1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
บิดาของนางสาวแพนเป็นนักแสดงบทตัวตลกในคณะละครที่กรุงเทพ เมื่อได้รับโทรเลข เขารีบเดินทางโดยรถไฟไปกรุงพนมเปญ และได้ยินยอมยกบุตรสาวให้พระมหากษัตริย์กัมพูชา พระองค์จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ 'หลวง' ให้เป็นการตอบแทน. ส่วนปฏิกิริยาของนางสาวแพนนั้น มารดาของเธอเล่าว่า เมื่อทราบว่า พระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาทรงโปรดปราน นางสาวแพนไม่ได้แสดงความยินดีปรีดากับวาสนานี้เลย จนมารดาต้องย้ำว่า "อย่าโง่ รู้ไหมว่านี่เป็นโอกาสหนึ่งในล้าน หนึ่งในร้อยล้านที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของนางละครทั้งหลาย" จากนั้นมารดาจัดแจงให้นางสาวแพนแต่งตัวด้วยผ้าซิ่นและเสื้อที่งดงามที่สุดที่มีอยู่ และพาเข้าไปถวายตัว หลังการถวายตัวไปสามวัน พระบาทสีสวัสดิ์ มณีวงศ์ ทรงประกาศว่าพระองค์จะทรงสถาปนา...
03-09-2552 (1781)
เจ้าจอมที่ถูกลืมของกษัตริย์กัมพูชา
- โศกนาฏกรรมสยาม
กษัตริย์กัมพูชา
นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน
สุภัตรา ภูมิประภาส : นักวิชาการอิสระ
นักวิชาการอิสระที่สนใจในประเด็นสิทธิสตรีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทความนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งเคยได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกใน
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๒
เป็นเรื่องความผันผวนของชีวิตนางละครไทยซึ่งเคยก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิต
ในราชสำนัก แต่ภายหลังคืนกลับสู่สามัญชน ด้วยเหตุผลทางการเมืองอันลึกลับซับซ้อน
ทั้งในส่วนของราชสำนักและการเมืองในเอเชียอาคเนย์สมัยอาณานิคม
หัวข้อหลักของบทความนี้
ประกอบด้วย
- เจ้าจอมแพนในเอกสารไทยและกัมพูชา
- เรื่องของนางสาวแพนในบันทึกของฟรีแมน
- จากวิกละครเร่ สู่ราชสำนัก
- เจ้าจอมชาวสยามในราชสำนักกรุงพนมเปญ
- รักของกษัตริย์...ข่าวที่ถูกห้ามเขียน
- คืนสู่สามัญ
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด
"เรื่องราวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้")
สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๘๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
(ภาพประกอบ: รูปแม่แพน
เรืองนนท์ ในวัย ๖๐ ปี ถ่ายโดยเอนก นาวิกมูล เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒)
เจ้าจอมที่ถูกลืมของกษัตริย์กัมพูชา
- โศกนาฏกรรมสยาม
กษัตริย์กัมพูชา
นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน
สุภัตรา ภูมิประภาส : นักวิชาการอิสระ
นักวิชาการอิสระที่สนใจในประเด็นสิทธิสตรีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม
ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ โดย ไกรฤกษ์ นานา ได้นำเสนอเรื่องราวชะตาชีวิตที่ผกผันของนางละครเร่ชาวสยาม
ที่กลายเป็น "เจ้าจอมที่ถูกลืมของกษัตริย์กัมพูชา" โดยอ้างถึงข้อมูลที่
เอนก นาวิกมูล บันทึกไว้หลังพบกับอดีตเจ้าจอมผู้นี้ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งเป็นเวลาหลายทศวรรษหลังเกิดเหตุการณ์รักต่างชนชั้น
ข้ามพรมแดนของหญิงสามัญชนชาวสยามกับพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา. เหตุการณ์นี้เกิดในรัชสมัยของพระบาทสีสวัสดิ์
มณีวงศ์ (Preah Bat Sisowath Monivong) (*) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรสยามในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
(*) พระบาทสีสวัสดิ์ มณีวงศ์ ขึ้นครองราชย์ปี พ.ศ.๒๔๗๐ เสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๔๘๔
นางสาวแพน เรืองนนท์ นางรำในคณะละครเร่จากสยาม ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีตำแหน่งเป็น "เจ้าจอมสีสวัสดิ์ อำไพพงศ์" ในพระบาทสีสวัสดิ์ มณีวงศ์ พระเจ้ากรุงกัมพูชาอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะถูกส่งตัวกลับมาด้วยเหตุผลใดไม่แจ้งชัด
แต่นอกจากประวัติศาสตร์บอกเล่าที่เอนก นาวิกมูล ถ่ายทอดไว้แล้ว ไม่ปรากฎหลักฐานใดในบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเจ้าจอมแพนทั้งในราชสำนักกัมพูชาและประวัติศาสตร์ของสยาม ทั้งๆ ที่เรื่องของนางสาวแพนเป็น 'Talk of the Town' ของสังคมบางกอกในช่วงเวลานั้น โดยมีหนังสือพิมพ์ "บางกอก เดลี่เมล์" (Bangkok Daily Mail) ติดตามนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสื่อในประเทศตะวันตกได้นำไปเผยแพร่ต่อด้วย และต่อมานายแอนดริว เอ. ฟรีแมน (Andrew A. Freeman) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Bangkok Daily Mail ได้นำเรื่องราวของนางสาวแพนและผลกระทบที่เขาได้รับจากการรายงานข่าวนี้ ไปเล่าไว้ในหนังสือบันทึกประสบการณ์ในประเทศสยามของเขาชื่อ "Brown Women and White" ตีพิมพ์ครั้งแรกในอเมริกาปี พ.ศ.๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) (*)
(*) เปลี่ยนชื่อเป็น A Journalist in Siam ในฉบับพิมพ์ปี พ.ศ.๒๕๕๐ (ค.ศ.๒๐๐๗), White Lotus Press, Thailand
เจ้าจอมแพนในเอกสารไทยและกัมพูชา
เรื่องของนางละครชาวสยาม ผู้มีนามว่านางสาวแพน เรืองนนท์ ที่เอนก นาวิกมูล ถ่ายทอดไว้ในหนังสือ
"นาฏกรรมชาวสยาม" นั้น เป็นเรื่องที่ถูกเล่าต่อโดยนายทองใบ เรืองนนท์
(*) ครูละครชาตรีผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของนางสาวแพน ทั้งนี้ครูทองใบ เล่าว่า
นางสาวแพน เป็นที่ต้องพระทัยของพระเจ้ากรุงกัมพูชา เพราะเธอสวมบทเป็นนางบุษบารำถวายเบื้องพระพักตร์
พระองค์จึงกักตัวไว้ในราชสำนักกัมพูชา และส่งคนมาตามตัวบิดาของนางสาวแพนไปเข้าเฝ้า
เพื่อทรงสู่ขอไปเป็นเจ้าจอมของพระองค์ แต่ต่อมาทั้งเจ้าจอมแพนและบิดาของนางถูกส่งตัวกลับสยามด้วยเหตุผล
"หากอยู่ไปก็จะเป็นอันตรายได้ นับจากนั้นแม่แพนก็ไม่ไปสู่ราชสำนักเขมรอีกเลย"
(*) ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปการแสดง (ละครชาตรี) พ.ศ.๒๕๔๐ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ อายุ ๘๑ ปี
เอนก นาวิกมูล ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับปี พ.ศ. ที่แม่แพนได้เข้าไปอยู่ในราชสำนักกัมพูชาไว้ เพียงแต่ระบุว่าแม่แพนมีอายุได้ ๖๕ ปีแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ (ค.ศ.๑๙๗๙) ที่เขาได้พบ "แม่แพนเกิดที่บ้านหลานหลวง กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ (ถ้าอายุ ๖๕ ปี พ.ศ.๒๕๒๒ ตามที่ครูทองใบบอก) เป็นบุตรของครูพูน เรืองนนท์ กับแม่แป้น เรืองนนท์" และเมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่ไกรฤกษ์ นานา เพิ่มเติมค้นมาได้จากรายงานข่าวของนิตยสาร Asia Magazine ฉบับประจำเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๗๓ (ค.ศ.๑๙๓๐) (*) แล้วคิดคำนวนดู จะพบว่าช่วงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นางสาวแพนมีอายุ ๑๖ ปี และพระบาทสีสวัสดิ์ มณีวงศ์ พระเจ้ากรุงกัมพูชามีพระชนมายุ ๕๕ พรรษา
(*) ตามหลักฐานที่ปรากฎในเอกสารชิ้นอื่นๆ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๗๐ (ค.ศ.๑๙๒๗)
เรื่องนางสาวแพนนี้ มีรายงานข่าวอยู่ในหนังสือพิมพ์ภาษาไทยในยุคนั้นอีกหลายฉบับ จนมีผู้นำไปเขียนกลอนลำตัดเล่าเรื่อง...
มาบัดนี้มีเรื่อง คนทั้งเมืองเลื่องลือ หนังสือพิมพ์ก็ฮือระบือกันอึงมี่ ว่าสาวน้อยชื่อแพน บุตรแม่แป้นเรืองนนท์ กับพ่อพูนหน้ามน ตลกละครชาตรี....
ไปเล่นในภารา กำพูชานิเวศน์ องค์จอมเจ้าประเทศ ได้ทอดพระเนตร์สาวศรี....
พระจึงทรงสู่ขอ ต่อมารดาแพนน้อย แม่แป้นสนองถ้อย ทูลถวายทันที....
บทกลอนชิ้นนี้ระบุว่าเรียบเรียงโดย
"วงศ์เฉวียง" พิมพ์ที่โรงพิมพ์เฮงหลี สะพานดำ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ (ค.ศ.๑๙๒๗)
แต่เรื่องของนางสาวแพน หรือเจ้าจอมแพนในราชสำนักกัมพูชานั้น ไม่พบว่ามีการบันทึกไว้ในเอกสาร
หรือสื่อใดของทางฝ่ายกัมพูชา อาจเป็นเพราะว่าในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์นั้น
ยังไม่มีหนังสือพิมพ์หรือวารสารใดในภาษาเขมรปรากฎในอาณาจักร. หนังสือ ประวัติศาสตร์กัมพูชา
ที่เขียนโดย เดวิด แชนด์เลอร์ (David Chandler) (*) ระบุว่า "ก่อน ค.ศ.๑๙๒๗
ไม่มีหนังสือพิมพ์หรือวารสารใดในภาษาเขมรปรากฎในอาณาจักร วรรณกรรมกัมพูชาที่มีปรากฎอยู่
เป็นวรรณกรรมร้อยกรองที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ช่อเรื่อง
"ทะเลสาบ" (Tonle Sap) นวนิยายเรื่องแรกในภาษาเขมรได้ตีพิมพ์ใน ค.ศ.๑๙๓๘
ซึ่งเป็นเวลาสองปีภายหลังการออกหนังสือพิมพ์ "นครวัด" ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาเขมรฉบับแรก"
(*) David Chandler เป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ.๑๙๕๘ - ๑๙๖๖ เคยทำงานในกรุงพนมเปญเป็นเวลา ๒ ปี เคยรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการด้านงานวิจัยของศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยโมนาช เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย งานเขียนสำคัญชิ้นอื่นๆ ได้แก่ The Land and People of Cambodia, The Tragedy of Cambodian History
(ภาพประกอบ: รูปพระบาทสีสวัสดิ์ มณีวงศ์ พระเจ้ากรุงกัมพูชา)
เหตุการณ์ที่นางละครชาวสยามได้ไปเป็นเจ้าจอมในราชสำนักกัมพูชานั้น
เกิดในปี ค.ศ.๑๙๒๗ ก่อนหน้าที่กัมพูชาจะมีหนังสือพิมพ์ภาษาเขมรฉบับแรกถึง ๑๑
ปี. ส่วนเอกสารของราชสำนักกัมพูชาตามที่ เดวิด แชนด์เลอร์ ได้ศึกษาและเขียนไว้ในหนังสือ
"ประวัติศาสตร์กัมพูชา" ระบุว่า "พงศาวดารสมัยเจ้าสีสวัสดิ์และสมัยพระราชโอรสของพระองค์
คือเจ้าสีสวัสดิ์ มณีวงศ์ (ค.ศ.๑๙๒๗ - ๑๙๔๑) ฉบับตัวเขียนไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมากนัก
เพราะจำกัดอยู่เพียงการเล่าเหตุการณ์ตามสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์
แม้ว่าพงศาวดารในสมัยเจ้ามณีวงศ์จะ "เปิดกว้าง" เล็กน้อยที่กล่าวถึงเหตุการณ์บางเหตุการณ์
เช่น การรัฐประหาร ค.ศ.๑๙๓๒ ในประเทศไทย..."
เรื่องของนางสาวแพนในบันทึกของฟรีแมน
เรื่องที่นางสาวแพนถูกส่งตัวกลับนี้
หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในประเทศสยาม ๒ ฉบับ คือ Siam Observer และ The Bangkok
Times ได้ลงตีพิมพ์แถลงการณ์ที่ออกโดยสถานกงสุลฝรั่งเศส ขณะที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอีก
๑ ฉบับ คือ The Bangkok Daily Mail ลงคำให้สัมภาษณ์ของนางสาวแพนว่า
"I AM THE CAMBODIAN KING'S WIFE,"
SAYS NANGSAO BAEN
Bangkok Daily Mail เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ พิมพ์ข่าวในประเทศและข่าวต่างประเทศ บทความสั้นๆ และแจ้งความโฆษณาสินค้า ออกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ (ค.ศ.๑๙๐๘) นายแอนดริว เอ. ฟรีแมน (*) บันทึกไว้ว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าของ
(*) แอนดริว เอ. ฟรีแมน
(Andrew A. Freeman) เกิดที่บัลติมอร์ (Baltimore) เคยศึกษาที่จอนห์ ฮอบกินส์
(Johns Hopkins) และมหาวิทยาลัยในโคลัมเบีย เริ่มต้นอาชีพนักหนังสือพิมพ์ที่กองบรรณาธิการ
The Baltimore Sun และทำงานให้กับหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ เช่น the New York
Evening Mail, New York Herald, Chicago Journal, New York Daily Mirror, Japan
Advertiser และยังเขียนเรื่องให้กับนิตยสารอีกหลายฉบับ เช่น Asia, Current History,
McCall's, The New Yorker, The Outlook ก่อนที่จะมาทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์
The Bangkok Daily Mail
เรื่องของนางสาวแพนที่ผู้เขียนใคร่นำเสนอในบทความชิ้นนี้ มีรายละเอียดที่แตกต่างออกไปจากเรื่องเล่าของเอนก
นาวิกมูล โดยข้อมูลที่จะนำมาเสนอนี้ มาจากบันทึกของนายแอนดริว เอ. ฟรีแมน (Andrew
A. Freeman) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ชื่อ เดอะบางกอก เดลี่ เมล์ (The
Bangkok Daily Mail) ซึ่งทำหน้าที่รายงานเรื่องดักงล่าวอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเหตุให้ข่าวรักต่างวัย
ต่างชนชั้น ข้ามพรมแดน ถูกขยายจากเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องการเมืองในราชสำนักกัมพูชา
และกระทบกับเสรีภาพของสื่อในประเทศสยาม
ฟรีแมนเขียนบันทึกประสบการณ์ของเขาในประเทศสยามไว้ในหนังสือเรื่อง
"Brown Women and White" ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกที่อเมริกาในปี พ.ศ.
2475 เขาสารภาพไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า "...หากเดอะ เดลี่ เมล์ ไม่เป็นผู้ป่าวประกาศเรื่องนี้ออกไปในวงกว้าง
นางสาวแพนและกษัตริย์มณีวงศ์คงครองรักกันอย่างมีความสุขต่อไป
"
ฟรีแมนบันทึกไว้ว่า เขารู้เบาะแสเรื่องนางสาวแพน (Nangsao Baen) เป็นครั้งแรก
เพราะนักข่าวที่เป็นคนไทยของหนังสือพิมพ์เดลี่ เมล์ ชื่อประสุต บังเอิญไปได้ยินคำสนทนาของกลุ่มสตรีที่เพิ่งลงจากรถไฟที่สถานีรถไฟหัวลำโพง
พวกเธอกำลังซุบซิบกันถึงเรื่องที่มารดาของนางสาวแพนเล่าให้ฟังระหว่างที่นั่งรถไฟกลับมาด้วยกันจากชายแดนไทย-กัมพูชา
เรื่องที่บุตรสาวของเธอกำลังจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชินีของกัมพูชา!
ด้วยสัญชาตญานนักข่าว ประสุตจึงรีบตามไปดักตัวมารดานางสาวแพนไว้เพื่อซักถามรายละเอียด ประสุตบรรยายบุคคลิกลักษณะและการแต่งกายของมารดานางสาวแพนไว้ว่า "ดูเหมือนเป็นชาวนามากกว่าจะเป็นนางละคร" และ "เธอสวมสร้อยเงินมีเหรียญทองสลักรูปพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาห้อยอยู่"
เมื่อประสุตถามว่าทำไมเธอถึงคิดว่าบุตรสาวของเธอจะได้เป็นราชินีของกัมพูชา เธอบอกว่า เพราะพระมหากษัตริย์กัมพูชาทรงมีบัญชาให้อาลักษณ์หลวงบันทึกตำแหน่งของบุตรสาวของเธอเป็น 'เจ้าจอม' (Chao Chom) และทรงพระราชทานนามใหม่ให้นางสาวแพนว่า 'สีสวัสดิ์ อำไพพงศ์' (Srivasti Amphaibongse). ประสุตรีบโทรศัพท์เข้ามารายงานเรื่องนี้กับบรรณาธิการ และบรรณาธิการฟรีแมน ก็ตัดสินใจพาดหัวข่าวนี้สำหรับ Bangkok Daily Mail ฉบับวันรุ่งขึ้นทันที
SIAMESE DANCER MAY BE CAMBODIA'S QUEEN
"นางละครชาวสยามอาจได้เป็นราชินีของกัมพูชา"
รายงานข่าวชิ้นนี้ทำให้นางสาวแพน เรืองนนท์ กลายเป็น 'Talk of the Town' ของวงสังคมในเมืองบางกอกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐
จากวิกละครเร่ สู่ราชสำนัก
ในการให้สัมภาษณ์ มารดาของนางสาวแพนเล่าว่า เธอและบุตรสาวตระเวนเล่นละครอยู่ที่พระตะบอง
ตอนนั้นธุรกิจละครเร่ดำเนินไปอย่างขัดสนเพราะเศรษฐกิจไม่ดี จนคนไม่อยากจ่ายสตางค์เพื่อดูละคร
เธอกำลังครุ่นคิดว่าอาจต้องปิดวิกละครเร่และกลับเข้ากรุงเทพฯ แต่ในเย็นวันหนึ่ง
ขณะที่ละครกำลังแสดงอยู่ ผู้ดูแลคณะละครได้มากระซิบกับเธอว่าพระเจ้ามณีวงศ์ทรงประทับอยู่ในหมู่ผู้ชมละคร
เธอเล่าว่ากษัตริย์กัมพูชาทรงเสด็จมาชมการแสดงทั้งสองคืนที่คณะละครของเธอแสดงอยู่ที่พระตะบอง
และเธอสังเกตว่า พระองค์ทรงปรบพระหัตถ์เสียงดังเมื่อบุตรสาวของเธอปรากฎตัว
วันรุ่งขึ้นคณะละครเร่ถูกเรียกตัวให้ไปแสดงเบื้องพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัวมณีวงศ์ในบรมมหาพระราชวังในกรุงพนมเปญ หลังจากนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้มารดานางสาวแพนเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ในวันรุ่งขึ้น
"เมื่อฉันไปถึง พระองค์ทรงทักทายอย่างเป็นกันเองและตรัสชมว่าลูกสาวของฉันสวย พระองค์ทรงตรัสขอแพนจากฉัน ซึ่งฉันยินยอมพร้อมใจอยู่แล้ว พระองค์ทรงตรัสถามอีกว่าพ่อของแพนจะยินดีเหมือนฉันหรือไม่ ฉันกราบทูลว่าเขาจะต้องยินดีเหมือนกัน แต่พระองค์ไม่ยึดคำของฉัน ทรงรับสั่งให้ฉันโทรเลขมาเรียกสามีของฉันให้เดินทางมาที่กรุงพนมเปญ"
บิดาของนางสาวแพนเป็นนักแสดงบทตัวตลกในคณะละครที่กรุงเทพฯ เมื่อได้รับโทรเลข เขารีบเดินทางโดยรถไฟไปกรุงพนมเปญ และยินยอมยกบุตรสาวให้พระมหากษัตริย์กัมพูชา พระองค์จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ 'หลวง' (Luang) ให้เป็นการตอบแทน. ส่วนปฏิกิริยาของนางสาวแพนนั้น มารดาของเธอเล่าว่า เมื่อทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาทรงโปรดปราน นางสาวแพนไม่ได้แสดงความยินดีปรีดากับวาสนานี้เลย จนมารดาต้องย้ำว่า "อย่าโง่ รู้ไหมว่านี่เป็นโอกาสหนึ่งในล้าน หนึ่งในร้อยล้านที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของนางละครทั้งหลาย" จากนั้นมารดาจัดแจงให้นางสาวแพนแต่งตัวด้วยผ้าซิ่นและเสื้อที่งดงามที่สุดที่มีอยู่ และพาเข้าไปถวายตัว
หลังการถวายตัวผ่านไปสามวัน พระบาทสีสวัสดิ์ มณีวงศ์ ทรงประกาศว่าพระองค์จะทรงสถาปนานางละครชาวสยามผู้นี้เป็น 'เจ้าจอม' และทรงดำริจะสถาปนายศเพิ่มให้เป็นพระราชินี หรือพระมเหสีลำดับที่ ๑ จากจำนวนชายา ๕ นางที่พระองค์มีอยู่แล้ว หลังการจัดพระราชพิธีพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าสีสวัสดิ์ (Preah Bat Sisowath) พระราชบิดาของพระองค์ที่เสด็จสวรรคตสองเดือนก่อนหน้านี้ (*)
(*) พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา พ.ศ.๒๔๔๗ - ๒๔๗๐ เสด็จสวรรคตเมี่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๗๐ รวมพระชนมายุ ๘๘ พรรษา ทรงครองราชย์ ๒๔ ปี
แต่บันทึกตรงนี้ของนายฟรีแมน ขัดแย้งกับรายงานข่าวในนิตยสาร Asia Magazine เกี่ยวกับปีที่เกิดเหตุการณ์ หากไม่คลาดเคลื่อนเรื่องเวลาของเหตุการณ์ ก็อาจสันนิษฐานได้ว่ามีความคลาดเคลื่อนในเอกสารอื่นๆ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าสีสวัสดิ์ สวรรคตในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ (ค.ศ.๑๙๒๗) ฉะนั้นเรื่องราวของนางสาวแพนได้เป็นเจ้าจอมในราชสำนักกัมพูชา น่าจะต้องเกิดขึ้นในราวเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ แต่รายงานข่าวเรื่องนี้กลับปรากฎอยู่ในนิตยสาร Asia Magazine ฉบับประจำเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๗๓ (ค.ศ.๑๙๓๐) ตามที่มีการอ้างถึงในบทความของไกรฤกษ์ นานา ซึ่งพิจารณาจากเนื้อความที่ Asia Magazine ตีพิมพ์นั้นเป็นการนำรายละเอียดมาจากรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ Bangkok Daily Mail ของนายฟรีแมนนั่นเอง และหากเหตุการณ์เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ก็เท่ากับว่าขณะนั้นเจ้าจอมแพนมีอายุเพียง ๑๓ ปี และกษัตริย์มณีวงศ์ทรงมีพระชนมายุ ๕๒ พรรษา
ข้อน่าสังเกตอีกประเด็นหนึ่ง คือ เรื่องเกี่ยวกับลำดับตำแหน่งมเหสี และเจ้าจอมของกษัตริย์กัมพูชานั้น ดร.ศานติ ภักดีคำ จากสาขาวิชาภาษาเขมร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้รายละเอียดไว้ว่า ตำแหน่งมเหสีของพระมหากษัตริย์กัมพูชามี ๓ ลำดับ คือลำดับที่ ๑ เรียกว่า สมเด็จพระอัครมเหสี ลำดับที่ ๒ เรียกว่า สมเด็จพระอัครราชเทพี และลำดับที่ ๓ เรียกว่า พระอัครชายา และหากกษัตริย์มีพระราชประสงค์จะยกผู้หญิงที่ไม่ได้เป็น 'ขัตติยกัญญา' มาเป็นบาทบริจาริกา ก็จะให้ตำแหน่ง 'เจ้าจอม' ซึ่งมีทั้งหมดอีก ๖ ลำดับ (*)
(*) ศานติ ภักดีคำ, ภาคผนวก ๓ ลำดับฐานันดรศักดิ์พระราชวงศ์กัมพูชา ในประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑๒, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, พ.ศ.๒๕๔๙, หน้า ๘๗๒
เจ้าจอมชาวสยามในราชสำนักกรุงพนมเปญ
เช่นเดียวกับพื้นที่ฝ่ายในของราชสำนักอื่นๆ ที่มักจะมีเรื่องชิงรักหักสวาท อิจฉาริษยาเล็ดรอดออกมาให้ได้ยิน
มารดานางสาวแพนซึ่งไปอยู่กับบุตรสาวที่พระราชวังกรุงพนมเปญในช่วงแรกเล่าว่า เจ้าจอมแพนซึ่งเป็น
"ตัวโปรด" คนใหม่นี้ก็ต้องประสบกับปัญหาแบบนี้เหมือนกัน แต่โชคดีที่กษัตริย์มณีวงศ์ทรงโปรดให้นางมีตำหนักส่วนตัวที่แยกออกไป
และทรงเข้าข้างเจ้าจอมคนใหม่ทุกครั้งที่มีเรื่องขัดแย้งใดเกิดขึ้น
มารดาของเจ้าจอมแพนเล่าว่า พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชาทรงโปรดปรานบุตรสาวของเธอถึงขั้นมอบหมายให้เจ้าจอมแพนถือกุญแจหีบทรัพย์สินส่วนพระองค์ ดูแลการจัดเครื่องทรงและเครื่องเสวย และกิจการต่างๆ ของฝ่ายใน "ก่อนที่ฉันเดินทางกลับมา ทั้งสองคนกำลังมีความสุขมาก แพนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเธอเป็นภรรยาที่ดีได้เท่าๆ กับเป็นนางรำ. มารดาของเจ้าจอมแพนยังเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ลูกสาวของนางเป็นที่โปรดปรานจนกล้าขัดพระทัยพระมหากษัตริย์กัมพูชาที่อยากให้เจ้าจอมชาวสยามตัดผมสั้น ตามแบบที่สตรีชาวกัมพูชานิยมกันในยุคนั้น
"เธอบอกกับฉันว่าพระองค์ทรงขอร้องเพียงให้เธอตัดผมให้สั้นลงอีกนิดหน่อยเท่านั้น แต่เธอยืนกรานว่าไม่ตัด ท้ายที่สุดพระองค์ทรงประนีประนอมยอมให้เธอไว้ผมทรงเดิมได้จนกว่าจะถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชบิดาของพระองค์ ซึ่งเธอต้องโกนหัวเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ตามประเพณี และเมื่อผมขึ้นใหม่ค่อยไว้ตามแบบสตรีชาวกัมพูชา"
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตนางสาวแพนในราชสำนักพนมเปญที่ฟรีแมนบันทึกไว้นี้เป็นเรื่องเล่าที่มาจากปากคำของผู้เป็นมารดา ซึ่งเป็นไปได้ว่านางอาจเลือกเล่าแต่ด้านดีเท่านั้น และเป็นไปได้ด้วยว่าอาจถูกต่อเติมเสริมแต่งทั้งจากฝ่ายมารดา และสื่อ
นางสาวแพน "ซินเดอเรล่าสยาม"
ตอนนั้นเรื่องของหญิงสามัญชนชาวสยามกับพระมหากษัตริย์กัมพูชาเป็นที่โจษขานกันทั่วในสังคมกรุงเทพฯ
ฟรีแมนบันทึกไว้ว่า "บ้านของบิดามารดานางสาวแพนกลายเป็นศาลเจ้าสำหรับคนที่เชื่อในความมหัศจรรย์
พวกเขาถูกถ่ายรูป ถูกสัมภาษณ์และได้รับการว่าจ้างให้ไปปรากฎตัวบนเวทีการแสดงต่างๆ"
แต่นั่นเป็นเพียงภาคแรกของเรื่องของนางสาวแพนที่ฟรีแมนเรียกว่า "ซินเดอเรล่าสยาม" ก่อนที่จะเขียนถึงตอนจบลงแบบหักมุมจากเรื่องรักราวเทพนิยายกลายเป็นการเมืองเรื่องอำนาจของฝรั่งเศสในราชอาณาจักรกัมพูชา. ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ฟรีแมนในฐานะบรรณาธิการ Bangkok Daily Mail ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะกระทบกับเสรีภาพของสื่อมวลชน
รักของกษัตริย์...ข่าวที่ถูกห้ามเขียน
ระหว่างที่เรื่องของนางสาวแพนเป็น 'Talk of the Town' อยู่ในสังคมบางกอกนั้น
สำนักข้าหลวงฝรั่งเศสในกรุงพนมเปญ ได้ติดตามข่าวนี้จากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ถูกส่งไปจากสยาม
หนึ่งในนั้น คือ Bangkok Daily Mail
เมอสิเออร์ ชาลองต์ (Monsieur Chalant) กงสุลฝรั่งเศสประจำสยาม ได้โทรศัพท์มาที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Bangkok Daily Mail เพื่อแจ้งกับบรรณาธิการคือนายฟรีแมน ว่า "เรื่องที่คุณลงตีพิมพ์เกี่ยวกับกษัตริย์มณีวงศ์นั้นผิดทั้งหมด" พร้อมกันนี้ท่านกงสุลฯแจ้งเชิงออกคำสั่งด้วยว่า "ผมกำลังจะส่งแถลงการณ์ที่เราร่างไว้ไปให้คุณ และเมอสิเออร์ เรโอ (Monsieur Reau) ต้องการให้คุณตีพิมพ์แถลงการณ์นี้ตามที่เราเขียน นับจากนี้เราต้องขอร้องให้คุณหยุดเขียนถึงเรื่องของพระองค์กับเด็กสาวคนนี้"
เมื่อบรรณาธิการเดลี่เมล์ย้อนถามถึงเหตุผลที่ขอร้องไม่ให้เขียนถึงเรื่องนี้ ท่านกงสุลฝรั่งเศสตอบว่า "เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องไร้สาระ". หลังจากกงสุลฝรั่งเศสวางหูไปไม่นาน แถลงการณ์ที่ท่านกงสุลฯอ้างถึงก็ถูกส่งมาถึงกองบรรณาธิการ ความว่า
"ตามข่าวที่สถานกงสุลฝรั่งเศสได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในกรุงพนมเปญ ข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการสมรสของพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชากับนางละครชาวสยามนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงโดยสิ้นเชิง จริงๆ แล้วนางละครคนนี้ได้รับการว่าจ้างให้อยู่ในคณะนาฎศิลป์หลวงที่กรุงพนมเปญและมีสถานภาพเช่นเดียวกับนางละครคนอื่นๆที่เป็นชาวกัมพูชา
เรา [The Daily Mail] เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้"
ฟรีแมนเล่าว่า เขาได้นำแถลงการณ์นั้นไปให้ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ คือ กรมพระสวัสดิ์ฯ (Prince Svasti) (*) อ่านก่อน ซึ่งกรมพระสวัสดิ์ฯบอกกับเขาว่า "ตามประเพณีของสยามและกัมพูชาแล้ว นางสาวแพนเป็นชายาของกษัตริย์มณีวงศ์ ซึ่งพระองค์สามารถสถาปนาเธอเป็นราชินีได้หากพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์เช่นนั้น"
(*) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ทรงทำหน้าที่เป็นผู้บริหารหนังสือพิมพ์ "บางกอก เดลี่ เมล์" ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทรงเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม และทรงเป็นพระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฟรีแมนยังได้ไปปรึกษากับเสนาบดีสยามหลายคนว่า "ทำไมฝรั่งเศสถึงต้องการปิดข่าวนี้?" คำตอบที่เขาได้รับคือเสียงหัวเราะ!
อย่างไรก็ตาม ด้วยมีอำนาจที่ฟรีแมนเรียกว่าเป็น "a cold dictatorial ring" ทำให้ Bangkok Daily Mail จำต้องตีพิมพ์แถลงการณ์ดังกล่าว เพียงแต่ตัดประโยคสุดท้ายที่ทางสถานกงสุลฝรั่งเศสเขียนว่า "เรา [The Daily Mail] เสียใจอย่างยิ่งที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้" ออกไป. แต่หลังจากตีพิมพ์แถลงการณ์นี้แล้ว ทางกองบรรณาธิการเดลี่ เมล์ ก็ยังมีการส่งนักข่าวไปเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของบิดาของนางสาวแพนไว้
แม้หลังจากนั้นจะไม่มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับนางสาวแพนอีก แต่ทางสถานกงสุลฝรั่งเศสที่กรุงเทพก็ไม่ยังไม่ยอมเลิกรา โดยได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ ๒ ออกมาอีก ข้อความว่า "กษัตริย์สีสวัสดิ์ มณีวงศ์ แห่งกัมพูชา ทรงไม่พอพระพระทัยและปฎิเสธข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไร้สาระจากการให้สัมภาษณ์ของบิดาของนางสาวแพน จึงทรงบัญชาให้ส่งตัวนางสาวแพนกลับกรุงเทพโดยทันที"
นางสาวแพนกลับมาถึงกรุงเทพในวันรุ่งขึ้น แต่เธอปฏิเสธข่าวที่ว่าพระเจ้ามณีวงศ์ทรงส่งตัวเธอกลับมา เธอบอกว่าเธอขอกลับมาเยี่ยมน้องชายที่กำลังป่วย "พระองค์ไม่ต้องการให้ฉันออกมา พระองค์ทรงยินยอมก็ต่อเมื่อฉันสัญญาว่าจะมาไม่กี่วันและจะรีบกลับไปหาพระองค์ ฉันยังเป็นชายาของพระองค์อยู่"
ครั้งนี้ Bangkok Daily Mail นำคำพูดของเจ้าจอมแพนมาพาดหัวข่าวว่า
"ฉันเป็นชายาของกษัตริย์กัมพูชา"
"I AM THE CAMBODIAN KING'S WIFE,"
SAYS NANGSAO BAEN
States She Is Going
Back to Pnom-Penh
สถานกงสุลฝรั่งเศสในกรุงเทพโต้ตอบทันทีด้วยการส่งแถลงการณ์อีกฉบับไปที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอีก ๒ ฉบับ คือ Siam Observer และ The Bangkok Times แต่ไม่ได้ส่งมาที่กองบรรณาธิการ The Daily Mail หนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับตีพิมพ์ข้อความว่า "เราได้รับแจ้งจากสถานกงสุลฝรั่งเศสว่า นางสาวแพนได้ถูกขับออกจากกัมพูชาในฐานะบุคคลไม่เป็นที่พึงปรารถนา และเธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาที่กรุงพนมเปญอีก"
ไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงว่า เหตุใดทางฝรั่งเศสถึงได้เดือดร้อนกีดกันนักหนากับการที่กษัตริย์มณีวงศ์จะมีเจ้าจอมเพิ่มขึ้นมาอีกสักคน ทั้งๆ ที่เรื่องกษัตริย์มณีวงศ์มักจะโปรดปรานหลงใหลนางละครนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นวิถีชีวิตปกติของกษัตริย์มณีวงศ์ที่เป็นที่รับรู้กันดี แม้แต่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (*) หลานตาของกษัตริย์มณีวงศ์ยังบันทึกไว้ว่า สมเด็จพระอัยกาของพระองค์ทรงอุทิศเวลาให้กับการว่าราชการเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วทรงพอพระราชหฤทัยที่จะถูกห้อมล้อมด้วยพระชายาและพระสนมจำนวนมากมาย (**)
(*) พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๘, ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๖ - ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗
(**) Norodom Sihanouk, L'Indochine vue de Pekin อ้างในหนังสือ ประวัติศาสตร์กัมพูชา
หากจะโยงให้เป็นเรื่องการเมือง แม้ว่านางสาวแพนจะเป็นชาวสยาม แต่นางสาวแพนก็เป็นเพียงสามัญชนที่แทบไม่มีใครรู้จักมาก่อน ไม่ได้มีบทบาทใดที่จะไปเกี่ยวข้องกับการเมืองของสยาม กัมพูชา และฝรั่งเศสเลย. แต่สถานทูตกงสุลฝรั่งเศสไม่ยอมให้เรื่องเจ้าจอมชาวสยามผ่านเลย ถึงขั้นไปขอความร่วมมือกับรัฐบาลสยามให้ช่วยปิดข่าว
ฟรีแมนเล่าว่านายเรย์มอน บี. สตีเฟ่น (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษาชาวอเมริกาของกระทรวงต่างประเทศเรียกตัวไปพบ และถามว่า "ผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมคุณถึงให้เนื้อที่มากมายกับข่าวไร้สาระเกี่ยวกับนางละครกับกษัตริย์กัมพูชา" ทั้งยังบอกเชิงสั่งว่า "ผมเห็นด้วยกับทางฝรั่งเศสว่ามันไร้สาระมาก และคุณต้องหยุดตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้"
ก่อนที่ข่าวของนางสาวแพนค่อยๆ หายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในสยาม มีปฏิกิริยาเล็กๆ จากกลุ่มผู้อ่าน Bangkok Daily Mail ด้วยการส่งจดหมายมาที่กองบรรณาธิการ แสดงความขุ่นเคืองต่อท่าทีที่ฝรั่งเศสกระทำต่อสตรีชาวสยาม มีการเรียกร้องให้ฝรั่งเศสขอโทษนางสาวแพนที่กล่าวหาว่าเธอ "ไม่เป็นที่พึงปรารถนา"ของราชสำนักกัมพูชา
(ภาพประกอบ: รูปนางในราชสำนักกัมพูชาโกนหัวตามราชประเพณีในพระราชพิธีบรมศพของของพระบาทสมเด็จพระเจ้าสีสวัสดิ์
คืนสู่สามัญ
นับจากนั้น เจ้าจอมแพนจึงไม่มีโอกาสได้กลับไปทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับกษัตริย์มณีวงศ์
ที่จะยอมโกนหัวเพื่อไว้ทุกข์ตามราชประเพณีในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าสีสวัสดิ์
ในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๑. ฟรีแมนบันทึกไว้ในหนังสือ ว่า
"นางสาวแพนเก็บตัวอยู่ในบ้านของบิดา มีเจ้าของวิกละครต่างๆ มาเสนอค่าตอบแทนจำนวนสูงถึงคืนละ ๓๐๐ บาท (ticals) เพื่อให้เธอไปปรากฎตัว ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเทียบเท่ากับรายได้ที่เธอจะหาได้ [ในฐานะนางละคร] ในหนึ่งปี แม้แต่คณะละครเพลงต่างชาติที่กำลังแสดงอยู่ที่กรุงมะนิลา และได้อ่านข่าวเกี่ยวกับนางสาวแพนยังติดต่อเสนอให้เธอเดินทางไปปรากฎตัวที่อเมริกา นางสาวแพนปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมด เธอให้เหตุผลว่า "ฉันไม่ใช่นางละครอีกต่อไปแล้ว ฉันเป็นชายาของพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา"
ฟรีแมนบอกด้วยว่าเขาส่งประสุต นักข่าวของ Bangkok Daily Mail ผู้เปิดเรื่องนี้โดยการสัมภาษณ์มารดาของนางสาวแพนเป็นคนแรกนั้น ไปเกลี้ยกล่อมให้นางสาวแพนรับข้อเสนอต่างๆแต่ไม่เป็นผล เพราะนางสาวแพนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักรกัมพูชานั้นไม่ใช่พระเจ้าสีสวัสดิ์ มณีวงศ์ พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา แต่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รัฐบาลฝรั่งเศสส่งมาประจำที่กรุงพนมเปญ
ฟรีแมนจบบันทึกของเขาเกี่ยวกับชะตาชีวิตของนางละครแห่งสยามไว้ว่า "พระเจ้ามณีวงศ์มองหาหญิงคนใหม่ที่ทางฝรั่งเศสยอมรับมาเป็นราชินีของพระองค์ ท้ายสุดนางสาวแพนกลับไปใช้ชีวิตที่ไม่มีใครรู้จักเช่นเดิม เธอกลับไปเป็นนางละครร่วมคณะกับมารดา และบิดาที่ยังคงเล่นเป็นตัวตลกในคณะละครต่อไป"
-------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
Andrew A. Freeman. A Journalist in Siam. Bangkok: White Lotus Press, ค.ศ.๒๐๐๗
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒เดวิด แชนด์เลอร์ เขียน. พรรณงาม เง่าธรรมสาร สดใส ขันติวรพงศ์ วงเดือน นาราสัจจ์ แปล. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พ.ศ.๒๕๔๓
หมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๒
-------------------------------------------------------------------
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com