ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้เป็นสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ : Release date 11 November 2009 : Copyleft

ตัวเราไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในความว่างเปล่า สำนึกของการเป็นตัวเราเป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมหรือส่งผ่านมาทางสังคม เราจึงเป็นมนุษย์ในมิติของประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ในความหมายว่าร่างกายทางกายภาพของเราอยู่ในกาลวกาศในเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งใดในอดีต แต่เป็นความหมายที่ว่าตัวเราตัวสำนึกของการเป็นตัวตนนี้ เป็นสำนึกของบางสิ่งที่มีประวัติ มีสิ่งที่ถูกให้มาจนกลายเป็นตัวสำนึกว่าเป็นตัวเราดังเช่นที่เป็นอยู่ เช่นเป็นผู้หญิง เป็นชาวพุทธ เป็นคนไทยในช่วงศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ และ ยึดค่านิยมแบบคนไทยทั่วไป เป็นต้น ซึ่งที่มาดังกล่าวนี้มีความซับซ้อนไม่ได้เป็นทางตรง แต่ตรงนี้เองก็เป็นตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นเช่นกัน การเมืองของจุลภาควิทยาก็คือการทดลองหาทางหลบออกไปจากตัวตนในแบบนี้ เพื่อให้เราสร้างตัวตนของเรา...

H



11-11-2552 (1765)

บทความปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่ (Postmodernism)
ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่ ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง (๒)
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: เขียน
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความเรื่อง"ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่ ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง"นี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ "ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่" และบทความวิชาการชิ้นนี้ได้รับการนำไปอ้างอิงในวารสารทางวิชาการ และกำหนดให้เป็นบทความอ่านประกอบในหลายรายวิชาในหลายมหาวิทยาลัย

ุ บทความนี้ลงพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารร่มพฤกษ์ (ของมหาวิทยาลัยเกริก) ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๒
(ตุลาคม ๒๕๓๙ - มกราคม ๒๕๔๐) ฉบับ Postmodernism ซึ่งมี อ. เชษฐา พวงหัตถ์ เป็นบรรณาธิการ
เนื่องจากบทความชิ้นนี้มีขนาดยาว และได้มีการเพิ่มเติมเชิงอรรถโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจำนวนหนึ่ง
จึงได้แยกนำเสนอเป็น ๒ ตอน สำหรับนักศึกษาและผู้สนใจ download ในรูปไฟล์เวิร์ด จะได้บทความสมบูรณ์ทั้งฉบับ
โดยไม่ได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน
(แต่จะไม่มีภาพประกอบบทความบรรจุอยู่)

หัวข้อสำคัญของบทความ"ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่" ตอนที่ ๒ ประกอบด้วย
- แกนความรู้ แกนอำนาจ และแกนจริยธรรม
- โลกยังไม่ได้เข้าสู่ยุคสมัยแห่งวัยผู้ใหญ่ โลกยังไม่บรรลุวุฒิภาวะ
- Evolutionist, Technocratic Pragmatism การสร้างชุมชนระดับโลกที่มีเอกภาพทางการเมือง
- สภาพการณ์หลังสมัยใหม่
- หลังสมัยใหม่: การเปลี่ยนแปลงเหนือประวัติศาสตร์ (metahistorical)
- Lyotard: สภาพการณ์แบบหลังสมัยใหม่ การเปลี่ยนย้ายญานวิทยาและความศรัทธา
- การพรรณนาเชิงปกรณัม - การพรรณาเชิงอภิมหาคำบรรยาย
- เหตุผลนิยมเชิงวิพากษ์ [Critical Rationalism] การมุ่งจัดวางการเมืองแห่งจุลภาควิทยา
- มนุษย์ไม่ได้มีเสรีภาพมากขึ้นตามความคิดสมัยใหม่
- ท่าทีแบบหลังสมัยใหม่ - ทำความเข้าใจคำว่า "Post-" ตามแนวคิดของ Lyotard
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (technoscience) ทำให้ความป่วยทางสังคมหยั่งรากลึก
- ความล้มเหลวของสิ่งที่เรียกว่า "โครงการของความเป็นสมัยใหม่"
- โลกที่น่าสะพรึงกลัว - สภาพการณ์ "หลังการร่ำสุราอย่างหัวราน้ำ"
- มนุษย์สร้างตัวเอง!
- ตัวเราถูกสร้างโดยประวัติศาสตร์ - การเมืองแบบจุลภาคคือการหลบหลีกจากตัวตัวตนแบบนี้
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "ปรัชญาหลังสมัยใหม่")


สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๖๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๓.๕ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่ (Postmodernism)
ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่ ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง (๒)
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: เขียน
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

ต่อจากตอนที่ ๑ บทความลำดับที่ ๑๗๖๔

แกนความรู้ แกนอำนาจ และแกนจริยธรรม
ระบบการปฏิบัติดังกล่าวนี้มีที่มาจากสามอาณาบริเวณซึ่งไม่ได้แปลกหน้าต่อกัน แต่มีความเกี่ยวเนื่องกัน แม้จะมีลักษณะเฉพาะที่ทำให้แยกจากกันได้ แหล่งทั้งสามนี้ได้แก่ [Foucault 1984C: 48-49]

แกนทางความรู้ คือด้านของความสัมพันธ์ในการควบคุม
แกนทางอำนาจ คือด้านของการกระทำต่อผู้อื่น
แกนทางจริยธรรม คือด้านของความสัมพันธ์กับตนเอง

ทั้งสามแกนประกอบกันเป็นเนื้อหาของภาวะทางประวัติศาสตร์ของการเป็นตัวเรา [the historical ontology of ourselves] นำไปสู่การเปิดคำถามขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งเมื่อจัดระบบแล้วจะเป็นชุดคำถามในลักษณะดังต่อไปนี้

- เราถูกก่อรูปเป็นเนื้อหาหรือ "ตัวตน" ของความรู้ของเราได้อย่างไร?
- เราถูกก่อรูปเป็นเนื้อหาหรือ "ตัวตน" ผู้ซึ่งใช้หรืออยู่ภายใต้อำนาจได้อย่างไร?
- เราถูกก่อรูปเป็นเนื้อหาหรือ "ตัวตน" ทางศีลธรรมของการกระทำของเราเองได้อย่างไร?

การวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์นี้จึงช่วยดึงสิ่งที่เป็นลักษณะทั่วไป (อย่างน้อยของสังคมตะวันตก) ออกมาได้ในแง่ที่เรายังอยู่ในความเกี่ยวเนื่องกับภาวะทางประวัติศาสตร์ของการเป็นตัวเราอยู่ แม้ว่าตัวการวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์นี้จะเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจง ในความหมายที่ว่าเป็นการสืบค้นเข้าไปในยุคสมัยหนึ่งใด ในวาทกรรมหรือในเรื่องของการปฏิบัติเรื่องหนึ่งใดที่กำหนดมาก็ตาม ในการสืบค้นไปถึงเรื่องการกำหนดความเป็นเพศหรือเรื่องการกำหนดความเป็นคนบ้า เป็นต้น แต่ละเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะ ซึ่งสำหรับในเรื่องเฉพาะนี้ เราได้เห็นด้านหนึ่งของการก่อรูปเป็นสำนึกของการเป็นตัวเราปัจจุบันที่มีการถือเกณฑ์การแบ่งเพศ การแยกคนบ้าคนดีออกจากกัน อันเป็นวิถีที่ตกทอดมาในประวัติศาสตร์นั่นเอง

โลกยังไม่ได้เข้าสู่ยุคสมัยแห่งวัยผู้ใหญ่ โลกยังไม่บรรลุวุฒิภาวะ
โดยสรุป ประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันได้ให้ประสบการณ์กับเราว่า โลกไม่ได้เข้าสู่ยุคสมัยแห่งวัยผู้ใหญ่ที่ก้าวพ้นการไม่บรรลุวุฒิภาวะ เรายังไปไม่ถึงระดับขั้นดังกล่าว ความหวังและการคาดหมายของนักคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง ไม่เป็นจริงในท้ายที่สุด (หรือดังข้อวิพากษ์ของลีโอตารด์(Lyotard )ที่ว่า โครงการของความเป็นสมัยใหม่ที่เชื่อมั่นในการปลดปล่อยมนุษยชาติ ในท้ายที่สุด ได้นำเราไปสู่เอาช์วิทซ์ [Auschwitz] ค่ายกักกันนาซีที่ส่งชาวยิวไปรมควันพิษตาย [ดู Lyotard 1988A:18-19] กล่าวคือ ในความเป็นจริงกลับชี้ทางไปตรงกันข้าม

ฟูโกต์กล่าวว่า "ผมไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า เราจะไปถึงความเป็นผู้ใหญ่ที่บรรลุวุฒิภาวะขั้นนั้นได้หรือไม่" [Foucault 1984C: 49] เทคโนโลยีต่างๆ ที่ดูเหมือนเพิ่มความสามารถให้มนุษย์ กลับนำมนุษย์ไปจองจำอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจอันซับซ้อนขึ้น การดิ้นรนเพื่อเสรีภาพเพื่อให้ได้การเป็นเอกองค์อำนาจในตนเอง ก็เป็นเพียงตัวตนที่ก่อรูปมาทางประวัติศาสตร์ให้เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้นอยู่ และก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เราต้องมาสะสาง แต่เราก็ยังคงสืบทอดการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ตามที่ค้านท์ได้จัดวางแนวไว้ ซึ่งได้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับ "ปัจจุบัน"

แม้ว่าเราจะเลิกคาดหวังในแบบสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง แล้วก็ตาม แต่เรายังรับท่าทีที่วิพากษ์แบบนี้ไว้เป็นเอโธสหรือวิถีดำเนินชีวิต เราใช้มันเพื่อ"เล่น"กับข้อจำกัดของตัวเราเพื่อหาความเป็นไปได้หรือหนทางไปให้พ้นข้อจำกัดเหล่านั้น กล่าวอีกอย่างหนึ่ง เราเลิกมั่นใจในทิศทางที่สกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่างคาดการณ์ไว้ แต่เรายังคงรับท่าทีในแบบที่ให้ความสำคัญกับปัจจุบัน เพราะตัวเราอยู่ตรงนี้ เรายอมรับว่าสำนึกของการเป็นตัวเราที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ถูกก่อรูปมาจากอดีต และอดีตนี้ก็เป็นอดีตเฉพาะคือยุคสมัยทางสังคมภายใต้ความหวังแบบสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง

"เราลองจินตนาการดูว่าหากหนังสือพิมพ์รายคาบ Berlinische Monatschrift (ที่ออกในปลายศตวรรษที่ ๑๘) ยังดำเนินการอยู่ และยังคงถามผู้อ่านว่า "ปรัชญาสมัยใหม่คืออะไร?" บางทีเราอาจต้องตอบแบบสะท้อนกลับว่า ปรัชญาสมัยใหม่ก็คือ ความพยายามที่จะตอบคำถามที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างไม่ฉลาดนักเมื่อสองศตวรรษที่ผ่านมาที่ว่า Was ist Aufkarung? อะไรคือการสว่างวาบทางปัญญา?" [Foucault 1984C: 32]

คำถามที่ปรัชญาสมัยใหม่ยังไม่สามารถตอบได้ และยังไม่อาจกำจัดออกไปได้เช่นกัน ได้ถูกถามซ้ำในรูปแบบต่างๆ มาร่วมสองร้อยปี และมีส่วนในการกำหนดว่าเราเป็นอะไร เราคิดอะไร และเราทำอะไรในทุกวันนี้? ฟูโกต์คิดว่า ภารกิจการวิพากษ์อย่างที่เขาได้กระทำ เพื่อสืบค้นให้เห็นการก่อรูปเป็นตัวเรานี้ จะขึ้นกับการตรวจสอบจากการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม กล่าวคือ เราจะเห็นความเป็นไปได้ของการไปพ้นขีดจำกัดดังกล่าวได้ ด้วยการวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์ดังที่ได้กล่าวมา

ความแตกต่างของความเป็นเหตุผล ๓ นัย
เมื่อเรากล่าวถึง "ความเป็นเหตุผล" เราหมายถึงอะไร?
ริชาร์ด รอร์ตี [ในRorty 1992] ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า อย่างน้อยเราอาจเข้าใจความเป็นเหตุผลได้ถึง ๓ นัย ดังนี้

แบบ R1 เป็นในแบบที่เรียกว่า "เหตุผลเชิงเทคนิค" หรือบางทีเรียกว่า "ทักษะในการดิ้นรนเอาตัวรอด" อันได้แก่ ความสามารถที่จะจัดการกับสภาพแวดล้อม โดยการกำหนดปฏิกิริยาของตนต่อสิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อมได้ด้วยวิถีทางที่ประณีตและซับซ้อน

แบบ R2 เป็นในแบบที่เป็นส่วนประกอบเพิ่มเข้ามาที่มนุษย์มี แต่สัตว์ต่างๆ ไม่มี การที่เรามีส่วนประกอบนี้เพิ่มเข้ามา เท่ากับเรามีเหตุผลที่จะใช้บรรยายถึงตัวเราเองในความหมายที่แตกต่างจากสิ่งอื่นที่เราเคยบรรยายถึงว่า เป็นองค์อินทรีย์ที่ไม่ใช่มนุษย์

แบบ R3 คือเป็นสิ่งที่มีความหมายคาบเกี่ยวกับ"เสรีภาพ" (ดังเช่นแบบของเฮเกล) อาจใช้แทนกันกับคำว่า"ความใจกว้าง"ก็ได้ กล่าวคือ เป็นความสามารถที่จะไม่ถูกทำให้กระอักกระอ่วนใจโดยความแตกต่างของผู้อื่น การที่จะไม่โต้ตอบอย่างก้าวร้าวกับความแตกต่างดังกล่าว ความเป็นเหตุผลตามนัยนี้จึงมีสถานะเป็นคุณธรรมแบบหนึ่ง

วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นเหตุผล คำว่า"วัฒนธรรม"เอง อย่างน้อยมี ๓ ความหมายเช่นกัน ได้แก่

แบบ C1 ในความหมายว่า ชุดของวิสัยที่มีอยู่ร่วมกันในการกระทำการ วิสัยร่วมกันนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้สมาชิกในชุมชนมนุษย์หนึ่งๆ ไปกันได้กับสมาชิกอื่นๆ และกับสภาพแวดล้อมที่พวกเขาดำเนินชีวิต ในแง่นี้วัฒนธรรมไม่ใช่คุณธรรม และไม่ใช่สิ่งที่คนมีแต่สัตว์อื่นไม่มี ซึ่งมีลักษณะคล้าย R1

แบบ C2 ในความหมายที่เป็นชื่อเรียก"คุณธรรม"ประเภทหนึ่ง บางสิ่งในจำพวก "วัฒนธรรมขั้นสูง" [high culture] อันเป็นผลิตผลโดยรูปแบบจากระบบการศึกษาบางแบบที่มีไว้รองรับสมาชิกสังคมส่วนที่มีฐานะดีและมีเวลาว่าง ตัวชี้การมีวัฒนธรรมตามนัยนี้ก็คือ ความสามารถในการประสมประสานความคิดทางนามธรรม เพื่อเอาความสนุกสนานกับการ"เล่น"กับความคิดเหล่านั้น และความสามารถที่จะถกกันอย่างยืดยาวในเรื่องเกี่ยวกับงานศิลปะหลากประเภทในแง่คุณค่าต่างๆ C2 จึงมักจะไปกันกับ R3

แบบ C3 มีความหมายโดยคร่าวๆ คล้ายกับสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นโดยการใช้ R2 กล่าวคือ เป็นการได้ชัยชนะเหนือสิ่งต่ำช้า, ความไม่มีเหตุผลและสัตว์ โดยอาศัยบางสิ่งที่ถือว่าเป็นของมนุษย์ชาติอย่างเป็นสากล

คนทุกคนหรือทุกวัฒนธรรมจักต้องตระหนักรู้ และให้ความนับถือสิ่งนี้ เป้าหมายของประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็คือ การที่ได้พัฒนาเข้าสู่วัฒนธรรมในความหมายนี้

จารีตทางความคิดทางตะวันตกมักใช้ความเป็นเหตุผลทั้งสามนัยนี้ไปด้วยกัน เช่นถือว่าเรามีเพียงภาษาและเทคโนโลยี เราก็จะได้ในสิ่งที่เราต้องการ และที่ทำได้อย่างมีประสิทธิผลเช่นนี้ก็เพราะเรามี R2 ซึ่งสัตว์อื่นไม่มี R1 ก็อาจไปด้วยกันกับ R3 ยิ่งเราฉลาดในการปรับตัวอยู่รอดได้ผ่านสถานการณ์โดยการเพิ่มขอบข่ายและความซับซ้อนในการตอบรับของเราต่อสิ่งเร้า เราก็ยิ่งมีความใจกว้างต่อคนประเภทอื่นๆ เป็นต้น

เราคงเห็นได้ว่า ความคิดของค้านท์ข้างต้นที่ได้กล่าวมา ใช้ความเป็นเหตุผลแบบ R2 ซึ่งมากันกับการให้ค่าวัฒนธรรมในแบบ C3 ทัศนะแบบ R2 เป็นทัศนะที่มีส่วนสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ลัทธิศูนย์กลางยุโรป" (Eurocentrism) ที่ยึดเอายุโรปเป็นศูนย์กลางเหนือวัฒนธรรมอื่นๆ แต่เราก็ยังอาจรักษาความคิดแบบค้านท์ในเรื่อง "ศักดิศรีมนุษย์" ได้ แม้ว่าจะไม่เอา R2 โดยถือว่าทุกวัฒนธรรมต่างมีคุณค่าซึ่งไม่อาจเอามาเทียบเคียงกัน และใช้ C2 เพื่อสร้างการยกระดับความเข้าใจต่อแต่ละวัฒนธรรม

Evolutionist, Technocratic Pragmatism การสร้างชุมชนระดับโลกที่มีเอกภาพทางการเมือง
สำหรับรอร์ตีแล้ว เขาเห็นว่าเราควรปฏิเสธ R2 และ C3 และเขาขอยึดทัศนะแบบปฏิบัตินิยมที่เน้นการมองมนุษย์ในแบบที่ไม่เป็นสิ่งที่เหนือประวัติศาสตร์ ขณะที่ใช้เหตุผลแบบ R3 ถือความใจกว้างต่อความแตกต่างของวัฒนธรรมอื่น อันเป็นการมองแบบแนวนักวิวัฒนาการ (ทางชีววิทยา เช่น ดาร์วิน) และถือว่าความเชื่อทางวิทยาศาสตร์และศาสนา และศิลปะนั้นเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับสนองตอบต่อความปรารถนา (โดยรวมทัศนะแบบนี้เรียกว่าทัศนะแบบ evolutionist, technocratic pragmatism) ทั้งนี้มี เป้าหมายอยู่ที่การสร้างชุมชนระดับโลกที่มีเอกภาพทางการเมือง [a politically unified global community] (ความคิดส่วนใหญ่ของรอร์ตีในที่นี้ ได้มาจากจอห์น ดิวอี้ [John Dewey] นักปรัชญาสกุลปฏิบัตินิยม ซึ่งรอร์ตียกย่องว่าเป็นพวกสกุลหลังสมัยใหม่ที่มาก่อนสกุลหลังสมัยใหม่ - ดู Rorty 1983 และ Rorty 1996)

อารยธรรมตะวันตกเมื่อได้เผชิญหน้าอย่างท้าทายจากอารยธรรมอื่นๆ ในปัจจุบัน "ความเป็นอื่น" [otherness] นี้ เป็นเสมือนกระจกส่องให้แต่ละวัฒนธรรมย้อนดูตนเอง ในโลกที่มีความหลากวัฒนธรรมดำรงอยู่ การสร้างเอกภาพทางการเมืองย่อมเป็นเรื่องยาก เว้นแต่เราจะปลูกฝังคุณธรรมที่เรียกว่า"ความใจกว้าง" ความข้อนี้ไม่ยากแก่การเข้าใจ

เราจะข้ามทัศนะแบบปฏิบัตินิยมของรอร์ตีไป ประเด็นของเราอยู่ตรงที่การใช้เหตุผลแบบ R2 นั้นสะท้อนให้เห็นได้ชัดในแนวคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง เมื่อนักคิดสกุลหลังสมัยใหม่ {Postmodernism] ปฏิเสธความเป็นเหตุผล พวกเขาเพียงปฏิเสธความเป็นเหตุผลบางแบบ ไม่ใช่ปฏิเสธทุกแบบ จึงไม่ใช่พวกปฏิเสธเหตุผล [Irrationalism] ประเด็นนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญ มิฉะนั้นเราจะเข้าใจความคิดสกุลหลังสมัยใหม่สับสน

สภาพการณ์หลังสมัยใหม่
ความเป็นสมัยใหม่ [Modernity]
ในแง่ของยุคสมัยนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันในสังคมตะวันตกที่นำไปสู่รัฐชาติสมัยใหม่ และระบบการผลิตแบบทุนนิยม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ได้ขยายตัวไปทั่วโลกโดยอำนาจของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เพิ่มอำนาจทางทหารให้กับรัฐชาติทางตะวันตก ด้วยการล่าอาณานิคมเพื่อใช้ขยายตลาดสินค้า (การล่าอาณานิคมมีมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์หลักดักงล่าว) แล้วดึงเอาดินแดนอื่นๆ ทั่วโลกให้เข้ามาอยู่ใต้กระแสเดียวกัน พัฒนาการข้างต้น ไม่ได้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอและเป็นไปในระดับที่เท่ากันทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ลักษณะแบบเชื่อมต่อกันทั้งโลก อย่างน้อยในความหมายของการรับรู้เรื่องราวและการเผชิญปัญหาร่วมได้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา เมื่อมีการปฏิวัติทางเทคโนโลยีข่าวสารขึ้น [ดู บุญส่ง ๒๕๓๗] กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า"ความเป็นหลังสมัยใหม่" [Postmodernity] ก็ได้ขยายวงกว้างแม้ว่าจะมีหน่อเชื้อมาก่อนหน้านี้ การเปลี่ยนย้ายทางมโนทัศน์ในบริเวณต่างๆ ทางวัฒนธรรม ถือเป็นลักษณะหลักของความเป็นหลังสมัยใหม่ ในที่นี้หลังสมัยใหม่มีความหมายแบบหลังสมัยใหม่

กระแสความคิดหลังสมัยใหม่ [Postmodernism]
ได้เริ่มในทางศิลปะก่อน ทางด้านสถาปัตยกรรมซึ่งหันมาสนใจที่จะเรียนรู้กับรูปแบบสิ่งก่อสร้างที่เอารูปแบบจากอดีตมาประสมประสานกับรูปทรงสิ่งก่อสร้างร่วมสมัย ในขณะที่สถาปัตยกรรมในสกุลสมัยใหม่แสดงความรังเกียจต่อสิ่งประดับ(ornaments) จากอดีตดังกล่าว สถาปัตยกรรมแบบหลังสมัยใหม่ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งปลูกสร้างดังแบบที่ปรากฏในเมืองแห่งการพนัน เช่น ลาสเวกัส เป็นสิ่งก่อสร้างที่เราเรียนรู้ได้ [ดูเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมได้ใน Harvey 1989: chapter 4] จากนั้นกระแสแนวคิดนี้ ก็ขยายวงไปสู่ศิลปะแขนงอื่นๆ และครอบคลุมไปถึงงานช่างที่ไม่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นเรื่องศิลปะ ดังเช่น การถ่ายภาพ เพราะมีลักษณะเป็นการถ่ายทอดความเป็นจริงแบบเลียนแบบ อันเป็นแนวทางที่กระแสสมัยใหม่ทางศิลปะปฏิเสธ(การใช้งานถ่ายภาพโพสต์อวัยวะร่างกายจนได้รูปทรงที่แปลกตาไป เช่นงานถ่ายภาพของแมน เรย์ [Man Ray] ถือเป็นงานบุกเบิกสกุลหลังสมัยใหม่ชิ้นสำคัญ)

ศิลปะแนวบุกเบิก เช่น conceptual art หรือ happening art (*) ที่เอาวัสดุทั่วไปมาจัดองค์ประกอบ แล้วแสดงให้ดูโดยอาจทำการแสดงตามข้างถนนก็ได้ ส่งผลกระทบต่อความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นศิลปะ พร้อมๆ ไปกับการท้าทายลักษณะของการอิงสถาบันทางศิลปะ (อันประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ชุมชนนักวิจารณ์และเสพงานศิลปะ ตลาดศิลปะ และมาตรฐานรสนิยมของผู้ชมต่องานศิลปะ) เมื่อมาร์เซล ดูชอมป์ [Marcel Duchomp] (**) เอาโถส้วมไปตั้งเป็นองค์ประกอบของงานศิลป์ เขาได้ท้าทายมโนทัศน์ของความงาม และการนิยามงานศิลปะที่เคยถูกนิยามไว้ในความหมายของการแสดงออกซึ่งอัจฉริยภาพของผู้สร้างงาน

(*) happening art is a performance, event or situation meant to be considered as an art. Happenings take place anywhere(from basements to studio lofts and even street alley ways), are often multi-disciplinary, with a nonlinear narrative and the active participation of the audience. Key elements of happenings are planned, but artists sometimes retain room for improvisation. This new media art aspect to happenings eliminates the boundary between the artwork and its viewer. Henceforth, the interactions between the audience and the artwork makes the audience, in a sense, part of the art.

In the later sixties, perhaps due to the depiction in films of hippie culture, the term was used much less specifically to mean any gathering of interest, from a pool hall meetup or a jamming of a few young people to a beer blast or fancy formal party.

(**) Marcel Duchamp (28 July 1887 - 2 October 1968; French pronunciation: was a French/American artist whose work is most often associated with the Dadaist and Surrealist movements. Duchamp's output influenced the development of post-World War I Western art. He advised modern art collectors, such as Peggy Guggenheim and other prominent figures, thereby helping to shape the tastes of Western art during this period.

A playful man, Duchamp challenged conventional thought about artistic processes and art marketing, not so much by writing, but through subversive actions such as dubbing a urinal "art" and naming it Fountain. He produced relatively few artworks, while moving quickly through the avant-garde circles of his time.

หลังสมัยใหม่: การเปลี่ยนแปลงเหนือประวัติศาสตร์ (metahistorical)
การเปลี่ยนแปลงจากสมัยใหม่สู่หลังสมัยใหม่ในทางศิลปะนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยนัยทางประวัติศาสตร์ จากยุคหนึ่งสู่อีกยุค การที่ยุคหนึ่งได้ชัยเหนืออีกยุค แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกนัยหนึ่งซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับปรัชญา ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงเหนือประวัติศาสตร์ [metahistorical] กล่าวคือไม่ใช่การเปลี่ยนยุคสมัย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจหรือท่าที ดังจะได้กล่าวต่อไป อย่างไรก็ตามก็ดังที่เฟร์รารีส [Maurizio Ferraris] ได้ชี้ไว้ว่า...

"ในปรัชญา พวกนิยมสกุลหลังสมัยใหม่ ได้ย้ำนิยามในแบบเหนือประวัติศาสตร์ของคำ ขณะที่พวกนิยมสกุลสมัยใหม่ มักแสดงแนวโน้มที่จะมองสกุลหลังสมัยใหม่ทางปรัชญาเป็นการอธิบายตัวเองทางประวัติศาสตร์ นี่คือข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดจำนวนมาก" [Ferraris 1992: 15]

Lyotard: สภาพการณ์แบบหลังสมัยใหม่ การเปลี่ยนย้ายญานวิทยาและความศรัทธา
สำหรับฌอง ฟรองซัว ลีโอตารด์ [Jean-Fran?ois Lyotard] แล้วสภาพการณ์แบบหลังสมัยใหม่ก็คือ สภาพการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนย้ายในอย่างน้อยสองระดับสำคัญ

๑. เกิดการเปลี่ยนย้ายจากความพยายามสร้างญาณวิทยาแบบหารากฐานของความรู้ [Foundationalism]
ไปสู่ญาณวิทยาแบบที่ดูความสอดคล้อง [coherence]

๒. การเปลี่ยนย้ายจากความศรัทธาที่มีต่อความก้าวหน้าในการผลักดันสังคมมนุษย์ ไปสู่ความสงสัยต่ออนาคตของมนุษย์

สภาพการณ์หลังสมัยใหม่นี้ ถูกแสดงให้เห็นโดยการ"ระเหิดหาย"ของแนวทางการอธิบายทางสังคมแบบที่เรียกว่าการพรรณนาระดับมหภาค [the grand narrrative] (อภิมหาคำบรรยาย) อันเป็นการวางแนวเล่าเรื่องให้มีเรื่องราวที่เราเอามาจับประวัติศาสตร์ และแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของอดีตที่มีความแน่ชัดและมีอนาคตที่เราทำนายได้

การพรรณนาเชิงปกรณัม - การพรรณาเชิงอภิมหาคำบรรยาย
เพื่อไม่ให้สับสน ขอให้ดูความแตกต่างของการพรรณนาสองแบบ [Lyotard 1988A: 17-21]

๑. การพรรณนาเชิงปกรณัม [mythic narratives]
การพรรณนาแบบนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชุมชนแบบจารีต เป็นสิ่งที่มีเป้าหมายกลับไปหาจุดตั้งต้นที่เป็นรากเหง้า พรรณนาถึงจุดกำเนิดรวมกับเรื่องเล่าสั้นๆ นิทานและตำนาน มุ่งแสดงการมีเอกลักษณ์หรือเป็นพวกเดียวกัน ระหว่างผู้เล่ากับผู้ฟัง และเน้นเรื่องความเชื่อ จึงมีลักษณะเป็นพิธีกรรมด้วย ตัวอย่างเช่น [Lyotard1988A: 43-47]

ชาวอินเดียนเผ่าคาชินาฮัว [Cashinahua] (*) เมื่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับเผ่าหรือตำนานของเผ่าให้เราฟัง โดยการเริ่มเรื่องว่า "นี่คือเรื่องราวของ... ดังที่ตัวข้ามักได้ยินได้ฟังมา ในทางกลับกันข้าก็จะได้เล่ามันให้เจ้าได้ฟัง เอ้าจงฟังซะ!" และในตอนท้ายเรื่องก็จะจบลงด้วยว่า "นี่ก็คือตอนจบของเรื่อง... เขาผู้เล่าเรื่องนี้ให้เจ้าฟังก็คือ... (ชื่อแบบคาชินาฮัว) อันพวกผิวขาวรู้จักกันในนาม... (ชื่อในภาษาสเปนหรือโปรตุเกส)" ในการเล่าเรื่องแต่ละคราวพิธีกรรมทางการพรรณนานี้ก็ได้ผูกชื่อสามชื่อ (ผู้เล่า, ผู้ฟัง, และตัววีรบุรุษในเรื่อง) เข้าด้วยกัน เรื่องเล่านี้จึงมีความชอบธรรมเพราะได้จารึกตัวมันลงในโลกที่มีนามของคาชินาฮัว สายโซ่ของการส่งผ่านดังกล่าวนี้ก็ได้สร้างโลกทางวัฒนธรรมหนึ่งขึ้น การเข้ามาในโลกแห่งนี้ต้องมาโดยการชักนำของการเรียกชื่อเข้าสู่จารีตที่ได้จัดวางมาภายในเรื่องเล่า การเป็นส่วนหนึ่งของโลกคาชินาฮัวจึงเกิดขึ้น และชื่อทั้งสามก็ได้หลบพ้นจากความไม่คงทนและการไม่เป็นอะไร ผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งนี้เท่านั้นที่เป็นคนจริงๆ เป็นส่วนหนึ่งของโลกของชาวคาชินาฮัว

(*) Cashinahua (also spelled Kaxinawa, Kaxynawa, Caxinawa, and Caxinawa), or Hantxa Kuin, is an indigenous American language of western South America which belongs to the Panoan language family. It is spoken by about 1,600 Cashinahua people in Per? along the Curanja and Purus rivers; and in Brazil by 400 Cashinahua people in the state of Acre.

๒. การพรรณนาเพื่อการปลดแอกหรือมหพรรณนา [the narratives of emancipation or metanarratives] เป็นการพรรณนาที่มีเป้าหมายสู่อนาคต ถูกชี้นำโดยตัวความคิดในเรื่องเสรีภาพ "เสรีภาพ"ในสมัยใหม่ก็คือ ความสามารถเชิงอำนาจที่จะสลายภววิสัยเฉพาะลงไปได้ ภววิสัยเฉพาะหรือความเป็นจริงพื้นฐานของสังคมหนึ่งใดในที่นี้ มีจุดมุ่งหมายที่การกำจัดสถาบันในแบบจารีตต่างๆ อันถือได้ว่าเป็นตัวหน่วงเหนี่ยวเสรีภาพ มหพรรณนา(อภิมหาคำบรรยาย)ของสกุลสมัยใหม่ ยังได้สลายผู้คนให้กลายเป็น "มวลชน" อันเป็นสิ่งที่กำเนิดขึ้นมาในยุคใหม่

ในยุคใหม่เช่นเดียวกัน การพรรณนาแบบปกรณัมได้ถูกนำมารับใช้อำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ ดังเช่นกรณีของพวกนาซี ซึ่งอิงการอ้างเอกองค์อำนาจในเรื่องที่มาแต่แรกเริ่ม กล่าวคือ ชาติพันธุ์ดั้งเดิม ชนชาติอารยันเผ่าพันธุ์บริสุทธิแต่เพียงเผ่าพันธุ์เดียว ที่ต้องแปดเปื้อนในปัจจุบัน เพราะการแอบแฝงของเผ่าพันธุ์ที่ด้อยกว่า เช่น พวกยิว พวกสลาฟ อารยันเท่านั้นที่จะรับรองการเป็นอารยันของบุคคลหนึ่งใดได้ การนำความบริสุทธิแต่ดั้งเดิมให้กลับคืนมาใหม่ จึงเป็นภารกิจของเผ่าพันธุ์อันต้องรีบดำเนินการ นี่คือสิ่งที่พวกนาซีใช้อ้างเพื่อให้ความชอบธรรมกับปฏิบัติการของตนเอง

ในกรณีแบบเดียวกันอาจกล่าวได้ว่า การอ้างความเป็นไทยโดยกำหนดให้ผูกติดกับสถาบันทางจารีตบางสถาบัน และใช้เป็นแหล่งรับรองความเป็นไทยให้กับบุคคลใดหรือกลุ่มชนใด รวมทั้งกีดกันผู้ใดออกไป และกำหนดว่าการมีความเป็นไทยนี้ เป็นสิ่งเดียวที่ชักนำคนผู้นั้นให้ดำรงอยู่ในโลกของคนไทยได้ การพรรณนาภายใต้โครงเรื่องแบบนี้เองที่เราพบเห็นอยู่เสมอ ก็คือลักษณะในแบบเดียวกับการพรรณนาแบบปกรณัมที่มุ่งย้อนกลับไปหารากเหง้านั่นเอง คนไทยทั่ว ๆไปจึงเป็นพวกที่มีท่าทีคัดง้างความเป็นสมัยใหม่โดยแท้ ทั้งไม่เป็นพวกสมัยใหม่หรือพวกหลังสมัยใหม่

การพรรณนาไม่ว่าแบบใดนั้นจึงมีบทบาทในการเป็นภาษาที่ใช้อ้างเพื่อให้ความชอบธรรม

เหตุผลนิยมเชิงวิพากษ์ [Critical Rationalism] การมุ่งจัดวางการเมืองแห่งจุลภาควิทยา
ความคิดสกุลหลังสมัยใหม่อยู่ในฐานะที่เป็นหัวหอกบุกเบิกการสะท้อนไตร่ตรองยุคสมัยหรือปัจจุบันของตัวเรา สำหรับลีโอตารด์แล้ว สิ่งที่เขากระทำก็คือ กิจกรรมของเหตุผลนิยมเชิงวิพากษ์ [Critical Rationalism] ที่มุ่งจัดวางการเมืองแห่งจุลภาควิทยา [a "politics" of micrologies] (ดังที่ฟูโกต์ได้ชี้แนวทางไว้ว่า ที่เราทำได้ในการไปให้พ้นข้อจำกัดก็คือการปรับแก้ในบางส่วน) เพื่อสร้างแนวในการต่อต้านอำนาจเบ็ดเสร็จนิยมยุคใหม่ที่ไม่ใช่แบบของพวกนาซี แต่เป็นแบบของทุนนิยมซึ่งเป็นความเป็นจริงในยุคสมัยของเรา (ส่วนแบบของนาซีได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว) และเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากกว่าเพราะ "อาจกล่าวได้ว่า ทุนไม่ต้องการการให้ความชอบธรรม มันไม่ได้กำหนดอะไรเลยในเรื่องพันธกิจตามนัยที่แคบที่สุด และผลที่ตามมาก็คือมันไม่มีความจำเป็นต้องอ้างตัวแทนเพื่อมาสร้างการกำหนดเงื่อนไข ทุนปรากฎในทุกที่ แต่ในฐานะสิ่งจำเป็นไม่ใช่ในฐานะจุดสุดท้าย" [Lyotard 1988A: 59]

ในขณะที่การพรรณนาแบบปกรณัมเช่นของชาวคาชินาฮัวต้องอ้างตัวแทน [instance] คือ ผู้เล่าเรื่อง, ผู้ฟัง, และตัววีรบุรุษในเรื่องเล่า เพื่อเป็นการเข้าสู่พิธีกรรมชักนำสู่โลกของเผ่าคาชินาฮัว ขณะที่การพรรณนาแบบมหพรรณนาต้องใช้ "ประชาชน" "มวลชน" หรือ "ชนชั้นกรรมาชีพ" เพื่อเป็นตัวแทนของมหากาพย์แห่งการปลดปล่อยจากโลกเก่า แต่สำหรับทุนนิยมกลับไม่ใส่ใจที่จะต้องทำเช่นนั้น การล่มสลายหรือ "ระเหิดหาย" ของการพรรณนาแบบมหพรรณนา(อภิมหาคำบรรยาย)จึงไม่กระทบต่อมัน!

มนุษย์ไม่ได้มีเสรีภาพมากขึ้นตามความคิดสมัยใหม่
เราเริ่มเกิดความสงสัยและไม่เชื่อถือต่อสิ่งที่เรียกว่าผลตามมาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น ประวัติศาสตร์มนุษย์จะต้องพัฒนาไปสู่การมีเสรีภาพของมนุษย์โดยบริบูรณ์ หรือที่ว่า ในท้ายที่สุดกรรมาชีพก็จะนำสังคมไปพ้นทุนนิยมสู่สังคมอุดมคติได้ เป็นต้น. ปรากฏการณ์ที่เกิดในสองศตวรรษที่ผ่านมากลับชี้ไปในทางตรงกันข้าม หลังปฏิวัติฝรั่งเศส แนวทางแบบจาโคแบง(*) มากับการทำลายล้าง สังคมนิยมโซเวียต ตามมาด้วยค่ายกักกันในไซบีเรีย นอกจากนี้สงครามโลกสองครั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้ชาวอาณานิคมแต่เดิมเป็น "ไท" มากขึ้น นอกจากต้องพึ่งพิงและเดินตามตัวแบบการพัฒนาของโลกตะวันตกเจ้าอาณานิคมแต่เดิม การสงสัยว่า เรากำลังถูกหลอกโดยมหพรรณนา(อภิมหาคำบรรยาย)นี้เอง ที่นำไปสู่การสงสัยต่อความจริงของวาทกรรมแบบนี้

(*) Jacobin, in the context of the French Revolution, was a member of the Jacobin Club (1789-1794). At that time, the term was popularly applied to all promulgators of revolutionary opinions. In contemporary France it refers to the concept of a centralized Republic, with power concentrated in the national government, at the expense of local or regional governments. Similarly, Jacobinist educational policy, which influenced modern France well into the 20th century, sought to stamp out French minority languages that it considered reactionary, such as Breton, Basque, Catalan, Occitan, Alsatian, Franco-Proven?al and Dutch (West Flemish).

Jacobins was the most successful of the clubs in France to plan their own form of actions. They got their name from the former convent of St. Jacob in Paris. The members of the Jacobin club belonged mainly to the less prosperous sections of the society. They included small shopkeepers, artisans as well as servants who worked for daily wages.Their leader was Maxmilian Robespierre. They started wearing long-stripped trousers namely sans-culottes.

นอกจากนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สร้างสภาพการณ์ของโลกปัจจุบันก็กลับไม่ได้ทำให้มนุษย์เราเป็น "ไท" มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมอำนาจให้สถาบันต่างๆ ที่มนุษย์เราได้สร้างขึ้น มีอำนาจทำการจองจำเราไว้ได้อย่างแยบยลและยากที่จะหลีกพ้น มนุษย์ "ก้าวหน้า" ขึ้นจริงหรือ?

การแผ่ขยายของข้อสงสัยดังกล่าวและความไม่มั่นใจดังกล่าวนี้เอง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสภาพการณ์แบบหลังสมัยใหม่ นอกไปจากความไม่มั่นใจว่า เราจะหาสิ่งที่เป็นรากฐานของความรู้ได้ หรือจำเป็นต้องให้มีรากฐานดังกล่าว กระแสสกุลหลังสมัยใหม่จึงเป็นการทดลองเพื่อหาหนทางไปพ้นสภาพการณ์อันน่ากระอักกระอ่วนใจดังกล่าว

ท่าทีแบบหลังสมัยใหม่
ในแง่หนึ่ง "ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า สกุลหลังสมัยใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของพวกสมัยใหม่" [Lyotard 1988A: 12] ในข้อเขียนที่ชื่อว่า "Rewriting Modernity" [Lyotard 1988B] หลังจากแยกความหมายสองประการของ"การเขียนขึ้นใหม่" ซึ่งความหมายแรกคือ "การกลับสู่จุดตั้งต้น" และความหมายที่สองคือแบบที่ฟรอยด์เรียกว่า a "working through"[Durcharbeitung] ในจิตวิเคราะห์ อันได้แก่ความต้องการที่จะจำได้ ที่จะรวบรวมเวลาที่ถูกตัดออกเป็นส่วนเสี้ยวและยังไม่ถูกควบคุม กล่าวคือ เข้าไปสู่สิ่งที่หลบซ่อนไปจากเรา ไม่ใช่แค่โดยอคติในอดีต ลีโอตารด์ได้โยงกลับมาสู่ความเข้าใจที่มีต่อความคิดสกุลหลังสมัยใหม่ที่ว่า เป็นการเขียนสกุลสมัยใหม่ขึ้นใหม่ ในความหมายที่ว่า การจำได้ไล่กลับไปถึงตรงจุดที่แสดงให้เห็นถึงอาชญากรรม, บาป, ความหายนะที่ถูกก่อเกิดขึ้นมาโดยการก่อตั้งสมัยใหม่ รวมถึงว่า ในท้ายที่สุดสามารถเผยให้เห็นถึงชะตากรรมที่การเสี่ยงทายเพื่อทำนาย ณ ตอนตั้งต้นความเป็นสมัยใหม่ได้มีการเตรียมการไว้ และจะให้ประสบผลเป็นจริงในประวัติศาสตร์ของเรา

ความหมายนี้เองก็เป็นการติดกับดัก เพราะการสืบค้นกลับไปหารากเหง้าของชะตากรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวชะตากรรม และคำถามถึงจุดตั้งต้นของพล็อตเรื่องเองที่เสนอเข้ามาในตอนท้ายเรื่อง ก็เป็นเพียงแค่ตัวก่อรูปจุดจบเท่านั้น กล่าวได้ว่า ตามความหมายนี้ที่มุ่งกลับไปหาจุดกำเนิดของอาชญากรรมที่ถูกกำหนดไว้ทำให้เราไม่อาจพูดถึง "อาชญากรรมโดยบริบูรณ์" ได้ เพราะไม่มีอาชญากรรมใดที่ไม่เป็นที่รู้จักกันมาก่อนหน้านี้ ความลับจะไม่เป็นความลับโดยแท้จริงได้หากไม่มีใครรับรู้ว่ามันเป็นความลับ [Lyotard 1988B: 27] ตรงนี้เป็นความขัดแย้งในตัวเอง

ทำความเข้าใจคำว่า "Post-" ตามแนวคิดของ Lyotard
ในความหมายหนึ่ง คำว่า "หลัง-[Post-]" ในกรณีของหลังสมัยใหม่ที่ใช้หมายถึง ชี้การเข้ามาแทนที่ การกำหนดทิศทางใหม่จากที่มีมาก่อนหน้านี้ และดังนั้นจึงเป็นการแตกหักจากจารีตและมุ่งสร้างวิถีใหม่ขึ้นแทนโดยบริบูรณ์ ในความหมายนี้ซึ่งเป็นการลำดับเหตุการณ์อย่างเป็นแนวตรงเป็นนิยามในแบบสมัยใหม่โดยตัวมันเอง(อะไรที่แตกหักกับอดีตถือเป็นสมัยใหม่ ดังนั้นในเวลานี้เรากำลังแตกหักกับแนวคิดสมัยใหม่ ที่เรากำลังทำอยู่นี้จึงเป็นการทำแบบสมัยใหม่นั่นเอง) จึงไม่ใช่ความหมายที่ต้องการ. ลีโอตารด์ยังเห็นด้วยว่า ที่จริงแล้วการอิงความหมายข้างต้น เป็นเพียงวิถีของการลืมหรือเก็บกดอดีตเท่านั้น กล่าวคือ เป็นการย้ำซ้ำอดีต แต่ไม่อาจไปพ้นจากมัน

ส่วนความหมายของคำว่า "หลัง-" สำหรับสกุลหลังสมัยใหม่นั้นก็คือ แบบเดียวกับ "ana-" ในชุดของคำจำพวก (การวิเคราะห์ -การแยกส่วนทั้งหมดเป็นส่วนๆ เพื่อเข้าไปตรวจสอบลักษณะ การทำหน้าที่ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นต้น) analysis, (การรำลึกเหตุการณ์ในอดีตได้) anamnesis, (การนำขึ้นมาให้เห็น) anagogy, (การจับเป็นรูปขึ้นมาใหม่) anamorphosis ซึ่งเป็นการเสริมเติมให้กับ (การลืมจุดตั้งต้น) an "initial forgetting" [Lyotard 1988A: 80] กล่าวโดยสรุป

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (technoscience) ทำให้ความป่วยทางสังคมหยั่งรากลึก
"ตัวผมเองได้ใช้คำ 'หลังสมัยใหม่' ในวิถีทางแบบสะกิดเบาๆ ในการจัดวาง (หรือการเอาเข้าแทนที่) ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องความรู้ ให้ปรากฏในแสงไฟที่ฉายส่อง(เน้น). ความเป็นหลังสมัยใหม่ไม่ได้หมายถึงยุคสมัยใหม่ แต่เป็นการเขียนบางลักษณะที่ความเป็นสมัยใหม่ได้อ้างเอาไว้ และโดยเฉพาะต่อข้ออ้างของความเป็นสมัยใหม่ที่วางฐานความชอบธรรมไว้ที่โครงการในการปลดปล่อยมนุษยชาติโดยรวมโดยผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทว่าดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การเขียนขึ้นใหม่ดังกล่าวนี้ ได้ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลาที่ยาวนานในบัดนี้ในตัวความเป็นสมัยใหม่เอง" [Lyotard 1988B: 34]

พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ลีโอตารด์เรียกว่า technoscience อันหมายถึงเครือข่ายขนาดมหึมา) กลายเป็นเครื่องมือให้ความป่วยทางสังคมหยั่งลงลึกมากกว่าที่จะบรรเทาลง จนเราไม่อาจเรียกการพัฒนาว่าความก้าวหน้าได้อีกต่อไป วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหล่านี้ก็เสมือนมีกลไกขับเคลื่อนที่เป็นอิสระจากเรา มันไม่ตอบสนองกับความต้องการของมนุษย์อีกต่อไป ยิ่งกว่านั้นมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของปัจเจกบุคคลหรือเชิงสังคมโดยรวม ก็ดูเหมือนจะถูกทำให้ไร้เสถียรภาพโดยผลและจากตัวการพัฒนาเอง "เราอาจกล่าวได้ว่า สภาพการณ์ของมนุษยชาติได้กลายเป็นสภาพการณ์หนึ่งในการไล่กวดตามกระบวนการสั่งสมวัตถุใหม่ๆ (ทั้งในเชิงปฏิบัติและในเชิงความคิด)" [Lyotard 1988A: 78]

ความล้มเหลวของสิ่งที่เรียกว่า "โครงการของความเป็นสมัยใหม่"
เราได้เป็นประจักษ์พยานต่อความล้มเหลวของสิ่งที่เรียกว่า "โครงการของความเป็นสมัยใหม่" [the project of modernity] ที่อ้างการดำเนินภายใต้หลักการเพื่อมวลมนุษยชาติ มนุษยชาติต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายของความซับซ้อน เราเป็นดั่งกัลลิเวอร์ในนิยายที่ประเดี๋ยวตัวเราก็ใหญ่ไป อีกประเดี๋ยวตัวเราก็เล็กลง และไม่เคยมีขนาดตัวที่พอดี เราต้องเผชิญการท้าทายที่น่าสะพรึงกลัวต่อความอยู่รอดของตัวมนุษยชาติเอง ความต้องการความมั่นคง การมีเอกลักษณ์ และความสุข ซึ่งมาจากการที่เราเป็นสิ่งมีชีวิตและเป็นสิ่งทางสังคม มาบัดนี้ดูจะไม่ไปกันกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

ลีโอตาร์ดเห็นว่า ภารกิจสำคัญในปัจจุบันของเราคือ การโจมตีการหลงตัวเองของมนุษยชาติ [humanity's narcissism] [Lyotard 1988A: 85] ที่มากันกับมหพรรณนา(อภิมหาคำบรรยาย)ที่ดำเนินมาแล้วร่วมสองศตวรรษ ภารกิจสำคัญในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องของการทำให้มนุษยชาติเชี่ยวชาญในการปรับตัวเองเข้ากับวิถีในการรู้สึก, ในการเข้าใจและกระทำการภายใต้ความซับซ้อนอย่างยิ่งที่เราจำต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

นอกจากนี้ลีโอตารด์ยังเสนอให้เรามองถึงความหลากหลายของการอ้างที่หลากหลายในการเป็นความรู้ ซึ่งหมายถึงการยอมรับว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่ในสถานะที่มีสิทธิพิเศษกว่าการอ้างอื่นๆ ตรงนี้ลีโอตารด์เห็นด้วยกับข้อเสนอของพอล ฟายราเบินด์ [Paul K.Feyerabend] ที่ว่า วิทยาศาสตร์กับการสว่างวาบทางปัญญาไม่ใช่สิ่งที่ต้องมีเอกลักษณ์ร่วมกัน [ดู Feyerabend 1975]

โลกที่น่าสะพรึงกลัว
ในสังคมวิทยา ความเป็นหลังสมัยใหม่ถูกมองในฐานะที่เป็นการเปลี่ยนย้ายเชิงสถาบันในระดับมหภาค เราอยู่ในกระบวนการของการปรับให้เป็นยุคหลังสมัยใหม่ [Postmodernization] สถาบันแบบเดิมๆ กำลังสลายตัวลง รูปแบบใหม่ๆ ของสถาบันแบบใหม่ได้เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น จินตภาพของเราที่มีต่อสังคมมนุษย์โดยรวมกำลังเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้มากับความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารได้สร้างผลกระทบด้านลึกต่อเรา ผลดังกล่าวนี้มีหลายประการ ในที่นี้เราจะกล่าวถึงเพียงบางประการสำคัญที่นักคิดสกุลหลังสมัยใหม่เน้น

ความเป็นเอกของเวลาจริง [the primacy of real time] เราเริ่มพูดถึงกันบ่อยขึ้นถึงการก้าวเข้าสู่สังคมข่าวสาร การที่โลก"เล็ก"ลงจนดูเสมือนเราอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน แล้วเฝ้าดูความเป็นไปของกันและกันได้อย่างใกล้ชิด. กระแสของโลกาภิวัตน์โดยความเป็นจริงไม่ใช่พื้นที่ในโลกแคบเข้า แต่เป็นเรื่องการสื่อสารข่าวสารที่รวดเร็วขึ้น อันทำให้ระยะห่างลดความหมายลง หมู่บ้านโลกในที่นี้จึงเป็นเรื่องความรู้สึกและความสำนึกถึงความไม่แตกต่างของระยะทาง แม้ว่าในความเป็นจริงพื้นที่ยังคงทิ้งระยะห่างจากกันดังเดิมก็ตาม

ในโลกของการสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์ โลกเสมือนจริง [virtual world] ได้ถูกสร้างขึ้น พื้นที่ในโลกซึ่งไม่มีอยู่จริง ณ ที่ใดนอกจากบนจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเพียงตัวเชื่อมต่อพื้นที่ที่เรียกว่าไซเบอร์สเปซ [cyberspace] เท่านั้น สเปซหรือพื้นที่ในที่นี้ไม่ใช่สถานที่ ไม่ใช่ศูนย์ปฏิบัติการใดๆ แต่เป็นเวลา การสื่อสารโดยการลดความต่างของเวลาคือสิ่งที่เราเรียกว่า "เวลาจริง". พอล วิริลิโอ [Paul Virilio] ได้ชี้ว่า …

"ไซเบอร์สเปซเป็นรูปแบบใหม่ของภาพทัศน์ มันไม่ได้เป็นภาพทัศน์ทางโสตทัศน์หรือทางจักษุทัศน์โดยตรงดังที่เรารู้จัก มันเป็นภาพทัศน์ใหม่ที่ปราศจากสิ่งอ้างอิงหรือที่มีลำดับมาก่อน มันเป็นภาพทัศน์ทางการสัมผัส มองเห็นที่ระยะห่าง ได้ยินได้ฟังที่ระยะห่าง เหล่านี้เป็นพื้นฐานของภาพทัศน์ทางโสตทัศน์และจักษุทัศน์ ทว่าการสัมผัสที่ระยะห่าง รู้สึกที่ระยะห่าง การเปลี่ยนย้ายภาพทัศน์ไปสู่พื้นที่ที่ไม่เคยถูกนำมาประยุกต์เลยก่อนหน้านี้ อันได้แก่ การสัมผัสพบปะ, การสัมผัสพบปะทางอิเล็คโทรนิค, เทเลค็อนแท็ค-โทรสัมผัส" [Virilio 1995: 2]

พัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่า"ทางด่วนข้อมูล" อันเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เชื่อมต่อทั่วโลกและรับส่งสื่อสารแบบสองทาง ในขณะเดียวกัน ได้นำเราเข้าเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ใหม่ กล่าวคือ การไม่รู้จะหันเหไปทางไหน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "การลดทอน- (ความเป็น) สถานการณ์" ["de-situation"] การรับรู้ความเป็นจริงได้ถูกแตกเป็นสองอย่างคือ ความจริงตัวจริง กับความเสมือนจริง เราสูญเสียจุดของการอ้างอิงถึงไป การมีอยู่ก็คือการดำรงอยู่ในที่นี่และเวลานี้ ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างลงลึกต่อเราหลายประการสำคัญดังนี้

๑. การเกิดประชาธิปไตยไซเบอร์ ประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ผูกติดกับนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ ยิ่งพื้นที่กว้างใหญ่ก็ยิ่งเกิดความจำเป็นที่จะต้องใช้ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนผ่านพรรคการเมือง ประชาธิปไตยทางตรงทำได้แต่ในรัฐเล็กๆ เท่านั้น สื่อสารแบบสองทางในไซเบอร์สเปซทำให้เกิดความหวังว่าเราจะสร้างประชาธิปไตยทางตรงในรูปลักษณ์ใหม่ คือไม่ต้องเดินทางไปออกความเห็นและลงคะแนนเสียง เพียงแค่นั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ก็กระทำกิจดังกล่าวได้แล้ว พร้อมไปกับคนอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากเรา สิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยไซเบอร์" หรือ "ประชาธิปไตยเสมือนจริง" นี้ หลายคนเชื่อว่าในท้ายที่สุดจะเข้ามาแทนที่ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน

วิริลิโอเห็นว่า นี่คือครั้งแรกที่ประวัติศาสตร์จะแผ่ทอดออกไปภายใต้กรอบเวลาเดียวกัน กล่าวอีกอย่างหนึ่ง เวลาจริงได้เข้ามาครอบงำพื้นที่จริง "กำจัดระยะห่างและการแผ่กว้าง และได้แทนที่สิ่งเหล่านี้ด้วยระยะเวลา ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่มีช่วงห่างกันน้อยมาก" [Virilio 1995: 3]

๒. การสำลักข่าวสาร ข่าวสารไม่อาจดำรงอยู่โดยปราศจากการให้ข่าวสารลวง รูปแบบของความเป็นไปได้ในการให้ข่าวสารลวงในเวลานี้ ซึ่งไม่ใช่รูปแบบการควบคุมข่าวสารอย่างจงใจก็คือ สิ่งที่เรียกว่า "ระเบิดข่าวสาร" (ซึ่งไอน์สไตนได้เคยคาดการณ์ไว้ว่า จะเป็นระเบิดลูกที่สองตามหลังระเบิดอะตอม) - การสำลักความหมาย หรือการสูญเสียการควบคุมด้วยเหตุผล เราดูได้จากการไร้บูรณภาพที่แผ่ไปสู่ปัจเจกบุคคลที่มาประกอบกันเป็นสังคมของเรา ดังอาการที่แสดงให้เห็นปรากฏผ่านการว่างงานในเชิงโครงสร้าง การทำงานที่บ้านผ่านสื่ออิเล็คโทรนิค การจัดวางทำเลใหม่และการกระจัดกระจายออกไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตัวอาการเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการณ์ที่ปัจเจกบุคคลได้กระจัดกระจายออกไปจากกัน ความสัมพันธ์ทางสังคมได้เปลี่ยนรูปเป็นอีกแบบหนึ่ง

เช่นเดียวกับที่นิวเคลียร์นำความหายนะที่เห็นได้ตามมา การระเบิดของข่าวสารก็ให้ผลทางทำลายล้างไม่ด้อยกว่ากัน พร้อมกันกับที่มีการสร้างเรือ รถไฟ เครื่องบิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราก็ได้ทำให้เกิดเรืออัปปาง รถไฟตกราง เครื่องบินตก และเชอร์โนบิล(โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่ว)... โดยทันใดเช่นกัน วิริลิโอชี้ว่า ในกระบวนโลกาภิวัตน์ของโทรคมนาคม เราก็คาดได้ว่าจะพบอุบัติเหตุในวงกว้าง ตัวสิ่งนี้ยังไม่เป็นที่รู้ชัด แต่เวลาที่ผู้คนพูดกันถึง "การละลายทางการเงิน" ก็คือความเปรียบที่นำมาเทียบกันได้เหมาะ

อันตรายของอุบัติภัยนี้ไม่ใช่มาจากตัวข่าวสาร แต่อยู่ที่ตัวความเร็วสัมบูรณ์ในการประมวลผลโดยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อันได้แก่ อินเตอร์แอ็คทีฟหรือสื่อแบบสองทาง ซึ่งที่จริงก็คือจากตัวเครือข่ายโดยองค์รวม [the Net] ของข่าวสารทางคอมพิวเตอร์ที่หลั่งไหลสู่เรา อันเป็นสิ่งที่เรียกว่าความเบ็ดเสร็จ [totality] เพ็นตากอนหน่วยความมั่นคงทางการทหารของสหรัฐผู้สร้างอินเตอร์เน็ตขึ้นมา ยังสามารถกล่าวถึงมันว่าเป็น "การปฏิวัติในกิจทางทหาร" และกระทั่งกล่าวถึง "สงครามทางความรู้" ซึ่งจะมาแทนที่"สงครามของการเคลื่อนไหว" [Virilio 1995: 4] ในการส่งกำลังรบในแบบเก่า ชัยชนะของสหรัฐในสงครามอ่าวเปอร์เซียนั้น เป็นชัยชนะบนฐานของความเหนือกว่าในด้านข่าวสาร โดยอาศัยเทคโนโลยีล่าสุด กล่าวได้ว่า อเมริกาชนะตั้งแต่ยังไม่ได้ออกรบ

เรากำลังเผชิญหน้ากับการไร้เสถียรภาพในชีวิตประจำวัน และเราต้องการวัฒนธรรมไซเบอร์ [cybercult] กล่าวคือ เทคโนโลยีอิเล็คโทรนิคใหม่ๆ จะมีส่วนเสริมต่อการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หากเราต่อสู้ดิ้นรนโดยแรกสุดกับการสร้างภาพล้อเลียนสังคมโลก ซึ่งเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาโดย ประชาชาติต่างๆ ในขณะที่พวกเขาถูกเหวี่ยงด้วยความเร็วตลอดเวลาอย่างที่ไม่อาจหลีกพ้นได้ให้เข้าสู่การสร้างทางด่วนข้อมูล ประชาธิปไตยไซเบอร์หรือประชาธิปไตยเสมือนจริง [virtual democracy] นี้ โดยความจริงแล้วก็คือ การไม่รู้จะหันเหไปทางไหนทางการเมืองนั่นเอง การขยายตัวของเทคโนโลยีข่าวสารทำให้อำนาจของเรตติงและการหยั่งเสียงเพิ่มพูนขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเกิดประชาธิปไตยจริง

- สภาพการณ์ "หลังการร่ำสุราอย่างหัวราน้ำ" ฌอง โบดริลญารด์ [Jean Baudrillard] ได้เสนอ [ใน Baudrillard 1990] ว่า เราได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่เรียกว่า "หลังการร่ำสุราอย่างหัวราน้ำ"["after the orgy] การร่ำสุราอย่างหัวราน้ำก็คือ ชั่วขณะที่ความเป็นสมัยใหม่ระเบิดใส่เรา ชั่วขณะของการปลดปล่อยในทุกอาณาบริเวณ การปฏิวัติในทุกอาณาบริเวณชีวิตได้เกิดขึ้นจริงและเป็นไปด้วยดี แต่ไม่เป็นไปในวิถีทางที่เราคาดหวัง ความหวังของนักคิดสกุลสมัยใหม่และมหพรรณนา(อภิมหาคำบรรยาย) เรื่องการปลดปล่อยมนุษยชาติ(emancipation)ได้เป็นความจริงแล้วในบัดนี้ ทว่า
ในทุกที่ที่ถูกปลดปล่อยนั้นปลดปล่อยจนกระทั่งเข้าสู่สภาพของการหมุนเวียนตัวมันเองแต่เพียงอย่างเดียว ชะตากรรมของสิ่งที่ถูกปลดปล่อยก็คือ การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างไม่หยุดหย่อน จึงเพิ่มความไม่อาจคาดการณ์หรือกำหนดได้ ไม่มีอะไรหายไปแบบถึงจุดจบโดยการตายไป มีแต่หายไปโดยการแพร่ออกไปหรือโดยการปนเปื้อน อันเป็นรูปแบบของการกระจัดกระจายออกไปแบบภาพแฟรคทัล (fractal) (*) (เวลาเราเอากระจกหลายชิ้นมาเรียงล้อมด้านและนำเศษแก้วสีต่างๆวางลงไปจะเกิดภาพในกระจกแต่ละบานขึ้นเมื่อเราเรียงเศษแก้วนั้นใหม่ ภาพใหม่ก็จะเกิดขึ้นในกระจกแต่ละบานซึ่งก็ต่างสะท้อนภาพที่เกิดในกระจกบานอื่น ภาพก็จะสะท้อนไปมาระหว่างกระจกไม่สิ้นสุด) หรือ"การแพร่กระจายแบบไวรัส"ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันจะผลิตตัวมันเองออกไปไม่สิ้นสุด รูปแบบวัฒนธรรมของเราในปัจจุบันเป็นรูปแบบนี้ คุณค่าต่างๆ ผลิตตัวมันเองในแบบนี้ ดังนั้นจึงไม่มีจุดที่ให้ใช้เป็นตัวอ้างอิงอีกต่อไป ภายใต้ปฏิกิริยาลูกโซ่ดังกล่าวนี่เอง ที่ทำให้การให้ค่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งก็หมายความว่าเราไม่อาจพูดถึง "คุณค่า" ได้อย่างมีความหมายอีกต่อไป



(*) A fractal is "a rough or fragmented geometric shape that can be split into parts, each of which is (at least approximately) a reduced-size copy of the whole," a property called self-similarity. Roots of mathematical interest in fractals can be traced back to the late 19th Century; however, the term "fractal" was coined by Benoit Mandelbrot in 1975 and was derived from the Latin fractus meaning "broken" or "fractured." A mathematical fractal is based on an equation that undergoes iteration, a form of feedback based on recursion.

โบดริลญารด์เรียกวัฒนธรรมในขณะนี้ว่า "วัฒนธรรมฉบับสำเนา" ["culture degree Xerox"] [Baudrillard 1990: 9] ทุกอย่างล้วนเป็นตัวสำเนาและไม่มีตัวจริงให้เอามาตรวจสอบ เราไม่อาจหล่อเลี้ยงความหวังที่จะให้ภาพอุดมคติเป็นจริงขึ้นได้อีกต่อไป เพราะว่าทุกภาพอุดมคติได้บรรลุความเป็นจริงแล้วแต่กลับดูขัดกันที่ยังดูเหมือนเรายังคงดำรงชีวิตอยู่ราวกับไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ที่เราทำได้จึงเป็นแค่ "ทำให้เป็นจริงเกิน" ผ่านการทำเลียนตามไม่รู้จบ ["hyper-realize" them through interminable simulation] ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำอย่างไม่สิ้นสุดไม่ว่าจะเป็นอุดมคติ ความฝันเฟื่อง จินตภาพและความฝัน และเราก็ยังคงต้องผลิตซ้ำชนิดของความไม่แตกต่างที่ไม่อาจหลบเลี่ยงไปได้นี้ต่อไป [โปรดดูเพิ่มเติมใน บุญส่ง ๒๕๓๗ข]

โดยสรุป นักคิดสกุลหลังสมัยใหม่มองยุคปัจจุบันค่อนไปทางหวาดระแวง และเห็นว่าสภาพการณ์อย่างที่เป็นอยู่ มีความเกี่ยวข้องกับมหพรรณนาแห่งการปลดปล่อยอันเป็นสัญญาที่ความเป็นสมัยใหม่มอบให้ มีความแตกต่างกันอยู่บ้างในการประเมินว่าโครงการแห่งความเป็นสมัยใหม่ดังกล่าวประสบผลแค่ไหน ดังกรณีโบดริลญารด์ที่เห็นว่า อุดมคติตามที่โครงการดังกล่าวนี้คาดหวังนั้นได้เกิดขึ้นจริง แต่มันไม่ได้ให้ฉากปิดอันน่าตระการตา เรากลับได้เห็นโศกนาฏกรรมแทน

หลายคนยอมรับสถานะทางสังคมที่ตนมี และแนะให้แสวงหาความหมายจากคุณค่าที่มีฐานบนสังคมนั้น ดังกรณีของรอร์ตี [ดู Rorty 1983] พวกเขามักนำเสนอความคิดในแบบที่อาจดูขัดกันถ้าไม่ตั้งใจอ่านให้ดี ดังที่ยูวร์เก้น ฮาเบอร์มาส [Jurgen Habermas] ได้เขียนไว้ถึงฟูโกต์ ผู้ซึ่งให้อิทธิพลต่อสกุลหลังสมัยใหม่อย่างยิ่งว่า เป็นผู้ที่หลงไหลกับความเป็นภาววิสัยอย่างยิ่ง แต่ก็เข้าไปร่วมอย่างมีอารมณ์ร่วมเข้มข้นต่อความเป็นจริงของปัจจุบัน [ดู Habermas 1984] อันเป็นลักษณะที่ดูขัดกันเอง ท่าทีแบบนี้อาจคลอบคลุมไปกล่าวถึงข้อเขียนในสกุลหลังสมัยใหม่จำนวนมากได้ และตรงนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานหลายชิ้นถูกวิจารณ์ว่าอ่านยาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะสะดุดตามากที่สุดก็คือ การนำเสนอประเด็นอย่างเป็นระบบและคงเส้นคงวา (แม้รูปแบบอาจแปลกตา) แต่กลับเป็นจุดที่มีการเข้าใจกันผิดๆ มากที่สุด ซึ่งอาจเกิดจากการไม่ได้อ่านงานของพวกเขาอย่างจริงจังนั่นเอง

มนุษย์สร้างตัวเอง!
"ประเด็นจึงอยู่ตรงนี้ : วัฒนธรรมแบบมุสลิมยังคงมีความสำคัญต่อผมอย่างยิ่ง แต่มันหาได้เป็นเพียงองค์ประกอบที่ปรับเปลี่ยนตัวผมแต่เพียงองค์ประกอบเดียวเท่านั้น ผมเป็นคนเมือง พวกสมัยใหม่และเป็นพวกสมัยใหม่นิยม ยอมรับความไม่แน่นอนว่าเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่คงที่ การเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงสิ่งเดียวที่แน่นอน ผมไม่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า และได้เป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัย
หนุ่มกระทง ผมมีความต้องการทางจิตวิญญาณ และผมก็หวังว่างานของผมนั้นมีมิติทางศีลธรรมและทางจิตวิญญาณ แต่ผมก็พอใจที่จะพยายามและสนองตอบต่อความต้องการเหล่านี้โดยปราศจากการอาศัยตัวความคิดใดๆ ในเรื่ององค์ผู้ทำให้เคลื่อนหรือพระผู้ตัดสินสูงสุด

กล่าวให้ง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ผมไม่ได้เป็นมุสลิม มันดูประหลาดและไม่เหมาะสมโดยบริบูรณ์ที่จะได้รับการบรรยายให้เป็นจำพวกคนนอกรีตสักจำพวก หลังจากที่ได้ใช้ชีวิตในแบบคนที่นิยมเลือกสรรค่านิยมหลากแหล่ง, พหุนิยมและอยู่ในทางโลก ผมกำลังถูกห่อหุ้มเข้าไป และถูกบรรยายโดยภาษาที่ไม่เหมาะเจาะกับผม ผมไม่ยอมรับการกล่าวหาว่าเป็นประเภทพวกหมิ่นศาสนา ด้วยเหตุว่า,ดังที่ตัวละครบางตัวในหนังสือ The Satanic Verses กล่าวไว้ว่า, "ณ ที่ซึ่งไร้ซึ่งความเชื่อ ย่อมไม่มีการดูหมิ่น" ผมไม่ยอมรับการกล่าวหาว่าเป็นพวกละทิ้งศรัทธา ด้วยเหตุว่าในวัยเป็นผู้ใหญ่ผมไม่เคยรับรองในความเชื่อใดๆ และอะไรที่ใครสักคนไม่เคยรับรองถึง เขาคนนั้นย่อมไม่อาจถูกกล่าวได้ว่าได้ละทิ้งศรัทธาจากสิ่งนั้น อิสลามที่ผมรู้จักยืนยันอย่างแจ่มชัดว่า "ต้องไม่มีการบังคับกันในเรื่องของศาสนา" มุสลิมจำนวนมากที่ผมให้ความนับถือ น่าจักตื่นตกใจด้วยความคิดที่ว่าพวกเขาอยู่ในศรัทธาโดยเพียงเพราะจากคุณค่าของการถือกำเนิด(มาเป็นมุสลิม)แต่เพียงอย่างเดียวแค่นั้น และที่ว่าบุคคลใดก็ตามที่ได้เกิดมาแบบนั้น เขาผู้ซึ่งเลือกเอาอย่างเสรีที่จะไม่เป็นมุสลิม ดังนั้นจึงสมควรถูกประหารให้ตาย"
[Rushdie 1990: 13-14]

ซัลมาน รัชดี นักเขียนชื่อดังผู้ถูกโคเมนีสั่งให้มุสลิมที่พบเขาให้ประหารได้เลย อันเนื่องมาจาก
นวนิยายของเขาเรื่อง The Satanic Verses ซึ่งโคเมนีกล่าวหาว่า เป็นงานเขียนที่ดูหมิ่นศาสนาอิสลาม. รัชดี ได้เขียนข้อเขียนข้างต้นเป็นความเรียงเพื่อชี้แจงต่อคนทั่วไปว่าเขาไม่ได้เป็นมุสลิม แม้ว่าจะเกิดมาในชุมชนดังกล่าว และถูกจัดให้เป็นมุสลิมแต่กำเนิดก็ตาม รัชดีเรียกตัวเขาเองว่าเป็นคนสมัยใหม่และเป็นพวกสมัยใหม่นิยมโดยแท้ เราจะเห็นความคิดภูมิหลังของเขาในเรื่องที่ว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างตัวเอง ซึ่งความคิดดังกล่าวนี้สกุลหลังสมัยใหม่เองก็ได้ย้ำเช่นกันว่า เป็นทางออกหนึ่ง

ตัวเราถูกสร้างโดยประวัติศาสตร์ - การเมืองแบบจุลภาคคือการหลบหลีกจากตัวตัวตนแบบนี้
ตัวเราไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในความว่างเปล่า สำนึกของการเป็นตัวเราเป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมหรือส่งผ่านมาทางสังคม เราจึงเป็นมนุษย์ในมิติของประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ในความหมายว่าร่างกายทางกายภาพของเราอยู่ในกาลวกาศในเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งใดในอดีต แต่เป็นความหมายที่ว่าตัวเราตัวสำนึกของการเป็นตัวตนนี้ เป็นสำนึกของบางสิ่งที่มีประวัติ มีสิ่งที่ถูกให้มาจนกลายเป็นตัวสำนึกว่าเป็นตัวเราดังเช่นที่เป็นอยู่ เช่นเป็นผู้หญิง เป็นชาวพุทธ เป็นคนไทยในศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ และ ยึดค่านิยมแบบคนไทยทั่วไป เป็นต้น ซึ่งที่มาดังกล่าวนี้มีความซับซ้อนไม่ได้เป็นทางตรง แต่ตรงนี้เองก็เป็นตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นเช่นกัน การเมืองของจุลภาควิทยาก็คือการทดลองหาทางหลบออกไปจากตัวตนในแบบนี้ เพื่อให้เราสร้างตัวตนของเราที่เราคาดหมายไว้ได้ เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ดังกล่าวนี้ นี่คือภารกิจที่นักคิดเหล่านี้ทำ. เทียรี อีเกิลตัน [Terry Egleton] วิจารณ์ว่า

"หากไม่มีการกระทำแบบรวมหมู่ดังว่านั้นดูจะเป็นไปได้แล้ว ประวัติศาสตร์ก็จะปรากฏจริงๆ ว่าเป็นแบบสุ่มเอาและไร้ทิศทาง และการอ้างว่าจะไม่มี"การพรรณนาระดับใหญ่"อีกต่อไปนั้น ก็จะเป็นวิถีแบบหนึ่งในท่ามกลางวิถีแบบอื่นๆ ในการกล่าวว่า เราไม่อาจรู้ได้อีกต่อไปว่าจะสร้างการพรรณนาระดับนี้อย่างมีผลได้อย่างไรภายใต้สภาพการณ์เหล่านั้น" [Egleton 1955: 66]

ฟูโกต์, ลีโอตารด์, รอร์ตี, วิริลิโอ และโบดริลญาร์ ได้นำเสนอในทำนองว่า ตราบเท่าที่ยังมีการวิพากษ์ เราก็ยังมีหนทางที่จะหาความเป็นไปได้ในการหาทางออกจากปัญหาปัจจุบัน ตรงนี้เองถือได้ว่าเป็นการตอบข้อวิจารณ์ของอีเกิลตันในลักษณะหนึ่ง แม้ว่าเราจะไม่พึ่งมหพรรณนา(อภิมหาคำบรรยาย)เพื่อปลุกปลอบใจอีกต่อไปก็ตาม ตรงนี้ไม่ใช่การเล่นคำหรือคารม แต่เป็นการย้ำว่า มนุษย์สร้างตนเอง แต่ก่อนที่เราจะสร้างตนเองได้ เราต้องตอบได้ก่อนว่าเราคือใคร เพื่อที่เราจะได้หาภาษาที่เหมาะกับตัวเราเองเพื่อบรรยายตัวเราเอง ซึ่งตรงนี้เองก็เป็นการปลดปล่อยในแบบหนึ่ง

เราจึงน่าจะกล่าวได้ว่าข้อวิพากษ์จากสกุลหลังสมัยใหม่นี้ได้นำเราให้กลับไปคิดอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่งในแนวทางจารีตแบบโสเกรตีสที่ให้ค่ากับความที่ว่า "จงรู้จักตัวท่านเอง!" [Know Thyself]

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารอ้างอิงภาษาไทย

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. ๒๕๓๗ก. "โลกหลังสมัยใหม่ (๕): ความหมายของมนุษย์ในโลกภายใต้เทคโนโลยีข่าวสาร", ไทยไฟแนนเชี่ยล, ๑ มี.ค. ๒๕๓๗.

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. ๒๕๓๗ข. "โลกหลังสมัยใหม่ (๖): เมื่อความชั่วร้ายโปร่งแสงได้, ไทยไฟแนนเชี่ยล, ๔ เม.ย. ๒๕๓๗.

เอกสารอ้างอิงภาษาอังกฤษ

Jean Baudrillard. 1990. THE TRANSPARENCY OF EVIL. London:Verso, 1993.

Terry Eagleton. 1995. "Where Do Postmodernists Come From?", MONTHLY REVIEW 47, No.2, July/August, 1995, pp.59-70.

Maurizio Ferraris. 1992. "Postmodernism and the Deconstruction of Modernism" in THE IMMATERIAL SOCIETY. [Englewood Cliffs, New Jersy: Prentice Hall, 1992]

Paul K.Feyerabend. 1975. "How to Defend Society Against Science" in J. Perry and M.Bratman [Eds.] INTRODUCTION TO PHILOSOPHY: CLASSICAL & COMTEMPORARY READINGS [New York: Oxford University Press, 1986]

Michel Foucault. 1961. MADNESS AND CIVILIZATION. [New York: Vintage, 1988]
Michel Foucault. 1963. THE BIRTH OF THE CLINIC. [New York: Vintage, 1975]
Michel Foucault. 1966. THE ORDER OF THINGS. [New York: Vintage, 1994]
Michel Foucault. 1969. THE ARCHAEOLOGY OF KNOWLEDGE.[London: Tavistock, 1972]
Michel Foucault. 1971. "Nietzsche, Genealogy, History" in LANGUAGE, COUNTER-MEMORY, PRACETICE. [Ithaca,New York: Cornell University Press, 1996]

Michel Foucault. 1975. DISCIPLINE AND PUNISH: The Birth of The Prison.[Middlesex: Penguin, 1982]
Michel Foucault. 1976. THE HISTORY OF SEXUALITY Vol.1: An Introduction. [New York: Vintage, 1990]
Michel Foucault. 1984A. THE USE OF PLEASURE: THE HISTORY O SEXUALITY Vol.2.
[New York: Vintage, 1990]

Michel Foucault. 1984B. THE CARE OF THE SELF: THE HISTORY O SEXUALITY Vol.3.
[New York: Vintage, 1988]

Michel Foucault. 1984C. "What Is Enlightenment?" in Paul Rabinow[Ed.] THE FOUCAULT READER. [New York: Pantheon, 1984]

Jurgen Habermas. 1984. "Taking Aim at the Heart of the Present" in David Couzens Hoy[Ed.] FOUCAULT: A CRITICAL READER. [London: Basil Blackwell, 1991]

David Harvey. 1989. THE CONDITION OF POSTMODERNITY. [London: Basil Blackwell, 1991]

Martin Jay. 1996. "From Modernism to Post-Modernism" in C.W. Blanning[Ed.] THE OXFORD ILLUSTRATED HISTORY OF MODERN EUROPE. [London: Oxford University Press, 1996]

Friedrich Kerst and Henry E.Krehbiel[Eds.] 1964. BEETHOVEN: THE MAN AND THE ARTIST, AS REVEALED IN HIS OWN WORDS. [New York: Dover, 1964]

Immanuel Kant. 1992. PERPETUAL PEACE AND OTHER ESSAYS. [Indianapolis, Cambridge:Hackett,1992]

Jean-Francois Lyotard. 1988A. THE POSTMODERN EXPLAINED. [Minneapolis, London: University of Minnesota Press,1992]
Jean-Fran?ois Lyotard. 1988B. THE INHUMAN. [Cambridge: Polity, 1993]

Richard Rorty. 1983. "Postmodernist Bourgeois Liberalism" in Thomas Docherty[Ed.] POSTMODERNISM : A READER. [New York,London:Harvester Wheatsheaf, 1993]

Richard Rorty. 1992. "A Pragmatist View of Rationality and Cultural Difference" PHILOSOPHY EAST & WEST 42, No.4 [October, 1992.] pp. 581-596.

Richard Rorty. 1996. "Something to Steerby", LONDON REVIEW OF BOOKS, 20 June 1996, pp.7-8.
Salman Rushdie. 1990. IN GOOD FAITH. [U.S.A.: Granta,1990]

United Nations. 1988. THE INTERNATIONAL BILL OF HUMAN RIGHTS.[Geneva:United Nations,1988]

Paul Virilio. 1995. "Red alert in cyberspace!", RADICAL PHILOSOPHY 74, November-December, 1995, pp.2-4.

Sharon Zukin. 1992. "Doing postmodernism: A forum", THEORY AND SOCIETY 21, 1992, pp.463-465.

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกกลับไปทบทวน ตอนที่ ๑

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com