1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
ขบวนการอาเจะห์เสรี GAM : Gerakan Aceh Merdeka ก่อตั้งและเริ่มปฏิบัติการในปี ๑๙๗๖ ( พ.ศ. ๒๕๑๙) โดยเมื่อเติงกู ฮาซัน ดิ ติโร(Tenku Hasan Di Tiro ) นักธุรกิจชาวอาเจะห์ ผู้สำ เร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศเอกราชให้จังหวัดอาเจะห์ เป็นอิสรภาพแยกจากอินโดนีเซีย เติงกู ฮาซัน ดิ ติโร เป็นผู้ที่มีเชื้อสาย จากครอบครัวสุลต่านฏอนแห่งอาเจะห์ ประกาศว่า จังหวัดอาเจะห์ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียในปี ๑๙๔๙ ไม่ชอบธรรม เมื่ออาเจะห์ตกเป็นอาณานิคมของดัทซ์ ร่วมหนึ่งศตวรรษ สุลต่านแห่งอาเจะห์มีอิสรภาพ มีความแตกต่างจากอัตลักษณ์ สภาพภูมิประเทศ จากส่วนกลางโดยสิ้นเชิง และกล่าวว่าอินโดนีเซียควรสิ้นสุดการยึดครองอาเจะห์ได้แล้ว. ปี ๑๙๗๗ อินโดนีเซียทำการปราบปรามขั้นเด็ดขาด
25-08-2552 (1757)
กระบวนการสร้างสันติภาพในอาเจะห์
(Making Peace: Ahtisaari and Aceh)
สันติภาพในอาเจะห์:
จากคลื่นยักษ์สึนามิ ถึงการเริ่มต้นเจรจาที่กรุงเฮลซิงกิ
บทความนี้ได้รับมาจากคุณ บุรฮานุดดิน อุเซ็ง
บทความนี้ได้มีการปรับปรุงบางประโยค
และย่อหน้าเพื่อความสะดวกในการอ่าน
โดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
เมื่อตอนที่ได้รับหนังสือ(ทางออนไลน์)ชิ้นนี้
คุณบุรฮานุดดิน อุเซ็ง
ได้เขียนข้อความส่งถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ความว่า
ขออนุญาตส่ง "กระบวนการสร้างสันติภาพในอาเจะห์
เพื่อพิจารณา
เห็นว่า น่าจะเป็นข้อพิจารณากับการแก้ไขความขัดแย้งที่ภาคใต้บ้านเรา ด้วยวิธีการสันติ"
เนื่องจากหนังสือนี้ ความยาวประมาณ 124 หน้ากระดาษ A4
กอง บก.ม.เที่ยงคืนจึงขอนำเสนอบทความนี้ครั้งละหนึ่งบท โดยในบทแรกและบทที่สองคือ
"คลื่นยักษ์สึนามิ"และ"โหมโรง: การเจรจาสันติภาพ รอบแรก"พร้อมคำนำของหนังสือ
เขียนโดยเจ้าของเรื่อง กาตริ เมอริกัลป์ลิโอ คอลัมนิสต์ชาวฟินแลนด์
หนังสือเล่มนี้ เป็นการรวบรวมบทความที่สำคัญ ของผู้เขียนซึ่งเคยลงตีพิมพ์ในวารสารรายสัปดาห์
ของฟินแลนด์ ชื่อ Saumen Kualehti ในระหว่างปี 2005 - 2006 (พ.ศ. 2548 - 2549)
แม้หนังสือเล่มนี้มิได้เป็นสูตรสำเร็จ
หรือวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นเพียง
รายงานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกระบวนการแสวงหาสันติภาพฉบับหนึ่ง
แต่ก็เป็นบันทึกที่ได้มาซึ่งสันติภาพ เป็นงานที่รวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพในอาเจะห์ ที่น่าสนใจศึกษา
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "การจัดการความขัดแย้ง")
สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๕๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
กระบวนการสร้างสันติภาพในอาเจะห์
(Making Peace: Ahtisaari and Aceh)
สันติภาพในอาเจะห์:
จากคลื่นยักษ์สึนามิ ถึงการเริ่มต้นเจรจาที่กรุงเฮลซิงกิ
บทความนี้ได้รับมาจากคุณ บุรฮานุดดิน อุเซ็ง
บทความนี้ได้มีการปรับปรุงบางประโยค
และย่อหน้าเพื่อความสะดวกในการอ่าน
โดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
สันติภาพในอาเจะห์ (Making
Peace: Ahtisaari and Aceh)
ความนำ
อาเจะห์ เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความสวยและงดงาม
ตั้งอยู่ปลายแหลมทางตอนเหนือเกาะสุมาตรา ด้านตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย เป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบเป็นเวลามายาวนานประมาณเกือบ
30 ปี อาเจะห์ เป็นพื้นที่ที่ความสมบูรณ์เต็มด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่อาเจะห์กลับเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดและด้อยพัฒนาที่สุด
รัฐบาลอินโดนีเซีย กล่าวว่าสาเหตุที่อาเจะห์ยากจน เพราะในอาเจะห์มีขบวนการต่อต้านรัฐบาล
ซึ่งต้องการประกาศความเป็นอิสรภาพแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศอินโดนีเซีย จึงกลายเป็นปัญหาอุปสรรคในการพัฒนา
ขบวนการอาเจะห์เสรี (Gerakkan
Aceh Merdeka : GAM)
ขบวนการอาเจะห์เสรี (Gerakkan Aceh Merdeka : GAM) กลับมีมุมมองที่แตกต่างกัน
และเห็นว่า การต่อสู้เพื่ออิสรภาพเกิดขึ้นในอาเจะห์นั้น สาเหตุมาจาก เพราะความไม่มีความเป็นประชาธิปไตย
ไม่มีความยุติธรรม และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวอาเจะห์และถูกเหยียบย่ำ
และนี่คือเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องลุกขึ้นจับอาวุธมาต่อสู้ มีการประเมินจากหลายๆ
ฝ่ายว่า ประชาชนประมาณ 15,000 คน - 50,000 คนกลายเป็นเหยื่อถูกสังหารระหว่างห้วงทศวรรษของการสู้รบในอาเจะห์
จึงได้มีความพยายามที่จะยุติการสงครามด้วยวิธีการเจรจาแสวงหาสันติภาพระหว่างฝ่ายหลายครั้ง
แต่ประสบความล้มเหลวตลอดมา
เมื่อมีการเจรจาสันติภาพสำหรับอาเจะห์ ขึ้นที่ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ มีข่าวปรากฏทางสื่อระหว่างประเทศ ในเดือนมกราคม 2005 (พ.ศ. 2548) เกิดมีคำถามหลายๆ ประการ ระยะเวลาของการเจรจาใช้เวลา ประมาณ 7 เดือน และมีการเจรจาลับเพียง 5 ครั้ง จากนั้น รัฐบาลอินโดนีเซีย และ ขบวนการอาเจะห์เสรี ก็ได้บรรลุข้อตกลงและได้มีการลงนามสัญญาสันติภาพที่ สมอลนา (Smolna )ในกรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) โดยมีเป้าหมายที่จะยุติความขัดแย้งและนำอาเจะห์เข้าสู่วิถีแห่งประชาธิปไตย และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของบูรณาภาพแห่งดินแดนอินโดนีเซีย
วัตถุประสงค์ในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ ก็เพื่อค้นหาคำตอบที่ว่า "ทำไม ?" อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ฯพณฯ มาร์ตติ อะห์ติซาริ (Martti Ahtisaari) จึงประสบความสำเร็จ ในขณะที่หลายฝ่ายประสบความล้มเหลวมาแล้ว มีอะไรหรือที่เป็นเหตุจูงใจให้คู่ปรปักษ์ทั้งสองฝ่ายหันหน้ากันมานั่งโต๊ะเจรจากัน? และสามารถประนีประนอมในการเจรจากันได้ มีอะไรที่เป็นปัญหาที่เป็นจุดวิกฤติที่สุด และการตกลงในท้ายที่สุดทำได้อย่างไร?
ท้ายบทของหนังสือเล่มนี้ ได้อธิบายการจัดกลุ่มตัวแทนจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป(European Union) และกลุ่มประเทศอาเซียน(Asian)ที่เกาะติด สังเกตการณ์ และปรับข้อตกลงในการเจรจานำสู่การปฏิบัติ และนำมาซึ่งสันติภาพเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดอาเจะห์ได้ในเวลาต่อมา แม้ว่าความขัดแย้งต่างๆ ที่มีในโลกนี้มีความแตกต่างกัน อาจจะด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สภาพแวดล้อม และประชาชน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ความเหมือนในองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องในความสำเร็จ กระบวนยุติความขัดแย้งนำสันติภาพสู่อาเจะห์ได้นั้น สามารถนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในส่วนหนึ่งอื่นของโลกนี้ได้ และนี่คือวัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งของงานเขียนหนังสือเล่มนี้
แม้หนังสือเล่มนี้มิได้เป็นสูตรสำเร็จ หรือวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นเพียงรายงานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกระบวนการแสวงหาสันติภาพฉบับหนึ่ง แต่ก็เป็นบันทึกที่ได้มาซึ่งสันติภาพ เป็นงานที่รวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหวังว่าไม่มีผู้ใดซึ่งอยู่ในกระบวนการของการบิดเบือนความจริง ณ ที่นี้
หนังสือเล่มนี้ จะรวบรวมบทความที่สำคัญๆ ของผู้เขียนซึ่งเคยลงตีพิมพ์ในวารสารรายสัปดาห์ของฟินแลนด์ ชื่อ Saumen Kualehti ในระหว่างปี 2005 - 2006 (พ.ศ. 2548 - 2549) ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ทำงานในทีมงาน ความริเริ่มเพื่อบริหารจัดการภาวะวิกฤติ (The Crisis Management Initiatives : CMI) คุณจาอ์กโก อ๊อกซาเน็น (Jaakko Oksanen) , คุณยูฮาร์ คริสเตนเซ่น (Juha Christensen) , คุณแคลลี ไลซิแนน (Kalle Liesinen) คุณโรเบิร์ต ไฮแกรล (Robert Hygrell) และคุณ ลีน่า อโวเนียส ( Lena Avonius) ที่ได้ให้การสนับสนุน และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ และขอขอบคุณเป็นกรณีพิเศษต่อสามีของผู้เขียนเอง คุณลิกกา เวห์กาลาลาหตี (Likka Vehkalalahti) ผู้ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ และคอยสนับสนุนให้กำลังใจในการเขียนจนลุล่วงสำเร็จสู่สายตาท่านเป็นหนังสือเล่มนี้
เฮลซิงกิ 15 สิงหาคม 2006
(พ.ศ. 2549)
กาตริ เมอรริกัลลิโอ ( KATRI MERIKALLIO) (*)
(*) กาตริ เมอริกัลป์ลิโอ ( KATRI MERIKALLIO) คอลัมนิสต์ เกิดปี 1961 (พ.ศ. 2504) ชาวฟินแลนด์ เป็นนักเขียนประจำหนังสือวารสารฟินแลนด์รายสัปดาห์ ชื่อ ซูโอเม็น กูวาเละห์ติ (Suomen Kuvalehti) เป็นผู้รับผิดชอบติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในเอเชีย. เมื่อต้นปี 1996 (พ.ศ. 2533) เธอมาประจำที่ประเทศอินเดีย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เคยได้รับรางวัล The State Award for Public Information ในปี 2000 (พ.ศ. 2543) ในฐานะผู้สื่อข่าวดีเด่น ปัจจุบันเธอเป็นมารดาของลูก 4 คน
1. คลื่นยักษ์สึนามิ
วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2004 (พ.ศ.2547)
อากาศยามเช้า เย็นชุ่มช่ำ เป็นสภาพอากาศที่เป็นปกติโดยทั่วไปในอาเจะห์ อิรวันดี ยูซุฟ (Irwandi Jusuf) กำลังวิ่งออกกำลังกายที่สนามภายในคุก เมืองบันดาร์อาเจะห์ (Banda Aceh) ขณะที่พื้นดินมีอาการสั่นไหว เขาเป็นสัตวแพทย์และอีกสถานะหนึ่งเป็นหัวหน้ากองกำลังจรยุทธ์ ของขบวนการอาเจะห์เสรี Gerakan Aceh Merdeka : GAM (*) อิรวันดี ยูซุฟ ถูกจองจำในคุกแห่งนี้กว่า 18 เดือนแล้ว บนใบหน้าและร่างกายของเขายังมีร่องรอยของบาดแผลที่เกิดจากการซ้อมและถูกทรมานที่เห็นได้อย่างชัดเจน
(*) ขบวนการอาเจะห์เสรี GAM : Gerakan Aceh Merdeka ก่อตั้งและเริ่มปฏิบัติการในปี 1976 ( พ.ศ. 2519) โดยเมื่อเติงกู ฮาซัน ดิ ติโร( Tenku Hasan Di Tiro ) นักธุรกิจ ชาวอาเจะห์ ผู้สำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ประกาศเอกราชให้จังหวัดอาเจะห์ เป็นอิสรภาพแยกจากอินโดนีเซีย เติงกู ฮาซัน ดิ ติโร เป็นผู้ที่มีเชื้อสายจากครอบครัวสุลต่านฏอนแห่งอาเจะห์ ประกาศว่า การที่จังหวัดอาเจะห์ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซียในปี 1949 (พ.ศ. 2492) นั้นไม่ชอบธรรม เมื่ออาเจะห์ตกเป็นอาณานิคมของดัทซ์ ร่วม 1 ศตวรรษ สุลต่านแห่งอาเจะห์มีอิสรภาพ มีความแตกต่างจากอัตลักษณ์ สภาพภูมิประเทศ จากส่วนกลางโดยสิ้นเชิง และกล่าวว่าอินโดนีเซียควรสิ้นสุดการยึดครองอาเจะห์ได้แล้ว ในปี 1977 (พ.ศ.2520) รัฐบาลอินโดนีเซียทำการปราบปรามขั้นเด็ดขาด กองกำลังขบวนการอาเจะห์มีกำลังอ่อนแอและน้อยกว่า จึงตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แกนนำสำคัญๆ หลายคนถูกฆ่าตาย และถูกจับกุมคุมขัง เติงกู ฮาซัน ดิ ติโร รอดพ้นจากปฏิบัติการดังกล่าว และลี้ภัยไปอาศัยในประเทศสวีเดนใน 2 ปีต่อมา
หลังจากที่ ขบวนการอาเจะห์เสรี เว้นว่างในการดำเนินการระยะหนึ่ง และมีการซ่องสุมกำลังขึ้นใหม่ ปลายปี 1980 (พ.ศ. 2523) จึงเริ่มดำเนินการอีกครั้ง ด้วยการรุกโจมตีตำรวจ และกองทัพรัฐบาลอินโดนีเซียทำการตีโต้กลับอย่างรุนแรง โหดร้าย ทารุณใช้กองกำลังเข้ากำจัดพลเรือนที่ระแวงและสงสัยเป็นแนวร่วมสนับสนุนขบวนการอาเจะห์เสรีอย่างเป็นระลอก ในปี 1992 (พ.ศ. 2535) กองกำลังของขบวนการอาเจะห์เสรี ปฏิบัติการที่มีผลกระทบต่อกองทัพมาก รัฐบาลจึงทุ่มส่งกำลังเข้าประจำการในพื้นที่มากขึ้น
ตลอดปี 1990 (พ.ศ. 2533 ) กองกำลังจรยุทธ์ของขบวนการอาเจะห์เสรี ระดมกำลังเข้าบุกโจมตีกองกำลังของรัฐบาลและตำรวจอย่างหนัก ประจวบกับการสิ้นอำนาจของประธานาธิบดี ซูฮาร์โต ในปี 1998 (พ.ศ.2541) กองกำลังของขบวนการอาเจะห์เสรี เร่งโหมการโจมตีตลอดทั้งปี จนสามารถยึดพื้นที่ครอบครองอาเจะห์ได้เป็นส่วนใหญ่
หลังปี 1976 (พ.ศ. 2519) แนวร่วมผู้ให้การสนับสนุนขบวนการอาเจะห์เสรีจำนวนมาก พากันหลบหนีการคุกคามปราบปรามอย่างหนักของกองทัพ บางส่วนหลบหนีไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย ประมาณการว่ามีชาวอาเจะห์ประมาณ 50,000 คน ผู้นำระดับแกนนำ นักเคลื่อนไหว แกนนำสำคัญๆ พากันหลบหนีลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในประเทศสวีเดนและกลุ่มประเทศนอร์ดิก
การเคลื่อนไหวและการบัญชาการสู้รบจากแกนนำยังคงดำเนินต่อมา การบัญชาการรบแก่กองกำลังจรยุทธ์ที่อยู่ในพื้นที่จากผู้นำที่กรุงสต๊อคโฮล์มโดยการอาศัยเครื่องมือสื่อสารเทคโนโลยีสมัยใหม่ การใช้โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม เครื่องโทรสาร และการส่งข้อความผ่านอีเมล์ และสิ่งตีพิมพ์เอกสาร เป็นต้น นับเป็นครั้งแรกของโลกอย่างแท้จริงที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือบัญชาการสงคราม ต้องขอขอบคุณ "โนเกีย" ผู้นำ ขบวนการอาเจะห์เสรี กล่าว
เมื่อ เติงกู ฮาซัน ดิ ติโร มีอายุมากขึ้น มาลิค มะห์มูด ( Malik Mahmoud) นักธุรกิจขึ้นรับช่วงเป็นผู้นำ ขบวนการอาเจะห์เสรีต่อ มีการปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรด้วยการรวบรวมทัศนะความเห็น การตัดสินใจ กำกับการเจรจาอย่างเข้มงวดด้วยทัศนะความเห็นต่างๆ จากผู้นำจากทุกส่วนทั่วโลก จึงได้มีการสั่งการลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ขบวนการอาเจะห์เสรีมีความหวังในความเป็นอิสรภาพ และความเป็นประชาธิปไตยแก่อาเจะห์ ประชาชนชาวอาเจะห์จะเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองและเศรษฐกิจ และต้องการเห็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์คุณค่าด้านวัฒนธรรมและรูปแบบวัฒนธรรมการตัดสินใจ
"ผมเห็นนกตีนเป็ดทะเลบินจากทะเลเข้าสู่ฝั่ง ทำให้ผมรู้ได้ทันที่ว่า แผ่นดินไหวจะนำมาซึ่ง คลื่นยักษ์สึนามิ (Tsunami) (*) และอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อน้ำทะเลซัดเข้าสู่ฝั่งและทะลักท่วมผืนแผ่นดิน ผมจึงเร่งให้เพื่อนนักโทษปีนขึ้นเสาและดูว่าน้ำทะเลลดเหือดแห้งหายไปหรือไม่? และนี้แหละเป็นสัญญาณที่จะบอกให้รู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น แต่ผมเองรู้เพียงว่า เราไม่มีเวลาอีกแล้ว"
(*) สึนามิ (TSUNAMI) เป็นภาษาญี่ปุ่น "สึ" แปลว่า ท่าเรือ "นามิ" แปลว่า คลื่น" รวมความหมายแปลว่า "คลื่นท่าเรือ" เป็นคลื่นที่ได้ชื่อว่า เป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรง ซึ่งสามารถคร่าชีวิตผู้คนเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนในชั่วพริบตา สามารถทำลายเมืองทั้งเมืองให้ราบเป็นหน้ากลองได้เพียงไม่กี่อึดใจ เกิดจากการสั่นสะเทือนของภูเขาไฟระเบิดหรือแผ่นดินไหวที่พื้นดินใต้ท้องทะเล หรืออุกาบาตรตกในทะเล (ส่วนใหญ่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้น้ำตั้งแต่ 7 ริคเตอร์ขึ้นไป จนเกิดปรากฏการณ์แทนที่น้ำอย่างรุนแรงทำให้มวลน้ำเกิดการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ในลักษณะเดียวกันกับการโยนก้อนหินลงในน้ำ แล้วเกิดระลอกคลื่นแผ่กระจายออกมาจากจุดก้อนหินตก ในที่นี่หมายถึงสึนามิ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2547 เป็นผลมาจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ (เดิมระบุว่า 8.9 ริกเตอร์ )เกิดขึ้นนอกชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศ อินโดนีเซีย เมื่อเวลา 07.50 น.ตามเวลาประเทศไทย มีจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ลึก 10 กิโลเมตร ห่างจากบันดาร์อาเจะห์ (BandaAceh)ประมาณ 250 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,260 กิโลเมตร (ข้อมูลจาก หนังสือ คือผู้กรำงานกล้า สึนามิ สำนักพิมพ์ไทยพับลิค รีเลชั่น จำกัด)
คลื่นซัดกำแพงคุกพังลงราบคาบ ขณะที่ อิรวันดี ยูซุฟ (Irwandi Jusuf)(*) ปีนขึ้นชั้นที่สองเรียบร้อยแล้ว แต่แรงซัดของคลื่นน้ำทะเลที่ใหญ่โตมหึมา อิรวันดี ยูซุฟ ลุกขึ้นวิ่ง ขณะที่น้ำทะเลพัดจนท่วมหลังคาตึก กำแพงและประตูปิดทางหนีอย่างเบ็ดเสร็จเรียบร้อยแล้ว "ผมเองตระหนักดีว่า วันเวลาของผมถึงกาลจะสิ้นสุดแน่แล้ว แต่เมื่อรู้สึกอีกครั้งว่าหัวของผมกระแทกผนัง ผมจึงมั่นใจว่าผมจะต้องใช้ความสามารถในการทะลุทะลวงผนังนี้ให้ได้"
(*) อิรวานดี ยูซุฟ (Irwandi Jusuf) ภายหลังได้ลงเลือกตั้งและได้รับการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการนครบันดาร์อาเจะห์ เคยเป็นแขกรัฐบาลไทยเพื่อมาศึกษาดูงานในโครงการแม่ฟ้าหลวง ที่จังหวัดเชียงราย หลังจากชนะการเลือกตั้ง
เหตุการณ์ในวันนั้น นักโทษกว่า
200 คนจมน้ำตายในห้องขัง บ้างตายเพราะถูกกำแพงล้มทับ ในจำนวนนั้นมี ท่าน ซอฟยาน
อิบรอฮิม ติบา (Sofyan Ibrahim Tiba) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเป็นหัวคณะเจรจาในความพยายามครั้งต้นๆ
ส่วน อิรวันดี ยูซุฟ สามารถรักษาชีวิตตนเองได้โดยอาศัยอยู่บนหลังคาและหลบหนีได้
ครั้งแรกเขาหลบหนีไปอาศัยอยู่ในซากบ้านที่พังของเขาเองในบันดาร์อาเจะห์และจากนั้นเขาหลบเข้าไปอยู่กรุงจาการ์ต้า
"ไม่คิดว่า โอกาสของผมไม่มีอีกแล้ว"
แต่ อิรวันดี ยูซุฟ เองก็ไม่รู้ว่าภารกิจอันยิ่งใหญ่ถูกวางไว้ให้เป็นความรับผิดชอบอยู่เบื้องหน้าเขา
ในหมู่บ้าน ซูวัคซิกาเด็ง (Suwak Sigadeng ) ห่างจากเมืองบันดาร์อาเจะห์ประมาณ 200 กิโลเมตร ผู้คนยังตกปลา เป็นวิถีชีวิตผู้คนในหมู่บ้าน ยามเช้าพวกเขาจะพากันไปนั่งอยู่ในร้านกาแฟ(*)ของหญิงเฒ่า นูรซีบะฮฺ (Nursiba) นางลุกขึ้นตั้งแต่เวลาตี 5 เช้ามืด เพื่อปิ้งขนมปัง โดยมี โรซา(Rosa) หลานอายุ 4 ขวบเป็นเพื่อน กลิ่นหอมของขนมปังโชยส่งความหอมจากเตาอบ ในขณะที่พื้นบ้านเริ่มสะเทือน สั่นไหวการสั่นสะเทือนของบ้านทำให้โรซาต้องคว้าคอของยายแน่น ขณะนั้นผนังกำแพงบ้านยังไม่มีปัญหาใดๆ มีเพียงจาน เครื่องครัวที่แขวนร่วงตกหล่นบนพื้นแตกกระจาย ขณะลูกสาวคนโตของ นูรซีบะฮฺ วิ่งออกมาจากเรือนเคียงเพื่อมาดูยายและโรซา ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น สามีของนูรซีบะฮฺ และลูกสาวทั้งสองอยู่ทางด้านหลังกำลังเก็บกวาดชิ้นส่วนเศษกระจกที่ตกแตกกระจายบนพื้นในร้านกาแฟ "ทันใดนั้นเราได้ยินเสียงของเครื่องบินดังแผดคำราม บินอยู่เหนือบ้าน และพร้อมกันนั้นได้มองข้ามไหล่เห็นน้ำทะเลซัดมายังเรา"
(*) วิถีชีวิตชาวอาเจะห์ยามเช้ามักนิยมนั่งร้านกาแฟที่มีอยู่ทั่วๆ ไป กาแฟอาเจะห์เป็นกาแฟที่มีชื่อเสียงมาก ปลูกมากในเขตที่ราบสูง กาโย (Gayo) และตาเกงอน (Takengon) การดื่มกาแฟนิยมใส่นมข้น วิธีชงโดยการเทน้ำร้อนใส่ถุงที่เติมกาแฟและชูสุดแขน เพื่อให้อากาศผ่านลงในถ้วย นัยว่าทำให้รสกาแฟดีขึ้นเป็นพิเศษ นิยมรับประทานกับขนมหวาน
นูรซีบะฮฺ รีบคว้าแขนหลานอุ้มขึ้นและพากันวิ่งหนี ขณะที่ลูกสาวของนางคว้าแขน เดซี(Deci) พี่สาว โรซา อายุ 6 ขวบลากวิ่งหนีไป ขณะที่วิ่งหนีไปได้ไม่ไกลนัก น้ำทะเลซัดกระหน่ำอย่างรุนแรง นูรซีบะฮฺจำได้เพียงว่า มือของโรซา หลานที่เกาะคอเธอแน่นนั้นหลุดไปตอนไหนก็ไม่ทราบ เช้าวันนั้น นูรซีบะฮฺ สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ลูกสาว 3 คน หลานยาย 2 คน สามี ปศุสัตว์และหมู่บ้านของนางไม่เหลืออะไรทิ้งไว้เป็นร่องรอยตลอดชั่วอายุของนาง 52 ปี ไม่มีเหลือแม้แต่กระทั่งรูปภาพที่ถ่ายเก็บไว้ดู
ระยะทางเพียงไม่กี่กิโลเมตรจากบันดาร์อาเจะห์ กลุ่มนักรบจรยุทธ์ขบวนการอาเจะห์เสรีกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งที่มีฐานปฏิบัติการบนภูเขา มองจากเนินภูเขายังคลื่นทะเลที่กำลังซัดกระหน่ำยังฝังทะเลอันเป็นที่ตั้งหมู่บ้านของพวกเขา "หมู่บ้าน ลัมตือเงาะฮฺ (Lamtengoh) พวกเขาไม่เข้าใจว่าปรากฎการณ์อะไรกำลังเกิดขึ้น แผ่นดินไหวมีผลต่อกองกำลังจรยุทธ์ที่ พวกเขาอาศัยอยู่ในป่า แต่ทำไม่ทำทะเลจึงซัดกระหน่ำมากเช่นนี้. นัซรุลลอฮฺ (Nasrullah) หัวหน้าหน่วยจรยุทธ์กล่าวว่า " เมื่อคลื่นทะเลซัดกระหน่ำหมู่บ้านของเรา ทำให้เราตระหนักว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น เมื่อเรือที่อยู่ในทะเลถูกพัดมาอยู่ในใจกลางบ้านของเรา"
และในวันเดียวกัน นัซรุลลอฮฺ ได้ส่งคนของเขาไปยังหมู่บ้านเพื่อดูว่าอะไรเกิดขึ้นกับหมู่บ้านของเขา "เขากลับมาบอกให้พวกเราให้รู้ว่า ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในหมู่บ้านอีกแล้ว ไม่มีหมู่บ้านของเราอีกแล้ว ทั้งหมู่บ้านถูกซัดลงทะเลหมดเกลี้ยง จากนั้นพวกเราพากันลงจากภูเขา สิ่งที่พวกเราเห็นทำให้พวกเราแทบช๊อค เราพบร่างของคนเสียชีวิต เคล้าปะปนอยู่ในกองขยะ คนที่รอดชีวิตได้รับบาดเจ็บนอนกระจัดกระจายตามเชิงเขา เราพยายามช่วยเหลือพวกเขา ช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น หาอาหารและน้ำให้พวกเขา การช่วยเหลือของเรากระทำกันตลอดทั้งวันทั้งคืน พื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน บัดนี้กลายเป็นที่ราบเรียบ โล่งเตียน ไม่มีหมู่บ้านของเราอีกต่อไปแล้ว"
เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิครั้งนี้ นัซรุลลอฮฺ อายุ 27 ปี สูญเสียทั้งพ่อแม่และน้องสาว 3 คน มีเหลือเพียงน้องชายที่พบ และสมาชิกเพื่อนนักรบจรยุทธ์ของเขาส่วนใหญ่สูญเสียทุกอย่าง หมู่บ้านที่มีประชากร 1,350 คน รอดชีวิตเพียง 249 คน. "แม้แต่หน่วยตำรวจที่มาตั้งฐานปฏิบัติการในหมู่บ้าน ต่างประสบเคราะห์กรรมเช่นเดียวกันกับเรา จากตำรวจจำนวน 70 นายเหลือเพียง 3 คนที่รอดชีวิต"
เมื่อน้ำทะเลเริ่มลดลงแล้ว นักรบหนุ่มแห่งขบวนการอาเจะห์เสรี ยังคงอยู่ในบริเวณซากสลักหักพังของหมู่บ้าน "เราได้รับคำสั่งอย่างชัดเจนแล้ว ต่อไปในระยะนี้จะไม่มีการสู้รบ หรือโจมตีใดใดทั้งสิ้นจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง" แต่กองทัพอินโดนีเซียยังไม่มีคำสั่งใดใดเช่นเดียวกันกับฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี เพียงไม่กี่สัปดาห์กำลังจากกองทัพทุ่มกำลังเข้าโจมตีเต็มอัตราศึก ทำให้ นัซรุลลอฮฺ และคนของเขาต้องหลบหนีขึ้นภูเขาอีกครั้งหนึ่ง
สื่อทั่วโลกทุกแขนงต่างพากันรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์สึนามิ, ความเสียหาย, การปฏิบัติการในการช่วยเหลือฟื้นฟู, การป้องกันโรคติดต่อ, การรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและการจัดหาที่พักแก่ผู้ที่ไร้ที่อยู่อาศัยเป็นระยะๆ อย่างไร ก็ตามประเทศที่ได้รับผลกระทบ เช่น ประเทศไทย ศรีลังกา ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างวันหยุด มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากประสบเหตุรุนแรงทางธรรมชาติครั้งนี้ อาทิ นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศนอร์ดิค (Nordic) (*) อังกฤษ และเยอรมัน เป็นต้น ต่างได้รับผลกระทบที่น่าเศร้า สูญเสียชีวิต มีรายงานมากมายเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่สูญเสียทั้งครอบครัว นักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักอาศัยในรีสอร์ตในสถานที่ต่างๆ ตามชายฝั่งทะเลแถบนี้
(*) กลุ่มประเทศนอร์ดิก: (Nordic countries) หรือรวมเรียกเป็นภูมิภาคนอร์ดิก หมายถึง ภูมิภาคในยุโรปเหนือ ประกอบด้วย (1) เดนมาร์ก (2) ฟินแลนด์ (3) ไอซ์แลนด์ (4) นอร์เวย์ (5) สวีเดน และดินแดนปกครองตนเองในสังกัดประเทศเหล่านั้นสามแห่ง ได้แก่ กรีนแลนด์ (เดนมาร์ก) หมู่เกาะแฟโร (เดนมาร์ก) และหมู่เกาะโอแลนด์ (ฟินแลนด์) ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน และมีสิ่งต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันในสังคม เช่น ระบบการเมืองการปกครอง กลุ่มนอร์ดิกมีประชากรรวมกันราว 24 ล้านคน
ความเป็นมา: ความร่วมมือกันระหว่างสภาและรัฐบาลของประเทศกลุ่มนอร์ดิก จัดตั้งขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง และเริ่มเห็นผลชัดเจนครั้งแรกเมื่อมีการเปิดตลาดแรงงานและระบบประกันสังคมร่วม มีองค์กรที่เรียกว่าคณะมนตรีนอร์ดิก มีการอนุญาตผ่านแดนโดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง ในกลุ่มสมาชิกประเทศ ในปี พ.ศ. 2495 สหภาพหนังสือเดินทางนอร์ดิก (Nordic Passport Union): เริ่มตั้งในปีพ.ศ. 2497 และมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2501 อนุญาตให้พลเมืองของประเทศกลุ่มนอร์ดิก ได้แก่ เดนมาร์ก (หมู่เกาะแฟโรเข้าร่วมปีพ.ศ. 2509 ไม่รวมกรีนแลนด์) สวีเดน นอร์เวย์ (ไม่รวม สฟาลบาร์ ยานไมเอน บูเวต ดรอนนิงเมาด์ลันด์) ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ (เข้าร่วมพ.ศ. 2508) ข้ามพรมแดนได้โดยไม่ต้องพกหรือตรวจหนังสือเดินทาง พลเมืองชาติอื่นๆ สามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้โดยไม่ต้องตรวจหนังสือเดินทาง แต่ต้องพกพาหนังสือเดินทางหรือเอกสารอนุญาตอื่นๆ ธงของประเทศในกลุ่มนอร์ดิก ประเทศทั้งหมดในกลุ่มนอร์ดิก รวมถึงสองดินแดนปกครองตนเองอย่างหมู่เกาะแฟโรและหมู่เกาะโอลันด์ มีลักษณะธงที่ใกล้เคียงกัน คือเป็นธงที่มีรูปกากบาทที่มีจุดตัดเยื้องไปทางด้านเสาธง ที่เรียกว่าธงกากบาทแบบนอร์ดิก (หรือแบบสแกนดิเนเวีย) ธงของกรีนแลนด์และชาวซามิ (ชนพื้นเมืองในแลปแลนด์) ไม่ได้เป็นรูปกากบาท แต่เป็นรูปวงกลม
ในระยะหลัง ประเทศเอสโตเนียได้วางภาพตัวเองเป็นประเทศ นอร์ดิกแต่โดยทั่วไปแล้วมักถือว่าเอสโตเนียเป็นรัฐบอลติก เอสโตเนียมีความใกล้ชิดทางด้านภาษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรมกับฟินแลนด์ และมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนจำนวนมากกับกลุ่มประเทศนอร์ดิก (จากวิกิพีเดีย)
เป็นที่ทราบว่าความสูญเสียจากคลื่นยักษ์สึนามิครั้งนี้ อาเจะห์ ในประเทศอินโดนีเซียได้รับผลกระทบมากที่สุด ขอบเขตของพื้นที่เสียหายกว้างขว้าง สิ่งที่ปรากฏนับตั้งแต่ความเสียหายของถนนสายตะวันตกของจังหวัดถูกกวาดลงทะเลจนราบ รัศมีของการทำลายล้างกวาดเรียบตลอดฝั่งทะเลตะวันตกที่มีความยาวยาว 200 กิโลเมตร และในพื้นที่ซึ่งมีความกันดารห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือการปฐมพยาบาลได้
องค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศ ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ องค์กรขนาดเล็กทำงานอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน ทำงานท่ามกลางโคลนตม ความสับสนอลหม่าน ในความพยายามที่จะให้ความช่วยเหลือ ส่งเวชภัณฑ์ยารักษาโรค และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรับผิดชอบในการประสานงานการให้ความช่วยเหลือ แต่มีผู้ให้ความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย เพราะเจ้าหน้าทีท้องถิ่นเองจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการตำรวจ ครู พยาบาล อนามัย นายแพทย์ ฯลฯ ต่างได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ที่เหลือที่ยังคงมีชีวิตต่างก็ตกอยู่ในสภาพเศร้าโศก ท้อแท้ ไม่มีกำลังใจ เช่นเดียวกันกับเหยื่อคนอื่นๆ ที่ร่วมชะตากรรม
พื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของเมืองหลวง บันดาร์อาเจะห์ (Banda Aceh) ถูกทำลายและปกคลุมด้วยโคลน ซากปรักหักพัง และเจิ่งนองไปด้วยน้ำ อาสาสมัคร หน่วยกู้ภัยจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จากส่วนต่างๆของอินโดนีเซียต่างทำงานอย่างหนักและขันแข็ง พวกเขาทำการกู้ศพแล้วที่มากกว่า 100,000 ศพ และขุดหลุมทำการฝังศพขนาดใหญ่ มีการกู้ศพที่พบใหม่ วันแล้ววันเล่าเพิ่มขึ้นทุกวัน และเนื่องจากอากาศร้อนในเขตร้อนชื้นทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคติดต่อที่จะต้องทำการป้องกันรักษาอย่างเร่งด่วน
ขณะที่ การประกาศหยุดยิงที่ประกาศโดย ขบวนการอาเจะห์เสรี เพียงฝ่ายเดียว กองทัพอินโดนีเซียยังคงลาดตระเวนค้นหากวาดล้างนักรบจรยุทธ์ขบวนการอาเจะห์เสรี ขณะที่นักรบจรยุทธ์ขบวนการอาเจะห์เสรี วางอาวุธเพื่อเข้ามาช่วยเหลือญาติพี่น้อง ดูแลครอบครัวของพวกเขาต้องถูกควบคุมตัว ถูกจับกุม บ้างถูกสังหารท่ามกลางซากปรักหักพัง ปรากฏการณ์เหล่านี้สร้างความตกตะลึงแก่ประชาชน ประชาคมชุมชนนานาชาติเป็นอย่างยิ่ง
2. โหมโรง: การเจรจาสันติภาพ
รอบแรก
วันพฤหัสบดีที่ 27 - วันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2005 (พ.ศ.2548)
ปลายเดือนมกราคม พื้นหญ้าสนามของคฤหาสน์ โคนิกสเต็ดทฺ (Konigstedt) ปกคลุมด้วยสีขาวสะอาดของหิมะที่เพิ่งตกโปรยลงมาใหม่ๆ กลับมีรอยสีดำประทับจากรอยย่ำของรถยนต์ที่วิ่งตรงจากประตูทางเข้ายังลานหน้าคฤหาสน์ที่สร้างมขึ้นในระหว่างศตวรรษที่ 16 ด้วยรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส สมบัติของรัฐตั้งอยู่นอกเมืองหลวง กรุงเฮลซิงกิ ที่เคยใช้เป็นสถานที่ในการรับรอง งานเลี้ยง และการเจรจาตลอดระยะที่ผ่านมา และนับเป็นอีกวาระหนึ่งที่คฤหาสน์แห่งนี้ จะถูกใช้เป็นเวทีในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและแสวงหาสันติภาพให้แก่อาเจะห์
ในเดือนมกราคม 2005 (พ.ศ.2548) สุภาพบุรุษในชุดสูทสีดำ สวมเน็คไทเดินเข้ามา ท่ามกลางความมืดเพื่อสร้างความหวังจากความอบอุ่นของโคมระย้าที่ประดับประดาด้วยแก้วคริสตัลของคฤหาสน์หลังนั้น บรรยากาศความหวังเริ่มสัมผัสได้จากปรากฏการณ์ครั้งแรกในรอบ 30 ปีของความขัดแย้งมีผู้แทนจาก 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี และคณะเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซียมานั่งเผชิญหน้ากันบนโต๊ะเจรจา เพื่อแสวงหาหนทางในการแก้ไขปัญหาซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างคาดหวังซึ่งกันและกัน
ฯพณฯ มาร์ตติ อะห์ติซาริ (Martti Ahtissari)(*) อดีตประธานาธิบดี ฟินแลนด์ ผู้อาสาทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ย ยืนคอยต้อนรับแขก และแนะนำบุคคลทุกฝ่ายที่นั่งอยู่ในห้องสมุด
(*) ฯพณฯ มาร์ตติ อะห์ติซาริ (Martti Ahtisaari) อดีตประธานาธิบดีของฟินแลนด์ นักการทูตและผู้ไกล่เกลี่ยแห่งสหประชาชาติ และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2551 ประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟินแลนด์ ดำรงตำแหน่ง ครบวาระ 6 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2537 - 1 มีนาคม พ.ศ. 2543 อะห์ติซาริเป็นตัวแทนพรรคสังคมประชาธิปไตยฟินแลนด์ ในปี 2537 พรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งฟินแลนด์ได้เสนอชื่อเขาลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และประสบผลสำเร็จได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งโดยตรงครั้งแรกของประเทศ โดยชนะการเลือกตั้งเหนือเอลิซาเบท เรห์น จากพรรคประชาชนสวีเดน และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของฟินแลนด์
เขามีชี่อเต็ม มาร์ตติ โอยวา กาเลวิ อะห์ติซาริ (Martti Oiva Kalevi Ahtisaari) เป็นนักการทูตและนักการเมืองชาวฟินแลนด์ สังกัดพรรคพรรคสังคมประชาธิปไตย มาร์ตติ อะห์ติซาริเกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2480 (อายุ 71 ปี) ที่เมืองวีปุริ ประเทศฟินแลนด์ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศรัสเซีย) โดยโอยวา อะห์ติซาริ ผู้เป็นบิดา เป็นนายทหารชั้นประทวน ปู่ของโอยวาอพยพมาจากทางตอนใต้ของนอร์เวย์ โอยวาได้สัญชาติฟินแลนด์ในปี พ.ศ. 2472 และเปลี่ยนนามสกุลจากอดอล์ฟเซนเป็น อะห์ติซาริในปี พ.ศ. 2478 สมรสกับ เอวา อะห์ติซาริ, มาร์ตติ อะห์ติซาริย้ายไปยังเมืองกัวปิโอ ในขณะที่บิดาต้องเข้าทำงานทหาร มาร์ตติได้เข้าโรงเรียนที่กัวปิโอ ก่อนจะย้ายไปโอวลุ ในเวลาต่อมา อะห์ติซาริเรียนได้วุฒิการเป็นครูประถมศึกษา จากมหาวิทยาลัยโอวลุ ในปี พ.ศ. 2502 และได้ทำงานสอนในโอวลุและประเทศปากีสถาน และต่อมาเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. 2508 และในปี พ.ศ. 2516 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศแทนซาเนีย , แซมเบีย, โซมาเลีย, และโมแซมบิค
อะห์ติซาริ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงสหประชาชาติในนามิเบียในปี พ.ศ. 2520 ถึง 2524 และยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนพิเศษของเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติในนามิเบียในปี พ.ศ. 2521 อะห์ติซาริได้เป็นผู้นำปฏิบัติการของสหประชาชาติที่ให้ความช่วยเหลือนามิเบียในการได้รับเอกราช เคยรับรางวัลโอ อาร์ แตมโบจากแอฟริกาใต้สำหรับ "ผลงานอันโดดเด่นในฐานะนักการทูต และการทุ่มเทให้กับการเกิดเสรีภาพในแอฟริกาและสันติภาพในโลก" ปี พ.ศ.2543 มาร์ตติ อะห์ติซาริ แสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันกองทัพเซอร์เบีย ซึ่งนำโดยนายสโลโบดัน มิโลเซวิค ถอนจากโคโซโว และได้รับอิสรภาพในที่สุด แม้ว่าอาห์ติซารีจะประสบความล้มเหลว ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโคโซโว เซอร์เบีย และพริสติน่า โดยโคโซโวประกาศอิสรภาพเพียงฝ่ายเดียวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
หลังตำแหน่งประธานาธิบดี อะห์ติซาริ ร่วมกับ ซีริล รามาฟอซา ช่วยเหลือในกระบวนการสันติภาพไอร์แลนด์ โดยเข้าตรวจสอบการปลดอาวุธของกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (ไออาร์เอ)ในปี พ.ศ. 2544 อะห์ติซาริ ก่อตั้งองค์กรริเริ่มเพื่อการบริหารจัดการภาวะวิกฤติ (The Crisis Management Initiative Organization ) เข้าทำงานในการแก้ไขปัญหาวิกฤติกาลต่างๆ ในอัพริกา, อิรัค, ไอร์แลนด์เหนือ และกลุ่มประเทศในเอเซียกลางในปี พ.ศ. 2544 อะห์ติซาริเป็นผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย นับเป็นผลงานชิ้นเอกจากการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียและขบวนการอาเจะห์เสรี (GAM) กลุ่มกบฏเคลื่อนไหวเพื่อการแบ่งแยกอาเจะห์เป็นเอกราช ในปี 2548 จนนำสู่การยุติเหตุการณ์รุนแรงนานถึง 30 ปี ทำให้ผูเสียชีวิตประมาณ 15,000 คน ในปี พ.ศ. 2548 และได้รับตำแหน่งผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติในโคโซโวในปีเดียวกัน
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2551 นายโอเล ดันโบลต์ มาโยส์ ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลแถลงว่า คณะกรรมการรางวัลโนเบลประกาศว่า นายมาร์ตติ อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีแห่งฟินแลนด์วัย 71 ปี เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี ค.ศ. 2008 จากผลงานในด้านความพยายามของการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ไขข้อพิพาทความขัดแย้งระหว่างประเทศในหลายภูมิภาคมานานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว การกระทำดังกล่าวของเขาส่งผลให้บังเกิดสันติภาพยิ่งขึ้นบนโลกและภราดรภาพระหว่างประเทศต่างๆ ตรงตามแนวคิดของเจ้าของรางวัลอัลเฟรดโนเบล อดีตประธานาธิบดีแห่งฟินแลนด์เปิดเผยความรู้สึกหลังการประกาศได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งเขาจะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ เหรียญทอง และ เช็คเงินสด 10 ล้านโครน หรือ 1.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 48.9 ล้านบาท
บุคคลที่นั่งด้านขวามือของ มาร์ตติ อะห์ติซาริ คือผู้แทนฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย ประกอบด้วย ฮามิด อาวาลุดดีน (Hamid Awaluddin) รัฐมนตรีว่าการกฎหมายและสิทธิมนุษยชน, ซอฟยาน ดจาลีล (Sofyan Djalil) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร, ฟารีด ฮูเซ็น (Farid Husain) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการประชาชน, อุสมาน บาสเซียะฮฺ (Usman Basyah) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการความมั่นคง, อากูติ อะกุง วีซากา ปูดจา (I Guti Agung Wesaka Pudja) ข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศ และหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจา วิโดโด อาดี ซูซิบโต้ (Widodo Adi Sucipto) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการการเมือง กฎหมายและการความมั่นคง และผู้ช่วย ซึ่งนั่งอยู่ในห้องรับรองฝ่ายรัฐบาลชั้นบน ไม่ได้มานั่งร่วมบนโต๊ะเจรจาด้วย
ที่นั่งด้านซ้ายมือของ มาร์ตติ อะห์ติซาริ คือผู้แทนคณะผู้เจรจาของขบวนการอาเจะห์เสรี ผู้นำสูงสุดซึ่งพำนักในประเทศสวีเดน ในฐานะนายกรัฐมนตรี มาลิค มะห์มูด (Malik Mahmoud) ถัดมาด้วยสถานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไซนี อัลดุลลอฮฺ (Zaini Abdullah) และโฆษก บัคเตียร อับดุลลอฮฺ (Bakhtiar Abdullah) ถัดมา นุร ดจูลี (Nur Djuli) ซึ่งเดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย และ นุรดีน อับดุลเราะฮฺมาน (Nurdin Abdul Rahman) ผู้เดินทางมาจากประเทศออสเตรเลีย
มาร์ตติ อะห์ติซาริ ยังแนะนำทีมงานผู้ไกล่เกลี่ยแก่แขก มี ยูฮ่าร์ คริสเตนเซ่น (Juha Christensen) ผู้อำนวยการการจัดการประชุม, คริสติน่า ริงกิเนวา(Kristiina Rinkineva) และ มีรี - มีเรียจารวา (Meeri - Maria Jaarva) จาก องค์กรริเริ่มเพื่อการบริหารจัดการภาวะวิกฤติ (The Crisis Management Initiative Organization) ซึ่งเป็นองค์กรที่ ก่อตั้งโดย มาร์ตติ อะห์ติซาริ
นอกจากนี้ยังมี ฮานนู ฮิมาเน็น (Hannu Himanen ) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อดีตเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำกรุงจาการ์ต้า คุณอันต์ตี แวนสกา (Antti Vanska) ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศ
โต๊ะรูปทรงตัวยู ตัวใหญ่ คลุมด้วยผ้าลินินถูกเตรียมไว้ ที่นั่งของผู้ไกล่เกลี่ยถูกกำหนดไว้กึ่งกลาง และคู่เจรจานั่งอยู่คนละข้างห่างกันหลายเมตร. ในเวลานี้ภายในห้อง มีเพียงคณะผู้แทนเจรจาทั้งสองฝ่าย, ภาพวาดของ Helenne Schjerfbeck และ R.W Ekman ซึ่งแขวนประดับประดาผนังห้องเรียงรายจนถึงประตูที่ปิดไว้. คฤหาสน์ โคนิกสเต็ดท์ ที่ถูกเตรียมไว้ได้รับการตกแต่งเพื่อเป็นสถานที่รองรับการประชุมเจรจา ผู้เข้าร่วมเจรจาทั้งสองฝ่ายจะถูกจัดไว้ และได้รับการอำนวยความสะดวกจัดอยู่เป็นสัดส่วน ผ่อนคลาย และเรียบง่าย มีห้องรับประทานอาหารที่แยกเป็นส่วนตัวเพื่อให้แขกมีความรู้สึกสะดวกสบายเป็นส่วนตัวเหมือนบ้านของตนเอง ในคฤหาสน์มีห้องครัวที่ เพรียบพร้อมด้วยเครื่องปรุง ที่เป็นอาหารเฉพาะของชาวตะวันออก
น้อมรับในชะตากรรม
มาร์ตติ อะห์ติซาริ กล่าวเปิดการประชุมเจรจา เริ่มต้นด้วยการให้ผู้เข้าร่วมประชุมเจรจาด้วยการนั่งสงบนิ่ง
1 นาทีเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหยื่อของสึนามิ จากนั้น มาร์ตติ อะห์ติซาริ กล่าวต่อว่า
ไม่เป็นการง่ายนักที่ทั้งสองฝ่ายที่จะได้มานั่งบนโต๊ะเจรจาเดียวกัน และกระตุ้นให้ผู้ร่วมเจรจาคำนึงถึงการเจรจาอย่างสร้างสรรค์.
ภาคเช้าของการประชุมเจรจา ไม่มีการถกในหัวข้อเรื่องของสึนามิ. ซอฟยาน ดจาลิล
(Sofyan Djalil) รัฐมนตรีว่าการคมนาคม และการสื่อสาร ผู้มีภูมิลำเนาจากอาเจะห์
กล่าวแก่ที่ประชุมว่า เขาบินตรงมาจาก บันดาร์อาเจะห์ หลังวันที่เกิดเหตุการณ์สึนามิและได้เห็นสภาพที่น่าเวทนา
มีร่างผู้คนนับพันบนท้องถนน ความทุกข์ระทม ความเศร้าโศก ของประชาชนอย่างกว้างขวาง
"ผมยังคงมีความลำบากใจ และยากที่จะบรรยายในสิ่งที่ได้เห็นมา ผมเองอยากจะให้ท่านทั้งหลายโดยเฉพาะ ขบวนการอาเจะห์เสรีได้ดูจากวีดีโอ ได้เห็นถึงสภาพที่เสียหาย แต่โชคไม่ค่อยดีที่เครื่องวิดีโอ เกิดขัดข้อง แต่ผมก็พอใจที่ได้พูด อธิบายในสิ่งที่ได้เห็นมาและสอดคล้องกับสิ่งที่เราได้รู้รับทราบ" ซอฟยาน ดจาลิล กล่าวในการให้สัมภาษณ์ภายหลัง "กว่า 98,000 ศพถูกนำไปฝังในหลุมฝังศพขนาดใหญ่ ผู้สูญหายที่ยังไม่พบกว่า 130,000 คนและคาดว่ายอดผู้เป็นเหยื่อประสบภัยครั้งนี้ประมาณ 200,000 คน (*)
(*) ยอดผู้เสียชีวิตเหยื่อคลื่นยักษ์สึนามิ
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ดังนี้ อินโดนีเซีย 230,000 คน, ศรีลังกา 30,957
คน, อินเดีย 16,413 คน, ประเทศไทย 5,390 คน, โซมาเลีย 298 คน, มัลดิฟ 82 คน,
มาเลเซีย 68 คน พม่า 61 คน, แทนซาเนีย 10 คน, บังคลาเทศ 2 คน, แคนยา 1 คน รวมทั้งสิ้น
283,543 คน (ข้อมูลจาก หนังสือ คือผู้กร่ำงานกล้าสึนามิ สำนักพิมพ์ไทยพับลิค
รีเลชั่น จำกัด)
"ผมหวังว่า คำขอร้องจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกของขบวนการอาเจะห์เสรี เพื่อร่วมในการค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาว่าจะหาทางสนับสนุนฟื้นฟูให้ดีที่สุดอย่างไร?
ผมกล่าวแก่พวกเขาว่า "เราต่างมีภารกิจอันยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหน้าของพวกเรา"
เขากล่าว. คณะผู้แทนเจรจาฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี ได้พรรณนาถึงความเจ็บปวดที่ได้รับนับตั้งแต่ได้มาลี้ภัยมาอยู่ในสวีเดน
และเฝ้าดูสถานการณ์อันเลวร้ายที่ได้เกิดขึ้นในอาเจะห์ผ่านสื่อ CNN โดยไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย
ทุกคนต้องสูญเสียญาติพี่น้องผองเพื่อน และคนที่คุ้นเคยค่อยๆ หายหน้าตายจากไป
เราทุกคนต่างตกตะลึงและเศร้าโศก แต่เราประชาชนชาวอาเจะห์ น้อมรับในชะตากรรมของเรา เพราะเป็นเรื่องของการกำหนดสภาวะของพระเจ้า ซึ่งเราได้นำมาเชื่อมโยงกับความกล้าหาญ ความสงบนิ่ง และเกียรติยศศักดิ์ศรี กับความเป็นความตาย สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตก็ดำรงอยู่ต่อไป หน้าที่ของเราขณะนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยังคงมีชีวิตอยู่" มาลิค มะห์มูด ผู้นำขบวนการอาเจะห์เสรี กล่าวถึงความมุ่งมั่นของเขาหลังเหตุการณ์สึนามิ
ขบวนการอาเจะห์เสรี กล่าวยืนยันต่อคณะผู้แทนเจรจารัฐบาลอินโดนีเซียว่า การประกาศหยุดยิงเพียงฝ่ายเดียวซึ่งเริ่มประกาศนับตั้งแต่วันเกิดเหตุการณ์สึนามิ จนถึงวันนี้ ทั้งนี้เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะเป็นการประกันความปลอดภัยแก่องค์กรต่างๆ รวมทั้งองค์กรต่างประเทศ จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือการทำงานอย่างราบรื่นและสันติ. "ครั้งแรกการประชุมของเรา เต็มไปด้วยอารมณ์ที่รุนแรง ผมเองกลับดีใจที่ วีดีโอ เกิดความขัดข้อง ในความรู้สึกส่วนตัวแล้ว การที่ได้เห็นสภาพอันน่าเวทนายิ่งนั้นนับจะเพิ่มบรรยากาศที่ขมขื่นยิ่งๆขึ้น" มาลิค มะห์มูด กล่าวย้อนถึงเหตุการณ์
คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความเสียหายอันเกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิ และเป็นการเปิดโอกาสเกิดความคิด ความรู้สึกร่วมกัน อันเป็นหนทางสู่สายสัมพันธ์ที่กระชับยิ่งขึ้น
เข้าใจจุดยืน สู่การแก้ไขปัญหาหรือสูญเปล่า
ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดการเจรจากัน มาร์ตติ อะห์ติซาริ ได้มีโอกาสเข้าพบปะคู่เจรจาแต่ละฝ่ายในวันแรกที่
คฤหาสน์ โคนิกสเต็ดท์ รัฐบาลอินโดนีเซียได้แจ้งแก่ มาร์ตติ อะห์ติซาริ ให้ทราบถึงจุดยืน
กรอบนโยบาย และเป้าหมายอย่างตรงไปตรงมา และได้นำข้อเสนอนี้แก่ขบวนการอาเจะห์เสรีแล้ว
พวกเขาต้องการให้มีการพิจารณาในสิ่งซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้เสนอ "รูปแบบการปกครองตนเองพิเศษ
(Special Autonomy) บนพื้นฐานของกฎหมายพิเศษว่าด้วยเขตปกครองตนเองพิเศษ (*) ที่มีอยู่แล้ว
เสรีภาพของอาเจะห์ย่อมไม่มีปัญหาหากอินโดนีเซียยังคงมีบูรณภาพแห่ง
ดินแดนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐบาลอินโดนีเซียยังต้องการให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างสันติ
หากนักรบขบวนการอาเจะห์เสรี มีความประสงค์จะปลดอาวุธ พวกเขาจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตในหมู่บ้านอย่างสันติ
ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลอินโดนีเซียยังเสนอที่จะปล่อยนักโทษการเมืองของขบวนการอาเจะห์เสรี
จะรับรองความปลอดภัย และให้สิทธิทางการเมือง และอดีตนักรบที่สมัครใจจะอยู่ร่วมพัฒนาสังคมอย่างสันติแล้ว
รัฐบาลจะสนับสนุนทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม
(*) กฎหมายพิเศษว่าด้วยเขตปกครองตนเองพิเศษอาเจะห์ เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับตั้งแต่ ปี 2001 (พ.ศ. 2544) แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยุติการต่อต้านอำนาจรัฐ ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจ อย่างกว้างขวางมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ในอินโดนีเซีย กฎหมายกำหนดไว้ว่า 70% ของรายได้จากน้ำมันและแก๊ส ให้จัดคงอยู่ในจังหวัดอาเจะห์ และประชาชนชาวอาเจะห์สามารถเลือกผู้นำตนเอง เช่น ตำแหน่งผู้ว่าการจังหวัด, นายกเทศมนตรีเทศบาล ผ่านการเลือกตั้งโดยตรง ขณะเดียวกันเขตปกครองตนเองพิเศษ ยังมีอำนาจในการใช้กฎหมายอิสลาม (ชารีอะฮฺ) ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้นำในจาการ์ต้าเชื่อว่า เป็นความต้องการของชาวอาเจะห์อย่างแท้จริง และกฎหมายนี้มีผลบังคับถึง ปี 2010 (พ.ศ. 2553)
รัฐบาลอินโดนีเซีย มีกรอบรายการครบสมบูรณ์อยู่แล้ว
ซึ่งแน่นอนที่สุด มิใช่เป็นกระบวนการเพื่อการเจรจา
"การประกาศหยุดยิงเพียงฝ่ายเดียวมิใช่เป็นปัญหา สิ่งใดที่เป็นความเข้าใจร่วมเป็นแนวทางการแก้ปัญหาหรือไม่นั้น
เรามีการเตรียมในการเจรจากันทุกประการ ยกเว้นความเป็นเอกภาพอันหนึ่งอันเดียวกันของอินโดนีเซียหรือกระทบต่อโครงสร้างทางการเมืองการปกครองเท่านั้น"
ฟาริด ฮูเซ็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการประชาชน กล่าว
ฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีได้เขาพบ มาร์ตติ อะห์ติซาริ ในช่วงเช้าและมีความระมัดระวังอย่างมาก ที่จะแสดงความเห็นที่กระทบต่อความแตกต่างกับกรอบแนวทางของรัฐบาลอินโดนีเซีย "รัฐบาลอินโดนีเซีย มักจะละเมิดข้อตกลงในเบื้องต้นเสมอๆ ทำไมเราต้องเชื่อมั่นในสถานการณ์ที่จะมีความแตกต่าง "ผู้นำขบวนการฯ มาลิค มะห์มูด กล่าว.
หนึ่ง. เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสถาปนาความเชื่อถือ นี้เป็นแนวทางของขบวนการอาเจะห์เสรี ในการเจรจา. เหตุผลที่ มาลิค มะห์มูด ต้องการเจรจาอย่างจริงจังเป็นพื้นฐาน สำหรับข้อขัดแย้งในทัศนะของเขาแล้ว ไม่มีข้อขัดแย้งใดสามารถแก้ไขได้ หากสาเหตุที่แท้จริงมิได้ถูกนำเข้ามาใช้ ความมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ในการแสดงออกและสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนชาวอาเจะห์ ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง และการประกาศหยุดยิงต้องกระทำทันที จะเป็นหลักประกันแก่ผู้ประสบภัยจากสึนามิ จะได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูอย่างดีที่สุด
ยิ่งกว่านั้นผู้นำขบวนการอาเจะห์เสรี รู้สึกว่า แม้ว่าข้อตกลงยังไม่มีการดำเนินการใดๆ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งเดินทางมาเจรจาที่กรุงเฮลซิงกิ กลับมีเงื่อนไขล่วงหน้าแล้ว "รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการแค่การเจรจาเพียงเพื่อเสนอเฉพาะรูปแบบการปกครองตนเองพิเศษเท่านั้น แต่เราได้มีการต่อสู้เพื่อเอกราชอาเจะห์กว่า 30 ปีมาแล้ว " มาลิค มะห์มูด กล่าว "มันเป็นไปไม่ได้ที่จะปัดข้อเสนอ ปณิธาน ความใฝ่ฝันในอิสรภาพ เช่นนี้" ขบวนการอาเจะห์เสรี ประกาศว่าหากมีข้อตกลงที่เกิดจากการเจรจาอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะขอให้นานาชาติเขียนระบุในข้อตกลง และหวังว่า องค์การสหประชาชาติ จะนำมาบังคับใช้สู่การปฏิบัติจริง ตามข้อตกลงนั้น
ก่อนจะมีการเจรจา มาร์ตติ อะห์ติซาริ ได้วางกรอบ และแผนการจัดระบบอย่างชัดเจน ความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาจะต้องไม่กระทบต่อ บูรณภาพแห่งดินแดนอินโดนีเซีย จึงจะไม่มีหัวข้อใดๆ ในการเจรจาเกี่ยวกับความเป็นเอกราชของอาเจะห์บนโต๊ะเจรจา และการการเจรจาจะต้องสิ้นสุดลงเมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกเริ่มของการเจรจา มาร์ตติ อะห์ติซาริ จะพิจารณาถึงช่วงเวลาที่จะให้ ขบวนการอาเจะห์เสรีเข้าใจถึงข้อเสนอสำหรับการเจรจา สร้างความหวังและจะทำให้ไม่มีผู้ใดสิ้นหวังกับเป้าหมายการมีเอกราช ซึ่งเป็นเงื่อนไขการเจรจาของฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย
วาระการประชุมที่สมบูรณ์ได้มีการเตรียมไว้บนโต๊ะเจรจา การปกครองตนเองจะเป็นหัวข้อหนึ่งซึ่งจะรวมถึงการวางและส่งมอบอาวุธของนักรบจรยุทธ์, การถอนกำลังทหารของกองทัพอินโดนีเซีย, การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ เมื่อความเห็นทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน และสอดคล้อง บรรลุแนวทาง หากมันเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดำรงอยู่
"ไม่มีข้อตกลงใดๆ จนกว่าทุกอย่างจะมีความเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่ายก่อน" มาร์ตติ อะห์ติซาริ กำหนดบรรทัดฐานพื้นฐานเพื่อมิให้เกิดความเบี่ยงเบนของการเจรจา "ผมหวังว่าท่านจะพิจารณาข้อเสนอนี้ เพราะผมคิดว่านี้เป็นโอกาสพิเศษแล้ว มาร์ตติ อะห์ติซาริ กล่าวแก่ผู้แทน ขบวนการอาเจะห์เสรี
คณะผู้แทนขบวนการอาเจะห์เสรีคำนึงบรรทัดฐานของกรอบการเจรจา ซึ่งพวกเขาได้รับมอบความไว้วางใจจากประชาชนชาวอาเจะห์ และต้องตัดสินใจไม่ว่าจะสมหวังหรือไม่ก็ตาม ต่อความมุ่งมั่นในความเป็นเอกราช และแน่นอนที่สุด ผู้นำขบวนการอาเจะห์เสรีจะต้องไม่เป็นผู้ตัดสินเพียงผู้เดียว และ มาร์ตติ อะห์ติซาริ กล่าวอย่างเปิดเผยว่า "ผมขอบอกกล่าวว่า หากพวกท่านไม่กล้าตัดสินใจในนามของประชาชนชาวอาเจะห์แล้ว เราก็จะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ผมว่าก็จะเป็นอันตรายแก่ประชาชนมากกว่า และเชื่อว่าไม่มีทางอื่นใดจากการเจรจาบนโต๊ะที่จะได้รับไปมากกว่าการได้จากการเจรจาคือ "สิทธิการปกครองตนเองพิเศษ" (Special Autonomy)
ในวันแรกของการเริ่มต้นการประชุมเจรจา เราจะต้องมีการกำหนดข้อตกลงร่วมกันก่อน เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ทั้งสองฝ่าย คือต้องระมัดระวังในการให้ข่าวหรือการให้สัมภาษณ์แก่สื่อทุกแขนง เมื่อมีการแถลงข่าว ที่เกี่ยวกับผลการเจรจา ต้องยึดถืออย่างเคร่งครัดในการที่จะไม่ให้ความเห็นหรือทัศนะส่วนตัว ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษต่อการใช้ถ้อยคำก็ดี การวิพากษ์วิจารณ์หรือเพิ่มเติมนอกเหนือผลการเจรจา
เป็นเรื่องปกติเสมอ คู่เจรจามักใช้โอกาสในการแถลงหรือให้ข่าวที่เป็นประโยชน์ หรือหาความได้เปรียบในการให้ข่าวด้วยการบอกกล่าวหรือแจ้งความต้องการข้อต่อรองผ่านสื่อแล้ว ก็จะก่อให้เกิดความยุ่งยากเป็นอุปสรรคในการเจรจาแก้ไขปัญหายากยิ่งขึ้น. มาร์ตติ อะห์ติซาริ มีความคาดหวังว่า "การประชุมครั้งแรกนั้น หากคู่เจรจามีจุดหมายเดียวกันแล้ว ก็มิใช่จะมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดสิ่งที่ดีกว่าอย่างแน่นอน
หลังจากการพบปะด้วยความสดชื่นยามเช้า ด้วยถ้อยที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยด้วยความสุภาพ แต่ละฝ่ายแยกย้ายไปรับประทานอาหารที่ถูกจัดเตรียมไว้ โดยฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย ถูกจัดให้รับประทานในห้อง Stylish Blue ในห้องโถงชั้นล่าง ส่วนฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีถูกจัดไว้ชั้นบน หลังจากพักการประชุมที่สร้างความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย
มีจุดร่วมกันแต่จะบรรจบกันตรงไหน?
วันที่สองของการเจรจา หลังอาหารเที่ยงแล้ว มีผลการเจรจาที่มีความคืบหน้ามาก สาระเนื้อหาความแตกต่าง
ความเห็นเริ่มมีความเข้าใจชัดเจน และมีความก้าวหน้า คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายมีการตกลงและความเห็นในแนวทางเดียวกัน
ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเจรจา มีจุดร่วมกันแต่จะพบกันจุดไหน ขบวนการอาเจะห์เสรีตอกย้ำถึงทัศนะที่ยอมรับได้ในการประกาศหยุดยิง
ในทัศนะของขบวนการอาเจะห์เสรีนั้นว่า ความพยายามใดๆ จะไม่คืบหน้าและไม่มีประโยชน์หากยังคงมีการสู้รบดำรงอยู่
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย ไม่ต้องการเจรจาเรื่องการหยุดยิงบนพื้นฐานของผู้ประสบภัยสึนามิ รัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนและย้ำบนหลักการการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับ "สิทธิปกครองตนเองพิเศษ"(Special Autonomy)ของอาเจะห์ รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ปฏิเสธกระบวนการการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งของนานาชาติ รัฐบาลมีจุดยืนที่แน่นอน และไม่ยอมให้สหประชาชาติยื่นมือเข้ามาจัดการ และไม่ต้องการให้องค์กรภายนอกเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของอินโดนีเซีย ไม่ต้องการยกระดับให้เป็นปัญหานานาชาติ เพราะอาเจะห์เป็นเรื่องภายในของอินโดนีเซีย
คณะผู้แทนขบวนการอาเจะห์เสรี รู้สึกกล้ำกลืนกับคำว่า "การปกครองตนเองพิเศษ" ทีสามารถอธิบายในความหมายต่างๆ ที่แตกต่างมากกว่า 40 ปี ในทัศนะของชาวอาเจะห์แล้ว ไม่มีสิ่งใดนอกจากความว่างเปล่า การแต่งตั้งผู้เข้าดำรงตำแหน่งใดๆ การกำหนดสิ่งใดๆ หรือการวินิจฉัยชี้ขาดใดๆ ทั้งหมดทั้งปวงล้วนมาจากเมืองหลวงจาการ์ต้าทั้งสิ้น แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดว่ารายได้ 70% จากน้ำมัน, แก็ส ให้คงอยู่ในจังหวัดอาเจะห์ แต่ความเป็นจริงแล้ว ขบวนการอาเจะห์เสรียืนยันว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในอาเจะห์ เพราะในทางปฏิบัติมันจะกลับไปสู่รัฐ หรือเข้ากระเป๋าของข้าราชการผู้ฉ้อราษฎร์บังหลวง และนี้คือการเสนอให้ยอมรับ "เขตปกครองตนเองพิเศษ" เสมือนจุดเริ่มต้นของการเจรจา
" มันเป็นไปไม่ได้
" หัวหน้าคณะผู้เจรจาขบวนการอาเจะห์เสรี กล่าว
ระหว่างการเจรจาในรอบแรก ลำดับความยุ่งยากของปัญหาสำหรับการเจรจาในเดือนหน้า
มีความแหลมคมยิ่ง แต่ในเรื่องนี้ความเห็นในการแก้ไขปัญหานั้นจะมีสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศอาเซียนจะเข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการณ์
และในการให้คำแนะนำด้วย ความสำคัญที่ยิ่งยวดคือการที่คู่เจรจาสามารถมานั่งบนโต๊ะเจรจา
เผชิญหน้ากัน และเจรจาโดยไม่มีผู้นั่งเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและประสบความสำเร็จ ขณะที่คู่เจรจาเดินเข้าเดินออกครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นบรรยากาศปกติในห้องประชุมเล็กในคฤหาสน์โคนิกสเต็ดท์
เพื่อทำให้เกิดความใกล้ชิด สนิทสนม รู้จักซึ่งกันและกันมากขึ้นเปิดโอกาสได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
ด้วยภาษาเดียวกัน และยิ่งกว่านั้นมีเพียง ยูฮ่าร์ คริสเทนเซ่น ผู้อำนวยการการจัดการจากเมือง
ละห์ตี (Lahti) เป็นบุคคลภายนอกคนเดียว ที่คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายรู้จักดี
ซอฟยาน ดจาลิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซีย ผู้มีบุคลิกภาพเรียบง่าย อายุราว 53 ปีผู้มีพื้นเพจากอาเจะห์ เป็นผู้ที่คอยเตือนและให้ความเห็นภายหลังจากการประชุมผ่านไปในรอบแรก ซึ่งท่าน ยูซุฟ กัลลา (Jusuf Kalla) รองประธานาธิบดี อินโดนีเซีย คาดการณ์ว่า "ท่านได้ให้ข้อคิดแก่พวกเราว่า ในการประชุมในรอบแรก ควรมีความมุ่งมั่นตั้งใจ สิ่งใดที่เป็นการบอกกล่าวก็ควรรับฟังอย่างสงบ แม้จะเป็นการกล่าวหาหรือกล่าวตำหนิฝ่ายเราก็ตาม นั้นเพราะพวกเขาเกลียดชังฝ่ายเรา และในข้อเท็จจริงแล้วมีความเข้าใจผิดมากมายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่จะมีความรู้สึกเช่นนั้นเกิดขึ้น"
"ต้องยอมรับฟังกัน และเราไม่ควรโต้เถียง เรามีถ้อยคำที่งดงามเป็นชื่อของอัลลอฮฺตั้ง 99 ชื่อในภาษาของเราและการกล่าวย้ำซ้ำๆ ก็จะทำให้เราสงบสติอารมณ์ได้(*) " ซอฟยาน ดจาลิล กล่าว การประชุมเจรจาในรอบแรกสิ้นสุดลงในเสาร์ที่ 29 มกราคม 2548 ตามกำหนดการคู่เจรจามีข้อตกลงเกี่ยวกับประเด็นที่แตกต่างจากประเด็นปัญหาส่วนกลาง ที่สำคัญที่สุดคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายมีทัศนคติที่ดีเป็นที่น่าพอใจ อย่างน้อยที่สุด ต่อหลักการและการเจรจาในรอบใหม่ และมีเป้าหมายประการเดียวกับที่มีการเจรจารอบแรก
(*) การกล่าวชื่อพระเจ้าซ้ำๆ เป็นการรำลึกถึงอัลลอฮ ให้มากๆ หรือเรียกว่า อัษษิกรุ หรือซิเกร หมายถึงการรำลึก เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความภักดีต่ออัลลอฮฺ ตามคำสอนอิสลาม ดังกุรอานความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย จงรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก และจงกล่าวตัสเบียฮฺ (ซุบฮานัลลอฮฺ ) ทั้งยามเช้าและยามเย็น" (บทอัลอะฮฺซาบ 41 - 42)
ไม่มีความประทับใจเมื่อแรกพบ
เสียงเอะอะเล็ดรอดจากห้องแถลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศใน Katajanokka
กลุ่มผู้สื่อข่าวโทรทัศน์หอบกล้องและสาละวนกับการเสียบปลั๊กต่อสายไฟอย่างวุ่นวาย
วันนี้จะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมเจรจาของอาเจะห์ ซึ่งได้รับแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า
เนื่องจากการแถลงข่าวในวันนี้ถูกกำหนดขึ้นหลังจากการเจรจาสิ้นสุดลงในวันอาทิตย์
จากสภาพการณ์หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ ทำให้มีผู้สื่อข่าวจากสำนักต่างๆ จำนวนมาก เดินทางเพื่อมาทำข่าวที่ห้องแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวระหว่างประเทศ เอเยนซี กลุ่มผู้สื่อข่าวจากประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวจากฟินแลนด์เกือบทุกแขนงทุกสำนัก จะมีคำถาม ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น - เดียวนี้เป็นอย่างไร ? นั้นหมายถึงการเจรจาล้มเหลว ก่อพวกเขาจะเริ่มต้นหรืออย่างไร? สื่อสารมวลชนทุกแขนงต่างพากันประหลาดใจที่ได้ทราบว่า มีการเริ่มต้นการเจรจาเกี่ยวกับอาเจะห์ในกรุงเฮลซิงกิ มีผู้สื่อข่าวจำนวนเล็กน้อยที่ยังมีทัศนคติที่ดี เพราะเมื่อสองปีที่แล้วก็มีการเริ่มต้นเจรจาสันติภาพ และไม่ได้มีความคืบหน้าใดใด และชาวฟินแลนด์มีข้อเสนออะไรเป็นประเด็นใหม่ หรือมีแนวทางอะไรใหม่ๆ
สื่อฟินแลนด์พากันเก็งกันว่าแล้วว่า ทำไมมาร์ตติ อะห์ติซาริ เสี่ยงที่จะนำชื่อเสียงของตนมาเป็นเดิมพัน หรือเขาไม่ได้วางแนวทางที่เป็นช่องทางผ่านกระทรวงการต่างประเทศ? มาร์ตติ อะห์ติซาริ ยังคงกระตุ้นเตือนให้คู่เจรจาทั้งสองฝ่าย สงบปากสงวนคำเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงไม่มีข่าวสารใดใดที่รั่วไหลจากคฤหาสน์โคนิกสเต็ดท์ ประตูทางเข้าคฤหาสน์ถูกปิดอย่างมั่นคงป้องกันผู้สื่อข่าว หากจะมีก็เพียงแค่มองเห็นไหวไหวหลังต้นไม้เท่านั้น. การนัดหมายเปิดการแถลงข่าวครั้งแรกเริ่มขึ้น เมื่ออดีตประธานาธิบดี มาร์ตติ อะห์ติซาริ เดินเข้ามาในห้องแถลงข่าวเพียงคนเดียวและไม่มีผู้แทนคณะผู้เจรจาทั้งสองฝ่ายที่จะมาบอกว่ามีอะไรเกิดขึ้น
มาร์ตติ อะห์ติซาริ เป็นคนที่มีอารมณ์ดี เยือกเย็น ยิ้มแย้มแจ่มใส เขาเดินมายืน ณ จุดที่กล้องบันทึกภาพตั้งไว้ เริ่มบรรยายสรุปเกี่ยวกับเป้าหมายของการประชุมเจรจาเพื่อสันติภาพในอาเจะห์ ณ คฤหาสน์โคนิกสเต็ดท์ และบรรยายสรุปเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย เกี่ยวกับผลการดำเนินการหลังเหตุการณ์สึนามิ "ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกหลังจากที่สองปีที่ผ่านมาที่คณะผู้แทนเจรจาจากฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี และรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้มีการพบปะเจรจาสันติภาพ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะทำให้เขาตกหลุมรักประทับใจต่อกันในทันที ที่ได้พบกันเป็นครั้งแรก แต่ความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือทั้งสองฝ่ายได้เข้ามานั่ง เพื่อพูดคุยกันอยู่ในห้องเดียวกัน"
"มีคำถามที่ถูกตั้งมากกว่าคำตอบ" มาร์ตติ อะห์ติซาริ ยอมรับสารภาพและประกาศว่า การประชุมซึ่งได้เข้าร่วมด้วย ซึ่งในความจริงได้เผชิญกับสภาพสิ่งที่น่าทึ่ง "ทั้งสองฝ่าย สามารถนั่งพูดจากัน และถกเถียงร่วมกัน" คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ลาจากกรุงเฮลซิงกิ และคำเชิญเพื่อนัดหมายการประชุมครั้งใหม่จะถูกส่งตามไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า. มาร์ตติ อะห์ติซาริ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลฟินแลนด์ สำหรับการอำนวยความสะดวกจัดการและอนุญาตให้ใช้คฤหาสน์โคนิกสเต็ดท์เป็นสถานที่ประชุม และกล่าวว่า เขาได้ติดต่อประสานงานกับผู้นำระดับสูงของประเทศก่อนจะมีการประชุมเจรจาเริ่มขึ้น และพร้อมให้กำลังใจสนับสนุน
มาร์ตติ อะห์ติซาริ มิได้แสดงความคาดหวังถึงความสำเร็จ
หรือความล้มเหลวในการเจรจาแต่อย่างใด "ผมจะกล่าวว่า นี้คือ เรื่องเล็กๆ
ในการตกปลาเซลม่อน เพราะปลาแซลมอนเป็นปลาที่มีค่า แต่คุณค่าของมันอยู่ที่ความพยายามที่จะจับมัน
แม้ว่าจะจับได้หรือไม่ได้ก็ตาม". ในเวลาเดียวกันขณะที่ มาร์ตติ อะห์ติซาริ
กำลังแถลงข่าว คณะผู้แทนเจรจาสันติภาพรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังนั่งรถยนต์บนถนนไฮเวย์
Slushy Tuusula มุ่งสู่สนามบิน แต่ไม่ใช่ทุกคน ยังมีบางคนที่อยู่ในห้องที่แถลงข่าว
และรู้ดีว่าการประชุมยังไม่จบ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++อ่านต่อบทความลำดับที่ 1758
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com