทางความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ต่อปัญหาโลกร้อน แต่กลับโดนฝ่ายค้านเล่นงานเรื่องความฉ้อฉลของรายงาน ท่ามกลางงาน และก่อให้เกิดการตอบโต้โดยฝ่ายค้านรวมกลุ่มกัน เพื่อประกาศให้โลกรู้ถึง "ความไม่เป็นเอกภาพ" ในความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ ตามมาอีก 5 ครั้ง. โดย OISM Petition Project 1999-2001 เป็นครั้งใหญ่ที่สุด

รายงานฉบับที่ 3 ของ IPCC (IPCC TAR) ยังคงแบ่งแยกการทำงานเป็นสาม Working Group ที่มี Policy makers และปัญหาเรื่องความฉ้อฉล ในกระบวนการสรุปก็ยังคงมีอยู่. ความฉ้อฉล ของ Policymakers มีลักษณะเป็นอย่างไร ลองดูตัวอย่างบางส่วนที่ Prof. Richard Lindzen นักฟิสิกส์แห่ง MIT ซึ่งเป็น Lead Author หรือคนเขียนนำของ Chapter 7 บ่นไว้

…I worked on Chapter 7, Physical Processes. This chapter dealt with the nature of the basic processes which determine the response of climate, and found numerous problems with model treatments - including those of clouds and water vapor. The chapter was summarized with the following sentence: 'Understanding of climate processes and their incorporation in climate models have improved, including water vapour, sea-ice dynamics, and ocean heat transport

"จะเห็นว่ามีความรู้สึกถึงความไม่แน่นอน เพราะยังมีปัญหาอีกมาก แต่ Policymakers เลือกที่จะสรุปด้วยถ้อยคำ ที่เมื่ออ่านแล้วชวนให้รู้สึกถึงความมั่นใจ…"

Such models cannot yet simulate all aspects of climate (e.g., they still cannot account fully for the observed trend in the surface-troposphere temperature difference since 1979) and there are particular uncertainties associated with clouds and their interaction with radiation and aerosols. Nevertheless, confidence in the ability of these models to provide useful projections of future climate has improved due to their demonstrated performance on a range of space and time-scales.

ข้อสรุปของ Policymakers ก็คงไม่ผิด เพราะความรู้พัฒนาขึ้นจากเดิมจริง แต่การสรุปลักษณะนี้ บางคนโดยเฉพาะฝ่ายค้านถือว่าเป็นการฉ้อฉล เพราะมีเจตนาทำให้ผู้อ่านเกิดมุมมองที่คลาดเคลื่อน คือมองเห็นเรื่องที่ยังไม่ทราบแน่นอน กลายเป็นข้อเท็จจริงที่มั่นใจแล้ว

อนึ่ง การประเมินครั้งที่สามนี้ IPCC ยังทำเรื่องที่ก่อความขุ่นเคือง ให้กับวงการอุตุนิยมวิทยา คือ การผลักดันผลการวิจัยสภาพอากาศในช่วง 1000 ปีที่ผ่านมา ของ Michael Mann, Raymond S. Bradley และ Malcolm K. Hughes หรือที่รู้จักในนาม "Hockey Stick". กราฟ Hockey Stick ได้มาจากวิธีวัดวงปีของไม้สน นัยยะสำคัญของ Hockey Stick คือการบอกว่า โลกไม่เคยมี Little Ice Age (LIA) และ ไม่เคยมี Medieval Maximum, โลกมีแต่ความเย็นที่ค่อนข้างคงที่ตลอดหนึ่งพันปี (ปี 1000 - 1900) และกำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี 1900 ถึงปัจจุบัน....

ซึ่งอันนี้ขัดแย้งกับรายงานฉบับที่ 1 ที่บอกว่า ในอดีตมีช่วงเวลาที่โลกร้อนกว่าปัจจุบันมาก และ การเสนองานวิจัยนี้ออกสู่สาธารณะ ยังหมายถึง ความพยายามที่จะฉีกตำรา Paleoclimatology ฉบับมาตรฐาน เพื่อหักล้างทฤษฎีวัฏจักรธารน้ำแข็ง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการชักชวนให้เห็นว่า โลกปัจจุบันร้อนกว่าในอดีตมาก และเกิดจากน้ำมือมนุษย์

เหตุที่ IPCC ต้องพยายามเบียดทฤษฎี Paleoclimatology ให้ตกไป เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในการนำเสนอเรื่องโลกร้อนจากปรากฎการณ์ภาวะเรือนกระจก เป็นข้อมูลอดีตแค่ในช่วงเวลาที่มีการวัดอุณหภูมิด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์แล้ว นั่นคือ ปลายยุค Little Ice Age (LIA) แต่เมื่อต้องเทียบกับการเปลี่ยนแปลงในอดีตที่ไกลออกไป แบบจำลองดังกล่าว กลับเข้ากันไม่ได้กับรอบการเกิดของ MWP (Medieval Warm Period) และ LIA (Little Ice Age) เมื่อเข้ากันไม่ได้ ก็ไม่สามารถอธิบายการเกิดของ MWP และ LIA ในอดีตได้นั่นเอง แต่จะทำอย่างไร เมื่อ MWP มีหลักฐานทั้งประวัติศาสตร์ และโบราณคดี รองรับหนักแน่นปานขุนเขา และเสริมด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่งมากมาย

แต่ IPCC ก็พบช่องทางหนึ่ง คือการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่ผ่านมา จะโฟกัสบนพื้นที่ที่ถือว่า sensitive ต่อการเปลี่ยนอุณหภูมิ คือเขตรอบๆ อาร์คติก เช่น ยุโรป, กรีนแลนด์, ไอซแลนด์, และคานาดา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยถูกผืนน้ำแข็งปกคลุมในช่วง Ice Age การที่อุณหภูมิของโลกเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย จะทำให้ภูมิอากาศของพื้นที่เหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้อย่างใหญ่หลวง จึงเหมาะที่จะใช้เป็นสถานที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก

IPCC จึงทำการวิจัยอุณหภูมิในอดีตใหม่ โดยสำรวจคลุมพื้นที่กว้างทั้งโลก การใช้ข้อมูลที่หลากหลายครอบคลุมทั้งโลกเป็นเรื่องที่ฟังดูมีเหตุผลดี แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ควรจะทำ เพราะยิ่งออกห่างจากขั้วโลกเท่าไร อิทธิพลของความหนาวก็ยิ่งเห็นได้น้อยลง และมีอิทธิพลอย่างอื่นมาเกี่ยวข้องมากขึ้น ตัวแปรมีมากขึ้น ข้อมูลก็ยิ่งมีความคลาดเคลื่อนสูง และมีการกระจายมากขึ้น

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะความคลาดเคลื่อนสูงๆ คือสิ่งที่ IPCC ต้องการ พอเอาข้อมูลจากพื้นที่ที่ไม่อ่อนไหว และจากสิ่งที่ไม่ค่อยจะอ่อนไหวต่อความหนาว มาใช้ร่วมในการวิเคราะห์อุณหภูมิในอดีต กราฟผลรวมก็เริ่มกระจายเป็นแถบกว้าง พอลากเส้นค่าเฉลี่ยผ่านแถบกราฟที่กระจายตัว ก็จะได้ค่าเฉลี่ยของอดีตที่ค่อนข้างราบเรียบ เท่านี้ก็ได้หลักฐานใหม่ว่า ในอดีตโลกมีแต่ความเย็นที่ค่อนข้างคงที่

โครงการยกร่างประวัติศาสตร์ภูมิอากาศโลกฉบับใหม่ เสร็จในปี 1998-1999 จากนั้นก็เริ่มทำการประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะว่า MWP กับ LIA เป็นความเข้าใจในอดีตที่ผิดพลาด เพราะจากการประเมินครั้งใหม่ของ IPCC โดยการสำรวจที่ครอบคลุมทั่วโลก ไม่พบช่วงเวลาที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ (ภาพประกอบ)

ส่วนร่องรอยของ MWP และ LIA ที่มีอยู่ทั่วไปในยุโรปและอเมริกาเหนือ ก็สรุปว่าเป็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงเฉพาะพื้นที่ ที่เกิดขึ้นในบริเวณรอบเขตอาร์คติก ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เท่านี้ก็ได้เหตุผล ที่ไม่ต้องไปลบล้างคัดค้านกับหลักฐานเก่าแก่ อันแน่นหนา

การที่จะทำให้ ได้กราฟที่ราบเรียบเป็น Hockey Stick ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่าง ที่ต้องตัดต้องแต่งให้เข้าที่ ซึ่งเมื่อถูกตรวจสอบ ก็พบให้มีจุดที่โจมตีหลายจุด อีกทั้งข้อมูลในการสร้าง Hockey Stick ให้น้ำหนักความสำคัญกับข้อมูลของต้น Bristlecones Pine สูงเป็นพิเศษ จนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยวิจารณ์ว่าไม้ Hockey ด้ามนี้ สร้างขึ้นจากไม้สน Bristlecones และ ยังพบว่าแค่ตัดข้อมูลของต้น Bristlecones หรือ CO2 fertilization effect ออก ก็ทำให้เห็นแนวของ MWP กับ LIA ปรากฏขึ้นในกราฟได้รางๆ (13)

ส่วนรายงานฉบับที่ 4 ของ IPCC (IPCC AR4) ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อต้นปี 2007 นั้น ปรากฏว่าเมื่อเดือน มกราคม 2005 Dr. Christopher Landsea (1) ได้ลาออกจากคณะผู้จัดทำรายงาน เนื่องจากมีความขัดแย้งในข้อมูลหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่าง โลกร้อนกับพายุเฮอร์ริเคน ซึ่ง Dr. Landsea เชื่อว่า มีผลเพียง 1-2% เท่านั้น และ เขายังตั้งคำถามอย่างเข้มข้นต่อความถูกต้องของฐานข้อมูลการเกิดเฮอร์ริเคนในอดีต เปรียบเทียบกับข้อสังเกตปัจจุบัน อีกทั้งเขายังพบว่า การสรุปความสัมพันธ์ระหว่างโลกร้อนกับเรื่องเฮอร์ริเคนนั้น เหมือนมีธงไว้แล้วในใจ และความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้รายงานฉบับที่ 4 ไม่มีการระบุถึงจำนวนที่แน่ชัดของเฮอร์ริเคนที่มีมากขึ้น เพื่อลดความขัดแย้งกับ Dr. Landsea

ขณะที่ Stephen McIntyre (2) ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ทบทวนรายงานฉบับที่ 4 พบว่า ข้อมูลที่ใช้ในรายงานเป็นข้อมูลที่ไม่มีการเปิดเผย เมื่อเขาพยายามที่จะขอข้อมูลดังกล่าวมาตรวจสอบ กลับถูก IPCC ข่มขู่ว่าจะถอดเขาออกจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญของ IPCC

ด้วยเหตุผลที่ยกมานี้ ข้อวิจารณ์เกี่ยวกับ IPCC ยังทำให้คุณเชื่อถือในข้อมูลของเขาเกี่ยวกับ โลกร้อน อีกหรือเปล่าครับ

++++++++++++++++++++++++++++++++++

คำอธิบายเพิ่มเติม Paleoclimatology

Paleoclimatology คือ ความรู้เกี่ยวกับกาลอากาศในยุคโบราณ
โลกกำลังอยู่ในมหายุคน้ำแข็งครั้งที่สี่ เรียกว่า Pleistocene Ice Age แต่ระหว่างมหายุคน้ำแข็ง โลกไม่ได้หนาวเย็นต่อเนื่องตลอดเวลา มีช่วงเวลาที่หนาวเย็น และอบอุ่น เปลี่ยนแปลงสลับหลายต่อหลายครั้ง ช่วงที่ธารน้ำแข็งก่อตัวกว้างขวาง เรียกว่า glacial period ช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็งเรียกว่า interglacial period

สี่ล้านปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งแผ่ขยายและถดถอยสลับกันมากกว่ายี่สิบครั้ง ช่วงที่ธารน้ำแข็งขยายตัวปกคลุมโลก มักจะยาวนานเป็นหลักแสนปี แต่ช่วงอบอุ่นระหว่างธารน้ำแข็งมักจะสั้น เป็นหลักหมื่นปีเท่านั้น

การขยายตัวของธารน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเรียกว่ายุคน้ำแข็ง Wisconsin ประมาณ 16,000 ปีที่แล้ว โลกค่อยๆ อุ่นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธารน้ำแข็งค่อยๆ ถดถอยอย่างช้าๆ จนกระทั่งถึง 11,000 ปีก่อนปัจจุบัน เป็นช่วงเวลารอยต่อ ระหว่างยุคน้ำแข็ง กับยุคที่โลกอบอุ่นที่เรียกว่า Younger-Dryas โลกอุ่นขึ้นอย่างฉับพลัน ละลายธารน้ำแข็งนอกเขตขั้วโลก จนหมดไปอย่างรวดเร็ว
แต่แล้วก็โลกพลิกกลับหนาวลงอย่างรวดเร็ว จนเกือบกลับเข้ายุคน้ำแข็งเป็นช่วงสั้นๆ จากนั้นก็กลับอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง จนกลับมาอุ่นเท่ากับตอนเริ่มต้น เมื่อประมาณ 9,500 ปีก่อนปัจจุบัน

หลังจากสิ้นสุด Younger-Dryas โลกก็เข้าสู่ยุคที่อากาศอบอุ่น Interglacial Period ระหว่าง 8,000-5,000 ปีก่อนปัจจุบัน เป็นยุคสมัยที่โลกอบอุ่นกว่าปัจจุบัน เรียกกันว่า Holocene Optimum โดยมีช่วงที่อุ่นที่สุด เรียกว่า Holocene Maximum ประมาณระหว่าง 5,500-7,000 ปี ก่อนปัจจุบัน

ช่วง Holocene Maximum อากาศค่อนข้างอุ่นจัดกว่าปัจจุบันมาก เขต Tropical ที่ขนาบเส้นศูนย์สูตร ขยายตัวกว้างขวาง ลุ่มน้ำสินธุและเมโสโปเตเมียยุคนั้น ได้รับอิทธิพลลมมรสุมมากกว่าในปัจจุบัน มีความชุ่มชื้นมากพอ ช่วยให้อารยะธรรมมนุษย์ก่อนยุคชลประทานก่อกำเนิดในอัฟริกา. เขต tropical ขยายตัวเบียดทะเลทรายซาฮารา ให้ถอยร่นขึ้นไปทางเหนือ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ที่มี จระเข้ และฮิปโปโปเตมัส อาศัยกระจายอยู่ทั่วซาฮาราตอนใต้ ปัจจุบันกระดูกของสัตว์เหล่านั้นยังคงปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ใต้ตะกอนทราย ภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ตามผนังถ้ำที่อยู่กลางทะเลทรายซาฮาร่าในปัจจุบัน เต็มไปด้วยรูปสัตว์ที่ในปัจจุบันอยู่ห่างลงไปทางใต้หลายร้อยกิโลเมตร

ตั้งแต่ยุคหินจนถึงยุคสำริด มนุษย์ได้รับประโยชน์จากความอบอุ่นของ Holocene Optimum ช่วยให้เผ่าพันธุ์มนุษย์กระจายไปทั่วโลก พอถึงประมาณ 5,000 ปีที่แล้ว ถูมิอากาศของโลกก็เริ่มเย็นลง เกิดเป็นช่วงที่อบอุ่นบ้าง เย็นบ้าง หนาวบ้าง สลับกันหลายครั้ง แต่ละช่วงจะกินเวลาหลายร้อยปี เรียกว่า Late Holocene Neoglacial Fluctuation

อารยะธรรมของมนุษย์ที่ได้รับความอบอุ่นที่ยาวนาน ตลอดยุคหินจนถึงต้นยุคสำริด เริ่มพบกับความหนาวเป็นครั้งแรกในปลายยุคสำริด ต่อเนื่องจนถึงยุคเหล็ก จนกระทั่งถึงต้นยุคโรมัน โลกก็ยังค่อนข้างเย็น เรียกว่า Roman Cool Period พอถึงปลายยุคโรมัน โลกจึงกลับมาอุ่นขึ้นอีก เรียกว่า Roman Warm period. ช่วงต้นยุคคริสตกาล โลกกลับเย็นลง เรียกว่า Dark Age Cool Period พอถึงกลางคริสต์กาล โลกก็กลับมาอุ่นอีกครั้ง เรียกว่า Medieval Warm Period

ช่วงอบอุ่นที่สุดของ Medieval Warm Period (MWP) ตรงกับศตวรรษที่ 9-11 เป็นช่วงเวลาที่มีการจดบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ทางภูมิศาสตร์ ค่อนข้างแพร่หลาย ความอบอุ่นช่วยให้การเพาะปลูกในยุโรปอุดมสมบูรณ์ ทำให้ประชากรยุโรปเพิ่มขึ้น โลกอุ่นถึงขั้นที่ฟยอร์คตอนใต้สุดของเกาะกรีนแลนด์ ในฤดูร้อนปลอดจากน้ำแข็ง เกิดมีทุ่งหญ้า มีชาวไวกิ้งเข้าไปตั้งหมู่บ้าน เลี้ยงแพะ แกะ วัว ที่ตอนใต้สุดของเกาะ, ส่วนเกาะไอซ์แลนด์ที่อยู่ถัดไป อบอุ่นพอที่จะปลูกธัญพืช เช่นข้าวสาลีได้ หลักฐานการเก็บภาษีเก่าแก่บอกว่าอังกฤษมีไร่องุ่นและผลิตไวน์เป็นจำนวนมาก หลักฐานทางเอเชียก็บอกถึงการปลูกส้มในภาคเหนือของจีน

ในช่วงที่โลกอุ่นนั้น ธารน้ำแข็งถดถอย น้ำแข็งที่ละลายอาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ช่วงนี้ตรงกับสมัยทวาราวดีปลายๆ ถ้าใครเคยเห็นแผนที่ทางโบราณคดีของยุคนั้น จะเห็นแนวชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยโบราณ กินแดนลึกเข้ามาถึงจังหวัดชัยนาท

พอผ่านพ้นศตวรรษที่ 12 โลกก็กลับเย็นลงอย่างต่อเนื่อง และทำท่าจะกลับเข้ายุคน้ำแข็งอีกครั้ง โดยตำราส่วนใหญ่จะนับระหว่างปี 1450-1850 นักอุตุฯเรียกว่าช่วงเวลาที่หนาวเย็นผิดปกติราวสี่ร้อยปีนี้ว่า Little Ice Age (LIA) ธารน้ำแข็งตามที่ต่างๆ เริ่มขยายตัวมากขึ้นอีกครั้ง ความหนาวขับไล่ไวกิ้งให้อพยพออกไปจากเกาะกรีนแลนด์ ไร่องุ่นหายไปจากเกาะอังกฤษ ไร่ส้มหายไปจากภาคเหนือของจีน

ช่วงที่หนาวที่สุดของ LIA เรียกว่า Maunder Minimum ระหว่างปี 1645-1715 การเกษตรในยุโรปได้รับความเสียหาย เพราะอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติ ทำให้ประชากรในยุโรปค่อยๆ ลดลง บันทึกของอังกฤษบอกว่าช่วงหลายปีนั้นอากาศหนาวจัด จนแม่น้ำเทมส์เป็นน้ำแข็งทุกปี ความหนาวเกือบจะทำลายเกาะไอซแลนด์ลงด้วยเช่นกัน การเกษตรล้มเหลว เหลือแต่ทุ่งหญ้าเลี้ยงแกะ ประชากรลดลงครึ่งหนึ่ง บันทึกของทางไอซ์แลนด์บอกว่าในช่วงนั้นทะเลรอบเกาะจะกลายเป็นแพน้ำแข็ง ไม่สามารถเดินเรือเข้าออกจากเกาะได้ เหลือเพียงชายฝั่งตอนใต้เพียงทางเดียว ซึ่งต่างจากปัจจุบัน ที่ทะเลน้ำแข็งจะอยู่แค่นอกชายฝั่งด้านเหนือเท่านั้น

หลักฐานประวัติศาสตร์ บอกว่าธารน้ำแข็งตามภูเขาสูงแถบเทือกเขาแอล์ป รวมทั้งสแกนดิเนเวียขยายตัว คืบคลานเข้าทับหมู่บ้านในหุบเขาไปนับร้อยแห่ง มีบันทึกของวาติกันถึงคำขอร้องจากชาวบ้านที่ถูกธารน้ำแข็งคุกคาม มีการส่งบิชอบแห่งฟลอเรนส์ ไปทำพิธี (Exorcist) ขับไล่ธารน้ำแข็ง

ธารน้ำแข็งที่ก่อตัวมากขึ้นอาจจะทำให้ระดับน้ำทะเลลดลง พื้นดินบริเวณที่ลุ่มของภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพโผล่พ้นน้ำในช่วงนี้ การที่ปัจจุบันเมืองท่าโบราณในสมัยทวาราวดีอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน และอยู่ในทำเลที่ตั้งที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบันประมาณ 5 เมตร เป็นข้อที่น่าพิจารณาว่าระดับน้ำทะเลอาจจะลดลง ไม่ใช่ทะเลตื้นเขินจนเป็นแผ่นดิน

โชคดีที่พอถึงปี 1850 โลกก็ผันกลับสู่ความอบอุ่นอีกครั้ง ในช่วงแรกโลกค่อยๆอุ่นขึ้นในอัตรา ศตวรรษละ 1 องศา จนอุ่นที่สุดในกลางทศวรรษ 1940s แล้วก็มีทีท่าจะกลับเย็นลงอย่างช้าๆ แต่พอถึงช่วงใกล้เปลี่ยนศตวรรษ โลกก็กลับอุ่นขึ้นอีกครั้ง อย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ เป็นเหตุให้คนทั้งโลกพากันวิตกถึงภาวะโลกร้อน

แต่โชคไม่ดี ที่เทอร์โมมิเตอร์และการวัดอุณหภูมิอากาศ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วง LIA ดังนั้นถ้าไปค้นบันทึกของอุณหภูมิอากาศในอดีต ก็จะเห็นแต่ความหนาวเย็น คนที่ไม่รู้เรื่องของกาลอากาศในยุคโบราณอาจจะคิดว่าโลกมีความหนาวเป็นเรื่องปกติ ความอบอุ่นที่ถูกบันทึกไว้ด้วยเรื่องราวในประวัติศาสตร์ และร่องรอยในชั้นดินจึงกลายเป็นนิทานปรัมปรา

เรื่องราวของ Holocene maximum, Medieval Maximum, Little Ice Age เหล่านี้ เป็นความรู้อย่างสามัญของ Paleoclimatology ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพียงแต่เรื่องของภูมิอากาศในยุคโบราณ ไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปจะสนใจ .

หมายเหตุ : เรื่องข้างต้นนี้ เขียนโดยผู้ที่ใช้นามว่า "กาลามะชน" เขียนล่าไว้ใน pantip.com เมื่อปลายปี 2548 http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/X3721530/X3721530.html

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) หมายเหตุ บทความนี้ มีเป้าหมายเพื่อกระตุกความคิดความเชื่อเรื่องโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย เชื่อไปในทางเดียวกันทั้งหมดว่า โลกร้อน เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ที่ปล่อย CO2 ออกมามาก จนเป็นตัวกักความร้อนให้อบโลกอยู่ในขณะนี้ ขณะเดียวกันสังคมในต่างแดน ประเด็นโลกร้อนยังเป็นที่ถกเถียงถึงหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์อีกมาก ซึ่งผู้เขียนต้องการเห็นสังคมไทย เชื่อ โดยได้พูดคุย ถกเถียงถึงข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มากพอด้วยเช่นกัน ...

ความดีที่พอมีในบทความนี้ ขอมอบให้คุณกาลามะชน แห่ง pantip.com ห้องหว้ากอ ที่เปิดประเด็นนี้ และให้ข้อมูลอีกด้านมาตั้งแต่ปลายปี 2548 ซึ่งผมได้คัดลอกมาใช้ในบทความชิ้นนี้ด้วย ส่วนความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นกับข้อมูล ย่อมเป็นความรับผิดของผมแต่เพียงผู้เดียว

(2) หากคุณดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ขอให้ดูภาพยนตร์อีกเรื่อง ชื่อ The Great Global Warming Swindle http://en.wikipedia.org/wiki/The_Great_Global_Warming_Swindle

(3) d/l งานชิ้นนี้ของ David Pimental ได้ที่ http://hubbert.mines.edu/news/Pimentel_98-2.pdf

(4) http://www.llnl.gov/pao/news/news_releases/2006/NR-06-12-02.html และ ใน หนังสือพิมพ์ The Nation วันที่ 11 เมษายน 2007 หน้า 7A

(5) ท่านที่สนใจ โปรดดู Dennis T. Avery and S. Fred Singer (2007) unstoppable global warming : Every 1,500 year. http://www.amazon.com/exec/obidos/tg/detail/-/0742551172/ref=ord_cart_shr/002-2236649-6230433?%5Fencoding=UTF8&m=ATVPDKIKX0DER&v=glance

(6) ท่านที่สนใจบทความที่ Dr. Benny เขียนถึง โปรดดู http://www.staff.livjm.ac.uk/spsbpeis/NationalPost.htm และ

(7) ท่านที่สนใจสามารถ d/l มาอ่านได้ http://www.co2science.org/scripts/Template/0_CO2ScienceB2C/pdf/health2pps.pdf

(8) W Keatinge and G C Donaldson (2004) The Impact of Global Warming on Health and Mortality, Southern Medical Journal, Volume 97, Number 11, November 2004

(9) Health and Amenity Effects of Global Warming, IDEAS, 1996 http://ideas.repec.org/p/wpa/wuwpot/9604001.html

(10) ดูเรื่องราวของ Dr. Christopher Landsea ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเฮอร์ริเคน ที่รัฐบาลมอบความไว้เนื้อเชื่อใจมากกว่านักวิทยาศาสตร์คนใดๆ ให้แถลงผลเรื่องเฮอร์ริเคน Katrina http://en.wikipedia.org/wiki/Chris_Landsea#_note-4

(11) http://www.pbs.org/newshour/bb/weather/july-dec05/science_10-18.html

(12) ท่านที่สนใจ การวิพากษ์วิจารณ์รายงานของ IPCC ในแต่ละครั้ง โปรดดู http://en.wikipedia.org/wiki/IPCC และบทวิจารณ์ IPCC ส่วนใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในบทความนี้ เป็นของคุณกาลามะชน ใน http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/X3721530/X3721530.html

(13) ท่านที่สนใจ โปรดอ่าน McIntyre, Stephen & Ross McKitrick (2005) "Hockey sticks, principal components, and spurious significance", Geophysical Research Letters 32, DOI:10.1029/2004GL021750 หรือ ที่ http://www.climate2003.com/pdfs/2004GL012750.pdf และเรื่อง Myth vs. Fact Regarding the "Hockey Stick" ที่ http://www.realclimate.org/index.php?p=11

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สนใจคลิกไปอ่านบทความเรื่องเดียวกันนี้ตอนที่ ๒


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาในประเทศอังกฤษ ที่คำนวณให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทุก 2 องศาเซลเซียส ตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้มี ผู้เสียชีวิตที่สัมพันธ์กับความร้อน ประมาณ 2,000 คน แต่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิต จากความหนาวเย็นได้มากถึง 20,000 คน หรืออาจกล่าวได้ว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะเดียวกันยังมีงานศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่ชี้ว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทุก 2.5 องศาเซลเซียส ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงปีละ 40,000 คน ซึ่งลดรายจ่ายด้านสุขภาพไปปีละ 20 พันล้านเหรียญ

19-04-2550

Global Warming
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.
ภาวะโลกร้อน มายาคติร่วมสมัยที่เชื่อตามๆ กันมานาน