โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 21 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๖๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 21,02.2007)
R

พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๓๓ กบฏกับการปรองดอง
รายงานฝรั่ง: ปัญหาภาคใต้ไทยไม่ใช่สงครามศาสนา (๒)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจาก Crisis Group
รายงานภาคพื้นเอเชียฉบับที่ 98 เผยแพร่วันที่ 18 เมษายน 2548

บทความวิชาการขนาดยาวนี้ เดิมชื่อ
ปัญหาภาคใต้ของไทย: การลุกฮือไม่ใช่สงครามศาสนา
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะนำเสนอเป็นตอนๆ
เพื่อให้นักศึกษาและสมาชิกเข้าใจสถานการณ์ภาคใต้โดยลำดับ
และเห็นถึงปัญหาอันซับซ้อนของพี่น้องมุสลิม รวมถึงการแก้ไขของทางการอย่างไม่ถูกจุด
ในบทนี้เป็นการแจกแจงอธิบายถึงกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดภาคใต้ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย

และปฏิกริยาของรัฐบาลไทยในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการตั้ง พตท.43 และ ศอบต.ขึ้นมา
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๖๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๓.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายงานภาคพื้นเอเชียฉบับที่ 98 / 18 เมษายน 2548
ปัญหาภาคใต้ของไทย: การลุกฮือไม่ใช่สงครามศาสนา
Crisis Group Asia Report

2503- 2533 กบฏกับการปรองดอง
ช่วงเจ็ดสิบกว่าปีที่แล้ว มีกลุ่มติดอาวุธกว่าหกสิบกลุ่มก่อการอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ บ้างก็เป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายทางการเมือง บ้างเป็นกลุ่มอาชญากรรม บ้างก็ทำทั้งสองอย่าง ในบรรดากลุ่มเหล่านี้มี…

- กลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิม
- กลุ่มกองกำลังคอมมิวนิสต์ทั้งมุสลิมและไทย
- มือปืนรับจ้างที่อ้างตัวเองเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และ
- มือปืนรับจ้างที่กลุ่มการเมืองจ้างไว้สำหรับทำกิจกรรมในนามของพวกตน (1)

กลยุทธของคนเหล่านี้ เหมือนๆกัน (คือเรียกเงินค่าคุ้มครอง ลักพาตัว และฆาตกรรม) (2) สำหรับเป้าหมายของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ก็คล้ายกันในลักษณะกว้างๆ แต่พวกเขาน้อยครั้งจะร่วมมือกัน (3) ในแง่ผู้นำเองก็ไม่มีคนที่จะเรียกเสียงสนับสนุนในวงกว้างได้อย่างเช่นหะยีสุหลง ในที่สุดความพยายามในอันที่จะจับมือกันก็ล้มเหลว และในกลุ่มใหญ่ๆ เจอปัญหาความขัดแย้งภายในจนแตกแยกกันเอง

ในส่วนของรัฐบาลเอง หลังจากต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนรวมทั้งคอมมิวนิสต์ในภาคใต้เกือบยี่สิบปี ในที่สุดก็ตระหนักว่า การสู้กับคนเหล่านี้จะต้องใช้การเมืองเช่นเดียวกันกับการทหาร ในปี 2524 รัฐบาลยกเครื่องโครงสร้างงานด้านความมั่นคงและการบริหารครั้งใหญ่ เพื่อจะปรับไปสู่แนวการทำงานด้านการเมืองมากขึ้น และปรากฏว่าแนวทางการทำงานใหม่ ซึ่งเน้นให้สาธารณชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มากกว่าแค่กลยุทธทางการทหารประสบความสำเร็จในการลดระดับความรุนแรงลง นักรบจำนวนหลายร้อยคน ทั้งคอมมิวนิสต์และพวกแบ่งแยกดินแดนออกมารับเงื่อนไขการนิรโทษกรรม และการตัดสินใจของหลายคนในจำนวนนี้ ในการเข้าไปต่อสู้ทางการเมืองในระบบการเมือง ส่งผลกระทบคือบั่นทอนแรงสนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่ขณะเดียวกัน การทำให้ขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธอ่อนแอลง กลับทำให้พวกเขารุนแรงและหลบหลีกมากขึ้นแทนที่จะหมดไป

A. บีเอ็นพีพี ( BNPP)
กลุ่มแรกที่ต่อสู้ด้วยอาวุธในภาคใต้คือ BNPP หรือแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติปัตตานี (National Patani Liberation Front) ในปี พ.ศ. 2502 ก่อนจะถึงช่วงนั้น การต่อต้านค่อนข้างจะเฉื่อย มีการก่อความรุนแรงเป็นครั้งคราว ถึงตอนนั้นอุดมการณ์ที่เป็นเป้าหมายก็เปลี่ยนไปด้วย ในขณะที่ PPM เรียกร้องการปกครองตนเอง และกัมปาร์ต่อสู้เพื่อการเข้าร่วมกับสหพันธรัฐมาลายา BNPP ต้องการเอกราชความเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์แบบ กลุ่มนี้ดึงเอาอันธพาลและแก๊งโจรต่างๆ เข้าไปเป็นหัวหน้ากลุ่มจรยุทธ และเริ่มปฏิบัติการในภาคใต้ (4)

คาดกันว่าในช่วงยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ตอนที่ BNPP ปฏิบัติการเข้มแข็งที่สุด กลุ่มนี้มีสมาชิกระหว่าง200-300 คน BNPP เองรู้ดีว่าไม่มีทางที่จะสู้กับกองทัพไทยได้ จึงใช้ยุทธศาสตร์คือบ่อนทำลายความมั่นคงในพื้นที่เพื่อให้เห็นว่าปกครองไม่ได้ ลักษณะสำคัญอีกอย่างคือยั่วยุให้ทางการใช้กำลังเข้าปราบ ด้วยความหวังว่าจะดึงสมาชิกใหม่ๆ เข้าร่วมกลุ่มได้ ในขณะเดียวกันกับที่จะทำให้บรรดารัฐบาลประเทศมุสลิมต่างๆ ออกมากดดันรัฐบาลไทยด้วย (5)

การหาสมาชิกใหม่ทำผ่านครูสอนศาสนาเป็นหลัก พวกเขาจะเลือกทั้งครูและนักเรียนรวมทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านในย่านใกล้เคียงโรงเรียนของตน แล้วเสนอชื่อคนที่จะเป็นสมาชิกใหม่ให้ไปรับการฝึกอบรมทั้งทางการเมืองและการทหาร พวกครูสอนศาสนาเหล่านี้นั่นเองที่จะเป็นคนอบรมงานการเมือง ส่วนการฝึกทางการทหารจะมีหัวหน้าหน่วยจรยุทธเป็นคนดำเนินการ ตามพื้นที่เชิงเขาในบริเวณเทือกเขาในพื้นที่ สมาชิกบางคนจะถูกส่งตัวไปรับการอบรมต่อในลิเบีย ซีเรีย และอาฟกานิสถาน (6)

ฝ่ายนำของ BNPP อยู่ในกลันตัน และได้ดึงดูดนักศึกษาที่ทำกิจกรรมจากปัตตานีที่เข้าไปเรียนต่อในมาลายาเข้าร่วม กลุ่มจะสนับสนุนให้ นศ.เหล่านี้ขอสัญชาติมาเลเซีย ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการที่จะปฏิบัติการในพื้นที่ทั้งสองฝั่งของเขตแดน นศ.ปัตตานีหลายคนที่ได้ทุนสนับสนุนการศึกษาจากรัฐบาลมาเลเซียปฏิบัติตัวแบบนี้ และหลังจากจบการศึกษาแล้วก็ได้เข้ารับราชการกับรัฐบาลมาเลเซีย และสนับสนุนขบวนการต่อจากที่นั่น (7)

นักศึกษาในจำนวนนี้หลายคนได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Al-Azhar ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ที่นั่นพวกเขาได้จัดวางรากฐานให้กับ BNPP ภายใต้ชื่อ Rumah Patani (House of Patani) ซึ่งกลายเป็นแหล่งสนับสนุนหาทุนให้ ที่เมกกะ ซาอุดิอาราเบีย มีการก่อตั้งสมาคมนักศึกษาและคนงานจากปาตานี ชื่อ Akhon (ภราดร) เริ่มต้นด้วยงานส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องปาตานี แต่ก็กลายไปเป็นที่ฝึกอบรมให้กับนักเคลื่อนไหวหน้าใหม่ๆ ที่สนับสนุนให้ปัตตานีแยกตัวเป็นเอกราชอย่างรวดเร็ว (8)

BNPP ยังมีสายสัมพันธ์กับ PLO หรือองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestinian Liberation Organisation) กับกลุ่มที่สนับสนุนการรวมตัวในระดับกว้างของมุสลิมด้วย อย่างเช่น OIC หรือองค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of Islamic Conference) รวมทั้งสันนิบาติอาหรับ (Arab League) (9) BNPP มีชื่อเรื่องการเผยแพร่ปัญหาชะตากรรมของมุสลิมในปัตตานีในโลกอาหรับ (10) และยังได้รับการสนับสนุนไม่น้อยจากพรรค Parti Islam ของมาเลเซียในกลันตัน (11)

B. บีอาร์เอ็น (BRN)
กลุ่ม BRN หรือแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายูปัตตานี (The National Revolutionary Front หรือ Barisan Revolusi Nasional ในภาษามาเลย์) ปรากฏตัวเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว กลุ่มนี้มีอุสตาซ หะยี อับดุล การิม ฮัสซัน โต๊ะครูในรือเสาะ นราธิวาส เป็นผู้ก่อตั้ง โดยหลักแล้วนับว่าเป็นปฏิกิริยาต่อการที่รัฐบาลเข้าไปปฏิรูปการศึกษา

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีโครงการปรับปรุงระบบการศึกษาปี 2504 ได้บังคับให้โรงเรียนปอเนาะเพิ่มหลักสูตรสายสามัญจากเดิมที่สอนแต่เรื่องศาสนา ทำให้โรงเรียนเหล่านี้กลายสถานะเป็น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ไป (12) โรงเรียนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองก็ถูกสั่งปิด การเปลี่ยนแปลงนี้ผลักดันให้นักเรียนจำนวนมากเข้าไปเรียนในโรงเรียนสามัญของรัฐ ซึ่งที่จริงแล้วนับว่าค่าเล่าเรียนถูกกว่า ขณะเดียวกันก็ผลักให้บรรดาโต๊ะครูหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เข้าร่วมกับขบวนการดาวะห์ (เผยแพร่ศาสนา) และการสอนของพวกเขามีกลิ่นไอการเมืองเข้าไปเจือปนมากขึ้นทุกที (13)

การิม ฮัสซัน มองการปฏิรูปการศึกษาปี 2504 เป็นเหมือนความพยายามอีกหนที่จะกลืนมุสลิม และบั่นทอนวัฒนธรรมมาเลย์ เขาได้ตั้งกลุ่มบีอาร์เอ็นขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายจะก่อตั้งรัฐปาตานีอิสระ โดยรวมเอาสี่จังหวัดที่มีมุสลิมเป็นพลเมืองส่วนใหญ่เข้าด้วยกัน (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล) รวมทั้งบางส่วนของสงขลาด้วย (14) ในแง่นี้นับว่าเขามีเป้าหมายร่วมกับ BNPP แต่ว่า BNPP นั้นยังมีสมาชิกจำนวนหนึ่งจากกลุ่มผู้ปกครองเดิมผสมผสานอยู่อีก ทั้งยังยึดโยงอยู่กับความคิดเรื่องรื้อฟื้นระบบเจ้าผู้ปกครองขึ้นมาใหม่. การิม ฮัสซันกับบรรดาปัญญาชนรุ่นใหม่รวมทั้งมุสลิมที่ผ่านการศึกษามาจากต่างประเทศที่อยู่รอบๆ ตัวเขาเรียกว่าก้าวหน้ามากกว่าในแง่นี้ พวกเขาเรียกอุดมการณ์ของตัวเองว่า "สังคมนิยมอิสลาม"

BRN เน้นเรื่องการจัดตั้งทางการเมืองมากกว่าปฏิบัติการจรยุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนสอนศาสนา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มนี้ไม่ใช้ความรุนแรง BRN มีกลุ่มปฏิบัติการที่นำโดยเจะกุ บากู (Jahku Baku) (หรือมะปิเยาะ ซะดาละ - Mapiyoh Sadalah) ซึ่งมีกำลังคนในสังกัดระหว่าง 150 - 300 คน ส่วนใหญ่อยู่ในยะลา และบางส่วนของสงขลาทางภาคตะวันตก (15)

ช่วงสามสิบและสี่สิบปีที่ผ่านมา BRN มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซีย และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีเป้าหมายร่วมกันในการบั่นทอนเสถียรภาพแถวแนวชายแดน (16) การร่วมมือกับสองกลุ่มนี้ทำให้ BRN ได้รับการสนับสนุนน้อยลงจากกลุ่มที่ค่อนข้างหัวอนุรักษ์ในมาเลเซียและตะวันออกกลาง (17) ความพยายามของ BRN ในอันที่จะขยายแนวคิดสังคมนิยม แนวคิดอิสลามและชาตินิยม เปิดช่องให้เกิดความขัดแย้งและปัญหาแตกแยกกันภายใน

C. พูโล (PULO)
กลุ่มที่ต่อสู้ด้วยกำลังกลุ่มที่สี่คือพูโล หรือองค์การปลดปล่อยรัฐปาตานีหรือองค์การสหปาตานีเสรี (Patani United Liberation Organisation - PULO) (18) ปรากฏตัวเมื่อปี 2511 และในช่วงยี่สิบปีถัดมาจากนั้น กลุ่มนี้ได้กลายเป็นกลุ่มต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนที่ทำงานได้ผลมากที่สุด และใหญ่ที่สุดในบรรดากลุ่มต่างๆ (19)

ในทางการเมือง พูโลอยู่ตรงกลางระหว่าง BRN กับ BNPP และไม่แนบแน่นกับอิสลามแบบอนุรักษ์หรือสังคมนิยมหรือกลุ่มผู้ปกครองเดิม อุดมการณ์ทางการที่กลุ่มเผยแพร่คือ "ศาสนา ชาติพันธุ์ มาตุภูมิ มนุษยธรรม" (20) แม้ว่ากลุ่มจะระบุเป้าหมายว่าเพื่อต้องการจัดตั้งรัฐอิสลามที่เป็นอิสระ แต่จะว่าไปแล้วอาจจะถูกต้องกว่าถ้าจะพูดถึงกลุ่มนี้ว่า มีลักษณะเป็นกลุ่มชาตินิยมยึดโยงกับเรื่องเชื้อชาติมากกว่ากลุ่มอิสลาม อย่างไรก็ตามพูโลอิงบริบทในคัมภีร์กุรอ่าน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง (21)

พูโลได้รับการก่อตั้งขึ้นในอินเดียโดยตนกูบีรอ กอตอนีลอ (Bira Kotanila หรือ Kabir Abdul Rahman - กาบีร์ อับดุล รามาน) หลังจากการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ที่นั่น (22) ตนกูบีรอเริ่มมองเห็นปัญหาที่เขาถือว่าเป็นความไร้ประสิทธิภาพของบรรดาขบวนการต่อต้านของมาเลย์ ในการก่อตั้งกลุ่มพูโล เขาดึงเอานักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่เข้าร่วม หลายคนในกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาในต่างประเทศ พูโลต่อสู้ด้วยอาวุธเช่นเดียวกับพยายามยกระดับการศึกษา และสำนึกทางการเมือง (23)

ผู้นำระดับอาวุโสของพูโลอยู่ในนครเมกกะ มีศูนย์บัญชาการด้านการเมืองการทหารในตุมปัต รัฐกลันตัน มาเลเซีย (24) การหาสมาชิกใหม่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักศึกษาจากปัตตานีที่ไปเล่าเรียนในมาเลเซียและตะวันออกกลาง รวมทั้งครูสอนศาสนาในภาคใต้ของไทย สำนักงานในเมกกะ ยังทำหน้าที่จัดหาสมาชิกใหม่จากคนที่ไปประกอบพิธีฮัจน์ที่นั่นด้วย

ตนกูบีรอเป็นคนที่มีความสามารถมากในการเผยแพร่ความคิดและหาทุนสนับสนุน เขาระดมทุนหลายล้านดอลลาร์ได้จากผู้นำอาหรับ โดยเฉพาะลิเบียและซีเรีย ทำให้สามารถซื้อหุ้นในโรงแรมฮัมเบอร์กได้และกลายเป็นแหล่งที่มาของรายได้ในเวลาต่อมา (25) พูโลยังเป็นกลุ่มที่มีสมาชิกที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีกว่าเพื่อน และมีอาวุธดีกว่ากลุ่มอื่น พูโลปฏิบัติการในทั้งสี่จังหวัดรวมทั้งพื้นที่บางส่วนของสงขลา อย่างไรก็ตามฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มคือนราธิวาส ในอำเภอระแงะ บาเจาะ ยี่งอและรือเสาะ รวมทั้งในมาเยาะและยะรังในปัตตานี (26) พูโลใช้สำนักงานในโกตาบารู ในรัฐกลันตันของมาเลเซียเป็นสถานที่บัญชาการสำหรับการที่สมาชิกระดับอาวุโส ซึ่งจะอบรมแกนนำฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ (27)

สมาชิกนักสู้หลายคนของกลุ่มยังได้รับการฝึกอบรมจากต่างประเทศด้วย พูโลมีโปรแกรมอบรมสมาชิก มีค่ายอบรมในซีเรีย แถวพรมแดนติดเลบานอน (28) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการคือสะมะแอ ท่าน้ำ ซึ่งได้รับการฝึกอบรมด้านการทหารและการใช้เครื่องระเบิดจากตะวันออกกลาง (29) การประเมินตัวเลขสมาชิกพูโลที่น่าเชื่อถือได้มีตั้งแต่ระดับ 200 - 600 คน ส่วนพูโลเองอ้างว่าตัวเองมี 20,000 คน (30)

D. การประท้วงปี 2518
ช่วงสามสิบและสี่สิบปีที่แล้วเป็นช่วงที่การก่อเหตุรุนแรงขยายตัวทั้งในยะลา นราธิวาส และปัตตานี ส่วนใหญ่เป็นการโจมตีสถานีตำรวจ ที่ทำการหน่วยงานรัฐบาล โรงเรียน ข่มขู่รีดเงิน โดยเฉพาะจากเจ้าของสวนยางและสวนมะพร้าว รวมถึงนักธุรกิจท้องถิ่น การลักตัวเรียกค่าไถ่ก็กลายเป็นเทคนิคสำคัญในการหาทุน

รัฐบาลตอบโต้ด้วยปฏิบัติการทางทหาร ส่วนใหญ่จะทำไปพร้อมๆ ก้บการทำงานของหน่วยตำรวจพิเศษ รวมทั้งอาสาสมัครพลเรือนทั้งมุสลิมและพุทธจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีผลอะไรมากไปกว่าช่วยเพิ่มความไม่พอใจของคนในพื้นที่ (31) นายตำรวจคนหนึ่งแสดงความกังขาไว้เมื่อปี 2520 ว่า

" ถ้าจะดูจากสถิติ ก็น่าจะเชื่อได้ว่าการปฏิบัติงานของเราได้ผล และพวกโจรก่อการร้ายถูกกำจัดไปหมดแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วกลายเป็นเรื่องตรงกันข้ามกัน โจรก่อการร้ายจำนวนมากยังปฏิบัติการอยู่ แกนนำที่เราไม่รู้จักโผล่ขึ้นมา เราพยายามปราบปรามพวกนี้ตั้งแต่ปี 2448 แต่ก็ยังมีกลุ่มก่อการร้ายอยู่" (32)

มีกรณีหนึ่งโดยเฉพาะที่กระตุ้นให้เกิดกลุ่มมุสลิมใช้กำลังกลุ่มเล็กๆ ผลุดโผล่ขึ้นมาใหม่รวมทั้งการใช้ความรุนแรงชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือกรณีที่ทหารไทยถูกกล่าวหาว่าสังหารวัยรุ่นมุสลิมห้าคน ที่อำเภอบาเจาะในนราธิวาส เมื่อวันที่ 29 พฤษจิกายน 2518 แต่เวลาผ่านไปหลายเดือนโดยที่รัฐบาลไม่มีทีท่าว่าจะสอบสวนเรื่องนี้แต่อย่างใด

พูโลได้อาศัยเรื่องของการสังหารมุสลิมที่ว่านี้ ไประดมคนไปประท้วง เริ่มจากความไม่พอใจของชาวบ้านเรื่องการใช้กำลังเกินควรในการปราบปรามช่วงเจ็ดปีก่อนหน้านั้น รวมทั้งเรื่องของการ "สูญหาย" ของผู้คนจำนวนหนึ่งที่ต้องสงสัยว่า ร่วมมือกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน (33) พูโลได้ระดมคนทั้งที่เป็นครูสอนศาสนา นักศึกษา นักการเมืองมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ และกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมทั้งผู้สนับสนุนไปร่วมชุมนุม วันที่ 11 ธันวาคม 2518 สามวันก่อนวัน Eid ul - Adha วันที่ถือกันว่าสำคัญมากที่สุดเป็นวันที่สองในปฏิทินของอิสลาม การชุมนุมเริ่มขึ้นที่ปัตตานี และในวัน Eid ul - Adha เอง มีมุสลิมมาเลย์ร่วมเจ็ดหมื่นไปร่วมชุมนุม

มีคนโยนระเบิดเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม ตามรายงานบอกว่าเป็นฝีมือไทยพุทธหัวรุนแรง ผลคือทำให้มีคนตายสิบสองคน บาดเจ็บไม่ต่ำกว่าสามสิบ ทั้งสิบสองคนที่ตายได้รับการฝังศพแบบ syahid ( ชาฮิด - พลีชีพ)ในวันถัดมา ซึ่งเท่ากับเปิดทางให้มีการเรียกร้องให้มีการทำจิฮาด (สงครามศาสนา) (34)

รัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเกือบทุกข้อ มีการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี คนที่มารับหน้าที่แทนเป็นมุสลิม มีการจ่ายชดเชยให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย ผู้ลงมือถูกตั้งข้อหาและคุมขัง มีการสั่งถอนหน่วยทหารออกจากพื้นที่และมีการสอบสวนอย่างเป็นทางการ แต่นายกรัฐมนตรี มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางไปรับฟังปัญหาค่อนข้างล่าช้า และไปหลังจากที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับล่างๆ ไปรับฟังก่อนแล้วเท่านั้น (35) อีกไม่นานหลังจากนั้นรัฐบาลก็ออกคำสั่งประกาศภาวะฉุกเฉิน

ความไม่สงบที่เกิดขึ้นและเกิดต่อเนื่องมาจนถึงปี 2519 ทำให้เกิดกลุ่มใหม่สามกลุ่มด้วยกันคือ

1. Saibillilah (เส้นทางแห่งพระเจ้า) ซึ่งวางระเบิดสนามบินดอนเมืองเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2520 และยังอ้างเป็นผู้ลงมือโจมตีสถานีรถไฟ และสถานที่ราชการอื่นๆ (36)
กลุ่มนี้ต่างกับ BNPP, BRN, และ PULO ตรงที่ว่า เป็นกลุ่มที่มีฐานในเมืองและได้สมาชิกส่วนใหญ่จากในปัตตานี นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์กับกลุ่มนักเคลื่อนไหวมุสลิมหลายกลุ่มในมาเลเซีย รวมทั้งขบวนการยุวชนมุสลิมอาบิม (ABIM) (37) แต่นับว่าเป็นกลุ่มที่หาข้อมูลยาก ผู้นำก็ไม่เป็นที่รู้จักและกลุ่มก็หายตัวไปอย่างรวดเร็ว พอๆกับที่เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน

2. จีไอพี (Gerakan Islam Patani หรือ GIP) มีฐานอยู่ในเมืองโกตาบารูในรัฐกลันตัน มาเลเซีย กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ ที่เป็นคนจากสามจังหวัดภาคใต้ที่อพยพไปอยู่ที่นั่น นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากบางส่วนในตะวันออกกลางด้วย (38)

3. Black December 1902 ปฏิบัติการส่วนใหญ่ในยะลา กลุ่มนี้อ้างตัวเองว่าเป็นผู้รับผิดชอบการโจมตีที่ร้ายแรงมากหนหนึ่ง นั่นคือการปาระเบิดงานพระราชพิธีที่จัดที่นั่น เมื่อเดือนกันยายน 2520 (39) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระราชินีนาถทรงปลอดภัย แต่ว่ามีคนตายห้าคนกับอีกสี่สิบเจ็ดคนบาดเจ็บ กลุ่มนี้เรียกร้องให้มีการยกเลิกการสอนภาษาไทย ให้ยอมรับครูที่เป็นมุสลิมเป็นลูกจ้างรัฐบาล และให้จ้างเฉพาะมุสลิมเข้าทำงานในจังหวัดปัตตานี เรียกร้องให้หางานให้กับคนไม่มีงานทำในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ช่วยเหลือเด็กๆ มุสลิมให้ได้รับการศึกษาในชั้นสูง และให้ยุติการใช้กำลังกับมุสลิม (40)

แต่ไม่มีกลุ่มไหนอยู่ได้นาน แม้ว่าจะยังมีการโจมตีต่างๆ อยู่ประปราย แต่ว่าการอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ต่างๆ หยุดลงในปี 2523 (41) และทั้งหมดได้หมดสภาพการเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ยังมีผลงานไป ขณะที่กลุ่มเก่าก็เริ่มแตก กลุ่มแรกคือ BNPP ในช่วงสามสิบกว่าปีที่แล้ว ตามมาด้วย BRN และ PULO ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่แล้ว

ปฏิบัติการทางทหารในปี 2515 มีผลอย่างมากในการทำให้ BNPP อ่อนแอลง นอกจากนี้ผู้นำกลุ่มคือตนกูยะลา นาเซะ เสียชีวิตลงในปี 2520 แต่ปัญหาใหญ่ของกลุ่มคือในปีถัดมาเมื่อ Parti Islam ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการเงินรายสำคัญหมดอำนาจลงในกลันตัน (42) กลุ่มก็แตกและผู้นำหลายคนออกจากกลุ่ม บ้างก็หันไปถือสัญชาติมาเลเซียและลงหลักปักฐานที่นั่น บ้างก็หันไปเข้าร่วมกับพูโล

ส่วนที่เหลือรวมตัวกันใหม่ภายใต้ชื่อ คณะกรรมการกลางที่มีกรรมการสิบห้าคน นำโดยบาดรี ฮัมดันที่บ้านปะนาเระ ปัตตานี (43) ซึ่งภายใต้การนำของเขาทำให้ BNPP เต็มไปด้วยผู้นำที่มาทางสายศาสนา กลุ่มผู้สนับสนุนเองก็มีครูสอนศาสนาที่เคร่งครัด ปัญญาชนและคนที่มาจากตระกูลสำคัญๆ ในขณะที่ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลต่างๆในประเทศมุสลิมที่เคร่งครัดอย่างซาอุดิอาระเบีย คูเวต และปากีสถาน (44)

ส่วนปฏิบัติการทางทหารของ BNPP ซึ่งเปาเยะยังเป็นผู้นำจนกระทั่งตายลงเมื่อปี 2527นั้น มีเป้าหมายเพื่อพยายามจะขัดขวางโครงการนำคนนอกพื้นที่เข้าไปตั้งรกราก มีการโจมตีตำรวจและอาคารสถานที่ราชการ รวมทั้งธุรกิจของชาวจีนและชาวพุทธที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานที่นั่น (45) แต่ตามรายงานบอกว่า คนกลุ่มนี้ร่อยหรอลงจากจำนวนสองร้อยถึงสามร้อย เหลือประมาณห้าสิบคนในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา และการปฏิบัติการก็จำกัดอยู่ในเขตปัตตานีเท่านั้น (46)

ปี 2528 ผู้นำหลายคนของ BNPP แตกตัวออกไปตั้งกลุ่มแนวร่วมมูจาฮิดีนปาตานี (Barisan Bersatu Mujahidin Patani) หรือ BBPM มีอดีตรองประธานกลุ่ม BNPP คือวายุดดิน มูฮัมหมัด เป็นผู้นำ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นครูทั้งที่สอนศาสนาและทั่วไป ที่ผ่านการศึกษามาจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย (47) กลุ่มนี้ยึดแนวทางอิสลามและนับว่าแรงกว่ากลุ่มที่แยกตัวออกมา BBPM เรียกร้องให้ทำจิฮาดกับรัฐบาลไทยที่ถือว่าเป็น Kafir หรือคนนอกศาสนา ซึ่งกลุ่มถือว่าจงใจทำลายเอกลักษณ์ความเป็นมุสลิมของชาวปัตตานี

ส่วน BNPP เองได้เปลี่ยนชื่อเมื่อปี 2529 เป็น BIPP (Barisan Islam Pembebasan Panati) หรือแนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปาตานี เพื่อเน้นถึงการที่กลุ่มยึดแนวทางของอิสลาม (48) สิ่งที่เป็นแรงกระตุ้นให้มีการปรับตัวของกลุ่มให้หันไปหาแนวทางที่รุนแรงมากขึ้น ส่วนหนึ่งคือความสำเร็จของการปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี 2522 (49) แต่ว่าทั้งสองกลุ่มต่างก็ค่อยๆ หมดแรงไปในช่วงสิบกว่าปีที่แล้ว

PULO กับ BRN หันไปหาความรุนแรงมากขึ้น พุ่งเป้าหมายไปที่พลเรือนชาวพุทธ แม้ที่อยู่นอกสถานที่ ในช่วงนี้เองได้มีกลุ่มที่เชื่อมกับ PULO ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมได้ก่อเหตุร้ายใหญ่ขึ้นสี่ครั้งด้วยกัน ส่วน PULO เองวางระเบิดในกรุงเทพฯ สี่ลูก ในวันเดียวกันในเดือนกรกฏาคม 2525 (50)

นอกจากนี้ยังพูดกันว่า BRN น่าจะมีส่วนในการใช้ระเบิดโจมตีในยะลาและสงขลา เมื่อปี 2522 (51) ปลายศตวรรษนั้นคาดกันว่า ตัวเลขของสมาชิกกลุ่มก่อการที่เป็นนักรบจรยุทธมีไม่ถึงพันคน ครึ่งหนึ่งอยู่กับ PULO (52) แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของไทยก็ยังมีปัญหา โดยเฉพาะเมื่อคนเหล่านี้สามารถหลบซ่อนตัวอยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไป หรือไม่ก็หนีข้ามไปฝั่งมาเลเซียได้โดยไม่ยากเย็นนัก (53)

E. ปฏิกิริยาของรัฐบาล
เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีปี 2523 รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ใหม่ด้วยการเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจและการนิรโทษกรรม ซึ่งทำให้คอมมิวนิสต์และนักสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนหลายร้อยเข้ารับการนิรโทษกรรมนั้น พลเอกเปรมเองก็เป็นคนใต้และเคยรับหน้าที่ในกองทัพภาคที่สี่ ดังนั้นจึงเข้าใจปัญหาการเมืองเรื่องของเอกลักษณ์และความไม่พอใจของคนในพื้นที่มากกว่าผู้นำคนก่อนๆ (54)

พลเอกเปรมได้จัดตั้งหน่วยงานด้านการบริหารใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการประสานงาน อันเป็นการเปลี่ยนแปลงจากแนวทางการของเผชิญหน้ามาเป็นการเจรจา มีการจัดตั้งหน่วยงานผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่เรียกว่า พตท. 43 เพื่อประสานงานที่เกี่ยวกับการปฏิบัติการด้านความมั่นคง และการทำงานของหน่วยงานนี้ได้รับการดูแลควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อยุติปัญหาการอุ้มหายหรือวิสามัญฆาตกรรม รัฐบาลยังได้ออกนโยบายโน้มน้าวผู้หลงผิด เพื่อจะแย่งชิงเสียงสนับสนุนมาจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ด้วยการดึงให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น รวมทั้งดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ ในพื้นที่

รัฐบาลเริ่มโครงการขนาดใหญ่เพื่อก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกหลายโครงการ และเริ่มนำน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าสู่หลายพื้นที่ ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองช่วยกันจัดตั้งคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคง (55)

ส่วนงานด้านการเมืองมี "ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ ศอ.บต. เป็นผู้รับผิดชอบ ศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นในปี 2524 ระยะแรกอยู่ภายใต้การดูแลของแม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 ต่อมาไปขึ้นไปรัฐมนตรีมหาดไทย แต่ว่าคณะกรรมการชุดนี้ยังรวมไปถึงคนจากพื้นที่หลายคน (56) มีการเน้นเรื่องการทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมมาเลย์มุสลิม จึงมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่มุสลิม ให้เข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมและภาษาท้องถิ่นที่คนไทยทั่วไปเรียกว่าภาษายาวี

ศอ.บต. จัดตั้งมาเพื่อจะแก้ปัญหา 2 อย่างสำคัญในการบริหารพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ

1. ปัญหาการประสานงานกันในระหว่างหน่วยงานราชการ
2. การขจัดทุจริตคอรัปชั่นและการมีทัศนะคติรังเกียจเดียดฉันท์เลือกปฏิบัติในหมู่ข้าราชการ (57)

ศูนย์นี้มีอำนาจในการให้รางวัล ลงโทษรวมทั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่โดยวัดจากการปฏิบัติหน้าที่ (58) ในช่วงระหว่างปี 2521 - 2538 (59) มีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่กว่าร้อยคน ในจำนวนนี้เป็นตำรวจกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ออกจากพื้นที่ ศูนย์ยังจัดประชุมเพื่อให้เป็นเวทีสำหรับผู้นำมุสลิมได้กล่าวถึงปัญหาเป็นประจำ (60)

แม้ว่านโยบายนี้จะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีให้กับคนในท้องที่ แต่ว่าการทำงานของศูนย์เจอผลกระทบจากการที่มีการโยกย้ายข้าราชการที่ทุจริต และไม่มีความเข้าใจจากที่อื่นเข้าไปทำงานที่นั่น (61) อย่างไรก็ตาม แนวทางใหม่ก็ยังนับว่าได้ผล ช่วงยี่สิบกว่าปีจนถึงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ความรุนแรงลดลงอย่างเห็นได้ชัด และจำนวนสมาชิกของกลุ่มใช้อาวุธต่างๆ ลดลง เพราะพวกเขาเข้ารับการนิรโทษกรรมจากรัฐบาล เลิกการต่อสู้ด้วยอาวุธและหันไปเข้าร่วมกับโครงการพัฒนาหรือแม้แต่เข้าร่วมกับกองทัพ

บรรยากาศการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้น ยังดึงดูดให้คนที่อพยพไปอยู่นอกประเทศเดินทางกลับด้วย แม้ว่าหลายคนจะยังคงอยู่ในกลันตัน บ้างก็เข้ารับราชการทหารหรือจัดตั้งโรงเรียนปอเนาะขึ้นมา การเข้าร่วมทางการเมืองของมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ขยายวงขึ้น ซึ่งในเวลาเดียวกันก็ไปลดแรงสนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธลง

แต่แม้ว่าโครงการต่างๆ ของรัฐบาลจะมีผลในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น แต่ปัญหาใหญ่สองประการยังคงอยู่

อย่างแรก คือเรื่องของตำรวจกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วไป

อย่างที่สอง
คือนโยบายการในการรวมชาติ ยังคงเน้นเรื่องความเป็นไทยเป็นศูนย์กลาง เจ้าหน้าที่จำนวนมากยังคงยึดว่าเสียงเรียกร้องในเรื่องของวัฒนธรรมซึ่งเป็นเรื่องของการแสดงตัวตนหรือเอกลักษณ์ความเป็นมาเลย์ เป็นการเรียกร้องทางการเมืองเพื่อขอแยกตัว ปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่เหล่านี้คือต้องกดเอกลักษณ์เหล่านี้ลงให้ได้ (62)

ในความพยายามอันนี้ สิ่งสำคัญคือการเผยแพร่การใช้ภาษาไทยผ่านระบบการศึกษาและสื่อ ครูจะสอนนักเรียนในระดับปฐมศึกษาและมัธยมศึกษาว่า ให้เรียกตัวเองเป็นไทยมุสลิมแทนที่จะเป็นมาเลย์มุสลิม (63) ภาษาไทยกลายเป็นภาษาเดียวที่จะใช้ได้ในการเรียนการสอน แม้กระทั่งในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม นักเรียนสามารถจะเลือกภาษาใดภาษาหนึ่งระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันและอารบิคเป็นภาษาที่สอง แต่ไม่มีภาษามาเลย์ให้เลือก และมีการสั่งห้ามสื่อภาษามาเลย์ด้วย (64)

รัฐบาลยังเปลี่ยนชื่อถนนต่างๆ จากภาษามาเลย์เป็นภาษาไทย และกระตุ้นให้ชาวบ้านใช้ชื่อภาษาไทย (65) นโยบายนี้ได้ผลตรงที่ว่า ตอนนี้เด็กมาเลย์ส่วนใหญ่พูดไทย แต่ว่าในทางตรงกันข้ามทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการโจมตีภาษาและวัฒนธรรมมาเลย์ (66)

แต่ถึงแม้จะมีปัญหาพวกนี้ ในปี 2533 สังคมไทยก็ยังมีอะไรให้ตั้งความหวังได้ว่ามีโอกาส ที่การต่อต้านในภาคใต้จะยุติลงในที่สุด แม้ว่าจะยังมีปัญหาอีกหลายอย่าง แต่ก็ยังมีเวทีสำหรับให้เจรจาหรือพูดกันได้ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของแนวทางปรองดองอันนี้รวมทั้งการแตกตัวและอ่อนตัวลงของกลุ่มก่อการกลุ่มใหญ่ๆ ที่เป็นผลมาจากแนวทางอันนั้น กลับนำไปสู่การเกิดขึ้นของกลุ่มใช้กำลังพันธุ์ใหม่ๆ

+++++++++++++++++++++++++++

คลิกกลับไปทบทวน - คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๓

เชิงอรรถ :

(1) แม้ว่าคอมมิวนิสต์และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจะมีเป้าหมายร่วมกันคือ บั่นทอนเสถียรภาพในพื้นที่ ขณะที่ต่างก็ได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลไทยและมาเลเซียมีปัญหาความสัมพันธ์ต่อกัน จากข้อกล่าวหาเรื่องให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อการในพื้นที่ในเขตชายแดนของแต่ละฝ่าย แต่แล้วสองฝ่ายแตกคอกันเองในปี 2524 เพราะความขัดแย้งเรื่องพื้นที่อำเภอเบตงในยะลา ซึ่งอยู่ในเขตควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซีย(พคม.) เพราะกลุ่มพูโลเริ่มเข้าแทรกแซง ทำให้ พคม.หันไปจับมือกับกองทัพไทย, Yegar,อ้างแล้ว หน้า 160 ดูเพิ่มเติมได้ด้วยจาก Thomas อ้างแล้ว, 2532, หน้า 28

(2) Yegar,อ้างแล้ว หน้า 141
(3) Thomas อ้างแล้ว

(4) ในบรรดาหัวหน้าฝ่ายกองกำลังคนแรกๆ คนหนึ่งก็คือ หัวหน้าแก๊งค์ในปัตตานีที่เป็นที่รู้จักกันดี ไอดริส มัท ดิอาห์ (ดือเระ มะดีเยาะ) หรือเปาะเยะ, Wan Kadir, อ้างแล้ว หน้า 98

(5) มีการเสนอโครงร่างแผนยุทธวิธีนี้แก่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศประเทศมุสลิม ในอิสตันบูล เมื่อปี 2519, Yegar, อ้างแล้ว หน้า 145; อดีตสมาชิกบีเอ็นพีพีอีกรายยังบอกกับนักวิจัย อรอนงค์ น้อยวงศ์ว่ามีชายฉกรรจ์หลายคนที่ถูกกล่าวหาผิดๆ ว่าเป็นสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้หลบหนีเข้าป่า เพราะกลัวถูกตำรวจทรมาน ทั้งนี้เพื่อจะเข้าร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ตนถูกกล่าวหาว่าไปเป็นสมาชิกนั่นเอง, Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 147

(6) Wan Kadir, อ้างแล้ว หน้า 104, 108; Omar Farouk, 'The historical dimensions of Malay Muslim separatism in Southern Thailand' ใน Lim Joo Jock กับ S. Vani (eds.), Armed Separatism in Southeast Asia, Institute of Southeast Asian Studies Regional Strategic Studies Program (1984), หน้า 241

(7) Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว หน้า 229-230
(8) Wan Kadir, อ้างแล้ว หน้า 99
(9) Yegar, อ้างแล้ว, หน้า 145
(10) Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว หน้า 228

(11) เดิมที่รู้จักกันในนาม Pan Malaysian Islamic Party ซึ่งสนับสนุนการรวมสี่จังหวัดชายแดนของไทยเข้ากับมาเลเซีย แต่แม้พรรค Parti Islam se-Malaysia ซึ่งเป็นชื่อใหม่ปี 2516 จะไม่เรียกร้องให้รวมสี่จังหวัดของไทยเข้ากับมาเลเซียแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งทางการเมืองและการเงิน อย่างไรก็ตาม พรรคหลุดจากอำนาจในปี 2521 ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนในระดับเดิมได้อีก, Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว หน้า 230; Chaiwat Satha-Anand, 'Islam and Violence: a case study of violent events in the four southern provinces, Thailand, 1976-81', University of South Florida Monographs in Religion and Public Policy, 1987, หน้า 14

(12) เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มีโรงเรียนปอเนาะแค่ 189 โรง เทียบกับปี 2504 ซึ่งมี 535 โรง,Culp, อ้างแล้ว หน้า 32 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามกลับได้รับความนิยม และมีสถานะดีกว่าโรงเรียนปอเนาะดั้งเดิม เพราะมักจะมีเงินทุนสนับสนุนมากกว่าและจ้างครูที่ดีกว่าได้ โรงเรียนกลุ่มนี้สอนทั้งวิชาตามหลักสูตรของไทยและภาษาอาหรับ และคัมภีร์อัลกุรอ่าน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามคือที่ที่กล่าวหากันว่า มีการทำกิจกรรมของกลุ่มใช้กำลัง อย่างเช่น โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิในยะลา ไม่ใช่โรงเรียนปอเนาะแต่อย่างใด, ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์นักเรียนในยะลา และนราธิวาส, ธค. 2547; ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ จนท.ทหารและหน่วยข่าวกรอง, ยะลา และปัตตานี, เมย. 2548

(13) เรื่องกระบวนการดาวะห์ dakwah ดูเพิ่มเติมจาก Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว หน้า 248-149

(14) ช่วงแรก บีอาร์เอ็นเองก็มีเป้าหมายในเรื่องการรวมเชื้อชาติมาเลย์ แต่ความแตกแยกอันเนื่องมาจากการเผชิญหน้ากันของอินโดนีเซียกับมาเลเซีย ทำให้ฝ่ายหัวอนุรักษ์ในกลุ่มไม่เห็นด้วยและแยกตัวออกไปตั้งกลุ่ม Parti Revolusi Nasional (Parnas). กลุ่ม Parnas แทบจะไม่สามารถสร้างผลสะเทือนอะไรได้ และถูกยกเลิกไปในเวลาอีกไม่นาน แต่บีอาร์เอ็นก็ยกเลิกเป้าหมายเรื่องการรวมเชื้อชาติมาเลย์เช่นกัน, Farouk, อ้างแล้ว หน้า 240

(15) Wan Kadir, อ้างแล้ว หน้า 99; Thomas, อ้างแล้ว หน้า 25

(16) Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว หน้า 231; Surin Pitsuwan ' Issues affecting border security between Malaysia and Thailand', คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2525

(17) กลุ่มยังมีผู้สนับสนุนอยู่ในอัลจีเรีย, ซีเรีย, และลิเบีย, Farish Noor, 'Sejarah Patani yang tidak tercatat', Ummah Online, 12 พค. 2547 ดูได้จาก http://www.geocities.com/ummahonline/kolum
/farish/040512farish-patani.htm

(18) ชื่อภาษามาเลย์คือ Pertubuhan Persatuan Pembebasan Patani, PPPP
(19) Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว หน้า 234

(20) ในภาษามาเลย์ 'Agama Bangsa, Tanah Air, Perkermanusiaan' หรือย่อว่า UBANGTAPEKEMA, Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 215

(21) ดูเพิ่มเติม Satha-Anand, 2530, อ้างแล้ว หน้า 31-35 สำหรับการวิเคราะห์แผ่นปลิวที่แจกในนามพูโลในช่วงสามสิบกว่าปีที่แล้ว และดูเวบไซท์ของพูโล (www.pulo.org) สำหรับแถลงการณ์ใหม่ๆ

(22) เรียนที่มหาวิทยาลัย Aligarh Muslim University

(23) Peter Chalk, 'Separatism and Southeast Asia: The Islamic factor in Southern Thailand, Mindanao, and Ache', Studies in Conflict and Terrorism 24, 2001, หน้า 243

(24) Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว หน้า 234
(25) John McBeth, 'Separatism is the goal and religion the weapon', Far Eastern Economic Review, 20 June 1980
(26) เพิ่งอ้าง, หน้า 19
(27) Wan Kadir อ้างแล้ว หน้า 108
(28) เพิ่งอ้าง; Yegar, อ้างแล้ว, หน้า 146; Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 68
(29) Thomas,อ้างแล้ว หน้า 25
(30) ตัวเลขเหล่านี้เป็นของปี 2524, Yegar, อ้างแล้ว, หน้า 147

(31) ปฏิบัติการพิเศษพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้, ปฏิบัติการรามคำแหงและการรณรงค์พิเศษปราบปรามการก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

(32) Yegar, อ้างแล้ว, หน้า 147

(33) Arong Suthsana, 'Thai society and the Muslim Minority', ใน Frobes(ed.), The Muslims of Thailand, อ้างแล้ว หน้า 101, 107-109. การกล่าวหาที่เลื่อนลอยและความกลัวว่าจะถูกจับหรือฆ่ายังทำให้ผู้ชายวัยหนุ่มหลายคน หนีเข้าป่าไปร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิก, ข้อมูลจากการสัมภาษณ์อดีตสมาชิกบีเอ็นพีพี ใน Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 147

(34) ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 'ความตายใต้ฟ้าเดียวกัน', ฟ้าเดียวกัน, 6 พค. 2547 หน้า 196; Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว หน้า 237-239
(35) Yegar, อ้างแล้ว, หน้า 150-151

(36) เอกสารลับ รายงานคณะกรรมาธิการพิเศษ 2522: 16 ใน Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว หน้า 256-257; Thomas, อ้างแล้ว หน้า 26; Forbes, อ้างแล้ว หน้า 22 มีรายงานว่ากลุ่มพูโลและ Black December มีส่วนร่วมในปฏิบัติการนี้ด้วย, Satha-Anand,อ้างแล้ว หน้า 10

(37) Angkatan Belia Islam Malaysia ก่อตั้งเมื่อปี 2515 โดยอันวาร์ อิบราฮิม, Yegar, อ้างแล้ว, หน้า 157 อันวาร์ อิบราฮิมถูกควบคุมตัวชั่วคราวในปี 2513 ฐานเป็นผู้นำนักศึกษาประท้วงนโยบายของรัฐบาลจอมพลถนอมต่อภาคใต้ของไทย, Forbes, อ้างแล้ว หน้า 177

(38) เอกสารลับรายงานรัฐสภาปี 2523 อ้างใน Surin Pitsuwan, 2528, อ้างแล้ว ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างจีไอพี กับ จีเอ็มพี หรือ Gerakan Mujahidin Patani ซึ่งตั้งเมื่อ 2529 และมีอดีตนักรบผ่านศึกอาฟกานิสถานที่กลับประเทศเข้าไปฟื้นฟู ในปี 2538 ทำให้กลายโฉมเป็นจีเอ็มไอพี Gerakan Mujahidin Islam Patani

(39) ชื่อมีนัยอ้างอิงถึงวันที่รัฐปาตานีถูกสยามผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน จากเอกสารลับ, เพิ่งอ้าง หน้า256-57; Forbes, อ้างแล้ว หน้า 22;Yegar อ้างแล้ว หน้า 147

(40) Satha-Anand, 'Islam and Violence: a case study of violent events in the four southern provinces, Thailand, 1976-81', University of South Florida Monographs in Religion and Public Policy, 1987, หน้า 8; Wan Kadir, อ้างแล้ว หน้า 100

(41) จนท.หน่วยข่าวกรองและทหารที่ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ เมื่อ เมย. 2548 ต่างไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มเหล่านี้ หลังจากที่มีการดำเนินการคึกคักช่วงสั้นๆ เมื่อราวสามสิบกว่าปีที่แล้ว แต่คาดกันว่าคงจะยุบไปแล้ว

(42) ยังมีเหตุหมู่บ้านโต๊ะดอ ในกลันตัน ที่กลุ่มบีเอ็นพีพีมีสำนักงานใหญ่อยู่ ถูกไฟไหม้อย่างหาสาเหตุไม่ได้ด้วย

(43) Satha-Anand, 'Islam and Violence',อ้างแล้ว หน้า 14; McBeth, อ้างแล้ว หน้า 20; Thomas, อ้างแล้ว หน้า 24

(44) บีเอ็นพีพีได้ fatwa (คำตัดสิน) จาก Sheikh Abdul Aziz Ibn Baz ประธานหน่วยงานวิจัยและอบรมด้านศาสนาของซาอุดิอาระเบียว่า มีคุณสมบัติเข้าข่ายเป็นองค์กรการกุศลได้ ดังนั้นจึงสามารถจะขอรับการบริจาคได้ แต่แหล่งทุนหลักของกลุ่ม กล่าวกันว่าคือ Al Auqaf (หน่วยงานด้านสวัสดิการ) และ Islamic Call Society (องค์กรการกุศล) ของคูเวต, Wan Kadir, อ้างแล้ว หน้า 104-105

(45) รัฐบาลทหารจอมพลสฤษดิ์มี "โครงการจับจองที่ดิน" ในปี 2504 เพื่อโยกย้ายชาวนาที่ยากจนจากอีสานไปอยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ในภาคใต้ แต่ละรายจะได้รับการจัดสรรที่ดินครอบครัวละ17- 25 ไร่ สถิติระบุว่า จนถึงปี 2512 มีชาวไทยพุทธจำนวน 160,000 คนย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ จุดนี้ทำให้มุสลิมมาเลย์หลายคนมองว่า เป็นความพยายามจะลดความเข้มข้นของประชากรเชื้อสายมาเลย์ลง และแม้ว่าต่อสาธารณะจะไม่เคยมีการพูดถึงโครงการนี้ในแง่ดังกล่าว แต่ จนท.หลายคนยอมรับเป็นการส่วนตัวว่า นโยบายดังกล่าวที่จริงแล้วเป็นความพยายามที่จะ "สร้างความสมดุลย์"ในหมู่ประชากรด้วยการเพิ่มจำนวนคนพุทธ, Thomas, อ้างแล้ว หน้า 30; McBeth, อ้างแล้ว หน้า 21; Linda J.True, 'Balacing minorities: A study of Southern Thailand', SAIS Working Paper 02/04,หน้า 5

(46) Thomas, อ้างแล้ว หน้า 24
(47) Wan Kadir,อ้างแล้ว หน้า 103
(48) Farish Noor, 'Southern Thailand: A bloody mess about to get bloodier', Islamic Human Rights Commission

(49) Farish Noor, 'Sejarah Patani yang tidak tercatat', Ummah Online, 12 พค. 2547 ดูได้จากhttp://www.geocities.com/ummahonline/kolum/farish/040512farish-patani.htm

(50) พูโลจับมือกับ Saibillillah กับ Black December พูโลเองได้วางระเบิดสถานีรถไฟสองแห่ง สถานีรถโดยสารอีกหนึ่ง และบนรถโดยสารเมื่อวันที่ 1 กค. 2523, Satha-Anand,อ้างแล้ว,หน้า 12

(51) McBeth, อ้างแล้ว
(52) Thomas, อ้างแล้ว หน้า 28
(53) เพิ่งอ้าง หน้า 29
(54) ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ปณิธาน วัฒนายากร นักรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ, ธค. 2547

(55) คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2525 ระบุให้ใช้การเมืองนำการทหาร ในการดำเนินการเพื่อลดแรงสนับสนุนต่อฝ่ายตรงข้าม คำสั่งที่ออกถัดมา 66/2525 เป็นแนวปฏิบัติที่เน้นในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ และการขยายการมีส่วนร่วมทางการเมือง คำสั่งย้ำเรื่องความจำเป็นในอันที่จะต้องแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ที่ผลักดันประชาชนเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์และกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เช่นปัญหาการคอรัปชั่น การฉวยโอกาสทางเศรษฐกิจ และการขาดโอกาสเพื่อเข้าร่วมทางการเมือง, Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 125-128; Rahimmula, อ้างแล้ว

(56) คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 56/2529 ให้ศูนย์ไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย ส่วน พตท. 43 ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพภาคที่สี่

(57) นักวิชาการมาเลเซีย โอมาร์ ฟารูค (Omar Farouk) ชี้ว่ารัฐมักจะสร้างแรงกดดันต่อคนในพื้นที่ผ่านเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต และไม่ทนต่อความแตกต่าง, Omar Farouk, 'The Muslims in Thailand: A Review', อ้างใน Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 110

(58) Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 183, 187-191 ความประพฤติของเจ้าหน้าที่ที่กดขี่และทุจริต เป็นเงื่อนไขหลักที่สร้างความไม่พอใจแก่คนในพื้นที่ นับตั้งแต่เกือบเจ็ดสิบปีที่แล้ว, ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนและศาสนารวมทั้งชาวบ้าน, ยะลา และปัตตานี, ธค. 2547

(59) Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 187-188 ชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะกลัวและเกลียดตำรวจมากกว่าทหาร ส่วนหนึ่งเพราะงานที่ต้องติดต่อกับประชาชนรายวัน อีกส่วนเพราะเห็นกันว่าทหารมีโครงการพัฒนาที่ให้ประโยชน์ที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ที่ทหารมีบทบาทในเหตุการณ์นองเลือดที่กรือเซะและตากใบ (ดูรายการถัดไป) ก็เริ่มมีภาพว่าแย่พอๆ กัน, ไครซิสกรุ๊ปสัมภาษณ์ชาวบ้านในปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา, ธค. 2547, เมย. 2548

(60) Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 186

(61) การโยกย้ายข้าราชการไปทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นมาตรการในการลงโทษเจ้าหน้าที่, จากบทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ ศอ.บต.อ้างใน Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 188 และจนถึงปัจจุบันก็ยังมีสภาพเช่นนี้อยู่ จากการสัมภาษณ์ของไครซิสกรุ๊ป, เมย. 2548

(62) Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 144 จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการเปิดสอนภาษามาเลย์ในระดับมัธยม; เจ้าหน้าที่ไทยมองการใช้ภาษามาเลย์อย่างไม่ไว้ใจ จากการสัมภาษณ์ปัญญาชนมุสลิมหลายคนของไครซิสกรุ๊ป, ปัตตานี, เมย. 2548

(63) Arong Suthana, 'Thai society and the Muslim minority',ใน Forbes, อ้างแล้ว หน้า 101

(64) แม้แต่ นสพ.นำเข้าจากมาเลเซียก็เป็นสิ่งผิดกฏหมาย ในปี 2539 มีการริเริ่มนำเสนอรายการข่าวโทรทัศน์ของรัฐบาลเป็นภาษามาเลย์ยาวหนึ่ง ชม. มีรายงานเรื่องโครงการพัฒนา และเปิดให้ทางการพูดเรื่องงานต่างๆ ด้านการเมืองและความมั่นคง, จากบทสัมภาษณ์ ผอ.โทรทัศน์ช่อง 11 ใน Ornanong, อ้างแล้ว หน้า 141

ขณะนี้การนำเข้า นสพ.ภาษามาเลย์ทำได้ รวมทั้งการออกกระจายเสียงรายการวิทยุเป็นภาษามาเลย์ แต่รายการโทรทัศน์ภาษามาเลย์ยังจำกัดอยู่แค่วันละหนึ่ง ชม. เป็นรายการข่าวที่คนในพื้นที่รายหนึ่งบอกว่า เป็น "บทเรียนเพื่อการเป็นพลเมืองดี" จากการสัมภาษณ์ผู้นำศาสนาและชาวบ้านโดยไครซิสกรุ๊ป, ปัตตานี ยะลา นราธิวาส,ธค. 2547 และเมย. 2548

(65) Arong Suthana, อ้างแล้ว หน้า 102
(66) จากการสัมภาษณ์ผู้นำศาสนาและชาวบ้านโดยไครซิสกรุ๊ป, ปัตตานี ยะลา นราธิวาส,ธค. 2547 และเมย. 2548

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ขณะที่อีกด้าน บรรดาเพื่อนบ้านของไทยต่างก็กังวลว่า ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นอาจจะชักนำให้เกิดการสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งในศาสนาอิสลาม หรือไม่ก็ดึงเอากลุ่มนักรบศาสนาอย่างเช่นกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม ในด้านตัวปฏิบัติการเองก็มีความสลับซับซ้อนและมีอาการของการประสานงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เนทเข้าช่วย และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ซึ่งมีระบอบประชาธิปไตย และที่ซึ่งมีการใช้แนวทางแก้ปัญหาอย่างแข็งกร้าว

21-02-2550

Southern Thailand
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com