โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 10 April 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๐๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 10,04,.2007)
R

สุดสัปดาห์วิชาการครั้งที่ ๖ ที่สมาคมสถาปนิกสยาม
จากสำนึกของสถาปนิก ถึงธาตุแท้ระบบทุนนิยม
ปกป้อง จันวิทย์ : บรรยาย

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทบรรยายวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้บรรยาย
ในรายการสุดสัปดาห์วิชาการครั้งที่ ๖ เสาร์ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐
ที่สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
เป็นรายการเสวนาสองโต๊ะกลมเชิงทฤษฎีวิพากย์ สถาปัตยกรรมและการข้ามศาสตร์ เรื่อง เสีย-ฟอร์ม-ไทย
สำหรับบทบรรยายนี้เป็น โต๊ะกลมรอบบ่าย: บรรยายในหัวข้อ
พื้นที่รอยต่อของกระบวนการผลิตและการขาย สภาวะการสร้างสถาปนิกไทยมืออาชีพ
จากความพร่องของระบบการศึกษาอย่างไทย

ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย ปกป้อง จันวิทย์ (เศรษฐศาสตร์ มธ.), ดร.อภิรดี เกษมศุข (สถ.ศิลปากร), ดร.สิงห์ อินทรชูโต (สถ.เกษตร)
ดร.ม.ล.ปิยลดา ทวีปรังษีพร (สถ.จุฬา), กิจโชติ นันทนสิริวิกรม (สถ.เกษตร) ดำเนินรายการโดย ดร.รชพร ชูช่วย

เฉพาะบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นบทบรรยายตามเอกสารของ อ.ปกป้อง จันวิทย์
ซึ่งได้พูดถึงเรื่องของสำนึกสถาปนิก วงการสถาปัตย์ภายใต้ระบบทุนนิยม
และได้วิเคราะห์ถึงลักษณะ ๗ ประการของระบบทุนนิยม
บทบรรยายสมบูรณ์ความยาวประมาณ ๒๐ หน้ากระดาษ A4
ซึ่งทางกองบรรณาธิการ ได้นำมาจัดหมวดหมู่ใหม่ เพื่อสะดวกกับการจับประเด็น และเน้นความสำคัญ
โดยได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอนต่อเนื่องคือ บทความลำดับที่
๑๒๐๗. จากสำนึกของสถาปนิก ถึงธาตุแท้ระบบทุนนิยม
๑๒๐๗. จากสำนึกของสถาปนิก ถึงธาตุแท้ระบบการศึกษา McUniversity

(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๐๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

Cameron Sinclair

เสวนา "พื้นที่รอยต่อของกระบวนการผลิตและการขาย
สภาวะการสร้างสถาปนิกไทยมืออาชีพจากความพร่องของระบบการศึกษาอย่างไทย"
ปกป้อง จันวิทย์ : คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โครงการ ASA สุดสัปดาห์วิชาการ ครั้งที่ ๖ วันเสาร์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๐ ณ สมาคมสถาปนิกสยาม
.....................................................................................................................................................

1.
สวัสดีครับท่านผู้ร่วมเสวนาทุกท่าน
ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบพระคุณสมาคมสถาปนิกสยาม โดยเฉพาะอาจารย์รชพร ชูช่วย และอาจารย์ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ ที่กรุณาให้เกียรติเชิญผม ซึ่งใช้ชีวิตการเรียนและการทำงาน อยู่นอกวงการสถาปนิกอย่างสิ้นเชิง มาร่วมเสวนาชื่อยาวและยากที่สุดในชีวิต ครั้งนี้

ผมเองไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับแวดวงวิชาการสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมถึงศาสตร์แห่งศิลปะ และสุนทรียศาสตร์ด้านอื่นๆ ไม่ใช่แค่ 'ไม่รู้' หากยัง 'ห่างเหิน' อีกด้วย อีกทั้ง ครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ผมมาพูดนอกวงโคจรของ 'โลก' นักสังคมศาสตร์ ผมจึงรู้สึกตื่นเต้นและตื่นกลัวเอาเรื่อง ต้องขออภัยในความขี้เท่อและความเขลาล่วงหน้านะครับ

ผมขอเริ่มต้นการเสวนาด้วยการเล่าเรื่องราว 2 เรื่องให้ท่านฟัง
เป็นเรื่องของคนๆ หนึ่ง และสถานที่แห่งหนึ่ง

2.
เรื่องแรกเป็นเรื่องของสถาปนิกคนหนึ่ง ซึ่งผมเพิ่งรู้จักเขาเป็นครั้งแรกผ่านงานเขียนของคุณสฤณี อาชวานันทกุล คอลัมนิสต์ เจ้าของคอลัมน์ 'คนชายขอบ' ในเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ (www.onopen.com) (บทความเรื่อง "Cameron Sinclair สถาปนิกผู้รณรงค์ 'การออกแบบเพื่อมนุษยชาติ' " โดย สฤณี อาชวานันทกุล ตีพิมพ์ในเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 (http://www.onopen.com/2007/02/1497) คำให้สัมภาษณ์ของ Sinclair ที่ปรากฏในบทนำการเสวนานี้นำมาจากบทความชิ้นนี้)

ย้อนกลับไปเมื่อแปดปีก่อน (ปี 2542) สถาปนิกหนุ่มอายุ 26 ปี ชาวอังกฤษ ได้มีโอกาสดูสารคดีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับรัฐโคโซโว ซึ่งกำลังกรุ่นด้วยไฟสงคราม ทรัพย์สมบัติบ้านเรือนของชาวบ้านถูกเผาราบเรียบเป็นหน้ากลอง ผู้คนต้องไร้บ้านกลายเป็นผู้อพยพ สิ่งที่เขารู้สึกสะเทือนใจจากสารคดีเรื่องนั้นคือ เหยื่อสงครามเหล่านั้น จะกลับ 'บ้าน' ของพวกเขาอย่างไร และ 'สถาปนิก' นักออกแบบ นักรังสรรค์ตึกรามบ้านช่องอย่างเขา จะทำอะไรได้บ้าง เพื่อ bring them home

คิดต่อมากเข้า เขาเห็นว่าปัญหาใหญ่อันหนึ่งในโลกก็คือ ผู้คนจำนวนมากในโลก ยังไม่มี 'บ้าน' ที่ดี ที่ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แย่ไปกว่านั้น ประชากรจำนวนมหาศาลยังไม่มี 'บ้าน' แม้สักหลัง

ข้อมูลของ UN ระบุว่า 1 ใน 7 ของประชากรโลกใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์อพยพหรือในสลัม คนจำนวน 3,000 ล้านคน (เกินครึ่งหนึ่งของประชากรโลก) ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี คนจำนวนมาก ต้องสูญเสีย 'บ้าน' ของตัวเอง จากภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ อย่างสึนามิ, พายุแคทรินา

โจทย์ของเขาคือ ในฐานะสถาปนิก เขาจะมีส่วนช่วยทำอะไรได้บ้าง เพื่อ 'ออกแบบ' และ 'สร้าง' โลกนี้ให้ดีขึ้น

เขาร่วมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง (Kate Stohr) เริ่มต้นใช้เงิน 700 เหรียญ ทำเว็บไซต์ 'สถาปัตยกรรมเพื่อมนุษยชาติ' - Architecture for Humanity (AFH)(www.architectureforhumanity.org) เพื่อเป็นเวทีกลางในการระดมความคิดสร้างสรรค์จากสถาปนิกทั่วโลก ผู้แชร์ 'หัวใจสาธารณะ' ดวงเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหา 'ความขาดแคลน' ด้านต่างๆ ของผู้คนบนโลก โดยเฉพาะปัจจัยสี่ อย่างที่อยู่อาศัยและบริการสุขภาพ

เว็บไซต์นี้ทำอะไร?
เขาเริ่มต้นโครงการด้วยการจัดประกวดแบบบ้านชั่วคราวของผู้ลี้ภัยในโคโซโว ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว โดยร่างหลักเกณฑ์การออกแบบ (design criteria) เพื่อประกวดการออกแบบชิ้นงานที่สามารถสร้างได้จริง สร้างได้เร็ว (สร้างประกอบพร้อมอยู่ได้ใน 24 ชั่วโมง) ต้นทุนต่ำ ใช้วัสดุราคาถูก และมีอยู่แล้วในท้องถิ่น เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพอากาศ และยืนระยะอยู่ได้ยั่งยืนพอสมควร (อยู่ได้อย่างน้อย 2 ปี)

การประกวดครั้งนี้ไม่มีรางวัล แถมยังต้องเสียค่าธรรมเนียมในการประกวดด้วย แต่กลับมีสถาปนิกจาก 30 ประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 200 ชิ้น ด้วยรูปแบบและเทคโนโลยีการก่อสร้างต่างๆ แม้ผู้ประกวดจะมีเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น

ท้ายที่สุด โครงการนี้จบลงด้วยการมีแบบบ้าน 5 แบบ ซึ่งถูกนำไปใช้สร้างจริง จากการหาเงินสนับสนุนของเขาและ AFH ซึ่งหาทุนสนับสนุนจาก NGOs และผู้บริจาค จากรายได้ในการจัดแสดงนิทรรศการผลงานประกวดในหลายประเทศ และจากค่าธรรมเนียมการประกวด เป็นต้น

เว็บไซต์ 'สถาปัตยกรรมเพื่อมนุษยชาติ' ของเขา เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้มีสมาชิก 'สถาปนิกอาสา' เกือบหนึ่งหมื่นคนทั่วโลก จากการสร้าง 'บ้าน' ให้ผู้สูญเสียจากภัยสงคราม สู่การประกวดออกแบบ 'คลินิก' เคลื่อนที่ในแอฟริกา เพื่อนำบริการสุขภาพไปถึงประตูบ้านของชาวบ้านยากจน สู่การออกแบบเทคนิคการก่อสร้างที่ทนทานต่อแผ่นดินไหวในอัฟกานิสถาน และการออกแบบ 'บ้าน' ให้ผู้ประสบภัยธรรมชาติ ในสเปน, อินเดีย, ศรีลังกา, และสหรัฐอเมริกา

เขาเคยอธิบายเป้าหมายขององค์กร 'สถาปัตยกรรมเพื่อมนุษยชาติ' ของตนเองว่ามีอยู่เพื่อ
"ส่งเสริมให้มืออาชีพด้านการออกแบบ ตอบสนองต่อความต้องการของประชากรจำนวน 98% ของโลก ที่ไม่มีปัญญาใช้ประโยชน์จากบริการของพวกเราเหล่าสถาปนิก เพราะไม่มีเงินจ้าง"

เขาคนนี้ชื่อ Cameron Sinclair

3.
เรื่องที่สอง Gordon Hall
เรื่องที่สอง ผมขอพาทุกท่านไปที่ University of Massachusetts Amherst มหาวิทยาลัยที่ผมเคยไปร่ำเรียนฝึกวิชาอยู่หลายปี ผมเคยเขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ BLOG BLOG ซึ่ง openbooks จัดพิมพ์เมื่อปลายปี 2548

สถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์การเมืองของคณะ ซึ่งผมนั่งทำงานอยู่ สร้างตึกใหม่ชื่อว่า Gordon Hall (ดูภาพประกอบท้ายบทความ)

ผมประทับใจ Gordon Hall มาก ไม่ใช่ที่ความสวย หรือความเท่ของตึกใหม่ แต่เป็น 'แผ่นทองแดง' ขนาดใหญ่แผ่นหนึ่งที่ติดอยู่บนกำแพงห้องโถงชั้นสอง ทำไมผมถึงประทับใจแผ่นทองแดงแผ่นนั้น? แผ่นเหล็กแผ่นนั้นจารึกชื่อบุคคล 'ทุกคน' ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง Gordon Hall หากนึกถึงตึกใหม่ในเมืองไทย เราคงเห็นชื่อคนบริจาคสร้างตึก ชื่อผู้อำนวยการสถาบัน หรือชื่อสถาปนิก วิศวกร จารึกอยู่บนผนังกำแพง แต่ที่นี่ไม่ใช่

แผ่นทองแดงแผ่นนั้น มีรายชื่อของ 'คนงาน' ทุกคนรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าคนงานก่อสร้าง, ช่างทาสี, ช่างไฟ, ช่างไม้, ช่างเหล็ก, รวมกับชื่อผู้บริหาร, และนักเทคนิคผู้รู้อย่างสถาปนิก, วิศวกร, อย่างเท่าเทียมกัน เรียงตามตัวอักษรของส่วนงาน เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นชื่อคนงานเหล่านั้นได้รับการจารึกชื่ออยู่คู่กันกับตึก

ในพิธีเปิดตึก ผมไปร่วมงานด้วย คนงานทุกคนก็ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดตึกด้วย ในฐานะแขกผู้มีเกียรติ ผมยังจำคำกล่าวของอาจารย์ของผม ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยได้

"ประตูของ Gordon Hall เปิดต้อนรับพวกท่านเสมอ ชื่อของพวกท่านได้ถูกจารึกไว้เป็นเกียรติคู่กับตึกแห่งนี้แล้ว ผมขอเชื้อเชิญให้พวกท่านพาครอบครัวมาชื่นชม 'ฝีมือ' ของท่านได้ทุกเมื่อ จงร่วมภูมิใจในผลผลิตอันสวยงาม ซึ่งพวกท่านมีส่วนร่วมสร้างมันด้วยมือของท่านเอง. หากไร้ซึ่งพวกท่าน ย่อมไร้ซึ่งตีกแห่งนี้ และเราจะใช้มันเป็นฐานบัญชาการเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อพวกเราทุกคน"

เคยได้ยินคำกล่าวเปิดตึกที่จับใจอย่างนี้ไหมครับ
ใครว่าใน 'สถานที่' จะไร้ซึ่ง 'จิตวิญญาณ'

4.
อาชีพของสถาปนิกรับใช้คนรวย
ทำไมผม - และเดาเอาว่า คงมีผู้คนจำนวนมากรู้สึกเหมือนผม - ถึงรู้สึกประทับใจและตื้นตันมาก เมื่อได้ยิน ได้อ่าน ได้มีส่วนร่วม ในเรื่องเล่าทั้งสองเรื่องข้างต้น

คงเพราะมัน 'เติมเต็ม' สิ่งที่ 'ขาดหาย' ไป ยามผู้คนข้างนอกมองเข้าไปในแวดวงสถาปนิก หรือนักออกแบบ. สามัญชนคนเดินถนนรู้สึก 'ห่างเหิน' กับสถาปนิก เหมือนที่รู้สึก 'ห่างเหิน' กับนักเศรษฐศาสตร์ เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันอะไรโดยตรงกับชีวิตของพวกเขา คนจำนวนมาก กระทั่ง 'บ้าน' ยังไม่มีจะอยู่ คนจำนวนมาก ด้วยระดับรายได้ของเขาคงไม่กล้าจินตนาการถึงบริการจากสถาปนิกคนเก่ง เพื่อบ้านที่สวยงาม ล้ำยุค ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า แค่ให้บ้านที่อยู่ใช้พำนักพักพิงใช้สอยได้จริง และปลอดภัย ก็ดีใจแล้ว. คนยังไม่มีจะกิน ยังมีกินไม่เพียงพอ อยู่อย่างพอเพียงก็ยังลำบาก แล้วจะแสวงหาสุนทรียะอันใดเล่า

มองจากมุมนอกอาจถูกหรือผิด ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อย มอง 'สถาปนิก' เป็นอาชีพรับใช้คนรวย รับใช้เจ้าของกิจการใหญ่ ห่างไกลชุมชนคนเล็กคนน้อยและคนด้อยโอกาส บริการจากสถาปนิกเป็น 'สินค้าฟุ่มเฟือย'

ความสำเร็จของสถาปนิก วัดกันที่การออกแบบอย่างสวยงาม, สร้างสรรค์, โฉบเฉี่ยว, โอ่อ่า, อลังการ, ความท้าทายอยู่ที่ขนาดใหญ่และสูงยาว, อยู่ที่มูลค่าการก่อสร้างใหญ่โต อยู่ที่การมีโอกาสขายบริการรับใช้เศรษฐีชื่อดัง บริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดัง

ยิ่งในสังคมที่ตัดสินคนและตัดสินคุณค่าความดีความงามด้วย 'เปลือก' อย่างสังคมไทยด้วยแล้ว ภาพลักษณ์ของสถาปนิกข้างต้นคงอยู่ในใจผู้คนจำนวนมาก ในสังคมนี้ รูปลักษณ์สวยงามอยู่เหนือประโยชน์ใช้สอย ความคุ้มค่า การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย

ในธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้าง สถาปนิกถือเป็น 'อภิชน' (Elite) ดังเช่น วิศวกร มิใช่ชน 'รากหญ้า' อย่างแรงงานก่อสร้างหรือเหล่าช่างอาชีพ ซึ่งมีฐานะทางสังคมและการศึกษาต่ำกว่า. ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม ลดทอนคุณค่าของผู้ลงแรงใช้พลังแรงงานในกระบวนการผลิต อย่างแรงงานก่อสร้างให้เหลือเพียงปัจจัยแรงงานราคาถูก ทั้งยัง 'กัน' ความรู้สึกเป็นเจ้าของ 'ผลงาน' อย่างอาคาร ตึก บ้าน ออกจากตัวพวกเขา

Gordon Hall เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ตึกมันก็มีชีวิต มีจิตวิญญาณของมัน ชีวิตชีวาไม่ได้อยู่ที่ความสวยงาม แต่อยู่ที่ 'อะไร' บางอย่างที่มากกว่าความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยมปกติ

ผู้คนทั่วไปจินตนาการไม่ออกว่า สถาปนิกจะมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการ 'ออกแบบ' และ 'สร้าง' สังคมนี้ให้ดีขึ้นอย่างไร สถาปนิกจะช่วยคนจน ช่วยสังคม ได้อย่างไร?

ที่พูดมาทั้งหมด ผมไม่ได้กล่าวโทษสถาปนิก หรือว่ากล่าวให้คนเป็นสถาปนิกกลายเป็น 'ผู้ร้าย' เหนือผู้คนในสาขาวิชาชีพอื่น สถาปนิกก็เป็นผลผลิตหนึ่งของระบบทุนนิยมที่ส่งอิทธิพลกระทบกระบวนการ ผู้คน และสถาบันต่างๆ ในสังคม. วงการสถาปนิกก็เหมือนวงการอื่นๆ ที่ 'ชีวิต' ของมัน ไม่ได้แยกขาด ลอยสูงอยู่นอกโลกเหนือสังคม หากวงการสถาปนิกก็เหมือนวงการอื่นๆ ที่ 'ชีวิต' ของมันถูกกำหนด, ได้รับอิทธิพล, ปะทะสังสรรค์, และมีปฏิกิริยากับระบบเศรษฐกิจ, ระบบการเมือง, ระบบสังคม, รวมถึงวัฒนธรรมในสังคม

ถ้าเราจะเข้าใจปรากฏการณ์ในวงการสถาปนิกให้ลึกและกว้างขึ้น คงต้องทำความเข้าใจบริบทแวดล้อมและโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง ที่วงการสถาปนิกอยู่ภายใต้มัน พูดให้ง่ายก็คือ ต้องเข้าใจ 'โลก' ที่วงการสถาปนิกใช้ชีวิตอยู่ข้างในนั้น และในเวลานี้ 'โลก' ที่ว่า ก็คือ 'โลกทุนนิยม' ซึ่งส่งอิทธิพล, ผลักดัน, กำหนด, ก่อร่าง, ค้ำยัน, ให้วงการสถาปนิกทั่วโลกเป็นมาและเป็นไป โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษหลัง

ที่ผมพูดมาตอนต้นว่า ตัวอย่างทั้งสองเรื่อง 'เติมเต็ม' สิ่งที่ 'ขาดหาย' ไป ยามผู้คนข้างนอกมองเข้าไปในแวดวงสถาปนิก ก็อาจถูกระดับหนึ่ง ถ้าจะพูดให้ลึกลงไปอีกชั้นคงต้องพูดว่า เรื่องทั้งสอง มัน 'เติมเต็ม' สิ่งที่ 'ขาดหาย' ไป จาก 'ระบบทุนนิยม' คงจะถูกกว่า

5.
วงการสถาปนิกใช้ชีวิตอยู่ข้างในและมีปฏิสัมพันธ์กับ 'โลกทุนนิยม'
กระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนสถาปัตยกรรมไทยได้รับอิทธิพลและถูกกำหนดจากระบบทุนนิยมไทย ผมขออนุญาตอธิบายเรื่องนี้สักเล็กน้อย

กระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนสถาปัตยกรรมไทย หมายถึงกระบวนการผลิตสร้างสถาปนิก (จากนักเรียนผ่านระบบการศึกษามาเป็นสถาปนิก) กระบวนการผลิตสร้างผลงานออกแบบของสถาปนิก และกระบวนการแลกเปลี่ยนผลงานของสถาปนิก (สถาปนิกสร้างผลงานสถาปัตยกรรม ซึ่งการผลิตและแลกเปลี่ยนถูกกำกับด้วยกลไกกำกับเศรษฐกิจ - Economic Governance) เหตุที่ผมไม่ใช้คำว่า 'ขาย' ตามหัวข้อเสวนา เพราะการแลกเปลี่ยนอาจไม่ได้ทำผ่านกลไกตลาด และอาจผ่านกลไกรัฐหรือกลไกชุมชน

หากใช้กรอบการวิเคราะห์ของ Karl Marx, พัฒนาการของระบบสังคมเศรษฐกิจการเมืองขึ้นอยู่กับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ Marx เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับบน (Superstructure) ของสังคม นั่นคือ เพราะเศรษฐกิจเปลี่ยน การเมือง, สังคม, กฎหมาย, ความเชื่อ, อุดมการณ์, วัฒนธรรม, จึงเปลี่ยนแปลงตามในทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ความคิดที่เชื่อว่าเศรษฐกิจเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงสังคม เรียกว่า Economic Determinism

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยน? คำตอบของ Marx ก็คือ การเปลี่ยนแปลงพลังการผลิต (Force of Production) เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี วิธีการผลิต เครื่องไม้เครื่องมือ ทักษะความสามารถของแรงงาน องค์ความรู้

พลังการผลิตที่เปลี่ยนไปทำให้ความสัมพันธ์ทางการผลิต (Social Relationship of Production) ระหว่างชนชั้นต่างๆ ในสังคมเศรษฐกิจหนึ่งๆ เปลี่ยนแปลงไป เกิดความขัดแย้งภายในระบบความสัมพันธ์แบบเก่า พลังเก่าปะทะกับพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ จนสังเคราะห์สู่ระบบความสัมพันธ์แบบใหม่

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลังการผลิตที่เปลี่ยนแปลงกับความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ 'วิถีการผลิต' (Mode of Production) ของระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป นี่เป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจหนึ่งสู่อีกระบบเศรษฐกิจหนึ่ง

เศรษฐกิจทุนนิยม เปลี่ยนคน, เปลี่ยนวัฒนธรรม, เปลี่ยนโครงสร้างการเมือง, เปลี่ยนกฎหมาย, เปลี่ยนความเชื่อของคนไปในทางที่สอดรับและอุ้มชูให้เศรษฐกิจทุนนิยมคงอยู่ และแข็งแกร่งขึ้น

ระบบเศรษฐกิจ(กระแสหลัก)ใดๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้คงอยู่ลอยๆ ตามยถากรรม แต่มีกลไกอำนาจและโครงสร้างส่วนบนคอยพยุง ปกป้อง และค้ำยัน มันอยู่ มีกลไกสร้างความชอบธรรมให้มัน มีกระบวนการเข้าครอบงำความคิดจิตใจ (Hegemonization) ของผู้คนและสถาบันในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านระบบการศึกษา ที่มุ่งผลิตคนรับใช้ระบบเศรษฐกิจกระแสหลักหนึ่งๆ

ด้วยกรอบการวิเคราะห์ของ Marx กระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนของสถาปัตยกรรมไทย ก็เป็นผลพวงของ และได้รับอิทธิพลจากระบบทุนนิยมไทย ซึ่งมีเศรษฐกิจทุนนิยมไทยเป็นพลังผลักดันเบื้องหลัง. วงการสถาปนิก ทั้งกระบวนการผลิตสร้างสถาปนิก กระบวนการผลิตสร้างผลงานออกแบบของสถาปนิก และกระบวนการแลกเปลี่ยนผลงานของสถาปนิก ย่อมมิอาจปฏิเสธอิทธิพลจากระบบทุนนิยมไทยได้

แต่อิทธิพลที่ว่ามิได้เกิดขึ้นด้านเดียว เป็น one-way ไม่ใช่ระบบทุนนิยมเป็นเหตุ วงการสถาปนิกเป็นผล แต่มันมีลักษณะเป็น Dialectic Determinism คือ เมื่อ A กำหนด B แล้ว B ก็ย้อนกลับมากำหนด A ด้วย, แต่แรงที่ A กำหนด B จะเป็นพลังหลัก และแรงกว่า แรงที่ B ย้อนกลับมากำหนด A

เช่น ระบบทุนนิยมสร้างคนให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ แต่เมื่อสังคมมีคนที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจจำนวนมาก ระบบทุนนิยมก็เข้มแข็งขึ้นไปอีก ดังนั้นด้วยวิธีคิดแบบ Dialectic ทุกสิ่งจึงเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เป็นปฏิกิริยากำหนดกันไปมา และเปลี่ยนแปลงมีพลวัตอยู่เสมอไม่หยุดนิ่ง มีความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของระบบและเกิดขึ้นภายในตัวระบบ

หากเราตั้งต้นบทวิเคราะห์ว่า วงการสถาปนิกไทยใช้ชีวิตอยู่ในโลกทุนนิยมไทย คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ 'ระบบทุนนิยม' มีลักษณะสำคัญอะไรบ้าง

ลักษณะของระบบทุนนิยม
ระบบทุนนิยม คือระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งการสะสมทุน ปัจเจกบุคคลมีความสำคัญ คนมีเสรีภาพในการเลือกและการตัดสินใจ ความสัมพันธ์ทางการผลิตหลักในระบบทุนนิยมคือความสัมพันธ์แบบขายแรงงานแลกเงิน (wage-labor relationship) นายทุนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ขณะที่แรงงานขายพลังแรงงานของตัวเองในอัตราค่าจ้างคงที่. ในกระบวนการผลิตสินค้า มีมูลค่าส่วนเกินเกิดขึ้น และตกเป็นของนายทุน, นายทุนใช้มูลค่าส่วนเกินในการสะสมทุนต่อเพื่อการผลิตรอบต่อไป

ลักษณะพื้นฐานของระบบทุนนิยมคือ
หนึ่ง. ปัจเจกบุคคลมีความเป็นสัตว์เศรษฐกิจ นั่นคือ คนถือประโยชน์ส่วนตนเป็นสรณะ มีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ และตัดสินใจเพื่อให้ตนได้สิ่งที่ดีที่สุดภายใต้ความจำกัดที่เผชิญ หากสัตว์เศรษฐกิจแต่ละคนต่างพยายามทำให้ตนเองได้ผลประโยชน์สูงสุดแล้ว สังคมส่วนรวม ซึ่งประกอบด้วยปัจเจกบุคคลบวกรวมกัน ก็ย่อมมีสวัสดิการสูงสุด ด้วย 'มือที่มองไม่เห็น' (Invisible Hand)

สอง. ระบบทุนนิยมใช้กลไกตลาด หรือกลไกราคา เป็นกลไกแห่งการประสาน (Coordinating Mechanism) ระหว่างหน่วยเศรษฐกิจ และเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากร นั่นคือเป็นกลไกในการตอบคำถามว่าจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร ผลิตแล้ว ใครจะได้ไป

เป้าหมายการผลิตของผู้ผลิตคือทำอย่างไรจึงจะได้กำไรสูงสุด ทำอย่างไรจึงสามารถลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด เป้าหมายของผู้บริโภคในระบบทุนนิยมคือบริโภคอะไร เท่าไหร่ จึงจะได้ความพอใจสูงสุด ซึ่งความพอใจที่ว่าไม่เกี่ยวกับคุณค่าหรือประโยชน์ใช้สอยของสิ่งที่ตนบริโภค

ระบบทุนนิยมจะเติบใหญ่ตามขนาดของตลาด ถ้าตลาดมีขนาดใหญ่ ย่อมสามารถดูดซับผลผลิตของผู้ผลิตได้ ผู้ผลิตก็ยิ่งมีส่วนเกินไปสะสมทุนต่อ ถ้าตลาดมีขนาดใหญ่ ผู้ผลิตก็สามารถผลิตสินค้าเหมือนๆ กันได้เป็นจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยก็ยิ่งถูก นายทุนยิ่งแสวงหาส่วนเกินได้เพิ่มมากขึ้น

Mass Production หรือการผลิตสินค้าลักษณะเหมือนกันจำนวนมาก เพื่อสนองตลาดขนาดใหญ่ จึงเป็นลักษณะเฉพาะของระบบทุนนิยม สินค้าในระบบทุนนิยมจึงมีลักษณะเหมือนกัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน ขาดเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งปัจจัยกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการผลิตแบบ Mass production อยู่ที่ขนาดของตลาด และอำนาจซื้อทั้งแท้และเทียมของผู้คนในสังคม

ขนาดของตลาดที่ใหญ่โตต้องมีความต้องการซื้อสินค้าและบริการอยู่เบื้องหลัง เราจึงเห็นกระบวนการสร้าง demand (อุปสงค์) ในระบบทุนนิยม ผ่านการโฆษณา และการสร้างรสนิยมวิไล ระบบทุนนิยมจึงเป็นระบบที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการ เล่นกับความต้องการที่ไม่จำกัดของผู้คน และสร้างสิ่งที่ไม่เคยเป็นที่ต้องการมาก่อนให้กลายเป็นที่ต้องการ เพื่อสร้างตลาดใหม่ๆ เป็นพื้นที่ในการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจและสะสมทุน

สาม. ประเด็นที่ตามมาคือ ระบบทุนนิยมมีกระบวนการทำทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้า (Commodification) ตัวอย่างเช่น 'วัฒนธรรม' กลายเป็นของซื้อของขาย เราเห็นการขายวัฒนธรรมไทยอยู่เนืองๆ ผ่านงานศิลปะและสถาปัตยกรรม เราจึงเห็นการแปลงวิถีชีวิตเป็นของขายผ่านเทศกาลท่องเที่ยวของทางการ เราจึงเห็นความขาวกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ ผ่านผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่ง เป็นต้น

สี่. ภายใต้ระบบทุนนิยม กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (หมายถึง สิทธิในการควบคุม หารายได้ และเปลี่ยนมือ) เป็นของเอกชน ระบบกรรมสิทธิ์เอกชนเป็นพื้นฐานในการสะสมความมั่งคั่ง เช่น ใครคิด คนนั้นเป็นเจ้าของ ผู้ผลิตหรือผู้คิดค้นมีอำนาจผูกขาดและอำนาจในการกีดกันในบางระดับ ไม่ให้ใครลอกเลียนแบบหรือเข้าถึง เพื่อให้สามารถสะสมส่วนเกินได้จนคุ้มกับเรี่ยวแรงที่ลงมือสร้างหรือคิดค้นนวัตกรรมหรือสินค้าใหม่ๆ

ห้า. ระบบทุนนิยมเชื่อมั่นในพลังของการแข่งขัน การแข่งขันทำให้คนต้องพัฒนาตัวเอง การแข่งขันทำให้คนต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้อยู่รอดในสังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ ผู้คิดค้นอะไรใหม่ๆ ผลิตสร้างสินค้าใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่ เป็นผู้ได้อภิมหากำไร (Superprofit)

ในระบบทุนนิยม ผู้คนโดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการแข่งขันเป็นมรรควิธีสู่สวัสดิการสูงสุดของสังคม มิใช่การร่วมมือกัน การเปิดเสรีดีที่สุด

หก. ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่อยู่บนฐานความไม่แน่นอน (Uncertainty) กระบวนการลงทุนเป็นการตัดสินใจ ณ วันนี้ เผชิญต้นทุนวันนี้ แต่ไม่รู้ผลได้ เช่น กระแสรายได้ ที่แน่นอน ต้องทำนายอนาคตถึง Expected Benefit (ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้) ในวันหน้า การลงทุนล้นเกินจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา พฤติกรรมการตัดสินใจลงทุนอยู่บนพื้นฐานการคาดเดา อย่างที่ John Maynard Keynes บอกว่า We simply do not know. เราต้องตัดสินใจทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความไม่รู้ (unknown) ภายใต้ข้อมูลหลายสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้ (unknowable) เราทำได้ดีที่สุดก็คือหา best guest เท่านั้น

ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ไม่มีความแน่นอน กฎแห่งกรรมอาจไม่ทำงานในระบบทุนนิยม เพราะคนขยันทำงานก็อาจตกงานได้ หากเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งอาจเป็นผลจากเหตุที่เราไม่ได้เป็นผู้ก่อ ความไม่มั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงาน เป็นเรื่องปกติในระบบทุนนิยม

เจ็ด. ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เป็นปุ๋ยชั้นดีของพฤติกรรมเก็งกำไร เพื่อแสวงหาโอกาสทำเงินโดยไม่ต้องลงแรงผลิต, ไม่ productive, ราคาสินค้าและทรัพย์สินในระบบทุนนิยมไม่จำเป็นต้องสะท้อนมูลค่าที่ควรจะเป็นตามปัจจัยพื้นฐาน การเก็งกำไรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและทรัพย์สินได้

พฤติกรรมการเก็งกำไรเป็นเรื่องของจิตวิทยา เป็นเรื่องการความเชื่อมั่น เป็นเรื่องของการคาดเดาอนาคต เล่นกับอารมณ์ของนักลงทุนคนอื่นๆ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ราคาสูงขึ้นเป็นสิบเปอร์เซ็นในหนึ่งวันไม่อาจอธิบายได้ด้วยปัจจัยพื้นฐาน (กำไรดี ปันผลเด่น) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ข้ามคืน แต่ราคาอาจขึ้นสูงด้วยแรงซื้อเพื่อเก็งกำไร มีคนยอมซื้อแพงเพราะคิดว่าจะขายต่อได้แพงกว่า

เศรษฐกิจฟองสบู่ หรือเศรษฐกิจที่เติบโตเกินกว่าระดับพื้นฐานที่ควรจะเป็น และราคาสินทรัพย์สูงเกินจริง จากแรงเก็งกำไร จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในเศรษฐกิจทุนนิยมทั่วโลก และสัญญาณแรกของเศรษฐกิจฟองสบู่มักเกิดขึ้นในตลาดสินทรัพย์อย่าง ตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์

ทั้ง 7 ประการข้างต้น เป็นลักษณะของระบบทุนนิยมที่ผมเลือกมานำเสนอในวันนี้ ในฐานะปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนของสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งเราคงจะได้แลกเปลี่ยนกันต่อไป โดยโยงเข้ากับตัวอย่างจริงในวงการสถาปนิกไทย

Gordon Hall : University of Massachusetts Amherst
ภาพประกอบบทความ นำมาจาก http://www.umass.edu/legal/major.htm

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ย้อนกลับไปเมื่อแปดปีก่อน (ปี 2542) สถาปนิกหนุ่มอายุ 26 ปี ชาวอังกฤษ ได้มีโอกาสดูสารคดีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับรัฐโคโซโว ซึ่งกำลังกรุ่นด้วยไฟสงคราม ทรัพย์สมบัติบ้านเรือนของชาวบ้านถูกเผาราบเรียบเป็นหน้ากลอง ผู้คนต้องไร้บ้านกลายเป็นผู้อพยพ สิ่งที่เขารู้สึกสะเทือนใจจากสารคดีเรื่องนั้นคือ เหยื่อสงครามเหล่านั้นจะกลับ 'บ้าน' ของพวกเขาอย่างไร และ 'สถาปนิก' นักออกแบบ นักรังสรรค์ตึกรามบ้านช่องอย่างเขา จะทำอะไรได้บ้าง เพื่อ bring them home คิดต่อมากเข้า เขาเห็นว่าปัญหาใหญ่อันหนึ่งในโลกก็คือ ผู้คนจำนวนมากในโลก ยังไม่มี 'บ้าน' ที่ดี

10-04-2550

Architect Symposium
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com