1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
ตัวเราไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในความว่างเปล่า สำนึกของการเป็นตัวเราเป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมหรือส่งผ่านมาทางสังคม เราจึงเป็นมนุษย์ในมิติของประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ในความหมายว่าร่างกายทางกายภาพของเราอยู่ในกาลวกาศในเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งใดในอดีต แต่เป็นความหมายที่ว่าตัวเราตัวสำนึกของการเป็นตัวตนนี้ เป็นสำนึกของบางสิ่งที่มีประวัติ มีสิ่งที่ถูกให้มาจนกลายเป็นตัวสำนึกว่าเป็นตัวเราดังเช่นที่เป็นอยู่ เช่นเป็นผู้หญิง เป็นชาวพุทธ เป็นคนไทยในช่วงศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ และ ยึดค่านิยมแบบคนไทยทั่วไป เป็นต้น ซึ่งที่มาดังกล่าวนี้มีความซับซ้อนไม่ได้เป็นทางตรง แต่ตรงนี้เองก็เป็นตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นเช่นกัน การเมืองของจุลภาควิทยาก็คือการทดลองหาทางหลบออกไปจากตัวตนในแบบนี้ เพื่อให้เราสร้างตัวตนของเรา...
10-11-2552 (1764)
บทความปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่
(Postmodernism)
ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่
ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง (๑)
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: เขียน
ภาควิชาปรัชญา
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความเรื่อง"ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่
ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง"นี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ "ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่" และบทความวิชาการชิ้นนี้ได้รับการนำไปอ้างอิงในวารสารทางวิชาการ
และกำหนดให้เป็นบทความอ่านประกอบในหลายรายวิชาในหลายมหาวิทยาลัย
ุ บทความนี้ลงพิมพ์ครั้งแรกใน
วารสารร่มพฤกษ์ (ของมหาวิทยาลัยเกริก) ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๒
(ตุลาคม ๒๕๓๙ - มกราคม ๒๕๔๐) ฉบับ Postmodernism ซึ่งมี อ. เชษฐา พวงหัตถ์ เป็นบรรณาธิการ
เนื่องจากบทความชิ้นนี้มีขนาดยาว และได้มีการเพิ่มเติมเชิงอรรถโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจำนวนหนึ่ง
จึงได้แยกนำเสนอเป็น ๒ ตอน สำหรับนักศึกษาและผู้สนใจ download ในรูปไฟล์เวิร์ด
จะได้บทความสมบูรณ์ทั้งฉบับ
โดยไม่ได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน
(แต่จะไม่มีภาพประกอบบทความบรรจุอยู่)
หัวข้อสำคัญของบทความ"ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่"ประกอบด้วย
- ปีศาจแห่ง Postmodernism
- กระแสแนวคิดแบบ the Enlightenment
- คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา
- คำปรารภของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
- เบโธเฟน ผู้เรียกตนเองว่าเป็นคนสมัยใหม่ [the modern]
- ความกล้าหาญ เสรีภาพ ทำให้เกิดความก้าวหน้า - กฎธรรมชาติกำกับธรรมชาติ กฎศีลธรรมกำกับมนุษย์
- การบรรลุวุฒิภาวะ: การใช้ความเข้าใจของตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยการชี้นำจากผู้อื่น
- การใช้เหตุผลแบบส่วนบุคคล การใช้เหตุผลแบบสาธารณะ
- ยุคสมัยหนึ่งไม่อาจผูกมัดตนเอง การผูกมัดฯ คืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
- ท่าทีแบบสมัยใหม่ - ฟูโกต์ชี้ "ทางออก" ของค้านท์ ถูกนำเสนออย่างคลุมเครือ
- เราสามารถรู้อะไรได้บ้าง เราสามารถทำอะไรได้บ้าง และเราสามารถคาดหวังอะไรได้บ้าง?
- ความเป็นสมัยใหม่ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง
- ฟูโกต์: ท่าทีแบบสมัยใหม่มองผ่านความคิดในข้อเขียนของโบดิแลร์
- การไปให้พ้นข้อจำกัดของตัวเรา
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "ปรัชญาหลังสมัยใหม่")
สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๖๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน
๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๓ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่
(Postmodernism)
ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่
ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง (๑)
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: เขียน
ภาควิชาปรัชญา
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทคัดย่อ
แนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่ [Postmodernism] ไม่ใช่แนวคิดของกลุ่มคนที่ไม่มีเหตุผล
หรือใครก็ได้ที่ไม่ยึดเหตุผลก็จัดเข้ากลุ่มแนวคิดนี้ ในแง่หนึ่งสกุลแนวคิดดังกล่าวเป็นการนำความคิดในแนวแบบสกุลสมัยใหม่
[Modernism] มาพิจารณาใหม่ และใช้ฐานการวิพากษ์คนละฐานกับแนวคิดแบบก่อนสมัยใหม่หรือแนวต้านสกุลสมัยใหม่
เมื่อพิจารณาจากแง่ของปรัชญา แนวคิดสกุลนี้จึงทำหน้าที่หรือมีบทบาทแบบ skeptic
(*) วิพากษ์ความเชื่อของความคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง [the
Enlightenment] ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเป็น "ปัจจุบัน"ของเรา มโนทัศน์สำคัญที่ปรากฎในข้อเขียนในแนวนี้
ดังเช่น "ความเป็นอื่น [otherness]" "วาทกรรมทางอำนาจ [power-discourse]"
เป็นต้น มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ให้เห็นถึงการเป็น"ตัวตน"หรือ
"ตัวเรา" [the subject or self] แนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่จึงได้ชักนำเราให้กลับไปคิดอย่างจริงจังในเรื่องที่ว่าเราเป็นใคร?
จึงเป็นการต่อจารีตแบบโสเกรตีสที่ให้ความสำคัญกับการ "รู้จักตัวท่านเอง"
[Know Thyself]
(*) Contemporary skepticism (or scepticism) is loosely used to denote any questioning attitude, or some degree of doubt regarding claims that are elsewhere taken for granted. In classical philosophy, skepticism (or scepticism) is the teachings and the traits of the 'Skeptikoi', a school of philosophers of whom it was said that they 'asserted nothing but only opined.' (Liddell and Scott) In this sense, philosophical skepticism, or Pyrrhonism, is the philosophical position that one should suspend judgment in investigations.
คำสำคัญ แนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่;
แนวคิดแบบสกุลสมัยใหม่; แนวคิดแบบก่อนสมัยใหม่หรือแนว
ต้านสกุลสมัยใหม่; บทบาทแบบ skeptic; ความคิดของสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง;
ความเป็น"ปัจจุบัน"; ความเป็นอื่น; วาทกรรมทางอำนาจ; การเป็น"ตัวเรา";
จารีตแบบโสเกรตีส
ปีศาจแห่ง Postmodernism
ผู้ที่ติดตามอ่านวารสารวิชาการทางสังคมศาสตร์ที่เป็นภาษาอังกฤษคงได้เห็นปรากฎการณ์เดียวกันกับที่แชรอน
ซูกิน [Sharon Zukin] บรรณาธิการพิเศษของวารสาร THEORY AND SOCIETY (ฉบับพิเศษ
"A Forum on Postmodernism") ได้เขียนไว้ว่า
"ในอดีตหลายปีมานี้ วารสารทางสังคมศาสตร์ทุกฉบับต่างท่วมท้นไปด้วยข้อเขียนเกี่ยวกับแนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่ [Postmodernism] หากตัวผู้เขียนไม่ได้กำลังอธิบายความหมายของแนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่ พวกเขาก็ต้องกำลังใช้ภาษาของแนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่ และเมื่อไม่นานมานี้เองพวกเขายังได้สร้างจินตภาพซ้ำใหม่เกี่ยวกับแนวปฏิบัติของพวกเขาในสไตล์แบบโพสต์โมเดิร์นตามสมัย..." [Zukin1992: 463]
ดังที่เราต่างรับทราบกัน คำว่าสกุลหลังสมัยใหม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอาณาบริเวณของเรื่องราวดังเช่น วัฒนธรรมและการวิพากษ์วัฒนธรรม, สถาปัตยกรรมและดนตรี, สื่อบันเทิงรูปแบบใหม่ เป็นต้นว่า โทรทัศน์ ภาพยนตร์ นวัตกรรมทางสิ่งประดิษฐ์จำพวกวีดีโอ ซีดี ซีดีรอม ตลอดจนช่องทางการสื่อสารรูปลักษณ์ใหม่ อาทิ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ และที่เรียกว่า"ทางด่วนข้อมูล" เป็นต้น ปริบทที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันในยุคสมัยของเราดังนี้เองที่ดังกล่าวปรากฏการใช้อย่างยอดนิยม ณ พื้นที่ที่เราใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกันนี้ กล่าวคือ ภายใต้สภาวแวดล้อมของชีวิตยุคใหม่ของ "เรา" -มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสังคมแบบเมือง ภายใต้ปริบทที่ปรากฏจิตสำนึกของการเป็น "ตัวเรา" ผู้ใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ ผู้มีแบบแผนการดำเนินชิวิตในรูปแบบหนึ่งใด ผู้มีปฏิสัมพันธ์กับตัว "ผู้อื่น" ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว "ตัวเรา" ผู้เขียนประวัติชีวิตของ "ตน" ด้วยการใช้ชีวิตในพื้นที่ดังว่านี้คืออะไร? นี่คือคำถามหลักที่ชาวสกุลหลังสมัยใหม่ยกขึ้นมาถาม
ขอย้อนกลับไปที่ข้อเขียนของซูกินอีกครั้ง ซูกินอ้างว่าเมื่อดูจากงานค้นคว้าในกระแสนิยมสกุลหลังสมัยใหม่ ในเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมวิทยาระหว่างตัวตนกับสังคม
"ทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่า ตัวเรา [the self] เป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นทางสังคม ทว่าเราไม่อาจหาชุดของมโนทัศน์ที่มีการใช้กันอยู่ก่อนหน้า มาใช้อธิบายได้อย่างเป็นที่ยุติธรรมต่อตัวโครงเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้เพราะ กระบวนการเดียวกันกับที่ผลิตความมีอัตลักษณ์(เป็นตัวเรา)นั้น ได้ผลิตซ้ำใหม่ซึ่งการครอบงำและการแตกให้เป็นส่วนเสี้ยว เพื่อที่จะแสดงถึงตัวกระบวนการ"อย่างเป็นภววิสัย" - ด้วยการถอยตัวทิ้งระยะห่างจากตัวผลนั้น - ก็คือ, โดยกลับกลายเป็นในทางตรงกันข้าม, เพื่อไม่ผ่านการทดสอบความจริง" [ Zukin1992: 463]
ความอับจนในการใช้ชุดมโนทัศน์ทางทฤษฎีหรือเครื่องมือทางการวิเคราะห์ที่มีอยู่ เพื่อใช้วิเคราะห์โครงเรื่องข้างต้นนี้ อันเป็นผลมาจากการที่มโนทัศน์เหล่านั้นเองก็เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้กระบวนการเดียวกับที่สร้างสำนึกของการเป็นตัวตนหรือ "ตัวเรา" การวิเคราะห์ในแนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่จึงได้ถูกเสนอเพื่อเข้ามาแทนที่ ตามความเห็นของซูกิน อิทธิพลจากแนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่ได้ส่งผลให้เกิดการนำเพดานทางความคิดใหม่มาแทนที่ของเก่า [paradigm displacement] ในหลายประการดังนี้
๑. ให้ถือว่าการกำหนด "ตัวตน" หรือ "ตัวเรา" [the "subject"] มาแต่ต้นในฐานะที่เป็นตัวผู้เขียน [author] หรือตัวผู้กระทำการ [actor] ในแบบที่ได้ถูกกำหนดมาก่อนว่ามีเอกอิสระ มีมโนธรรม และมีเหตุผล หรือยิ่งกว่านั้นคือมีความรอบรู้ในทุกสิ่ง เป็นการมองที่มีปัญหา
๒. ให้มองว่า "ตัวตน" เป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดบนฐานของความหลากหลายและการขัดแย้งกัน อันไม่ใช่ "ตัวตน" ที่เป็นสิ่งที่เป็นสารัตถะเดี่ยวที่มีมาก่อน การอธิบายทางสังคมในแบบที่ไม่เป็นระนาบเดี่ยวดังนี้เป็นแนวการอธิบายทางสังคมที่"เหมาะสม"กว่าการอธิบายความสัมพันธ์เชิงสาเหตุในแบบระนาบเดียว [monocausal explanation] ดังเช่นแนววิเคราะห์แบบที่ใช้กรอบกำหนดโดยเศรษฐกิจ [economic determinism] และแนวยึดการอิงโครงสร้างหน้าที่ [functionalism] ซึ่งต่างก็เป็นแนวแบบที่เรียกว่า foundationalism ซึ่งต้องใช้การกำหนดให้มีฐานที่เป็นสารัตถะสำหรับทอนการอธิบายทางสังคมใดๆ ไปสู่ฐานดังกล่าว
๓. ให้ใส่ใจการวิเคราะห์เรื่องวัฒนธรรม "วัฒนธรรมโดยตัวนิยามเอง แสดงให้เห็นทั้งสังคมอุดมคติและสังคมอนาคตแบบน่าสะพรึงกลัว [utopia and dystopia] ทั้งโลกแห่งความฝันและโลกแห่งสินค้า วัฒนธรรมเป็นตัวสื่อและเป็นตัวสื่อสาร ได้รวมเอาทั้ง "ตัวฉัน" และ "ตัวท่าน" เข้ามา และได้นำไปสู่แง่คิดมากมาย ยิ่งกว่านั้น วัฒนธรรมยังเป็นสิ่งที่เห็นได้เช่นเดียวกับปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรและถ่ายทอดด้วยปากและถูกสร้างขึ้นมา และดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์สังคมทำการวิเคราะห์ได้โดยเหมาะโดยตรง"จากชีวิต" [Zukin1992: 463-464] อาณาบริเวณทางวัฒนธรรมนั้นเป็นอาณาบริเวณที่มีความสับสนอลหม่านอย่างยิ่ง ความสับสนอลหม่าน ในอาณาบริเวณนี้เอง ที่เอื้อประโยชน์ทางการวิเคราะห์ในเรื่องการก่อรูปของตัวตน (ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้างต้นนี้ในภายหลัง)
การวิพากษ์ของสกุลหลังสมัยใหม่จึงนับได้ว่าเป็นการวิพากษ์ที่มุ่งรื้อฐานการมองแบบเก่าหลายประการ แนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่จึงเป็นดั่งปีศาจ ที่ปรากฏขึ้นมาหลอกหลอนวงการ พร้อมๆ ไปกับกระแสนิยมและคลั่งไคล้เดินตามแนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่ ผู้ที่ได้ติดตามความเป็นไปในวงการคงเห็นได้ว่า กระแสของการตอบโต้และต่อต้านนั้นได้ปรากฏอย่างไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน มีทั้งที่วิพากษ์กลับอย่างเป็นธรรมและอย่างไม่เข้าใจ จนกระทั่งอย่างบิดเบือน บทความนี้จะได้แสดงให้เห็นว่า นักคิดคนสำคัญบางส่วนที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มแนวคิดนี้ มีความเข้าใจต่อสถานะของแนวคิดดังกล่าวเช่นไร เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากแนวคิดสกุลนี้ และข้อวิพากษ์ของพวกเขาต่อแนวคิดสกุลสมัยใหม่เมื่อเราได้นำมาพิจารณากันแล้วใช้ได้หรือใช้ไม่ได้อย่างไร?
กระแสแนวคิดแบบ the Enlightenment
คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา
ในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา (๔ กรกฎาคม ๑๗๗๖) มีความขึ้นต้นดังต่อไปนี้
"ในระหว่างวิถีดำเนินของเหตุการณ์ของมนุษย์ เมื่อเป็นที่ปรากฏว่าเป็นความจำเป็นที่ประชาชนเหล่าหนึ่งจำต้องสลายการรวมพวกทางการเมืองอันได้เคยประสานพวกเขาไว้กับอีกพวกหนึ่ง และต้องอ้างเอา ณ ท่ามกลางประดาที่ทรงอำนาจในพื้นพิภพถึงสถานะที่แยกขาดจากกันและเสมอภาคกัน สถานะซึ่งกฎแห่งธรรมชาติและของพระเจ้าแห่งธรรมชาติได้มอบไว้ให้พวกเขา โดยความเคารพอันสมควรต่อความคิดเห็นแห่งมนุษยชาติเรียกร้องว่าพวกเขาสมควรประกาศถึงตัวสาเหตุที่กระตุ้นพวกเขาให้แยกตัวออก -เรายึดถือความจริงดังนี้ว่า เป็นเรื่องประจักษ์แจ้งในตัวเองที่ว่า มนุษย์ทั้งปวงต่างถูกสร้างขึ้นมาให้เสมอภาคกัน ที่ว่าพวกเขาได้รับการประทานจากองค์ผู้สร้าง พวกเขาซึ่งมีสิทธิอันไม่อาจพรากจากเอาไปได้ ที่ว่าสิทธิเหล่านี้ได้แก่ "ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข"
และเพื่อที่จะปกป้องสิทธิดังกล่าว การปกครองจึงถูกจัดตั้งขึ้นในเหล่ามนุษย์ โดยได้มาซึ่งอำนาจอันชอบธรรมจากการยินยอมของผู้อยู่ใต้การปกครอง เมื่อไรก็ตามที่รูปแบบการปกครองหนึ่งใดกลับกลายทำลายเป้าหมายเหล่านี้ จึงเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนหรือล้มล้างรูปแบบการปกครองนั้น และจัดตั้งการปกครองใหม่ จัดวางรากฐานการปกครองไว้บนฐานแห่งหลักการดังกล่าว และดำเนินการจัดการอำนาจการปกครองนี้ภายใต้รูปแบบดังกล่าว เพราะเพื่อพวกเขา มันจักได้ยังผลได้อย่างเต็มที่ต่อความปลอดภัยและความสุขของพวกเขา
จริงๆ แล้ว ความสุขุมรอบคอบจักบงการว่าการปกครองที่ก่อตั้งมายาวนานจักไม่ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยสาเหตุอันอ่อนด้อยและที่เป็นการชั่วแล่น และดังที่ประสบการณ์ทั้งหมดได้แสดงให้เห็นว่า มนุษยชาติยังสมัครใจที่จะทนทุกข์ โดยที่ความชั่วร้ายยังเป็นสิ่งที่ทนรับได้ เสียยิ่งกว่าที่จะแก้ไขตัวพวกเขาเองโดยการล้มล้างรูปแบบ(การปกครอง)ที่พวกเขาคุ้นเคยมา ทว่า ณ ยามที่ขบวนแถวยาวแห่งการกระทำทารุณและการแย่งชิงซึ่งดำเนินตามวัตถุประสงค์เดิมอย่างสม่ำเสมอ ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในเจตนามุ่งหมายที่จะทอนพวกเขาให้ต้องอยู่ใต้เผด็จการรวมศูนย์สัมบูรณ์ จึงเป็นสิทธิแห่งพวกเขา จึงเป็นหน้าที่แห่งพวกเขา ที่จะสลัดการปกครองดังกล่าวทิ้ง และให้มีผู้ปกป้องใหม่เพื่อความมั่นคงในอนาคตของพวกเขา
ดังที่กล่าวมานี้ ได้เป็นการยอมทนอย่างอดกลั้นของอาณานิคมเหล่านี้ และดังที่กล่าวมา ณ บัดนี้ได้เป็นความจำเป็นอันดึงรั้งพวกเขาให้ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแต่ดั้งเดิมของพวกเขาเสีย..." [Encyclopedia Americana Vol.8]
จากข้อความข้างต้น ผู้ร่างคำประกาศดังกล่าวแสดงการยืนยันอะไรบ้าง ในที่นี้เราสามารถสรุปได้ว่า
๑. มนุษยชาติมีบางสิ่งเป็นพื้นฐานร่วมกัน และสิ่งๆ นั้นทำให้มนุษย์ทั้งปวงต่างถือได้ว่าเสมอภาคกัน
๒. สิ่งพื้นฐานดังกล่าวคือ การที่มนุษย์มีสิทธิจำพวกที่ไม่มีผู้ใดมาพรากจากไปได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิด สิทธิพื้นฐานที่เสมือนเป็นสิ่ง"ติดตัว"มากับการเป็นมนุษย์ดังกล่าวนี้ได้แก่ สิทธิในชีวิต, เสรีภาพ, และการแสวงหาความสุข
๓. การปกครองเป็นสิ่งที่มนุษย์ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องหรือให้หลักประกันต่อสิทธิพื้นฐานดังกล่าว
๓.๑ ผู้ปกครองหรือผู้บริหารได้อำนาจการปกครองอย่างชอบธรรม จากการยินยอมของผู้อยู่ใต้การปกครอง
๓.๒ ถ้ารูปแบบการปกครองหนึ่งใดหรือผู้ปกครองหนึ่งใดทำละเมิดเองต่อสิทธิพื้นฐานเหล่านั้นของประชาชน ประชาชนย่อมอ้างเอาสิทธิพื้นฐานเหล่านั้นเพื่อทำการล้มล้างรูปแบบการปกครองหรือผู้ปกครองดังกล่าว และจัดให้มีรูปแบบการปกครองใหม่หรือผู้ปกครองใหม่เข้าแทนที่ได้อย่างชอบธรรม๔. ประสบการณ์มนุษย์ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า มนุษย์มีความสุขุมรอบคอบเป็นสิ่งคอยกำกับไม่ให้ทำการล้มล้างรูปแบบการปกครองหนึ่งใดได้อย่างโดยอำเภอใจ การที่ประชาชนจะถึงขนาดรวมตัวหรือลุกฮือขึ้นมาล้มล้างรูปแบบการปกครองหนึ่งใดที่สืบทอดกันมาดังกล่าว จำเป็นต้องมีสภาพความเป็นจริงพื้นฐานรองรับ และมีความรู้สึกว่าสุดจะทนได้อีกต่อไปแล้ว
คำปรารภของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ขอให้ลองพิจารณาข้อความที่ปรากฏในคำปรารภของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเพื่อเทียบเคียงกัน
"โดยที่การตระหนักรู้ในศักดิ์อันติดตัวมาและสิทธิอันมนุษย์มีเสมอกันและมิอาจพรากจากตัวไปได้
อันเป็นของมวลสมาชิกทั้งปวงร่วมครอบครัวมนุษย์นั้น ถือเป็นรากฐานแห่งเสรีภาพ
ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก
โดยที่ความไม่ใส่ใจและการดูหมิ่นซึ่งสิทธิมนุษยชนได้สำแดงผลเป็นการกระทำอันป่าเถื่อน อันยั่วยุต่อมโนธรรมแห่งมนุษยชาติอย่างรุนแรง และโดยการบรรลุถึงโลกที่มนุษย์จะอยู่อย่างมีความพึงพอใจกับการใช้เสรีภาพในการพูดและในความเชื่อ ตลอดจนเสรีภาพในการไปพ้นจากความกลัวและความต้องการ ได้รับการป่าวประกาศแล้วว่าเป็นความหวังอันสูงสุดแห่งสามัญชน
โดยที่เป็นเรื่องจำเป็น หากว่ามนุษย์จักได้ไม่ต้องถูกบังคับให้ในท้ายที่สุดแล้วต้องใช้วิธีการก่อกบฎเพื่อสู้กับทรราชย์หรือการกดขี่ สิทธิมนุษยชนจักต้องได้รับการปกป้องด้วยหลักแห่งกฎหมาย..."
[United Nations 1988: 21]
เราจะเห็นได้ชัดถึงอิทธิพลที่ตกทอดมาจากคำประกาศอิสรภาพข้างต้น เพียงแต่ไม่มีการอ้างถึงองค์พระผู้สร้างหรือกฎธรรมชาติหรือพระเจ้าแห่งกฎธรรมชาติมาเป็นจุดกำเนิดของการได้สิทธิพื้นฐานดังกล่าว และเพิ่มการย้ำความสำคัญของการตระหนักรู้ในสิทธิพื้นฐานและสิ่งที่เรียกว่าศักดิศรีมนุษย์ว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างเสรีภาพ ความยุติธรรมและสันติภาพในโลก
"มาตราที่ ๑ มนุษย์ทั้งหลายต่างเกิดมามีเสรีและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ พวกเขามีติดตัวมาซึ่งเหตุผลและมโนธรรม และพึงปฏิบัติต่อกันและกันด้วยจิตใจแห่งภราดรภาพ"
"มาตราที่ ๓ ทุกคนมีสิทธิในชีวิต ในเสรีภาพ และในความมั่นคงแห่งบุคคล"
[United Nations 1988: 22]
ในที่นี้เราจะเห็นได้ว่า มีการขยายความเพิ่มเข้ามา ในฐานของการยอมรับในความเป็นมนุษย์กับการมีสิทธิพื้นฐานนั้น ส่วนหนึ่งได้อ้างเอาจากการยึดหลักที่ว่า การเป็นมนุษย์คือการมีคุณสมบัติติดตัวบางประการมาแต่ต้น กล่าวคือ มีสิ่งที่เรียกว่าเหตุผลและมโนธรรม จากตรงนี้เองที่เราแยกการอธิบายเหตุผลได้เป็นสองแบบ
แบบ (ก) เพราะมนุษย์ทุกคนมีเหตุผลและมโนธรรม (แม้ว่าอาจจะมากน้อยต่างกัน) จึงถือได้ว่าเราเสมอภาคกันโดยศักดิศรีและพึงมีสิทธิพื้นฐานเช่นเดียวกัน
แบบ (ข) เพราะต้องอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ เราจึงควรยึดพื้นฐานความเชื่อว่าคนเราเสมอภาคกัน และให้ปฏิบัติจนเป็นปกติวิสัยเช่นนั้น ไม่ว่ามนุษย์ทุกคนจะมีเหตุผลและมโนธรรมติดตัวมาหรือไม่ มากน้อยต่างกันเพียงไร และเมื่อเราจะกำหนดสิทธิพื้นฐานขึ้น คนเราก็ควรจะได้ครองสิทธินี้เสมอกัน
ในแบบ(ก)นั้น เป็นฐานสำคัญส่วนหนึ่งของความเชื่อของนักคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง [the Enlightenment] ที่ตั้งต้นในปลายศตวรรษที่๑๗ และต่อมาจนถึงศตวรรษที่ ๑๘ อันสะท้อนชัดในปรัชญาของอิมมานุเอล ค้านท์ [Immanuel Kant , 1724-1804] [ดู Kant 1992] ส่วนแบบ(ข)นั้น เป็นฐานสำคัญส่วนหนึ่งของ"แนวคิดสกุลหลังสมัยใหม่" [Postmodernism] โดยเราอาจพิจารณาได้ผ่านงานของนักคิดสำคัญผู้หนึ่งในกลุ่มนี้ คือ ริชาร์ด รอร์ตี [Richard Rorty]
เบโธเฟน ผู้เรียกตนเองว่าเป็นคนสมัยใหม่ [the modern]
เบโธเฟน คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมันผู้เรียกตนเองว่าเป็นคนสมัยใหม่ [the modern]
ได้แสดงความเชื่อมั่นต่อเสรีภาพและความก้าวหน้าผ่านจดหมายส่วนตัวหลายฉบับไว้ดังนี้
"เสรีภาพ, ความก้าวหน้า, ก็คือจุดมุ่งหมายของโลกทางศิลปะเช่นเดียวกับในการสร้างสรรค์จักรวาล และหากเราคนสมัยใหม่ไม่มีความอาจหาญดังบรรพบุรุษของเรา ความประณีตทางกิริยาย่อมไม่นำความสำเร็จสู่บางสิ่งอย่างแน่นอน" [จดหมายของเบโธเฟนถึงอาร์ชดยุครูดอล์ฟลงวันที่ ๒๙ กค. ๑๘๑๙ ใน Kerst and Krehbie l1964: 89]
"ศิลปะที่ถูกตามประหัตประหารมักจะหาพบที่หลบภัยเสมอ ไม่จริงหรือที่แดดาลัส [Daedalus] (*) ผู้ถูกคุมขังในเขาวงกตได้ประดิษฐ์ปีกอันนำเขาออกไปสู่อากาศเปิดได้? โอ้ ฉันก็จักหามันให้พบเช่นกันเจ้าปีกเหล่านี้!" [จดหมายเบโธเฟนลงวันที่ ๑๙ ก.พ. ๑๘๑๒ ใน Kerst and Krehbie l1964: 89]
(*) A renowned craftsman, sculptor, and inventor and builder of the Labyrinth. He fashioned the wings with which he and his son Icarus escaped from Crete after their imprisonment by Minos.
"ความกล้าหาญ ,เพื่อว่าจะได้มีความเป็นธรรม, จัก(นำให้เรา)ได้รับทุกสิ่ง"[จดหมายเบโธเฟนเขียนเดือนเมษายน ๑๘๑๕ ใน Kerst and Krehbie l1964: 90]
ความกล้าหาญ เสรีภาพ ทำให้เกิดความก้าวหน้า
(กฎธรรมชาติกำกับธรรมชาติ กฎศีลธรรมกำกับมนุษย์)
ความกล้าหาญที่จะใช้เสรีภาพทำให้เกิดความก้าวหน้า ทัศนะเช่นนี้ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากค้านท์
ในบันทึกการสนทนา เดือนกุมภาพันธ์ ๑๘๒๐ เบโธเฟนได้อ้างถึงคำกล่าวของค้านท์ที่ว่า
"กฎทางศีลธรรมในตัวเรา และฟากฟ้าที่มีดาวดารดาษอยู่เหนือเรา" [Kerst
and Krehbie 1964: 90] ขณะที่กฎทางธรรมชาติกำกับการความเป็นไปในโลกทางธรรมชาติ
กฎทางศีลธรรมก็กำกับการการกระทำของเรา. สำหรับค้านท์แล้ว กฎทางศีลธรรมนี้เป็นสิ่งที่หาพบได้ด้วยตัวเราเอง
เมื่อเราได้ทำบางสิ่งสำคัญอันเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีดีเหนือกว่าองค์อินทรีย์แบบอื่นๆ
การบรรลุวุฒิภาวะ: การใช้ความเข้าใจของตนเอง
โดยไม่ต้องอาศัยการชี้นำจากผู้อื่น
ในความเรียง An Answer to the Question: What is Enlightenment? [1784] ค้านท์เขียนไว้ว่า
"การสว่างวาบทางปัญญา(the Enlightenment)ก็คือ การโผล่ออกมาของตัวมนุษย์จากการไม่บรรลุวุฒิภาวะอันเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้นำมาใส่ไว้กับตนเอง
การไม่บรรลุวุฒิภาวะก็คือความไม่สามารถที่จะใช้ความเข้าใจของเราเองโดยไม่ต้องอาศัยการชี้นำจากผู้อื่น
การไม่บรรลุวุฒิภาวะนี้เป็นสิ่งที่เราใส่เข้ามาให้กับตนเองเมื่อตัวสาเหตุของมันไม่ได้มาจากการขาดความเข้าใจ
แต่มาจากการขาดความตั้งใจและความกล้าหาญที่จะใช้ความเข้าใจ(ของเรา)โดยไม่ต้องอาศัยการชี้นำจากผู้อื่น
Sapere Aude! "จงมีความกล้าหาญที่จะใช้ความเข้าใจของตัวท่านเอง!" -นี่คือภาษิตของแนวคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง"
[Kant 1992: 41]
ค้านท์เห็นว่า เป็นเรื่องง่ายที่จะไม่บรรลุวุฒิภาวะ ถ้าเราทำเพียงหาหนังสือสักเล่มมารองรับเป็นความเข้าใจ หานักบวชสักคนมาช่วยเป็นผู้กำหนดมโนธรรมให้ หาแพทย์สักคนมากำหนดตารางคุมอาหารให้ ตัวเราก็ไม่ต้องพยายามทำอะไรอีก การถอดถอนความไม่กล้าหาญและความเกียจคร้านที่จะใช้การตัดสินใจบนฐานของความเข้าใจของเราเองนี้ ค้านท์เห็นว่าเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไป
"กฎและเกณฑ์ ประดาที่เป็นเครื่องมือช่วยในการใช้ของขวัญที่ธรรมชาติมอบให้มาอย่างมีเหตุผล,
หรืออย่างใช้ผิดทางก็ตาม, เครื่องมือนี้เป็นตัวพันธนาการความไม่บรรลุวุฒิภาวะอย่างถาวร
ผู้ใดก็ตามที่โยนมันทิ้งไป ก็จักทำได้เพียงแค่กระโดดอย่างไม่แน่ใจข้ามคูเล็กๆ
เท่านั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากเขาไม่คุ้นเคยกับประเภทของการเคลื่อนไหวอย่างเสรีดังกล่าวนี้
โดยผลที่ตามมา จึงมีคนจำนวนน้อยที่ทำประสบผลโดยอาศัยการเพาะบ่มจิตใจของตนเอง
ในการทำให้ตัวเขาเองเป็นอิสระจากการไม่บรรลุวุฒิภาวะและการดำเนินตามวิถีดำเนินที่มั่นคง"
[Kant 1992: 41]
แต่กับสังคมโดยรวมแล้ว กลับเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทั้งสังคมเกิดการสว่างวาบทางปัญญา
"จริงๆแล้วหากเพียงแค่ยินยอมให้มีเสรีภาพ การสว่างวาบทางปัญญาก็แทบจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้"
[Kant 1992: 42] ทำไม? ค้านท์ตอบว่า การแพร่ขยายของจิตใจที่ชื่นชมต่อการสว่างวาบทางปัญญาจะเกิดขึ้นโดยพลัน
หากผู้ปกป้อง(หมายถึงผู้เป็นชนชั้นนำในสังคม)แม้เพียงจำนวนน้อยสลัดแอกของการไม่บรรลุวุฒิภาวะทิ้งไปได้
เพราะคนเหล่านี้จะยอมให้ประชาชนมีเสรีภาพในการที่จะโต้แย้ง และด้วยเหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่า
สังคมโดยรวมจะบรรลุสภาวะของการสว่างวาบทางปัญญาได้ช้ากว่าส่วนบุคคล หากผู้ปกป้องเองสลัดแอกไม่ออก
การใช้เหตุผลแบบส่วนบุคคล
การใช้เหตุผลแบบสาธารณะ
ตรงนี้เราต้องมาดูความหมายของการใช้เหตุผลสองรูปแบบก่อน ซึ่งค้านท์ได้จำแนกออกจากกันดังนี้
๑. การใช้เหตุผลแบบส่วนบุคคล คือการทำหน้าที่ตามบทบาทของสถานะของตนเอง เช่นเป็นเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติการบางอย่าง เราก็มีหน้าที่ต้องทำให้เป้าหมายบรรลุ โดยไม่ตั้งคำถามในเรื่องที่ว่าคำสั่งดังกล่าวเหมาะสมแล้ว หรือเป็นประโยชน์แล้วหรือไม่ เราใช้เหตุผลแบบนี้เพื่อช่วยให้เป้าหมายบรรลุ
๒. การใช้เหตุผลแบบสาธารณะ คือการใช้เหตุผลในฐาน(เรียกเป็นภาษาปัจจุบันว่า)นักวิชาการ กล่าวคือ พินิจพิจารณา และเสนอเหตุผลโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว หากพิจารณาแล้วพบว่าไม่เหมาะสม
ตรงนี้ไม่ขัดแย้งกันเองหรือ? เรามีหน้าที่เสียภาษี เราต้องไม่ละทิ้งหน้าที่นี้ เพราะจะทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องแผ่ขยาย แต่เราต้องมีเสรี -อย่างในฐานแบบนักวิชาการ- ที่จะเสนอเหตุผลโต้แย้งว่า ภาษีดังกล่าวไม่เป็นธรรมอย่างไร? เราเป็นทหารได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติภารกิจบางประการ เรามีหน้าที่ดำเนินการให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุได้ เราต้องเชื่อฟัง แต่ในฐานที่ถือเป็นนักวิชาการ(คนทุกคนถือเอาฐานนี้ได้ เมื่อกำลังใช้เหตุผลแบบสาธารณะ) ไม่มีอะไรมารั้งเราไม่ให้เสนอข้อวิจารณ์ความผิดพลาดของคำสั่งการ หรือห้ามการนำเสนอต่อสาธารณะเพื่อตัดสิน
ส่วนบุคคลในที่นี้ก็คือ ส่วนภายในปริบทของการอยู่ในสถานะดังกล่าว บทบาทของเราในส่วนนั้นเราไม่มีเสรี ในที่นี้การใช้เหตุผลก็เพื่อรองรับการทำให้เป้าหมายที่กำหนดมาไว้แล้วบรรลุจุดมุ่งหมาย ส่วนการใช้เหตุผลแบบสาธารณะ เป็นเรื่องของการมีเสรีภาพที่ไม่มีข้อเหนี่ยวรั้งใดๆ ที่จะใช้ความสามารถทางเหตุผลที่เรามีอยู่เพื่อพูดแทนสิ่งที่อยู่ในใจเรา ค้านท์ได้ย้ำให้เห็นความสำคัญของการใช้เหตุผลในแบบหลังนี้ว่า "การใช้เหตุผลแบบสาธารณะของใครก็ตามจะต้องมีเสรีเสมอ และโดยตัวมันเองโดดๆ สามารถนำเอาการสว่างวาบทางปัญญามาสู่มวลมนุษยชาติ" [Kant 1992: 42]
ตราบเท่าที่การใช้เหตุผลแบบส่วนบุคคลยังไม่นำไปสู่ความขัดแย้งตรงกันข้ามกับมโนธรรมของเรา เราก็ยังคงดำเนินบทบาทตามหน้าที่ดังนั้นต่อไปได้ เพราะอาจยังมีสัจธรรมบางอย่างในเรื่องนั้นที่หลบซ่อนเราอยู่ แต่หากเรารู้สึกว่ามันเป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือเห็นว่าขัดกับมโนธรรมของเรา เราก็ควรจะลาออกจากสถานะดังกล่าว ค้านท์ยังย้ำว่า คำสัตย์ปฏิญาณใดๆ พันธสัญญาใดๆ ดังกล่าวที่เจตนาเพื่อกันการสว่างวาบทางปัญญาในลำดับถัดไปไม่ให้เกิดกับมนุษยชาตินั้น ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ว่างเปล่าโดยบริบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการให้สัตยาบันโดยองค์อำนาจสูงสุดใด โดยรัฐสภาหรือโดยสนธิสัญญาสันติภาพใดๆ ก็ตาม
ยุคสมัยหนึ่งไม่อาจผูกมัดตนเอง
การผูกมัดฯ คืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
"ยุคสมัยหนึ่งไม่อาจผูกมัดตนเอง และดังนั้นการวางอุบายที่จะจัดวางให้อีกยุคสมัยที่จะเข้ามาแทนที่ต้องอยู่ในสภาพการณ์ที่ทำให้ยุคสมัยหลังไม่อาจขยายความรู้ออกไป(โดยเฉพาะในที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง)
ที่จะกำจัดความผิดพลาดของตนเอง และที่จะเพิ่มการสว่างวาบทางปัญญาโดยทั่วไป การทำดังนั้นถือเป็นอาชญากรรมต่อธรรมชาติมนุษย์
ผู้ซึ่งชะตากรรมสำคัญมีฐานอย่างแจ่มชัดอยู่บนความก้าวหน้า" [Kant 1992:
43-44]
การสว่างวาบทางปัญญาหรือสภาวะของการบรรลุวุฒิภาวะนี้ จึงเป็นหัวใจอันสำคัญที่สุดสำหรับมนุษยชาติ เป็นเป้าหมายทางสังคมโดยองค์รวมที่ต้องมุ่งไป ซึ่งเราอยู่ในช่วงยุคสมัยเช่นนั้นแล้วหรือ? "หากในบัดนี้ได้ถามว่า "ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่สว่างวาบทางปัญญาแล้วหรือไม่?" คำตอบก็คือ"ไม่ใช่ แต่เรากำลังก้าวสู่ยุคของการสว่างวาบทางปัญญาแล้ว" [Kant 1992: 44]
เราไม่ได้อยู่ในยุคที่บรรลุวุฒิภาวะแล้ว
แต่เราอยู่ในยุคที่กำลังก้าวไปสู่การบรรลุวุฒิภาวะ
สำหรับค้านท์ บัดนี้หนทางได้เปิดแล้วต่อการที่มนุษย์จะก้าวเดินอย่างเสรีในทิศทางดังกล่าว
โดยที่อุปสรรคต่อการไม่บรรลุวุฒิภาวะที่มนุษย์เป็นผู้เอามาใส่ตนเองนั้น มนุษย์ได้ลดทอนมันลงทีละเล็กละน้อย
สำหรับในสังคมของค้านท์เอง ตัวเขาตั้งความหวังไว้ที่พระเจ้าเฟรเดอริก "ภายใต้การพิจารณาดังนี้
ยุคสมัยดังกล่าว จึงเป็นยุคแห่งการสว่างวาบทางปัญญา ศตวรรษของเฟรเดอริก"
[Kant 1992: 45] ซึ่งก็คือผู้ปกป้องจำนวนน้อยที่(ค้านท์คิดว่าจะ)สลัดแอกแห่งการไม่บรรลุวุฒิภาวะทิ้งได้
และช่วยให้การสว่างวาบทางปัญญาของทั้งสังคมเกิดขึ้นได้โดยไว
จากข้อเขียนของค้านท์ชิ้นนี้ เห็นได้ว่า ค้านท์มองยุค"ปัจจุบัน"(คือสมัยของเขา)ว่าเป็นยุคที่มีความแตกต่างจากยุคสมัยก่อนหน้านี้ และเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการมนุษยชาติ เรา มนุษยชาติมีความหวังที่จะก้าวไปไกลกว่า ยังจุดหมายที่เป็นหลักของมนุษย์ ความก้าวหน้านี้มาพร้อมกับเจตจำนงที่เรามีในฐานะปัจเจกบุคคลและในฐานะมนุษยชาติ เพื่อ"เคลื่อน"สังคมมนุษย์โดยรวมให้เคลื่อนไปถูกทิศทาง "แดดาลัส"มองเห็นปีกที่จะใช้บินออกจากเขาวงกตแล้ว สิ่งที่เหลือก็แค่ "ความกล้า" หรือการมีเจตจำนงที่จะติดปีกแล้วบินแค่นั้นเอง!
ท่าทีแบบสมัยใหม่
สิ่งที่ค้านท์พยายามทำในที่นี้คือ การสะท้อนเกี่ยวกับสภาวะของตัวเราใน"ปัจจุบัน"
(ในยุคของเขา) ตรงนี้เป็นกิจกรรมทางปรัชญาหลักของเขา มิเชล ฟูโกต์ [Michel Foucault]
ซึ่งได้ชี้ว่า การสะท้อน "ปัจจุบัน" ของกระแสปรัชญาหนึ่งใดมีปรากฎเป็นสามแบบหลัก
คือ [Foucault 1984C: 33-34]
๑. สะท้อน "ปัจจุบัน" ในฐานะที่เป็นช่วงยุคสมัยหนึ่ง ที่แยกออกได้ชัดจากยุคสมัยอื่น โดยดูจากลักษณะเฉพาะของตัวมันเอง หรือแยกจากยุคอื่นโดยเหตุการณ์อันตระการตาบางเหตุการณ์
๒. สะท้อน "ปัจจุบัน" ในฐานะความพยายามในการถอดรหัสจากปัจจุบัน เพื่อหาสัญญาณหมายที่ชี้ถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะดำเนินมาถึง
๓. สะท้อน "ปัจจุบัน" ในฐานะที่เป็นจุดของการเปลี่ยนผ่านสู่ช่วงตะวันขึ้นของโลกใหม่
- ความหมายของ "ปัจจุบัน" ในแบบที่ ๑ นั้น เราอาจพบได้ในการแบ่งช่วงทางประวัติศาสตร์แบบทั่วไปที่ใช้เกณฑ์การแบ่งแบบแยกยุคโดยดูจากตัวเหตุการณ์เด่นที่แสดงความต่างลักษณะไปจากเดิม เช่น ปรากฏการณ์การปฏิวัติ เป็นต้น ความหมายในแบบนี้เป็นความหมายของการดำเนินเหตุการณ์ไปตามลำดับในช่วงเวลานั่นเอง แล้วใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลำดับเวลาเป็นตัวแบ่ง ยุคหลังที่ตามมาไม่จำเป็นต้อง "เจริญ" หรือ "ดี" ขึ้นกว่ายุคก่อนหน้า
- ส่วนความหมายแบบที่ ๒ ได้แก่กระแสที่เรียกว่า Historical Hermeneutics ที่เชื่อว่ากระบวนการทางประวัติศาสตร์นั้นมีการคลี่คลายตัวมันเองจากภายในไปสู่ผลตามมาบางอย่าง เมื่อเราพบตัวสัญญาณหมายที่ชี้ถึงเหตุการณ์ที่จะตามมา เราก็จะรู้ว่าประวัติศาสตร์กำลังจะเคลื่อนไปที่ไหน
- ส่วนความหมายที่ ๓ ก็คือ แนววิเคราะห์ประวัติศาสตร์แบบของวีโก [Vico] ที่มองเห็น "ปัจจุบัน" ในยุคของเขาว่า เป็นช่วงเวลาของยุคใหม่แห่งมนุษยชาติที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ฟูโกต์ชี้ "ทางออก"
ของค้านท์ ถูกนำเสนออย่างคลุมเครือ
ฟูโกต์ได้ชี้ว่า สำหรับค้านท์นั้น "ปัจจุบัน" ไม่ได้มีความหมายตามสามแบบหลักดังกล่าว
คำว่า "ปัจจุบัน" (ที่ภาษาเยอรมันเรียกว่า Aufklarung) นั้นค้านท์ใช้ในแบบปฏิเสธ
กล่าวคือในความหมาย Ausgang "ทางออก" กล่าวคือ เมื่อเราดูจากแง่ของความแตกต่าง
วันนี้ชี้ถึงความแตกต่างอะไรเมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้. สำหรับค้านท์แล้ว วันนี้ชี้ทางออกที่เราจะไปพ้นจากสภาพการณ์ที่มนุษย์ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะ
ถ้าเพียงแต่เรา"กล้า"ที่จะปลดปล่อยตัวเรา! (จะเห็นได้ว่าสำหรับค้านท์แล้ว
ตัวเราในฐานะผู้กระทำ มีความหมายที่สำคัญต่อทางออกนี้อย่างยิ่ง ค้านท์ได้รวบยอดความคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง
โดยเชื่อมเอาเรื่องของเจตจำนง, เอกองค์อำนาจ และการใช้เหตุผลเข้าด้วยกัน)
ฟูโกต์ชี้ว่าการนำเสนอ "ทางออก" ของค้านท์ในที่นี้ถูกนำเสนออย่างคลุมเครือ เพราะเราอาจพิจารณาได้เป็นสองแบบ [Foucault 1984C: 35]
แบบแรก คือทางออกในฐานที่เป็นปรากฏการณ์ หรือกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่
แบบที่สอง คือทางออกในฐานที่เป็นภารกิจหรือพันธกิจที่เราควรปฏิบัติ
ซึ่งค้านท์เองใช้ในทั้งสองความหมาย
เราสามารถรู้อะไรได้บ้าง
เราสามารถทำอะไรได้บ้าง และเราสามารถคาดหวังอะไรได้บ้าง?
การสว่างวาบทางปัญญาก็คือชั่วขณะที่มนุษยชาติกำลังใช้เหตุผลของตนเอง โดยไม่ยอมขึ้นตรงต่อองค์อำนาจใดๆ
ในแง่นี้ยุดแห่งการสว่างวาบทางปัญญาก็คือยุคสมัยแห่งการวิพากษ์ อันเป็นยุคสมัยที่ค้านท์ดำรงชีวิตอยู่
บทบาทของการวิพากษ์ในช่วงขณะนี้ก็คือ การให้นิยามว่า ในสภาพการณ์ใดการใช้เหตุผลเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรม
ทั้งนี้เพื่อกำหนดได้ว่าเราสามารถรู้อะไรได้บ้าง เราสามารถทำอะไรได้บ้าง และเราสามารถคาดหวังอะไรได้บ้าง?
ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ "ความกล้าที่จะรู้" หรือ
"เจตจำนงที่จะรู้"
ในความหมายแบบแรกนี้ จะเน้นตรงตัวกระแสร่วมที่มนุษย์ในยุคหนึ่งได้ดำเนินการโดยร่วมกันในกิจกรรมร่วมอย่างหนึ่ง ในที่นี้คือการสร้างการมีวุฒิภาวะให้กับตนเองโดยการมี"เจตจำนงที่จะรู้" ส่วนในความหมายหลังนั้น เน้นที่ตัวการกระทำ กล่าวคือ "การมีความกล้าหาญ"หรือ"เจตจำนงที่จะกระทำภารกิจดังกล่าวโดยส่วนบุคคล" ในแง่นี้คนแต่ละคนมีส่วนในการนำตนเองให้พ้นจากสภาวะของการไร้วุฒิภาวะดังกล่าว และเมื่อรวมสองความหมายเข้าด้วยกัน กล่าวได้ว่า "มนุษย์เป็นทั้งองค์ประกอบและตัวผู้กระทำ [agent] ของกระบวนการดังกล่าวในเวลาเดียวกัน" เป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการใหญ่ที่กำลังดำเนินอยู่ และเป็นตัวกระทำการให้กระบวนการนั้นดำเนินไปได้
ดูแผนภาพต่อไปนี้ประกอบคำอธิบาย
[สภาวะทารกของมนุษยชาติ ]--------[ความเป็นจริงในปัจจุบัน ]---------> [ สภาวะผู้ใหญ่ ]
[การไร้วุฒิภาวะ] [ความกล้าที่จะสลัดสภาวะเดิมออก] [การมีวุฒิภาวะ]
แผนภาพประกอบที่ ๑ ปัจจุบันในฐานะที่เป็นทางออกของมนุษยชาติตามความคิดของค้านท์
ความเป็นสมัยใหม่ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง
สำหรับค้านท์ มนุษย์เรากำลังกระทำภาระกิจอันสำคัญ กล่าวคือ การนำตนเองพ้นสภาวะทารกของการไม่บรรลุวุฒิภาวะ
ฟูโกต์เห็นว่า เมื่อเราดูตรงแง่ของการไตร่ตรองสะท้อน "ปัจจุบัน" หรือ
"วันนี้" ในแบบที่เป็นการมองวันนี้ในฐานที่เป็นความแตกต่างในประวัติศาสตร์
และ "วันนี้" เป็นแรงผลักสำหรับกระทำภารกิจทางปรัชญาโดยเฉพาะเจาะจง
จากแง่ตรงนี้นั่นเองที่นวัตกรรมทางความคิดได้เกิดขึ้น ตรงนี้เองที่เป็นโครงร่างของสิ่งที่เรียกว่า"ท่าทีแบบสมัยใหม่"
[the attitude of modernity] ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดแยกแตกต่างจากเดิม ในแง่นี้ฟูโกต์จึงเห็นว่า
"ความเป็นสมัยใหม่ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง" [Foucault
1984C: 39]
ความเป็นสมัยใหม่ไม่ใช่ยุคสมัยหรือช่วงของเวลาในประวัติศาสตร์
แต่เป็นท่าทีในความหมายว่า
- เป็นรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของปัจจุบัน
- เป็นทางเลือกอย่างจงใจของคนกลุ่มหนึ่ง
- เป็นวิธีคิดและรู้สึกในแบบหนึ่ง
- เป็นวิถีในการกระทำหรือการประพฤติ ซึ่งในขณะเดียวกันบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของการเป็นภารกิจแบบหนึ่งที่แสดงตัวมันเองออกมาด้วย
กล่าวคือเป็นเหมือนสิ่งที่ปรัชญากรีกเรียกว่า"เอโธส" [Ethos] (*) กล่าวคือ วิถีของชีวิตที่ได้กระทำจนเป็นวิสัย อันมีลักษณะเป็นการเพาะบ่มตนเอง
(*) Ethos (plurals: ethe, ethea) is a Greek word originally meaning "accustomed place" (as in "the habitat of horses"), "custom, habit", equivalent to Latin mores. Ethos forms the root of ethikos , meaning "moral, showing moral character". To the Greeks ancient and modern, the meaning is simply "the state of being", the inner source, the soul, the mind, and the original essence, that shapes and forms a person or animal. Late Latin borrowed it as ethicus, the feminine of which (ethica, for "moral philosophy") is the origin of the modern English word ethics.
ฟูโกต์: ท่าทีแบบสมัยใหม่มองผ่านความคิดในข้อเขียนของโบดิแลร์
ท่าทีแบบสมัยใหม่นี้จะเป็นท่าทีที่คัดง้างกันกับท่าทีแบบต้านสมัยใหม่ [attitudes
of "countermodernity"] แบบต่างๆ เช่นท่าทีทางศาสนาแบบที่มองวันวานเป็นยุคทองและปัจจุบันเป็นยุคที่เสื่อมลง
เป็นต้น ฟูโกต์ได้แสดงให้เห็นว่าท่าทีแบบสมัยใหม่มีลักษณะเช่นไร โดยดูผ่านความคิดที่แสดงออกในข้อเขียนของโบดิแลร์
[Baudelaire] (*) กวีชาวฝรั่งเศสเรืองนาม อันสรุปได้ดังนี้ [Foucault 1984C:
39-42]
(*) Charles Pierre Baudelaire (9 April 1821 - 31 August 1867) was a nineteenth century French poet, critic, and translator. A controversial figure in his lifetime, Baudelaire's name has become a byword for literary and artistic decadence. At the same time his works, in particular his book of poetry Les Fleurs du mal (The Flowers of Evil), have been acknowledged as classics of French literature.
๑.
ลักษณะแบบยกปัจจุบันเป็นดั่งวีรบุรุษที่ดูขัดกัน
ท่าทีแบบสมัยใหม่แสดงออกลักษณะนี้โดยเป็นมากกว่าแค่การมีจิตสำนึกถึงการไม่ต่อเนื่องกันของเวลา
กล่าวคือ การมีความรู้สึกแตกหักกับจารีตที่ผ่านมา รู้สึกว่าเวลาปัจจุบันเป็นเวลาของการกำเนิดสิ่งใหม่
การรู้สึกวิงเวียนเมื่อเผชิญหน้ากับชั่วขณะที่กำลังจะผ่านพ้นไป ท่าทีแบบสมัยใหม่เป็นท่าทีที่พยายามเกาะกุมด้านที่เป็น
"วีรบุรุษ" ของชั่วขณะปัจจุบัน จิตรกรร่วมสมัยกับโบดิแลร์เห็นว่า เสื้อคลุมสีดำในศตวรรษที่
๑๙ น่าเกลียดยิ่งนัก พวกเขาจึงวาดแต่เสื้อคลุมแบบโรมันโบราณ
โบดิแลร์ได้ชี้ว่า การเป็นจิตรกรสกุลสมัยใหม่ไม่ได้อยู่ตรงที่ได้ชักนำชุดคลุมดำให้ปรากฏได้บนผืนผ้าใบ แต่อยู่ที่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าเสื้อคลุมดังกล่าวเป็นเครื่องแต่งกายที่จำเป็นสำหรับยุคของเรา เผยให้เห็นสิ่งที่เป็นความสัมพันธ์หลักผ่านสิ่งที่เป็นกระแสนิยมของวันนี้ ซึ่งในที่นี้ได้แก่ การที่ยุคสมัยของเรามีความบันเทิงกับความตาย ดังที่โบดิแลร์ได้กล่าวว่า เสื้อคลุมแบบดังกล่าวไม่ใช่แค่ครอบครองความงามทางการเมือง อันเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความเสมอภาคที่เป็นสากล แต่ยังเป็นความงามในแบบกวีอีกด้วย อันเป็นการแสดงออกถึงจิตวิญญาณแห่งสาธารณะ "ท่านไม่มีสิทธิชิงชังปัจจุบัน" ตรงนี้เองที่โบดิแลร์ได้นำเสนอท่าทีแบบสมัยใหม่
เราเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญต่อความเสื่อมของจารีต และชื่นชมต่อสปิริตของยุคสมัย ต่อ "วันนี้" เราได้พบบางสิ่งที่นิรันดร์ที่อยู่ภายในชั่วขณะของปัจจุบัน ปัจจุบันอันเป็นชั่วขณะที่ประเดี๋ยวประด๋าว ดำเนินโดยว่องไว และไม่อยู่คงทน แต่เราได้พบบางสิ่งที่คงทนดังกล่าวที่ไม่ดำรงอยู่เกินกว่าหรือมาตามหลังชั่วขณะนี้ มันอยู่ภายในชั่วขณะนี้ ในแง่นี้ความเป็นสมัยใหม่ก็คือ การมีเจตจำนงที่จะเชิดชูเวลาปัจจุบันให้เป็นวีรบุรุษ
๒. ลักษณะแบบใช้เสรีภาพเล่นกับความเป็นจริง
ท่าทีแบบสมัยใหม่จะไม่ปฏิบัติต่อชั่วขณะที่กำลังผ่านพ้นไปว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องคงเอาไว้
หรือทำให้มันคงอยู่ได้อย่างถาวร (ขณะที่ท่าทีก่อนสมัยใหม่จะไขว่คว้าหาวันเวลาในอดีต
และมองว่าเราได้ผ่านพ้นยุคทองดังกล่าวมาแล้ว) ขณะที่ให้ค่าต่อเวลาปัจจุบันอย่างยิ่ง
และกระตือรือร้นอย่างสุดกำลังที่จะมีจินตภาพต่อมัน ทั้งยังพยายามที่จะจินตภาพมันให้เกินกว่าที่มันเป็นและพยายามที่จะเปลี่ยนรูปมันในแบบที่ไม่ใช่การทำลาย
แต่เป็นการเกาะกุมปัจจุบันอย่างที่มันเป็น ท่าทีแบบสมัยใหม่จึงเป็นการใช้เสรีภาพ"เล่น"กับความเป็นจริง
เราทั้งนับถือความเป็นจริงนี้ แต่ก็ละเมิดมันด้วย
๓. ลักษณะแบบประดิษฐ์"ตัวตน"ของเราขึ้นมาอย่างทรมานตน
ท่าทีแบบสมัยใหม่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่รูปแบบของความสัมพันธ์กับปัจจุบันเท่านั้น
แต่ยังเป็นรูปวิถีของการมีความสัมพันธ์กับการกำหนดตัวเรา การเป็นคนสมัยใหม่ไม่ใช่การยอมรับตนเองในฐานที่เป็นสิ่งหนึ่งในกระแสการเปลี่ยนแปลงของชั่วขณะที่กำลังจะผ่านพ้นไป
แต่ต้องในฐานที่เป็นวัตถุของการประดิษฐ์ขึ้นที่ซับซ้อนและยุ่งยาก กล่าวคือ ไม่ใช่คนที่พยายามค้นพบตนเองหรือค้นพบความลับและความจริงของตนเองที่หลบซ่อนอยู่
แต่เป็นคนที่พยายามสร้างตัวเองขึ้น จึงไม่ใช่ผู้ปลดปล่อย แต่เป็นผู้บังคับหรือบีบให้มนุษย์ต้องเผชิญกับภาระในการผลิตตัวเอง
ในแง่ของโบดิแลร์แล้ว เขาคิดว่าเราคาดหวังลักษณะทั้งสามนี้ได้จากศิลปะ ไม่ใช่จากสังคมหรือตัวการเมือง ในบรรดาผู้บุกเบิกศิลปะสกุลสมัยใหม่ [Aesthetic Modernism - ลัทธิสมัยใหม่ในเชิงสุนทรียภาพ] ต่างได้พยายามสร้างอาณาบริเวณทางศิลปะให้มีเอกองค์อิสระในตนเอง และให้เป็นอาณาบริเวณที่อยู่เหนือกว่าการกระทำหรือการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระ พวกเขาเชื่อว่าศิลปะจะช่วยนำมนุษย์ไปสู่ความจริงที่อยู่ลึกเกินกว่าระดับประสบการณ์ [ดู Jay 1996] เราจะข้ามความเห็นตรงนี้ไป และใส่ใจต่อความเห็นของฟูโกต์ที่ว่า [Foucault 1984C: 42]
๑. การตั้งคำถามทางปรัชญา ประเภทที่ตั้งคำถามอย่างทันการณ์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ "ปัจจุบัน"
๒. รูปวิถีแบบที่ตกทอดมาทางประวัติศาสตร์ของการเป็นมนุษย์
๓. การก่อรูปเป็น "ตัวตน" [the self] ของตัวเราในแบบที่ถือว่าเป็นตัวตนที่มีเอกอิสระ
ทั้งสามสิ่งนี้มีรากมาจากแนวคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง ซึ่งฟูโกต์ชี้ว่า ด้ายที่เชื่อมเราเข้ากับสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง ไม่ได้อยู่ที่การซื่อสัตย์ต่อหลักการพื้นฐานของแนวคิดสกุลดังกล่าว แต่อยู่ตรงที่มีการกระตุ้นซ้ำท่าทีดังกล่าวตลอดมา เอโธสนี้ซึ่งน่าจะถูกเรียกว่าเป็นการวิพากษ์อย่างถาวรต่อยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของเรา ได้ถูกกระตุ้นซ้ำเสมอในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา
การไปให้พ้นข้อจำกัดของตัวเรา
เอโธสนี้มีลักษณะเป็นเช่นไร ฟูโกต์ได้แจกแจงไว้ดังนี้ (สองข้อแรกเป็นแบบปฏิเสธ
ที่เหลือเป็นแบบยืนยัน)
๑. เป็นการปฏิเสธ "การแบล็คเมลของสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง"
ตรงนี้ได้แก่ การติดกับดักที่เรียกว่า "ทางเลือกแบบเบ็ดเสร็จและง่ายๆ"
อันได้แก่การต้องเลือกระหว่างเอาหรือไม่เอาจารีตความเป็นเหตุผลแบบสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง
กล่าวคือ ให้เลือกที่จะยอมรับสกุลนี้พร้อมกับเดินตามจารีตของความเป็นเหตุผลในแบบนี้
หรือ คัดค้านและพยายามหาทางออกจากหลักการของความเป็นเหตุผลในแบบของสกุลนี้
ฟูโกต์เสนอทางออกจากกับดักนี้ว่า ให้เราดำเนินการวิเคราะห์ตัวเราเองในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาทางประวัติศาสตร์ในระดับหนึ่ง โดยอิทธิพลความคิดกระแสสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง การวิเคราะห์นี้จึงต้องรวมถึงการสืบค้นทางประวัติศาสตร์ด้วย แต่ไม่ใช่เข้าไปหาตัวเนื้อในที่เป็นสารัตถะความเป็นเหตุผลที่จะพบได้ในแนวคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง และนำมันออกมาปกป้องไว้ แต่เป็นการสืบเข้าไปหาข้อจำกัดปัจจุบันของความจำเป็น [the"contemporary limits of the necessary"] อันได้แก่การหาว่า ในการก่อรูปตัวเราเป็นตัวตนที่มีเอกองค์อำนาจนั้นไม่อาจแยกออกได้จากองค์ประกอบใดบ้าง เรามีความเข้าใจว่าเราเป็นตัวเราที่มีเอกองค์อำนาจในตนเอง สำนึกดังกล่าวนี้ของตัวเราเป็นสำนึกที่ก่อรูปขึ้นมาทางประวัติศาสตร์จากอิทธิพลของแนวคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง ตรงนี้เป็นข้อจำกัดของตัวเรา แต่ก็เป็นบริเวณที่เราต้องสืบค้นเข้าไปเพื่อหาความเป็นไปได้ของการไปพ้นข้อจำกัดนี้
๒. ไม่สับสนระหว่างมนุษยนิยม
[Humanism] กับแนวคิดสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา
ในที่นี้ เมื่อเรามาลองพิจารณาในแง่ของโครงเรื่องแบบ"มนุษยนิยม"กับ"คำถามของสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง"
จะเห็นได้ว่า กระแสสกุลเน้นการสว่างวาบทางปัญญา/ปรัชญาแสงสว่าง เป็นชุดของเหตุการณ์และกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและมีตำแหน่งแห่งที่ในพัฒนาการสังคมยุโรป
ด้วยเหตุนี้จึงรวมเอาทั้งเรื่องของการเปลี่ยนรูปทางสังคม ประเภทของสถาบันทางการเมือง
รูปแบบของความรู้ โครงการในการสร้างความเป็นเหตุผลต่อความรู้และการปฏิบัติ ตลอดจนเรื่องการเปลี่ยนรูปทางเทคโนโลยี
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ยากจะสรุปด้วยคำคำเดียว
แต่มนุษยนิยมเป็นโครงเรื่อง หรือชุดของโครงเรื่องซึ่งเกิดขึ้นหลายวาระหลายเวลาในสังคมยุโรป โครงเรื่องชุดดังกล่าวมักผูกไว้กับการตัดสินคุณค่าเพื่อใช้เป็นหลักการแบบวิพากษ์ในการจำแนกความแตกต่าง ตัวเนื้อเรื่องเองเห็นได้ชัดว่าแตกต่างกันไปและคุณค่าที่ต้องการปกป้องไว้ก็ยังแตกต่างกัน จากศตวรรษที่๑๗ เป็นต้นมา มนุษยนิยมมักอาศัยมโนทัศน์เรื่องมนุษย์ที่ยืมมาจากหลายแหล่ง เช่นจากศาสนา จากวิทยาศาสตร์ หรือจากการเมือง คำนี้ถูกใช้ใส่สีและให้ความชอบธรรมต่อมโนทัศน์เกี่ยวกับมนุษย์มโนทัศน์หนึ่ง โครงเรื่องแบบนี้โดยตัวมันเองจึงอ่อนเกินไป หลากหลายเกินไป ไม่คงเส้นคงวามากเกินกว่าที่จะใช้เป็นแกนสำหรับการไตร่ตรองสะท้อน [Foucault 1984C: 44] (อย่างไรก็ตามตรงนี้ไม่ได้เป็นการปฏิเสธทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับมนุษยนิยม)
๓. เป็นท่าทีที่มีข้อจำกัด
เรียกว่า "ท่าทีวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์ "
ที่จริงแล้ว "การวิพากษ์"ประกอบด้วย "การวิเคราะห์" และ"การสะท้อนไตร่ตรองเกี่ยวกับข้อจำกัด"
[Foucault 1984C: 45] คำถามเชิงวิพากษ์ในปัจจุบันนี้คือคำถามที่ว่า ตัวเราซึ่งเป็นสิ่งเฉพาะ
ไม่คงทน และเป็นผลมาจากควบคุมตามแบบอำเภอใจนี้ เข้าไปครอบครองตำแหน่งแห่งที่ใดภายในสภาพที่ถูกให้กับเรามาในแบบที่กำหนดให้เป็นสิ่งสากล,
สิ่งที่จำต้องเป็น, หรือเป็นพันธกิจ คำถามนี้เป็นคำถามในเชิงยืนยัน ซึ่งต่างจากคำถามของค้านท์ที่ถามหาว่า
ขอบเขตจำกัดของการรู้อยู่ตรงไหน เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องไปละเมิดมัน ดังนั้น
แทนที่จะเป็นการวิพากษ์เพื่อหารูปแบบของข้อจำกัดที่จำเป็น ก็ให้ปรับมาเป็นการวิพากษ์เชิงปฏิบัติ
เพื่อหารูปแบบที่เป็นไปได้ในการละเมิดข้อจำกัดเหล่านั้น การวิพากษ์ในแบบนี้จึงเป็นการสืบค้นทางประวัติศาสตร์กลับเข้าไปยังเรื่องของเหตุการณ์ที่ได้นำเราสู่การก่อรูปเป็นตัวเราเองและการตระหนักรู้ตัวเราในฐานะที่เป็นตัวตนของสิ่งที่เราได้กระทำ,
ได้คิดและได้กล่าว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการฝึกฝนเพื่อแสวงหาโครงสร้างโดยรูปแบบที่มีคุณค่าสากล
อันเป็นสิ่งที่มีลักษณะแบบ transcendence ที่อยู่เกินความเข้าใจ เป้าหมายจึงไม่ใช่การสร้างอภิปรัชญาที่เป็นไปได้
หรืออภิปรัชญาที่ในท้ายที่สุดกลายเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง กล่าวคือไม่ใช่การหาทางแสดงถึงโครงสร้างสากลของความรู้ทั้งปวงหรือของการกระทำทางศีลธรรมที่เป็นไปได้ทั้งหมดแบบที่ค้านท์พยายามทำ
การวิพากษ์ ความพยายามที่จะจัดการกับตัววาทกรรม
การวิพากษ์นี้จึงเป็นการพยายามที่จะจัดการกับตัววาทกรรม [discourse] ที่ใช้ในแต่ละขณะ
อันเป็นตัวที่จัดการจัดวางเกี่ยวกับสิ่งที่เราคิด เราพูด เรากระทำ ตัวเราเป็นสิ่งที่ไม่คงทนถาวร
ดำรงอยู่ในกาลาวกาศในช่วงๆหนึ่ง เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกวาทกรรมหรือปริบทของเรื่องราวเกี่ยวกับการกระทำ,
การพูดและการคิดของเราในพื้นที่ของเหตุการณ์ แต่ละวาทกรรมนี้เป็นดินแดนที่เราจะเข้าไปสืบค้น
วิธีการสืบค้นเช่นนี้ฟูโกต์เรียกว่า"วิธีการแบบโบราณวิทยา" [archaeological
method] ซึ่งจะนิยามตัววาทกรรมและประเภทของกฎเกณฑ์สำหรับการทำวาทกรรม(ปฏิบัติการทางวาทกรรม)ในแต่ละวาทกรรมออกมาอย่างเป็นระบบ
[ดูรายละเอียดเพิ่มใน Foucault 1969, โดยเฉพาะ part 4] วาทกรรมเป็นทั้งเครื่องมือที่เราใช้และตัวสิ่งที่เราศึกษา
จากตัวของสิ่งเฉพาะอันไม่คงทนถาวรที่ได้ก่อรูปเป็นตัวเราอย่างที่เราเป็นอยู่ ซึ่งปรากฏในแต่ละวาทกรรม แต่ละปริบทที่ก่อเป็นสำนึกของความเป็นตัวเรา เราได้พยายามที่จะเข้าไปแยกแยะภายในดินแดนดังกล่าว เพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ที่จะไม่เป็นไม่คิดไม่ทำ ในสิ่งที่เราเป็นเราคิดเราทำ การวางร่างการสืบค้นเช่นนี้ ฟูโกต์เรียกว่าการวางโครงร่างแบบ"วงศ์วานวิทยา" [genealogical method] ซึ่งไม่ใช่การกลับไปหารากเหง้า [origin]เ พื่อให้พบเส้นทางการเผยตัวออกมา [ลักษณะแบบteleological] เป็นปัจจุบันและอนาคต แต่เป็นการบันทึกลงรายละเอียดโดยใช้วิธีการที่เคร่งครัด ใช้แหล่งรวบรวมที่กว้างครอบคลุมถึงส่วนที่มักเห็นกันว่าไม่มีความสำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเส้นทางที่ซับซ้อนของการสืบลงมาสู่เรา อันเป็นการแสดงให้เห็นเหตุการณ์ในอดีตอย่างเหมาะสมกับสภาพที่กระจัดกระจายของมัน แสดงถึงการอุบัติบังเอิญ ชั่วประเดี๋ยวที่เบี่ยงเบน หรือการกลับกลายโดยบริบูรณ์ อันได้แก่การคาดคำนวณที่ผิดพลาด การประเมินที่ผิด ที่ได้ให้กำเนิดต่อสิ่งที่ยังคงดำรงอยู่และมีคุณค่าสำหรับเรา [ดูรายละเอียดเพิ่มใน Foucault 1971]
๔. ท่าทีวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์นี้เป็นการทดลองแบบหนึ่ง
เป็นสิ่งที่ดำเนินการไปภายใต้ข้อจำกัดของตัวเรา เพื่อหาทางไปพ้นข้อจำกัดดังกล่าวนี้
- ประการแรก เริ่มต้นโดยการสืบค้นทางประวัติศาสตร์เพื่อให้เห็นการก่อรูปที่เป็นสำนึกของความเป็นตัวเราในปัจจุบัน
- ต่อจากนั้นนำขึ้นมาทดสอบกับความเป็นจริงร่วมสมัย ทั้งนี้เพื่อให้จับจุดได้ว่าตรงไหนที่การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้และน่าพึงประสงค์ และ- การกำหนดรูปแบบที่แจ่มชัดที่การเปลี่ยนแปลงควรดำเนินไป กล่าวอีกนัยหนึ่ง ขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงตัวเราเองนี้มีจำกัด ข้อจำกัดนี้มีที่มาทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและไม่ได้เป็นทางตรง การกลับไปสืบค้นในประวัติของการเป็นตัวเราในปัจจุบันก็คือการสำรวจความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงสำนึกของการเป็นตัวเราในปัจจุบัน ตรงนี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำได้แค่เพียงบางส่วน เช่นที่ได้กระทำให้ดูในการวิเคราะห์เรื่องวิถีในการคิด [Foucault 1966]
เรื่องความสัมพันธ์ที่มีต่อองค์อำนาจ [Foucault 1975] เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศ [Foucault 1976, 1984A, 1984B] เรื่องวิถีที่เรารับรู้เกี่ยวกับความบ้า [ Foucault 1961] หรือการเจ็บป่วย [Foucault 1963] ทั้งหมดนี้เป็นการวิเคราะห์ถึงวิถีในการเป็นเราและความเข้าใจที่ได้จากการเข้าไปสืบค้นนี้เองนำการเปลี่ยนแปลงบางส่วนมาให้
ฟูโกต์เห็นว่า โครงการที่วาดหวังใหญ่โตที่จะสร้างคนแบบใหม่อะไรทำนองนั้น ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมดไปสู่สังคมอีกแบบที่มีวิธีคิด วัฒนธรรมและวิสัยทัศน์สังคมอย่างใหม่หมด ประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ ๒๐ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ต่างล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า สิ่งที่ทำได้ก็เป็นเพียงแค่นำจารีตแบบที่อันตรายที่สุดกลับมาเยือนเรา ท่าทีวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์นี้จึงเป็นความพยายามทดลองหาทางออกเท่าที่ทำได้จากข้อจำกัดของตัวเรา ระดับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลจึงเป็นเพียงระดับจุลภาค อันเกิดขึ้นได้ในบางด้าน
๕.
ให้จำกัดตัวเราเองโดยใช้ท่าทีวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์
เพราะท่าทีนี้เป็นการสืบค้นหรือทดลองในแบบที่จับบางด้าน มีลักษณะเป็นส่วนเฉพาะ
[เป็น local]
- ประการแรก เราจึงควรละทิ้งความหวังที่จะไปถึงจุดที่เราสามารถเข้าไปถึงความรู้ที่สมบูรณ์แน่นอน ในเรื่องที่ว่า อะไรช่วยก่อรูปข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ของเรา
- ประการต่อมา จากจุดดังกล่าวนี่เอง ที่เราได้ประสบการณ์ทางทฤษฎีและทางการปฏิบัติที่ว่า ในเรื่องข้อจำกัดของเราและความเป็นไปได้ที่จะออกไปพ้นข้อจำกัดเหล่านั้นเอง ก็เป็นข้อที่จำกัดและถูกกำหนดมาเสมอ ตรงนี้เองจึงกล่าวได้ว่า เราอยู่ในจุดของการตั้งต้นใหม่เสมอ
ฟูโกต์เห็นว่าประวัติศาสตร์สังคมตะวันตกเป็นเรื่องของการเพิ่มพูนความสามารถของปัจเจกบุคคล และการดิ้นรนเพื่อเสรีภาพ เพื่อการมีเอกองค์อำนาจในตนเอง การเพิ่มพูนของทั้งสองประการดังกล่าวไม่เป็นไปแบบง่ายๆ ดังที่นักคิดในศตวรรษที่ ๑๘ คาดหมาย รูปแบบทางอำนาจต่างๆ ยังได้สื่อผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตโดยมีจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจ เรื่องของสถาบันซึ่งมีเป้าหมายในการจัดระเบียบสังคม เรื่องของเทคนิคที่ใช้ในการสื่อสาร เป็นต้น และเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ลักษณะที่ดูขัดกันเองของความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถและอำนาจ" ดูเหมือนมีความสามารถที่เพิ่มขึ้นที่มนุษย์ทำอะไรได้มากขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่เราคิดค้นขึ้น แต่เราไม่ได้มีเอกองค์อำนาจในตัวเราเองเพิ่มตาม คำถามสำคัญในตอนนี้จึงเป็นคำถามที่ว่า ทำอย่างไรการเพิ่มพูนของความสามารถของเราจึงจะไม่ไปเกี่ยวเนื่องกับการเสริมเพิ่มความสัมพันธ์เชิงอำนาจ?
ท่าทีแบบวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์จึงนำเราไปสู่การศึกษาระบบของการปฏิบัติ
[practical systems] อันได้แก่ สิ่งที่มนุษย์กระทำ และวิถีที่มนุษย์ปฏิบัติ กล่าวคือ
ในด้านเทคโนโลยี -รูปแบบของความเป็นเหตุผลที่ใช้จัดการวิถีในการกระทำ ในด้านยุทธวิธีของการปฏิบัติ-
เสรีภาพที่มนุษย์ใช้ภายใต้ระบบการปฏิบัติดังกล่าว ปฏิกิริยาที่มีต่อสิ่งที่ผู้อื่นกระทำ
และการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของเกมส์นั้นๆ ให้เหมาะสม ทั้งสองด้านนี้ถือเป็นอาณาบริเวณที่เป็นเนื้อเดียวกันในการอ้างอิง
สำหรับการวิเคราะห์อย่างวิพากษ์เชิงประวัติศาสตร์ดังกล่าว
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกไปอ่านต่อ ตอนที่ ๒
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com