ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้เป็นสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ : Release date 28 August 2009 : Copyleft MNU.

ขบวนการอาเจะห์เสรี GAM : Gerakan Aceh Merdeka ก่อตั้งและเริ่มปฏิบัติการในปี ๑๙๗๖ ( พ.ศ. ๒๕๑๙) โดยเมื่อเติงกู ฮาซัน ดิ ติโร(Tenku Hasan Di Tiro ) นักธุรกิจชาวอาเจะห์ ผู้สำ เร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศเอกราชให้จังหวัดอาเจะห์ เป็นอิสรภาพแยกจากอินโดนีเซีย เติงกู ฮาซัน ดิ ติโร เป็นผู้ที่มีเชื้อสาย จากครอบครัวสุลต่านฏอนแห่งอาเจะห์ ประกาศว่า จังหวัดอาเจะห์ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียในปี ๑๙๔๙ ไม่ชอบธรรม เมื่ออาเจะห์ตกเป็นอาณานิคมของดัทซ์ ร่วมหนึ่งศตวรรษ สุลต่านแห่งอาเจะห์มีอิสรภาพ มีความแตกต่างจากอัตลักษณ์ สภาพภูมิประเทศ จากส่วนกลางโดยสิ้นเชิง และกล่าวว่าอินโดนีเซียควรสิ้นสุดการยึดครองอาเจะห์ได้แล้ว. ปี ๑๙๗๗ อินโดนีเซียทำการปราบปรามขั้นเด็ดขาด

H



28-08-2552 (1759)

กระบวนการสร้างสันติภาพในอาเจะห์ (Making Peace: Ahtisaari and Aceh)
สันติภาพในอาเจะห์: คนกลางต้องเป็นผู้ที่มีบารมีเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้
บทความนี้ได้รับมาจากคุณ บุรฮานุดดิน อุเซ็ง
บทความนี้ได้มีการปรับปรุงบางประโยค และย่อหน้าเพื่อความสะดวกในการอ่าน
โดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

เมื่อตอนที่ได้รับหนังสือ(ทางออนไลน์)ชิ้นนี้ คุณบุรฮานุดดิน อุเซ็ง
ได้เขียนข้อความส่งถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ความว่า
ขออนุญาตส่ง "กระบวนการสร้างสันติภาพในอาเจะห์ เพื่อพิจารณา
เห็นว่า น่าจะเป็นข้อพิจารณากับการแก้ไขความขัดแย้งที่ภาคใต้บ้านเรา ด้วยวิธีการสันติ"

เนื่องจากหนังสือนี้ ความยาวประมาณ 124 หน้ากระดาษ A4
กอง บก.ม.เที่ยงคืนจึงขอนำเสนอบทความนี้ครั้งละหนึ่งบท โดยในบทแรกและบทที่สองคือ
"คลื่นยักษ์สึนามิ"และ"โหมโรง: การเจรจาสันติภาพ รอบแรก"พร้อมคำนำของหนังสือ
เขียนโดยเจ้าของเรื่อง กาตริ เมอริกัลป์ลิโอ คอลัมนิสต์ชาวฟินแลนด์
หนังสือเล่มนี้ เป็นการรวบรวมบทความที่สำคัญ ของผู้เขียนซึ่งเคยลงตีพิมพ์ในวารสารรายสัปดาห์
ของฟินแลนด์ ชื่อ Saumen Kualehti ในระหว่างปี 2005 - 2006 (พ.ศ. 2548 - 2549)

แม้หนังสือเล่มนี้มิได้เป็นสูตรสำเร็จ หรือวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นเพียง
รายงานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกระบวนการแสวงหาสันติภาพฉบับหนึ่ง
แต่ก็เป็นบันทึกที่ได้มาซึ่งสันติภาพ เป็นงานที่รวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพในอาเจะห์ ที่น่าสนใจศึกษา

(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "การจัดการความขัดแย้ง")

สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๕๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กระบวนการสร้างสันติภาพในอาเจะห์ (Making Peace: Ahtisaari and Aceh)
สันติภาพในอาเจะห์: คนกลางต้องเป็นผู้ที่มีบารมีเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้
บทความนี้ได้รับมาจากคุณ บุรฮานุดดิน อุเซ็ง
บทความนี้ได้มีการปรับปรุงบางประโยค และย่อหน้าเพื่อความสะดวกในการอ่าน
โดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

4. วิกฤต: การเจรจาสันติภาพ รอบที่สอง
วันจันทร์ที่ 21 - วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2005 (พ.ศ.2548)

สามสัปดาห์ต่อมา การเจรจารอบที่สองเริ่มต้นอีกครั้ง ณ กรุงเฮลซิงกิ
ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ข่าวลือต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์กรช่วยเหลือฟื้นฟูนานาชาติได้ถอนตัวออกจากจังหวัดอาเจะห์ องค์กรเอกชน (NGO) ยกเลิกการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิ

คณะผู้แทนเจรจาฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี(*) กล่าวหาว่า กองทัพได้ทำการเสริมกำลังทหารเข้าปฏิบัติการกวาดล้าง ปิดล้อมหมู่บ้านเพื่อตรวจค้นหานักรบจรยุทธ์ และมีการเสริมกำลังทหารมากขึ้น แทนที่การให้ความสนใจในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ

(*) คณะผู้แทนเจรจาฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีประกอบด้วย
1. นายมาลิก มะห์มูด (Malik Mahmoud) เกิดปี 1939 (พ.ศ.2482) อายุ 70 ปี ในฐานะ "นายกรัฐมนตรี" อาชีพนักธุรกิจ เกิดและอาศัยอยู่ในสิงค์โปรเป็นส่วนใหญ่ เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 4 คน พื้นเพเดิมของครอบครัวอยู่ที่บันดาร์อาเจะห์ มาลิกทำงานด้านธุรกิจของครอบครัวหลายกิจการ จนกระทั่งปี 1982 (พ.ศ. 2525) หลังจากเข้าร่วมขบวนการอาเจะห์เสรี ในปี 2000 (พ.ศ.2543) มาลิก ได้ลี้ภัยไปอาศัยในประเทศสวีเดน

2. นายไซนี อับดุลลอฮฺ (Zaini Abdullah) เกิดปี 1940 (พ.ศ.2483) อายุ 69 ปี ในฐานะ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ" เกิดในอาเจะห์ สำเร็จการศึกษาด้านแพทย์ศาสตร์ที่เมืองเมดาน และลี้ภัยอยู่ในประเทศสวีเดน ตั้งแต่ปี1981 (พ.ศ.2524) แปลงสัญชาติเป็นสวีดิช ประกอบอาชีพนายแพทย์ประจำศูนย์สาธารณสุข ในกรุงสต๊อดโฮล์ม

3. นายบัคเตียร์ อับดุลลอฮฺ (Bakhiar Abdullah) เกิดปี 1959 (พ.ศ.2502) อายุ 50 ปี ในฐานะ "โฆษกขบวนการอาเจะห์เสรี เกิดในอาเจะห์ เข้าร่วมต่อสู้ในพื้นที่ และลี้ภัยอยู่ในสวีเดนตั้งแต่ปี 1982 (พ.ศ.2525) ทำงานเป็นบุรุษไปรษณีย์ ผ่านการฝึกอบรมทางทหารที่ประเทศลิเบียในปี1980 (พ.ศ.2523)

4. นายนุร ดจูลิ (Nur Djuli) เกิดปี1940 (พ.ศ.2483) อายุ 69 ปี เกิดที่อาเจะห์ สำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี1960 (พ.ศ.2503) เป็นมันสมองคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี

5. นายนุรดีน อับดุลเราะมาน (Nurdin Abdulrahman) เกิดปี1949 (พ.ศ.2492) อายุ 60 ปี เคยถูกจับกุม 2 ครั้งในรอบ 12 ปี ในการรณรงค์เพื่อสิทธิของประชาชนชาวอาเจะห์ ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลียตั้งแต่ ปี 2003 (พ.ศ.2546)

6. นายดาเมียน คิงสเบอรรี่ (Damien kingsbury) ชาวออสเตรเลีย เกิดปี1955 (พ.ศ.2498) อายุ 54 ปี ทำงานในขบวนการอาเจะห์เสรีในฐานะที่ปรึกษา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการพัฒนาระหว่างประเทศและชุมชน จากมหาวิทยาลัยเดกิน ประเทศออสเตรเลีย

ก่อนจะมีการประชุมเจรจาหนึ่งวัน ในพื้นที่มีการปะทะเกิดขึ้น ฝ่ายรัฐบาลกล่าวหาว่านักรบจรยุทธ์ขบวนการอาเจะห์เสรี เป็นฝ่ายเปิดการปฏิบัติการโจมตีกำลังทหารที่กำลังซ่อมแซมถนนที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิ ผู้แทนเจรจาฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีกล่าวว่า เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ไม่มีนักรบจรยุทธ์ และการประกาศการหยุดยิงฝ่ายเดียวของขบวนการอาเจะห์เสรียังคงมีผลบังคับใช้อยู่ อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนเจรจาทั้งสองฝ่ายได้เดินทางมายังกรุงเฮลซิงกิ เรียบร้อยแล้วและพร้อมที่จะเปิดการเจรจาแล้ว แต่ยังคงสงวนท่าทีกันอยู่

ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับ มาร์ตติ อะห์ติซาริ ผู้แทนเจรจาฝ่ายรัฐบาลกล่าวว่า การเจรจาเพื่อแสวงหาสันติภาพมีทีท่าหรือส่อว่าจะดำเนินการต่อไป ได้หรือไม่นั้น? ในทัศนะของฝ่ายตนแล้ว กรณีเกิดการปะทะกันขึ้น ส่อให้เห็นว่า ขบวนการอาเจะห์เสรีไม่มีความจริงใจในการเจรจาเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง. แม้ว่าผู้แทนเจรจาฝ่ายรัฐบาลจะมีทัศนะดังกล่าว แต่ผู้แทนเจรจาฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีแจ้งว่า ได้นำที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ ชื่อ เดเมียน คิงส์เบอรรี่ (Damien Kingsbury) เข้าร่วมเจรจา และการนำชาวต่างประเทศเข้ามาร่วมเจรจาย่อมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ เพราะเป็นผู้ที่มิได้มีส่วนได้ส่วนเสียตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน และนักวิชาการชาวออสเตรเลียคิงส์เบอรรี่ ก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในประเทศอินโดนีเซีย

มาร์ตติ อะห์ติซาริ ยังคงมีท่าทีที่มั่นคงและหนักแน่น "ผมบอกแก่เขาว่าเราไม่อาจไปตำหนิฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี ในเรื่องที่พวกเขาได้นำบุคคลภายนอกมาเป็นที่ปรึกษา เมื่อผู้แทนเจรจาของพวกเขาถูกทางการอินโดนีเซีย (*)จับขังในเรือนจำอินโดนีเซีย และเป็นเหตุร้ายที่นำมาซึ่งความเสียใจจากการกระทำของฝ่ายรัฐบาล ที่เล็ดลอดมาเป็นข่าวจากอาเจะห์ผ่านสื่อต่างๆ และเหตุร้ายจะคงเกิดอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีคณะผู้สังเกตการณ์อยู่ในพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้าความเป็นไปได้ที่จะรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นจริงในพื้นที่

อินโดนีเซียโดยสรุป ต้นศตวรรษที่ 17 ฮอลแลนด์เข้าครอบงำอาณาจักรชวา, สุมาตรา, และบาหลี ต่อมาโปรตุเกส นักล่าอาณานิคมที่มีพื้นที่ครอบครองมากที่สุดในโลกเข้ามาควบคุมในพื้นที่ปัจจุบัน คือประเทศอินโดนีเซีย กว่า 300 ปี เหลือเพียงติมอร์ตันออก ยังคงเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส จนถึงปี 1975 (พ.ศ.2518)

ต้นศตวรรษที่ 20 ขบวนการเรียกร้องสู่เอกราชของอินโดนีเซียเริ่มมีการเคลื่อนไหว ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองญี่ปุ่นเข้ายึดครองอินโดนีเซีย 3 ปี และหลังสงครามฯ ได้สิ้นสุดการครอบงำอินโดนีเซีย. ซูการ์โน (Sukarno) ผู้นำขบวนการเรียกร้องเอกราช ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซียระหว่างปี 1945 -1967 (พ.ศ.2488 - 2510) ซูการ์โน ผลักดันให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ในขณะกลุ่มพลังมุสลิม เรียกร้องให้มีการนำกฎหมายอิสลามมาใช้. ปี 1960 (พ.ศ.2503) เกิดกบฏหลายกลุ่มขึ้น แต่ซูการ์โนยังคงอยู่ในอำนาจ

ต่อมาในปี 1966 (พ.ศ.2509) นายพลซูฮาร์โต้ (Suharto) ยึดอำนาจ กลุ่มทหารฝ่ายขวาได้ทำการกวาดล้างฆ่าผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์นับหมื่นคน, 30 ปีที่ซูฮาร์โตเป็นผู้นำเผด็จการ ด้วยการสนับสนุนของกองทัพและครอบครัว

ในปี 1998 (พ.ศ.2541)เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจทั่วเอเชียเป็นผลทำให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียล่มสลาย ประธานาธิบดีถูกกดดันให้ลงจากอำนาจ รองประธานาธิบดี บีเจ ฮาบีบี (B.J. Habibie ) ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง ของประเทศ และขณะเดียวกันได้มีนโยบายแก้ไขปัญหาสันติภาพในอาเจะห์

ต่อมาประธานาธิบดีอับดุลเราะมาน วาฮีด (Abdulrahman Wahid) ขึ้นดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาสั้นๆ ได้สร้างความตกตะลึงแก่ชนชาติอินโดนีเซียมาก เมื่อเสนอแนวทางให้มีการลงประชามติในเรื่องสถานะภาพของจังหวัดอาเจะห์ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเกี่ยวกับสันติภาพอย่างสุดโต่ง ทำให้เขาต้องออกจากตำแหน่ง และนางเมกาวาตี ซูการ์โน ปุตรี (Megawati Sukarno Putri) ได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีระหว่างปี 2001 - 2005. (พ.ศ.2544 - 2548) หลังนางเมกาวาตี สาบานตนเข้ารับตำแหน่งไม่นาน เกิดการนองเลือดขึ้นในอาเจะห์ นางเมกาวาตี เปิดโอกาสให้กองทัพสามารถปฏิบัติการในอาเจะห์อย่างอิสระ

อินโดนีเซีย : มีประชากรประมาณ 238 ล้านคน นับถือศาสนาอิสลาม 83 % คริสเตียน 8 %
อาเจะห์ : มีประชากรประมาณ 4 ล้านคน นับถือศาสนาอิสลาม 98%

ไม่มีเวลาจะให้สูญเปล่าอีก
ทั้งมาร์ตติ อะห์ติซาริ และรัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนการจัดการประชุมที่จะมีขึ้น โดยกำหนดแผนการประชุมเพียง 2 วันครึ่ง จะมีการพิจารณาเรื่อง "กฎหมายพิเศษว่าด้วยเขตปกครองตนเอง(Special autonomy law)" ซึ่งได้มีการประกาศใช้แล้ว และเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับตั้งแต่ปี 2001 (พ.ศ. 2544) และโดยให้มีการพิจารณาในรายละเอียด หรือต้องการการแก้ไขเพิ่มเติมในบางประเด็นเพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป

มาร์ตติ อะห์ติซาริ กล่าวย้ำถึงการประชุมเจรจาจะสิ้นสุดในฤดูใบไม้ร่วง 2005 (พ.ศ.2548) ซึ่งยังมีเวลาอีก 6 เดือน "ผมแก่เกินไปที่จะเสียเวลากับมัน แต่ผมได้เตรียมการการเจรจามานาน เพื่อได้มาพิจารณาเบื้องต้นบนโต๊ะเรียบร้อยแล้ว" มาร์ตติ อะห์ติซาริ กล่าว

เพื่อเร่งในความพยายามที่จะสู่เป้าหมายของ"ความปรองดองและสมานฉันท์" อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ผู้ทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ย ได้กำหนดให้มีการการเจรจา ณ ห้องสมุดในคฤหาสน์ โคนิกสเท็ดท์ ด้วยการให้ทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากันอย่างใกล้ชิดกันบนโต๊ะซึ่งห่างกันเพียงไม่กี่เมตร. เป็นครั้งแรกที่การเปิดการเจรจา เน้นการพูดคุยกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการสื่อสารซอฟยาน ดจาลิล และมาร์ตติ อะห์ติซาริ ซึ่งซอฟยานได้แถลงในมุมมองของกฎหมายปัจจุบัน และกฎหมายพิเศษว่าด้วยเขตปกครองตนเองและกรอบกฎหมายการเลือกตั้ง (*)

(*) กฎหมายเลือกตั้งอินโดนีเซีย ปัจจุบันใช้กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง ฉบับปี 2002 กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องมีสมาชิกพรรคอย่างน้อยต้องครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดจำนวน 2 ใน 3 จำนวนจังหวัด ซึ่งประเทศอินโดนีเซียมีจังหวัดทั้งหมด 32 จังหวัด นั้นหมายถึงต้องมีสมาชิกครอบคลุมอย่างน้อยใน 22 จังหวัด และในแต่ละจังหวัดต้องมีสมาชิกอย่างน้อยจังหวัดละ 1,000 คน จดทะเบียนกับกระทรวงยุติธรรม

พรรคการเมืองจะต้องส่งสมาชิกพรรคลงเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งนี้กฎหมายอินโดนีเซียมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการควบคุมมิให้มีพรรคการเมืองท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว และอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันความแตกแยกเพราะประเทศอินโดนีเซียประกอบด้วยเกาะแก่งต่างๆกว่า 17,000 เกาะ

กฎหมายของประทศอินโดนีเซีย มีบทบัญญัติที่เข้มงวดเกี่ยวกับการมีอาวุธในครอบครองอย่างเคร่งครัดมาก กฎหมายอนุญาตเพียงแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารเท่านั้น เป็นผู้ที่มีสิทธิจะเป็นผู้ครอบครองอาวุธ ดังนั้น อาวุธซึ่งนักรบจรยุทธ์ขบวนการอาเจะห์เสรีครอบครองอยู่ จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ฝ่ายรัฐบาลควรหาวิธีการดำเนินการอย่างไรต่ออาวุธที่ผิดกฎหมายเหล่านั้น" ฟาริด ฮูเซ็น อธิบาย

ส่วนมาร์ตติ อะห์ติซาริ ได้ยกปัญหาเกี่ยวกับการเงินขึ้นมา เขาต้องการทราบถึงรายได้ที่เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน แก๊ส ในจังหวัดอาเจะห์ จะมีแนวทางการตกลงจัดสรรแบ่งส่วนกันอย่างไร? ในทางปฏิบัติแล้วจะแบ่งให้รัฐบาลกลางเท่าไหร่? และส่งให้จังหวัดอาเจะห์เท่าไหร่? และผู้ใดจะเป็นผู้รับผิดชอบสังเกตการณ์ในเรื่องดังกล่าว ?

นับเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงการถอนทหารกองทัพอินโดนีเซียออกจากพื้นที่ และตัวเลขของทหารที่อยู่ในพื้นที่มีจำนวนเท่าใด? ซอฟยาน ดจาลิล กล่าวว่า หากการตกลงมีผลบังคับใช้ รัฐบาลพร้อมที่จะถอนทหารซึ่งเป็นกองกำลังแห่งชาติ Tentera Nasional Indonesia : TNI จำนวน 30 กองพัน (ประมาณ 24,000 คน) ออกจากพื้นที่ในจังหวัดอาเจะห์ทันที ยังคงทหารหลักประจำพื้นที่อยู่ แต่ไม่ได้บอกตัวเลขที่แน่นอน และเช่นเดียวกันได้มีสัญญาว่ากองกำลังพลเรือนกึ่งทหาร อาสาสมัครที่ฉาวโฉ่, ตำรวจปราบจราจล, หน่วยบริม๊อบ (Brimob : Mobile Birgade (Pasukan Polisi Istimewa (*) Mobil Special Operations Force กองพันตำรวจปฏิบัติการพิเศษเคลื่อนที่เร็วอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นกองกำลังที่เข้าสนับสนุนภารกิจของหน่วยตำรวจท้องถิ่นในการปฏิบัติการตามล่านักรบจรยุทธ์ขบวนการอาเจะห์เสรี ซอฟยานแจ้งว่า จะดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้สิ้นสุดภายในเดือนสิงหาคมนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียจะได้รับของขวัญอันเป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจอีกประการหนึ่ง คือการได้รับสันติภาพในจังหวัดอาเจะห์ก่อนถึงวันฉลองดังกล่าว

(*) BRIMOB : Brigade Mobil Special Operations Force, (Pasukan Polisi Istimewa) กองพันตำรวจปฏิบัติการพิเศษเคลื่อนที่เร็วอินโดนีเซีย เป็นหน่วยงานสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย [Indonesian Republic National Police] (POLRI) เป็นกองกำลังหนึ่งที่มีบทบาทในการปราบปรามกบฏ ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นหน่วยงานรัฐที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด รวมทั้งหน่วย KOPASSUS (The Komando Pasukan Khusus) กองพันทหารหน่วยรบพิเศษคอมมานโด (หน่วยหมวกเบเรต์แดง) สังกัดกองบัญชาการยุทธศาสตร์กองทัพบก Komando Strategi Angkatan Darat :KOSTRAD กองกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย Tentera Nasional Indonesia TNI มีพันเอก ปราโบโว ซูบิอันโต เป็นผู้บัญชาการ (ยศขณะนั้น) เป็นหน่วยงานของรัฐที่องค์การที่จัดตั้งขึ้นมาในการปราบกบฏในปี 1989

ปราโบโว ซูบิอันโต คุมกำลังกองพลน้อยอากาศโยธินที่ 17 (Airborne Infantry Brigade) ใช้วิธีโดดร่มลงที่อาเจะห์เหนือ วิธีการปฎิบัติคือ การจู่โจมทำลายในเวลากลางคืน สนธิกำลังปิดล้อมหมู่บ้านและทำการค้นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย จับกุมโดยไม่มีหมายจับ กระทำโดยพลการ มีการทรมานผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมคุมขัง กระทำชำเรา ข่มขืนสตรีที่ถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการอาเจะห์เสรี การยิงทิ้งแล้วนำมาโยนไว้ในที่สาธารณะ มีการเลือกสังหารผู้ต้องสงสัยซึ่งมักเป็นคนหนุ่มๆ แล้วทิ้งศพไว้ริมถนน ทางหลวง ย่านตลาด ตามท้องไร่ท้องนา ใกล้ลำธารที่ผู้คนใช้สอย ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันที่เคยใช้ในชวาในปี 1980 ภายใต้รหัสปฏิบัติชื่อว่า Tetrus การปฏิบัติการใช้วิธีการสร้างความอกสั่นแขวน: Shock Therapy ผู้ถูกสังหารถูกนำไปฝังรวมกันเป็นหลุมใหญ่ บางหลุมมีจำนวนถึง 200 ศพ

นอกจากนี้ยังมีการใช้วิธีใช้พลเรือนเป็นเครื่องมือ เรียกว่า หน่วยป้องกันชาติ (Bela Nagara) คนหนุ่มเพื่อป้องกันความั่นคงของชนบท (Pemuda Keamannan Desa) กองกำลังประชาชน (Laskar Rakyat) วิธีการที่รู้จักกันดีคือ รั้งขา คือใช้พลเรือนเป็นกองหน้ากวาด Sweep (ดัทช์ เคยใช้มาก่อน) หมายถึงการใช้กำลังทหาร ตำรวจตรวจค้น จับกุมประชาชน ผู้ต้องสงสัย(ฝ่ายตรงกันข้ามรัฐ) เพื่อให้กองกำลังทหารที่ตามมา ทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามต้องถอยร่นและไม่กล้ายิง โดยมากใช้เด็กหนุ่ม เป็นการใช้พลเรือนโดยอาศัยหลักการจิตวิทยานี้

BRIMOB และ KOPASSUS เป็นหน่วยงานของรัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษย์ชนมากที่สุด นับตั้งแต่การปฏิบัติการการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ติมอร์ตะวันออก ปาปัวตะวันตก, เกาะชวา, เกาะสุมาตรา, สุลาเวสี, มาลุกะและอาเจะห์ หลายแห่งหลายครั้งทำให้องค์กรนานาชาติเคยคัดค้านและประณามสหรัฐอเมริกาที่ให้ความช่วยเหลือในการฝึกอบรมสมาชิก BRIMOB และ KOPASSUS (ข้อมูล ; East Timor and Indonesia Action Network :www.etan.org)

ผู้นำขบวนการอาเจะห์เสรีนั่งฟังอย่างสงบตลอดภาคเช้า เพียงรับฟังแต่ฝ่ายเดียว ทันทีหลังจากเสร็จจากการพักรับประทานอาหารว่าง (Cofee Break) มาร์ตติ อะห์ติซาริ เริ่มให้แต่ละฝ่ายพิจารณาในรายละเอียดของเนื้อหา

มาลิก มะห์มูด ยืนขึ้นนำเสนอ ด้วยการร่ายยาวอย่างเป็นทางการ โดยการนำคำกล่าวแสดงความยินดีในการประชุมเจรจาจากผู้นำแห่งรัฐ เติงกู ฮาซัน ดิ ติโร (*) และ มาลิก มะห์มูด ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของชาวอาเจะห์ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ต่อต้านลัทธิการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมล่าเมืองขึ้น มาจนกระทั่งถึงยุคที่อินโดนีเซียได้ทำการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีสิทธิมนุษยชนของประขาชนชาวอาเจะห์. ความขัดแย้งในอาเจะห์จึงมิใช่แค่เป็นเรื่องของภายในประเทศ แต่เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่นานาชาติควรให้ความสำคัญ. มาลิก มะห์มูด เรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียปล่อยตัวผู้แทนเจรจาของขบวนการอาเจะห์เสรี ที่ถูกคุมขังในเรือนจำโดยทันที และกล่าวย้ำในประเด็นเกี่ยวกับเขตปกครองตนเองพิเศษ ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดความยุ่งยากในการเจรจา

(*) เติงกู ฮาซัน ดิ ติโร มีชื่อเต็มว่า ดร.เติงกู ฮาซัน มูฮัมมัด ดิ ติโร (Dr.Teungku Muhammad di Tiro) ติโร เป็นชื่อท้องที่ คือกิ่งอำเภอ ติโร เกิดปี 1924 (พ.ศ. 2467) ที่ตำบลตันหยง บุงงอง (Tanjung Bungong) ปัจจุบันคือกิ่งอำเภอ ซัคติ อำเภอ ปิดี พ่อชื่อ เลอเบ มูฮัมมัด (Leubeหรือ Teungku Muhammad ) มารดาชื่อ ฟาติมะฮฺ (Fatimah) มีต้นตระกูลเป็นคนชวา มาจากบันเตน (Banten) ได้แต่งงานกับวีระบุรุษของคนอาเจะห์ คือ เติงกู จิค ดี ติโร (Teungku Chik di Tiro) ผู้ทำสงครามกับดัทช์ มารดาของฮาซันจึงมีทวดที่สืบเชื้อสายมาจากวีระบุรุษ มีพี่ชายชื่อเติงกูไซนาล อบีดีน ดิ ติโร

เมื่อบิดาเสียชีวิต ญาติฝ่ายมารดาคือ เติงกู อูมาร์ ติโลละฮฺ รับอุปการะ ส่งเรียนหนังสือชั้นต้นที่โรงเรียน Madrasah Sa'adah Al -Abadiyah ที่ซิงกลิ ต่อมาเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครู Perguruan Normal Islam ที่บีเริน (Bereuen) ช่วงสงครามญี่ป่นยึดครอง พี่ชายได้ขอให้ท่านดาอุด เบอเรอเอะห์ ส่งเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในคณะนิติศาสตร์ ที่ มหาวิทยาลัยอิสลามอินโดนีเซีย (University Islam Indonesia) ที่เมืองย๊อก กรุงจาการ์ต้า และในปี 1950 (พ.ศ. 2493) ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จปริญญาเอก เข้าทำงานกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ของคณะผู้แทนถาวรสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำองค์การสหประชาชาติ มีภรรยาสัญชาติอเมริกา เชื้อสายสวีเดน มีกิจการของตนเองที่เมืองบอสตัน มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อการีม

เติงกู ฮาซัน ดิ ติโร เป็นผู้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชของอาเจะห์ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 1976 (พ.ศ.2519) กระทำกันที่ภูเขา โจกัน (Cokan) กิ่งอำเภอ ติโร (Tiro) อำเภอ ปีดี (Pidie) ด้วยภาษาอาเจะห์และอังกฤษว่า "ชวาได้เข้ามาครอบครองอาเจะห์ต่อจากเนเธอร์แลนด์ เกิดอาณานิคมชวาขึ้นในอาเจะห์และสุมาตรา การเกิดสิ่งที่เรียกว่า "รัฐอินโดนีเซีย" นั้นเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะจริงๆ แล้วไม่มี"อินโดนีเซีย" ไม่มีอะไรที่เรียกว่า "อินโดนีเซีย" ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเกาะ เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม สังคม "อินโดนีเซีย"จึงไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับอาเจะห์ สุมาตรา, ยิ่งกว่านั้นชวาและผู้นำชวาได้กอบโกยผลประโยชน์จากอาเจะห์ สุมาตรา มาตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมาคือตั้งแต่ปี 1946 (พ.ศ.2489) การประกาศเอกราชครั้งนี้นับเป็นการประกาศเอกราชครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งที่ 1 ประกาศเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1960 (พ.ศ. 2503) เป็นวันประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐอิสลามอาเจะห์ Republic Islam Aceh -RIA) หลังจากมีการประกาศตั้งสาธารณรัฐเอกภาพอินโดนีเซีย (Republic Persatuan Indonesia -RPI)

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 1977( พ.ศ.2510) เติงกู ฮาซัน ดิ ติโรประกาศตั้ง คณะรัฐมนตรีของรัฐอิสลามอาเจะห์ ที่ภูเขาฮาลีมอน (Halimon) อำเภอปีดี รวม 15 ตำแหน่ง. เติงกู ฮาซัน ดิ ติโร เองดำรงตำแหน่งประมุข ในจำนวน 15 ตำแหน่งมีผู้รับตำแหน่งเพียง 11 ตำแหน่ง นอกจากนี้มีการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการระดับสูงอีก 4 ตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารอีก 6 ตำแหน่ง ผู้ว่าราชการอีก 6 ตำแหน่งด้วย

และได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขบวนการอาเจะห์เสรีขอเรียกร้องให้กองกำลังทั้งหมดในอาเจะห์ ไม่ว่าทหารกองทัพอินโดนีเซีย ตำรวจ และตำรวจปราบกบฏ รวมถึงกองกำลังพลเรือนกึ่งทหาร อาสาสมัคร ต้องถอนออกอย่างสมบูรณ์และมอบอำนาจความรับผิดชอบดูแลด้านกฎหมายและการสั่งการแก่กองกำลังตำรวจสากล และประกาศให้อาเจะห์เป็นเขตปลอดทางทหาร

หลังจากคำกล่าวสิ้นสุด ความเงียบเกิดขึ้นในห้องประชุมทันที ทั้งผู้แทนเจรจาฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ไกล่เกลี่ยต่างตกอยู่ในสภาพประหลาดใจและงุนงงจนพูดไม่ออก ทุกคนต่างมีความคาดหวังว่าจะได้รับฟังเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติม หรือทัศนะเกี่ยวกับกฎหมายเขตปกครองตนเองพิเศษ แต่กลับมาฟังเรื่องเดิมๆ วาทะเก่าๆ และเป็นไปในลักษณะการปลุกระดมทางการเมือง ในขณะที่บรรยากาศที่ มาร์ตติ อะห์ติซาริ ต้องการให้มีการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าเกิดขึ้น เพราะการใช้ทัศนะที่รุนแรงกล่าวหากันและก็ไม่อาจพ้นการเสียหน้า หลังจากที่ฝ่ายรัฐบาลชี้แจงสั้นๆ มาร์ตติ อะห์ติซาริ จึงรีบสรุป


ก่อนที่จะมีการถกเถียงขึ้นเสียงอย่างรุนแรงขึ้น ได้มีการพักการประชุม ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะให้มีการเจรจาต่อไปหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยอมรับ เพียงแค่การใช้คำว่า "เขตปกครองตนเองพิเศษ" เท่านั้นเอง "การประชุมเจรจาจะไม่มีการเสนอสิ่งใดอีกต่อไป เราคงเสียเวลาและไม่มีประโยชน์อันใดเลย ดังนั้นเราควรยุติการเจรจาเสียดีกว่า". เช่นเดียวกัน มาร์ตติ อะห์ติซาริ ไม่อาจที่จะได้เห็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของนานาชาติเป็นทางออกหนึ่งได้

"ไม่มีที่ไหนในโลกนี้ ที่นักแสวงหาสันติภาพ จะสร้างสันติภาพในอาเจะห์ได้ ไม่มีเหตุผลใดที่จะดำเนินการเจรจาอีกต่อไป ผมหวังว่าเราจะประชุมใหม่อีก 2 ชั่วโมง และนี้ไม่ใช้การประชุมทั่วๆ ไป"

เพียงแค่ถ้อยคำ
ต่างฝ่ายต่างเดินออกจากโต๊ะประชุม ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลแยกย้ายไปรวมกันบริเวณห้องกาแฟสีเขียวชั้นล่าง ส่วนผู้แทนฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีขึ้นไปห้องสูทชั้นบน ทุกคนตกอยู่ในสภาพหัวเสียตามกัน ยูฮ่าร์ คริสเตนเซ่น เดินตามผู้แทนฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีไปชั้นบน ความตึงเครียดในเวลานั้นทำให้การถกเถียงต้องชะงัก

ผู้นำฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีย้ำให้ ยูฮ่าร์ คริสเตนเซ่น ว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะพูดคุยกันเกี่ยวกับทุกสิ่งที่เป็นชนิดของ"เขตปกครองตนเองพิเศษ" นั้นหมายถึงเรื่องเดิมๆ เช่นเดียวกันกับ การปราบปรามการกดขี่ข่มเหงที่ดำเนินอยู่กว่าทศวรรษ การนำเสนอ"เขตปกครองตนเองพิเศษ"แก่ขบวนการอาเจะห์เสรี คือการเสนอสิ่งเลวร้ายพอๆ กัน มีความแตกต่างในคำที่เรียกว่า "เขตปกครองตนเองพิเศษ" นับตั้งแต่ปี 1960 (พ.ศ.2503) เป็นต้นมา และมีความจำเป็นอะไร เมื่อไม่มีความพยายามที่ให้มันเป็นจริงในทางปฏิบัติให้เกิดขึ้น" มาลิก มะห์มูด ถาม "และมันไม่ใช่"เขตปกครองตนเองพิเศษ" เมื่อการวินิจฉัยสั่งการทุกอย่างมาจากกรุงจาการ์ต้าโดยตรง"

อย่างเช่นข้อเสนอตามกฎหมาย ที่ว่า 70% ของรายได้มาจากน้ำมันและแก็ส ให้คงอยู่เป็นของอาเจะห์ "แต่ อะไรคือ 70%" นุร ดจาลิ ถามขึ้นและตอบเองว่า "มันไม่มีอะไรเหลือเลย" เขาอ้างถึง "การคอร์รัปชั่น"(*) ในประเทศอินโดนีเซีย ฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีจะตอกย้ำความจริงถึงการที่อาเจะห์ถูกผนวกโดยอินโดนีเซีย เป็นเรื่องของการละเมิดกฎหมาย และความขัดแย้งจะไม่ได้รับการแก้ไขจนกว่าปัญหานี้จะถูกจัดการแก้ไขก่อน

(*) ตัวเลขการคอร์รัปชั่น บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านการเมืองและเศรษฐกิจ หรือ เพิร์ค เผยผลการสำรวจปัญหาการคอร์รัปชั่นในภูมิภาคเอเชีย รวมประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2009 พบว่า อินโดนีเซียและไทยติดอันดับสองประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุด ขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นแชมป์คอร์รัปชั่นมากที่สุดเมื่อปีที่แล้วกลับมีการปรับปรุงที่ดีขึ้น จากผลการสำรวจประจำปีที่สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารต่างชาติเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นในแต่ละประเทศ เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 ระบุว่า สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในจำนวนทั้งหมด 16 ประเทศที่ทำการสำรวจ โดยจาก 0 คะแนนที่หมายถึงไม่มีการคอร์รัปชั่นเลย ไปจนถึง 10 คะแนนที่หมายถึงมีปัญหาคอร์รัปชั่นมากที่สุด ซึ่งผลการสำรวจพบว่า

1. สิงคโปร์ได้ 1.07 คะแนน 2. ฮ่องกง 1.89 คะแนน 3. ออสเตรเลีย 2.40 คะแนน 4 สหรัฐอเมริกา 2.89 คะแนน 5.ญี่ปุ่น 3.99 คะแนน 6. เกาหลีใต้ 4.64 คะแนน 7. มาเก๊า 5.84 คะแนน 8. จีน 6.16 คะแนน 9. ไต้หวัน 6.47 คะแนน 10. มาเลเซีย 6.70 คะแนน 11. ฟิลิปปินส์ 7.00 คะแนน 12. เวียดนาม 7.11 คะแนน 13. อินเดีย 7.21 คะแนน 14. กัมพูชา 7.25 คะแนน 15. ไทย 7.63 คะแนน และ 16.อินโดนีเซีย 8.32 คะแนน

โดยเพิร์คระบุว่า ประเทศที่มีคะแนนสูงกว่า 7.0 แปลว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นยังคงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศนั้นๆ แม้ว่าอินโดนีเซียจะติดอันดับประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดในการสำรวจครั้งนี้

แต่เพิร์คระบุว่า มีสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายพล สุศีโล บัมบัง ยุทโธโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย มีความพยายามที่จะต่อสู้ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นมากกว่าอีกหลายประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นสูงเช่นกัน

"คุณพูดถึง "โอแลนด์โมเดล" (Aland Model)(*) แต่มันไม่มี โอแลนด์โมเดลในอาเจะห์ ที่นี้ประชาชนยังคงถูกเข่นฆ่าและกดขี่" บัคเตียร กล่าวขึ้น. ครู่หนึ่ง มาร์ตติ อะห์ติซาริ ก็เดินมาร่วมวงกับฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี "ผมขอพูดว่าอย่าได้กังวลกับถ้อยคำ ตราบใดที่เราพูดในเรื่องเดียวกัน" มาร์ตติ อะห์ติซาริ บอกกล่าวแก่ฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี ถึงความในใจที่ มาร์ตติ อะห์ติซาริ เกี่ยวกับกฎหมาย "เขตปกครองตนเองพิเศษ" นั้นมีเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องการแก้ไข

(*) โอแลนด์ (Aland) เขตปกครองตนเองพิเศษโอแลนด์ ประเทศฟินแลนด์ โอแลนด์ เป็นหมู่เกาะในทะเลบอลติก ที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศสวีดนกับประเทศฟินแลนด์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสวีเดน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 รัสเซียรุกเข้ามาครอบงำประเทศแถบสแกนดิเนเวียทั้งประเทศฟินแลนด์ ระหว่างนั้นรัสเซียจัดให้โอแลนด์ขึ้นอยู่ภายใต้ประเทศฟินแลนด์ เมื่อประเทศแถบสแกนดิเนเวียได้รับเอกราช โอแลนด์ จึงเรียกร้องให้กลับขึ้นอยู่กับประเทศสวีเดนอย่างเดิม แต่ฟินแลนด์ไม่เห็นด้วยเนื่องจากหมู่เกาะโอแลนด์มีที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ เกรงว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

ในปี 1920 ฟินแลนด์เสนอให้ โอแลนด์ เป็นเขตปกครองตนเองพิเศษ The Act on the Autonomy of Aland แต่ชาวโอแลนด์ไม่ยอม เนื่องจากมีประเทศสวีเดนหนุนหลัง ในปี 1921 สันนิบาตชาติ (League of Nations ตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาแวร์ซาย ในปี 1920 และสลายตัวในปี 1946) เข้ามาดำเนินการไกล่เกลีย ทำให้มีขัอตกลงระว่างประเทศให้โอแลนด์ เป็นพื้นที่ปลอดทหาร (Demolitarization ) เป็นเขตที่เป็นกลาง (Neutralization) ปี 1922 มีการบังคับใช้กฎหมายปกครองตนเอง

โอแลนด์มีประชากร 27,096 คน เป็นประชากรที่มีสิทธิจริงๆ 68% ที่เหลือเป็นคนฟินแลนด์ 20% สวีเดน 6.3% และต่างชาติอื่นๆ ใช้ภาษาสวีเดนเป็นภาษาราชการ มีสภา และรัฐบาลของโอแลนด์ที่มีอำนาจออกกฎหมายเอง มีธงชาติ มีพรรคการเมืองท้องถิ่น

ลักษณะการปกครองตนเอง มีสภาโอแลนด์ เรียกว่า Lagting มีสมาชิก 30 คน อยู่ในวาระ 4 ปี มีพรรคท้องถิ่นเข้ามาแข่งขันไม่ตำกว่า 7 พรรค รัฐบาลท้องถิ่น หรือเรียกว่า Landskapsstyrelse มีองค์คณะ 5 - 7 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากสภา หัวหน้าคณะผู้บริหารเรียกว่า Lantrad การบริหารประกอบด้วย 6 กระทรวง ภายใต้การกำกับของสภาโอแลนด์ ผู้ว่าราชการเป็นจุดเชื่อมสำคัญระหว่างรัฐบาลกลาง และโอแลด์ อยู่ในวาระ 6 ปี ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ฟินแลนด์ โดยประธานสภาโอแลนด์เป็นผู้เสนอชื่อ รับเงินเดือนจากรัฐบาลกลาง แต่ทำงานให้ท้องถิ่นและเป็นคนมาจากท้องถิ่น (ฉันทนา บรรพศิริโชติ : คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ)

"ในอาเจะห์นั้นมีเรื่องอีกมากมาย" ยูฮ่าร์ คริสเตนเซ่น กล่าวแก่ มาร์ตติ อะห์ติซาริ" ท่านจำได้ไหมว่า วัฒนธรรม ประเพณีของอาเจะห์ ประวัติศาสตร์ เหล่านี้เป็นต้น ฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรียังคงนิ่งเงียบกับคำว่าวัฒนธรรม ไม่มีใครได้ยินมาจากผู้ใต้บังคับพูดกับผู้อาวุโสระดับอดีตประธานาธิบดีมาก่อน. ทั้งยูฮ่าร์ คริสเตนเซ่น และมาร์ตติ อะห์ติซาริ จึงออกไปคุยด้วยกันเป็นการส่วนตัว ในที่สุด ยูฮ่าร์ คริสเตนเซ่น ต้องอยู่ในคฤหาสน์โคนิกสเท็ดท์ตลอดบ่ายวันนั้น เพื่อร่วมแก้ไขปัญหากับขบวนการอาเจะห์เสรี

"หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง จากที่ได้มีการถกกันอย่างยืดเยื้อยาวนานเราก็พบทางออก" ยูฮ่าร์ คริสเตนเซ่น กล่าวขึ้น "เราตกลงกันว่าเราจะใช้คำว่า "รัฐบาลของตนเอง" (Self Government)" แทนคำว่า "เขตปกครองตนเองพิเศษ". "นั้นเป็นขั้นของการตัดสินใจของพวกเรา" เรารู้สึกว่า คำว่า "รัฐบาลของตนเอง" เป็นจุดที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง คำว่า "เขตปกครองตนเองพิเศษ" กับคำว่า "เอกราช" มาลิด มะห์มูด กล่าวขึ้น และแล้วเส้นทางแห่งการเจรจาเปิดกว้างอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่ ยูฮ่าร์ คริสเตนเซ่น และมาร์ตติ อะห์ติซาริ พยายามที่จะอธิบายถ้อยคำนั้นกับฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีที่ชั้นบนของคฤหาสน์โคนิกสเท็ดท์ ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งถอนตัวออกจากที่นั่งประชุมครั้งแรกช่วงกาแฟตอนเช้า และเที่ยง และอยู่ในระหว่างการสงวนท่าทีและรอคอยดูเหตุการณ์. "หลังอาหารกลางวัน มาร์ตติ อะห์ติซาริ เขามาแจ้งให้พวกเราว่า เราควรรอสักชั่วโมงหรือสองชั่วโมง ก่อนที่เราจะดำเนินการประชุมเจรจาต่อหลังกาแฟเย็น จากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง เขาก็เดินมามาบอกพวกเราว่า วันนี้คงไม่อาจมีการเดินหน้าต่อได้ คอยดูว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ?" ซอฟยาน ดจาลิล กล่าวถึงเหตุการณ์วันนั้น

ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย สร้างความตะลึงด้วยการเดินออกไปยังรถยนต์ที่รออยู่บริเวณลานจอด และออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ประจำกรุงเฮงซิงกิทันที "เราตัดสินใจที่จะเดินทางกลับกรุงจาการ์ต้าแล้ว และคิดว่าเราคิดถูกต้องแล้ว แค่เป็นการรักษามารยาทเพียงไปปรึกษากับท่านเอกอัครราชทูตก่อนที่จะบินกลับกรุงจาร์กาต้าเท่านั้นเอง"

"แต่ปรากฏว่า เมื่อเรารายงานยังท่านประธานาธิบดี สุศิโล บัมบัง ยุทโธโยโน และรองประธานาธิบดี ยูซุฟ กัลลา ในเย็นวันนั้น ท่านฯ บอกให้เราสงวนท่าที่และรอดูก่อน เราไม่ควรยกเลิกการประชุมเจรจานี้" ยูซุฟ ดจาลิล เล่า. ก่อนหน้านั้นทัศนะต่อฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีแล้ว มาร์ตติ อะห์ติซาริ มีสีหน้าโกรธให้เห็นอย่างชัดเจน แต่เมื่อได้รับทราบความละเอียดอ่อนในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีแล้ว เขาจึงให้เวลาแก่ฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี จากนั้นเขากลับมีความมั่นใจในหน้าที่การเป็นผู้ไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง

"เราได้ใช้เวลาปรับความเข้าใจในกลุ่มของพวกเราระยะหนึ่ง" ยูฮ่าร์ คริสเตนเซ่นกล่าว และให้ความมั่นใจว่าสิ่งเหล่านั้นสามารถแก้ไขได้ เราควรจะเดินหน้าต่อไปและดำเนินการทุกอย่างตามระเบียบวาระการประชุม หลังจากนั้นเรารู้สึกว่าบรรยากาศผ่อนคลายลง" มาลิค มะห์มูด ย้ำความทรงจำภายหลังต่อมา "แต่หากจะกล่าวแล้ว มาร์ตติ อะห์ติซาริ เป็นคนฉลาด และเป็นผู้ที่มากด้วยประสบการณ์และมีเหตุมีผล ในสถานการณ์เช่นนี้เขารับฟังยูฮ่าร์ คริสเตนเซ่น เพราะยูฮ่าร์ มีความเข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีของเรามากกว่านั่นเอง"

ในตอนหัวค่ำวันนั้น ยูฮ่าร์ คริสเตนเซ่น ได้ขับรถยนต์ออกจากคฤหาสน์โคนิกสเท็ดทฺ มุ่งหน้าไปยังสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ในกรุงเฮลซิงกิ เพื่อทำความกระจ่างกับคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายรัฐบาล และให้ความมั่นใจว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องของการจำกัดความของถ้อยคำเท่านั้น ซึ่งมันมีความสำคัญยิ่งต่อการเจรจา "ผมมีรู้สึกว่าปฏิกิริยาของ ขบวนการอาเจะห์เสรี คงเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ ความเจ็บปวด แต่ผมว่าเราไม่ควรประเมินอะไรง่ายๆ หรือตีค่าต่ำ เราควรรับฟังและพูดคุยกันดีกว่า "ยูฮ่าร์ คริสเตนเซ่น กล่าว

และยิ่งกว่านั้นความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างบรรยากาศที่ดีแก่ฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี ด้วยการรับฟัง โดยมิได้มีการบันทึกลงนามใดก็แค่เปิดโอกาสให้เขาได้พูดในการเจรจาบ้าง"

เริ่มต้นอีกครั้งในวันใหม่
วันต่อมา ทั้งสองฝ่ายก็กลับมายังคฤหาสน์โคนิกสเท็ดท์ อีกครั้งหนึ่งภายใต้บรรยากาศกดดันที่ผ่อนคลายไปมาก แสงอาทิตย์สาดส่องสู่ท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง กองหิมะที่สุมกองหลายๆ จุดสะท้อนแสงระยิบระยับเป็นประกายแวววับกลางท้องทุ่ง น้ำค้างแข็งปกคลุมต้นโอ๊คแก่ที่ปลูกเรียงรายล้อมรอบคฤหาสน์ส่งแสงแวววาว. หลังจากที่ได้มีการทักทายตามธรรมเนียมในตอนเช้า มาร์ตติ อะห์ติซาริ พูดกระตุ้นให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงวันข้างหน้า "สิ่งที่เป็นปัญหายุ่งยากเกิดขึ้น มิอาจส่งผลต่อคู่เจรจาหากเรามีเป้าหมายที่เรามีความมุ่งมั่น จดจ่ออย่างสร้างสรรค์ และและด้วยวิธีการแบบมืออาชีพ ผมเองคนหนึ่งที่จะพยายามอย่างเต็มกำลังความสามารถ" มาร์ตติ อะห์ติซาริ ให้คำมั่น และขณะนี้ฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี เริ่มมีความเข้าใจ และขจัดภาพของคำว่า "เขตปกครองตนเองพิเศษ" ออกจากความคิดและยึดกับคำว่า "รัฐบาลของตนเอง" แทน

การเจรจาในประเด็น พรรคการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดในรอบนี้ ด้วยเจตนารมณ์ของการป้องกันความแตกแยกในประเทศที่ประกอบด้วยเกาะแก่งต่างๆ กว่า 17,000 เกาะ ประเทศอินโดนีเซียจึงการกำหนดให้มีพรรคการเมืองในระดับชาติเพียงอย่างเดียว แต่ความยุ่งยากในการที่จะจัดให้มีรัฐบาลปกครองตนเองโดยไม่มีพรรคการเมืองระดับท้องถิ่น ผู้แทนเจรจาฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซียเสนอว่า องค์กรมิใช่รัฐบาล หรือ เอ็นจิโอก็สามารถใช้หรือทำการแทนพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นได้ แต่ มาร์ตติ อะห์ติซาริ ยืนยันและสนับสนุนฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีว่า มีความจำเป็นต่อการมีส่วนรวมของประชาชน และต้องกำหนดในสัญญาข้อตกลง "ประชาชนชาวอาเจะห์ต้องมีหลักประกันในสิทธิที่จะมีการตั้งพรรคการเมือง โดยคำนึงถึงความเป็นเอกภาพของประเทศและความละเอียดอ่อน หากพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นเริ่มมีการจัดตั้งในอาเจะห์ได้แล้ว จังหวัดอื่นๆ ก็จะพากันเรียกร้องเอาเยี่ยงบ้าง" มาร์ตติ อะห์ติซาริ กล่าวเตือน. หลายจังหวัดที่เกาะต่างๆ ที่มีกว่าหนึ่งพันเกาะของอินโดนีเซีย ต่างเรียกร้องให้เป็นรูปแบบการบริหารแบบ"สมาพันธ์รัฐ " เรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น และลดอำนาจจากส่วนกลางลงมากที่สุด

เมื่อมีการพิจารณาในประเด็นเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" (Human Right) บรรยากาศในการเจรจาเริ่มมีความตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง จะให้มีการดำเนินการอย่างไรต่ออาชญากรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การทรมาน การข่มขืน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เราควรจะขุดคุ้ยออกมาดำเนินการ หรือหากจะเป็นการดีหรือไม่หากเราฝังกลบมันไปกับอดีต ?

มาร์ตติ อะห์ติซาริ กล่าวว่า เมื่อเราจะจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแล้ว เรื่องในอดีตที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ยุ่งยากที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นควรที่จะไม่หยิบยกมาอีก แนวทางที่จะนำสู่สันติภาพจะถูกกีดกั้นทันที. ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลพยายามที่จะปกป้องตนในอันที่จะพูดในประเด็น "สิทธิมนุษยชน" ซึ่งจะถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดในความขัดแย้งทุกเรื่อง แม้ในการปฏิบัติการของหน่วยทหารที่เคร่งครัดในระเบียบที่สุด หากมีการกระทำต่ออีกฝ่ายแล้ว ก็จะถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดกับกองทัพสหรัฐฯ ในอิรัค

เมื่อบรรยากาศเริ่มจะตึงเครียด มาร์ตติ อะห์ติซาริ ก็เสนอว่า ให้รัฐบาลได้ให้ความมั่นใจว่า อย่างน้อยที่สุดการกระทำความผิดด้วยการละเมิด"สิทธิมนุษยชนจะต้องไม่เกิดขึ้นในอาเจะห์อีก เพราะมันจะเป็นสิ่งที่น่าละอายและเป็นที่เหยียดหยามที่สุดในหมู่ประชาชน หากมีอาชญากรกรรมที่ละเมิดศีลธรรมยังคงเกิดขึ้นในอาเจะห์ เช่นอดีต". ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ได้อธิบายถึงการจะจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้น ที่เรียกว่า "คณะกรรมการสมานฉันท์และตรวจสอบข้อเท็จจริง (Truth and Reconciliation Commission) และ "ศาลสิทธิมนุษยชน(Court for Human Rights)" ที่จะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลทั้งในด้านความอยุติธรรม ในอินโดนีเซียในอดีตเร็วๆ นี้ และต่ออาชญากรรมต่อสิทธิมนุษยชนทั่วไป

"แต่หากมีการขุดคุ้ยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตแล้วก็เหมือนเป็นการ "เปิดหีบแพนดอร่า (Pandora' s Box) (*) นั้นเอง" ซอฟยานเตือน "และก็หมายรวมถึงอาชญากรรมที่กระทำโดยสมาชิกขบวนการอาเจะห์เสรี ก็จะมีการดำเนินการด้วยใช่ไหม ?

(*) เปิดหีบแพนดอร่า (Pandora' s Box ) เป็นเทวนิยายกรีกที่ นางแพนดอร่าไปเปิดหีบปล่อยให้ความชั่วร้ายทั้งหลายแพร่ไปในมวลมนุษย์ (ความชั่วร้าย ความเจ็บป่วย โรคต่างๆ และความยุ่งยากนานาประการ) หมายถึงสิ่งที่หากเกิดขึ้นมาแล้วก็จะก่อปัญหาอย่างใหญ่หลวงตามมา

บรรยากาศยิ่งทวีความตึงเครียดเมื่อผู้แทนเจรจาฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี นายนุรดีน อับดุลเราะมาน (Nurdin Abdul Rahman) เรียกร้องให้มีการดำเนินการต่อผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และควรนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล เพราะเรารู้ดีว่าเขากำลังพูดถึงอะไร? "ผมเองเคยถูกจับกุม ขณะเมื่อผมเดินจากประเทศอังกฤษเพื่อเดินทางกลับบ้านที่อาเจะห์ ผมเริ่มพูดถึงความยุติธรรมที่นั่น ตำรวจพยายามบังคับให้ผมสารภาพว่าผมเป็นสมาชิกของขบวนการอาเจะห์เสรี และกล่าวหาว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของขบวนการฯ ทั้งที่ขณะนั้นผมยังไม่ได้ดำเนินการอะไรกับการเคลื่อนไหว ผมถูกทรมานอย่างเลวร้ายมาก ถูกใช้ไฟฟ้าช๊อต พวกเขาจุดไฟลนผิวหนัง ดึงเล็บผม กรีดลำตัวผม ผมต้องทนทุกข์ทรมานในคุกนานถึง 12 ปี หลังจากนั้นผมจึงเข้าร่วมกับขบวนการอาเจะห์เสรี" นายนุรดีน อับดุลเราะมาน ให้สัมภาษณ์ภายหลัง พร้อมทั้งเลิกขากางเกงให้เห็นรอยบาดแผลเป็นที่ยังปรากฏอยู่ "เรื่องนี้ เราจะต้องมีการดำเนินการก่อนที่เราจะเดินหน้า เป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินการอะไรต่อไป เมื่อทั้งพ่อและแม่ยังถูกทรมาน" นุร ดจูลิ กล่าวสนับสนุน นายนุรดีน อับดุลเราะมาน

แต่ มาร์ตติ อะห์ติซาริ กล่าว่า หากเขาจะเริ่มต้นด้วยการพูดจาเรื่องราวในอดีตขึ้นบนโต๊ะเจรจาเพื่อแสวงหาสันติภาพแล้ว ข้อตกลงสันติภาพย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน ปัญหาเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นก็ไม่ยุติอย่างแน่นอน เราไม่ควรนำมาเกี่ยวโยงกับแผนการที่เรากำลังจะเดินหน้าอยู่ ขอให้เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีการดำเนินการภายหลัง

"ดูตัวอย่างในแอฟริกาใต้ซิ" มาร์ตติ อะห์ติซาริชี้ "ผมไม่เคยเห็นผู้ใดผู้ที่ไม่เคยมีร่องรอยของความปวดร้าวมากไปกว่า เนลสัน เมนเดลล่า (Nelson Mandela)"(*) ในอนาคตข้างหน้าบางทีอาเจะห์มีความจำเป็นต้องมี "คณะกรรมการสมานฉันท์และตรวจสอบข้อเท็จจริง (Truth and Reconciliation Commission) แต่ผมขอร้องว่าอย่าได้พูดว่าคุณไม่สามารถจะมีการเจรจาต่อไป ก่อนที่เรื่องราวเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขก่อน". หลังจาก มาร์ตติ อะห์ติซาริ ได้ให้คำแนะนำเป็นการเตือนสติ การถกในเรื่องที่เกี่ยวกับวิธีการรายละเอียดของ กฏหมายเลือกตั้ง และการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง

(*) เนลสัน โรลิห์ลาห์ลา มันเดลลา (Nelson Mandela) ประธานาธิบดีคนที่ 11 แห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ดำรงตำแหน่งระหว่าง 27 เมษายน พ.ศ. 2537 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2542 สังกัดพรรค African National Congress เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 อายุ 90 ปี เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้คนแรก ที่ได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการทางประชาธิปไตย

ก่อนหน้านี้เป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญเพื่อต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิวออกจากกันในแอฟริกาใต้ จากที่แรกเริ่มเป็นผู้เคลื่อนไหวในทางสันติ ได้กลายมาเป็นผู้นำกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ และได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้านใต้ดินโดยใช้อาวุธ เช่นการก่อวินาศกรรม ในช่วงเวลาดังกล่าว (ต่อ)ผู้นำต่างชาติที่นิยมนโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกันในแอฟริกาใต้ เช่นมากาเรท เท็ตเชอร์ และโรนัลด์ เรแกน ได้ประนามกิจกรรมเหล่านี้ว่าเป็นการก่อการร้าย

เนลสันเป็นที่รู้จักในฐานะนักต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิวออกจากกัน เขาถูกจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 27 ปี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการถูกคุมขังในห้องขังเล็กๆ บนเกาะโรบเบน การถูกคุมขังนี้ได้กลายมาเป็นกรณีตัวอย่างของความอยุติธรรมของนโยบายแยกคนต่างผิวที่ถูกกล่าวถึงไปทั่ว เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวในปี พ.ศ. 2537 นโยบายประสานไมตรีที่เนลสันได้นำมาใช้ทำให้แอฟริกาใต้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตย ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ที่ชาวแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่เชื่อว่า ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่ได้อิทธิพลจากเนลสัน ขณะนี้เนลสันมีอายุกว่า 90 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีบุคคลทางการเมืองบางคนยังยกย่องเขาในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส

มอบหมายการบ้าน
ทุกฝ่ายต่างได้รับบัญชีหัวข้อที่ต้องไปทำการบ้านอย่างยืดยาว ฝ่ายรัฐบาลต้องไปทำรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วย"เขตปกครองตนเองพิเศษ" และในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้ง แนวทางการแบ่งสรรงบประมาณหรือเงินอุดหนุนระหว่างจังหวัดอาเจะห์กับรัฐบาลกลาง และการสังเกตการณ์ติดตามการดำเนินการ และตัวเลขงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้จริง ยิ่งกว่านั้นมาร์ตติ อะห์ติซาริ ต้องการตัวเลขและให้มีความชัดเจนเกี่ยวตัวเลขจำนวนทหาร, ตำรวจปราบจลาจล, ตลอดจนแผนงานเกี่ยวกับหน่วยหรือกลุ่มกองกำลังพลเรือนกึ่งทหาร, อาสาสมัคร, ตลอดจนกองกำลังพลเรือนอื่นๆ ที่จะต้องถอนตัวหรือสลายกำลังออกไป

ฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายตน จะไปพิจารณาถึงจุดรายละเอียดของปัญหาในด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับ"เขตปกครองตนเองพิเศษ" เพื่อที่จะนำมาเป็นข้อมูลสู่การพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ส่วนหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ยเอง คือการพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ของ กลุ่มสหภาพยุโรป(EU) และกลุ่มประเทศอาเซียน (ASIAN)ในฐานะผู้สังเกตการณ์การแก้ไขปัญหา

มาร์ตติ อะห์ติซาริ ย้ำให้คู่เจรจานำรายงานเสนอต่อ"สำนักงานความริเริ่มเพื่อบริหารจัดการภาวะวิกฤติ (The Crisis Management Initiatives : CMI) ทั้งนี้เกี่ยวกับข่าวลือต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่าได้นำมาเป็นเหตุหรือข้ออ้างใด และขอร้องให้ทุกฝ่ายกำชับให้ยึดถือในเรื่องที่สามารถนำสู่การปฏิบัติได้ตามข้อตกลง. คณะผู้แทนการเจรจาทุกคนต่างได้กล่าวอำลาต่อกันด้วยความรู้สึกขบขัน และกล่าวแสดงความขอบคุณในความสำเร็จของการเจรจาต่อกัน

แต่สถานการณ์ในอาเจะห์กลับทวีความรุนแรง มีรายงานจากพื้นที่ว่ากองกำลังกองทัพอินโดนีเซีย(*) ได้เสริมกำลังเข้าปฏิบัติการ มีการละเมิดข้อตกลง จากสถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความยุ่งยากแก่คู่เจรจาทั้งสองฝ่าย และมีความยุ่งยากกว่าที่ผ่านมา ขณะที่ฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี เองก็ได้แจ้งถึงหลักประกันความมั่นใจแก่ประชาชนชาวอาเจะห์ว่า กำลังดำเนินการสู่กระบวนการเจรจาเพื่อแสวงหาสันติภาพ แต่ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่าอาเจะห์กำลังคืนสู่สันติภาพแล้ว. สถานการณ์ดังกล่าวยังสร้างความยุ่งยากแก่ฝ่ายรัฐบาลเช่นกัน ผู้นำกองกำลังทหารผู้ไม่มีจิตใจใฝ่การเจรจาเพื่อแสวงหาสันติภาพ และฝักใฝ่แต่ในสิ่งที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากกว่า แน่นอนที่สุด ความเชื่อถือในตำแหน่งของประธานาธิบดีแห่งสาธารณะรัฐอินโดนีเซีย กำลังถูกท้าทายแล้ว

(*) กองทัพอินโดนีเซีย นับตั้งแต่ประธานาธิบดีซูฮาร์โต ขึ้นครองอำนาจ กองทัพอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงการเมือง เศรษฐกิจของประเทศ กองทัพได้รับงบประมาณประมาณ 30% ของงบประมาณทั้งประเทศ นอกจากนั้นกองทัพเข้ามาจัดการในภาคธุรกิจทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ

ขณะเดียวกันกองทัพเข้าได้มาแทรกแซงด้านธุรกิจการค้าและกิจการป่าไม้ ตลอดจนการเข้ามาพัวพันกับธุรกิจของเถื่อน และยาเสพติด การปล่อยให้กองทัพดำเนินการใดใดโดยไม่มีข้อจำกัด ทำให้กองทัพเข้าจัดการ มีอำนาจทางการเมือง การบริหารการปฏิบัติการในสถานการณ์ความไม่สงบในอาเจะห์ และการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างมากมายในอาเจะห์เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์แก่กองทัพได้อย่างดียิ่ง

ก่อนหน้าการประชุมเจรจาในรอบที่สอง มาร์ตติ อะห์ติซาริ ได้เชิญสมาชิกใหม่เข้าร่วมทีม - จาอ์กโก อ๊อกซาเน็น (Jaakko Oksanen) ผู้บัญชาการทหารจังหวัด ฟินิชแลปแลนด์ (Commander of the military province of Finnish Lapland) ซึ่งมาร์ตติ อะห์ติซาริ รู้จักกับ จาอ์กโก อ๊อกซาเน็น เป็นอย่างดีเมื่อ ปี 2003 (พ.ศ.2546) ในฤดูใบไม้ร่วง ขณะมีภารกิจปฏิบัติงานในกองกำลังแห่งสหประชาชาติ ในการสอบสวนการยิงโจมตีทำลายสำนักงานองค์การสหประชาชาติในอิรัค. มาร์ตติ อะห์ติซาริ ได้ขอให้จาอ์กโก อ๊อกซาเน็น ร่างแผนสังเกตการณ์ความเป็นไปได้ในการเจรจาแสวงหาสันติภาพ ภาระหน้าที่และมีหลักการประการใด แม้ว่าจาอ์กโก อ๊อกซาเน็น ไม่ทราบในรายละเอียด แต่เขาสามารถเป็นศูนย์กลางในการปรับใช้แผนปฏิบัติการสังเกตการณ์

จาอ์กโก อ๊อกซาเน็น มีประสบการณ์ในการทำงานในการทำงานหลายปี ในฐานะผู้เฝ้าตรวจสอบและสังเกตการณ์ในกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง, ไซไน, เบรุต, โกลาน, ตลอดจนในเยรูซาเล็ม. "มาร์ตติ อะห์ติซาริ ชักชวนผมเข้ามาทำงานในกลุ่มเจรจาสันติภาพในฐานะที่ปรึกษาทางทหาร ผมจึงได้รื้อฟื้นค้นหาแฟ้มเอกสารเก่าๆ และเริ่มวางแผนเกี่ยวกับการปลดอาวุธ แผนการถอนทหารและวิธีการเฝ้าตรวจสอบและสังเกตการณ์

หลักการพื้นฐานในการเฝ้าตรวจสอบและสังเกตการณ์ในอาเจะห์ได้ถูกร่างเสร็จเรียบร้อยในคราวการเจรจารอบสองแล้ว และจาอ์กโก อ๊อกซาเน็น ได้นำเสนอแก่คณะผู้แทนเจรจาฝ่ายรัฐบาลบางท่านแล้ว โดยมีพลตรี ซียาริฟุดดีน ทิปเป้ (Major - General Syarifuddin Tippe) ผู้บัญชาการสถาบันการศึกษาทหาร อดีตผู้บัญชาการทหารจังหวัดอาเจะห์. ทัศนะของ พลตรี ซียาริฟุดดีน ทิปเป้ มีความชัดเจนนับตั้งแต่แรก คือ อินโดนีเซียไม่มีความจำเป็นที่ต้องให้ชาวต่างชาติเข้ามาช่วยเหลือ ในฐานะผู้เฝ้าตรวจสอบและสังเกตการณ์ในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพแต่ควรเป็นเรื่องที่เราดูแลกันเองได้ "ผมได้แจ้งให้เขาทราบว่า อย่างไรก็ตาม จากการที่ผมมีประสบการณ์ ผมเห็นว่ามีความจำเป็นในระยะแรกเริ่มในการปฏิบัติการ" และในที่สุดเขากล่าวว่า "ก็ได้ อินโดนีเซียพร้อมที่จะรับความช่วยเหลือจากภายนอก"

จาอ์กโก อ๊อกซาเน็น คาดว่าพลตรี ซียาริฟุดดีน ทิปเป้ ได้แสดงทัศนคติของกองทัพทั้งหมดเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการมากกว่าเป็นทัศนะของรัฐบาลอินโดนีเซีย ดังที่ได้ทราบจากประสบการณ์เบื้องต้น หากมีสิ่งใดที่เป็นคุณประโยชน์แก่กองทัพโดยเฉพาะในกระบวนการสร้างสันติภาพ

5. ทำไมข้อตกลงยุติความเป็นปรปักษ์ล้มเหลว
วันที่ มาร์ตติ อะห์ติซาริ ตัดสินใจรับหน้าที่มาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการประชุมเจรจาเพื่อแสวงหาสันติภาพในอาเจะห์ จึงเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องเรียนรู้และศึกษาทำความเข้าใจประสบการณ์การเจรจาก่อนหน้านั้น ซึ่งศูนย์อ๊องรี ดูน๊องค์ (The Henry Dunant Center (HDC) (*3) ต้องประสบความล้มเหลว มีอุปสรรคอะไรบ้างที่เป็นตัวขัดขวางและต้องหลีกเลี่ยง

(*) The Henry Dunant Center ศูนย์ อองรี ดูนังต์ เป็นศูนย์องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่ตั้งให้เป็นเกียรติแก่นาย ฌอง อองรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant) นักธุรกิจและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวสวิส ผู้ริเริ่มก่อตั้ง สภาการกาชาดสากล IC(International Committee of the Red Cross : RC) ดูนังต์เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2371 เกิดที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ครอบครัวดูนังต์ เป็นนักธุรกิจที่เคร่งศาสนาและรักการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ดูนังต์จึงอุทิศตนเพื่อสังคมมาตั้งแต่เด็ก ในระหว่างทำงานธนาคาร เขาถูกส่งไปดูงานต่างประเทศ และได้ผ่านไปที่สมรภูมิซอลเฟริโน (Battle of Solferino) ประเทศอิตาลี ซึ่งเขาได้เห็นทหารบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก จากนั้นจึงกลับไปเขียนหนังสือชีวิต A memory of Solferino ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1860 (พ.ศ.2403) บรรยายถึงสภาพหลังสงคราม ผลของสงครามและสภาพโกลาหล วุ่นวาย ภายหลังจากนั้นและเสนอความเห็นว่าควรมีองค์กรกลางที่คอยให้ความช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บในการทำสงคราม เพื่อผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อดูแลทหารและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในสงคราม ภายหลังจากดูนังต์เสียชีวิตจึงได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ" (International Committee for the Relief of Wounded Combatants) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2406

ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "สภากาชาดสากล" (International Commitee of the Red Cross) และเจริญเป็นปึกแผ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ สัญลักษณ์ของกาชาดคือเครื่องหมายกากบาทแดง ซึ่งเป็นการให้เกียรติประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในฐานะที่เป็นต้นกำเนิดกาชาด ต่อมาได้ถือเอา วันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันเกิดของอังรี ดูนังต์ เป็น "วันที่ระลึกกาชาดสากล"

ศูนย์อองรี ดูนังต์ เป็นองค์กรอิสระที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ยาก เพื่อเหตุผลทางมนุษย์ธรรมเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา เพศ และอายุ

บันทึกในรายงานสองฉบับ ซึ่งรายงานระหว่างปี มีรายละเอียดการประชุมและการปฏิบัติงาน เหตุการณ์ต่างๆ ระหว่างปี ค.ศ.1999 - 2003 (พ.ศ.2542 - 2548)

ฉบับแรก เป็นรายงานศูนย์ East- West Center กรุงวอร์ชิงตัน สหรัฐอเมริกาที่อธิบายถึงเหตุที่ทำให้กระบวนการเสริมสร้างสันติภาพล้มเหลว
ฉบับที่สอง เป็นรายงานของ The Central Conclutions of Edward Aspinall, Harold Crouch and Konrad Huber's report

รายงานทั้งสองฉบับเป็นรายงานที่มีความสำคัญต่อการทำงานของมาร์ตติ อะห์ติซาริ เป็นอย่างยิ่ง. ผลจากการทำวิจัยพบว่า การเจรจาล้มเหลวและชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ไขแก่นกลางของปัญหาซึ่งมีรากฐานที่สำคัญ คือ อาเจะห์ในอนาคตควรจะให้เป็น"เอกราช" หรือเป็น"เขตปกครองตนเองพิเศษ" ขบวนการอาเจะห์เสรีจะล้มเลิกเป้าหมายของการประกาศแยกตัวเป็นเอกราช และรัฐบาลจะยอมให้แยก หรือไม่ยอมรับ

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลจะเสนอแนวทางแก่ขบวนการอาเจะห์เสรี ให้มีทางออกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มากกว่าการสู้รบต่อกรกัน มีการเสนอที่เป็นจริงในทางปฏิบัติได้หรือไม่ ?

สาเหตุจากสถานการณ์สุกงอม หลังจากการสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โตในปี 1998 (พ.ศ. 2541) ประชาชนชาวอินโดนีเซียต่างมีอารมณ์ปรารถนาใฝ่หาสันติภาพ แต่กองทัพยังคงมีท่าทีแข็งกร้าวและมีอิทธิพลทางการเมือง และภายในกองทัพเองได้เกิดการยื้อแย่งอำนาจระหว่างทหารประชาธิปไตย หรือที่เรียกสายพิราบ กับทหารเผด็จการหรือสายเหยี่ยวในการแก้ไขปัญหาอาเจะห์ จึงทำให้เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นท่าที นโยบายที่แข็งกร้าว ไม่ยอมประนีประนอมจากกรุงจาการ์ต้า หรือการที่กองทัพได้เข้ามามีส่วนรวมในการเจรจา ซึ่งไม่มีทางที่จะทำให้การปฏิบัติด้วยสันติวิธี กองทัพอินโดนีเซียมีความมุ่งหมายอย่างเจาะจงที่จะขจัดกระบวนการนี้

ความพยายามทั้งหมดในกระบวนการ จึงไม่อาจที่นำมาซึ่งความสำเร็จด้วยร่วมมือจากกองทัพ ซึ่งมีการต่อต้านกระบวนการแสวงหาสันติภาพ เนื่องจากผลดังกล่าว จะเป็นสิ่งที่อาจทำให้กระทบต่ออำนาจและการแสวงหาผลประโยชน์จากสถานการณ์

คนกลางต้องเป็นผู้ที่มีบารมีเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้
ผู้ทำการวิจัยสรุปว่า ข้อตกลงเพื่อสันติภาพนั้นไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งต้องมีบุคคลที่สามที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีบารมี มีความน่าเชื่อถือ มีเกียรติ ศักดิ์ศรีเหนือกว่าคู่เจรจาทั้งสองฝ่าย การเจรจาเกิดขึ้นโดยองค์กรพัฒนาเอกชน (Non - Government Organization : NGOs) อย่าง ศูนย์อ๊องรี ดูน๊องค์ (The Henry Dunant Center (HDC) ซึ่งไม่มีเครดิตความเชื่อถือพอที่จะทำให้คู่เจรจายอมจำนนบางสิ่งบางอย่างที่เป็นข้อปลีกย่อยในการเจรจาทำความตกลง

ในเบื้องต้น องค์กรศูนย์อ๊องรี ดูน๊องค์ ก็ได้กำหนดภารกิจในฐานะเป็นคนกลาง เป็นการรับผิดชอบที่กว้างขวางเกินไป และรวบอำนาจรวมศูนย์เพียงผู้เดียว ไม่ว่าจะเป็นภารกิจในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ภารกิจในฐานะผู้ทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยการเจรจา และภารกิจในฐานะที่จะเป็นผู้นำผลการตกลงในการเจรจาสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ ทั้งยังไม่มีกระบวนการที่ได้รับการสนับสนุนนานาชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ที่จะมีผลในการกดดันให้เกิดผลความสำเร็จ

โดยพื้นฐานของทุกๆ ประการแล้ว ความเชื่อถือของบุคคลมิใช่ว่าจะทำหน้าที่ให้การเจรจาด้วยการเผชิญหน้ากัน แต่จะทำหน้าที่ในการกำกับในฐานะคนเป็นกลางนั้นเอง

การเจรจาครั้งล่าสุดประมาณ 3 ปีที่แล้ว และล้มเหลวในปี 2003 (พ.ศ. 2546) ความเชื่อถือในระหว่างคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายได้สิ้นสุดลงและรายละเอียดในข้อตกลงก็ไม่มีผลใดใดทั้งสิ้น. ยิ่งกว่านั้น ความเลวร้ายทั้งปวงที่เกิดจากความล้มเหลวในการเจรจา นำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างใหญ่หลวงในอาเจะห์ กองทัพได้ทุ่มกำลังลงพื้นที่อาเจะห์ ประกาศเป็นเขตการปฏิบัติการทางทหารเต็มพื้นที่ (Daerah Operasi Mititer : DOM) มีปฏิบัติการทางทหารตลอดเวลา มีการทุ่มกำลังพลจำนวนกว่า 35,000 คน ทำการปฏิบัติการไล่ล่านักรบจรยุทธ์ขบวนการอาเจะห์เสรี และพลเรือนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการสงสัยว่าเป็นสมาชิก หรือแนวร่วมผู้สนับสนุนขบวนการอาเจะห์เสรีอย่างไม่มีความปรานี ประชาชนถูกจับโดยพลการ มีการรีดข่าวด้วยการบังคับและทรมานอย่างโหดเหี้ยม การตัดสินโดยวิธีการรวบรัด และมีข่าวคนสูญหายไม่เว้นแต่ละวัน

เพียง 1 ปีต่อมา กองทัพได้แถลงผลงานว่า ได้สังหารนักรบจรยุทธ์ขบวนการอาเจะห์เสรีได้กว่า 2,000 คน และจับกุมได้กว่า 2,100 คน แต่ก็มีเสียงจากฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีว่า ผู้ที่ถูกสังหารเป็นพลเรือนประชาชนผู้บริสุทธิ์ ชาวชนบท ชาวบ้านผู้ที่กำลังทำงานในท้องไร่ท้องนา แม่บ้าน เด็กวัยรุ่นที่ชอบการผจญภัยท่องไพร่ ตลอดจนผู้เฒ่าสูงอายุ แต่ในสายตาของทหารแล้ว บุคคลเหล่านี้เคลื่อนไหวในที่ต้องสงสัย และเป็นความชอบธรรมที่ผู้คนเหล่านั้นต้องประสบ. ในปี 2003 (พ.ศ. 2546) ประมาณการว่ามีพลเรือนประมาณ 100,000 คนถูกบีบให้อพยพออกจากหมู่บ้านตนเอง เนื่องจากเป็นพื้นที่ปฏิบัติการสู้รบ

นี้เป็นเพราะความล้มเหลวในการเจรจาที่มีแต่จะสร้างความตื่นตระหนกยิ่ง ความเสียหายที่มิอาจประเมินได้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com