ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้เป็นสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๒ : Release date12 September 2009 : Copyleft MNU.

การที่สามารถสมรสได้หลายคู่ของชาติเอเชีย ทำให้มีผู้สืบราชสันติวงศ์จำนวนมาก (ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกประเพณีกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วย การสืบราชสันตติวงศ์ โดยให้พระราชโอรสเป็นมกุฎราชกุมารสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ และในปัจจุบันนี้ได้เปิดโอกาสให้พระราชธิดาสามารถสืบราชสันตติวงศ์ได้แล้วเช่นกัน) ชีวิตสมัยใหม่ของยุโรปได้แสดงให้เห็นว่า การมีพระราชินีนาถเป็นผู้ปกครอง พสกนิกรจะรักพระองค์มากกว่าการที่มีพระราชาเป็นผู้ปกครอง ดังเช่นที่พระราชินีอลิซาเบธได้รับความชื่นชอบเป็นจำนวนมาก แต่นี่ไม่รวมถึงพระราชโอรสของพระองค์ที่ทรงเอาแน่เอานอนไม่ได้ และพระราชนัดดาที่ไม่ทรงกระทำตามสัญญาทั้งสองพระองค์ ...(ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความ)...

H



12-09-2552 (1782)

ประวัติศาสตร์สำนึก และสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย
จากลัทธิชาตินิยมเก่าและใหม่ ถึงคำประกาศสันติภาพ
เบเนดิค แอนเดอร์สัน - ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: บรรณาธิการ-รวบรวม

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

ข้อเขียนประวัติศาสตร์ต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมมาจากงานเขียนของเบเนดิค แอนเดอร์สัน และชาญวิทย์ เกษตรศิริ
โดยงานเขียนแรกนำมาจาก เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการอุษาคเนย์ครั้งที่ 6
"อุษาคเนย์: อคติที่แอบแฝงสู่ความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ" ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก)
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์. ส่วนงานเขียนชิ้นที่สองนำมาจากจดหมาย
อิเล็กทรอนิก ซึ่ง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรุณาส่งให้กับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนอย่างสม่ำเสมอ
และได้เคยเผยแพร่แล้ว บนกระดานข่าวของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บนหน้าเว็บเพจนี้ได้รวบรวมงานเขียนไว้ ๒ ชิ้นดังต่อไปนี้
๑. ปาฐกถาเบเนดิค แอนเดอร์สัน: ลัทธิชาตินิยมเก่าและใหม่
๒. ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) ประวัติศาสตร์ที่ "ให้จำ" กับ "ให้ลืม"

(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย")

สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๘๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติศาสตร์สำนึก และสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย
จากลัทธิชาตินิยมเก่าและใหม่ ถึงคำประกาศสันติภาพ
เบเนดิค แอนเดอร์สัน - ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: บรรณาธิการ-รวบรวม

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word


๑. ปาฐกถาเบเนดิค แอนเดอร์สัน: ลัทธิชาตินิยมเก่าและใหม่
Professor Emeritus Dr.Benedict OGorman Anderson

ที่มา: เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการอุษาคเนย์ครั้งที่ ๖
อุษาคเนย์: อคติที่แอบแฝงสู่ความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ
ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒

ลัทธิชาตินิยมคุกคามความชอบธรรมทางกฎหมาย
เกือบ 150 ปีที่มาแล้ว ลอร์ด แอคตัน นักประวัติศาสตร์ชื่อดังแห่งสหราชอาณาจักร ได้แสดงความวิตกกังวลต่ออนาคตว่า จะมีอำนาจที่ทรงพลังอย่างยิ่งเข้ามาคุกคามความชอบธรรมทางกฎหมาย สิ่งนั้นคือ "ลัทธิชาตินิยม"

สำหรับ คำว่า ความชอบธรรมทางกฎหมาย เขาหมายถึง ระเบียบทางสังคมที่ถูกสถาปนาขึ้น โดยถูกเข้าใจว่าเป็นดั่งมรดกอันยิ่งใหญ่จากอดีต การที่จะเข้าใจแนวคิดนี้ได้อย่างกระจ่างชัด สิ่งหนึ่งที่ต้องจดจำต้องย้อนไปถึงปี ค.ศ. 1870 ครั้งที่ประเทศฝรั่งเศสได้กระทำการโค่นล้มราชวงศ์ ประเทศมหาอำนาจทั้งในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ต่างถูกปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างกว้างขวาง การผสมกันของความแตกต่างของประชาชนที่มีภาษาต่างกัน รวมทั้งศาสนาและวัฒนธรรม และครึ่งซีกโลกตะวันตกก็ได้ตกอยู่ในกรณีเหล่านี้เช่นกัน ท่านลอร์ดแอคตันไม่ใช่ผู้ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ท่านปรารถนาถึงเสรีนิยมด้วยความเชื่อที่ตั้งมั่นแห่งหลักเหตุผลนิยม และท่านได้พบว่าลัทธิชาตินิยมโดยแท้จริงแล้วเป็นสิ่งไร้ซึ่งเหตุผลและดูเหมือนว่าเป็นสิ่งซึ่งทำลาย

ลัทธิชาตินิยมขัดกับการปกครองแบบกษัตริย์
ความหวาดกลัวของท่านลอร์ดแอคตันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ตัวท่านให้เป็นนักพยากรณ์ล่วงรู้การณ์ภายหน้า การปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความยุ่งเหยิงอันใหญ่หลวงต่อลัทธิชาตินิยม เหตุเพราะเป็นการสร้างแนวคิดของความไม่เท่าเทียมกันทางประเพณี และความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของการจัดระบบทางชนชั้น ขณะที่ลัทธิชาตินิยมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมในด้านต่างๆ กันอย่างสมบูรณ์ และก่อให้เกิดสำนึกของชุมชนความเป็นพี่น้องในแต่ละรัฐชาติต่างๆ

การยินยอมที่จะมีความสัมพันธ์ทางการเมืองต่อการตื่นตระหนกของลัทธิชาตินิยม หลายราชวงศ์ต้องสิ้นสุดลงในศตรวรรษที่ 19 ต่อการพยายามดิ้นรนที่จะเป็นรัฐชาติ ซึ่งมีความสำคัญเพื่อปกป้องนโยบาย มากไปกว่านั้นคือ ความพยายามของราชวงศ์ต่างๆ ที่ต้องการจะเป็นชาติ เช่น เยอรมัน อังกฤษ ตุรกี รัสเซีย เป็นต้น

ความยุ่งยากไปกว่านั้นคือ การที่ประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญหน้าจากชนกลุ่มน้อยจากหลายเผ่าพันธุ์ในดินแดนของตน (ชาวไอริช, ชาวโปลิส, ชาวอาหรับ, ชาวกรีก, ชาวยูเครน, ชาวฟินแลนด์ และอื่นๆ อีกมากมาย) นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาอีก คือการที่ราชวงศ์ต่างๆ มีที่มาจากที่อื่น เช่น อังกฤษและกรีซถูกปกครองโดยราชวงศ์เยอรมัน ขณะที่สวีเดนถูกปกครองโดยราชวงศ์จากฝรั่งเศส มันต้องใช้เวลานานถึงสองร้อยปีและสงครามโลกครั้งที่หนึ่งผ่านไป เพื่อทำให้พระเจ้าจอร์จที่หก (พระอัยกาของควีนอลิซาเบธแห่งอังกฤษ) ยอมเรียกชื่อราชวงศ์โดยใช้ภาษาอังกฤษ

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดลัทธิชาตินิยมในสยาม
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดสาธารณรัฐ และการต่อต้านอาณานิคม

ในห้วงระยะเวลาอันสั้นนี้ เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ก่อให้เกิดลัทธิชาตินิยมขึ้นในสยาม ในช่วงท้ายที่สงครามสิ้นสุดลงนั้น ราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งจากยุโรป ตะวันออกกลาง เฉกเช่นเดียวกับการปกครองของราชวงศ์แมนจูในปักกิ่งต่างถูกโค่นล้ม เหลือเพียงสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่พ้นจากภัยคุกคามนี้

ในสมาคมรัฐชาติสมัยใหม่นั้น ราชวงศ์ต่างๆ กลับกลายเปลี่ยนสภาพเป็นชนกลุ่มน้อย ในขณะที่สมาชิกรัฐชาติต่างๆ กลายเป็นสาธารณรัฐในสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงหลังสงครามเกิดการแพร่กระจายต่อต้านลัทธิเจ้าอาณานิคม ซึ่งเป็นลัทธิชาตินิยมในเอเชียและแอฟริกา เป็นหายนะต่อราชวงศ์เป็นอย่างมาก ทุกวันนี้มีเพียง 15% ของชาติที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติที่ยังคงมีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ และทั้งหมดนั้น เมื่อประชากรรวมกันก็ยังคงน้อยกว่าประชากรของประเทศอินเดียครึ่งประเทศ

ราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรปเหนือ สเปนและญี่ปุ่น ต่างดำรงความเป็นสถาบันอยู่ได้ด้วยการทรงสละพระราชอำนาจทางการเมือง และทรงยินยอมที่จะดำรงอยู่โดยบทบาทเชิงสัญลักษณ์ เว้นแต่ในกลุ่มของรัฐอาหรับโดยมีซาอุดิอารเบีย และในเอเชีย ซึ่งก็คือสยาม ที่เราสามารถพูดได้ว่ามีน้อยกว่า 10 % ของชาติสมาชิกของสหประชาชาติที่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่มีผลบังคับใช้ ในกลุ่มชาติเล็กน้อยเหล่านี้สยามเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุด

ลัทธิชาตินิยมอย่างเป็นทางการในสยาม โดยรัชกาลที่ ๖
อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้สยามเป็นที่น่าสนใจศึกษาในเรื่องนี้ ซึ่ง Seton Watson เรียกมันว่า เป็นลัทธิชาตินิยมอย่างเป็นทางการ เกิดจากการปลุกระดมปฏิกริยาเพื่อนำไปสู่ความคลั่งไคล้ในลัทธิชาตินิยม ซึ่งได้ถูกจัดการเพื่อความอยู่รอด อาจมีเพียงที่สยามประเทศเดียวที่สามารถทำได้แบบนี้ ดังเช่นที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริในการสร้างความเป็นชาตินิยม โดยทรงใช้คำว่า "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ซึ่งยังคงเห็นได้จนถึงปัจจุบัน

เหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานต่อการสอดแทรกแนวคิดความเป็น "ลัทธิชาตินิยมอย่างเป็นทางการ" ดังเช่นในยุโรป เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ในรัสเซีย ออสเตรีย สหราชอาณาจักร คือคำว่า พระเจ้า กษัตริย์ และประเทศ (God , Queen/King and Country) ทุกวันนี้ในยุโรปได้ยกเลิกคำเหล่านี้ไปแล้ว ในทางตรงข้ามกลับนำมาใช้ในความหมายเชิงเย้ยหยันประชดประชันในรายการตลกโทรทัศน์

สถาบันกษัตริย์ การข้ามพ้นกับดักของเวลาผ่านลัทธิชาตินิยมทางการ
สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจ คือสิ่งที่นักวิชาการชาวเยอรมันเรียกว่า NACHTRAEGLICHKEIT (ความไม่พอใจ) ซึ่งเป็นเรื่องของทรัพยากรด้านการเมือง ราชวงศ์ในตะวันออกกลางต่างยังคงดำรงความเป็นสถาบัน ด้วยการสร้างให้เป็นภาพตัวแทนของผู้นำความเป็นโลกมุสลิม ผ่านขอบเขตพรมแดนแห่งความเป็นรัฐชาติเดียวกันโดยใช้หลักศาสนาของความเป็นมุสลิมเป็นตัวเชื่อม, แต่ในพุทธศาสนาแบบไทยนั้น นับเป็นการปรากฏที่แสดงถึงข้อบ่งชี้อย่างเป็นทางการในตัวเองในทุกๆ ที่ของการเปลี่ยนผ่านของรัฐชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นหนทางที่จะสามารถหนีไปสู่กับดักของเวลาได้หรือไม่นั้น การกลืนกินของระบบสถาบันกษัตริย์ทำได้อย่างไรในสยาม ในช่วง 150 ปี ซึ่งทั่วโลกกำลังพูดถึงในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 ที่ลัทธิชาตินิยมอย่างเป็นทางการเป็นแบบทดสอบของการข้ามพ้นความล้าสมัย และต้องปราศจากอำนาจจากกองทัพในการข่มเหงด้วยเช่นกัน

ข้อเปรียบเทียบระบบกษัตริย์ของยุโรปบางประการ
ในยุโรปแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ของการเปรียบเทียบที่น่าสนใจ ดังที่ข้าพเจ้าจะเสนอตัวอย่างดังต่อไปนี้

ประการแรก กระบวนการวัฏจักรที่สมบูรณ์ของระบบสถาบันกษัตริย์ และของการสืบราชสันตติวงศ์กว่าหลายพันปีที่แล้ว ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของโลกยังคงคุ้นเคยกับแนวคิดของระบบสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยังไม่หมดไป และยังไม่ล่มสลายนั้น ต่างเต็มไปด้วยพระราชอำนาจ. ในจีนมีราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ้ง(ซ้อง) ราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง ราชวงศ์แมนจู และในประเทศอังกฤษมี นอร์แมน เวลช์ สก๊อต ดัตช์ และเยอรมัน. แต่หลัง ค.ศ.1918 เป็นที่กระจ่างชัดว่าไม่มีราชวงศ์ใหม่ใดเกิดขึ้นได้

หากราชวงศ์ใดล่มสลายลงก็ไม่สามารถมีราชวงศ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาทดแทนได้อีกต่อไป เว้นแต่การมีประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี เฉกเช่น จอมพล ป. ซึ่งมีกองกำลังทหารเป็นของตนเองให้เฉกเช่นพระมหากษัตริย์ ทุกคนก็ต่างเย้ยหยันเป็นอันแน่ถ้าจอมพล.ป.กระทำการเช่นนั้น. ผู้นำจีน Yuan Shih-kai (หยวนสือไข่) พยายามกระทำการเช่นนี้มาแล้วเมื่อ ค.ศ. 1910 แต่มีอำนาจปกครองเพียงแค่หนึ่งถึงสองปี จากนั้นจึงถูกสำเร็จโทษประหารชีวิต ความสำเร็จครั้งล่าสุดของราชวงศ์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ในนอรเวย์ กว่าร้อยปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงมิสามารถถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์ใหม่ๆ ได้

ยุโรป: กษัตริย์มีคู่สมรสเพียงพระองค์เดียว
เอเชีย: กษัตริย์มีคู่สมรสจำนวนมาก และปัญหาที่ตามมา

วิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของราชวงศ์ที่มีรูปแบบความแตกต่าง คือ การที่ราชวงศ์ในยุโรปพระมหากษัตริย์มีคู่สมรสเพียงพระองค์เดียว แต่ในเอเชียพระมหากษัตริย์กลับมีคู่สมรสได้จำนวนมาก. ในยุโรปมีหลักธรรมเนียมพระราชประเพณีปฏิบัติอย่างหลักๆ ในการสืบราชสมบัติอยู่สองประการ คือ "จากคู่สมรส"และ"จากพระราชโอรสองค์โต" ซึ่งจะสืบราชสมบัติโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน (โดยแบ่งจากการสืบสันตติวงศ์จากกฎมณเฑียรบาลโดยฐานนันดรศักดิ์) และเป็นที่น่าทึ่งที่ราชวงศ์ในยุโรปจำนวนหนึ่ง ถูกปลงพระชนม์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1790 และนั่นก็หมายความว่าผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ที่มีความสามารถก็จะมีจำนวนลดน้อยลงเช่นกัน

ในสหราชอาณาจักร ราชวงศ์ทิวดอร์ และราชวงศ์สจ๊อต ซึ่งเป็นสองราชวงศ์สุดท้าย และยังมีราชวงศ์ของเนเธอแลนด์อีกราชวงศ์หนึ่งด้วยเช่นกัน ราชวงศ์ฮันโนเวอร์มีเพียง 8 รัชสมัย และได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นสถาบันเป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์

ความเสื่อมถอยของการมีคู่สมรสจำนวนมากในเอเชีย ในสยามเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีจำนวนของลำดับสันตติวงศ์จำนวนมาก จากการให้กำเนิดองค์รัชทายาทจากพระมหากษัตริย์ หากพระมหากษัตริย์มีผู้สืบสันตติวงศ์ 80 พระองค์ ก็จะทำให้มกุฎราชกุมารดำรงพระชนม์ชีพด้วยความยากลำบาก จากการที่มีผู้สืบสันตติวงศ์จำนวนมากขึ้นซึ่งอาจทำให้มีการลอบปลงพระชนม์ระหว่างพี่น้องด้วยกันเอง นี่คือถ้อยคำถากถางของความแตกต่างระหว่างราชวงศ์ยุโรปและเอเชีย

ส่วนพระนางเจ้าที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษ 3 พระองค์ คือ พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 พระนางเจ้าวิกตอเรีย และพระเจ้าอลิซาเบธที่ 2 แต่ละพระองค์ทรงล้วนครองราชสมบัติร่วมกว่าครึ่งศตวรรษและไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดของรัสเซียและออสโตรฮังการีที่ได้รับความนับถืออย่างมากเท่ากับพระบรมราชินีนาถแคทเธอรีนซึ่งเป็นชาวเยอรมัน และพระนางมาเรีย เทเรซ่า

การที่สามารถสมรสได้หลายคู่ของชาติเอเชีย ทำให้มีผู้สืบราชสันติวงศ์จำนวนมาก (ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกประเพณีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ โดยให้พระราชโอรสเป็นมกุฎราชกุมารสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ และในปัจจุบันนี้ได้เปิดโอกาสให้พระราชธิดาสามารถสืบราชสันตติวงศ์ได้แล้วเช่นกัน) ชีวิตสมัยใหม่ของยุโรปได้แสดงให้เห็นว่า การมีพระราชินีนาถเป็นผู้ปกครองพสกนิกรจะรักพระองค์มากกว่าการที่มีพระราชาเป็นผู้ปกครอง ดังเช่นที่พระราชินีอลิซาเบธได้รับความชื่นชอบเป็นจำนวนมาก แต่นี่ไม่รวมถึงพระราชโอรสของพระองค์ที่ทรงเอาแน่เอานอนไม่ได้ และพระราชนัดดาที่ไม่กระทำตามสัญญาทั้งสองพระองค์ นับเป็นสิ่งยอดเยี่ยมเมื่อพระราชินีทรงอยู่ในบัลลังก์ ในขณะเกิดเรื่องเสียๆ หายๆ บ่อยกับพระราชา

ประการที่สอง การปรับตัว เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งคู่ระหว่าง"ราชวงศ์"และ"ความเป็นชาติ" อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งสองคำนี้สามารถปรับตัวได้ อย่างน้อยที่สุดในยุโรป อย่างแรกสามารถเรียกได้ว่าเป็นการเสาะแสวงหาความนับถือจากชนชั้นกลาง คริสตศาสนิกชนถูกห้ามไม่ให้สมรสได้หลายครั้ง แต่ในศตวรรษนั้นก็มีพระสนมของกษัตริย์ในยุโรปได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง เช่นในรัชสมัยของพระนางเจ้าวิกตอเรีย มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่ 7 มกุฎราชกุมารซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์ ทรงแอบมีพระสนมอย่างลับๆ และในช่วง 3 รัชสมัยสั้นๆ นี้เองที่ราชวงศ์พยายามกระทำตนเฉกเช่นชนชั้นกลางทั่วไป พระชายามิได้ทรงปรากฏพระองค์ และพระโอรส พระธิดาต่างก็ถูกส่งเข้าโรงเรียนเฉกเช่นเด็กทั่วไป ไม่ได้กักขังเลี้ยงดูภายในราชวังอีกต่อไป

การปรับตัวสู่ความเป็นชนชั้นกลาง
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภาพตัวแทนที่ยิ่งใหญ่ของการยอมให้ลัทธิชาตินิยมตอกย้ำความเสมอภาค ซึ่งพระนางราชินินาถอลิซาเบธเป็นผลผลิตของคำแรก รูปแบบการปรับตัวนี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1980 แต่ความสำเร็จที่แท้จริงในอังกฤษ ฮอลแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น สเปน ได้แสดงภาพลักษณ์ตัวตนเฉกเช่นสามัญชนธรรมดา ทรงเป็นผู้นำทางคุณธรรม ทรงดำรงชีพเฉกเช่นครอบครัวชนชั้นกลาง มีพระโอรสพระธิดาเพียง 2-3 พระองค์ (ใกล้เคียงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระองค์ก็ทรงเสียภาษีเงินได้ประจำพระองค์ให้แก่รัฐ และเป็นช่วงที่งดเว้นการมีพระราชพิธีที่ใหญ่โต และจารีตประเพณีอันโบราณคร่ำครึ และทำให้มีภาพลักษณ์ที่น่าตื่นตาทางโทรทัศน์และจุดดึงดูดการท่องเที่ยวกว่าบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายเชิงลึกสำหรับคนอังกฤษ

การปรับตัวสู่วัฒนธรรมประชานิยม
แต่สมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ระยะที่สองสามารถเทียบได้กับการปรับตัวสู่อำนาจของวัฒนธรรมประชานิยมซึ่งคนรุ่นใหม่ยิ่งมีเสียงมากยิ่งขึ้น. โทรทัศน์เป็นจุดเปลี่ยนทางเทคโนโลยีที่สำคัญ แต่ผลกระทบทางการเมืองล้วนมาจากการเป็นพันธมิตรกับวัฒนธรรมประชานิยม ทั้งละครน้ำเน่า รายการทอร์คโชว์ ภาพยนตร์ การแข่งขันกีฬา การ์ตูน และอื่นๆ การปรับตัวของราชาธิปไตยต่อวัฒนธรรมแห่งชาตินี้นั้นยากมากขึ้น เพื่อที่จะรวมกับเกียรติยศ สังคม และศีลธรรมกับราชวงศ์

ปัจจัยหลักนั้นคือ การปรากฏขึ้นของกลุ่มผู้มีชื่อเสียง อย่างที่นักเล่นสำนวนคนหนึ่งกล่าวสรุปสั้นๆ ว่า "เป็นผู้มีชื่อเสียงเพื่อมีชื่อเสียง" วีรบุรุษของวัฒนธรรมประชานิยมในประเทศอังกฤษ รวมทั้งทุกๆ ที่คือ นักกีฬา นักแสดงภาพยนตร์ นักดนตรีร็อค ผู้คนในรายการทอร์คโชว์ นักการเมืองโทรทัศน์ และผู้คนมีฐานะทางเศรษฐกิจ

วีรบุรุษและวีรสตรีกลุ่มนี้ถูกคาดหมายให้มีรูปร่างหน้าตาดี ร่ำรวย และมีคู่รักจำนวนมาก แต่งตัวเก่ง เป็นผู้ที่ท้าทายความเสี่ยง เป็นผู้ทีใช้ยาเสพติด โดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องอื้อฉาว และค่อนข้างเป็นเรื่องที่น่าสลดใจ ยกตัวอย่างเช่น มาลิลีน มอนโรว, เจมส์ ดีน, เจ้าหญิงไดอานา เช่น เดียวกับไมเคิล แจ็คสัน, มาดอนน่า, จอห์น เลนนอน ฯลฯ ความเชื่อมโยงที่มีผู้ชมมักดูเหมือนให้ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และผู้คนนั้นเริ่มที่จะคิดว่าตนเองเป็นเช่นนั้น ถ้าฉันเป็นคนที่สวยกว่านี้ รวยกว่านี้ และแปลกประหลาดกว่านี้ ฉันคงสามารถเป็นหนึ่งในพวกเขาได้ ผู้คนเริ่มที่จะคาดหวังที่จะเปิดเผยชีวิตส่วนตัวของพวกเขาต่อพื้นที่สาธารณะมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือวิธีการที่พวกเขาจะยังคงมีชื่อเสียงอยู่ต่อไปได้

สามารถเห็นได้ทันทีว่า เหตุใดการปรับตัวราชวงศ์ต่อวัฒนธรรมประชานิยมในลักษณะนี้นั้น เป็นทั้งสิ่งที่มีเสน่ห์และน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์รุ่นเยาว์สามารถเข้าถึงตัวฮีโร่นักกีฬาได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งนักร้องเพลงร็อค นักแสดง และบรรดาพ่อค้านักธุรกิจ ดังนั้นจึงมักเกิดกรณีขึ้นในใจของพวกเขาที่มีความสับสนระหว่างผู้มีชื่อเสียงและราชวงศ์ แต่ในพื้นที่สาธารณะนั้นน้อยมากที่จะเกิดความผิดพลาดเช่นนั้น ในใจของประชาชน พวกเขาคาดหมายว่าราชวงศ์นั้นจะมีเกียรติ เสียสละเพื่อส่วนรวม

ความยากเย็นประการที่สอง คือ น้อยมากที่จะมีหน้าตาดีเหมือนนักแสดงภาพยนตร์ หรือมีความสามารถเท่านักดนตรีร็อค และมีความฉลาดเท่าพ่อค้าคนรวย จริงๆ แล้วพวกเขาไม่มีอะไรเลย เว้นแต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชาติกำเนิดของพวกเขา ซึ่งไม่ได้มีนัยยะสำคัญที่เกี่ยวกับสถานะของผู้มีชื่อเสียงเลย เรื่องอื้อฉาวของราชวงศ์นั้นเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยไม่ใช่เรื่องน่ากลัวผิดปกติแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่ทำให้ฉุกคิดเกี่ยวกับความคาดหวังที่มีอยู่สูงต่อราชวงศ์เท่านั้นเอง

กรณีเจ้าหญฺงไดอาน่านั้น เป็นกรณีตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบในการอธิบายปัญหาในโลกสมัยใหม่นี้ พระองค์ไม่ได้เป็นคนที่มีความสามารถพิเศษ และไม่ได้รูปร่างหน้าตาดีกว่าราชวงศ์อังกฤษส่วนใหญ่ พระองค์ไม่สามารถที่จะแข่งขันเสน่ห์ของพระองค์กับดาราภาพยนตร์โดยปราศจากสถานะจากในราชวงศ์ของพระองค์

ประชาชนชอบพระองค์ในช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระองค์มีพระสวามีที่แปลกไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะราชินีไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนและดูไม่ค่อยมีเกียรติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการของพระองค์ที่จะให้กำลังใจผู้ป่วยเอดส์ อาจเป็นเพราะพระองค์นั้นยังทรงพระเยาว์ผู้คนจึงนิยมชมชอบพระองค์

แต่ด้วยความสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายของพระองค์กับลูกชายเพลย์บอยของพ่อค้าคนรวยชาวมุสลิมในอังกฤษ แน่นอนถ้าพระองค์เป็นนิโคลคิดแมน นั่นอาจเป็นเรื่องปกติที่สามรถเกิดขึ้นได้ นิตยสารไทม์ได้ออกมาต่อต้านพระองค์เช่นกันในกรณีนี้ เพราะวันหนึ่งพระองค์อาจจะต้องเป็นราชินีที่อื้อฉาวพอๆ กับพระสาวมีที่อื้อฉาวเช่นกัน เป็นเหมือนฝันร้ายที่ชาวอังกฤษหลายพันคนร้องไห้ให้พระองค์ เมื่อพระองค์จากไปด้วยการสิ้นพระชนม์ที่น่าหดหู่ แต่มันอาจจะเป็นชะตากรรมของผู้มีชื่อเสียงที่จะถูกลืมและถูกแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ และนี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่โชคร้ายคนนั้น เท่านั้นเอง

คำอธิบายภาพบทความ "๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ประวัติศาสตร์ที่"ให้จำ"กับ"ให้ลืม" "(ซ้าย: จอมพล ป.พิบูลสงคราม. ขวา: ท่านปรีดี พนมยงค์)

๒. ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) ประวัติศาสตร์ที่"ให้จำ"กับ"ให้ลืม"
ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (Dr. Charnvit Kasetsiri)

16 August 1945 A History of Remembering and Forgetting
Charnvit Kasetsiri

ในแง่ของ "ประวัติศาสตร์การเมือง" ของสยามประเทศสมัยใหม่ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวัน-เดือน-ปีที่สำคัญอย่างยิ่ง สมควรที่จะได้รับการทำ "ให้จำ" และ "รำลึก" แต่ ๑๖ สิงหาคม ก็เป็นวันที่ถูกทำ "ให้ลืม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กลายเป็นหน้ากระดาษที่ "ว่างเปล่า" ในหนังสือแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ฉบับราชการของกระทรวงศึกษาธิการ

ขบวนการเสรีไทย - ประกาศสันติภาพ
เมื่อ ๖๔ ปีมาแล้ว วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้นำของ "ขบวนการเสรีไทย" และในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้ออก "ประกาศสันติภาพ" ซึ่งมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า "การประกาศสงครามเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลาย ซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" ดังนั้น "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย"

ประกาศสงคราม" ต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา
ทำไมถึงต้องมี "ประกาศสันติภาพ" คำตอบก็คือ เพราะว่าได้มี "ประกาศสงคราม" มาก่อนนั่นเอง เราๆท่านๆทั้งหลาย ก็คงถูกทำ "ให้ลืม" ไปแล้วว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ประเทศไทยถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เจรจาสงบศึกอย่างรวดเร็ว และตกลงร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นด้วยการลงนามใน "กติกาสัญญาพันธไมตรี" เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม หรืออีก ๑๒ วันถัดมา การลงนามครั้งนั้นกระทำในโบสถ์วัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น และอีก ๑ เดือนกับ ๕ วันต่อมา คือ ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีการ"ประกาศสงคราม" ต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

"โดยที่ฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้กระทำการรุกรานประเทศไทยมาเป็นลำดับ โดยส่งทหารรุกล้ำเขตแดนเข้ามาบ้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ส่งเครื่องบินลอบเข้ามาทิ้งระเบิดบ้านเรือนของราษฎร ผู้ประกอบการหาเลี้ยงชีพอย่างปกติ ทั้งระดมยิงราษฎรสามัญ ผู้ไร้อาวุธอย่างทารุณผิดวิสัยของอารยชน ไม่กระทำการอย่างเปิดเผยตามประเพณีนิยมระหว่างชาติ นับได้ว่าเป็นการละเมิดต่อกฏหมายระหว่างประเทศ และมนุษยธรรม ประเทศไทยไม่สามารถที่จะทนดูต่อไปได้อีก อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้มีสถานะสงคราม ระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่เวลาเที่ยงวัน วันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นต้นไป"

อนึ่ง ในการ "ประกาศสงคราม" ของรัฐบาลไทยครั้งนี้ แม้สหรัฐอเมริกาจะมิได้มีการประกาศสงครามโต้ตอบ แต่บริเตนใหญ่หรืออังกฤษ กับประเทศในเครือ ก็ได้ประกาศสงครามตอบโต้ตามลำดับ ดังนี้…

- อังกฤษ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕
- แอฟริกาใต้ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕
- ออสเตรเลีย ๒ มีนาคม ๒๔๘๕
- นิวซีแลนด์ ๑๖ มีนาคม ๒๔๘๕

นับได้ในทางกฏหมายระหว่างประเทศว่า ไทยเรามีสถานะสงครามกับประเทศเหล่านั้น

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อรัฐบาลพันธมิตรของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต้องปราชัยไปตามลำดับ กล่าวคือเมื่อ ๖ พฤษภาคม ๒๔๘๘ เยอรมนีต้องยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร (ภายหลังวัน D-Day ๖ มิถุนายน ๒๔๘๗) และต่อมาระเบิดปรมาณูลูกแรก ก็ถูกทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ และลูกที่สองลงที่เมืองนางาซากิ ๙ สิงหาคมปีเดียวกัน ทำให้พระเจ้าจักรพรรดิฮิโรฮิโตแห่งญี่ปุ่นต้องประกาศยอมจำนนในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘

VJ-Day (Victory Over Japan) ถูกระงับ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ด้วยความร้ายแรงของระเบิดปรมาณูที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมจำนนอย่างรวดเร็ว ความคาดหมายของฝ่ายขบวนการเสรีไทย ทั้งในและนอกประเทศที่จะทำการรุกฮือขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่นในวัน VJ-Day (Victory Over Japan) อย่างเช่นที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกระทำในยุโรปเมื่อวัน D-Day ก็เป็นไปไม่ได้ และถูกระงับไป และนี่ก็ทำให้เราได้มาซึ่ง "ประกาศสันติภาพ" เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคมฉบับนั้น นั่นเอง

กล่าวได้ว่า "ประกาศสันติภาพ" ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นั้น เป็นเอกสารสำคัญอย่างยิ่ง ที่ได้ "กู้ชาติ" ซึ่งทำให้รัฐบาลไทยชุดหลังสงคราม สามารถเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรหรือฝ่ายสหประชาชาติ "ผู้พิชิต" ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ สหภาพโซเวียต จีน และฝรั่งเศส ทำให้ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยไม่ต้องถูก "ปรับ" หรือ "ลงโทษ" อย่างรุนแรงในฐานะของ "ผู้แพ้สงคราม" อย่างในกรณีของเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น

ประเทศไทยและประชาชนไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่หลังสงคราม ไม่ว่าจะเป็นชุดของ นรม. ทวี บุณยเกตุ (๓๑ สิงหาคม - ๑๗ กันยายน ๒๔๘๘) หรือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (๑๗ กันยายน ๒๔๘๘ - ๓๑ มกราคม ๒๔๘๙) ทั้งนี้โดยการนำของ ฯพณฯ ท่านปรีดี พนมยงค์ สามารถแก้ไขสถานการณ์และ "กู้" สถานะของประเทศ จนสามารถเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของเวทีใหม่ของการเมืองระหว่างประเทศ นั่นคือ องค์การสหประชาชาติ (The United Nations Organization) ได้อย่างค่อนข้างรวดเร็ว เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๙ หรือเพียง ๑ ปีกับ ๔ เดือนในสมัยของรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (๒๓ สิงหาคม ๒๔๘๙ - ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐)

ประวัติศาสตร์ที่ต้องถูกทำ "ให้จำ" กลับ "ให้ลืม"
ดังนั้น ในแง่ของวิชาประวัติศาสตร์ "๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘" จึงน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องถูกทำ "ให้จำ" แต่ด้วยเหตุใดเล่า "๑๖ สิงหาคม" จึงถูกทำ "ให้ลืม" ? คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ "การเมืองภายใน" นั่นเอง ทั้งนี้เพราะในช่วงของการนำประเทศกลับเข้าสู่สภาวะของ "สันติ" นั้น เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น นั่นคือการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙

ความมืดมนต์ของกรณีสวรรคต การนำเรื่องขององค์พระมหากษัตริย์และสถาบันฯ มาเป็นเครื่องมือโจมตีและโค่นล้มรัฐบาล นำมาซึ่งการ "รัฐประหาร" ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดยคณะทหารที่มีพลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้นำ ซึ่งก็นำมาซึ่งการฟื้นฟู "อำนาจนิยม" กับ "อประชาธิปไตย" อันยืดเยื้อยาวนานของ "ระบอบพิบูล-สฤษดิ์-ถนอม" (๒๔๙๑ - ๒๕๐๐ - ๒๕๑๖) หรือแม้แต่ในทุกวันนี้ พ.ศ. ๒๕๕๒ ประชาธิปไตยของไทย ก็ยังอยู่ในสภาพของการล้มลุกคลุกคลาน เต็มไปด้วยการใช้กำลังทหารเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และการฉีกทิ้งทำลายและร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า. ความเป็น "อประชาธิปไตย" นี้แหละ ที่ทำให้หน้าประวัติศาสตร์ของ "๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘" ต้องกลายเป็น "หน้าว่าง" และถูกทำ "ให้ลืม" มากกว่าถูกทำ "ให้จำ"

การสุ่มตัวอย่างหนังสือแบบเรียน "ประวัติศาสตร์" ของนักเรียนชั้นมัธยม ๕
ในช่วงของการเตรียมตัวที่จะกล่าวปาฐกถาครั้งนี้ ผู้เขียนได้ทำการทดลองสำรวจ ด้วยการสุ่มตัวอย่างหนังสือแบบเรียน "ประวัติศาสตร์" ของนักเรียนชั้นมัธยม ๕ ที่จัดพิมพ์โดย ๓ บริษัทด้วยกัน คือ

(หนึ่ง) สำนักพิมพ์ บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)
(สอง) สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช (วพ.) และ
(สาม) บริษัทอักษรเจริญทัศน์ (อจท.)

หนังสือแบบเรียนของทั้งสามบริษัทนี้ตรงตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๔๔ มี "ใบอนุญาตให้ใช้สื่อการเรียนรู้ในสถานศึกษา" มีตราครุฑและออกโดยกระทรวงศึกษาธิการ

- หนังสือเล่มแรกของ พว. หนา ๑๓๔ หน้า พิมพ์ครั้งที่สอง ๒๕๕๒ จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม เขียนโดย ผศ. พลับพลึง คงชนะ มีผู้ตรวจคือ ดร. กร่าง ไพรวรรณ, อ. สมพงษ์ พละสูรย์, อ. สายัณห์ พละสูรย์ และมี บก. คือ ศ. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และมีคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รักษาการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในใบอนุญาต

- หนังสือเล่มที่สองของ วพ. หนา ๒๐๘ หน้า พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ๒๕๔๗ เขียนโดย รศ. ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม และประทุม กุมาร มีผู้ตรวจคือ ธนาลัย ลิมปรัตนคีรี, จรรยภรณ์ เชิดพุทธ, สุเทพ จิตรชื่น และมี บก. คือ สุระ ดามาพงษ์, สมพร อ่อนน้อม, สุชาดา ยะหัตตะ, กรณรงค์ เหรียนระวี และมีนางพรนิภา ลิมปพยอม ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงนามในใบอนุญาต

- หนังสือเล่มที่สามของ อจท. หนา ๒๑๕ หน้า พิมพ์ครั้งที่สิบ ๒๕๕๑ เขียนโดย รศ. ณรงค์ พ่วงพิศ, รศ. วุฒิชัย มูลศิลป์, ผศ. ดร. ชาคริต ชุ่มวัฒนะ, ศ. สัญชัย สุวังบุตร, รศ. อนันต์ชัย เลาหะพันธุ และมี บก. คือนายเอกรินทร์ สี่มหาศาล กับนายสมเกียรติ ภู่ระหงษ์ กับมีนางพรนิภา ลิมปพยอม ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงนามในใบอนุญาตเช่นกัน

ผลการสำรวจพบดังนี้คือ
- เล่มแรกไม่มีเรื่องเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง และ/หรือ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ กับเรื่องของขบวนการเสรีไทยเลย

- ส่วนเล่มที่สอง มี "บทที่ ๗ สงครามโลก" ทั้งครั้งที่ ๑ และ ๒ จากหน้า ๑๘๐ ถึงหน้า ๒๐๔ คือ ๒๔ หน้า และมีหัวข้อสุดท้าย คือ"ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๒" จากหน้า ๒๐๑ ถึง ๒๐๓ มีการกล่าวถึงการ (ต้อง) "ประกาศสงคราม" เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ แต่ไม่มีการกล่าวถึง "ประกาศสันติภาพ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘" เว้นแต่จะกล่าวอย่างรวบรัดว่า "ฝ่ายไทยได้อ้างว่าการประกาศสงครามเป็นโมฆะ..." และก็น่าสังเกตว่าใช้คำว่า "ไทย" แบบลอยๆ โดยไม่กล่าวว่าเป็น "รัฐบาล" (สมัย นรม. ใด) อย่างไรก็ตาม หนังสือแบบเรียนเล่มนี้ได้กล่าวอย่างผ่านๆ ถึง "ขบวนการเสรีไทย" หนึ่งบรรทัด

- สำหรับเล่มที่สามนั้นพบว่า มีบทสุดท้ายว่าด้วย "สงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒" เช่นกัน จากหน้า ๒๐๐ ถึง ๒๑๐ แต่ก็น่าแปลกใจที่ว่าในบทสุดท้ายดังกล่าว ไม่มีการกล่าวถึงประเทศไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีข้อความใดเกี่ยวกับ "๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘" หรือ "ขบวนการเสรีไทย"

ไม่มีบุคคลสำคัญที่เป็นตัวแทนประชาชนไทยในหนังสือแบบเรียน
อนึ่ง ผู้เขียนยังพบว่า หนังสือเล่มที่หนึ่ง มีบทสุดท้ายว่าด้วย "ประวัติและผลงานของบุคคลสำคัญ" ที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งกล่าวถึงบุคคลต่างๆ ไว้ตามลำดับ ดังนี้ คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, พระยารัษฏานุประดิษฐ์ฯ, เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, พระยาอนุมานราชธน, ดร. คุณบรรจบ พันธุเมธา และพระยากัลยาณไมตรี (ดร. ฟรานซิส บี. แซร์) ส่วนหนังสืออีกสองเล่มหลัง ไม่มีบทว่าด้วยบุคคลสำคัญแต่อย่างใด. น่าสังเกตว่า นอกจาก "เจ้า, ขุนนาง, และชาวต่างชาติ" นี้แล้ว ก็จะไม่มีบุคคลสำคัญ ที่เป็นตัวแทนของประชาชนไทย ไม่ว่านักคิดนักเขียน ศิลปิน นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ นักการเมือง ตลอดจนผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกรแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏนามของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ทั้งๆ ที่ท่านได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ (๒๐๐๐) หรือหนึ่งปีก่อนหลักสูตร พ.ศ. ๒๕๔๔ นี้ของกระทรวงศึกษาธิการ

ถ้าเราคิดว่า "ประวัติศาสตร์" คือ "บทเรียน" ของมนุษย์ ก็เชื่อได้แน่ว่าเราจะไม่มีทางได้ "บทเรียน" นั้นจากหนังสือแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ฉบับราชการที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ. คงจะถึงเวลาแล้วกระมัง ที่การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนนั้น ต้องการ"การปฏิวัติ"ให้เป็น"ประชาธิปไตย"เสียที เราคงต้องการมากกว่า"การปฏิรูป" และที่สำคัญคือ เราๆท่านๆ ควรจะเลิกพร่ำบ่น กล่าวโทษ และเฝ้าโยนความผิดให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชนคนหนุ่มคนสาวของเราว่าเขาและเธอไม่สนใจประวัติศาสตร์ ไม่รู้จักรากไม่รู้จักเหง้าของชาติบ้านเมือง

ถ้าเขาและเธอ ถูกสอน ถูกบังคับ "ให้จำ" ในสิ่งที่ไม่ควรจำ และถูกสอนให้ "ลืม" ในสิ่งที่ไม่ควรลืม เราๆท่านๆ ซึ่งอย่างน้อยก็มีการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือไม่ก็โท หรือแม้แต่เอกก็ตาม ก็ควรจะโทษตัวเอง มิใช่หรือ ?

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com